Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
06 November 2024, 06:24:46

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,389 Posts in 12,814 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  ผนังเก่าเล่าเรื่อง (Moderator: ผนังเก่าเล่าเรื่อง)  |  ถอดรหัส’ระเบียงคด’วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สยามยุคพระปกเกล้าฯ จากจิตรกรรม’รามเกียรต
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: ถอดรหัส’ระเบียงคด’วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สยามยุคพระปกเกล้าฯ จากจิตรกรรม’รามเกียรต  (Read 324 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,231


View Profile
« on: 02 March 2022, 15:26:51 »

ถอดรหัส’ระเบียงคด’วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สยามยุคพระปกเกล้าฯ จากจิตรกรรม’รามเกียรติ์’


https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_227723

ถอดรหัส’ระเบียงคด’วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สยามยุคพระปกเกล้าฯ จากจิตรกรรม’รามเกียรติ์’
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 - 14:51 น.



หนุมานฝ่าด่านยุงยักษ์ตัวโตเท่าแม่ไก่ เพื่อช่วยพระรามที่เมืองบาดาล หนึ่งในภาพยอดฮิตที่ผู้คนกล่าวขวัญ

ที่มา   มติชนรายวัน
ผู้เขียน   พรรณราย เรือนอินทร์
เผยแพร่   วันที่ 28 กรกฎาคม 2559

เมื่อกล่าวถึงดินแดนสยามประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจำส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องราวในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รวมถึงการก่อสร้างสิ่งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์อย่างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่ธำรงอยู่คู่พระนครเรื่อยมาจวบจนปัจจุสมัย

ทว่า ในมุมของศิลปะและวัฒนธรรมตามอย่างจารีตประเพณี ยังมีเหตุการณ์สำคัญยิ่ง อย่างการรังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดรามเกียรติ์อันรายล้อมรอบระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งไม่ได้มีแค่ความงดงามอลังการ หากแต่บันทึกห้วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลัง ทั้งยังมีแง่มุมหลากหลายที่คล้ายยังเป็นปริศนาให้ค้นคว้าต่อยอด

นี่คือเหตุผลที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ตัดสินใจทุ่มเทดำเนินการศึกษาเรื่อง “จิตรกรรมระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ภายใต้โครงการวิจัย “สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยได้รับทุนจากมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

‘ระเบียงคด’แรงบันดาลใจจาก’นครวัด’
ความสนใจของประเด็นนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ประเด็นของสถานที่เขียนภาพ นั่นคือ ระเบียงคด ซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ สันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากระเบียงคดของปราสาทนครวัด แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากระเบียงคดเป็นสิ่งที่ปรากฏครั้งแรกในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 แล้วส่งอิทธิพลให้ดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยอยุธยา สืบมาถึงรัตนโกสินทร์ ส่วนการเขียนภาพจิตรกรรมก็คาดว่าเป็นอิทธิพลจากภาพสลักที่ระเบียงคดของปราสาทนครวัดเช่นกัน

“ระเบียงคดเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏครั้งแรกในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนกลาง จนต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 จึงเริ่มพบว่ามีการแกะภาพพระพุทธรูปเรียงรายตามผนัง ต่อมาเมื่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิการก่อระเบียงคดจากวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรโดยมีพัฒนาการออกไปอีกขั้นหนึ่ง คือเนื่องจากผนังระเบียงคดของอยุธยาก่ออิฐถือปูน ไม่ใช่ก่อด้วยหินเหมือนในเขมร ดังนั้น อยุธยาจึงก่อพระพุทธรูปแทนการแกะสลักหิน และคงสืบทอดลักษณะเช่นนี้ลงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับการเขียนจิตรกรรมที่ระเบียงคดในลักษณะนี้ ไม่พบที่วัดสำคัญแห่งอื่นๆ เพราะมีการนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ จึงไม่เอื้อต่อการเขียนภาพ แต่ที่วัดพระแก้ว ผมคิดว่ามีความตั้งใจที่จะเขียนภาพจิตรกรรมมาแต่แรก จึงไม่มีการนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ โดยน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากภาพสลักที่ระเบียงชั้นนอกของปราสาทนครวัด” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว



จิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีโคลงจารึกสมัย ร.5 อธิบายเรื่องเป็นตอนๆ


เขียนแล้วลบ รื้อแล้วสร้าง แนวทางก่อนรัชกาลที่ 7

จากเรื่องระเบียงคด มาถึงแนวคิดการวาดจิตรกรรม ซึ่งอาจารย์เปิดเผยข้อมูลว่า จากหลักฐานด้านเอกสารพบว่าที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว มีการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แล้วมีการ “ลบ” ภาพเพื่อเขียนใหม่ทุกครั้งเมื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ๆ ไม่ใช่เพียงการเขียนซ่อมแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ

“จิตรกรรมที่ระเบียงคดมีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการลบทิ้งเขียนใหม่ พอสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการสร้างปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งจำเป็นต้องขยายแนวระเบียงคด ทำให้ต้องเขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง โดยเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลเดียวกันนี้ เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2425 ก็ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีก โดยประชุมช่างเอกของกรุงมาช่วยกันเขียนในตอนต่างๆ มีการสร้างแผ่นโคลงจารึกติดไว้บนเสาระเบียงว่าใครเขียนตอนไหน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 คราวฉลองพระนครครบ 150 ปี ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง โดยมีพระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียนศิลปะไชย) เป็นหัวหน้างาน ใช้เวลา 3 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการลบของเดิมทิ้งยกชุดเพื่อเขียนใหม่เหมือนรัชกาลก่อนๆ แต่เป็นการเขียนซ่อมในส่วนที่ชำรุดเท่านั้น ยกเว้นบางส่วนที่ชำรุดจนซ่อมไมได้จริงๆ ถึงจะลบเขียนใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน”



สมุดไทยดำ “ภาพร่าง” รามเกียรติ์ก่อนเขียนจริงบนผนัง เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ



ภาพร่างจิตรกรรม มีข้อความระบุตำแหน่งว่า “คางป่ตูฉ่นวนดานตวันตกถึงมูม ๓ หอง”


งานศิลป์’สมจริง’ ยักษ์-ลิง ราวมนุษย์

สำหรับมุมมองด้านศิลปะ รุ่งโรจน์บอกว่า ลักษณะเด่นคือความพยายามที่จะเขียนฉากวิวทิวทัศน์ให้สมจริงเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงกับการเขียนภาพ พระ เทวดา ลิง และยักษ์ในจิตรกรรมมีกล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นสมัยนิยมในช่วงรัชกาลที่ 7 สอดคล้องกับหลักฐานด้านเอกสารซึ่งมีข้อความใต้ภาพจิตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เขียนในระหว่าง พ.ศ.2472-2474

“ลักษณะฝีมือเมื่อเทียบกับจิตรกรรมในช่วงปลาย ร.5-ร.-6 พบว่าจิตรกรรมที่ระเบียงคดแห่งนี้ได้พัฒนาการเทคนิคการเขียนออกไปมาก เช่น การมีแสงเงาที่พยายามจะให้ใกล้เคียงธรรมชาติ รวมถึงตัวพระ ลิง ยักษ์และเทวดาที่มีการแสดงกล้ามเนื้ออย่างชัดเจน”



ภาพธรรมชาติ อาทิ ต้นไม้ที่ดูเสมือนจริง ฝีมือจักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวัยหนุ่ม เมื่อ พ.ศ.2515



หนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพณ์ เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 ฝีมือ “สง่า มยุระ” จิตรกรและผู้ก่อตั้งโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของไทย


ความรู้เปิดผนึก

ข้อมูลความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ไม่ได้ปิดผนึกไว้แน่นหนาในห้องสมุด หากแต่นำออกเผยแพร่โดยการชักชวนผู้สนใจเข้าชมจิตรกรรมระเบียงคด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 178 ห้อง โดยใช้เนื้อหาจากรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เริ่มต้นพระชนกไถดินหานางสีดาจนจบตอนพระพรต พระสัตรุต พระมงกุฎ และพระลบ กลับอโยธยาเฝ้าพระราม

นอกจากนี้ ยังมีจิตรกรรมที่เขียนอยู่ที่ผนังช่องทางเดินที่ซุ้มประตูทั้ง 7 ซุ้มของระเบียงคดและที่ผนังช่วงหักศอกของระเบียงคดด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร อีกทั้งผนังระเบียงบริเวณหลังพระศรีรัตนเจดีย์ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งนำเนื้อหาจากนารายณ์สิบปางและรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 มาเขียน

รวมถึงจิตรกรรมอสูรพงศ์และวานรพงศ์ที่เขียนขึ้นในฐานะทวารบาลที่ผนังของซุ้มประตูและผนังช่วงหักศอกของระเบียงคดด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร และผนังหักศอกหลังพระศรีรัตนเจดีย์

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังชี้ชวนให้สังเกตดูรายชื่อนายช่างหลายรายซึ่งกลายเป็น “ศิลปินดัง” อาทิ เฟื้อ หริพิทักษ์ และจักรพันธุ์ โปษยกฤต

จิตรกรรมเหล่านี้ จึงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตและจะคงอยู่คู่กรุงศรีรัตนโกสินทร์สืบไปชั่วกาลนาน



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.058 seconds with 22 queries.