ppsan
|
|
« on: 19 May 2022, 21:15:15 » |
|
นวนิยายเรื่อง หนึ่งในร้อย (๓๑-๓๕ จบ) - ดอกไม้สด (หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์)
๓๑ คืนนั้นเมื่อ ๑ นาฬิกาแห่งวันใหม่พ้นไปแล้ว
ช้อยผู้ซึ่งได้หลับไปแล้ว ๓ ชั่วโมงกว่า กลับตื่นขึ้น ตาสว่างและความคิดก็แจ่มใสจนบังคับตัวให้หลับอีกไม่ได้โดยเร็ว จึงนอนพลิกกลับไปกลับมาอยู่ในมุ้ง
ปล่อยอารมณ์ให้เลื่อนลอยอยู่ในความเงียบ เลื่อนลอยอยู่เฉยไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งหนึ่งสิ่งใด มิช้าช้อยก็ได้ยินเสียงหายใจเป็นระยะเสมอมาจากห้องที่ติดกับห้องของหล่อน แสดงให้รู้ว่านายร้อยตรีชัดกำลังหลับสบาย แต่ในห้องถัดจากห้องชัดไปอีก มีแสงไฟฟ้าจับเพดานสว่างจ้า เสียงฝีเท้าคนเดินเบาๆ กลับไปกลับมาอยู่ในห้องนี้ สลับกับเสียงกุกกักซึ่งฟังได้ว่าเสียงขาเก้าอี้ครูดพื้นกระดาน
“กี่ทุ่มแล้วพี่ใหญ่ไม่รู้จักหลับจักนอน” ช้อยรำพึง “เป็นอย่างนี้ทุกคืนไม่รู้เอาเรี่ยวเอาแรงที่ไหนมา”
เสียงฝีเท้าดังขึ้นอีก แล้วเสียงกุกกักอีก กำลังนึกว่าพี่ชายกำลังทำงานสิ่งใดจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยนัก ก็พอดีได้ยินเสียงครืดยาว ! แล้วเสียงดัง ! เหมือนของหนักตกลงบนพื้นห้อง
เสียงชนิดนี้บังเกิดขึ้นท่ามกลางความสงัด ทำให้ช้อยสะดุ้งทั้งตัว เป็นแน่เสียงที่ได้ยินมาจากห้องพระอรรถคดี ฯ แต่ว่าเป็นเสียงสิ่งใดกระทบพื้นห้องฯ นิ่งฟังต่อไปก็ไม่ได้ยินอะไรอีกเงียบจริงเงียบผิดปกติ มองดูเพดานก็ยังสว่างอยู่อย่างเดิม นึกเอะใจช้อยขมีขมันออกจากห้อง ย่องไปถอดกลอนประตูอย่างระมัดระวัง ออกจากห้องของตัวไปยังห้องพี่ชาย
“พี่ใหญ่คะ พี่ใหญ่” ช้อยเรียกพลางเคาะประตูพลาง
ไม่มีวี่แววอย่างหนึ่งอย่างใดที่แสดงว่ามีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในห้อง ช้อยขนลุก เรียกซ้ำดังขึ้นกว่าเดิม
“พี่ใหญ่ ! พี่ใหญ่ !”
หนหนึ่ง หนสอง หนสาม ไม่ได้ผลแน่แล้ว ช้อยก็รู้สึกเย็นวาบในอก “พี่ใหญ่เป็นอะไรไปเสียแล้ว” หล่อนนึก มองหาแสงสว่างทางช่องข้างฝา เจ้ากรรม ! ฝาด้านนี้เผอิญเรียบสนิท อึกอักมิรู้ที่จะทำอย่างไรต่อไป ความเย็นแผ่สร้านไปทั่วตัว ในที่สุดจึงถอยมาที่ห้องชัด เคาะประตูพลางเรียกชื่อน้องเกือบเต็มเสียง
“เปิดประตูเร็ว” หล่อนบอกทันทีที่ชัดขานรับ และเมื่อได้กระชากบานประตูออกไปพร้อมกับที่ได้ยินเสียงกลอนลั่นดังแก๊ก “ปีนฝาดูพี่ใหญ่ที เป็นอะไรก็ไม่รู้เสียงโครมครามแล้วก็เงียบหายไป เร็ว ๆ เข้า”
ชัดไม่พักทวนถามให้เสียเวลา โหนตัวทีหนึ่งขึ้นไปอยู่บนตู้เสื้อผ้า ทีที่ ๒ หน้าอกล้ำเกินฝาห้องตั้งศอก
ทันใดนั้นเขาก็ร้องว่า
“ตายจริง อะไรกัน !”
“อะไร ?” ช้อยถามเสียงสั่น
“ไปทางโน้นเร็ว ผมจะไปเปิดประตู” ชัดตอบแล้วก็โดดแผล๊วข้ามฝาไป
เมื่อชัดเปิดประตูห้องวิชัยแล้ว ช้อยจึงเห็นเจ้าของห้องนอนตะแคงกลิ้งอยู่ระหว่างขาโต๊ะกับขาเก้าอี้โดยมิต้องนัดแนะกัน ๒ พี่น้องช่วยกันพลิกตัววิชัย เห็นตาของเขาหลับสนิท ริมฝีปากหุบเรียบร้อยเหมือนในยามปกติ ชัดเอียงหูแนบกับอกวิชัย ช้อยจับข้อมือตรวจชีพจร แล้วชัดเงยหน้าขึ้นพูดว่า
“แอมโมเนียของเรามีไหม ไม่มีเอาโอดิ โคโลญ”
เขาจับแขนพี่ชายโยกขึ้นโยกลง เพื่อผายปอด ในขณะที่ช้อยใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำโอดิโคโลญรออยู่ที่จมูกและลูบไล้ตามหน้า แลดูวิชัยเหมือนคนนอนหลับ แต่เหตุไฉนจึงหลับลึกถึงปานนี้ ชัดหยุดโยกแขนฟังหัวใจเสียทีหนึ่ง แล้วสั่งใหม่
“บรั่นดีเร็ว ในห้องผมมี”
“เอาเธอขึ้นบนเตียงเสียก่อนเถอะ จะได้ค่อยสบายหน่อย”
“เอา” ชัดรับ แล้วช้อนตัวพี่ชายทางเบื้องศีรษะ ช้อยยกทางเท้า พาร่างอันปราศจากสติขึ้นวางบนเตียง ชัดปลดเข็มขัดจากเอวคนเจ็บ แล้วตั้งต้นผายปอดใหม่ ส่วนช้อยวิ่งไปหยิบขวดบรั่นดี
ใช้ช้อนงัดปาก กรอกบรั่นดีเข้าไปได้สัก ๒ ช้อน วิชัยยังไม่กระดุกกระดิก ผู้พยาบาลทั้ง ๒ เฝ้าดูด้วยความร้อนใจ ในที่สุดชัดก็เอ่ยขึ้นว่า
“ถ้าจะต้องไปหาหมอ เป็นอะไรก็ไม่รู้ เกินความสามารถของเราเสียแล้ว ช่วยกันนึกซี ไปตามใครดี ใครอยู่ใกล้บ้านเราที่สุด”
ช้อยนึกชื่อนายแพทย์ออก ๓ นาย ซึ่งในเวลาตื่นเต้นเช่นนี้ นายไหนจะสำนักในที่ใกล้บ้านกว่าคนอื่นหล่อนบอกไม่ถูก ชัดกำลังถามถึงชื่อถนนและช้อยก็ยังตอบไม่ได้หมด วิชัยก็ลืมตา มิหนำซ้ำไม่ลืมเปล่า ผงกตัวขึ้นทั้งที่นอนหงายอยู่เสียด้วย แต่ทรงตัวไว้ไม่ได้ก็กลับทิ้งศีรษะลงบนหมอนและครางเบา ๆ
ช้อยกับชัดถลันเข้าไปใกล้ ตกใจเมื่อเห็นพี่รู้สึกตัวในอาการเช่นนั้นเกือบเท่าตกใจเมื่อเห็นเขานอนสงบอยู่ ชัดคว้ามือวิชัยมาบีบคลำอย่างสงสัย ช้อยบีบมือตัวเองทั้ง ๒ คนยังไม่นึกจะพูด หรือมิฉะนั้นก็พูดไม่ออก วิชัยถามด้วยเสียงแผ่ว ๆ แต่กังวานแจ่มใส
“อะไรกัน ?”
คราวนี้ชัดหัวเราะก๊าก “ร้ายกาจ !” เขาว่า “ไอ้เรานึกว่าตายเสียแล้ว พอฟื้นขึ้นมาก็ราวกับคนไม่ได้เป็นอะไร รู้สึกอย่างไรบ้างครับ ?”
“ปวดหัว” วิชัยตอบ “เข้าใจว่าเขียนหนังสืออยู่นี่นา แหมเหม็นเหล้าที่ไหน ?”
“ที่ตัวพี่ใหญ่นั้นแหละ” ชัดตอบหัวเราะร่วน “เขียนหนังสือซีลงไปนอนวัดพื้นอยู่ใต้โต๊ะหลับสบายดีหรือ ?”
สีหน้าวิชัยเต็มไปด้วยความสงสัย ช้อยจึงเล่าเรื่องที่เป็นมาแล้วทั้งหมด แล้วหล่อนถามว่า
“ก่อนที่จะหมดสติพี่ใหญ่รู้สึกอย่างไรคะ ?”
เขานิ่งก่อนที่จะตอบ
“ปวดหัวมันริ้ว ๆ ขึ้นมาตามท้ายทอย แล้วรู้สึกว่าท้องโบ๋คลื่นไส้ พี่เข้าใจว่าหิวก็นึกว่าหิว เขียนหนังสือเพลินจนลืมหิว เพราะมันเป็นอย่างนั้นมาทุกคืน เขียน ๆ ไปจนง่วงแล้วคืนอนหลับ คืนวันนี้ทำไมมันทำพิษเอามากนักไม่รู้”
“ก็ไอ้โรคเก่าของพี่ใหญ่นั้นแหละ” ชัดกล่าว “โตแล้วไม่รู้จักระวังตัว หิวก็ควรกิน หรือมิฉะนั้นก็นอน กลับนั่งทำงาน ขืนยังงี้บ่อย ๆ ละตายเร็วละ”
วิชัยเหลือบตามองดูเพดานมุ้ง ถ้อยคำที่ชัดพูดนั้นถ้าให้วิชัยได้ฟังก่อนหน้านี้แม้เพียงคืนเดียว จะรู้สึกดังใครเอาไฟฟ้ามาจี้จุดใจ เพราะมันเป็นคำที่คนผู้เคยแต่ประสงค์ใดก็ได้ ก็แน่ล่ะที่เขาจะนอนหลับได้ดังใจทุกเมื่อ ส่วนวิชัยคืนหนึ่งกี่ครั้งที่เขาเข้ามุ้งแล้วต้องกลับออกนอกมุ้ง ตัวเขาเองก็จวนเจียนจะบอกไม่ถูก และเขาก็ไม่ปรารถนาที่จะปริปากบอกใคร จำเพาะเมื่อคืนนี้เป็นคืนที่เขาทุรนทุรายน้อยที่สุดแต่สมองยังฟุ้งสร้าน เนื่องจากใช้ความคิดมากเกินไปจึงไม่ยอมสงบ ถึงกระนั้นเมื่อน้องชายกล่าวคำตำหนิ วิชัยก็ไม่สะดุ้งสะเทือนเพราะความเฉียวฉุน หากนึกเพียงประหลาดใจที่สมองของตนไฉนจึงเป็นอิสระและดื้อดึง จนต้องใช้งานเป็นยาระงับความฟุ้งสร้าน จึงเกิดเหตุกาหลขึ้นดังนี้
ช้อยอาสาไปชงโอวัลตินให้พี่ชาย วิชัยเปลี่ยนเสื้อชั้นในใหม่เพราะเสื้อตัวที่สวมอยู่เหม็นกลิ่นบรั่นดีออกฟุ้ง เสร็จแล้วก็ลงนอนตามเดิม มีความปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอตลอดถึงปลายผม แข็งใจพูดเล่นกับชัดเพื่อฆ่าเวลาจนกว่าจะได้อาหาร
พอดื่มโอวัลตินหมดถ้วย วิชัยกล่าวขอบใจน้องทั้ง ๒ แล้วก็ไล่ให้ไปนอน ช้อยยังปัดยุงในมุ้ง ชัดก็ยังรออยู่ จนเสร็จกิจนั้นแล้วกำชับซ้ำว่า “แล้วอย่าลุกขึ้นเขียนหนังสืออีกล่ะ” ซึ่งพระอรรถคดี ฯ พยักหน้าพร้อมกับหัวเราะ ชัดกับช้อยออกจากห้องไป
ชัดหลับได้ทันทีที่ศีรษะถึงหมอน แต่ช้อยยังเงี่ยหูฟังเสียงต่าง ๆ จากห้องวิชัยอีกนาน จนหล่อนสังเกตเห็นว่าภายในห้องนั้นมืดและเงียบสงัดดีแล้ว จึงปล่อยตัวให้หลับไป
รุ่งเช้าอาทิตย์ยังอ่อนแสง ช้อยตื่นพร้อมกับหนูนิดผู้ซึ่งมีปกติไม่ตื่นสายกว่าเด็กเล็ก ๆ ทั้งหลาย พอเปิดหน้าต่างข้างเตียงก็เห็นวิชัยแต่งตัวเรียบร้อยเดินอยู่ในระหว่างต้นไม้แล้ว ประหลาดใจที่เขาไม่รู้จักพักตัวโดยการนอนให้มากชั่วโมงสักหน่อย หล่อนจึงทักลงไปว่า
“อะไรตื่นแล้ว นอนไม่ทันกี่ชั่วโมงเลย”
เขาเงยหน้าขึ้นยิ้มแทนคำตอบ ช้อยจึงถามอีก
“เช้านี้รู้สึกเป็นอย่างไรบ้างคะ ?”
“ก็คล้าย ๆ กับเมื่อคืนแต่ใจไม่หวิว” เป็นคำตอบเรื่อย ๆ
“หาอะไรรับประทานเสียเถอะค่ะ” น้องสาวบอก “ไปสั่งเขาเสียเดี๋ยวนี้ แล้วไม่ต้องรอรับประทานพร้อมคนอื่นหรอก”
วิชัยเดินห่างออกไป ช้อยคาดว่าเขาจะไปสั่งเอาอาหารที่ครัว แต่ความจริงนั้นเขาเดินเลยออกจากบ้านไปทางประตูเล็ก
วิชัยไม่มีความรู้สึกอยากจะใส่สิ่งหนึ่งสิ่งใดลงท้องจนนิดเดียว ตรงกันข้าม ความรู้สึกในท้องบอกอาการอยากจะคืนสิ่งที่มีอยู่แล้วออกให้หมด แล้วศีรษะของเขาก็มีอาการดังจะแยกแยะออกในบัดนี้ ด้วยความมานะจะต่อสู้พยาธิด้วยกำลังใจ จึงตั้งหน้าสูดอากาศบริสุทธิ์และบังคับความคิดให้คิดถึงสิ่งเพลิดเพลิน แต่เดินต่อไปไม่ได้เท่าไร ความเหนื่อยอ่อนสมทบความปวดศีรษะซึ่งทวีขึ้น ในที่สุดวิชัยต้องย้อนกลับมาทางเก่าพร้อมกับบอกแก่ตนเองว่า
“เราจะต้องล้มเจ็บ จะขืนสู้ไปไม่ไหวแล้ว แปลกจริงเมื่อร้อนใจยิ่งกว่าไฟเผา เรามีกำลังต่อสู้ได้ ครั้นใจดีขึ้นตัวกลับอ่อนลง แต่ก็ดีหรอก จะได้มีน้ำใจอดทน ไม่ออดแอดเป็นที่รำคาญแก่คนอื่น”
กว่าจะถึงประตูบ้าน เขารู้สึกเหนื่อยแทบขาดใจ เมื่อถึงแล้วจึงเลือกที่ใต้ต้นไม้ได้แห่งหนึ่ง ทรุดตัวลงนั่งหายใจรวย ๆ อยู่
สายหน่อยวิชัยแข็งใจบริโภคอาหารได้สักหนึ่งในสี่ของที่เคยบริโภคทุกวัน แต่พอลุกจากโต๊ะพ้นประตูห้อง วิชัยก็เซไปปะทะลูกกรงเรียกได้กระโถนใบหนึ่ง แล้วก็คืนอาหารออกจนสิ้น
คุณแม่ น้องสาว น้องชาย วิ่งเข้ามาห้อมล้อมให้น้ำให้ยาแล้วประคองตัวพาไปนอน ช้อยบ่นว่าเพราะเพลียอยู่แล้วปล่อยให้ท้องว่างนานจึงเป็นลม คุณนายชื่นบ่นว่า เพราะเป็นลมตั้งแต่เมื่อคืน เช้านี้ยังออกแรง ชัดไม่บ่นอะไรหมด ถามแต่ว่าจะให้เรียกนายแพทย์คนไหน
วิชัยส่ายหน้าและโบกมืออยู่บนเตียง “อะไรเป็นลมก็เรียกหมอ ขายหน้าขายตา บ่ายนี้กลับจากศาล....”
