User Info
Welcome,
Guest
. Please
login
or
register
.
18 November 2024, 07:38:54
1 Hour
1 Day
1 Week
1 Month
Forever
Login with username, password and session length
Search:
Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ
http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,444
Posts in
12,838
Topics by
70
Members
Latest Member:
KAN
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
|
เรื่องราวน่าอ่าน
|
หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง
|
เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic.
« previous
next »
Pages:
[
1
]
Author
Topic: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ (Read 714 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
on:
20 August 2022, 23:44:24 »
เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
ขอบคุณเรื่องและภาพจาก...
http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10703.0
...
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
..........
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
เขาพระสุเมรุกลางสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง
เป็นที่ซึ่งเทพยดาอยู่สลอน
มีคนธรรพ์,กุมภัณฑ์นาคมากอมร
ทิศอุดรยักษ์อยู่อย่างรู้กัน
แบ่งทวีปเวียงวังทั้งสี่ทิศ
เนรมิตบ้านเมืองเรืองลดหลั่น
มีนครใหญ่น้อยหลายร้อยพัน
เฉกประชันเมืองมนุษย์มโนรมย์
เช่นอุดรแดนทิพย์ทวีปยักษ์
ที่ประจักษ์เทพนครไร้ผู้ข่ม
“วิสาณะ,กุสินาฏา”น่าชม
“ชโนฆะ”งามสมเทพธานี
อีกหลายเมืองเรืองโรจน์วิลาสลักษณ์
ทั้งเมืองยักษ์,คนธรรพ์,กุมภัณฑ์ผี
นาคทวีปเมืองงามกามโภคี
ทั้งเทวาเทวีมีพิมาน
สิเนรุหรือสุเมรุเป็นแกนโลก
มิเอนโยกคลอนเคลื่อนเขยื้อนฐาน
มีป่าทิพย์นามว่า“หิมพานต์”
พิสดารดึงใจให้ติดตาม.....
* สุเมรุ อ่านว่า สุ-เมน
* สิเนรุ อ่านว่า สิ-เน-รุ
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
........................................
-เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ป่าหิมพานต์อุทยานสวรรค์ -
ณ เชิงเขาพระสุเมรุสิเนรุ
ในตำนานท่านระบุบอกผู้ถาม
เรื่องอุทยานสวรรค์อันงดงาม
ประจักษ์นามว่า “ป่าหิมพานต์”
เดิมอยู่ชิดติดกะมวลมนุษย์
เทพคนสุดหรรษาเขษมศานต์
เมื่อมนุษย์กิเลสหนาอนาจาร
แยกถิ่นฐานเทพมนุษย์ห่างสุดตา
หิมพานต์ป่าเย็นเป็นของเทพ
เป็นที่เสพสุขแสนแดนหรรษา
หิมวันต์คั่นมนุษย์เทวดา
บูรพาเฉียงใต้ให้ “ชีไพร”
พระปัจเจกพุทธเจ้าเนาป่านี้
กับเทพที่ชั้นกลางต่างอาศัย
ยักษ์,นาค,ครุฑ,คนธรรพ์สัตว์พันธุ์ใด
ล้วนอยู่ในป่านี้มีมากมาย
พวกนักสิทธิ์วิชาธรกินนรเทพ
ต่างร่วมเสพกามสุขสนุกหลาย
เพศครึ่งสัตว์ครึ่งคนพิกลกาย
ท่านบรรยายพิสดารงานนิพนธ์....
- สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้มีอุทยานชื่อหิมวันต์ คือหิมพานต์ เป็นป่าที่ปกคลุมด้วยหิมะ คั่นอยู่ระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ นัยว่าเดิมทีนั้นสวรรค์กับมนุษย์มีเขตแดนติดต่อกัน เทวดากับมนุษย์ไปมาหาสู่กันได้ ต่อมาพวกมนุษย์มีกิเลสหยาบหนามากขึ้น ไม่อาจสมาคมกับเหล่าเทวดาได้ ดินแดนสวรรค์กับมนุษย์จึงแยกห่างจากกันจนไกลสุดสายตา
หิมวันต์อุทยานสวรรค์หรือป่าหิมพานต์นี้ตั้งอยู่เชิงเขาสิเนรุหรือเขาพระสุเมรุ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป เป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาชั้นกลางหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ยักษ์ คนธรรพ์ นาค ครุฑ นักสิทธิ์วิทยาธร สัตว์ครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์นานา เช่น กินนร กินนรี เป็นต้น และยังเป็นสถานที่อยู่ของพวกฤๅษีชีไพร พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วก็จะปลีกตนจากมนุษย์มาอยู่ประจำในป่านี้จนตราบปรินิพพาน.
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- มักกะลีผลหิมพานต์ -
อุทยานสวรรค์อันสดใส
มีพรรณไม้สะพรั่งทั้งดอกผล
เป็นไม้ทิพย์มิใช่มวลไม้คน
เมื่อใบหล่นถึงดินหายสิ้นไป
ไม่ทับถมกองเปื่อยเป็นปุ๋ยเปื้อน
รกกลาดเกลื่อนพสุธาก็หาไม่
ยามมีดอกกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ
ชื่นฉมไกลกลบป่าหิมวันต์
เมื่อดอกเก่าร่วงหล่นรีบออกใหม่
บานเร็วไววามวับประดับสวรรค์
มีไม้หนึ่งประหลาดมหัศจรรย์
ทั้งรูปพรรณหน้าตาเหมือนนารี
ไม้งามนามประจักษ์“มักกะลีผล”
ทั้งใบต้นน้ำตาลทองผุดผ่องสี
ออกดอกผลไตรมาสนัดหนึ่งปี
เป็นทรัพย์ที่คนธรรพ์ฝันใฝ่ครอง
วิทยาธรเทวาพากันแย่ง
ผลไม่แห่งป่าสวรรค์อันผุดผ่อง
คงหอมหวานซ่านทรวงกว่า“รวงทอง”
ได้ลิ้มลองเพียงนิดติดใจนาน....
ป่าหิมพานต์เป็นเหมือนอุทยานแห่งชาติของสวรรค์ มีต้นไม้ดอกไม้ที่สวยสดงดงาม ใบไม้เวลาตกลงมาถึงพื้นก็แวบหายไป ไม่ทับถมกันเป็นปุ๋ยเหมือนต้นไม้ในเมืองมนุษย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ พอร่วงหล่นลงมา ก็ออกดอกใหม่ และมีต้นมักกะลีผล ซึ่งมีผลเป็นนารี ที่หมายปองของเหล่าเทวดาหลายพวก เช่น วิทยาธร คนธรรพ์
ต้นนารีผล หรือ มักกะลีผล นี้ ขึ้นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ต่าง ๆ มีประปรายทั่วไป ไม่ได้ขึ้นเป็นหมู่ ลำต้นนารีผลเป็นสีน้ำตาลทอง สวยงามเป็นเงาระยิบระยับ ใบเป็นสีทองแพรวพราวสวยงาม เมื่อใบตกถึงพื้นก็แวบหายไป ครั้นถึงฤดูกาลนารีผลจะห้อยเต็มไปหมด ถ้าไม่ใช่ฤดูกาลจะเห็นแต่ใบ เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะออกดอกออกผล โดยปีหนึ่งออกดอกครั้งเดียว ครั้งละ ๓ เดือน ตั้งแต่ตูมจนกระทั่งบาน ๑ เดือน จากบานเป็นนารีผลอีก ๑ เดือน ส่วนอีก ๑ เดือน เป็นช่วงสุกงอมหลุดจากขั้ว นำไปใช้สอยได้ ซึ่งแต่ละผลก็หลุดไม่พร้อมกัน เมื่อหล่นลงมาแล้วอยู่ได้แค่ ๗ วันสวรรค์ ซึ่งเท่ากับ ๓๕๐ ปีในเมืองมนุษย์ เหล่าคนธรรพ์ วิทยาธร จะมาคอยแย่งชิงนารีผลในช่วงที่นารีผลสุกงอม
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
.........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- สัตว์ในป่าหิมพานต์ -
หิมวันต์มีสัตว์ประหลาดหลาย
เป็นต้นสายตระกูลสัตว์ชัดหลักฐาน
รูปดั้งเดิมลักษณะพิสดาร
ตามนิทานเก่ามีที่เคยฟัง
เช่นกินนร กินรี สีหราช
รูปประหลาดชวนเห็นเป็นของขลัง
“คชสีห์”ช้างอะไรพลายหรือพัง
เห็นภาพยังไม่รู้ดูยิ่งงง
หัวเป็นช้างตัวพลาดเป็นราชสีห์
บางตัวมีหัวเป็นนาคน่าพิศวง
สัตว์สองเผ่าสมพาสกันอย่างมั่นคง
ตัวยังคงราชสีห์ศีรษะแปลง
ส่วนเจ้าป่า“ไกรสรสีหราช”
ดูองอาจงามสง่ากล้ากำแหง
สีขนขาวพราวพรายปลายขนแดง
ครองตำแหน่งเจ้าป่าหิมวันต์......
ในป่าหิมพาน์มีสัตว์อัศจรรย์หลายชนิด แต่ละชนิดสวยงามมาก นัยว่าเป็นต้นตระกูลของสัตว์ทั้งหลาย เช่น กินนร กินนรี ติณณราชสีห์ กาฬราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ ลักษณะทั่วไปของป่าหิมพานต์ที่มีสัตว์อัศจรรย์ เช่น
๑. "คชสีห์" มีหัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์ ราชสีห์กับช้างผสมผสานกลมกลืนกันอย่างดี เราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ ในวรรณคดีเขาเรียกว่า สัตว์ในเทพนิยาย
๒. "ไกรสรนาคา" หรือนาคราชสีห์ มีหัวเป็นพญานาค แต่ตัวเป็นราชสีห์ มีหางเป็นนาค มีเกล็ดเป็นนาค สวยสง่างาม องอาจ เกิดจากพญานาคกับราชสีห์ผสมกัน
๓. "ไกรสรราชสีห์" เป็น "เจ้าป่าหิมพานต์" ตัวมีขนสีขาว ปลายขนมีสีแดง ๆ ถ้าดูข้างหน้าผมจะมีสีแดง ขนจะขดวน ขดใหญ่ๆ วนตามเข็มนาฬิกาเป็นเกลียวขึ้นไปบนหลัง และผมของเขาจะไม่ยุ่งเหยิงเหมือนสิงโตเมืองมนุษย์ สวยสง่างามมาก สามารถจับช้างกินได้สบายมากเลย
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประหลาดอีกหลายชนิด พรุ่งนี้จะยกมาให้รู้จักกันเป็นลำดับไป
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณภาพถ่ายสวย ๆ ด้านล่างจากคุณ "ดา ดา" และคุณ "Megaman X"
เจ้าของรูปภาพต้นแบบใน Internet
.................................
กินนร(เพศผู้), กินรี(เพศเมีย)
(กายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
คชสีห์
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
ไกรสรนาคา
(ตัวเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ ดา ดา
ไกรสรราชสีห์
(กายเป็นสิงห์สีขาว มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บ เป็นสีแดงดั่งผ้ารัตนกัมพล)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #1 on:
20 August 2022, 23:46:33 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ราชสีห์สี่ชนิด -
จาก“ไกรสรราชสีห์”มีอีกสาม
ประจักษ์นาม“กาฬสีห์”ที่ก๋ากั่น
“บัณฑุราชสีห์”ที่ดุดัน
“ติณสีหะ”อันเสงี่ยมงาม
“บัณฑุราชสีห์”กายสีเหลือง
ตัวโตเขื่องเท่าวัวหนุ่มไม่งุ่มง่าม
กินเนื้อสัตว์เก้งกวางช้างทุกนาม
วัวควายตามทุกสัตว์จับกัดกิน
“กาฬสีหะ”กายมีสีดำสนิท
เลี้ยงชีวิตด้วยพืชผักทั้งสิ้น
ตัวโตใหญ่เท่าวัวหนุ่มดุ่มเดินดิน
เที่ยวทั่วถิ่นหิมพานต์สราญรมย์
“ติณสีหะ”กินอาหารพรรณพืชผัก
มีรูปลักษณ์สะดุดตาสง่าสม
เท้าเป็นแบบกีบม้าเดินน่าชม
ร่างกายห่มคลุมสวยด้วยสีแดง
ราชสีห์สี่เหล่านี้เจ้าป่า
เป็นหัวหน้าสีห์สิงห์หยิ่งกำแหง
“ยี่สิบเจ็ด”ชนิดนั้นเป็นพันธุ์แปลง
จะจดแจ้งจำนรรจ์วันต่อไป...
อันว่าสัตว์ป่าหิมพานต์ตามตำนานท่านจัดเป็นประเภทต่างไว้ คือ ประเภทคือ นก ๒๘ ชนิด ม้า ๒๙ ชนิด สิงห์ ๒๗ ชนิด มนุษย์ ๒ ชนิด จระเข้ ๒ ชนิด ลิง ๒ ชนิด วัวควาย ๒ ชนิด แรด ๑ ชนิด สุนัข ๑ ชนิด ปู ๑ ชนิด นาค ๑ ชนิด
- ประเภทสิงห์ท่านจำแนกออกเป็น ๒ ชนิด คือ ราชสีห์ ๑ สิงห์ผสม ๑
ราชสีห์มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ และ ติณสีหะ
ส่วนสิงห์ผสมนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกติสิงห์ผสมคือสัตว์ประสมที่มีลักษณะของ ราชสีห์กับสัตว์ประเภทอื่น
- "บัณฑุราชสีห์" เป็น ๑ ใน ๔ ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ มีผิวกายสีเหลือง และเป็นสัตว์กินเนื้อ จัดได้ว่าเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม มี ร่างกาย เหมือนสีใบไม้เหลือง
- "กาฬสีหะ" เป็นราชสีห์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น มีกายดำสนิท และใหญ่ราวโคหนุ่ม (คำว่า “กาฬ” แปลว่า ดำ) ถึงแม้กาฬสีหะจะกินเฉพาะพืช แต่ก็ใช่ว่าจะมีกำลังวังชาด้อยไปกว่าราชสีห์ชนิดอื่น ราชสีห์ทุกชนิดมีเสียงคำราม อันทรงพลัง ในตำนานกล่าวว่าเพียงเสียงคำรามของราชสีห์ก็สามารถทำให้ สัตว์อื่น เจ็บได้
- "ไกรสรราชสีห์" เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังแรงกล้า เป็นนักล่าชั้นเยี่ยมและกินสัตว์ใหญ่น้่อยเป็นอาหาร
- "ติณสีหะ" มีกายสีแดงหรือเขียว เป็นราชสีห์อีกชนิดที่กินแต่พืชเป็นอาหาร ลักษณะเด่นอีกอย่างของ ติณสีหะคือมีเท้าเป็นกีบแบบม้า
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณภาพถ่ายสวย ๆ ด้านล่างจากคุณ "Megaman X"
เจ้าของรูปภาพต้นแบบใน Internet
บัณฑุราชสีห์
(กายสีเหลือง กินเนื้อเป็นอาหาร)
กาฬสีหะ
(กายสีดำ กินพืชเป็นอาหาร)
ไกรสรราชสีห์
(กายสีขาว มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บ เป็นสีแดง กินเนื้อเป็นอาหาร)
ติณสีหะ
(กายสีแดงหรือเขียว กินพืชเป็นอาหาร มีเท้าเป็นกีบแบบม้า)
ติณสีหะ
(กายสีแดงหรือเขียว กินพืชเป็นอาหาร มีเท้าเป็นกีบแบบม้า)
............................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ว่าด้วยสิงห์ผสม -
ราชสีห์สี่เหล่าบอกเล่าแล้ว
กำเนิดแนว“สิงห์ผสมเงื่อนปมใหญ่
“กาสรสิงห์”สิงห์กระบือระบุไว้
สิงห์อะไรกายสีเทาเท้าเหมือนควาย
“เหมราช”หัวเหมลักษณ์เหมือนหงส์
เป็นเผ่าพงศ์ราชสีห์อีกหนึ่งสาย
“คชสีห์”ศีรษะช้างสิงห์ร่างกาย
สัตว์อีกคล้ายนี้ชื่อคือ“ทักทอ”
มีไกรสรจำแลงดั่ง “มังกรสิงห์”
อีกหนึ่งอิงคาวีของแม่พ่อ
ลูกมีหัวเป็นโคถึงต้นคอ
หางนั้นหนอเป็นม้าน่าอัศจรรย์
สัตว์“ไกสรนาคา”ประหลาดอยู่
หางเหมือนงูหัวเป็นสิงห์ยิ่งน่าขัน
เกล็ดแข็งคลุมร่างเลื้อยจรจรัล
ไกรสรพันธุ์ปักษางามน่าชม
หัวเป็นนกอินทรีกายสีเขียว
ปีกเหมือนเหยี่ยวบินได้ดูเหมาะสม
ยังมีอีกหลายสิงห์อิงนิยม
เป็นสังคมสัตว์ป่าหิมพานต์....
