Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 13:04:19

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,625 Posts in 12,930 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  ผนังเก่าเล่าเรื่อง (Moderator: ผนังเก่าเล่าเรื่อง)  |  จดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕
0 Members and 3 Guests are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: จดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕  (Read 387 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« on: 26 January 2023, 22:26:41 »

จดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕


จดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕


สารบัญ

๑. จดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕
๒. บทนำ
๓. พระราชประวัติ
๔. การเสด็จประพาสต้น

.....

๑. จดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่ ในพระราชอาณาเขต เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ พระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ให้มีการจัดรับเสด็จเป็นทางการ แต่ทรงโปรดฯ ให้จัดการที่เสด็จให้เป็นไปโดยง่ายเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ โดยมิให้มีท้องตรา สั่งหัวมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่จะพอพระราชหฤทัย บางคราก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสาร รถไฟไปไม่ให้ใครรู้จัก เรียกกันว่า “เสด็จประพาสต้น” เหตุที่เรียกเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ- กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เกิดแต่เมื่อครั้งเสด็จคราวแรก เพราะมีพระราชประสงค์มิให้ใครได้รู้ ว่าเสด็จไปทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำหนึ่ง เรือนั้นไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจว ที่แม่น้ำอ้อม ที่แขวงราชบุรี และโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น) เป็นผู้คุมเครื่องครัว ทรงพระราชดำรัส เรือลำนี้ว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็วๆ เสียงจะกลายเป็น “เรือต้น” เหมือนบทเห่ซึ่งกล่าวว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ซึ่งฟังดูไพเราะ แต่เรือประทุนลำนั้นใช้การได้อยู่ไม่มาก จึงเปลี่ยนมาเป็นเรือมาด ๔ แจว กับอีกลำหนึ่ง และโปรดฯ ให้เอาเรือต้นมาใช้เพื่อเป็นเรือพระที่นั่ง โดยมีพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่า เสด็จไปเป็นสำคัญ และเรียกการประพาสเช่นนี้ว่า “ประพาสต้น” ...ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อนึ่ง การเสด็จประพาสต้นของพระองคมี ๒ ครั้ง ด้วยกัน คือ
ครั้งที่ ๑ : การเสด็จประพาสต้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) รายการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ ได้รับการบันทึกไว้เป็นงานพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ- กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นจดหมายเหตุ ๘ ฉบับ เพื่อบันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้นนั้น ใน ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) โดยใช้พระนามแฝงว่า นายทรงอานุภาพหุ้มแพร มหาดเล็กที่ได้ตามเสด็จ เขียนเล่าเรื่องประพาสต้นไว้โดยพิสดาร มีถึงมิตรคนหนึ่งชื่อ นายประดิษฐ์ หรือ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา- นริศรานุวัติติวงศ์ เหตุที่เสด็จประพาสต้นในคราว ร.ศ. ๑๒๓ นั้น กล่าวว่าเป็นเพราะ เมื่อครั้งก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมาบางปะอินไม่ใคร่จะทรงสบาย ทรงมีพระราชกังวล และ พระราชกิจมาก หาเวลาพักไม่ใคร่ได้ และบรรทมไม่หลับ เสวยไม่ได้ ทั้งสองประการนี้ หมอลงความเห็นว่า จะต้องเสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นจากพระราชกิจ กอปรกับเจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จพร้อมกันกราบบังคมทูล ขอให้ทรงระงับพระราชธุระ และเสด็จประพาสตามคำแนะนำของหมอพระองค์ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงเสด็จไปประพาสลำน้ำด้วยกระบวนเรือปิคนิก พ่วงเรือไฟไปจากบางปะอิน แล้วแต่พระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด ได้ตามพระราชประสงค์ และให้การเสด็จไปอย่างเงียบๆ คณะเดินทางที่ตามเสด็จในครั้งนี้ที่ระบุในจดหมาย มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ และข้าราชบริพารที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทหลายคน ด้วยกัน อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สมด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้าฟ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมพระสมมตอมรพันธ์ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิจ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ

ครั้งที่ ๒: การเสด็จประพาสต้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) หนังสือการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมี พระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) ทรงเขียนไว้ ในขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน เพื่อบันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้น ใน ร.ศ. ๑๒๕ นี้ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ พระชนนี ทรงพระปรารภใคร่จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ จึงตรัสปรึกษาให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) พระธิดา จึงได้ทรงเก็บรวบรวมและพบสำเนาจดหมายเสด็จ ประพาสต้นครั้งที่สอง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๗ ปีแล้ว จึงประทานสำเนา มายังหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนครในการเสด็จประพาสหัวเมืองภายในพระราชอาณาจักรนั้น ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงมีโอกาสสมาคมกับราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏคราวเสด็จ ประพาสต้นเมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ และทำให้ทรงทราบทุกข์สุข และความเป็นไปของราษฎรอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ยังได้ทรงเห็นการปกครองของเจ้าหน้าที่ที่ทรงแต่งตั้งให้ออกไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณว่า ได้กดขี่ราษฎรเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร หรือปกครองได้เรียบร้อยดีสมดังที่ไว้วางพระราชหฤทัยเพียงใด เมื่อเจ้าหน้าที่ ผู้ใดประพฤติมิชอบก็ทรงติเตียนลงโทษ หรือทรงปรับแนะและเปลี่ยนแปลงใหม่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งหลายเคร่งครัดซื่อตรงต่อการงานยิ่งขึ้น ตลอดจนเมื่อทรงเห็นราษฎรเจ็บป่วย ไม่ได้รับการเยียวยารักษาตามอันควร ก็เป็นเหตุให้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายแพทย์คิดประกอบและจัดทำโอสถสภา รวมทั้งมอบให้เป็นธุระ ของเจ้าหน้าที่ที่จะให้ประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึงกัน


« Last Edit: 26 January 2023, 22:29:25 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« Reply #1 on: 26 January 2023, 22:28:20 »


๒. บทนำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่ง พระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นผู้มีพระวิสัยทัศน์และพระปรีชาสามารถในด้านปกครองและบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านนี้ ทรงตรวจตราให้เป็นไปทั้งตามแบบทางการของระบบราชการและ ที่ไม่เป็นแบบทางการ เพื่อพระองค์จะได้ทรงทราบความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎรอย่างใกล้ชิด โดยเสด็จ พระราชดำเนินประพาสหัวเมืองในพระราชอาณาเขต ทั้งเพื่อทรงตรวจจัดการปกครองและสำราญพระราช อิริยาบถ โดยไม่โปรดให้จัดการรับเสด็จเป็นทางการ แต่โปรดให้จัดการเสด็จให้ง่ายยิ่งกว่า การเสด็จประพาส เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่ พอพระราชหฤทัย บางทีทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์ ซึ่งการเสด็จประพาส ส่วนพระองค์นี้เรียกว่า “การเสด็จประพาสต้น” ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน

การเสด็จประพาสต้นมีการบันทึกเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในรูปแบบของจดหมาย จำนวนหลายฉบับ ในจดหมายมีการใช้ชื่ออำพรางผู้ตามเสด็จ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จหัวเมืองต่างๆ ใน ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) และ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) นั้น เนื้อเรื่องเป็นการบรรยายรายละเอียด ของสถานที่ บุคคล และสิ่งของที่ทอดพระเนตรตามระยะทางการเสด็จ นับเป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่ง ในทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การคมนาคม และด้านอื่นที่สมควรแก่การศึกษาวิจัย ทั้งยังให้คุณค่าทางวรรณคดี ในด้านวิธีการประพันธ์ ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าทรงใกล้ชิดกับพสกนิกร ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของราษฎรมาก จนได้รับการพร้อมใจ ถวายพระนามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช”



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« Reply #2 on: 26 January 2023, 22:30:42 »


๓. พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ สืบราชสันตติวงศ์แห่งพระบรมจักรีวงศ์ พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖

พระราชกรณียกิจสำคัญ ด้านการปกครอง
ทรงปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ยกเลิกการปกครองระบบกินเมือง มีการแต่งตั้งเจ้าเมือง โดยยึดถือความรู้ความสามารถ แทนการสืบสายโลหิต

ด้านเศรษฐกิจและการคลัง
ทรงจัดระเบียบทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ คือ ปรับปรุงการเก็บภาษีอากร โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง หอรัษฎากร- พิพัฒน์ เพื่อจัดเก็บรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียวกัน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน เป็นครั้งแรก มีการแยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกันโดยเด็ดขาด ทรงจัดตั้งธนาคารเป็นครั้งแรก คือ สยามกำมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ปัจจุบัน)

ด้านกฎหมายและศาล
ทรงแก้ไขกฎหมายและการศาลให้ทันสมัย มีการสถาปนากระทรวงยุติธรรม ต่อมาจึงจัดตั้งศาลโปลิสภา (ศาลแขวงในปัจจุบัน) และจัดตั้งศาลหัวเมือง ทรงโปรดเกล้าให้ตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ทรงชำระ กฎหมาย ตลอดจนตราประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมาย และทรงส่งนักเรียนไทย ไปศึกษาวิชากฎหมายในทวีปยุโรป

ด้านการทหาร
ทรงจัดแบ่งกองทัพเป็นทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพ รวมการบังคับ บัญชาทหารบกและทหารเรือภายใต้ชื่อ กรมยุทธนาธิการ ต่อมาคือ กระทรวงกลาโหม มีการตราพระราช ลักษณะการเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบก และโรงเรียน นายเรือ

ด้านการต่างประเทศ
ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญราชไมตรีกับนานาประเทศทั่วโลก ทรงเสด็จพระราชดำเนินประพาส ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป ยังประโยชน์ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งยังทรงนำเอา ความเจริญต่างๆ กลับมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาบ้านเมือง อาทิเช่น การศึกษา การปกครอง การคมนาคม และ เศรษฐกิจ

ด้านการศึกษา
ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมหาราชวัง และขยายออกไปสู่ประชาชน ซึ่งโรงเรียนหลวง สำหรับราษฎร์แห่งแรก คือที่ วัดมหรรณพาราม ทรงจัดตั้ง กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน)

ด้านการศาสนา
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก ทรงตราพระราชบัญญัติ ปกครองพระสงฆ์เป็นฉบับแรก โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ และมหามงกุฎ ราชวิทยาลัยที่วัดบวรนิเวศ ทรงสร้างวัดราชบพิตร ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาล รวมทั้งทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ

ด้านวัฒนธรรมและประเพณี
ทรงนำปฏิทินสุริยคติมาใช้แทนปฏิทินจันทรคติ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการใช้ จุลศักราช มาเป็นรัตนโกสินทร์ศก ตลอดจนพระราชนิยมทรงผมและการแต่งกาย พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนประเพณีการหมอบคลานเข้าเฝ้าอีกด้วย

การเลิกทาส
โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติทาส รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔” ให้เลิกทาสทั่วพระราชอาณาเขต ซึ่งเป็น พระบรมราโชบายเป็นแบบผ่อนปรน ปราศจากเหตุวุ่นวายต่างๆ ด้วยเกียรติคุณของพระองค์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าถวายปริญญาทางกฎหมาย (Doctor of Law) จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ในเอเชียที่ได้รับการถวายพระเกียรตินี้

ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟ ขึ้นเป็นสายแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงให้ตัดถนนหลายสาย ตลอดจนสร้าง สะพานเชื่อมถนนข้ามลำคลอง ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพาน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ เป็นประจำทุกปีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ส่วนการขนส่งและสัญจรทางน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นใหม่ และขุดลอกคลองของเก่า ยังประโยชน์ในด้านการเกษตรและคมนาคม ในด้านการสื่อสารทรงสร้างโทรเลข สายแรกขึ้นในประเทศไทยและทรงจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลข

การสาธารณูปโภคและสาธารณสุข
ทรงตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. ๑๑๖ ขึ้น จึงเกิดสุขาภิบาลแห่งแรกที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัด สมุทรสาคร ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช และเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ มีปัญหาการสู้รบไทย – ฝรั่งเศส ในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทหารไทยล้มเจ็บเป็นจำนวนมาก ไม่มีที่รักษาพยาบาลเพียงพอ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ จัดตั้งสภาอุนาโลมแดง ปัจจุบันคือ “สภากาชาด”

ด้านวรรณกรรมและศิลปกรรม
ทรงเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีบทพระราชนิพนธ์ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งบทละคร เช่น เรื่องเงาะป่า ในด้านสถาปัตยกรรม พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ตอนปลายของรัชกาล ทรงสร้างพระราชวังดุสิต และเชื่อมถนนระหว่างพระบรมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่า ถนนราชดำเนิน นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะพิการ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา สิริราชสมบัติได้ ๔๒ ปี


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« Reply #3 on: 26 January 2023, 22:32:06 »


๔. การเสด็จประพาสต้น

การเสด็จประพาสต้นนั้นเป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะบำรุงดูแลทุกข์สุขราษฎรอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของราษฏรและการปฏิบัติหน้าที่ของราชการอย่างแท้จริง

๓.๑ ความสำคัญ
การเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่ในพระราชอาณาเขตนั้นเป็นไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ โดยไม่โปรดให้จัด การรับเสด็จเป็นทางการ แต่โปรดให้จัดการที่เสด็จไปให้ง่ายยิ่งกว่า เสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ โดยไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัย บางทีทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไปมิให้ใครรู้จักพระองค์

๓.๒ วัตถุประสงค์
เพื่อบันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้น ใน ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙)