ไม่มีใครยอมให้เขาพูดหมดประโยค คุณนายขึ้นเสียง ช้อยค้อน ชัดขมวดคิ้ว แล้วทั้ง ๓ คนก็ชิงกันพูดคนละหลาย ๑๐ คำ และในที่สุดก็ได้ความแต่เพียงว่า วิชัยต้องลาพักราชการ และชัดจะต้องเป็นผู้ไปเรียกนายแพทย์คนหนึ่ง
“จะเรียกใคร ?” ชัดถามอีก
“หมอพลายแน่ะ” คุณนายชื่นบอก “แกเก่งทางลม”
ชัดทำหน้าอย่างหนึ่งซึ่งทำให้พี่ชายเกือบต้องยิ้ม ช้อยเสนอนามแพทย์ที่เคยรักษานายสมาน แม่ลูกยังถกเถียงกันด้วยเรื่องสมรรถภาพของนายแพทย์ ในที่สุดผู้เป็นคนไข้พูดขึ้นว่า
“ถ้าจะบังคับให้เรียกหมอจนได้ละก็เอาหลวงเทพ ฯ ดีกว่าคุ้นเคยกันด้วยแล้วก็ไปให้เขาตรวจมาเมื่อ ๒ - ๓ วันนี้เอง”
ชัดรับคำแล้วไปแต่งตัว ด้วยถึงเวลาที่เขาจะต้องไปทำงาน
ราว ๑๐ นาฬิกาเศษ หลวงเทพเสนารักษ์จึงมาถึง เวลานั้นวิชัยมีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น คือหลับตาและบ่นอู้อี้ไม่ได้ศัพท์ นายแพทย์จะให้เขาอมปรอทเขาก็ปัดมือส่ายหน้าหนีและพึมพำ ครั้นสอดปรอทเข้าไปในปากได้วิชัยก็ถ่มทิ้ง ผลที่สุดจึงได้แต่ระดับความร้อนที่ภายนอกร่างกาย เมื่อได้ตรวจอาการคนไข้โดยถี่ถ้วนแล้ว หลวงเทพเสนารักษ์จึงตั้งยาและแจ้งให้เจ้าของไข้ทราบว่า โรคของวิชัยเกิดจากเส้นประสาทหัวใจและกระเพาะอาหาร ต้องการการระวังรักษามิให้ได้รับความตกใจหรือได้ยินได้ฟังเรื่องที่จะทำให้ตื่นเต้น กับอาหารที่บริโภคต้องเป็นสิ่งที่ย่อยง่าย
วันนั้นทั้งวันอาการคนเจ็บมิได้เปลี่ยนไปจากเมื่อตอนเช้า ความร้อนสูงและไม่ได้สติสมปฤดี บางเวลานัยน์ตาเขาหลับ แต่ปากพูดเรื่อยเจื้อยโดยไม่มีเนื้อถ้อยกระทงความ และเมื่อใครบอกให้ทำสิ่งใด เป็นต้นว่าให้รับประทานยาหรือรับประทานอาหารเขาก็ทำตาม บางเวลาเขาลืมตาโพลง แต่ครั้นผู้ใดทำเข้าไปปฏิบัติหรือพูดด้วย วิชัยก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แม้แต่ตาก็ไม่กระพริบเสียด้วยซ้ำ
อาการหลับในของวิชัยทำให้คุณนายชื่นตกใจมากกว่าอาการอื่นทั้งหมด ยิ่งได้รับทราบจากสมุหฐานของโรคว่ามีเส้นประสาทเป็นเหตุ ความรู้ของคุณนายในเรื่องโรคต่าง ๆ นั้นมีอยู่เพียงจับโน่นผสมนี่ขาด ๆ เกิน ๆ จึงเกิดความวิตกเลยไปว่า ถึงหายเจ็บแล้วลูกจะกลายเป็นบ้า อาศัยเหตุนี้เองทำให้คุณนายชื่นมิได้พักผ่อน ที่จะเพิ่มความยุ่งใจให้ช้อยด้วยการพูดพร่ำซักโน่นถามนั่นตินี่ หรือมิฉะนั้นก็เดินไปเดินมา เข้าห้องนั้นออกห้องนี้ขึ้น ๆ ลง ๆ และทำงานที่ให้เป็นไปเพื่อความยุ่งยากโดยไม่เป็นประโยชน์แก่การพยาบาลแม้แต่น้อย คนใช้มีอยู่แทนที่จะละให้ทำงานประจำ หรือใช้ให้ทำงานพิเศษที่จำเป็น ท่านใช้ให้วิ่งตามลูกเขยลูกสาวเป็นจ้าละหวั่น แล้วตัวท่านเองก็พูดไปเต้นไป ร้องไห้ไป ไม่มียุติ ดูเหมือนหนูนิดจะเป็นใจด้วยคุณนาย ทำความยุ่งยากที่เป็นอยู่แล้วให้หนักขึ้น วันนี้แม่หนูโยเยตลอดวัน อะไรไม่ถูกใจเพียงนิดเดียวก็ร้องไห้จ้า แล้วยังมีอาการรบจะหาลุง ผู้ใดใคร่จะชี้แจงว่าหาไม่ได้เพราะลุงเจ็บ แม่หนูก็ไม่ยอมสงบ เครื่องเล่นต่าง ๆ ผู้ใหญ่หามาล่อใจแม่หนูก็เพลินชั่วครู่ชั่วยาม ครั้นแล้วก็ตั้งตนโยเยอีก
ตกเย็นลูกสาวพาลูกเขยมาให้คุณนายได้ทั้งคู่ เว้นแต่นางศักดิ์รณชิตผู้มีสามีเป็นคนถือความอิสระเหนือธรรมดา ทั้งมีนิสัยชอบทำตัวให้ขวางแก่ผู้อื่น จนเมื่อช่วงได้บอกแล้วว่าคุณแม่ให้ตามเพราะพี่ใหญ่เจ็บหนัก ก็ดูเขาไม่สะดุ้งสะเทือน ทำให้ช่วงน้อยใจถึงเกือบจะเกิดเป็นปากเสียงกันขึ้น
ความจริงนั้นหลวงศักดิ์ ฯ ได้พบหลวงเทพเสนารักษ์แล้วแต่กลางวัน ได้ฟังข่าวเจ็บของวิชัยจากนายแพทย์โดยละเอียดลออที่สุด แต่เขามิได้ชี้แจงแก่ภรรยาตามความจริงนั้น เพราะด้วยอุปนิสัยชอบ “ขวาง” ดังกล่าวแล้ว
เมื่อลูกเขยลูกสาวมาถึง คุณนายเข้าใจว่าตัวเองกำลังพยาบาลคนไข้โดยการย่องเข้าไปใกล้เตียงแตะต้องเนื้อตัวลูก เรียกชื่อ แล้วถามว่าจำแม่ได้ไหม ครั้นไม่ได้คำตอบก็ถอยกลับออกมา มีหน้ายู่ยี่ด้วยความโทมนัส อีกสักครู่ก็ย่องกลับเข้าไปอีก ดังนี้ท่านจึงสั่งนายบ๋อยผู้ไม่ยอมนั่งห่างเตียงนายให้เชิญผู้มาเยี่ยมเข้ามาในห้องคนเจ็บทั้งหมด ครั้นแล้วคุณนายก็นั่งลง บรรยายความวิตกให้เขาเหล่านั้นฟัง และเก็บเอาคำเพ้อของวิชัยเท่าที่จับความได้ขึ้นสาธยายซ้ำแล้วซ้ำอีก พลางเช็ดน้ำตาขัดจังหวะไปพลาง
คุณนายกำลังแสดงวิธีที่ท่านพยาบาลคนไข้ให้ลูกเขยลูกสาวดูเป็นคำรบที่ ๓ ชัดนำหลวงเทพเสนารักษ์เข้ามาในห้อง นายแพทย์ทหารบกชะงักเมื่อเห็นมีคนอยู่ในห้องคนไข้รวมทั้งสิ้นถึง ๑๑ คนรวมทั้งตัวเขาเอง และบางคนมีสีหน้าเหมือนมองเห็นความตายอยู่ในที่ใกล้ เมื่อได้ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาทีถามอาการ ตรวจอาการและตรวจยาเสร็จแล้ว นายแพทย์ก็พยักเรียกชัดเข้ามาใกล้และพูดเบา ๆ ว่า
“ผมไม่อยากให้มีคนอยู่ในห้องคนไข้เกินกว่าจำเป็น คนพยาบาลคนหนึ่งคอยเฝ้า ผู้ช่วยอีกคนหนึ่งเป็นอย่างมากพอแล้ว”
“นั่นพี่น้องทั้งนั้นเขามาเยี่ยมชั่วครู่ยาม แล้วก็จะไป” ชัดตอบเป็นเชิงแก้
“ถ้าอยู่โรงพยาบาล ไข้อย่างนี้เขาห้ามเยี่ยม เพราะคนไข้ต้องการความสงบอย่างที่สุด ถูกรบกวนนิดหนึ่งก็อาจจะทำให้อาการทรุดได้ ขออย่าให้มีใครเข้าไปจุกจิกถามโน่นถามนี่ เขาเพ้อก็ปล่อยให้เพ้อไป ไปถาม ไปปลุก จะทำให้เพ้อมากขึ้น อาการอย่างนี้ ถ้าพยาบาลดีไม่มีอันตราย และการพยาบาลก็ไม่มีอะไรนอกไปจากที่ผมบอกคุณพี่ของคุณไว้แล้ว คือปล่อยให้หลับเรื่อย ๆ ตามสบาย ให้ยาให้อาหารตามเวลา อย่าให้ถูกร้อนจัดหนาวจัด เท่านั้นเอง”
พูดจบนายแพทย์ลุกจากเก้าอี้ แสร้งทำไม่เห็นกิริยาที่คุณนายพยายามหน่วงตัวไว้ซักถาม อะไรต่ออะไรยืดยาวไปอีกเช่นเดียวกับเมื่อตอนเช้า ทำความเคารพแล้วออกจากห้องไปโดยเร็ว
วันต่อมา นายแพทย์มาพบอาการคนไข้ยังทรงอยู่เช่นเดิม จึงให้ยาใหม่เพิ่มเติมและสละเวลา ๒ - ๓ นาทีนั่งพูดด้วยเจ้าของไข้เพื่อเอาใจอีกทั้งสัญญาว่าพรุ่งนี้จะมาเยี่ยมในตอนเช้า
นายแพทย์ไปแล้วสักครู่ คุณนายชื่นมีลูกสาว ๓ คน เขย ๒ คน เป็นเพื่อนปรารภ นั่งอยู่ด้วยกันทางหน้าเรือน ช้อยเฝ้าพี่ชายอยู่ในห้อง ได้ยินเสียงห้าว เป็นเสียงผู้ชายทุ่มเถียงกันในที่ใกล้ จึงลุกขึ้นไปดูโดยเร็ว
ด้วยความพิศวงเป็นอย่างยิ่ง ช้อยเห็นหน้านายประสิทธิ์ สุนทรพงศ์ ยืนอยู่ตรงช่องบันได นายบ๋อยยืนจังก้าขวางหน้าอยู่ ทั้ง ๒ ฝ่ายทำท่าดังจะกำหมัดเข้าใส่กัน
ประสิทธิ์เห็นช้อยก่อนนายบ๋อย “ฮี่” ขึ้นทันทีโดยไม่เปลี่ยนสีหน้า
“ฮี่อะไร เหมือนกะม้า” เจ้าบ๋อยเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด พอถูกฝ่ามือช้อยตีลงบนหลังดังเผียะ เห็นว่าเป็นใครก็พูดต่อไปโดยเร็ว “มันจะเข้าไปในห้องบอกว่าหมอมันห้ามก็ไม่ฟัง”
“หลีกไป ไอ้บ้า !” ช้อยเอ็ด “ไม่ต้องดูว่าใครเป็นใคร ขอรับประทานโทษเถอะค่ะคุณประสิทธิ์ เจ้านี่มันบ้ายังงั้นเสมอ มาเยี่ยมพี่ใหญ่หรือค่ะ ?”
“เยี่ยม เยี่ยม ฮี่ฮี่ เอาของมาให้” แล้วประสิทธิ์หิ้วห่อของที่วางอยู่ข้างเท้าขึ้น
“โถ ! อุตส่าห์มีของมาเยี่ยมด้วย ทำไมถึงทราบว่าพี่ใหญ่เจ็บล่ะคะ ?”
“ทราบ ทราบ อนงค์บอก ฮี่ ฮี่ ข---ของนั่นของเขามีจดหมายด้วย ฮี่ๆๆๆ”
ช้อยรับห่อของวางไว้ข้างตัว แก้ผ้าที่ห่อออกแล้วก็พบชามสีขาวมีถาดเงินรอง เปิดฝาชามจึงเห็นมักกะโรนีเส้นละเอียดอยู่ภายใน จดหมายซองเล็กอยู่ในถาดด้วย
“พี่ใหญ่ ตั้งแต่เมื่อเช้าวานจนวันนี้ไม่ได้สติเลย ตัวร้อนจัดแล้วก็เพ้อตลอดเวลา หมอเขาห้ามไม่ให้ใครเยี่ยม แต่ถ้าคุณอยากจะไปดูเธอสักประเดี๋ยวหนึ่งก็เห็นจะไม่เป็นไรนัก จะเข้าไปไหมล่ะคะ ?”
“ข--เข้า ไม่เข้าก็ได้ กลัวหมอ ฮี่ ฮี่ เยี่ยมที่นี่ดีกว่า ช่วยบอกผมมา ฮี่ ฮี่ แล้ว”
“เธอรู้สึกตัวเมื่อไรดิฉันจะบอก ขอบคุณคุณแทนเธอไว้ก่อนแล้วช่วยบอกคุณอนงค์ด้วยนะคะว่าดิฉันขอบคุณแทนพี่ใหญ่ จดหมายยังไม่ได้อ่านเลย รอตอบด้วยไหมคะ ?”
“อนงค์ ฮี่ ฮี่ อยู่ที่บ้านคุณอา เดี๋ยวจะกลับแล้ว- -แล้วพรุ่งนี้มาใหม่ เอาของมาอีก”
“อุ๊ยอย่าลำบากเลยค่ะ พี่ใหญ่รับประทานอะไรไม่ค่อยได้อาเจียนออกหมด เดี๋ยวดิฉันจะส่งจดหมายตอบไปให้คุณอนงค์ บอกให้แกรอหน่อยนะคะ เดี๋ยวเดียวเท่านั้น”
“ฮี่ ฮี่ ฮี่!” ประสิทธิ์พึมพำพลางถอยหลังลงบันไดพ้นไป ๓ ขั้น เขาจึงเดินไปตามปกติแล้วในทันใดนั้นเองก็หมุนตัวกลับใหม่ สอดมือลงในกระเป๋าเสื้อตอนบน ชักเอากระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นมาคลี่ดู ช้อยสังเกตเห็นรอยยับเหมือนถูกมือขยี้ ประสิทธิ์นิ่งอยู่ในท่าตรึกตรองอย่างงกงันภายหลังจึงเงยหน้าขึ้นพูดกับช้อย
“ข--ขอซองใบได้ไหม ? ฮี่ ฮี่ ฮี่”
ช้อยมองดูเขาด้วยความฉงน “ได้รอประเดี๋ยวซีคะ” หล่อนตอบ แล้วก็ไปหยิบซองขาวมาให้เขาซองหนึ่ง
ประสิทธิ์บรรจงพับกระดาษแผ่นน้อยลงในซองปิดผนึก และรีดซ้ำหลายหนเพื่อให้สนิท ส่งซองให้ช้อยพลางว่า
“ฝ- ฝ-ฝากให้คุณพระอย่าให้ใคร ฮี่ ฮี่ ฮี่ เห็น” แล้วประสิทธิ์ก็ลาไป
“ช้อยกลับเข้าในห้อง สั่งนายบ๋อยให้จัดการถ่ายของและล้างภาชนะ ตัวหล่อนเองฉีกซองจดหมายอนงค์พลางตามองดูซองอีกชองหนึ่งด้วยความสงสัย ในที่สุดหล่อนนำซองขาวไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเขียนหนังสือแล้วอ่านจดหมายอนงค์ได้ความดังนี้
“เมื่อเย็นวานพบหนูนิดที่บ้านคุณอา แกบอกว่าลุงเจ็บ ใครๆ ไม่ให้แกหาลุง แล้วแม่ละมุนอธิบายเพิ่มเติมว่าคุณพระเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทหัวใจ แล้วก็อะไรอีกอย่างหนึ่งที่แกจำไม่ได้แน่ แต่เข้าใจว่าเป็นตับหรือไต อนงค์เดาว่าเป็นไตมากกว่าตับ เพราะคนไข้โรคหัวใจมักจะมีโรคไตแทรกด้วย อยากจะมาเองแทบขาดใจแต่ไม่กล้าพอ จึงให้พี่ประสิทธิ์นำของมาให้ ของทำที่บ้านคุณอา แต่อนงค์ได้ลงมือทำด้วย พี่ประสิทธิ์อาสามาเยี่ยมแทนอนงค์ หวังว่าเธอคงจะไม่มาฮี่ให้คนไข้ปวดศีรษะยิ่งขึ้น มีเรื่องที่อยากจะเล่าแต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะเล่ามาในจดหมายก็ยาวนักพี่ประสิทธิ์ก็เร่งจะไปเร็ว โปรดเล่าอาการคุณพระให้อนงค์ทราบโดยละเอียดสักหน่อย หวังว่าจะไม่หนักหนา ถึงอย่างนั้นก็ไม่สบายใจแทนพี่ช้อยน่ะค่ะ
อ่านจบแล้ว ช้อยรีบเขียนตอบและเรียกคนใช้ให้นำไปส่งพร้อมถาดและชาม เมื่อคนผู้นั้นกลับมาเขานำกระดาษชิ้นน้อยมาส่งให้ช้อยอีก อนงค์เขียนข้อความสั้น ๆ ว่า
หนูนิดมาแล้ว ฟ้องว่าคุณยายไล่เพราะร้องหนวกหูลุง ขออนุญาตให้อนงค์พาแกไปเที่ยวได้ไหมคะ เอาละมุนไปด้วย อนงค์ไม่รอตอบ เพราะรู้ว่าพี่ช้อยต้องอนุญาตแน่
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #1 on: 19 May 2022, 21:17:42 » |
|
๓๒
เวลาเย็น ดวงอาทิตย์ลอยต่ำเสมอยอดไม้ รัศมีสีทองสุกฉายจับท้องฟ้า ทอแสงสีนวลเข้าทางหน้าต่างห้องเป็นทางยาวทำส่วนของห้องด้านที่มีเตียงตั้งอยู่ให้สว่างกว่าทางอื่น นอกจากคนไข้ที่นอนนิ่งสนิทยังมีคนอื่นอยู่ในห้องนี้ด้วย ๒ คน คือนางศรีวิชัย กับช้อย ขวดและกล้องยานัตถุ์ กระโถน หีบเครื่องเย็บ ฯลฯ ที่วางอยู่รอบข้าง แสดงว่า ๒ แม่ลูกคงจะได้นั่งในห้องนี้นานนับเวลาเป็นชั่วโมง
หญิงอีกคนหนึ่งคลานเข้ามาในห้องอย่างระมัดระวัง และพูดกับสตรีในวัยสาวใหญ่ด้วยเสียงกระซิบ ผู้มีอาวุโสกว่ามองดูด้วยความอยากรู้และถามว่า
“นังแจ้งมาว่ากระไร ?”
“มาบอกว่าอนงค์มาค่ะ เวลานี้อยู่ข้างล่าง”
คุณนายชื่นทำท่าพิศวง ช้อยถามท่านว่า
“คุณแม่ยังไม่มีธุระอะไรไม่ใช่หรือคะ ดิฉันจะไปพบกับอนงค์สักประเดี๋ยว ?”
มารดาของหล่อนพยักหน้า ช้อยจึงย่องออกมานอกห้อง ลงบันไดไปชั้นล่างโดยเร็ว
พบอนงค์ยืนอยู่หลังห้องรับประทานอาหาร กำลังมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างสนใจ เมื่อหล่อนทั้ง ๒ มองเห็นกันก็ตรงเข้าจับมือจับแขนทักทายกันอย่างดีเนื้อดีใจ
“แหมเธอเข้ามาทางหลังบ้านเสียด้วย” ช้อยกล่าว “สกปรกออก อย่างนี้พี่ขายหน้า”
“พิโถ่ ! เห็นอนงค์เป็นคนอื่นไปได้ อนงค์เข้ามาตามทางที่พี่ประสิทธิ์บอกยังไงล่ะคะ”
“อ้อ คุณประสิทธิ์เข้ามาทางนี้ มิน่าล่ะไม่พบใครจนขึ้นไปข้างบน เผอิญไปพบเอาคนบ้าที่สุดเข้าด้วย ไอ้บ๋อยของพี่ใหญ่น่ะ คุณประสิทธิ์โกรธใหญ่ไหม บ่นว่ากระไรหรือเปล่า ?”
อนงค์หัวเราะแล้วบอกตามตรง
“เธอบอกว่า พบเจ้าคนใช้ที่มีกิริยาเลวทรามมาก ใช้คำแทนชื่อทุก ๆ คนว่ามัน”
“จริงของแก สอนเท่าไรก็ไม่จำ เวลาใจดีมันก็รู้จักพูดท่านพูดเธอ แต่พอโมโหขึ้นมามันมันจนกระทั่งนายของมันเอง วันนั้นมันก็เอาหมอให้คุณประสิทธิ์ฟังแล้วมันก็เอาคุณประสิทธิ์เข้าด้วย พี่โมโหจะตายเกือบจะเขกหัวเอาแล้ว แต่ยังเกรงว่าเป็นเวลาต่อหน้าคุณประสิทธิ์”
“คุณแม่ของพี่ช้อยท่านอยู่ไหนค่ะ พาอนงค์ไปหาท่านเสียก่อนเถอะ ?”
“คุณแม่เฝ้าพี่ใหญ่อยู่ในห้องข้างบน”
“อาการคุณพระเป็นอย่างไร ดีขึ้นกว่าเมื่อวานบ้างไหม ?”
“ก็ดีขึ้นหรอก คือว่านอนนิ่ง ๆ เกือบจะไม่ได้เพ้อเลย หมอว่าหลับสบาย แต่พี่สงสัยว่าเธอซึม คอยดูคืนวันนี้อีกคืนหนึ่ง ถ้าไม่ได้สติเราจะต้องเปลี่ยนหมอใหม่ ไม่ไหวละเธอ ๕ วันเข้าวันนี้แล้ว จะปล่อยให้เธอเป็นคนไม่ได้สติอยู่เรื่อย ๆ ยังไงได้ ความจริงวันนี้ปรอทลดเกือบถึงขีดปกติแล้ว ควรจะรู้สึกตัวบ้างซี นี่อะไรหลับตาเรื่อยตลอดเวลา”
อนงค์ถอนใจเบา ๆ นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงว่า
“ให้อนงค์ไปหาคุณนายในห้องคุณพระได้ไหมคะ ?”
ช้อยยังลังเล หญิงสาวจึงพูดต่อตามความจริงใจ มีอาการประหม่าเล็กน้อย
“อนงค์อยากเห็นคุณพระด้วย ชั่วเวลาเข้าไปไหว้คุณนายเท่านั้น”
แทนคำตอบ ช้อยจับมือเพื่อนสาวจูงมายังบันได
ในระหว่างนั้นอนงค์กระซิบถาม
“ชัดอยู่ไหม ?”
