ppsan
|
|
« Reply #1 on: 26 January 2023, 21:50:19 » |
|
(ต่อ)
วันที่ ๑ สิงหาคม เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ เจ้าคุณสุนทรเทศา(๑)แกงไก่ดีพอใช้ เพราะไก่พระปฐมเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วย แล้วลงเรือล่องมาประพาสที่พระประโทน มาพบมิวเซียมใหญ่ซึ่งโจษกันว่ามีอยู่นั้น คือท่านสมภารวัดพระประโทนเป็นผู้เก็บรวบรวมสะสมของโบราณที่ขุดได้ในแถววัดพระปฐมพระประโทนไว้มาก แต่ข่าวว่าเก็บซุกซ่อนมิยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดดูเป็นอันขาด ครั้นเสด็จไปถึง ไปถามถึงเรื่องของเก่า ท่านสมภารก็ยินดีเชิญเสด็จเข้าไปในกุฏิ แล้วยกหีบห่อของโบราณที่ได้สะสมไว้มาถวายให้ทอดพระเนตร และยอมให้ทรงเลือกแต่จะพอพระราชประสงค์ ทรงเลือกได้เครื่องสัมฤทธิ์ของโบราณ คือพระพุทธรูปเป็นต้น ซึ่งเป็นของแปลกดีหลายอย่าง ออกจากพระประโทนมาประทับทำครัวเย็นที่บ้านซึ่งพระเวียงไนยออกไปตั้งผสมม้าอยู่ที่ธรรมศาลา แล้วเสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วรายเวลาสัก ๒ ทุ่ม
วันที่ ๒ สิงหาคม ฉันล่วงหน้าขึ้นมาก่อน ทราบว่าเสด็จแวะประพาสที่คลองภาษี แล้วเสด็จต่อมาถึงสองพี่น้อง
ตามกำหนดเดิมกะว่าจะเสด็จถึงสองพี่น้องราวเวลาบ่ายสัก ๒ โมง จะประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในเย็นวันนั้น รุ่งขึ้นจะออกกระบวนจากสองพี่น้องแต่เช้าไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณทีเดียว แต่เสด็จมาถึงเย็นเวลาไม่พอประพาส จึงต้องกะระยะทางแก้ใหม่ คือวันที่ ๓ เช้าจะประพาสบ้านสองพี่น้องต่อ เวลากลางวันจะไปถึงเมืองสุพรรณไม่ได้ จะต้องจัดที่ประทับแรมกลางทางระหว่างสองพี่น้องกับเมืองสุพรรณอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้กรมหลวงดำรงเสด็จไปเลือกและจัดที่สำหรับประทับแรม ฉันถูกมีหน้าที่ไปตามเสด็จกรมหลวงดำรง จึงได้ออกเรือล่วงหน้ามาแต่เช้ามืด กรมหลวงดำรงทรงเลือกเห็นที่วัดบางบัวทองเป็นที่สมควรดี ตกลงจะให้จัดที่ประทับแรมที่หน้าวัดนั้น
ฉันออกนึกหนักใจว่าเวลามีเพียงราว ๘ ชั่วโมง ไม้ไล่ผู้คนและเครื่องมือก็ไม่มี จะทำอย่างไรจึงจะมีที่ประทับทันเสด็จ ฉันทูลถามกรมหลวงดำรง ท่านรับสั่งว่ามีมากันเท่านี้ก็ลองดูว่าจะทำได้อย่างไร มีรับสั่งให้เรียกประชุมอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกัน แล้วรับสั่งว่า วันนี้เจ้านายของพวกเราจะเสด็จมาประทับแรมที่ตรงนี้ เราต้องช่วยกันแผ้วถางและทำสะพานที่จะจอดเรือพระที่นั่งให้ทันเสด็จ พวกแกและชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ได้เคยรับเสด็จเลย และที่ยังไม่ได้เคยเห็นเจ้านายของพวกแกเองก็จะมีเป็นอันมาก ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเที่ยวป่าวร้องราษฎรในแถวนี้มาช่วยกันรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมีดพร้าเครื่องมือให้เอามาด้วย ช่วยกันทำรับเสด็จสักทีจะได้หรือไม่ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านพากันรับอาสาแข็งแรง ต่างคนต่างติดตามเรียกลูกบ้าน