Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
22 December 2024, 17:06:22

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ข้อควรปฎิบัติ  |  ห้องรับแขก (ยังไม่เป็นสมาชิกก็ถามได้ที่นี่นะครับ) (Moderators: ppsan, Smile Siam, Siamese Smile, Mocha, Areja, moowarn)  |  เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Reply Print
Author Topic: เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก  (Read 3004 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« on: 27 February 2022, 16:36:11 »
Reply with quote

เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5510.0

เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก  โดยคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


SRISOLIAN

ผมเคยอ่านหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก  รู้สึกประทับใจในความเรียบง่ายของชีวิตคนไทยในสมัยอดีตช่วงรัชกาลที่ 6-8 มีท่านใดพอจะทราบประวัติของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์บ้างครับ และปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ  ผมติดตามอ่านเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งสตรีสารภาคพิเศษ จนรวมเล่มมาเป็นเล่มที่ 1-4 ครับ  นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากครับ

.....

เทาชมพู

คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี)  คุณหลวงจรูญเป็นคนไทยที่สำเร็จวิชาวิศวกรรมการรถไฟจากประเทศอังกฤษ  กลับมารับราชการกรมรถไฟหลวง

 เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน โรงงานมักกะสัน ในปี พ.ศ. 2473  ในรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศัราชทินนามเป็น หลวงจรูญสนิทวงศ์

หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมหลวงรวง มีธิดาชื่อ อรุณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา) ซึ่งสมรสกับหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ส่วนคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาเกิดจากหม่อมหลวงฟ่อน(ไม่ทราบนามสกุล)

คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แล้วศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นการเพิ่มเติม  ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านผดุงชีพ ขายงานจำพวกศิลปหัตถกรรม ที่ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร  ท่านชอบการเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปหัตกรรมของไทยมาตั้งแต่เป็นนักเรียน   ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กตาชาววัง หัวโขน ปลาตะเพียน ฯลฯ พิมพ์อัดสำเนาแจกแก่กลุ่มบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยมากเป็นลูกค้าที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจากร้านหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก  ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือระหว่างชาติ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๕ (International Book Year ค.ศ. ๑๙๗๒) ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ในโครงการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาหนังสือ ตามมติขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ

คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547 ค่ะ  อัฐิบรรจุไว้ที่วัดชนะสงคราม บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ

.....

SRISOLIAN

ขอขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาหาคำตอบมาให้อย่างรวดเร็ว ขอถามเพิ่มเติมว่ามีหนังสือที่ระลึกอนุสรณ์งานศพของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หรือเปล่าครับ อยากศึกษาประวัติของท่าน เพราะตั้งแต่ติดตามอ่านมาไม่เคยเห็นภาพของท่านเลยครับ

.....

เทาชมพู

ไม่เคยเห็นหนังสือที่ระลึกงานศพของคุณทิพย์วาณีค่ะ   ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่

.....

เทาชมพู

ชอบเรื่องนี้มาก  คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย  ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆที่เธอบรรยายไว้
เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว  แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม

สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน  ขอยกบางตอนมาให้อ่านกัน ตามที่ไปพบในอินทรเนตรค่ะ

..........


แม่บ้านที่ดี

วันหนึ่งคุณแม่ของคุณยายพาไปเยี่ยมเพื่อน  เมื่อคุณยายเข้าไปในบ้านก็กวาดสายตาดูในบ้านแล้วชอบใจมาก  เพราะบ้านนี้สะอาดมากจริงๆ เครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทองเหลืองขัดเสียขาวและสุกราวกับทอง  ทุกอย่างแลดูใหม่เอี่ยมอ่องไปทั้งนั้น  เจ้าของบ้านยังไม่ออกมา  คุณแม่กระซิบกับคุณยายว่า  "บ้านนี้เขาสะอาดมาก  ให้ดูเป็นตัวอย่างลูกผู้หญิงต้องละเอียดลออและเอาอย่างนี้จึงจะดี  แล้วยังมีอะไรดีๆอีกหลายอย่างทีเดียว"
 
       เมื่อเจ้าของบ้านออกมา  แต่งตัวสะอาดเอี่ยมออกมาต้อนรับ  แล้วแนะนำให้คุณยายเรียกคุณป้า  คุณป้าคนนี้มีลูกมากมาย  ขนาดเดียวกับคุณยายก็มี  แต่งตัวสะอาดทุกคนและเรียบร้อยหมด  คุณป้ากำลังระดมลูกๆให้แกะมะขามอยู่  คุณยายจึงเข้าช่วยด้วย  ช่วยกันแกะเปลือกมะขาม  และแกะเม็ดออกด้วย  เม็ดมะขามมากมายใส่อ่างไว้ต่างหาก  มะขามนี้แกะแล้วทำเป็นปั้นใหญ่ๆ  เก็บตุนไว้ทำกับข้าวตลอดปี  เม็ดมะขามก็ไม่ทิ้ง เก็บไว้  ถ้าจะกินใบมะขามอ่อนในหน้าที่ไม่มีใบมะขามอ่อน  ก็จะเอาเม็ดมะขามนี้ใส่อ่างดินแล้วรดน้ำ  ไม่กี่วันก็จะมีใบมะขามอ่อนมาทำแกงต้มโคล้งกินได้แล้ว

       ลูกสาวของคุณป้าคนหนึ่งคุยระหว่างแกะเม็ดมะขามว่า  "คุณแม่ฉันทำอะไรเองทุกอย่าง  ไม่ค่อยได้ซื้อ  หน้าที่มีผลไม้อะไรมากๆก็จะเก็บตุนไว้เผื่อเวลาหมดหน้าเสมอ  มะม่วงมีมากก็ทำมะม่วงกวนเก็บไว้  ที่นี่มีของกินมากมายไม่เคยอดอยาก  เพราะคุณแม่มีลูกมาก  ต้องทำอาหารคราวละมากๆ  และไม่ให้มีอะไรเหลือเศษได้เลย  หน้าแตงโม  ก็ให้ลูกกินแต่เนื้อแตงโม  เปลือกก็เก็บไว้ทำแกงเลียงบ้าง  แกงส้มบ้าง  บางทีก็ดองให้กินมื้อต่อไปอีก  ไม่ปล่อยอะไรให้เสียเปล่าได้เลย"

คุณยายคิดในใจว่าคุณป้านี่ช่างเป็นแม่บ้านที่ดีแท้ๆ  ก็พอดีพี่อีกคนหนึ่งเล่าว่า  "แม้แต่เปลือกมะนาวที่ใช้ทำกับข้าวแล้วก็ยังเก็บไว้ดองให้ลูกกินกับข้าวต้มได้อีก  เปลือกมะนาวนี้ใช้ล้างมือได้สะอาดหมดคาวได้ดี  ผิวมะกรูดเอาไปตำน้ำพริก แล้วก็เอาเนื้อและน้ำมะกรูดมาสระผมได้อีก   สระแล้วสะอาด  ผมดำเป้นมันลื่นอีกด้วย"

       แกะมะขามเสร็จแล้วคุณป้าก็เรียกลูกๆขึ้นไปข้างบน  แล้วส่งกรรไกรกับผ้าขาวมากมายให้แล้วบอกกับลูกสาวว่า  "ตัดริมผ้านี้เก็บไว้"  แล้วพี่ก็เอากรรไกรมาตัดริมผ้ายาวตลอดผืนทั้งสองข้าง  แล้วม้วนๆเอาไว้เป็นกลุ่ม  ขณะที่ตัดผ้าก็ชี้แจงให้ฟังว่า  "ริมผ้านี้เส้นด้ายเหนียวกว่าเนื้อผ้า  เราต้องตัดเก็บไว้ทำด้ายเนา  เก็บไว้ใช้ได้นานๆ  เลาะออกมาใช้ทีละเส้นๆ ไม่ต้องไปซื้อด้ายเย็บผ้ามาเนา  เพราะแพงกว่าริมผ้ามาก  เศษผ้าทุกชิ้นคุณแม่เก็บไว้หมด  เอาไว้ซ่อมแซมเสื้อผ้า  บางทีเราอาจทำขาดหรือมีอุบัติเหตุ  เราจะได้มีผ้าที่มีสีดอกเหมือนกันซ่อมได้  แล้วมองไม่เห็นรอยผ้า  ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ขาดไปเป็นผ้าเช็ดชาม  ผ้าถูเรือน   คุณแม่ก็ต้องให้ลูกตัดเอากิ๊บ  กระดุมที่ยังดีๆอยู่เก็บไว้หมดเอาไว้ซ่อมตัวอื่นได้  ทั้งเวลาใช้ถูเรือนก็ไม่ขูดกระดาน"  ว่าแล้วก็ไปหยิบกระปุกไม้กลึงที่มีกระดุมสารพัดสีสารพัดขนาดออกมาให้ดู

      เมื่อลากลับแล้ว  คุณแม่ของคุณยายบอกว่า  "เห็นไหมเล่าลูกว่าบ้านนี้  เขาเป็นแม่บ้านที่ดียังไง  เขาจึงได้มีกินมีใช้สุขสบาย  เงินทองไม่รั่วไหล  ทั้งๆที่เดิมก็ไม่ได้เป็นคนมั่งมีมาก่อนเลย  ลูกก็มากมาย   เอาไว้เป็นตัวอย่างนะ"  แล้วคุณยายก็รับคำ  และในใจก็คิดว่า  อยากมาเที่ยวบ้านนี้อีกจริงๆ

..........


น้ำฝน

เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น  กรุงเทพฯ มีน้ำประปาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงกันนัก  ส่วนมากยังอาศัยดื่มน้ำฝน  และน้ำตามแม่น้ำและลำคลองกันอยู่  บางบ้านที่อยู่ใกล้ถนน  ก็อาศัยน้ำประปาตามก๊อกสาธารณะ ที่รัฐบาลทำไว้ให้ประชาชนใช้กันเปล่า ๆ    ก๊อกเหล่านี้มีเป็นระยะ ๆบ้านใครอยู่ใกล้ก็สบายมาตักตวงเอาไปใช้ในบ้านของตนได้ง่าย  บ้านที่อยู่ห่างออกไปก็เอาถังเอาปี๊บมารองหิ้วไปหรือหาบเอาไปเอง  แต่มีบางบ้านซื้อน้ำมาจากพวกนี้เป็นหาบ ๆ ไว้ใช้กัน

คุณตามีเพื่อนนักเรียนที่อายุมากกว่า  ตัวโตกว่าเพราะเข้าโรงเรียนเมื่อโต  กลางวันก็มาโรงเรียน  กลับไปบ้านก็ช่วยพ่อแม่ทำงานค้าขาย  ตอนกลางคืนก็รับจ้างหาบน้ำรองน้ำประปาจากก๊อกสาธารณะใส่โอ่งตามบ้านใกล้  เมื่อยังไม่โตก็หาบน้ำที่ปี๊บยังไม่เต็ม  โตขึ้นก็เพิ่มอีกให้เต็มปี๊บได้  พ่อของเขาแข็งแรงหาบคราวละ ๔ ปี๊บ  ข้างหน้า ๒ ปี๊บ  ข้งหลัง ๒ ปี๊บ  หาบเสียไม้คานแอ่นทีเดียว

หน้าร้อนคนใช้น้ำกันมากน้ำขายดี  รองน้ำหาบไม่ทันคนใช้  ต้องเอาปี๊บไปคอยรองน้ำตลอดคืน  หาบกลางคืนดีแดดไม่ร้อน  ช่วยไม่ให้เหนื่อยง่าย  หน้าฝนคนไปใช้น้ำฝนกันหมด  น้ำประปาขายไม่ค่อยดี  รายได้ตกต่ำเก็บเงินไม่ได้มากเหมือนหน้าร้อน

