|
ppsan
|
|
« Reply #1 on: 15 May 2022, 13:41:26 » |
|
คำนำ บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ (๑๙๙๑) จำกัด ได้ขออนุญาตต่อหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ขอจัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “หนึ่งในร้อย” ของดอกไม้สดเพื่อจำหน่ายเผยแพร่ ซึ่งกรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้ตามความประสงค์
หนังสือนวนิยายและเรื่องสั้นของ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (สกุลเดิมกุญชร) ผู้ใช้นามปากกาว่า “ดอกไม้สด” นี้ นางสุนทรี ชมธวัช ทายาทรับมรดกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นางสุนทรี ชมธวัช ซึ่งได้รับการแนะนำเชิญชวนจาก นายสมภพ จันทรประภา ได้มีใจเอื้อเฟื้อแก่ทางราชการ มอบลิขสิทธิ์วรรณกรรมของดอกไม้สดให้แก่หอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้นำไปหาประโยชน์สำหรับบำรุงกิจการต่าง ๆ ของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาหาความรู้ของประชาชนมากยิ่งขึ้น
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” นั้น มีความงดงามทั้งในเนื้อเรื่อง กลวิธีการประพันธ์ และภาษา นอกจากนี้ยังให้ความรู้และสารบันเทิงไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สะท้อนให้เห็นชีวิตในแง่มุมของสังคมไทยในช่วงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การดำเนินเรื่องราบเรียบแต่คมชัด ตัวละครทุกตัวโลดแล่นไปตามบทอย่างมีชีวิตและกลมกลืนกับสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่ผู้ประพันธ์ให้แก่ผู้อ่านก็คือ “คุณธรรม” จะเห็นได้ง่ายว่าผู้ประพันธ์สามารถสอดแทรกคติธรรม และข้อคิดอันกินใจให้แก่ผู้อ่านด้วยการเสนอแนะวินิจฉัยและชี้ชวนให้คล้อยตามในการกระทำความดี อันเป็นสิ่งที่สังคมทุกยุคทุกสมัยต้องการ
“ดอกไม้สด” หรือ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ ได้เริ่มงานประพันธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเขียนลงวารสารไทยเขษม และเรื่องแรกที่แต่งคือ เรื่องศัตรูของเจ้าหล่อน นวนิยายของดอกไม้สด มีอยู่ด้วยกัน ๓๒ เรื่อง เป็นนวนิยายขนาดยาว ๑๒ เรื่อง และเป็นเรื่องสั้น ๒๐ เรื่อง บทละครหนึ่งเรื่องกับเรื่องยาวที่แต่งไม่จบ คือ วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย
วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” นี้ แม้จะได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งหลายหน และแม้กาลเวลาจะล่วงเลยห่างจากระยะที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ขึ้นนานพอควรแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมในหมู่ท่านผู้อ่านอย่างแพร่หลายตลอดมา ทั้งมีผู้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนอีกด้วย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วรรณกรรมของ “ดอกไม้สด” เป็นอมตะ ไม่มีวันล้าสมัยและยังอยู่ในความต้องการของมหาชนไม่เสื่อมคลาย
กรมศิลปากรมีความยินดีที่ นางสุนทรี ชมธวัช ได้มีกุศลจิตศรัทธาต่อวิทยาการและการดำเนินงานของหอสมุดแห่งชาติ นับเป็นกุศลกรรมที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุโมทนาและขอบคุณ และขอให้ความดีนี้ช่วยส่งสนองให้ นางสุนทรี ชมธวัช ผู้บริจาคได้ประสบแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ อนึ่ง ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ รำลึกถึงหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ หรือ “ดอกไม้สด” ผู้ประพันธ์ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ซึ่งคงจะชื่นชมโสมนัสในการกระทำของนางสุนทรี ชมธวัช ในครั้งนี้ ขอให้หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ จงประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผลในสุคติสัมปรายภพนั้น ๆ จงทุกประการ
(นายนิคม มูสิกะคามะ)
อธิบดีกรมศิลปากร
หอสมุดแห่งชาติ
๒ เมษายน ๒๕๔๑
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #2 on: 15 May 2022, 13:43:24 » |
|
อกฺโกเธน ชิเน โกธํ
อกฺโกเธน ชิเน โกธํ ชำนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ อสาธุํ สาธุนา ชิเน ชำนะความชั่วด้วยความดี ชิเน กทริยํ ทาเนน ชำนะความตระหนี่ด้วยการให้ สจฺเจนาลิกวาทินํ ชำนะความเหลวไหลด้วยความเป็นหลักฐาน
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #3 on: 15 May 2022, 13:44:42 » |
|
๑ เที่ยงตรง ! เวลาที่แสงแดดแผดจ้าดังจะเผาสรรพสิ่ง รวมทั้งชีวิตและสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตให้ละลายไปด้วยอำนาจแห่งความร้อน ใครจะนึกบ้างว่าจะมีมนุษย์ธรรมดาเช่นปกติชนทั้งหลาย เดินกรายอยู่บนพื้นดินอันปราศจากสิ่งปกคลุม แต่หัวหินเป็นพื้นดินที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถให้ ความเย็นในยามร้อน และให้ความอบอุ่นในยามหนาว !!! ดังนั้นจะประหลาดอะไรเล่าที่ชายหญิงหมู่หนึ่ง พากันโลดเล่นระเริงใจอยู่ตามชายหาด ในตำบลที่ได้กล่าวแล้วนี้
เขาทั้งหมดล้วนอยู่ในวัยคะนอง คะนองรูป คะนองทรัพย์ คะนองยศ คะนองกำลัง และคะนองยิ่งในความสนุก เขาทั้งหมดสวมเครื่องแต่งกายสำหรับอาบน้ำ ถึงผิวหน้าจะคล้ำไปเพราะแสงอาทิตย์รังแก แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขานิยมกันอยู่ และประกายแห่งความสุข เมื่อปรากฏในแววตาคนหนุ่มและคนสาว เมื่อเครื่องตบแต่งอย่างดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาเหล่านี้จึงมีลักษณะควรแก่การดูด้วยประการทั้งปวง
หนุ่มที่สุดในหมู่คนหนุ่มที่กล่าวถึงในบัดนี้คือ นายร้อยตรีชัด วรทบุตต์ ท่าทางประเปรียว หน้าตาคมสันผิวขาว ยังไม่สิ้นสีแดงที่เกิดจากเหตุเพราะได้อยู่ในเมืองหนาวนานปี และสวยที่สุด-แม้ว่าจะไม่สาวที่สุดในจำนวนคนสวยที่รวมอยู่ในหมู่นี้คือ คือ อนงค์ สุนทรพงศ์ หญิงที่ควงแขนกับชัดวิ่งหนีขึ้นมาบนหาด
ชายหนุ่มหยิบเสื้อคลุมขึ้นคลุมให้หล่อน ตัวเขาเองมีผ้าเช็ดตัวขนาดเล็กคล้องคอ เสียงคนที่อยู่ในน้ำตะโกนตามหลังขึ้นมาว่า
“ขึ้นละหรือ? อย่างไรไม่บอกกล่าวกันบ้าง?”
ชัดเช็ดหมวก หันกลับไปดูแล้วก็หัวเราะ อนงค์ถอดหมวกยางออกสะบัด จัดผมทางข้างหน้าให้เข้ารูปแล้วตอบไป
“ต้องไปเก็บของ เดี๋ยวจะไม่ทันรถไฟ”
“อะไร เวลาอีกเป็นกอง” ชายหนุ่มคนหนึ่งค้าน อีกคนหนึ่งปรารภว่า
“ยังไม่ทันเที่ยงเลย”
“เที่ยงเลยแล้ว” ชัดบอก เมื่อมีเสียงคัดค้าน อนงค์จึงอธิบายต่อ
“จริง ๆ พระอาทิตย์อยู่ตรงหัวเรา ไม่เห็นหรือ”
พูดแล้วโดยไม่ฟังเสียงใครอีก ชัดกับอนงค์ก็ออกเดินบ่ายหน้าไปทางโฮเต็ล
ในที่ใดก็ตามที่กำลังสนุกสนาน เพราะมีบุคคลรวมกันอยู่เป็นหมู่ แม้ว่าคนหนึ่งหรือสองคนในหมู่นั้นละไปเสีย อาการที่เรียกกันว่า “บ่อนแตก” ก็เกิดขึ้น อนึ่งมนุษย์โดยมาก มีธรรมชาติชอบเอาอย่างอยู่ในสันดาน การกระทำแม้ใหญ่และน้อย แม้สำคัญและไม่สำคัญ มาตรว่าเผลอตัวก็มักจะกระทำตามอย่างเขา อาศัยเหตุนี้เอง แต่พออนงค์กับชัดไปพ้นแล้ว ก็เกิดมีผู้เห็นพ้องกับหนุ่มสาวทั้งสอง ออกปากชวนเพื่อนกันให้ขึ้นจากทะเลเสียที
ประมาณ ๑ ชั่วโมงต่อมา เขาก็มารวมกันอีกที่ในห้องรับประทานอาหารในโฮเต็ล
การสนทนาของเขาล้วนแล้วไปด้วยเรื่องงาน ที่ขึ้นเป็นงานเพื่อความสนุกเพลิดเพลินแห่งคนในวัย และฐานะความเป็นอยู่เช่นเขา งานสโมสรทั้งราตรี และสายัณห์ น้ำชา ดินเนอร์ เต้นรำ ภาพยนตร์ และกีฬานานาชนิด และกล่าวขวัญถึงบุคคลในสมาคมเดียวกับเขาในเชิงไม่ใช่นินทา เป็นแต่เพียง-เล่าสู่กันฟังเพื่อความรู้! เพราะคำผู้ใหญ่ก็รับรองอยู่แล้วว่า ฟังมากดูมากเท่ากับเรียนมาก และ “รู้ไว้ไช่ว่าใส่บ่าแบกหาม”
หมดเรื่องผู้อยู่ไกล เรื่องก็เวียนมาหาผู้อยู่ใกล้ ผู้หญิงคนหนึ่งจึงเอ่ยขึ้น
“แหม! ไม่อยากเชียว เย็นวันนี้พวกเราเหลือกัน ๕ คนเท่านั้น ขาดไปตั้ง ๔ คน”
“ดูเถอะ” อีกคนหนึ่งรับ “ไปทีเดียวตั้ง ๔ คน พวกเราอยู่ทางนี้ก็คิดถึงแย่”
“ฉันยังไม่รู้เลยว่า คุณชัดกับคุณอนงค์ มีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องกลับวันนี้” คนที่ ๓ พูดขึ้น “สำหรับ ๒ คนนี่น่ะ” พูดต่อเมื่อหันไปทางชายหนุ่มกับหญิงสาวคู่หนึ่ง “ฉันรู้แล้วว่าเมื่อคนหนึ่งหมดวันลาพัก อีกคนหนึ่งก็ต้องตามไปด้วย เปรียบเหมือนเงา แต่คุณชัดน่ะทำไมคะ จะกลับไปทำไม”
“ฉันก็หมดวันลาพักเพียงวันนี้เหมือนกัน” ชัดตอบ
“ลาต่อเถอะน่ะ” ชายหนุ่มคนหนึ่งเอ่ยขึ้น บอกว่าโรคกำเริบ หรือขาแพลงอะไรก็ได้”
“แหม!” อนงค์อุทาน ทำอาการเหมือนจะสำลักเหล้าเชอร์รี่ที่หล่อนกำลังจิบอยู่ “ช่างแนะนำดีเหลือเกิน ชัดจะกล้าเล่นกับราชการทหารอย่างนั้นไหมคะ?”
ชัดหัวเราะแล้วพูด
“มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอีก ที่ผมต้องกลับวันนี้จนได้ เดิมทีเดียวผมตั้งใจจะไปสงขลา อนงค์เป็นเหตุให้ผมแวะไถลเสียที่นี่ การที่จะไปก็เพราะจะไปรับพี่ชายของผมที่เป็นผู้พิพากษาอยู่ที่โน่น บัดนี้ได้รับคำสั่งให้ย้ายมากรุงเทพ ฯ เราจากกันไปเกือบ ๑๐ ปี ได้พบกันประเดี๋ยวเดียวเมื่อผมกลับจากอังกฤษ เขามาคอยพบที่สถานี วันนี้เขาจะมากับรถด่วน ผมต้องไปพร้อมกับเขาเพื่อมิให้เสียความตั้งใจเดิม”
“น่าเอ็นดูจัง!” เสียงผู้หญิงกล่าวชมอย่างจริงใจ
“ดูเถอะ” เสียงที่รับก็เป็นเสียงผู้หญิง “รักพี่รักน้องอย่างนี้ดีเหลือเกิน”
อนงค์มีอาการแสดงว่าความคิดลอยไปไกลตัว แต่ผู้ที่คุ้นเคยกับบ้านที่อยู่ของอนงค์ และรู้จำนวนพี่ชายของอนงค์ด้วย ย่อมจะเข้าใจว่าถึงความคิดจะลอยไปไกลตัว แต่จะพ้นเรื่องส่วนตัวก็หาไม่
มีผู้ถามขึ้นว่า
“อนงค์จะรีบกลับทำไม ราชการอะไรก็ไม่มี”
“กลับไปเป็นเงาคุณชัด” เสียงออกความเห็นครึ่งเล่นครึ่งจริง
สีหน้าอนงค์เปลี่ยนไปเล็กน้อย คิ้วที่ได้ตบแต่งไว้แล้วอย่างงดงามตามสมัยขมวดเข้าหากัน แต่ทั้งนี้ไม่ทำให้เพื่อนของหล่อนพรั่นพรึง มีผู้เสริมต่อไปอีกว่า
“อนงค์กลัวว่าไกลครู ฝีมือกอล์ฟจะเลวลง”
“อันที่จริงก็ควรจะเรียนกับครูให้อยู่มือเสียก่อน” อีกคนหนึ่งแสดงความเห็นพ้อง แต่ก็เป็นเชิงแก้ความหมายในคำพูดของผู้ที่ได้พูดก่อนไปในตัว
“ดูเหมือนเธอทุกคนจะลืมเสียแล้วว่า ถ้าคุณชัดไม่เหนี่ยวฉันไว้ ป่านนี้ฉันก็ไปกรุงเทพ ฯ กับพี่สมพงศ์แล้ว”
“จริง ผมเป็นพยาน คุณชัดมีความชอบมากในข้อนี้ มาเรามาดื่มให้คุณชัด และอวยพรให้คนที่จะจากเราไปวันนี้ มีความสุขอยู่ด้วยกันนาน ๆ บ๋อย แชมเปญ”
ผู้ที่ช่างคิดเล็กคิดน้อยหัวเราะในลำคอ ชัดมองดูอนงค์ผู้ทำอาการเป็นทองไม่รู้ร้อน พลางยิ้มด้วยความพอใจ
ครั้นใกล้เวลาที่จะไปสถานี รถยนต์ประจำโฮเต็ลก็มารออยู่ที่หน้าบันได ฝ่ายผู้ที่จะไปกับรถนั้นกำลังแต่งตัวบ้าง ชำระเงินบ้าง และซื้อของกระจุกกระจิกบ้าง สำหรับฝากญาติทางกรุงเทพ ฯ
ในระหว่างนั้น อนงค์กับชัดเป็นผู้ที่พร้อมแล้วในการที่จะขึ้นรถ แต่เมื่อคนอื่น ทั้งผู้ที่จะกลับกรุงเทพ ฯ และผู้ที่จะไปส่งเขายังไม่พร้อม อนงค์จึงนึกอยากเห็นโฉมหน้าของตนเอง ในกระจกเงาเพื่อฆ่าเวลา กระเป๋าหนังบรรจุเครื่องสำอางอยู่ในมือหล่อน อนงค์เปิดออกหวังจะหยิบ ตลับฝุ่น เผอิญพบห่อกระดาษห่อหนึ่งอยู่ภายในนั้น นึกไม่ได้ว่าเป็นห่ออะไร ครั้นแก้ออกดูปรากฏว่าเป็นห่อกระดุมทำด้วยหอยเลี่ยมนาก มีอยู่ด้วยกัน ๓ แผง แผงละ ๔ ดุม หล่อนหยิบแผงเหล่านั้นออกชูให้ชัดเห็นพลางถามว่า
“ทำไมถึง ๓ ล่ะคะ อนงค์ต้องการ ๒ แผงเท่านั้น สำหรับฝากคุณอา ๒ คน”
“ชัดจำไม่ได้ว่าอนงค์สั่งให้ซื้อ ๒ แผง หรือ ๓ แผง ก็เลยซื้อเผื่อขาด” ชัดตอบ
“มันเกินไปแล้วชัดก็รับไว้ซีคะ” พูดพลางหล่อนส่งแผงกระดุมให้
เขาสั่นศีรษะแล้วว่า “เธอเก็บเอาไว้เถอะ เอาไปฝากคนอื่นต่อไปอีกซิ”
“อนงค์ไม่รู้จะฝากใครอีก ชัดเอาไปซีคะ พี่น้องมีเป็นหลายคน เขาจะได้ดีใจ”
เขาหัวเราะความดื้อของหล่อน “ได้เหมือนกันเอาไปฝากคุณแม่” พูดแล้วก็รับแผงกระดุมมาใส่ในกระเป๋าเสื้ออย่างไม่เอาใจใส่ ต่อจากนั้นเขาก็ชวนอนงค์ไปขึ้นรถ
จะเป็นเพราะความโอ้เอ้ หรือเป็นเพราะความตั้งใจมิให้ต้องเสียเวลาคอยก็ตาม อนงค์กับคณะของหล่อนไปถึงสถานีหลังรถไฟ ๕ นาที เป็นเหตุให้เกิดความตื่นเต้นเล็กน้อย และการซื้อตั๋วกับการยกกระเป๋าเดินทางขึ้นรถก็เป็นไปโดยเร่งร้อน มิหนำซ้ำผู้ที่จะจากไปและผู้ที่จะอยู่หลังยังต้องการไว้อาลัยกันด้วยการร่ำลาสั่งเสีย และล้อเลียนไม่รู้แล้ว จึงหนุ่มสาวทั้ง ๙ คน ดูคล้ายกับตัวละครที่แสดงอยู่บนเวที เป็นเป้าที่น่าทึ่งสำหรับสายตาของผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างยิ่ง
ชายหนึ่งแต่งกายอย่างสุภาพบุรุษไทย ในสมัยและเวลาปกติ สวมแว่นตากันแดด ได้ลงจากห้องโดยสารชั้นที่หนึ่ง ตั้งแต่เมื่อรถไฟหยุดนิ่งอยู่ที่ชานชาลาสถานี กิริยาที่เขามองดูบุคคลทั้งหลาย ที่อยู่ในสายตาของเขานั้น แสดงชัดว่าเขามองหาใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหนุ่มสาวที่มาจากโฮเต็ลย่างเท้าเข้ามาในชานชาลา ดวงตาของผู้ชายนั้นก็เบิกกว้างอยู่ในแว่น เลิกจากการมองสอดส่ายเพ่งดูสตรีทั้ง ๕ นางอย่างพิศวง ครั้นแล้วดูเหมือนสีมัวแห่งกระจกแว่น จะเป็นอุปสรรคแก่สายตาทำให้สีซิ่นแพร และสีกางเกงปียาม่าเพี้ยนไปจากของจริง ชายผู้นั้นจึงถอดแว่นตาออกเสีย และหลบเข้าในบานประตูยืนดูภาพอันแปลกตานั้นต่อไป
“ความพิศวงทวีขึ้นเป็นตรีคูณ เมื่อนายร้อยตรีชัดถลันเข้ามาในหมู่ ชัดมาจากแห่งใดเมื่อไร ชายผู้นั้นไม่ทันเห็น อย่างไรก็ตาม สีหน้าของเขาแสดงความดีใจอย่างเด่นชัด ออกจากที่กำบัง แล้วยืนยิ้มคอยอยู่
ในนาทีเดียวกันนั้น ชัดแลมาเห็นเขา มีอาการชะงักอย่างสงสัยชั่วขณะ ครั้นแล้วก็ยิ้มยกมือ ก้าวเท้าออกมานอกวง ทักขึ้นว่า
“พี่ใหญ่ พิโธ่ ผมเที่ยวมองหาเสียออกแย่ คิดว่าหลับอยู่ในห้อง ที่แท้ยืนป้ออยู่ที่นี่เอง ไม่เห็นผมหรอกหรือ?”
อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาตอบ ชัดคว้าข้อมือเขามาบีบเขย่า สั่นโดยแรง แล้วดึงมือพี่ติดมือตนมาด้วย พอดีระฆังครั้งที่ ๑ ดังขึ้น ชัดก็ปล่อยมือนั้นเสีย รีบพูดสืบไปโดยเร็ว
“รถจะออกแล้ว ผมไปลาพวกนั้นเขาเสียก่อน”
“พี่ใหญ่” ยังไม่มีโอกาสได้ปริปาก มองตามน้องชายไป เห็นมือของเขาเข้าอยู่ในฝ่ามือชาย หนุ่มหญิงสาวทีละคนเรียงตัว และปากของเขาก็ทำหน้าที่พูดอย่างคล่องแคล่วพร้อมกับยิ้มอย่างสดใส ในที่สุดก็จับแขนหญิงสาวคนหนึ่งประคองตัวไปขึ้นรถ พอสุดเสียงระฆังครั้งที่สอง รถเคลื่อนที่ ชัดยังยืนอยู่บนบันไดอนงค์อยู่เคียงข้าง ทั้งสองโบกมือลาผู้ที่ยืนส่ง และตะโกนตอบคำพูดของเขาเหล่านั้น ส่วนผู้ที่ยืนดูอยู่นั้นปล่อยให้รถคันหน้า ๆ ผ่านพ้นไป แล้วจึงก้าวเท้าเหยียบขั้นบันไดรถคันที่ตนโดยสารมาแต่ต้นทางอย่างใจเย็น
รถคันที่ชัดและเพื่อนโดยสารอยู่นั้น เป็นรถโถงเมื่อได้นั่งลงเรียบร้อยแล้ว แต่เพียงครู่เดียว ชัดก็ผลุดลุกขึ้นยืนหันรีหันขวาง พลางบ่นว่า
“เอ! พี่ใหญ่หายไปไหน ถ้าจะหนีไปเข้าห้องเสียแล้ว”
“คนนั้นหรือคะพี่ใหญ่?” อนงค์ถามขึ้น
“คนนั้นแหละ ทำไมหรือ?” ชัดถาม ทึ่งในน้ำเสียงของอนงค์
“เปล่า” หญิงสาวตอบแกมหัวเราะ “ไม่เห็นเหมือนชัดเลย”
“เขาเหมือนคุณพ่อ” นายทหารหนุ่มตอบ “ชัดไม่เหมือนทั้งพ่อทั้งแม่”
คำตอบนั้น จะต้องกับความหมายในคำปรารภหรือไม่ก็ตาม อนงค์มิได้โต้แย้ง หล่อนพูดว่า
“ไปพาแกมาที่นี่ซิคะ อ้อ หรือชัดอยากพบกันตามลำพังพี่ ๆ น้อง ๆ จะไปโน่นก็ได้ ไม่ต้องห่วงอนงค์หรอก
นายร้อยตรีมองดูเพื่อนโดยสารอีก ๒ คน ก็เห็นเขาทั้งคู่มีกิริยาอย่างที่เรียกว่า กะจู๋ กะจี๋ กันอยู่ ท่วงทีไม่ต้องการจะให้บุคคลที่ ๓ เข้าแทรกดูแล้วชัดก็พยักหน้าให้อนงค์ดูด้วย ทั้งสองยิ้มอย่างเข้าใจกันแล้ว
ชัดจึงว่า
“ชัดจะไปพาพี่ใหญ่มานี่ อนงค์รอประเดี๋ยวนะ ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น” พูดแล้วเขาก็จากหล่อนไป
ประมาณครู่ใหญ่เขาจึงกลับมาพร้อมกับ “พี่ใหญ่” ของเขา ผู้ซึ่งบัดนี้ได้สวมแว่นตากันแดดไว้ดังเดิมแล้ว อนงค์แสดงการต้อนรับด้วยสีหน้าและกิริยาที่ขยับเขยื้อนตัวเป็นเชิงชวนให้นั่ง ชัดพูดว่า
“นี่อนงค์ นั่นคุณเอนกกับคุณผสานคู่หมั้น”
หนุ่มกับสาวที่นั่งคุยกันอยู่ประณมมือไหว้ “พี่ใหญ่” รับและมีอาการตื่นเต้นเล็กน้อย แล้วลดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตรงที่อยู่ตรงหน้าอนงค์ ส่วนชัดทิ้งตัวลงข้างเพื่อนสาวของเขา
อนงค์รู้สึกตัวว่า ควรจะปราศัยกับพี่ของชัดสักสองสามคำเป็นอย่างน้อย แต่นึกไม่ออกว่าควรจะขึ้นต้นอย่างไร ข้อสำคัญหล่อนไม่รู้จักนามของเขา จะเรียกเขาอย่างไรถูก ก็พอนายเอนกได้ช่วยตัดความอึดอัดของหล่อนโดยพูดขึ้นว่า
“คุณมาจากสงขลาไม่ใช่หรือครับ ที่นั่นครึกครื้นดีเหมือนกันนะ ผมเคยไปเมื่อ ๒ ปีมาแล้ว”
“เขาว่ามีชายทะเลงามเหมือนกันไม่ใช่หรือ?” ผสานถาม
“ก็ยังงั้นแหละ ไม่เหมือนหัวหิน หาดตื้นมาก แล้วมีอันตรายเสียด้วย ได้ยินว่ามีคนจมน้ำตายหรือหายไปบ่อย ๆ” เอนกตอบ
“ตาย ไม่เอาละ เราไม่ลงอาบน้ำที่นั่นเด็ดขาด” ผสานพูด ทำท่ากลัว คล้ายกับว่าหล่อนกำลังยืนอยู่บนหาด ที่กำลังกล่าวขวัญกันอยู่นั่นเทียว “เวลาไปที่นั่นเธอลงอาบน้ำในทะเลด้วยหรือคะ”
“ก็ลงไปยังงั้น คนที่อยู่ที่นั่นเขาลงอาบกันทั้งนั้น อาบทั้งที่รู้ว่ามีอันตราย” เป็นคำตอบที่เขาตอบแก่คู่หมั้น แต่ได้หันหน้าไปทางอีกคนหนึ่งด้วยเป็นเชิงขอให้รับรู้
“คนที่จมน้ำตายหรือหายไปน่ะ เป็นเพราะอะไร?” อนงค์ถามขึ้น ทอดสายตาไปยังหน้าเอนกแล้วผ่านเลยมาหยุดอยู่บนหน้าของผู้ที่นั่งอยู่ในที่ตรงข้ามกับหล่อน ถึงเช่นนั้นเขาผู้นั้นก็ยังหาได้ตอบคำถามของหล่อนไม่ เพราะชัดได้ฉวยไปตอบแทนเสียแล้ว
“เห็นจะเป็นเจ้าพวกน้ำหมุน มีความดึงดูดแรงและเร็วมาก”
“ทรายหมุนน่ะคุณ น้ำดูดเจ้าทรายลงไปในบ่อลึก คนที่อยู่ในที่นั้นไม่รู้ตัวก็เลยถูกดูดจมเลย” เอนกอธิบายต่อ
“ที่สงขลามีที่พักดี ๆ ไหมคะ?” อนงค์ถาม ยังไม่ละความพยายาม แต่กระนั้นก็ไร้ผล ด้วยผสานพูดสวนขึ้นทันใด
“เธอจะเลือกสงขลาเป็นที่ฮันนิมูนหรือ?” แล้วหล่อนก็มองตรงไปที่แว่นดำ พร้อมกับยิ้มอย่างมีความหมาย
อนงค์หน้าแดง ส่วนชัดหัวเราะอย่างชอบอกชอบใจ พลางก้มดูผู้ที่นั่งอยู่ข้างตน คำถาม ๒ ประโยคก็ลอยเปล่า หาผู้หนึ่งผู้ใดรับเป็นผู้ตอบหรือไม่
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #4 on: 15 May 2022, 13:47:06 » |
|
๒
ในชานชาลาสถานีหัวลำโพงเมื่อใกล้เวลารถด่วนไปร-กรุงเทพ ฯ จะมาถึง มีฝูงชนอยู่มากหน้าเกือบทุกคนมีอาการกิริยาไม่สงบ ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะเขาทั้งหมดมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือตื่นเต้นหรืออึดอัดไม่มากก็น้อย ด้วยการที่ต้องคอย ดังนั้นนาฬิกาเรือนใหญ่ที่ติดอยู่ในที่สูง จึงเป็นเป้าสำคัญ อันดวงตาทุกคู่ที่จะเว้นเสียมิได้ ซึ่งการเฝ้าเวียนดูเกือบไม่เว้นวินาที
ในจำนวนฝูงชนที่กล่าวมานี้ มีบุคคลหมู่หนึ่งรวมกันอยู่ ณ ม้านั่งปลายทางที่สุดแห่งชานชาลา เป็นบุรุษ ๓ นาย ล้วนรูปร่างหน้าตาต่าง ๆ กัน ตรงกันข้ามกับสตรีอีก ๕ นางซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกัน จนควรกับคำว่า “ออกจากพิมพ์เดียว”
นางศรีวิชัย บริรักษ์ ชื่อเดิมชื่น อายุปัจฉิมวัย ปลายผมดำสนิท แต่ที่โคนผมมีสีขาวประปรายสวมแว่นตากรอบทอง กิริยาที่กัดพลูดังกรอบ ! แสดงว่ายังไม่เสียฟันไปเท่ากับสตรีทั้งหลายในวัยเดียวกัน รูปร่างของคุณนายนั้นอ้วนกลม วงหน้าก็กลมเหมาะกับรูปกาย จมูกลาด ปากใหญ่ ผิวขาว
ช่วง ชด ชิด บุตรีคนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ของคุณนายคือรูปปั้นของคุณนายเมื่อยังสาว แต่ช้อยบุตรีคนที่ ๔ นั้นผิวเนื้อดำแดง ร่างสูงกว่ามารดาและพี่สาวทั้ง ๓ คน รูปหน้ามีส่วนยาวกว่า จมูกโด่งกว่า ถึงกระนั้นเมื่อดูส่วนรวมในวงหน้า ก็จัดว่าหล่อนเป็นลูกที่เหมือนแม่ไม่น้อยเลย
ช่วงพูดกับสามีของหล่อนว่า
“เรารอให้ศักดาอาบน้ำแล้วพาแกมาด้วยก็ทันนะคะคุณพี่ เสียเวลามาคอยเป็นนานสองนาน”
หลวงศักดิ์รณชิต มีนิสัยคร้านที่จะพูดในบางคราว หลวงวิโรจน์เกษตร์กิจ เขยรองรับช่วงไปตอบแทน
“อีกประเดี๋ยวเดียวรถก็มาถึงแล้ว ไม่ว่าจะไปไหนผมยอมไปคอยนาน ๆ ก็ดีกว่าไปไม่ทันเวลา”
“ยังงั้นซี!” ชดเอ่ยขึ้นพลางค้อนสามีอย่างหมั่นไส้ “ตื่นเหมือนคนไม่เคยไปไหน”
“เรื่องอืดยกไว้ให้คุณพระของดิฉันซิคะ” ชิดวิวิธวรรณการว่า “ถ้าสับคู่กันเสีย ให้พี่ชดมาอยู่กับคุณพระ ดิฉันอยู่กับคุณหลวงวิโรจน์ ฯ”
“คู่เธอคงไม่มีเวลาได้ทำอะไร เพราะมัวแต่ไปเที่ยวนั่งคอยในที่ต่าง ๆ ทีละหลายชั่วโมง” พระวิวิธวรรณการกล่าวพลางหัวเราะ
“และคู่คุณพระก็คงไม่ได้ทำอะไรเหมือนกัน เพราะมัวแต่ไปไหนไม่ทัน” หลวงวิโรจน์ ฯ ตอบ
คุณนายชื่นฟังบุตรี และเขยเจรจากันอยู่นานจึงพูดขึ้นบ้าง
“พ่อหลวงก็เห็นจะคล้าย ๆ พ่อชัดของแม่ พ่อคนนั้นใจร้อนเป็นที่หนึ่ง ทำอะไรไม่มีอืดอาดเลย”
บุตรีของคุณแม่ช่วยกันหัวเราะเสียงใส ซึ่งเขยบางคนของคุณแม่มองไม่เห็นเหตุว่าหัวเราะเพราะอะไร นางวิโรจน์เกษตร์กิจพูดว่า
ตาชัดเห็นจะเบื่อรถไฟแทบตายนะคะ นั่ง ๆ นอน ๆ ไปตั้ง ๒๔ ชั่วโมงกว่า ได้เที่ยวสงขลาแวบเดียวเท่านั้นเอง ต้องนั่งรถกลับมาอีกแล้ว
“ก็ดู๊เถอะ” คุณนายลากเสียงรับ “อารามเห่อพี่ต้องไปรับจนถึงที่”
“อารามที่อยากจะแสดงว่าฉันเห่อพี่” หลวงศักดิ์ ฯ แก้วางหน้าตาเฉย
“เสียเงินเปล่า ๆ” ช่วงพูดเชิงครึ่งตำหนิและครึ่งเอ็นดู
“เห็นจะอยากได้เห็นสภาพหัวเมืองด้วยน่ะ” พระวิวิธ ฯ ตัดสินอย่างผู้ใหญ่ตามนิสัย
“โถ! ไปเสียหลายวัน ออกคิดถึง อยู่ก็คลั่ก ๆ ๆ ๆ ราวกับน้ำไหล แต่ไปเสียก็เงียบ”
ช้อยบุตรีคนที่ ๔ ของคุณแม่เอ่ยขึ้นเป็นคำแรกว่า
“เขาไปที่บ้านพี่ชิดเสมอหรือจ๊ะ?”
“เสมอ” ผู้เป็นพี่ตอบ “แต่ในตอนท้ายนี้เขาหายไปนานหน่อย พอโผล่ไปอีกทีบอกว่าจะไปสงขลา”
นางศักดิ์รณชิตผู้เป็นพี่ใหญ่ และเพราะความที่เป็นพี่ใหญ่ จึงไม่รู้หายที่จะเห็นน้องสุดท้องเป็นเด็กอยู่เสมอ ถามขึ้นด้วยเสียงแสดงความขันว่า
“ไปเรี่ยไรเงินใช่ไหม เขาบอกกับฉันว่าเขาจะไปเรี่ยไรพี่ ๆ ทุกคน มากน้อยเท่าไหร่เอาทั้งนั้น”
ชดกับชิดแสดงกิริยารับรอง แต่ช้อยพูดว่า
“ดิฉันไม่ได้พบหน้าตาชัดมา ๒ เดือนแล้ว ก็ดีไม่ต้องถูกเรี่ยไร”
คุณนายชื่น รู้เหตุแห่งการห่างเห็นของชัดที่มีต่อลูกหญิงคนเล็กดีอยู่ จึงรีบตัดบทเสียว่า
“พ่อใหญ่เห็นจะดีใจพิลึกที่น้องไปรับจนถึงสงขลา”
“พอได้เป็นเพื่อนคุยแก้เหงาในรถไฟ” ช่วงสนองคำมารดา
“อาจจะเห็นว่า แหลกเหลวสุรุ่ยสุร่ายไม่เป็นเรื่องก็ได้” หลวงศักดิ์ ฯ ขัด
คณะญาติข้างภรรยาเปลี่ยนสีหน้าไปตามกัน พอดีกับพระวิวิธ ฯ กล่าวเตือนว่า รถไฟใกล้จะเข้าในชานชาลาสถานีแล้ว จึงต่างคนต่างสิ้นความเอาใจใส่ต่อเรื่องที่พูดค้างกันอยู่ พร้อมกับขยับเขยื้อนจากที่ ชะแง้คอยผู้ที่จะมาใหม่ นางวิโรจน์ปรารภว่า
“เออมาเสียที อยากรู้ว่าพี่ใหญ่จะเลือกสีผ้านุ่งถูกไหม”
“จริงนะ ฉันก็สั่งซื้อไปหลายผืน” ชดบอก
พอรถจักรหยุดนิ่งกับที่ ก็มีเสียงถามกันและกันเอง
“สองคนพี่น้องนั่นอยู่ที่ไหน ใครเห็นแล้วหรือยัง?”
