|
ppsan
|
|
« Reply #1 on: 26 January 2023, 22:15:08 » |
|
(ต่อ)
วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้า แดงอย่างอ่อนหรือเหลืองแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่น ลงแก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่า ทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่นานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มี แต่กระเส็นกระสาย ออกเรือเวลา ๓ โมงตรง
เกือบ ๕ โมงจึงได้ขึ้นเรือเหลืองทำกับข้าวแวะเข้าจอดที่ที่ประทับร้อนเพราะระยะสั้น แต่จืดไปไม่สนุก จึงได้ไปจอดหัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินข้าวและถ่ายรูปเล่นในที่นั้น แล้วเดินทางต่อมา หมายว่าจะข้ามระยะไปนอนคลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขมนี้ทำดี ตั้งอยู่ที่หาดและพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุดพอเวลาบ่าย ๔ โมงตรงอาบน้ำ แล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหา เล่าถึงเรื่องไปทัพเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเที่ยวบนบ้านและไปที่ไร่ ระยะทางเวลาวันนี้ สองฝั่งน้ำระยะบ้านห่างลง มีป่าคั่นมาก แลดูเหมือนจะไม่จับฝั่งตะวันตกเช่นตอนล่างๆ มีตะวันตกบ้างตะวันออกบ้าง เช่นบ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออก ราษฎรอยู่ข้างจะขี้ขลาด(๖๑)กว่าตอนข้างล่าง ไม่ใคร่รู้อะไร สังเกตตามเรื่องราวที่ยื่นเป็นขอไม่ให้ต้องทำอะไร ไม่ให้ต้องเสียอะไรมาก
วันที่ ๒๐ ออกเรือเกือบ ๓ โมงเช้า ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง ทำกับข้าวมาจนถึงที่ประทับร้อนไม่แวะ เลยขึ้นมาข้างเหนือแวะฝั่งตะวันออกตลิ่งชันแลสูงมากแต่ต้นไม้งาม ปีนขึ้นไปกินข้าวบนบก สำหรับถ่ายรูปแล้วลงเรือมาถึงวังนางร้างเป็นที่แรม บ่าย ๓ โมงเท่านั้นครั้นจะเลยไปอื่นระยะก็ห่าง จึงลงเรือเล็กไปถ่ายรูปฝั่งน้ำข้างตะวันออก แล้วข้ามมาตะวันตก หมายจะเข้าไปถ่ายในป่า ท่วงทีจะเป็นทุ่งเลยไม่ได้ไปถ่าย กลับบ่าย ๔ โมง พลับพลาตั้งฝั่งตะวันออก ที่นั้เป็นหมู่บ้านคนบ้านหนึ่งซึ่งอยู่ในระยะทาง ตั้งแต่มาถึงที่นี้ เกือบจะว่าไม่มีบ้านคนก็ได้ เป็นป่าทั้งนั้น ไม้สักก็มี
วันที่ ๒๑ ออกเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง ชายยุคลเจ็บ เจอะชายบริพัตร(๖๒)จับขึ้นเรือมาทำฉู่ฉี่ ถึงปึกผักกูดที่ประทับร้อน ไม่ได้หยุดเพราะกับข้าวยังไม่แล้ว ระยะสั้นจึงเลยไปจนถึงเกาะธำรงซึ่งจัดไว้เป็นที่แรม ก็เพียงเที่ยง เห็นควรจะย่นทางได้ หยุดกินข้าวเเล้วออกเรือต่อมา
หยุดพักร้อนที่บ้านขี้เหล็ก ถึงบ่าย ๔ โมงครึ่งพอฝนตก ที่พัก อาศัยไม่ได้ ต้องมุงหลังคา เลยอุดกันอยู่ในเรือเลี้ยงขนมกันอีกครั้งหนึ่ง จนกระบวนเรือใหญ่มาถึงเวลาย่ำค่ำครึ่ง ทายถูกว่าพระยาอมรินทรคงกลัวพายุ แต่ที่จริงเรือเหลืองไม่ได้ถูกพายุเลยด้วยบังตลิ่ง เรือโมเตอร์ที่มาถึงก่อนบอกว่า พลับพลาจะพังเสียให้ได้ ทางที่มาวันนี้ตั้งแต่พลับพลาวังนางร้าง ฝั้งตะวันตกมีบ้านเรือนมาก มีเรือจอดมาก มีหีบเสียงเล่นด้วย เพราะเป็นท่าสินค้ามาแต่ดอน ต่อขึ้นมาก็มีเรือนเรียงรายๆ แต่งฝั่งตะวันออกเป็นป่า จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดาว่าจะเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด(๖๓) บ้านเรือนดี มีวัดใหญ่เสาหงส์มากเกินปกติอยู่ฝั่งตะวันออก มาจนถึงบ้านท่าขี้เหล็ก อยู่ฝั่งตะวันตก พลับพลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก เมื่อคืนนี้ฝนตกเกือบตลอดรุ่ง วันนี้ก็โปรบปรายเล็กๆน้อยๆไปมีเวลาแดดออกน้อย จนต้องกินข้าวที่พลับพลาประทับร้อน ตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเศษก็ตกมาจนเวลานี้ ๒ ทุ่มเกือบครึ่ง ที่ก็จะตลอดรุ่ง ที่พักอยู่ข้างจะกันดารเหตุด้วยเอาร้อนเป็นแรม
วันที่ ๒๒ เมื่อคืนนี้ฝนตกพร่ำเพรื่อไปยันรุ่ง แรกนอนรู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นเยือกไปทั้งตัว ท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน จนเอาสักหลาดขึงอุดหมดจึงนอนหลับ ตื่น ๒ โมงครึ่งออกเรือจวน ๓ โมง มาจากท่าขี้เหล็กเลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ อยู่ฝั่งตะวันตก มีบ้านเรือนเรียงรายตลอดขึ้นมา แต่อยู่ฟากตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นป่า ตั้งแต่พ้นคลองขลุงขึ้นมามีต้นสักชุม แต่เป็นไม้เล็กๆซึ่งเป็นเวลาหวงห้าม เดินเรือวันนี้รู้สึกว่าไปในกลางป่าสูง ได้ยินเสียงนกร้องต่างๆอย่างชมดงเพรียกมาตลอดทาง
ตำบลที่เรียกชื่อคลอง เช่น คลองขลุง หรือแม่อะไรต่ออะไรใช่ว่าเราจะแลเห็นในเวลานี้ ปากคลองแห้งอยู่ในหาด ได้พยายามจะไปดูคลองขลุงก็เข้าไปไม่ถึง ด้วยหาดกว้าง คลองขลุงนี้เป็นปลายน้ำอันหนึ่ง วันนี้แลเห็นเขาประทัดซึ่งปันแดนยืนเป็นแถว ที่วังพระธาตุนี้เป็นชื่อของชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุซึ่งตั้งอยู่ตรงวังนั้น จอดเรือที่ที่เหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง พระธาตุนี้มีแท่นซ้อน ๓ ชั้น แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ(๖๔)เรียกว่าทนาน ถัดขึ้นไปจึงถึงบัลลังก์ปล้องไฉน ๗ ป้อง ปลี แล้วปักฉัตร ไม่ผิดกับพระเจดีย์เมืองฝางที่เห็น ซึ่งแก้เป็นพระเจดีย์มอญเสีย
เขาว่าสุโขทัยสวรรคโลกเป็นรูปนี้ทั้งนั้น ของแผ่นดินฝ่ายเหนือเห็นจะไม่แปลกกันมาก องค์พระเจดีย์ชำรุดพังลงมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร ๔ ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้ พระอุโบสถซึ่งมีสีมาเป็นสำคัญอยู่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งยืนทั้งนั่งหลายองค์ พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำได้ถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระซึ่งขึ้นมาแต่เมืองนนท์ เป็นคนเคยรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ในที่นี้ คิดจะปฏิสังขรณ์ปลูกกุฏิซึ่งอยู่เยื้องหน้าพระธาตุ ห่างจากศาลามุงกระเบื้องเดิมซึ่งอยู่ข้างริมน้ำใต้ลงไป(๖๕)
เดินจากวังพระธาตุไปตามลำน้ำข้างเหนือ ทาง ๒๖ เส้น ถึงคูด้านใต้ของเมืองไตรตรึงส์ คูนั้นใหญ่กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาด แต่น้ำแห้งยืนเข้าไปจนถึงเชิงเทิน หลังเมืองไปมีถนนข้ามเข้าเมืองอยู่กลางย่านด้านใต้ แต่ด้านเหนือไม่มีถนน มีแต่ลำคูมาบรรจบด้านใต้ กำหนดเชิงเทินยาวตามลำแม่นำ ๔๐ เส้น ยืนเข้าไปทางตะวันตกตะวันออก ๓๗ เส้นเห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่ พื้นพื้นดินไปทั่วทั้งนั้น ในท้องคูก็เป็นแลง เข้าไปในเมืองหน่อยหนึ่งก็พบโคก เห็นจะเป็นวิหาร เจดีย์หักพังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยเรียกว่าเจดีย์ ๗ ยอด จะเป็นด้วยผู้ที่มาตรวจตราค้นพบสามารถจะถางเข้าไปได้แต่ ๗ ยอด แต่ที่จริงคราวนี้เขาได้ถางดีกว่าที่ได้ถางมาแต่ก่อน จึงได้ไปพบว่ากว่า ๗ คือพระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์ราย ๓ ด้าน วิหารด้านเหนือวางเลอะๆทำนองนี้ นอกนั้นพระเจดีย์ล้อม ๑๔ องค์
ที่เขาค้นถากถางเข้ามาให้ดูได้เพียงเท่านี้ นกอกนั้นยังเป็นป่าทึบอยู่มากไม่ใช่รกอย่างกรุงเก่า เป็นป่าสูงไม้ใหญ่ ข้างล่างโปร่ง ทั้งในเมืองนอกเมือง เหตุด้วยทิ้งร้างเป็นป่ามาช้านานกว่ากันมาก ข้อซึ่งจะโจษสงสัยว่าเป็นเมืองไตรตรึงส์แน่ละหรือ เพราะมีข้อสงสัยว่าเจ้าแผ่นดินลงมาแต่เชียงราย เวลานั้นเมืองกำแพงเพชรก็มีเจ้า เหตุไฉนจะข้ามลงไปสร้างเมืองไตรตรึงส์ขึ้นในที่ใกล้ ห่างกันเพียง ๔๐๐ เส้น ความที่เดาว่าเมืองกำแพงเพชรมีเจ้าอยู่ในเวลานั้น น่าจะเดาจากบัญชีเมืองประเทศราชครั้งแผ่นดินพระเจ้าอูทอง ในท้องเรื่องที่ว่าเจ้าเชียงรายยกลงมา ไม่ได้กล่าวว่าตีเมืองกำแพงเพชร ไปตั้งเมืองแปบเป็นเมืองไตรตรึงส์ทีเดียว จึงเกิดสงสัย ที่จริงจะได้เมืองกำแพงเพชรแล้ว แต่หากจะย้ายไปสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเกียรติยศ หรือด้วยความขัดข้องประการใด เมืองกำแพงเพชรที่อยู่ฝั่งตะวันออก คงจะเกี่ยวดองหรืออยู่ในอำนาจเมืองสวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก จึงได้ตั้งฝั่งทางที่เป็นแผ่นดินเดียวกัน ถ้าพวกเยงรายจรมาจะไปตั้งฝั่งตะวันตกก็จะได้เพราะถูกต้องความในจดหมายเหตุว่า ข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งฝั่งตะวันตกเมืองกำแพงเพชร เห็นว่าจะเป็นเมืองไตรตรึงแน่