“ยังไม่กลับ เมื่อตอนเที่ยงมาถามอาการ แล้วบอกว่าวันนี้กว่าจะได้กลับก็เห็นจะค่ำ ดูเหมือนธุระอะไรพิเศษไม่ทราบ พี่ฟังไม่ถนัด”
ในเวลาที่เดินผ่านประตูห้อง อนงค์เห็นคุณนายชื่นเลิกคิ้วพอมองดูหล่อนด้วยความพิศวงระคนกับความไม่พอไจ แต่การถูกมองเพียงเท่านี้ไม่ทำให้อนงค์สะทกสะเทิ้นได้ ค่อย ๆ คลานอย่างระมัดระวังจนมาใกล้ตัวคุณนาย น้อมตัวทำความเคารพแล้วก็นั่งสำรวมอยู่ในท่าอันงาม
ช้อยรีบให้คำอธิบายแก่มารดาโดยเร็ว
“ดิฉันชวนให้นั่งข้างล่าง แกบอกว่ามาถึงบ้านต้องเคารพผู้ใหญ่ในบ้านก่อน ถ้ามิฉะนั้นยังนั่งไม่ได้”
ผู้ฟังทั้ง ๒ ต่างอมยิ้ม อนงค์ยิ้มเพราะช้อยแปลคำพูดของหล่อนได้งดงามมาก คุณนายชื่นยิ้มด้วยความพอใจ และสายตาที่จับดูหน้าผู้เป็นแขกก็แสดงความเป็นมิตรขึ้นเล็กน้อย แต่ยังนึกคำสำหรับปราศรัยไม่ออก ด้วยเป็นธรรมดาของคนผู้ไม่ชำนาญการแสดงละครนอกเวที จะทักคนแปลกหน้าไม่ได้ง่าย ๆ คุณนายชื่นอึกอักอยู่นานพอที่อนงค์จะมองดูทุก ๆ สิ่งในห้องจนทั่วแล้วท่านพูดขึ้นว่า
“วันนี้เขาค่อยยังชั่วขึ้นหน่อย”
อนงค์ยิ้มรับคำพูดนั้น อย่างที่เด็กมักยิ้มกับผู้ใหญ่ แล้วก็หันกลับไปดูคนไข้อีก
นางสาวแจ้งต้นห้องของคุณนาย เข้ามาในห้องเป็นครั้งที่ ๓ แล้วบอกว่า
“คุณหลวงวิโรจน์กับคุณชัดมา”
คุณนายมองดูลูกสาวเป็นทีถาม ช้อยจึงตอบสายตาของท่านว่า
“ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกค่ะ ดิฉันจะพาอนงค์ไปนั่งข้างนอก ให้เจ้าบ๋อยมาอยู่ในนี้ อึกอักอะไรเรียกคำเดียวก็ได้ยิน”
นางศรีวิชัยถือขวดและกล้องยานัดถุ์กับกระโถนติดมือไปด้วย พบนายบ๋อยนั่งอยู่ที่เชิงบันได ท่านไล่เข้ามาในห้อง ช้อยพาอนงค์ออกไปยังเฉลียงเล็ก หยิบเสื่อมาปูและนั่งคุยกันอยู่ ณ ที่นั้น
ในขณะที่อนงค์เล่าถึงคืนเมื่อหล่อนได้สนทนากับพระอรรถคดี ฯ ที่สนามหลวง และทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างก็เพลิดเพลินอยู่ในเรื่องนั้น ช้อยอุทานขึ้นว่า
“เดี๋ยวเธอมัวคุยเพลิน พี่ลืมธุระสำคัญเสียอย่างหนึ่งแล้ว จะให้เขาอุ่นซุบให้พี่ใหญ่ พอตื่นจะได้ให้รับประทานทันที” พูดแล้วหล่อนก็ลุกเข้าไปในห้องเพื่อสั่งให้นายบ๋อยไปจัดการ
หล่อนกลับออกมาพร้อมกับนายคนใช้ผู้นี้ และพูดกับอนงค์ว่า
“เราต้องย้ายที่แล้วเธอ นั่งตรงประตูเธออยู่ข้างนอก พี่อยู่ข้างใน จะได้มองเห็นพี่ใหญ่ พี่ไม่กล้าปล่อยให้เธออยู่ตามลำพังเลย กลัวจะลุกพรวดพราดลงจากเตียง เห็นฤทธิ์ตั้งแต่เมื่อเป็นลมคราวแรก พอรู้สึกตัวก็จะลุกขึ้นนั่ง”
นั่งลงยังไม่ทันเรียบร้อยดี ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้จ้า ดังมาจากเบื้องล่าง ช้อยทำท่าเหมือนจะทึ้งผมตัวเองพลางบ่นพึมพำ
“ยายนิดกวนใจอีกแล้ว ! ฟังซีคุณน้า ฟังเสียงหลานสาว ช่างตะเบ็งขึ้นไปได้ ดูเหมือนแกจะแกล้งแผดขึ้นไปให้มนุษย์หูแตกยังงั้นแหละ”
เป็นความจริงดังนั้น เสียงร้องของแม่หนูดังขึ้นทุกที ช้อยสะบัดตัวด้วยความโมโห นิ่งฟังต่อไปไม่ได้ก็ลุกขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่จะลงบันไดหล่อนหันมาพูดกับอนงค์
“ฝากพี่ใหญ่ประเดี๋ยวนะคะ อึดใจเดียวเท่านั้น”
อนงค์ขยับจากที่เก่าเท้าแขนข้ามธรณีประตู เอนตัวเข้าในห้อง เป็นท่าที่หล่อนจะเฝ้ามองคนไข้ได้ถนัด เมื่อหล่อนหันหน้ากลับมาทางบันได เห็นช้อยลับตาไปแล้ว พอเหลียวกลับเข้าในห้องใหม่ความรู้สึกประหลาดก็เกิดขึ้นแก่ใจหล่อนทันที
อนงค์รู้สึกเหมือนทารกเมื่อเห็นของต้องใจ ดูเถอะพระอรรถคดี ฯ กำลังเจ็บ และอนงค์ได้มานั่งเฝ้าเขาแต่ผู้เดียว ผู้เดียวแท้ ๆ ไม่มีใครอีก หัวใจของหล่อนเต้นแรงขึ้นในบัดนั้น ซึ่งอนงค์อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุไร มองไปยังร่างที่นอนเหยียดยาวอยู่บนเตียง มีแพรเพลาะดำคลุมตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงไหล่ แสงสว่างมีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ยังพอทำให้เห็นเส้นผมที่ปลิวไสวเมื่อถูกลมพัด แต่ตัวผู้เป็นเจ้าของผมจะมีสติรู้สึกถึงความร้อนความเย็นก็หาไม่ ยิ่งคิดยิ่งมองยิ่งรู้สึกถึงความสงสารความเป็นห่วงและความซาบซึ้งจับจิตจับใจ อนงค์ผลุดลุกขึ้นจากที่ ย่องไปถึงหน้าเตียงและคุกเข่าชะเง้อพิศดูคนไข้ด้วยดวงตาอันมีน้ำตาคลออยู่
ทันใดนั้น พระอรรถคดี ฯ ลืมตาขึ้น ลืมจริง ๆ เหมือนคนที่ตื่นจากหลับอย่างแจ่มใส ทำให้อนงค์สะดุ้งทั้งตัว หันขวับไปทางโต๊ะเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้มือคลำอะไรต่ออะไรโดยไม่เป็นเรื่องง่วนอยู่
เสียงผู้ชาย กังวานใหญ่แต่นุ่มนวล เป็นเสียงที่ชินแก่โสตประสาทของอนงค์ พูดขึ้นว่า
“วันนี้วันที่เท่าไร ?”
หญิงสาวหันมาดูเขา สลดใจเมื่อสำคัญว่า คนเจ็บตั้งต้นเพ้อเสียอีกแล้ว
วิชัยขมวดคิ้ว หลับตา และถามซ้ำอีกว่า
“วันนี้วันที่เท่าไร ?”
น้ำเสียงแสดงความฉิว ของผู้ไม่ได้สิ่งประสงค์ทันใจ ไมใช่คำพูดของคนเพ้อกระมัง อนงค์จึงตอบว่า
“วันที่ ๑๖ ค่ะ”
พระอรรถคดี ฯ ลืมตาขึ้นอีก คิ้วขมวดยังไม่คลาย ครั้นแล้วเขาหายใจยาวครั้งหนึ่ง และพลิกตัวตะแคงหันหน้าเข้าฝา
อนงค์ย่องกลับมายังที่ ใจยังสั่นด้วยความประหม่าและตื่นเต้น พอย่อตัวจะลงนั่งก็เห็นช้อยขึ้นบันไดมา จึงกวักมือให้เข้ามาใกล้โดยเร็วและรีบรายงานว่า
“คุณพระตื่นขึ้นเดี๋ยวนี้เอง ถามว่าวันนี้วันที่เท่าไร ?”
“เพ้ออีกแล้ว ?” ช้อยถาม หน้าสลดไปทันที
“ไม่เพ้อค่ะ พูดเสียงแจ่มใส ชัดถ้อยชัดคำเหมือนเสียงคุณพระเมื่อไม่เจ็บทีเดียว ถามคำแรกอนงค์ไม่ตอบ เธอถามซ้ำมีเสียงโกรธด้วย พออนงค์ตอบแล้วเธอก็หันเข้าฝา”
ช้อยหลีกอนงค์เข้าในห้องทันที เข้าไปจนใกล้คนไข้สังเกตเห็นลมหายใจสั้นยาวเป็นระยะเสมอกัน รู้ได้ว่าเขาหลับอีกแล้ว จึงจัดแจงคลุมแพรเพลาะให้เรียบแล้วกลับมานั่งอยู่ข้างอนงค์
เพื่อนหญิงของช้อยตั้งใจจะคอยดูวิชัยเมื่อเขาตื่นขึ้นอีก แต่ความประสงค์ของหล่อนนั้นไม่สำเร็จ จนท้องฟ้ามืดมิดหมดแสงตะวันวิชัยก็ยังนอนนิ่งอยู่ในท่าเดียว
เขาตื่นขึ้นเมื่ออนงค์ไปแล้วได้ชั่วโมงกว่า ลืมตาเห็นช้อยนั่งปัดยุงอยู่หน้าเตียงก็พูดชัดถ้อยชัดคำ
“ไปนอนเสียไป๊ พี่หายแล้ว”
“พี่ใหญ่ !” ช้อยอุทาน เสียงสั่นด้วยความปิติและสงสัย “ตื่นจริง ๆ หรือนี่ หรือพูดโดยไม่รู้สึกตัว”
“รู้สึก” เขาตอบอย่างหนักแน่น “หน้ามืดไปแว็บเดียวเท่านั้น เดี๋ยวนี้หายดีแล้วจริง ๆ ดึกดื่นแล้วอย่ามานั่งทรมานเฝ้าพี่อยู่เลย”
“อะไรพี่ใหญ่ รู้สึกตัวทำไมพูดอย่างนี้ล่ะคะ เวลานี้มันดึกเมื่อไร ยังไม่ ๒ ทุ่มเลย ?”
วิชัยขมวดคิ้ว นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วพยายามจะใช้ข้อศอกยันตัวขึ้น ช้อยยกมือปะทะหน้าอกไว้ทันที กดบ่าให้นอนลงดังเดิม พลางพูดด้วยน้ำเสียงที่ความตื่นเต้นยังไม่คลาย
“ลุกไม่ได้ค่ะ หมอสั่งให้นอนนิ่ง ๆ พี่ใหญ่ยังไม่มีแรงเลย ปรอทเพิ่งลงวันนี้จะลุกขึ้นไปไหน ?”
วิชัยเสยผมด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง พลางถาม
“หมอมารึ ?”
“มาซิคะ มาทุกวัน วันละ ๒ หน พรุ่งนี้เช้าก็จะมาอีก”
“นี่ยังไง !” พระอรรถคดี ฯ พึมพำ สีหน้าไม่แสดงความฉลาดขึ้นกว่าเก่า “พี่รู้สึกตัวว่านั่งคุยกับแม่อนงค์ที่สนามหลวง จริง ๆ แหละถูกแล้ว เมื่อตะกี้ยังเห็นแกอยู่เลย”
“พิโถพี่ใหญ่ !” ช้อยกล่าว เต็มตื้นไปด้วยความสงสารและดีใจ “เมื่อพี่ใหญ่คุยกับอนงค์ที่ท้องสนามหลวงน่ะมัน ๕ คืนมาแล้ว คืนนั้นพี่ใหญ่เป็นลมเวลาดึก ตอนเช้าลุกขึ้นเดินไม่ได้ แต่พอสายรับประทานอาหารแล้วพี่ใหญ่อาเจียนแล้วบอกว่าปวดศีรษะ ยังสั่งให้ชัดไปตามหลวงเทพ ฯ ตั้งแต่วันนั้นก็เป็นไข้ ปรอทตั้ง ๑๐๔ - ๑๐๕ ไม่ได้สติเลย เพ้อตลอดวันตลอดคืน เมื่อตะกี้ที่ว่าเห็นอนงค์ก็เห็นจริง ๆ แต่เห็นที่นี่ ไม่ใช่ที่สนามหลวง อนงค์แกมาเยี่ยมพี่ใหญ่ เพิ่งกลับไปเมื่อสักครู่นี้เอง”
แล้วช้อยก็เล่าถึงคำถาม และคำตอบระหว่างตัวเขากับอนงค์ให้เขาฟังด้วย
พระอรรถคดี ฯ นิ่งอยู่นาน ในที่สุดเขาอุทานขึ้นอย่างตกอกตกใจ
“โอ ! จริงซี วันนี้วันที่เท่าไรนะ ?”
“มีธุระอะไรกับวันที่ ?” ช้อยถามเป็นเสียงตำหนิ “หมอสั่งว่าไม่ให้พี่ใหญ่เกี่ยวข้องกับธุระอะไรทั้งนั้น ต้องนอนนิ่ง ๆ ทำใจให้สบาย พี่ใหญ่ต้องเชื่อหมอ คิดดูทีหรือ อยู่ ๆ ก็เป็นคนไม่มีความรู้สึกไปตั้ง ๕ วัน คนที่เขาดูพี่ใหญ่อยู่น่ะ เขาจะกลุ้มใจสักเพียงไร”
ผู้เป็นพี่นิ่งฟังและมองดูหล่อนอย่างสนใจ ครั้นแล้วเขาถามขึ้นว่า
“พี่เพ้อว่ากระไรบ้าง จำได้ไหม ?”
“ไม่บอก” ช้อยตอบอย่างเด็ดขาด “อย่าถามอะไรอีกเลยค่ะ พอพูดได้ก็พูดเสียใหญ่ ประเดี๋ยวก็จะหมดแรงเท่านั้น”
เขายิ้มนิดหนึ่ง แต่ก็พอที่จะทำให้แสงแห่งชีวิตปรากฏขึ้นในดวงตาจนช้อยชื่นใจ แล้วหล่อนพูดต่ออีก
“ดิฉันจะไปหาของให้รับประทาน...”
“ไม่ละ” เขาขัดขึ้นโดยเร็ว “เดี๋ยวอาเจียนอีก”
“ไม่ ไม่ได้ วันหนึ่ง ๆ ได้อาหารน้อยเหลือเกิน ถึงไม่รู้จักหาย ป้อนให้ปัดมือเสียบ้างถ่มทิ้งเสียบ้าง วันนี้ต้องรับประทาน ไม่มากก็สักนิดหน่อย”
ลุกขึ้นจากที่จะออกไปนอกห้อง แล้วชะงักหันกลับมากำชับว่า
“พี่ใหญ่อย่าลุกจากเตียงไม่ได้เชียวนะ ขืนลุกเป็นได้ขัดใจกันละ”
เขาหัวเราะแทนคำตอบเช่นเดียวกับเมื่อ ๕ เดือนก่อน ช้อยรู้สึกเอ็นดูจนถึงกับต้องค้อนให้ เป็นจริตที่หล่อนไม่เคยทำมาหลายเดือนแล้ว
เมื่อช้อยกลับเข้ามาในห้อง เห็นพี่ชายหลับตามือก่ายหน้าผาก หล่อนจึงลดฝีเท้าให้เบาลง แต่วิชัยลืมตาขึ้นทันทีและถามว่า
“คุณแม่อยู่ไหม ?”
“อยู่ซีคะ ท่านจะมีกะใจไปไหน เป็นทุกข์ออกจะตาย อ้อไปหนหนึ่ง ไปให้พระดูดวงชะตาพี่ใหญ่”
“แล้วท่านว่าอย่างไร ?”
“ชะตายังไม่ถึงฆาต แต่เคราะห์ร้ายมาก”
ผู้ฟังหัวเราะเบา ๆ แล้วพูดอ่อย ๆ
“พี่ดูตัวเองก็ได้ !”
“ดูเวลานี้ก็ได้น่ะซี ก่อนนี้ อย่างเมื่อคืนไม่พูดอย่างนี้บ้างนี่ ท่านดูอะไรต่ออะไรอีกเยอะ แต่ดิฉันไม่บอก”
“ดูว่าจะเสียของรักด้วยหรือเปล่า ?”
“ไม่เอาค่ะ เลิกพูดกันที พูดมากเดี๋ยวยุ่งใหญ่ นอนนิ่ง ๆ ซีคะ รู้ไหมว่าหมอเขาห้ามไม่ให้ใครเยี่ยม เพราะกลัวจะพูดอะไรให้ตื่นเต้น”
“ตาชัดเป็นยังไง ?”
“ตาชัดก็เป็นตาชัด จะไปถามถึงเขาทำไม....เขาเป็นเด็กดีค่ะ เวลานี้กำลังรับประทานข้าว เดี๋ยวก็คงขึ้นมาหรอก”
“ยายหนูล่ะ เป็นยังไง หลับแล้วหรือ ?”
“เออแนะพี่ใหญ่ ยิ่งห้ามไม่ให้พูดดูเหมือนยิ่งแกล้งพูด ยายหนูสบายดี แต่โหยกเหยกที่สุด ต้องไล้ให้ไปอยู่บ้านคุณครูวันยังค่ำ”
“อ้อ คุณแฝด...”
“ตาย ย่าถามถึงใครอีกเลยค่ะ ทุกคนเขาสบาย ทุกคนเป็นห่วงพี่ใหญ่ ขอให้นอนนิ่ง ๆ หน่อยเถอะ”
มีเสียงลั่นจากตัวไม้ที่ได้รับความกระเทือน บอกให้วิชัยรู้ว่ามีคนขึ้นบันได และบอกด้วยว่าผู้ขึ้นมิได้ขึ้นทีละขั้นอย่างคนธรรมดาทั้งหลายหากขึ้นบันได ๘ ขั้นด้วยการก้าวขาเพียง ๔ ครั้ง แล้วนายร้อยตรีชัดก็ยิ้มแป้นเข้ามาในห้อง
ตรงแน่วไปที่เตียง คว้ามือพี่ชายบีบและบีบเขย่าพร้อมกับพูดในระหว่างหายใจยาว
“พี่ใหญ่ !”