ทั้งคุณตาและคุณยายเมื่อเด็ก ๆ  ชอบเล่นน้ำฝนจริง   พอฝนตกชักอยากจะขยับออกไปเล่นน้ำฝน  ผู้ใหญ่รู้ทันมักจะห้ามไว้ว่า
"ให้มันตกหนักกว่านี้ค่อยเล่น  ตกนิด ๆ หน่อย ๆ จะไปดีอะไร   เล่นแล้วก็ต้องล้างบ้านขัดบ้านเสียเลยซี" 

เพราะฉะนั้นเวลาหน้าฝน คุณยายและคุณตาก็ต้องช่วยกันรองน้ำฝนตักใส่โอ่งให้เต็มทุกโอ่งเสียก่อนจึงจะเล่นน้ำฝนได้       

ระหว่างที่เล่นน้ำฝนก็ต้องขัดถูบันได  นอกชานพื้นลานบ้านให้สะอาดไปด้วย  ใช้กระดวงที่ทำจากมะพร้าวแก่ ๆ กะลาเล็ก ๆ ผ่าซีกขัดจนกระดานและพื้นขาวสะอาดทุก ๆ แห่งทีเดียว  มีผ้าผ่อนอะไรที่พอจะซักได้  ก็เอาออกมาซักกันให้เต็มที่  ไม่ต้องเสียดายน้ำ  ผู้ใหญ่มักบอกว่า  "เทวดาท่านอุตส่าห์ส่งน้ำมาให้เราใช้แล้ว  ต้องรีบกักตุนไว้ใช้ฝนตกมาก ๆ พื้นกระดานพื้นหินน่ายดี  ขัดล้างตะไคร่และความสกปรกออกได้ง่าย" หน้าฝนบ้านจึงสะอาด

พวกคนแก่ชอบดื่มน้ำฝนกันนัก  เพราะสะอาดและหวาน  ต้องเก็บน้ำฝนไว้ดื่มในหน้าแล้ง  ถ้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งเกิดฝนตก  เป็นฝนหลงฤดูมาก็จะดีใจมาก  เพราะจะได้มีน้ำฝนมาเพิ่มโอ่งให้เต็ม  แต่น้ำฝนตกใหม่ ๆ น้ำยังใช้รองไว้กินยังไม่ได้  เพราะหลังคายังสกปรกอยู่  มีฝุ่นละอองตกค้าง  ต้องปล่อยให้ฝนชะล้างความสกปรกออกไปเสียก่อน  จึงรองไว้กินได้  ต้นไม้ต้นหญ้าก็พลอยสดชื่นขึ้นเพราะได้ฝน

คุณปู่ของคุณยายบอกว่า  "ในกระบวนน้ำดื่มทั้งหมด น้ำฝนเป็นยอดน้ำที่เทวดาจัดส่งลงมาให้มนุษย์ทีเดียวละ  ทั้งหวานทั้งสะอาด ยิ่งในโอ่งดินเก็บไว้กินหน้าร้อนแล้วยิ่งวิเศษสุด  ทั้งเย็นและหอมกลิ่นดินเผาชื่นใจนัก" 

ตามบ้านจึงมักมีคณโฑดินเผาหรือหม้อดินเผาสำหรับใส่น้ำฝนไว้รับแขกและดื่มเองแทบทุกบ้าน  ดินเผานี้ทำให้น้ำเย็นเหมือนแช่น้ำแข็ง   หน้าร้อนมาก ๆ คนจึงชอบไปนั่งคุยหรือพักผ่อนข้าง ๆ โอ่งน้ำและถือโอกาสเอาหลังพิงโอ่งไปด้วยเพื่อคลายความร้อน

คนที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำหรือคลอง  หน้าแล้งก็เอาน้ำแม่น้ำหรือคลองใส่โอ่ง แล้วเอาสารส้มมากวน ๆ ให้ตกตะกอน  แล้วใช้ซักผ้าหรือหุงข้าวต้มแกงกันจะใช้น้ำก็ต้องประหยัด ๆ กันหน่อย

ฝนแรกหลังจากอากาศร้อนและแห้งแล้งมานาน  น้ำในโอ่งขอดแห้ง    ในคลองก็ขอดเหลือแต่โคลนแล้ว  พอฝนแรกตกน่าชื่นใจและน่าดูมาก  คุณแม่ของคุณยายจะรีบเกณฑ์เด็ก ๆ ช่วยกันล้างโอ่งเปล่าให้สะอาดทุกใบ  แล้วรอให้น้ำสะอาดเสียก่อน  ช่วยกันรองน้ำฝนเสียยกใหญ่  มันช่างชื่นใจเสียจริง ๆ  ดับร้อนได้ดีมาก  ได้ซักผ้ากันเต็มที่ ไม่ต้องประหยัดน้ำกันแล้ว  เพราะต้องซักผ้าล้างชามอย่างประหยัดน้ำกันมานาน

เรื่องน้ำในหน้าแล้งนี้ก็เหมือนกัน  คุณแม่ของคุณยายสั่งนักหนาห้ามไม่ให้เอาน้ำถูเรือนหรือน้ำที่ดื่มเหลือในถ้วยในขันสาดทิ้งไปเสียเปล่า ๆ  โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร   ให้มารดน้ำตามโคนต้นไม้หรือในกระถางต้นไม้ยังได้ประโยชน์ดีกว่า  ลูก ๆ จะล้างหน้าบ้วนปากสีฟันก็ให้ไปล้างที่แถวที่มีต้นไม้  จะได้ไม่เสียน้ำไปเปล่า ๆ

คุณตาคนที่เป็นหมอยาก็ต้องการใช้น้ำฝนกลางหาวมาไว้ใช้ทำยาตาเก็บไว้  น้ำฝนกลางหาวคือน้ำฝนที่รองด้วยอ่างที่ล้างสะอาดรองน้ำฝนกลางแจ้งตอนที่ฝนตกหนักในหน้าฝน    น้ำนี้เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด  จึงเหมาะสำหรับทำยาหยอดตานัก  จะมีโอกาสเก็บได้ในหน้าฝนเท่านั้น  แล้วยังต้องเก็บไว้ผสมยาต่าง ๆ อีกด้วย  ตามบ้านทุก ๆ บ้านจึงต้องมีรางน้ำสังกะสีเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี  โดยไม่ต้องพึ่งน้ำประปา

..........

sirinawadee

อ่านครั้งแรกในสตรีสารภาคพิเศษตอนเรียนประถมค่ะ ดูเหมือนว่าในการรวมเล่ม บางตอนหายไป เท่าที่จำได้ก็มีเรื่องของทาส เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคน

ปัจจุบันมีถึงเล่ม 4 เท่านั้นใช่ไหมคะ

.....

เทาชมพู

ค่ะ หนังสือมี 4 เล่ม   เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคนไม่ได้รวมอยู่ในหนังสือฉบับรวมเล่ม

วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมากค่ะ   
ขอนำมาลงให้อ่านกันอีกเรื่อง

..........


ของแสลง

เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่  ถ้าเกิดเจ็บป่วยเป็นอะไรไปนิดหน่อยก็ตาม คนนั้นจะต้องถูกจำกัดอาหาร  ให้กินแต่อาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย  ห้ามกินอาหารที่คิดว่าแสลงต่าง ๆ  จนกว่าจะหายเป็นปกติ

ถ้าใครท้องเสีย หรือเป็นบิด  จะต้องกินข้าวต้มเปื่อย ๆ หรือข้าวเปียก กับปลาแห้งป่น  หมูหยอง  กุ้งแห้งป่น  หรือปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลา  จะไปวิ่งเล่นหรือกระโดดโลดเต้นไม่ได้  เดี๋ยวจะหายยาก  ถ้าเป็นไข้หวัด แล้วมีอาการไอก็จะห้ามอาหารทอดทุกชนิด  ไข่เจียว ไข่ดาวก็ไม่ได้  ต้องเปลี่ยนเป็นไข่ต้ม  ไข่ตุ๋นหรือไข่เค็ม  อาหารทุกอย่างต้องปิ้งและต้มห้ามทอดเป็นอันขาด  เพราะจะทำให้ไอมากขึ้น  เมื่อไข้สร่างก็จะห้ามกินแตงโม  แตงไทยหรือผลไม้ที่เย็น

ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไอ  จะดื่มน้ำแข็งไม่ได้  เพราะจะทำให้เป็นมากขึ้น ต้องดื่มแต่น้ำร้อน ๆ  ชาร้อน  น้ำข้าวร้อน ๆ หรือบางทีก็น้ำมะตูมร้อน ๆ  ที่เรียกว่า"น้ำชูบาน"  ทำด้วยมะตูมสุก ๆ ต้มใส่น้ำตาลนิดหน่อย  บางครั้งก็เอาเนื้อมะตูมไปราดน้ำผึ้งให้กินเป็นของหวาน  แล้วเอาที่เหลือคือเปลือกและเม็ดและเนื้อที่ติดมาต้มทำน้ำชูบาน 

อีกอย่างหนึ่งก็คือนำมะตูมอ่อนที่หั่นเป็นแว่น ๆ ย่างไฟจนหอมแล้วชงน้ำร้อนให้ดื่ม  หอม ๆ ดี  แต่สู้น้ำชูบานไม่ได้

ถ้าใครเป็นแผลพุพอง  แผลหกล้มถลอก  หรืออุบัติเหตุอะไรก็ตาม  จะถูกห้ามไม่ให้กินข้าวโพดข้าวเหนียว  ขนมทุกชนิดที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว  กินได้แต่แป้งข้าวเจ้าและข้าวสาลีเท่านั้น  เพราะจะทำให้แผลกลัดหนอง  หายยาก  แผลที่จวนหายแล้วกลับกลัดหนองขึ้นมาอีก  แผลเล็กกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้นมา  คุณยายรู้สึกว่า  ที่ผู้ใหญ่ห้ามนี้เป็นเรื่องจริง ๆ เพราะเคยพิสูจน์มาหลายครั้งแล้ว  ครั้งหนึ่งคุณยายหกล้มหัวเข่าแตกเป็นแผลแห้งจวนจะหายดีแล้ว  แต่ยังไม่หายสนิท  คุณแม่ทำข้าวเหนียวมะม่วง  อยากจะกินเหลือเกิน  ก็บอกว่าแผลหายดีแล้ว  จึงกินข้าวเหนียวมะม่วงมากไป  พอรุ่งขึ้นเช้าก็ปวดและกลัดหนองขึ้นมาอีก  ต้องกลับไปเดินขาเขยกอีก

อาหารอร่อย ๆ ดี ๆ ที่ชอบต้องอดไปเพราะเจ็บป่วยมีบ่อย ๆ กำลังเป็นแผลพุพอง  ต้องอดข้าวต้มกุ้ง  กุ้งทอดที่มีมันสีแดงเยิ้มคลุกข้าวอร่อย  แม้แต่กุ้งเผาจิ้มน้ำปลาก็ไม่ได้  อาหารทะเล  หอยนางรม  ปลาทอดอร่อย ๆจิ้มน้ำปลามะนาวต้องอดหมด  ต้องภาวนาขอให้หายเร็ว ๆ จะได้กินอาหารอร่อย ๆ  อาหารพวกนี้ถูกหาว่าคาวจัด  กินแล้วทำให้คันแล้วก็เป็นจริง ๆ ด้วย

หน้าลำไย  ลิ้นจี่  หรือขนุน  ก็ต้องจำกัดให้กิน  เด็ก ๆ กินอะไรไม่รู้จักประมาณ กินจนไม่สบาย  ลำไยกินมากไปก็ตาแฉะ  เพราะร้อนเกินไป  เด็ก ๆ ที่เป็นแผลพุพอง แผลจะเยิ้มมาก  ลิ้นจี่ก็ย่อยยากถ้าธาตุไม่แข็งพอ  เพราะมักทำให้ปวดท้อง ขนุนก็เหมือนกันย่อยยาก  ทุเรียนนั้นร้อนมากห้ามกินตอนกลางคืน  เพราะจะทำให้ร้อนจนนอนไม่หลับ

คุณตาเคยไม่เชื่อฟัง  แอบกินขนุนเสียมากมาย  ทั้งที่ท้องไม่ดีกินยาจวนจะหายอยู่แล้ว กลับเป็นมากขึ้นอีก  เลยจับได้ว่าแอบไปกินขนุนมา  จึงต้องกินยาอีกมากมายกว่าจะหายดี

อาหารต่าง ๆ เหล่านี้แสลงจริง ๆ  คุณตาและคุณยายลองมาแล้วแทบทั้งนั้น  แต่แรกก็คิดว่าผู้ใหญ่นี้ใจร้ายใจดำ  หวงไม่ให้กินอาหารอร่อย ๆ  เมื่อเห็นฤทธิ์แล้วจึงรู้ว่าผู้ใหญ่นี้คิดถูก

หมอบอกว่า  ถ้าไม่สบายให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ไว้เป็นดีที่สุด  จะรักษาโรคให้หายได้เร็วกว่าให้กินอาหารได้ตามใจเด็ก ๆ  แต่อันที่จริงคุณยายนั้นชอบข้าวเปียกกับปลาดุกย่าง   บางครั้งถึงกับภาวนาไม่อยากให้หาย  เพราะจะอดกินข้าวเปียกกับปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลาอร่อย ๆ  ต่อไป  ต้องมากินข้าวสวย  เด็ก ๆ และคนแก่ที่ฟันไม่ดีกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ดีเหมือนกัน

.....