“ไม่เห็น” นางศักดิ์รณชิตตอบพลางชะเง้อคอ “เอ๊ะ! นี่มันรถชั้นสามนี่ ชั้นหนึ่งอยู่ท้าย”
นางวิโรจน์ ฯ ฉวยกระเป๋าหมากจากมือคุณแม่อย่างรวดเร็ว “ไปทางโน้นเถอะค่ะ” หล่อนบอก แล้วออกเดินทันที
สตรีทั้ง ๕ นางเดินด่วนไปข้างหน้า หลวงวิโรจน์ ฯ ตามติดหลังไป พระวิวิธ ฯ กับหลวงศักดิ์ ฯ ค่อย ๆ ออกเดินช้า ๆ มองดูผู้คนที่ขวักไขว่อยู่เบื้องหน้าอย่างสนใจ พบผู้ที่ตนรู้จักก็แสดงกิริยาทักทายกัน ครั้นแล้วในที่สุดพระวิวิธ ฯ หัวเราะขึ้นและว่า
“อ้าว หลวงอรรถ ฯ ยืนป้ออยู่นี่เอง
หลวงศักดิ์ ฯ มองตามสายตาคนพูด เห็นตัวบุรุษผู้ถูกกล่าวนามก็หัวเราะด้วย พลางเดินตรงไปที่รถ
“วิชัย!” เขาเรียกเสียงค่อนข้างดัง-มีการโบกมือทักทายระหว่างบุรุษทั้งสอง “ญาติของแกเขาไปเที่ยวหาทางโน้น ส่งของมาซีจะช่วยรับ”
ไกลจากหลวงศักดิ์ ฯ ไปในระยะ ๘ วา ขบวนคุณแม่ซึ่งยกล่วงหน้าไปแล้ว ปะทะเข้ากับขบวนนายร้อยตรีชัดโดยไม่รู้ตัว
นายทหารหนุ่มมีแขนขวาเกี่ยวอยู่กับแขนเพื่อนสาว มือซ้ายหิ้วกระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก จึงคงเหลือแต่หน้าสำหรับใช้ทักทายแม่และพี่ โดยการพยักเพยิดหงึกหงักและคำพูดออกมาจากปาก มีความเร็วดังกระแสน้ำไหลจากที่สูง ซึ่งผู้ฟังจับความได้เพียงว่า “จะไปส่ง-เสียก่อนแล้วจะเลยไปที่บ้าน พี่ใหญ่อยู่โน้น” พยักหน้าไปทางข้างหน้า
บุคคลทั้ง ๕ มองตามชัดเป็นตาเดียว แต่ความฉุกละหุกแห่งเวลาและสถานที่ ไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์กิริยาและการกระทำของนายทหารหนุ่มน้อย หลวงวิโรจน์เตือนให้ถอยหลังกลับ ขบวนคุณแม่จึงย้อนมาทางเก่า ไม่ช้านักนางวิวิธ ฯ ก็พูดขึ้นอย่างตื่นเต้น
“นั่นแน่ ยืนอยู่ตรงบันได แต่ลงไม่ได้ อีตาฝรั่งขวางอยู่....ทางนี้ค่ะ คุณแม่ ทางท้ายรถ แหม! ยืนเช้ยเฉย ดูอีตาฝรั่งเสียจนเพลิน ไม่นึกอยากเห็นพวกพ้องบ้างเลย”
“ทำท่าใจเย็นตามเคย” นางศักด์ ฯ เสริม “เย็นไม่ว่าที่ไหนดู๊ ขอให้ดูไม่เดือดร้อนเลยที่ต้องยืนอยู่อย่างนั้น”
ถึงแม้ความจ้อกแจ้กจะครอบงำอยู่ทั่วสถานที่ และหลวงศักดิ์ ฯ ยืนอยู่ไม่ใกล้ภรรยา แต่ประสาทของเขาไวนัก จำเสียงหล่อนได้ถนัด ก็เหลียวมามองดูมีอาการเหมือนผู้ที่ถูกชวนไปดูละครที่ตนเคยดูแล้วซ้ำซากจนเบื่อที่สุด พระวิวิธ ฯ เอ่ยขึ้นว่า
“ถ้าเป็นเมียผม เห็นจะผลักตาอ้วนหัวแดงคนนั้นคะมำลงมาจากรถเป็นแน่”
หลวงศักดิ์ ฯ หัวเราะอย่างรู้สึกสบายใจ พอล้อเลื่อนที่บรรทุกสัมภาระของผู้โดยสารเคลื่อนจากหน้าบันไดนายฝรั่งเดินตามของไป หลวงอรรถคดีวิชัยก้าวลงเหยียบชานชาลา ก็มีเสียง ๔ เสียงประดังขึ้นพร้อมกัน
“ฮิ ๆ พี่ใหญ่ ๆ”
“พี่ใหญ่ดำปี๋เชียว !”
“พี่ใหญ่ดูเหมือนขาวขึ้น !”
“พี่ใหญ่ผอมไป !”
สุดเสียงหญิงทั้ง ๕ หลวงศักดิ์ ฯ ก็เอ่ยขึ้นบ้าง
“พี่ใหญ่เตี้ยลง !”
ชดขมวดคิ้ว ชิดทำปากเชิด ช่วงค้อนจนตาคว่e “พี่ใหญ่” มีอาการออกงง มองดูน้องคนนั้นทีหนึ่งคนนี้ทีหนึ่ง มือลูบผมอันยุ่งและลงมาปรกหน้า ในที่สุดจึงทำความเคารพมารดาอย่างนอบน้อม
“พ่อชัดเขาเดินไปกับใคร?” เป็นคำปราศัยของคุณแม่ !
วิชัยมิพักต้องตอบคำถามนั้น เพราะมีผู้ตอบแทนเขาถึง ๒ คน
“แม่อนงค์ยังไงล่ะคะ คุณแม่จำไม่ได้หรือ?”
จำได้ ! ทำไมจะจำไม่ได้ คำถามที่ถามไปแล้วมิได้ตั้งความหมายในอันจะรู้ว่าหญิงนั้นชื่อไร ตั้งไปหมายจะแสวงคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดและโดยอย่างไร ลูกชายสุดท้องของท่านจึง “เอาภาระ” ต่อหญิงนั้นนักต่างหาก
“ของมีเท่านี้แหละหรือ?” ท่านถามไปพลางมองดูกระเป๋าหนังใบใหญ่ที่หลวงศักดิ์ ฯ วางไว้ใกล้ตัว
ผู้ถูกถามแสดงกิริยารับรอง พระวิวิธ ฯ จึงว่า
“แหม ! ดีจริง ย้ายจากเมืองหนึ่งมาอีกเมืองหนึ่ง มีกระเป๋าใบเดียวเท่านั้นเอง”
“ที่ไหนได้” ภรรยาคุณพระค้าน “ไม่ไปดูที่บ้านนี่คะ แทบจะไม่มีที่เดิน”
“ส่งล่วงหน้ามาก่อน” หลวงวิโรจน์ ฯ แสดงความเข้าใจ
“ยังงั้นซี” คุณนายชื่นกล่าว “เอาเปรียบให้แม่จัดเสียเจียนตาย จะเป็นลมวันละ ๓ พัก ๔ พัก”
“หน้าเดินกันเสียทีหรือยังล่ะ ประเดี๋ยวจะเกิดเป็นลมกันขึ้นที่นี่หรอก” หลวงศักดิ์ ฯ เอ่ยขึ้น ครั้นแม่ยายหันมาทำตาเขียว เขาก็วางหน้าเฉยไว้ พูดสืบไป เชิญนำแถวซิครับ”
คุณนายชื่นออกเดินอย่างใคร่กระแทกส้น คนอื่น ๆ ก็เดินตามไปพร้อมกัน
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #5 on: 15 May 2022, 13:48:54 » |
|
๒
ในชานชาลาสถานีหัวลำโพงเมื่อใกล้เวลารถด่วนไปร-กรุงเทพ ฯ จะมาถึง มีฝูงชนอยู่มากหน้าเกือบทุกคนมีอาการกิริยาไม่สงบ ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะเขาทั้งหมดมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือตื่นเต้นหรืออึดอัดไม่มากก็น้อย ด้วยการที่ต้องคอย ดังนั้นนาฬิกาเรือนใหญ่ที่ติดอยู่ในที่สูง จึงเป็นเป้าสำคัญ อันดวงตาทุกคู่ที่จะเว้นเสียมิได้ ซึ่งการเฝ้าเวียนดูเกือบไม่เว้นวินาที
ในจำนวนฝูงชนที่กล่าวมานี้ มีบุคคลหมู่หนึ่งรวมกันอยู่ ณ ม้านั่งปลายทางที่สุดแห่งชานชาลา เป็นบุรุษ ๓ นาย ล้วนรูปร่างหน้าตาต่าง ๆ กัน ตรงกันข้ามกับสตรีอีก ๕ นางซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกัน จนควรกับคำว่า “ออกจากพิมพ์เดียว”
นางศรีวิชัย บริรักษ์ ชื่อเดิมชื่น อายุปัจฉิมวัย ปลายผมดำสนิท แต่ที่โคนผมมีสีขาวประปรายสวมแว่นตากรอบทอง กิริยาที่กัดพลูดังกรอบ ! แสดงว่ายังไม่เสียฟันไปเท่ากับสตรีทั้งหลายในวัยเดียวกัน รูปร่างของคุณนายนั้นอ้วนกลม วงหน้าก็กลมเหมาะกับรูปกาย จมูกลาด ปากใหญ่ ผิวขาว
ช่วง ชด ชิด บุตรีคนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ของคุณนายคือรูปปั้นของคุณนายเมื่อยังสาว แต่ช้อยบุตรีคนที่ ๔ นั้นผิวเนื้อดำแดง ร่างสูงกว่ามารดาและพี่สาวทั้ง ๓ คน รูปหน้ามีส่วนยาวกว่า จมูกโด่งกว่า ถึงกระนั้นเมื่อดูส่วนรวมในวงหน้า ก็จัดว่าหล่อนเป็นลูกที่เหมือนแม่ไม่น้อยเลย
ช่วงพูดกับสามีของหล่อนว่า
“เรารอให้ศักดาอาบน้ำแล้วพาแกมาด้วยก็ทันนะคะคุณพี่ เสียเวลามาคอยเป็นนานสองนาน”
หลวงศักดิ์รณชิต มีนิสัยคร้านที่จะพูดในบางคราว หลวงวิโรจน์เกษตร์กิจ เขยรองรับช่วงไปตอบแทน
“อีกประเดี๋ยวเดียวรถก็มาถึงแล้ว ไม่ว่าจะไปไหนผมยอมไปคอยนาน ๆ ก็ดีกว่าไปไม่ทันเวลา”
“ยังงั้นซี!” ชดเอ่ยขึ้นพลางค้อนสามีอย่างหมั่นไส้ “ตื่นเหมือนคนไม่เคยไปไหน”
“เรื่องอืดยกไว้ให้คุณพระของดิฉันซิคะ” ชิดวิวิธวรรณการว่า “ถ้าสับคู่กันเสีย ให้พี่ชดมาอยู่กับคุณพระ ดิฉันอยู่กับคุณหลวงวิโรจน์ ฯ”
“คู่เธอคงไม่มีเวลาได้ทำอะไร เพราะมัวแต่ไปเที่ยวนั่งคอยในที่ต่าง ๆ ทีละหลายชั่วโมง” พระวิวิธวรรณการกล่าวพลางหัวเราะ
“และคู่คุณพระก็คงไม่ได้ทำอะไรเหมือนกัน เพราะมัวแต่ไปไหนไม่ทัน” หลวงวิโรจน์ ฯ ตอบ
คุณนายชื่นฟังบุตรี และเขยเจรจากันอยู่นานจึงพูดขึ้นบ้าง
“พ่อหลวงก็เห็นจะคล้าย ๆ พ่อชัดของแม่ พ่อคนนั้นใจร้อนเป็นที่หนึ่ง ทำอะไรไม่มีอืดอาดเลย”
บุตรีของคุณแม่ช่วยกันหัวเราะเสียงใส ซึ่งเขยบางคนของคุณแม่มองไม่เห็นเหตุว่าหัวเราะเพราะอะไร นางวิโรจน์เกษตร์กิจพูดว่า
ตาชัดเห็นจะเบื่อรถไฟแทบตายนะคะ นั่ง ๆ นอน ๆ ไปตั้ง ๒๔ ชั่วโมงกว่า ได้เที่ยวสงขลาแวบเดียวเท่านั้นเอง ต้องนั่งรถกลับมาอีกแล้ว
“ก็ดู๊เถอะ” คุณนายลากเสียงรับ “อารามเห่อพี่ต้องไปรับจนถึงที่”
“อารามที่อยากจะแสดงว่าฉันเห่อพี่” หลวงศักดิ์ ฯ แก้วางหน้าตาเฉย
“เสียเงินเปล่า ๆ” ช่วงพูดเชิงครึ่งตำหนิและครึ่งเอ็นดู
“เห็นจะอยากได้เห็นสภาพหัวเมืองด้วยน่ะ” พระวิวิธ ฯ ตัดสินอย่างผู้ใหญ่ตามนิสัย
“โถ! ไปเสียหลายวัน ออกคิดถึง อยู่ก็คลั่ก ๆ ๆ ๆ ราวกับน้ำไหล แต่ไปเสียก็เงียบ”
ช้อยบุตรีคนที่ ๔ ของคุณแม่เอ่ยขึ้นเป็นคำแรกว่า
“เขาไปที่บ้านพี่ชิดเสมอหรือจ๊ะ?”
“เสมอ” ผู้เป็นพี่ตอบ “แต่ในตอนท้ายนี้เขาหายไปนานหน่อย พอโผล่ไปอีกทีบอกว่าจะไปสงขลา”
นางศักดิ์รณชิตผู้เป็นพี่ใหญ่ และเพราะความที่เป็นพี่ใหญ่ จึงไม่รู้หายที่จะเห็นน้องสุดท้องเป็นเด็กอยู่เสมอ ถามขึ้นด้วยเสียงแสดงความขันว่า
“ไปเรี่ยไรเงินใช่ไหม เขาบอกกับฉันว่าเขาจะไปเรี่ยไรพี่ ๆ ทุกคน มากน้อยเท่าไหร่เอาทั้งนั้น”
ชดกับชิดแสดงกิริยารับรอง แต่ช้อยพูดว่า
“ดิฉันไม่ได้พบหน้าตาชัดมา ๒ เดือนแล้ว ก็ดีไม่ต้องถูกเรี่ยไร”
คุณนายชื่น รู้เหตุแห่งการห่างเห็นของชัดที่มีต่อลูกหญิงคนเล็กดีอยู่ จึงรีบตัดบทเสียว่า
“พ่อใหญ่เห็นจะดีใจพิลึกที่น้องไปรับจนถึงสงขลา”
“พอได้เป็นเพื่อนคุยแก้เหงาในรถไฟ” ช่วงสนองคำมารดา
“อาจจะเห็นว่า แหลกเหลวสุรุ่ยสุร่ายไม่เป็นเรื่องก็ได้” หลวงศักดิ์ ฯ ขัด
คณะญาติข้างภรรยาเปลี่ยนสีหน้าไปตามกัน พอดีกับพระวิวิธ ฯ กล่าวเตือนว่า รถไฟใกล้จะเข้าในชานชาลาสถานีแล้ว จึงต่างคนต่างสิ้นความเอาใจใส่ต่อเรื่องที่พูดค้างกันอยู่ พร้อมกับขยับเขยื้อนจากที่ ชะแง้คอยผู้ที่จะมาใหม่ นางวิโรจน์ปรารภว่า
“เออมาเสียที อยากรู้ว่าพี่ใหญ่จะเลือกสีผ้านุ่งถูกไหม”
“จริงนะ ฉันก็สั่งซื้อไปหลายผืน” ชดบอก
พอรถจักรหยุดนิ่งกับที่ ก็มีเสียงถามกันและกันเอง
“สองคนพี่น้องนั่นอยู่ที่ไหน ใครเห็นแล้วหรือยัง?”
“ไม่เห็น” นางศักดิ์รณชิตตอบพลางชะเง้อคอ “เอ๊ะ! นี่มันรถชั้นสามนี่ ชั้นหนึ่งอยู่ท้าย”
นางวิโรจน์ ฯ ฉวยกระเป๋าหมากจากมือคุณแม่อย่างรวดเร็ว “ไปทางโน้นเถอะค่ะ” หล่อนบอก แล้วออกเดินทันที
สตรีทั้ง ๕ นางเดินด่วนไปข้างหน้า หลวงวิโรจน์ ฯ ตามติดหลังไป พระวิวิธ ฯ กับหลวงศักดิ์ ฯ ค่อย ๆ ออกเดินช้า ๆ มองดูผู้คนที่ขวักไขว่อยู่เบื้องหน้าอย่างสนใจ พบผู้ที่ตนรู้จักก็แสดงกิริยาทักทายกัน ครั้นแล้วในที่สุดพระวิวิธ ฯ หัวเราะขึ้นและว่า
“อ้าว หลวงอรรถ ฯ ยืนป้ออยู่นี่เอง
หลวงศักดิ์ ฯ มองตามสายตาคนพูด เห็นตัวบุรุษผู้ถูกกล่าวนามก็หัวเราะด้วย พลางเดินตรงไปที่รถ
“วิชัย!” เขาเรียกเสียงค่อนข้างดัง-มีการโบกมือทักทายระหว่างบุรุษทั้งสอง “ญาติของแกเขาไปเที่ยวหาทางโน้น ส่งของมาซีจะช่วยรับ”
ไกลจากหลวงศักดิ์ ฯ ไปในระยะ ๘ วา ขบวนคุณแม่ซึ่งยกล่วงหน้าไปแล้ว ปะทะเข้ากับขบวนนายร้อยตรีชัดโดยไม่รู้ตัว
นายทหารหนุ่มมีแขนขวาเกี่ยวอยู่กับแขนเพื่อนสาว มือซ้ายหิ้วกระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก จึงคงเหลือแต่หน้าสำหรับใช้ทักทายแม่และพี่ โดยการพยักเพยิดหงึกหงักและคำพูดออกมาจากปาก มีความเร็วดังกระแสน้ำไหลจากที่สูง ซึ่งผู้ฟังจับความได้เพียงว่า “จะไปส่ง-เสียก่อนแล้วจะเลยไปที่บ้าน พี่ใหญ่อยู่โน้น” พยักหน้าไปทางข้างหน้า
บุคคลทั้ง ๕ มองตามชัดเป็นตาเดียว แต่ความฉุกละหุกแห่งเวลาและสถานที่ ไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์กิริยาและการกระทำของนายทหารหนุ่มน้อย หลวงวิโรจน์เตือนให้ถอยหลังกลับ ขบวนคุณแม่จึงย้อนมาทางเก่า ไม่ช้านักนางวิวิธ ฯ ก็พูดขึ้นอย่างตื่นเต้น
“นั่นแน่ ยืนอยู่ตรงบันได แต่ลงไม่ได้ อีตาฝรั่งขวางอยู่....ทางนี้ค่ะ คุณแม่ ทางท้ายรถ แหม! ยืนเช้ยเฉย ดูอีตาฝรั่งเสียจนเพลิน ไม่นึกอยากเห็นพวกพ้องบ้างเลย”
“ทำท่าใจเย็นตามเคย” นางศักด์ ฯ เสริม “เย็นไม่ว่าที่ไหนดู๊ ขอให้ดูไม่เดือดร้อนเลยที่ต้องยืนอยู่อย่างนั้น”
ถึงแม้ความจ้อกแจ้กจะครอบงำอยู่ทั่วสถานที่ และหลวงศักดิ์ ฯ ยืนอยู่ไม่ใกล้ภรรยา แต่ประสาทของเขาไวนัก จำเสียงหล่อนได้ถนัด ก็เหลียวมามองดูมีอาการเหมือนผู้ที่ถูกชวนไปดูละครที่ตนเคยดูแล้วซ้ำซากจนเบื่อที่สุด พระวิวิธ ฯ เอ่ยขึ้นว่า
“ถ้าเป็นเมียผม เห็นจะผลักตาอ้วนหัวแดงคนนั้นคะมำลงมาจากรถเป็นแน่”
หลวงศักดิ์ ฯ หัวเราะอย่างรู้สึกสบายใจ พอล้อเลื่อนที่บรรทุกสัมภาระของผู้โดยสารเคลื่อนจากหน้าบันไดนายฝรั่งเดินตามของไป หลวงอรรถคดีวิชัยก้าวลงเหยียบชานชาลา ก็มีเสียง ๔ เสียงประดังขึ้นพร้อมกัน
“ฮิ ๆ พี่ใหญ่ ๆ”
“พี่ใหญ่ดำปี๋เชียว !”
“พี่ใหญ่ดูเหมือนขาวขึ้น !”
“พี่ใหญ่ผอมไป !”
สุดเสียงหญิงทั้ง ๕ หลวงศักดิ์ ฯ ก็เอ่ยขึ้นบ้าง
“พี่ใหญ่เตี้ยลง !”
ชดขมวดคิ้ว ชิดทำปากเชิด ช่วงค้อนจนตาคว่e “พี่ใหญ่” มีอาการออกงง มองดูน้องคนนั้นทีหนึ่งคนนี้ทีหนึ่ง มือลูบผมอันยุ่งและลงมาปรกหน้า ในที่สุดจึงทำความเคารพมารดาอย่างนอบน้อม
“พ่อชัดเขาเดินไปกับใคร?” เป็นคำปราศัยของคุณแม่ !
วิชัยมิพักต้องตอบคำถามนั้น เพราะมีผู้ตอบแทนเขาถึง ๒ คน
“แม่อนงค์ยังไงล่ะคะ คุณแม่จำไม่ได้หรือ?”
จำได้ ! ทำไมจะจำไม่ได้ คำถามที่ถามไปแล้วมิได้ตั้งความหมายในอันจะรู้ว่าหญิงนั้นชื่อไร ตั้งไปหมายจะแสวงคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดและโดยอย่างไร ลูกชายสุดท้องของท่านจึง “เอาภาระ” ต่อหญิงนั้นนักต่างหาก
“ของมีเท่านี้แหละหรือ?” ท่านถามไปพลางมองดูกระเป๋าหนังใบใหญ่ที่หลวงศักดิ์ ฯ วางไว้ใกล้ตัว
ผู้ถูกถามแสดงกิริยารับรอง พระวิวิธ ฯ จึงว่า
“แหม ! ดีจริง ย้ายจากเมืองหนึ่งมาอีกเมืองหนึ่ง มีกระเป๋าใบเดียวเท่านั้นเอง”
“ที่ไหนได้” ภรรยาคุณพระค้าน “ไม่ไปดูที่บ้านนี่คะ แทบจะไม่มีที่เดิน”
“ส่งล่วงหน้ามาก่อน” หลวงวิโรจน์ ฯ แสดงความเข้าใจ
“ยังงั้นซี” คุณนายชื่นกล่าว “เอาเปรียบให้แม่จัดเสียเจียนตาย จะเป็นลมวันละ ๓ พัก ๔ พัก”
“หน้าเดินกันเสียทีหรือยังล่ะ ประเดี๋ยวจะเกิดเป็นลมกันขึ้นที่นี่หรอก” หลวงศักดิ์ ฯ เอ่ยขึ้น ครั้นแม่ยายหันมาทำตาเขียว เขาก็วางหน้าเฉยไว้ พูดสืบไป เชิญนำแถวซิครับ”
คุณนายชื่นออกเดินอย่างใคร่กระแทกส้น คนอื่น ๆ ก็เดินตามไปพร้อมกัน
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #6 on: 15 May 2022, 13:50:22 » |
|
๓
เวลาเช้าตรู่วิชัยยังหลับ เกิดนิมิตว่าจีนในสยามก่อการกำเริบ ตัวเขาเองจะเป็นโดยสถานใดก็ตามได้ถูกเกณฑ์ไปปราบพวกเหล่านี้ด้วยกำลังปลุกปล้ำต่อสู้กับจีนคนหนึ่งท่ามกลางเสียงม้าฬ่อ และเสียงประทัด วิชัยลืมตาขึ้นพบตัวเองอยู่ในมุ้ง กำลังปล้ำหมอนข้างอย่างขนานใหญ่ เขาเริ่มรู้สึกตัวว่าฝัน แต่เสียงดังโครมครามยังดังอยู่ใกล้หูทำเขางงไป แล้วก็ตกใจถึงกับลุกนั่งขึ้นโดยเร็ว มองทะลุผ้าโปร่งไปตรงหน้า พบฝาเรือนและประตู เกิดความแก่ใจว่าตนกำลังอยู่ในห้องนอน ซึ่งหมายความว่าไกลจากเสียงอึกทึกจะพึงกล้ำกราย เพราะบ้านผู้พิพากษาจังหวัดสงขลา ไม่เคยมีคนพาลสันดานหยาบมาเกะกะ เหตุไฉนวันนี้จึงมีเสียงอันไม่ไพเราะเสนาะหูมารบกวนแต่รุ่งสาง ออกนึกโกรธเท่าที่ใจเย็นเช่นเขาพึงโกรธเป็น จึงเปิดประตูมุ้งออกโดยแรง เห็นตู้เสื้อผ้าของตนตั้งตระหง่านอยู่ข้างเตียง แสงทองส่องลอดช่องหน้าต่างอันปราศจากม่าน วิชัยยกมือขึ้นเกาศีรษะ เขาเพิ่งนึกได้เดี๋ยวนี้เองว่าในบ้านที่เขาอยู่นี้ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของโดยตรง-มิได้มีเฉพาะตัวเขาเป็นประมุขสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว การนอนของเขาจึงไม่ปลอดโปร่งดังที่เคย คิดได้ดังนี้แล้ววิชัยก็หันกลับขึ้นเตียงทิ้งตัวลงบนที่นอนดังเก่า
เสียงอึกทึกนั้น ปรากฏว่าเป็นเสียงประตูและเสียงฝีเท้า ครั้นแล้วก็มีเสียงพูด เสียงบ่น เสียงด่า บัดนี้วิชัยยังนึกได้ต่อไปอีกว่า ห้องนอนของเขาอยู่ติดกับห้องนายร้อยตรีชัด และจำได้ด้วยว่านายทหารหนุ่มน้องเขานั้น จะต้องไปฝึกหัดทหารก่อน ๖ นาฬิกา แทนความฉงนสนเท่ห์และความฉุน วิชัยนอนฟังเสียงต่าง ๆ ที่ดังมาจากห้องด้วยอารมณ์ดี ประมาณ ๑๕ นาทีจึงได้ยินเสียงรองเท้ากระทบพื้นกระดานโดยแรงและเร็วและไปสุดเสียงลงเมื่อชัดลงบันไดเรือนไปแล้ว
บัดนั้น ดวงจิตวิชัยก็ประหวัดถึงความหลัง เมื่อครั้งตนยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อย และภูมิใจยิ่งนักในเครื่องแบบแห่งโรงเรียน ซึ่งตนมีความชอบธรรมที่จะสวมได้
ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มนุษย์เห็นได้ด้วยตา ดังนั้นจะกล่าวยืนยันให้จะแจ้งว่าคือสิ่งใด มีขึ้นอย่างไรก็ยากที่จะกล่าว แต่มนุษย์ได้บัญญัติศัพท์ไว้สำหรับเรียกธรรมชาตินี้ว่า กรรมพันธุ์ คือกรรมที่ติดต่อกันในวงศ์
มนุษย์คนหนึ่งเมื่อยังคงชีพ มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นของตน ครั้นชีวิตล่วงไปแล้ว ตามความนิยมของโลกย่อมให้วัตถุนั้นแก่บุตร เรียกว่า มรดก
จะแยกมรดกออกเป็น ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นนามที่มีรูป ย่อมหยิบยื่นยกให้ปันกันได้ อีกชนิดหนึ่งเป็นนามไม่มีรูป ใครไม่มีอำนาจที่จะยกให้ใคร แต่จะหวงแหนมิให้ตกถึงใครได้ก็เป็นการเกินอำนาจอีก มรดกชนิดที่ ๒ นี้ได้แก่กรรมพันธุ์
คนทั้งหลายมีความเชื่อว่า ลูกย่อมเหมือนพ่อแม่ โดยลักษณะและนิสัย นี่คือคนทั้งหลายเชื่อในกรรมพันธุ์ แต่บางคราวปรากฏว่าพ่อกับลูกหรือแม่กับลูกผิดแผกกันมากทั้งกายและใจ ข้อนี้เป็นเพราะกรรมพันธุ์ไม่เป็นมรดกที่จะตกทอด รับช่วงกันแต่เฉพาะจากพ่อแม่ถึงลูกโดยตรง หากจะข้ามชั้น หลานรับจากปู่หรือตา หรือเหลนรับจากทวดก็มีมากอยู่ ดังเช่นวิชัย ทวดของเขาเป็นนักรบที่แกล้วกล้ากลางศึก ปู่เป็นคหบดีมีนาให้เช่าและทำนาของตนเอง บิดาเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง ส่วนตัววิชัยรักทหาร รักความเป็นทหาร และรักการเป็นทหาร ตลอดจนเครื่องแบบทหารตั้งแต่แรกรู้ความ
“คุณพ่อฮับ ใครเป็นนายใหญ่ของทหาร?” วิชัยเคยถามบิดาดังนี้ด้วยท่าทางขึงขัง และสีหน้าขรึมอย่างเอางานเอาการ ครั้นได้รับคำตอบว่า “แม่ทัพซิลูก” วิชัยก็ยืนตัวตรง แอ่นอก ยกศีรษะ แล้วพูดอย่างเด็ดขาด “หนูโตแล้วหนูจะเป็นแม่ทัพใหญ่” ครั้นแล้วสัญชาตญาณแห่งเด็กที่จะโตขึ้นเป็นผู้มั่นในกตัญญูรู้เชิดชูผู้ให้กำเนิดไว้เหนือตน เขาหันมาถามบิดาว่า “แล้วใครเป็นนายแม่ทัพใหญ่ฮับ” “เวลาสงครามไม่มีใครเป็นนายทัพใหญ่หรอกลูก” คราวนี้พ่อหนูน้อยก็นิ่งคิดแล้วจึงว่า “ผมเป็นแม่ทัพเล็กเท่านั้นแหละ คุณพ่อเป็นแม่ทัพใหญ่ดีกว่า”
ต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อพระราชวงศ์ผู้สูงศักดิ์ได้ทรงจัดการให้โรงเรียนนายร้อยเติบใหญ่ และเจริญดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เด็กน้อยผู้มีความใฝ่ฝันล้วนแล้วไปด้วยเรื่องของนักรบ ก็ได้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนนักรบสมประสงค์
แต่วิถีแห่งชีวิตมนุษย์ หาได้อยู่ใต้ความเจตนาและความควบคุมของมนุษย์ไม่ แต่พอวิชัยสอบไล่ได้ขึ้นอยู่ในชั้นประถม ๓ ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่ครอบครัว ร้ายนักจนถึงกับวิชัยต้องหมดหวังในการที่จะดำเนินชีวิตตามรอยเท้าผู้เป็นทวดต่อไปทีเดียว
บิดาของวิชัยมีบรรดาศักดิ์เป็น พระศรีวิชัยบริรักษ์ มีตำแหน่งเป็นนายอำเภอจักรวรรดิ์ โดยตำแหน่งนี้ คุณพระมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยกับสมุห์บัญชี รักษาเงินราชการเมื่อคืนวันเกิดเหตุ มีผู้รู้เห็นว่านายอำเภอกับสมุห์บัญชีนั่งรถลากออกจากโรง “หนังญี่ปุ่น” ด้วยกัน ครั้นรุ่งเช้าเมื่อสมุห์บัญชีกับนายอำเภอ ผู้ต่างฝ่ายต่างถือกุญแจตู้กำปั่นคนละดอก คือนายอำเภอถือกุญแจกำปั่นชั้นนอก สมุห์บัญชีถือกุญแจชั้นในพากันไปไขกำปั่นนั้น ปรากฏว่าเงินที่มีอยู่ ๑๒,๐๐๐ บาท เมื่อวันก่อนนั้นหายไปจนหมดสิ้น
ได้มีการไต่สวนอย่างละเอียด แต่ไร้ผล ไม่มีรอยชำรุดที่กำปั่นแม้แต่เล็กน้อย ดำรวจที่อยู่ยามรักษาการยืนยันว่าไม่ได้ยินหรือได้เห็นสิ่งใดผิดปรกติ และเจ้าหน้าที่ค้นไม่พบของกลาง ใบหน้าผู้รักษาเงินทั้ง ๒ ไม่มีผู้ใดไขความลับให้กระจ่างได้ ทางราชการจึงบัญชาให้ขังตำรวจผู้รักษาหน้าที่เสีย ๑ เดือน และปลดนายอำเภอและสมุห์บัญชีออกจากราชการ โดยมิได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ
มีคำกล่าวว่า ตัวเคราะห์เมื่อเข้าสู่ผู้ใด หาเข้าแต่ตัวเดียวไม่ หากย่อมเข้าหลายตัวในคราวหนึ่ง เช่นเดียวกับตัวเคราะห์ที่เข้าสู่พระศรีวิชัย ฯ แต่พอคุณพระต้องโทษมัวหมองได้สักหน่อย ห้องแถว ๑๘ ห้อง ปลูกอยู่ริมถนน ๒๒ กรกฎา เป็นสมบัติที่พระศรีวิชัยได้รับจากบรรพบุรุษก็ถูกเพลิงเผาผลาญวินาศไปในเวลาไม่ถึง ๒ ชั่วโมง ต่อจากนั้นเจ้าทรัพย์ก็ล้มเจ็บเป็นโรคเส้นประสาทอย่างแรง
ในระยะต้นนี้ วิชัยยังคงศึกษาประจำอยู่โรงเรียนเดิม ทุก ๆ วันเสาร์เขากลับมานอนค้างที่บ้าน และถือโอกาสพยาบาลบิดาด้วยความเอาใจใส่ และช่วยมารดาทำงานเท่าที่ความสามารถของตนจะทำได้
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ดังปรารภในพุทธศาสนสุภาษิต โดยนัยนี้ ความมีโรคก็เป็นเครื่องล้างลาภอย่างร้ายกาจ เมื่อหมดเงินเดือน หมดรายได้จากห้องแถว ครอบครัวพระศรีวิชัยยังมีหวังแต่จะพึ่งค่าเช่านา และดอกเบี้ยจากตัวเงินสะสมไว้ได้บ้างเล็กน้อย ครั้นประมุขแห่งครอบครัวเจ็บหนัก ค่ารักษาที่ต้องเสียมิใช่เสียเป็นระยะเวลาเสมอกันดังเช่นรายรับที่ได้รับเป็นกำหนดรายปีหรือรายเดือน หากต้องเสียไม่จำกัดเวลาใด จึงเป็นธรรมดาที่ภายในเวลาอันสั้น เงินทุนที่มีอยู่ก็หมดไป รายจ่ายท่วมรายได้ ถึงกับต้องจำนำอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหาเงินมาใช้
เมื่อหมดเกียรติ หมดทรัพย์ ก็หมดเพื่อน หมดตลอดทั้งข้าทาสหญิงชาย งานในบ้านทุกชนิดเว้นแต่งานทำครัว นางศรีวิชัยต้องประกอบเอง โดยมีลูกหญิงคนโตที่ควรจะช่วยได้มาก แต่ขาดความเคยและความอดทนเป็นผู้ช่วย กับมีลูกหญิงอีก ๓ คนพอวิ่งเต้นหยิบโน่นฉวยนี่ได้บ้าง ถ้าเจ้าหล่อนน้อย ๆ นั้นไม่มัวเป็นห่วงที่จะหนีไปวิ่งเล่น หรือหาเรื่องทะเลาะวิวาท ตลอดจนหยิกตีกันเอง นอกจากนั้นเจ้าหล่อนทั้ง ๔ คนนี้ยังอยู่ในเขตแห่งการต้องไปโรงเรียน เพื่อการศึกษา ซึ่งหมายความว่าภายหลังที่ต้องทำตนอยู่ในระเบียบ และทำงานด้วยสมองมาหลายชั่วโมงแล้วก็เป็นธรรมดาของเด็กที่เกิดมาในความสุขสมบูรณ์ จะเบื่อหน่ายต่องานบ้านอย่างที่สุด
ส่วนวิชัยผู้เป็นบุตรหัวปี มีวัยเป็นอาวุโส มีความคิดพอที่จะเข้าใจในความทุกข์ และช่วยทุกข์หนักด้วยกับมารดา ผู้ต้องแบกภาระอันใหญ่ยิ่งไว้ในอกแต่ผู้เดียว เขาจึงเพิ่มความอุตสาหะ ในการที่จะทำตัวเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวยิ่งขึ้นเสมอ คิดดูก็เป็นข้อขำ ความดีของคนหนึ่งนั้นเองเป็นต้นเหตุแห่งความวิบากของตนเอง....ลูกรักของแม่ เจ้าคนเดียวเป็นคนช่วยทำให้แม่เบาอกได้ทุกระยะ ๑ สัปดาห์ ทำไมเล่าเจ้าไม่มาช่วยแม่ให้ทุกวัน!!!--ในเดือนนั้นเอง โดยคำวิงวอนแกมบังคับของมารดา วิชัยต้องลาจากโรงเรียนนายร้อย ลาจากทางแห่งอาชีพที่เขารัก และได้ใฝ่ฝันถึงความใฝ่สูงมาแต่น้อย !