คำพูดเพียงเท่านี้ แสดงความรู้สึกกว้างขวางมาก และวิชัยก็รู้แจ้งซึ่งความหมายนั้น จึงบีบมือน้องตอบและมองดูน้องด้วยดวงตาที่มีแสงเป็นประกาย
“หายตายกันทีนะ !” นายทหารหนุ่มพูดต่อ “๕ วัน ๕ คืน ! ให้ตกนรกซี ผมไม่เคยเป็นทุกข์อะไรเท่าคราวนี้เลย อะไรไม่ว่าหรอกนา เดี๋ยวกลัวเสียสติไปจนตายน่ะซี ถ้าเป็นยังงั้นละตายเสียดีกว่าจริงไหม”
วิชัยมิได้ตอบ มองดูหน้าน้องเฉยอยู่ พอดีกับคุณนายชื่นมาถึงพร้อมกับนายบ๋อยผู้ถือถาดอาหารเดินตามมาเบื้องหลัง
คุณนายชื่นตรงไปที่เตียง อ้าแขนร้องว่า “พ่อคุณของแม่” แล้วก็ร้องไห้
“แล้วกันคุณแม่” ชัดพูดในเสียงตำหนิแกมหัวเราะ “หมอเขายิ่งห้ามไม่ให้คนไข้ได้รับความตื่นเต้น”
“แม่ไม่ได้ทำอะไรนี่นา” ผู้เป็นแม่เถียง ยกชายผ้าห่มขึ้นเช็ดหน้า “ดีใจเท่านั้นแหละ”
ช้อยรับถาดอาหารมาตั้ง วิชัยแสดงความประสงค์จะลุกขึ้นนั่งรับประทาน แต่ได้รับเสียงอนุญาตเพียงให้นอนพิงหมอนซึ่งซ้อนขึ้นหลายใบพอตักอาหารใส่ปากเองได้ เมื่อเขาหยิบซ้อนตักน้ำซุบ วิชัยถามคนใช้ตัวโปรดว่า
“นี่ซุบหมาดำใช่ไหม เห็นเจ้าเป็นคนยกเข้ามาข้าไม่ค่อยไว้ใจเลย”
นายบ๋อยหัวเราะ ด้วยรู้ว่าคำถามนั้นเป็นคำปราศรัยและตอบว่า
“ผมไม่รู้ แม่ครัวมันต้ม ผมเป็นแต่คนยกขึ้นมา”
ช้อยงอมือทำท่าจะกระแทกลงบนศีรษะนายคนใช้ แต่ในยามรื่นเริงเช่นในเวลานี้ ใครจะมีกะใจประทุษร้ายร่างกายใครได้ ดังนั้น นายบ๋อยจึงเสียเวลาหลบโดยไม่จำเป็นเลยสักนิด
วันต่อ ๆ มา วิชัยไม่มีอาการซึมหรือเพ้ออีก แต่อาการคลื่นไส้ มึนศีรษะ ตัวร้อนจัดหรือมิฉะนั้นก็เย็นชืด ยังเป็นเรื่องที่นายแพทย์จะต้องแก้ให้ตก ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานวัน
ในระหว่างนั้น แผ่นดินในบ้านนางศรีวิชัย ฯ ต้องรองรับรอยฝ่าเท้าแขกหน้าใหม่บ่อยครั้ง ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งทหารทั้งพลเรือน โดยเหตุที่วิชัยเมื่อเป็นหนุ่มเต็มที่แล้วไม่มีเวลาไปอยู่ใกล้วงศ์ญาติกี่มากน้อย ญาติของเขาแม้ที่ใกล้ชิดที่สุดจึงมิได้รู้ว่าเขาเป็นคนกว้างขวาง และมีเพื่อนที่เอาใจใส่ในตัวเขาโดยแท้จริงมากมายเพียงใด แต่ในระยะที่เขากำลังเจ็บนี้ เพราะเหตุที่มีคนนิยมมากหน้าหลายตา นอกจากนั้นยังมีจดหมายส่งจากหัวเมืองต่างๆ บ้าง สั่งเยี่ยมต่อ ๆ กันมาตามเพื่อนฝูงบ้าง ญาติที่สนิทของวิชัยเมื่อได้เห็นและได้ยินความจริงเหล่านี้ จึงออกปากปรารภแก่กันว่า “คนๆ นี้มีเพื่อนมากจริง !”
คนไข้มีเวลาแย้มหัวพูดเล่นกับผู้ที่มาเยี่ยมแต่เพียงวันละเล็กวันละน้อยเพราะนายแพทย์กวดขัน มิยอมให้เขาเสียกำลังไปในทางหนึ่งทางใดทั้งสิ้น ความสงบเป็นยาสำคัญเหนือยาทั้งหลายที่จะบำบัดโรคของวิชัย
เมื่อกระเพาะอาหารค่อยหายเป็นพิษ วิชัยได้รับการพะเน้าพะนอจากผู้หญิงเพื่อนบ้านมากที่สุด ทุก ๆ วัน ไม่มื้อเช้าก็มื้อกลางวัน ไม่มื้อกลางวันก็มื้อเย็น จะมีอาหารอย่างอ่อนทำโดยประณีต ใส่ภาชนะงามและสะอาดส่งมาจากบ้านคุณแม้น ฯ บางทีและก็ค่อนข้างจะบ่อย จะมีกระเช้าใส่องุ่นและชมพู่ผลงาม ๆ มีช่อกล้วยไม้หรือดอกกุหลาบหรือมะลิสอดแซมอยู่ตามปากกระเช้า ส่งมาพร้อมกับอาหารด้วย ผู้ที่นำของมาไม่เคยบอกว่าอาหารหรือกระเช้าผลไม้นั้นมาจากใคร แต่ช้อยทายได้แม่นยำว่า อนงค์เป็นผู้จัดสรรค์และจัดผลไม้นั้น
วันหนึ่งเมื่อได้รับของเหล่านี้ และเป็นวันที่วิชัยมีอาการแช่มชื่นมากกว่าทุกวัน ช้อยจึงเล่าเรื่องที่ประสิทธิ์มาประจันหน้ากับนายบ๋อย และนำซองขาวที่หล่อนรับฝากไว้ส่งให้วิชัยด้วย
พระอรรถคดี ฯ หัวเราะชอบใจในเรื่องที่ช้อยเล่าเป็นอันมาก แต่เมื่อเขาฉีกซองและคลี่กระดาษออกดูแล้ว อาการหัวเราะก็ละลายไปทันทีทั้งสีหน้าและแววตาเต็มไปด้วยความประหลาดใจ ถือกระดาษมองนิ่งอยู่นาน เวลานั้นช้อยนั่งอยู่ตรงหน้า เมื่อหล่อนเข้ามาใกล้ประสงค์จะขอดูวิชัยก็รวบกระดาษกำไว้ในมือโดยเร็ว
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #2 on: 19 May 2022, 21:21:00 » |
|
๓๓ เมื่อคนไข้ฟื้นตัวพ้นจากระยะที่ตกอยู่ระหว่างความเป็นความตาย มาถึงระยะที่ค่อยทุเลาขึ้นจนผิดตา ความชื่นบานอันเกิดจากความชื่นใจก็มีอยู่แก่คนในบ้านทั่วหน้า คนไข้นอนหลับได้มาก อาหารตกถึงท้องแล้วไม่ถูกส่งกลับ และเขาก็ตั้งต้นรับประทานได้อย่างออกรส สีหน้าอันเขียวคล้ำของวิชัยค่อยมีสีโลหิต ดวงตาเป็นประกายแจ่มใส คุยมากเล่ามากยิ้มมากหัวเราะมาก เห็นอะไรเป็นของขันไปเสียทั้งสิ้น ความสนุกสนานร่าเริงของวิชัยในระยะนี้เป็นที่น่าคิดว่าเขาจะกลับเป็นเด็กหนุ่มทรามคะนองอีกครั้งหนึ่ง ทำให้คนข้างเคียงมองดูเขาด้วยความแปลกใจ และพร้อมกันนั้นทุกคนก็เชื่อมั่นว่าวิชัยจะหายเป็นปกติและแข็งแรงดังเก่าในเร็ววัน
แต่การมิได้เป็นไปดังเขาเหล่านั้นคาด อาการที่ค่อยยังชั่วขึ้นในระยะ ๒ สัปดาห์แรกเป็นอย่างใด อีก ๔ สัปดาห์ต่อมาก็เป็นอยู่อย่างนั้น ซ้ำร้ายที่คนไข้ตั้งต้นจะขรึม จะพูดเล่นก็ดูเหมือนจะเป็นไปโดยฝืน ชอบอยู่คนเดียวในที่มืด ยืนพิงหน้าต่าง ตาลอย หรือมิฉะนั้นก็นั่งหลับตาซึมอยู่บนเก้าอี้
ซึ่งวิชัยกลับมีอาการดังนี้ ความจริงก็มีข้อน่าเห็นใจเพราะเหตุว่าในสมองที่มีปัญญา และมีปกติไม่หลับก่อนถึงเวลานอน มักจะเป็นสมองที่ไม่อยู่นิ่ง เมื่อไม่มีงานหรือที่ถูกงานมีแต่ทำไม่ได้ ด้วยตัวยังอยู่ในขีดทีต้องรักษาตัวอย่างกวดขัน วิชัยนั่งเล่นนอนเล่นอยู่เปล่า ๆ สมองของเขาก็คิดไป ๆ ทั้งเรื่องเป็นสาระและไร้สาระ ทั้งเรื่องที่เป็นแล้วและจะเป็นไป และอาศัยเหตุที่ตนมีเรื่องสำคัญตรึงใจอยู่ เมื่อสมองคิดมาถึงเรื่องนี้ก็มักจะหยุดกึกและเกาะแน่นอยู่กับความในใจไม่เลยไปถึงเรื่องอื่นอีก
หัวใจมีเหตุผลซึ่งตัวเหตุผลเองเข้าใจไม่ได้ นี่เป็นภาษิตบทหนึ่งของชาวตะวันตก ซึ่งวิชัยต้องยกขึ้นสารภาพแก่ตัวเอง ด้วยความเบื่อตัวเองอย่างเอกอุ
หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีของวิชัย แต่เขาต้องเลือกอย่างระมัดระวังเรื่องใดอ่านแล้วชวนให้ใช้หัวคิด วิชัยต้องห้ามตัวเองมิให้อ่าน นี่ก็เป็นความผิดของสมองที่มีปัญญาพบสิ่งใดใหม่ ๆ แปลก ๆ ก็อดจำอดค้นอดใคร่ครวญไม่ได้ เหตุนั้นหนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะเล็กใกล้เตียงนอนเป็นตั้งสูงนั้น จึงเต็มไปด้วยบทกลอนเก่า ๆ ซึ่งเขาอ่านเพื่อหาความเพลิดเพลินจากความไพเราะในเชิงกวีมากกว่าจะอ่านเนื้อเรื่อง ดนตรีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเพื่อนวิชัยได้ดีในยามเย็นอากาศปรอดโปร่ง หรือมิฉะนั้นยามกลางคืนพระจันทร์แจ่มกลางฟ้า วิชัยเคยชักซอเล่นบ่อย ๆ เพลงนี้ไม่ได้ตลอดตั้งต้นเพลงนั้นใหม่ เพลงหนึ่งเหมาะสำหรับซอชนิดหนึ่งตามความชอบใจของผู้สี วิชัยก็มีความเชี่ยวชาญพอ ที่จะเลือกซอ เลือกเพลงให้เหมาะแก่ใจเล่นไปเรื่อย ๆ พอแก้รำคาญ
ครั้งหนึ่งเมื่อเขาสีซออู้ ตามทำนองเพลงกระบี่ลีลาจบไปได้ ๒ ท่อน เสียงขซอพาเขาไปถึงเพลงนกจากซึ่งได้พลัดเข้ามาในเพลงต้นได้อย่างไรน่าอัศจรรย์ใจ เขารู้สึกตัวเมื่อสีไปได้แล้วครึ่งท่อน นิ้วที่กำลังพรมอยู่ออกพราวก็หยุดสนิท รู้สึกใจหวิววาบ จึงวางซอทิ้งเสียทันที
ลุกจากที่ไปยืนอยู่หน้าโต๊ะเขียนหนังสือ สมุดรูปวางอยู่ในที่เก่าอย่างแต่ไหนแต่ไรมา โดยที่มือแห่งผู้เป็นเจ้าของไม่ได้แตะมานาน ถึงวันนี้ วิชัยมองเห็นแล้วให้นึกอยากแตะเป็นกำลัง เอื้อมมือลากสมุดเข้ามาใกล้ เปิดทีเดียวเผอิญถึงที่สำคัญ วิชัยขมวดคิ้วเม้มริมฝีปาก สายตาแสดงความอัดอั้น ในที่สุดเขาชักรูปเดี่ยวกลางหน้าสมุดออกจากที่ ไขกุญแจลิ้นชักอันเป็นที่เก็บของที่ระลึกทั้งหลาย สอดรูปเข้ากลางตั้งรูปอื่น ๆ ที่เรียงกันอยู่เป็นแถว
ซองขาวแผ่นหนึ่งทิ้งอยู่เดียว ไม่เข้าพวกกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระอรรถคดีฯ หยิบขึ้นดูอย่างฉงนด้วยนึกไม่ได้ว่าซองใส่อะไรกันแน่ แต่ชักกระดาษภายในออกดูแล้วเขาร้องว่า “อ๋อ !” เบา ๆ
มองดูตัวอักษรที่เลอะเทอะเต็มหน้ากระดาษ ล้วนแต่อ่านออกได้ความเป็นอันเดียวกันว่า “อนงค์อรรถคดีวิชัย” รูปทรงของตัวอักษรนั้นต่างกันเกลี้ยง ๆ เรียบ ๆ บ้างหยุก ๆ หยิก ๆ ไปด้วยหางและเส้นขีดบ้าง แสดงถึงความตั้งใจของผู้เขียนที่จะพลิกแพลงให้ดูเก๋ดูงาม กระดาษนี้ที่ประสิทธิ์ฝากช้อยไว้ให้วิชัย และที่ได้ทำความใคร่รู้ให้เกิดแก่ผู้รับฝากเป็นที่สุดแต่จนกระทั่งบัดนี้ ช้อยก็ยังเดาไม่ถูกว่าของที่หล่อนรับฝากไว้นั้นมีคุณค่าสถานใด เพราะว่าพระอรรถคดี ฯ จงใจซ่อนเสียตั้งแต่วันแรกที่ของถึงมือ
กระดาษน้อยถูกสอดกลับเข้าในซอง แล้วก็ลงนอนอยู่ในลิ้นชักดังเก่า พระอรรถคดี ฯ ยิ้มอย่างขรึมและเศร้านั่งอยู่บนเก้าอี้วางแขนสอดประสานกันไว้บนโต๊ะ นัยน์ตาลอยจับนิ่งอยู่ที่ฝาห้อง
วันคืนล่วงไปเป็นลำตับ กำหนดวันวิวาห์ของชัดก็ใกล้เข้ามาถึงทุกที บ้านใหม่ปลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังเหลือแต่จะตบแต่งให้เป็นที่อยู่ได้ ซึ่งเจ้าของบ้านกำลังจัดการอยู่ทุกวัน ทุกเย็นก่อนถึงเวลาอาหาร ชัดมักจะเข้ามาในห้องพี่ชาย ลากเก้าอี้มาตั้งตรงหน้าเตียง หรือมิฉะนั้นก็นั่งลงบนเตียงข้างตัวพี่ แล้วพี่น้องก็สนทนา ชัดมักจะตั้งต้นด้วยเรื่องธุระ เช่น การจัดบ้าน และพิธีการแต่งงานที่ควรจะจัดอย่างไร และนายทหารหนุ่มมีใจอันลอยเคว้งอยู่ในความรักอันแรงกล้า ซึ่งแรงยิ่งขึ้นเมื่อความรักจะสำเร็จโดยสมบูรณ์กำลังใกล้เข้ามา เขาหรือจะพูดถึงเรื่องอื่นได้นาน ประเดี๋ยว ๆ ก็หันมาลงเรื่องคนที่ตนรักและใจจดจ่ออยู่ทุกเวลา เสน่ห์ของคู่หมั้นตามที่ชัดรำพันนั้นมากหลาย มากจนกระทั่งผู้ฟังต้องใช้ความอดกลั้นอย่างแรงกล้า เพื่อจะฟังอยู่ได้ในกิริยาอาการที่เป็นปกติ
เมื่อยังเหลือเวลาอีกเพียง ๑๗ วัน ก่อนที่จะถึงวันงานชัดแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก ในข้อที่วิชัยยังเดินได้เพียง ๒ - ๓ ก้าวเท้าที่เดินวนอยู่ในห้อง “เลื่อนวันไปอีกเถอะหรือ ?” เขาปรารภ “แต่งงานผมโดยไม่มีพี่ใหญ่มันจะเป็นงานเป็นการไปได้อย่างไร”
พระอรรถคดี ฯ สั่นศีรษะและตอบอย่างเขร่งขรึม
“ขออย่าให้ต้องเสียเวลาไปเพราะพี่เลย เป็นความจริงพี่เร่งวันคืนอยากให้ถึงวันนั้นเร็ว ๆ เสียด้วยซ้ำ”
ชัดยิ้ม สีหน้าไม่แสดงความเสียใจเท่าน้ำคำที่กล่าวแล้วถามว่า
“พี่ใหญ่มีเหตุผลอย่างใดหรือ ให้ผมรู้ได้บ้างไหม ?”
“รู้บ้างได้” วิชัยตอบตรง ๆ ตามโวหาร “พี่อยากให้แกมีเมียเสียเร็ว ๆ จะได้สิ้นห่วง ถ้ายืดเวลาให้นานออกไปกลัวว่าแกจะจับบทเที่ยวอีก”
น้องชายหัวเราะอย่างขบขัน
“ยังไม่ไว้ใจ ?” เขาว่า “ชาติเสือไม่ทิ้งลายยังงั้นหรือ ?”
“ถูกแล้ว พี่ถึงอยากให้มีแม่เสือคอยกำกับ”
“จันทรอยากจะไปฮันนิมูลที่สงขลา” ชัดบอก “ผมเองก็อยากจะพาแกไป แต่กระเป๋าของเราไม่อนุญาตแล้วพี่ช้อยแกยิ่งว่าพี่ใหญ่หมดตัวเพราะผม”
วิชัยยิ้มค่อนข้างเศร้า “ยังไม่หมดทีเดียวหรอก” เขาตอบเพื่อเอาใจ “แต่ว่าเราต้องคิดถึงวันข้างหน้าเหลือไว้บ้างสำหรับถึงคราวจำเป็นจะได้ไม่ต้องวิ่งเป็นไก่ตาแตก”
“นั่นน่ะชี ผมคิดแล้วเหมือนกัน” ชัดตอบอย่างเด็กดี
“แกก็จะได้อยู่ในบ้านตามลำพังผัวเมีย” วิชัยพูดสืบไป “ฮันนิมูลในบ้านก็แล้วกัน ประเพณีเดิมของเราก็มีอยู่ หนุ่มสาวแต่งงานแล้วเขาอยู่แต่ในบ้าน ๓ วันแล้วถึงจะไปไหว้พ่อแม่ ๓ วันไม่พออยู่เสีย ๗ วันหรือมากกว่านั้นก็ได้”
“ผมอยากรู้ว่าคุณแม่จะเอาอะไรรับไหว้ผม รถยนต์สักคันก็จะดีหรอก”
คราวนี้วิชัยไม่ตอบ มองดูน้องแล้วนึกสมเพชอยู่ในใจ
พิธีขึ้นบ้านจะได้ทำรวมไปในพิธีแต่งงานทีเดียว รายจ่ายในการนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้จ่าย ส่วนรายจ่ายในการเลี้ยงอาหารและมโหรีนั้นทางฝ่ายหลวงธุรกิจ ฯ รับภาระไป
วันที่สุดวันสำคัญนี้ก็มาถึง
ตั้งแต่เช้าตรู่ นางศรีวิชัย ฯ และช้อยแต่งตัวออกจากบ้านไปพร้อมกับชัด เมื่อเขาเหล่านั้นไปพ้นแล้ว วิชัยก็พาตัวมานั่งบนบันได
ข้อศอกทั้ง ๒ เท้าเข่า คางวางอยู่บนฝ่ามือภายหลังมือก็เลื่อนขึ้นปิดส่วนต่าง ๆ ในวงหน้าจนมิด ครั้นเมื่อเงยหน้าขึ้นก็มีรอยน้ำใส ๆ ติดอย่ที่มือ
วันนั้นทั้งวันวิชัยได้หนูนิดเป็นเพื่อนใจ แม่หนูขนเครื่องเล่นสารพัดอย่างเข้ามาในห้องลุง มีเด็กหญิงลูกของแม่ครัวเป็นเพื่อนเล่น และมีนางละมุนเป็นผู้กำกับราวกับว่าเด็กน้อยลดปริมาณความหม่่นหมองของผู้เป็นเจ้าของห้องได้ แม่หนูทำตัวให้เป็นที่น่ารักน่าชมตลอดเวลา การจู้จี้เอาโน่นเอานี่ การร้องไห้ทำอำนาจเมื่อไม่ได้ดังใจเป็นอันว่าไม่มี แม่หนูนั่งเล่นนั่งดู นั่งหัวเราะหรือมิฉะนั้นถ้าเบื่อนั่ง ก็ลุกขึ้นเต้น ๒ – ๓ ครั้งแล้วก็โผถลาเข้ามาที่ลุง มือแม่หนูโอบคอเขาไว้ แก้มแม่หนูเคลียอยู่ที่หน้าเขา ปากแม่หนูฉอเลาะด้วยคำหวาน และจมูกแม่หนูก็จรดลงที่แก้มเขาด้วย เสียดายหนอที่แม่หนูไม่เดียงสาพอที่จะเข้าใจว่าตัวทำความดีให้แก่ลุงเพียงใด ถ้าแม้นแม่หนูเข้าใจได้ คงจะภูมิใจยิ่งนัก และคงจะประเล้าประโลมชายผู้มีหัวใจชอกช้ำเหลือแสนเต็มความสามารถยิ่งกว่านี้
๑๕.๓๐ นาฬิกา นางศรีวิชัยกับช้อยมาแต่งตัวที่บ้าน แล้วก็รีบกลับไปยังถนนบางซื่ออีกเพื่อให้ทันฤกษ์หลั่งน้ำพุทธมนต์ ซึ่งกำหนดไว้เวลา ๑๗ นาฬิกาตรง ใกล้จะถึงเวลานี้ พระอรรถคดี ฯ เวียนมองดูนาฬิกา และนั่งไม่เป็นสุขขึ้นทุกที ผลที่สุดเขาก็ละหนูนิดและคนอื่น ๆ ไว้ในห้องตัวเอง ลงบันได้เรือนและออกนอกบ้านทั้งที่ไม่ได้แต่งตัว
วิชัยออกประตูใหญ่ เลี้ยวซ้ายค่อยๆ เดินมาตามถนนอันสั้น เป็นถนนตัดใหม่และยังไม่อยู่ในความเรียบร้อย จึงหายวดยานที่จะผ่านไปมาได้ยาก ภาพแห่งต้นไม้และบ้านเรือนที่เรียงรายเป็นแถวยาวดึงความเอาใจใส่จากวิชัยได้บ้าง พอคุ้มกับความวิงเวียนที่เกิดขึ้นเล็กน้อยและเพราะเหตุที่ถนนนั้นกว้างใหญ่ และมีด้านที่ลมพัดมาไม่ต้องที่กำบัง ความเย็นรื่นแห่งอากาศในตอนนี้ ก็ช่วยให้วิชัยหายใจปลอดโปร่งขึ้น เลี้ยวซ้ายอีกครั้งมาทางบ้านของเขาเอง ทางทั้งหมดนี้มีระยะไม่เกิน ๕ เส้น แต่ก็ไม่สั้นเกินไปสำหรับคนที่ยังอ่อนกำลังเช่นวิชัย เหตุฉะนั้นเขาจึงเลี้ยวซ้ายอีกทีก็ถึงตรอกเล็กข้างบริเวณบ้านคุณแม้น ฯ ฝีเท้าที่ช้าอยู่แล้วยิ่งช้าลงกว่าเก่า เมื่อวิชัยกำลังถามตัวเองว่าจะกลับเข้าบ้านหรือแวะที่บ้านคุณแม้น ฯ ก่อน ด้วยเขานึกขึ้นได้ถึงคุณทั้ง ๒ ว่าเป็นผู้ปกติชอบสนทนาทางธรรม โดยไม่ล้าสมัยเกินไป และในเวลาที่วิชัยรู้สึกตัวหัวใจกำลังหมกมุ่นอยู่ในเรื่องเหลวใหลจนน่าบัดสีเช่นนี้ สิ่งใดเล่าจะเหมาะแก่ใจเขาเท่ากับได้ฟังคำสนทนาที่มีหลักควรแก่การยึดถือ
เขาตัดสินใจได้เมื่อเดินมาถึงช่องรั้วชบาพอดี ก้มตัวลอดเข้าในช่องเดินต่อไปอีก ๒ ก้าว เขาก็ซะงักเช่นเดียวกับที่ชะงักเมื่อประมาณสัก ๔ – ๕ เดือนก่อนหน้าวันนี้
ในที่เดียวกันกับวิชัยเคยมาพบอนงค์นั่งอยู่กับช้อย อนงค์นอนพังพาบกระดกเท้าอยู่ คางของหล่อนเกยอยู่กับมือประสานกัน มีหนังสือวางอยู่ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งเปิดแบอยู่ตรงหน้าอนงค์ แต่หล่อนมิได้อ่าน เหตุฉะนั้นหล่อนจึงมองเห็นเขาได้ในทันที
ผลุดลุกขึ้นนั่งอย่างรวดเร็วอนงค์ร้องว่า
“คุณพระ ! อุ๊ยตาย ! มายังไงนี่ ?”