SRISOLIAN

ถ้าผมจำไม่ผิดฉบับรวมเล่มตั้งแต่เล่ม 1-4 ยังพอหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาครับ ส่วนตอนที่นอกเหนือจากทั้ง 4 เล่มนี้ จะอยู่ในสตรีสารภาคพิเศษเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบแสนน่ารักของ "ปีนัง" อีกด้วยครับ สำหรับตอนต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น เขามอ หมอยา ล่าจระเข้ เรือไม้ซาง การนอน น้ำปรุง ฯลฯ เป็นต้น

.....

sirinawadee

หนังสือชุดนี้คล้ายๆ กับเรื่องบ้านเล็กอยู่อย่างหนึ่งคือ บรรยายอาหารการกินได้ชวนหิวมากค่ะ

เสียดายตอนที่ไม่ได้นำมารวมเล่มจังค่ะ เรื่องดีๆ ที่น่าอ่านทั้งนั้น

.....

Hanako

เปิดเจอกระทู้นี้ทำให้กดสั่งซื้อหนังสือชุดนี้มาอ่านอีกรอบ  เพราะนึกได้ค่ะว่า สมัยที่อ่านนั้น ตัวเองยังเด็กมาก  แม้จะชื่นชมและประทับใจแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นมากนัก
จะประทับใจอย่างเดียวแต่ไม่ได้เอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงปัจจุบันบ้างก็เห็นจะเสียดายคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้ไป  เลยสั่งซื้อมาอ่านใหม่  รอบนี้จะอ่านแบบเป็นเหมือน...คู่มือสามัญประจำบ้าน เลยค่ะ

อิอิ  เจอกันแน่กับตำราอาหาร  สารพัดประยุกต์และประหยัด รู้คุณค่าทุกๆสิ่งในครัวเรือนตามฉบับของแม่บ้านไทยๆขนานแท้ 

.....

Rangson Boontham

ขอเสริมด้วยภาพปกหนังสือทั้ง 4 เล่มที่มีอยู่ครับ

ประทับใจหนังสือชุดนี้มากครับ ทั้งเรื่องราวของคุณทิพย์วาณีและภาพประกอบของคุณปีนัง ชอบทุกตอนเลย ตอนเด็กๆ อ่านตอน เขามอ แล้วอดใจไม่ไหว ต้องไปหาซื้อไม้ดัดต้นเล็กๆ มาปลูกไว้ดูเล่นบ้าง



.....

เทาชมพู

อยากอ่านตอนที่หลงเหลืออยู่ในสตรีสาร  น่าจะมีใครนำมารวมเล่มเป็นเล่มที่ 5 นะคะ
เสียดายมาก ว่าเมื่อไม่มีคุณทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก

.....

SRISOLIAN

ผมคิดว่าท่านใดที่ยังเก็บสตรีสารภาคพิเศษเอาไว้ (ในช่วงปีพ.ศ.2525-2530) ก็อาจช่วยกันทยอยลงในกระทู้นี้ก็ได้ครับ จะได้เป็นการแบ่งปันความรู้กัน นอกจากนี้ผมยังเคยอ่านเจอในนิตยสารสำหรับเด็กอย่าง "สวนเด็ก" ก็เคยลงด้วยเหมือนกันครับ...ช่วยๆ กันแกะรอยและรวบรวมตอนอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามหนังสือต่าง ๆ รวบรวมเป็น "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม 5" (ฉบับเรือนไทยอุทิศ) กันนะครับ

.....

เทาชมพู

ดิฉันยังห่วงอยู่อย่างหนึ่งคือเรื่องลิขสิทธิ์  ถึงแม้คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมไปแล้ว     แต่ไม่ทราบว่าทายาทของท่านที่ได้รับมรดกลิขสิทธิ์นี้เป็นใคร    จะยอมให้เราเอาผลงานมาลงทั้งหมดหรือเปล่า

เท่าที่เอามาลงได้บางส่วน ข้างบนนี้ ก็เอามาจากอินเทอร์เน็ตซึ่งมีเว็บอื่นลงอยู่แล้วค่ะ

แต่กำลังหวังก็คือ สนพ.ที่เคยพิมพ์ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก จะสนใจรวบรวมเรื่องอื่นๆของท่านที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์รวมเล่ม  เพื่อเป็นหนังสือดีๆให้เยาวชนอ่านอีกครั้ง     
ผู้สนใจคงจะไปหาได้จากหอสมุดแห่งชาติค่ะ

.........................

« Last Edit: 27 February 2022, 16:47:05 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #1 on: 27 February 2022, 16:56:06 »
Reply with quote


เทาชมพู

ลองอ่านเรื่องนี้แก้ขัดไปก่อนนะคะ

..........


พ่อค้าแม่ค้าเร่

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก    บ้านเมืองไม่มีร้านอาหารให้ไปซื้ออาหารกินได้มากมายอย่างทุกวันนี้        เด็กๆไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านนอกจากตามผู้ใหญ่ไป    จึงไม่มีโอกาสจะวิ่งออกจากบ้านไปซื้อของกินปากซอยหรือตามร้านอาหารริมถนนใหญ่  แต่ก็ไม่อดอยาก   เพราะมีของกินมาขายถึงบ้าน  จากพ่อค้าและแม่ค้าเร่ที่หาบสินค้าเดินไปตามถนนและตรอกซอยต่างๆ

พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้มีของกินใส่ในกระจาดสองใบหน้าหลัง   ใส่ไว้ในสาแหรกที่ทำด้วยหวาย 4 สาย ตอนบนทำเป็นห่วงสอดเข้าไปไม้คาน ตอนล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสําหรับวางกระจาด    พ่อค้าแม่ค้าเร่หาบไม้คานไว้บนบ่า  ไม้คานเป็นไม้แบนๆ ดัดให้โค้งนิดหน่อย เวลาหาบมันก็จะอ่อนเยิบๆไม่แข็งจนกดบ่าเจ็บเกินไป   เพราะน้ำหนักสินค้าอยู่บนบ่าของเขาทั้งหมด    เดินๆไปก็ร้องบอกชื่อของขายให้ชาวบ้านรู้ว่ามีอะไรบ้าง  ใครอยากกินก็ออกมาเรียกซื้อให้แวะเข้าไป

ของที่ขายมีของกินทั้งของคาวและของหวาน     ของกินของโปรดของคุณยายคือหมูสะเต๊ะ  คนขายส่วนมากเป็นคนจีน  พ่อค้าเจ้าประจำที่หาบหมูสะเต๊ะเข้าซอยมาวันเว้นวันเป็นคนจีนชรา  มีหลานชายตัวเล็กๆเดินตามหาบมาด้วย      เมื่อคุณแม่ของคุณยายเรียกพ่อค้าหมูสะเต๊ะเข้ามาในรั้วบ้านเขาก็ลงนั่งติดไฟในเตาถ่านที่วางบนกระจาด  เวลาปิ้ง เขาให้หลานชายช่วยหยิบกาบมะพร้าวที่ติดมาในกระจาดใส่ลงในเตาถ่านด้วย   กาบมะพร้าวช่วยให้หมูปิ้งเหลืองสวย และมีกลิ่นหอมหวนมากกว่าถ่านธรรมดา

การปิ้งหมูสะเต๊ะสนุกมาก    พ่อค้าหยิบไม้เหลาแหลมๆ มาเสียบชิ้นหมูดิบปนมันบางๆที่เขาหั่นใส่ไว้ในกาละมัง มีผ้าบางๆคลุมวางไว้ในสาแหรก   นอกจากเนื้อหมู  ใครจะสั่งตับด้วยก็ได้    เขามีตับหมูฝานชิ้นบางๆ ถ้าใครต้องการก็หยิบมาเสียบไว้ครึ่งล่างของหมูปิ้งเสียบไม้  ปิ้งไปพร้อมกัน    เวลาปิ้ง เขาพรมๆกะทิ เพื่อให้หมูมีรสหวานมัน

เด็กๆเฝ้าดูเขาปิ้งหมูบนตะแกรงเหล็กเล็กๆบนเตาถ่าน  พลิกไปมาจนสุก  มันสีเหลืองจากหมูหยดติ๋งๆเป็นน้ำมันลงในจานสังกะสีที่คุณแม่ของคุณยายส่งให้พ่อค้าวางหมูสะเต๊ะ   ส่งกลิ่นหอมอร่อยจนคุณยายและพี่ๆน้องๆอดใจไม่อยู่ ต้องไปรุมล้อมอยู่รอบหาบ    แต่จะกินได้ต่อเมื่อยกจานขึ้นไปวางที่โต๊ะอาหารแล้วเท่านั้น

    นอกจากหมูสะเต๊ะ  ก็มีอาหารอย่างอื่น เช่นข้าวแกง   ขนมจีนน้ำยา น้ำพริก    มีแม่ค้าเป็นคนหาบผ่านหน้าบ้านมาในตอนกลางวัน   ถ้าหากว่าเจ้าไหนทำอร่อย ชาวบ้านก็มักเรียกซื้อเป็นประจำ  บางทีก็หมดเสียก่อนจะถึงปลายทาง       แม่ค้าขายขนมมีขนมไทยห่อใบตองวางเรียงในกระจาด  เช่นขนมขี้หนู ขนมใส่ไส้ ขนมถ้วย   ขนมตาล     เวลาหาบมาแม่ค้าก็ร้องบอกมาด้วยว่า "ขนมแม่เอ๊ย"  แล้วก็จาระไนชื่อขนมให้ลูกค้ารู้ว่าขายอะไรบ้าง   จะได้เลือกซื้อได้ถูก    แค่ได้ยินรายชื่อขนมเด็กๆก็น้ำลายสอแล้ว

     ตอนบ่ายๆมีแม่ค้าขายของกินเล่นอย่างสาคูไส้หมู  หรือไส้กรอกปลาแนม ผ่านมา    บางวันก็มีห่อหมก    เดินเคาะไม้สองอันดังป๊อกๆ ร้องว่า "หมกจ้า หมก"     ถ้าเป็นฤดูร้อน   ก็มีคนสะพายกระติกไอศกรีมแท่งที่เรียกว่า "ไอติมแท่ง" มาขาย    เป็นแท่งยาวๆมีไม้เสียบ  เป็นไอศกรีมคนไทยทำ หลายรสหลายสีด้วยกัน

     พ่อค้าแม่ค้าเร่ทำให้ตรอกซอยในเวลากลางวันไม่เหงาเงียบ      มีเสียงร้องขายสินค้าอยู่ตลอดวัน  เจ้าหนึ่งผ่านไป อีกเจ้าก็มาถึง    ถ้าหากว่าเป็นขนม เด็กๆก็ฉุดไม้ฉุดมือแม่ให้ออกไปซื้อ หรือไม่ก็วิ่งไปขอสตางค์แม่  เปิดประตูบ้านออกไปซื้อเอง    คุณยายชอบกินขนมลูกชุบ ที่ทำเป็นลูกตะขบ  เป็นชมพู่ มะม่วง ฟักทองลูกเล็กๆ ทาสีชุบวุ้นเป็นเงาน่ากิน     นอกจากนี้ยังมีลูกชุบทำเป็นพริกสีเขียวสีแดงเหมือนของจริงมาก     คุณยายเคยหยิบพริกในครัวกินด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นขนมลูกชุบ   เลยเผ็ดจนน้ำตาไหล  เข็ดขนมลูกชุบไปนาน

                                                                                             "เทาชมพู"
   
.....