วันแรก ๆ แห่งการต้องเสียสละนี้ เป็นวันที่วิชัยจะลืมเสียมิได้โดยยาก และน้ำตาที่เขาได้เสียไปเพราะเหตุนี้ ก็จวนจะเปรียบได้ว่าเป็นหยดโลหิตกระเด็นจากตา อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่นางศรีวิชัยหวังได้จากลูกคนโตนั้นก็มิได้น้อยไปจากที่หวังไว้ ไม่มีงานสิ่งใดเลยที่วิชัยจะดูดายในเมื่อตนจะทำให้สำเร็จได้ การพยาบาลพ่อ การทำความสะอาด การซักรีด การดูแลน้องทั้ง ๔ คน เฉพาะอย่างยิ่งน้องคนเล็กซึ่งมีอายุเพียง ๔ ปี ไม่สมควรละเลยให้พ้นสายตาผู้ใหญ่ การทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ย่อมสำเร็จได้ด้วยความตั้งใจจริงของวิชัยโดยสิ้นเชิง
โรคร้ายของพระศรีวิชัยทำการล้างทรัพย์อยู่ ๒ เดือนเศษแล้วก็ยุติ ภรรยาและบุตรค่อยหายใจสะดวกขึ้น ต่างตั้งหน้าทำการงานอันเป็นกิจวัตรและหาความสุขอย่างเบียดกรอเท่าที่ทุนทรัพย์จะหาให้ได้ การเป็นดังนี้อยู่ ๒ ปีเศษ
ถึงคราวพระศรีวิชัย ฯ จะพ้นเคราะห์ วันหนึ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องภรรยาพยายามจะประหารสามีด้วยมีดชายธง เพราะเหตุวิวาทเรื่องชายชู้ ในเวลาที่เจ้าหน้าที่ไต่สวนปากคำ ทั้ง ๒ ฝ่ายบันดาลโทสะกล่าวผรุสวาทแก่กันไม่ลดละ และในที่สุดภรรยาได้แถลงต่อเจ้าหน้าที่ว่า สามีเป็นผู้เคยทำผิดกฎหมาย ตัวเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีสมคบกันกับสมุห์บัญชีผู้เป็นนาย ทำกุญแจปลอมลักเงินราชการไปจากกำปั่นที่ตั้งอยู่บนที่ว่าการอำเภอจักรวรรดิ์
บุญมาวาสนาช่วย ที่ป่วยก็หายที่หน่ายก็รัก พระศรีวิชัย ฯ มิได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากร่างกายทุพพลภาพ แต่ได้รับเงินเดือนชดเชยเวลา ๓ ปีที่ไม่ได้ทำงานจนครบถ้วน และได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญตามเวลาราชการ ความฟื้นตัวก็ค่อยมีขึ้นแก่ครอบครัวนี้ พร้อมด้วยความนับหน้าถือตาจากญาติมิตรทั้งหลาย
แต่ความใฝ่ฝันในวัยเด็กของวิชัยนั้น เป็นอันเหลวเปล่า วิชัยหมดสิทธิที่จะได้เข้าศึกษาวิชาพลรบเสียแล้วเพราะการลาของเขา ซึ่งในตอนต้นอนุโลมเป็นการลาพักมีขีดจำกัดเวลาเพียง ๓ เดือนเท่านั้น ได้แปรรูปเป็นการลาออกตามข้อบังคับ เพราะเหตุที่วิชัยมิได้กลับเข้าในสถานศึกษาตามเวลากำหนด แต่ความรักทหารยังฝังอยู่ในใจ วิชัยจึงสนับสนุนให้น้องชายได้เป็นนักเรียนนายร้อยแทนตัว ส่วนเขาเองนั้น ต่อมาได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม ได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรม และไปเป็นผู้พิพากษาอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ หลายปี จนในที่สุดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอรรถคดีวิชัย
แสงทองที่จับขอบฟ้า เปลี่ยนเป็นแสงแดดกล้า ชายหนุ่มผู้นอนลืมตาฝันอยู่จึงลุกขึ้น นำตัวออกมาจากมุ้ง
มองไปรอบฝาผนังทั้ง ๔ ด้านแล้ว วิชัยขมวดคิ้วด้วยความประหลาดใจ ในตอนกลางคืน วิชัยมีอารมณ์เบิกบานเยี่ยงคนที่ระเหระหนจากบ้านเกิดไปนับปี ครั้นแล้วได้กลับมายังที่พร้อมด้วยความหวัง ที่จะได้อยู่ยืดยาวก็ย่อมจะปล่อยตัวปล่อยใจให้เบิกบานไปตามอารมณ์ ละเสียซึ่งความพิถีพิถันและการคิดเล็กคิดน้อย เหตุฉะนั้นเขาจึงเข้านอนอย่างสุขสบายโดยมิได้สังเกตเห็นว่าสภาพห้องนอน ของตนนั้นเป็นอย่างไร ครั้นถึงเวลาเมื่อแสงแดดกระจายไปทั่วห้อง วิชัยให้นึกแปลกใจที่ห้องนี้ผิดแปลกไปจากสภาพที่เขาเคยเห็นอยู่เป็นอันมาก
เหลียวหาเครื่องแต่งห้อง ที่เคยใช้ประจำในคราวที่ได้โอกาสมาเยี่ยมบ้าน พบแต่ตู้เสื้อผ้าแบบพ้นสมัยที่เป็นของบิดาท่านเคยใช้อยู่ตู้เดียว ส่วนที่เป็นของเขาเองทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เตียง ตลอดจนราวแขวนผ้าเช็ดตัวไม่มีเหลืออยู่ หน้าต่าง ๒ หน้าต่างที่ข้างเตียงมีเศษม่านห้อยร่องแร่งเป็นแผ่นใหญ่ แต่หน้าต่างหัวนอนนั้น แม้แต่ราวม่านก็ไม่เหลืออยู่ ทางปลายเตียงมีโต๊ะเครื่องแป้งเก่าคร่ำคร่า เป็นร่องรอยล้วนลายสลักแบบพ้นสมัยเช่นเดียวกับตู้ กระจกเงาที่ในกรอบไม้อันติดอยู่บนโต๊ะมีทั้งรอยขีด รอยฝ้าบนโต๊ะไม่มีผ้าปู แต่เครื่องตั้งประจำโต๊ะเครื่องแป้งนั้นครบชุด ตั้งแต่ขวดน้ำอบไทยตลอดจนขันน้ำพานรอง
โดยไม่ใช้เวลาคิดอะไรให้มากไปกว่าสงสัยว่า เครื่องแต่งห้องของตนไปอยู่เสียที่ไหน วิชัยคุกเข่าลงบนพื้นห้อง จัดแจงเปิดกระเป๋าเดินทางหาของที่ต้องการ
๑๕ นาทีต่อมา วิชัยก็ออกจากห้องชั้นบนลงมาชั้นล่างเพื่อหามารดา
อันบ้านที่อยู่ของวิชัยนี้ เป็นเรือนไม้อย่างเก่า ชั้นบนแบ่งออกเป็น ๕ ห้องเล็ก ๆ ใช้เป็นห้องสำหรับอยู่ ๓ ห้อง นอกนั้นเป็นห้องรก คือเป็นที่สำหรับคนใช้อาศัยนอนปนกับของ ชั้นล่างทางส่วนหน้า ทำเป็นเฉลียงทั้งกว้างและยาว จึงมีห้องแต่เพียง ๔ ห้อง ซึ่งคุณนายชื่นใช้เป็นห้องนอนเสียห้องหนึ่ง ส่วนอีก ๒ ห้องเรียกว่าห้องรับแขกและห้องกินข้าว
วิชัยพบมารดาอยู่ในห้องนอน กำลังทาแป้ง พอเห็นหน้าบุตรชายก็ทักว่า
“ตื่นแล้วหรือ เมื่อคืนร้อนไหม?”
“ไม่รู้สึกเลยครับ” บุตรชายตอบเสียงแจ่มใส “พอเข้ามุ้งก็หลับสนิทรวดเดียวจนสว่าง พ่อชัดเขาลุกโครมครามถึงได้ตื่น”
“อ้อ วันนี้ พ่อชัดเขาไปฝึกหัด พ่อใหญ่ล่ะต้องไปกระทรวงไหม?”
“ต้องไปครับ แต่ไปสายหน่อยได้”
ขณะนั้น สาวใช้คนหนึ่งของคุณนาย ถือไม้กวาดเข้ามาในห้อง คุณนายกำลังจะรับประทานหมาก พอเห็นคนใช้ก็หยิบตลับขี้ผึ้งขึ้นถือไว้พลางลุกขึ้นยืนบอกลูกชายว่า
“ออกไปข้างนอกเถอะ เด็กมันจะกวาดเรือน”
วิชัยลุกขึ้นจากที่ หยิบเชี่ยนหมากกับกระโถนถือตามคุณนายออกมานั่งที่เฉลียงหน้าห้อง
“คุณแม่ครับ” เขาพูดในครู่หนึ่งต่อมา “เครื่องแต่งห้องของผมไปไหนเสียหมดครับ?”
“อะไร?”
“โต๊ะ เก้าอี้ และอะไรต่าง ๆ ที่ผมเคยใช้”
“อยู่ที่ห้องพ่อชัดแน่ะ นี่ยังไม่ได้เข้าไปเยี่ยมห้องน้องดอกหรือ?”
“เข้าไปประเดี๋ยวหนึ่งเมื่อคืนนี้ ไม่ทันเห็นว่าของ ๆ ผมอยู่ที่นั้น”
ผู้เป็นมารดาหัวเราะแล้วพูดอย่างขัน
“จำไม่ได้น่ะไม่ว่า พ่อชัดเขาเอาไปพ่นสีเสียใหม่สวยเรี่ยมเทียว แล้วเขาให้ช่างต่อตู้มาเข้าชุดอีกใบหนึ่ง อ้อ ! ดูเหมือนโต๊ะหัวนอนด้วย ของพ่อใหญ่แต่เดิมไม่มีไม่ใช่หรือ?”
“ไม่มีครับ” บุตรชายตอบเสียงต่ำ นิ่งอยู่อึดใจหนึ่ง แล้วถามต่อไป “ตู้หนังสือของผมอยู่ดีหรือครับ?”
“อยู่ดี” เป็นคำตอบอย่างแน่นแฟ้น “แม่คอยให้เขาเอายากันตัวสัตว์ใส่ไว้เสมอ เข้าไปดูซิ อยู่ในห้องนั้นทั้ง ๓ ใบ”
มองตามมือมารดา สีหน้าวิชัยเต็มไปด้วยความสนเท่ห์ ห้องนั้นห้องที่คุณนายบอกว่าเก็บตู้หนังสือไว้ เขาจำได้ว่าเป็นห้องสัมภาระ เป็นที่เก็บหีบ กระบุง ตะกร้า ถ้วยชาม โอ่ง ไห ก็เหตุไฉนหนังสือของเขาจึงเข้าไปอยู่ในห้องนั้นด้วย พอจะเอ่ยปากถาม คุณนายก็อธิบายขึ้นเสียก่อน
“พ่อชัดเขาว่าตู้มันเก่าครำครึเต็มทน ตั้งไว้ในห้องรับแขกมันน่าเกลียด เขาก็เลยต่อตู้ใหม่ แล้วเอาหนังสือที่เขาเอามาจากนอกจัดไว้ ไปดูซีของเขาสวยเรี่ยมเทียว แต่ว่าหนังสือยังไม่เต็มตู้ พ่อชัดว่าหนังสือพ่อใหญ่มีสวย ๆ เขาจะเลือกมาใส่ตู้ใหม่ด้วย แต่ยังไม่เห็นเขามาเลือก เห็นจะมัวยุ่งนั่นยุ่งนี่เลยลืม”
วิชัยเอนหลังพิงลูกกรงระเบียงเรือน มือลูบคางนั่งเงียบ ไม่ปริปากว่าอะไรต่อไป
แต่คุณนายชื่นมีเรื่องพูดกับลูกชายอีกมาก พ่อชัดเพิ่งกลับจากประเทศอังกฤษได้ ๘ เดือน ชื่อเสียงกำลังหอมด้วยความรู้ที่กล่าวกันว่าใหม่ที่สุดในหมู่นายทหาร ส่วนร่างกายก็เป็นเสน่ห์แก่ตาด้วยความสวยเก๋ประเปรียวอันคำกล่าวที่น่าชื่นใจปานนี้ คุณนายชื่นย่อมไม่รู้เบื่อที่จะฟัง และพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็วันนี้ ผู้ที่คุณนายจะพูดให้ฟังก็เป็นพี่ของชัดเอง ไม่ต้องสงสัยว่าจะช่วยให้การพูดออกรสยิ่งขึ้นอีก ดังนั้น ต่อมาอีกไม่กี่นาทีความเครียดขรึมในดวงหน้าวิชัยก็ละลายไปทีละเล็กละน้อย ด้วยกระแสความปลื้มจากตัวคุณนายดูดเอาบุตรชายพลอยปลื้มไปด้วย
ราว ๘.๓๐ นาฬิกา คุณนายชื่นจึงชวนบุตรไปรับประทานอาหาร
ทั้ง ๒ พากันเข้าในห้องที่เรียกว่าห้องกินข้าว สิ่งแรกที่กระทบสายตาวิชัย คือที่นอนใหญ่ที่นอนหนึ่งวางแอบอยู่ข้างฝา กระชุใบใหญ่วางอยู่เคียงที่นอนและไม้ปั่นนุ่น ๓ อันพิงอยู่ข้างกระชุ และยังมีกระจาดกับตะกร้าเก่า ๆ วางอยู่อีก ๓ ใบ
โต๊ะกินข้าวทำด้วยไม้สัก ขนาด ๘ คนนั่งสบาย เก้าอี้ทำด้วยไม้พยุง วิชัยสั่งทำจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ในสมัยที่เขาเป็นผู้พิพากษาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง ๒ อย่างนี้เคยตั้งอยู่ในที่เดิมแต่เก่าก่อน โต๊ะถูกคลุมด้วยผ้าชนิดหนา ส่วนเก้าอี้มีปลอกผ้าคลุมอยู่เช่นเดียวกัน ไซน์โบร์ตฝีมือนักโทษ มาจากแหล่งเดียวกันกับเก้าอี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ดูค่อนข้างสกปรกและเก่ากว่ากันมาก เพราะได้รับใช้เป็นที่เก็บภาชนะวางภาชนะตั้งแต่ชาม จาน ถ้วย ตลอดเวลาจนขวดเปล่าอยู่ทุกวี่ทุกวัน
ตลอดเวลา ๑๐ ปีเศษ ที่วิชัยต้องโยกย้ายตัวเองจากจังหวัดนี้ไปจังหวัดโน้นโดยหน้าที่ราชการ คราวใดที่เขากลับมาพักยังบ้าน ก็ได้พบห้องที่เรียกกันอย่างหนึ่งแล้วใช้ประโยชน์สำหรับอีกอย่างหนึ่งเสมอ เหตุฉะนั้นเขาจึงไม่รู้สึกตื่นต่อสภาวะของห้อง ที่เรียกว่าห้องกินข้าวเท่าใดนัก เป็นแต่สงสัยเล็กน้อย จึงถามมารดาว่า
“พ่อชัด เขาไม่ได้ใช้โต๊ะรับประทานอาหารดอกหรือครับ?”
“แรก ๆ เขาก็ใช้หรอกจ้ะ แต่ที่หลังเขาก้อ....เขาไม่ค่อยจะได้กินข้าวบ้าน” ประโยคสุดท้ายกล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงว่าอารมณ์ไม่สู้ดีนัก
ที่รับประทานอาหารสำหรับคุณนายนั้นจัดไว้บนเสื่ออ่อน ตรงกับประตูที่เปิดออกทางผนังห้อง วิชัยนั่งลงตรงหน้ามารดา สาวใช้เข้ามาเปิดสำรับ เห็นกับข้าวล้วนแต่กับสำหรับข้าวจริง ๆ เช่นแกงเผ็ด ลูกหนำเลี๊ยบผัด ผักน้ำพริก วิชัยก็หน้าเสีย พอมารดาเงยหน้าขึ้นมองเป็นทีถามเพราะเห็นเขานั่งเฉยอยู่ วิชัยก็ยิ้มเหมือนเด็กที่พยายามยิ้มเมื่อประจบผู้ใหญ่แล้วพูดอ่อย ๆ ว่า
“ผมหัดเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ มันอิ่มเกินไปจริง ๆ พอรับประทานแล้วชักขี้เกียจ ทำอะไรไม่ได้อยากนอน”
“อะไร?” คุณนายถามอย่างมืดแปดด้าน
“ข้าวเช้าครับ” ตอบเสียงดังขึ้นกว่าเดิม “ผมรับประทานไม่ได้จริง ๆ” รีบพูดต่อโดยเร็วและเสียง่อนลงอีก “พ่อชัดเขารับประทานอะไรเวลาเช้า”
“ไม่เห็นเขากินอะไร นอกจากกาแฟถ้วยเดียวกับลูกไม้นิด ๆ หน่อย ๆ พ่อใหญ่จะเอาอะไร เอาข้าวต้มหรือจะได้กินกับลูกหนำเลี๊ยบ บอกให้เขาไปต้มเดี๋ยวนี้ประเดี๋ยวก็ได้กิน”
“อย่าเลยครับ ชักช้าเปล่า ๆ ให้เขาต้มน้ำชงกาแฟถ้วยเดียวเท่านั้น สำหรับเช้าพรุ่งนี้ผมจะสั่งเขาเอง
เสร็จจากบริโภคแล้ว คุณนายชื่นคงอยู่ในห้องกินข้าว เราะที่นอนเก่าที่นอนหนึ่ง เพื่อรื้อนุ่นออกตากและปั่นแล้วจึงเย็บใหม่ วิชัยไปเที่ยวดูบริเวณบ้าน ความเติบโตขึ้นแห่งต้นไม้ ที่วิชัยได้จากไปในเมื่อมันแรกขึ้น ทำให้พอใจมาก และทำให้รู้สึกชุ่มชื่นยิ่งขึ้น เมื่อคิดถึงว่าในที่สุดตนก็ได้กลับมาสำนักภายใต้หลังคาที่ได้ให้ความร่มรื่นแก่ตนมา ตั้งแต่วันแรกที่ตนได้เกิดมาในโลกจะเป็นไรไปกะเรือนครัวที่โทรมจวนจะพัง วิชัยจะซ่อมเสียใหม่ ถังน้ำฝนใบใหญ่สนิมจับเกรอะกรังและทะลุรอบตัว วิชัยจะขายเสีย พืชพรรณที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นบนถนนและบนสนาม วิชัยจะถอนทิ้ง รั้วสังกะสีที่ผุพังวิชัยจะเปลี่ยนเสียใหม่ บ้าน ! บ้านของบิดา บ้านของเขาเอง ในที่สุดเขาก็ได้กลับมาอยู่บ้าน ! วิชัยยิ้ม นัยน์ตาวาว ด้วยความรู้สึกเป็นสุข !
ที่ใกล้กับบ้านนี้ ทางทิศตะวันตก แต่ก่อนมีโรงรถม้าสำหรับให้เช่าปลูกอยู่ แขกเป็นเจ้าของรถและม้า คหบดีไทยเป็นเจ้าของที่และโรงเรือน คราวสุดท้ายที่วิชัยมาเยี่ยมบ้าน เขาได้เห็นโรงเรือนและทั้งผู้เช่า ซึ่งถึงจะทรุดโทรมลงกว่าเดิมมาก จนเป็นที่น่าสมเพชก็ยังทำให้วิชัยเกิดความรู้สึกคล้ายได้พบเพื่อนเก่า บัดนี้โรงเรือนนั้นหายไป มีแต่เศษไม้ และสังกะสีกองอยู่เกะกะวิชัยรู้สึกใจหาย มองไกลออกไปอีกประมาณ ๒๐ วา จึงเห็นรากตึกเพิ่งก่อใหม่ หมายตาไว้แล้ววิชัยตรงขึ้นเรือนจะกลับไปหามารดาอีก
“คุณแม่ครับ ตาแขกแก่เจ้าของรถเช่าแกไปไหนเสียแล้วคุณแม่ทราบไหมครับ”
“ไม่ทราบจ้ะ” คุณนายชื่นตอบโดยไม่เงยหน้าขึ้นจากที่นอนที่ตนกำลังเราะอยู่ “ได้ยินว่ามีคนมาซื้อที่นั้นจากเจ้าของเดิม เขากำลังปลูกบ้านใหม่ยังไงล่ะ”
“ใครนะที่จะมาเป็นเพื่อนบ้านใหม่ของเรา?” ชายหนุ่มปรารภ
“เห็นเรียกกันว่าคุณแม้น ๆ บางคนก็ว่าคุณเมี้ยน แต่แม่ก็ไม่รู้ว่าใครที่ไหนทั้ง ๒ คน พ่อใหญ่จะกลับมากินข้าวกลางวันไหม?”
“เห็นจะไม่กลับครับ คิดว่าออกจากกระทรวงจะเลยไปบ้านยายช้อย อยากไปเยี่ยมตาสมานเต็มที คุณแม่มีธุระจะสั่งอะไรไปบ้างไหมครับ”
“ไม่มี ไม่รู้จะสั่งอะไร........พูดถึงผัวเมียคู่นี้แล้วแม่กลุ้มใจ ถ้าจะว่าไปละก้อ แกทีเดียวเป็นเหตุ”
วิชัยกลืนน้ำลาย มองเห็นพายุใหญ่อยู่รำไร หัวเราะหึ ๆ แล้วว่า
“เรื่องมันแล้วไปแล้วครับ หมดเวลาที่จะแก้ไข” หยุดนิดหนึ่งเป็นเชิงรอฟังคำตอบด้วยความเคารพ ครั้นคำตอบยังไม่มีมา ก็รีบพูดตอบโดยเร็ว “แหม ! นี่เห็นจะสายมากแล้ว ต้องรีบไปแต่งตัว” พูดแล้วก็รีบลุกขึ้นและรีบออกจากห้องโดยด่วน
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #7 on: 15 May 2022, 13:53:01 » |
|
๔
“ลุงมา”
“นั่นแน่ ลุง”
“เอ้ลุง ! ลุงมา !”
เด็กหญิง ๑ ชาย ๒ อายุระหว่าง ๘ ขวบถึง ๓ ขวบ ช่วยกันตะโกนเสียงก้องบ้าน พอสุดเสียงเด็กผู้ชายร่างกระจ้อยร่อย กำลังสอนพูด ก็จีบปากเอ่ยขึ้นบ้าง
“ยุงมา !”
แต่พอวิชัยขึ้นบันไดได้ ๒ ชั้น ร่างอ้วนล่ำของหนูวิวิธพร้อมกับร่างแข็งแกร่งของหนูวิวัฒน์ก็โถมขึ้นอยู่บนเอวเขา หนูเฉิดฉวี พี่ใหญ่นั้นเป็นหญิง ไม่เชี่ยวชาญในการออกกายกรรม จึงยืนตัวเต้นอยู่ริมบันได หนูปิ๋วกระโดดอยู่ข้างพี่สาวร้องว่า
“ให้หนูมั่ง ! ให้หนูมั่ง !”
พี่ผู้ชาย ๒ คนเขาพากันโห่ “เฮ้ว ! เปิ่น ลุงไม่ได้ให้อะไรสักที” หนูวิวัฒน์เสริมต่อ “ให้หนูนะลุงนะ ไม่ให้ปิ๋ว”
นางวิวิธวรรณการโผล่ออกมาจากห้อง หล่อนนุ่งผ้าลายพื้นแดงดอกดำ ห่มสะไบสีนวล ยกมือมือพี่ชายพร้อมกับทำตาเขียวกับลูก พลางว่า
“ดูซิขึ้นไปขี่ลุงอยู่ตั้ง ๒ คน วิวิธก็โตแล้วยังทำเป็นลิงไปได้นึกแล้วเทียวว่าคงเป็นพี่ใหญ่ พวกนี้ถึงได้ทำเสียงออกลั่นไปหมด ชาวบ้านเขาจะด่าตาย”
“เจ้าทิดเล็กนั่นก็พลอยรู้จักลุงกับเขาด้วย” วิชัยพูดพลางหัวเราะอย่างชื่นบาน “พี่เห็นเขาครั้งสุดท้ายยังชันคอไม่ได้เลย”
ชิดรีบยิ้มกับพี่ แล้วยิ้มกับลูกคนเล็ก เพื่อจะได้หันไปบึ้งกับลูกคนกลางอีก ๒ คน “ลงมา ลุงจะได้นั่งเดี๋ยวถูกตีเดี๋ยวนี้”
“อย่าดุมันน่า” วิชัยขัดโดยเร็ว “ขู่ฟ่อ ๆ เป็นแมวไปได้” ก้มตัวลงต่ำเพื่อปล่อยให้หลานลงยืนบนพื้นเรือน “เฉิดฉวียังไม่ได้มาหาลุง เจ้าปิ๋วด้วยมานี่ลุงจะให้ของเล่น”
เฉิดฉวีคลานต้วมเตี้ยมเข้ามาที่ตักวิชัย หนูปิ๋วทำกิริยาสงสัยครั้นลุงพยักหน้าซ้ำและสอดมือลงในกระเป๋าเสื้อ พ่อหนูหมายใจจะได้ของกำนัลจึงโถมเข้ากอดคออย่างว่องไว แต่ผิดหวัง ลุงของพ่อหนูชักมือเปล่าออกจากกระเป๋าถึง ๒ ครั้ง ในที่สุดก็สารภาพว่า “ทิ้งไว้ในแท็กซี่เสียแล้ว”
ชิดส่ายหน้าและหัวเราะอย่างรำคาญ “เห็นหน้าพี่ใหญ่เป็นต้องได้ฟังเรื่องลืม ตั้งแต่เมื่อวานถึงวันนี้เท่านั้น มิรู้จักกี่เรื่องแล้ว ! กุญแจกระเป๋าของตัวเอง กุ้งไม้คุณสมาน ผ้านุ่งของน้องของแม่ ทีนี้เครื่องเล่นของหลานอย่างร้ายกาจทีเดียว”
“ไม่ใช่ลาภของตาปิ๋ว” วิชัยกล่าวอย่างไม่เดือดร้อนต่อคำบ่นของน้อง เวียนกอดจูบหลานชายหญิงที่อยู่บนตักคนละที “พี่ตั้งใจว่าออกจากกระทรวงเวลาบ่ายจะเลยไปเยี่ยมสมานก่อน จึงแวะซื้อของเล่นจะไปฝากนายนิดมันถึงได้มีอย่างเดียว ถ้าจะมาฝากหลานที่นี่ก็ต้องมี ๕ ชิ้นให้ครบตัว จริงไหมอ้วน ไม่ยังงั้นลุงก็อยุติธรรมเต็มที” หันกลับมาทางน้องและอธิบายต่อ “เผอิญหมดธุระพอดีเที่ยงครึ่ง จะไปกินข้าวกลางวันกับช้อย ก็กลัวไปไม่ทันเพราะบ้านเขาไกล กว่าจะไปถึงตั้ง ๒๐ นาที เลยแวะมาขอกินข้าวที่นี่ กลับบ้านน่ะเป็นไม่มีกินแน่ เพราะบอกคุณแม่ไว้แล้วว่าไม่กิน”
ดิฉันก็รับประทานเสร็จมาเดี๋ยวนี้เอง” ชิดบอก ครั้นพี่ชายแสดงกิริยาเกรงใจ หล่อนก็รีบพูดโดยเร็ว “จะเป็นอะไรไปคะ หาใหม่ประเดี๋ยวเดียว แกงจืดยังมี หมูต้มเค็มก็ยังมี อ้วนไปเรียกพลอยมาให้แม่ไป๊”
“สงสัยอยู่แล้วเทียวว่าจะนิวแซน” วิชัยบ่น สายตามองตามหนูวิวิธผู้กำลังวิ่งตื้อไปทางหลังเรือน “กินเสียที่กระทรวงก็จะหมดเรื่องกันเท่านั้น”
“เอาอีกแล้วพี่ใหญ่” นางวิวิธ ฯ พูดเสียงแหลม “มาเกรงใจอะไรกะดิฉันก็ไม่รู้ บอกว่ามันไม่ลำบาก ไม่ลำบาก ได้ยินไหมคะ”
หัวเราะอย่างชอบอกชอบใจที่ถูกน้องดุ “กวนที่นี่ยังไม่เป็นไรนักนะ” เขาว่า “ที่บ้านยายช้อยละก็เป็นไม่ยอมกวนแน่ ๆ สงสารแกผัวกวนก็พออยู่แล้ว พี่ยังซ้ำไปกวนอีกก็เต็มที”
“จริงค่ะ จริงของพี่ใหญ่ ผัวกวนจริงยิ่งกว่าลูกอ่อนเสียอีก”
“โธ่ ! ก็คนเจ็บนี่นา ที่พี่ว่ากวนไม่ได้หมายความว่าตั้งใจกวนหรอก มันจำเป็นก็มีกันอยู่ ๒ คนผัวเมีย ไม่รู้จะทำยังไง”
“น่ารำคาญจะหายก็ไม่หาย จะตายก็ไม่ตาย หงอด ๆ อยู่ยังงั้น เงินทองมีเท่าไหร่ทุ่มเทให้ค่าหมอ ค่ายาหมด แล้วนี่ไม่ช้าคุณสมานก็ต้องออกจากราชการ เพราะใกล้จะหมดวันลาอยู่แล้ว อีทีนี้จะทำยังไงกันต่อไปนะ จะเอาที่ไหนซื้อกินเข้าไป คุณแม่ท่านก็ร้องว่าท่านหมดตัวแล้วก็หมดจริง ๆ ที่นาท่านก็โอนให้เราแล้ว ทุกคนจะเอาอะไรกะท่านอีก”
“ก็ไม่เอา มีน้อยต้องใช้น้อย เก็บค่าเช่านากินไปปีละร้อยสองร้อยก็ยังดี”
“เก็บค่านา !” ชิดย้ำเสียงเขียว “แม่ช้อยหล่อนขายเขาเสียแล้วน่ะซี”
“อ้าว ! เอ๊ะ ขายเสียแล้วหรือ ใครซื้อไปล่ะ ยังไงไม่มีใครบอกให้พี่รู้มั่งเลย”
“บอกอะไรคะ ไม่มีใครรู้เรื่องด้วยจนกระทั่งเขาโอนโฉนดกันเสร็จ ขายให้ตาอะไรก็ไม่รู้ เจ้าของนาที่อยู่ใกล้กับนาของเรา คุณแม่บ่นด่าสักกระบุงใหญ่”
“ราคาขายน่ะราคาดีค่ะ ไร่ ๑ ถึง ๓๖๐ บาท แต่มันน่าเสียดายไหมล่ะคะ”
“เสียดายที่ตกเป็นของคนอื่น ถ้าขายพี่จะให้มากกว่านั้น” วิชัยนึกในใจ ส่วนปากของเขาพูดแต่ว่า “ก็ดีแล้วนี่ ขายนาไปก็ได้เงินมา”
“ได้น่ะมันได้ แต่ว่าต้องกินทุนเข้าไปทุกวัน มันจะอยู่ไปได้สักกี่เดือน ไม่ช้าก็หมดไม่เหลือหลอ ทางพ่อแม่คุณสมานหรือเขาก็ไม่เอื้อเฟื้อ ร้อยวันไม่มาเยี่ยมลูกสักที สตางค์แดงเดียวเขาก็ไม่ยื่นมาให้ เขาบอกว่าเขาตัดลูกเขา เขาก็ตัดจริง คุณแม่เสียอีกยังดี ทั้งบ่นทั้งด่าแต่ปาก ส่วนใจยังเป็นห่วงเสมอ”
เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวว่าคุณแม่ดี เป็นธรรมดาที่วิชัยย่อมเห็นพ้อง ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าคุณแม่กรุณาช้อย แต่ปรักปรำซ้ำซากว่าตัวเขาเป็นผู้ผิด วิชัยก็ยังเห็นว่าดีและยอมรับผิดอย่างชื่นตา เรื่องเดิมนั้นช้อยกับสมานรักกันก่อน พี่น้องรวมทั้งมารดาก็รู้เห็น และนายสมานเป็นผู้มีอันจะกิน ถึงแม้ตัวเขาเองจะทำราชการ ได้รับเงินเดือนเพียง ๑๑๐ บาท ก็ยังหวังกันว่ารายได้ส่วนตัวจะช่วยให้เขาเลี้ยงภรรยาพอเทียมหน้าเขาอื่น จึงผู้ที่รู้แล้วไม่มีใครขัดค้าน แต่ทางฝ่ายบิดามารดาของสมาน มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในอันที่จะให้บุตรคนที่ ๓ ของตนนี้ ได้แต่งงานกับหญิงที่เป็นบุตรคนมั่งมี และที่ตนได้เลือกไว้แล้ว ครั้นได้แจ้งว่านายสมานมีคู่รักคนหนึ่งไม่อยู่ในฐานะมั่งคั่งเท่าที่ใจผู้ใหญ่มุ่งมาดไว้ ก็มีการบังคับขู่เข็ญตลอด จนถึงยื่นคำขาดว่า ถ้าแม้นนายสมานแข็งขืนทำตามใจตัวเอง จะถูกตัดชื่อออกจากบัญชีลูกและพินัยกรรม เนื้อความทั้งนี้สมานมิได้ปิดบังคู่รักตลอดจนพี่ของคู่รักคือตัววิชัยซึ่งสมานรู้จักแต่เพียงเผิน ๆ ก็ได้รับคำบอกเล่าจากสมานโดยตรง ถึงตอนนี้คุณนายชื่นจึงยื่นคำขาดต่อบุตรีของท่านบ้าง บังคับให้ถอนตัวจากคู่รัก ชดกับชิดสนับสนุนมารดาเต็มที่ เพราะหล่อนทั้ง ๒ มิได้เคยรักชายใดก่อนที่ได้แต่งงาน แต่พ่อใหญ่บุตรหัวปีผู้ซึ่งเคยถือคำมารดาประดุจคำพระ คราวนี้พ่อใหญ่บังอาจเข้าข้างน้องฝ่ายหญิงเพราะเห็นใจคู่รักทั้ง ๒ ว่า มั่นต่อความสัตย์มากกว่าห่วงใยในสมบัติ ประกอบกับความเห็นและการกระทำของพ่อใหญ่ เคยให้ผลดีเป็นพยานประจักษ์เมื่อคราวหลวงศักดิ์ ฯ ขอช่วง คุณนายไม่เต็มใจให้เพราะรังเกียจว่าจะได้เขยหัวแข็ง พ่อใหญ่ก็สนับสนุนเพื่อน จนได้หญิงที่รักสมใจ ครั้นแล้วช่วงก็ได้รับความสุขจากการแต่งงานนั้น เมื่อพ่อใหญ่ออกเสียงแข็งอย่างละมุนละม่อมอีก คุณนายชื่นก็อ่อนใจและข้ออ่อน ปล่อยให้พ่อใหญ่จัดการแต่งงานน้อง ส่วนตัวคุณนายเองเป็นเพียงคอยเฝ้าดูอย่างหัวใจแขวนว่า เขยน้อยคนนี้จะพาลูกสุดท้องของท่านให้เป็นอย่างไรต่อไป
ทั้งสมานและช้อย ได้ทำตัวเป็นบุคคลที่น่านิยมสมความเชื่อของวิชัย ๓ ปีที่อยู่ด้วยกันมิได้ทำให้ความรักของเขาทั้ง ๒ จืดจางลง มีลูกเขาช่วยกันเลี้ยง มีเงินเขาช่วยกันเก็บช่วยกันสงวน แต่เมื่อล่วงเข้าปีนี้ เป็นปีที่ ๔ นับจากวันแต่งงาน สมานเริ่มเจ็บกระเสาะกระแสะ ป่วยแล้วหาย หายแล้วป่วยอีก หลายครั้งหลายครา ในที่สุดแพทย์ตรวจพบความจริงว่านายสมานเป็นวัณโรคในลำไส้
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #8 on: 15 May 2022, 13:55:08 » |
|
๕ เวลา ๑๖ นาฬิกาเศษในวันเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อน หลวงอรรถคดีวิชัยนอนหลับอยู่บนเก้าอี้หวายยาวที่เฉลียง ระหว่างหน้าห้องกินข้าวกับห้องรับแขก คุณนายซึ่งเพิ่งตื่นจาก “เอนหลัง” อยู่ข้างงานเราะที่นอน ซึ่งได้ทำเสร็จไปเมื่อ ๒ ชั่วโมงก่อนมองดูแสงแดดเห็นลับหายไปจากหน้าเรือนแล้ว แสดงว่าบ่ายจัด ถึงเวลาจะต้องไปดูการครัว คุณนายรีบเช็ดปากสีขี้ผึ้ง หยิบหมากพลูยากำไว้ พลางเปิดตลับแล้วก็ลุกขึ้น
ผ่านเก้าอี้ลูกชาย คุณนายมองดูอย่างไม่ตั้งใจก่อนแล้วก็ต้องหยุดยืนมองซ้ำ พร้อมกับยิ้มด้วยความเอ็นดู พ่อใหญ่ทำไมเป็นคนแปลกอย่างนี้ นอนหลับก็ดูเหมือนนอนเล่น ตั้งแต่เด็กจนเกือบจะแก่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ! ศีรษะเอียงซ้ายเล็กน้อย มือกอดอกพอหลวม ๆ ริมฝีปากหุบสนิทยิ้มละไม ถ้าแม้ใช้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดบังตาที่กำลังหลับสนิทเสียแล้ว ใครที่เห็นไม่นึกสงสัยเลยว่าเขากำลังนอนหลับอยู่
นิ่งจ้องดูลูกอยู่สักครู่ แล้วคุณนายก็ลงจากเรือนไป
ประมาณ ๑๐ นาทีต่อมา มีเสียงฝีเท้าคนขึ้นบันไดโดยแรง ทำให้วิชัยตื่นขึ้น ลืมตาเห็นหนุ่มน้อยนายหนึ่งอยู่ในเครื่องแบบทหาร วิชัยก็ผงกตัวขึ้นนั่ง ยิ้มแล้วว่า
“เป็นแตรปลุกทั้งเช้าเย็นเทียวนะ”
นายร้อยตรีชัดหัวเราะ พลางเดินเข้ามายืนอยู่ตรงหน้าพี่ชาย
“กำลังนอนหลับสบายซี ! ผมไม่เห็นว่าพี่ใหญ่นอนอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ไปทำงานดอกหรือ เราอิจฉาจังท่าทางพี่ใหญ่เห็นจะนอนมาแล้วทั้งวัน”
“กี่โมง?” วิชัยถาม
“๑๖ กว่า”
“นอนหลับไป ๔๐ นาทีเห็นจะได้ นึกว่านานเท่าไร” วิชัยพูดพลางหาว
“ยังเสียดายอีกหรือ นอนต่อซีผมจะไปละ”
“เฮ่ย ! ใครจะหลับอีกได้ !” ผู้เป็นพี่ตอบ ใช้มือทั้งสองลูบหน้าและลูบผม ไปเที่ยวด้วยกันไหมชัด !”