พูดแล้วหล่อนยืนขึ้นอย่างว่องไว วิ่งตรงมายังพระอรรถคดี ฯ ทำท่าเหมือนจะเข้าไปประคองตัวเขาไว้
วิชัยถอยหลังโดยไม่ได้ตั้งใจ พร้อมกับที่อนงค์พูดว่า
“เกาะแขนอนงค์เถอะค่ะ จะไปไหน ดิฉันจะพาไปส่ง” พูดแล้วหล่อนยื่นแขนให้เขา
อีกฝ่ายหนึ่งสั่นศีรษะ แล้วตอบในสีหน้าแสดงความตื่น
“ฉันเดินได้แล้วไปเดินมารอบบ้านแล้วนึกถึงคุณที่นี่จึงแวะเข้ามา”
อนงค์หัวเราะขึ้นทันทีแล้วว่า
“จะหาคุณอาก็ต้องไปหาที่บ้านใหม่ของชัดซีคะ ท่านได้รับเชิญไปรดน้ำคู่บ่าวสาวเหมือนกันนี่”
“โอ๊ะ !” พระอรรถคดี ฯ อุทาน “ฉันนี่หลงเสียแล้ว !”
หญิงสาวมองดูเขาด้วยสายตามีแววประหลาด และพูดด้วยน้ำเสียงมีกังวานประหลาดเช่นเดียวกับแววตา
“คุณพระถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวซีนะคะ ขอให้อนงค์ได้เป็นเพื่อนในยามนี้เถิด ที่นั่น” ชี้ไปทางกรงนก “เย็นสบายและอากาศโปร่งดี เชิญไปนอนเล่นนั่งเล่นเถอะค่ะ หรือคุณพระอยากอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ก็ได้ ดิฉันจะไปนั่งเสียที่อื่น”
อันคำต้อนรับด้วยไมตรีจิต ที่แสดงออกโดยแข็งขันเห็นปานนั้นเห็นจะมีคนน้อยนักปฏิเสธไม่ยอมรับเสียได้ พระอรรถคดี ฯ ลังเลอยู่ชั่วอึดใจหนึ่งแล้วก็ตอบว่า
“ขอบใจในความกรุณา และถ้าฉันอยากอยู่คนเดียวฉันคงไม่มาที่นี่”
“แต่ดิฉันเกรงว่าจะเป็นเพื่อนคุยที่ไม่ดีพอสำหรับคุณพระ”
เขาพยายามยิ้มอย่างเห็นขันและตอบว่า
“แต่เราก็คุยกันได้นาน ๆ ไม่ใช่หรือ ?”
หญิงสาวยิ้มละไม “อย่างนั้นก็เชิญซีคะ” หล่อนว่า “ยืนนานเดี๋ยวจะเหนื่อย”
เมื่อแขกของหล่อนนั่งลงบนเสื่อแล้ว อนงค์รีบไปถึงริมลานหญ้า เรียกคนใช้มารับคำสั่ง ๒ - ๓ คำแล้วก็กลับมาหาวิชัย
“คุณได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้านแต่งด้วยไม่ใช่หรือ?” พระอรรถคดี ฯ ถาม
“ค่ะ เราได้รับเชิญทั้ง ๕ คน อีกประเดี๊ยวพี่ประสิทธิ์จะมารับอนงค์ เวลานี้เธอขอยืมรถไปเที่ยว”
“คุณก็รู้ว่าคุณอาจะไม่อยู่ ทำไมถึงมาที่นี่ หรือมาเปื่อย ๆ ไปยังงั้นเอง”
หล่อนมองดูเขาโดยมีความหมาย แต่วิชัยไม่ได้สังเกต หล่อนไม่ตอบคำถามของเขา เขาก็เลยไม่ถามอีก
คนใช้นำหมอนสำหรับห้องรับแขกมา ๒ ใบ กับถาดที่ชาฝรั่งมีเครื่องพร้อม หญิงสาวรับหมอนส่งให้วิชัยพลางว่า
“นอนซิคะ”
“ขอบใจ นั่งอยู่อย่างนี้ก็สบายแล้ว”
“โธ่ อย่างเกรงใจเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าคุณพระแข็งแรงอย่างคนธรรมดา นอนเถอะค่ะ ไม่นอนก็เอกเขนกซีคะ ไม่ควรจะดื้อเลย”
วิชัยเอนตัวเท้าข้อศอกลงบนหมอน แต่ขายังพับอยู่โดยเรียบร้อย อนงค์รินน้ำชาและถามจำนวนน้ำตาลกับนมที่เขาต้องการ วิชัยตอบแล้วพูดต่อ
“ดูเหมือนฉันถูกห้ามไม่ให้รับประทานน้ำชา หมอเขาว่าแสลงเส้นประสาท แต่วันนี้ลองขัดคำสั่งหมอดูสักหน่อย เพราะน้ำชาเป็นของโปรดของฉันอยู่ด้วย”
หญิงสาวมองดูเขาอย่างตรึกตรอง ถามว่า “สมควรหรือคะ” ครั้นเขาพยักหน้าอย่างมั่นใจ หล่อนจึงหัวเราะและส่งน้ำชาให้พร้อมกับจานขนมฝรั่ง
อาศัยที่วิชัยมิใช่เป็นคนเจ้ามารยา ประกอบกับท่วงทีที่อนงค์แสดงต่อเขานั้นดูประหนึ่งหล่อนถือว่า เขาเป็นผู้เคยสนิทสนมกับหล่อนแล้วอย่างที่สุด วิชัยจึงรับประทานขนมฝรั่งจนหมด ๒ ชิ้นและดื่มน้ำชาจนเกลี้ยงถ้วย
เมื่อคนใช้ยกถาดน้ำชาไปแล้ว วิชัยเปลี่ยนจากท่าเอกเขนกอย่างระวังกริยาเป็นท่าเอกเขนกอย่างสบาย อากาศโปร่ง ๑ ฤทธิ์น้ำชาที่ปรุงอย่างเหมาะเจาะ ๑ เสียงลมพัดใบไม้ไหว ๑ เสียงนกที่จู๋จี๋อยู่ในกรง ๑ คำหวานของหญิงที่มีลักษณะไม่ขัดตา และมีมารยาทอันควรแก่การพิศดู ๑ ทำให้วิชัยสดชื่นขึ้นเล็กน้อย ทอดตามองสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีใจจดจ่อถึงเรื่องใด ๆ อนงค์เห็นเขานิ่งเงียบอยู่เช่นนั้นจึงถามขึ้นว่า
“ดิฉันจะอ่านหนังสือให้ฟังเอาไหมคะ เรื่องมัทนะพาธา แต่คุณพระคงเคยอ่านแล้ว”
“ข้อนั้นน่ะไม่สำคัญหรอก อ่านแล้วฟังอีกก็ได้ แต่ว่าเมื่อมีเพื่อนที่จะคุยกันได้ดี ทำไมถึงจะอ่านหรือฟังหนังสือเสียเล่า หรือคุณกำลังอ่านค้างอยู่เมื่อฉันเข้ามาขวางความสำราญ ?”
“คุณพระเป็นคนทำให้ดิฉันสำราญขึ้น เพราะว่าเมื่อคุณพระเข้ามานั้น ดิฉันหยุดอ่านหนังสือแล้วกำลังลืมตาฝัน”
เขาเหลือบตาขึ้นมองดูหล่อน คำพูดประโยคสุดท้ายชักให้เขาคิดถึงความที่ได้สนทนากับหล่อนบนรถในคืนวันหนึ่ง นิ่งขรึมอยู่ในความคิดนั้นแล้ววิชัยก็ถอนใจ
ต่อมาอีกครู่หนึ่งประสาทในตัวบอกกับวิชัยว่า สายตาคู่หนึ่งจ้องดูเขาไม่วางตา เขาเงยหน้าขึ้นก็สบตาอนงค์อย่างจังที่สุด หญิงสาวมีโลหิตฉีดขึ้นหน้า พระอรรถคดี ฯ อึกอักหนังสือวางอยู่ใกล้ตาและใกล้มือเขาจึงหยิบมาเปิดตรงกลางเล่ม แล้วก็ถามขึ้น
“คุณอ่านถึงตรงไหนแล้ว ?”
อนงค์แลไปเห็นรูปนางมัทนายืนรำพึงถึงท้าวชัยเสนอยู่บนระเบียงอาศรม แล้วหล่อนตอบแก่เขาว่า
“อ่านจบตลอดเล่มแล้วค่ะ แล้วเลือกอ่านใหม่ตรงที่เพราะถูกใจ”
พระอรรถคดี ฯ ยังก้มหน้าอ่านหนังสือ อนงค์พูดขึ้นอีก
“สังเกตไหมค่ะ คนโบราณมักจะชอบพูดคนเดียว ดิฉันเห็นมีในหนังสือหลายเรื่องแล้ว”
เขาเงยหน้าขึ้นแล้วยิ้มแก้ว่า
“ไม่ใช่นะคุณ รำพันความในใจ”
“ก็รำพันออกมาดัง ๆ จากปากไม่เรียกว่าพูดหรือคะ ?”
“พูดเหมือนกันแหละ แต่ไม่ใช่พูดอย่างธรรมดาที่คน ๆ หนึ่งพูดกับอีกคนหนึ่ง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละครถ้าไม่พูดดัง ๆ คนดูทำไมถึงจะรู้เรื่องล่ะ”
“ก็ถูกแล้ว แต่ดิฉันก็ขันจนได้ อันที่จริงการพูดคนเดียวนั้นก็ให้ความสะดวกอย่างสำคัญเทียวนะคะ ถ้าดิฉันแน่ใจว่าเวลาพูดคนเดียวคนที่แผอิญมาได้ยิน จะเป็นคนที่ดิฉันอยากให้ฟังละก็ดิฉันจะพูดเหมือนกัน”
พระอรรถคดี ฯ มองดูหญิงสาวอย่างนึกสนุก
“คุณสังเกตด้วยหรือเปล่าว่า ข้อความที่ตัวละครรำพันดัง ๆ นั้น ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากความรัก เพราะฉะนั้นถ้าโรคพูดคนเดียวระบาดมาถึงผู้หญิงสมัยนี้ ผู้ชายก็จะสบายขึ้นอีกมาก”
“ว่าง ๆ ดิฉันจะลองดูสักวัน” อนงค์ตอบวางหน้าเฉย “เผื่อจะเคราะห์ดีได้เข้าหูคนที่ดิฉันต้องการให้ได้ยิน....” หล่อนหยุดชะงักกลางคำ ดวงตาเป็นประกายรุ่งโรจน์ และในขณะที่วิชัยเริ่มพิศวงในสีหน้าของหล่อนซึ่งมีโลหิตฉีดขึ้นจนแก้มแดงเป็นสาย อนงค์ก็เอ่ยขึ้นอีก
“ดิฉันติดใจในความดีอย่างประเสริฐของคน ๆ หนึ่ง เธอเป็นคนดีอย่างประหลาด ซื่อสัตย์ เที่ยงตรง มีศีลธรรมอย่างสูงและมีศรัทธาในการเสียสละอย่างแรงกล้า ดูเหมือนไม่มีสิ่งใดที่ใครเขาขอแล้วเธอไม่ให้แต่คน ๆ นี้มีเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือทั้งขาดความระแวงและความระวัง เพราะเช่นนั้นเมื่อเธอรักผู้หญิงคนหนึ่งก็ถูกคนรักซ้อน เมื่อเธอรู้ความจริงนั้นเธอมีทางที่จะขัดขวางต่อสู้เพื่อความรักของเธอได้ง่าย แต่เธอไม่ทำกลับสละหญิงนั้นให้เขาไป”
อนงค์หยุดพูดแลดูผู้ฟัง จึงประสานกับสายตาที่จ้องดูหล่อนเคร่งอยู่แต่อนงค์ไม่มีนิสัยทำอะไรแต่เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ จึงจ้องตอบเขาอย่างอาจหาญ และพูดด้วยเสียงมีกังวานซึ้ง แต่ว่าสั่นเล็กน้อย
“ถ้าอนงค์แน่ใจว่าเมื่อพูดคนเดียว จะเผอิญให้เธอผู้นั้นเป็นผู้ได้ยิน อนงค์จะรำพันว่าท่านผู้มีความดีเป็นยอดแห่งความดีทั้งหลาย ถ้าในโลกนี้มีความยุติธรรมอยู่บ้างก็จะต้องมีคนเห็นความดีของท่าน เดี๋ยวนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเห็นก่อน และเขาถือว่าเป็นลาภประเสริฐแก่เขา เขาถือว่าท่านเป็นยอดชายจะหาใครเหมือนไม่มีแล้ว เขารักความดีของท่านด้วยใจบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นตัวของเขาใจของเขา ๆ ขอยกบูชาความดีของท่านโดยไม่ขออะไรตอบแทนเลยนอกจากความกรุณาเพียงเล็กน้อย”
พระอรรถคดี ฯ เบือนหน้าไปเสียทางหนึ่ง แล้วหันกลับมาทางอนงค์ใหม่ ถามขึ้นด้วยเสียงห้าวเกือบเป็นเสียงดุ
“คุณรู้สึกตัวบ้างไหมว่า คุณชอบทำและชอบพูดอะไรที่อาจจะทำให้คนหัวหมุนไปด้วยความเข้าใจผิดได้ ?”