ประกอบ

อยากอ่านตอน "เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคน"  ครับ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์พอจะอนุเคราะห์ได้ไหม
ชื่อเรื่องออกแนวอาชญากรรมน่าตื่นเต้นถูกใจขาโหดแบบกระผมยิ่งนักครับ

.....

เทาชมพู

เด็กชายประกอบก็ช่างขยันหาการบ้านมาให้ครูจริงๆ 

ไม่เคยได้ยินเรื่องอีตู้ที่ไล่ฟันคนค่ะ   ต้องถามคุณ sirinawadee ว่าจำเรื่องได้ไหม ช่วยเล่าให้คุณประกอบฟังหน่อยนะคะ
ไม่มีเรื่องโหดๆค่ะ    มีแต่ thriller ในอดีต  คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินตอนคุณแม่เด็กๆ   ชื่อเรื่องตารอดปอดแฉ่ง ที่ขายเนื้อมนุษย์    ถ้าสนใจก็กรุณายกมือขึ้น   จะอยู่ในหัวเรื่อง ผู้ร้ายในนิทาน

.....

SRISOLIAN

มารอคุณเทาชมพูขยายความเรื่องนี้น่าสนใจมากครับ และขอติดตามตอนต่างๆ
ของเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กจากคุณเทาชมพูต่อไปครับ  เป็นเกร็ดความรู้ที่อ่านสนุกโดยแท้

.....

sirinawadee

โอ แย่แล้วอาจารย์เรียกตอบ  ฮืม

เรื่องของอีตู้พอจำได้ว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่ออีตู้ (สมัยนี้ก็นางสาวตู้) โกรธเคืองใครมาไม่ทราบ
เที่ยวเอาอีโต้ไล่ฟันคนไปทั่วค่ะ ตอนหลังถูกจับกุมได้น่าจะถูกประหารชีวิตและมีการนำศพเธอมาผ่าเพื่อศึกษาด้วยค่ะ

อีกคดีที่เล่าไว้ในเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กก็เรื่องบุญเพ็งหีบเหล็ก ที่ฆ่าคนตายแล้วเอาศพใส่หีบเหล็กโยนลงน้ำไป

.....

ประกอบ

คุณครูครับ หาห้องเรียนวิชา "ผู้ร้ายในนิทาน" ไม่เจอครับ   กะว่าห้องนี้จะไปจองนั่งหน้าเลย 

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์

.....

เทาชมพู

ก็ห้องนี้ละค่ะ   เด็กชายประกอบ
ขอเวลาเตรียมสอนหน่อยนะคะ

.....

เทาชมพู


ผู้ร้ายในนิทาน

คุณยายได้ชื่อว่าเป็นเด็กซน  ผิดกับเด็กผู้หญิงอื่นๆที่ถูกฝึกหัดให้นั่งพับเพียบเรียบร้อย อยู่ใกล้ๆผู้ใหญ่เพื่อจะหัดกิริยามารยาท  ฝึกทำกับข้าวกับปลา เย็บผ้า ร้อยดอกไม้      คุณยายชอบไปวิ่งเล่นในสวนผลไม้ซึ่งอยู่ล้อมรอบบ้านคลองสาน   มีเนื้อที่หลายสิบไร่  สามารถกระโจนข้ามท้องร่องได้ไม่พลาดตกลงไปเลย   ห้ามก็ไม่ฟัง  ดุก็ไม่ฟัง   ทำให้พี่เลี้ยงของคุณยายหนักใจมาก    จึงหาทางออกโดยเล่านิทานให้ฟัง เพื่อให้คุณยายกลัวจะได้ไม่ไปวิ่งซุกซนอยู่คนเดียวอีก

คุณยายจึงรู้จักผู้ร้ายหลายคน  บางคนก็มีตัวจริง  บางคนคุณยายก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่     แต่ฟังแล้วก็กลัว ทำให้หยุดซนไปได้ชั่วคราว

ผู้ร้ายคนแรกที่คุณยายรู้จักชื่อ "อ้ายย่ามแดง"   ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคนร้ายสะพายย่ามสีแดง    มันจะมาด้อมๆมองๆอยู่แถวบ้านเพื่อจับเด็กใส่ย่ามเอาไปทำพิธีกรรม     อ้ายย่ามแดงน่าจะเป็นขโมยมากกว่าโจร เพราะมันไปไหนมาไหนคนเดียว      คำว่าขโมยกับโจรไม่เหมือนกัน  ขโมยคือพวกที่แอบเข้ามาลักทรัพย์สินเงินทองในบ้าน เวลาคนในบ้านไม่เห็น  แล้วหนีไปก่อนจะถูกจับได้   พวกนี้มักไม่ทำร้ายเจ้าของบ้านยกเว้นจวนตัว     ของที่เอาไปก็คือข้าวของเท่าที่จะหยิบฉวยได้    ส่วนโจรคือคนร้ายที่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ยกพวกเข้าปล้น มีอาวุธครบมือ  มักจะเกิดขึ้นในชนบท     พวกนี้จะเลือกปล้นแต่บ้านเศรษฐี   กวาดข้าวของไปหมดบ้าน บางครั้งก็ฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วย

แต่ไม่ว่าอ้ายย่ามแดงจะเป็นขโมยหรือโจร     คุณยายก็กลัวถูกจับลงย่ามเอาตัวไป    จึงไม่กล้าออกจากบ้านไปเล่นคนเดียวในสวนอีก
  อ้ายย่ามแดงเป็นผู้ร้ายที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกัน ถึงกับมีคนเอาไปทำเป็นหนังไทย ฉายเมื่อหลังสงครามโลกครั้งสองจบลงประมาณ 5 ปี

ผู้ร้ายคนที่สองที่คุณยายรู้จัก คือตารอดปอดแฉ่ง    มีคำร้องคล้องจองกันว่า "ตารอดปอดแฉ่ง  ผัวนางแมงดา  หกล้มหกลุก  ผัวนางตุ๊กกะตา"

พี่เลี้ยงเล่าให้คุณยายฟังว่า ตารอดแกเป็นสัปเหร่อ   ตามธรรมเนียมไทยเมื่อมีคนตาย  ญาติพี่น้องก็ส่งให้สัปเหร่อรับไปจัดการ ห่อผ้าตราสังข์   ใส่โลง  สวดเสร็จก็เผา 

   ญาติพี่น้องไม่มีโอกาสเห็นหน้าค่าตาคนตายอีก    คนที่เห็นมีคนเดียวคือสัปเหร่อ  ดังนั้นสัปเหร่อจะทำอะไรกับศพนอกเหนือจากนี้ก็ทำได้

ตารอดก็เหมือนสัปเหร่อทั่วไปที่ต้องเจอคนตายอยู่เป็นประจำ  จนกระทั่งไม่กลัว     แต่แกไม่เหมือนสัปเหร่ออื่น คือนอกจากไม่กลัวแล้ว  แกยังชอบกินอีกด้วย   สิ่งที่แกชอบคือเครื่องในมนุษย์  เมื่อตายใหม่ๆร่างกายยังไม่ทันเน่า  ตารอดก็รีบผ่าศพควักเครื่องในออกมาก่อน  เอาไปต้มใส่ตะไคร้ใบมะกรูดเหมือนต้มเครื่องในวัว   นอกจากนี้ตารอดก็ยังรู้ว่าเนื้อมนุษย์นั้นอร่อยมาก  มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดไหนๆทั้งหมด

ตารอดทำตัวเป็นมนุษย์กินคนมาจนแก่ตัวลง  ใครๆเรียกว่า"ตา" แล้ว    แกก็มีเมียชื่อว่านางแมงดา    ในนิทาน ไม่ได้บอกว่านางแมงดาทำงานอะไร ก็คงเป็นแม่บ้านอยู่เฉยๆ   อายุแก่พอๆกับตารอด   ตารอดจึงไปติดพันหญิงสาวอีกคนหนึ่งจนได้เป็นเมียน้อย  ชื่อแม่ตุ๊กกะตา

แม่ตุ๊กกะตาเป็นแม่ค้าขายขนมจีนน้ำยา  แต่ขายไม่ดี  สู้เจ้าอื่นไม่ได้     ตารอดก็เลยช่วยเหลือแม่ตุ๊กกะตาด้วยการไปแล่เนื้อจากศพใหม่ๆ มาให้แม่ตุ๊กกะตาทำขาย   ใช้เนื้อคนแทนเนื้อปลา     ขนมจีนน้ำยาของแม่ตุ๊กกะตาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า    ลูกค้าติดใจว่าน้ำยาอะไรอร่อยขนาดนี้ไม่เคยเกินที่ไหนมาก่อน

เมื่อเรื่องรู้ไปถึงหูนางแมงดา   นางก็มาหึงแม่ตุ๊กกะตาถึงกับตบตี  ตารอดเข้าไปช่วย ก็ถูกนางแมงดาไล่ตีจนล้มลุกคลุกคลาน   กลายมาเป็นคำคล้องจองว่าตารอดปอดแฉ่ง  ผัวนางแมงดา  หกล้มหกลุก ผัวนางตุ๊กกะตา

.....

siamese

เรื่องตารอดปอดแฉ่ง นี้เป็นนิทานหรือเรื่องจริงครับเนี่ย....ถ้าเป็นเด็ก ๆ ฟังแค่เรื่องย่ามแดงก็น่ากลัวมากแล้ว

.....

เทาชมพู

ดิฉันไม่ทราบเหมือนกัน ว่าเรื่องตารอดปอดแฉ่งมีที่มาจากเรื่องจริงหรือเปล่านะคะ    ตอนเล่ากระทู้นี้ ไปถามลุงกู๊กถึงที่มาของเรื่องนี้
พบว่าพระยาโกมารกุลมนตรีเขียนขึ้นเป็นเรื่องสั้น  แต่อ่านแล้ว เข้าใจว่าท่านอาจเล่าจากเรื่องที่เคยได้ยินมาก่อน   ถ้าหากว่าเป็นเรื่องจริง มันก็ถ่ายทอดแบบมุขปาฐะ(Oral tradition) แพร่หลายมาก่อนคุณยายเกิด

มาเล่าถึงผู้ร้ายคนสุดท้ายที่คุณยายฟังจากผู้ใหญ่เล่ากันดีกว่า

************************

ผู้ร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่หวาดกลัวกันมากในสมัยคุณยายยังเด็ก   ชื่อบุญเพ็ง  มีฉายาว่าบุญเพ็ง หีบเหล็ก   ผู้ใหญ่เล่าว่าบุญเพ็งเป็นพระบวชอยู่ในกรุงเทพนี่เอง    มีหญิงคนหนึ่งไปทำบุญกับพระบุญเพ็งเป็นประจำ  แต่งทองเต็มตัว   บุญเพ็งโลภอยากได้ทองจึงฆ่าผู้หญิง  เอาศพยัดใส่หีบเหล็ก แล้วเอาไปถ่วงน้ำ  แต่หีบลอยขึ้นมาชาวบ้านไปเจอเข้า     สืบสวนได้ความจริงว่าบุญเพ็งคือฆาตกร  เขาก็เลยถูกประหารให้ตายตกไปตามกัน

ในสมัยโน้น  ตามบ้านเรือนไม่มีตู้เสื้อผ้า   เสื้อผ้าและข้าวของต่างๆเก็บเอาไว้ในหีบ วางไว้บนพื้นชิดกับผนังห้อง     หีบบางใบก็ใหญ่ขนาดคนลงไปขดตัวนอนได้  แต่เป็นหีบไม้   แต่มีห่วงกุญแจทำด้วยเหล็ก   หีบไม้พวกนี้ถ้าทิ้งลงน้ำ มันคงจะลอยเพราะไม้เบากว่าน้ำ   คุณยายไม่ทราบว่าหีบเหล็กของบุญเพ็งเป็นอย่างไรถึงลอยน้ำได้   แต่ก็ทำเอากลัวหีบใหญ่ๆไปเลย      เมื่อก่อนคุณยายกับพี่ๆน้องๆเล่นซ่อนหากัน   บางคนก็ลงไปซ่อนในหีบ   ตั้งแต่คุณยายรู้เรื่องบุญเพ็ง หีบเหล็ก  คุณยายไม่ยอมเปิดหีบใบใหญ่ๆอีกเลย

นิทานพวกนี้ทำให้คุณยายสงบเสงี่ยม หายซน  ยอมนั่งอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ต่อมาอีกนาน
                                                                                            "เทาชมพู"

.....

