Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 07:51:26

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  ผนังเก่าเล่าเรื่อง (Moderator: ผนังเก่าเล่าเรื่อง)  |  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช [2]
0 Members and 2 Guests are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช [2]  (Read 344 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« on: 27 August 2022, 14:57:12 »

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช [2]



"...ชีวิตเป็นตำราเล่มใหญ่ที่สุด หนาที่สุด มีชีวิตชีวาที่สุด น่าประทับใจที่สุด ดูคล้ายจะอ่านง่าย แต่จริงๆ แล้ว กลับเป็นตำราที่เข้าใจยากที่สุด "

...


ขออนุโมทนาสาธุกับคณะผู้จัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนพื้นที่ วัดบุญญราศรี ต.ตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี วันนี้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อีกหนึ่งจุดของเส้นทางสายประวัติศาสตร์ชายทะเลตะวันออก

...



“หากจะฆ่าเสือ ต้องบุกถ้ำเสือ” ตีค่ายโพธิ์สามต้น กู้เอกราชกรุงศรีอยุธยา

ในครานั้น นายกองพม่า “สุกี้ ” (หรือนายทองสุก เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เรียกว่า สุกี้ เป็นชื่อตำแหน่ง มาจากภาษามอญว่า สุคยี แปลว่า แม่ทัพใหญ่) เป็นผู้ควบคุมดูแล “ค่ายโพธิ์สามต้น” ซึ่งนับเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของทหารพม่าควบคุมกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากพระนครเพียง ๖ กิโลเมตร (ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณบ้านโพธิ์สามต้น ต.โพธิ์สามต้น อ. บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา)



...

#ขอสดุดีพระยาพิชัยดาบหักและศิษย์น้องรักท่าน หมื่นหาญณรงค์


พระยาพิชัยไล่ยำถลำหน้า      บนดาบพร้าคราบเลือดเริ่มเหือดแห้ง
ยังเสือกส่งวิญญาณทุกการแทง      พม่าแหยงใจปอดจึงถอดใจ

พอรุกไล่เร่งรี่ขยี้หนัก      ก็เสียหลักเหยียบพื้นลื่นไถล
เอาดาบยันพื้นกลับอย่างฉับไว      ดาบบรรลัยหักสะบั้นในทันตา

ขณะปลายดาบหักก็หลักล้ม      พม่าถมทุ่มกายจะหมายฆ่า
หมื่นหาญโดดบังพี่ถูกบรีฑา      ฟันพม่าสวนฟาดจนขาดกลาง

พลันปืนไฟดังเปรี้ยงกลบเสียงดาบ   เริ่มปวดปลาบสั่นรั่วจนทั่วร่าง
กระสุนแล่นผ่านเกราะส่วนเปราะบาง   ทะลุข้างอกซ้ายถึงชายโครง

ร่างหมื่นหาญณรงค์ทรุดลงนั่ง      เอาดาบยั้งดินไว้หายใจโหวง
มือยังจับดาบมั่นไม่สั่นโคลง      ชาติเสือโคร่งไว้ลายอย่างชายชาญ

............................................
พระยาพิชัยใจหายน้องตายจาก      น้ำตาพรากเจ็บปวดแหละรวดร้าว
“หลับตาเถิดน้องรักเพื่อพักยาว      นึกถึงข้าวก้นบาตรเคยกวาดกิน

เคยอดมื้อกินมื้ออิ่มหรือหิว      เคยไส้กิ่วตกอับขาดทรัพย์สิน
เคยฝึกมวยฝึกดาบปราบไพริน      เราต่างดิ้นรนกันจนวันนี้

เข้ามาทั้งกองพลเถิดคนถ่อย      น้องจงคอยแลดูดาบผู้พี่
ดาบจะหักก็จะสับพวกอัปรีย์      ให้เป็นผีเซ่นมานวิญญาณน้อง”

...


"...พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นาย จึงได้ยกกองทัพเรือ (ร่วม 100 ลำ โดยมีคนจีนและราษฎรที่เมืองจันทบูรช่วยกับสร้างและซ่อม) ออกจากเมืองจันทบูร ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดธนบุรีคืนจากพม่าได้ นายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้น ถูกประหารชีวิต ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้ และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครอง ใช้เวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังเสียกรุง "

...


ความปรารถนาในพระโพธิญาณของพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่ปรากฏให้พวกเราได้เห็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้ปี ๒๓๑๙ ก็ได้ทรงโปรดให้มีงานบุญใหม่พระราชพิธีบังสุกุลพระอัฐิของพระมารดา พระเจ้าตากฯ ก็ทรงอธิษฐานว่า
“เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะ พระปิติทั้ง๕ จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า และอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้น อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระบรมภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า”

...

" ...ไผ่ลำเดียว หนาบาง ยังต่างปล้อง
พี่กับน้อง ต่างใจ ไม่ฉงน
ชั่วดีบ้าง แตกต่าง กันระคน
มีร้อยคน อย่างน้อย ก็ร้อยใจ "


...

" ออกศึก อย่ากลัวตาย "


...


#บางกอกใหญ่ วัดนาคกลางวรวิหาร

ตั้งอยู่ที่ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร โดยสันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่สมัยในพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น วัดแห่งนี้ถือว่าตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน เพราะห่างจากพระราชวังเพียงแค่ 500 เมตรเท่านั้น วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญในสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก

วัดที่มีความสำคัญในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวัง วัดแห่งนี้จึงได้มีความผูกพันกับพระองค์ท่าน เพราะพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และยังทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา โดยมีเรื่องเล่าไว้ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่ในพระวิหารได้นิมิตรว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยากมาประทับที่วัดนาคกลางวรวิหารแห่งนี้ โดยในนิมิตให้ไปอัญเชิญพระบรมรูปของพระองค์ พระภิกษุรูปนั้นพร้อมทั้งญาติโยมจึงไปหาตามนิมิตร และก็ได้พบพระบรมรูปที่ปั้นด้วยดินเหนียวตั้งอยู่ระหว่างวัดเครือวัลย์ กับกองทัพเรือ จึงได้มีการอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดนาคกลาง โดยสร้างศาลขึ้นแต่ปัจจุบันไม่มีศาลนั้นแล้ว เหลือแต่พระบรมรูปที่ทางวัดได้ซ่อมแซมบูรณะเก็บไว้เป็นอย่างดี

จากนั้นทางวัดจึงได้สร้าง ศาลาสุธรรมภาวนา (ศาลาพระเจ้าตาก) ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของพระอุโบสถ ภายในศาลาสุธรรมภาวนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิมิตฯ หรือหลวงพ่อทอง และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระอิริยาบถต่าง ๆ จำนวน 9 พระองค์ครึ่งอาทิ ปางนั่งเมือง ปางทรงม้า (แบบวงเวียนใหญ่) ปางทรงม้า (แบบจันทบุรี) ปางยืน (ออกรบ) ปางยืน (ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์) ปางอุบาสก (นั่งวิปัสสนา) ปางอุบาสก (เดินจงกลม) ปางผนวช (นั่งวิปัสสนา) และปางผนวช (ยืนทรงบาตร) และพระบรมรูปครึ่งองค์ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้าของศาลาพร้อมทั้งทหารเสือคู่พระทัย เพื่อเป็นการสืบสานตำนานพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระวีระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพคืนสู่แผ่นดินไทย

...

คราวศึกอะแซหวุ่นกี้หัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2318

#ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด
" ...คราวเสียสละสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ยอมตัดสินพระทัยไม่อยู่ดูอาการสมเด็จพระชนนีทรงพระประชวรพระอาการน่าวิตก ทั้งๆ ที่ " เมียร้อยคน หรือจะสู้พระแม่ได้ "

แต่ทรงเป็นห่วงราชการสงครามมากกว่าพระราชชนนี ทรงห่วงใยว่า " ถ้ามิได้เสด็จไปบัญชาการ ก็คงจะเอาชนะพม่ามิได้ " ในคราวรบพม่าที่บางแก้ว จังหวัดราชบุรี เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2317
...แล้วทรงปรารภด้วยความน้อยพระทัยว่า " ใช้พวกลูกๆ ไปทำสงครามครั้งใด ถ้าพ่อไม่เข้ากองทัพไปด้วย ไม่เห็นรบชนะศึกสักราย "

...

#แม่สอด
ณ ลานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรวจคนเข้าเมือง
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก


...



...