“ถ้าคนฟังเข้าใจตามที่อนงค์พูด เขาก็ไม่เข้าใจผิดซีคะ” อนงค์ตอบอย่างมั่นคง “คำพูดของอนงค์ฟังยากนักหรือ จะมีคนอยู่คนเดียวคือคนที่ไม่มีความระแวงและความระวัง จนปล่อยให้เขาแย่งคนรักไปเสียนั่นแหละที่ที่จะฟังไม่เข้าใจ และคน ๆ นั้นก็คือคุณพระนั่นเอง”
พระอรรถคดี ฯ อ้าปากค้างด้วยความตกตะลึง ออกสงสัยว่าหูของตัวฟังผิด หรือมิฉะนั้นก็ตัวกำลังจะบ้า นัยน์ตาเบิกกว้างจับอยู่ที่ใบหน้าหญิงสาว อึ้งอั้นอยู่ในความประหลาดใจเป็นล้นพ้น
“ในคืนที่เรานั่งพูดกันที่ทุ่งพระเมรุ” อนงค์พูดต่อไปด้วยเสียงค่อยและอ่อนหวานนุ่มนวล “อนงค์รู้ใจคุณพระดีว่าคุณพระคิดว่าอนงค์รักอยู่กับชัด ถึงได้ให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างอ่อนโยนที่สุด แต่ความจริงนั้นอะไร ๆ ที่อนงค์ถาม ไม่ได้ถามสำหรับตัวอนงค์ ถามสำหรับตัวคุณพระเอง เพราะได้รู้และได้เห็นว่าคุณพระเศร้าโศกนัก ให้นึกสงสัยว่าคุณพระจะยอมแพ้แก่ตัวเองง่าย ๆ อย่างนั้นแหละหรือ ขอรับประทานโทษอย่าหาว่าอวดดี อนงค์อยากจะให้คำพูดของคุณพระเองเตือนสติคุณพระด้วย ซึ่งคงจะไม่เป็นผล เพราะคืนนั้นเองโรคหัวใจของคุณพระกำเริบหนักขึ้น คนอย่างอนงค์น่ะหรือคะ ถ้าได้มีคู่รักแล้ว ไม่มีวันยอมให้คนอื่นแย่งไปได้หรอก แต่นี่อนงค์ไม่ได้ชอบชัดยิ่งกว่าเพื่อนธรรมดา ตัวบุคคลไม่ชนะใจอนงค์ได้ง่าย ๆ หรอกค่ะ แต่ความดีในตัวบุคคลนั่นแหละอนงค์เห็นแล้วก็รักจับจิตจับใจ และเพื่อที่จะได้ความดีนั้นมาคุ้มครองตัวอนงค์เพื่อความสุขใจภายหน้า อนงค์ขออุทิศทุก ๆ สิ่งให้แก่บุคคลที่เป็นเจ้าของความดีเมื่อท่านได้ให้อะไรใคร ๆ เขามากแล้ว ท่านจะไม่ยอมรับสิ่งที่เขาให้ท่านด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงหรือคะ”
ในขณะที่นิ่งฟัง สีหน้าอันซีดเซียวของวิชัยมีสีมากขึ้นทุกที ความพิศวง ความปิติด้วยความภาคภูมิใจ ความปรานี ความสงสาร เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นพร้อมกัน ทำให้แววตาของเขาอ่อนโยน พิศดูหน้าอันงามอยู่ด้วยความรู้สึกอันแรงกล้า แล้วพึมพำเบา ๆ
“โธ่ เด็กเอ๋ยเด็กศรัทธาแก่กล้านัก !” เว้นระยะพูดเสียงกระชับขึ้น “คุณก็รู้ว่าฉันเป็นคนมีแผลในใจ หรือที่ถูกใจของฉันเป็นแผลเสียแล้ว ฉันจะยกสิ่งใดให้ตอบแทนความปรารถนาของคุณได้”
“เพราะรู้อยู่ว่าใจของคุณพระเป็นแผล มีแผลที่เกิดจากความดีของคุณพระเอง อนงค์จึงรักแผลนั้นอยากจะได้เป็นคนรักษา จะชำระแผลและใส่ยาถอนพิษแต่เบา ๆ ทีละเล็กละน้อย ไม่ให้แผลกระเทือนแล้วกลับเป็นพิษขึ้นได้ คำพูดของคุณพระเอง ทุก ๆ สิ่งมีเกิดต้องมีดับ ถ้าอนงค์ตั้งใจรักษาแผลโดยไม่ใจเร็วด่วนได้ แผลจะไม่มีวันหายทีเดียวหรือคะ”
ในยามที่กำลังกายยังอ่อนนัก กำลังสติจึงไม่แข็งพอที่จะต่อต้านอำนาจสายตาอันแวววาวอยู่ด้วยความอ่อนหวานเชิงชวน ความเป็นผู้ชายของหัวใจที่ว้าเหว่พลุ่งขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน วิชัยก็อ้าแขนโอบตัวอนงค์มากอดไว้
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #3 on: 19 May 2022, 21:23:37 » |
|
๓๔
เช้ามาก แสงแดดยังเป็นสีเหลืองอ่อน อากาศตามถนนในพระนครยังบริสุทธิ์ด้วยไม่มีธุลีละอองและไอน้ำมันคลุกเคล้า หญิงชายชาวพระนครเพิ่งจะลุกขึ้นล้างหน้าและเริ่มคิดถึงกิจการประจำวัน ประตูบ้านคุณเมี้ยน สุนทรพงศ์ เพิ่งจะเปิดรับพระภิกษุที่คอยรับอาหารบิณฑบาต เมื่อคุณผู้เป็นเจ้าของบ้านเห็นรถยนต์คันหนึ่งเลี้ยวเข้ามาในประตู และแล่นอ้อมสนามหญ้าไปหยุดที่ข้างเรือน
ผู้ที่ขับรถยนต์คนนี้ และก็เป็นคนเดียวที่นั่งมาในรถเป็นหญิงสาวแต่งตัวเรียบ ๆ เหมาะแก่เวลา คือนุ่งซิ่นไหม สวมเสื้อขาวมีปกสูง สวมรองเท้าหนังขาวเกลี้ยงส้นสูงไม่เกิน ๓ นิ้วฟุต
เจ้าหล่อนผู้นี้ลงจากรถแล้วก็เดินตัดสนามตรงไปยังที่ ๆ เจ้าของบ้านยืนถวายอาหารแก่พระสงฆ์อยู่ คุณแม้นกับคุณเมี้ยนหันมายิ้มและพยักหน้ารับไหว้ แต่มิได้ออกปากถามแสดงความประหลาดใจ ในข้อที่หลานมาผิดเวลาเช่นนี้ เพราะเหตุว่าในเวลาที่ประกอบกุศลกิจ ไม่เป็นการไม่เคารพต่อท่านผู้ทรงสิกขาบท ซึ่งยืนรับอาหารอยู่ในท่าสงบและสำรวม
เมื่อพระสงฆ์องค์สุดท้ายเดินผ่านไปแล้ว คุณแม้นจึงถามว่า “มาแต่เช้ามีธุระอะไรหรือ หรือไปไหนมา”
“ออกจากบ้านก็ตรงมานี่แหละค่ะ” อนงค์ตอบเสียงใสพร้อมกับถอนใจอย่างโล่งอก ในการที่ต้องยืนอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลาตั้ง ๑๐ นาทีนั้นไม่เป็นสิ่งสนุกสำหรับหล่อนเลย
“เก่งจริง ตื่นแต่เช้ามีธุระอะไรหรือ ?”
อีกคุณหนึ่งมองดูหน้าหลานสาวแล้วตอบว่า
“เห็นจะไม่มีอะไร นอกจากความคิดแผลง ๆ หรือมิฉะนั้นก็ขับรถเอาอากาศบริสุทธิ์ ถ้าไม่มีธุระแม่จะยืนรอจนใส่บาตรเสร็จก็ดีน่ะซี”
อนงค์หัวเราะเบา ๆ และเพราะเหตุที่คุณทั้ง ๒ เป็นผู้สูงอายุ เมื่อจะเดินก็เดินอย่างเชื่องช้า อนงค์ผู้ซึ่งเดินเคียงท่านมาด้วย จึงออกอัดใจและได้สะบัดขาบ้าง เดินเขย่งบ้าง หลายครั้ง
แต่พอเข้าในชาลาใต้เรือนแล้ว คุณทั้ง ๒ นั่งลงบนเตียงไม้สักซึ่งท่านเคยใช้เป็นที่นั่งเล่น อนงค์คุกเข่าลงข้าง ๆ เปิดกระเป๋าถือหยิบจดหมายฉบับหนึ่งส่งให้คุณอา
“อะไรจ๊ะ ?” ผู้รับถาม
“จดหมายที่คุณพระบ้านโน้นเขียนถึงอนงค์ค่ะ”
คุณพี่คุณน้องมองดูตากัน คุณหนึ่งถามว่า
“จะให้อาอ่านหรือ ?”
“ค่ะ อนงค์มาหาคุณอาก็เพราะเรื่องนี้”
อีกครั้งหนึ่งดวงตาทั้ง ๒ คู่มองกัน คุณเมี้ยนคลี่จดหมายพลางพูด
“ไม่ใส่แว่นก็มองไม่เห็นเท่านั้น”
อนงค์ลุกขึ้นว่องไว วิ่งขึ้นบนเรือน
ในระหว่างที่คอยแว่นตา คุณแม้นกับคุณเมี้ยนก็พยายามจะดูข้อความในจดหมายให้ได้ด้วยตาเปล่า ชูแผ่นกระดาษขึ้นจนชิดหน้า แล้วคุณแม้น ก็อ่านขึ้นดัง ๆ
“คุณอนงค์”
“สั้น ๆ เท่านั้นเองหรือ ?” คุณที่ฟังอยู่ถาม “อะไรของเขานะ?”
“ถ้าจะเมียงเข้ามาเป็นหลานเขยเธอน่ะซี” มองไปตามกระดาษจดหมาย “ดูมันยืดยาวนักนี่”
“ไฮ้ อย่าอึงไป เดี๋ยวเด็กเล็กมันได้ยินเข้า” ลดเสียงเบาลงอีก
“ก็ดีหรอก แต่น่ากลัวจะเอาไว้ไม่อยู่ ของเราออกเปรียวราวกะปรอท”
พอเด็กหญิงนำแว่นตามาส่งให้ ทั้ง ๒ คุณต่างรีบสวมแว่นเข้ากับตา แล้วต่างคนต่างช่วยกันถือช่วยกันอ่านจดหมายอันมีเนื้อความดังต่อไปนี้
ก่อนที่จะพูดถึงสิ่งใด ฉันต้องอ้อนวอนขอรับประทานโทษในข้อที่ได้ล่วงเกินคุณไป เพราะความที่คุมสติไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่าได้กระทำ กิริยาหยาบคายมาก แต่ขอให้เชื่อว่าใจของฉันนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ตั้งใจจะล่วงเกินด้วยความลำพอง จะโทษอะไรก็ไม่ถนัด จึงโทษตัวเองที่ไม่มีความระวังตัว ขอได้โปรดอภัยให้ด้วย
คุณทั้ง ๒ หยุดลงพร้อมกัน หันไปถามอนงค์ผู้ซึ่งนั่งพิงเสาอยู่ทางหนึ่ง
“แกทำอะไรหนู ?”
“ไม่มีอะไรหรอกค่ะ” หญิงสาวตอบอย่างไม่เอาใจใส่ “แกคิดมากไปยังงั้นเอง”
คุณอามองดูหลานอย่างสงสัยแล้วจึงอ่านต่อไป
ฉันได้ตรึกตรอง ทบทวนถึงข้อความที่คุณพูดกับฉันโดยละเอียด รู้สึกขอบคุณในความเมตตาของคุณอย่างสูงสุด และมากมายเกินที่จะพรรณนาให้ถูกถ้วนได้ แต่ว่าคุณอนงค์ คุณยังเด็กนัก คุณอ่อนกว่าฉันถึง ๑๓ - ๑๔ ปี ยังอยู่ในวัยที่สดชื่นเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ ความรู้สึกของคุณกำลังแรง สิ่งที่คนปูนฉันเห็นเป็นสถานประมาณคุณอาจจะเห็นเกินไปกว่านั้น สิ่งใดที่พอดีคุณจะเห็นเป็นดีเลิศ และสิ่งที่ทรามหน่อยคุณจะเห็นเป็นเลวถึงชั่วช้า ขอโทษที่กล่าวตามตรงเช่นนี้ หวังว่าคุณจะให้อภัย ความนิยมของคุณในการกระทำของฉันนั้นนับว่าเป็นบุญคุณแก่ฉันมาก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นพยานให้เห็นประจักษ์ว่า กุศลกรรมของฉันผลิผลทันตา และเพราะเหตุที่ฉันถือว่า ฉันเป็นลูกหนี้ความเมตตาของคุณเช่นนี้ ฉันจึงถือเอาความเมตตาของคุณเป็นประโยชน์แก่ตัวไม่ได้ จนกว่าจะชี้แจงเหตุขัดข้องบางประการให้คุณเห็นเสียก่อน
ข้อแรกฉันไม่ใช่คนหนุ่ม อายุของฉันเกือบจะเข้า ๔๐ ความคิดความอ่านก็เฉื่อยชาไม่เฉียบแหลมว่องไว และฉันเคยมีภรรยาซึ่งได้ตายไปเสีย ๑๐ ปีกว่าแล้ว ข้อนี้บางทีคุณจะยังไม่เคยทราบ ขอให้คุณพิจารณาว่า ถ้าคุณจะนำชีวิตอันรุ่งโรจน์ของคุณมาร่วมกับชีวิตอันเหี่ยวแห้งทรุดโทรมของฉัน คุณเชื่อแน่หรือว่าจะเป็นสุข จะเสียใจ และความไม่สงบก็จะเกิดขึ้นแก่เราทั้ง ๒ ฝ่าย
ข้อที่ ๒ ฉันเป็นคนจน ไม่มีสมบัติสิ่งใด เท่าที่มีกินมีใช้ก็ได้อาศัยแต่เงินเดือน นอกจากนั้นฉันยังมีแม่ มีน้อง มีหลาน ซึ่งฉันต้องทะนุบำรุงให้มีความสุข ส่วนคุณเป็นคนมั่งคั่ง ถ้าจะปริมาณทุนทรัพย์ของเราทั้ง ๒ ฝ่ายก็ต่างกันราวกับฟ้ากับดิน และถ้าหากคุณจะนำทุนทรัพย์ของคุณมาสมทบกับทุนทรัพย์ของฉัน ฉันก็เป็นฝ่ายได้เปรียบข้างเดียว ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกละอายใจมาก
นอกจาก ๒ ข้อที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีเรื่องความเห็นชอบทางญาติของคุณจะต้องนึกถึงให้มากเพราะฉันรู้จักฐานะ และรู้จักตัวของฉันดีกว่าที่คุณรู้จัก หมายความว่าคุณมองดูฉันด้วยความลำเอียงของคนที่มีความรู้สึกแรงกล้า ความดีที่ใคร ๆ เขาไม่เอาใจใส่คุณก็ยกย่องเสียเลิศลอย ทำให้ฉันออกจะแน่ใจว่าญาติของคุณทั้งชั้นผู้ใหญ่และชั้นเด็ก จะไม่เห็นดีด้วยกับความศรัทธาของคุณเป็นแน่
อาศัยเหตุถามที่ได้บรรยายมาแล้ว ฉันขออ้อนวอนด้วยถือความภักดีต่อคุณเป็นที่ตั้ง ให้คุณใคร่ครวญถึงผลที่จะเกิดภายหลัง เมื่อฉันได้ถือประโยชน์จากความเมตตาของคุณแล้ว ความศรัทธาของคุณจับใจฉันมาก แต่คุณจะต้องนึกถึงความสุขของคุณก่อน ดวงใจ ๒ ดวงจะเชื่อมกันโดยสนิท เพราะการวิวาห์นั้นจะต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ปัจจัยเปล่านี้อาจจะบกพร่องทางฝ่ายฉัน แล้วจะเป็นเหตุให้ชีวิตของคุณเหี่ยวแห้งโรยรา เพื่อความเจริญแห่งชีวิตของคุณซึ่งฉันตีราคาไว้อย่างสูงโปรดทบทวนถึงเหตุผลทั้งหลาย ทั้งที่ฉันกล่าวแล้วและที่ไม่ได้กล่าว เพราะนึกยังไม่ถึงให้ละเอียดถี่ถ้วนด้วย
ฉันจะไม่คอยรับคำตอบของคุณก่อนเวลา ๑ เดือนล่วงแล้ว หลังจากวันที่คุณไต้รับจดหมายนี้ ในระหว่างนั้น เพื่อป้องกันการลำเอียงอันจะเกิดแก่คุณ เพราะฟังเรื่องที่เข้ากับฉันมากเกินไป เราจะยังไม่ควรติดต่อกันโดยทางพบ ทางพูด ทางเขียน หรือแม้ทางฟังข่าวจากญาติสนิทของฉัน โปรดถือเอาโอกาสนี้พิเคราะห์ถึงความรู้สึกของคุณให้ลึกซึ้งโดยไม่ต้องพะวงถึงสิ่งใด ๆ ที่ล่วงมาแล้ว ขอให้เชื่อว่าการห่างเหินจากกันโดยเด็ดขาดชั่วคราวนั้นจะทำให้ความคิดของคุณสว่างขึ้น และคุณจะได้วินิจฉัยทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวแก่ตัวฉัน โดยเที่ยงตรงตามความจริงทุกประการ
ในที่สุด อนุญาตให้ฉันกล่าวซ้ำอีกครั้งว่าฉันมีความรู้สึกในความเมตตาของคุณอย่างสูงสุด และจะรู้สึกเช่นนี้จนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต
ขอได้รับความภักดีอันแท้จริง
พระอรรถคดีวิชัย
อ่านจบคุณเมี้ยนลดจดหมายจากระดับตาแล้วพูดว่า “ไม่รู้เรื่อง”
“ไม่รู้ว่าอะไรไปทางไหนมาทางไหน” อีกคุณหนึ่งต่อ พลางถอดแว่นตา หันไปทางหลานสาว “เล่าไปซิจ๊ะมายังไงไปยังไงกระเถิบเข้ามานี่เถอะน่ะอะไรนั่งห่างนัก”
อนงค์ค่อย ๆ ลุกจากที่นั่งมานั่งบนเตียงข้างคุณอา คุณอาทั้ง ๒ ต่างตั้งใจฟังคำอธิบาย แต่อนงค์ก็อ้ำอึ้งไม่ค่อยจะเอ่ยปาก ต่อคุณอาเตือนซ้ำหล่อนจึงทำใจให้กล้าได้พูดขึ้นเบา ๆ แต่ชัดเจน
“คุณอาก็เคยทราบเรื่องส่วนตัวของคุณพระอย่างละเอียดแล้วไม่ใช่หรือคะ คุณอาเคยชมว่าเธอเป็นคนดีหาตัวจับยาก อนงค์ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน”
คุณพี่คุณน้องพยักหน้า จ้องดูหลานอย่างกระหาย
“เมื่อวานซืนนี้ ระหว่างที่คุณอาไปรดน้ำ คุณพระมาพบกับอนงค์ที่นี่”
“นัดกันยังงั้นหรือ ?”
“เปล่าค่ะ อนงค์มาเปื่อย ๆ คุณพระจะมาหาคุณอาเพราะโรคขี้ลืมตามเคยของเธอ จึงเผอิญมาพบอนงค์ อนงค์ชวนให้เธอนั่งเล่นข้างกรงนก นั่งคุยกันอยู่สักครู่แล้วอนงค์ก็พูดเรื่องนั้น”
“พูดว่ากระไร ?”
อนงค์ก้มหน้า ตอบเสียงเบาลง
“พูดว่าอนงค์เห็นเธอเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขอยกตัวของอนงค์บูชาความดีของเธอ”
ไม่มีเสียงออกจากปากผู้ฟัง ผู้เล่าใจเต้นแรงขึ้นนึกอยากจะเห็นสีหน้าของท่าน แต่ไม่อาจเหลือบตาขึ้นดู
เสียงกระดาษไหว แล้วคุณคนหนึ่งถามขึ้นว่า
“แล้วเขาตอบมาด้วยจดหมายฉบับนี้หรือ ?”
อนงค์ยังไม่ทันตอบ อีกคุณหนึ่งก็สวนขึ้น
“น่ารักจริง ! ขอให้ดูหลานของเธอ ความที่เป็นเด็กสมัยใหม่นี่หากว่าเป็นผู้ชายอย่างพระอรรถ ฯ ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะว่าอย่างไร ผู้หญิงยกตัวเองให้ผู้ชายก่อนโดยที่เขาไม่ได้ขอ มีใครเขาทำกันบ้างในโลกนี้ !”
“นี่แหละโทษที่ถูกตามใจจนเคยตัว อยากทำอะไรก็ทำได้ แล้วต้องทำให้ทันใจ แต่เรื่องพรรค์นี้มันเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ เมื่อไหร่ ใคร ๆ เขารู้ไปแล้วไม่มีทางดีเลยมีแต่ทางเสียเท่านั้น นี่หากว่าเป็นผู้ชายอย่างพระอรรถ ฯ”
อนงค์มีน้ำตาคลอ ตอบเสียงเครือว่า
“ถ้าเป็นคนอื่นอนงค์ก็ไม่พูดกับเขาอย่างนั้น”
“ถึงพระอรรถ ฯ ก็เถอะ ไปไว้ใจเขาได้อย่างไรเขาเป็นผู้ชายนี่ เรื่องพรรคนี้ใครเขาก็ถือ เขาจะเห็นว่าเราดีอย่างไรได้ ป่านนี้เขาจะมินึกว่าอนงค์นี่หน้าหนานัก เป็นผู้ดีเสียเปล่าไม่มียางอาย !”
หญิงสาวเงยหน้าขึ้นโดยเร็ว คุณอาทั้ง ๒ จึงเห็นว่าหล่อนกำลังร้องไห้ ท่านรู้สึกไม่เป็นสุขขึ้นทันที จะปลอบก็ไม่ถนัดปาก ท่านจึงถามขึ้นว่า
“อนงค์เอาจดหมายให้อาดูทำไม จะให้อาทำอะไรหรือ ?”
“เขาเตือนให้อนงค์นึกถึงความเห็นชอบของญาติค่ะ” อนงค์ตอบในเสียงสะอื้น “แต่ญาติอื่น ๆ อนงค์ก็ไม่เห็นสำคัญ เห็นแต่คุณอา ๒ คนเท่านั้น”
“การที่จะได้พระอรรถ ฯ เป็นหลานเขยน่ะ อายิ่งเสียกว่าเห็นชอบอีก เห็นดีดีใจทีเดียว เพราะอารักคน ๆ นี้เหมือนลูกหลานแท้ ๆ แต่ที่อนงค์ยกตัวเองให้เขาก่อนน่ะอาทนไม่ไหวจริง ๆ ถึงตัวพระอรรถ ฯ เองเขาก็คงไม่เห็นดี แต่เขาเป็นคนมีกิริยามารยาทถึงได้พูดอย่างในจดหมาย อนงค์ใจเร็วเกินไป ไม่นึกถึงทางได้ทางเสีย เรื่องพรรค์นี้ชอบให้พี่น้องเขาจัดการให้ถึงจะถูก นี่กลับไปบอกตัวผู้ชายเขาเองมันน่าเกลียดน้อยไปหรือ ?”