เทาชมพู

เรื่องของบุญเพ็ง หีบเหล็กที่มีรายละเอียดต่างๆกันไป   หาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตนะคะ
แต่ที่คุณยายได้ยินมา ก็คือบุญเพ็งฆ่าผู้หญิงคนเดียวเท่านั้น   ไม่ได้เป็นฆาตกรฆ่าใครต่อใครมากมายอย่างที่เล่ากันในยุคหลัง

.....

siamese
หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง

"อ้างจาก: เทาชมพู
เรื่องของบุญเพ็ง หีบเหล็กที่มีรายละเอียดต่างๆกันไป   หาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตนะคะ
แต่ที่คุณยายได้ยินมา ก็คือบุญเพ็งฆ่าผู้หญิงคนเดียวเท่านั้น   ไม่ได้เป็นฆาตกรฆ่าใครต่อใครมากมายอย่างที่เล่ากันในยุคหลัง"

เรื่องนี้เคยเห็นหีบ ครับ ที่จริงมันคือ กำปั่นเหล็ก ดีดีนั้นเองครับ .. สำหรับการประหารนักโทษนี้ก็กระทำที่วัดภาษี แถวเอกมัยนี่เอง

.....

เทาชมพู

น่าจะหน้าตาอย่างนี้



.....

ประกอบ

เรื่องตารอดนี่ยังกะหนังจีนเรื่องซาลาเปาเนื้อคนเลยครับ แต่สงสัย เนื้อคนมันจะเอาไปทำน้ำยาขนมจีนได้อย่างไร  เพราะรสสัมผัสของเนื้อมันคนละอย่างเลยแฮะ ไม่น่าทดแทนกันได้เลย สงสัยเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเล่าตามจินตนาการมากกว่า

.....

เทาชมพู

ก็สงสัยเหมือนกัน ว่าขนมจีนที่แม่ตุ๊กกะตาทำขาย น่าจะเป็นขนมจีนแกงเนื้อมากกว่าน้ำยา    ถ้างั้นละก็  เอาเนื้อคนแทนเนื้อวัวได้อร่อยเพราะเนื้อคนคงนุ่มกว่า  อาจจะเหมือนเนื้อสันใน

แต่ไปหาในอินทรเนตร    เจอบล็อคที่มีผู้ถ่ายทอดข้อความจากเรื่องสั้นของพระยาโกมารกุลมนตรี  ว่า

"ตารอดแนะว่า  ถ้าจะให้น้ำยาอร่อยแล้ว  ควรใช้เนื้อคนซึ่งเป็นสิ่งที่ตารอดพอที่จะช่วยเหลือให้แม่ตุ๊กกะตาได้  แม่ตุ๊กกะตาเมื่อได้ยินคำแนะนำอันนี้  ในชั้นแรกคิดว่าตารอดพูดเล่นก็หัวเราะเสีย  แต่ตารอดพูดอย่างหน้าตาขึง  และชี้แจงว่า  ถ้าใช้เนื้อคนแล้วเป็นอันตัดเครื่องน้ำยาได้ ถึงสามอย่าง  คือปลาร้า  ปลาเค็ม  และน้ำปลาช่อน  เป็นการทุนค่าโสหุ้ยไม่ต้องลงทุนมาก   และขนมจีนน้ำยาของแม่ตุ๊กกะตาก็จะขายดี 

แม่ตุ๊กกะตาอิดเอื้อนไม่ย่อมทำตามคำแนะนำ  แต่ตารอดอ้อนวอนขอให้ลองสักวันหนึ่งถ้าเห็นว่าไม่ดีจริงอย่างคำตารอดก็อย่าทำต่อไปก็แล้วกัน  ในที่สุดแม่ตุ๊กกะตาก็ยอม  ค่ำลงตารอดก็นำเนื้อคนที่ตายมาได้สามวันไปให้แม่ตุ๊กกะตา  หล่อนเอาเนื้อนั้นใส่ครกโขลกแทนเนื้อปลา"

มานึกอีกทีว่าสมัยหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน   แม่ค้าหาบของขายคงไม่ขายแกงเนื้อ หรือแกงไก่ เพราะราคาแพง    เป็นอาหารสำหรับเศรษฐีคหบดี     ชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปกินปลากันมากกว่า เพราะมีอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำลำคลอง    แม่ตุ๊กกะตาจึงขายขนมจีนน้ำยา 

แต่มาสงสัยว่าเนื้อคนที่ตายไป 3 วันแล้ว ในสมัยที่ไม่มีน้ำแข็ง ไม่มีฟอร์มาลีน   ยังสดอยู่อีกหรือคะ?

.....

เพ็ญชมพู

ตอนเด็ก ๆ ผู้ใหญ่เคยเตือนว่าอย่าเที่ยวออกไปเดินเล่นนอกบ้าน เดี๋ยว "ซีอุย" จะจับไปกินตับ จำได้ว่าแถวบ้านเงียบเชียบไปหมด ไม่ใคร่มีใครกล้าออกไปเล่นนอกบ้าน

ซีอุยเป็นใคร ทุกท่านน่าจะรู้จัก เคยเอาเรื่องไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ตัวจริงตอนนี้ก็ยังอยู่ที่ศิริราช

แต่ใครเคยมีประสบการณ์ตรง เคยถูกเตือนเรื่องซีอุยอย่างนี้บ้างเอ่ย

.....

siamese

"อ้างจาก: เทาชมพู
แต่มาสงสัยว่าเนื้อคนที่ตายไป 3 วันแล้ว ในสมัยที่ไม่มีน้ำแข็ง ไม่มีฟอร์มาลีน   ยังสดอยู่อีกหรือคะ?"

ร่างกายมนุษย์เมื่อสิ้นชีวิตลง ภายใน 36-48 ชั่วโมงผิวหนังจะเริ่มหลุดลอกออก มีก๊าซในร่างกายมาก ทำให้บวม ลิ้นจุกปาก ตาถลนเป็นกระบวนการเน่า และเมื่อเน่าเต็มที่คือ 72 ชั่วโมงน้ำเหลืองจะไหลเยิ้มและศพบวมเป่งเนื่องจากมีก๊าซอยู่ในตัวมาก

ถ้าตารอดไปจัดการเอาเนื้อศพมาได้ ก็ถือว่าอดทนมากในการสู้กับกลิ่นและเนื้อที่เน่าเฟะ ครับ

.....

:D :D

"อ้างจาก: เทาชมพู
 ถ้าใช้เนื้อคนแล้วเป็นอันตัดเครื่องน้ำยาได้ ถึงสามอย่าง  คือปลาร้า  ปลาเค็ม  และน้ำปลาช่อน " 

 แสดงว่าเนื้อคงจะเน่าได้ที่ มีกลิ่นเหมือนปลาร้า ปลาเค็ม มั้งคะ

.....

เทาชมพู

ทำท่าว่าขนมจีนน้ำยาแม่ตุ๊กกะตาจะได้ขึ้นเมนูห้องวิเสทนิยมซะแล้ว

.............................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #2 on: 27 February 2022, 17:21:44 »
Reply with quote


เทาชมพู

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
ตอนเด็ก ๆ ผู้ใหญ่เคยเตือนว่าอย่าเที่ยวออกไปเดินเล่นนอกบ้าน เดี๋ยว "ซีอุย" จะจับไปกินตับ จำได้ว่าแถวบ้านเงียบเชียบไปหมด ไม่ใคร่มีใครกล้าออกไปเล่นนอกบ้านซีอุยเป็นใคร ทุกท่านน่าจะรู้จัก เคยเอาเรื่องไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ตัวจริงตอนนี้ก็ยังอยู่ที่ศิริราช
แต่ใครเคยมีประสบการณ์ตรง เคยถูกเตือนเรื่องซีอุยอย่างนี้บ้างเอ่ย "


จำเรื่องซีอุยได้ค่ะ  ทำเอาเด็กเล็กเด็กโตกลัวกันไปทั่วประเทศ    ในสมัยนั้นเราไม่รู้จักคำว่าฆาตกรโรคจิต  รู้แต่ว่ามันสยองมากที่มีคนกินเนื้อคนเกิดขึ้นในประเทศไทย

คุณวิกี้เล่าเรื่องซีอุยไว้ว่า

ซีอุย มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง แต่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่เมืองซัวเถา โดยเป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 12 คน ของนายฮุนฮ้อ กับ นางไป๋ติ้ง แซ่อึ้ง ในครอบครัวยากจนที่ทำการเกษตร เมื่อยังเป็นเด็กและเป็นวัยรุ่น ซีอุยมีส่วนสูง 150 เซนติเมตรเท่านั้น จึงมักถูกรังแกอยู่เสมอ จนกระทั่งมีนักบวชรูปหนึ่งได้แนะนำเขาว่า ถ้าอยากจะมีร่างกายแข็งแรงต้องกินเนื้อหรืออวัยวะมนุษย์ ซึ่งคำสอนนี้ได้ฝังอยู่ในใจซีอุยมาเสมอ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 ซีอุยอายุครบ 18 ปีเต็ม ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาประจำอยู่หน่วยรบทหารราบที่ 8 ในขณะที่จีนและญี่ปุ่นทำสงครามกันอยู่ เขาถูกส่งไปรบในสมรภูมิพม่าแนวสนามรบตามรอยต่อตะเข็บแดนของจีน เป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็มที่ซีอุยต้องเผชิญกับความลำบากและเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตลอด อาหารก็ขาดแคลน ขณะที่เพื่อนทหารก็ทยอยตายไปเรื่อย ๆ จากการสู้รบ ซีอุยจึงได้ลิ้มรสชาติเนื้อมนุษย์เป็นครั้งแรกจากที่นี่ เมื่อสงครามสงบ ซีอุยถูกปลดจากการเป็นทหาร ด้วยความแร้นแค้น ซีอุยถูกเพื่อน ๆ ชักชวนให้เข้ามาหางานทำในเมืองไทย โดยหลบหนีเข้าเมืองมาด้วยการเป็นกรรมกรรับจ้างในเรือขนส่งสินค้าชื่อ "โคคิด" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ด้วยการหลบซ่อนมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์เต็ม โดยขึ้นฝั่งที่ท่าเรือคลองเตย และหลบซ่อนตัวในโรงแรมห้องแถวเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ต่อมาได้เดินทางไปยังอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปหาญาติ ที่นั่น ซีอุยทำงานด้วยการรับจ้างทำสวนผักและรับจ้างทั่วไปเป็นเวลานานถึง 8 ปีเต็ม ก่อนที่ซีอุยจะก่ออาชญากรรม โดยที่ซีอุยมีนิสัยชอบเกาหัวและหาวอยู่เสมอ ๆ มีบุคลิกชอบเก็บตัว