กลับเวลาเที่ยงลงเรือเหลืองมาถึงพลับพลาประทับร้อนไม่แวะ ด้วยจะฉ้อวันให้ได้อีก ๑ วัน ระยะเขากะ ๑๐ วัน เป็นฉ้อได้ ๒ วัน คง ๘ วัน ฝนตกเป็นคราวๆ มาแวะกินข้าวที่บ้านไร่ เป็นบ้านนายเทียน อำแดงแจ่ม ท่วงทีบ้านเรือนสบาย พื้นบ้านเตียนหมดจด มีไม้ดอกไม้ผลหลายอย่าง ผิดกันกับบ้านแถบนี้ เจ้าของบ้านก็ไม่ออกมาทักทายตามอย่างที่เคยแวะมา ออกจะหลบๆ ครั้นเมื่อจะไปสั่งสนทนา จวนตัวเข้าจะหายกลัวด้วยเห็นเป็นคนแปลกหน้า ถ้าจะไม่มีอันตราย จึงได้ขยายว่าเป็นคนเมืองนนท์ ขึ้นมาอยู่ได้ ๑๐ ปี หน้าตาแยบคายชอบกล เป็นคนฉลาดรู้อะไรๆมากและลงหนังสือขอมทั่วทั้งตัว จึงลงเนื้อเห็นกันว่า ที่จะเป็นผู้ร้ายคนโตหลบขึ้นมาอยู่ในที่นี้ ออกจากบ้านไร่มาก ถูกฝนอีกมาก ถึงกำแพงเพชรจอดหน้าเมืองเก่าเกือบทุ่ม ๑ ที่นี่เขาทำพลับพลาขึ้นไปบนฝั่งแอบปะรำ จอดเรืออีกหลังหนึ่ง วันนี้ได้ตั้งตาอ้นเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช
วันที่ ๒๓ แต่เช้าฝนตกประปรายอยู่เสมอ ๓ โมงต้องไปทั้งฝน ถ่ายรูปทั้งฝน ไปตามถนนบนฝั่งน้ำชั้นบนขึ้นไปข้างเหนือผ่านวัดเล็กๆทำด้วยเเลง และที่ว่าการซึ่งยังทำไม่แล้ว เลี้ยวเข้าประตูน้ำอ้อยทิศตะวันตก หน้าประตูนี้เป็นทำลึกลงไปจากฝั่งจนถึงท้องคู แล้วจึงขึ้นเมือง เมืองตั้งอยู่ในที่ดอนน้ำไม่ท่วม เลียบไปทางริมกำแพงซึ่งเขาว่าได้ตัดแล้ว รอบเมืองนี้ไม่ได้ทำเป็นเหลี่ยม โอนไปตามรูปน้ำ ประมาณว่าด้านเหนือด้านใต้ ๕๐ เส้น ด้านสกัดทิศใต้ ๑๒ เส้น สกัดข้างเหนือ ๖ เส้นรูปสอบ ใช้พูนดินเป็นเชิงเทิน คิดทั้งท้องคูข้างนอกสูงมาก กำแพงก่อด้วยแลงใบเสมาเป็นรูปเสมาหยักแต่ใหญ่ คออ้วน เหลืออยู่น้อย ตามประตูน่าจะเป็นป้อมทุกแห่ง แต่ที่ได้เห็น ๓ ประตู คือประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น ประตูหลังยังคงมีป้อมก่อด้วยแลง ปรากฏป้อมนั้นเป็นลับแลอยู่ปากคูข้างนอก ตรวจว่าจะชักเข้ามาติดกำแพงอย่างเมืองนครศรีธรรมราชหรืออินเดีย ก็ไม่มีร่องรอย แต่เป็นเมืองอย่างมั่นคงดีกว่าเมืองนครศรีธรรมราชและนครราชสีมา
ที่สำคัญคงอยู่ฝ่ายเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งวัดใหญ่ ที่ตกลงกันเรียกว่าวัดพระแก้ว อยู่ข้างเหนือ วังอยู่ใต้ใกล้กัน วัดนั้นมีกำแพงแลงทั้งท่อนตั้งมีทับหลังสูงสัก ๒ ศอกเศษ ไม่ใช่สร้างคราวเดียว ไปเข้าทางช่องกลาง กลางย่านของวัดสิ่งที่ก่อสร้างภายในเป็นแลงเป็นพื้น เห็นจะซ่อมแซมด้วยอิฐภายหลัง หย่อมต้นเป็นฐานทักษิณอันเดียวยาว จะเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมหรือพระปรางค์อยู่ท้าย กลางเป็นมณฑป ตอนหน้าเป็นวิหารใหญ่ ลักษณะอันเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงเก่า เห็นจะเอาอย่างไปจากนี้ เหมือนกันกับหมู่พุทธปรางค์(กรุงเทพฯ)เอาอย่างไปจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมามีระยะกันถึงวิหารใหญ่พระเจดีย์กลมลอมฟางอยู่หลังวิหารอีกหน่อยหนึ่ง หย่อมนี้จะเป็นชั้นลังกา แต่เจดีย์นั้นทำงามมาก ชั้นล่างเป็นซุ้มคูหารอบ มีสิงห์ยืนในคูหา ถัดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเป็นคูหาไว้พระพุทธรูปขนาดเดียวกับพระโบโรบุโด ซึ่งเชิญมาไว้ในวัดพระแก้วแต่คะเนยังไม่ได้ว่าจะเป็นท่าต่างๆหรือไม่ ถัดขึ้นไปจึงถึงองค์พระเจดีย์บัวคว่ำบัวหงาย ที่รับปากระฆังเป็นบัวหลังเบี้ยสลับกลีบกันงามเข้าทีมาก บัลลังก์มีซุ้มยื่นออกมา ๔ ทิศไว้พระ ๔ ปาง ไม่เห็นมีเสารับยอดซึ่งกรมหลวงนริศสงสัยว่าจะเป็นทวย ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนแต่ยอดด้วน ประมาณว่าจะสูงราว ๑๕ วา ต่อนั้นเป็นวิหารโถงมีกำแพงแก้ว
กำแพงก่อด้วยแลงแต่ปั้นปูนเป็นรูปรามเกียรติ์ ทำให้เห็นชัดได้ว่าเครื่องแต่งตัวโบราณนั้นไม่ได้นุ่งผ้าแน่แล้ว สวมกางเกง ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งยาวหุ้มแข้งชั้นนอกเขินเพียงหัวเข่า แล้วคาดผ้าปล่อยชายยาวลงมาทั้งสองข้าง จึงสวมเสื้ออย่างน้อยซึ่งมีชายเสื้อทับผ้าคาด แล้วสวมเสื้อแขนสั้นทับอีกชั้นหนึ่ง ในระหว่างชายเสื้อกับเสื้อแขนสั้นคาดเข็มขัด แต่หมวกจะเป็นอย่างไรพิจารณายังไม่เห็นชัด เพราะชำรุดมากเวลาไม่พอ ผู้หญิงก็ดูเหมือนจะนุ่งผ้า ๒ ผืนคล้ายเทวรูป แต่ยังเห็นไม่ชัด
ในวิหารโถงนี้มีพระนอน แล้วมีพระเจดีย์องค์เล็กๆรายอยู่ที่ฐานชุกชี รอบที่หน้ากระดานและที่บัลลังก์ พระเจดีย์เล็กๆนี้ทำเป็นซุ้มพระพุทธรูปเล็กๆเรียงติดกันไปรอบ มีผู้ไปสร้างพระองค์ใหญ่นั่งอยู่ข้างหลังพระนอน หน้าพระเจดีเติมขึ้นอีก ๒ องค์ เห็นชัดว่าคงจะเติมภายหลัง เพราะเบียดเสียดกันมาก รูปพรรณก็เลวทราม วิหารโถงนี้คล้ายกันกับที่ท้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงเก่านั้นอีก
ในระหว่างพระเจดีย์และวิหารโถงนี้ มีมณฑปตั้งพระพุทธรูปใหญ่ๆอยู่ ๓ มณฑป แต่ไม่ใช่แนวเดียวกัน กลางถลำลงไปหน่อยหนึ่ง บางทีจะสร้างแทรกเติมขึ้น พ้นจากหมู่วิหารโถงนี้เป็นวิหารใหญ่อีกหย่อมหนึ่ง มีพระระเบียงล้อมรอบ พระหน้าตาชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักอยู่และมีที่วัดเบญจมบพิตรหลายองค์นั้น เดิมไม่ได้กล่าวกันว่าเป็นพระเมืองกำแพง บัดนี้รู้จักกันแล้วว่า พระหน้าตาชนิดนี้เป็นพระเมืองกำแพง
ถัดนั้นไปอีกหย่อมหนึ่งมีกำแพงคั่น เขาเรียกต่างชื่อไปว่าเป็นวัดช้างเผือก แต่เห็นว่าจะไม่ใช่เพราะมีถนนคั่นชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่ได้ไปดูถึงที่ ส่วนข้างด้านหน้าหมู่ต้นนั้นเข้าก็เรียกเป็นวัดอื่นต่างหาก เพราะห้อยออกไป มีวิหารใหญ่ มีพระปรางค์ แต่ที่จริงเห็นจะเป็นวัดเดียวกันทั้งนั้น เจ้าแผ่นดินวงศ์หนึ่งหรือคนหนึ่ง ก็จะสร้างเติมๆออกไปเป็นวัดยาวเลื้อยเหมือนอย่างวัดหน้าพระธาตุ เมืองลพบุรี ทีจะมีพระเจดีย์วิหารเล็กๆรายข้างๆอีกมากแต่พังเสียหมด ชื่อวัดนี้ไม่ปรากฏ ถ้าจะเรียกตามลพบุรีก็เป็นวัดหน้าพระธาตุ ถ้าจะเรียกตามกรุงเก่าก็เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งยอมรับว่าจะเรียกวัดพระแก้วก็ได้ทั้งนั้น เพราะเหตุที่มีในตำนานว่าพระแก้วได้เคยมาอยู่เมืองนี้ ถ้าหากว่าได้มาอยู่คงจะไม่ได้อยู่วัดอื่น คงอยู่วัดนี้เป็นแน่
ออกจากวัดไปที่หลักเมือง ซึ่งอยู่มุมท้ายวัด อยู่ในระหว่างวัดกับวัง แล้วไปที่วัง วังนี้มีแนวเชิงเทินดินต่ำๆรอบ ไม่เห็นมีกำแพงเหลือเลย เห็นจะใช้ระเนียดไม้ เช่นเมืองพม่าเขาก็ยังใช้ ยาวอยู่ ๖ เส้น กว้าง ๕ เส้น ไว้ชานในระหว่างระเนียดชั้นนอกพอสมควร พอการพิทักษ์รักษาและบริษัทบริวารจะอยู่ ชั้นในขุดคูรอบคงจะมีระเนียดปากคูข้างในอีกชั้น ๑ มีถนนเดินเข้า ๓ ด้าน เว้นด้านหนึ่งดู๓มิฐานคล้ายสระแก้วเมืองพิษณุโลก ในกลางวังมีสระใหญ่รูปรีสระหนึ่ง ไม่มีร่องรอยก่อสร้างเลย เห็นจะเป็นเรือนไม้ทั้งนั้น
เขาปลูกพลับพลาและประรำที่พักในที่นี้ มีราษฎรมาประชุมอยู่เป็นอันมาก ภรรยาข้าราชการ และผู้ดีในเมืองนี้ทำสำรับมาเลี้ยงหลายสิบสำรับ หน้าพลับพลาทำเป็นรูปเต่ารูปช้างเผือกโพล่จากดิน รูปเสือและรูปงูอยู่ที่ต้นไม้ริมพลับพลา เป็นความคิดนายอำเภอบ้านพรานกระต่ายทำ ได้กินของเลี้ยงและถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพงเพชร(๖๖) ซึ่งได้สั่งให้เลือกหาไว้ก่อน เขาคัดเอาแต่ลูกผู้ดี ความจริงราษฎรที่มานั่งอยู่ทั้งหมู่หน้าตาดีกว่าก็มี ผู้หญิงเมืองนี้นับว่ารูปพรรณสันฐานดีกว่าเมืองอื่นในข้างเหนือ คนงามทั้ง ๔ ที่จะมาถ่ายรูปนั้นเขาให้ถือกระเช้าหมากคอยแจกเลี้ยง คือ หวีด บุตรหลวงพิพิธอภัย อายุ ๑๖ ปี คนนี้รูจักนั่งโปสต์ถ่ายรูป จึงได้ถ่ายรูปเฉพาะคนเดียว ยังอีก ๓ คนนั้นชื่อ ประคอง ลูกหลวงพิพิธอภัยเหมือนกัน อายุ ๑๗ ปี ริ้ว ลูกพระพง อายุ ๑๗ พิง ลูกพระยารามรณรงค์ อายุ ๑๖ ปี อาหารที่เลี้ยงกันเป็นกับข้าวอย่างเก่าๆพอกินได้ ดีกว่าบ้านนอกแท้