สิงห์ผสมมีรูปลักษณ์ประหลาด ๆ ดังต่อไปนี้
- “เกสรสิงห์” หรือกาสรสิงห์ เป็นสิงห์มีส่วนผสมระหว่างราชสีห์ กับสัตว์ประเภทวัวควาย มีผิวกายสีเทา ร่างเป็นแบบสิงห์ แต่มีเท้าเป็นกีบเหมือนเท้าควาย
- “เหมราช” ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เป็นสัตว์ผสมมีร่างเป็นสิงห์ส่วนหัวเป็นเหม ซึ่งป็นสัตว์ในวรรณคดีไทยชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามีลักษณะเหมือนหงส์(ห่าน) แต่ในบางรูป ก็วาดเหมเหมือนสัตว์ตระกูลจระเข้
- “คชสีห์” เป็นสิงห์ผสมที่มีกายเป็นสิงห์ และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวมีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม คชสีห์นี้มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต์ อีกชนิดหนึ่งชื่อ “ทักทอ”
- “ทักทอ” เป็นสัตว์ประหลาดอีกชนิดแห่งโลกหิมพานต์ มีกายท่อนล่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นช้าง ผู้อ่านมักสับสนกับคชสีห์ เพราะทั้งคู่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จุดต่างของสัตว์ทั้งสองคือ ทักทอมีเครา และผมตั้งไปข้างหน้า.
- “ไกรสรจำแลง” มีหัวแบบมังกร และมีร่างเป็นราชสีห์ (สิงโต) จิตรกรบางท่านเรียกไกรสรจำแลงว่า “ไกรสรมังกร” ซึ่งมีความหมาย ตรงตัวว่ามังกรสิงห์
- “ไกรสรคาวี” สัตว์ชนิดนี้มีลักษณะผสมระหว่างสิงโต และวัว. ในรูปจิตรกรรมไทย มักวาดภาพเป็นสัตว์ที่มีช่วงหัวเป็นวัว และมีร่างเป็น สิงโต. จิตรกรบางท่านวาดเป็นสิงห์ที่มีหัวเป็นวัว แต่มีหางเหมือนม้า
- “ไกรสรนาคา” ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เป็นสิงห์ผสมที่มีส่วนประกอบของนาคด้วย หางเหมือนสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ตัวมีลักษณะคล้ายสิงห์ แต่มีเกล็ดแข็งปกคลุมทั่วกาย
- “ไกรสรปักษา” เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนก ตามรูปโบราณ ไกรสรปักษามีกายสีเขียวอ่อน หัวเป็นเหมือนพญาอินทรี ตัวเป็นดั่งราชสีห์แต่มีเกล็ดคลุม นอกจากนั้นยังมีปีกเหมือนนกอีกด้วย
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
เหมราช
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นเหม)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
คชสีห์
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
ทักทอ
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง จุดต่างกับคชสีห์คือมีเครา และผมตั้งชี้ไปด้านหน้า)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
ไกรสรจำแลง
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นมังกร)
Cr. Photo By คุณ ร่มเงาไม้
ไกรสรคาวี
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นวัว)
Cr. Photo By คุณ Fibo4me
ไกรสรนาคา
(มีกายเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ baokalasin
ไกรสรปักษา
(มีกายเป็นสิงห์สีเขียวอ่อน มีหัวเหมือนพญาอินทรี มีปีกเหมือนนก มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ ร่มเงาไม้
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ว่าด้วยสิงห์ผสม (ตอน ๒) -
สิงห์“โลโต”ตัวนี้มีจุดเด่น
ที่ชัดเจนกรงเล็บเท้าต่างชาวบ้าน
ร่างกายของสิงห์นี้สีน้ำตาล
แปลคำขานจีนว่า“อูฐ”สุดบรรยาย
“พยัคฆไกรสร”เสือสิงห์อิงผสม
รูปน่าชมยืนอยู่ดูผึ่งผาย
หัวเป็นเสือร่างเป็นสิงห์ไม่ทิ้งลาย
รักษาสายพันธุ์สองครองคู่กัน
สิงห์“สางแปรง”กายเหลืองเท้ากรงเล็บ
ตำนานเก็บเรื่องขานนิทานสวรรค์
ว่าเสือบ้างช่างบ้าง“สาง”สัมพันธ์
จะยืนยันอย่างไรไม่ลงตัว
สิงห์“สกุณไกรสร”ศีรษะนก
สิงห์วิหคเกินแต่งกลอนแจงทั่ว
สิงห์ผสมกลมกลืนเกิดพันพัว
เพราะเกลือกกลั้วกันอยู่สมสู่เพลิน...
“โลโต” มีร่างกายเป็นสิงห์สีน้ำตาล ลักษณะเด่นคือมีเท้าแบบกรงเล็บ ในภาษาจีนคำว่า โลโต แปลว่าอูฐ
“พยัคฆ์ไกรสร” มีส่วนประสมระหว่างสิงห์กับเสือ ส่วนหัวมีลักษณะเหมือนเสือลายพาดกลอน หรือเสือเบงกอล ส่วนตัวเป็นแบบสิงโต.
“สางแปรง” มีกายเป็นสีเหลือง และมีเท้าเป็นแบบกรงเล็บ โบราณไทยให้ความหมายของคำว่า “สาง” แปลว่าเสือ บ้างก็แปลว่าช้าง.
“สกุณไกรสร” มีผิวกายเป็นสีน้ำตาล ส่วนหัวเป็นเหมือนนก ส่วนตัวเป็นสิงห์ ยังมีสัตว์อีกชนิดในป่าหิมพานต์ที่คล้ายคลึงกับ สกุณไกรสร นั่นก็คือ ไกรสรปักษา ข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ทั้ง ๒ ชนิดคือ สกุณไกรสรไม่มีปีกเหมือนไกรสรปักษา.
“สิงฆ์” นอกเหนือจากที่มีอธิบายไว้ว่ามีกายสีม่วงอ่อน สิงฆ์มีลักษณะเหมือนราชสีห์ทั่วไป.
“สิงหคักคา” หรือสีหะคักคามีกายเป็นเกล็ดสีม่วงเข้ม มีส่วนหัวและตัวเป็นสิงห์ มีเท้าเหมือนช้าง.
“สิงหพานร” มีขนกายสีแดง ช่วงบนมีลักษณะเป็นวานรหรือลิง ส่วนช่วงล่างและหางมีลักษณะของสิงห์ แต่ช่วงเท้ากลับมี ลักษณะเหมือนอุ้งเท้าลิง.
“สิงโตจีน” โดยปกติ จะมีขนปกคลุมยาวต่างจากสิงห์ชนิดอื่น.
“สิงห์มังกร” มีหัวเป็นมังกร มีร่างเป็นสิงห์สีน้ำตาล คนทั่วไปมักจำสีหรามังกรสับสนกับไกรสรจำแลง
“เทพนรสิงห์” เป็นสัตว์ผสมที่มีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นสิงห์ แต่ในบางตำราก็ว่ามีช่วงล่างเป็นกวาง ตัวเมียเรียกว่า “อัปสรสีห์“ .
“ฑิชากรจตุบท” เป็นสิงห์ที่มีลักษณะของนก สัตว์ชนิดนี้มีกายสีเขียวอ่อน ส่วนหางมีสีเหลือง.
“โต” มีลักษณะคล้ายสิงห์แต่ส่วนหัวมีเขา ๒ เขา ว่ากันว่าชื่อ โตนี้ได้มาจากชื่อสัตว์ในตำนานของประเทศลาว.
“โตเทพสิงฆนัต” เป็นสัตว์ตระกูลสิงห์ มี กายสีน้ำตาล ชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาจากคำว่า โต และ สิงฆนัต ทั้งสองคำ มีความหมาย พ้องกันคือ แปลว่าสิงโต
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
พยัคฆ์ไกรสร
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นเสือ)
Cr. Photo By คุณ Secretboy
สกุณไกรสร
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
สิงฆ์
(มีลักษณะเช่นราชสีห์ทั่วไป)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
สิงหคักคา
(มีเกล็ดสีม่วงเข้มปกคลุมกาย ทั้งส่วนหัวและตัวเป็นสิงห์ แต่มีเท้าเหมือนช้าง)
Cr. Photo By คุณดา ดา
ฑิชากรจตุบท
(เป็นสิงห์ที่มีปีกและหางอย่างนก)
Cr. Photo By คุณร่มเงาไม้
นรสิงห์ (เพศผู้), อัปสรสีห์(เพศเมีย)
(มีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนกายท่อนล่างเป็นสิงห์ (บางตำราก็ว่าเป็นกวาง))
Cr. Photo By คุณ Megaman X
สางแปรง
(ตามตำราว่ามีกายเป็นสีเหลือง และมีเท้าเป็นแบบกรงเล็บ)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet (สางแปรงรูปหล่อเนื้อสำริดที่วัดโพธิ์ ที่ซุ้มประตูกำแพงแก้ว)
สิงโตจีน
(ลักษณะจะมีขนยาวปกคลุมต่างจากสิงห์ชนิดอื่น)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet (สิงโตจีนที่วัดสุทัศนเทพวราราม)
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #2 on:
20 August 2022, 23:49:00 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- คณานกในหิมพานต์ -
สัตว์ป่าหิมพานต์ดูหมู่วิหค
มีปีกเห็นเป็นนกบินผกเผิน
เช่น“อสูรปักษา”คราเผชิญ
คนจะเมินเมียงหน้าไม่กล้ามอง
ตัวเป็นนกหน้าเป็นยักษ์รักเพื่อนฝูง
บินเร็วสูงเหนือวิหคนกทั้งผอง
มนุษย์สัตว์นับถือทำให้ลำพอง
เทพนิยายยกย่องให้ท่องจำ
อีก“อสูรวายุภักษ์”นกยักษ์ใหญ่
รูปลักษณ์ใกล้เคียงกันน่าขันขำ
นกยักษ์หนึ่งกินลมบินร่อนรำ
ที่สูงต่ำท่องทางอย่างเสรี
มีหนึ่งสัตว์ปราศผสมผสานใส่
ชื่อว่า“ไก่ตังเกี๋ย”อะไรนี่
“ไก่เสฉวน,ไก่หอกเอี่ยน”ชื่อยวนยี
ภาษาที่พิกลผิดคนไทย
“นกการเวก”เสียงก้องกังวานหวาน
คราขันขานสำเนียงเสียงสดใส
พริ้งไพเราะเสนาะนานกังวานไกล
กล่อมพงไพรสัตว์ป่าเทวาภิรมย์...
- "อสูรปักษา" เป็นสัตว์ประเภทนก มีส่วนบนเป็นยักษ์ ตั้งแต่ลำตัวลงไปเป็นนก บ้างกล่าวว่ามีส่วนล่างเป็นไก่ตัวผู้ สามารถบินได้ด้วยความเร็วสูง เป็นที่นับถือของสัตว์ทั้งหลาย เช่น กวาง, ม้า รวมทั้งมนุษย์ด้วย
- "อสุรวายุพักตร์" ลักษณะใกล้เคียงกับอสูรปักษาตรงที่มีส่วนบนเป็นยักษ์ส่วนล่างเป็นนก ต่างกันตรงที่ส่วนล่างของอสูรวายุพักตร์(นกหน้าลม)เป็นนกอินทรี ส่วนอสูรปักษา เป็นนกกินลมในเรื่องรามเกียรติ์
- "ไก่" เป็นสัตว์หายากในโลกของหิมพานต์ไม่ใช่สัตว์ผสม มีอยู่น้อยชนิด ชื่อว่า ไก่ตังเกี๋ย(Gai Tang Kia), ไก่เสฉวน(Gai Xe Chuan), ไก่หอกเอี่ยน(Gai Hox Ian) จากการออกเสียงทำให้รู้ว่าไก่มีที่มาจากจีน
- "นกการเวก" เป็นสัตว์วิเศษ มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงจากสวรรค์ แต่มีชื่อเรียกน้อยมาก คือ การเวก, การวิก, โกราวิก คุณสมบัติของเสียงสวรรค์ คือ ต่อเนื่องไม่ขาดตอน, กระจ่างแจ้ง, หวานไพเราะ, เป็นจังหวะ, ผสมกลมกลืน, ไม่หยาบคาย, ลึกซึ้ง และสะท้อน...
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
อสูรปักษา
(มีกายช่วงบนเป็นยักษ์ ช่วงล่างเป็นไก่ตัวผู้ มีเดือย)
Cr. Photo By คุณดา ดา
อสุรวายุพักตร์
(มีกายช่วงบนเป็นยักษ์ ช่วงล่างเป็นนกอินทรี)
Cr. Photo By คุณนิรันดร์
ไก่
(ลักษณะเช่นไก่ธรรมดาทั่วไปตามแต่ละพันธ์)
ขอบคุณรูปวาดไก่จีนจาก Internet
นกการเวก หรือนกการวิก
(เป็นนกที่มีเสียงไพเราะยิ่ง สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินแล้วจะต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อฟังเสียง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
.........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ว่าด้วย "ครุฑ" พญานก -
มีนกใหญ่ไร้เทียมทันเยี่ยมยุทธ
นามว่า“ครุฑ”ฤทธิไกรไร้คู่ข่ม
ประวัติยาวพิสดารมีนานนม
ขอพาชมเว็บไซต์ให้อ่านกัน...