ซีอุยได้จับเด็กมาผ่าเอาตับมากินโดยเชื่อว่าเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ โดยได้ทำการฆ่าเด็ก 3 รายแรก ที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่จะหลบหนีไปโดยรถไฟและก่อเหตุอีกที่งานฉลองตรุษจีนที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2500 สุดท้ายถูกจับได้หลังจากคดีฆาตกรรมในจังหวัดระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งมีเพียงเหยื่อรายแรกและเป็นรายเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบในขณะนั้น (พ.ศ. 2497) ซึ่งสุดท้ายเขาถูกจับขังคุกและประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เพราะในระหว่างดำเนินคดี 9 วัน ซีอุยยอมรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือ 7 คดี และจิตแพทย์ลงความเห็นว่า ซีอุยไม่ได้เป็นบ้า ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502

ภายหลังมีการสืบค้นคดีโดยรายการโทรทัศน์ บางอ้อ ทางช่อง 9 รวมทั้งรายการ ย้อนรอย ทางไอทีวี มีหลักฐานพยานและรูปคดีที่บ่งชี้ว่า ซีอุย ไม่ได้ฆ่าเด็กทุกคน มีเพียงเด็กคนสุดท้ายเท่านั้นที่เป็นหลักฐานมัดตัว ขณะตำรวจได้เข้าจับกุมหลังจากซีอุยลงมือฆ่า และอวัยวะในร่างกายของเหยื่อทุกรายก็ไม่ได้สูญหาย จึงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใด ซีอุย จึงรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าเหยื่อทุกราย และนำอวัยวะมากิน ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นของรูปคดีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดในปัจจุบัน บ้างก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของไทยได้ให้สัญญากับซีอุยว่าให้ซีอุยรับสารภาพ แล้วจะจัดการให้ได้กลับเมืองจีน ด้วยความที่ไม่จัดเจนในภาษาทำให้ซีอุยรับสารภาพ และถูกประหารชีวิตในที่สุด ซึ่งชาวบ้านร่วมสมัยที่ยังอาศัยในพื้นที่บางคนที่ยังมีชีวิตอยู่เชื่อว่าซีอุยไม่ได้เป็นฆาตกรตัวจริง

ปัจจุบัน ศพของซีอุยถูกเก็บเพื่อนำมาตรวจสอบ โดยเก็บรักษาไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยยังคงถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย"

****************
เนื้อความข้างบนนี้แตกต่างจากที่เคยได้ยินมานิดหน่อย   ตรงที่สาเหตุการกินเนื้อมนุษย์ คือเล่ากันว่าสมัยซีอุยเป็นทหาร  ในสมรภูมิอดอยากมาก  ทหารที่รอดตายต้องกินเนื้อเพื่อนทหารด้วยกันเองประทังชีวิต   ซีอุยกินแล้วเลิกไม่ได้  ก็เลยฆ่าเด็กเป็นเหยื่อ  จนถูกตำรวจจับได้

.....

siamese
หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง

ตอนเด็ก ๆ ช่อง ๕ สถานีกองทัพบก ราวเมื่อ ๓๐ ปีก่อน นำเรื่องซีอุยมาฉายตอนบ่าย ๆ ติดกันเกรียว ทั้งกลัว ทั้งตื่นเต้นครับ....

พิพิธภัณฑ์ซีอุย อยู่ที่ศิริราช เคยเข้าไปดูครับ จะพบกว่ายืนพิงข้างตู้ พร้อมกับนักโทษยิงเป้าอีก ๒--๓ รายที่ทางโรงพยาบาลจับสตาฟ์ไว้ครับ

.....

เทาชมพู


โรงเรียนฝรั่ง

เด็กๆในยุคของคุณยายเริ่มเล่าเรียนเมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาให้เด็กๆ ทั้งชายหญิงมีโอกาสได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถมทั่วหน้ากัน    ผู้ปกครองจึงต้องส่งลูกหลานไปโรงเรียน อย่างน้อยก็ต้องจบชั้นประถม  อ่านออกเขียนได้
   
โรงเรียนที่มีอยู่ในสมัยที่คุณยายโตพอจะเล่าเรียนได้ แบ่งง่ายๆเป็น 3 ประเภทคือโรงเรียนหลวง  โรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนประชาบาล    ตัวอย่างเช่น โรงเรียนหลวงก็อย่างร.ร.สวนกุหลาบ สำหรับนักเรียนชาย  ร.ร.สตรีวิทยา สำหรับเด็กผู้หญิง  เด็กที่เข้าเรียนมักเป็นลูกหลานขุนนางข้าราชการ    ส่วนร.ร.ราษฎร์ที่คุณยายจำได้ คือร.ร.ราชินี สำหรับเด็กผู้หญิง     โรงเรียนประชาบาลมักจะเป็นโรงเรียนที่อาศัยสถานที่ของวัด  ให้เรียนรวมกันทั้งเด็กชายและเด็กหญิง

คุณยายเกิดมาในบ้านใหญ่ มีหลายครอบครัวรวมกัน   คุณยายจึงมีญาติพี่ๆน้องๆวัยไล่เลี่ยกันหลายคน   ถึงเวลาเข้าโรงเรียนก็เข้ากันพรึ่บเดียวเป็นกลุ่มใหญ่    คุณปู่ของคุณยายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงต้องเลือกร.ร.ที่หลานชายหลานสาวไปโรงเรียนพร้อมกันได้ในตอนเช้า เย็นก็รับกลับพร้อมกันทีเดียว ไม่ต้องแยกย้ายกันไปเรียนคนละทิศละทาง    ท่านจึงเลือกร.ร.ที่เด็กๆนั่งเรือจากบ้านพร้อมๆกันไปได้สะดวก  คือโรงเรียนฝรั่งที่อยู่ใกล้บ้าน แค่ออกจากคลองสาน   แจวเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปก็ถึง  คือร.ร.อัสสัมชัญสำหรับลูกหลานชาย และร.ร.อัสสัมชัญคอนแวนต์สำหรับลูกหลานหญิง

สมัยนั้นตรงข้ามกับสมัยนี้  ร.ร.ฝรั่งในกรุงเทพไม่เป็นที่นิยมเท่าร.ร.ไทย โดยเฉพาะร.ร.ที่ก่อตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านาย   พ่อแม่บางคนก็กลัวไปเองว่าลูกไปเรียนร.ร.ฝรั่งแล้วจะเปลี่ยนใจไปเข้ารีต คำนี้แปลว่าเปลี่ยนไปนับถือคริสตศาสนา      แต่คุณปู่ของคุณยายเล็งเห็นว่าต่อไปคนไทยมีแต่จะต้องติดต่อสื่อสารกับฝรั่งต่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้  นับวันก็จะมากขึ้น    จึงควรจะให้ลูกหลานรู้วิชาของฝรั่งเอาไว้      และเหตุผลสำคัญอีกอย่างคือค่าเล่าเรียนในร.ร.ฝรั่งถูกกว่าร.ร.ไทย    ในเมื่อต้องส่งหลานเด็กๆเกือบ 10 คนไปเรียนพร้อมกัน  ร.ร.ฝรั่งก็เหมาะกว่า

.....

เทาชมพู

หมายเหตุจากข้างบนนี้
ดิฉันไม่เคยได้ยินคุณยายเล่าว่าค่าเล่าเรียนในร.ร.ฝรั่งถูกกว่าร.ร.ไทย      แต่เป็นคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เล่าให้ดิฉันฟังเอง
เมื่อไปเปิดพ.ร.บ.ประถมศึกษาสมัยรัชกาลที่ 6 อ่าน พบว่าเด็กๆสมัยนั้นเรียนชั้นประถมฟรี   เป็นการศึกษาภาคบังคับทึ่รัฐให้เด็กทุกคนได้เรียน    ก็เข้าใจว่าคุณยายและพี่ๆน้องๆเรียนในร.ร.ราษฎร์ คงจะต้องจ่ายค่าเทอม   ซึ่งไม่ได้ประหยัดตรงไหนเลย     
หรืออาจจะไปประหยัดสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา พ้นจากภาคบังคับแล้วละมังคะ

ข้อนี้เปิดไว้เป็นคำถาม ให้ท่านผู้รู้มาชี้แจงค่ะ

.....

(ต่อ)
โรงเรียนฝรั่งในยุคคุณยายมีนักเรียนมาเรียนน้อยมาก     นักเรียนทั้งโรงเรียนเรียนรวมอยู่ในห้องเดียวกัน  ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนเด็กโต   แต่ละชั้นนั่งแยกกันเป็นกลุ่ม  มีแม่ชีชาวตะวันตก สวมเครื่องแต่งกายยาวรุ่มร่ามซึ่งเป็นเครื่องแบบตามนิกายเป็นคนสอน   คุณยายเรียกว่า "มาเซอร์" (Ma Soeur) แปลว่า พี่สาวของฉัน  เพราะแม่ชีเหล่านี้ มีคำนำหน้าว่า Soeur ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Sister  ซึ่งเป็นคำนำหน้าแม่ชีคาทอลิค

มาเซอร์นุ่งกระโปรงยาวถึงพื้น  มีผ้าคลุมผมมิดชิดมองไม่เห็นเส้นผม   เหมือนเสื้อผ้าเมืองหนาว    ไม่ได้แต่งกายอย่างแหม่มในสยาม      เครื่องแบบเหล่านี้ตกทอดมาตั้งแต่ยุคกลาง เป็นชุดที่สตรีสวมกันสมัยนั้น    แต่เวลาผ่านไป แฟชั่นสตรีเปลี่ยนไปมากในศตวรรษต่างๆจนมองไม่เห็นเค้าเดิม   แต่ว่าแม่ชียังคงรักษาแบบเครื่องแต่งกายเหมือนเมื่อตอนมีผู้ก่อตั้งนิกายอยู่  จึงดูแปลกไม่เหมือนคนอื่นๆ
 
ชั้นเรียนของคุณยายมีนักเรียน 3 คนรวมคุณยายด้วย นั่งเรียนด้วยกันเสมอ ไม่ว่าจะขึ้นชั้นไปชั้นไหนก็ยังนั่งอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

นักเรียนแบ่งเป็น 2 พวกคือพวกอังกฤษ กับพวกฝรั่งเศส     ใครเลือกพวกไหนก็เรียนภาษานั้นตั้งแต่ระดับต้น   แยกพวกไม่ปะปนกัน  พวกที่เรียนภาษาอังกฤษก็จะเรียน อ่านและพูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เข้าเรียนปีแรก แม้ว่ายังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ก็ตาม     พวกที่เรียนภาษาฝรั่งเศสก็เรียนแบบเดียวกันแต่เป็นภาษาฝรั่งเศส      แม่ชีเข้มงวดมาก นอกจากห้ามพูดภาษาไทยในชั้นแล้ว  แม้แต่เวลาเที่ยง พักเรียนไปเล่นกัน เด็กๆก็จะถูกกำชับให้พูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสล้วนๆด้วย    เพื่อจะให้คล่องปาก 

คุณยายแอบคุยเป็นภาษาไทยกับเพื่อนๆอีก 2 คนเวลาพัก   มาเซอร์จับได้แม้ว่ายืนอยู่ห่างมากจนไม่ได้ยินเสียงพูด   แต่ดูออกจากกิริยาท่าทางที่พูดคุยกันคล่องแคล่ว ไม่ตะกุกตะกัก ก็รู้ว่าไม่ยอมหัดพูดภาษาต่างประเทศ   มาเซอร์ก็จะเดินมาเตือนให้หัดพูด   มาเซอร์บางคนใจดี  บางคนดุ  แต่ไม่มีใครตีเด็กนักเรียนเลย