๓.๓ เหตุที่เรียกว่า เสด็จประพาสต้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เกิดแต่เมื่อเสด็จคราวแรก เวลาจะประพาส มิให้ใครรู้ว่าเสด็จไปทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำหนึ่ง เรือนั้นไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อม ที่แขวงราชบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น) เป็นผู้คุมเครื่องครัว ทรงพระดำรัสเรียกเรือลำนี้ว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็วๆ เสียงเป็น “เรือต้น” เหมือนบทเห่ซึ่งว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” แต่ฟังดูไพเราะ แต่เรือประทุนลำนั้นใช้อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นเรือมาด ๔ แจว กับอีกลำหนึ่ง จึงโปรดให้เอาเรือต้นมาใช้สำหรับลำที่เป็นเรือพระที่นั่ง โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป เรียกการประพาสเช่นนี้ว่า “ประพาสต้น”

๓.๔ ข้าราชบริพารโดยเสด็จ
บุคคลที่ตามเสด็จนั้น พระองค์ทรงเลือกคนใกล้ชิดตามเสด็จหลายคน บุคคลที่ตามเสด็จในการประพาสเที่ยวดังกล่าวนี้ ทรงเรียกว่า “เพื่อนเที่ยว” และทรงเรียกเป็นพระนามและนามแฝง เช่น

นายอัษฎาวุธ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

นายทรงอานุภาพ คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายวงศ์ตะวัน คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)

หลวงรัตนาวุธ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

ท่านมหาสม คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

เจ้านายที่ไปตามเสด็จ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร

ขุนสวรรค์วินิต คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

นายมานพ คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

หมื่นสรรพกิจ คือ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ

สำหรับเพื่อนเที่ยวในการเสด็จประพาสต้น มีชื่อปรากฏในแต่ละครั้ง รวมได้ดังนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

๒. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

๓ . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล)

๔ . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์

๕ . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตรศุภกิจ

๖ . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

๗ . สมเด็จพระปิตุจฉา สุขุมาลมารศรี พระอัครเทวี

๘ . สมเด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ

๙ . สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร

๑๐. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

๑๑. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

๑๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร

๑๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร

๑๔. พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

๑๕. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

๑๖. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

๑๗. พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)

๑๘. พระยาโบราณราชธานินทร์

๑๙. หมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ)

ส่วนชาวบ้านที่รู้จักพระองค์และมีความสนิทสนมจากการเสด็จประพาส ทรงเรียกว่า “เพื่อนต้น”๓.๕ จำนวนการเสด็จประพาส
การเสด็จประพาสต้นมี ๒ คราว คือ

๑. การเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๑ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) รายการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุ ๘ ฉบับ โดยใช้พระนามแฝงว่า นายทรงอานุภาพหุ้มแพรมหาดเล็ก ที่ได้ตามเสด็จเขียนเล่าเรื่องประพาสต้นไว้โดยพิสดารและมีถึงมิตรคนหนึ่งชื่อ นายประดิษฐ์ (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

๒. การเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๒ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙)เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) ทรงเขียนไว้ ซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอกรมพระสุธาสินีนาฏ ทรงพระปรารภจะใคร่พิมพ์หนังสือประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ จึงตรัสปรึกษา สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล สมเด็จหญิงน้อยได้ทรงเก็บรวบรวม พบสำเนาจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง จึงประทานสำเนามายังหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร หนังสือเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๑๗ ปีแล้วก่อนการนำ มาตีพิมพ์

๓.๖ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓.๖.๑. การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๑ ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)

จดหมายฉบับที่ ๑ เขียนที่บางปะอิน วันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)
เล่าเหตุที่จะเสด็จประพาสต้น คือ ในการเสด็จบางปะอินคราวนี้ เพราะเหตุที่ทรงไม่สบาย แพทย์เห็นว่าควรรักษาพระองค์ให้สบายดังเก่าได้โดยเร็ว เจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จจึงพร้อมกันกราบบังคมทูลขอให้ระงับพระราชธุระ และเสด็จประพาสตามคำแนะนำของแพทย์ ทรงดำริเห็นชอบด้วย จึงเสด็จประพาสตามลำน้ำด้วยกระบวนเรือปิกนิก (Picnic) พ่วงเรือไฟไปจากบางปะอิน การเสด็จครั้งนี้ห้ามมิให้รับเสด็จตามทางราชการ เป็นการเสด็จอย่างเงียบๆ แล้วแต่พอพระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด หรือประทับที่ใดตามพระราชประสงค์

จดหมายฉบับที่ ๒ เขียนที่วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก วันที่ ๑๖ เดือน กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
เล่าเรื่องจากเสด็จบางปะอิน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาสครู่หนึ่ง แล้วเลยเสด็จประพาสสวนสะท้อนของนายบุตร ที่แม่น้ำอ้อมแขวงเมืองนนทบุรี มีสะท้อนดีกำลังออกผล เจ้าของสวนเชิญเสด็จเก็บสะท้อน ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงกรุณาแก่เจ้าของสวนมาก เสด็จประทับแรมวัดเขมา วันที่ ๑๕ เวลาเช้า กระบวนล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ประทับแรมหน้าวัดหนองแขม จวบจนรุ่งเช้าวันที่ ๑๖ กระบวนเสด็จจากหน้าวัดหนองแขมมาที่ปากคลองดำเนินสะดวก เวลา ๔ โมงเช้า พอบ่าย ๓ โมงถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่หน้าวัดโชติทายการาม เวลาบ่าย ทรงเรือเล็กพายประพาสทุ่ง คือไร่ที่มีน้ำท่วม เจ้าของไร่กำลังเก็บหอม กระเทียมขึ้นผึ่งตามชานเรือน ตลอดจนบนหลังคา เจ้าของเรือน คือยายผึ้ง เชื้อเชิญเสด็จขึ้นเรือน ต้อนรับโดยเลี้ยงสำรับกับข้าวพระเจ้าอยู่หัว เจ๊กฮวด ลูกยายผึ้งจำพระเจ้าอยู่หัวได้ จึงปูผ้ากราบ พระองค์ทรงพระราชทานหลายสิบเท่าราคาสำรับกับข้าวที่ยายผึ้งเลี้ยง

จดหมายฉบับที่ ๓ เขียนที่เมืองราชบุรี วันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
วันที่ ๑๗ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เล่าเรื่องเสด็จจากวัดโชติกายารามเมืองราชบุรีเวลาเช้า กระบวนเสด็จถึงราชบุรีเวลาเที่ยง จอดเรือพระที่นั่งที่บ้านเทศา เสด็จรถไฟพิเศษแล่นลงไปข้างใต้เมืองเพชรบุรีทรงพระดำเนินไปตามถนนเป็นเวลานาน ประทับเสวยที่เมืองเพชร แล้วจึงกลับมาประทับแรมที่เมืองราชบุรี

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด เสด็จทอดพระเนตรแห่บวชนาค บุตรพระแสนท้องฟ้าที่วัดสัตนาถ เวลาบ่ายทรงเรือมาด ๔ แจว มีพระราชประสงค์จะซื้อเรือ ๔ แจว สำหรับตามเรือมาดพระที่นั่ง จนไปถึงวัดเพลง ซื้อเรือมาดพระราชทานชื่อว่า เรือต้น เสด็จกลับถึงเมืองราชบุรีเวลายามหนึ่ง แล้วเริ่มเรียกประพาสนี้ว่า ประพาสต้น เป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตคราวหลังว่าประพาสต้นต่อมา