“ไม่มีอะไรนอกจากจะหัวใหม่จวัดนัก ถึงได้กล้าผิดผู้หญิงเขาทั้งหลาย แต่ว่าพระอรรถ ฯ เขาไม่ใหม่เหมือนแกนี่นา แกรู้จักเขาเป็นนานแล้วยังไม่รู้อีกหรือว่าเขาเป็นคนสุภาพเรียบร้อยและขนบธรรมเนียมจัดเพียงไร ความประพฤติกิริยาท่าทาง จะพูดจะจาเป็นไทยเก่าทุกกระเบียดนิ้ว ตัวเขาเป็นผู้ชายยังไม่รุ่มร่ามเรื่องพรรค์นี้สักนิด ตัวเป็นผู้หญิงกลับไปรุ่มร่ามกับเขาก่อน เผื่อเขาไม่ชอบตัวจะว่ายังไง อากลัวเขาจะเข้าใจผิดไปต่าง ๆ น่ะนา”
“เป็นเพราะอนงค์สงสารเธอเหลือเกินค่ะ” หญิงสาวพูดเสียงสั่นด้วยแรงสะอื้น “วันนั้นเป็นวันที่จันทรแต่งงานด้วย เห็นเธอเดินโซเซมารู้สึกว่าเธอคงจะว้าเหว่เหลือเกิน ตัวหรือก็กำลังเจ็บใจหรือก็ตกอยู่ในความทรมาน อนงค์ทนความสงสารไม่ไหวจึงได้พูดออกไป” เสียงหล่อนดังขึ้นเล็กน้อย แสดงความรู้สึกร้อนแรง “อยากให้เธอรู้ว่าเธอทำความดีไม่เสียเปล่า มีคนเห็นความดีของเธอ จึงรักเธอยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก เผื่อยังไงจะได้ปลอบใจเธอให้หายเศร้าได้บ้าง”
สตรีผู้สูงอายุทั้ง ๒ นั่งมองดูหลานด้วยความยุ่งใจ ในส่วนตัวของท่านนั้น อาศัยที่ท่านมีน้ำใจและความคิดกว้างขวาง จึงนึกหาเหตุผลให้แก่ตัวจนสามารถเข้าใจอนงค์ได้ดี แต่เมื่อนึกถึงคนอื่น ๆ ทั้งหลายตลอดจนถึงคนสำคัญคือตัวพระอรรถคดี ฯ เอง ท่านให้นึกสงสัยว่าเขาจะไม่เข้าใจหลานท่านเป็นแน่แท้
อนงค์พูดต่อไป ดวงตาอันแดงก่ำจ้องอยู่ในที่ว่างเปล่า
“คนอย่างพระอรรถ ฯ ไม่น่าจะนึกว่าอนงค์เป็นผู้หญิงไม่มียางอาย ถ้าอนงค์เกี้ยวผู้ชายเพราะความต้องการอย่างต่ำ ทำไมถึงต้องมาเกี้ยวคนอย่างพระอรรถ ฯ คนอื่น ๆ หนุ่มกว่า สวยกว่า มั่งมีกว่า โก้กว่าถมไป เขาไม่รอให้อนงค์เกี้ยวเขาสักที เพียงแต่ต้องคอยปฏิเสธไม่รับรักของเขาเหล่านั้น ก็เมื่อยปากเหลือเกินแล้ว ไหนว่าเป็นคนดีพิเศษ ไม่เคยเห็นความชั่วของมนุษย์เห็นแต่ความดีเมื่ออนงค์หวังดีบูชาด้วยใจบริสุทธิ์ ทำไมถึงกลับคิดเห็นในทางชั่ว” พูดขาดคำอนงค์ก็ยกมือขึ้นปิดหน้าและสะอื้นดัง
“จุ๊ย์ ๆ” คุณเมี้ยนทัก “เอ็ดตะโรขึ้นไปได้ นี่โกรธพระอรรถ ฯ หรือโกรธอา ?”
“ไม่โกรธคุณอาค่ะ” อนงค์ตอบ สั่นศีรษะประกอบคำพูด “อนงค์เข้าใจคุณอาดี ทราบล่วงหน้าแล้วว่าถ้าเล่าความจริงก็จะต้องถูกดุ แต่อนงค์ไม่เข้าใจพระอรรถ ฯ”
“ก็นี่พระอรรถ ฯ เขายังไม่ว่ากระไรสักคำนี่นา” คุณแม้นกล่าว “สำนวนจดหมายของเขาก็ออกเรียบร้อย พูดเสียออกเพราะเจาะ แล้วก็เป็นหลักเป็นฐานดี ล้วนแต่เตือนให้อนงค์คิดถึงความสุขของตัวเท่านั้น ไม่ได้ตำหนิติเตียนอะไรเลย”
“แต่ใจของเขาตำหนิค่ะ !” อนงค์ตอบอย่างมั่นคงและสะอื้นถี่ขึ้น โดยมิได้สำนึกว่าคำพูดนั้นเป็นคำสารภาพที่แสดงความจริงให้คุณอาเห็นว่า ตัวของตัวก็รู้อยู่ว่าการกระทำของตัวไม่งามนัก
แต่อาการปริเวทนาของอนงค์ทำให้คุณทั้ง ๒ เดือดร้อนไม่น้อย เป็นที่เข้าใจกันอยู่ในหมู่วงศ์ญาติว่าอนงค์ไม่มีนิสัยอ่อนแอเจ้าน้ำตาเหมือนผู้หญิงสาวทั้งหลาย เพราะตั้งแต่หล่อนเติบใหญ่ขึ้นมาแล้ว ดูเหมือนจะไม่มีใครเห็นหรือรู้ว่าอนงค์ร้องไห้ เคืองนิด ๆ รำคาญหน่อย ๆ และสงสารมาก คุณเมี้ยนจึงว่า
“ก่อนที่ตัวจะพูดกับเขาทำไมไม่นึกเสียก่อนว่าเรารู้ใจเขาแค่ไหน เดี๋ยวนี้เกิดจะมาทำเป็นคนรู้แล้วก็ตีโพยตีพาย ความจริงไอ้เรื่องที่เราปรารภกันนั้นมันอาจจะไม่เป็นเรื่องจริงสักนิด ฝ่ายผู้ชายเขาอาจจะชอบใจเห็นว่าเราดี หรือมิฉะนั้นก็นึกสงสารเลยไม่นึกติเตียนอะไรก็ได้เพราะเขาเป็นคนใจดีจริง ๆ ไม่เคยหาความร้ายใส่ใครเลย”
“สงบกันเสียทีเถอะ” คุณแม้นตัดบท “เรื่องมันแล้วไปแล้วแก้ไขไม่ได้ เราอย่าเพิ่งเชื่อว่าพระอรรถ ฯ เขาเห็นเราเลว แต่ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเขาเห็นดี เขาบอกให้เราตรึกตรอง ก็ตรองดูให้รอบคอบแล้วก็รอฟังเขาไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามอนงค์ต้องจำใส่ใจไว้ว่า การทำอะไรตามอำเภอใจและตามสมัยหัวใหม่เกินไปนั้นอาจจะนำผลร้ายมาให้เรา ไม่ว่าจะทำอะไรหมด ควรจะเดินสายกลาง คือค่อยคิดค่อยทำไม่พรวดพราด มิฉะนั้นจะต้องนั่งร้องไห้อย่างที่ตัวกำลังร้องอยู่นี่แหละ”
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #4 on: 19 May 2022, 21:26:35 » |
|
๓๕ พระอรรถคดีวิชัยเดินเตร่อยู่ตามถนนในบ้านแต่ผู้เดียว เมื่อเห็นรถฟอร์ดคร่ำคร่าคันหนึ่งแล่นเข้ามาในประตู แล้วหยุดกึกอยู่ริมสนาม
หลวงศักดิ์รณชิตโดดลงจากรถ เจ้าของบ้านสาวเท้าไปรับ ท่านนายพันตรีพูดว่า
“หลวงธุรกิจ ฯ เขาให้กันมาเอาเรื่องละคร”
“ชะ อะไรใจร้อนกันจริงนะ กันตั้งใจจะเอาไปให้แกพรุ่งนี้แล้วเทียว”
“ไอ้เรื่องละครน่ะ ไม่สู้ร้อนเท่าไรหรอกถึงแกเขียนยังไม่เสร็จก็ไม่มีใครเขามาบีบคอแก เดี๋ยวนี้พวกเขาเกณฑ์ให้กันมาลากคอคนเขียนไปกินข้าวค่ำวันนี้”
“อ๋อ ! นี่ไหมล่ะ เขาว่าสันดานทหารพูดไม่เป็นจะมาเรียกเขาไปกินข้าว เป็นบุญคุณหยอกอยู่หรือ ผ่ามาบอกว่าจะมาเอาเรื่องละคร”
“อุวะ กันไม่ใช่พวกนักกฎหมายนี่หว่า ไอ้ห่ ! เท่านี้ก็ต้องพิถีพิถัน วันนี้เขาประชุมกรรมการ เขาต้องการจะได้เรื่องละครไปเข้าประชุมพร้อมกับคนเขียนด้วย”
“แต่กันยังไม่อยากเข้าประชุมกับเขาเลย เวลาได้ยินเสียงเอะอะกันออกจะเหนื่อย อีกอย่างหนึ่งประชุมแล้วก็เลี้ยง เลี้ยงก็คือกินเหล้าแล้ว กว่าจะได้กลับก็ดึก มันแสลงโรคของกันทั้งนั้น”
หลวงศักดิ์ ฯ มองดูเพื่อนอย่างตั้งใจแล้วว่า
“อันที่จริงแกก็แข็งแรงดีแล้ว แต่ว่าอะไรที่หมอเขาห้ามก็ไม่ควรทำ เดี๋ยวจะมาเจ็บเป็นบ้าอย่างคราวนั้น
“ขอบใจ !” วิชัยตอบแกมหัวเราะ “เป็นอันว่ากันไม่รับเชิญนะ”
“ฮะ ไม่ใช่แล้วกัน ! พูดอะไรอย่างนั้น แกต้องไปแต่ไม่กินเหล้า แล้วต้องกลับก่อนคนอื่น ไอ้ห่--ไอ้เราอาสาเขามาว่าจะเอาตัวไปให้ได้ นี่กลับตีขลุมเพราะเราพูดดีหน่อยเลยพาลจะไม่ไป”
“พนันกับใครไว้หรือเปล่าว่าจะเอาไปได้หรือไม่ได้ ?”
“ว้า ! คำนี้อั๊วไม่ยอมตอบเด็ด ๆ ให้ดิ้นตายซีวะนายอาจจะมีเจตนาร้าย แกล้งให้ฉันต้องเสียค่าเหล้าเลี้ยงคนทั้งสโมสรก็ได้”
ท่านผู้พิพากษาหัวเราะถามว่า
“เราต้องไปถึงที่โน่นเวลาเท่าไร ?”
“ทุ่มตรง ๒ ทุ่มกินข้าว ถ้าแกยังใจเสาะเป็นปลาซิวจะไปถึงเวลากินข้าวทีเดียวก็ได้”
“ดีแล้ว” วิชัยว่า “ไปนั่งคุยกันก่อนชี หรือแกมีธุระจะไปไหนอีก ?”
“ไม่มี” เป็นคำตอบสั้น ๆ ตามเคย
๒ สหายพากันไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วหลวงศักดิ์ ฯ ถามว่า
“แม่ยายอั๊วอยู่ไหม”
“ไม่อยู่ ไปบ้านชัด”
“ดี ! พ้นทุกข์ น้องเมียอั๊วล่ะ ?”
“ไม่อยู่เหมือนกัน ไปกับคุณแม่ เห็นไหมความที่กันไม่อยากไปไหน อุตส่าห์ทนอยู่บ้านคนเดียว ถึงจะเหงาหน่อยก็ยังดีกว่าต้องฟังเสียงจ้อกแจ้ก”
“โอ๊ย !” หลวงศักดิ์ร้องดัง “นี่ไหมล่ะเขาว่าหัวกฎหมายความที่เคยตลบปลิ้นหาประโยชน์ใส่ตัวจนติดสันดาน แก้เกี้ยวออกมาได้ราวกับใครเขาไม่รู้เท่าว่าตัวเกือบจะไม่เคยเหยียบบ้านนั้นเลย ถ่านไฟเก่าใคร ๆ เขาก็รู้ ไอ้บ้า !”
“พูดเป็นบ้าไปน่ะ” พระอรรถคดี ฯ ขัดขึ้นโดยเร็ว “ถ่านแถ่นที่ไหน ไอ้เราชอบเขาข้างเดียว จะหาว่าเป็นถ่านไฟเก่ายังไงได้ ลิ้นของแกมันคอยแต่กระดิกสำหรับเรื่องบ้า ๆ พรรค์นี้เสมอ”
“เซ่อระยำ !” หลวงศักดิ์ ฯ กล่าว พอจะพูดต่อวิชัยก็ขัดขึ้นอีก
“รู้หรอกน่า ! แกบอกกันสัก ๑๐๐ หนแล้ว เลิกบอกเสียทีเถอะ ทำไมไม่นึกเสียบ้างว่าความเซ่อของกันให้ผลดีแก่ทุก ๆ คน ดูตาชัดสิเดี๋ยวนี้รู้อยู่เพียงไร ไม่ใช่เพราะความเซ่อของกันปล่อยให้แกได้แต่งงาน--แม่จันทร ดอกหรือ ?”
“โอ๊ย ยังใหม่อยู่นะซีพ่อคุณ ! รออีก ๒ - ๓ เดือนเถอะวะ แต่ถึงอย่างไรแม่ยายอั๊วคงปลื้มลูกชายพิลึกนะ”
“ก็แน่ละ ลูกดีแม่ก็ต้องชื่นใจ”
“อีควรจะไหว้ลื้อเสียทีหนึ่ง ค่าที่อีด่าลื้อมาก โอ๊ยอีหมู่นั้นอีไปบ้านอั๊วทีไรอั๊วต้องเผ่นหนี ขี้เกียจโดนฝอยน้ำหมาก”
วิชัยยิ้มขรึม ๆ ความคิดแล่นไปสู่ความหลัง หลวงศักดิ์ ฯ พูดขึ้นอีก
“พูดมากคอแห้งเสียแล้ว หาเบียร์ดื่มสักถ้วยเถอะน่า หรือท่าจะไม่มี เจ้าของบ้านมันหน้าเซ่อนักนี่”
“ก็เจ้าของบ้านแตะแอลกอฮอล์ได้เมื่อไหร่ล่ะเดี๋ยวนี้ แต่เขาก็คงหามาสำหรับแขกได้หรอก”
พูดแล้ววิชัยลุกขึ้น กวักมือเรียกเด็กคนหนึ่งที่เดินอยู่ตรงริมเรือนสั่งให้ไปตามนายบ๋อยมาหา
เมื่อคนใช้ผู้มีเชื้อสายเป็นลูกจีนมาถึง หลวงศักดิ์ ฯ ก็ถามขึ้นว่า
“ทิดนี่ใช่ไหมที่ชอบเทน้ำรดหัวนาย ?”
“ไอ้แกละมันคอยจำแต่เรื่องอัปมงคลทั้งนั้น” วิชัยพูดแกมหัวเราะ “ถึงทีเวลานายมันเจ็บมันอดหลับอดนอนพยาบาลทำไมไม่พูดถึงบ้าง” แล้วเขาสั่งให้บายบ๋อยไปจัดการหาเบียร์ให้เพื่อน
ในเวลาหลวงศักดิ์ ฯ จิบเบียร์ พลางคุยกับสหายอย่างเพลิดเพลินนั้น มีรถยนต์คันน้อยแล่นเข้ามาในบ้านอีกคันหนึ่ง เขาทั้ง ๒ มองดูรถอย่างทึ่ง แล้วหลวงศักดิ์ ฯ พูดเบา
“เอ๊ะ ! ไอ้นายทึ่มนี่มันขับรถได้ด้วยนะ แต่อั๊วไม่ยอมนั่งไปด้วยเด็ด กลัวมันพาไปทิ่มรก”
วิชัยไม่เอาใจใส่ในคำพูดของเพื่อน สีหน้าของเขาเปลี่ยนไปในทันทีที่จำรถและคนขับได้ แต่กิริยาที่ลุกขึ้นไปต้อนรับนั้น ไม่แสดงความกระตือรือล้นเกินกว่าธรรมดา
นายประสิทธิ์เดินพลาง “ฮี่” พลางจนมาถึงตัววิชัยเจ้าของบ้านถามว่า
“สบายหรือคุณ กลับจากเหนือตั้งแต่เมื่อไร ?”
“หลาย ฮี่ นานฮี่ ๆ ๆ ผมเป็นทูตมา” แล้วเขาหยิบชองจดหมายกว้างยาวไม่เกิน ๔ นิ้วฟุตออกจากกระเป๋าเสื้อส่งให้วิชัยอย่างลุกลี้ลุกลน
พระอรรถคดี ฯ มองดูลายมือบนหลังซองแว็บหนึ่งแล้วเงยหน้าขึ้น พูดว่า
“เชิญคุณไปนั่งที่โน่นก่อน”
“ม--ม่าย ฮี่ ฮี่ เขาสั่งไม่ให้ผม ฮี่ ฮี่ นั่ง อ—เอาตอบมาเร็ว” แล้วเขาแบมือ
พระอรรถคดี ฯ ลังเลอยู่อึดใจหนึ่ง แล้วก็เปิดจดหมายสีน้ำเงินหม่นออกอ่าน เห็นอักษรตัวนิด ๆ เรียงแถวอยู่ในระยะพองาม มีข้อความดังนี้
ดังได้เรียนแล้วแต่วันแรก อนงค์สามิภักดิ์ต่อความดีไม่ใช่ต่อตัวบุคคล ถ้าความดียังไม่กลายเป็นความชั่ว อนงค์ย่อมไม่เปลี่ยนใจแม้ในเวลานานกว่านี้ อ.ส.
อ่านแล้ว ๒ เที่ยว พระอรรถคดี ฯ จึงเงยหน้าขึ้นก้าวเท้าเข้าไปจนชิดประสิทธิ์และพูดด้วยเสียงอันเบา
“บอกคุณน้องของคุณว่า พรุ่งนี้ ๕ โมงเย็นที่บ้านสุขนิวาส จำไปให้ดีนะ”
ประสิทธิ์พยักหน้า ยกมือไหว้แล้วก็กลับหลังไปขึ้นรถ
“ทิดทึ่มนั่นมาว่ากระไร ?” หลวงศักดิ์ ฯ ถามเมื่อวิชัยเดินกลับมาถึงเก้าอี้
“เอาจดหมายของคุณอนงค์มาให้ มีธุระเล็กน้อย” วิชัยตอบแล้วรีบพูดต่อโดยเร็ว “กันต้องไปแต่งตัวเดี๋ยวนี้ เพราะจะต้องไปพร้อมกับแก รถของกันคุณแม่เอาไปเสียแล้ว แกจะอยู่ที่นี่หรือจะขึ้นไปบนโน้นด้วยกัน ?”
