ppsan
|
|
« on: 02 March 2022, 15:32:36 » |
|
ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ สร้างจักรวาลของพระรามาธิบดี ที่วัดพระแก้ว
https://www.matichonweekly.com/column/article_342920
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ สร้างจักรวาลของพระรามาธิบดี ที่วัดพระแก้ว
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2563 คอลัมน์ On History ผู้เขียน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 3 กันยายน พ.ศ.2563
จิตรกรรมที่วาดอยู่บนระเบียงคดของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” ตามภาษาปากของคนไทยโดยทั่วไปนั้นมีร่องรอยให้สืบได้ว่า วาดเรื่อง “รามเกียรติ์” มาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว
หลักฐานผมนำมาจากปากคำในหนังสือ “รามเกียรติ์ วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7” ของ อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ศิลปวัฒนธรรมจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2560)
ปรากฏหลักฐานอยู่ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกของพระชำนิโวหาร ซึ่งแต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวถึงพื้นที่บริเวณระเบียงคดวัดพระแก้วเอาไว้ว่า
“เรขเรื่องรามเอาวตาร แต่ต้น”
แต่ตอนนั้นระเบียงคดวัดพระแก้วยังไม่ได้มีหน้าตาเช่นเดียวกันกับทุกวันนี้หรอกนะครับ เพราะในสมัยโน้นแผนผังของระเบียงคดวัดพระแก้วนั้น อ.รุ่งโรจน์ก็ได้ค้นคว้าจากเอกสารโบราณมากมาย จนสรุปออกมาในทำนองที่ว่า
ระเบียงคดของวัดพระแก้วเมื่อแรกสร้าง น่าจะมีแผนผังอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยม ไม่มีการหักศอก “ย่อ” ระเบียงออกไปที่ผนังด้านทิศเหนือและใต้อย่างที่เห็นในทุกวัน
คําถามก็คือ รัชกาลที่ 1 โปรดให้วาดเรื่องรามเกียรติ์เอาไว้ที่ผนังระเบียงคดทำไม?
เพราะถ้าจะว่ากันตามธรรมเนียมการสร้างวัดแบบกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็มักจะประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายอยู่รอบระเบียงคด โดยอาจจะมีจิตรกรรมรูปดอกไม้ ใบไม้ หรือลวดลายกระหนกอะไรก็ว่าไปเสียมากกว่า
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยสันนิษฐานไว้ว่า เป็นเพราะไปเอาแบบอย่างมาจากการสลักเรื่องรามยณะที่ระเบียงคตปราสาทนครวัด (สลักร่วมกับเรื่องอื่นๆ เช่น มหาภารตะ กวนเกษียรสมุทร นรก-สวรรค์ ขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาท) แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่ได้บอกอะไรเรามากไปกว่าเรื่องของแรงบันดาลใจ
นักวิชาการรุ่นหลังจากกรมพระยาดำรงฯ หลายคนอธิบายว่า การเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่ผนังระเบียงคตวัดพระแก้วนั้นสอดคล้องคติความเชื่อที่ว่ากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ (และอันที่จริงแล้วพระนามของพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงเทพฯ นั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็น “รามาธิบดี” คือ “พระราม” อีกด้วย) ในขณะที่ในงานชิ้นเดิมของ อ.รุ่งโรจน์ได้ยกข้อความในพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 เรื่อง ตั้งผู้ตรวจแก้โคลงรามเกียรติ์ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ให้พระสงฆ์และพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่งร้อยเรียบเรียงขึ้นครั้งนี้เป็นของสำคัญในรัชกาล ด้วยตั้งพระราชหฤทัยจะให้เป็นของบูชาถาวรในพระพุทธศาสนาไปสิ้นกาลนาน”
อ.รุ่งโรจน์จึงได้เสนอว่า “ดังนั้น เมื่อจารึกโคลงภาพรามเกียรติ์ (ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว-ผู้เขียน) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นของบูชาในพระพุทธศาสนา จิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดก็น่าจะนับเนื่องด้วยว่าเป็นของบูชาในพระพุทธศาสนาได้เช่นเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะชวนให้สังเกตด้วยว่า นอกเหนือจากที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้เขียนจิตรกรรมรามเกียรติ์ขึ้นแล้ว ยังโปรดให้ชำระเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่อีกด้วย
การชำระรามเกียรติ์ตามรับสั่งของพระองค์นั้นก็ถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรม” เลยนะครับ เพราะหนังสือเกี่ยวกับรามเกียรติ์ที่มีมาก่อนหน้าทั้งในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีนั้น ต่างก็เป็นบทละคร ที่เขียนขึ้นแยกเป็นตอนต่างๆ ไม่ได้เขียนจบทั้งเรื่อง
และยิ่งไม่ได้มีครบทั้งเรื่อง
การชำระรามเกียรติ์ในสมัยของพระองค์จึงเป็นการนำทั้งบทละครรามเกียรติ์และเรื่องเกี่ยวกับ “รามายณะ” หลากหลายสำนวนมาสอบทานแล้วร้อยเรียงขึ้นเป็นเรื่องใหม่คือ รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1