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จเรือมาดแจวประพาสทุ่งทางฝั่งตะวันออก

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จอาศัยรถไฟที่จะไปกรุงเทพฯ คำว่า เสด็จ-อาศัย คือ เสด็จรถไฟชั้น ๓ ปะปนกับราษฎร เพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เสด็จลงรถไฟไปประพาสที่โพธาราม เสวยเย็นเวลาสองทุ่ม จากนั้นจึงล่องเรือจากโพธาราม เมียเจ้าของเรือจำพระองค์ได้ ถึงเมืองราชบุรีเวลา ๔ ทุ่ม แล้วประทับแรมที่เมืองราชบุรี

จดหมายฉบับที่ ๔ เขียนที่เมืองสมุทรสงคราม วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จประพาสตลาด พบเจ้าของเรือพาลูกมาเฝ้าฯ
ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็ก ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองราชบุรีทางแม่น้ำอ้อม เสด็จแวะซื้อเสบียงอาหารที่ปากคลองวัดประดู่ ทอดพระเนตรละคอนชาตรีบ้านตาหมอสี เสด็จแวะทำครัวที่บ้านนายอำเภอ เสด็จกลับมาถึงเวลายามหนึ่ง ประทับแรมเมืองสมุทรสงคราม

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จทอดพระเนตรวัดพวงมาลัย ประพาสคลองอัมพวา ทรงเสด็จเรือต้นแยกไปประพาสเพียงลำเดียว ปล่อยเรือพระที่นั่งมาดไว้กับเจ้านายที่ตามเสด็จ ทรงไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงส์ แจวต่อไปบางน้อย ประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับมาทางแม่กลอง ถึงที่ประทับเวลาสองทุ่ม

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองแล้วเสด็จวัดอัมพวัน กลับมาถึงที่ประทับเวลาค่ำ

จดหมายฉบับที่ ๕ เขียนที่เมืองเพชรบุรี วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จประทับเรือฉลอมไปทอดพระเนตรละมุที่ปากอ่าวแม่กลอง ทรงซื้อกุ้ง ปลา ที่เขาจับได้ตามละมุแล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม คือใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสด เป็นของทรงประดิษฐ์และเสวยในเช้าวันนั้น จากนั้นเสด็จเลยไปถึงปากน้ำเมืองเพชรบุรีเสด็จเรือกลไฟไปประทับแรมที่จวนเจ้าพระยาสุรพันธ์ ประทับที่เมืองเพชรบุรี

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสทางเหนือน้ำทางชลมารค

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประทับบางทะลุและประทับแรมที่นั้น

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุทางทะเลมาเข้าบ้านแหลม กลับถึงเพชรบุรี ๑ ทุ่มและประทับแรม

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสพระนครคีรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพรรษา

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสวัดต่างๆ เมืองเพชรบุรี ตอนบ่ายกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม

จดหมายฉบับที่ ๖ เขียนที่บ้านผักไห่ วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จมาถึงท่าจีน

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นจากเมืองสมุทรสาครไปจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี เสด็จแวะทำครัวที่วัดตีนท่า กลางคืนได้ออกเรือแจวตามน้ำใกล้ บ้านท่านา พ่วงเรือไฟจนถึงพลับพลา ประทับแรม ๕ ทุ่ม

วันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ แล้วลงเรือล่องมาที่ท่าพระประโทน แล้วประทับทำครัวที่บ้านพระยาเวียงไนยที่บ้านธรรมศาลา เสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วราย ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย เวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสคลองภาษี ประทับแรมที่บ้านสองพี่น้อง

วันที่ ๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ ประพาสคลองสองพี่น้อง แล้วเสด็จมาประทับทำ ครัวเย็นที่วัดบางสาม เสด็จถึงที่ประทับวัดบางบัวทอง เวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า กระบวนเรือผ่านบางปลาม้า จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ประพาสเหนือน้ำ ประทับเสวยที่วัดแค

วันที่ ๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองวัดมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ เวลาบ่ายกระบวนเรือล่องมาประทับแรมที่บางปลาม้า ในระหว่างบ่ายนั้น ทรงเรือพระที่นั่งเล็ก ล่องมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน

วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าออกเรือเสด็จในกระบวนเรือใหญ่ เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้า มาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันที่บ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่บ้านของหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารี ขึ้นไปประพาสที่บ้านเหนือน้ำ เสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรม ๒ ทุ่ม การเสด็จคราวนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงสบาย หายประชวรเป็นปกติ

จดหมายฉบับที่ ๗ เขียนที่บ้านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จจากผักไห่ ทรงเสด็จกระบวนต้นขึ้นแยกไปทางคลองบางโผงเผง เข้าคลองกุ่ม ไปออกทางคลองภูเขาทอง ล่องมาจนจบกระบวนเรือใหญ่ หาที่ทำครัวพบบ้านกำนันที่คลองบางหลวงอ้ายเอียง นายช้าง อำแดงพลับพ่อตาแม่ยาย จึงพระราชทานกระดาษธนบัตรซองหนึ่ง เสด็จถึงบางปะอิน เวลาบ่าย ๕ โมงทรงรถไฟพิเศษเสด็จกลับกรุงเทพฯ

จดหมายฉบับที่ ๘ เขียนที่บ้านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๓เหตุที่พรรณนาถึงผลการเสด็จประพาสต้น

๓.๖.๒. การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙)

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกจากพระราชวังสวนดุสิต ๒ ทุ่ม ไปในการพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขึ้นวังใหม่ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง กราบถวายบังคมลาพระบรมอัฐิ ด้วยเหตุที่เสด็จพระราชดำเนินจากพระนครหลายวัน ลงเรือพระที่นั่ง ถึงแพตำหนักวังหน้า ๕ ทุ่ม ถึงวัดเขมาฯ ๕ ทุ่มครึ่ง

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ ทรงถ่ายรูปถวายเงินพระวินัยรักขิต (คง) เจ้าอาวาสวัดเขมาฯ เสด็จลงเรือไปตลาดบางเขน ทรงถ่ายรูปที่ด่านภาษี กลับขึ้นเรือพระที่นั่งยนต์ชื่นใจ ซึ่งบริษัท บอร์เนียวถวาย ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า “เรือลบแหล่งรัตน” ผ่านหน้าวัดเขมาฯ ถึงวัดปากอ่าว และวัดเทียนถวายเสด็จขึ้นวัดถ่ายรูป ถวายเงินสมภาร ๒๐ บาท เสด็จออกจากวัดเทียนถวาย ถึงบางหลวงเชียงราก เมื่อถึงดงตาล ทรงถ่ายรูป ทำกับข้าวพร้อมเสวย และมีสะบ้ามอญ บ่าย ๓ โมง ๑๕ เสด็จด้วยเรือมาดถึงวัดท้ายเกาะใหญ่ เวลา ๕ โมง ประทับที่ศาลา ๒ หลังต่อกัน มีพิณพาทย์ถวาย