“เมื่อไหร่?” น้องชายถามโดยเร็ว
“ในครึ่งชั่วโมงนี่แหละ”
“แล้วกัน ! คิดว่ากลางคืน”
“ยังไม่เกินเวลา !” พี่ชายตอบและยิ้มอย่างเข้าใจกัน
“บ่ายนี้ผมไปไม่ได้ เสียใจ ผมต้องเล่นกอล์ฟกับอนงค์ พี่ใหญ่จะไปเที่ยวที่ไหน?”
“ไปเยี่ยมน้อง ๆ คนสำคัญที่สุด คือยายช้อย เมื่อกลางวันว่าจะไปก็เหลว”
นายร้อยตรีหนุ่มทำหน้าเบ้ “ไม่ไหว !” เขาร้อง “คิดว่าจะชวนไปเที่ยวที่ไหนเสียอีก ไปบ้านพี่ช้อยละผมไม่ไปเด็ดขาด”
“ทำไม เกิดวิวาทกันหรือ?”
“เปล่า-ไม่ใช่ พี่ช้อยแกจะมีเวลาวิวาทกับใคร พบใครเข้าก็หงอด ๆ แต่เรื่องผัวเจ็บ”
“แล้วยังไงล่ะ?”
“แล้วผมก็ขี้เกียจฟังน่ะซี พิโธ่ ใครมั่งจะไม่รำคาญ พบกันทีไรก็กะปอดกะแปดอยู่เรื่องเดียว ผมเบื่อเหลือทน ถ้าไม่จำเป็นผมไม่ให้แกพบผมเสียเลย”
วิชัยนิ่งอึ้งไปชั่วครู่ ในที่สุดก็ออกปากว่า
“ลำบาก !”
ส่วนน้องชายของวิชัยนั้น เมื่อพูดจบแล้วก็สลัดเรื่องที่พูดจากใจและสมองพร้อมกัน มองดูนาฬิกาที่ข้อมือแล้วว่า
“แหมเกือบ ๑๖ น. ครึ่งแล้ว ผมต้องไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเดี๋ยวนี้ พี่ใหญ่ไปคุยกับผมที่ห้องก่อนเถอะ”
วิชัยลุกขึ้นเดินเคียงไปกับน้อง ถึงห้องแล้ว ชัดนั่งลงบนเตียงถอดรองเท้าพลางถามว่า
“พี่ใหญ่เห็นอนงค์เป็นอย่างไรบ้าง?”
“ไม่เลว” พี่ชายตอบพลางยิ้ม “แกติดต่อกับเขายิ่งกว่าเพื่อนเล่นและเพื่อนเที่ยวหรือ?”
ชัดยิ้มด้วยกับพี่ชายแล้วว่า
“ยังรู้ไม่ได้ ว่าแต่พี่ใหญ่เห็นว่าแกสวยไม่ใช่หรือ? ดูรูปตั้งแต่เท้า ขา เอว ไหล่ ยังงี้วิเศษเลย แต่ดูหน้าก็ยังงั้นแหละ ไม่งามจนเหลือเกิน แต่ก็ไม่มีส่วนเสียจนน่าเกลียด”
พี่ชายนั่งฟังในอาการอันสงบ ลักษณะของอนงค์นับตั้งแต่รูปร่าง เครื่องแต่งตัว กิริยา ท่าทางและน้ำเสียงที่พูดปรากฏขึ้นในมโนภาพอย่างเด่นชัด เมื่อน้องชายจบการยอโฉมแล้ว เขาก็ตามขึ้นว่า
“นอกจากสวยยังมีอะไรดีอีก?”
“สปอร์ต ปอปปูล่า”
“ไอ้นั่นน่ะรู้ละ แล้วมีอะไรอีก?”
“เท่านั้นยังไม่พออีกหรือ? หรือพี่ใหญ่หมายถึงเงิน? บา ! ผมไม่อยากขายตัวให้แก่เงินเลย พับผ่า ! แต่อันที่จริงผมเชื่อว่าเขามั่งมีกว่าเรามาก ดูบ้านเขาซีตึกเบ้อเร่อ ไอ้ของเรา-” ยักไหล่อย่างเบื่อหน่าย “เหมือนกับรูหนู”
“ถ้าหนูตัวไหนต้องการรูเท่าบ้านเรา เห็นจะได้เอาออกประกวดเก็บเงินกันไม่หวาดไหว” พูดพลางสายตาวิชัยมองไปตามเครื่องแต่งห้องพร้อมกันนั้นเขาได้ยินเสียงแตรรถดังยืดยาวมาจากหน้าบ้าน ชัดร้องว่า “มาแล้ว” แล้ววิ่งไปฉวยผ้าเช็ดหน้าถูหน้าอย่างเร่งร้อน
“ใครมา?” วิชัยถาม
“อนงค์น่ะซี”
“มารับแกหรือ?”
“แน่ละ ขากลับแกก็มาส่ง”
“พี่ชายมองดูน้องอย่างทึ่ง ครั้นแล้วก็หัวเราะและว่า
“เข้าที ตาชัดแกหาคู่เล่นดี หาให้สักคนได้ไหมล่ะ?”
ชัดมองดูพี่ชายอย่างตั้งใจ แล้วพูดในขณะที่เดินเข้าไปยังถุงไม้สำหรับใส่ไม้กอล์ฟ “มันไม่ใช่ของแปลกพี่ใหญ่ ผู้หญิงรับผู้ชาย หรือผู้ชายรับผู้หญิง ผลลัพธ์เท่ากัน เรื่องนี้มีคนพูดเปรยกับผมหลายคนแล้ว ว่าง ๆ จะต้อง อธิบายกันให้เข้าใจเสียสักที” พอพูดจบชัดก็ฉวยถุงขึ้นหิ้วแล้วออกจากห้องไป
วิชัยมองตามน้องชายอย่างฉงน ความคิดที่กำลังผูกพันอยู่กับเครื่องแต่งห้อง อันเคยเป็นของตนมาก่อนก็หมดสิ้นไป นิ่งนึกขบปัญหาในความหมายแห่งคำพูดที่ยังก้องอยู่ในหู ครั้นแล้วก็สัญญากับตัวเองว่า “ต้องถามให้ได้ความ”
ความตั้งใจของวิชัยในอันจะไปเยี่ยมนายสมานนั้นไม่สำเร็จ ด้วยเหตุว่าพอเขาแต่งตัวเสร็จ กำลังจะออกจากบ้าน นางศักดิ์รณชิตก็มาถึง ครั้นแล้วในเวลาไม่ช้าเท่าใดก็มีแขกเข้ามาในบ้านอีกคนหนึ่ง
แขกผู้นี้วิชัยไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นหญิงอายุราว ๕๐ ปี รูปร่างผอมสูง สวมแว่นตากรอบทอง ท่าทางภูมิฐาน มีสาวใช้ถือกระเป๋าเลี่ยมนากตามหลังมาด้วยคนหนึ่ง
นางศักดิ์รณชิต กระซิบกับพี่ชายอย่างตื่นเต้น “คุณหญิงรานรอนฯ ป้าสะใภ้คุณหลวงเขายังไงล่ะ” แล้วขมีขมันไปบอกมารดา นางศรีวิชัย ฯ เดินพล่านห่มสะไบพลาง ลงไปรับที่ปลายบันได ส่วนวิชัยยืนดูท่าทางของหญิงทั้ง ๓ บนระเบียงอย่างทึ่งที่สุด
“พ่อใหญ่ !” คุณนายชื่นเรียกอย่างใกล้เสียงหลง “นั่นอะไรยืนตะลึงอยู่ได้ คุณหญิงท่านมาไม่เห็นหรือ ไม่ยักลงมารับ”
“พ่อใหญ่” ยิ้มในหน้า แล้วค่อย ๆ เดินมายืนสำรวมอยู่บนบันไดขั้นที่ ๒ นางศักดิ์รณชิตถอยหน้าถอยหลังนำคุณหญิงไปยังห้องรับแขก บานประตูเปิดอยู่ ขอสับไว้ ก็ยังถูกดันถูกผลักให้เปิดกว้างออกไปอีกให้จนได้
คุณหญิงนั่งลงบนเก้าอี้ตัวใหญ่ที่สุด แต่เก้าอี้มีปลอกผ้าคลุมอยู่ คุณนายก็พยักเพยิดให้ลูกสาวเลิกปลอกเก้าอี้เข้าตัวหนึ่ง ส่วนวิชัยนั้นทำหน้าที่เปิดหน้าต่าง
เสียงคุณหญิงถามขึ้นว่า
“พ่อนี่หรือที่กลับจากเมืองนอก?”
“ไม่ใช่เจ้าค่ะ คนนั้นเขาไม่ทราบว่าคุณหญิงจะมา เขาไปธุระเสียแล้ว นี่ลูกคนโตของดิฉัน”
“อ้อ ! เอ๊ะ ! คนไหน อ้อคนที่อยู่หัวเมืองหรือคะ?”
“เจ้าค่ะ-ดิฉันว่าจะพาพ่อชัดไปกราบเท้า เผอิญเขาก็ลาไปราชการ ไปหัวเมืองเสียหลายวัน ไปรับพี่ชายที่สง-อ้อไม่ใช่ที่หัวหิน เพิ่งกลับมาเมื่อวานนี้เอง มีของมาฝากแม่เสียด้วย เอ้อ แม่ช่วงไปหยิบมาไป๊ อยู่ในก้นเชี่ยนหมาก เลยยกเชี่ยนหมากมาด้วยซี”
กระดุมหอยเลี่ยมนาก ได้รับความชมเชยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วคำชมเชยก็เลยไปถึงเจ้าของผู้ให้
“น่ารักนะคะ ไปไหนนิดก็นึกถึงแม่ ดิฉันยังพลอยรักแกด้วยเลย”
คุณนายชื่นยิ้มตรงกับคำว่าแก้มแทบแตก ฉลาดพอที่จะไม่ส่งเสริม กลับถามว่า
“แม่หลาน ๆ อยู่สบายดีหรือเจ้าคะ?”
“สบายค่ะ แต่หมู่นี้พยอมออกจะออดแอด รับประทานข้าวไม่ค่อยได้....คุณนายมีลูกผู้ชาย ๒ คนเท่านั้นหรือคะ?”
“๒ เท่านั้นแหละเจ้าค่ะ ศีรษะปีกับสุดท้อง แต่ยังดีกว่าคุณหญิงนะเจ้าคะ คุณหญิงไม่มีเสียเลย”
“ดูเถอะค่ะ ต้องคอยแต่เลี้ยงให้เจ้าคุณเขาเท่านั้น คุณนายเห็นจะไม่เคยเห็น ลูกชายคนโตของเจ้าคุณนะคะ พ่อสงัดน่ะ ดิฉันเลี้ยงเขามาแต่เล็ก เขาก็นับถือดิฉันเหมือนแม่จริง ๆ สนิทสนมจนไม่มีใครสงสัยว่าแกไม่ใช่ลูกดิฉันแท้ ๆ”
คุณนายชื่นไม่เคยรู้เรื่องที่เกี่ยวกับนายสงัดคนนี้มาก่อน เพื่อระวังตัวมิให้พลาดเพราะวาจา จึงไว้ตัวเป็นกลาง หัวเราะและไม่ตอบว่ากระไร คุณหญิงก็พูดต่อไปอีก
“เจ้าคุณเขามีลูกผู้ชายเล็ก ๆ อีก ๓ คนแล้วละค่ะ ดิฉันรับเป็นลูกไว้คนหนึ่ง”
“อพิโถ ! คุณหญิงช่างแสนดี แล้วแม่ของเด็กเป็นอย่างไรเจ้าคะ”
“มันก็บ้า ๆ บอ ๆ ค่ะ แต่กลับดิฉันละไม่กล้า เจ้าคุณของดิฉันน่ะ ทั้งเนื้อทั้งตัวดีอยู่อย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเมียน้อยละก้อไม่ให้วางท่ากับดิฉันได้ ขืนปล่อยให้มาระรานดิฉันจะได้ฉีกอกเสียประไร”
ผู้พิพากษาหนุ่มกำลังนึกสงสัยว่า ถ้าตัวเขาเป็นลูกคุณนายชื่นในเวลานั้น เขาจะนึกหาคำตอบให้เป็นที่ชอบใจผู้พูดได้หรือไม่ แต่มารดาของเขามิได้มีความรู้สึกขัดข้องในข้อนี้ ยิ้มอย่างนิยมชมชื่นแล้วกล่าวว่า
“โถ ท่านก็แสนดีนะเจ้าคะ ก็น่าหรอกที่จะรับลูกของท่านเป็นลูกคุณหญิงเสียเอง”
“ดิฉันชอบมีลูกผู้ชายหลาย ๆ คน.... ลูกชายคนเล็กของคุณนายชื่ออะไรนะคะ ดิฉันลืมเสียแล้ว จำได้แต่ตัว ช. ชิดหรือคะ หรือโชติ?”
“ชื่อชัดเจ้าค่ะ”
“อ้อ ! ทีนี้เห็นจะไม่ลืมอีกละ อยากเห็นพ่อชัด รู้สึกว่าแกจะน่าเอ็นดู แกปีเดียวกับแม่สอางของดิฉันนะคะ”
“เจ้าค่ะ ปีเดียวเดือนเดียวกันด้วย แต่คนละวัน”
“ถูกซีคะ พ่อชัดวันพุธนี่ วันเดียวกับแม่สอิ้ง แต่เวลาไปใกล้กับแม่พยอม”
“เออแน่ะ !” วิชัยพลางเลียริมฝีปากเพื่อกลั้นยิ้ม “ช่างรู้ช่างจำละเอียดลออจริงนะ งามละแกพ่อชัดเอ๋ย แต่ยังไม่เคยพบตัวยังปานนี้ ถ้าเป็นลูกเขยแล้ว กินข้าววันละกี่คำก็คงจำได้
นางศักดิ์รณชิตลุกขึ้นมาหยิบหมากจากเชี่ยน เพื่อจะเคี้ยวเล่นบ้าง คุณหญิงมองดูหล่อนแล้วถามว่า
“เมื่อคืนแม่ช่วงไม่เห็นไปดูละคร คุณหลวงเขาไม่ให้ไปหรือ?”
“เปล่าเจ้าค่ะ” ช่วงปฏิเสธพลางหัวเราะ “เมื่อคืนมัวแต่มายุ่งกับพี่ใหญ่เสีย”
ดูเหมือนคุณหญิงจะเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ภายในห้องที่ท่านนั่งอยู่นี้ มีมนุษย์ที่เป็นบุตรแห่งสหายของท่านอีกคนหนึ่ง-ซึ่งไม่ใช่พ่อชัด- นั่งอยู่ด้วย คุณหญิงคายชานหมาก พลางเหลือกตาขึ้นมองมาทางเขา แล้วถามเนือย ๆ
“พ่อนั่นแกชื่อใหญ่หรือ หรือชื่ออะไรอีก?”
ความคะนองชั่วเล่น ทำให้วิชัยยกศีรษะขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ตอบว่า
“หลวงอรรถคดีวิชัย”
คุณหญิงเกือบสะดุ้ง วางกระโถนเสียโดยเร็วเพื่อจะได้ใช้มือขยับแว่นตาให้เข้าที่ “อุแหม !” ท่านอุทาน “เป็นคุณหลวงแล้วหรือนี่ อะไรเป็นขุนนางแต่ยังหนุ่มเท่านี้”
“และจะเป็นคุณพระในไม่ช้า” วิชัยตอบในใจ ในขณะที่คุณนายชื่นกล่าวพร้อมหัวเราะว่า
“ไม่หนุ่มนะเจ้าคะ ๓๐ เข้าปีนี้แล้ว แต่เขาเป็นหลวงตั้งแต่อายุ ๒๕”
“เออแน่ะ ดูหน้าตาแกดิฉันคิดว่าสัก ๒๕-๒๕ อะไรตั้ง ๓๐ ทีเดียว คุณนายเห็นจะมีหลานย่าแล้วกระมัง?”
ในเวลานั้น หลวงอรรถคดี ฯ ถูกคุณหญิงจ้องดูจนเขานึกอยากเห็นเงาตัวเองในกระจกขึ้นทันใด และนิสัยของชายหนุ่มผู้นี้ เมื่อถูกผู้ใดกล่าวขวัญถึงตัวต่อหน้าก็ให้รู้สึกกระดากใจ เขาจึงลุกยืนโดยทันทีแล้วพูดสั้น ๆ กับน้องสาวว่า
“พี่จะไปบอกให้เขาเอาน้ำมา”
เขาแกล้งทำตัวให้หายไปนานพอที่สตรีทั้ง ๓ จะพูดถึงเรื่องของเขาได้จบ ดังนั้น เมื่อเขากลับมาในห้องรับแขกจึงพบคุณหญิงกำลังลาเจ้าของบ้าน
“พี่ใหญ่เห็นคุณหญิงรานรอน ฯ เป็นอย่างไรบ้างคะ?” ช่วงถามเมื่อกลับมาจากส่งคุณหญิงถึงประตูบ้านแล้ว
“สนุกดี !” วิชัยตอบพลางยิ้ม “เห็นจะรานรอนเก่งด้วย มีลูกสาวหลายคนหรือ และยังไม่มีผัวทั้งนั้น? มีสวยบ้างไหม?”
“ไม่ขี้ริ้วสักคนค่ะ แต่ที่สวยกว่าเพื่อนแม่พยอมซี สวยด้วย ฉลาดด้วย แต่อย่างพี่ใหญ่ไม่ได้เขาหรอก พี่ใหญ่ไม่ได้เป็นนักเรียนนอก”
หลวงอรรถคดี ฯ ยิ้มจนเห็นไรฟัน นัยน์ตาวาวด้วยความคิดอันขบขันที่เกิดขึ้นในสมอง คุณนายชื่นร้อง “อื้อ !” คล้ายกับจะท้วงว่า “อย่าเพ่อพูดไป” แต่มิได้ท้วง เป็นแต่มองลูกชายด้วยสีหน้าอันเต็มไปด้วยความคิด
“คุณหลวงให้ดิฉันบอกพี่ใหญ่ว่า พรุ่งนี้ทุ่มตรงจะมารับไปรับประทานกับข้าวเจ๊ก” ช่วงพูดต่อไป
“ยังงั้นหรือ ก็วันนี้ทำไมเขาถึงไม่มาด้วยล่ะ?”
ช่วงขยิบตาและหนีบขาพี่ชายโดยแรง แต่ช้าเกินไปเสียแล้ว คุณนายชื่นกระแทกเสียงพูดว่า
“เขาไม่มาหรอกย่ะที่บ้านนี้น่ะ เขากลัวหมากัด”
“วันนี้ติดธุระจริง ๆ ค่ะ” ช่วงรีบแก้ “ถ้าไม่ยังงั้นก็มา บ่นอยู่ตั้งแต่เช้าว่า ดีใจที่พี่ใหญ่มาอยู่กรุงเทพ ฯ อยากพบเมื่อไรจะได้พบกันง่าย ๆ บอกว่ามีเพื่อนมามากแล้วไม่ถูกใจเหมือนพี่ใหญ่สักคนเดียว”
“แล้วมันเรื่องอะไร ถึงต้องมาชวนลูกเขาไปเที่ยวกลางค่ำกลางคืน ลูกเขาเพิ่งกลับมาถึงจะได้อยู่ด้วยกัน แม่ ๆ ลูก ๆ ตัวอยากพบทำไมไม่มาหาเขาที่บ้านล่ะ”
“เห็นจะไปพบเพื่อน ๆ อีกหลายคนกระมังครับ” วิชัยแก้ต่อไป
“ค่ะ” ช่วงรับโดยเร็ว “เห็นว่าจะเลี้ยงอย่างรับแขกเมืองทีเดียว จะเชิญเพื่อนทหารที่เคยชอบกับพี่ใหญ่หลายคน ผู้ชายทั้งนั้น ผู้หญิงไม่มีปน”
“นั่นแหละ กินแล้วคงไปสำมะเลเทเมากันใหญ่ พ่อใหญ่ระวังตัวนะ แกนะ ยิ่งไม่ค่อยได้พบเห็นของใหม่ ๆ วิเศษ พ่อเพื่อนตัวสำคัญจะรีบพาไปให้ชิมเสียเร็ว ๆ เดี๋ยวก็จะเพริดจนเลยธงหรอก”
ถ้อยคำเช่นนี้ สำหรับเตือนสติบุคคลผู้มีอายุและอุปนิสัยเช่นหลวงอรรถคดี ฯ ออกจะเป็นการเกินต้องการอยู่ แต่วิชัยไม่เห็นประหลาดเพราะเหตุว่าตลอดเวลา ๓๐ ปีแห่งอายุของเขานี้ คุณนายชื่นมิได้คอยเฝ้าเป็นมารดาของเขาอยู่เป็นนิจดอกหรือ?”
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #9 on: 15 May 2022, 14:02:54 » |
|
๖
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ และเป็นอาทิตย์ที่แปลกสำหรับคนในบ้านสุขนิวาส เพราะเจ้าของบ้านนี้รวมทั้งสิ้น ๕ คน เป็นชาย ๔ มีนายสมพงศ์เป็นอาวุโส นายแสวง นายจำลอง นายประสิทธิ์ เป็นคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รองลงมา เป็นหญิง ๑ คือนางสาวอนงค์ จะได้บริโภคอาหารกลางวันร่วมกัน นับเป็นเหตุการณ์ที่ประหลาดใหญ่หลวง และก่อให้เกิดการอลหม่านกันทั้งบ้าน ที่ในครัวเต็มไปด้วยคนใช้หนุ่ม ๆ ล้วนแต่กลุ้มรุมแม่ครัวจะรับกับข้าวของชอบไปให้นายของตน “ไหนล่ะ แกงเผ็ดของคุณสมพงศ์?” “ไหนล่ะ แกงจืดของคุณแสวง?” “ไหนล่ะ ยำใหญ่ของคุณจำลอง?” “ไหนล่ะ น้ำพริกมะอึกของคุณสมพงศ์?” “ไหนล่ะ น้ำปลามะนาวของคุณแสวง?” “ไหนล่ะ น้ำพริกกุ้งแห้งของคุณจำลอง?” ส่วนอาหารประจำตั้งแลอยู่ไม่มีใครเอื้อ แม่ครัวผลักลูกที่กำลังดื่มนมกระเด็นไปทางหนึ่ง ฉวยมีดมาปอกกระเทียม ลูกสาวคนโตตักกะปิใส่ครกโขลก สายสะไบของแม่ติดเข้าไปด้วย นางแม่ลากมา ลูกน้อยดึงไปดูด นางแม่เหลือแต่ตัวเปล่า สามีโดดเข้าช่วยพัดไฟ ลูกเขยช่วยหั่นผักชี ส่วนผู้คอยยกช่วยส่งเสียงเร่ง แม่ครัวด่าลูก ด่าครก ด่าเขียง ด่ามีด ด่าหมู ด่าถ่าน เสียงต่าง ๆ ผสมกันอึกทึกดังหนึ่งห้องครัวจะถล่มทลาย
ส่วนในห้องกินข้าว นายสมพงศ์กับนายแสวง ๒ นายนี้แต่งตัวอย่างจะออกนอกบ้าน คนหนึ่งนั่งอยู่ตรงหัวโต๊ะมองดูจานเปล่า คนหนึ่งเดินเอามือไขว้หลังวนไปวนมารอบโต๊ะ นายจำลองแต่งตัวอย่างอยู่บ้านยืนพิงหน้าต่างอ่านหนังสือพิมพ์ ประสิทธิ์นั่งกอดเข่าตาปรืออยู่บนธรณีประตู
“กับข้าวกลางวัน วันนี้เห็นจะได้กิน ๔ โมงเย็น” เสียงนายแสวงบ่น
“เขาไม่รู้นี่นาว่าจะกินข้าวพร้อมกันดังนี้” สมพงศ์แก้
“พร้อมหรือไม่พร้อม มันธุระอะไรของแม่ครัว หน้าที่ของตัวมีแต่ทำกับข้าวให้เสร็จตามเวลา นี่ไม่เห็นมีอะไรสักอย่าง”
จำลองปิดหนังสือพิมพ์ที่กำลังอ่าน เดินไปยังหน้าต่างใกล้ตัวที่สุด ตะโกนออกไปว่า
“เฮ้ย ! กับข้าวมีแล้วบ้างหรือยัง ยกมาบ้างซิ หิวจะตายโหงอยู่แล้ว”
“ฮี่ ! ผมก็หิวจัง” ประสิทธิ์พึมพำ
“อันที่จริงมันก็เพิ่งบ่ายโมงเท่านั้น” สมพงศ์พูด
“บ่ายโมงกะผีอะไร จวนจะ ๒ โมงอยู่แล้ว” แสวงว่า
“ฮี่ อีก อีก ๔๐ นาทีจะ ๒ โมง”
“เฮ่ย ไอ้นาฬิกาของแกมันบุโร ส่งไปโรงโปเกเสียทีเถอะ”
จำลองอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไปได้อีกเล็กน้อย แล้วเงยหน้าขึ้นพูดว่า
“อนงค์ทำไมถึงยังไม่ลงมา”
สมพงศ์ลุกจากที่ไปยืนเท้าบันได แล้วเรียกเสียงดัง
“อนงค์ อนงค์กินข้าว”
“อนงค์ อนงค์ !” แสวงตะโกนดังกว่าพี่ชายหลายเท่า “มากินจานกับผ้าปูโต๊ะ”
พอดีคนใช้ ๓ คนยกข้าว และกับข้าว ๕ สิ่งมาวางไว้บนโต๊ะ จำลองกับประสิทธิ์จึงเข้านั่งที่ แสวงลงมือตักข้าว สมพงศ์ยืดตัวมองดูอาหารทั้งหมดแล้วเบือนหน้าอย่างพื้นเสีย
“ไม่มีแกงเผ็ด” เขาพูดแล้วหันไปจ้องดูหน้าคนใช้ “นี่ ฉันบอกแล้วนะ ว่าวันไหนฉันกินข้าวบ้าน วันนั้นต้องมีแกงเผ็ด พวกแกหูแตก หรือแม่ครัวไม่มีหัว”
คนใช้เหลียวล่อกแล่กมองดูกัน ในที่สุดคนหนึ่งตอบว่า
“แกงเผ็ดมีครับ แม่ครัวกำลังตัก”
“ก็ทำไมถึงเพิ่งตัก” ผู้เป็นนายถามเสียงเขียว “ไอ้แกงเผ็ดน่ะ ไม่ต้องกินร้อน แกงไว้ค้างคืนก็ได้ ทำไมถึงกับช้ากว่ากับข้าวอื่น ไปยกมาเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องตักยกมาทั้งหม้อ”
คนใช้คนหนึ่งวิ่งถลันออกไป ก็พออีกคนหนึ่งยกชามแกงเผ็ดสวนเข้ามา
“ทีหลังบอกแม่ครัวว่า ให้แกงเผ็ดติดหม้อไว้เสมอเรียกเมื่อไรให้ได้” สมพงศ์สั่ง
เงียบเสียงคุณที่ ๑ คุณที่ ๒ ก็เอ่ยขึ้น
“ถุย ! แกงจืด จืดจริงเหมือนน้ำลายเจ๊ก”
“เติมน้ำปลาเสียซี” สมพงศ์บอก
“เติมเวลานี้จะได้ปร่าเป็นน้ำล้างหัวล้าน”
ยังไม่สุดเสียงคนที่ ๒ คนที่ ๓ เอ่ยขึ้นว่า”
“ไอ้น้ำพริกนี่ทำไมถึงใสนัก” หันไปทางคนใช้ “ช่วยบอกแม่ครัวเขาทีเถอะ ตำน้ำพริกให้ข้นหน่อยไม่มีอะไรจะใส่ก็ขี้ตีนก็ได้ ขอแต่อย่าให้มันจิ้มไม่ติดยังงี้หน่อยเลย”
“น้ำพริกข้นอยู่นี่แน่ะ เหม็นสาบกุ้งแห้งจะตายไป ใส่ลงไปทำไมไม่รู้” พูดพลางสมพงศ์ผลักถ้วยน้ำพริกไปให้พ้นหน้า
“เอามานี่” แสวงบอกคนใช้ “เอาไอ้น้ำล้างตีนนี่ไปที”
“บา ! ไอ้น้ำปลาจิ้มไข่ทอดนี่ปากระเทียมลงไปด้วย”
“ไม่ใส่กระเทียมก็ไม่อร่อย” สมพงศ์พูดเรื่อย ๆ
“ฮี่ ไม่อร่อย ไม่อร่อย ต้องใส่กระเทียม”
แสวงเงยหน้าขึ้นจ้องดูประสิทธิ์แล้วถาม
“แกลองนึกพูดอะไรขึ้นเอง โดยไม่เอาอย่างเขาบ้างได้ไหม?”
“ก็เผอิญความเห็นมันตรงกันนี่นา” พี่ชายใหญ่ตอบแทน
แสวงแสดงสีหน้าไม่ใยดีแล้วก็นิ่งเสีย
“อนงค์ไม่ลงมาจนแล้วจนรอด” จำลองปรารภ
“ขึ้นไปตามคุณอนงค์ทีนะ” แสวงสั่งคนใช้ “บอกว่าอั๊วคอยอยู่ ไอ้เรื่องกินข้าวไม่พร้อมกันนี่เบื่อจริง”
คนใช้หายไปประมาณเกือบ ๕ นาที อนงค์จึงเยื้องกรายเข้ามาในห้อง
“แหม ! ทำอะไรอยู่นะน้องถึงลืมกินข้าว” สมพงศ์ถาม
“อ่านหนังสือค่ะ” หญิงสาวตอบพลางนั่งลงบนเก้าอี้ตรงข้ามกับพี่ชายใหญ่
“เรื่องอะไรสนุกนักเทียวหรือ” จำลองถามต่อ
“เรื่องอำนาจความรักค่ะ”
“แม่โว้ย !” แสวงอุทาน “เห็นจะจับใจพิลึกนะ ท่าจะถึงตอนสำคัญ นางเอกหนีพระเอกหรืออะไรอย่างนั้น”
อนงค์ยิ้มอย่างอ่อนโยนทุกคราวที่ตอบคำถามของพี่ เมื่อจะตอบประโยคสุดท้ายนี้ หล่อนหยาดความหวานเพิ่มเข้าในดวงตาที่มองดูหน้าเขาทีละคน แล้วจึงว่า
“ถึงตอนที่พี่น้องผู้ชาย ๓ คน รับประทานอาหารอยู่ด้วยกันทุกคน ใน ๓ คนนั้น มีเรื่องบ่นทั้งคนใช้ทั้งแม่ครัว ในเรื่องว่าเป็นเช่นนี้ทุกคราวไป อนงค์จึงไม่วางหนังสือ
พี่ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หัวเราะปร่า ๆ ขึ้นพร้อมกัน สมพงศ์เปลี่ยนสีหน้าได้ก่อนน้องทั้ง ๒ เขาพูดว่า
“ฮูเร ! น้องของพี่ปฏิภาณดีมาก”
แสวงหยุดหัวเราะแล้ว สีหน้าใกล้จะบึ้ง จำลองพูดสั้น ๆ ด้วยสีหน้าเอางานเอาการ
“เสียใจ”
“ถ้าน้องลงมาเสียตั้งแต่พี่แรกนั่งลง บางทีจะไม่ได้ยินพี่บ่นก็ได้ สมพงศ์กล่าว “ถึงบ่นก็คงไม่รุนแรง”
“โธ่ ! น้ำพริกใส ๆ น่ะพี่เกลียดเหลือเกิน” จำลองพูดอ่อน ๆ
“แล้ววันนี้น้ำพริกข้นแม่ครัวเขาก็ตำมา แต่พ่อคนยกผ่าไปตั้งที่หน้าคุณสมพงศ์....”