สัตว์สำคัญที่สุดในป่าหิมพานต์ คือ “ครุฑ” เป็นพญานกมีร่างกายเป็นครึ่งคนครึ่งนก อีกทั้งยังเป็นพาหนะของพระวิษณุ(พระนารายณ์) เป็นตำนานของตำนาน ส่วนใหญ่มีหัว จะงอยปาก ปีก และกรงเล็บเป็นอินทรี ลำตัวเป็นมนุษย์ ใบหน้ามีสีขาว ปีกสีแดง และร่างที่เป็นสีทองสว่าง
ตำนานของครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่าพญาครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานพญาครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง
ทั้งสองนางได้ขอพรในการกำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคเป็นบุตรหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางทนรอไม่ไหวใคร่รู้ว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนชื่อ“อรุณ” อรุณเทพบุตรโกรธมารดาที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู รอดูจนถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองออกมาจากไข่เอง ปรากฏเป็นพญาครุฑ เมื่อพญาครุฑแรกเกิดนั้นว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด สัตว์ในขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วทั้งสี่ทิศ
ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุตามสัญญา
ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงบินขึ้นสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา จนเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ เมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบพญาครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า
เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓ หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ
ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฎายุ ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพ เป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
ขอขอบคุณความเรียงจากเว็บฯ
https://my.dek-d.com/0012/writer/viewlongc.php?id=446421&chapter=114
ในกูเกิล
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ครุฑยุดนาค
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- นกหงสาถึงหัสดีลิงค์ -
“หงสา”พาหนะพระพรหมเจ้า
มองดูเค้ารูปทรงคล้ายหงส์นั่น
ส่วน“หงส์จีน”ว่าหงส์แล้วงงงัน
รูปลักษณ์มันเหมือนกยูงเรียก “โฮ-โฮ”
“คชปักษา”หัวเป็นช้างล่างเป็นหงส์
แขนลำองค์เป็นครุฑสุดยโส
สีขาวนวลทั่วร่างโฉมช้างโต
มิเดินโย้โยกร่างเหมือนช้างไทย
“มยุระคนธรรพ์”นั้นดูสูง
รวมนกยูงคนธรรพ์รูปพรรณใหม่
อีกหนึ่งนก “มยุระเวนไตย”
นกยูงได้ครุฑมาผสมพันธุ์
“มังกรสกุณี”มิซับซ้อน
นกมังกรแน่ชัดสัตว์สวรรค์
“นาคปักษี”ร่างคนนาคปนกัน
ส่วนล่างนั้นเป็นนกตลกดี
“นาคปักษิณ”นาคเป็นหัวตัวเป็นหงส์
นาคสมพงศ์สองค่าเสริมราศี
ร่างกายแดงล้วนไปดำไม่มี
จุดเด่นนี้พอเหมาะเฉพาะตัว
“นกหัสดี”นี้ว่าพญานก
ร่างวิหคแต่เห็นช้างเป็นหัว
สัตว์มงคลโตใหญ่ไม่น่ากลัว
มีกล่าวทั่วทั่วไปในตำนาน...
"หงสา" จะปรากฏเพียงในสถาปัตยกรรมไทย น้อยนักที่รู้เกี่ยวกับมัน แต่จากจิตรกรรมฝาผนัง รูปภาพ และงานแกะสลักทำให้รู้ว่าหงสามีลักษณะใกล้เคียงกับหงส์ในศาสนาฮินดู หงสาเป็นพาหนะของพระพรหม
"หงส์จีน" แตกต่างจากหงสา เพราะแทบจะไม่เหมือนกับหงส์เลย แต่กลับเหมือนกับนกยูงมากกว่า ในจีนเรียกหงส์จีนว่า "โฮ-โฮ" ตามตำนานจีนเชื่อว่าเป็นสัตว์นำโชค ความเชื่อนี้ส่งต่อไปยังญี่ปุ่น โดยเรียกหงส์นี้ว่า "โฮ" หรือ "โฮ-โอ" ในบางตำรารู้จัก "โฮ" ในนามของ "เฟิง" สัตว์ที่ตกลงมาจากสวรรค์ หงส์จีนถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ประมาณ 1,000 ปี
"คชปักษา" พื้นฐานเป็นสัตว์ประเภทนกแต่ร่างกายผสมกับสัตว์อื่น คือ หัวเป็นช้าง ส่วนล่างเป็นหงส์ ลำตัวกับแขนเป็นครุฑ มีเรือนร่างสีขาว
"มยุระคนธรรพ์" เป็นร่างผสมระหว่างคนธรรพ์กับนกยูง
"มยุระเวนไตย" เป็นร่างผสมระหว่างนกยูงกับครุฑ
"มังกรสกุณี" เป็นร่างผสม มีส่วนหัวเป็นมังกร ลำตัวเป็นนก
"นาคปักษี" เป็นสัตว์แปลกประหลาด ส่วนบนเป็นมนุษย์สวมมงกุฏนาค ส่วนล่างเป็นนก
"นาคปักษิณ" เป็นร่างผสมระหว่างนาคกับหงส์ มีชื่อคล้ายกับนาคปักษี แต่ว่าทั้งสองแตกต่างกัน เพราะนาคปักษิณมีร่างกายสีแดง ส่วนหัวเป็นนาค ลำตัวเป็นหงส์
"นกหัสดี" หรือ หัสดีลิงค์ มีส่วนหัวเป็นช้าง ขนาดใหญ่มากรวมทั้งกำลังที่มีมากมายมหาศาลกว่าสัตว์อื่นๆ ในตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชย(ลำพูน) พระฤๅษีใช้ให้นกหัสดีลิงค์บินลงไปในสะดือทะเลแล้วนำเอาหอยสังข์มาวางวัดเป็นรูปผังเมืองหริภุญไชย ซึ่งเป็นผังเดียวกันกับเมืองศรีสัชนาลัย และนกหัสดีลิงค์นี้ยังมีในตำนานอื่นๆอีกหลายตำนาน ไม่เว้นแม้ในวรรณคดีพุทธศาสนา.
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
หงสา (หงส์)
(เป็นสัตว์ประเภทนก ที่มีความสวยสง่างาม ท่วงท่าอ้อนช้อย คอยาว ขนเรียงซ้อนกันเป็นชั้น)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
หงส์จีน
(ลักษณะคล้ายนกยูง สวยสง่างาม ท่วงท่าลีลาอ้อนช้อย)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet
คชปักษา
(ส่วนหัวเป็นช้าง ลำตัวเป็นครุฑสีขาว ช่วงล่างเป็นหงส์ )
Cr. Photo By คุณดา ดา
มยุระคนธรรพ์
(ช่วงบนเป็นคนธรรพ์ ช่วงล่างเป็นนกยูง มีปีกที่ไหล่)
Cr. Photo By คุณดา ดา
มยุระเวนไตย
(ส่วนหัวและหางเป็นนกยูง ลำตัวและมือเป็นครุฑ)
Cr. Photo By คุณดา ดา
มังกรสกุณี
(ส่วนหัวเป็นมังกร ลำตัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
นาคปักษิณ
(ส่วนหัวเป็นนาค ลำตัวเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณดา ดา
นกหัสดีลิงค์
(ส่วนหัวมีงวงและงาเหมือนช้าง ลำตัวเช่นนกหงส์)
Cr. Photo By คุณคลองห้า
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- นกอินทรีถึงสดายุ -
“นกอินทรี” หิมพานต์นั้นเรือนร่าง
เขียวสว่างพร่างพราววาววามหวาน
ส่วนขนปีกนั้นมีสีน้ำตาล
หางสิงห์หาญกล้าแกร่งนกเกรงกลัว
“นกเทศ”ร่างกายมีสีแดงฉาน
ในตำนานมิแจ้งตำแหน่งหัว
บอกแต่หางเหมือนไก่ไม่บอกตัว
มีอยู่ทั่วในถิ่นจินตนา
นก“พยัคฆ์เวนไตย”ไม่บริสุทธิ์
กายเป็นครุฑหางเป็นหงส์หัวสิงหา
สัตว์ผสมสามพันธุ์สืบกันมา
มีในป่าหิมพานต์เท่านั้นเอง
“สัมพาที”พี่“สดายุ”กล้าแกร่ง
เป็นบุตรแห่งพญาครุฑนกสุดเก่ง
ขนแดงสุดสะดุดตาน่ายำเกรง
นกนักเลงเรียกพี่มิล่วงเกิน
“สดายุ”น้องสัมพาทีขนสีเขียว
ชอบท่องเที่ยวเช่นนกบินผกเผิน
มีเรื่องเล่าปูมหลังให้ฟังเพลิน
พ่ายยักษ์เยินเพราะปากพูดมากไป....
- นกอินทรี เป็นสัตว์ขนาดใหญ่มีจริงในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนในโลกของหิมพานต์นกอินทรีมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากความเป็นจริง คือ ร่างกายมีสีเขียวสว่าง มีปีกสีน้ำตาล และหางเหมือนหางของสิงห์
- นกเทศ ในโลกหิมพานต์ ไม่มีส่วนใดใกล้เคียงกับนกกระจอกเทศเลย นกนี้มีร่างกายสีแดง มีหางเหมือนไก่ตัวผู้ เชื่อกันว่า เป็นนกที่สร้างขึ้นจากจินตนาการเท่านั้น
- พยัคฆ์เวนไตย เป็นนกผสมระหว่างสิงห์ ครุฑ และหงส์ ในภาพวาดโบราณพยัคฆ์เวนไตยมีส่วนหัวเป็นสิงห์ ร่างกายเป็นครุฑ และปีกและหางเป็นหงส์ แต่ฟังชื่อแล้วรู้สึกว่าหัวน่าจะเป็นเสือมากกว่าสิงห์ ถ้าหัวเป็นสิงห์ดังภาพวดก็น่าจะมีชื่อว่า สิงหเวนไตย จึงจะถูกต้องตามลักษณะของเขา
- นกสัมพาที และ นกสดายุ เป็นนกขนาดใหญ่ หน้าเป็นครุฑ เป็นลูกคนโตของพญาครุฑกับนางวินายกา มีขนสีแดงสด ส่วนนกสดายุเป็นน้องชาย มีขนสีเขียว นกทั้งสองนี้เป็นนกใหญ่ที่มีกำลังมาก มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนกสดายุเห็นพระอาทิตย์ตอนเช้าตรู่สีแดงสดใส คิดว่าเป็นผลไม้จึงเข้าไปจะจิกกิน ทำให้พระอาทิตย์โกรธมาก จึงเปล่งแสงที่ร้อนแรงออกมาจะเผานกสดายุให้ไหม้เป็นจุณ นกสัมพาทีเห็นเช่นนั้นจึงบินไปกางปีกบังแสงอาทิตย์ไม่ให้เผาน้องชาย แสงอาทิตย์จึงเผาขนนกสัมพาทีจนหลุดร่วงหมด และพระอินทร์ยังได้สาปนกสัมพาทีให้อยู่แต่ในถ้ำที่เขาเหมติรัน จนกว่างกองทัพของพระรามจะเดินทางผ่านมาเพื่อไปยังกรุงลงกา เมื่อทหารของพระรามโห่ขึ้น ๓ ลา นกสัมพาจึงจะพ้นคำสาป และขนจะกลับขึ้นมาดังเดิม ฝ่ายนกสดายุบินไปตามหาพระรามและได้พบทศกัณฐ์ขณะอุ้มนางสีดาจะไปลงกา จึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์เพื่อช่วยชิงนางสีดา ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ นกสดายุก็ฮึกเหิมพูดอวดว่าตนไม่มีทางจะแพ้ใคร นอกจากพระอิศวร พระนารายณ์ และแหวนของพระอิศวรที่นางสีดาสวมอยู่เท่านั้น ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้นจึงถอดแหวนจากนิ้วนางสีดาขว้างไปที่นกสดายุ ทำให้ปีกหักตกลงบนพื้นดิน นกสดายุคาบแหวนรอพบพระราม พระลักษมณ์อยู่ เมื่อถวายแหวนและทูลเล่าเรื่องให้ฟังแล้วก็ขาดใจตาย ส่วนนกสัมพาทีคอยบอกทางให้ทัพพระรามอยู่ทีเขาเหมติรัน เมื่อพระรามพระลักษมณ์ออกเดินทางตามหานางสีดา ได้ส่งหนุมาน องคต และชมพูพานไปสืบข่าวนางสีดา หนุมาน องคต และชมพูพาน กับไพร่พลมาพักแรมอยู่ ณ เขาเหมติรัน นกสัมพาทีจึงออกมาขอให้พวกทหารช่วยโห่ ๓ ลา พอทหารลิงโห่สุดเสียง ขนนกสัมพาทีสีแดงสวยสดก็งอกขึ้นมาทั้งตัว แล้วก็พาองคต หนุมาน และชมพูพานบินไปดูนครลงกา ดังความในเรื่องรามเกียรติ์นั้นแล.....
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
พยัคฆ์เวนไตย
(หัวเป็นเสือ ตัวเป็นครุฑ มีปีกและหางแบบหงส์)
Cr. Photo By คุณ Laser
นกสัมพาที
(พญานกขนาดใหญ่ กายสีแดงชาด)
Cr. Photo By คุณดา ดา
นกสดายุ
(พญานกขนาดใหญ่ กายสีเขียว)
Cr. Photo By คุณดา ดา
นกอินทรี
(นกนักล่าขนาดใหญ่ ปีกสีน้ำตาล จงอยปากและกรงเล็บมีกำลังมาก
สามารถล่าแพะภูเขา กวาง หรือหมาป่าเป็นเหยื่อได้)
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Internet
นกเทศ
(นกที่มีกายสีแดงสด มีหางเหมือนไก่ตัวผู้)
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Internet
หมายเหตุโดยผู้โพสต์ : โดยความเห็นส่วนตัว สำหรับนกเทศนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะหมายถึงคำเรียกนกที่มาจากต่างดินแดน เช่นม้าเทศ หรือเครื่องเทศ อย่างเดียวกับที่หงส์จีน หรือสิงโตจีน ที่มาจากจีน นกเทศนี้อาจมาจากจีนเช่นกัน เมื่อลองค้นหาดูลักษณะนกที่มีกายสีแดงสด หางเหมือนไก่ จึงพบว่าในจีนมีนกลักษณะนี้อยู่คือไก่ฟ้าจีน Chinese pheasant หรือ "นกไก่ฟ้าสีทอง" ซึ่งในสมัยก่อนอาจเป็นของแปลกตา เช่นเดียวกับหงส์จีน สิงโตจีน จึงบรรจุไว้ในหิมพานต์เช่นเดียวกัน ในรูปประกอบนี้ จึงนำไก่ฟ้าจีน (ไก่ฟ้าสีทอง) มาเป็นภาพประกอบให้เห็นเด่นชัดนั่นเอง
หมู มยุรธุชบูรพา
ความสวยงามของไก่ฟ้าจีน หรือไก่ฟ้าสีทอง
ที่มีลักษณะเป็นนกกายสีแดงสด หางเหมือนไก่
.............................
- นกหิมพานต์ฝูงสุดท้าย -
“เสือปีก”หัวตัวเป็นนกขนาดเขื่อง
กายสีเหลืองแลอร่ามงามสดใส
รูปคล้ายเคียงกับพยัคฆ์เวนไตย
ท่องเที่ยวในป่าสวรรค์อันรื่นรมย์
“สกุณเหรา”กึ่งนาคจระเข้
มีเขาเขเกอย่างกวางผสม
“สินธุปักษี”นกปนปลาน่าชม
กายแดงอมชมพูครีบหางปลา
“สีหสุบรรณ”หัวสิงห์ตัวเป็นครุฑ
หางหงส์สุดแสนจะงามสง่า
อีกหนึ่งนกนั้น “สุบรรณเหรา”
หัวนาคาตัวครุฑมีเขางาม
“กินนร,กินนรี”นี่คนอะไร
เป็นเทพในร่างคนฉงนถาม
ร่างครึ่งคนนกหงส์ดำรงนาม
อยู่ในความกังขาหาความจริง
“เทพปักษี”หัวขาเป็นมนุษย์
ตัวมีจุดต่างกินนรนรสิงห์
“ทัณฑิมา”ไร้แบบอย่างมาอ้างอิง
จึงขอทิ้งเรื่องไว้ไม่บรรยาย....