#ค่ายโพธิ์สามต้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
#จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการกู้ชาติ
ค่ายโพธิ์สามต้นปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของ ต.พุทเลา และ ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นรอยต่อของสองตำบล ริมแม่น้ำโพธิ์สามต้นที่ไหลมารวมกับแม่น้ำลพบุรีที่บริเวณหัวรอซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ.2309 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ส่งแม่ทัพพม่า 2 คน คือ เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธาเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกๆ ด้าน กองทัพของเนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาตั้ง “ค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น” ส่วนกองทัพมังมหานรธาตั้งค่ายที่บ้านสีกุก อยู่ทางด้านตะวันตก
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 แล้ว " ค่ายโพธิ์สามต้น " ถือว่าเป็นกองบัญชาการใหญ่ของพม่าที่ควบคุมดูแลกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเป็นสถานที่รวบรวมเชลยศึกคนไทยและทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อส่งไปพม่า โดยมีสุกี้พระนายกอง เป็นแม่ทัพอยู่ที่ ค่ายโพธิ์สามต้น

...


#เมื่อยึดค่ายโพธิ์สามต้น ประกาศชัยชนะ 6 พฤศจิกายน 2310
เมื่อเจ้าตากถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระประสงค์ที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีดังก่อน จึงขึ้นทรงช้าง พระที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตร ในบริเวณราชวังและประพาสตามท้องที่ในพระนคร เห็นประสาทราชมณเฑียรตำหนักใหญ่น้อย ทั้งอาวาสวิหารและบ้านเรือนชาวพระนครถูกข้าศึก เผาทำลายเสียเป็นอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นมีน้อย ก็สังเวชสลดพระทัย

ในวันนั้นเสด็จเข้าไปประทับแรมที่พระที่นั่งทรงชัย อันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน เจ้าตาก ทรงพระสุบิน ว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่ไม่ให้อยู่ ครั้งรุ่งเช้าจึงเล่าพระสุบินให้ข้าราชการทั้งปวงฟังแล้วดำรัสว่า “… เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะรกร้างเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้ เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด … ”


...

"...ชีวิตบางครั้งก็เหมือนดอกไม้ จะบานงามสุดเมื่อยามจะร่วงโรย แต่ความงามดอกไม้บางอย่าง ยังนำไปบูชาองค์พระประติมาได้
เหมือนชีวิตบางท่านถึงจะร่วงโรยไป แต่ความดีของท่านยังย้ำเตือนชนรุ่นหลังให้ระลึกถึงเสมอ "


...


หมื่นหาญณรงค์ นักรบคู่ใจ พระยาพิชัยดาบหัก

"....พระยาพิชัยจับดาบสองมืออันดาดด้ายแน่น ในขณะที่คุมทหารเมืองพิชัยออกไล่แทงพม่าอยู่อย่างชุลมุนนั้น เผอิญเท้าของพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเซล้ม จึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้ม ดาบจึงหักไปเล่มหนึ่ง พม่าเห็นพระยาพิชัยดาบหักเช่นนั้น ก็ถลันหน้าปราดเข้ามาจ้วงฟัน ทันใดนั้นหมื่นหาญณรงค์ (บุญเกิด) นายทหารคู่ชีวิตของพระยาพิชัยก็ทะลึ่งเข้ารับดาบพม่าผู้นั้น มิทันที่พม่าจะทำร้ายพระยาพิชัยได้ พม่าผู้นั้นก็เสียท่าถูกหมื่นหาญณรงค์ฟันตาย ก็พอดีมีกระสุนปืนของพม่ายิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์ ตรงอกทะลุหลัง ล้มฟุบลงขาดใจตายในขณะนั้นทันที

พระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญณรงค์ถูกปืนข้าศึกตายดังนั้น ก็ตกใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์ เพื่อนยากยิ่งนัก จึงบันดาลโทสะเข้าไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง โดยไม่คิดแก่ชีวิตในที่สุดด้วยความพร้อมใจกันของทหารเมืองพิชัย และทหารเมืองพิษณุโลกที่ยกเข้ามาช่วย ก็ช่วยกันเข่นฆ่าตะลุมบอนฆ่าฟันพม่าในระยะเวลาไม่นานนัก พม่าก็ต้านทานไม่ไหว จึงแตกฉานซ่านเซ็นถอยทัพกลับไป จากการปะทะกับพม่าในครั้งนี้ พระยาพิชัยได้ต่อสู้อย่างทรหดแกล้วกล้ายิ่งนัก ด้วยดาบดีเล่มหนึ่งกับดาบหักอีกเล่มหนึ่ง โดยมิคิดแก่ชีวิตด้วยวีรกรรมในครั้งนั้นพระยาพิชัยจึงได้สมญาว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” เป็นที่เลื่องลือชาปรากฏนามนี้มาถึงปัจจุบันนี้ "

...