“ถ้วยใสของพี่เขาตั้งให้พ่อจำลอง มันทำอะไรไม่ใช้หัวเสียเลย จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร”
น้องหญิงหัวเราะ แล้วหันมาทางพี่ชายคนที่ ๔
“พี่ประสิทธิ์ล่ะคะ มีเรื่องบ่นบ้างหรือเปล่า”
“ประสิทธิ์มันก็ดีแต่เป็นนกแก้ว ใครเขาจะพูดอะไรก็คอยพูดตามเข้าไปเท่านั้น” แสวงบอก
อนงค์เอื้อมมือไปบีบมือประสิทธิ์ไว้
เรื่องความบกพร่องของแม่ครัวและคนใช้ เป็นอันสงบสำหรับมื้อนี้ ชายหนุ่มทั้ง ๓ ต่างมีเรื่องสำหรับพูดคุยให้น้องสาวฟัง เมื่อสมพงศ์กับแสวงเงียบเสียงลง จำลองจึงเอ่ยขึ้นว่า
“พี่มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะเล่าให้น้องฟัง”
“นิทาน !” แสวงขัดพลางทำกิริยาว่า “เอือม” เต็มทน
“เล่าไปเถอะค่ะ” อนงค์กล่าวเสียงเรียบ ๆ
“มีชายคนหนึ่งสมมุติว่าชื่อนาย ก. วันหนึ่งไปรับประทานอาหารกับเพื่อนที่โฮเต็ลใหญ่แห่งหนึ่ง ได้เห็นหญิงคนหนึ่งสมมติว่าชื่อนางสาว ข. นั่งรับประทานอาหารอยู่กับชายอีกคนหนึ่งแต่งตัวเป็นนายทหาร สมมุติว่าชื่อนายร้อยตรี ค. นาย ก. กับนางสาว ข. นั่งอยู่คนละโต๊ะห่างกันประมาณ ๓ ศอก แต่ เผอิญหันหน้าตรงกัน นางสาว ข. เป็นคนสวยแต่งสมสมัย นาย ก. เป็นคนเก๋ต่างฝ่ายต่างอดมองดูกันไม่ได้ จนในที่สุดนาย ก. ก็จำสรรพสิ่งที่มีอยู่ในตัวนางสาว ข. ได้ ได้หมดตั้งแต่เสื้อผ้า สีถุงเท้า สีรองเท้า ทรงผม รูปหน้า รูปปาก รูปจมูก รูปคิ้ว รูปคาง รูปตา และที่จำได้มากที่สุดก็คือ ดวงตาใสแจ๋วแหว๋ว งดงามจนหาอะไรเปรียบไม่ได้ นางสาว ข. กลับถึงบ้าน แล้วจะนึกถึงนาย ก. บ้างหรือไม่ ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่านาย ก. ลืมตาฝันถึงดวงตาคู่นั้นเกือบ ๆ ตลอดคืน” .
นวลหน้าอนงค์เป็นน้ำนวลยิ่งขึ้นด้วยสายโลหิต ชำเลืองตาอันมีแววแห่งความพิศวงและพอใจฉายอยู่ ดูหน้าพี่ที่ ๑ กับพี่ที่ ๒ แล้วจึงถามผู้เล่าว่า
“แล้วยังไงอีกล่ะคะ?”
นิทานเรื่องนี้พี่ให้ชื่อตามเรื่องบันเทิงคดีชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกว่าเรื่องปัญหาขัดข้อง ปัญหาของพี่ในเรื่องนี้มีอยู่ว่านาย ก. ฝันถึงนางสาว ข. ทั้งหลับและทั้งตื่น นาย ก. ควรจะทำประการใด?”
อนงค์หัวเราะแล้วพูดว่า
“น้องไม่มีปัญญาจะแก้หรอกค่ะ เกิดมายังไม่เคยแก้ปัญหาอะไรออกซักที แม้แต่ปัญหาที่เด็ก ๆ ทายกันเล่นก็ไม่เคยแก้ได้”
จำลองไม่ตอบว่ากระไร พับผ้าเช็ดมือใส่ปลอกลุกขึ้นจากเก้าอี้ มองตาน้องสาวอย่างมีความหมาย แล้วก็ออกจากห้องและลงบันไดไปทางหลังตึก
อนงค์มองดูพี่ชายทั้ง ๓ ที่ยังนั่งอยู่แล้วถาม
“อิ่มกันหมดทุกคนแล้วไม่ใช่หรือคะ อนงค์จะได้ลุกขึ้นบ้าง กำลังติดหนังสืออยู่ด้วย” พูดแล้วหล่อนหัวเราะเหมือนจะท้าว่า “ไม่เชื่อก็ไม่ทุกข์” แล้วลุกขึ้นไปทางเดียวกับที่จำลองได้ไปแล้ว
เห็นเขายืนอยู่ใต้ต้นมะม่วง อนงค์ทำทีเหมือนประหลาดใจ ค่อย ๆ เดินเข้าไปใกล้เขาแล้วถามว่า
“มาทำอะไรอยู่ที่นี่คะ?”
จำลองจับแขนน้องเกี่ยวกับแขนตัว พาเดินไปได้ ๒ ก้าว แล้วจึงตอบว่า
“มาคิดแก้ปัญหาขัดข้อง”
อนงค์นิ่งอยู่นาน ภายในใจ ความกระดากกำลังต่อสู้กับความใคร่รู้ ในที่สุดความใคร่รู้เป็นฝ่ายชนะจึงถามว่า
“ชื่อจริงของนาย ก. ชื่ออะไร?”
“อุดม พัฒนศักดิ์ ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข”
“รู้จักกับพี่ดีหรือคะ?”
“เคยอยู่บ้านเดียวกันที่ในนิวยอร์ค ๔ เดือนกว่า”
“นายอุดมกับคุณเติบ พี่จำลองชอบใครมากกว่ากัน?”
“พี่ชอบเท่า ๆ กัน เพราะเช่นนั้นพี่จึงแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้”
“ก็เขาเองล่ะคะ จะคิดแก้อย่างไร?”
“เขาเองก็มึน พี่บอกเขาแล้วว่าเขามีคู่แข่งมากและพี่ไม่รับรองว่าเขาจะชนะ”
อนงค์หัวเราะ กระแสเสียงเต็มไปด้วยความภูมิใจ
“ถ้าเขาไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาขัดข้องสำหรับตัวเองแล้ว ก็ให้เขาเป็นนาย ก. สำหรับนางสาว ข. อยู่อย่างเดิมเถิด” หล่อนว่า
จำลองยิ้มยิ้มน้อย ๆ บีบมือน้องสาวพลางพูดช้า ๆ
“นี่แหละผู้หญิงแท้ ชอบให้ผู้ชายสู้รบตบมือกันเพราะตัว ผู้หญิงยิ่งสวยมาก ยิ่งมีอำนาจมากในการที่จะเป็นเหตุให้ผู้ชายบาดหมางกัน”
นาย ก. ของพี่จำลองเป็นคนขลาดหรือคะ?”
“ไม่มีเลยแม้แต่น้อย แต่เขามาทีหลังคนอื่นจึงออกจะตื่นอยู่สักหน่อย”
“เช่นนั้นก็ให้เขาลงจากเวทีซีคะ เลิกนึกถึงตำแหน่งผู้ชนะ กลับบ้านสวดมนต์ภาวนาทำใจให้สงบ”
“พี่จะเล่าให้เขาฟังตามที่น้องว่านี้” จำลองกล่าวพลางยิ้ม
ส่วนทางในห้องกินข้าว แต่พออนงค์คล้อยหลังไป สมพงศ์ก็อมยิ้ม แล้วพูดว่า
“เจ้าร้อยตรี ค. นั่นคือตาชัด”
“ฮี่ฮี่ ตาชัด ตาชัดแน่”
“เด็กอมมือมันก็รู้” แสวงพูดห้วน ๆ
“ยิ่งวันยิ่งมีคนมารักมากขึ้น” สมพงศ์ปรารภสืบไป
“ยิ่งมีที่เลือกมากยิ่งน่ากลัวอันตราย ทำไมอนงค์ถึงยังไม่ปลงใจรักใครสักคนหนึ่ง อย่างตาชัดก็ไม่เลว”
“แต่ผมจะเห็นว่าอนงค์โง่มาก ถ้าแกแต่งงานกับตาชัด ในเมื่อมีคนอื่นที่ดีกว่าตาชัดหลายคน เช่น สงัด เป็นต้น”
“อนงค์จะไม่ได้รับความเห็นชอบของพี่ ถ้าแกจะแต่งงานกับนายสงัด”
“ทำไม?” แสวงถามเสียงกระด้าง “สงัดดีกว่าเจ้าชัดตั้ง ๑๐๐ เท่า วิชาชีพก็มี เงินก็มี รูปก็สวย ท่าทางก็ไม่เลว ส่วนเจ้าร้อยตรีชัดมีคุณสมบัติอะไร?”
“เรื่องเงินไม่เห็นต้องพูดถึง อนงค์มีพอถมไปแล้ว ว่าถึงคุณสมบัติและวิชา ถ้าแกคิดว่าตาชัดไม่มีติดตัวก็เท่ากับแกดูถูกกองทัพบกแห่งชาติของแกเอง”
“ดูถูกดีกว่าดูผิด คุณเองก็ดูถูกผมอย่างมากในการที่เห็นว่าสงัดไม่คู่ควรกับอนงค์”
“มันเป็นหน้าที่ของฉันผู้ซึ่งเป็นพี่ ที่จะต้องสอดส่องระวังทุกข์สุขที่จะเกิดแก่น้องหญิงคนเดียวของฉันให้มาก”
“มันก็เป็นหน้าที่ของผมด้วยเหมือนกัน ที่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้น้องหญิงคนเดียวของผมไปแต่งงานกับเจ้านายทหารรูปสวย แต่กระเป๋าแห้ง อนงค์เป็นน้องสาวของผมเท่าที่แกเป็นน้องของคุณ”
“อาจจะเป็นได้”
“ไม่อาจละ มันเป็นทีเดียวแหละ”
“เพราะเช่นนั้น แกถึงจัดการต้มน้องจะให้แต่งงานกับนายสงัดยังงั้นหรือ?”
“ก็แน่ละ ผมเห็นว่าใครดีสมควรกับแก ผมก็จัดการจะให้แกได้เขา ทำไมถึงหาว่าต้ม และธุระอะไรของใครที่จะคอยขัดขวาง”
“ธุระอย่างยิ่ง เพราะอนงค์เป็นน้องผู้หญิงคนเดียวของฉัน?”
“แต่ไม่ใช่ของฉันคนเดียว ! เอาเถอะ สมมุติว่าใช่ อยากจะรู้ว่าสงัดมันระยำอย่างไร หรือว่าเพราะมันเป็นเพื่อนของนายแสวง ถึงมันไม่ระยำก็เหมือนระยำ”
สมพงศ์ยิ้มแล้วจึงพูดว่า
“แกหาว่าฉันไม่ชอบตาสงัดเพราะอคติ เอาเถอะฉันไม่ถือแกในข้อนี้ ฉันจะบอกแกว่าฉันไม่เห็นตัวตาสงัดระยำสักนิดเดียว แกจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ฉันไม่ยอมให้อนงค์แต่งงานกับสงัด เพราะสงัดมีพี่น้องผู้หญิงหลายคนนัก”
แสวงหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วว่า
“ความคิดอย่างหัวกฎหมาย !”
“เปล่า ไม่ใช่ เป็นความคิดของนักจิตวิทยา”
สมพงศ์ตอบ ยิ้มอยู่ตลอดเวลาที่พูดและฟัง “พี่ของสงัดทั้ง ๒ คนเป็นสาวทึมทึก บางทีแกจะไม่ค่อยสังเกตว่า แม่สาวพวกนี้คอยอิจฉาริษยาจับผิดแม่พวกสาวเด็ก ๆ ที่สวย ๆ และที่มีโอกาสได้แต่งงานเพียงไร เข้าใจหรือยังล่ะทีนี้?”
“บอกแล้วว่าสำนวนนักกฎหมาย คนโง่ ๆ อย่างผมฟังไม่เข้าใจหรอก”
“ไม่เข้าใจก็จะอธิบายต่อให้อีก อนงค์เป็นคนสวยนัก แล้วก็อยู่แต่กับพวกเราที่เป็นผู้ชาย ไม่มีใครเคยดุเคยว่า ถ้าแกถูกผู้หญิง ๒ คนคอยรุมกันติโน่นค่อนนี่บ่อย ๆ แกจะทนไหวหรือ ไม่ช้าแกก็จะต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า”
“ก็แล้วนายชัดของคุณน่ะ ไม่มีพี่ผู้หญิงเป็นหางดอกหรือ?”
“มี ๔ คน แต่เขามีคู่แล้วทุกคน ต่างแยกกันไปอยู่กับลูกกับผัวของเขา ไม่มีเวลามานั่งเฝ้าคอยจับผิดน้องสะใภ้ อีกอย่างหนึ่งเขามีผัวแล้วเหมือนผู้หญิงทั้งหลาย ใจเขาก็ไม่ต้องคอยอิจฉาริษยาผู้อื่น พี่ผู้ชายของชัดเล่าก็เป็นคนอยู่หัวเมือง ไม่มีเวลามากีดขวาง ถ้าจะพูดถึงแม่ตาชัด ลูกของแกมีเป็นหลายคน ถ้าตาชัดมีเมียมาอยู่บ้านเมีย แกก็คงไปอยู่กับผู้หญิง หรือลูกชายคนใหญ่ เรื่องราวอะไรจะมาเกาะแกะลูกสุดท้องกิน ส่วนสงัดเป็นลูกผู้ชายคนเดียวของพ่อแม่ เมื่อแม่ไม่มีผัวแล้วก็คงจะเกาะลูก ส่วนพี่สาว ๒ คนก็เกาะข้างแม่ แยกกันไม่ออก แล้วทำยังไงอนงค์ถึงจะได้ความสุขเล่า”
“เอาเถอะใครดีใครได้กัน” แสวงพูดแล้วลุกขึ้นจากเก้าอี้โดยแรง “คอยดูว่าเมื่อไรอนงค์รักสงัด แกจะมานั่งนึกถึงเรื่องบ้า ๆ เหล่านี้หรือไม่” พูดแล้วก็ฉวยเสื้อชั้นนอกเดินออกจากห้องไป
เมื่ออนงค์ละจากจำลองมาแล้ว กำลังจะขึ้นบันไดไปห้องของหล่อน เหลือบเห็นประสิทธิ์นั่งเหม่ออยู่ที่โต๊ะคินข้าวคนเดียว หล่อนจึงแวะเข้าไปหาเขา
“คิดถึงอะไรคะท่าทางใจล้อยใจลอย” หล่อนถาม
“คิดถึงน้อง ฮี่ ฮี่ น้องอนงค์”
หญิงสาวยิ้ม เท้าข้อศอกลงบนโต๊ะทั้ง ๒ ข้าง
“คิดถึงอย่างไร”
ประสิทธิ์ทำมือหยุกหยิกอยู่นาน ภายหลังจึงกระซิบอย่างตื่นเต้น
“คุณสมพงศ์กับคุณแสวงทะเลาะกันใหญ่”
“อีกแล้วหรือ ทะเลาะเรื่องอะไร?”
“เรื่องตาชัดกับคุณสงัด”
อนงค์ถอนใจอย่างโล่งอก
“ตามเคย !” หล่อนว่าแล้วหัวเราะ
ประสิทธิ์ขยุกขยิกมือยิ่งกว่าเดิม อนงค์ทายได้ด้วยความชำนาญว่าเขาจะพูดความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งจึงรอฟังอยู่
“พี่ ฮี่ ฮี่ พี่ก็มีเรื่อง ฮี่ฮี่ จะฮี่....กับน้อง”
หล่อนจับมือเขากุมไว้ทั้ง ๒ ข้างแล้วว่า
“พูดอะไรก็พูดซีคะ พูดกับน้องก็ต้อง....ทำอย่างนี้ด้วย !”
“เรื่อง....เรื่อง....เรื่องของพี่มัน ฮี่ ฮี่ สำคัญ....เพื่อนไอ้เพื่อน...มันฮี่....ฮี่....มันบ้า”
น้องสาวคงกำมือพี่ชายไว้ดังเดิม และนิ่งฟังอย่างสงบเสงี่ยม
“มันเห็นน้องที่โรงหนังหลายหน” ประสิทธิ์พูดเร็วปรื๋อ ครั้นแล้วก็หมดกำลังที่จะบังคับตัวเพียงเท่านั้นเอง อนงค์รู้สึกว่ามือของเขาที่อยู่ในมือหล่อนนั้นพยายามจะขยุกขยิกอีก หล่อนจึงบีบมือให้แน่นเข้าแล้วยิ้มเพื่อเอาใจ “หลายหน หลายหน แล้ว และเดี๋ยวนี้มันฮี่ มันท่องจำอะไรจำอะไรไม่....ไม่ฮี่ ได้เลย” พูดจบแล้วประสิทธิ์ก็ถอนลมหายใจอย่างยืดยาว
อนงค์กัดริมฝีปากไว้แน่นเพื่อกลั้นหัวเราะ ปล่อยมือเขาจากมือหล่อน แล้วโอบกอดไหล่เขาไว้พลางพูดว่า
“พี่ประสิทธิ์อย่าเอาใจไปยุ่งกับเรื่องเหล่านี้เลยค่ะ บอกเพื่อนของพี่เสียว่าน้องจะไม่แต่งงานตลอดชีวิตก็แล้วกัน อย่าให้เขาใฝ่ฝันให้เสียเวลาเลย”
พูดแล้วด้วยความใคร่หัวเราะยังไม่สิ้นไป อนงค์จึงปล่อยมือจากพี่ชาย รีบวิ่งไปเสียจากห้อง
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #10 on: 15 May 2022, 14:06:10 » |
|
๗
ในวันเดียวกันนี้พระอาทิตย์ลับไปนานแล้วจนมองเห็นดวงดาวลอยเด่นอยู่กลางฟ้า หลวงอรรถคดี ฯ ยังนอนอ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน เสียงแตรไฟฟ้าดังมาจากหน้าบ้าน ๒ ครั้งติด ๆ กัน ผ่านโสตประสาทของเขาไปแต่เพียงแว่ว ๆ ครั้งที่ ๓ ที่ ๔ ดังขึ้นกว่าเก่ามาก วิชัยเริ่มขยับตัวและเริ่มนึกสงสัยว่า ใครหนอมาทำเสียงเป็นที่รบกวนน่าขัดใจเช่นนี้ ครั้งที่ ๕ ที่ ๖ ออกจะเป็นเสียงกระชากทำให้เขาเอะใจ วางหนังสือลง สายตามองไปที่ปฏิทินข้างฝา เกิดนึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ “ดูเหมือนนัดอะไรกับใครไว้” เขานึก ครั้นแล้วในทันใดนั้นเองเขาก็ผลุดลุกจากเก้าอี้ โยนหนังสือลงไว้บนโต๊ะใกล้มือ พอเสียงแตรดังขึ้นอย่างถี่และกระแทก ผู้พิพากษาหนุ่มฉวยผ้าม่วงที่ผลัดไว้เมื่อตอนบ่ายมาพันตัวสวมด้วยเสื้อนอกได้แขนหนึ่ง ฉวยถุงรองเท้าได้ก็วิ่งตื้อลงจากบันไดเรือนไปโดยเร็ว
“ลืมไปว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์” วิชัยพูดทั้งกำลังหอบและหัวเราะ “ขอโทษที ขอโทษมาก ๆ กันลืมจริง ๆ”
“บ้าระยำ !” หลวงศักดิ์รณชิตพูดในคอ ทำตาเขียว มองดูเพื่อนเสียก่อนแล้วจึงออกรถ และเสริมต่อว่า “อีกหน่อยมันคงลืมกินข้าว”
สหายของเขาหัวเราะอีกเป็นเชิงรับผิด ครั้นแล้วก็ถามว่า
“ก็แกทำไมไม่เอารถเข้าไปในบ้าน? เสียเวลาบีบแตรเป็นนาน
“ใครจะเข้าไป ! ขี้เกียจฟังแม่ยายบ่นหนวกหู”
“ยายช่วงปากไม่อยู่สุขแล้วซี?”
“เฮ้ยไม่บอกอั๊วก็รู้ อีบ่นเสมอ เฮ้ยนั่นทำะไรก้ม ๆ เงย ๆ ไม่รู้จักแล้ว”
“กันใส่ถุงตีน เออ ไอ้รถของแกนี่มันรถอะไรนะ”
“แล้วกัน นี่แกจำข้าหลวงเดิมไม่ได้หรือ?”
“ข้าหลวงเดิม ! ไอ้ฟอร์ดแก่ของแกน่ะรึ มิน่าล่ะ!”
“ทำไม? มันก็ยังใช้การได้ดีอยู่นี่นา เครื่องก็ไม่ดังนักไม่ใช่หรือ”
“ไม่ดังนัก” วิชัยตอบพลางกลั้นหัวเราะ เพราะในขณะนั้นเอง มีรถกุดังใหญ่และคร่ำครึคันหนึ่ง แล่นเฉียดรถคันที่เขานั่งไป และเป็นเพราะความ “ไม่ดังนัก” ของ *ข้าหลวงเดิม” วิชัยจึงไม่ได้ยินเสียงรถโกดัง ดังที่กล่าวมาเลย !”
เมื่อหลวงอรรถคดีวิชัยสวมถุงเท้า รองเท้า และขัดดุมเสื้อเรียบร้อยแล้ว หลวงศักดิ์รณชิต ฯ เอ่ยขึ้นว่า
“เมียอั๊ว เขาสั่งให้เตือนแกอย่าลืมเรื่องผ้านุ่งของเขา เขาตั้งใจจะไปเตือนตั้งแต่เมื่อวานแล้วมัวพูดนั่นนี่เลยลืมฉิบ?”
วิชัยมีอาการงงขึ้นทันที ถามว่า
“ผ้านุ่งอะไรแฮะ กันนึกไม่ออกเลย”
“ผ้าสงขลาน่ะซี ฝากแกซื้อไม่ใช่หรือ?”
อีกฝ่ายหนึ่งหัวเราะแล้วว่า
“ฝากซื้อ ! พวกนี้เอะอะอะไรก็ฝากซื้อ ไอ้เราก็ซื้อมาฝากทุกที ไม่เห็นใช้เงินให้เราสักทีเดียว”
“เอาเปรียบเท่านั้นเสียเอง” หลวงศักดิ์ ฯ กล่าว “เมื่อวานซืนนี้เองกันได้ยินพวกเขาพูดถึงผ้านุ่งที่ฝากแกซื้อ ไปนึกถึงพลอยจันทบูร เมียอั๊วใส่ป๋ออยู่ทุกวัน ถามว่าใช้เงินแกหรือยัง เพราะกันเคยเตือนเขาหลายหนแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่ายังอยู่นั่นเอง ว่าเข้าเขาก็เถียงว่า “เขาเคยขอกันกินมากกว่านี้อีก” กันเลยหมดเสียง”
วิชัยหัวเราะอย่างขัน แล้วว่า
“พรุ่งนี้ต้องไม่ลืมโทรเลขไปสงขลา ถ้าไม่ได้เจ้าผ้าพื้นกุลีนี้มา เห็นจะไม่ได้รับความสงบแน่ พบแม่พวกนี้ทีไรเป็นบ่นเรื่องลืมผ้านุ่งทุกที เมื่อวานไปบ้านยายชด ยายชดบ่น วันนี้ไปบ้านยายชิด ยายชิดบ่น ข้างยายช้อยไม่ยุ่งเรื่องผ้านุ่ง ก็รบจะเอากุ้งไม้ให้พ่อสมาน ค่ำวันนี้ยายช่วงส่งทูตมาเตือนอีกแล้ว”
“แล้วแม่ยายอั๊วล่ะ บ่นกับเขาด้วยหรือเปล่า”
“ไม่ได้บ่น เพราะท่านไม่ได้สั่งให้ซื้อ กันนึกซื้อให้ท่านเอง”
“แม่ยายอั๊วเวลานี้เห็นจะบ่นอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องอั๊วจองหองเลวต่าง ๆ หาว่ากันไม่เยี่ยมกราย พิโธ่ ! เมื่อคืนวานนี้เองไม่ใช่หรือกันยังจำได้ ไปนั่งคุยอยู่กับแกเป็นนาน”
“คืนนั้นนับไม่ได้ เพราะแกไปส่งกัน ไม่ได้ตั้งไจไปหาท่าน” วิชัยขัดเพื่อสนุกมากกว่าอย่างอื่น
“ก่อนนั้นก็ไป เมื่อวานซืนนี้เอง”
“วานซืนของแกน่ะ วานซืนยายแก่เสียละกระมัง”
“วานซืนแท้ ๆ ซี ก่อนแกมา ๒ วันไม่นับวานซืนหรือ?”
“นั่นแสดงว่า แกเป็นเขยรักของท่านมากกว่าเขยอื่น” พูดพลางวิชัยหัวเราะ
“ขอบใจ !” หลวงศักดิ์ ฯ ตอบ ครั้นแล้วก็สารภาพ “กันไปเพราะมีธุระจะต้องผ่านทางนั้น เมียเขาใช้ให้แวะเอาขนมหม้อแกงถั่วให้แม่เขาด้วย กันก็เลยนั่งพูดอยู่กับอี ๒-๓ นาที แต่ว่าก่อนนั้นบางที ๓-๔ เดือนกันไม่ไปหาเลย”
อันการที่นางศรีวิชัยกับหลวงศักดิ์ ฯ เข้าใกล้กันไม่ได้ เปรียบเหมือนขมิ้นกับปูนนั้น ผู้ที่รู้จักนิสัยของบุคคลคู่นี้ดีเช่นวิชัย ย่อมไม่เห็นเป็นข้อแปลกประหลาด ดังนั้นบุตรชายใหญ่ของนางศรีวิชัยจึงพูดเรื่อย ๆ
“ไอ้แกมันก็เหลือเกิน ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ลดละให้บ้าง ท่านได้ทำอะไรให้แกขวางอีกมากหรือ?”
หลวงศักดิ์ ฯ หันมองดูเพื่อน สบตากันยิ้มด้วยกันทั้งคู่ แล้วฝ่ายผู้เป็นทหารตอบว่า
“อันที่จริงอีก็ไม่ได้ทำอะไรนักหรอก เป็นแต่กันรำคาญ อีชอบทำอะไรที่มัน....มันแปลก ๆ”
“ไอ้ที่แปลกนั่นใช่ไหมล่ะที่แกขวาง ทำไมถึงจะต้องเปลี่ยนคำพูดของกันเสียด้วย?”
“ไม่ใช่ ! คือว่าอั๊วไม่ขวางมาก ขวางนิด ๆ เท่านั้นนี่ อย่างเมื่อคราวนั้น อั๊วพาหลานไปหา นั่งพูดกันอยู่ดี ๆ ประเดี๋ยวอีเกิดพีมขึ้นมาแล้วว่าเราขี้เหนียวหาทองผูกบั้นเอวให้ลูกสัก ๒ บาทก็ไม่ได้ ค่าที่ตาตุ๊ไม่มีสายสร้อยผูกบั้นเอว อีหาว่าหลานอีไม่มีเอวไม่มีไหล่ “ไอ้....่า ! ก็เด็กอายุ ๓ ขวบ แล้วก็อ้วนปานนั้นมันจะเอาเอวเอาไหล่ที่ไหนมา ลงปลายอีจัดแจงเอาเชือกบ้าอะไรไม่รู้มาควั่นผูกเอวให้ลูกอั๊ว”
“แล้วแกก็ตัดมันออกเสียทันทีที่กลับมาถึงบ้าน ถ้าแกไม่ห่ามพอที่จะตัดออกต่อหน้าท่าน”
“ดีว่าอั๊วไม่มีมีดอยู่ใกล้มือน่ะซี”
“ก็เหมาะกันพอดีแล้วนี่นา”
หลวงศักดิ์ ฯ ไม่แสดงว่าเอาใจใส่ในคำพูดนั้น บรรยายต่อไปอีก
“จะกล่าวถึงยายนิด อียายนิดผอมเพราะให้กินแต่ข้าวตุ๋นบด ไม่อยู่ท้อง เมียอั๊วก็สำคัญ เย็นนั้นจัดแจงให้ลูกกินข้าวสวยเม็ด ๆ ไอ้....่า ! ก็เด็กขวบเดียวมันจะทนทานที่ไหนได้ รุ่งขึ้นอีกวันเลยท้องเฟ้อต้องวิ่งตามหมอกันแทบตาย....ไอ้บ้า ! หัวยุ่งเหมือนกับอะไร หวีเสียเถอะน่า”
“แกน่ะแหละไอ้บ้า ขับรถเป็นพายุบุแคม ผมที่ไหนมันจะเรียบอยู่ได้ แกลองถอดหมวกออกดูทีหรือ?
“ก็นัดกับเขาไว้ ๑๙ น. ไม่เร็วมันจะได้ต่าตาย ไอ้....่า ! นัดกันเมื่อวานนี้แหละ ถึงวันนี้ลืมเสียแล้ว !”
“แล้วแกน่ะยังภาวนาถึง “ห่า” อยู่อย่างนี้เสมอหรือ?”
“แน่ละ” หลวงศักดิ์ ฯ รับหน้าตาเฉย “เมียอั๊วเขาบอกว่าวันหนึ่งมันจะจิกตาย”
“หวังว่ายังไม่ใช่คืนวันนี้นะ เมื่อแกไปดูการทหารต่างประเทศก็คงเชิญเอาตัวไอ้นี่ ไปเที่ยวใส่หน้าพวกนั้นด้วยซี”
“โอ๊ยใส่มันทุกคนเลย แต่มันไม่เข้าใจ เออพูดถึงเมืองญี่ปุ่น มีเรื่องแม่ยายอีกแล้ว ต้นขจรของอั๊วปลูกไว้ข้างหน้าต่างหัวนอน เมื่อกันไปมันกำลังขึ้นง้ามงามกันไปเสีย ๙ เดือน คิดว่ากลับมาจะได้เห็นขจรขึ้นเกือบเต็มซุ้ม เปลำ แม่ยายสั่งให้เมียอั๊วตัดเสียเตียนยอ อีว่ามันอยู่ใกล้หน้าต่างแล้วมันเป็นต้นไม้เลื้อยงูมันชอบอยู่ เดี๋ยวมันจะกัดลูกอีตาย”
“แหม ! ไอ้เรื่องนี้มันโบราณเต็มที กันเคยฟังสัก ๑๐๐ หนแล้ว ต้องแจกนมกระป๋องเล็กละแก เอาเรื่องใหม่ ๆ เถอะน่า”
หลวงศักดิ์รณชิตนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงว่า
“เรื่องใหม่ที่สุดหรือ? หมู่นี้อีกำลังจ้ำจี้จ้ำไชจะให้อั๊วไปเลียพระยารานรอน”
“ก็ลุงของแกเอง”
“ลุงแล็งที่ไหน ห่างกันตั้งโยชน์ พ่อเขากับพ่อของกันเป็นลูกพี่ลูกน้องกันเท่านั้น เกลียดหน้ายายเมียจะตายห่า มักได้ไม่มีใครสู้ กันไม่คบคนพรรค์นั้นเป็นอันขาด”
“เอ ! กันเห็นคุณหญิงนั่นสนิทสนมกับเมียแกมาก เขาไปพบกันที่บ้านกันเมื่อวานนี้เอง”
“เขารู้จักกัน ครั้งแรกเมื่อนายแม่ให้กันพาเมียไปไหว้พระยารานรอน แล้วทีหลังก็ไปพบกันตามโรงละครแล้วก็ตามบ่อนไพ่ เลยสนิทสนมกันจนลามไปถึงแม่ยายด้วย”
“มีลูกสาวหลายคนไม่ใช่หรือ?”
“มีนับไม่ถ้วน ตั้งราคาไว้สูงลิบจนไม่มีใครกล้าเขาไปจด”
“แต่กันคิดว่าคุณแม่กันกำลังจะจดอยู่”
หลวงศักดิ์ ฯ สะดุ้งเหมือนถูกไฟจี้ “จะขอให้แกหรือ?” เขาถามเร็วปรื๋อ “ตายห่า ! อย่าลืมเทียวนา อย่างแกงี้ไม่พอมือแม่หรอก”
“ทำไม?” วิชัยถามอย่างทึ่งที่สุดพร้อมกับหัวเราะ “เขาจะทำอะไรกับฉัน?”
“บีบขม่อมแกน่ะซี แต่ผัวของแม่ ๆ ยังบีบเสียกระดิกไม่ไหว แกอย่าทะลึ่งเอามือไปซุกหีบนา ทีหลังมาบ่นให้อั๊วฟังละได้ถูกเตะเลย”
“เปล่าน่า ไม่ใช่กัน ตาชัด”
“อ๋อ....อ้อ ! นี่เป็นความรู้ใหม่ มิน่าล่ะ ! เมื่อแรกอั๊วคิดว่าอีตั้งอกตั้งใจให้กันไปเลียเขา เพราะจะให้กันได้ ตาพระยารานรอนแกมีอิทธิพลในหมู่ทหารชั้นผู้ใหญ่มากเพราะทางราชการแกไม่เลว ที่แท้อีหวังประโยชน์ของอีด้วย แม่เมียกันก็สำคัญไม่บอกให้รู้เลย แต่กันสงสัยจริงว่าจะได้เขาหรือ ถ้าอย่างแกละก็ว่าไม่ได้เพราะแกออกจะมีสตางค์ ถึงจะไม่มีนับหมื่นเหมือนเขา ก็พอมีกองทุนกองสินไม่น้อยเกินไป อย่างตาชัดเท่ากะมีแต่ตัว ยายคุณหญิงมะยมแกจะให้ลูกสาวของแกหรือ?”
วิชัยหัวเราะก้ากใหญ่ “ชื่อสำคัญจริงนะ” เขากล่าว “ดูเหมือนตัวก็เหมาะกับชื่อเสียด้วย”
“ฮี่ เหมาะนะ” หลวงศักดิ์ ฯ รับ “แต่กันยังสงสัยเรื่องตาชัดยังไม่หาย ยายมะยมแกรู้ตัวไหมว่าแม่ยายอั๊วอีเคลมลูกสาวแก”
“ยิ่งกว่ารู้ กันเข้าใจว่าเขาเกือบจะเอาลูกสาวใส่ถาดมาวางให้พ่อชัดทีเดียว”
“ยังงั้นเทียวหรือ? อืม ! หรือแม่ยายอีมีกลเม็ดดียังไง อันที่จริงอีเป็นคนฉลาดมากนะ ปากหวานเป็นที่หนึ่ง เวลาอีต้องการจะหวาน....เฮ้ย ! ไอ้ห....่า ! ประเดี๋ยวพ่อชนสะบั้นเลย!”