- "เสือปีก" ส่วนหัวและตัวเป็นเสือ มีปีกและหางแบบนก
- "สกุณเหรา" เป็นร่างผสมระหว่างเหรา(หรือนาค) และนก จิตรกรมักวาดหัวใกล้เคียงกับหัวของเหราหรือนาค พร้อมกับกับมีเขากวาง ๒ ข้าง ลำตัวเป็นนก
- "สินธุปักษี" เป็นสัตว์ที่แปลกประหลาด เพราะเป็นทั้งนกและปลา มีลำตัวเป็นนก มีครีบและหางอย่างปลา
- "สีหสุบรรณ" มีหัวเป็นสิงห์ ลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นหงส์ ใกล้เคียงกับพยัคฆ์เวนไตย
- "สุบรรณเหรา" มีหัวเป็นนาค(มีเขา 2 ข้าง) ลำตัวเป็นครุฑ
- "กินนร" เป็นเพศผู้ มีส่วนบนเป็นมนุษย์ ส่วนล่างเป็นหงส์
- "กินรี" ได้ชื่อว่าน่ารักมากที่สุดในป่าหิมพานต์ เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งหงส์ ตั้งแต่หัวถึงเอวเป็นหญิงสาว หางและขาเป็นหงส์ กินรีมีแขนเหมือนมนุษย์และปีกเหมือนหงส์ ถ้าเป็นเพศผู้จะเรียกว่า กินนร กินรีเป็นเลิศทางด้านการร้องรำทำเพลง จะพบความสง่างามของกินรีได้ในภาพวาดฝาผนัง และภาพโบราณต่างๆ
- "เทพปักษี" เป็นร่างผสมระหว่างมนุษย์กับนก สิ่งที่ทำให้เทพปักษีแตกต่างจากเทพกินนรและกินรี คือเทพปักษีมีขาเป็นมนุษ์เช่นเดียวกับร่างท่อนบน แต่มีปีกอย่างนก
- "ทัณฑิมา" ทัณฑิมาเป็นชื่อนกที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีรูปกายเป็นครุฑยืนถือกระบอง หัวมีหงอน มีจงอยปากใหญ่และงองุ้ม มีเขี้ยว ๑ คู่ หูแบบหูวัว ตาแบบตาจระเข้ คือเรียวยาว. แขนเหมือนคน แต่มีแผงขนใต้ท้องแขน มือมี ๕ นิ้ว มีปีก และหางแบบหางไก่ ขาทั้ง ๒ เรียวเป็นขานก และมีแผงขนที่น่อง. นกทัณฑิมายืนถือกระบองอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เหมือนทหารยืนรักษาสถานที่อยู่. คำว่า ทัณฑิมา แปลตามรูปศัพท์ว่า ผู้ถือกระบอง
- จบตระกูลนกหิมพานต์ -
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
เสือปีก
(กายเป็นเสือ มีปีกและหางแบบนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
สกุณเหรา
(หัวและหางเป็นเหรา หรือนาค ตัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
สินธุปักษี
(ตัวเป็นนก มีครีบและหางอย่างปลา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
สุบรรณเหรา
(ตัวเป็นครุฑ หัวคล้ายพญานาค มีเขา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
กินนร(เพศผู้), กินรี(เพศเมีย)
(กายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
เทพปักษี หรืออัปสรปักษี
(มีกายเป็นมนุษย์ มีปีกบินได้เหมือนอย่างนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
ทัณฑิมา
(มีรูปกายเป็นครุฑมีเขี้ยว ยืนถือกระบอง หัวมีหงอน
หูแบบหูวัว ตาแบบตาจระเข้ แขนเหมือนคน มีปีกและหางแบบหางไก่)
Cr. Photo By คุณ plabuutong
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #3 on:
20 August 2022, 23:51:33 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
- ว่าด้วยม้าในหิมวันต์ -
เทพแห่งลมสร้าง“ม้า”สัตว์สวรรค์
แบ่งแยกพันธุ์พาชีเป็นสี่สาย
“วลาหก”พาหนะเทพพระพาย
มีสีกายขาวผ่องเหาะว่องไว
“อัสดร”ม้าดีที่ไม่ท้อ
อดทนต่องานหนักตากตรำได้
พ่อเป็นลาแม่พาชีมิเหมือนใคร
เรี่ยวแรงไม่มีม้าใดมาทาน
“อาชาไนย”ม้าดีมีระเบียบ
วินัยเฉียบขาดถือไม่ดื้อด้าน
รู้ใจนายทุกสิ่งไม่ทิ้งงาน
จักรวาลรับอยู่กลางหมู่ดาว
“สินธพมโนมัย”สมใจนึก
เป็นม้าศึกเรี่ยวแรงกำแหงห้าว
เร็วทันใจไปทุกทางวิ่งย่างยาว
ม้าทั่วด้าวแดนใดไม่เทียมทัน
“ม้าปีก”แปลกตรงที่เขามีปีก
ตำนานกรีก,จีนเล่าไว้ลักลั่น
แม้เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ผิดแผกกัน
ภาพรวมนั้นแน่ว่าคือม้าบิน...
- ม้า ตามตำนานของศาสนาฮินดู กล่าวว่าเทพแห่งลมได้สร้างขึ้นมา ๔ สายพันธุ์คือ วลาหก อาชาไนย สินธพมโนมัย และอัสดร ม้าทั้ง ๔ มีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศ วันหนึ่งทั้งสี่ม้านี้บุกเข้าไปในเขตของ พระศิวะเพื่อที่จะพบกับม้าสาว ๒ ตัวที่พระอุมาเทวี (มเหสีของพระศิวะ) เลี้ยงไว้ แต่เคราะห์ร้ายถูกผู้เฝ้าสวรรค์จับได้ ม้าทั้ง ๔ จึงถูกตัดเอ็นข้อเท้าที่ทำให้มีฤทธิ์บินได้นั้นเสีย จากนั้นองค์ศิวะเจ้าจึงสาปให้มาเป็นทาสรับใช้มนุษย์ตลอดกาล
- ม้าปีก นอกจากจะมีในตำนานสัตว์หิมพานต์แล้วยัง มีปรากฎในตำนานอื่นเช่นตำนานม้าปีกเปกาซัสของ กรีก หรือตำนานม้าบินของจีน ถึงแม้รายละเอียดต่างๆ ของม้าปีกในแต่ละตำนานจะมีความแตกต่างกันบ้าง เช่นม้าเปกาซัสมีสีขาวบริสุทธิ์ แต่โดยลักษณะร่วมคือ มีร่างกายและ ส่วนหัวเป็นม้า มีปีก ๑ คู่ ปีกคู่นี้มีความแข็งแรงมาก และสามารถทำให้ม้าปีกบินได้อย่างรวดเร็ว
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
วลาหก
(พื้นสีขาวนวล ช่วงหัวสีดำ ปากและเท้าทั้ง ๔ มีสีแดง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
อัสดร
Cr. Photo By เว็บมติชนออนไลน์
อัสสาชาไนย
(พื้นสีเหลืองทอง หางแปรงสีเขียว)
Cr. Photo By คุณคลองห้า
สินธพ
(พื้นดำ หางแปรงสีขาว)
Cr. Photo By เว็บมติชนออนไลน์
ม้าปีก
(มีปีกบินได้อย่างนก)
ขอบคุณจ้าของรูปภาพจาก Internet
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ม้าผสมหลากรูปลักษณ์
- ม้าผสมหลากรูปลักษณ์ -
“ดุรงค์ไกรสร”แปลกตาม้าหัวสิงห์
สามารถวิ่งเหมือนม้าตระกูลสินธุ์
ตัวเป็นม้าสีแดงหางดำนิล
เป็นสัตว์กินเนื้อดิบกลีบตีนดำ
เรียกง่ายง่ายว่า “ม้าราชสีห์”
เป็นสัตว์มีสกุลใหญ่สูงไม่ต่ำ
แข็งแรงอย่างสิงห์ใหญ่กายกำยำ
วิ่งเร็วล้ำเลิศกว่าม้าใดใด
“โตเทพอัสดร”นามกรม้า
สีกายาแดงแสดค่อนสดใส
หางและกีบแดงชาดสีบาดใจ
ส่วนหัวไม่เหมือนสิงห์เป็น“สิงโต”
“ดุรงค์ปักษิณ”ปีกหางอย่างวิหค
สีขาวนกผสมม้าดูอ่าโอ่
ขนคอหางกีบดำยามเงยโง
ช่างยโสสง่าม้าลำพอง
“เหมราอัสดร”กายเป็นม้า
เหมราเป็นหัวไม่เป็นสอง
ม้าหัวหงส์ทุกส่วนงามชวนมอง
มักผยองอย่างม้าพันธุ์พาชี....
- "ดุรงค์ไกรสร" มีลักษณะคล้ายกับ โตเทพอัสดร กล่าวคือทั้งคู่ เป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงห์กับม้า ตามตำนาน ดุรงค์ไกรสรมีกายเป็นม้าสีแดง มีหางสีดำ กีบสีดำเหมือนม้า ส่วนหัวเป็นสิงห์ที่มีลักษณะสง่า เป็็นสัตว์กินเนื้อ อาหารที่กิน ก็คือสัตว์นานาชนิดในป่าหิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นกวาง หรือวัวควาย ลักษณะเด่นของดุรงค์ไกรสรคือ สามารถวิ่งได้เร็วดุจม้าและ มีความแข็งแรงอย่างสิงห์
- "โตเทพอัสดร" เป็นสัตว์หิมพานต์แบบผสมระหว่างสิงโตกับม้า มีลักษณะทั่วไปเหมือนดุรงค์ไกรสร มีความแตกต่างจาก ดุรงค์ไกรสร โดยมีร่างกายเป็นม้าสีแสด หางและกีบสีแดงชาด หัวเป็นสิงโต คอ หลังและขนสร้อยคอสีเขียว เป็นสัตว์ล่าเนื้อเป็นอาหารเช่นเดียวกับ ดุรงค์ไกรสร
- "ดุรงค์ปักษิณ" ตามตำราดุรงค์ปักษิณคือม้าที่มีปีกและหางเหมือนนก มีกายสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนขนคอ กีบและหางมีสีดำสนิท
- "เหมราอัสดร" มีรูปกายเป็นม้า ส่วนหัวเป็นเหม ตัวเหมนั้น บางที่ก็วาดออกมาเป็นแบบนกหงส์ บางที่ก็วาดออกมา ปากเหมือนสัตว์ประเภทจระเข้
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
ดุรงค์ไกรสร
(หัวเป็นสิงห์ กายเป็นม้าสีแดง หางและกีบเท้าสีดำ)
Cr. Photo By คุณร่มเงาไม้
ดุรงค์ปักษิณ
(เป็นม้ามีปีกและหางเหมือนนก กายสีขาว แผงคอ กีบและหางสีดำ)
Cr. Photo By คุณคลองห้า
เหมราอัสดร
(กายเป็นม้า หัวเป็นเหม)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ม้างายไสและม้าสินธพ
- ม้างายไสและม้าสินธพ -
พบชื่อแปลกภาษาว่า “งายไส”
ม้าอะไรหัวสิงห์สัตว์วิ่งหนี
มันกินคนสัตว์นานาบรรดามี
คำกล่าวอ้างบางคัมภีร์หัวกิเลน
บนหน้าผากเขางอกออกมาคู่
ทำให้ดูแล้วสะดุดเป็นจุดเด่น
ตัวเป็นม้าทั้งหมดตามกฎเกณฑ์
สีชัดเจนพื้นเดียวเป็นเขียวคราม
“สินธพกุญชร”กายม้ามีสีเขียว
ดูปราดเปรียวยามย่างกลางสนาม
หัวเป็นช้างวางท่าสง่างาม
กีบดำตามพาชีมีสกุล
“สินธพนที”นี้นามม้าน้ำแน่
กำเนิดแม่สินธูอุ้มชูหนุน
เป็นม้าดีมีค่าอนันตคุณ
คนมีบุญยิ่งใหญ่จึ่งได้ครอง
“สินธพนัทธี”นี้ตัวม้า
หางเป็นปลาพื้นมีสีขาวผ่อง
สีครีบหางแดงชาดชวนตามอง
เชี่ยวช่ำช่องทางน้ำตามแบบปลา
- "งายไส" เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ลูกผสมชนิดหนึ่ง ชื่อนี้ค่อนข้างแปลก ยังไม่ทราบว่ามาจากไหนและแปลว่าอะไร ในตำนานได้บรรยายว่างายไสมีลักษณะผสมระหว่างสิงห์กับม้า หัวเป็นสิงห์มีเขาบนหน้าผาก ๒ ข้าง บ้างก็เชื่อว่างายไสมีหัวเป็นกิเลน ลักษณะแบบม้า จากช่วงคอลงมามีสีเขียวครามเป็นสีพื้น กินเนื้อดิบเป็นอาหาร สัตว์ที่ล่าเป็นเหยื่อ มีตั้งแต่สัตว์เล็กจนไปถึงสัตว์ใหญ่ บางครั้งก็ล่ามนุษย์เป็นอาหาร คนส่วนใหญ่มักจำงายไส สลับกับดุรงค์ไกรสรเพราะสัตว์ทั้ง ๒ ประเภทมีร่างเป็นม้าและมีส่วนหัว เป็นสิงห์ จะต่างก็เพียงแต่หัวของดุรงค์ไกรสรไม่มีเขาเท่านั้น
- "สินธพกุญชร" เป็นม้าสีเขียว แต่ส่วนหัวกลับเป็นช้าง ในตำรากล่าวว่ามีกีบสีดำเหมือนม้าเช่นกัน
- "สินธพนที" เป็นสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลสาบ ม้าพันธุ์ดีจากบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ม้าสินธพนทีนี้มีกำลังและฤทธิ์เดชมาก สามารถวิ่งไปบนใบบัวได้ โดยที่ใบบัวไม่สั่นแม้แต่น้อย
- "สินธพนัทธี" มีตัวเป็นม้า หางเป็นปลา พื้นสีขาว ครีบและหางมีสีแดงชาด เป็นม้าสายพันธุ์เดียวกับสินธพนที ต่างกันที่สีและหางเท่านั้น
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
งายไส
(หัวเป็นสิงห์ มีเขา ๒ ข้าง กายเป็นม้าสีเขียวคราม)
ขอบคุณเจ้าของภาพใน Internet
สินธพกุญชร
(กายเป็นม้าสีเขียว ส่วนหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณดา ดา
สินธพนัทธี
(กายเป็นม้าสีขาว มีหางเหมือนปลา มีครีบที่หลังและขาทั้ง ๔ สีแดงชาด)
ขอบคุณเจ้าของภาพใน Internet
ม้าสิงโต,เหรา
- ม้าสิงโต,เหรา -
ยังมีม้าหิมพานต์อีกสองชนิด
เทพประสิทธิ์ผสมพันธุ์ไร้ปัญหา
ปั้นรูปลักษณ์ยักแยกให้แปลกตา
ประดับป่าหิมพานต์นิทานคดี
"โตเทพอัสดร"กายแดงแสด
ทนสู้แดดลมฝนไม่รนหนี
หางและกีบแดงชาดร่างพาชี
หลังคอมีขนเขียวมิเหมือนใคร
ส่วนหัวเป็นสิงโตดูโอ่อ่า
ห่อนกินหญ้ากินแต่เนื้อสัตว์น้อยใหญ่
พ่อเป็นลาแม่พาชีผสมไว้
เป็น“ฬ่อ”ให้ใช้งานอย่างทานทน
"อัสดรเหรา"ม้าสุดท้าย
ผสมสายพันธุ์น้ำสำเร็จผล
ตัวเป็นม้าสีม่วงดูพิกล
ด้วยส่วนบนหัวเห็นเป็นเหรา.....