และหาไม้ไล่มาทำการตามรับสั่ง ใน ๒ ชั่วโมงมีคนมาช่วยทำงานสักสามสี่ร้อย ดูเต็มใจแข็งข้อที่จะทำการรับเสด็จด้วยกันทุกคน แม้แต่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกขอแรงทำงาน ก็พากันมารับอาสาตั้งเตาหุงข้าวทำครัวเลี้ยงคนงาน ประเดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาให้ ประเดี๋ยวมีใครเอาปลามาเติม ตลอดลงไปจนผักหญ้า หมากบุหรี่ ก็มีผู้เอามาช่วย กรมหลวงดำรงจะขอใช้เงินค่าเสบียงอาหารให้ก็ไม่มีใครยอมรับ ว่าอยากจะช่วยกันรับเสด็จ พอบ่าย ๔ โมงการแล้วเสร็จ เลี้ยงกันเอิกเกริกสนุกสนานราวกับงานไหว้พระอย่างใหญ่ ใครได้เห็นแล้วก็ต้องยินดีด้วยเห็นได้ว่า ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวเพียงใด
ส่วนข้างทางที่เสด็จนั้น ได้ยินว่าเสด็จไปประพาสข้างปลายคลองสองพี่น้อง จะประพาสที่ใดบ้างหาทราบไม่ ได้ความว่านายวงศ์ตะวันไปถูกหมากัด ประพาสคลองสองพี่น้องแล้วเสด็จมาพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม เมื่อทำครัวอยู่นั้นพวกเราใครตกเบ็ดได้ปลาเทโพตัว ๑ ทราบว่าแกงเทโพนั้นอร่อยนัก แต่นายอัษฎาวุธเคราะห์ร้ายไปตกล่องที่วัดบางสามฟกช้ำไปหน่อยหนึ่ง เสด็จมาถึงที่ประทับวัดบางบัวทองเวลาประมาณสัก ๒ ทุ่ม
วันที่ ๔ เวลาเช้า ออกกระบวนเรือไฟจูงขึ้นได้เพียงบางปลาม้าถึงที่น้ำตื้น ต่อนั้นต้องแจวขึ้นไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ชื่อสุขุมารามที่เรียกกัน เรียกตามได้ยินรับสั่ง เห็นจะเป็นชื่อพระราชทาน ไม่ได้ยินพวกชาวสุพรรณเขาเรียก ความจริงนั้นที่ตรงนั้นเป็นบ้านเดิมของเจ้าคุณสุขุม(๒) ญาติวงศ์ของท่านยังอยู่หลายคน ได้พากันมารับเสด็จเฝ้าแทน ดูทรงพระกรุณามาก แต่คำว่าอารามๆเคยได้ยินเป็นชื่อวัด นี่ทำไมจึงเอามาพระราชทานต่อท้ายชื่อบ้านเจ้าคุณ ข้อนี้ฉันตรองไม่เห็น
เสด็จเมืองสุพรรณ(๓)คราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้น้ำแม่น้ำยังน้อยจะไปเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตกพอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ใกล้ๆในบริเวณเมือง ในวันที่ ๔ นั้นเสด็จไปประพาสเหนือน้ำประทับเสวยที่วัดแค วันที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง เวลาบ่ายออกกระบวนล่องลงมาประทับแรมที่บางปลาม้า ถึงยังวันอยู่ จึงทรงเรือพระที่นั่งเล็กล่องลงมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน
วันที่ ๖ สิงหาคม เวลาเช้า ออกเรือเสด็จในกระบวนใหญ่ เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้ามาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันถึงบ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่หน้าบ้านหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารีขึ้นไปประพาสข้างเหนือน้ำ เสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรมสัก ๒ ทุ่ม
การเสด็จคราวนี้ เป็นการเรียบร้อยมีความสุขสบายทั่วกัน คือพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะเวลานี้นับว่าทรงสบายหายประชวรเป็นปกติได้แล้ว
นายทรงอานุภาพ
...