แทนคำตอบ หลวงศักดิ์รณชิตยกถ้วยเบียร์ขึ้นถือไว้แล้วตัวเขาก็ลุกขึ้นยืน
คืนนั้นวิชัยกลับถึงบ้าน ก่อน ๒๒ นาฬิกาเล็กน้อยสนทนากับมารดาและน้องสาวเพียง ๒ - ๓ คำ แล้วก็เข้านอน แต่เพราะเหตุที่มีความคิดค่อนข้างฟุ้งซ่าน จึงไม่หลับได้โดยง่าย ต้องใช้อุบายหลายอย่าง คือนับ ๑ ไปจน ถึง ๑๐๐ ถึง ๑๐๐๐ บ้าง คุมสติแน่วกำหนดระยะสั้นยาวของลมหายใจบ้าง ประมาณชั่วโมงเศษจึงหลับสนิท
๑๖ นาฬิกา ๒๐ นาที ในวันรุ่งขึ้น วิชัยกำลังแต่งตัว แต่ความคิดมิได้จดจ่อกับการที่ตนกำลังทำล่องลอยออกหน้าถอยหลังวุ่นวายอยู่
๓๗ วันเต็มเข้าวันนี้ หลังจากที่อนงค์ได้เผยความรู้สึกให้แก่วิชัย ๓๗ วันเต็มเข้าวันนี้ที่วิชัยตกอยู่ในอาการพะวักพะวน สนเท่ห์ และลังเลใจ ความรู้สึกอันเกิดแก่ตัวในคืนนั้น คือพ้นเวลาที่อยู่ต่อหน้าอนงค์แล้ววิชัยยังจำได้ดี โกรธตัวเองที่อ่อนแอถึงกับคุมกิริยาไว้ไม่อยู่ พิศวงไม่พอใจในข้อที่อีกฝ่ายหนึ่งละเมิดธรรมเนียมหญิง และปิติในข้อที่เห็นผลแห่งการกระทำดีประจักษ์ตา
วิชัยจำต้องสารภาพแก่ตัวเองว่า ในคืนวันสำคัญนั้นเขานึกถึงการกระทำของอนงค์ไปในทางเสื่อมมากกว่าทางดี เป็นการพ้นวิสัยที่คนเช่นวิชัยจะไม่สะดุ้งกลัวต่อการกระทำอันอาจหาญของอนงค์ บุคคลเกิดมาแล้วและอยู่ในความอบรม และความแวดล้อมแห่งวงศ์วานในสถานที่ ๆ ตนเกิด ซึ่งจะมีความคิดขาดจากประเพณีนิยมของเขาเหล่านั้นย่อมจะเป็นไปไม่ได้โดยแท้ เหตุฉะนั้นความคิดข้อแรกที่เกิดแก่วิชัยเมื่อเขามีสติเป็นปกติแล้ว จึงเป็นความคิดที่ทำให้บุรุษผู้นี้ตีราคาอนงค์ต่ำมาก
แต่อีกเวลาหนึ่ง เมื่อนิสัยที่อบรมแล้วจนตั้งมั่นอยู่ในเมตตา กรุณา มุทิตา โดยสม่ำเสมอ - ชักพาให้วิชัยมองดูเพื่อนมนุษย์แต่ในเง่ที่ดี - ไหวตัว และแสดงเหตุผลขึ้นบ้าง ความคิดที่ติเตียนอนงค์จึงตกไป
พระอรรถคดี ฯ มาคำนึงว่า อนงค์ได้วิสาสะกับชายหนุ่มแล้วจนนับไม่ถ้วน และได้ฟังคำสารภาพความรักจากเขาเหล่านั้นมานักต่อนัก แต่อนงค์ก็ยังครองตัวเป็นโสด ส่วนข้างวิชัยคำน้อยเขาไม่กล่าวเป็นเชิงให้เห็นว่าเขาใฝ่ใจในหล่อนยิ่งกว่าสตรีอื่น ข้างหล่อนสิกลับผูกใจในความประพฤติส่วนตัวของเขา ยกย่องว่าดีเลิศถึงกับสละทุก ๆ สิ่งเป็นเครื่องแลก และแสดงออกเป็นคำพูดอย่างจะแจ้ง ทั้งนี้จะหาว่าหล่อนมีความคิดวิตถารไปในทางชั่ว ก็จะเป็นการอยุติธรรมอย่างที่สุด อีกสถานหนึ่งถึงแม้วิชัยไม่มีนิสัยลำพองในการกระทำของเขาเอง แต่ความดีใด ๆ ที่เขาได้ทำแล้วเขาก็ทำเพราะเชื่อว่าดีเมื่อมีใครคนหนึ่งมาแสดงความเห็นดีตรงกับความเชื่อของเขาจะกลับไม่เชื่อกระไรได้
ที่สุดเมื่อจะสรุปความคิดของวิชัยเมื่อได้ใคร่ครวญเรื่องราวโดยละเอียดสุขุมแล้ว ก็มีอยู่แต่เพียงว่าอนงค์เป็นผู้หญิงที่กล้าเกินหญิง แต่ความกล้าของหล่อนมีความอบรมและเครื่องแวดล้อมเป็นเหตุให้โทษได้ ถ้าหากว่าอนงค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่าคำพูดแลกิริยาของหล่อน มิได้เป็นเพราะความฟุ้งซ่านชั่วขณะ วิชัยย่อมจะถือว่าการกระทำทั้งสิ้นของอนงค์นั้นควรแก่การให้อภัย
สวมเสื้อชั้นนอกเรียบร้อยแล้ว วิชัยจึงออกจากห้องไปหามารดา
“คุณแม่จะใช้รถไปไหนไหมครับ ?” เขาถาม
“ไม่ใช้จ๊ะ แต่คนขับเขาไม่อยู่นะ แม่ให้เขาเอาส้มโอไปให้หลวงวิโรจน์”
“ไม่เป็นไรครับ ผมขับเองได้แล้ว”
“ระวังนะ” คุณนายชื่นกำชับ “อย่าขับให้มันปรูดปราดนัก ตัวยังไม่หายดี”
วิชัยยิ้มแทนคำตอบ
เขามาถึงบ้านสุขนิวาสได้เวลานัด ไม่ขาดไม่เกินจนนาทีเดียว หยุดรถที่ตรงหน้าตึกก็มีคนมาเปิดประตูให้และบอกว่า
“คุณผู้หญิงให้เชิญเข้าไปในห้องรับแขก”
พระอรรถคดี ฯ ถอดหมวกวางไว้ในรถ และเดินด้วยฝีเท้าอันไม่มั่นคง ตามคนใช้ไป
เข้าในห้องซึ่งว่างเปล่าปราศจากผู้คน วิชัยหมุนเคว้งอยู่ครู่หนึ่ง พอลดตัวจะนั่งบนเก้าอี้ เขาก็ต้องลุกขึ้นมายืนใหม่ เพราะแม่สาวเจ้าของบ้านหล่อนเข้าประตูมา
อนงค์ไหว้เขาและเชิญให้นั่ง แต่วิชัยยังยืนนิ่งแล้วก็พูดขึ้นในทันทีทันใด
“ฉันมาฟังคำตอบ”
“ดิฉันได้ตอบไปแล้วในจดหมาย” อนงค์ตอบโดยเร็วเช่นเดียวกับเขา
“คุณแน่ใจหรือว่าฉันจะให้ความสุขแก่คุณได้เต็มบริบูรณ์”
“โปรดอย่าพูดถึงตัวดิฉันเลยค่ะ พูดถึงคุณพระเถิด”
น้ำเสียงของหล่อนมีกังวานนุ่มนวล แต่ดูเหมือนไว้สง่าอยู่ในที และเป็นเพราะวิชัยรู้สึกว่าตัวพลัดเข้ามาในที่ ๆ ไมใช่ถิ่นของตัวหรือจึงประหม่านัก มองดูหญิงสาวแต่ไม่กล้าต่อตา แล้วยื่นมือทั้ง ๒ ออกไปข้างหน้า
โลหิตฉีดแรงซ่านไปทั้งตัวจนแก้มอนงค์เป็นแดงเรื่อ วางมือของหล่อนลงในมือเขา พระอรรถคดี ฯ ยกขึ้น แล้วพูดว่า
“ยังไม่เคยมีใครแสดงความเมตตาต่อฉันเท่าที่คุณได้แสดงแล้วเลย มีทางใดที่ฉันจะสนองความเมตตาของคุณได้ ฉันจะพยายามเต็มกำลัง แต่คุณต้องไม่ลืมว่าใจของฉันยังไม่เป็นปกติทีเดียว ผิดบ้างพลั้งบ้างโปรดให้อภัย”
อนงค์มีน้ำตาคลอ แต่หล่อนยิ้มได้อย่างน่าดูที่สุด แล้วตอบแก่เขาว่า
“เป็นพระคุณอย่างยิ่ง อนงค์ไม่ขออะไรมากกว่าความสงสารจากคุณพระ กรุณาอย่านึกว่าอนงค์เป็นหญิงชั่วอย่างที่คนอื่นเขานึก”
เขาบีบมือหล่อนแล้วจูบซ้ำ ภายหลังจึงถามว่า
“คุณอาของคุณทราบเรื่องนี้แล้วหรือ?”
“ทราบแล้วค่ะ ท่านเต็มใจให้คุณพระได้ปกครองอนงค์ แต่ท่านติอนงค์มากที่ก๋ากั่น ติจนอนงค์ท้อใจและนึกว่าความตั้งใจดีของอนงค์นั้นให้ร้ายแก่ตัวอนงค์เสียแล้ว คุณพระคงไม่รับความภักดีของอนงค์”
หล่อนยืมคำของเขามาใช้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นคำที่เหมาะจะออกจากปากหล่อนมากกว่าที่จะออกจากปากเขา วิชัยถามว่า
“คุณนึกหรือว่า เมื่อฉันได้แสดงกิริยาเช่นนั้นต่อคุณในวันนั้นแล้ว ฉันจะหักหลังคุณในภายหลัง ?”
หญิงสาวเงยหน้าขึ้นโดยเร็ว จ้องดูตาเขาพลางย้อนถาม
“เท่าที่คุณพระแสดงต่อดิฉันในวันนี้ เพราะมีเรื่องนั้นเป็นเหตุบังคับหรือคะ ความรู้สึกทั้งหลายไม่เป็นข้อสำคัญอันใดเลย ?”
สีหน้าวิชัยเผือดไปเล็กน้อย รอยยิ้มบนฝีปากนั้นเจือโศกมากกว่าเจือสุข ค่อย ๆ ดึงตัวอนงค์เข้าใกล้ ยกมือหล่อนประทับกับอก พูดเสียงต่ำและเบาเกือบเท่ากระซิบ
“โปรดอย่างเพ่อถามถึงความรู้สึกให้ลึกซึ้งนัก แต่ขอให้เชื่อว่าคำพูดที่ฉันได้พูดแล้วนั้นออกจากใจจริงของฉันทุกคำ อีกอย่างหนึ่งขอให้คุณระลึกไว้ให้มั่นว่าฉันเป็นคนมีแผลในใจ กรุณารักษาแผลให้หายก่อน แล้วฉันจะเป็นทาสที่ภักดีต่อคุณอย่างที่สุด”
เสียงโครมครามราวกับพายุพัด แล้วประสิทธิ์พรวดพราดเข้ามาในห้อง หนุ่มสาวจึงผละออกจากกัน
“ฮี่ ฮี่ ฮี่ คุณพระจะ ฮี่ ฮี่ ผมหรือ ?”
วิชัยเลียริมฝีปาก ความเศร้าค่อย ๆ จางหายไปจากวงหน้า ในขณะที่เขาพูดว่า
“จนใจจริง ๆ ไม่ทราบจะตอบว่ากระไร ?”
“ฮี่ ๆ ๆ ผมถามคุณพระจะป---เป็นน้องเขยผมหรือ ?”
“อ๋อ ! แน่ละ ถ้าคุณน้องของคุณจะอนุญาต”
อนงค์ชำเลืองค้อนนิดหนึ่ง ประสิทธิ์อ้าปากหัวเราะแล้วว่า
“กรุณา ฮี่ ฮี่ เขา ฮี่ คุณพระมาตั้งร้อยปีแล้ว !”
พูดแล้วประสิทธิทิ้งตัวลงบนเก้าอี้ อนงค์กับวิชัยจึงทำตามแบบอย่าง และพระอรรถคดี ฯ พูดแก่อนงค์ว่า
“ฉันตั้งใจจะมาใช้หนี้ที่ค้างอยู่อีกครึ่งหนึ่งด้วย”
“ครึ่งของครึ่งที่ค้างอยู่ซีคะ เพราะคุณพระไม่ได้พาหนูนิดมาด้วยนี่”
วิชัยหัวเราะหึ ๆ แล้วว่า
“ฉันเกรงว่าจะไม่สะดวกด้วยกันทั้ง-- ๓ ฝ่าย”
หญิงสาวนิ่วหน้านิดหนึ่งแล้วหัวเราะน้อย ๆ วิชัยพูดสืบไป
“เชิญพูดถึงเรื่องหนี้ของเราเถอะ ติดค้างกันมานาน ฉันออกจะร้อนใจเสียแล้ว เวลานี้เตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามของคุณได้ทุกข้อ และจะตอบด้วยความเต็มใจที่สุดด้วย”
อนงค์มองเขาด้วยแววตาอันหวานซึ้ง แล้วถามขึ้นว่า
“ยังจำได้ไหมคะ วันเกิดอนงค์คุณพระเอาอะไรมาให้”
“จำได้ ลิปสติ๊กครึ่งโหล”
“ที่ให้ของเช่นนั้น มีความหมายอย่างไรหรือเปล่าคะ”
“เอ ก็หมายให้ใช้เป็นประโยชน์น่ะซี”
“แต่มีคนเข้าใจว่า เพราะคุณพระเห็นสีที่ริมฝีปากอนงค์แดงจัดเกินไปจึงซื้อลิปสติ๊กมาประชด”
“โอ พิโธ่ ! บาปกรรมแท้ ๆ ไม่ได้เจตนาเช่นนั้นเลย”
“แต่คุณพระคงเกลียดผู้หญิงที่แต้มสีตามหน้าอนงค์ทาย และยังมีใครอีกหลายคนคิดเหมือนอนงค์”
“เกลียดเป็นคำที่แรงเกินไป” พระอรรถคดี ฯ ค้านช้า ๆ “ไม่มีเหตุผลที่จะรู้สึกแรงถึงเพียงนั้น”
“ยังงั้นไม่ชอบ ? พอดีหรือยังคะ โปรดชี้แจงหน่อยเถอะค่ะ ว่าทำไมถึงไม่ชอบ จำเป็นอย่างยิ่งที่อนงค์จะต้องทราบ”
สายตาที่หล่อนมองมาสบตาวิชัยนั้น ทำให้บุรุษผู้นี้เข้าใจถึงความหมายที่แฝงอยู่โนประโยคสุดท้าย เขาจึงมองตอบหล่อนอย่างมีความหมายเช่นเดียวกัน และกล่าวว่า
“ฉันจะไม่เป็น- - -คนที่เอาแต่ใจของตัวเองจนถึงกับบังคับ--คนข้างเคียงมิให้แต่งตัวตามที่เขาชอบ”
หล่อนหัวเราะเบา ๆ แทนคำตอบ และนิ่งอยู่ในท่าเตรียมฟังต่อไป วิชัยจึงพูดขึ้นอีก
“จะให้ชี้แจง ก็ไม่ขัดข้อง แต่บางทีคุณจะเห็นว่าฉันจุกจิกเกินไป”
“อนงค์รู้จักคุณพระเสียดีพอที่จะไม่เห็นอะไรผิดจากที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้”
“ยังงั้นรึ ถ้าเช่นนั้นฉันจะพูดถึงความเห็นของฉันโดยละเอียดมันยาวมากอยู่นะคุณ เพราะว่าคนเราก่อนที่จะตกลงว่าจะชอบอะไรและไม่ชอบอะไรนั้นควรจะใคร่ครวญหาเหตุผลเสียก่อน ฉันไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงใช้เครื่องวิทยาศาสตร์แต่งหน้า เพราะเป็นการขนเงินออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบสักนิดอย่างเดียวกับคนไทยจะทิ้งผ้านุ่งและผ้าซิ่นไปใช้เครื่องแต่งตัวแบบฝรั่งเหมือนกัน
“อ้อ ! คุณพระคิดไปในทางเศรษฐกิจของชาติด้วย แต่ว่าเราช่วยไม่ได้นี่คะ มีอะไรบ้างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ที่เราได้มาโดยไม่ส่งเงินออกนอกประเทศ”
“เกือบจะไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นส่วนที่เหลืออยู่เราจึงควรรักษาไว้อย่างกวดขัน ถ้าเราทุกคนจะยกตัวของเราตั้งแต่ท่อนขาขึ้นมาถึงเอวอุทิศให้แก่ชาติ เราจะพยุงอาชีพพลเมืองสยามไว้ได้ไม่ใช่เล็กน้อย ถ้าคุณจะได้เคยไปยังหัวเมืองต่าง ๆ และเอาใจใส่ สังเกตดูความเป็นอยู่ของพื้นเมืองเหล่านั้นบ้างสักนิดหน่อย คุณจะมองเห็นความจริงเรื่องนี้ โดยไม่ต้องฟังคำแนะนำจากใครเลย”
“เวลานี้เดี๋ยวนี้ก็มองเห็นแล้ว” เป็นคำตอบอย่างมั่นคง “แต่นี้ไปคนข้างเคียงคุณพระจะอุทิศร่างกายเพื่อส่งเสริมอาชีพแด่เพื่อนร่วมชาติครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ว่าเรื่องการแต่งหน้านั้นมีเพียงเท่าที่คุณพระพูดแล้วเท่านั้นเองหรือคะ ?”
“ยังมีอีกคุณ ฉันคิดว่าผู้หญิงที่ะบายสีไว้ที่หน้านั้น บางคนที่ทาเป็นก็ดูสวยดี แต่ทว่าไม่งาม เพราะความสวยที่ตนแต่งเกินความจริงนั้นไม่มีค่า จะลวงตาได้ก็ชั่วขณะแรกที่ได้เห็น มิหนำซ้ำยังพาความสวยที่มีอยู่แต่เดิมราคาตกไปด้วย”
“ครึ” ประสิทธิ์ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง “ฮี่ ฮี่ ฮี่ ครึ ครึเท่าคุณอา !”
“ถูกของคุณ ผมเป็นคนครึที่สุด บูชาของจริงมากกว่าของเทียมเสมอ”
อนงค์มิได้หัวเราะด้วยกับบุรุษทั้ง ๒ วางสีหน้า ขรีึมอย่างเอางานเอาการและพูดว่า
“อนงค์จะจำคำของคุณพระใส่ใจไว้สำหรับคนข้างเคียงของคุณพระในภายหน้า”
สีหน้าวิชัยแสดงความรู้สึกลึกซึ้ง ดวงตาที่มองดูหญิงสาวก็มีประกายประหลาด มองอยู่เช่นนั้นอึดใจหนึ่งจึงพูดเบา ๆ
“ไม่ควรที่จะตามใจฉันนัก ฉันเป็นคนไม่เคยถูกตามใจ ถ้าถูกเข้าแล้วน่ากลัวจะเสียคน”
อนงค์มิได้ตอบ ยิ้มให้เขาอย่างอ่อนหวานที่สุดแล้วก็หันไปทางพี่ชาย
“พี่ประสิทธิ์ไปหาน้ำชามาเลี้ยงคุณพระหน่อยได้ไหมคะ ไม่ต้องหาหรอก อนงค์สั่งให้เขาเตรียมไว้แล้วบอกให้คนใช้ยกมาเท่านั้น”
เมื่อวิชัยนำความไปแจ้งแก่มารดาว่าเขาจะแต่งงานกับอนงค์ และความนั้นแพร่ไปถึงหูพี่น้องทั้งหลายก็ยังความประหลาดใจให้เกิดแก่เขาเหล่านั้นเอกอุจนแทบจะกล่าวได้ว่า แม้ประเทศสยามจะกลายเป็นประเทศหนาวไปตลอดปี เขาเหล่านั้นก็คงไม่ประหลาดใจเท่า ช้อยประหลาดใจน้อยกว่าคนอื่น และแม้ว่าความดีใจจะมีน้ำหนักมากกว่า หล่อนก็ถึงกับตะลึงไปเหมือนกัน ชัดหัวเราะจนงอหาย แต่เมื่อใครถามถึงเหตุ เขาก็ตอบไม่ถูก หลวงศักดิ์ ฯ เกาศีรษะและอุทานว่า
“ไอ้ห่ ! นี่มันยังไงกัน ทำไมถึงสับคู่กันไปได้”
ภรรยาของเขาเป็นผู้เสริมต่อ
“ยังไง ! ใครว่าพี่ใหญ่เช่อ หมุนไปหมุนมาไปคว้าเอาลูกเศรษฐี!
นางศรีวิชัยบริรักษ์ปรารภกับบุตรชายบุตรหญิงแก่เขยแก่สะใภ้จนครบคนว่า
“พ่อใหญ่จะเอาเขาไว้อยู่หรือ ?”
ภายหลังเมื่อคำปรารภนี้มาถึงหูวิชัย เป็นเวลาที่เขาหมั้นกับอนงค์แล้วได้เดือนเศษ เขาก็ยิ้มอย่างภาคภูมิและพูดเป็นเชิงเล่นว่า
“แต่จันทรยังเอาพ่อชัดไว้อยู่ พ่อใหญ่จะแพ้จันทรหรือยังไง”
แต่ต้นเหตุที่ทำให้เขาตกลงจะแต่งงานกับอนงค์นั้น ญาติทางฝ่ายวิชัยมิได้มีใครรู้ระแคะระคายแต่สักคนเดียว
ททํ มิตตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ ททํ ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ภชนฺติ นํ พหู คนหมู่มากย่อมคบเขา ๑๒ /๑๐ / ๗๗
|
|
|
Logged
|
|
|
|
|