กลับออกจากวังแวะที่วัดอีกหน่อยหนึ่ง แล้วจึงไปเทวสถาน เขาเรียกว่าพระอิศวร แต่ที่แท้เห็นจะเป็นสถานเดียวรวมกับลักษณะศาลพระกาฬ เมืองลพบุรี คือคงจะเป็นปรางค์แล้วมีเทวสถานต่อข้างหน้า อยู่ในฐานชุกชีอันเดียวกัน ที่นี่ซึ่งคนเยอรมันได้มาลักรูปพระอิศวรที่อยู่(พระที่นั่ง)พุทไธศวรรย์เดี๋ยวนี้ ไปตามกลับมาได้ยังคงเหลืออยู่บัดนี้ แต่พระอุมาและพระนารายณ์ซึ่งเอาศีรษะไปเสียแล้ว และเทวรูปเล็กน้อย ฝีมือดีทันกันกับพระอิศวรองค์ใหญ่นั้น ได้เห็นบ่อกรุ ๒ บ่อแต่ตื้นต้นไปเสียแล้ว ที่เขาว่ายังดีอยู่ก็มี บ่อกรุรายทั่วไปในเมือง มีวัดอื่นที่ย่อมๆลงไปอีก กลับบ่าย ๓ โมง เวลาเย็นพายุจัดฝนตกไม่สู้มาก ได้ข่าวว่ารูปที่ส่งไปล้างบางกอก ได้ส่วน ๑ เสีย ๒ ส่วน เห็นจะเป็นด้วยน้ำยาไม่ถูกกัน หรือจะชื้นจะรั่วประการใด นึกเสียดายเมื่อไรจะได้มาถ่ายรูปเมืองกำแพงเพชรอีก จึงได้จัดการโอนเอาห้องอาบน้ำเป็นห้องล้างรูป ทนล้างเอาในวันนี้ ประดักประเดิดมาก ๒ ยามเศษจึงได้หมด ได้รับหนังสือบางกอกซ้ำเข้ามาด้วย
วันที่ ๒๔ วันนี้ขึ้นเดินบกไปโดยทางเดิมจนถึงถนนเลี้ยวประตูน้ำอ้อย ไม่เลี้ยวตรงไปตามทางข้างทิศตะวันตกแต่โอนเหนือ พบวัดใหญ่บ้างเล็กบ้าง อย่างก่อด้วยอิฐกำมะลอ ๒ - ๓ วัด แล้วเลี้ยวเข้าประตูดั้นซึ่งออกไปดูเมื่อวานนี้ เดินเลียบตามในกำแพงต่อไป จนถึงทางที่เคยเลี้ยวเข้าวัด ที่เรียกกันว่าวัดพระแก้วเมื่อวานนี้เป็นที่สุดทางที่ได้ไป แล้วจึงเดินเลียบกำแพงนั้นต่อไปอีก ยังเป็นทิศตะวันตกอยู่นั้นเอง มีป้อมๆหนึ่งไม่มีชื่อ เป็นป้อมสามเหลี่ยมเหมือนกับป้อมอื่นๆ ฝีมือวิชเยนทร ใกล้ป้อมนั้นมีประตูอีกประตูหนึ่ง เรียกว่าประตูเจ้าอินเจ้าจัน ในระยะนี้ไปมีกำแพงที่ยังดีอยู่หลายตอน เป็นอันได้รู้ว่าก่อแลงเสริมขึ้นเป็นเชิงเทินหลังเนินดินสูงประมาณ ๓ ศอก ๔ ศอก แล้วจึงตั้งฐานเสมาเจาะช่องปืนใต้เสมา เสมานั้นคล้ายอย่างอินเดียเสี้ยมปลาย แต่ไม่หยักเม็ด ป้อมมุมตะวันตกต่อกับเหนือ หมายว่าจะแปลกก็ไม่แปลกอันใด เท่ากัน ถัดไปจึงถึงประตูเขาเรียกชื่อว่าประตูหัวเมือง ประตูนี้มงกุฎราชกุมารคะเนว่าจะเป็นประตูชัย แต่เห็นจะไม่ถูก เพราะไม่ใช่ตรงข้างเหนือแท้ ที่คะเนนั้นคะเนโดยเห็นมีหอรบ ๒ ข้างประตู
เมื่อถึงด้านตะวันออกเริ่มต้นเป็นประตูผีออก ซึ่งยังมีกำแพงอยู่ดีกว่าประตูอื่นๆ ถัดไปถึงป้อมซึ่งพระวิเชียรให้ชื่อไว้ว่าป้อมเพชร เพราะเป็นด้านเหนือ เขาถือว่าเป็นป้อมสำคัญ ขึ้นไปดูก็ไม่เห็นแปลกอะไรเป็นป้อมสามเหลี่ยมชุดเดียวกันกับป้อมทั้งนั้น ต่อไปอีกจึงถึงประตู เขาเรียกไว้ว่าสะพานโดม ซึ่งน่าจะเรียกหว่าประตูไชย เพราะเป็นทางไปและมากับเมืองสุโขทัย ประตูนั้นเป็นประตูใหญ่ลักษณะประตูเพนียดลพบุรี ลงไปลึกจึงถึงถนนข้ามคู ปลายถนนข้ามคูเป็นที่ลุ่มลึกใหญ่ มีเกาะอยู่กลาง ซึ่งเขายังไม่ได้แปลว่าอะไรนั้น แลเห็นได้ถนัดว่าเป็นป้อมประจำประตู อย่างประตูดั้น แต่ใหญ่กว่า เมื่อไปพบป้อมนั้นจึงขึ้นถนน ขุดดินเป็นร่อง ๒ ข้างขึ้นพูนเป็นถนนสูง กว้างประมาณ ๘ วา ตรงลิ่วเรียกว่าถนนพระร่วง
ถนนพระร่วงชนิดนี้มีในระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลก เหมือนถนนสายนี้ไปสุโขทัย แต่ขาดเป็นห้วงเป็นตอน เชื่อแน่ได้ว่าเป็นถนนพระร่วงจริง เมื่อไปได้ประมาณ ๒๐ เส้นเศษ ย้ายลงเดินจากถนนไปข้างซ้ายมือ ที่นั่นดูเป็นที่ลุ่มต่ำลงไปจนถึงเป็นน้ำเป็นโคลน แล้วจึงไปขึ้นดินสูง ที่สูงนั้นพื้นเป็นแลงทั้งสิ้น ที่เป็นแลงแลเห็นเป็นแท่งๆก็มี ที่ป่นเป็นทรายแดงไปก็มี พอขึ้นที่สูงนั้นหน่อยหนึ่งก็ถึงวัด เป็นวัดใหญ่ๆแต่ไม่มีชื่อทั้งนั้น ด้วยเป็นวัดทิ้งอยู่ในป่าเสียแล้ว วัดเหล่านี้ใช้แลงแผ่นยาวๆตั้ง ๒ ศอกเศษ หน้ากว้างคืบเศษหรือศอก ๑ หนา ๕ นิ้ว ๖ นิ้ว ตั้งเรียงกันเป็นระเนียด มีกรอบแลเหลี่ยมลอกมุมทับหลังเหมือนกันทุกๆวัด
แต่วัดที่เขาใช้ชื่อว่าวัดกำแพง งามเป็นเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่ง ทีจะทำภายหลังวัดอื่น การข้างในจึงไม่มีสลักสำคัญอันใด เห็นจะไม่แล้ว วัดต้นทางที่ไปไม่มีชื่อ ถัดไปถึงวัดพระนอนซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน วัดเหล่านี้มีมักจะมีวิหาร หรืออุโบสถใหญ่อยู่ข้างหน้า มีทักษิณชั้นล่างชั้นหนึ่งแล้วจึงถึงฐานปัทม์ ลักษณะวัดสุทัศน์ วิหารเหล่านี้ไม่เกิน ๕ ห้อง แต่คงมีมุขเด็จด้านหน้าอย่างวัดหน้าพระธาตุเมืองลพบุรี พนักเป็นช่องลูกฟักเสาเป็น ๘ เหลี่ยม ตัดแลงเป็น ๘ เหลี่ยมทีเดียว ด้านหลังมีมุขตั้งทักษิณชั้นล่างจนผนัง และเสาใช้แลงอย่างเดียวไม่มีอิฐปูน ใช้พื้นโบสถ์พื้นวิหารสูง ไม่ต่ำเหมือนอย่างกรุงเก่า เหตุที่เขารวยแลง แต่หลังคาจะหาตัวอย่างให้เห็นว่าเป็นอย่างไรไม่มีสักหลังคาเดียว ถัดโบสถ์หรือวิหารนี้ไปจึงมีก้อนกลางต่างๆกันชิ้นหลังก็ยักไปต่างๆกัน บางทีมี ๒ ชิ้น
จะว่าด้วยวัดพระนอนนี้ วิหารหน้าใหญ่มาก แต่โทรมไปไม่มีอะไรอัศจรรย์ ในทักษิณชั้นล่างตั้งสิงห์เบือนเห็นจะมากคู่ แต่เดี๋ยวนี้เหลือ ๒ ตัว ชิ้นกลางเป็นวิหาร ๕ ห้อง กันไว้ข้างหน้า ๒ ห้อง ข้างหลัง ๒ ห้อง เหมือนวิหารพระศาสดาวัดบวรนิเวศและวิหารพระอัฐรสวัดสระเกศแต่ใหญ่มาก เสาใช้แลงท่อนเดียวเป็น ๔ เหลี่ยมสูงใหญ่ ห้องข้างหน้ามีพระนอน ห้องข้างหลังมีพระนั่ง ๒ องค์ ชิ้นหลังเป็นพระเจดีย์ฐาน ๘ เหลี่ยม ระฆังกลมรูปแจ้งามมาก เกือบจะสู้พระเจดีย์กลางถนนเมืองย่างกุ้งได้ ยังดีไม่ซวดเซอันใด เหตุด้วยพื้นเป็นแลงแข็งไม่ต้องทำราก ชั่วแต่ยอดหักแต่ที่เหลืออยู่บัดนี้สูงกว่า ๑๕ วา ที่หน้าพระเจดีย์นี้มีที่บูชาเป็นหลังคา ๒ ตอน ลักษณะเดียวกับที่ทูลกระหม่อม(๖๗)สร้างไว้ในที่ต่างๆ ต่อไปข้างหลังมีฐานโพธิ์และมีวิหารอะไรอีกหลังหนึ่ง ชำรุดดูไม่ออก เป็นวัดใหญ่มาก แต่จะเรียกว่าวัดพระนอนก็ควร เพราะมีพระนอนเป็นสำคัญ
ตั้งแต่วัดนี้ไปมีกำแพงอีกหลายวัดอยู่ชิดๆกันอย่างวัดกรุงเก่า แต่ไม่มีเวลาจะแวะดู ทางที่ไปเป็นป่าไม้หลวง เป็นพื้นโปร่งๆ เมื่อพ้นวัดกำแพงงามจึงถึงวัดเขาตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู เสาล้วนแต่ศิลาแลงทั้งนั้น วิหารใหญ่ด้านหน้าจนโตกว่าวัดสุทัศน์ แต่ไม่มีอะไรหลงเหลือเลยนอกจากพระเศียรพระ เล็กๆน้อยๆ ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมทอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดพระเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อไว้ว่าวัดพระยืนนั้นไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกวัดพระเชตุพนไปพลางกว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดพระเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง
ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์ปรางค์อันใดพังเสียหรือไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ที่เป็นฐานเดียวกันหลายๆองค์บ้าง องเดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรี และวัดพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระสี่เหลี่ยมกว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลย มีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้ เมื่อเห็นวัดนี้เข้าแล้ว เป็นการจำเป็นที่จะยืนยันรับรองว่า วัดในเมืองจะเป็นวัดพระแก้วไม่ได้เลย ถ้าพระแก้วได้อยู่ในเมืองนี้คงจะอยู่วัดนี้ ใช่แต่เฉพาะว่าวัดใหญ่ เกี่ยวด้วยกาลเวลาเสียด้วย เป็นอันลงสัณฐานได้ในเรื่องเมืองกำแพงเพชร นี้ดังที่จะว่าต่อไป
...