ตามรอยเส้นทางสายประวัติศาสตร์ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถานที่สำคัญต่างๆ ผ่าน QR Code บนมือถือของท่านได้แล้ววันนี้
เรานำมาจัดรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อผู้สนใจเดินทางไปสักการะครับ


...

๒ มหาราช ผู้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา #ครั้งที่ ๑ และ #ครั้งที่ ๒

#สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงประกาศอิสรภาพ ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๗
เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓
ครองราชย์สมบัติ ๑๔ ปี ๒๗๑ วัน
เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘
สิริพระชนมายุ ๕๐ พรรษา

#สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงประกาศอิสรภาพครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐
เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๑๐
ครองราชสมบัติ ๑๔ ปี ๙๙ วัน
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕
สิริพระชนมายุ ๔๘ พรรษา



...


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวิเคราะห์ไว้ โดยสรุปใจความสำคัญว่า
“ เจ้าตากสิน นั้นทรงมีความคิดเห็นในเรื่องการบ้านการเมืองอย่างลึกซึ้ง ด้วยขณะนั้นมีผู้ตั้งตัวขึ้นเป็น ใหญ่หลายก๊กด้วยกัน ทรงคิดว่าถ้าจะครองความเป็นใหญ่ได้ทั้งอณาเขตสยามแล้ว จำต้องทำลายอำนาจของพม่าที่มีอยู่ลงให้ได้เสียก่อน จากนั้นจะต้องทำให้บรรดาพวกก๊กต่างๆ ยอมมาอยู่ในอำนาจของตนให้ได้ต่อไป อันข้อคิดประการนี้เห็นทีทุกๆ ก๊กก็คงจะคิดเหมือนกัน สำคัญที่ว่าใครจะเริ่มตัดสินใจให้ได้สำเร็จก่อน และคงจะมีแต่เจ้าตากสินเท่านั้นที่ตัดสินใจต้องรีบกระทำก่อน เพราะถ้ารอให้ก๊กอื่นทำสำเร็จก่อนแล้ว ก็เห็นจะต้องตกอยู่ในอำนาจของเขา จึงได้ตระเตรียมกองทัพให้พร้อม เพื่อที่จะยกไปชิงเอากรุงศรีอยุธยาไว้ให้ได้ก่อนผู้อื่น

อีกทั้ง เจ้าตากสิน เองนั้น ก็มีข้อได้เปรียบก๊กอื่นๆ อยู่หลายประการ คือ ประการหนึ่ง ท่านมีพระชนมายุที่ อยู่ในวัยฉกรรจ์กว่าหัวหน้าก๊กอื่นๆ ทั้งหมด ด้วยพระชนมายุ ๓๓ พรรษา อันเป็นวัยที่กำลังว่องไวทั้งกำลังกายและกำลังปัญญา "

...


ณ ด่านเมืองปราจีนบุรี พระยาตากให้หยุดพักรี้พล ส่วนกองพระเชียงเงินนั้นล้าหลังอยู่ตามมาไม่ทัน พระยาตาก (สิน) จึงขึ้นมา
กลับมากับหลวงพรหมเสนา เที่ยวตามหากองพระเชียงเงินก็ไม่ได้พบ จึงให้หยุดทัพคอยท่าอยู่ที่นั่น ๓ วัน

ถึง ณ วันจันทร์ขึ้น ๑๓ ค่ำเดือนยี่ – จึงสั่งให้เดินทัพเข้าในป่า หยุดพักที่หนองน้ำชายดงศรีมหาโพธิ์ เมืองปราจีนบุรี ต่อเพลาบ่าย กองพระเชียงเงินจึงยกตามมาถึง พระยาตาก (สิน) โกรธว่า พระเชียงเงินแกล้งเชือนแช มิได้เจ็บร้อนด้วย จะคิดเอาใจออกห่าง จึงให้ลงโทษโบยหลัง ๓๐ ที แล้วจะให้ประหารชีวิต นายทหารทั้งปวงได้พากันขอชีวิตไว้

...