(๑) เดาว่าคือ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรารชุน) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ รับราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯเป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ปลัดกรมตำรวจ ครั้นกรมพระราชวังทิวงคต มารับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นหลวงเสนีย์พิทักษ์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี แล้วได้โปรดฯให้เลื่อนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ได้เป็นเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ในรัชกาลที่ ๖
ท่านเจ้าคุณมีชื่อเสียงและสติปัญญามาก ในการสืบจับปราบโจรผู้ร้าย และการไตร่สวนคดี ครั้งหนึ่งสามารถสืบสวนจับกุมมหาโจรจันทรเจ้าได้ การสืบจับและไตร่สวน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๑ โจรประหลาด
(๒)คือ เจ้าพระยมราช(ปั้น สุขุม) บิดามารดาใส่กัณฑ์ถวายพระเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้บวชเป็นเปรียญแล้วลาสิกขามารับราชการที่ขุนวิจิตรวรสาสน์ กรมอาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นครูพระเจ้าลูกเธอในโรงเรียนสวนกุหลาบ และได้ตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปต่างประเทศ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาสน์ พระวิจิตรวรสาสน์ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เมื่อจัดการปกครองเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชตามระเบียบใหม่สำเร็จ และได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล และคิดจัดการปกครองมณฑลปัตตานี(เจ็ดหัวเมืองแขก)สำเร็จ อีกทั้งทำการในราชการส่วนพระองค์อีกหลายอย่าง พ.ศ. ๒๔๕๑ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยายมราช ฯ
(๓) แต่ก่อนมา มีคติความเชื่อโบราณถือกันว่า ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณบุรี หาไม่อาจถึงอันตรายหรือเสียพระสติ คติความเชื่อนี้ถูกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทำลายลงเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมือง มีเรื่องโดยพิสดารในหนังสือ "นิทานโบราณคดี"
..........................................................................
จดหมายฉบับที่ ๗
บ้านถนนเจริญกรุง วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓
ถึง พ่อประดิษฐ์
ฉันตามเสด็จกลับมาถึงกรุงฯ เมื่อวันที่๗ สิงหาคม ต่อมาอีกสองวันฉันก็จะไปบ้านพ่อประดิษฐ์ หมายว่าจะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราว คนที่บ้านบอกว่าพ่อประดิษฐ์ออกไปเมืองสงขลาเสียแต่เทื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม และไม่ทราบกำหนดว่าจะกลับเมื่อใดแน่ ฉันเสียดายที่มาแคล้วคลาดกับพ่อประดิษฐ์เสียดังนี้ เมื่อกำลังไปตามเสด็จฉันได้รับจดหมายพ่อประดิษฐ์หลายฉบับ พ่อประดิษฐ์จะได้รับทั้งหมดหรือพลัดพรายหายสูญไปเสียบ้างก็ไม่ทราบ ฉันได้บอกมาในจดหมายฉบับหลังที่ส่งมาจากบ้างผักไห่ ว่าถ้ามีข่าวคราวในการเสด็จต่อมาอย่างใด จะไว้มาเล่าให้ฟังเมื่อถึงบ้าน มาไม่พบกันเสียเช่นนี้ ยังมีข่าวคราวอีกเล็กน้อย จึงบอกมาให้ทราบในจดหมายฉบับนี้