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จถ่ายรูปที่วัดเวียงจาม เป็นวัดที่สุดเขตเมืองปทุมธานี ถวายวัตถุปัจจัยพระรามัญ และเสด็จลงเรือออกจากท้ายเกาะ ๓ โมงครึ่ง ทรงแวะคลองตะเคียน ซื้อผ้า เสวยข้าวที่แพใกล้คลองตะเคียน ออกเรือ เสด็จขึ้นที่เกาะลอย ทรงสรงน้ำและลงเรือเล็กขึ้นไปทางคลองพเนียด ทรงซื้อของตามแพกลับเข้าคลองเมืองไปจนแพช่างทองนอกตำหนัก แล้วจึงกลับเวลาค่ำ ประทับอยู่บนแพหน้าตำหนักสะพานเกลือ ซึ่งกรมหมื่นมรุพงศ์เคยประทับ เมื่อเป็นสมุหเทศาภิบาล

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ เช้า ทรงถ่ายรูปที่ตำหนักกรมหมื่นมรุพงศ์ เสด็จลงเรือไปขึ้นสะพานวังจันทร์ ทอดพระเนตรตลาด และโปรดเกล้าฯ ให้เลิกบ่อนสำหรับเล่นการพนัน เสด็จลงเรือจากตลาด แวะซื้อของที่ตลาดเรือสี่แยก แล้วเสด็จมาตามแพป่าสัก เสวยที่พระนครหลวง เป็นซากวัดโบราณ สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงถ่ายรูป เสด็จกลับศาลาลอย ประมาณ ๔ โมงเศษ ทรงถ่ายรูปแล้วสรงน้ำ

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกเรือพระที่นั่ง แวะที่ตำหนักท่าเจ้าสนุก สร้างแต่ครั้งกรุงเก่า พระยาโบราณราชธานินทร์ เพิ่งค้นพบก่อนเสด็จไม่ช้านัก ตรงข้ามท่าเจ้าสนุก ท่าเกย ทรงถ่ายรูป เสวยข้าวที่วัดท่างาม เดี๋ยวนี้เรียกว่าท่าหลวง เพราะเคยเสด็จพระพุทธบาท ๒ ครั้ง ขึ้นที่ท่างาม ๒ ครั้ง จอดเสด็จจวนจะถึงเสาไห้ ทรงจอดเรือพระที่นั่งที่วัดสมุหประดิษฐ์

วันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เช้า เสด็จลงเรือมาด เรือโมเตอร์อมรโอสถลากขึ้นไปตามลำน้ำ ทรงถ่ายรูปเป็นตอนๆ จนถึงแก่งม่วงและแก่งเพรียว ล่องกลับขึ้นบกที่พระยาสระบุรี เสด็จที่ว่าการและทอดพระเนตรตลาด เสวยข้าวที่บ้านเจ้าพระยาสระบุรี เสด็จลงเรือล่องมาเสาไห้ สรงน้ำแล้วเสด็จออกเรือพระที่นั่งกระบวนใหญ่ เสด็จล่องมาถึงท่าเรือ ทุ่มครึ่ง

วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ สามโมงเช้า เสด็จขึ้นรถไฟเล็กของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิป-ประพันธ์พงษ์ ไปพระพุทธบาท เสด็จขึ้นพระพุทธบาท ทรงถ่ายรูป เสด็จกลับมาเรือ ยามหนึ่งมีละครนฤมิตร ของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์จัดถวายที่สะเตชั่นรถไฟ

วันที่ ๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จลงเรือใหญ่ ตื่นบรรทม ๔ โมง ถึงเวลาเสวยก็ถึงกรุงเก่า เสด็จกลับรถไฟ บ่าย ๒ โมง ๔๐ เสด็จลงถึงกรุงเทพฯ เสนาบดีกระทรวงโยธาฯ พระยาสุขุมนัยวินิตเสด็จไปรับที่สถานี บ่าย ๓ โมงเศษ ผู้รักษาพระนครและเสนาบดีรับไปส่งพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ที่วังสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งจะทรงเสด็จกลับจากยุโรปในวันนั้น และเสด็จกลับเข้าในพระบรมมหาราชวัง ออกรับต้นไม้เงินทอง แขกเมืองจากเมืองไทรบุรี ปะลิส สตูล ยามเศษ เสด็จขึ้นรถไฟกลับบางปะอิน พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ถึงแพเจ้าพระยาสุรสีห์ ๕ ทุ่ม ทรงเลี้ยงขนมจีน เลี้ยงหมี่กับพวกสหายหลวง มักดำรัสเรียกว่า เพื่อนต้น คือชาวบ้านที่คุ้นเคย พระราชทานหีบเงินและผ้าห่ม

วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสวยพระอาหารเที่ยง เสด็จออกเรือบ่ายโมง ล่องเรือเข้าแควสีกุก จอดบรรทม

ที่วัดสีกุก
วันที่ ๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ โมงเช้า ทรงถ่ายรูปในมณฑป มีพระป่าเลไลยก์ เสด็จออกเรือ ๓ โมงเช้า พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชคุปต์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลตำบลกรุงเก่า ๕ โมง ถึงบ้านนายช้าง (ทรงคุ้นเคยเมื่อคราวเสด็จประพาสครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหมื่นปฏิพัทธภูวนาถ เรื่องพิสดารของนายช้าง ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งแรก และเป็น คนโปรดตั้งแต่ครั้งนั้น) ที่กำลังมีงานฉลองพระไล บุตรของนายช้าง นางพลับ ที่ได้ลงมาบวชอยู่วัดเบญจมบพิตร แล้วได้เป็นเปรียญ ทรงถ่ายรูปเรือและครอบครัวนายช้าง พระราชทานหีบเงินตรา จปร. ลูกกระดุมเงินลงยาใหญ่ ผ้าห่ม มีหนังสือชื่อ ซองบุหรี่เงิน แก่ครอบครัวนายช้าง บ่าย ๒ โมงเศษออกเรือหยุดที่ป่าโมกข์ ทรงถ่ายรูปและนมัสการพระนอนวัดป่าโมกข์ ซึ่งปรากฏมีลิขิตพระครูป่าโมกขมุนี ว่าด้วยเรื่องพระนอนพูดได้ ตำรายาที่พระนอนบอก

วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ๔ โมงเช้า ถึงตลาดอ่างทอง ทรงแวะตลาด ถ่ายรูปและซื้อของ เสด็จชมเมืองที่ว่าการใหม่ของอ่างทอง จึงเสวยกลางวันที่แพ บ่าย ๒ โมงเสด็จออกเรือ ถึงไชโย นมัสการพระและทรงถ่ายรูปที่วัดเกศไชโย ประทับแรมที่นั่น

วันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ๒ โมงเช้า เสด็จจากไชโย ถึงวัดชลอนพรหมเทพาวาส ทรงขึ้นถ่ายรูป แวะตลาด เสวยที่หน้าออฟฟิศโทรเลข บ่าย ๒ โมงเสด็จลงเรือมาดเข้าปากน้ำบางพุทรา แวะไร่พริก เสด็จกลับมาจอดที่เมืองสิงห์ ประทับแรม

วันที่ ๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกเรือไปอำเภอเมืองอินทร์ ทรงแวะถ่ายรูปและเลื่อนเรือมาจอดที่วัดปลาสุก ชื่อใหม่เรียกว่า วัดสนามชัย วัดนี้เป็นที่พระครูอินทมุนีอยู่ เป็นวัดโบราณ การเสด็จครั้งนี้ อีกนัยหนึ่งว่าจะมาตรวจสุขและทุกข์ของราษฎร บ่าย ๒ โมง ๔๐ เสด็จออกมาถึงอำเภอสรรพยา

วันที่ ๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จถึงเมืองชัยนาท ประพาสวัดธาตุ พระครูอินทโมลี (ช้าง) ให้การต้อนรับ ทรงถ่ายรูป ๕ โมงครึ่งเสด็จออกจากวัดพระธาตุ เลื่อนมาที่ว่าการฯ ตรงข้าม ทรงเสวยและสรงน้ำ บ่าย ๒ โมงครึ่งเสด็จออกเรือ แวะที่โรงทหารเสด็จขึ้นตรวจแถว และตรวจโรงทหาร เสด็จถึงหน้าเขาธรรมามูล ๔ โมงครึ่ง เสด็จข้ามไปถ่ายรูปหาดตรงข้ามจนเย็น เสด็จขึ้นเขา เรี่ยไรปฏิสังขรณ์ศาลาขึ้นใหม่ ด้วยเทศกาลไหว้พระ

วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ๒ โมงเช้าเสด็จออกเรือ ถึงที่ว่าการอำเภอมโนรมย์ ๕ โมงเช้าเสด็จลงเรือมาด เข้าคลองสะแกกรัง ทำกับข้าวแล้วเสวย ช่วงบ่าย ๒ โมงเศษเสด็จลงเรือไปเหนือน้ำ ทรงหยุดถ่ายรูปประพาสตลาด เสด็จกลับลงมาแวะที่หน้าวัดโบสถ์ พบพระครูสุนทรมุนี (จัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุทัยธานี แล้วเสด็จกลับมาเมืองมโนรมย์ เสด็จขึ้นบนบก ทรงสำราญพระราชหฤทัย เพราะถนนแห้งและเป็นหน้าแล้ง

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จไปประพาสวัดพระปรางค์เหลือง เวลาเที่ยง พระครูหยุหานุสาสก์ (เงิน) เจ้าคณะเมืองพยุหะคีรี มาคอยรับเสด็จอยู่ที่แพ เสด็จขึ้นบกทำกับข้าวแล้ว ทอดพระเนตรเหยียบฉ่า เวลานั้นมีพระหมอมาแต่เมืองเขมรหนึ่งรูปจำอยู่ที่วัด รับรักษาโรคเมื่อยขัดต่างๆ ด้วยวิธีเอายาทาที่ฝ่าเท้าของพระ แล้วเอาไฟลนให้ร้อนจัด เอามาเหยียบตรงที่เมื่อยขบของคนไข้จนร้อนฉ่า กรมหลวงประจักษ์รับอาสาให้เหยียบ ทรงถ่ายรูป พบเจ้าพระยาเทเวศร์ซึ่งเข้ามารักษาตัวอยู่ที่นี้ จึงเสด็จพระราชดำเนินเดินดูกุฏิและโบสถ์ที่ทำใหม่แล้ว เสด็จกลับมาสรงน้ำ แล้วเลยให้พระครู รดน้ำมนต์ ทรงปลื้มในการที่ให้ท่านถวายน้ำมนต์ เสด็จถึงอำเภอพยุหะคีรี และเสด็จขึ้นไปพระบาทที่บนเขาซึ่งสร้างใหม่

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เวลาเที่ยงเสด็จถึงที่วัดบ้านเกาะ หยุดเสวย เสด็จ ขึ้นไปประพาสที่วัด ต่อมาเสด็จถึงนครสวรรค์ จอดแพที่หน้าว่าการฯ พบพระยาสุรสีห์ลงมาจากเมืองเชียงใหม่ กับพระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมาแต่กรุงเทพฯ ทรงนึกจะไปทอดพระเนตรเรือแม่ปะ แต่เรียกเรือไม่ได้ทรงเลยขึ้นบก ถ่ายรูปที่ว่าการฯ ไปบ้านเทศา ทอดพระเนตรคุกและศาล

วันที่ ๑๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จตลาดปากน้ำโพ ขึ้นริมห้างจีน สมบุญเป็นพ่อค้าใหญ่อยู่ที่ปากน้ำโพ ทรงถ่ายรูปและซื้อของ จนถึงบ้านยายจู เสด็จกลับเที่ยง บ่าย ๕ โมง เสด็จโรงทหาร ตั้งอยู่ต่อค่ายพม่าเก่า ทรงปลูกต้นสักแล้วตรวจโรงทหาร เสวยพระสุธารส ณ ที่ว่าการฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับทอดพระเนตรเรือแม่ปะที่จะเป็นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือลำนี้ถวายสมเด็จพระโอรส ครั้งเสด็จเชียงใหม่ ได้มาจากพระยาสุรสีห์ ชื่อว่า “สุวรรณวิจิก” มีเรือเก๋งอีก ๓ ลำของสมเด็จกรมพระยาดำรง-ราชานุภาพ ลำหนึ่ง พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ กัลยาณมิตร) ผู้ว่าราชการเมืองตาก ลำหนึ่ง พระวิเชียรปราการ (ฉาย อัมพเศวต) ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ลำหนึ่ง แต่เรือพระที่นั่งจัดประทุนไว้ด้วยลำหนึ่ง

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เวลาเช้าทอดพระเนตรการบวชนาค ทรงถ่ายรูปผู้หญิงตามสะพานและศาลา พบกองพรานที่เกณฑ์มามีช้าง ๕ เชือก ตั้งยามล้อมกัน ทรงถ่ายรูปพวกหัวหน้า พระราชทานรางวัลคนละกึ่งตำลึง เสด็จกลับเรือพระที่นั่ง เวลาบ่ายเสด็จลงเรือประพาสตลาดแควในแควใหญ่

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เวลา ๒ โมงเช้า ทรงติดแผ่นเงิน ชื่อเรือสุวรรณวิจิก ซึ่งใช้คนถ่อ ๕ นายผลัดกันถ่อ เรือลำนี้เดินเร็วกว่าเรือชะล่า เป็นเรือเก๋งเรียกว่า “เรือประพาส” ทรงถ่ายรูปที่หาดทรายงามซึ่งอยู่เหนือนครสวรรค์ ทรงเปลี่ยนไปเสด็จขึ้นเรือแม่ปะประทุน และหยุดพักที่บ้านนายพัน อำแดงอิ่ม ทรงถ่ายรูป เสด็จออกเรือบ่ายสอง มาประทับแรมที่ยางเอน