วิชาที่เด็กๆเรียนมีอยู่น้อยมาก  นอกจากอ่าน เขียน  ก็มีวิชาเลข   เด็กผู้หญิงได้เรียนดนตรี ซึ่งรวมร้องเพลงฝรั่ง  และวิชาเย็บปักถักร้อยหรือเรียกว่าการฝีมือแบบฝรั่ง วิชาเย็บปักถักร้อย นอกจากเย็บเสื้อ  เริ่มแต่หัดเย็บริมผ้าเช็ดหน้า  ไปจนเย็บอะไรยากๆขึ้น   จากนั้นก็ปักผ้าด้วยสะดึง   ส่วนถักมีหลายอย่างทั้งโครเชต์   ถักไหมพรมที่เรียกว่านิตติ้ง และถักแท้ต    คุณยายถูกหัดให้ทำเป็นทุกอย่าง  เพราะผู้หญิงเมื่อเป็นสาวแล้วก็จะแต่งงานออกเรือนไป  ต้องใช้วิชาการฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกๆ และตนเอง   

ข้างล่างคือการถักแท้ตติ้ง    เครื่องมือที่ใช้เป็นกระสวยอันเล็กๆ  รูปร่างเหมือนใบไม้เรียวๆสองใบประกบกัน   พันไหมรอบนิ้วแล้วถักโดยอาศัยกระสวยถักไหมให้พันต่อกันเป็นลายลูกไม้   เมื่อถักเป็นแล้ว สามารถทำลูกไม้ได้เป็นเส้นยาวๆ นำมาขลิบริมผ้าเช็ดหน้าอีกทีหนึ่ง  นอกจากนี้ยังทำเป็นลูกไม้แผ่นรองขวดน้ำอบบนโต๊ะเครื่องแป้ง     หรือคนเก่งๆทักแท้ตติ้งต่อกันเป็นเสื้อลูกไม้ได้ทั้งตัว




ตัวอย่างแท้ตติ้ง




คุณยายเรียนถักโครเชต์  ทำจากไหมพรมและไม้ถักซึ่งเป็นโลหะ รูปบางๆยาวๆ ปลายด้านหนึ่งม้วนงอเพื่อเกี่ยวไหมพรม   ผ้าที่เกิดจากโครเชต์จะหนากว่าแท้ตติ้ง   ทำเป็นชิ้นเล็กๆ ลวดลายสวยๆ หรือต่อกันเป็นผ้าผืนใหญ่อย่างผ้าคลุมไหล่ก็ได้






ผ้าคลุมไหล่ถักโครเชต์




ถักไหมพรมเป็นงานฝีมือง่ายที่สุดของคุณยาย   เด็กนักเรียนหัดถักผ้าพันคอเป็นอันดับแรก แม้แต่เด็กประถมก็ถักกันได้    ต่อมาจึงหัดถักลายยากๆ หรือถักสลับสีกันในผ้าผืนเดียว  แล้วเขยิบขึ้นเป็นถักเสื้อเด็ก และเสื้อผู้ใหญ่   คนเก่งๆสามารถใช้ไม้ถักง่ายๆ 2 อันถักเป็นเสื้อได้ทั้งตัว  ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องสำหรับถักเสื้อไหมพรม   

ในฤดูหนาวอากาศหนาวจนต้องสวมเสื้อกันหนาวไปโรงเรียน    ส่วนเด็กๆก็สวมเสื้อไหมพรมไปเที่ยวนอกบ้านได้ทุกฤดูกาล  เพราะอากาศในสมัยรัชกาลที่ 6 เย็นสบายกว่าเวลานี้มาก     เสื้อไหมพรมจึงเป็นของนิยมสำหรับคนทำการฝีมือเก่งๆ เพราะมีโอกาสใช้บ่อย




งานฝีมือที่คุณยายบอกว่าทำยากคืองานปักฉลุที่เรียกว่า cut work เป็นงานฝีมือของฝรั่ง     นักเรียนใช้ผ้าขาวปักลายคัทเวิร์ค ทำเป็นริมผ้าเช็ดหน้า ริมปลอกหมอนหนุนหัว  และลายผ้าบังตาที่ขึงอยู่ตามหน้าต่าง   เป็นลายที่ต้องปักริมผ้าให้เรียบ  และตัดผ้าอย่างระมัดระวังให้เป็นลายโปร่งอย่างต้องการ  ต้องใช้กรรไกรคมปลายแหลม  ถ้าตัดผิดไปนิดเดียว ลายก็เสีย ไหมที่ปักไว้ก็จะขาด



ชั้นประถมในสมัยนั้นมีเพียงประถมสาม   ส่วนมัธยมมีถึงมัธยมปีที่แปดเป็นชั้นสูงสุด   เด็กนักเรียนชายที่เรียนจบชั้นมัธยมปีที่แปดถือว่าได้เล่าเรียนสูงสุด  จบไปแล้วก็เข้าทำงานได้ทันที   ไม่ว่าราชการหรือบริษัทห้างร้านก็ยินดีรับ   อย่าว่าแต่จบชั้นมัธยมแปด  บางคนเรียนแค่มัธยมสี่หรือมัธยมหก ก็โตเป็นหนุ่มออกจากโรงเรียนมาทำงานได้แล้ว   เพราะมีพื้นความรู้แน่นพอจะทำงานได้ 

ถ้าหากว่าเด็กผู้ชายเรียนจบจากโรงเรียนฝรั่ง  จะมีพื้นความรู้ภาษาต่างประเทศดีพอจะเขียนจดหมายโต้ตอบได้  แปลหนังสือได้  ห้างร้านยินดีรับเข้าทำงาน

ส่วนเด็กผู้หญิง พ่อแม่ไม่ถือว่าจำเป็นต้องเรียน แค่อ่านหนังสือออก เซ็นชื่อได้ก็พอ   เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้องไปทำงานนอกบ้าน     โตเป็นสาวก็แต่งงานไปเป็นแม่บ้าน    ถึงเรียนก็ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาอยู่ดี   เด็กผู้หญิงจึงมีอยู่มากที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเมื่อรุ่นสาว  อายุ 13-14 โดยไม่มีใครเห็นเป็นของแปลก  ทางบ้านเห็นสมควรให้ลาออกเสียที ในเมื่อโตพอแล้ว  ก็ถึงเวลาอบรมเตรียมตัวเป็นแม่บ้านต่อไป  ควรฝึกทำกับข้าวให้เก่ง  ดูแลบ้านช่องและบริวารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย    เมื่อแต่งงานไปแล้วจะได้ทำหน้าที่แม่บ้านได้ดี    ผู้หญิงอายุ 18 ถือว่าเป็นสาวเต็มตัว ถึงวัยแต่งงานได้แล้ว ไม่ถือว่าเร็วเกินไป   

ในโรงเรียนฝรั่งมีเด็กมาเรียนน้อยอยู่แล้ว   เมื่ออายุสัก 13-14 ก็หายออกจากโรงเรียนไปเกือบหมด  ยกเว้นคนที่มีใจรักการเรียนจริงๆและพ่อแม่ไม่ห้าม จึงเรียนต่อไปจนจบชั้นมัธยม   แต่มีข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งคือ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ทางกระทรวงธรรมาธิการไม่ยอมรับวุฒิของโรงเรียนฝรั่ง    ต้องไปเรียนในโรงเรียนไทยเพื่อจะสอบวุฒิมัธยมปลายให้ได้อีกทีหนึ่ง  จึงไม่มีใครนิยมเรียนจนจบมัธยมปลาย
                                                                                           "เทาชมพู"

.....

ประกอบ

สมัยผมเรียนประถมก็ต้องเรียนถักโครเช  วิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ  นักเรียนชายแต่โดนบังคับให้ถักโครเช ไม่เคยทำสำเร็จเลย ให้แม่ทำให้แม่ก็ถักไม่เป็น ดีขึ้นมาหน่อยให้ทำหมอนปักเข็ม  น่าเบื่อที่สุด โตขึ้นมาจำไม่ได้แล้วว่าผ่านวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพมาอย่างไร  เพราะไม่เคยส่งงานเย็บปักถักร้อยดีๆ เลย   

.....

เทาชมพู

ลูกสาวดิฉันโดนทำโคมไฟตั้งหัวเตียง   ต้องเลื่อยไม้ ทากาว ใส่สายไฟ    สำเร็จเรียบร้อยได้ด้วยฝีมือคุณพ่อ   ครูเองก็คงดูออกว่าไม่ใช่นักเรียนทำกันเองทั้งห้องน่ะแหละ   แต่ในเมื่อหลักสูตรกำหนดมายังไงก็ต้องสั่งการบ้านไปยังงั้น

ดีที่คุณประกอบไปอยู่ต่างแดน  ถ้าอยู่ในประเทศไทยอาจจะต้องหัดถักโครเชต์ เป็นการบ้านแทนลูกชาย

..................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #3 on: 27 February 2022, 17:27:07 »
Reply with quote


เทาชมพู


เดินทาง

โลกของคุณยายจำกัดอยู่ที่บ้านกับโรงเรียน    ถ้าหากว่าไปเที่ยวนอกบ้านก็แค่ในกรุงเทพ  การเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นเรื่องใหญ่   แม้แต่ในจังหวัดรอบๆกรุงเทพ  ถ้าจะไปก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันหลายวัน  เพราะต้องขนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องครัว แม่ครัวและคนในบ้านไปด้วยหลายคน   เกือบจะเท่ากับย้ายบ้านก็ว่าได้

ครั้งหนึ่งคุณป้าของคุณยายเดินทางไปนครปฐมเพื่อไปไหว้พระปฐมเจดีย์    พาคุณยายไปด้วย    คุณป้าต้องเตรียมเสื่อ หมอน มุ้ง ไปด้วยเพราะต้องค้างคืนระหว่างทาง    คุณป้าเอาแม่ครัวไปด้วยเพื่อหุงหาอาหารกินกันระหว่างทาง เพราะไม่มีร้านอาหารที่จะแวะกินได้   ต้องทำกันเอง     แม่ครัวก็ขนเตาไฟ หม้อข้าว ฟืน ข้าวสาร   ของแห้ง   จานชาม ขันน้ำ ลงไปในเรือ     คุณป้าเลือกคนติดตามไปด้วย  นอกจากลูกหลานก็มีคนรับใช้ผู้ชายที่เป็นชายฉกรรจ์ 2 คน  เพื่อช่วยกันแจวและถ่อเรือหัวท้าย

.....

SRISOLIAN

ยังเข้ามาอ่านอย่างต่อเนื่องครับ  อ่านไปยิ้มไปตอนการเดินทางที่คุณเทาชมพูนำมาลงนั้น  นึกภาพตามไปคงเห็นขบวนเดินทางที่คนเยอะน่าดู  ทั้งตัวผู้เดินทางเอง  บริวาร  ข้าวของเครื่องใช้ ชวนให้เห็นว่าการเดินทางไกลเป็นเรื่องที่พิเศษจริงๆ และในสมัยก่อนคงต้องเตรียมการขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอดระหว่างการเดินทาง  บรรดาน้ำพริกต่างๆ คงจะเป็นอาหารที่ดูจะเหมาะสมกับการเดินทางไกลมากที่สุด

.....

เทาชมพู

ก็คงอย่างนั้นละค่ะ    เป็นเรื่องใหญ่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็กๆ

.....

