ppsan
|
|
« on: 31 August 2022, 21:04:54 » |
|
ณ น่าน [5] วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพระธาตุแช่แห้ง โดย สายหมอกและก้อนเมฆ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=morkmek&month=16-12-2020&group=19&gblog=251
ณ น่าน ~~~~ วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพระธาตุแช่แห้ง
น่าน 10 - 15 ตุลาคม 2563
16.17 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2563 มีรถแล้ว...น้อง poongie เป็นสารถี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาวัดพระธาตุเขาน้อยกัน
ตะวันตกฝั่งนี้ แต่ไม่ได้อยู่รอจนตะวันตกดินนะคะ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 290 เมตร และสูงกว่าระดับเมืองน่านประมาณ 90 เมตร แม้ว่าจะสูงไม่มาก แต่ด้วยที่ตั้งติดกับเมืองน่าน เลยทำให้เห็นมุมสูงของตัวเมืองน่านได้อย่างใกล้ชิดมากที่สุด จากมุมนี้จะเห็นว่าเมืองน่านตั้งอยู่ในหุบเขาลุ่มแม่น้ำน่าน ที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินในอดีต ในวันที่อากาศแจ่มใสทัศนวิสัยดี บนนี้เราสามารถมองเห็นแนวทิวเขาดอยภูคา ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของจังหวัดน่านได้
พระธาตุเขาน้อย สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง ในปี พ.ศ. 2030 หรือประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว (กรุงศรีอยุธยาตอนต้น) มีอายุใกล้เคียงกับวัดพระธาตุแช่แห้ง สร้างโดยพระมเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน และต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ หรือประมาณช่วงปี พ.ศ. 2449 - 2452 (รัชกาลที่ 5) ได้มีการบูรณะใหม่ ซึ่งพระวิหารก็สร้างขึ้นในช่วงนี้ด้วย แต่ว่าช่างที่มาบูรณะนั้นเป็นชาวพม่าชื่อ “หม่องยิง” เลยทำให้องพระเจดีย์หรือพระวิหารมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาผสมกับพม่า และภายในองค์พระธาตุเจดีย์มีความเชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บริเวณหน้าวัดมีบันไดนาค 303 ขั้น จะจอดรถไว้แล้วไต่บันไดขึ้นมาก็ได้ค่ะ เรามากี่รอบ ก็จอดด้านบนทุกรอบ แฮ่..
บริเวณลานชมวิว ปัจจุบัน ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยพระประธานหันหน้าไปทางเมืองน่าน
วันที่เรามาไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว เลยเดินหมุนไปหมุนมาแถวนี้ล่ะค่ะ
ไม่รอตะวันตกดินแล้วค่ะ ตอนเดินกลับ เห็นแมววัว 2 ตัว
ลงจากวัดพระธาตุเขาน้อย ได้เวลาอาหารเย็นพอดีสินะ ที่นี่ค่ะ "เรือนเจ้านาง"
อยากได้ที่นั่งดี ๆ ติดลำน้ำน่าน ต้องจองนะคะ เราไม่ได้จอง แต่เดี๋ยวเดินลงไปริมน้ำก็ได้
น้ำพริกหนุ่ม + แคปหมู, ต้มยำปลาคัง, ปีกไก่ทอดมะแขว่น
2 คน กินกันเกือบไม่หมด
18.15 น.
ไฟประดับบนราวสะพาน
.....