วันที่ ๗ สิงหาคม กำหนดระยะทางเสด็จตามที่กะไว้ในวันนั้น กระบวนเรือใหญ่จะล่องลงมาทางบ้านเจ้าเจ็ดและบางไทร ไปรอเสด็จที่บางปะอิน แต่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกระบวนต้นแยกขึ้นทางโผงผาง เข้าคลองบ้านกุ่มมาออกภูเขาทอง ล่องมาบรรจบกระบวนใหญ่ที่บางปะอิน แต่ไปเกิดเข้าใจผิดกันด้วยเหตุใดไม่ทราบ พวกหัวเมืองเข้าใจว่า กระบวนเรือใหญ่จะแยกขึ้นทางบางโผงผางแล้วไปล่องลงทางลำน้ำสีกุก พวกนำร่องนำเรือกระบวนใหญ่ไปทางบางโผงผาง เรือกระบวนต้นตามาภายหลังติดกระบวนใหญ่ ถูกทั้งคลื่นและเครื่องบูชาชยันโตรับเสด็จทั้งสองฟาก เป็นเหตุให้ลำบากและข้องแก่การประพาสเป็นอันมาก จะรีบไปก็จะเข้าไปถูกคลื่นอยู่ระหว่างกลางกระบวนใหญ่จึงจำเป็นต้องรอเรือลากตุบๆตามมา จะหาที่แวะทำครัวเช้าที่วัดวาแห่งไร พระก็ลงมานั่งสวดชยันโต ตั้งเครื่องบูชาเสียทุกวัด
แต่เสาะแสวงหาที่ทำครัวมาจนหิวอ่อน จึงมาพบบ้านแห่งหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียง ดูท่าทางชอบกลมีสะพานและโรงยาวอยู่ริมน้ำ หน้าเรือนฝากระดาน เจ้าของบ้านเห็นจะอาศัยทำครัวเลี้ยงกันที่นั้นได้ จึงแวะเรือเข้าไปไต่ถามได้ความว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไปค้าขายอยู่ แต่นายช้าง อำแดงพลับ พ่อตาแม่ยายออกมาต้อนรับแข็งแรง ตัวนางพลับเองมาช่วยทำครัวด้วย
ดูท่าทางนายช้างจะรู้จักผู้ลากมากดีกว้างขวาง พอเห็นพวกเราก็ไม่ต้องไต่ถามว่าใครเป็นใคร เข้าใจเอาทีเดียวเราเป็นพวกขุนนางที่ตามเสด็จมาข้างหลัง บอกว่าเสด็จไปเมื่อสักครู่นี้เอง เชิญให้พวก้ราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาว หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้ง แล้วเข้าไปนั่งเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัว มิได้มีรู้สึกสงสัย ที่เราคาดว่าแกกว้างขวางทางรู้จักผู้ลากมากดี ก็สมดังคำที่แกเล่า ว่าแกเคยลงไปบางกอกบ่อยๆ และบุตรชายของแกก็บวชเป็นเณรอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร แกรู้จักขุนน้ำขุนนางมาก ถึงพระเจ้าอยู่หัวแกก็เคยเฝ้า มีใครสอดเข้าไปตรงนี้ว่า แกจำพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ แกกลับขู่เอาว่า ทำไมจะจำไม่ได้เคยเฝ้าแล้ว และพระรูปก็ยังมีติดอยู่บนเรือน เลยชวนพวกเราขึ้นไปบนเรือน ไปนั่งคุยที่หอนั่งอีกพักหนึ่ง
ประเดี๋ยวได้ยินเสียงยายพลับเอะอะขึ้นในครัว ได้ความว่าแกเอ็ดหมื่นสรรพกิจเรื่องชิมแกง แกว่าเป็นผู้ลากมากดีทำไมชิมแกงด้วยจวักเขาถือกันไม่รู้หรือ เลยฮากันใหญ่ การทำครัวที่บ้านนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่นๆ ด้วยเจ้าของบ้านทั้งผัวเมียรับแรงแข็งขอบ มิได้มีความสงสัยว่าผู้ใดเป็นใครเลย
เมื่อเลี้ยงดูกันเสร็จแล้ว นายช้างปรารภว่าอยากจะได้ปืนเมาเซอร์สักกระบอกหนึ่ง เขาว่าจะสั่งเสียซื้อหาต้องขออนุญาต แกไม่รู้จะไปขออนุญาตที่ไหนขอให้คุณ (คือพระเจ้าอยู่หัว) ช่วยเป็นธุระหาซื้อให้แกสักที ส่วนเงินทองราคาปืนจะสิ้นยังเท่าใดไม่เป็นไรแกจะคิดให้ ให้เต็มราคาอย่าวิตก "คุณ" ก็ยินดีรับเป็นพระธุระที่จะให้นายช้างได้ปืนเมาเซอร์ดังประสงค์
เมื่อก่อนจะออกเรือจากบ้านนายช้าง พระราชทานกระดาษธนบัตรซองหนึ่ง ดูเหมือนเป็นเงินสักสามสี่ร้อยบาทตอบแทนที่นายช้างรับเสด็จ บางทีนายช้างจะรู้ได้ว่าใครเมื่อตรวจธนบัตรดู รู้ว่าจำนวนเงินมากผิดปกติที่ผู้อื่นจะให้ในการเช่นนั้น
เมื่อเสด็จประพาสบ้านนายช้าง ใครๆสนุกหมดเว้นแต่พระยาโบราณผู้แทนเทศากรุงเก่า(๑) ซึ่งไปในท้ายเรือพระที่นั่ง ถูกบังคับให้ซ่อนอยู่ในประทุน เพราะคนแถวนั้นรู้จัก ต้องส่งข้าวส่งน้ำพระยาโบราณเหมือนกับคนโทษ ต่อเรือออกแล้วจึงพ้นทุกข์ เสด็จมาถึงบางปะอินเวลาบ่าย ๕ โมง ทรงรถไฟพิเศษกลับกรุงเทพฯในวันนั้น เป็นจบเรื่องระยะมทางเสด็จประพาสต้นเท่านี้