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #2 on: 26 January 2023, 22:15:55 » |
|
(ต่อ)
เมืองกำแพงเพชรนี้ เดิมตั้งอยู่ห่างฝั่งน้ำทุกวันนี้ประมาณ ๑๐๐ เส้น น่าจะมีลำน้ำมาที่ชายเนินแลง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าเป็นที่ลุ่มหรือที่อื่น ตลอดจนเวลาพระร่วงเป็นใหญ่ในเมืองสวรรคโลก เป็นเวลาร่วมกันกับมังรายลงมาจากเชียงราย ตั้งเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง พวกเจ้านายในเมืองสวรรคโลก กลัวว่าสวรรคโลกล่อแหลมนัก จึงคิดอ่านตั้งสุโขทัยเป็นเมืองหลวงขึ้นอีกเมืองหนึ่ง สวรรคโลกให้ลูกไปอยู่เป็นทัพหน้า ข้างฝ่ายแม่น้ำน้อยนี้ จะเป็นไปด้วยแม่น้ำเปลี่ยนไปก็ตาม หรือเมืองเดิมตั้งอยู่ห่างน้ำก็ตาม พระร่วงหรือวงศ์พระร่วงเห็นว่าควรจะเลื่อนเมืองลงมาตั้งริมน้ำให้ข่มแม่น้ำนี้ จึงมาสร้างกำแพงขึ้นใหม่ให้ชื่อว่าเมืองกำแพงเพชร ทำทางหลวงเดินขึ้นไปสวรรคโลกสายหนึ่ง มากำแพงเพชรสายหนึ่ง เพื่อจะให้เดินทัพช่วยกันได้สะดวก เมืองเหนือคงเป็น ๓ พระนคร ทางเดินในระหว่างกำแพงเพชรไปสุโขทัย นอน ๒ คืน ด้วยเหตุฉะนั้นเจ้าผู้ครองเมืองกำแพงเพชรจึงย้ายเข้ามาอยู่ในกำแพง ได้สร้างวัดใหญ่ขึ้นแต่วัดเดียว เมื่อองค์อื่นจะสร้างก็สร้างเติมต่อๆไป จึงไม่มีวัดใหญ่ในกำแพงเมือง วัดในกำแพงต้นทางที่มีพระเจดีย์ ซึ่งมงกุฎราชกุมารสมมติให้เป็นวัดมหาธาตุ ถ้าจะเทียบกับวัดข้างนอกเมือง เล็กนักเป็นไม่ได้ วัดพระแก้วนั้นเหล่าพระแก้วก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุที่พระแก้วจะตกมาอยู่กำแพงเพชร คงจะมาอยู่ก่อนสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ ด้วยถ้ามาอยู่ภายหลัง คงจะไม่อยู่เมืองกำแพงเพชรต้องไปอยู่สุโขทัย เมืองชั้นกำแพงเพชรไม่เกิน ๖๐๐ ปี แต่เมืองโบราณภายในนี้ไม่ภายหลังพระร่วง ถ้าหากว่าได้ค้นคว้ากันจริงๆ คงจะพบลำน้ำเขิน พบเชิงเทินเมืองเก่า เดี๋ยวนี้พวกที่ค้นหลงว่าเมืองเก่านั้นเป็นวัดนอกเมือง จึงมามัวคลำแต่ในกำแพง ถ้าเป็นนอกเมืองแล้วจะไปสร้างวัดออกเต็มไปเช่นนั้นที่ไหนได้ ถ้าจับบทหันไปค้นนอกเมือง ซึ่งเป็นเมืองโบราณนี้คงจะได้อะไรอีกมาก
วันนี้อยู่ข้างจะสนุก แต่เวลาไม่พอ หยุดแต่ชั่วกินข้าวที่ปากสระวัดมหาธาตุครู่เดี๋ยว ยังกลับมาถึงเกือบบ่าย ๕ โมง
วันนี้ค่ำล้างรูป และมีละครของมารดาหลวงพิพิธอภัยเล่นเรื่องไชยเชษฐ กรมดำรงเชื่อว่าจะเก่าแท้ไม่มีโซดขึ้นมาถึง ที่แท้โซดเสียป่นปี้ยับเยินมาก คือนายโรงแต่งตัวเป็นละครแต่เสื้อผ้าขาวไม่ปัก ตะพายแพรอย่างเจ้าพระยามหินทร อัตลัดดอกใหญ่ลอยเลื่อม ดอกละ ๓ อัน นายโรงนี้แก่มากแก้มลึกเหมือนช้อนหอย นางใส่เสื้อแพร หรือเสื้อขาวห่มแพรสไบเฉียงสวมนวมและดาบ นุ่งผ้าไหมเลี่ยน นางแมวนั้นแต่งหรูคือใส่เสื้อผู้หญิงอย่างใหม่เกี่ยวขอข้างหลัง มีความเสียใจที่คับไปหน่อยหนึ่ง ตั้งแต่บั้นเอวลงมาจนก้นเกี่ยวขอไม่ได้ ต้องง่าอยู่เฉยๆ และการที่สวมนั้นก็พลาดพลั้งเอียงอยู่ข้างหนึ่งด้วย วิเศษขึ้นที่สำรดคาดเอว ทับแพรอีกอีกชั้นหนึ่ง สวมกระบังหน้านารายณ์ธิเบศร สวมเสื้ออย่างใหม่แขนพองสพายแพร หน้าโขนเป็นหน้าเขียวสวมชฎาดอกลำโพง ลูกคู่นั้นไม่กี่คนแต่อายุตั้งแต่ ๗๐ ลงมาหา ๑๕ ปี ร้องเป็นทำนองละครใน เห็นจะเป็นด้วยพระราชนิพนธ์ หมายว่าละครในคงต้องร้องละครในทั้งสิ้น ถามเจ้าของดูว่าหางานกันกลางวันครึ่งวัน กลางคืนครึ่งคืนเป็นเงิน ๔๐ ได้เล่นทุกปีมิใช่เล่นอยู่เสมอ แต่ยังเล่นเป็นละครไม่ใช่ยี่เก
วันที่ ๒๕ วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้อยู่ข้างจะฟกช้ำ ๔ โมงจึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟากไปฝั่งตะวันออก ยังไม่ขึ้นที่วัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมาก ต้องขึ้นไปไกลอยู่หน่อย ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยว แต่น้ำไหลเพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกทางขวามือแต่ต้นทางที่จะเข้าไปเรียกว่าแม่พล้อ ถ้าไปตามลำคลอง ๓ วันถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินทางไปวันเดียวถึงป่าไม้นี้ พะโป๊กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นไทยชื่ออำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนติดกันในที่นั้น ไปขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน ๒ บ้านนี้ แล้วจึงกลับออกมาจอดกินกลางวันที่หาดกลางน้ำ คลองสวนหมากนี้ตามลัทธิเก่าถือกันว่เป็นที่ร้ายนัก จะขึ้นล่องต้องเมินหน้าไปเสียฝั่งตะวันออก เพียงแต่แลดูก็จับไข้ ความจริงนั้นเป็นที่มีไข้ชุมจริงเพราะเป็นน้ำลงมาแต่ห้วยในป่าไม้ แต่เงินไม่เป็นเครื่องห้ามกันให้ผู้ใดกลัวความตายได้ แซงพอกะเหรี่ยงซึ่งเรียกว่าพญาตก่า พี่พะโป๊มาทำป่าไม้ ราษฎรซึ่งอยู่ฟากตะวันออกก็พลอยข้ามไปหากินมีบ้านเรือนคนมากขึ้น ความกลัวเกรงก็เสื่อมไป กินข้าวแล้วล่องมาขึ้นที่วัดพระธาตุ ซึ่งแต่เดิมเป็นพระเจดีย์อย่างเดียวกับที่วัดพระธาตุใหญ่องค์ ๑ ย่อม ๒ องค์ พญาตก่าสร้างรวม ๓ องค์เป็นองค์เดียว แปลงรูปเป็นพระเจดีย์มอญ แต่ยังไม่แล้วเสร็จพญาตก่าตาย พะโป๊จึงได้มาปฏิสังขรณ์ต่อ ได้ยกฉัตรยอดซึ่งทำมาแต่เมืองมรแหม่งพึ่งแล้ว แต่ฐานชุกะชียังถือปูนไม่รอบ พระเจดีย์นี้ทาสีเหลืองมีลายปูนขาวแลดูในแม่น้ำงามดี มีพระครูอยู่ในวัดเป็นเจ้าคณะรองรูปหนึ่ง พระครูเจ้าคณะแขวงอำเภอพรานกระต่ายอยู่อีกพวกหนึ่ง เป็น ๒ พวกออกจะลอยกัน มีโรงเรียนอยู่ในหมู่กุฏิ มีราษฎรมาหาเป็นอันมาก
พระเจดีย์ ๓ องค์นี้ นาบชิดมหาดเล็กหลายพระยาประธานนคโรไทย ซึ่งเป็นนายอำเภออยู่ในมณฑลนครไชยศรีป่วยลาออกรักษาตัว ไปได้ตำนานพระพิมพ์มาให้ ว่ามีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระยาศรีธรรมโศการาชจะบำรุงพระพุทธศาสนา จึงไปเชิญพระธาตุมาแต่ลังกา สร้างเจดีย์บรรจุไว้ในแควน้ำปิงและน้ำยม เป็นจำนวนพระเจดีย์ ๘๔๐๐๐ พระฤาษีจึงสร้างพระพิมพ์ขึ้นถวาย พระยาศรีธรรมาโสการาชเป็นอุปการะ จึงได้บรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ในพระเจดีย์แต่นั้นมา เหตุที่พบพระพิมพ์กำแพงเพชรขึ้น ว่านี้เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณมีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงหน้าเมืองข้าม จึงได้ค้นคว้ากันขึ้นพบพระเจดีย์ ๓ องค์นี้ ชำรุดทั้ง ๓ องค์ เมื่อพญาตก่าขอสร้างรวมเป็นองค์เดียว รื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบกับพระพิมพ์กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา นายชิดได้คัดตำนานและวิธีบูชามาให้ด้วย ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น ได้คัดตำนานติดท้ายหนังสือไว้ด้วย
เมืองกำแพงเพชร วันที่ ๒๕ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕
ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด มหาดเล็กวรเดช หลานพระยาประธานนคโรไทยจางวางเมืองอุทัยธานี เดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งนายอำเภออยู่มณฑลนครไชยศรี ข้าพระพุทธเจ้าป่วยเจ็บทุพพลภาพจึงกราบถวายบังคัมลาออกจากหน้าที่ราชการ ขึ้นมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบเสาะหาพระพิมพ์ของโบราณ ซึ่งมีขุดค้นได้ในเมืองกำแพงเพชรนี้ ได้ไว้หลายอย่างพร้อมพิมพ์แบบทำพระ ๑ แบบ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวาย
ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตำนานพระพิมพ์เหล่านี้ อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกำแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่าพระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรนี้มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านาน ว่ามีคุณานิสงส์แก่ผู้สักการบูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลความปรารถนาแห่งผู่สักการบูชาด้วยอเนกประการ
สัณฐานของพระพุทธรูปพิมพ์นี้ ตามที่มีผู้ได้พบเห็นแล้วมี ๓ อย่าง คือ พระลีลาศ(ที่เรียกว่าพระเดิน)อย่าง ๑ พระยืน ๑ พระนั่งสมาธิอย่าง ๑
วัตถุที่ทำเป็นองค์พระต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือ ดีบุก(หรือตะกั่ว)อย่าง ๑ ว่านอย่าง ๑ เกสรอย่าง ๑ ดินอย่าง ๑ พระพิมพ์นี้ครั้งแรกที่มหาชนจะได้พบนั้น ได้ในเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งตะวันตกเป็นเดิม
และการสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นนั้น ตามสามัญนิยมว่า ณ กาลครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระบรมกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ทรงมหิทธิเดชานุภาพแผ่ไปในทุกทิศานุทิศตลอดถึงทวีปลังกา ทรงอนุสรณ์คำนึงในการสถาปนานุปถัมภก พระพุทธศาสนาเพื่อให้แผ่ไพศาลยิ่งขึ้น จึงเสด็จสู่ลังกาทวีปรวบรวมพระบรมธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาสร้างเจดีย์บรรจุไว้ในคำกล่าวว่า แควน้ำปิงและน้ำยมเป็นต้น เป็นจำนวนพระเจดีย์ ๘๔๐๐๐ องค์ ครั้งนั้นฤาษีจึงได้กระทำพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศการาช เป็นการอุปการะในพระพุทธศาสนา
ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ และพระพิมพ์เหล่านี้ เดิม ณ ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑(นับโดยลำดับปีมาถึงศกนี้ได้ ๕๘ ปี) สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง กรุงเทพฯ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชรนี้ ได้อ่านแผ่นศิลาอักษรไทยโบราณที่ประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดเสด็จได้ความว่า มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิงตะวันตก ตรงหน้าเมืองเก่าข้าม ๓ องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง(น้อย)ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและพระเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมี ๓ องค์ องค์ใหญ่บรรจุพระบรมธาตุอยู่กลางชำรุดบ้างทั้ง ๓ องค์
ภายหลังพระยากำแพง(อ่อน)เป็นผู้ว่าราชการเมือง แซงพอกะเหรี่ยง(ที่ราษฎรเรียกว่าพญาตก่า)ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สามองค์นี้ทำใหม่ รวมเป็นองค์เดียว
ขณะรื้อพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น ได้พบตรุพระพุทธรูปพิมพ์และลานเงินจารึกอักษรขอม กล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์ และลักษณะการบูชาด้วยประการต่างๆ พระพิมพ์ชนิดนี้มีผู้ขุดค้นได้ที่เมืองสรรค์บุรีครั้งหนึ่ง แต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินตำนานนี้กล่าวว่ามีเฉพาะแต่ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว มีสำเนาที่ผู้อื่นเขียนไว้ดังนี้
ตำนาน
ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ายังมีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่ ๓ ตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาล ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศการาช ฤาษีทั้ง ๓ จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพรเป็นทฤตย์พิศม์อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณะชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน ๕๐๐๐ พรรษา พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลาย อันมีฤทธิ์เอามาให้สัก ๑๐๐๐ เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ ๑๐๐๐ ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวง ให้เอาว่านทำเป็นผงเป็นก้อนประดิษฐานด้วยมนต์คาถาทั้งปวง ให้ประสิทธิ์ทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้นเอาเกสรและว่านมาประสมกันดีเป็นพระให้ประสิทธิ์ แล้วด้วยเนาวะหรคุณประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่ง ถ้าผู้ใดให้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ให้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฤาษีไว้อุปเท่ห์ดังนี้
แม้อันตรายสักเท่าไรก็ดี ให้นิมนต์พระใส่ศีรษะ อันตรายทั้งปวงหายสิ้นแล ถ้าจะเข้าการณรงค์สงครามให้เอาพระใส่น้ำมันหอมเข้าด้วยเนาวะหรคุณ แล้วเอาใส่ผมศักดิ์สิทธิ์ความปรารถนา ถ้าผู้ใดจะประสิทธิ์แก่หอกดาบศาสตราวุธทั้งปวง เพระสรงน้ำมันหอมแล้วเสกด้วยอิติปิโสภกูราติ เสก ๓ ที ๗ ที แล้วใส่ขันสำริดพิษฐานตามความปรารถนาเถิด ถ้าผู้ใดจะใคร่มาตุคาม เอาพระสรงน้ำมันหอมใส่ใบพลูทาประสิทธิ์แก่คนทั้งหลาย ถ้าจะสง่าเจรจาให้คนกลัวเกรง เอาใส่น้ำมันหอมหุงขี้ผึ้งเสกด้วยเนาวะหรคุณ ๗ ที ถ้าจะค้าขายก็ดี มีที่ไปทางบกทางเรือก็ดี ให้นมัสการด้วยพาหุง แล้วเอาพระสรงน้ำมันหอมเสกด้วยพระพุทธคุณ อิติปิโสภกูราติ เสก ๗ ทีประสิทธิ์แก่คนทั้งหลายแล ถ้าจะให้สวัสดีสถาพรทุกอัน ให้เอาดอกไม้ดอกบัวบูชาทุกวัน จะปรารถนาอันใดก็ได้ทุกประการแล ถ้าผู้ใดพบพระเกสรก็ดี พระว่านก็ดี พระปรอทก็ดี ก็เหมือนกันอย่าได้ประมาทเลย อานุภาพดังกำแพงล้อมกันภัยแก่ผู้นั้น ถ้าจะให้ความศูนย์ เอาพระสรงน้ำมันหอมเอาด้าย ๑๑ เส้นชุบน้ำมันหอมและทำไส้เทียนตามถวายพระ แล้วพิษฐานตามความปรารถนาเถิด ผู้ใดจะสระหัวให้เขียนยันต์นี้ (***) ใส่ไส้เทียนเถิด แล้วว่านโมไปจนจบ แล้วว่าพาหุง แล้วว่าอิติปิโสกการ มหเยยํมงฺคลํ แล้วว่าพระเจ้าทั้ง ๑๖ พระองค์ ทั้งคู่ กิริมิทิ กุรุมุทุ กรมท เกเรเมเท ตามแต่จะเสกเถิด ๓ ที ๗ ที วิเศษนัก ถ้าได้รู้พระคาถานี้แล้วอย่ากลัวอันใดเลย ท่านตีค่าไว้ควรเมือง จะไปรบศึกก้คุ้มได้สารพัดสัตรูแล
ข้าพระพุทธเจ้าได้พระราชทานคัดต่อมาดังนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด
..........................................................................
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #3 on: 26 January 2023, 22:17:30 » |
|
(ต่อ)
ขากลับลงเรือชล่าไปทางท้ายเมืองใหม่ เดินขึ้นมาจนถึงพลับพลา ที่เมืองใหม่นี้มีถนน ๒ สาย ยาวขึ้นมาตามลำน้ำเคียงกันขึ้นมา สาย ๑ อยู่ริมน้ำ สาย ๑ อยู่บนดอน แต่ถึงสายริมน้ำหน้าน้ำก็ไม่ท่วม บ้านเรือนก็ดูเป็นอย่างลักษณะถนนบ้านหม้อ เมืองเพชรบุรี หรือถนนบางกอกอย่างเก่า ไม่ใช่ถนนเสาชิงช้า ผู้คนก็แหน่นหนาอยู่ มาแต่ท้ายเมืองถึงพลับพลาประมาณ ๒๐ เส้นเศษ
วันนี้ถ่ายรูปไม่มากแต่สนุก เพราะได้เปลี่ยนแว่นเปลี่ยนทำนองถ่าย และถ่ายง่ายไม่เหมือนถ่ายในป่า ๒ วันมาแล้ว ซึ่งยังไม่เคยถ่ายเลย ล้างรูปไว้แต่กระจกใหญ่ จะล้างหมดกลัวแห้งไม่ทัน วันนี้ได้ตัดผม ตามพระเทพาภรณ์ขึ้นมาจากบางกอกโดยทางรถไฟ แล้วลงเรือมาด้วยแต่นครสวรรค์ เพราะหาเวลาตัดไม่ได้