07.13 น. เช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ได้เวลาเช็คเอาท์แล้ว / น้อง poongie กับพี่เจ้าของที่พัก บ้านไม้เมืองน่านค่ะ
ก่อนไป อ.บ่อเกลือ เรามาแวะพระธาตุแช่แห้งกันก่อนค่ะ
พระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต
ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนา ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย (กระดูกข้อมือข้างซ้าย) มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีหลังคาซ้อนเป็นเชิงชายออกเป็นชั้น ๆ มองดูภายนอกเสมือนเรือสำเภาลำใหญ่ที่นำวิญญาณผ่านวัฏสงสารสู่พระนิพพาน เสาคู่ด้านหน้าตรงทางเข้า มีลวดลายปูนปั้นสกุลช่างเมืองน่าน ที่หาดูที่ไหนไม่ได้แล้ว
ฐานชุกชีในพระวิหารหลวง แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ด้านหน้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย พระนามว่า พระเจ้าก๋าคิง ชั้นที่ 2 มีพระพุทธรูปอยู่ 8 องค์ พระประธานปางสมาธิก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองประทับอยู่บนกลีบบัว นามว่า พระเจ้าอุ่นเมือง องค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยปูนลงรักปิดทองประทับบนกลีบบัวนามว่าพระเจ้าล้านทอง องค์ที่ 3 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับบนฐานลายดอกพุดตาน องค์ที่ 4 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานกระต่ายชมจันทร์ องค์ที่ 5 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์ที่ 6 เป็นพระพุทธรูปไม้ประทับยืน องค์ที่ 7 และ 8 เป็นพระพุทธรูปปางเทวดาประทับยืน โดยนำทองที่ได้จากการบูรณะองค์พระธาตุแช่แห้งในปี พ.ศ. 2536 มาหล่อขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2548 และในปีเดียวกันนี้ก็ได้ตัดไม้มะค่าโมงภายในวัด 1 ต้น มาแกะสลักพระพุทธรูปปางเทวดา 2 องค์ แทนพระรูปองค์เดิมที่ถูกโจรกรรมตัดข้อพระบาทไปในปี พ.ศ. 2524 (ฐานและพระบาทที่คนร้ายไม่ได้นำไปถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน) และพระพุทธรูปไม้ทั้ง 2 องค์นี้ได้นำมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวงแห่งนี้แทนองค์เดิมที่ถูกโจรกรรมไป
ด้านหลังเป็นวิหารพระเจ้าทันใจ
พระเจ้าทันใจ
ด้านข้าง และด้านหลังพระวิหาร เป็นนาคสีทอง
พญานาคราช ถือเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่พระพุทธศาสนานับมาแต่โบราณกาล ถือเป็นเทพองค์เดียวที่มีบุญบารมี ได้บวชในพระพุทธศาสนา และได้ปกปักรักษาคุ้มครองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พ้นจากพญามารทั้งหลาย ที่มาขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธองค์ไม่ให้บรรลุพระสัมมาโพธิญาณ
อัฏฐพญานาคราช หมายถึง พญานาคราช 8 ตัว แบ่งเป็น 4 คู่ คู่ที่ 1, 2, 3 ใช้ส่วนหางเกี่ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วง คู่ละ 3 บ่วง ส่วนคู่ที่ 4 เกี่ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วง 4 บ่วง รวมแล้ว 4 ชั้น
พญานาคราชที่เกี่ยวกวัดรัดกันทั้ง 8 ตัวนั้น เมื่อเพ่งพินิจให้ดี จะปรากฏเป็นรูปเจดีย์ และรูปองค์พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ และมีช่อดอกบัวตูม 7 ดอก โผล่พุ่งขึ้นมาด้านข้าง ซึ่งมีนัยที่แฝงด้วยพุทธปรัชญา คือ พญานาคราช 8 ตัว แทนพระธรรมคัมภีร์ อริยมรรคแปด เป็นเส้นทาง 8 เส้นทางที่พระตถาคตทรงใช้สอนพุทธศาสนิกชนให้เดินสู่ความหลุดพ้น
ส่วนหางพญานาคราชคู่ที่ 1, 2, 3 เกี่ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วงสามบ่วง สามชั้นนั้นแทนองค์สาม ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไตรลักษณ์ (ศีล สมาธิ ปัญญา) แต่คู่ที่ 4 อยู่ด้านบนสุดนั้นเกี่ยวกวัดรัดกันเป็นสี่บ่วง แทนอริยสัจสี่ คือ ความจริงที่พระอริยเจ้าตรัสไว้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จำนวนชั้นทั้งสี่ชั้น หมายถึง สุญญตา
ดอกบัว 7 ดอก แทนอภิธรรม 7 คัมภีร์ หรือหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ โพชฌงค์ 7 ดังนั้น อัฏฐพญานาคราชที่เกี่ยวกวัดรัดกันที่ปรากฏดังในรูปนี้ ก็หมายถึง พระธรรมคัมภีร์ 84,000 พระธรรมขันธ์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
หน้าต่าง
พระระเบียง
วิวตอนเดินไปเข้าห้องน้ำ
วิหารพระพุทธไสยาสน์
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี
.......... ความเดิม
ณ น่าน ~~~~ วัดภูมินทร์ ณ น่าน ~~~~ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, โฮงเจ้าฟองคำ ณ น่าน ~~~~ วัดอรัญญาวาส, วัดมิ่งเมือง ณ น่าน ~~~~ วัดศรีพันต้น, วัดหัวข่วง
Create Date : 16 ธันวาคม 2563 Last Update : 16 ธันวาคม 2563 16:49:40 น. Counter : 1399 Pageviews.
.......... ขอขอบคุณ เรื่องและภาพจาก... https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=morkmek&month=16-12-2020&group=19&gblog=251 ณ น่าน ~~~~ วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพระธาตุแช่แห้ง
|