- "โตเทพอัสดร" เป็นสัตว์หิมพานต์แบบผสมระหว่างสิงโตกับม้า มีลักษณะทั่วไปเหมือนดุรงค์ไกรสร กล่าวคือมีหัวเป็นสิงโต และมีร่างเป็นม้า แต่เมื่อพิจารณาลึกๆแล้วมีความแตกต่างจาก ดุรงค์ไกรสร โดยโตเทพอัสดรมีร่างกายเป็นม้าสีแสด หางและกีบสีแดงชาด หัวเป็นสิงโต คอ หลังและขนสร้อยคอสีเขียว คำว่า “อัสดร” มาจากภาษาสันสกฤต “อสฺสตร” หมายถึง ม้าดี หรือสัตว์ผสมที่เกิดจากพ่อที่เป็นลา และแม่ที่เป็นม้า โตเทพอัสดรเป็นสัตว์ล่าเนื้อเป็นอาหารเช่นเดียวกับดุรงค์ไกรสร สัตว์ที่เป็นเหยื่อของโตเทพอัสดรมีตั้งแต่ สัตว์เล็กสัตว์น้อย จนไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่ในป่าหิมพานต์ เช่นกวาง วัว ควาย
- "อัสดรเหรา" เป็นสัตว์ผสมระหว่างสัตว์ตระกูลม้าและเหรา ในตำรากล่าวว่ามีผิวกายสีม่วงอ่อน สัตว์ตระกูลเหรานี้ บางทีก็วาดเหมือนจระเข้ บ้างก็วาดออกมาเหมือนมังกร
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๗ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
อัสดรเหรา
(กายเป็นม้าสีม่วงอ่อน หัวเป็นแบบมังกร มีเขาและเครา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #4 on:
20 August 2022, 23:58:37 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ปลาอานนท์ 3
Artist : Likit Nisetanakar
- ปลาในหิมพานต์ -
หิมพานต์มีปลานานาชนิด
รูปลักษณ์ผิดแผกไปมีหลายหน้า
“เหมวาริน”เหมภิรมย์ผสมปลา
หัวหงสาเหมเห็นเป็นปลาอะไร
อัน“กุญชรวารี”นี้นามช้าง
แต่เรือนร่างที่เห็นเป็นปลาใหญ่
หัวและขานั้นเห็นเป็นช้างไป
ว่ายน้ำไวดั่งปลาชาญวารี
“มัจฉนาคา”ปลาปนนาค
เนื่องมาจากนาคาปลาจู๋จี๋
ผสมพันธุ์ลูกเกิดมาหัวนาคี
ตัวหางมีเพศปลาทุกประการ
“มัจฉาวาฬ”นั้นชัดเป็นสัตว์น้ำ
ว่ายผุดดำธาราสนุกสนาน
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอนแช่ธาร
นามปลาวาฬคือปลาใหญ่ในหิมวันต์....
- “เหมวาริน” สัตว์ใต้น้ำในป่าหิมพานต์ เป็นร่างผสมของเหม กับปลา
- “กุญชรวารี” เป็นสัตว์ใต้น้ำ มีความแปลกประหลาดที่มีเพียงหัวและขาหน้าเท่านั้นที่เป็นช้าง นอกนั้นเป็นปลา แต่กลับสามารถว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็วมาก (หากมีขาทั้ง 4 ข้าง มีหางและครีบอย่างปลา เรียก "วารีกุญชร")
- “มัจฉนาคา” มาจากคำสองคำ คือ 'มัจฉา' ปลา และ 'นาคา' นาค ดังนั้นมัจฉนาคาจึงมีพื้นฐานของนาคและปลา มีส่วนหัวเป็นนาค ลำตัวและหางเป็นปลา
- “มัจฉวาฬ” มาจากคำว่า 'มัจฉา' ปลา และ 'วาฬ' ในที่นี้หมายถึงใหญ่ มัจฉวาฬเป็นสัตว์เลี่ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ใต้น้ำ ตามที่นักจิตรกรโบราณได้อธิบายไว้ อย่างไรก็ตาม มัจฉวาฬก็เป็นสัตว์ที่จินตนาการขึ้นให้เหมือนกับสัตว์ประเภทปลาที่มีฟันอันแหลมคม
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
เหมวาริน
(หัวเป็นเหมราช ลำตัวมีครีบและหางเป็นปลา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
กุญชรวารี
(ส่วนหัวและขาหน้าเป็นช้าง ลำตัวและหางเป็นปลา)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
วารีกุญชร
(มีร่างกายเป็นช้าง มีครีบบนแผ่นหลัง ครีบเท้า และหางอย่างปลา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
ปลาอานนท์
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- เงือก,ควาย,เสือ,ศฤงคมัสยา -
ปลาประหลาดนำมากล่าวกลุ่มสุดท้าย
ดำผุดว่ายในน่านธารสวรรค์
ชื่อหนึ่ง“นางเงือก”งามตามกรรมพันธุ์
ผสมกันคนกับปลาเป็นปลาแปลง
ท่อนบนเป็นสาวมนุษย์สุดสวยแสน
ด้วยเทพแถนเทวัญปั้นปรุงแต่ง
เธอจึ่งเป็นนางฟ้าปลาจำแลง
เทพีแห่งหมู่ปลามัจฉาชล
ฝูง“ปลาควาย”ว่ายมานั่นน่ะหรือ
“หัวกระบือ”ควายล้วนชวนฉงน
“ตัวเป็นปลา”มาเฉวียนว่ายเวียนวน
เหมือนชวนคนลงวารีขึ้นขี่ควาย
ว่ายคลาคล่ำตามมานั่น“ปลาเสือ”
ประหลาดเหลือหัวพยัคฆ์ฝากความหมาย
ตัวเป็นปลาสืบเชื้อพันธุ์เสือกลาย
ยังไว้ลายที่หัวให้กลัวเกรง
“ศฤงคมัสยา”ปลาวิเศษ
เกิดจากเพศพิษณุสู้งานเก่ง
น้ำท่วมโลกหมดหล้าฟ้าวังเวง
องค์เทพเร่งแปลงเป็นปลามาลากเรือ
- “นางเงือก” คือสรรพสิ่งที่เกี่ยวกับทะเลซึ่งได้รับการกล่าวถึงในเกือบทุกวัฒนธรรม นางเงือกได้ถูกบรรยายไว้ว่าเป็นเด็กผู้หญิงสวย ที่มีร่างกายช่วงล่างเป็นปลา
- “ปลาควาย” มาจากคำ ๒ คำ คือ 'ปลา' กับ 'ควาย' ปลาควายมีส่วนหัวเป็นกระบือ ลำตัวเป็นปลา
- “ปลาเสือ” มีส่วนหัวเป็นเสือ ลำตัวเป็นปลา
- “ศฤงคมัสยา” มีเขางอกออกมาจากหน้าผาก เป็นปลาวิเศษ คือร่างจุติของพระวิษณุ กิจกรรมหลักของปลาตัวนี้คือจะช่วยลากเรือเมื่อน้ำท่วมโลก
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
นางเงือก
(ช่วงบนเป็นสาวงาม ช่วงเอวลงมามีหางเป็นปลา)
Artist : อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ศฤงคมัสยา
(เป็นปลาขนาดใหญ่ มีเขางอกตรงหน้าผาก)
Artist : คุณโอม รัชเวทย์
พยัคฆ์นที (ปลาเสือ)
(กายช่วงบนและสองขาหน้าเป็นเสือ ช่วงล่างเป็นปลา)
Cr. Photo By คุณดา ดา
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
กิเลนหิมพานต์
- กิเลนหิมพานต์ -
พวกกิเลนเป็นสัตว์ประหลาดลักษณ์
จีนรู้จักก่อนใครยลไม่เบื่อ
“กิเลน”เพศผู้,เมียไม่มีเจือ
สองคำเมื่อรวมเป็น“กิเลน”พลัน
หัวมังกรเขาเดียวไม่เก้งก้าง
ตัวแบบกวางผิวเป็นเกล็ดคลุมกายมั่น
หางเหมือนวัวกีบเหมือนม้าเป็นสำคัญ
รู้จักกัน“กิเลนจีน”เห็นชินตา
“กิเลนไทย”คล้ายจีนจากบอกเล่า
มีสองเขากีบคู่ดูสง่า
อิทธิพลจีนขยายถ่ายทอดมา
ไทยศรัทธาโดยซื่อเชื่อถือตาม
“กิเลนปีก”ไร้เขาเป็นเผ่าใหม่
โบยบินได้ด้วยปีกกล้าน่าเกรงขาม
ส่วนเท้าเป็นกรงเล็บแลดูงาม
มักเรียกนามเล็บกิเลนเป็นมังกร
- “กิเลนจีน” ในตำนานจีนมีหัวเป็นมังกร มีเขาเดียว (เขาแบบกวาง) มีร่างกายแบบกวาง ผิวกายปกคลุมด้วยเกล็ด หางเหมือนหางวัว มีกีบเหมือนม้า สัตว์วิเศษนี้ประกอบไปด้วยเบญจธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และ โลหะ กล่าวกันว่า กิเลนมีชีวิตยืนยาวหลายพันปี พจนานุกรมจีน อธิบายกิเลนต่างออกไป ว่า กิเลนมีหัวเหมือนสุนัข แต่มีกายเป็นกวาง หางเป็นวัว กีบเหมือนม้า มีขนแผงคอหลากสี ขนใต้ท้องมีสีเหลือง มีสีกาย ๕ สี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว และ ดำ ตัวผู้มีเขา ๑ เขา ตัวเมียไม่มีเขา สามารถเดินบนผิวน้ำได้
- “กิเลนไทย” แม้ว่ากิเลนจะได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน วัดหลายแห่งในไทยก็มีกิเลนเช่นกัน แบบฉบับของกิเลนไทย แตกต่างจากแบบจีนบ้าง โดยปกติแล้ว กิเลนไทยมีเขา ๒ เขา และมีกีบคู่ ต่างจากแบบดั้งเดิม
- “กิเลนปีก” ดูแปลกตากว่ากิเลนอีก ๒ ชนิด โดยกิเลนปีก ไม่มีเขาแม้แต่เขาเดียว หากแต่มีปีกคล้ายนก ๑ คู่ อีกอย่างที่ผิดแผกไป ก็คือเท้าที่เป็นกรงเล็บ ไม่เหมือนเท้าแบบกีบเหมือนกิเลนอีก ๒ ชนิดนั้น
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
กิเลนจีน
(หัวเป็นมังกร กายเป็นกวางมีเกล็ดปกคลุมตลอดตัว มีเขาเดียว เท้าเป็นกีบ)
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพจาก Internet
กิเลนไทย
(หัวเป็นมังกร กายเป็นกวางมีเกล็ดปกคลุมตลอดตัว มีเขาสองเขา เท้าเป็นกีบ)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
กิเลนปีก
(ไม่มีเขา มีปีกคล้ายนก มีเท้าเป็นกรงเล็บ)
Artist : คุณโอม รัชเวทย์
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสาร
Cr. Photo By คุณสอนสุพรรณ
- สัตว์ป่าหิมพานต์ประเภทกวาง -
“มารีศ”ร่างเป็นสัตว์ประหลาดนัก
หัวเป็นยักษ์ขังขึงอยู่ครึ่งท่อน
ตัวเป็นกวางย่างเหยาะอรชร
เอวองค์อ่อนอวดตัวยั่วยวนตา
นางละครรามเกียรติ์ไทยเรียนรู้
ม้ารีศผู้แปลงร่างนางยักษา
เป็นกวางทองลวงพระรามลักษณ์ตามมา
จนสีดาถูกยักษ์ลักพาไป
“พานรมฤค”นามเห็นเป็นลิงเนื้อ
เกิดจากเชื้อลิงกวางพันทางใหม่
กินพฤกผลนานาสาแก่ใจ
เป็นลิงในร่างสมันพันธุ์พานร
“อัปสรสีหะ”นี่ประหลาด
ชนสังวาสกวางกลับเกิดอัปสร
คนครึ่งกวางร่างงามทุกแง่งอน
บ้างว่าท่อนล่างเห็นเป็นสิงโต.....
- “มารีศ” เป็นหนึ่งในตัวละครยักษ์เรื่อง รามายนะ (รามเกียรติ์). เป็นบุตรของนางยักษ์ชื่อ กากนาสูร และเป็นญาติของทศกัณฑ์ ในเรื่อง ทศกัณฑ์ต้องการจับตัวนางสีดา จึงสั่งมารีศให้จำแลงกาย เป็นกวางทองไปล่อนาง แผนนี้เกือบสำเร็จลุล่วง แต่ท้ายที่สุด มารีศก็โดนพระรามแผลงศรใส่ ในรูปวาดมารีศจึงเป็นรูปสัตว์ประหลาด กึ่งยักษ์กึ่งกวาง
- “พานรมฤค” พานร แปลว่า ลิง ในบาลีและสันสกฤตใช้ว่า วานร (แปลว่าคนหรือ?) ไทยเรามาแผลง ว เป็น พ จึงเป็นพานร ถ้าเป็นหัวหน้าลิงก็ใช้ว่า พานรินทร์ คือ พญาลิง พานรมฤค เป็นสัตว์ประเภทเดียวกันกับเทพนรสิงห์, อัปสรสีห์ คือท่อนล่างเป็นสัตว์ประเภทมีกีบ คำว่า "มฤค" มีความหมายเนื้อทราย เก้ง กวาง เป็นต้น ถ้าเป็นตัวเมีย ก็ใช้ว่า มฤคี แต่ ถ้าเปลี่ยนเป็น มฤคราช, มฤคินทร์, มฤเคนทร์ ก็หมายถึง ราชสีห์ กลาย เป็นสัตว์ร้ายมีอำนาจขึ้นมาทันที ไม่ดูขลาดเหมือนกวาง เหมือนอีเก้ง และโดยเหตุที่เป็นลิง ก็มักจะถือผลไม้ ซึ่งเป็นอาหารของโปรดไว้ด้วยเสมอ
- “อัปสรสีหะ” เป็นสัตว์เพศเมียครึ่งคนครึ่งกวาง เพศผู้เรียกว่า “นรสิงห์” อาศัยอย่างอุดมสมบูรณ์ในป่าพิมพานต์ บางตำนานกล่าวว่าท่อนล่างเป็นสิงโต
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
มารีศ
(กายช่วงบนเป็นยักษ์ ช่วงล่างเป็นกวาง)
Cr. Photo By คุณ Fibo4me
พานรมฤค
(กายช่วงบนเป็นลิง ช่วงล่างเป็นกวาง)
Cr. Photo By เว็บมติชนออนไลน์
อัปสรสีห์ (เพศเมีย)
(กายช่วงบนเป็นมนุษย์ผู้หญิง ช่างล่างเป็นกวาง)
Artist : คุณโอม รัชเวทย์
นรสิงห์ (เพศผู้)
(กายช่วงบนเป็นมนุษย์ผู้ชาย ช่างล่างเป็นกวาง)
Artist : คุณโอม รัชเวทย์
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #5 on:
21 August 2022, 00:01:20 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ช้างเอราวัณ
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพนี้ใน Internet-90
- แรด ระมาด ช้างเอราวัณ -
เขมรเรียก“แรด”ป่าว่า“ระมาด”
ช่างไทยวาดภาพสรุปผิดผลุบโผล่
คล้าย“สมเสร็จ”เท็จถนัดวาดไว้โว
รู้ผิดโผพลันแก้ถูกแน่นอน
พาหนะเทพแห่งไฟใช้ระมาด
จตุบาทเช่นช้างม้ามวลกาสร
มี“นอ”ตั้งดั่งว่างากุญชร
โด่เดียวงอนดูงามทุกยามยล
“เอราวัณ”ช้างทรงองค์อินทร์เจ้า
มีเรื่องเล่าหลากหลายสายสับสน
เป็นเทพบุตรฤทธิ์แรงแปลงร่างตน
เป็นคชาพาหน”เอราวัณ”
- คำว่า “ระมาด” ภาษาเขมรแปลว่า “แรด” เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ แต่อาจจะเพี้ยนไปบ้าง เพราะระมาด หรือแรด เป็นสัตว์ป่าหายาก ศิลปินไทยในสมัยโบราณไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วระมาดหน้าตาเป็นอย่างไร จึงได้แต่วาดตามคำอธิบาย ระมาดที่ปรากฎในศิลปะไทยจึงดูคล้ายกับตัวสมเสร็จ ซึ่งมีจมูกเป็นงวงสั้น ๆ ตามประวัติศาสตร์แล้วคนไทยในกรุงเทพฯ มีโอกาสได้เห็นแรดตัวจริงก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าเมืองน่านส่งลูกแรดถวายตัวหนึ่ง จากนั้นรูปแรดที่มีในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ถูกยกเลิกไป ไม่เขียนแบบสมเสร็จอีก ระมาดหรือแรดนี้เป็นพาหนะทรงของพระอัคนี เทพเจ้าแห่งไฟ ของศาสสนาฮินดู
- “ช้างเอราวัณ” ในเรื่องรามายณะ และความเชื่อของศาสนาฮินดู กล่าวถึงพระอินทร์ร่างกายสีเขียว มีพาหนะเป็นช้าง ๓ เชือก เชือกหนึ่งพระศิวะเป็นผู้ประทานให้ชื่อว่า เอราวัณ เชือกหนึ่งพระพรหมเป็นผู้ประทานให้ชื่อว่า คีรีเมขลไตรดายุค และอีกเชือกหนึ่งพระวิษณุเป็นผู้ประทานให้ชื่อว่า เอกทันต์
ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีพละกำลังมากที่สุดในหมู่ช้างทั้ง ๓ เชือก และเป็นที่โปรดปรานมากที่สุดของพระอินทร์ เชื่อกันว่าช้างเชือกนี้เป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง เมื่อพระอินทร์ต้องการจะเสด็จไปไหน เอราวัณเทพบุตร ก็จะแปลงกายเป็นช้างเผือก ๓๓ เศียร แต่ละเศียรมีงา ๗ งา งาแต่ละงายาวถึง ๔ ล้านวา งาแต่ละงามีสระบัว ๗ สระ แต่ละสระมีดอกบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมีกลีบ ๗ กลีบ มี ๗ เกสร แต่ละเกสรมีปราสาทอยู่ ๗ หลัง ปราสาทแต่ละหลังมี ๗ ชั้น แต่ละชั้นมี ๗ ห้อง แต่ละห้องมี ๗ บัลลังก์ แต่ละบัลลังก์มีเทพธิดาสถิต ๗ องค์ เทพธิดาแต่ละองค์มีบริวาร องค์ละ ๗ นาง เทพธิดาบริวารแต่ ละนางมีนางทาสีนางละ ๗ ทาสี รวมทั้งนางเทพอัปสรทั้งหมดประมาณ ๑๙๐,๒๔๘,๔๓๓ นาง เทพธิดา บริวารรวมกันทั้งหมดประมาณ ๑๓,๓๓๑,๖๖๙,๐๓๑ นาง เศียรทั้ง ๓๓ ของช้างเอราวัณมีอุเปนทเทพยดา สถิตเศียรละ ๑ องค์ โดยปกติศิลปินไทยมักจะทำช้างเอราวัณ เป็นช้าง ๓ เศียร
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
ช้างเอราวัณ
Cr. Photo By คุณ tiger's nest
ระมาด (แรดในโลกหิมพานต์)
Cr. Photo By คุณ Laser
แรด (ในโลกจริง)
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพนี้ใน Internet
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ช้างหิมพานต์
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- ช้างหิมพานต์ -
“กรินทร์ปักษา”ปีกหางมีอย่างนก
บินโผผกทั่วประเทศระเห็จหัน
ขนปีกหางแดงชาดอัศจรรย์
ด้วยกายนั้นดำสนิทติดปีกบิน
“วารีกุญชร”เท้าตัวหัวเป็นช้าง
ที่มีต่างคือครีบหลังหางเท้าถิ่น
เป็นครีบปลาช่วยให้ว่ายวาริน
เที่ยวหากินในทะเลทุกเวลา
“ช้างเผือก”ผ่องพรรณลักษณ์ช้างศักดิ์สิทธิ์
มากมีฤทธิ์กระเดื่องเรืองเดชกล้า
ช้างคู่บุญเครื่องทรงองค์ราชา
ประดับบารมีบุญญาธิการ...