วันที่ ๒๖ หมายจะยังไม่ตื่น แต่หมาเข้าไปปลุก ๒ โมงเศษ กินข้าวแล้วออกไปแจกของให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับทั้งผู้หญิงผู้ชาย หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง(อ้น) นำดาบฝักทองซึ่งพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานพระยากำแพง(นุช)เป็นบำเหน็จมือ เมื่อไปทัพแขก แล้วตกมาแก่พระยากำแพง(นาค)ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง(นุช) บุตรพระยากำแพง(นาค)และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพง ต่อมา ๔ คน คือ พระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(เถื่อน) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) ได้รับดาบนี้ต่อๆกันมา ครั้นพระยากำแพง(เกิด)ถึงอนิจกรรม ผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้งพระยากำแพง(อ้น)ถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงสำหรับเมืองเช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมา จึงได้มอบดาบเล่มนี้ไว้เป็นพระแสงสำหรับเมือง ให้ผู้ว่าราชการรักษาไว้สำหรับใช้ในพระราชพิธี
แล้วถ่ายรูปพวกตระกูลเมืองกำแพงที่มาหา ตั้งต้นคือ ท่านผู้หญิงทรัพย์ภรรยาพระยากำแพง(เกิด) อายุ ๙๓ ปี เห็นจะเป็นปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ยังสบายแจ่มใสพูดจาไม่หลง เดินได้เป็นต้น กับลูกที่มา ๒ คนคือ ชื่อผึ้งเป็นภรรยาพระพล(เหลี่ยม) อายุ ๗๓ ปี ลูกคนสุดท้ายชื่อภู่ เตยไปทำราชการในวังครั้งรัชกาลที่ ๔ แล้วมาเป็นภรรยาพระยารามรณรงค์(หรุ่น) อายุ ๖๔ ปี หลานหญิงชื่อหลาบเป็นภรรยาหลวงแพ่ง อายุ ๖๔ ปี หลานหญิงชื่อเพื่อนเป็นภรรยาพระพล อายุ ๖๔ ปี หลานหญิงชื่อพันภรรยาหลวงพิพิธอภัยอายุ ๔๔ ปี หลานชายหลวงพิพิธอภัย อายุ ๔๔ ปี เหลนที่มา ๖ คนคือ กระจ่างภรรยานายชิด อายุ ๒๔ ปี เปล่งภรรยานายคลอง อายุ ๒๑ ปี ริ้วบุตรีพระพล อายุ ๑๗ ปี ประคองอายุ ๑๗ หวีด อายุ ๑๖ บุตรหลวงพิพิธอภัย ลอองบุตรีนายจีน อายุ ๑๒ ปี โหลนได้ตัวมา ๒ คน แต่ถ่ายคนเดียวแต่ละเอียดบุตรีโน้ม อายุ ๑๓ ปี ได้ถ่ายร่วมกันเป็น ๕ ชั่วคน ที่ถ่านนี้กันออกเสียบ้าง ด้วยมาไม่ครบหมดด้วยกัน ลูก หลาน เหลน โหลน ซึ่งสืบมาแต่ท่านผู้หญิงทรัพย์ซึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยกันเดี๋ยวนี้ ๑๑๑ คน
ที่เมืองกำแพงเพชรนี้ประหลาดว่าเป็นที่มีไข้เจ็บชุม ถึงถามชาวบ้านเมืองนั้นเอง ก็ไม่มีใครปฏิเสธสักคนว่าไข้ไม่ชุมและไม่ร้าย แต่ได้พบคนแก่ทั้งหญิงทั้งชายมากกว่าที่ไหนๆหมด กรมการคร่ำๆอายุ ๗๐ - ๘๐ ก็มีมากหลายคน ราษฏรตามแถวตลาดก็มีคนแก่มาก ถ้าจะหารือพวกกำแพงจริงคงบอกว่าพระพิมพ์ป้องกัน ด้วยนับถือกันมาก พระเล่าให้ฟังว่าเวลาที่ไม่เสด็จมา หากันนักดูหายากอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อเสด็จมาจึงรู้ว่าพระพิมพ์มีมากถึงเพียงนี้ ต่างคนต่างตระเตรียมกันอยากจะถวาย ก็เป็นความจริงเพราะผู้ที่มาถวายไม่ได้ถือหรือห่อมาตามปกติ จัดมาในพานดอกไม้ นั่งรายตามริมถนน ได้เสมอทุกวันไม่ได้ขาด ดูความนับถือกลัวเกรงเจ้านั้นมากอย่างยิ่ง เพราะไม่ใคร่ได้เคยเฝ้าแหน แต่กิริยาอาการเรียบร้อย ไม่เหมือนตำบลบ้านตามระยะทางซึ่งกล้าไปยืนอยู่ คงมีผู้มากราบถึงตีนไม่ได้ขาด
ถ่ายรูปแล้วเสด็จลงเรือประพาสล่องไปขึ้นท่าหน้าวัดเสด็จ เพื่อจะถ่ายรูปวัดเสด็จซึ่งเป็นที่จารึกบอกเรื่องพระพิมพ์ แต่คำจารึกนั้นได้นำไปกรุงเทพฯเสียแล้ว(๖๘) แล้วจึงเดินไปวัดคูยาง ซึ่งเป็นที่พระครูเจ้าคณะอยู่ ผ่านถนนสายใน ถนนสายนี้งามมาก ได้ถ่ายรูปไว้และให้ชื่อถนนราชดำเนิน วัดคูยางนี้มีลำคูกว้างประมาณ ๖ วาหรือ ๘ วาน้ำขัง หอไตรและกุฏิปลูกอยู่ในน้ำแปลกอยู่ ต่อข้ามคูเข้าไปจึงถึงบริเวณพระอุโบสถ ทางที่เข้าเป็นทิศตะวันตกด้านหลังหันหน้าออกทางทุ่ง มีพระอุโบสถย่อมหลังหนึ่ง ก่อด้วยแลงแล้วเสริมอิฐถือปูน เห็นจะผิด รูปร่างเตี้ยแบนไป หลังพระวิหารมีฐานสามชั้น อย่างพระเจดีย์เมืองนี้ แต่ข้างบนแปลงเป็นพระปรางค์เห็นจะแก้ไขขึ้นใหม่ โดยพังเสียแล้วไม่รู้ว่ารูปเดิมเป็นอย่างไร ในพระวิหารมีพระพุทธรูปต่างๆอยู่ข้างจะดีๆ พระครูเลือกไว้ให้ เป็นพระลีลาสูงศอกคืบ กับอะไรอีกองค์หนึ่งต้นเต็มที ไม่ชอบ จึงได้ขอเลือกเอาเอง ๔ องค์ เป็นพระยืนกำแพงโบราณแท้ชั้นเขมรองค์ ๑ พระนาคปรกขาดฐานเขาหล่อฐานขึ้นเติมไว้องค์ ๑ พระกำแพงเก่าอีกองค์ ๑ พระชินราชจำลองเหมือนพอใช้อีกองค์ ๑
กลับจากวัดหยุดถ่ายรูปบ้าง จนเที่ยงจึงได้ลงเรือเหลือง ล่องลงมาไม่พบกรมหลวงประจักษ์ ตกลงทำกับข้าวกันมา ต่อจวนกับข้างสำเร็จจึงได้พบและกินที่พลับพลาปากอ่าง ล่องเรือลงมาหยุกชั่วแต่พอถ่ายรูปเวลาพบเท่านั้น ขาล่องนี้เรือใช้ตีกรรเชียง แต่ก็เป็นอันสักว่าตี เบาเสียกว่ากรรเชียงเรือเล็กๆ อยู่ในลอยน้ำลงมา ถึงที่พักแรมตำบลวังนางร้าง แต่ที่แท้เขาเรียกวังอีร้าง เรียกวังนางร้างถึงตาถือท้ายไม่เข้าใจ เวลาทุ่มเศษ
วันที่ ๒๗ ออกเรือเช้า ๓ โมง จน ๕ โมงจึงได้ไปขึ้นเรือเหลือง หยุดกินข้าวที่ตลิ่ง เป็นป่าตะวันออก แล้วมาหยุดที่หาด ถ่ายรูปเวลาพระอาทิตย์ตก เลยตีกรรเชียงลงมาถึงพลับพลาบ้านแดนเวลาพลบ ไม่มีเรื่องอะไรเลย นอกจากอ้ายกรรเชียงที่ตีง่ายแสนสาหัส ขึ้นชื่อว่ากรรเชียงแล้วไม่มีอะไรจะเบาเท่า ถ้าขืนตีทวนน้ำแล้วเป็นไม่ขึ้นเป็นอันขาด
วันที่ ๒๘ ออกเรือ ๓ โมงเช้า ต้องรอรับพวกจีนไทยที่มาหารวมทั้งตาแสนปม ที่เห็นพายเรือมาแต่วานนี้ด้วย แวะกินข้าวที่พลับพลาหัวดง ซึ่งเขากะให้มาแรมเวลาบ่ายโมง ๑ เท่านั้น จึงเปลี่ยนเลื่อนลงมายางเอน หยุดถ่ายรูปเขานอครั้งหนึ่ง มาตามทางมีคนรู้จักเรือเหลืองว่าเป็นที่นั่งทั่วทุกแห่ง ที่ไหนเคยแวะที่นั่นคนยิ่งประชุมมาก มีอะไรที่จะตีจะเคาะโห่ร้องได้ ก็ตีเคาะโห่ร้องทุกแห่ง มีลงเรือสายตามเอาของมาให้ก็มาก ที่เก้าเลี้ยวประโคมใหญ่เพิ่มเถิดเทิ่งด้วย ผู้หญิงตีเถิดเทิ่งมาถึงเขาดินได้ยินเสียงมโหรีและพระสวด เห็นเวลายังวันอยู่จึงได้คิดแวะถ่ายรูป แต่ชายหาดน้ำตื้นเรือเข้าไม่ถึง ต้องลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปอีก เดินหาดร้อนเหลือกำลังทั้งเวลาก็บ่าย ๔ โมงแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะขึ้นเขา แต่ครั้นเข้าถ่ายรูปที่เขาแล้ว เห็นที่วัดตระเตรียมรับแน่นหนา จึงเลยไปถ่ายรูป ครั้นเข้าไปใกล้ดูคนตะเกียกตะกายกันหนักขึ้นจนต้องยอมขึ้นวัด วัดนี้เรียกชื่อสามัญว่าวัดเขาดิน แต่ชื่อตั้งหรูมากจนจำไม่ได้ต้องจดว่า "วัดพระหน่อธรณินทรใกล้วารินคงคาราม" เจ้าอธิการชื่อเฮ็ง รูปพรรณสัณฐานดี กลางคนไม่หนุ่มไม่แก่ เป็นฝ่ายวิปัสนาธุระ ทีคนละนับถือมาก พึ่งมาจากวัดมหาโพธิที่ตรงกันข้ามได้ ๒ ปี แต่มีคนแก่สัปปุรุษและชาวบ้านหลายคน มาคอยอธิบายชี้แจงโน่นนี้ เจ้าอธิการว่าได้สร้างศาลาขึ้นไว้หลังหนึ่งขัดเตครื่องมัง จึงให้เงิน ๑๐๐ บาทช่วยศาลานั้น แล้วสัปปุรุษทายกชักชวนให้เข้าไปดูในวัด ครั้นเข้าไปถึงในลานวัดเห็นใหญ่โตมาก เป็นที่เตียนราบใต้ร่มไม้ใหญ่ กว่างเห็นจะเกือบ ๓ เส้น ยาวสัก ๔ เส้น เป็นที่รักษาสะอาดหมดจดอย่างยิ่งรู้สึกสบาย แล้วถ่ายรูป พวกสัปปุรุษชวนให้ไปดูพระอุโบสถซึ่งอยู่บนเขา จึงได้รู้ว่ามีทางอีกทางหนึ่งสำหรับขึ้นเขามีบันไดอิฐขึ้นตลอด จะต่ำกว่าเขาบวชนาคสัดหน่อยแต่ทางขึ้นง่าย ไม่ใช่เขาดินเป็นเขาศิลา มีดินหุ้มแต่ตอนล่างๆ พวกสัปปุรุษพากันตักน้ำขึ้นไปไวว้สำหรับจะให้กินจะให้อาบ โบสถ์นั้นรูปร่างเป็นศาลาไม่มีฝาหลังใหญ่ มีพระเจดีย์องค์ ๑ แต่ข้างหลังโบสถ์แลดูภูมิที่งดงามดี คือมีบึงใหญ่เห็นจะเป็นลำเดียวกันกับบึงบ้านหูกว้าง แลเห็นเขาหลวงเมืองนครสวรรค์สกัดอยู่ในที่สุด