#พระเจ้าตากเลือกตีก๊กพิษณุโลกเป็นก๊กแรก หลังขับไล่ข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยา

#ก๊กเจ้าพิษณุโลก เดิมชื่อ เรือง เป็นเจ้าเมืองอยู่ก่อน เรียกว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก เมื่อตั้งตัวขึ้น เป็นเจ้า เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ปกครองเมือง เป็นถิ่นฐานอยู่แล้วนั้น

การตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่จึงไม่ต้องขวนขวายแต่อย่างใด เพราะถึงแม้จะไม่ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า แต่อาณาเขตที่ปกครองรับผิดชอบก็อยู่ในอำนาจอยู่แล้ว เป็นผู้ที่เด็ดขาดในการปกครอง และมีฝีมือในการศึกที่เข้มแข็งผู้หนึ่ง เนื่องจากเพราะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีผู้คนนิยมนับถือมากทั้งในกรุงและหัวเมือง เมื่อเสียกรุง และพม่ากลับไปแล้ว จึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า ที่เมืองพิษณุโลก และมีข้าราชการจาก กรุงศรีอยุธยาที่รอดพ้นจากการเป็นเชลยศึก ไปเข้าด้วยเป็นจำนวนมากมีอาณาเขตอยู่ภาคเหนือ ครอบคลุมเมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองพิจิตร และเมืองกำแพงเพชร ลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ กับแควปากน้ำโพ

...


พระยาตาก เป็นผู้ที่เลื่อมใสและ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งถึงแม้จะมีภาระในการปกครองบ้านเมือง ก็มิได้ลืมทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา โดยจะเห็นได้จากการไปปราบก๊ก พระยานครศรีธรรมราช เวลากลับได้สั่งให้นำ พระไตรปิฎก มาคัดลอกไว้ แล้วส่งต้นฉบับคืน

ส่วน ณ บางกะจะ จ.จันทบุรี อันเป็นบริเวณที่พระยาตาก ซ่องสุมรี้พลต่อเรือรบ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานป้อมค่ายต่างๆ บริเวณดังกล่าว เป็นที่ตั้งวัดสำคัญ เรียกกันว่า วัดพลับ กล่าวกันว่า เป็นวัดที่พระยาตากได้สร้างพระเจดีย์และ บรรจุพระเครื่องชนิดหนึ่งไว้เป็นพุทธานุสรณ์ ในการที่รบได้ชัยชนะพระเครื่องดังกล่าวนิยมเรียกว่า "พระยอดธงพระเจ้าตาก"

พระยอดธงพระเจ้าตาก เป็นพระหล่อแบบโบราณ พุทธลักษณะองค์พระเป็น แบบลอยองค์ประทับนั่งไม่มีอาสนะหรือฐาน มีทั้งแบบปางมารวิชัยและปางสมาธิ ที่ใต้องค์พระจะปลายกฏเดือยลักษณะเป็นแท่งกลมยื่นออกมาพอประมาณ รายละเอียดขององค์พระไม่ค่อยจะมีความประณีตงดงามนัก พระเนตร (ตา) พระนาสิก (จมูก) ไม่ค่อยติดชัดเจนพอเห็นเป็นเค้าเท่านั้น ส่วนพระโอษฐ์จะเป็นเหมือนรอยเส้นเว้าลึกลงไปในเนื้อ เท่าที่พบมี ๒ ขนาดด้วยกันคือ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก ในด้านเนื้อหาของ พระยอดธงพระเจ้าตาก
#ภาพประกอบจากTnews

...

ศาลพระเจ้าตาก วัดโยธานิมิตร (วัดโบสถ์) อำเภอเมือง จ.ตราด

“ พูดไม่ฟัง ก็ต้องเฆี่ยน    สอนไม่ฟัง ก็ต้องตี
เมื่อมันพยศ ก็ฆ่าทิ้ง      เลี้ยงไปมีแต่เสียข้าวสุก “

“…พระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมายังภูมิลำเนา แสดงความเมตตาอารีให้ปรากฏว่ามิได้ถือโทษผู้ที่ได้เป็นศัตรูต่อสู้มาแต่ก่อน ครั้นเห็นว่าเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิมแล้วจึงยกกองทัพลงไปยัง เมืองตราด ทรงเดินทัพ 7 วัน 7 คืน พวกกรมการและราษฎรก็พากันเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วทั้งเมืองขณะนั้นมีสำเภาจีนมาจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากให้ไปเรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนแล้วกลับยิงเอาข้าหลวง

พระเจ้าตากทรงทราบก็ลงเรือที่นั่งคุมเรือรบไปล้อมสำเภาไว้ แล้วบอกให้พวกจีนมาอ่อนน้อมโดยดี พวกจีนก็หาฟังไม่ กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง รบกันอยู่ครึ่งวัน พระเจ้าตากก็ตีเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สิ่งของเป็นกำลังกองทัพเป็นอันมาก พระเจ้าตากจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้วก็กลับขึ้นมาตั้งทัพอยู่ ณ เมืองจันทบุรี “

...