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ สองโมงเช้า เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมาถึงวัด บ้านเกาะ พระราชทานเสมา แล้วเสด็จโดยเรือเหลืองถึงเก้าเลี้ยว ราษฎรเชิญเสด็จขึ้นเรือน มีพิณพาทย์ไทย พิณพาทย์จีนและม้าล่อ โดยธูปเทียนมาเชิญให้เสด็จขึ้นบก ตั้งโต๊ะบูชา มีโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน มุ้งแพรอย่างจีน ซึ่งราษฎรจัดถวายทรงรับแล้วพระราชทานไว้สำหรับข้า หลวงที่ไปมา เสด็จลงเรือมอเตอร์ ระหว่างทางทรงถ่ายรูปกระบวนเรือที่บ้านท่าเอน

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จพระราชดำเนินบ้านตำบลหูกวาง ประพาสบ้านกำนันใย เสด็จทอดพระเนตรวัด และพระพุทธรูปเก่า ทรงแจกเสมาที่บ้านกำนันใยและที่วัด ประทับแรมที่บ้านแดน

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เวลาโมงเช้าทรงถ่ายรูปที่วัดอรุณราชศรัทธาราม เสด็จขึ้นเขานอ ทอดพระเนตรพระเจดีย์และถ้ำพระนอน ถ้ำประทุน ถ้ำยายชี สรงน้ำเสด็จลงเรือประทุนเหลือง ๕ โมงแวะประทับเสวยที่ริมฝั่งบ้านบางแก้ว เสด็จออกจากบ้านบางแก้ว และแวะเสด็จขึ้นเรือสุวรรณวิจิก บ่าย ๔ โมง ทรงถ่ายรูปที่หาด และประพาสเรือชะล่า เสด็จขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เมืองขาณุ

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จทอดพระเนตรคนผมแดง และเสด็จออกเรือเวลา ๓ โมงตรง ประมาณ ๕ โมงเสด็จขึ้นเรือเหลือง แวะจอดประทับเป็นระยะสั้นๆ เสวยและทรงถ่ายรูปเล่น ประทับแรมที่ตำบลบางแขม

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกเรือ ๓ โมงเช้า ๔ โมงครึ่งเสด็จ ขึ้นเรือหลวง เลยขึ้นมาข้างเหนือ ภูมิประเทศเป็นตลิ่งชันค่อนข้างสูง มีต้นไม้มาก จากนั้นเสด็จถึงวังนางร้างบ่าย ๓ โมง ประทับแรม

วันที่ ๒๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกเวลาเช้า ๒ โมงเศษ สี่โมงครึ่งขึ้นประทับเรือหลวง ถึงเกาะธำรง ทรงเสวยแล้วออกเรือ ประทับแรมที่ตำบลท่าขี้เหล็ก

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จออกจากท่าขี้เหล็กไปถึงวังพระธาตุ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นป่า ซึ่งมีต้นสักมาก บริเวณนั้นเรียกว่า “คลองขลุง” วังพระธาตุ แปลว่า ห้วงน้ำที่มีพระธาตุอยู่ ทรงจอดเรือพระที่นั่งพักร้อนเหนือวังพระธาตุ พระธาตุนั้นมีฐานซ้อนกันอยู่สามชั้น มีปล้องไฉน และปักฉัตร คล้ายกับพระเจดีย์ที่เมืองฝาง เสด็จทอดพระเนตรพระพุทธรูป จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปลำน้ำข้างเหนือ ทอดพระเนตรเมืองไตรตรึงส์ ซึ่งเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองใหญ่ พื้นแผ่นดินเป็นศิลาแลง ถัดเข้าไปเรียกว่า เจดีย์เจ็ดยอด แต่พบมากกว่าพระเจดีย์ใหญ่มหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์สามด้าน เสด็จกลับเวลาเที่ยงลงเรือเหลือง มาถึงพลับพลาประทับร้อน เสด็จแวะเสวยพระกระยาหารที่บ้านไร่ ซึ่งเป็นบ้านนายเทียน อำแดงแจ่ม เสด็จออกจากกำแพงเพชร จอดหน้าเมืองเก่า พระราชทานให้นายอ้น นรพัลลภ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่นเสมอใจราช

วันที่ ๒๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ทรงถ่ายรูปในขณะที่ฝนตก เสด็จเมืองเก่ากำแพงเพชรและทรงพระราชาธิบายเกี่ยวกับเมือง เสด็จวัดพระแก้วซึ่งทำด้วยกำแพงแลง ลักษณะวิหารใหญ่คล้ายกับวัดพระศรีสรรเพชรกรุงเก่า บริเวณกำแพงแลงมีรูปปั้นรามเกียรติ์ ระหว่างเจดีย์และ วิหารโถง มีพระพุทธรูปใหญ่ๆ มีพระอยู่ตามระเบียงล้อมรอบหลายองค์ ถัดจากนั้นเป็นวัดช้างเผือก หลังจากนั้น ทรงถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพง ซึ่งสั่งให้เลือกหาไว้เป็นลูกผู้ดี คนงามทั้ง ๔ ถ่ายรูปนั้น ให้ถือกระเช้าหมากคอยแจกเลี้ยง คือ หวีด บุตรหลวงพิพิธอภัย ถ่ายรูปเฉพาะคนเดียว อีก ๓ คน ชื่อ ประคอง ลูกหลวงพิพิธอภัย ริ้ว ลูกพระพล พิง ลูกพระยารามณรงค์ มีการถวายเลี้ยง พระกระยาหาร หลังจากที่ออกจากวัง ทรงแวะถ่ายรูปวัดและเทวสถาน ทรงถ่ายรูปเทวรูป เสด็จกลับบ่ายสามโมงเย็น ทรงล้างรูปในห้องอาบน้ำ เสด็จเข้าบรรทมสองยาม

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จขึ้นบกถึงถนนเลี้ยวประตูน้ำอ้อย เสด็จป้อมสามเหลี่ยม มีประตูหนึ่งเรียกว่า ประตูเจ้าอินเจ้าจัน ถัดไปประตูหัวเมือง ประตูผีหลอก ป้อมเพชร ประตูชัย เมื่อพ้นจากป้อมเป็นลักษณะขุดดินผุ สองข้างพูนเป็นถนนสูง เรียกว่า ถนนพระร่วง เสด็จถึงวัดกำแพงงาม วัดพระนอน ทรงมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับวัดพระนอน เสด็จถึงวัดกำแพงงาม วัดเขา ทรงพระราชทานชื่อว่า “วัดพระยืน” เป็นวัดที่ดูสมบูรณ์กว่าวัดอื่นๆ มีพระราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องเมืองกำแพงเพชรเดิม เป็นที่สำราญพระราชหฤทัยยิ่ง หยุดเสวยพระกระยาหารที่ปากสระ วัดมหาธาตุ เสด็จ กลับบ่าย ๕ โมง เวลาค่ำทรงล้างรูป ทอดพระเนตรละครของมารดาหลวงพิพิธอภัย เล่นเรื่องไชยเชษฐ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เชื่อว่าเป็นของเก่า ร้องทำนองเป็นละครใน เล่นบทพระราชนิพนธ์