นายทรงอานุภาพ
ป.ล. เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว รุ่งขึ้นนายช้างกับยายพลับพาลูกหลานลงมาเกือบหมดครัว แกเที่ยวสืบถาม เมื่อได้ความว่าใครได้ไปตามเสด็จที่บ้านแกบ้าง ก็เที่ยวไปกราบไหว้ขอขมาไม่เลือกหน้า ดูน่าสงสาร ฉันถามแกว่าทำไมจึงได้รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แกบอกพอเสด็จแล้วพวกเพื่อนเขาพากันถามข่าว มีผู้ที่จำพระเจ้าอยู่หัวได้มาบอกยืนยันว่าพระเจ้าอยู่หัวแน่ แกเห็นสมด้วยเงินที่พระราชทานถึง ๔๐๐ บาท เกินกว่าผู้ใดนอกจากพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทาน ก็ยิ่งตกใจ จึงรีบจัดเรือพาลูกหลานล่องลงมากรุงเทพฯ ขอให้พาเข้าเฝ้า จะไปกราบทูลขอขมาพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่จะได้เฝ้าแล้วหรือยังฉันยังไม่ทราบ
...
(๑) พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์)
..........................................................................
จดหมายฉบับที่ ๘
บ้านถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๑
ถึง พ่อประดิษฐ์
ด้วยเมื่อศก ๑๒๓ ฉันไปตามเสด็จประพาสต้น ได้มีจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นครั้งนั้นไปยังพ่อประดิษฐ์เป็นจดหมาย ๗ ฉบับ จดหมายเรื่องนี้ได้ลงพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๕ เดือนละฉบับจนจบเรื่อง บัดนี้คิดจะรวมจดหมายเรื่องประพาสต้นเข้าพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ฉันเที่ยวหาต้นฉบับั้งที่ลงในหนังสือทวีปัญญา และที่มีต้นร่างอยู่รวบรวมได้จดหมายแต่ ๖ ฉบับ หาต้นฉบับไม่ได้จึงต้องมีจดหมายฉบับนี้มายังพ่อประดิษฐ์ ขอให้ช่วยค้นต้นฉบับจดหมายเหล่านั้น ถ้ายังมีอยู่ที่พ่อประดิษฐ์ ขอจงสงเคราะห์คัดสำเนาจดหมายฉบับที่ ๓ ทิ้งไปรษณีย์ส่งมาให้ด้วยถ้าได้สำเนาดังประสงค์ ฉันจะขอบคุณพ่อประดิษฐ์เป็นอันมาก
บางทีพ่อประดิษฐ์ได้เห็นจดหมายฉบับนี้ จะนึกฉงนว่าจดหมายเรื่องประพาสต้นก็ได้ลงพิมพ์เป็น ๕ -๖ ปีมาแล้ว เหตุใดจึงพึ่งจะมาคิดรวมเป็นเล่ม ต่อเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว คำอธิบายในข้อนี้ขอชี้แจงว่า เมื่อพิมพ์เรื่องประพาสต้นลงในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ตามเสด็จไปด้วยในคราวนั้น พากันชอบว่าเป็นหนังสืออ่านสนุกดี มีผู้อยากจะให้พิมพ์รวมเป็นเล่มแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะเรื่องประพาสต้นเป็นเรื่องที่สำหรับเล่ากันเล่นอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ฉันไม่เห็นสาระพอถึงแก่ควรจะพิมพ์ใหม่ จึงได้เพิกเฉยเลยมา
ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็ตสวรรคตแล้ว เรื่องราวต่างๆในรัชกาลที่ ๕ กลายเป็นเรื่องเก่า "เมื่อกระนั้น" สำหรับชอบเล่าชอบคุยกัน เรื่องประพาสต้นนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งกลับเป็นเรื่องชอบเล่ากันขึ้น มีเพื่อนฝูงชักชวนให้พิมพ์รวมเป็นเรื่องขึ้นใหม่มากกว่าแต่ก่อน ฉันใคร่ควรดูมาคิดเห็นว่า เรื่องประพาสต้น แม้จดหมายเดิมแต่งเป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่นสนุกๆก็จริง แต่ถ้าได้อ่านในเวลานี้โดยตั้งใจใคร่ครวญก็อาจจะแลเห็นความกว้างขวางออกไป เป็นต้นว่าเหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาประชาราษฎรทั่วหน้า สมกับที่ได้ถวายพระนามจารึกไว้ในฐานพระบรมรูปทรงม้าว่า "ปิยมหาราชาธิราช" ที่จริงพระองค์ทรงรักใคร่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เหมือนกับบิดารักบุตร พอพระราชหฤทัยที่จะคุ้นเคยคบหา และถึงเล่นหัวกับอาณาประชาราษฎรโดยมิได้ถือพระองค์ ยกตัวอย่างดังจะเห็นได้ในเรื่องประพาสต้นนี้เป็นพยาน