บุญเดียวพระลาภเลี้ยง ประชากร   เป็นปิตรุมารดร ทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอน สั่งโลก      เป็นศักดิ์เป็นศุภเจ้า โอบให้เป็นคุณ

เป็นที่พำนักถ้วน นรชน      เป็นที่กรุณาคน ยากไร้
เป็นที่ส่งสัตว์ดล เมืองโมกข์      เป็นทรัพย์ปัจจุบันให้ ทั่วหน้าเนืองเขษม

#โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
#ผู้แต่ง นายสวน มหาดเล็ก

...


#กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี พระเจ้ากรุงธนบุรีวีรกษัตริย์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ทรงพระราชสมภพ เมื่อพุทธศักราช ๒๒๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นเจริญวัยได้รับราชการทหารจนได้รับพระราชทานยศเป็นพระยา ผู้ปกครองเมืองตาก และเมืองกำแพงเพชรตามลำดับ ขณะใกล้เสียกรุงได้รวบรวมกำลังไพร่พลหัวเมืองตะวันออกตั้งเป็น ก๊กพระยาตาก โดยมีปณิธานว่า

“...จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎร ซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์...”

#ที่มาของข้อมูล : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สูจิบัตรประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในงานรำลึก ๒๕๐ ปีแห่งการสถาปนากรุงธนบุรี
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ถึง วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

...


กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรหรือที่ชาวต่างชาตินิยมเรียกว่า บางกอก มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง มีกำแพงและป้อมปราการเมืองสองฟาก ภายในกำแพงฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระราชวัง วัดและบ้านเรือนขุนนางข้าราชการ วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำพระราชวัง ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นที่อยู่ของชาวจีนและญวนที่ถูกกวาดต้อนมา นอกกำแพงทั้งสองด้านเป็นที่นาเรียกว่า ทะเลตม

ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในการเสริมสร้างให้อาณาจักรสยามกลับมารุ่งเรืองและมีแสนยานุภาพอีกครั้ง ที่สำคัญคือการทำศึกสงคราม ทั้งการปราบปรามชุมนุมต่างๆ ตามหัวเมืองภายในอาณาจักรให้สงบราบคาบ และการสงครามกับประเทศข้างเคียงเพื่อปกป้องประเทศและขยายพระราชอาณาเขต ควบคู่ไปกับการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

ขณะเดียวกันก็ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและศิลปกรรม เช่น การบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม การคัดลอกพระไตรปิฎก การจัดทำสมุดภาพไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน ทำให้อาณาจักรสยามที่มีกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง เกรียงไกรไม่น้อยหน้าชาติอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มาของข้อมูล : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สูจิบัตรประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในงานรำลึก ๒๕๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ถึง วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

...



…ถึงแม้ได้รับการเลื่อนยศเป็นพระยาวชิรปราการ ทว่าพระยาตากยังเป็นพระยาตากที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของราษฎร ภาพแห่งความประทับใจยังตราตรึง กล่าวคือ

ก่อนพระยาตากจะออกเดินทางจากเมืองตาก มีลูกเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าผู้แก่ และครอบครัวราษฎร พาลูกจูงหลานร้องสั่งลาพระยาตากด้วยน้ำตานอง หน้า เมื่อรู้ว่าเจ้านายที่พวกเขารักบูชาต้องจากไปไกล ขอให้พ่อเจ้า จงไปดีมีชัย เสร็จศึกแล้วพ่อ เจ้าจงกลับสู่เมืองตาก เป็นที่พึ่งแก่พวกข้าเจ้าต่อไป