เราไม่มีหลักฐานว่า ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น เขียนตั้งแต่ตอนไหนถึงตอนไหน แต่ก็ควรจะไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก เมื่อคำนึงถึงลักษณะเชิงอุดมคติ และพิธีกรรม รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าจะผ่านการบูรณะมากี่หน ก็ยังเขียนเรื่องรามเกียรติ์อยู่เหมือนเดิม
โลกของรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 จึงเป็นจักรวาลของพระรามที่ใหม่เอามากๆ ในสายตาของผู้คนในยุคนั้น “พระราม” (แน่นอนว่าย่อมมีภาพทับซ้อนกับความเป็น “รามาธิบดี” อยู่ด้วย) ไม่ได้เป็นเพียงตัวเอกในบทละครของชาววัง ที่นานทีปีหนจึงจะมีโอกาสได้ดูอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็นวรรณกรรมขนาดยาวที่สำคัญเรื่องหนึ่ง
แถมยังสำคัญขนาดที่จะทำให้มีการเขียนเรื่องราวไว้ในวัดพระแก้ว ซึ่งก็คือวัดประจำพระบรมมหาราชวังอีกต่างหาก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นวรรณกรรมที่จำเป็นต้องรู้จักกันอย่างน้อยก็ในหมู่ชนชั้นสูง
แต่รามเกียรติ์ไม่ใช่วรรณกรรมเรื่องเดียวที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้ชำระนะครับ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น สามก๊ก และราชาธิราช (ซึ่งก็คือเรื่องราวที่ว่าด้วยกษัตริย์ในอุดมคติไม่ต่างไปจากพระราม เพียงแต่ว่าพระรามนั้นไม่ได้เป็นเพียงกษัตริย์ที่ดี แต่เป็นอวตารของเทพเจ้าด้วย) แต่เรื่องที่ควรจะพูดถึงในที่นี้คือ “ไตรภูมิ”
หนังสือไตรภูมิฉบับที่ถูกชำระขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ชื่อว่า “ไตรโลกวินิจฉยกถา” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าพระองค์จะให้ความสำคัญกับการชำระไตรภูมิเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะถึงกับ “ทรงปรู๊ฟต้นฉบับ” ที่พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ชำระแล้ว ก่อนที่จะทรงให้แก้ไขมาใหม่
ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาก็ดูจะเป็นสิ่งที่ “แหวกขนบ” ของหนังสือประเภทไตรภูมิอีกเช่นกัน เพราะเรื่องที่อยู่ในไตรภูมิฉบับนี้ ไม่ได้ถูกชำระ หรือเรียบเรียงมาจากเรื่องราวเฉพาะในหนังสือประเภทไตรภูมิเท่านั้น แต่ยังรวบรวมเอาข้อมูลอื่นๆ ที่อยู่นอกหนังสือไตรภูมิ เช่น เรื่องราวในหนังสือมหาวงศ์ ซึ่งคือพงศาวดารของลังกาทวีป มาอยู่ในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาด้วย
ทั้งไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา และรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 จึงได้สร้างจักรวาลวิทยาในอุดมคติแบบใหม่ อย่าลืมนะครับว่า วัดพระแก้วนั้นก็ย่อมจะจำลองจักรวาลจากปรัมปราคติแบบไตรภูมิมาจัดวางอยู่ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ อันเป็นจารีตในการสร้างวัดใหญ่ทั่วไป แต่วัดพระแก้วนั้นเชื่อมโยงไตรภูมิเข้ากับเรื่องพระรามผ่านทางภาพจิตรกรรม (และจารึกโคลงรามเกียรติ์ในสมัยต่อมา) และนี่ก็คือจักรวาลวิทยาที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นมาใหม่
ผมต้องเตือนด้วยว่า วัดพระแก้วเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรม แถมยังเป็นพิธีกรรมของราชสำนักเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยแท้
ดังนั้น จักรวาลวิทยาที่ถูกจำลองอยู่ในวัดพระแก้ว จึงเป็นจักรวาลในอุดมคติของราชสำนัก อะไรก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นภายในวัดจึงเป็นการ “บริหาร” (exercise) พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านทางความเชื่อและอุดมคติไปด้วย
การเขียนรูปรามเกียรติ์ที่ผนังระเบียงคดของวัดก็คงจะไม่ใช่ข้อยกเว้น
แน่นอนว่าลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะทั้งการบูรณะ และต่อเติมวัดพระแก้วเป็นมาอีกหลายรัชสมัย
ถ้าจะว่ากันเฉพาะในเรื่องของภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดนั้น สมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีการเขียนขึ้นใหม่, การขยายและต่อเติมระเบียงคดในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็น่าจะมีผลต่อภาพจิตรกรรม, การฉลองคราวสมโภชพระนครครบ 100 ปีในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นก็มีการเขียนภาพรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ พร้อมกับมีการประดับจารึกเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ ในสมัยของพระองค์
ซึ่งก็คงจะเป็นแบบอย่างให้ในคราวสมโภชพระนครครบ 150 ปี เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ทั้งเขียนภาพรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ และมีการประดับจารึกเรื่องรามเกียรติ์ด้วยเช่นเดียวกัน
น่าสนใจนะครับว่า ปีที่สมโภชพระนครครบ 150 ปีนั้น ตรงกับ พ.ศ.2475 ที่ลมใต้ปีกของกลุ่มที่ต่อมาจะเรียกตัวเองว่าคณะราษฎรนั้นกำลังกระโชกเสียด้วย
กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
|