การที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎร ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จัก หรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้น ย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุข และความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างใดๆบ้างทุกโอกาส ผู้ที่เคยตามเสด็จย่อมเคยได้ยินและทราบความอันนี้ ฉันได้เคยเห็นบางทีราษฎรกราบทูลร้องทุกข์ เป็นข้อความซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นความทุกข์ร้อนจริงทรงรับธุระมาต่อว่าเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้ความรำคาญใจหลายคราว บางทีถึงต้องผลัดเปลี่ยนพนักงานปกครองก็มีบ้าง เป็นเหตุให้การเสด็จประพาสเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ความสุขสำราญของราษฎรที่ได้อีกเป็นอันมาก
ใช่แต่เท่านั้น บรรดาราษฎรที่ได้เสด็จไปทรงคุ้นเคย ในเวลาเสด็จประพาส พระองค์มิได้ทรงละลืม ในเวลาต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นเข้ามากรุงเทพฯ จะเข้าเฝ้าแหนก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ตามความปรารถนา บางทีถึงรับสั่งให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระราชวัง รับสั่งเรียกพวกที่คุ้นเคยเหล่านี้ว่า "เพื่อนต้น" มีอยู่ทั้งชายหญิงแทบทุกหัวเมืองที่ได้เสด็จประพาส เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ได้ทรงหาของฝากมีไม้เท้าเป็นต้น เข้ามาฝากพวกเพื่อนต้น เมื่อพวกเหล่านี้ได้ข่าวว่าเสด็จกลับ เข้ามาเฝ้าเยี่ยมก็ได้พระราชทานของฝาก ไม้เท้าพระราชทานจึงเป็นเครื่องยศสำหรับพวกเพื่อนต้นถือเข้าเฝ้า ทั้งเวลาเข้ามาในกรุงเทพฯ และเข้าเฝ้าตามหัวเมืองเวลาเสด็จประพาสไม่ว่าที่ใดๆ
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงเคารพต่อพระราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานอนุญาตให้พวกเพื่อนต้นเข้ามาทำบุญให้ทานในงานพระบรมศพ และถวายพระเพลิงเหมือนกับเป็นข้าราชการ และยังพระราชทานเครื่องประดับไม้เท้าสลักอักษรพระนาม จ.ป.ร. ให้ติดไว้เป็นที่ระลึก ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าแหนเพ็ดทูลพระองค์ได้ต่อไป เหมือนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกประการ ส่วนราษฎรซึ่งพระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมาในเวลาเสด็จประพาสแต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้รับพระราชทานไม้เท้า และพระบรมราชานุญาตเหมือนกับพวกเพื่อนต้น ในรัชกาลนี้อีกหลายคน ฉันเข้าใจว่าธรรมเนียมประพาสต้น และเพื่อนต้นจะยังมีต่อไปในรัชกาลนี้เหมือนกับรัชกาลที่ล่วงแล้ว
ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราว ร.ศ. ๑๒๓ แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในจังหวัดกรุงเทพฯนี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๔เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองสระบุรี แล้วขึ้นมาทางลำแม่น้ำใหญ่ไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร คราวนี้สนุกพอใช้ แต่พ่อประดิษฐ์ออกไปอยู่เสียหัวเมือง ฉันจึงไม่ได้จดหมายรายการบอกไปให้ทราบ อีกคราวหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๗ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จกลับทางบางแล้วเข้ากรุงเก่า อีกคราวหนึ่งในศกเดียวกันนั้นเสด็จทางคลองรังสิตไปประพาสถึงเมืองปราจีน แล้วกลับออกทะเลมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา
แต่ประพาสคราวหลังๆนี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรกๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จอย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชาพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีก อีกประการหนึ่งตั้งแต่เสด็จกลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนตร์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จ ประพาสด้วยเรือยนต์เสียโดยมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรก
วันนี้เป็นวันทำบุญถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในวันตรงกับวันสวรรคตครบ ๒ ขวบปี ดูคนในกรุงเทพฯตั้งแต่เจ้านายตลอดลงจนราษฎร ทำบุญให้ทานกันมาก ที่สำคัญนั้นฉันเห็นว่า ที่พากันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่หน้าพระลาน ไม่ว่าใครต่อใคร ดูผู้คนล้นหลามตั้งแต่เช้าจนกลางคืน เห็นจะเป็นธรรมเนียมปีดังนี้เสมอไป
ที่จริงพระบรมรูปทรงม้าองค์นี้ควรนับว่าเป็นของวิเศษได้ ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นของงดงามสง่าพระนคร หรือเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเท่านั้น ถ้าผู้รู้เรื่องราวของพระบรมรูปนี้ว่า เป็นของชาวสยามทุกชั้นบรรดาศักดิ์ทั่วทุกหนแห่งได้เข้าเรี่ยรายตามกำลังและใจสมัคร อย่างต่ำคนละ ๑๐ สตางค์ก็มี สร้างขึ้นด้วยความรักใคร่เป็นใจเดียวกันถวายสมโภชสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รวมเงินได้กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกินราคาพระบรมรูปนี้สัก ๕ เท่า ใช่แต่เท่านั้น พระบรมรูปนี้ได้แล้วสำเร็จทันถวายพระองค์ได้ทรงอนุโมทนาและประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ความรักใคร่สวามิภักดิ์ของคนทั้งหลายมีมากมายกว้างขวางทั่วไปเพียงใด ผู้ใดรู้เรื่องที่กล่าวมานี้ก็จะเข้าใจได้ว่าพระบรมรูปทรงม้านี้ผิดกับอนุสาวรีย์ หรือวัดวาที่จะสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติยศ เมื่อพระองค์ล่วงลับไปเสียแล้ว อันจะเป็นที่ระลึกและปรากฏแต่แก่ผู้อื่น แต่ส่วนพระองค์เองมิได้ทันทอดพระเนตรเห็น
ฉันได้ไปถวายบังคมพระบรมรูปแล้ว กลับมาก็เขียนจดหมายฉบับนี้ มาเกิดนึกขึ้นว่า บางทีการพิมพ์หนังสือเรื่องประพาสต้นครั้งนี้ จะมีส่วนกุศลบ้างกระมังเพราะเหตุที่จะให้ผู้อ่านเจริญความระลึกถึงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าจะมีส่วนกุศลเพียงไรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ฉันตั้งใจอุทิศส่วนกุศลนั้นถวายสนองพระเดชพระคุณ แด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตามสติกำลัง ขอให้พ่อประดิษฐ์จงอนุโมทนาด้วยเทอญฯ
นายทรงอานุภาพ
..........................................................................
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชีวิตและผลงาน เรื่อง เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
...
|