ppsan
|
|
« on: 10 August 2022, 14:51:52 » |
|
หม่อมราโชทัย ถูกทูตฝรั่งเศสถีบตกบันได!!
เรื่องเก่า เล่าสนุก
หม่อมราโชทัยผู้เคยร่วมโต๊ะน้ำชากับควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ! เสียชีวิตเพราะทูตฝรั่งเศสถีบตกบันได!! เผยแพร่: 29 ก.ค. 2565 10:04 ปรับปรุง: 29 ก.ค. 2565 10:04 โดย: โรม บุนนาค
หม่อมราโชทัย มีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์กระต่าย เกิดในปลายรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บิดาได้นำไปถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชและมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เปิดการเรียนภาษาอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดบวร โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้สอน มีคนหนุ่มหัวก้าวหน้าอยู่ในตำแหน่งสำคัญในราชการขณะนั้นหลายคนมาเรียน หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ร่วมเรียนด้วยคนหนึ่ง จนสามรถเป็นตัวแทนเชิญกระสรับสั่งของเจ้าฟ้ามงกุฎไปเจรจากับชาวต่างประเทศได้อย่างดี
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราชวง์กระต่ายได้รับพระราชทานอิสริยยศเป็น “หม่อมราโชทัย” และในปี ๒๔๐๐ ที่ทรงส่งคณะราชทูตไทยอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ มีพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรพเพชญ์ภักดี (เพ็ญ เพ็ญกุล) เป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) เป็นตรีทูต หม่อมราโชทัยเป็นล่ามของคณะทูต ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวังวินด์เซอร์ มีปรินซ์อัลเบิร์ต พระสวามีของควีน พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ตามเสด็จ ทรงไต่ถามถึงพระเจ้าอยู่หัวและทุกข์สุขการเดินทางของคณะทูต
จากนั้นควีนได้เสด็จไปอีกห้องหนึ่ง รับสั่งให้ราชทูตทั้ง ๓ และหม่อมราโชทัยไปเฝ้า โปรดให้นั่งโต๊ะเดียวกัน พระราชทานน้ำชากาแฟ พูดจาถามไถ่กันตามธรรมเนียม รับสั่งถามหม่อมราโชทัยว่าท่านพูดอังกฤษได้หรือ หม่อมราโชทัยทูลว่าได้เล็กน้อย รับสั่งถามอีกว่าท่านเรียนในเมืองไทยหรือที่อื่น หม่อมราโชทัยทูลว่าเรียนในเมืองไทย
จากการไปอังกฤษในครั้งนั้นกลับมาหม่อมราโชทัยได้เขียน “นิราสลอนดอน” และหมอบรัชเลย์ มิชชันนารีอเมริกันได้ซื้อลิขสิทธิ์นำไปพิมพ์จำหน่าย ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่า เป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในประเทศไทย จากนั้นอีก ๒ ปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมราโชทัยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศคนแรกของไทย
ต่อมามีเรื่องที่บาทหลวงฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดญวนสามเสน เกิดประทะคารมกับลูกวัดของตัวเอง แต่เผอิญลูกวัดผู้นั้นเป็นข้าราชการคือพระยาวิเศษซึ่งไปเข้ารีตถือคริสต์ บาทหลวงจึงไปฟ้องมองซิเออร์กาเบรียล ออบาเรต์ ทูตฝรั่งเศส ว่าข้าราชการไทยดูถูกคนฝรั่งเศสและศาสนาของฝรั่งเศส ม.ออบาเรต์จึงมีหนังสือกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ลงโทษพระยาวิเศษ แต่พระเจ้าอยู่หัวให้นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องในศาลต่างประเทศ เพราะชาวต่างประเทศมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ต้องขึ้นศาลไทยอยู่แล้ว