รถลากที่จอดอยู่ริมบาทวิถีหน้าร้านอาหารจีน ถูกเจ้าของพาวิ่งไปโดยเร็ว แล้วฟอร์ดก็หยุดกึกลงที่ตรงนั้น
“เจ้าโชติยังไม่มารึ?” หลวงศักดิ์รณชิตถามทันทีที่ได้ก้าวลงจากรถ
แต่คำถามนั้นสูญเปล่าไปในอากาศ ไม่มีผู้ใดเอาใจใส่ที่จะตอบหรือแม้แต่จะฟัง ด้วยบุรุษ ๓ นายที่อยู่ในร้านนั้น ต่างตรงเข้าห้อมล้อมผู้พิพากษาหนุ่มอย่างดีเนื้อดีใจ สำแดงความสนิทสนมเป็นอย่างยิ่ง หลวงศักดิ์ ฯ ยกมือเกาศีรษะอย่างรำคาญ แล้วก็เลี่ยงไปพูดเรื่องอาหารเสียกับจีนคนหนึ่ง
เมื่อได้ทักทายกันเป็นที่พอใจแล้ว หลวงหาญผจญศึก บุรุษคนหนึ่งในจำนวน ๓ คน จึงเหลียวหาหลวงศักดิ์ ฯ แล้วเตือนขึ้นว่า
“แกสั่งกับข้าวแล้วหรือยัง อั๊วหิวเต็มทีแล้ว”
“ก็เจ้าโชติมันยังไม่มาเลย” หลวงศักดิ์ ฯ ตอบ มัวไปโอ้เอ้ที่ไหนไม่รู้
“ใครว่าเจ้าโชติยังไม่มา” เสียงค้านมาจากที่สูง พร้อมกับเจ้าของเสียงลงมาจากชั้นบน “กันมาถึงเสียเป็นนานแล้ว ก่อนพวกแกทุกคน”
“มาแล้วต้นซุกหัวอยู่ข้างบน ใครจะไปรู้ล่ะ”
“อั๊วมีเพื่อนมาด้วย ๒ คน” นายร้อยเอกโชติบอก
พอได้ยินคำนั้นหลวงศักดิ์ ฯ ก็ชักสีหน้าทันที สหายของเขารีบอธิบายต่อไป
“ช่วยไม่ได้จริง ๆ ว่ะ กันรับเชิญเขาไว้เสียก่อนแล้ว”
“ก็แล้วทำไมถึงทะเล้นมารับเชิญข้าด้วยล่ะ รับเขาแล้วก็ไสหัวไปกินกับเขาซี”
“ก็กันจะต้องไปหัวเมืองพรุ่งนี้เช้า ถ้ากันไม่มาที่นี่ทำไมกันถึงจะได้พบวิชัย ส่วนทางโน้นเขาก็เลี้ยงส่งกัน กันรับเขาไว้แล้ว อย่าโยกโย้ไปหน่อยเลยน่า เขาเป็นคนเรียบร้อยดี น่าคบ”
ความฉุนโกรธไม่มีเหลืออยู่ในสีหน้าหลวงศักดิ์ ฯ แล้ว แต่เขาคงพูดว่า
“ทะลึ่ง เตะเสียละดีละ”
“เอาสัก ๓ ป้าบก็เอาซี” นายร้อยเอกโชติตอบ “ขอแต่แกอย่าไปทำหน้ายักษ์ใส่นายพลเรือน ๒ คนเขาก็แล้วกัน ถ้าขืนทำ อัวไม่เตะละถีบเลย”
“แกจะไปจังหวัดไหนโชติ?” หลวงอรรถคดี ฯ ถาม
“เขาเนรเทศมันไปโคราช” หลวงโจมพลล้านตอบแทน
“อย่าพูดเป็นลางน่ะ” โชติค้าน “หมู่นี้อั๊วยิ่งรวนกับนายเขาอยู่ด้วย” แล้วหันมาอธิบายต่อกับวิชัย “เขาใช้ให้กันเอาปืนใหญ่ไปส่ง แล้วต้องอยู่หัดให้ทหารยิงปืนสัก ๒ หรือ ๓ เดือน”
“อ๋อ โคราชใกล้ ๆ แค่นี้เอง มาเมื่อไหร่ก็มาได้”
“อะไรมาเมื่อไหร่ก็มาได้ ! มันต้องลาเขานี่พ่อ เสียเวลาเดินทางตั้งวันเต็ม ๆ แล้วไอ้รถไฟกับอั๊วน่ะถูกกันนักเมื่อไรล่ะ”
“ขึ้นไปข้างบนกันเถอะ” นายทหารอีก ๒ นาย เตือนขึ้นพร้อมกัน
“นั้นน่ะซี คุยกันข้างบนจะได้กินไปพลาง ไม่มีอะไรก็เม็ดกวยจี้ก่อน”
ไปซี” โชติกล่าวแล้วนำหน้าเพื่อน “เอ๊ะนี่ศักดิ์หายไปไหน ถ้าจะดันไปหาห้องอีกกระมัง” พูดแล้วโชติก็วิ่งขึ้นบันไดโดยเร็ว
จริงอย่างที่ร้อยเอกโชติคาด เมื่อบุรุษทั้ง ๕ นายขึ้นไปถึงชั้นบนก็ได้เห็นหลวงศักดิ์ ฯ ส่งภาษาเอะอะอยู่กับจีน ๒ คน โชติเข้าขวางและพยายามส่งภาษากับหลวงศักดิ์อีกต่อหนึ่ง เสียเวลาหลายนาทีจึงเป็นที่เข้าใจกันได้ และพากันไปยังห้องที่โชติเลือกไว้แล้ว
บุรุษทั้ง ๒ มีโชตินำหน้า หลวงศักดิ์ ฯ อยู่หลังที่สุด เปิดบังตาเดินเรียงหนึ่งเข้าในห้อง เพื่อนของโชติทุกคนค่อนข้างทึ่งอยู่ว่า พลเรือน ๒ นายที่คอยเขาอยู่นั้นจะมีรูปร่างท่าทางเป็นอย่างไร ลึกเข้าไปทางปลายห้องด้านติดต่อกับเฉลียงอันยื่นออกสู่ถนน ชายหนุ่มคนหนึ่งลุกออกจากเก้าอี้เดินมารับ เขาเป็นคนร่างสันทัดผิวเนื้อขาว นุ่งผ้าม่วงสีไข่ไก่ สวมเสื้อแพรถุงเท้า รองเท้าเต็มที่ นายร้อยเอกโชติเรียกเขาว่าคุณสมพงศ์และแนะนำให้รู้จักเพื่อนของตนเป็นเชิงวิงวอน และบังคับกลาย ๆ นายพันตรีก้าวเท้าออกไปข้างหน้าแล้วพูดด้วยเสียงห้าวตามนิสัยว่า
“ผมเป็นเจ้าภาพในงานนี้ มีความยินดีที่คุณมาเป็นเพื่อนกินด้วยอีกคนหนึ่ง ผมหมายถึง ๒ คน อีกคนหนึ่งอยู่ไหนล่ะ จะได้ฟังเสียงพร้อม ๆ กัน ไม่ต้องพูด ๒ หน”
สมพงศ์เหลียวดูทางเบื้องหลัง แล้วเบี่ยงตัวให้ชายหนุ่มอีกคนหนึ่งยืนบังเงาเขาอยู่ ออกมาข้างหน้า
“นี่ประสิทธิ์น้องชายผม” เขาบอก
“คุณคงเห็นแล้วว่าพวกผมเป็นทหารทั้งนั้น” หลวงศักดิ์ ฯ พูดสืบไป “ตลอดจนท่านผู้นี้” ชี้ที่หลวงอรรถคดี ฯ “ราชทินนามของเขาบอกอยู่โต้ง ๆ ว่าเป็นนักกฎหมาย ก็ได้เคยเป็นทหารเหมือนกัน ฉะนั้นถ้ากิริยาท่าทางของพวกผมโลดโผนไปบ้าง หยาบไปบ้าง หวังว่าคุณจะไม่ตกใจ พวกผมถือว่า “เป็นทหารชาญชัยไม่เหมือนคน”
เสียงหัวเราะหลายเสียงประสานกัน หลวงโจมพลล้านพึมพำอยู่ข้างหลังผู้พูด
“มันเรื่องราวอะไรถึงต้องกล่าวสุนทรพจน์”
“เห็นจะต้องการอวดว่า ถึงทหารไม่เหมือนคน ก็พูดอย่างคนเป็นเหมือนกัน” หลวงเทพเสนารักษ์พูดเบาเช่นเดียวกับสหายของเขา
ในชั่วเวลาไม่ถึง ๕ นาที สมพงศ์เข้ารอยกับสหายทุกคนของโชติได้อย่างสนิทสนม ทั้งปราศรัยไต่ถาม ทั้งติดตลกและหัวเราะเฮฮาไปด้วย แต่ส่วนนายประสิทธิ์ชายหนุ่มรูปร่างผมบางหน้าตาท่าทางบอกความอ่อนแอนั้น มีกิริยาเหมือนหญิงขี้อายคอยหลบเข้าข้างฝาหรือมิฉะนั้นก็หลบเข้าใต้เงาพี่ชายบังตัว ทำให้เป็นที่น่าฉงนว่าเขากับนายร้อยเอกโชติมีการติดต่อกันอย่างไร จึงนับเป็นเพื่อนได้
หลวงศักดิ์ ฯ นำรายชื่ออาหารมาส่งให้หลวงอรรถคดี ฯ พลางกล่าวว่า
“แกเป็นแขกเอกในงานเลี้ยงคืนนี้ เลือกมาจะกินอะไร?”
“อะไรก็ได้ทั้งนั้น” วิชัยตอบ “ให้คนอื่นเลือกเถอะ”
“กันเลือกให้เอาไหมล่ะ?” หลวงโจม ฯ ถาม
“อย่า ๆ” โชติค้าน “อย่าให้หลวงโจมเลือก มันชอบกินแต่ปลิงกับหอยโข่ง อั๊วกินไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง”
“หนอย ! กินไม่ได้ !” หลวงโจม ฯ พูดทันควัน “วิสกี้เข้าไปสัก ๔ ถ้วย ขี้คร้านเจ้าโชติไม่รู้ว่าเนื้อหมากับเนื้อไก่ต่างกันอย่างไร ทำผิวบาง”
“เจ้าโชติเขาไม่ชอบของทะเล เขาชอบของนา” หลวงเทพเสนารักษ์บอก
“อะไร ชอบอะไร?” หลวงโจม ฯ กระชั้นถาม
“จริง จริง !” หลวงศักดิ์ ฯ ว่า “นึกไว้แล้วเขาชอบหนูกับคางคก”
“ปรื๋อ !” หลวงโจม ฯ อุทาน ยกมือกุมคอไว้
หลวงอรรถคดีกับสมพงศ์มองดูกันแล้วยิ้ม ประสิทธิ์ออกจากเงา สมพงศ์เดินไปยืนมองดูกระโถน
“ใครจะกินได้หรือไม่ได้ก็ตาม” หลวงหาญ ฯ เอ่ยขึ้น “ส่วนกันเวลานี้อย่าว่าแต่เนื้อสัตว์ เนื้อคนก็เห็นจะกิน”
“คุณหลวงหาญ ฯ หิวจัดเต็มทีแล้ว” สมพงศ์พูดอย่างปรานี
“หิวตั้งแต่ยังมาไม่ถึง ดูซี” ชี้นิ้วไปยังจานเชิงแบบจีนใส่ขนมและผลไม้ “ผมกินเสียเกลี้ยง”
หลวงศักดิ์ ฯ ฉวยบัญชีอาหารถือออกจากห้องไป
นายทหารคนหนึ่งกล่าวชวนเพื่อนกันให้ “มานั่งดมโต๊ะกันก่อน” แล้วเราก็พร้อมใจกันนั่งรอบโต๊ะ รินวิสกี้โซดาออกแจกกัน สมพงศ์ยังยืนดูเขาเหล่านั้นอยู่ และประสิทธิ์ก็ยังยืนแอบหลังพี่ชายอยู่เช่นเดิม วิชัยเข้าใกล้หนุ่มน้อยผู้นี้แล้วจึงถามว่า
“คุณเป็นข้าราชการกระทรวงไหนครับ?”
ประสิทธิ์สะดุ้งโดยแรง ทำมือขยุกขยิกแล้วอ้าปากแต่ไม่ตอบว่ากระไรสมพงศ์จึงตอบแทน
“ยังไม่ได้ทำงานเลยครับกำลังเรียนกฎหมายอยู่”
“ฮี่ ฮี่ กำลังเรียนกฎหมายอยู่” ประสิทธิ์พูดพลางยิ้มเหย
“เห็นจะจวนสำเร็จแล้วกระมัง?”
“เพียงภาค ๒ เท่านั้น” สมพงศ์ตอบก่อน
“ฮี่ ฮี่ ภาค ๒ ภาค ๒”
“คุณเห็นจะรักวิชากฎหมายมาก” วิชัยถามแสดงความสนใจยิ่งขึ้น
สมพงศ์หัวเราะ “รักวิชากฎหมายมากหรือแก?” เขาถามน้องแล้วจึงหันมาพูดกับวิชัย “ไม่มีใครรู้ว่าประสิทธิ์รักวิชาอะไร บางทีดูเหมือนแกเรียนรู้ง่ายไม่ว่าวิชาไหน บางทีดูเหมือนแกจะเรียนอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เป็นอย่างนี้มาแต่เด็ก นี่แกเลือกเรียนกฎหมายเพราะแกเอาอย่างผม” ประโยคสุดท้ายกล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงความภาคภูมิใจและขบขัน
“ฮี่ ฮี่ ผม ผม เอาอย่างคุณสมพงศ์”
“อ้อ คุณสมพงศ์เป็นเนติบัณฑิต?” คุณเป็นนักเรียนรุ่นไหน เห็นจะรุ่นหลังผม เราจึงไม่รู้จักกันมาก่อน”
ซึ่งหลวงอรรถคดี ฯ ถามดังนี้ เพราะคะเนอายุตามเค้าหน้าสมพงศ์และคาดว่าคงจะอ่อนกว่าตนหลายปี สมพงศ์หัวเราะแล้วตอบอย่างไว้สง่าว่า
“ผมกลับจากประเทศฝรั่งเศสได้ ๒ ปีกว่า”
เนติบัณฑิตสยามแย้มริมฝีปากหัวเราะแล้ว
“ผมขอโทษ”
“ไม่ใช่ !” สมพงศ์ค้านอย่างอึกอัก “ผมหมายความว่า เราไม่มีโอกาสที่จะได้รู้จักกันก่อนนี้อยู่เอง เพราะต่างคนต่างอยู่กันเสียคนละทวีป แต่ในที่สุดเราก็ได้มาเป็นข้าราชการกระทรวงเดียวกัน” ยกมือขึ้นตบบ่าน้อง “พ่อนี่ก็กำลังพยายามตั้งหน้าจะเรียนให้ได้มาอยู่ร่วมสังกัดเดียวกับเราอีกคนหนึ่ง แต่ยังอีกหลายปีนักแก”
“หลายปี ยังอีกหลายปี ฮี่ ฮี่”
“คุณประสิทธิ์ เห็นจะอายุไล่เลี่ยกับน้องคนสุดท้องของผม” วิชัยกล่าวมองดูหนุ่มน้อยด้วยความสมเพชและกรุณา
“น้องชายคุณหลวงอายุเท่าไร?”
วิชัยตอบพลางคิดพลาง “เขาอ่อนกว่าผมรอบหนึ่งพอดี....”
“โอ๊ย ถ้าเช่นนั้นประสิทธิ์จะอายุเท่าน้องคุณหลวงไม่ได้ ผมคะเนว่าคุณหลวงจะอ่อนกว่าน้องคนที่ ๒ ของผมเสียด้วยซ้ำ”
“ฮี่ ฮี่ แน่ แน่ อ่อนกว่าคุณแสวง”
“คุณอายุเท่าไร คุณประสิทธิ์?”
“อายุเต็มของแกเท่าไร?”
“ฮี่ ฮี่ ผม ผม....”
“๒๓ ใช่ไหมล่ะ วันเกิดแกเพิ่งผ่านมาได้ ๒ เดือน พี่จำได้”
“ค-ับ ค-ับ ๒ เดือน ฮี่ ฮี่ ๒๓”
“ดูเหมือนจะอ่อนเดือนกว่านายชัดของผมด้วยซ้ำไป”
“นายชัด !” สมพงศ์ทวน สีหน้าแสดงความเอาใจใส่มากขึ้นทุกที “นายร้อยตรีชัด วรทบุตต์ ใช่ไหม?”
“ถูกแล้ว คุณรู้จักเขาหรือ”
“รู้จักมากทีเดียว” สมพงศ์ตอบโดยเร็ว “แหมไม่รู้เลยว่าคุณหลวงเป็นพี่ตาชัด ขอจับมือทีเถอะ ผมขอบใจคุณโชติมากที่พาผมมาจนได้รู้จักคุณหลวงวันนี้ ตาชัดคุ้นเคยกับบ้านผมดี เมื่อวันที่คุณหลวงมาจากสงขลา น้องสาวของผมก็มาจากหัวหินด้วยกันกับตาชัด คุณหลวงเห็นแล้วไม่ใช่หรือ?”
“เห็นจะเห็น ถ้าน้องของคุณคือสุภาพสตรีสาวที่ชื่ออนงค์”
“นั่นแหละตัวเขาละ ผมโง่เองที่ไม่เคยถามถึงชื่อคุณหลวง ได้ยินแต่ชัดเขาเรียกพี่....อะไรนะประสิทธิ์ อ้อพี่ใหญ่”
“ฮี่ ฮี่ พี่ใหญ่ พี่ใหญ่”
“คุณหลวงจะพักอยู่กรุงเทพ ฯ นานสักเท่าใด?” สมพงศ์ถาม
“นานเท่าที่ราชการจะยังไม่ส่งผมออกหัวเมืองอีก” วิชัยตอบพร้อมกับยิ้มน้อย ๆ แล้วเบือนหน้ามาทางประสิทธิ์
“คุณอนงค์เป็นน้องคุณเหมือนกันหรือ?”
“เป็นน้อง อนงค์เป็นน้องคนสุดท้องและเป็นน้องหญิงคนเดียวของเรา” ในขณะที่กล่าวคำพูดนี้ น้ำเสียงสมพงศ์แสดงความภูมิใจเท่าเทียมกับเมื่อเขากล่าวว่า ตัวเขาเพิ่งกลับจากต่างประเทศ
“น้องหญิงคนเดียวของเรา ฮี่ฮี่ ของ ของคุณสมพงศ์”
พูดกันอยู่เพียงนี้ ก็พอดีจีนรับใช้ยกอาหารเนื่องกันเข้ามา นายทหารทั้ง ๕ คนจึงร้องเตือนพลเรือนทั้ง ๓ สมพงศ์นั่งลงตรงที่ว่างข้างหลวงโจม ฯ วิชัยแสร้งนั่งลงตรงข้างเขา กันเอาประสิทธิ์มาไว้ทางเบื้องซ้ายของตน หนุ่มน้อยผู้นี้มีกิริยาตื่นเต้นประดุจทารกที่กลัวน้ำถูกผู้ใหญ่บังคับให้ลงคลอง วิชัยเรียกซ้ำเป็น ๓ ทีจึงค่อย ๆ นั่งลงได้
นายร้อยเอกโชตินั่งอยู่ติดกับประสิทธิ์ ขยันเติมวิสกี้โซดาลงในถ้วยและขยันเตือนให้ประสิทธิ์ดื่มไม่ขาดปาก วิชัยเฝ้ามองดูด้วยความทึ่ง ครั้นแล้วก็ประหลาดใจและวิตกแทน เมื่อเห็นหนุ่มน้อยไม่ปฏิเสธแต่สักครั้ง เมื่อน้ำเมาพร่องไปครึ่งถ้วยที่ ๒ สีหน้าประสิทธิก็แดงขึ้น มือที่ขยุกขยิกอยู่เสมอก็ขยุกขยิกห่างลง ไม่ช้าก็มีอาการหัวเราะดังและบางทีก็หลงหัวเราะอยู่คนเดียว
“สุราอันว่าเหล้า” นายร้อยเอกโชติเอ่ยขึ้น “กินค่ำเช้าฆ่าพยาธิ์ตาย”
“ฮี่ ฮี่ ตายหมดไม่เหลือหลอ” ประสิทธิ์พึมพำย่นคอมองดูนายร้อยเอกโชติ
“ต่อไปอีกซี” หลวงโจมพลล้านว่า
“ต่อไม่ได้” โชติลากเสียงตอบ
“จน จน ฮี่ ฮี่ จน”
“ของแกเองหรือ?” หลวงหาญ ฯ ถามเรียบ ๆ ไว
“ไม่ใช่ จำเขามา”
“แล้วกัน แล้วกัน ฮี่ ฮี่ จำเขามา”
“ถ้ายังงั้นกันจะต่อให้ กันจำมาจากเมีย เมียเขาจำมาจากหนังสือพิมพ์รายเดือนเล่มหนึ่ง”
“เขาจำมาสอนแกหรือ?” หลวงเทพเสนารักษ์ถาม
“เปล่า” หลวงหาญ ฯ ตอบเรื่อย ๆ เช่นเดิม “เขาจำมาประชดกัน”
“ฮี่ ฮี่ ประชด ประชด ถูกประชด”
เหลือบตาขึ้นมองดูหน้าประสิทธิ์ สีหน้าหลวงหาญ ฯ สำแดงอาการ “ทนไม่ได้” อย่างเห็นได้ชัด ใช้ตะเกียบเคาะปากชามอยู่ ๒-๓ ครั้งแล้วจึงกล่าวว่า
“สุราอันว่าเหล้า กินค่ำเช้าฆ่าพยาธิ์ตาย ขึ้นสวรรค์ได้ง่ายดาย มีนางฟ้านับหมื่นนับแสน ผู้ใดไม่กินเหล้า ตกนรกทั่วดินแดน ยมบาลจับตีนแขวน พุ่งหัวส่งลงโลกันต์”๑ “โลกัน ! โลกันต์ ! ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ฮี่”
ประสิทธิ์ไม่มีเวลาได้ “ฮี่” ให้ครบสอง เพราะเสียงหัวเราะ เสียงปรบมือกลบเสียงเขาแต่ต้นแล้ว วิชัยฉวยโอกาสที่ทุกคนกำลังเฮฮารินน้ำเย็นลงเต็มถ้วยวิสกี้โซดาของตนที่พร่องลงไปแล้วกว่าครึ่ง ยกถ้วยนั้นวางให้ประสิทธิ์ หยิบถ้วยของประสิทธิ์มาวางไว้ตรงหน้าตน
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #11 on: 15 May 2022, 14:09:11 » |
|
๘ รถดอดจ์เก๋งของนายสมพงศ์ กลับถึงบ้านเมื่อเวลาเที่ยงคืนล่วงแล้ว คนใช้หน้าตาบอกอาการว่าง่วงนอนเต็มทีแต่ท่าทางไม่มีอาการงัวเงียวิ่งลงมาจากตึกใหญ่ตรงเข้าไปเปิดประตูให้ สมพงศ์ก้าวลงจากรถเหยียบขึ้นบันไดหินอ่อนแล้วก็เดินเลยขึ้นไปชั้นบน
ไฟฟ้าในรถเก๋งยังเปิดอยู่ คนใช้มองเห็นประสิทธิ์นั่งคอตกหลับตาอยู่ ก็พึมพำว่า “เอาอีกแล้ว !” พลางเข้าไปเขย่าขาโดยแรง
“คับ คาบ !” ประสิทธิ์พึมพำเบิกตาอันแดงก่ำขึ้นครึ่งหนึ่ง “ผมเฝ้า ผมอยู่ ราช-วงศ์-ดำ-เนิน-รึ?-อย่า-นาน-นัก-ฮี่-ยุงกัด” แล้วก็หลับต่อใหม่
“ท่าจะต้องแบกกันอีก” คนใช้บ่นเกือบเต็มเสียงเขย่าขานายอย่างไม่ปรานี “นี่บ้าน ไม่ใช่ราช-ฮึ่ม ! ความที่เคยจนติดปาก-ลงมา-ลงมา” พูดแล้วก็ก้าวขาขึ้นบนรถข้างหนึ่ง ทั้งฉุดทั้งผลักทั้งลากทั้งเข็นคนที่กำลังหลับเอาตามกำลัง จนในที่สุดร่างอันผอมบางเหมือนไม้ขีดไฟก็สถิตบนบ่าแห่งร่างที่ล่ำสันแข็งแรง ถูกความแข็งแรงแห่งร่างนี้แบกพาหัวฟัดหัวเหวี่ยงขึ้นบันไดรวม ๒๗ ขั้นไปจนได้
ฝ่ายสมพงศ์เมื่อถึงห้องนอนแล้ว ก็ใช้เท้าเขี่ยคนใช้ผู้ชายที่นอนหลับอยู่หน้าเตียงให้ลุกขึ้น หลังจากนั้นเขาทิ้งตัวลงบนเก้าอี้นวมตัวใหญ่ เหยียดเท้าไปข้างหน้าผิวปากพลางมองดูคนใช้ถอดรองเท้าถุงเท้าให้ตน เขาหยุดชะงักกลางจังหวะ แล้วถามขึ้น
“ใครกลับบ้านแล้วบ้าง?”
“กลับหมดแล้วครับ นอกจากคุณแสวง”
“อ้อ คืนนี้ตาจำลองกลับบ้านแต่หัวค่ำ อนงค์กลับมานานแล้วหรือ?”
“เห็นจะไม่นานดอกขอรับ คุณผู้หญิงกลับมาประเดี๋ยวผมก็นอน ผมหลับไปได้หน่อยคุณก็มาถึง”
“เอาเกือกแตะมาให้ข้า” สมพงศ์สั่ง ครั้นสวมรองเท้าแล้วเขาก็ออกจากห้อง เดินเลี้ยวไปตามเฉลียงทั้งสั้นยาวหลายเฉลียง จนถึงห้องหนึ่งอยู่ทางปีกซ้ายของตึก หยุดยืนอยู่ตรงประตูห้องนั้น สังเกตดูตามช่องลมเห็นแสงไฟสว่างเป็นนวล จึงยกมือขึ้นเคาะประตู ๒ ครั้ง
เสียงฝีเท้าเบา ๆ เข้ามาใกล้ประตู แล้วเสียงผู้หญิงถามออกมาว่า
“พี่คนไหนเอ่ย?”
“ทายซีเอ่ย” สมพงศ์กระซิบกรอกช่องกุญแจเข้าไป
เสียงฝีเท้าถอยห่างจากประตู เงียบหายไปครู่หนึ่งแล้วจึงกลับมาใหม่ คราวนี้เสียงหัวเราะอย่างผู้มีชัยระคนกับคำพูดว่า
“ทายถูกจะให้อะไรเอ่ย?”
“ช็อกโคเล็ตเอ่ย !”
เสียงหัวเราะอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับเสียงถอดกลอนประตู และเสียงพูดว่า “พี่สมพงศ์เอ่ย” แล้วแขนอันขาวและนุ่มก็สวมกอดคอสมพงศ์ไว้
“อนงค์กำลังจะเข้ามุ้งเชียว” หญิงสาวพูดเมื่อจูงมือพี่ชายเข้าในห้องแล้ว “อ้อ นี่เสื้อนอนตัวใหม่ของอนงค์ยังไงล่ะคะ จำแพรนี่ได้ไหม ใครให้เอ่ย”
สมพงศ์ยิ้มอย่างแจ่มใส มองดูน้องทั่วร่างแล้วดึงตัวเข้ามาใกล้ กระซิบอย่างจะบอกความสำคัญ “นี่อะไรเอ่ย?” พร้อมกันนั้นเขาจับผมอนงค์ทางเบื้องหลัง ตรงที่หล่อนใช้คีมเย็นขมวดไว้เป็นก้อน ๆ
“อื้อ ! อย่าน่า !” หญิงสาวร้องและทำท่านิ่วพลางเบนศีรษะหนี “เขายิ่งอายอยู่ ก็อยากมาหาเขาเวลาจะนอนทำไมล่ะ”
สมพงศ์รีบปล่อยมือจากผมน้อง แล้วว่า
“อายทำไม ไม่เห็นจะน่าอายอะไรนี่-หนังสนุกไหม?”
“ไม่เลวค่ะ อนงค์ชอบเจ้าพระเอก เป็นทนายความว่าความดีเหลือเกิน คิดถึงพี่สมพงศ์จัง”
“กลับจากดูหนังแล้วไปไหนอีกหรือเปล่า?”
“ราชวงศ์ตามเคย ไปส่งชัดตามเคย แล้วก็กลับบ้านตามเคย”
“ดีไหม?”
“อะไรคะ?”
“ไปเที่ยวกับตาชัด ๒ คน”
“๒ เมื่อไร คนรถด้วย”
“ก็คล้าย ๆ กันน่ะแหละ ดีไหมล่ะ?”
อนงค์ทำปากยื่น
“ก็ยังงั้นแหละ ชัดไม่ชอบเจ้าทนายความ บอกว่าพูดเสียงไม่ดี เล่นก็ไม่ดี ยังงั้นเสมอแหละ ชัดดูอะไรไม่เห็นเป็น ดีแต่เล่นกอล์ฟเก่งเท่านั้น อนงค์คิดถึงพี่สมพงศ์ถ้าไม่ติดเลี้ยงตาบ้านั่นก็จะได้ไปดูด้วยกัน”
“พี่ก็ได้พบของดี”
“อะไรคะ?” หญิงสาวถาม ความอยากรู้ปรากฏอยู่ในแววตา
“ได้ไปพบและคุยกับหลวงอรรถคดีวิชัย”
“ใครก็ไม่รู้ !”
“พี่ชายตาชัดยังไงล่ะ”
“อ๋อ ! หรือคะ? พี่สมพงศ์ได้พบพี่ใหญ่ของชัด ! ที่ไหน?”
“ที่เง็กฮวยเหลา”
“ท่าทางเป็นอย่างไรคะ?”
“ท่าทาง?” สมพงศ์ทวนคำพลางยิ้ม “ก็เหมาะกับพวกเพื่อนของเขาทั้งหมดที่พี่ไปพบมาวันนี้” เว้นระยะหัวเราะเบา ๆ แล้วพูดสืบไป “จะเปรียบกับตาชัดของเราหรือกับพวกเรา ๆ น่ะไม่ได้แน่”
“ขุนนางบ้านนอก” อนงค์จีบปากว่า
“น้อยที่สุด แทบจะจับไม่ได้ เกือกไม่ใช่เกือกยางถุงเท้าไม่ย่น ผ้าม่วงไม่กระตุกสั้นข้างยาวข้าง....”
“แต่?”
สมพงศ์คิดอย่างตั้งใจ แล้วสารภาพ
“ไม่มีแต่”
อนงค์หรี่ตาเล็กน้อย ใจคิดถึงสีหน้าหลวงอรรถคดี ฯ เมื่อนั่งรถไฟมาด้วยกันกับหล่อน แล้วตัดสิน
“แต่หัวคิดครึที่สุด !”
“ตาชัดบอกหรือ?”
“เปล่า !” เปลี่ยนเสียงเป็นเสียงหนักแน่นจริงจัง “ก็อนงค์เห็นแล้วนี่นา ยังมาเล่าให้พี่สมพงศ์ฟังเลย”
ชายหนุ่มพยักหน้าแล้วพูดพลางยิ้ม
“หวังว่าแกจะรู้จักใช้มีดกับส้อม ถ้ามิฉะนั้นจะลำบากแก่อนงค์ เมื่ออนงค์เป็นน้องสะใภ้แกแล้ว พี่คิดว่าจะเชิญแกมาดินเนอร์ที่บ้านเราสักหนหนึ่ง เป็นการสอบความรู้ของแกเชิงสมาคม เผื่อยังไงจะได้จัดการสอนแกเสียแต่ต้นมือ”
อนงค์หัวเราะอย่างขบขันแล้วถามว่า
“ก็ไปกินเลี้ยงมาด้วยกันแล้ววันนี้ ไม่เห็นดอกหรือคะว่าแกกินเท่าไร”
“ใช้ตะเกียบอย่างคล่องแคล่วที่สุด พูดน้อยที่สุด หัวเราะเก่งที่สุด กับมีข้อสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง” เสริมต่อพลางหัวเราะอย่างขบขัน “เราแวะที่ราชวงศ์แกอุตส่าห์ซื้อลูกพลับ ๔ ลูกหอบไปฝากแม่แก เพราะแม่แกชอบมาก”
อนงค์ยกมือปิดปากหาวแล้วถามเนือย ๆ ว่า
“เท่านี้แหละหรือของดีที่พี่สมพงศ์ไปพบ”
แทนคำตอบสมพงศ์พูดว่า
“พี่จะเชิญหลวงอรรถ ฯ มากินข้าวบ้านในวันสองวันนี้”
น้องสาวของเขาหาวอีก
“ตามใจเถอะค่ะ จะเชิญใครมาก็ อนงค์ง่วงจัง” หาวอีกเป็นครั้งที่ ๓ “อย่าลืมช็อกโคเล็ตนาคะพรุ่งนี้”
สมพงศ์ไม่อิดออดจูบลาน้องสาวก็ออกจากห้องไป
อนงค์ปิดประตูใส่กลอนเสียตามเดิม แล้วเดินไปยังไกไฟฟ้า ยกมือจะกดไกลง แล้วกลับชะงักหันมานั่งลงที่โต๊ะเขียนหนังสือ หยิบสมุดจดหมายเหตุประจำวันออกมาเปิด จรดปลายดินสอลงยังบรรทัดสุดท้ายต่อจากตัวอักษรซึ่งรอยดินสอแสดงว่าได้เขียน ไว้ยังไม่ข้ามคืน
“พี่สมพงศ์ไปพบ “พี่ใหญ่” พี่ใหญ่ของชัดในอนาคต ตามความเห็นของพี่สมพงศ์---ใครจะรู้? เมื่อตัวของตัวเองยังไม่รู้”
พลิกหน้ากระดาษย้อนหลังมา ๒-๓ หน้า อนงค์อ่านข้อความต่อไปนี้
“--เสียแรงตั้งใจคอยดู คิดว่าจะเหมือนชัด อันที่จริงควรจะเป็นคนสวยเก๋ แว่นตาดำก็ทำให้ขำขึ้น แต่ไม่ไหว ตื่นเหมือนควาย ช่วยกันหาเรื่องให้พูดแทบตายไม่พูดด้วยสักคำ บ้าจัง ! คนอย่างนี้ไม่--”
พอได้ยินเสียงรถยนต์หยุดที่หน้าตึกอีกคันหนึ่ง อนงค์ลุกขึ้นไปเยี่ยมหน้าต่าง ครั้นแล้วกลับมาที่โต๊ะเขียนหนังสือเก็บสมุดเข้าลิ้นชักโดยด่วน ใส่กุญแจยังไม่ทันเรียบร้อยดี หล่อนได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินโดยแรงใกล้เข้ามาทางห้องจึงวิ่งไปปิดไฟฟ้าเสียทันที แต่ช้าไปเสียแล้ว เสียงคนพูดอยู่ตรงประตูห้องว่า
“พอพี่มาก็หนีนอนเทียวนะ”
อนงค์เชิดริมฝีปากขึ้นจนชิดปลายจมูก ค่อย ๆ เปิดไกไฟฟ้าใหม่ ถอดกลอนประตู แล้วโดยไม่พูดว่ากระไรหมด หล่อนจับมือผู้ที่ยืนรออยู่ข้างนอก จูงเข้ามาข้างในปล่อยให้เขายืนอยู่ตรงกลางห้อง ตัวเองนั่งลงบนเก้าอี้ตัวหนึ่งแล้วจึงลากเสียงพูดว่า
“เล่าไป”
“สงัดหัวเสียใหญ่” นายแสวงเอ่ยขึ้นโดยเร็วทันใจ “กับข้าวก็อร่อย หนังก็สนุก เสียดายเหลือเกินน้องไม่ได้ดู พ่อสงัดบ่นกลุ้มอยู่ตลอดเวลา บอกว่ามาช้าไป ๑๕ นาทีเท่านั้น”
“มาเร็วเท่าไรอนงค์ไปด้วยไม่ได้ เพราะนัดกับชัดไว้เสียแล้วตั้งแต่บ่าย”
“นั่นน่ะซี แกถึงยิ่งหัวเสียจัด เพราะว่าตอนกลางวันแกถูกไอ้เครื่องโทรศัพท์บ้าทำเหตุเสีย บ่นหน่อยโทรศัพท์มาอีก ไม่มีใครรับ พ่อเจ้าประคุณบ่นไม่รู้จักแล้วจักรอดเลย แกบอกว่าหนังดีอย่างนี้อนงค์ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปเสีย คืนนี้เป็นสุดท้ายที่จะฉายเสียด้วย”
“หนังที่ชัดพาอนงค์ไปดูก็ดีเหมือนกัน”
“ดี พี่ดูแล้วเหมือนกัน แต่สู้เรื่องที่พี่ดูเมื่อคืนไม่ได้ เรื่องที่แกดูมันเหยาะแหยะไป เป็นเรื่องเจ้าหนายความหนุ่มคนหนึ่งเล่นเป็นพระเอกใช่ไหมล่ะ”
“ค่ะ แหมดีจัง อนงค์ชอบน้ำใจพระเอกเสียเหลือเกินเล่นก็ดี แต่ชัดไม่ชอบ”
“เหย ! อย่างเจ้าชัดจะดูอะไรเป็น ไม่ใช่ทหารมันก็ไม่ชอบเท่านั้น พี่เกลียดนัก คนที่เข้ากับตัวเองจนอะไรที่ไม่ใช่พวกตนเป็นใช้ไม่ได้เสียหมด” หยุดพูดหยิบบุหรี่ออกจุดแล้วกล่าวต่อไป “แม่กับพี่สาวสงัดเขาก็ไปดูหนังเหมือนกัน”
อนงค์ยิ้ม รอฟังเขาพูดต่อ ครั้นแสวงไม่ต่อหล่อนจึงถามว่า
“แล้วน้องคุณสงัดล่ะคะ?”