ถ่ายรูปแล้วไล่เลียงเรื่องวัดนี้ ได้ความว่าพระครูหวาอยู่วัดหมาโพธิมาเริ่มสร้างได้ ๘๐ ปีมาแล้ว แล้วได้ปฏิสังขรณ์ต่อๆกันมา ตามที่เล่านั้นว่าเป็นที่สิงสู่ของพวกชาวลับแล พึ่งจะย้ายไปอยู่เขาหลวงเมืองชัยนาทเสียเมื่อเร็วๆนี้ มีตาแก่คนหนึ่งอายุ ๘๐ เศษ เป็นผู้รู้เรื่องชาวลับแลมาตั้งแต่ชั้นต้นมา มีตาเจ๊กดำอีกคนหนึ่งอายุ ๖๐ เศษเป็นพยานยืนยันชั้นเก่า ยังมีพวกหนึ่มๆอีกเป็นกองเป็นพยานยืนยันชั้นหลังว่า ได้ยินเสียงพิณพาทย์และเสียงฆ้องเสียงโห่ร้อง เพราะผิดกับสามัญเป็นอันมาก ครั้นขึ้นไปดูก็ไม่เห็นอะไร ในบึงหลังเขาแต่เดิมมาไม่มีกะบิรกเช่นนี้เพราะเป็นที่เขาเล่นแข่งเรือกัน ได้ยินเสียงเกรียวกราว ไปดูก็ไม่เห็นอะไร ทั้งการที่ได้ยินเกรียวกราวนั้นไม่ใช่เวลากลางคืนเป็นกลางวันด้วย ต่อแล้วจึงได้เห็นกระทงที่ใส่ของมากินนั้นทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ในบึง จนเมื่อเวลาเสด็จขึ้นไปเหนือทางแควใหญ่เร็วนี้เอง ก็ยังได้ยินเสียงอยู่ แต่ก่อนที่เขานี้มีถ้ำหลายแห่ง พวกลับแลเข้าไปเขาปิดถ้ำเสียด้วย ได้ถามล่อจะให้เห็นผู้รู้ไม่ยอมรับเห็น เล่าแต่เรื่องคนลับแลอย่างเดียว เป็นจริงเป็นจังไป คนเชื่อลับแลเช่นนี้ยังมีมาก
แล้วเขาพาเดินไปตามสันเขาออกไปลูกนอกซึ่งแลเห็นจากแม่น้ำ มีวิหารเล็กและทับที่คนอาศัย รักษาสะอาดหมดจดดีเหมือนกัน เอาอ่างมาตั้งเป็นกระถางต้นไม้เล่นเขาดีพอใช้ กลับลงมาทางด้ารข้างริมน้ำซึ่งมีบันไดปูนเหมือนกัน เจ้าอธิการถามหาทูลกระหม่อมมีติดขึ้นมาบ้างหรือไม่ ครั้งได้แจ้งความว่ามามี จึงเอาแหวนถักพิรอดมาแจก แหวนนั่นทำนองเดียวกับขรัวม่วงวัดประดู่ แต่ขรัวม่วงถักด้วยกระดาษลงรัก นี่ถักด้วยด้ายทำเรียบร้อยดี กลับลงมาโดยสะพาน เขาทำยื่นลงมาจนพ้นหาดในยาวอยู่ พวกราษฎรทั้งชายหญิงและเด็กลงมาช่วยกันเข็นเรือโดยความเบิกบาน เหมือนอย่างแห่พระ เด็กๆจนจมถึงคอยังไม่วาง ต้องไล่ ล่องลงมาถึงพลับพลายางเอนเวลาพลบ วันนี้ยุงชุมกว่าทุกวัน ถึงเมื่อขามาก็มามีที่นครสวรรค์ ตอนบนมีบ้างก็เป็นยุงนอนหัวค่ำ ไม่มีไปเท่าไร แต่อย่างไรๆก็คงน้อยกว่าบางกอก
วันที่ ๒๙ เช้า พวกชาวบ้านมาหา แต่ล้วนพวกที่ยังไม่รู้จัก ต้องการจะมาดู ในหมู่นั้นมียายอิ่มบ้านพังม่วง ซึ่งได้ไปกินข้าววันแรกมาด้วย กับลูกสาวคนหนึ่ง หลานคนหนึ่ง ครั้งเวลาออกไปก็ไม่รู้จักอยู่นั่นเอง ได้ถามว่าพระยาโบราณไปที่บ้านหรือ ตอบว่า ท่านว่าท่านเป็นพระยาโบราณ แต่อย่างไรก็ไม่ทราบ ถามว่าท่านนัดให้ลงไปหาจะพาเฝ้าไม่ใช่หรือ ก็รับว่าท่านว่าเช่นนั้นแหละ แต่อย่างไรก็ไม่ทราบ ถามว่าทำไม แกไม่เชื่อท่านหรือ บอกว่าก็เชื่อ แต่อย่างไรก็ไม่ทราบ ถามว่าทำไมจึงว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ บอกว่าชาวบ้านเขาว่าอย่างหนึ่ง ถามว่าเขาว่ากระไร อิดเอื้อนไม่ใคร่จะบอกต้องซัก แล้วกระซิบกระซาบว่าเขาว่าไม่ใช่พระยาโบราณ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเอง พอรู้เช่นนั้นเข้าขนลุกซู่ทั้งตัว ได้นึกสงสัยอยู่แล้ว เลยนอนไม่หลับกระสับกระส่ายไป ถามว่า แกเพ็ดทูลอะไรหรือจึงได้ไม่สบาย ก็ว่าได้พูดมากอยู่ มีเรื่องขึ้นค่านาเป็นต้น ถามว่าพระรูปพระโฉมท่านเป็นอย่างไร กระซิบบอกว่าสูงๆผอมๆผิวอยู่ข้างจะคล้าม จึงถามว่าวันนั้นไปด้วยกับเจ้าคุณโบราณแกจำได้หรือไม่ ว่าไม่ทันสังเกตมัวรับรอบอยู่ แล้วหันไปถามลูกสาวว่าท่านไปด้วยหรือไม่ นางลูกสาวหัวร่อบอกว่าท่านไปด้วยจำได้ ถามว่า ข้าจะบอกแกว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัวเองแกจะว่าอย่างไร ออกจะเหลือกลานแลจ้องอยู่สักครู่หนึ่ง ลุกขึ้นนั่งยองๆปูผ้า ชวนลูกสาว แน่แล้ว ให้มากราบท่านเสีย ลูกสาวก็หยุดหัวร่อทันที สองคนปูผ้าลงกราบ ๓ หนอย่างไหว้พระ ได้ให้แหวนเนื่องประดับเพชรพลอย ซื้อจากกรุงเก่าทำขวัญคนละวง หลาน เผอิญเสมาหมด เป็นของแกต้องการมาก ต้องให้กำไลเงินชื่อผีคู่หนึ่ง
แล้วได้ลงเรือเวลา ๓ โมงเช้า มาจนจะเลี้ยวขึ้นแคใหญ่จึงได้เอาเรือไฟลาก ขึ้นมาจอดที่แพใต้สเตชั่นรถไฟ พบพระยาสุขุมและจิระ(๖๘) ซึ่งได้พยายามทำเป็นคนตามเสด็จ ลงเรือแม่ปะถ่อขึ้นไปแม่น้ำน้อยบ้าง เรือแม่ปะมาถึงแควใหญ่เข้าคูงุ่มง่ามเต็มที ตานายท้ายบ่นว่าไม่ถึงถ่อ มันเป็นเรือสำหรับแควน้อยอย่างเดียวแท้ๆ แต่ถ้าผู้ซึ่งไปเรือแม่ปะชั่วแต่ขาล่องไม่ได้ถ่อขึ้นแล้ว นับว่าเป็นผู้ไม่เคยลงเรือแม่ปะได้ เพราะเวลาล่องมันเซ่อพ้นประมาณ
ทำกับข้าวเลี้ยงกันที่แพแล้ว สั่งคำพิพากษาประหารชีวิตอ้ายวิม ทหารราบที่ ๑๐ โทษฆ่านายสิบ นายหมู่ตัว ตาย ความเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ นายร้อยเอกขุนพิทยุทธ คุมทหารเมืองนครสวรรค์ตามขึ้นไป จนถึงกำแพงเพชรจอดเรืออยู่ฝั่งตะวันตกห่างเรือที่นั่งจอดประมาณ ๒๐ เส้น วันนั้นอ้ายวิมอยู่ยามในเรือมอซึ่งเป็นเรือทหารอยู่ พวกทหารทั้งปวงมารับเสด็จเวลาเช้า ๒ โมงเศษ อ้ายวิมบ่นว่าหิวข้าวขอนายสิบเรียกทหารมาเปลี่ยน นายสิบบอกว่ายังไม่มีคนให้อยู่ไปอีกหน่อย แล้วลุกขึ้นโผล่ออกมาจากขยาบ อ้ายวิมยืนยามอยู่ที่กระดานเลียบ เอาดาบปลายปืนแทงนายสิบที่รักแร้ลึกถึงราวนม พลัดตกน้ำลงไป แต่น้ำตื้นไม่ได้จมและไม่มีหลักตออันใด นายสิบร้องขึ้น คนที่อยู่ในเรือไปช่วย พยุงขึ้นมาก็ขาดใจตาย ได้มีโทรเลขส่งไปถึงจิระ เห็นว่าเป็นการสำคัญอยู่ควรจะต้องลงโทษโดยทันที ความเช่นนี้เป็นหน้าที่ศาลทหาร ให้จัดการตั้งศาลทหารที่เมืองนครสวรรค์พิจารณาให้เสด็จทันวันกลับลงมาถึง คำให้การอ้ายวิมรับแก้ว่าเผลอสติ หมายจะสะกิด พยานเบิกว่าไม่มีสาเหตุวิวาทอันใดกัน หมอตรวจว่าอ้ายวิมไม่ได้เป็นคนเสียจริต นายทหารประจำหมวดเบิกความว่าอ้ายวิมเป็นคนเรียบร้อยไม่เคยต้องรับโทษเลย พึ่งเข้ามาเป็นทหารเมื่อเดือนเมษายน ศาลปรึกษาว่าอ้ายวิมทำผิดพระราชกำหนดกฏหมายและข้อบังคับทหาร ทั้งเป็นเวลารักษาราชการเสด็จพระราชดำเนิน ให้ลงโทษประหารชีวิต ได้สั่งประหารชีวิตตามคำปรึกษา เพราะเห็นว่าทหารเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ๆในหัวเมือง ถ้าลดหย่อนโทษจะเป็นเยี่ยงอย่างใหมีความกำเริบ กำหนดจะได้นำไปยิงเสียในเวลาพรุ่งนี้
เวลาบ่ายลงเรือไปเที่ยวหมายจะถ่ายรูป ขึ้นไปพอพ้นจากคลองบรเพ็ดหน่อยหนึ่ง พอเห็นฝนตั้งจึงให้ปล่อยเรือไฟล่องมาถ่ายรูปได้ ๒ - ๓ แผ่น พอมีพายุจัดฝนตก ต้องกลับลงมาทั้งฝน เวลาค่ำมีคนขายของแต่ไต่ถามได้ความว่า เขาเกณฑ์ให้มาขายเป็นการกรุด(๗๐) ในแม่น้ำจุดไฟตามเรือแพสว่าง และมีพิณพาทย์ครึกครื้น ไม่มียุงเหมือนเมื่อคืนนี้ด้วย .
...
เชิงอรรถ
(๑) เสด็จไปในการ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ขึ้นวังใหม่
(๒) ในสมัยนั้นโปรดทรงถ่ายรูป
(๓) พระวินัยรักขิต (คง) เจ้าอาวาสวัดเขมาฯ
(๔) เรื่อพระที่นั่งยนต์ ซึ่งบริษัทบอเนียวถวาย ต่อมาเป็นชื่อ "เรือลบแหล่งรัตน"
(๕) คือตำหนักสะพานเกลือ ซึ่งกรมขุนมรุพงศ์เคยประทับเมื่อเป็นสมุหเทศาภิบาล แต่เวลานั้นย้ายไปสำเร็จราชการมณฑลปราจีณฯแล้ว
(๖) หมายถึงเมื่อทรงเลิกบ่อนแล้ว ตลาดดูจะเงียบๆไป
(๗) ตำหนักท่าเจ้าสนุกสร้างแต่ครั้งกรุงเก่า พระยาโบราณฯพึ่งค้นพบก่อนเสด็จไม่ช้านัก
(๘) กุ มาจาก ก.ศ.ร. กุหลาบ ทรงหมายถึง จริงบ้างไม่จริงบ้าง
(๙) ท.จ.ก. หมายความว่าทุนจำกัด มาแต่ท้ายชื่อ บริษัท รถรางพระพุทธบาท ท.จ.ก.