เมื่อเรื่องนี้ไปถึงการพิจารณาของศาลต่างประเทศ ทั้งโจทก์และจำเลยก็ประทะคารมกันอีก ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายพูดโกหก บาทหลวงก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟวิ่งออกจากศาลไปฟ้องทูตของตนอีก ม.ออบาเรต์เลยเป็นฟืนเป็นไฟไปด้วย ทำหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งว่า ไม่มีความจำเป็นจะให้ศาลพิจารณาเรื่องนี้แล้ว เพราะพระยาวิเศษได้ดูถูกบาทหลวงฝรั่งเศสต่อหน้าศาล ซึ่งเป็นการดูถูกเกียรติศักดิ์ของชาติฝรั่งเศส ขอให้ถอดพระยาวิเศษออกจากตำแหน่งและลงโทษอย่างสาสม พร้อมทั้งยังบังอาจเสนอให้ตั้งมองซิเออร์ลามาชคนฝรั่งเศสทำหน้าที่แทน เขียนเสร็จก็ยื่นหนังสือให้ ม.ลามาชถือหนังสือไปเข้าเฝ้าด้วยตัวเองในกลางดึกของคืนนั้น
ม.ลามาชรับราชการอยู่แล้ว โดยมีตำแหน่งอยู่ในกองทหารรักษาพระองค์ จึงสามารถเข้าวังหลวงได้ในยามวิกาล แต่ก่อนเข้า ม.ลามาชได้แวะไปดื่มเหล้าย้อมใจก่อน ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวเพิ่งหายประชวร กำลังสดับพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา ทรงเห็นว่า ม.ลามาชอยู่ในอาการเมาจึงให้กลับไปก่อน รุ่งเช้าค่อยมาใหม่ แต่ ม.ลามาชไม่ยอมกลับและขึ้นเสียงแสดงกิริยากักขละหยาบช้า จึงรับสั่งให้ทหารหิ้วเอาตัวออกไป ทำให้ ม.ลามาชอับอายขายหน้ามาก วิ่งกลับไฟฟ้อง ม.ออบาเรต์อีก ทูตฝรั่งเศสก็ทำหนังสือยื่นถวายอีก มีใจความว่าเขาจะกลับไปฝรั่งเศสเพื่อกราบทูลให้พระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนให้ทรงทราบ และระหว่างที่เขาไม่อยู่นี้จะมอบให้นายพลเรือผู้คุมกำลังอยู่ที่ไซ่ง่อนมาเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของคนฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงมอบให้หม่อมราโชทัยเป็นผู้ไปชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศาลต่อ ม.ออบาเรต์ที่สถานทูตฝรั่งเศส เมื่อไปถึงพอหม่อมราโชทัยแจ้งความประสงค์ว่าจะมาพูดเรื่องอะไร ม.ออบาเรต์ก็ไล่ให้ออกไปพ้นสถานทูต หม่อมราโชทัยพยายามจะอธิบาย ทูตผู้กักขละก็กระชากเครื่องยศของหม่อมราโชทัยทิ้งขว้าง และจิกหัวเหวี่ยงหม่อมราโชทัยตกบันไดสถานทูตลงมา มีข่าวว่าท่านทูตผู้มีเกียรติใช้เท้าถีบด้วย
หม่อมราโชทัยต้องบอบช้ำนอนป่วยอยู่หลายวัน จนกระทั่งถึงอนิจกรรมในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๑๐ ขณะมีอายุได้ ๔๗ ปี
เรื่องนี้ทางการไทยไม่สามารถทำอะไรทูตฝรั่งเศสได้ แต่หมอบรัดเลย์ไม่ปล่อย นำไปตีแผ่ใน “บางกอกรีคอเดอร์” ประณามการกระทำอันต่ำช้าของ ม.ออบาเรต์ว่า เสียแรงเป็นถึงทูตของสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนผู้ทรงพระปรีชาเลิศล้ำของทวีปยุโรป หากทรงทราบเรื่องนี้ถึงพระเนตรพระกรรณก็ต้องทรงกริ้วเป็นแน่ ความจริงกรณีพิพาทของเจ้าอาวาสกับลูกวัดของตัวเอง เป็นอำนาจของบาทหลวงที่จะลงโทษอยู่แล้ว หาใช่กิจของทูตที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยไม่ ทั้งการทูลขอให้ถอดข้าราชการนั้น อาศัยข้อใดในสนธิสัญญา ทั้งการกระทำเยี่ยงสัตว์ป่าต่อหม่อมราโชทัยผู้เคยอยู่ในคณะราชทูตไปจำเริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักควีนวิกตอเรีย เป็นที่เคารพนับถือของชนทุกชั้นทั้งไทยเทศ เป็นผู้ดำรงความเป็นธรรมและซื่อสัตย์จนได้รับยกย่องและเห็นชอบจากสถานกงสุลต่างๆให้เป็นอธิบดีศาลต่างประเทศ และยังเป็นเชื้อพระวงศ์อีกด้วย พฤติกรรมเช่นนี้เป็นความประพฤติซึ่งมีแต่คนฝรั่งเศสเท่านั้นที่สามารถแสดงออกมาได้
ม.ออบาเรต์กลับไปฝรั่งเศสปีกว่าก็กลับมาอีก โดยเป็นทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ มาถวายรัชกาลที่ ๔ พร้อมพระแสงกระบี่จารึกอักษรว่า “ของพระเจ้าจักรพรรดิฝรั่งเศส ถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม” และพระแสงกระบี่อันย่อมมีอักษรจารึก “ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศส ถวายพระยุพราชกุมารสยาม” ถวายเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ด้วย แต่ก็ไม่ทิ้งนิสัยเดิม