แสวงสั่นศีรษะแล้วถอนใจ
“ไปแต่สำอาง พยอมเผอิญไม่ได้ไป เคราะห์พี่ไม่ดี คุณหญิงรานรอน ฯ ใจดีเหลือเกิน ทักทายพี่อย่างอ่อนหวานที่สุด แรกไปถึงนั่งอยู่ไกลกัน อุตส่าห์เรียกแล้วเรียกอีกให้เข้าไปใกล้ ๆ ถามถึงน้องถึงพี่เราทุกคนว่าทำไมพี่ไม่พาอนงค์ไปเที่ยวบ้านท่านอีก จะได้ไปดูกระต่ายที่เจ้าคุณได้มาใหม่ ๆ หลายตัว ความโอบอ้อมอารีเป็นที่หนึ่ง น่ารัก....”
“เสียแต่ถือธรรมเนียมอย่างแปลก และป่าเถื่อนเกินไป” อนงค์ขัด
“ในข้อที่ไม่ยอมให้น้องแต่งงานก่อนพี่น่ะหรือ?”
“ค่ะ และเผอิญพี่ ๓ คนก็ดูไม่ได้สักคนเสียจริง ๆ ตรงกันข้ามกับน้องคนเล็ก”
“พี่เชื่อว่าแกคงจะเปลี่ยนใจ ละธรรมเนียมนี้สักวันหนึ่ง ในเมื่อแกรู้แน่ว่าถ้าขืนรอจะให้พี่สาวแต่งงานเสียก่อน ลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่เป็นสาวทึมทึกเหมือนพี่สาวอีก ๒ คน ข้อสำคัญจะต้องมีคนเกลี้ยกล่อมให้แกเข้าใจว่าธรรมเนียมที่แกถืออยู่นั้นมันป่าเถื่อน และเกินสมัยเต็มทีแล้ว”
“ก็พี่แสวงทำไมไม่ชี้แจงล่ะคะ”
“พี่ทำไม่ได้ เพราะว่าตัวพี่มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญน่ะซี แต่อย่างน้องถ้าเมื่อไรเป็นลูกสะใภ้แกแล้ว พี่เชื่อว่าชี้นกต้องเป็นนก ชี้ไม้ต้องเป็นไม้ทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้ยังรักนักรักหนา คอยชมโน่นชมนี้ ไม่เคยปริปากขอดค่อนเลย คนที่เขาคอยจะรักเราอยู่เช่นนี้ได้เขาเป็นแม่ผัวก็เท่าได้ขึ้นสวรรค์ เป็นที่พึ่งได้เทียวแก ถึงยังจะเกเรหน่อยก็ไม่กล้าทำอะไรเรา เกรงใจแม่ตัวเอง”
อนงค์หัวเราะกิ๊ก แสวงจึงหยุดพูด จ้องดูหล่อนแล้วถาม
“หัวเราะอะไร? ไม่เห็นมีอะไรน่าขันที่ตรงไหน?”
“ก็จะไม่น่าขันอย่างไร !” อนงค์ตอบเสียงเรียบ ๆ ใจนึกถึงพี่ชายใหญ่ยิ่งทำให้อยากหัวเราะมากขึ้น แต่ปากหล่อนนั้นพูดว่า “พี่แสวงคิดไกลเหลือเกิน”
“มันเป็นเรื่องที่น่าคิด” ชายหนุ่มกล่าวแล้วเลยออกเดินกลับไปมาอยู่ในห้องนั้น “ลองนึกดูทีหรือ ผู้หญิงที่แต่งงานไปน่ะ มีสักกี่คนที่เป็นสุขพร้อม บางคนได้ผัวดี แม่ผัวเกะกะ บางคนแม่ผัวดี ผัวระยำเอง แต่อย่างสงัดยังงี้แม่เขาก็ดี ตัวเองก็ดีแสนดี เงินก็มีมากความรู้ก็สูง แล้วก็รักแกจริงจริ๊ง พี่เห็นคนรักผู้หญิงมาหนักแล้ว ดูไม่คลั่งบ้าเหมือนสงัดเลย แกเห็นดีหมดทุกอย่าง ใครขืนติอะไรน้องข้า พ่อเถียงคอเป็นเอ็นทีเดียว นั่งก็สวย ยืนก็สวย เดินก็สวย ทำอะไรก็สวยหมด แม่ของเขาก็รักแกอย่างใจจริง แล้วแกไม่แต่งงานกับสงัดจะคอยหาเทวดาที่ไหนอีก”
“นอกจากนั้นยังมีน้องสาวสวยที่พี่แสวงอยากได้อีกเล่า” อนงค์คิดดังนั้นนัยน์ตาหล่อนจึงเยิ้มด้วยอาการยิ้มอย่างขบขัน จนแสวงรู้สึกสนเท่ห์ แต่อนงค์มิได้รอให้เขาถาม หล่อนเอ่ยขึ้นว่า
“ดีแล้วค่ะมะรืนนี้อนงค์จะไปเที่ยวกับสงัด ไม่ว่าแกจะพาไปไหนจะไปด้วยทั้งนั้น พี่แสวงบอกแกด้วยซีคะ”
“มะรืนนี้? ทำไมพรุ่งนี้แล้ว?”
“พรุ่งนี้อนงค์เล่นกอล์ฟตอนบ่าย แล้วคงง่วงนอนแต่หัวคำขี้เกียจจะต้องตาปรืออวดคนที่เขาพาเราไป”
“ตกลง พี่จะบอกเขา อย่าเหลวนะ” เว้นระยะนิดหนึ่ง “ยังไงให้ได้ใส่แหวนหมั้นมาอวดพี่ได้ยิ่งดี”
“แหม ! อย่าให้เร็วนักเลยค่ะ” เริ่มหาว “ช้า ๆ ได้พร้า ๒ เล่มงาม”
แสวงหัวเราะในลำคอ “แกจะให้ช้าไปถึงไหน?” เขาว่า ๓ เดือนแล้วยังไม่พออีกหรือ พิโธ่ ไม่เห็นอกผู้ชายมั่งเลย ยังงี้ก็ตายน่ะซี เห็นเขารักมากยิ่งเล่นตัว”
อนงค์หาวครั้งที่ ๒ แล้วลุกขึ้นจากเก้าอี้
“ให้ผู้ชายเห็นอกผู้หญิงบ้างซี” หล่อนพูดออด ๆ “หลายคนนักไม่รู้จะเลือกคนไหน”
“เชื่อพี่เถอะน่า อย่าโง่ไปหน่อยเลย ไอ้คนที่เป็นทหารน่ะใช้ไม่ได้ มันไม่รู้เรื่องอะไรนอกจากเรื่องรบ”
เห็นน้องหาวเป็นคำรบ ๓ แสวงจึงว่า
“เอ๊ะอะไรหาวเอา หาวเอา ง่วงจริง ๆ หรือ”
“โธ่ ถามได้ อนงค์ว่าแล้วยิ้ม” เกือบตี ๒ แล้วนะคะ”
“ยังงั้นเชียวหรือ? พี่ไปละ เอ้านี่ของฝาก” พูดพลางหยิบห่อช็อกโคเล็ต ๓ เหลี่ยมขนาดใหญ่จากกระเป๋าเสื้อ
“ของพี่แสวงหรือของคุณสงัดคะ?” อนงค์ถาม
“ของพี่ ตาสงัดแกจะรู้อะไร แกเข้าใจว่าถ้าจะให้อะไรน้องจะต้องซื้อจากห้างหรู ๆ เป็นของงาม ๆ ราคาแพงถึงจะสม”
“ถ้าเช่นนั้นคุณสงัดก็ยังดีสู้พี่แสวงของน้องไม่ได้” อนงค์พูดแกมหัวเราะ แล้วหล่อนเขย่งตัวขึ้นจูบเขาที่แก้มครั้งหนึ่ง
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #12 on: 15 May 2022, 14:11:51 » |
|
๙
เวลา ๑๙ นาฬิกาเศษ หลวงอรรถคดีวิชัยพึ่งกลับถึงบ้านด้วยความที่เดินพลางใช้ความคิดพลาง จนลืมตัว วิชัยมิได้เห็นว่ามีรถยนต์จอดอยู่ที่ริมสนาม แต่ผู้ที่มากับรถนั้น นั่งรวมกันเป็นหมู่อยู่ตรงริมบันไดเรือนมองเห็นเขาแต่ไกล พอเขาเดินเข้ามาใกล้ก็ร้องทักและแสดงความเคารพ วิชัยรับไหว้เขาเหล่านั้นยังมิทันเอ่ยปากทักตอบ มารดาของเขาก็กล่าวคำต้อนรับขึ้นก่อนว่า
“อ้อ ! กลับมาคนหนึ่งละ แขกมาคอยอยู่ตั้งชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ชาย ๒ คนช่างน่าชื่นใจเหลือเกิน พ่อคนใหญ่ก็ยังงั้น พ่อคนเล็กก็ยังงั้น ตื่นเช้าไปทำงานแล้วก็หายเลย รุ่งเช้าอีกวันหนึ่งจะพบกันใหม่ พ่อใหญ่มาถึงไม่เท่าไรก็จะตั้งต้นแล้ว กลับจากทำงานจนเกือบ ๑ ทุ่ม”
วิชัยนั่งลงบนบันไดขั้นหนึ่ง นิ่งฟังมารดาพูดจนจบ แล้วค่อย ๆ ปลดดุมเสื้อออกทีละดุมจนครบ ๕ แล้วจึงพูดขึ้นเรียบ ๆ ด้วยน้ำเสียงค่อนข้างเศร้า
“ผมกลับจากบ้านช้อยเดี๋ยวนี้เอง อาการสมานทรุดมากจนน่ากลัวอันตราย”
“ก็ไหนแกบอกกับฉันว่าไปเยี่ยมเมื่อวานนี้ เขาก็ยังดี ๆ อยู่ไม่ใช่หรือ?” คุณนายชื่นถามด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ
อาการกำเริบเมื่อคืนนี้ตอนดึก ท้องเดินเรื่อยตั้งแต่ตี ๓ จนป่านนี้”
“ก็เสร็จกันเท่านั้นเอง” ชดลงความเห็น
“ใคร ๆ ก็รู้ว่าไม่รอดไปได้อีกไม่กี่เดือน ไม่วันนี้ก็วันหน้า อันที่จริงเร็ว ๆ ดีกว่าไม่ต้องทรมานมากนัก” นี่เป็นความเห็นของชิด
“พี่เห็นว่าจะต้องหาหมอไปช่วย หมอที่รักษาอยู่เวลานี้อีกสักคนหรือ ๒ คน” วิชัยว่า
“มากหมอมากความ ไหน ๆ ก็ตายเหมือนกัน” ชดกล่าว
“นั้นน่ะซี มากหมอก็มากเงิน เก็บไว้เลี้ยงลูกดีกว่า” ชิดสนอง
“เรื่องลูกต้องเก็บไว้พูดทีหลัง เวลานี้พ่อกำลังจะตาย เราต้องช่วยกันคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้รอดได้” หันหน้าไปทางพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ ฯ วิชัยพูดสืบไปว่า “รู้จักหมอที่ชำนาญทางลำไส้บ้างไหมครับ ผมเองไม่มีความรู้เสียเลย”
บุรุษทั้ง ๒ นิ่งคิด ชดก็ตอบขึ้นก่อนว่า
“ก็หลวงเทพเสนารักษ์ยังไงล่ะคะ เห็นพี่ช่วงชมเชยว่าเก่งนัก”
“นั้นแหละดี” ชิดเห็นด้วยกับพี่สาวตามเคย
“แล้วเป็นหมอที่คุ้นเคยกับพวกเราด้วย ขอแรงเขามาช่วยดู ไม่ต้องเสียเงินมาก”
“ถ้าเราจะนึกถึงชีวิตคน เราต้องเลิกนึกถึงเรื่องเงินชั่วคราว” พระวิวิธวรรณาการขัด
“พิโธ่ ก็เรารู้แล้วนี่คะว่าถึงหมอวิเศษอย่างไรก็รักษาชีวิตไว้ไม่รอด เราก็ต้องคิดถึงเงินไว้บ้างซี” ชิดตอบสามี
“คุณพระรู้จักหมอดี ๆ บ้างอีกไหมครับ?” วิชัยตัดบท สำแดงความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว
“มีนายแพทย์ชลออีกคนหนึ่ง เขาเป็นคนมีชื่อในทางรักษาโรคภายในเหมือนกัน ถ้าคุณหลวงต้องการตัวเขาเมื่อไรก็บอกให้ผมทราบเถิด ผมจะจัดการให้”
“ขอบคุณครับ พรุ่งนี้ผมจะต้องไปพบกับหลวงเทพ ฯ ปรึกษาเขาดู ตกลงอย่างไรจะเรียนให้คุณพระทราบ”
ชดกับชิดสบตากันแล้วพร้อมกันค้อนพี่ชายวงใหญ่ แต่วิชัยหาเห็นไม่ เขากำลังสาละวนหาบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อนอกของเขาเอง และหาได้แต่ไม้ขีดไฟซึ่งเมื่อหยิบออกวางรวมกันไว้แล้วก็นับได้ถึง ๕ กลัก
“เอาซองบุหรี่ไปทิ้งที่ไหนแล้วซี !” ชิดเอ่ยขึ้นอย่างแสนหมั่นไส้ ครั้นพี่ชายพยักหน้าสารภาพหล่อนก็อดที่จะหัวเราะด้วยความขันมิได้ พระวิวิธฯ ส่งซองบุหรี่ของตนให้วิชัย ในขณะภรรยาของคุณพระพูดต่อไป “เมื่อวานซืนนี้เหมือนกัน ไปหาหลานว่ามีของไปฝาก เปล่า ทิ้งเสียในรถแท้กซี่ฉิบ วันนี้พอบอกว่าจะมาที่นี่ พ่อหลานกับแม่ยายก็เอะอะกันใหญ่ จะตามมาด้วยให้ได้ ถ้าเห็นจะอยากมาทวงของเล่นหรือยังไงแหละ”
“สุนทรกับเชยชื่นของพี่ก็ต้องตามเหมือนกัน” ชดบอก “๒ คนนั่นไม่ได้นึกถึงของเล่นหรอก อยากจะมาหาลุงจริง ๆ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงช่างรักลุงนัก อันที่จริงก็ไม่ค่อยได้พบปะกัน ได้ยินแต่ชื่อ ทำไมถึงติดอกติดใจนักไม่ทราบ”
“เห่อน่ะ” ผู้เป็นยายของเด็กแสดงความเห็น “เวลานี้ใคร ๆ ก็กำลังลุง ๆ แกก็พลอยลุงไปกับเขายังงั้นเอง”
“ผมนึกจะพาเขามาด้วย แต่เราตกลงว่าจะรับประทานข้าวที่นี่ กลัวว่าจะกลับดึกไป เดี๋ยวง่วงนอนขึ้นมาเขาก็จะเอะอะเอา”
“เอ๊ะ !” เจ้าของบ้านผู้มีอาวุโสร้องขึ้น “นี่ตกลงว่าจะกินข้าวที่นี่หรือ เออแน่ะ เพิ่งจะบอกเดี๋ยวนี้เองแหละ จะกินกันทั้ง ๔ คนหรือยังไง”
“ค่ะ” ชิดรับ “เว้นเสียแต่คุณแม่จะไม่มีให้รับประทาน”
“เจ้าสำบัดสำนวน” คุณนายชื่นว่าพลางยิ้ม “ไม่มีก็หาเติมเดี๋ยวก็แล้ว อ้อ ฉันจะทำของชอบให้พ่อหลวง น้ำพริกแมงดายังไงล่ะ ตั้งใจจะเอาไปให้ที่บ้านเทียวนะ”
คุณนายขมีขมันเข้าไปในห้องรับประทานอาหาร ข้างฝ่ายชิดพูดกับพี่ใหญ่ว่า
“พี่ใหญ่จัดการเรื่องผ้านุ่งของดิฉันแล้วหรือยัง?” สีหน้าวิชัยสารภาพความลืมออกมาทันที ผู้พูดจึงหัวเราะแล้วว่า “นั่นไหมล่ะ เมื่อตะกี้ฉันท้าพนันไม่มีใครสู้นี่”
“ก็ใครเขาจะสู้ เขารู้กันทั้งนั้นว่าพี่ใหญ่จะต้องลืม” เป็นคำตอบของชด
“โธ่ ธุระพี่ท่วมหัว จะเอาเวลาที่ไหนนึก” วิชัยแก้ “เดี๋ยวพี่จะเขียนโทรเลขไว้ให้เสียเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้เช้าหล่อนไปส่งเองก็แล้วกัน” พูดแล้ววิชัยค้นได้กระดาษแผ่นหนึ่งในกระเป๋าเสื้อ ก็เขียนข้อความที่ต้องการลงแล้วยื่นให้ตรงหน้าน้องสาวทั้ง ๒
ชิดรับมาถือไว้ “สตางค์ค่าส่งล่ะคะ?” พูดแล้วหล่อนแบมือออก
“พิโธ่” พระวิวิธอุทาน “ผ้านุ่งของหล่อนเองแท้ ๆ”
“ก็พี่ใหญ่อยากลืมทิ้งไว้ทำไมล่ะ” ชิดเถียงอย่างว่องไว ส่วนวิชัยนั้นถือธนบัตร ๒ ฉบับคอยท่าอยู่แล้วหัวเราะแล้วพูดว่า
“นับดูทีหรือกี่คำ”
ชดกับชิดช่วยกันนับคำในร่างโทรเลข ตกลงกันไม่ได้ว่ากี่คำหลวงวิโรจน์ฯ เข้าช่วยอีกคนหนึ่งและชี้ขาดว่า ๑๕ คำ ชิดก็ฉวยธนบัตรจากมือพี่ พับใส่กระเป๋า พระวิวิธ ฯ มองตามมือภรรยา พลางนึกช่วยคิดจำนวนสตางค์ที่ต้องทอน แต่ชิดหานึกถึงสิ่งเล็กน้อยเช่นนั้นให้เสียเวลาไม่ หล่อนปิดกระเป๋าแล้วก็นั่งเท้าแขนอย่างวางอารมณ์
ชดพูดขึ้น
“เออ พี่ใหญ่จัดการเรื่องผ้านุ่งแล้วทีนี้ดิฉันจะบอกให้รู้ละว่าธุระที่พี่ใหญ่ใช้ดิฉันก็สำเร็จแล้วเหมือนกัน”
“อะไรอีกล่ะ?” วิชัยถามด้วยเสียงค่อนข้างดัง
น้องสาวของเขาหัวเราะกิ๊ก “เลยตกใจ !” หล่อนว่า “ตกใจหรือลืมแล้ว แม้แต่ธุระของตัวเอง? เรื่องรถยังไงล่ะคะ คุณหลวงหาให้ได้แล้ว รถเขาดี๊ดี ใช้ได้ปีกว่าเท่านั้น เขาจะขาย ๗๐๐ บาท”
“ฮื่อ ไม่ใช่น่ะ” หลวงวิโรจน์ ฯ ค้าน “๖๐๐ บาท ต่างหาก”
“ฮื้อ ใช่เมื่อไหร่” ชดขึ้นเสียงมองเขม็งดูสามี “๗๐๐ ต่างหาก”
“เอ้า !” วิชัยกล่าวพลางยิ้ม “๗๐๐ หรือ ๖๐๐ แน่ รถอะไรก็ยังไม่ได้รู้เลย”
สามีกับภรรยาพูดขึ้นพร้อมกัน
“รถเฟียตเล็กครับ”
“เขาบอก ๘๐๐ ค่ะ เราต่อลงมาจนเขายอมให้ ๗๐๐”
วิชัยพยักหน้า แล้วถามถึงคุณค่าของรถต่อไป หลวงวิโรจน์ ฯ รับหน้าที่ชี้แจงตามความเห็น และความรู้ของตนและตกลงกันในที่สุดว่า วิชัยจะได้เป็นเจ้าของรถคันนั้นภายใน ๒-๓ วันนี้
ต่อจากนั้นวิชัยถูกน้องทั้ง ๒ เร่งให้ไปชำระกายเสียให้สบายก่อน ซึ่งเขารีบปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ
เมื่อเขากลับมาข้างล่างอีกนั้น เป็นเวลา ๑๙.๓๕ นาฬิกา มีเสียงต้อนรับว่า “เออ ! เสร็จแล้ว” แต่ยังไม่มีใครชวนใครให้รีบไปบริโภค ครั้นนาฬิกาตี ๕ ครั้งมีเสียงบ่นว่าหิวดังขึ้น ก็ยังไม่ได้รับคำเชื้อเชิญ อีก ๑๕ นาทีต่อมาเสียงหิวทั้งดังมากและทั้งประสานกันหลายเสียง คุณนายชื่นพูดขึ้นว่า
“เดี๋ยว รอพ่อชัดประเดี๋ยวเถิด”
ผู้หิวหาเรื่องพูดคุยต่อไปเพื่อให้ลืมหิว แต่ก็คุยเป็นปกติไม่ได้นานนัก หน้าอันขาวของหลวงวิโรจน์ ฯ เริ่มจะเขียว และพระวิวิธ ฯ มีอาการนั่งไม่เป็นสุข ภรรยาของบุรุษทั้ง ๒ นี้เริ่มไม่สบายใจ ในที่สุดก็อดปากอยู่ไม่ได้
“ตาชัดละนิวแซนยังงี้เสมอแหละ” ชิดว่า
“เขารับประทานอาหารข้าวบ้านไม่ขาดทีเดียวหรือคะ” ชดถามเป็นกลาง ครั้นไม่มีใครตอบ หล่อนก็หันไปทางพี่ชาย
“หรือคะ พี่ใหญ่ พ่อชัดรับประทานข้าวบ้านไม่ขาดเลยหรือ?”
วิชัยหัวเราะพลางสั่นศีรษะ คุณนายชื่นนิ่วหน้าแล้วตอบแทน
“พ่อใหญ่จะรู้อะไร ตัวเองก็ไม่ได้กินข้าวบ้านทุกวัน”
พระวิวิธ ฯ วางหน้าขรึม หลวงวิโรจน์ ฯ ชำเลืองมองดูแม่ยายตนจึงเปลี่ยนเป็นยิ้มแหย วิชัยตัดสินขึ้นอย่างใจเย็น
“อย่าคอยเขาเลยครับคุณแม่เกินเวลาแล้ว พวกเราหิวกันทุกคนถ้าเขามา เราอิ่มเสียแล้วก็ไล่เขาไปหารับประทานที่อื่นก็แล้วกัน เขาคงไม่รังเกียจนัก”
“ตามใจซี” คุณนายชื่นตอบ “พี่น้องเขารู้ใจกัน?”
ภาวะแห่งห้องกินข้าว เมื่อก้าวแรกวิชัยมาถึงนั้นเป็นเช่นไร บัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะเวลา ๓ วัน เป็นเวลาที่สั้นและน้อยเกินไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่วิชัยต้องจัดทำ อย่างไรก็ตาม ถึงกระสอบนุ่นจะวางอยู่ข้างฝาและขวดน้ำปลาอยู่บนตู้ไซด์โบร์ด ส่วนโต๊ะอาหารนั้นมีผ้าปูขาวสะอาดแทนผ้าคลุม อาหารร้อนและเย็นส่งกลิ่นจัดวางอยู่บนนั้น ทั้งนี้เพราะนางณรงค์ริปูปลาตไม่ลืมว่าเขยที่ ๒ ของตนนั้น นั่งบริโภคบนพื้นกระดานไม่สู้ถนัด
ในเวลาแรกบริโภค ทุกคนไม่มีอาการอยากพูด ด้วยเหตุที่ว่าต่างคนต่างมุ่งหน้าบรรเทาความหิวให้แก่ตัวเองอยู่ด้วยกัน ต่อภายหลังเมื่อรู้สึกสบายขึ้นบ้างแล้วการสนทนาจึงมีขึ้น
เริ่มต้นด้วยหญิงผู้เป็นเจ้าของบ้านถามพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ว่าได้รับเชิญไปในการเลี้ยงซึ่งหลวงศักดิ์รณชิตเป็นเจ้าภาพหรือเปล่า ครั้นได้รับคำตอบปฏิเสธ คุณนายก็แสดงความประหลาดใจ วิชัยจึงชี้แจง
“เขาเชิญแต่นายทหาร ที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับผมและได้สนิทสนมกันเรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ รวมหมดด้วยกัน ๕ คน ทั้งตาหลวงศักดิ์”
“ถ้ายังงั้น เมื่อคืนนี้พ่อชัดก็คงไปทีเดียวกับพ่อใหญ่นั่นเอง”
“มิได้ครับ ตาชัดแกรุ่นเด็กกว่าพวกผมมาก ไม่คุ้นเคยกับพวกรุ่นผมเลย แกคงไปเที่ยวกับเพื่อนของแกซิครับ”
คุณนายชื่นแสดงความไม่เข้าใจ แล้วว่า
“รุ่นเด็กกว่าก็กินข้าวด้วยกันไม่ได้ !”
วิชัยไม่ติดใจจะต่อปากคำด้วยมารดา เขาหันไปพูดกับน้องหญิง
“แม่อนงค์ของตาชัดน่ะคือใคร?”
“คือผู้หญิงที่ตาชัดพาควงมาด้วย เมื่อเขากลับจากไปรับพี่ใหญ่น่ะซีคะ”
“ถูกละ พี่อยากรู้ว่าแกเป็นคนมีฐานะอย่างไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร อยู่ที่ไหน?”
“บ้านเขาอยู่ที่ถนนสระปทุม เป็นลูกพระยานิติธรรมสุนทร แม่ตายหลายปีแล้ว พ่อเพิ่งตายได้สัก ๒ ปี เวลานี้อยู่กับพี่ชาย หนุ่ม ๆ ทั้ง ๔ คนได้ยินว่าพ่อแม่ให้มรดกไว้คนละมาก ๆ”
“ดูเหมือนมีอาผู้หญิงอยู่ด้วย ๒ คน” ชดเสริม “อายุมากแล้ว ไม่มีสามีทั้งคู่”
“เข้าใจว่า พวกเขาจะชอบพอกับนายชัดของเรามาก” วิชัยพูดพลางยิ้มและชำเลืองดูมารดา “สังเกตตามน้ำเสียงนายสมพงศ์พี่ชายใหญ่ของอนงค์”
“โอ๊ย ยิ่งกว่ามากเสียอีก” คุณนายชื่นกล่าว “จะเอาตัวพ่อชัดให้อยู่ทีเดียว ก็พ่อใหญ่ไม่เห็นหรือเช้าถึง เย็นถึง ผู้หญิงอะไรยังงั้น เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น”
“ผู้หญิงที่กำพร้าแม่แต่เล็ก ๆ” พระวิวิธวรรณการกล่าวช้า ๆ “แล้วก็อยู่แต่กับพ่อกับพี่ ถูกตามใจจนเคยตัวเท่านั้นเอง !”
“มีหวังที่จะหัดให้เชื่องได้ !” วิชัยพูด
น้องหญิงทั้ง ๒ ของเขาหัวเราะขึ้นพร้อมกันเป็นเชิงเย้ย มารดาของเขากระแทกช้อนลงในชามแกงโดยแรง
“โอ๊ย ฉันไม่เอาหรอกย่ะ ใครจะเป็นคนมานั่งหัด พ่อชัดเองก็ราวกะลิงทะโมน ! แต่ว่าเขารับรองกับฉันเมื่อวานนี้เอง ว่าเขาไม่คิดอย่างโน้นอย่างนี้ เขาชอบกันเป็นเพื่อนเท่านั้น”
“ยังงั้นหรือครับ?” วิชัยถามพลางยิ้มด้วยตา ส่วนภายในใจกำลังนึกเปรียบเทียบระหว่างความ “ต้องหัดให้เชื่อง” สำหรับอนงค์กับคำกล่าวขวัญถึงคุณหญิงรานรอน ฯ ซึ่งได้ยินจากหลวงศักดิ์รณชิตเมื่อคืนก่อน
“หรือพ่อใหญ่จะอาสาเป็นคนหัด” คุณนายชื่นประชดแกมเย้า “ก็ขันอาสาเข้าไปซี”
วิชัยหัวเราะอย่างขบขัน
“ผมไม่รู้จักอนงค์คนนี้เลย” เขาว่า “ความเห็นของผมจึงเป็นความเห็นอย่างที่คิดว่า เผื่อจะเป็นไปได้บ้างกระมัง ผมไม่ยืนยันหรือคัดค้านกระไรทั้งสิ้น”
“พี่ใหญ่รู้จักกับพี่ชายของแม่อนงค์หรือคะ?” ชิดถาม
“รู้จัก ๒ คน ได้พบกันโดยบังเอิญเมื่อคืนนี้ คนหนึ่งชื่อสมพงศ์ อีกคนชื่อประสิทธิ์”
“คนที่บ้า ๆ บอ ๆ หน่อยใช่ไหม” หลวงวิโรจน์ ฯ ถาม “นั่นแหละ ผู้ชายคนสุดท้อง ผมพบเขาไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ กับสมพงศ์เสมอ ดูท่าทางเหมือนหมาติดเจ้าของ ดูยังไงไม่รู้”
วิชัยยิ้มอย่างเห็นด้วย แต่ไม่ส่งเสริมด้วยวาจาประจวบกับเวลานั้นคนใช้ยกของหวานมาวางลงบนโต๊ะ วิชัยนึกขึ้นได้ถึงลูกพลับที่เขาซื้อมาฝากมารดา มองไปในถาดผลไม้ ไม่เห็นมีลูกพลับเหลืออยู่ เขาจึงถามขึ้นว่า
“คุณแม่รับประทานลูกพลับหมดแล้วหรือครับ?”
“ไม่ได้กินสักลูกเดียว” คุณนายชื่นตอบ
“อ้าว ! เก็บไว้พรุ่งนี้คงงอมหมดผมเลือกมาสำหรับรับประทานวันนี้บ้างเก็บไว้ได้บ้าง คุณแม่เลือกดูหรือเปล่าครับ”
“จะได้เลือกอะไร พ่อชัดกินเสียหมดแล้ว”
“เอ๊ะ ตาชัดเอาเวลาที่ไหนมาแย่งลูกพลับคุณแม่”
“เขากินเสียตอนเช้า ๒ ลูก แล้วกลางวันอีก ๒ ลูก เลยหมด”
“เมื่อกลางวัน ตาชัดกลับมารับประทานข้าวหรือครับ?”
“จ๊ะ กินข้าวแล้วนอนหลับเสียตื่นหนึ่งถึงได้กลับไปกระทรวง”
หลวงอรรถคดี ฯ ยิ้ม เบือนหน้ามาทางพระวิวิธ ฯ แล้วถามว่า
“ต้นเงาะปีนังที่ผมส่งมาให้เป็นอย่างไรบ้าง?”
“แตกใบงามดี แต่เห็นจะอีกนานกว่าจะได้ดูลูก”
“ตามธรรมดาเงาะในบ้านเมืองเรา เขาปลูกกันกี่ปีจึงจะได้กินลูก” วิชัยถาม
“ถ้าต้นตอนราว ๓-๔-๕ แล้วแต่ที่ ผมกลัวว่าเงาะปีนังเอามาปลูกในกรุงเทพ ฯ ก็จะไม่ได้ผลดีเหมือนอยู่ถิ่นเดิมของเขา”
“เห็นจะไม่ได้” หลวงวิโรจน์ ฯ กล่าว “ได้ยินว่ามีคนทดลองเอามาปลูกกันมากแล้วไม่สำเร็จ อย่างที่หลังสวน เขาว่าได้พันธุ์มาจากปีนังมาก แต่ก็ไม่วิเศษอะไรกลับเลวเสียยิ่งกว่าเงาะกรุงเทพ ฯ บางสวนอีก”
“ผลไม้หลังสวนผมไม่เห็นมีอะไรดี” วิชัยว่า “แต่ก่อนลางสาดหลังสวนก็ขึ้นชื่อมาก เดี๋ยวนี้ก็เหลวนะครับคุณแม่ จะเป็นที่รีบเก็บเสียตั้งแต่ยังไม่แก่จัด หรือมีน้ำเลี้ยงไม่พอ?”
ในระหว่างที่พูด วิชัยเอื้อมมือหยิบส้มจีนที่เหลือยู่ในถาดเพียงผลเดียว พอจะปอกเปลือก ได้ยินเสียงคุณนายพูดเบา ๆ กับนางวิวิธ ฯ ผู้ซึ่งนั่งติดอยู่กับท่าน ท่านบุ้ยใบ้มาทางตน เขาจึงเงยหน้าขึ้นแล้วถามเบา ๆ เช่นเดียวกันว่า “อะไร?”
“เปล่า” คุณนายชื่นตอบพลางยิ้มจืด ๆ ครั้นบุตรชายมองดูอย่างจะขอความจริงจึงพูดต่อ “แม่บอกกับน้องเขาว่าเผอิญส้มเหลืออยู่เพียงลูกเดียว”
ดวงตาอันมีแววซื่อยังร้องขอความจริงต่อไป ผู้เป็นมารดาจึงต้องปฏิบัติตาม
“พรุ่งนี้เช้าไม่มีให้พ่อชัดกินแล้ว”
วิชัยวางส้มลงในถาดตามเดิม แล้วลุกจากเก้าอี้ หญิงทั้ง ๓ หันมามองดูพร้อมกัน แต่พอคนใช้โผล่ประตูห้องเข้ามา วิชัยก็กลับมานั่งลงดังเดิมพลางสั่งว่า
“ช่วยหยิบกระป๋องบุหรี่ให้ที”
หันมาทางพระวิวิธ ฯ และหลวงวิโรจน์ ฯ บุตรชายคนใหญ่ของนางศรีวิชัย ฯ พูดด้วยเสียงธรรมดาที่สุดว่า
“ทุกคราวที่ผมไปหลังสวน ผมนึกอยากจะจองที่ดินที่นั่น แล้วทำสวนผลไม้อย่างชาวพื้นเมือง แต่ใช้ความพยายามให้มากกว่า และเอาวิทยาศาสตร์เข้าช่วยเล็กน้อย คิดว่าจะได้ผลไม้อย่างดีเป็นสินค้าสำคัญทีเดียว อย่างที่เขาทำกันทุกวันนี้ ทำตามสบายเสียเหลือเกิน ปล่อยให้ธรรมชาติปรุงแต่งฝ่ายเดียว ดูราวกับทำเล่น”
การสนทนาก็ดำเนินเป็นปกติต่อไป
ราวชั่วโมงหนึ่งต่อมา ในระหว่างที่นั่งรถกลับบ้าน พระวิวิธวรรณการหัวเราะขึ้นอย่างลอย ๆ แล้วพูดว่า
“คุณแม่ของเธอน่ะออกจะหนักมืออยู่หน่อยนะ”
“ทำไมคะ” ผู้เป็นภรรยาถาม
“รักลูกไม่เท่ากัน”
“คุณพระเห็นว่าท่านรักใครมาก?” เป็นคำถามอย่างเห็นขัน “ดิฉันรู้สึกว่าท่านรักดิฉันทั้ง ๕ คนเท่า ๆ กันทีเดียว แต่ว่าพวกเขยละก็ หลวงวิโรจน์ ฯ เป็นขึ้นหน้า เพราะเขาเอาใจใส่ประจบประแจงท่านเสมอ คุณพระนะแต่ก่อนนี้ท่านก็รักมาก ดูเหมือนจะมากว่าใครหมด แต่ทีหลังมาคุณพระทำเฉย ๆ กับท่าน เดี๋ยวนี้จึงสู้คนอื่นเขาไม่ได้”
พระวิวิธ ฯ นิ่งฟังภรรยาโดยอาการสงบ ทั้งที่ตนเองมิได้ยินดียินร้ายแม้แต่น้อย ในความรักของแม่ยายที่มีต่อตนหรือเขยอื่น เมื่อหล่อนพูดจบแล้วคุณพระจึงว่า
“ลำเอียงจนเห็นชัด”
“อ๋อ” พูดพลางหัวเราะ “เรื่องแมงดาน่ะหรือคะ พิโธ่ เท่านั้นเอง ก็ท่านไม่รู้นี่ว่าคุณพระก็ชอบเหมือนกัน แต่ดิฉันไม่เชื่อว่าถ้าท่านส่งไปให้พี่ชด ท่านก็คงส่งไปที่บ้านเราด้วย”
พระวิวิธ ฯ นิ่งฟังได้เช่นเดียวกับคราวก่อน และรออยู่จนเห็นภรรยาไม่พูดต่อแน่แล้ว จึงว่า
“ฉันหมายความถึงเรื่องส้มจีน”
“ส้มจีนที่ไหน”
“ส้มที่หลวงอรรถ ฯ จะกินแล้วเลยไม่ได้กิน เพราะแม่จะเก็บไว้ให้น้อง”
“อ้อ” เป็นคำรบ ๒ “โธ่ ก็ตาชัดแกกินอะไรไม่ค่อยเป็นนี่คะ แกชอบแต่พวกส้มเท่านั้น ส่วนพี่ใหญ่กินได้สารพัด”
“ถึงยังงั้นก็เถอะน่ะ ไอ้คนที่อยู่จะกินกลับขัดคอเพราะจะเก็บไว้ให้คนที่ไม่อยู่”
“ก็ท่านว่ากระไรเมื่อไหร่คะ ท่านชี้ให้ดิฉันดู ดิฉันยังไม่เข้าใจว่าอะไรด้วยซ้ำ พี่ใหญ่อยากถามท่านก็บอกน่ะซี แล้วท่านก็ไม่ได้ห้ามไม่ใช่หรือ?”