- “กรินทร์ปักษา” หรือช้างบินมีผิวกายที่ดำสนิท มีปีกและหางเป็นอย่างนกสีแดงชาด สามารถบินได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว นอกจากส่วนปีกและหางแล้ว กรินทร์ปักษามีลักษณะ ไม่ต่างจากช้างทั่วไปนัก โดยมีงาคู่หนึ่งเอาไว้ใช้ในการปกป้องตัวและหักกิ่งไม้หรือพืชผัก ส่วนงวงมีไว้หยิบจับสิ่งของ ดื่มน้ำ ดมกลิ่นและทำให้เกิดเสียงร้อง
- “วารีกุญชร” คนทั่วไป มักจำวารีกุญชรสลับกับกุญชรวารี สัตว์ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นสัตว์ประสม ระหว่างช้างกับปลา เราสามารถแยกแยะระหว่างวารีกุญชรและกุญชรวารีได้ค่อนข้างง่าย โดยวารีกุญชรนั้นมีร่างกายเกือบทั้งตัวเป็นช้าง มีอวัยวะบางส่วนที่เป็นปลาเช่น ครีบบนแผ่นหลังครีบเท้าและครีบหาง
ส่วนกุญชรวารีนั้น มีช่วงตัวท่อนแรกเป็นช้าง ช่วงหลังเป็นปลา กุญชรวารี จึงมีเท้าเพียง ๒ ข้าง ลำตัวและหางเป็นปลาหมด สัตว์ทั้ง ๒ นี้อาศัยอยู่ในทะเลสามารถว่ายและดำน้ำได้ดีเยี่ยม
- “ช้างเผือก” ตำนานเกี่ยวกับช้างเผือกมีอยู่คู่คนไทยมาช้านาน เชื่อกันว่าช้างเผือกมีอิทธิฤทธิ์เหนือช้างสามัญ ว่ากันว่ามีพลังดุจเทพแห่งสงคราม สำหรับกษัตริย์ของประเทศไทยและพม่าแล้ว การได้ครอบครองช้างเผือกเป็นอะไรที่สำคัญยิ่ง องค์ใดที่มีช้างเผือกหลายเชือก จะเป็นกษัตริย์ที่เกรียงไกร และจะนำพาบ้านเมืองสู่ความรุ่งโรจน์ หากช้างเผือกสิ้น ก็เป็นลางบอกเหตุเภทภัยแก่ตัวกษัตริย์และแผ่นดินที่ปกครอง ราชันย์ในยุคก่อนจึงมุ่งมั่นที่จะได้ช้างเผือกมาอยู่ในความครอบครอง องค์ใดมีมากตัวก็สามารถให้ราชาเมืองอื่นเป็นของขวัญ เพื่อความเป็นมิตร บางครามีการก่อสงครามแย่งชิงช้างเผือกก็มี ในประเทศไทย ช้างเผือกเคยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เพราะเชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้ศักดิ์สิทธิ์
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
กรินทร์ปักษา
(กายสีดำ มีปีกและหางอย่างนก เป็นสีแดงชาด)
Cr. Photo By คุณดา ดา
วารีกุญชร
(มีร่างกายเป็นช้าง มีครีบบนแผ่นหลัง ครีบเท้า และหางอย่างปลา)
กุญชรวารี
(ส่วนหัวและขาหน้าเป็นช้าง ลำตัวและหางเป็นปลา)
ช้างเผือก
(มีกายสีขาวหรือชมพูคล้ายสีหม้อใหม่)
Cr. Photo By คุณ old technician
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ทรพี
ควายป่าหิมพานต์
- ควายป่าหิมพานต์ -
“ควาย,กระบือ,มหิงสา,กาสร”ชัด
ล้วนเป็นสัตว์สี่เท้าเขาตระหง่าน
เป็นตระกูลสัตว์ป่าหิมพานต์
มาอยู่บ้านทั่วเขตเกษตรกรรม
ควายฉลาดคราดไถลากล้อเลื่อน
เป็นทั้งเพื่อนทั้งทาสอุปถัมภ์
รามเกียรติ์เขียนเรื่องไว้ให้เราจำ
พ่อลูกทำศึกใหญ่ไร้ปรานี
“ทรพีทรพา”ลูกฆ่าพ่อ
มีต้นตอจากยักษ์ไร้ศักดิ์ศรี
เกิดราคะหน้ามืดปล้ำ“มาลี”
สิ้นคดีถูกสาปส่งลงเป็นควาย
นามกระบือทรพาราคะหลาก
ยิ่งมีมากฝูงเมียไม่เสียหาย
ถ้าเกิดลูกเพศผู้รู้แล้วร้าย
รีบฆ่าตายไม่เหลือเป็นเชื้อตน
“มังกรวิหค”ควายสวรรค์พันธุ์ผสม
สามเกลียวกลมนกวัวมังกรสนธิ์
หัวมังกรร่างโคเข้าระคน
ปีกหางปนวิหคนกมังกร...
- “ทรพี-ทรพา” ในตำนานว่ามียักษ์อยู่ตนหนึ่งชื่อ "นนทกาล" มีหน้าที่เป็นยามเฝ้าประตูวังสวรรค์ ของพระศิวะ (เขาไกรลาส) ยักษ์ตนนี้ได้ทำผิดกฎโดยปลุกปล้ำนางฟ้านาม"มาลี" พระศิวะทรงกริ้วจึงสาป นนทกาลไปเกิดเป็นควาย มีนามว่า "ทรพา" และจะต้องถูกสังหารโดยลูกของตัวเอง ผู้มีชืื่อว่า"ทรพี" จากนั้นจึงจะพ้นคำสาป นนทกาลเกิดเป็นควาย หลายเมีย เขาจะฆ่าลูกที่เกิดเป็นตัวผู้ทุกตัว เมียทรพาตัวหนึ่ง หนีไปคลอดลูกที่อื่นและเป็นตัวผู้ ได้รับการเลี้ยงดูโดยเทวดา และตั้งชื่อควายตัวนี้ว่า"ทรพี" ทุกวันทรพีจะวัดขนาดกีบ(ตีน)ของมันกับของพ่อ เมื่อใหญ่เท่ากันจึงถือว่าพร้อมที่จะสู้ ในที่สุดทรพา ก็ถูกลูกของตนฆ่าตายตามคำสาปของพระเป็นเจ้า
- “มังกรวิหค” เป็นสัตว์ ๔ ขาที่มีลักษณะของ มังกร นก และวัว ผสมกัน ส่วนหัวมีลักษณะของมังกร ส่วนตัวเป็นวัว มีสีม่วง มีปีกและหางเหมือนนก
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๔ สิงหคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
ทรพี(สีคล้ำ) -ทรพา(สีเผือก)
ขอบคุณผู้เป็นเจ้าของภาพจาก Intetnet-100
มังกรวิหค
(กายเป็นวัวสีม่วง หัวเป็นมังกร มีปีกและหางเหมือนนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
หนุมาน-มัจฉานุ
- ลิงและสุนัขในหิมพานต์ -
“กบิลปักษา”วานรผสมนก
ลิงวิหคผกผินเที่ยวบินร่อน
ตัวสีดำหน้าตาเป็นวานร
ร่างอีกท่อนเป็นนกปีกเขียวนิล
หางเหมือนนกเหมือนไก่ก็ไม่แน่
มันมักแปรเปลี่ยนไปตามใจถวิล
มะม่วงชมพู่ผลไม้ถือไว้กิน
และชอบบินกว่าเดินเหาะเหินไป
“มัจฉานุ”ลิงปลาผสมเพศ
เกิดจากเหตุหนุมานพานรใหญ่
เสพสังวาสนางปลาทองผ่องอำไพ
ปรากฏในรามเกียรติ์ที่เรียนกัน
สัตว์ประเภทสุนัขนาม“ขิหมี”
เป็นนามที่แปลกหูให้ขำขัน
เป็น“หมาหมี”หรือไรให้งงงัน
สีขนมันเหลืองทั้งร่างหางพุ่มพวง....
- “กบิลปักษา” เป็นสัตว์ประหลาดกึ่งนกกึ่งลิง โดยมีปีกนกติดอยู่ที่หัวไหล่ และ มีหางเหมือนนก โดยปกติระบายสีกายเป็นสีดำ โดยเหตุที่ลิงชอบผลไม้ ช่างวาดภาพจึงให้ถือต้นไม้มีผล (บางตำราว่าถือมะม่วงและชมพู่ ) ทำให้น่าดูยิ่งขึ้น ที่พิเศษก็คือในบางตำราถือว่า ทั้งลิงทั้งนกต่างก็มีหาง ผู้เขียนภาพเสียดายหางลิงไม่กล้า ตัด ก็เลยทำให้มีทั้งสองอย่าง เมื่อหางลิงตวัดขึ้น หางนก หรือหางไก่ก็ห้อยลง
- “มัจฉานุ” เป็นสัตว์ที่มีกายเป็นลิงมีหางเป็นปลา เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นบุตรของ หนุมาน กับนางปลาชื่อ นางสุวรรณมัจฉา
- “ขิหมี” เป็นสัตว์ประเภทสุนัข ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ในงานเขียนสมัยเก่าก่อน ขิหมีมีรูปร่างเป็นสุนัขสีเหลืองมีขนแผงคอและหางเป็นพุ่มตรงปลาย เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและเนื้อ แต่โดยส่วนมากมักกินเนื้อเป็นหลักและออกล่าเพียงตัวเดียว มีประสาทรับกลิ่นกับขาที่แข็งแรงไว้เพื่อการไล่ล่าโดยเฉพาะ อาหารส่วนใหญ่เป็นสัตว์ตัวเล็กกว่าจำพวกกระรอก กระต่าย เมื่อมันเจ็บป่วยก็จะหาหญ้ากินเหมือนกับสุนัขในปัจจุบัน
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
กบิลปักษา
(กายเป็นลิงสีดำ มีปีกที่หัวไหล่ มีหางเหมือนนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา
มัจฉานุ
(บุตรแห่งหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา มีกายเป็นลิงมีหางเป็นปลา)
ขิหมี
(กายสุนัขสีเหลืองมีแผงคอเหมือนสิงโต หางเป็นพุ่มตรงปลาย)
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
จระเข้
Artist : คุณปุราณ
- จระเข้,ปูหิมพานต์ -
จระเข้หิมพานต์นั้นสองชนิด
หนึ่ง“กุมภีนิมิต”สัตว์สองช่วง
เทวดากึ่งจระเข้ควง
อยู่บนสรวงและแล่นทั่วแดนดิน
สอง“เหรา”ร่างกึ่งนาคมังกรอยู่
ยาวคล้ายงูมีเกล็ดหุ้มตัวสิ้น
สี่ขาเช่นจระเข้เคยเห็นชิน
เป็นสัตว์กินเนื้อสัตว์สารพัน
ยังมีสัตว์ประเภทปูรวมอยู่ด้วย
เรื่องเล่าช่วยขยายความเพิ่มขำขัน
จะเท็จจริงอย่างไรไม่ว่ากัน
ก้ามปูมันเป็นกลองฟ้าร้องดัง.....