ในปี ๒๔๑๐ นั้นมีการสะสางปัญหาเขตแดนสยามกับอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน ม.ออบาเรต์มีความขุ่นเคืองพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม ซึ่งเป็นกรรมการปักปันเขตแดนด้วย และขัดขวางการเอาเปรียบของฝรั่งเศสตลอด จึงทูลให้พระเจ้าอยู่หัวถอดพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากคณะกรรมการชุดนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงโปรด ม.ออบาเรต์ก็ไม่ละความพยายาม วันหนึ่งทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับจากพระอาราม จึงไปยืนเกร่ดู ม.ลามาชฝึกทหารดักจะเข้าเฝ้า พระจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามว่ามีธุระอันใดจึงมายืนอยู่แถวนี้ เลยเข้าทาง ม.ออบาเรต์ยื่นข้อเรียกร้องให้ถอดพระยาศรีสุริยวงศ์อีก ทั้งยังบังอาจทูลขู่ว่า ถ้าไม่โปรดฯให้เป็นไปตามที่เขาประสงค์แล้ว เกรงว่าสัมพันธไมตรีอันดีของสยามกับฝรั่งเศสอาจขาดสะบั้น สงครามจะเกิดขึ้นเป็นแน่ พระบาทสเด็จพระจอมเกล้าฯมิได้ตรัสตอบแต่อย่างใด เสด็จเข้าพระราชวังไป
หมอบรัดเลย์เจ้าเก่าทราบเรื่องนี้จึงไม่ปล่อยอีก ตีแผ่ในบางกอกรีคอเดอร์ทันที พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า
“เมื่อพิจารณาการกระทำผิดวิธีการทูตของ ม.ออบาเรต์ครั้งนี้ เราจะไม่รู้สึกประหลาดใจเลยว่า ม.ออบาเรต์จะไม่พยายามอย่างที่สุดที่จะผันแปรเรื่องนี้ให้เป็นว่า ในหลวงทรงหยามเกียรติของพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนเข้าให้แล้ว ซึ่งจะเป็นสาเหตุอ้างเพื่อทำสงครามกับประเทศสยาม เพื่อฝรั่งเศสจะได้ส่งกองทัพมาถอดถอนท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีให้ออกไปพ้นทาง และจะเป็นเหตุอ้างเพื่อยึดครองประเทศสนามต่อไป...การที่ ม.ออบาเรต์ขอต่อในหลวงที่หน้าพระบรมมหาราชวังนั้น เปรียบได้ชัดๆ เหมือนกับการขอตัดแขนขวาของรัฐบาลออก มิหนำซ้ำยังเป็นการขอให้ควักลูกตาขวาและอุดหูทั้งสองข้างของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรวมกันอีกด้วย”
การตีแผ่ของบางกอกรีคอเดอร์ครั้งนี้ ม.ออบาเรต์จึงไม่กล้าขัดขวางคณะกรรมการปักปันเขตแดนอีกต่อไป แต่หันมาฟ้องหมอบรัดเลย์ในข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลต่างประเทศ
คดีนี้เป็นเรื่องครึกโครมแห่งยุค ทั้งฝรั่งและไทยต่างเอาใจช่วยหมอบรัดเลย์อย่างพร้อมเพรียง กงสุลอังกฤษรับเป็นทนายให้จำเลย อีกทั้งผู้พิพากษาในคดีนี้ก็คือมิสเตอร์ เจ.เอ็ม.ฮูด กงสุลอเมริกันคนสัญชาติเดียวกับหมอบรัดเลย์ แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดฯให้เรื่องนี้ต่อความยาวสร้างความโกรธแค้นให้ทูตฝรั่งเศสอีก แค่นี้ก็คงจะเพียงพอแล้ว จึงทรงห้ามข้าราชการที่รู้เห็นเหตุการณ์ไปเป็นพยานในศาล ผลจึงปรากฏว่าศาลได้ตัดสินให้หมอบรัดเลย์เป็นฝ่ายแพ้คดี เพราะหาพยานมายืนยันเรื่องที่เขียนไม่ได้เลย ถูกปรับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ ม.ออบาเรย์เป็นเงิน ๔๐๐ เหรียญอเมริกัน ซึ่งชาวต่างประเทศและชาวไทยต่างเรี่ยไรกันออกค่าปรับให้แทนจำเลย และเมื่อเรื่องราวสงบแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานเงิน ๒,๐๐๐ เหรียญให้หมอบรัดเลย์ เป็นค่ายาและค่ารักษาข้าราชการฝ่ายใน แต่กระนั้นหมอบรัดเลย์ก็เกิดอาการน้อยใจ หยุดออกบางกอกรีคอเดอร์ไปเลย โดยฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๐ เป็นฉบับสุดท้าย
หมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๔๑๕ อายุได้ ๖๙ ปี นับเป็นชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์ให้เมืองไทยอย่างใหญ่หลวง และยึดเอาเมืองไทยเป็นเรือนตาย ลูกสาวคนเล็กที่เกิดในเมืองไทยไม่มีโอกาสได้เห็นอเมริกา
..... ภาพและเรื่องจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000072170
|