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จลงเรือเหลือง ข้ามฟากไปฝั่งตะวันตก เลยไปคลองสวนหมาก มีคลองแยกเรียกว่า “แม่พล้อ” เป็นป่าพะโป๊ะกะเหรี่ยง ถ้าไปตามลำคลองใช้เวลา ๓ วันถึงป่าไม้ เพราะมีหลักตอมาก ถ้าเดินใช้เวลาวันเดียวถึงป่าไม้ พะโป๊ะกะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ ภรรยาชื่อ อำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันกับอำแดงไทย ทรงถ่ายรูปที่หน้าบ้าน ๒ บ้านนี้ กลับออกมาเสวยกลางวันที่หาดกลางน้ำ เสด็จล่องลงมาขึ้นที่วัดมหาธาตุ ทอดพระเนตรพระธาตุ นายชิดมหาดเล็ก หลานพระยาประธานนคโรทัย ซึ่งเป็นนายอำเภออยู่มณฑลนครชัยศรี ป่วยลาออกมารักษาตัว และไปได้ตำนานพระพิมพ์ เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องตำนานพระธาตุ สำเนาตำนานที่จารึกในลานเงิน

วันที่ ๒๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงพระราชทานของแก่ผู้ที่ได้มาเข้าเฝ้า หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย ซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง (อ้น) นำดาบฝักทอง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานแก่พระยากำแพง (นุช) เป็นบำเหน็จครั้งเมื่อไปทัพแขก เป็นของที่ตกทอดมา จนถึงหลวงพิพิธอภัย ทรงเห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงดาบสำหรับเมือง จึงพระราชทานพระแสงสำหรับเมืองไว้ให้ผู้ว่าราชการรักษา เพื่อใช้สำหรับในการพระราชพิธี ทรงถ่ายรูปพวกตระกูลเมืองกำแพง ทรงถ่ายรูปทั้งหมดนี้รวมกันเป็นห้าชั่วคน ซึ่งสืบมาตั้งแต่ท่านผู้หญิงทรัพย์ มีชีวิตรวมกันอยู่นี้ ๑๑๑ คน ถ่ายรูปแล้วเสด็จลงเรือประพาส ล่องขึ้นท่าหน้าวัดเสด็จ ทรงถ่ายรูป เสด็จพระราชดำเนินไปวัดคูยาง ถ่ายรูปและพระราชทานชื่อว่า “ถนนพระราชดำเนิน” เสด็จลงเรือเหลือง แวะเสวยที่พลับพลา ปากอ่าง ทรงเรือพระที่นั่งตีกรรเชียงพักประทับแรมที่ตำบลวังนางร้าง เวลาทุ่มเศษ

วันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จลงเรือ ๓ โมง ๕ โมงถึงเรือเหลือง หยุดเสวยข้าวที่ตลิ่งเป็นป่าฝั่งตะวันออก หยุดที่หาดถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก ประทับที่พลับพลาบ้านแดน

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ทรงรอรับพวกจีนไทยมาเข้าเฝ้า แวะเสวยข้าวที่พลับพลาหัวดง เสด็จมายังเอน ทรงถ่ายรูปเขานออีกครั้งหนึ่ง เสด็จลงมาถึงเก้าเลี้ยว มีการประโคมเถิดเทิง ทรงถ่ายรูปที่เขา วัดนี้ชื่อสามัญว่า “วัดเขาดิน” เสด็จกลับถึงพลับพลายางเอนเวลาพลบค่ำ

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ เวลาเช้าชาวบ้านเขาดินมาเข้าเฝ้า ยายอิ่ม บ้านพังม่วง ที่ได้เคยเสวยข้าวในวันแรกกับลูกสาวและหลานได้มาเข้าเฝ้าด้วย เมื่อได้ทราบความจริงว่าพระองค์ท่านเป็นพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานแหวนทำขวัญและกำไลเงิน เสด็จลงเรือ ๓ โมงเช้า เข้าแควใหญ่ โดยมีเรือไฟลาก เสด็จขี้นที่แพใต้สะเตชั่นรถไฟ และลงเรือแม่ปะ บริเวณปากน้ำโพ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เรื่องพลทหารฆ่านายสิบนายหมู่ตาย เวลาบ่ายเสด็จลงเรือไปประพาสพ้นจากคลองบรเพ็ด เวลาค่ำมีการเกณฑ์คนมาขายของ ในแม่น้ำ จุดไฟตามเรือแพสว่าง และมีพิณพาทย์

๓.๗ กระบวนเรือเสด็จ
กระบวนเรือที่จัดสำหรับใช้ในการเสด็จประพาสต้นเป็น“กระบวนเรือปิกนิก” ได้จัดกระบวนเรือเสด็จ โดยมีเรือกลไฟสำหรับลากเรือพระที่นั่ง

กระบวนเรือที่ใช้ในการเสด็จประพาสต้น (ครั้งที่ ๑) ร.ศ. ๑๒๓ มีชื่อเรือ ปรากฏดังนี้
๑. เรือยอดไชยา เป็นเรือ ๖ แจว ที่พระยาวจีสัตยาลักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาได้สร้างถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ใช้เดินทางล่วงหน้ากระบวนไปก่อน

เพื่อจัดเตรียมการเดินทาง พระที่ประทับแรม ตลอดจนที่ทำอาหาร
๒. เรือลบแหล่งรัตน เป็นเรือพระที่นั่งยนต์ ที่บริษัทบอร์เนียวถวายเป็นเรือประทับ เดิมชื่อ เรือชื่นใจ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เรือลบแหล่งรัตน

๓. เรือพระที่นั่ง เป็นเรือมาดประทุน ขนาด ๔ แจว

๔. เรือเล็ก

๕. เรือต้น ใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง

๖. เรือเครื่องมหาดเล็ก หรือ เรือตาอ้น

กระบวนเรือที่ใช้ในการเสด็จประพาสต้น (ครั้งที่ ๒) ร.ศ. ๑๒๕ มีชื่อเรือ ปรากฏดังนี้
๑. เรือสุวรรณวิจิก เป็นเรือแม่ปะ ใช้เป็นเรือพระที่นั่ง

๒. เรือประพาส เป็นเรือชะล่า มีเก๋งเรือ

๓. เรือเหลือง หรือเรือประทุนเหลือง สำหรับพระเจ้าลูกยาเธอประทับภายหลังใช้เป็นเรือสำหรับล้างรูป

๔. เรือเก๋ง ของกรมหลวงสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

๕. เรือเก๋ง ของพระยาสุจริตรักษา เจ้าเมืองตาก

๖. เรือเก๋ง ของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.078 seconds with 20 queries.