สัตว์ประเภทจระเข้มี ๒ ชนิด คือ กุมภีนิมิต ๑ เหรา ๑
- “กุมภีนิมิต” เป็นร่างผสมระหว่างเทวดากับจระเข้ ส่วนบนเป็นเทวดา ตั้งแต่สะโพกลงมาเป็นจระเข้
- “เหรา” มีหลักฐานอ้างอิง ในพจนานุกรมให้ความหมายเหราว่า "จระเข้" หรือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายนาค เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และกินเนื้อ ข้อมูล จากหนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์ เรื่องสัตว์หิมพานต์ โดย อุดม ปรีชา อธิบายว่า เหรา มีรูปร่างครึ่งนาคครึ่งมังกร หัวกับลำตัวเหมือนนาค แต่มีขาเหมือนมังกร ตัวยาวคล้ายงู มีเกล็ดตลอดตัว รูปวาดเหราในจิตรกรรมไทยเป็นรูปครึ่งนาคครึ่งมังกร คือ หัวกับลำตัวเป็นนาค แต่มีขา ๔ ขา เหมือนมังกรหรือจระเข้ ตัวยาวมีเกล็ดตลอดตัว พม่านิยมทำรูปเหราประดับพุทธสถาน น่าสังเกตว่า ศิลปกรรมไทยทางภาคเหนือนิยมทำรูปพญานาคถูกเหราคาบไว้ครึ่งตัว
- “ปู” เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งในป่าหิมพานต์ มีหลักฐานอ้างอิงในเรื่องเล่าต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของพระพุทธเจ้าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยเสวยพระชาติเป็นช้าง อาศัยอยู่ริมหนองในป่าหิมพานต์ ซึ่งมีชื่อว่า "หนองปู" หนองแห่งนี้เป็นที่อาศัยของปูยักษ์ เจ้าปูยักษ์ตัวนี้จะนอนรอจับช้างที่มาอาบน้ำเป็นอาหาร พระพุทธองค์ในร่างของช้างนั้น ได้กระทืบเจ้าปูยักษ์จนแหลก มีเพียงก้ามปู ๒ ก้ามที่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ก้ามทั้ง ๒ ลอยไหลไปตามน้ำ หนึ่งในนั้นได้ถูกกษัตริย์องค์หนึ่งนำไปทำเป็นกลองยาว ส่วนอีกก้ามหนึ่งนั้นได้ถูกยักษ์เก็บไปเป็นกลองสงคราม หลายปีต่อมาเหล่ายักษ์ได้พ่ายแพ้ให้แก่พระอินทร์ พระองค์ได้เก็บกลองสงครามของเหล่ายักษ์ไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากตำนานนี้เชื่อกันว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า นั้น เกิดจากกลองนี้นี่เอง
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
เหรา
(หัวกับลำตัวเป็นนาค มีขา ๔ ขาเหมือนมังกร มีเกล็ดตลอดตัว)
Cr. Photo By คุณ Megaman X
กุมภีนิมิต
(กายช่วงบนเป็นเทพ ตั้งแต่สะโพกลงมาเป็นจระเข้)
Artist : คุณโอม รัชเวทย์
ปู
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
คนธรรพ์
- นาค, คนธรรพ์, นารีผล -
สัตว์ป่าหิมวันต์พันธุ์ล่าสุด
นาคมนุษย์ให้เรียนรู้อยู่กลุ่มหลัง
นาคพันธุ์งูอยู่บาดาลโอฬารวัง
ใต้ที่ตั้งเขาสุเมรุเป็นภพตน
พันธุ์มนุษย์มีสองที่จัดสรร
หนึ่งคนธรรพ์เทพมนุษย์สืบนุสนธิ์
ชาญดนตรีสีเป่าดีดเคล้าระคน
เพลงมีมนต์กล่อมโลกย์เศร้าโศกมลาย
“นารีผล”พืชสวรรค์พันธุ์พิเศษ
ผลเป็นเพศนารีที่เฉิดฉาย
งดงามจนเทพธิดานางฟ้าอาย
เป็นที่หมายปองทั้งเทพคนธรรพ์....
- “นาค” เป็นศัตรูของครุฑ มีที่อาศัยอยู่บริเวณบาดาลใต้เขาพระสุเมรุ เป็นนาคพิภพ มีวิมาน ปราสาทเงิน ปราสาททอง ดอกบัวสวยงามตระการตา ฤทธิ์พิเศษของนาคคือสามารถแปลงตน จำแลงกายได้ นาคมีสองประเภทย่อยคือ ถลชะ เกิดบนบก และ ชลชะ เกิดในน้ำ นาคที่เกิดบนบกจะแปลงกายได้แต่ตอนที่อยู่บนบก ส่วนนาคที่เกิดในน้ำจะแปลงกายได้แต่ในน้ำ
- “คนธรรพ์” อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ เผ่าพันธุ์ของคนธรรพ์เป็นนักดนตรีโดยสายเลือด พวกเขาฉลาดในการเลียนเสียงเครื่องดนตรีทุกชนิด มีเรื่องเล่าที่โด่งดังที่สุดคือเรื่องของ กากี (Khakee) ซึ่งกล่าวว่า กากี คือหญิงสาวงดงามเป็นที่หมายปองของ กษัตริย์ พญาครุฑ และคนธรรพ์ เพราะเหตุนี้ทั้งสามจึงต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวนาง ต่อมาเรื่องเล่านี้ได้กลายเป็นพลอตเรื่องสำคัญของละครเศร้า หรือรักสามเศร้าดังเป็นที่ทราบกันแล้ว
- “มักกะลีผล” หรือ “นารีผล” เป็นพืชวิเศษชนิดหนึ่ง เกิดอยู่ในป่าหิมพานต์ ว่ากันว่า นารีผล ขั้วลูกอยู่ด้านบนศีรษะ มีรูปร่างเป็นหญิง รูปร่างสะโอดสะอง สมส่วน ผิวพรรณงดงาม ปานเทพธิดา บางครั้งฤๅษีที่บำเพ็ญเพียรจนตบะกล้ากิเลสสงบรำงับ จะทดสอบจิตตนก็เหาะไปที่ต้นนารีผล มองดูนารีผล ว่าตนจะตบะแตกหรือไม่... หรือบางครั้งฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ อาจจะพาลูกศิษย์ไปทดสอบระดับจิต ไปฝึกควบคุมจิต ที่นั่นก็มี พวกนักสิทธิ์วิทยาธร มักจะเหาะไปเก็บนารีผล อุ้มมาเชยชมแล้วฝึกจิตใหม่ ค่อยเหาะกลับออกมา นารีผลจึงเป็นที่ต้องการของสัตว์วิเศษ (คนธรรพ์เป็นต้น) รวมถึงวิทยาธรทั้งหลายผู้ยังไม่หมดกามราคะ ดังนั้น การที่นารีผลจะเหี่ยวแห้งคาต้นแล้วร่วงหล่นนั้น เป็นไปได้ยาก ก่อนจะโรยรา จะมีเทวดา สัตว์วิเศษ และวิทยาธร เป็นต้นมาเก็บเอาไปเชยชม
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต
พญานาค
(งูใหญ่มีหงอน มีเกล็ดตลอดลำตัว)
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
คนธรรพ์
(เทพผู้ชำนาญการแห่งดนตรี)
มักกะลีผล (นารีผล)
(พรรณไม้ที่มีผลเป็นหญิงสาวงดงาม)
Artist : อ. ช่วง มูลพินิจ
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,284
Re: เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ
«
Reply #6 on:
21 August 2022, 00:03:03 »
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ป่าหิมพานต์
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- สภาพของป่าหิมพานต์ -
หิมวันตประเทศทั่วเขตป่า
เป็นอาณาเขตแคว้นแดนสวรรค์
สัตว์นานาป่าไม้หลากหลายพันธุ์
เป็นแดนอันรื่นรมย์อุดมดี
ไร้ฤดูร้อนหนาวและหน้าฝน
ไร้กาลต้นกลางปลายในทุกที่
เย็นสบายโปร่งปลอดตลอดปี
พรรณไม้มีดอกงามสองสามเดือน
มีภูเขามากมายหลายหมื่นยอด
แม่น้ำทอดสายใหญ่ยาวไร้เขื่อน
ห้าสายนั้นไหลจากป่ามาบ้านเรือน
เป็นเสมือนเส้นโลหิตชีวิตชน
ชื่อ“คงคา,ยมุนา,สรภู”
ไหลลงสู่เมืองมนุษย์ดุจสายฝน
“อจิรวดี,มหิ”พิมล
หล่อเลี้ยงคนพืชสัตว์ไม่ขาดตอน
“แม่คงคา”ธารสวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์
เลี้ยงชีวิตชาวชมพูอยู่สลอน
มีตำนานขานเล่าชาวนาคร
ฟังดูก่อนเชื่อหรือไม่ตามใจนะ.....
ในป่าหิมพานต์ไม่มีฤดูหนาวร้อนและฝน ปลอดโปร่งเย็นสบาย ปีหนึ่งๆต้นไม้จะออกดอก ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด มีแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา สรภู อจิรวดี มหิ ไหลลงสู่ดินแดนมนุษย์ในชมพูทวีป
“แม่คงคา” อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ไหลลงมาจากเขาหิมาลัย
ตำนานได้กล่าวถึง “แม่คงคา” ว่านางเป็นลูกสาวคนโตของท้าวหิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย กับนางเมนา มีน้องสาวคือ อุมา หรือบรรพตี ผู้เป็นมเหสีของพระศิวะ แต่เดิมแม่คงคาอยู่บนสรวงสวรรค์ เหตุที่นางต้องลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อชำระบาปให้แก่มวลมนุษย์ ก็เพราะมีสาเหตุสำคัญปรากฏมหากาพย์รามายณะ ว่าพระเจ้าสคร (สะ-คะ-ระ) พระราชาองค์ที่ ๓๗ แห่งสุริยวงศ์ มีลูกที่เกิดจากเมียเอกหนึ่งคนชื่อ อัสมัญชะ และมีลูกชายอีก ๖๐,๐๐๐ คนที่เกิดจากมเหสีรอง
เจ้าชายอัสมัญชะ องค์รัชทายาทประพฤติตัวเหลวไหลจนถูกพระราชบิดาขับไล่ไส่ส่งออกจากเมือง ส่วนเจ้าชายอีกหกหมื่นนั้น ล้วนนำความคับแค้นให้แก่ท้าวสคร มิว่างเว้นแต่ละวัน วันหนึ่งท้าวสครประกอบพิธีอัศวเมธ กาลเวลาผ่านไปครบหนึ่งปี ม้าสำคัญในพิธีก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยโดยฝีมือของพระอินทร์ พระราชาส่งโอรสทั้ง ๖๐,๐๐๐ คน ให้นำม้ากลับมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ให้ไปตายเสีย การค้นหาติดตามไปยังทุกที่ทุกทางแล้วก็ไม่พบ เจ้าชายทั้งหกหมื่นต่างด่ำงดิ่งไปใต้ดินสู่ก้นลึกของพิภพคือบาดาล ปรากฏว่าม้าซึ่งอยู่ใกล้อาศรมพระฤษีกบิล (ฤษีตาไฟ) ในขณะที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ ราชโอรสทั้งหกหมื่นต่างก็กรูกันไปจับม้าสำคัญ พระกบิลฤษีลืมตาขึ้นทันที บังเกิดเป็นไฟกรดเผาผลาญเจ้าชายทั้ง ๖๐,๐๐๐ คนมอดไหม้เหลือแต่โครงกระดูกและเถ้าถ่าน อังคารธาตุกองพะเนินดังถูเขาเลากา
ฝ่ายเจ้าชายอังศุมัตโอรสของอัสมัญชะได้ติดตามพระน้าทั้งหกหมื่นไปเรื่อย ๆ จนมาถึงอาศรมของพระกบิลฤษี อังคุมัตเป็นคนนอบน้อมเข้าไปขออนุญาตจากพระฤษีก่อน จึงได้ม้ากลับมาแต่พระองค์กลับรู้สึกสลดต่อเหตุการณ์ ยามนั้นพญาครุฑได้มาบอกให้ใช้น้ำจากแม่คงคาชำระล้างเพื่อวิญญาณของพวกเขาไปสู่สรวงสวรรค์ พระราชาจึงให้อังคุมัตขึ้นครองราชสมบัติ ส่วนพระองค์เข้าไปบำเพ็ญตบะในป่าเพื่อ เพื่อทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระคงคาช้านานจนสิ้นอายุขัย พระคงคาก็หาได้มาไม่ ราชาองค์ต่อ ๆ มากระทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนพระแม่คงคา ก็ยังไม่สำเร็จ
จนในที่สุดพระราชาภคีรถทำได้สำเร็จ หากแต่พระแม่คงคากระโจนลงจากสวรรค์ มุ่งสู่แผ่นดินด้วยความรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ซึ่งวิธีที่รุนแรงเช่นนั้น แผ่นดินโลกย่อมแตกกระจายในชั่วพริบตาเดียว พระศิวะจึงยื่นมวยผมออกไปรองรับสายคงคาอันแรงจัด เมื่อพระคงคาสิ้นฤทธิ์ พระเป็นเจ้าก็ปล่อยให้พระคงคาไหลลงสู่เบื้องล่าง.
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
ภูเขาใหญ่ในหิมพานต์
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- ภูเขาใหญ่ในหิมพานต์ -
สามพันโยชน์เป็นอาณาเขตป่าสวรรค์
ที่สูงนั้นห้าร้อยโยชน์ลิ่วเชียวหละ
ภูเขาใหญ่เจ็ดล้อมรอบขอบขัณฑะ
บรรพตะเจ็ดนามตามตำนาน
“จุลกาฬบรรพต”สีดำน้อย
อยู่ต่ำต้อยสูงโยชน์หนึ่งตำราขาน
สูงสองโยชน์ดำมาก “มหากาฬ”
สามโยชน์ธารไหล“อุทกปัสสะ”ตาม
พญากวางทองเนาเทือกเขานี้
น้ำดินดีปราศภัยให้เกรงขาม
สูงสี่โยชน์“จันทปัสส”จรัสงาม
เป็นสนามพญาฝูงนกยูงทอง
สูงห้าโยชน์“สุริยปัสสะ”
สุริยะสีสว่างกว่าใดผอง
สูงหกโยชน์“มณีปัสส”แสนน่ามอง
สีแดงส่องสาดปลั่งทั้งมณฑล
สูงเจ็ดโยชน์“สุวรรณปัสส”สาดส่อง
แสงสีทองระยิบลอยเป็นฝอยฝน
สระน้ำใหญ่ให้ช้างดื่มล้างตน
ชื่อที่คนรู้ชัด “สระฉัททันต์”
พญาช้าง“ฉัททันต์”นั้นแปลว่า
มี“หกงา”งามสมช้างสวรรค์
เขายอดนี้มีพฤกษานานาพรรณ
หนึ่งพฤกษ์นั้นพุ่มใหญ่คือไทรทอง....
ป่าหิมพานต์มีอาณาบริเวณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่สูงเพราะตั้งอยู่บนยอดเขา ๘๔,๐๐๐ ลูก ที่สูง ๕๐๐ โยชน์
ล้อมรอบด้วยภูเขาใหญ่ ๗ ลูก คือ
จุลกาฬบรรพต ซึ่งมีสีดำพวยพุ่งเล็กน้อย,
มหากาฬบรรพต ซึ่งมีสีดำพวยพุ่งออกมามาก,
อุทกปัสสบรรพต มีน้ำพวยพุ่งออกมาไม่ขาดสาย เป็นที่อยู่ของพญากวางทอง และฝูงกวาง,
จันทปัสสบรรพต มีแสงสีดุจดั่งแสงจันทร์คืนวันเพ็ญ เป็นที่อยู่ของพญายูงทองและผองนกยูง,
สุริยปัสสบรรพต มีแสงสีดุจดวงอาทิตย์ (ไม่พบข้อมูลภายใน),
มณีปัสสบรรพต มีแสงสีดุจแสงแก้วมณีพุ่งออกมา (ไม่พบข้อมูลภายใน),
สุวรรณปัสสบรรพต เป็นยอดสูงที่สุด มีแสงสีทองพวยพุ่งออกมาตลอดเวลา บนเขานี้มีสระน้ำใหญ่ชื่อ สระฉัททันต์ สำหรับให้โขลงช้างอาศัยดื่มอาบ มีพญาช้างชื่อ ฉัททันต์(แปลว่า หกงา) เป็นช้างใหญ่สูง ๘๘ ศอก ตัวยาว ๑๒๐ ศอก งวงมีสีเงินยาว ๕๘ ศอก มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสระมีต้นไทรใหญ่รอบวง ๕ โยชน์ สูง ๗ โยชน์ กิ่งยื่นสี่ทิศยาว ๖ โยชน์ ปริมณฑล ๑๒ โยชน์ เป็นที่อาศัยของโขลงช้าง สัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในเขาลูกนี้ล้วนเป็นสีทองทั้งสิ้น.