พระยาตากลงจากหลังม้าทักทาย และอำลาประชาชนชาวเมืองตาก ซึ่งชุมนุมเนืองแน่นสองข้างทาง มีทหารหาญเมืองตากเดินตามมาด้วย พวก เขาเหล่านั้น ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะยกติดตามพระยาตากไปสู่กรุงศรีอยุธยา พระยาตากประกาศก้องกลางกลุ่มชนที่เนืองแน่น รอยยิ้มและเสียงไชโยโห่ร้องดังขึ้นเรื่อย ๆ ดูราวกับว่าหัวใจทุกดวงของชาวตาก รวมเป็นจุดเดียว คือ พระยาตาก

พระยาตากได้กล่าวแก่ผู้คนทั้งหลายด้วยความตื้นตันใจว่า เราขอจำลาท่านทั้งหลาย ลาไปพร้อมกับนักรบกล้าชาวเมืองตากอีกจำนวนมาก เราจะไปร่วมรบเคียงบ่า เคียงไหล่กับนักรบกรุงศรีอยุธยา และนักรบกล้าอื่น ๆ จะกลับมา พร้อมกับชัยชนะ ขออย่าได้เป็นห่วงเลย สิ้นเสียงสั่งลา ชาวเมืองตากต่างเปล่งเสียงไชโยโห่ร้องพร้อม ๆ ติดต่อกันถึงสามครั้ง สามครา ภิกษุสงฆ์สวดชยัน โต คละเคล้าเสียงฆ้องกลองประโคมดังสะท้อน สะท้านไปไกล เป็นการอวยชัยให้แม่ทัพเมืองตาก และนักรบกล้าประสบโชคชัยในเมืองกรุงอันไกลโพ้น แม่ทัพ กล้าเมืองตากในชุดออกศึกยืนสง่าอยู่เบื้องหน้านักรบทั้งหลาย และท่ามกลางราษฎร นั่นเป็นภาพสุดท้ายที่ชาวเมืองตากได้เห็น และกักเก็บความประทับ ใจ จากรุ่นหนึ่ง สู่รุ่นหนึ่งเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยสายใยแห่งความผูกพันที่เกินกว่าพรรณา จึงไม่แปลกที่ทุกคนยังคงเรียกชื่อ พระยาตาก ตาม ตำแหน่งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

#ขอพระบารมีคุ้มครองลูกหลานคนไทยทุกท่านครับ
#อนุสาวรียืวัดท่าช้างจังหวัดตาก

...


โอม สิโนราชาเทวะ ชะยะตุภะวัง สัพพะศัตรู วินาศสันติ
"ไม่มีงานไหนต่ำ ถ้าทำด้วยใจสูง"
ขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุขความเจริญ


...



ด้วยพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในด้านการรบ ทรงกอบกู้ประเทศชาติกลับคืนจากพม่าภายในเวลาอันสั้นเพียง ๗ เดือน รวมทั้งการสร้างและฟื้นฟูบ้านเมืองให้สู่ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงโดยเร็ว ประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขตลอด ๑๕ ปีแห่งการดำรงสิริราชสมบัติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ต่อแผ่นดิน จึงทรงเป็นที่เคารพรักอย่างยิ่งของพสกนิกรไทยเสมอมา พุทธศักราช ๒๔๗๘ รัฐบาลอนุมัติให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในคุณความดีและวีรกรรมอันหาญกล้า ควบคุมการปั้นหล่อโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี สำเร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๗ แล้วประดิษฐานไว้กลางวงเวียนใหญ่ฝั่งธนบุรี พุทธศักราช ๒๕๒๔ รัฐบาลเทิดพระเกียรติถวายพระสมัญญาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมกำหนดให้วันที่ ๒๘ ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันสถาปนากรุงธนบุรี เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีรัฐพิธีกราบบังคมพระบรมรูปประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์และสถานที่อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอีกหลายแห่งทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

อนึ่ง กองทัพบกไทยถือเอาวันที่ ๔ มกราคม ของทุกปี เป็นวันทหารม้า เพื่อรำลึกถึงวันที่ พระยาตาก พระยศในขณะนั้นทรงม้ากับทหารอีกสี่ม้าตีพม่าแตกพ่าย ณ บ้านพรานนกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙

ที่มาของข้อมูล : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สูจิบัตรประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในงานรำลึก ๒๕๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ถึง วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร






« Last Edit: 27 August 2022, 15:19:20 by ppsan » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.048 seconds with 20 queries.