(๑๐) พระยาสระบุรี (ดิส นามะสนธิ) ต่อมาเป็นพระยาวจีสัตยารักษ์
(๑๑) ตั้งแต่เสด็จโดยรถรางพระพุธบาท เผอิญมีเหตุขัดข้องมาทุกคราว จึงดำรัสว่าเป็นสวัสดิมงคล
(๑๒) เมรุ สร้างเผาหลวงธุระการกำจัด (เทียม อัศวรักษ์) ที่วัดจักรวรรดิ ทำด้วยเครื่องไม้จริง แล้วอุทิศถวายให้ไปสร้างศาลาที่พระพุทธบาท
(๑๓) บริษัทรถรางพระพุทธบาท ทำเป็นพระพุทธบาทด้วยอาลูมิเนียม สำหรับขายคนขึ้นพระบาทซื้อไปแขวนนาฬิกาเป็นที่ระลึก มักเรียกกันแต่ว่า "ตีน"
(๑๔) นางละครคนนี้ชื่อช้อย ต่อมาเป็นตัวเอกของละครปรีดาลัย เวลาเมื่อเสด็จพึ่งหัดขึ้น
(๑๕) พระยาสุขุมนัยวินิต คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
(๑๖) พระวิมาดาเธอ ฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ตามเสด็จลงมารับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ จะเสด็จกลับจากยุโรปในวันนั้น
(๑๗) ประชุมเสนาบดี
(๑๘) พระยาบำเรอภักดิ์(เจิม อมาตยกุล) ภายหลังเป็นพระยาเพชรพิไชย
(๑๙) คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
(๒๐) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาศ เสด็จกลับมาจากยุโรป
(๒๑) แพหลังนี้เดิมเจ้าพระยาสุรสีห์ สร้างเป็นที่อยู่เมื่อเป็นเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก รับซื้อมาเป็นของหลวง
(๒๒) พวกสหายหลวงนี้ มักดำรัสเรียกว่าเพื่อนต้น คือ พวกชาวบ้านที่ทรงคุ้นเคย
(๒๓) อาจารย์วัดบางปลาหมอองค์นี้ ชื่ออาจารย์สุ่น
(๒๔) เทศา คือ พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
(๒๕) นายช้างคนนี้ ได้ทรงคุ้นเคยในคราวเสด็จประพาสครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จไปแวะที่บ้าน นายช้างกับนางพลับภรรยาไม่รู้จัก แต่ต้อนรับเสด็จให้ทรงสำราญพระราชหฤทัย ประพฤติตัวเหมือนฉันท์มิตรสหายที่เสมอกัน ต่อเสด็จกลับมาแล้วนายช้างนางพลับจึงได้รู้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งเป็นหมื่นปฏิพัทธภูวนาถ เป็นคนโปรดมาแต่ครั้งนั้น เรื่องพิสดารของนายช้างปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งแรก
(๒๖) พระไล บุตรนายช้างนางพลับ ได้ลงมาบวชอยู่วัดเบญจมบพิตรแล้วได้เป็นเปรียญ
(๒๗) หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร ณ อยุธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ต่อมาได้ไปเป็นปลัดมณฑลอีสาน ไปป่วยถึงอนิจกรรมในราชการ
(๒๘) นายเกด เปรียญ เมื่อบวชได้เป็นพระราชาคณะที่พระมหาพุทธพิมพาภิบาล เจ้าอาวาสวัดไชโย มหาอิ่มเดิมนั้นบวชเป็นเปรียญอยู่วัดบุรณสิริ ฯ
(๒๙) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
(๓๐) ลูกเงาะคนนี้ คือ นายคนัง เป็นลูกเงาะชาวเมืองพัทลุง ทรงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง และตามเสด็จประพาสด้วยเป็นนิจ
(๓๑) คือพระพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัศ รัตนกุล) เวลานั้นเป็นสมุหเทศาภิบาลนครสวรรค์ ซึ่งดำรัสเรียกว่า ท้าวเวสสุวรรณ นั้น เพราะเมื่อครั้งเตรียมการรับเจ้าต่างประเทศที่พระราชวังบางปะอินครั้งที่ ๑ พระยารัตนกุลฯ ยังเป็นผู้ว่าเมืองอ่างทอง พระยาพิสุทธิธรรมธาดา(สว่าง)ผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี พระยาวจีสัตยรักษ์(ดิส นามสนธิ)ครั้งยังเป็นผู้ว่าเมืองสระบุรี กับพระยาศรีสัชนาลัย(เจิม บุนนาค) เมื่อยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองสิงบุรี ทั้ง ๔ คนนี้ได้เป็นนายด่าน ทำการแต่งพระราชวัง มีพระราชดำรัสเรียกว่า "จตุโลกบาลทั้ง ๔" พระยารัตนกุลได้รับสมบัติเป็นท้าวเวสสุวรรณ
(๓๒) พระองค์เจ้าคำรบ เวลานั้นยังเป็นหม่อมเจ้า ตำแหน่งนายพลผู้บัญชาการทหารบกมณฑลนครสวรรค์
(๓๓) มีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสหัวเมืองทางลำน้ำปิงคราวนี้ และเวลาปราศจากความเจ็บไข้ จึงได้รอมาจนคราวนี้
(๓๔) พระครูอินทโมลี(ช้าง) ต่อมาได้เป็นพระราชาคณะที่พระอินทโมลี คงอยู่วัดนั้น
(๓๕) พระไชยนฤนาท(ม.ล.อั้น เสนีวงศ์ ณ อยุธยา)ผู้ว่าราชการเมืองชัยนาท ต่อมาเป็นพระยอดเมืองขวาง
(๓๖) เมืองชัยนาทเก่าที่ว่านี้ ตรวจพบอยู่ใต้วัดมหาธาตุลงมา คราวหลังได้เสด็จไปประพาส
(๓๗) พระครูสุนทรมุนี(จัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุทัยธานี
(๓๘) พระครูพยุหานุสาสก์(เงิน) เจ้าคณะเมืองพยุหคีรี
(๓๙) เวลานั้นมีพระหมอมาแต่เมืองเขมรรูป ๑ มาพักอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลือง รับรักษาโรคเมื่อยขัดต่างๆด้วยวิธีเอายาทาฝ่าเท้าพระนั้นเอง แล้วเอาเท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัด เวลาเอามาเหยียบตนไข้ตรงที่เมื่อยขบดังฉ่า กรมหลวงประจักษ์ฯรับอาสาจะลองให้เหยียบ
(๔๐) พระครูพยุหานุสาสก์(เงิน) มีเกียติคุณในทางวิปัสสนา พวกชาวเมืองนับถือว่ารดน้ำมนต์ดีนัก
(๔๑) สมเด็จพระพุฒาจารย์(เขียว) วัดราชาธิวาส
(๔๒) พระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์
(๔๓) จีนสมบุญ เป็นพ่อค้าใหญ่อยู่ที่ปากน้ำโพ ต่อมาเป็นที่ขุนพัฒนวานิช
(๔๔) เรือลำนี้ถวายสมเด็จพระบรมโอรสา ครั้งเสด็จเชียงใหม่
(๔๕) พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ กัลยาณมิตร) ผู้ว่าราชการเมืองตาก
(๔๖) พระวิเชียรปราการ(ฉาย อัมพเศวต) ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร ต่อมาได้เป็นพระยาไชยนฤนาท ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท
(๔๗) เรือชล่าลำนี้ เป็นเรือเก๋ง เรียกว่าเรือประพาส
(๔๘) พลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
(๔๙) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช
(๕๐) หลวงศักดิ์นายเวร(อ้น นรพัลลภ) ต่อมาเป็นพระยาพิพัทธราชกิจ
(๕๑) นางอิ่มคนนี้ ต่อมาลงมาเฝ้าเป็นคนโปรดอีกคน ๑
(๕๒) ดุ๊ก คือกรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ
(๕๓) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
(๕๔) คือพระวิมาดาเธอ ฯ กรมพระสุทธาสินีนาฎ
(๕๕) คำว่าอับปลีช เป็นภาษาของนายคนังเงาะ หมายความว่าอับปรีย์ แต่พูดไม่ชัด
(๕๖) เรื่องพงศาวดาร ตอนพระเจ้าเสือให้เจ้าฟ้า ๒ พระองค์ทำสะพานข้ามบึงหูกวาง ไม่สำเร็จทันพระทัยให้ลงพระราชอาญา ที่ทรงถ่ายรูปทรงสมมติให้กรมหลวงประจักษ์ฯเป็นเจ้าฟ้าเพชร กรมหลวงสรรพสาตรฯเป็นเจ้าฟ้าพร พระยาโบราณฯเป็นนายผล
(๕๗) หลวงอนุชิตพิทักษ์(ชาย สุนทรารชุน) เดี๋ยวนี้เป็นพระยาสฤษดิ์พจกร
(๕๘) คำว่า "ช่อฟ้าชวนฟ้าชำเลือง" นี้ เป็นฉันท์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯเรื่อง ๑ ทรงยกมาติโบสถ์ที่ทำช่อฟ้ายาวเกินขนาด
(๕๙) เกาะสี่เกาะห้า เป็นเกาะรังนกอยู่ในทะเลสาบ แขวงเมืองสงขลา
(๖๐) เดียวนี้คือ อ.ขาณุวรลักษณ์บุรี ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร
(๖๑) ทรงหมายถึงขี้ตื่นขี้กลัวคนแปลกหน้า
(๖๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
(๖๓) เมืองเก่าที่บ้านโคน มีอยู่ห่างตลิ่งเข้าไป ๑๐ เส้น ค้นพบภายหลังเสด็จคราวนั้น เห็นว่าจะตรงกับ "เมืองคณฑี" ที่เรียกในจารึกครั้งสุโขทัย
(๖๔) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯ
(๖๕) ที่วัดวังพระธาตุ มีพระสงฆ์คิดจะไปอยู่หลายคราว ตั้งอยู่ได้ไม่ช้า ทนความไข้ไม่ไหวก็ต้องเลิกไป
(๖๖) เมื่อถ่ายรูปเล่นคราวนั้น ถ่ายทั้งแผนที่และผู้คน ไปถ่ายถึงที่เมืองไหนจึงหาคนงามในเมืองนั้นถ่าย ใครได้รับเลือกทรงถ่ายรูป ต่อมามักมีผู้พอใจสู่ขอด้วยเหตุนั้น
(๖๗) คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๖๘) จารึกนี้ เดี๋ยวนี้อยู่ในหอสมุดวชิรญาณ ว่าด้วยเรื่องพระธรรมราชาลิไทยสร้างพระมหาธาตุ แลปลูกพระศรีมหาโพธิซึ่งได้มาจากเมืองลังกา ณ เมืองนครชุม สืบสวนได้หลักฐานต่อมา ว่าจารึกแผ่นนั้นเดิมอยู่ที่หน้าพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ข้างฝั่งตะวันตกเมืองกำแพงเพชร ฐานปักศิลาจารึกนั้นยังอยู่จนบัดนี้ มีผู้ขนมาไว้ที่วัดเสด็จ แล้วจึงได้ลงมากรุงเทพฯ
(๖๙) จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าจิรประวัติ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช **
(๗๐) การตรุษ คือไม่เป็นประจำ เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว
........................
ขอขอบคุณเรื่องและภาพจาก เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๕ โดย กัมม์ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=26-03-2007&group=2&gblog=51
|
|
|
Logged
|
|
|
|
|