“ไอ้การที่ชี้บุ้ยชี้ใบ้กับหล่อนน่ะแหละ มันยิ่งเสียกว่าห้ามอีก ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ว่าขอไว้ให้น้องยังจะดีเสียกว่า”
“เอ้อ ! ไม่มีใครเขาคิดมากเหมือนคุณพระหรอกค่ะ พี่ใหญ่แกรักตาชัดจะตาย รักมากกว่าน้องคนอื่น ๆ ทั้งหมดแหละ อีกอย่างหนึ่งตาชัดก็อ่อนกว่าพี่ใหญ่เกือบจะว่าคราวลูก พี่ใหญ่จะอิจฉาตาชัดก็เหลือเกินไปละ”
ความจริงเรื่องที่พระวิวิธ ฯ พูดขึ้นนี้มิใช่ข้อปัญหาที่เกี่ยวกับการอิจฉาหรือไม่อิจฉา แต่เมื่อเห็นภรรยาไม่พยายามเข้าใจความหมายที่แท้จริง หรือสติปัญญาของหล่อนไม่ลึกพอที่จะเข้าใจก็ตาม พระวิวิธวรรณการเป็นผู้ไม่ชอบพูดมากโดยไม่จำเป็น จึงไม่ได้แย้งสืบไปอีก
ข้างฝ่ายนางวิโรจน์เกษตรกิจ พอรถแล่นออกพ้นบ้าน หล่อนก็หน้านิ่วคิ้วขมวดใส่สามี และว่า
“คุณหลวงละอะไรก็ไม่รู้ อยู่ดี ๆ บอกกับพี่ใหญ่ว่าเจ้าของรถเขาจะเอา ๖๐๐ บาท ดิฉันนำขึ้นแล้วทีเดียวว่า ๗๐๐ ยังขัดคอต่อไปอีก”
“ก็เขาบอกกับฉันว่าจะเอา ๖๐๐ เท่านั้นนี่นา”
“เขาจะเอา ๖๐๐ ก็ดิฉันจะเอา ๕๐ นี่นา ค่านายหน้า”
“ก็ฉันรู้เมื่อไหร่เธอตกลงกับเขาไว้อย่างไร ไม่เห็นบอกกล่าวกันสักคำ”
“บอกอะไร ก็ดิฉันไม่ได้ตกลงอะไรกับเขาสักหน่อย”
“ไหนว่าจะเอาค่านายหน้า?”
“ค่านายหน้าเกี่ยวอะไรกับเจ้าของรถด้วย เราถึงจะต้องบอกเขาล่ะ เขาต้องการเงิน ๖๐๐ เราก็ให้เขาเท่านั้น เหลือนั่นก็เป็นของเรา”
หลวงวิโรจน์ ฯ อึ้งไปนาน ภรรยาเขาก็เสริมต่อ พลางหัวเราะอย่างปลาบปลื้ม
“อันที่จริงดิฉันบอก ๗๐๐ สำหรับเผื่อพี่ใหญ่ต่อ ๕๐ บาท เธอไม่ยักต่อ”
“ก็เพราะแกเชื่อใจเราน่าซี เราบอกแกว่า เห็นควรแกก็พลอยเห็นด้วย ไม่เอาละ พรุ่งนี้ไปบอกลดเสียร้อยหนึ่งเถอะ”
“อี้ ! ธุระอะไรนะ ลาภถึงมือแล้วยังจะขัดลาภตัวเอง มีอย่างหรือ”
“โธ่ มันน่าเกลียดนะเธอ เราไม่ใช่เด็ก”
“อะไรนะ คุณหลวงนี่ยุ่งจริง ช่างเขาเถอะน่า เขาพี่น้องก้นแท้ ๆ กะอีแค่เงิน ๑๐๐ บาท พี่ใหญ่เคยให้ดิฉันมากกว่านี้อีก”
ความยอมให้แก่ภรรยาเป็นอุปนิสัยสำคัญประการหนึ่งที่มีอยู่ในหลวงวิโรจน์ ฯ และยังมี “เขาพี่น้องกันแท้ ๆ” เป็นคำเถียงสนับสนุนอยู่ด้วย สามีผู้ใจดีจึงอยู่ในอาการยอมจำนน และปรารภอย่างออดว่า
“ยังมีค่าโอนทะเบียนรถอีก จะให้ฝ่ายโอนเป็นผู้จ่าย”
“ดิฉันจะจ่ายเองรำคาญใจนัก” แล้วหล่อนก็ระบายลมอย่างสบายใจ เพราะหล่อนเชื่อว่าตัวเองใจดีพอแล้ว !
|
|
|
Logged
|
|
|
|
ppsan
|
|
« Reply #13 on: 15 May 2022, 14:14:38 » |
|
๑๐ วันหนึ่งเวลาบ่าย หลวงอรรถคดีวิชัยยืนมือกอดอกอยู่ที่ริมระเบียงเรือน มองดูเม็ดฝนที่ตกซู่ ๆ อยู่ไม่ขาดสาย สีหน้าของเขาแสดงความรำคาญใจเล็กน้อย เนื่องด้วยวันนี้เขายังมิได้เยี่ยมกรายไปถามอาการน้องเขยผู้กำลังเจ็บหนัก ให้นึกห่วงใยในคนป่วยรวมทั้งภรรยาของเขาด้วย ในระหว่างสัปดาห์หลังนี้ วิชัยได้พานายแพทย์ที่มีชื่อเสียงไปตรวจอาการนายสมานถึง ๔ นาย แต่อาการคนไข้มิได้ดีขึ้น จนในที่สุด ทั้งนายแพทย์และพยาบาลก็ลงความเห็นพ้องกันว่าไม่มีทางรอด ทางที่ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของนายแพทย์จะทำได้ มีเหลืออยู่แต่ช่วยชะลอให้คนป่วยมีชีวิตยืนยาว เพียงชั่วนับวันโดยมิต้องทรมานนักเท่านั้น
เบื้องหลังวิชัย คุณนายชื่นนั่งกอดเข่าอยู่บนเก้าอี้หวายยาว สีหน้าแสดงความรำคาญใจยิ่งกว่าบุตรชายหลายเท่า หากแต่ความรำคาญมิได้เกิดจากเหตุเดียวกัน วิชัยรำคาญเพราะห่วงคนที่ใกล้ตาย คุณนายรำคาญเพราะนึกถึงคนที่เต็มไปด้วยชีวิต และกำลังวังชาอันแข็งแรง
วิชัยละจากลูกกรงเดินมายังที่มารดานั่งแล้วพูดว่า
“นายชัดไปซ่อนตัวอยู่เสียที่ไหนแล้วครับคุณแม่” ในสีหน้าแสดงความอึดอัดและเกรงใจในขณะที่พูดต่อไป ดังนั้นน้ำเสียงที่ออกจากลำคอจึงไม่มั่นคง “กว่าฝนจะหายคงอีกนาน ท้องฟ้าออกชอุ่มอย่างนี้ ผมอยากไปดูสมานสักประเดี๋ยว เดี๋ยวเดียวเท่านั้น พอฝนหายจะรีบกลับมาคงจะทันกันกับตาชัดพอดี”
คุณนายชื่นมองดูบุตรด้วยดวงตาอันขุ่นก่อน ครั้นแล้วจึงสะบัดเสียงตอบว่า
“ตามใจซี !”
วิชัยถอนใจเบา ๆ แล้วกลับไปยืนดูฝนตกตามเดิม
“พ่อใหญ่?”
“ครับ !” ขานรับโดยเร็ว แล้วหันหน้าเตรียมตัวฟังเต็มที่
“เจ้าสมานน่ะเขาจะตายหรือเขาจะหายแน่?”
“ตายครับ” เป็นคำตอบอย่างยอมแพ้ราบ
“แล้วทำไม ตัวถึงยังเป็นห่วงเป็นใยจนเกินเหตุอย่างนี้ มดหมอก็มีแล้ว คนพยาบาลก็มีแล้ว นังเมียไม่ได้กระดิกตัวไปไหนเลย ยังไม่พออีกหรือ”
ไม่มีคำตอบ วิชัยก้มหน้าดูปลายกางเกงที่ระอยู่กับข้อเท้า
“หมอตัวก็เป็นคนหาให้เขา นางพยาบาลตัวก็หาให้ เสียเงินเสียทองเข้าไปเท่าไหร่แล้ว ดีเป็นบุญเป็นกุศลช่วยชีวิตคน แม่ก็ชมอยู่ทุกวัน แต่มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ไหน ๆ คนมันจะตาย เอาเงินไปทุ่มเทเสียทำไมเปล่า ๆ ตัวแกหรือก็ว่าไม่ใช่ว่าจะมั่งมีศรีสุขอะไรนัก ตั้งแต่กลับมาไม่เห็นทำอะไรนอกจากใช้เงิน เดี๋ยวซ่อมบ้าน เดี๋ยวทำตู้โต๊ะ ไอ้รถยนต์ก็เข้าไปตั้ง ๗๐๐ เงินเดือนแม่เดือนนี้ยังไม่ได้ให้เลย”
“โอ ตาย !” วิชัยอุทานอย่างตกใจ “ผมลืมไปครับ รับมาเมื่อวานยังอยู่ในกระเป๋าเสื้อนี่เอง”
“อ้าดูซี เดี๋ยวใครมันได้ฉวยเอาไปเสียหรอก”
วิชัยผละจากลูกกรง วิ่งขึ้นบันไดไปชั้นบนโดยเร็ว หายไป ๒ นาทีจึงกลับลงมาพร้อมด้วยธนบัตรซึ่งเขาส่งให้มารดา
คุณนายชื่นรีบรับธนบัตรมานับ เห็นครบจำนวนที่เคยได้รับแล้วก็พับเก็บไว้ก้นเชี่ยนหมาก
ทั้ง ๒ คนนั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดฝ่ายผู้เป็นมารดาจึงเอ่ยขึ้น
“กว่าผัวจะตายนังช้อยคงเหลือแต่ตัว ไอ้นั่นก็ไม่ว่าหรอก เป็นเมียผัวเจ็บก็ต้องรักษา หมดเท่าไหร่ก็ต้องหมดกัน เดี๋ยวนี้ยังจะต้องทำศพ ยังมีลูกเป็นห่วงผูกคออีก”
“ผมรับยายนิดเป็นลูกผมแล้วครับ พ่อเขาฝากตั้งแต่รู้ตัวว่าเจ็บมาก”
“ดี ! แล้วตัวน่ะจะไม่รู้จักมีลูกของตัวเองบ้างหรือ จะเป็นพ่อหม้ายไปตลอดจนตายยังงั้นหรือ?”
“ถ้าผมมีลูกมันก็เป็นน้องยายนิดซีครับ ยายนิดแกตัวนิดเดียวเหมือนชื่อ คงจะไม่เป็นที่เกะกะแก่ใคร ทั้งค่าตัวแกก็เห็นจะไม่แพงนัก”
“อย่าพูดอวดดีไป ตัวยังไม่เคยมีลูก อย่านึกว่าเลี้ยงเด็กนั้นเลี้ยงได้ง่าย ๆ เหมือนตุ๊กตา ดูแต่แม่ซีทรมานทรกรรมมารู้จักเท่าไหร่ ถึงได้เลี้ยงพวกแกมาเป็นตัวได้จนถึงทุกวันนี้ ค่าตัวพวกแกแต่ละคนไม่แพงหรอก แต่ทว่าถ้าจะเก็บรวบรวมไว้เป็นเงินก้อน ป่านนี้เกือบจะปลูกให้เท่าพระที่นั่งอนันต์ได้ !”
อันคำพูดทำนองเตือนเรื่องความหลังนี้ บุตรชายหญิงของพระศรีวิชัยบริรักษ์ย่อมได้ฟังบ่อยครั้ง ในเมื่อเขาคนใดคนหนึ่งกระทำสิ่งที่ขัดต่อความเห็นหรืออารมณ์ของมารดา สำหรับตัววิชัยเอง เขาได้ฟังมารดาถึงเรื่องนี้ทุกคราวที่เขาละจากประจำการในต่างจังหวัดมาพักที่บ้าน และก็ทุกคราววิชัยมิได้บังอาจแม้แต่จะนึกรำคาญด้วยเหตุว่า กตัญญูและกตเวทีนั้นเป็นธรรมที่ประจำในบุรุษผู้นี้มาตั้งแต่เริ่มแรกที่เขารู้จักโลกมาทีเดียว
มีการเงียบเป็นคำรบ ๒ คราวนี้เงียบอยู่นานกว่าคราวแรก ครั้นแล้วคุณนายชื่นก็ทำลายความเงียบขึ้นก่อนเช่นเดียวกับคราวที่แล้วมา
“น่าเคืองพ่อชัดนัก นัดกันไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะ ดูหรือเหลวได้ ชาตินี้ตีหัวเสียให้แตกละดีละ”
“คุณแม่นัดกับคุณหญิงมะยมไว้ด้วยหรือเปล่าครับ !”
“นัดซีจ๊ะ นัดกันเมื่อคืนนี้”
“นัดว่าจะพาไปหาทั้งคู่”
วิชัยหัวเราะแล้วว่า
“ขาดผมไปคนหนึ่งเห็นจะไม่เป็นไรนัก นี่เผอิญขาดคนสำคัญเสียด้วย”
คุณนายไม่ปฏิเสธ ปรารภสืบไปว่า
“ลูกคนนี้ตั้งแต่กลับมา ไม่เห็นทำให้แม่ชื่นใจสักทีมีแต่กวนใจ”
วิชัยออกฉงน “ลูกคนนี้” นั้นหมายถึงลูกคนไหนกันแน่ ! พอคุณนายพึมพำต่อไปอีก
“บ้านเรือนของตัวเองไม่มีอยู่ติด เช้าหายเช้าหายกว่าจะกลับบ้านก็ชนขวบ วันนี้ขอให้อยู่บ้านสักวันเดียวเท่านั้นยังอยู่ไม่ได้ หาเรื่องแก้ตัวจนต้องปล่อยให้ไป มิหน้าซ้ำนัดว่าจะกลับไปธุระด้วยกันก็ไม่กลับเสียอีก”
วิชัยกำลังนึกอยู่ในใจว่า ถ้าแม้น้องชายของตนไม่เข้าประตูบ้านมาบัดเดี๋ยวนี้ เขาจะต้องมีอาการสำลักน้ำลายตายเป็นแน่แท้ ก็พอดีบานประตูบ้านเปิดออก วิชัยรีบหันมาบอกมารดาอย่างโล่งใจ
“มาแล้วครับ !”
แต่ครั้นเมื่อผู้เปิดประตูเดินผ่านประตูเข้ามาแล้ว วิชัยจึงรู้ตัวว่าเดาผิดไป ร่างกายภายใต้เสื้อฝนที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเขานั้นสูงกว่าขนาดนายร้อยตรีชัดมากนัก
“ไม่ใช่ตาชัดหรอกครับคุณแม่” เขารีบแก้ความเข้าใจผิดของตนโดยเร็ว “ใครก็ไม่ทราบผมดูผิดไป”
เสียงถอนใจอย่างขัดเคืองดังจากทรวงอกคุณนายชื่น วิชัยไม่มีเวลาหันไปแสดงความกังวล เพราะบุรุษในเสื้อฝนได้เดินครึ่งวิ่งมาถึงบันไดหลบเข้าในกันสาดแล้วก็เปิดหมวกออกมายืนยิ้มอยู่ในที่นั้น
“คุณสมพงศ์” วิชัยทักน้ำเสียงเต็มไปด้วยความประหลาดใจ
สมพงศ์ก้าวขึ้นบันไดอย่างกระฉับกระเฉง มองดูคุณนายชื่นปราดเดียวแล้วก็ต้องยกมือไหว้ มิพักต้องรอให้วิชัยแนะนำว่าเป็นใคร
“เพื่อนพ่อชัด” วิชัยบอกกับมารดา แล้วหันกลับมาพูดกับผู้เป็นแขก “ตาชัดไม่อยู่”
“อ้าว !” สมพงศ์อุทาน มือปลดดุมเสื้อฝน วิชัยยืนนิ่งมองดูกิริยาลังเลเพียงเล็กน้อย ครั้นแล้วก็เดินเข้าไปในห้องรับแขก และยกเก้าอี้ออกมาตัวหนึ่ง สมพงศ์กล่าวขอบใจแต่มิได้นั่ง พูดว่า “ชัดไม่อยู่ผมสั่งคุณหลวงไว้ก็ได้ไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่ธุระสำคัญอะไรหรอก เป็นแต่ผมขอเชิญคุณหลวงกับเขาไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านผมวันที่ ๑๒ เดือนนี้”
“มีงานอะไรหรือครับ?” วิชัยถาม สีหน้าแสดงความสงสัยและประหลาดใจ
“เปล่าเลย ไม่มีงานอะไร เชิญไปคุยกันสนุก ๆ แล้วก็กินข้าวเท่านั้น”
“ครับผมจะบอกนายชัดให้”
“ไม่ใช่บอกนายชัดคนเดียว บอกตัวคุณหลวงเองด้วยซี ไม่ขัดข้องไม่ใช่หรือ?”
วิชัยนิ่งคิดอยู่อึดใจหนึ่งแล้วว่า
“ดูเหมือนผมรับเชิญใครไว้ อ้อ หลวงหาญผจญศึกเขาเชิญไว้วันเสาร์วันที่เท่าไหร่ไม่ทราบ”
“วันเสาร์ที่ ๑๑ ของผมอาทิตย์ที่ ๑๒”
“ยังงั้นก็ไปได้ซี ขอบคุณคุณมาก น้องชายคุณเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ได้มาด้วยดอกหรือ?”
“มา อยู่ในรถ”
“อ้าว ทำไมถึงไม่ชวนแกเข้ามาด้วยล่ะ?”
“เพราะผมจะนั่งอยู่ไม่ได้นาน” ทอดสายตาไปตามส่วนยาวแห่งระเบียงเรือน พลางพูดต่อไป “เรือนคุณหลวงนี่น่าจะสบายมาก ผมชอบเรือนที่มีเฉลียงยาวอย่างนี้เหมือนกัน”
วิชัยยิ้มและไม่ตอบว่ากระไร สมพงศ์ยังคงใช้สายตาตรวจดูภูมิประเทศแห่งบ้านนี้อีก แล้วและมองลอดหลังคาข้ามรั้วบ้าน ไปยังตึกที่กำลังสร้างใหม่
“อีกไม่ช้าญาติของผมจะได้มาเป็นเพื่อนบ้านกับคุณหลวง” เขาเอ่ยขึ้น
“ยังงั้นหรือครับ?” วิชัยถามเรื่อย ๆ “เจ้าของบ้านเป็นอะไรกับคุณ?”
“อาผมทั้งคู่” สมพงศ์บอก
“ทั้งคู่ ! ๒ คนหรือครับ?”
“๒ คน ท่านเป็นพี่น้องฝาแฝด คุณแม้นเป็นพี่ คุณเมี้ยนเป็นน้อง”
“อ้อ ! มิน่าล่ะ ถ้าท่านจะเหมือนกันมากเสียด้วยจนใครที่เห็นเผินๆ แล้วก็นึกว่าคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงฟังดูคล้าย ๆ คนเดียวมีชื่อ ๒ ชื่อ”
“คุณหลวงอยู่ที่นี่ไม่เคยเห็นท่านบ้างดอกหรือ ท่านมาดูงานเสมอ ๆ เวลาเย็น”
“เคยเห็นมีรถมาจอด แต่ไม่ได้เอาใจใส่ดูคนที่มา ระยะไกลกันมากนี่ครับ....เชิญคุณนั่งก่อนซี” เขาพูดต่อไป เมื่อผู้เป็นแขกยังไม่แสดงท่าว่าจะลา
สมพงศ์สั่นศีรษะเล็กน้อยมองดูเมล็ดฝน ในที่สุดก็ตอบว่า “ผมจะลาละ จะไปที่อื่นต่อไปอีก” ทำความเคารพลาเจ้าของบ้านทั้ง ๒ คน แล้วสมพงศ์ก็ลงบันไดไป
“ใครจ๊ะพ่อใหญ่” คุณนายชื่นถามทันทีที่สมพงศ์เดินห่างไปแล้ว
วิชัยมีอาการกึกกักเล็กน้อย แล้วตอบได้ด้วยไวปัญญา
“ลูกพระยาเนติธรรมสุนทรครับ”
คุณนายชื่นนิ่งคิด มีความรู้สึกว่าได้เคยสำเหนียกชื่อนี้ไว้แล้วครั้งหนึ่ง แต่การสำเหนียกของคุณนายไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะไม่ลืมในภายหลัง ความอ่อนของคุณนายในข้อนี้ วิชัยจำได้แม่น ดังนั้นเขาจึงซ่อนยิ้มด้วยความพอใจ
“เป็นเพื่อนกับพ่อชัดด้วยหรือ?”
“เขาชอบกันมากเทียวครับ”
“มิน่าล่ะเขารู้จักแม่ แต่แม่มองดูเหมือนไม่เคยเห็นเขาเลย หรือเห็นแล้วจำไม่ได้ก็ไม่รู้ ท่าทางเขาเรียบร้อยดีนะ”
บัดนี้ความมืดกำลังปกคลุมไปทั่วแผ่นดิน ทั้งที่เวลายังไม่ล่วง ๑๘ นาฬิกา ความที่ได้นั่งนิ่งอยู่ในอาการคอยมานานนักแล้วทั้งอากาศก็เย็นขึ้น ทำให้คุณนายชื่นมึนศีรษะและง่วงนอน ดังนั้นภายหลังที่ได้ถอนใจและหาวหลายครั้งติดต่อกันแล้ว คุณนายก็จัดแจงเข้าห้องลงนอนคลุมผ้า เรียกให้เด็กคนใช้มานั่งทุบ มิช้าก็หลับอย่างสุขสบาย
ฝ่ายวิชัย การไม่ได้ทำงานทั้งโดยทางสมองและโดยทางกายนั้น เปรียบเหมือนเครื่องทรมานสำหรับเขา ขณะนั้นมารดาก็หลับแล้ว ฝนก็จวนจะขาดเม็ดแล้ว ชัดก็ยังไม่มา ครั้นวิชัยจะออกจากบ้านไปยังที่ ๆ ตนใคร่จะไป ก็เกรงว่าถ้าลูกชายคนเล็กมาถึง คุณแม่ตื่นขึ้นไม่พบลูกชายใหญ่จะเกิดการพื้นเสียหนักขึ้น แต่การที่ต้องถูกกักให้เฝ้าโยงเช่นนี้ วิชัยก็แสนที่จะอัดใจ อ่านหนังสือฆ่าเวลาหรือ น่าจะไม่ได้ประโยชน์เพราะเมื่อใจไปพะวงกับสิ่งอื่นเสียแล้ว สมองก็อ่อนในเชิงที่จะหาความรู้ นึกขึ้นมาถึงเครื่องแต่งห้องนอนที่ได้มาตัวใหม่และได้จัดแต่งไว้เมื่อตอนเช้าเรียบร้อย เมื่อตอนเช้า เมื่อไม่มีอะไรทำดีกว่า ก็ควรจะทำอาการเห่อของใหม่เพื่อแก้รำคาญชั่วครั้งคราว
พาตัวขาไปอยู่ในห้องแล้ว วิชัยมองไปทั่วห้องด้วยสายตาแสดงความพอใจ ม่านหน้าต่างสีเขียวกลางมีละอองฝนปลิวมาจับอยู่ เป็นหยาตน้ำระยิบระยับไปทั้งแถบ เครื่องแต่งห้องทุกชิ้นเป็นสีเดียวกับม่าน และทุกๆ ชิ้นวิชัยได้เลือกแบบและตรวจตราให้ช่างทำด้วยตนเอง
ทุก ๆ สิ่งเรียบร้อยไม่ต้องการแตะต้องเพิ่มเติม นอกจากโต๊ะเขียนหนังสือ จดหมายโต้ตอบทางการงานกับจดหมายส่วนตัวยังปนอยู่ที่เดียวกัน นี่คืองานชนิดเดียวที่วิชัยจะได้อาศัยทำเพื่อฆ่าเวลา นั่งลงบนเก้าอี้หน้าโต้ะนั้น มองดูรูปภาพ ๆ หนึ่งที่ใส่กรอบวางอยู่บนชั้นน้อยที่ติดกับโต๊ะ แล้วก็ตั้งต้นทำสิ่งที่ตั้งใจ
เขาตื่นจากความเพลิดเพลิน เมื่อรู้สึกตัวว่ามีคนเดินเข้ามาในห้อง เงยหน้าดูก็เห็นนายร้อยตรีชัดยืนยิ้มอยู่
“แหมฝีตีนเบาแมวสู้ไม่ได้เทียวนะวันนี้ !” เจ้าของห้องทัก
“คุณแม่อยู่ที่ไหน?” ชัดถามเสียงเบาเกือบเท่ากระซิบ
“คุณแม่คอยแกจนอ่อนใจเลยหลับไปแล้ว”
ชัดทิ้งตัวลงบนเตียงนอนของพี่ชายแล้วหัวเราะอย่างขบขันที่สุด
“รอดตัวไปวันหนึ่ง !” เขากล่าว “ไม่ต้องฟังด่า”
วิชัยมองดูน้อง ครึ่งขันครึ่งเคือง ในที่สุดเขาออกปากว่า
“แต่ฉันอยากด่าแกเหลือเกินตาชัด”
“ทำไม?” น้องชายถามอย่างตกใจ ถือรองเท้าที่ถอดแล้วหิ้วค้างอยู่
“แกทำฉันเสียเวลาไปด้วย จะไปไหนก็ไปไม่ได้ เพราะว่าฉันก็มีหน้าที่จะต้องไปหาคุณหญิงมะยมพร้อมกับแกด้วยเหมือนกัน”
“ทีเดียว ๒ คนเทียวหรือ? ยายนี่มักมากจังเลย !”
“อะไรตาชัด !” วิชัยพูดพยายามจะดุ แต่กลั้นยิ้มหาได้ไม่
ชัดลุกขึ้นจากเตียงโดยแรง สอดมือลงในกระเป๋ากางเกงทั้ง ๒ ข้างแล้วก้าวเท้าเดินไปมา แต่หาอาจก้าวออกไปนอกพรมที่อยู่หน้าเตียงไม่ ด้วยเกรงฝีเท้าจะดังลงไปถึงห้องข้างล่าง
“ผมเบื่อคุณแม่เรื่องหาผู้หญิงมาจับยัดให้ผม” เขาพูดอย่างหัวเสีย “ใครที่ไหนก็ไม่รู้ เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ท่านชอบแล้วละก้อเป็นเกณฑ์ให้ผมชอบด้วย ถึงทีที่ผมชอบของผมเอง ท่านเห็นเป็นลิงเป็นค่างไปฉิบ.... เออ ! นี่หรือเฟอร์นิเจอร์ใหม่ของพี่ใหญ่ สวยดีนี่ !” ก้าวเท้าออกจากพรมเป็นก้าวแรกพลางมองไปรอบตัวด้วยสายตาแสดงความเอาใจใส่ “สีเขียวเสียด้วย ที่ถูกมันควรจะเป็นของผมเพราะผมวันพุธ”
“พี่วันอาทิตย์แต่ชอบสีเขียว”
“ไอ้ชุดที่ผมใช้อยู่ซีมันควรเป็นของพี่ใหญ่ แลกกันเถอะน่ะ เอาชุดนี้ให้ผม พี่ใหญ่เอาของผมมาใช้”
“ขอบใจ” วิชัยตอบพลางหัวเราะ “ไหนคุณแม่บอกว่า แกชอบชุดเก่าของพี่นัก จะซื้อให้ใหม่ก็ไม่เอายังไงล่ะ พี่ถึงต้องไปทำชุดนี้มา”
ชัดทำหน้าเบ้ “ท่านให้เงินผม ๘๐ บาท” เขาตอบ “จะพอที่ไหน ขอเพิ่มก็ให้อีก ๒๐ บาท ก็ไอ้ไม่พออยู่นั่นเอง ตกลงผมก็เอาเงินนั่นไปพ่นสีชุดของพี่ใหญ่ แต่แบบมันเก่าโบราณเต็มทน ดูแล้วรำคาญตา”
วิชัยมองดูน้องอย่างเห็นขัน อมยิ้มอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถามขึ้นว่า
“แกเคยเห็นลูกคุณหญิงรานรอนแล้วหรือยัง?”
“เฮ้อ” ชัดร้องอย่างเบื่อหน่าย “ผมไม่ต้องการเห็น เคยรู้เสียแล้ว ตาคุณแม่กับผมมันตรงข้าม เดี๋ยวนี้ผมอยากรู้ว่าจะทำอย่างไร ผมจึงจะหนีไม่ให้คุณแม่จิกหัวผมไปหายายคุณหญิงบ้านั่นได้”
“พี่เกรงว่าแกมีอุปาทานแรงเกินไปชัด” หลวงอรรถคดี ฯ พูดเรียบ ๆ “อย่างน้อยที่สุดแกควรจะไปดูตัวผู้หญิงเสียหน่อย บางทีแกอาจจะชอบเขาก็ได้ ไม่ใช่คนเดียวนะแก ๔-๕ คนนั้นแน่ะ เขายอมให้แกเลือกเอาด้วย”
“ขอบใจ” ชัดเลียนพี่ชาย “ผมไม่รับประทาน อย่าว่าแต่ ๔ คนเลย ครึ่งคนก็ไม่รับ พวกนั้นเดนเลือกทั้งเพ”
สีหน้าวิชัยแสดงความพิศวงเล็กน้อย
“เป็นอย่างไรแกจึงได้ว่าเขาเดนเลือก”
“ก็เพราะไม่มีใครเขาต้องการน่าซี ถ้าไม่เดนมันจะมาถึงผมหรือ”
“แกเข้าใจผิดไปกระมัง พี่ได้ยินว่ามีคนต้องการ แต่ไม่กล้าจรดเข้าไปต่างหากเพราะราคาแพงนัก”
“มันก็ไอ้อย่างเดียวกันนั่นแหละ จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ลูกสาวบ้านนั้นไม่มีใครต้องการ ยายแม่ถึงต้องเอาออกเร่ขาย”
“พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกอยู่นั่นเอง คุณหญิงมะยมไม่ได้เอาลูกมาขายแก เขาจะเอาลูกเขาซื้อแกต่างหาก”
ชัดหัวเราะอย่างหงุดหงิดแล้วว่า
“ทำไมคุณแม่ถึงไม่เอาพี่ใหญ่ซื้อเขานะ”
“ก็เพราะเขาไม่ต้องการพี่ คนแก่แล้ว เขาต้องการพ่อชัดคนหนุ่มแน่นและเป็นนักเรียนนอก”
ชัดออกเดินอีก ครั้นแล้วก็กลับมาหยุดอยู่ตรงหน้าวิชัยดังเก่าถามขึ้นว่า
“ถ้าเขาต้องการพี่ใหญ่ พี่ใหญ่จะรับหรือ?”
วิชัยมองดูรูปภาพที่ตั้งอยู่บนโต๊ะแล้วจึงตอบว่า
“พี่เคยตามใจคุณแม่ในเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว คิดว่าท่านจะไม่เรียกร้องให้ทำอีกเป็นครั้งที่ ๒”
ชัดมองตามสายตาพี่ชาย แล้วถามอย่างเอางานเอาการ
“ในคราวนั้นพี่ใหญ่ได้รับผลอย่างไรบ้าง?”
วิชัยหยิบรูปมาถือไว้ สีหน้าค่อนข้างเศร้า เขาพูดช้า ๆ ด้วยเสียงเบา
“เรามีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยเกินไป แกเห็นจะจำไม่ได้ว่า พอพี่แต่งแล้วได้ ๓ อาทิตย์ก็ต้องไปเชียงราย เวลานั้นการเดินทางแสนที่จะลำบาก พี่เองก็ไม่คุ้นกับภูมิประเทศ จะพาเมียไปด้วยก็กลัวจะไปเจ็บไข้ พี่ไปแล้วได้ ๖ เดือน จึงได้จดหมายบอกให้ทางนี้เตรียมตัวไปอยู่กับพี่ พอกำหนดวันไปแม่สุ่นก็ล้มเจ็บ คุณแม่โทรเลขไปบอกพี่รีบเดินทางมาทันทีแต่ไม่ทันเวลา แกตายเสียก่อนพี่มาถึง ๒ ชั่วโมง เรื่องเป็นเช่นนี้พี่จึงบอกไม่ถูกว่าผลที่ได้รับจากการที่อยู่ในคำคุณแม่คราวนั้น จะดีหรือร้ายประการใด บอกได้แต่เพียงว่าพี่ก็เป็นหม้ายอยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ๓ ปีแล้ว”
ชัดยืนมือไขว้หลังอยู่ข้างวิชัย พิศดูรูปภาพหญิงสาวอายุราว ๑๘-๑๙ ตัดผมสั้น นุ่งม่วง สวมเสื้อนอกสะพายแพร สวมถุงเท้ารองเท้า ประดับอาภรณ์ครบชุดตามสมัยในปีที่ถ่ายรูปนี้ ดวงหน้าของหล่อนกลมแป้นไม่ยิ้มไม่บึ้ง แววตาซื่อ ดูเฉยเมย เป็นสีหน้าและแววตาที่ไม่ช่วยผู้ดูให้อ่านนิสัยได้ออกแม้แต่สักเล็กน้อย
“ผมนึกไม่ออกว่า พี่สะใภ้ของผมคนนี้มีนิสัยเป็นอย่างไร” นายทหารหนุ่มเอ่ยขึ้นอย่างตรึกตรอง “จำได้แต่ว่า แกไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับใครขลุกอยู่ในห้องเสมอ นอกจากเวลาคุณแม่ทำงานถึงจะได้เห็นแกมานั่งร่วมวงกับคนอื่น อ้อยังมีอีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนแกเป็นคนรวยไม่ใช่หรือครับ?”
แกเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ข้อนี้ทำให้ใคร ๆ เข้าใจว่าแกมีสมบัติมาก ซึ่งแท้จริงก็ไม่มีมากเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม นับว่าแกมีบุญคุณแก่เรามากอยู่ จากสมบัติส่วนหนึ่งของแกที่กองทุนด้วยกันกับของพี่ เราได้ถ่ายที่นาของเราทั้งหมดที่ได้จำนำเขาไว้เมื่อคุณพ่อถูกพักราชการ”
|
|
|
Logged
|
|
|
|
|