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบในเน็ต
สระใหญ่ในหิมพานต์
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- สระใหญ่ในหิมพานต์ -
พื้นฐานแท้หิมพานต์นั้นคือ“เขา"
เป็นลำเนาพรรณไม้ใหญ่น้อยผอง
อีกฝูงสัตว์ประหลาดลักษณ์มากก่ายกอง
“เขา”จึงต้องเป็นป่ามหัศจรรย์
มีสระใหญ่ในป่าเจ็ดสระอยู่
เรื่องน่ารู้สาระสระสวรรค์
“อโนดาต,กรรณมุณฑะ”สระใกล้กัน
“รถการะ,สระฉัททันต์”นั้นเรียงราย
“กุณาละ,มันทากินี”มีน้ำเปี่ยม
ล้วนยอดเยี่ยมสระงามมากความหมาย
นาม“สีหปปาตะ”สระสุดท้าย
ยากขยายความวิจิตรพิสดาร
“อโนดาต”สระใหญ่ไทยรู้ชื่อ
นามเลื่องลือเรื่องยาวที่เล่าขาน
ความเป็นอย่างไรในตำนาน
ย่นให้อ่านเพียงย่อพอได้ความ
ด้วยเป็นสระกายสิทธิ์แสนประหลาด
พื้นสระดาดด้วยหินไม่แบกหาม
“มโนศิลา”คิดครันพลันเกิดตาม
ส่วนดินงามเกิดเป็น “หอรดาล”...
ป่าหิมพานต์ ความจริงเป็นภูเขา เรียกว่าภูเขาหิมพานต์ หรือ หิมวันตบรรพต เมื่อมองลักษณะรูปร่างแล้ว เรียกภูเขาหิมพานต์ แต่เมื่อมองเห็นมีต้นไม้มาก และสัตว์นานาอาศัยอยู่แล้ว ก็ควรเรียกป่าหิมพานต์ เขาหิมพานต์ยังประกอบด้วยยอดเขาย่อย ๆ อีกมากมาย
ในเขาป่าหิมพานต์นี้ มีสระสำคัญๆ อยู่ ๗ สระ คือ ๑. สระอโนดาต ๒. สระกรรณมุณฑะ ๓. สระรถการะ ๔. สระฉัททันต์ ๕. สระกุณาละ ๖. สระมันทากินี ๗. สระสีหปปาตะ
สระอโนดาต เป็นสระที่เราได้ยินชื่อบ่อยที่สุด ธารน้ำทั้งหลายในป่าหิมพานต์ย่อมไหลลงมารวมที่สระอโนดาตนั้น
พื้นสระอโนดาต เป็นแผ่นหินกายสิทธิ์ ชื่อมโนศิลา บริเวณที่เป็นดิน ก็เป็นดินกายสิทธิ์ชื่อหรดาล
น้ำในสระใสสะอาดบริสุทธิ์ ท่าอาบน้ำ มีมากมาย เป็นที่สรงสนานแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย รวมถึงเหล่าผู้วิเศษผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น.
เรื่องสระอโนดาตยังไม่จบ ยกไปให้อ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณธ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บเจ้าของเรื่องและภาพทุกภาพในเน็ต
ขุนเขารอบสระอโนดาต
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- ขุนเขารอบสระอโนดาต -
“สระอโนดาต”มีเขาขึ้นรายรอบ
เป็นคันขอบคุ้มสระอัครฐาน
ห้ายอดกูฏพูดตามความตำนาน
งามตระการตื่นตาติดตรึงใจ
“สุทัสนกูฏ”สุดเลิศล้ำ
เป็นทองคำเรืองรองผุดผ่องใส
ยอดโค้งงุ้มดุจปากกาเห็นแต่ไกล
ปกป้องให้อโนดาตปราศสูรย์จันทร์
“จิตรกูฏ”เขาแก้วพราวแพรวแสง
เรียงตำแหน่งสุทัสสนะนั่น
โอบล้อมสระอโนดาตวิลาสอรัญ
เช่นเดียวกันกับสุทัสสนะทำ
“กาฬกูฏ”จุดเด่นดำนิลหน่วง
เป็นแร่พลวงสัณฐานทั้งสูงต่ำ
เหมือนสุทัสสนะยอดเขานำ
ต่างที่ดำดั่งสีมณีนิล
“คันธมาทนกูฏ”เขาสุดหอม
ไม้หมดพร้อมดอกต้นใบผลสิ้น
หอมตรลบอบอวลรื่นรวยริน
ทั้งดมกลิ่นกินถูกเป็นหยูกยา....
รอบสระอโนดาต มีขุนเขารายรอบอยู่ ๕ ยอดได้แก่ ยอดเขาสุทัสสนะ (สุทัสสนกูฏ), ยอดเขาจิตตะ (จิตรกูฎ ), ยอดเขากาฬะ (กาฬกูฎ), ยอดเขาคันธมาทน์ (คันธมาทนกูฏ), ยอดเขาไกรลาส (ไกรลาสกูฏ)
ยอดเขาสุทัสสนะ เป็นทองคำ มีรูปทรงโค้งตามแนวสระอโนดาต และปลายยอดมีสัณฐานโค้งงุ้มดังปากกาโอบปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์แสงจันทร์ตรง ๆ
ยอดเขาจิตตะ เป็นรัตนะ(แก้ว) รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ
ยอดเขากาฬะ เป็นแร่พลวงมีสีนีล รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ
ยอดเขาคันธมาทน์ รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ ด้านบนเป็นพื้นราบเรียบ อุดมไปด้วยไม้หอมนานาพันธุ์ ทั้งไม้รากหอม แก่นหอม กระพี้หอม เปลือกหอม สะเก็ดหอม รสหอม ใบหอม ดอกหอม ผลหอม ลำต้นหอม ทั้งยังอุดมไปด้วยไม้อันเป็นโอสถนานาประการ ในวันอุโบสถ(วันพระ) ข้างแรม ยอดเขานี้จะเรืองแสงเหมือนถ่านไฟคุ วันอุโบสถข้างขึ้น แสงยิ่งเปล่งรัศมีโชติช่วงกว่าเดิม... ภายในเขาคันธมาทน์ มีถ้ำบนยอดเขาชื่อว่า “ถ้ำนันทมูล” เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ประกอบไปด้วยถ้ำทอง ถ้ำแก้ว และถ้ำเงิน........
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
.......................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
เขาไกรลาสริมสระอโนดาต
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- เขาไกรลาสริมสระอโนดาต -
“ไกรลาสกูฏ”ขาวผ่องประภัสสร
เป็นสิงขรงามปลอดยอดที่ห้า
ร่วมล้อมรอบอโนดาตเต็มอัตรา
แหล่งพญาครุฑอยู่หมู่สุบรรณ
มีวิมานฉิมพลีวิเศษสุด
รังรักครุฑซ่อนชู้คู่หฤหรรษ์
กกกล่อมเห่สิเนหาลาคืนวัน
ด้วยติดพันรสราคะกามคุณ
นาคเทวามาอยู่ดูแลด้วย
เป็นการช่วยน้ำใสมิให้ขุ่น
ธารทุกสายไหลหลากจากต้นทุน
คือทุกขุนเขาใหญ่ในหิมพานต์
หลั่งลงรวมอโนดาตสะอาดใส
แล้วล้นไหลลงสู่ชมพูสถาน
เป็นคงคาสวรรค์น้ำตามตำนาน
ดังนิทานคัมภีร์เทพนิยาย.....
ยอดเขาไกรลาส เป็นภูเขาเงิน รูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ วิมานฉิมพลีอันลือลั่นแห่งพญาครุฑก็อยู่ที่เขาไกรลาส
ยอดเขาทั้ง๕ ตั้งตระหง่านรายล้อมสระอโนดาตไว้ และมีเทวดารวมถึงนาค เป็นผู้ดูแลรักษา ธารน้ำทั้งหลาย จากเขาหิมพานต์ทุกสารทิศ จะไหลมาผ่านยอดเขา ๕ ลูกนี้ ลูกใดลูกหนึ่ง แล้วก็ไหลลงรวมในสระอโนดาต
ที่มาของชื่อสระอโนดาต ก็เพราะ มีเงื้อมผาโค้งงุ้มดังปากกา โอบบังแสงไว้ด้านบน ทำให้แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ไม่สามารถส่องผ่านไปโดนน้ำตรง ๆ ได้ แสงเพียงลอดเข้าด้านข้าง ในแนวเหนือใต้ ตรงระหว่างรอยต่อยอดเขากับยอดเขาเท่านั้น สระนี้จึงได้ชื่อว่า “อโนดาต”...แปลว่า ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อนนั่นเอง....
เต็ม อภินันท์
สถาบ้นกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
ทางระบายน้ำสระอโนดาต
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- ทางระบายน้ำสระอโนดาต -
อโนดาตน้ำเปี่ยมปริ่มขอบสระ
มิล้นทะลักท่วมป่าเสียหาย
ไม่พร่องบกตกตลิ่งเห็นเชิงชาย
ทางระบายน้ำปรับระดับดี
มีปากทางระบายไม่กระจุก
“สีหมุข”ปากน้ำแดนราชสีห์
น้ำไหลหลั่งพรั่งพรูอยู่ตาปี
เป็นวิถีทางน้ำชุ่มฉ่ำเย็น
“หัตถีมุข”ปากน้ำแดนถิ่นช้าง
คือช่องทางระบายน้ำไหลนองเห็น
ช้างพังพลายว่ายควักวักกระเซ็น
ดั่งน้ำเป็นธารสวรรค์บันดาลดล
“อัสสมุข”ปากแม่น้ำแดนม้าอยู่
น้ำพรั่งพรูจากโพรงพ่างสายฝน
“อุสภมุข”ปากน้ำอีกตำบล
ปากโคพ่นน้ำหลากเป็นปากทาง.....
สระอโนดาตนั้นมีน้ำเต็มเปี่ยมปริ่มขอบสระอยู่ตลอดเวลา น้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ไหลหลั่งลงสู่สระมากเท่าใดน้ำก็ไม่ท้นล้นขอบสระ เพราะมีท่าน้ำหรือปากทางอยู่ ๔ ท่า หรือปากทาง ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ เรียกว่า ท่าสิงห์ (สีหมุข) ท่าช้าง (หัตถีมุข) ท่าม้า (อัสสมุข) และท่าวัว (อุสภมุข)
สายน้ำจากสระอโนดาตจะไหลออกจากปากสัตว์มงคลทั้งสี่ทิศ ไหลเวียนขวาทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วไหลออกจากสระเป็นสายน้ำ ผ่านแดนหิมพานต์ เป็นสี่ทิศลงสู่มหานทีสีทันดร น้ำจากสระอโนดาตที่ไหลออกทางทิศใต้ ไหลออกไปพุ่งกระทบภูเขา ทำให้น้ำพุ่งขึ้นเป็นละอองฝอยในอากาศ เรียกว่า อากาศคงคา ตามไตรภูมิกล่าวว่า น้ำพุ่งกระเด็นขึ้นไปถึง ๖๐ โยชน์ แล้วจึงตกไปบนแผ่นดิน กลายเป็นสระโบกขรณี ไหลผ่านระหว่างภูเขา ๕ ลูก เกิดเป็นปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี มหิ และสรภู ที่ไหลหล่อเลี้ยงดินแดนทางทิศใต้ให้อุดมสมบูรณ์.
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
........................................
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
ต้นน้ำปัญจมหานที
Artist : อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
- ต้นน้ำปัญจมหานที -
สายน้ำจากปากทางอโนดาต
หลั่งมิขาดกระแสสายไร้ช่องว่าง
จาก“สีหมุข”ตะวันออกลื่นลำลาง
ไม่คั่งค้างเกาะริมหิมพานต์
จากปากทางตะวันตกเวียนวกขวา
ไหลผ่านป่าเลี้ยวละห้วยละหาน
น้ำปากทางเหนือวนจากต้นธาร
ลดเลี้ยวผ่านป่าสู่สมุทรสุดทะเล
น้ำจากปากอโนดาตราดทางใต้
รุนแรงไหลภูหินกั้นจึงหันเห
ลงใต้ดินโผล่พรั่งประดังประเด
สายน้ำเทกระแทกหินบิ่นทลาย
เป็นแอ่งน้ำ“แก้มลิง”ตลิ่งแกร่ง
แต่ถูกแรงน้ำดันพลันสลาย
กระแสน้ำเหมือนบ้าคลั่งยังมิวาย
ทุ่มแรงสายธารทอดลอดใต้ดิน
ถูกเขาใหญ่กวางกั้นอีกชั้นหนึ่ง
น้ำทะลึ่งโลดทะลักทะลุหิน
ตรงจุดอ่อนห้าจุดผุดพรั่งริน
ไหลลงถิ่นฐานมนุษย์ไม่หยุดยั้ง...
น้ำจากปากทางด้านทิศตะวันออก ไหลเลี้ยวขวาวนสระอโนดาตสามเลี้ยวไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลลงถิ่นอมนุษย์ด้านทิศตะวันออก
ทางด้านทิศตะวันตกเลี้ยวขวาวนสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลลงถิ่นอมนุษย์ทางด้านทิศตะวันตก
ด้านทิศเหนือเลี้ยวขวาวนสระอโนดาตสามเลี้ยว ไม่ข้องแวะกับแม่น้ำอีกสามสาย ไหลลงถิ่นอมนุษย์ทางด้านทิศเหนือ (ที่แม่น้ำทุกสาย ไหลวนรอบสระอโนดาตเหมือนกัน แต่ไม่ข้องแวะกัน เพราะ ไหลลอดอุโมงค์หิน ไหลลอดภูเขา ออกไป)
ด้านทิศใต้ไหลเลี้ยวขวาวนสระอโนดาตสามเลี้ยว แล้วไหลตรงไปทางใต้ประมาณ ๖๐ โยชน์ โผล่ออกมาใต้แผ่นหิน ตรงบริเวณหน้าผา กลายเป็นน้ำตกสูงใหญ่ยิ่ง ความสูงสายน้ำตกประมาณ ๖๐ โยชน์ กระแสน้ำตกอันรุนแรงนั้นตกกระทบแผ่นหินเบื้องล่าง จนหินแตกกระจายออกกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ รองรับสายน้ำตกนั้น แอ่งน้ำนี้มีชื่อเรียกว่า “ติยัคคฬา” เมื่อน้ำมากขึ้น ได้พังทำลายหินอันโอบล้อมอยู่ออกไปได้ทางหนึ่ง เจาะกระแทกหินที่ไม่แข็ง เป็นอุโมงค์ ไหลไปจนถึงส่วนที่เป็นดิน ก็เจาะทะลุดิน เป็นอุโมงค์ และไหลลอดตามอุโมงค์ดินนั้นไปจนถึงภูเขาหินขวางอยู่ (ติรัจฉานบรรพต=ภูเขาขวาง) ภูเขานี้เรียกว่า วิชฌะ เมื่อน้ำกระทบหินเข้าก็ไปต่อไม่ได้โดยง่าย แรงน้ำได้ดันจุดที่อ่อนแอที่สุดออกไปได้ ๕ จุด เกิดเป็นทางแยก ๕ แยก และกลายเป็นต้นน้ำสำคัญแห่งมนุษย์ ๕ สายด้วยกัน คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ ว่ากันว่าแม่น้ำทั้ง ๕ นี้ นอกจากผู้ตาทิพย์แล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่า ของจริงอยู่ที่ไหน ...
เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
Logged
Pages:
[
1
]
« previous
next »
SMF 2.0.4
|
SMF © 2013
,
Simple Machines
| Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.118 seconds with 22 queries.
Loading...