ถึงวันเดินทาง  คุณยายถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าเพราะต้องเดินทางตลอดวัน     อาบน้ำแต่งตัวเสร็จไปลงเรือประทุนลำใหญ่ กว้างพอที่คุณลุง คุณป้า ลูกๆ หลานๆ พี่เลี้ยง จะนั่งรวมกันได้     ภายในนั้นปูเสื่อหลายผืนเต็มตลอดเนื้อที่ ให้เด็กๆนั่งๆนอนๆและเล่นกัน   ส่วนเครื่องครัวอยู่ตอนท้ายของเรือ   แม่ครัวแยกไปนั่งอยู่ตรงนั้น  ท้ายเรือจริงๆคือคนแจวเรือ และมีคนนั่งหัวเรืออีกคนหนึ่ง  ภายในเรือไม่ร้อนเพราะมีประทุนบังแดด และลมโกรกเข้ามาได้จากหัวเรือและท้ายเรือ

เรือแล่นออกจากบ้าน ไปออกปากคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  จากนั้นก็แจวเลียบแม่น้ำไปออกคลองบางกอกน้อย  เพื่อจะไปทางทิศตะวันตก   สองข้างแม่น้ำมีเรือนแพแน่นขนัด  ริมคลองใหญ่ๆก็มีเรือนแพจอดอยู่เต็มเช่นกัน  บางแพก็เป็นบ้านอยู่อาศัย   บางแพก็เปิดข้างหน้าเป็นร้านขายของ     คุณยายรู้สึกสนุกเมื่อเห็นตลาดน้ำมีผู้คนจอแจ แม่ค้าพายเรือขายของสารพัดอย่างทั้งของกินของใช้    แต่เรือประทุนของคุณป้าบรรทุกของกินของใช้มาหมดแล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่มเติม  จึงแล่นผ่านไปเฉยๆ   ไม่นานก็พ้นจากคลองใหญ่สู่คลองที่เล็กลงกว่านั้น

บรรยากาศในคลองใหญ่และคลองเล็กไม่เหมือนกัน  คลองใหญ่อย่างคลองบางกอกน้อยคึกคักน่าสนุก   มีผู้คนพายเรือสัญจรไปมาหนาแน่น   มีตลาดน้ำอยู่เป็นระยะตามแพต่างๆคล้ายๆกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา    และมีวัดตั้งอยู่ใกล้ๆกัน  ทุกวัดหันหน้าลงน้ำ มีศาลาท่าน้ำที่คนจอดเรือเดินขึ้นลงไม่ขาดสาย       จนคุณยายอยากจะแวะขึ้นไปดูวัดกับเขาบ้าง   

แต่เมื่อเรือแล่นไกลคลองใหญ่ มาเข้าคลองที่เล็กกว่า   สภาพก็เปลี่ยนไป  คลองเล็กค่อนข้างเงียบเชียบ    มีเรือกสวนทึบสองข้างทาง   เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน  มีเด็กๆกระโดดน้ำทิ้งตัวจากรากไทรริมน้ำดังตูมๆ   บางคนก็ใจกล้าว่ายตามเรือที่พายผ่าน จนว่ายทันก็เกาะขอบเรือไป  จนเรือผ่านไปไกลเขาจึงปล่อยมือว่ายกลับไปบ้านเขา   คุณยายอยากจะลงไปว่ายน้ำเล่นกับเด็กพวกนั้นจริงๆ

คุณยายมองเห็นคลองเล็กๆแยกลึกเข้าไปอีกคลองเหล่านี้    บางแห่งก็เล็กขนาดเรือลำเล็กพายสวนกันได้เท่านั้น   เรือใหญ่ของคุณป้าผ่านเข้าไปไม่ได้     อย่างไรก็ตาม   ทุกหนทุกแห่งมีคลองเชื่อมประสานถึงกันหมด   ชาวบ้านพายเรือหากันได้ทั่วถึง   ไม่จำเป็นต้องออกไปคลองใหญ่ 

เรือประทุนออกจากคลองแล้วมาถึงแม่น้ำใหญ่อีกสายหนึ่ง  ทีแรกคุณยายคิดว่าเรือกลับมาที่แม่น้ำเจ้าพระยาอีก   แต่คุณป้าบอกว่าไม่ใช่     มันคือแม่น้ำท่าจีน     ในฤดูที่คุณยายเดินทางไป น้ำในแม่น้ำขึ้นเปี่ยมฝั่ง ไหลสวนทางกับเรือ  ทำให้คนแจวเรือแจวไปได้ช้ามาก     จึงต้องค้างคืนระหว่างทาง ก่อนจะถึงนครปฐมในวันรุ่งขึ้น 

 ก่อนออกเดินทาง  ผู้ใหญ่ต้องกำหนดเส้นทาง และกะเวลาล่วงหน้าเสียก่อนว่าจะแวะพักกินข้าว และค้างคืนที่ไหน      ไม่ใช่อยากแวะที่ไหนก็แวะ   เพราะเมื่อออกพ้นเมืองธนบุรีแล้ว   แม่น้ำลำคลองบางสายก็มีช่วงเปลี่ยว  ไม่มีชาวบ้านพายเรือผ่านไปมา   มีแต่โจรผู้ร้ายที่มีอาวุธ เข้ามาปล้นสะดมเรือต่างถิ่น      คุณป้าเล่าว่าตอนคุณป้าเด็กๆ เคยได้ยินเรื่องโจรผู้ร้ายสำคัญชื่ออ้ายอ่วมอกโรย เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านมาก      แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านปราบอ้ายอ่วมอกโรยลงได้นานหลายสิบปีแล้ว   คุณป้าก็ยังกลัวอยู่นั่นเอง     เมื่อเดินทาง คุณป้าจึงกำชับคนแจวเรือให้แวะจอดเรือพักเที่ยง ที่ศาลาวัดเท่านั้น  เพราะเป็นหมู่บ้านมีชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้ๆ  พออุ่นใจได้
 
แม่ครัวเตรียมหุงข้าวในเรือนั่นเอง ให้ทันเวลาเที่ยง    เพราะหุงข้าวสมัยนั้นกินเวลานานมาก  ไหนจะต้องเช็ดน้ำ  ดงข้าว จนกว่าข้าวในหม้อจะระอุสุกทั่วกันดี    ถ้าเป็นชาวบ้านเดินทางไกล  ก็มักคั่วข้าวตากข้าวตูใส่ไถ้คาดเอวเอาไปกินกันแห้งๆกลางทาง  เพราะไม่สะดวกที่จะหอบหม้อและเตาไปด้วย       แต่คุณป้ามากันหลายคน เอาแม่ครัวมาด้วย จึงมีข้าวสวยร้อนๆกินตอนมื้อเที่ยงและเย็น

พอเที่ยงคนแจวเรือก็แวะที่ศาลาท่าน้ำของวัด ซึ่งมีบ้านคนปลูกอยู่ใกล้ๆ ไม่เปลี่ยว     เอาไม้กระดานพาดจากเรือให้เด็กๆเดินขึ้นจากเรือไปนั่งกินข้าวที่ศาลา      แม่ครัวตำน้ำพริกให้คลุกข้าวกิน   ใกล้ๆกันมีผักหลายชนิดเช่นกระถิน  และใบไม้ที่กินได้ ขึ้นอยู่เองไม่มีใครปลูก     คุณยายชวนพี่ๆน้องๆไปเด็ดผักสดๆมาจิ้มน้ำพริกกิน   รู้สึกอร่อยมากกว่ากินที่บ้านเสียอีก   กินเสร็จแล้วก็เข้าไปไหว้พระในโบสถ์  มีโอ่งดินเผาใส่น้ำฝนตั้งอยู่  พร้อมกระบวย ให้คนผ่านไปมาตักน้ำฝนเย็นชื่นใจกินกันได้

   เรื่องพักค้างคืนตามทางเป็นเรื่องใหญ่    ถ้าไม่รู้ว่าจะไปพักที่ไหนก็เดินทางไม่ได้    เส้นทางเรือไปนครปฐมไม่มีโรงแรมให้พักค้างคืน    มีทางเดียวคือพักตามบ้านคนรู้จัก   ก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน คุณลุงจึงถามเพื่อนฝูงว่ามีใครมีญาติอยู่ใกล้ๆนครปฐมบ้างไหม    พบว่าเพื่อนคนหนึ่งมีญาติอยู่ตามทางก่อนถึงนครไชยศรี   เขาก็เขียนจดหมายไปบอกญาติให้รู้ล่วงหน้าไว้ และให้คุณลุงถือจดหมายอีกฉบับหนึ่งติดตัวมาด้วยเป็นหลักฐาน

   ตกเย็นเรือมาถึงหมู่บ้านริมน้ำแห่งหนึ่ง    คุณลุงถามจากชาวบ้านที่พายเรือผ่านมาว่าบ้านญาติของเพื่อนอยู่ไหน   เมื่อรู้ก็ให้คนแจวเรือเบนหัวเรือเข้าจอดที่ท่าน้ำ   คุณลุงกับคุณป้าขึ้นจากเรือไปก่อนให้เด็กรออยู่ในเรือ  สักพักก็กลับมา มีเจ้าของบ้านตามมาด้วย   เขาจัดที่ให้คุณลุงกับคุณป้าและลูกหลานค้างบนเรือน    ส่วนคนอื่นๆค้างกันในเรือ    คุณยายจึงต้องหอบหมอนและเสื่อขึ้นไปนอนบนนอกชาน    ถึงเวลาอาหาร แม่ครัวก็จัดสำรับจากเรือมาให้เด็กๆ  แล้วยกอีกสำรับหนึ่งไปให้คุณลุงกับคุณป้ากินกับเจ้าของบ้าน

   คุณป้าอธิบายให้คุณยายฟังว่า ต้องพักกับคนรู้จักจะได้ปลอดภัย   ถ้าหากว่าไม่เจอบ้านคนรู้จัก ก็ต้องอาศัยจอดเรือหน้าบ้านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยคุ้มครอง     ถ้าหากว่าไปจอดเรือในที่เปลี่ยว  กลางคืนอาจมีโจรผู้ร้ายเข้ามาลักของในเรือได้ 

 
วันรุ่งขึ้น คุณลุงกับคุณป้าลาเจ้าของบ้านมาลงเรือ     คุณยายเริ่มหายตื่นเต้นจากนั่งเรือแล้ว ก็เลยหลับไป  เพราะเมื่อคืนแปลกที่เลยนอนไม่ค่อยหลับ      มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา   เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย     เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง    ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด   มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง   คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว  จบเรื่องเดินทางกันแค่นี้

                                                                                               "เทาชมพู"

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: เทาชมพู
มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา   เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย     เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง    ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด   มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง   คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว"

ภาพประกอบ



.....

siamese

สะพานนี้เห็นยักษ์แบก ชัดเจนครับ



.....

เทาชมพู

ทุกวันนี้เรือหายไปจากคลองเจดีย์บูชาหมดแล้ว  แต่ยักษ์ยังแบกสะพานอยู่ค่ะ
ขอบคุณสำหรับภาพประกอบค่ะ คุณเพ็ญชมพู และคุณ siamese

*******************


บริวาร

คุณยายเกิดมาในเรือนหมู่ขนาดใหญ่  เป็นบ้านทรงไทยหลายสิบหลัง เชื่อมต่อกันด้วยนอกชาน ทำให้วิ่งจากบ้านนั้นไปหาบ้านนี้ได้สะดวก  โดยไม่ต้องลงไปที่พื้นดินเลย    หน้าบ้านเป็นคลองเช่นเดียวกับบ้านอื่นๆในละแวกนั้นที่ปลูกอยู่ริมคลอง   ส่วนหลังบ้านเป็นสวนผลไม้สุดลูกหูลูกตาล้อมรอบบ้าน   มีผลไม้ทุกอย่างตั้งแต่ทุเรียน ขนุน  ส้มโอ ละมุด มะเฟือง มะไฟ  ฯลฯเพราะที่ดินริมคลองติดแม่น้ำเป็นดินดีมาก  ปลูกอะไรก็งาม      ส่วนมะม่วง และชมพู่เป็นผลไม้ดาษดื่น บ้านไหนๆก็มีกันทั้งนั้น

สวนผลไม้เป็นรายได้ของเจ้าของบ้าน    ต้องอาศัยแรงคนทำงานในสวน  ตั้งแต่ลอกท้องร่อง   วิดน้ำรดต้นไม้    นอนเฝ้าสวนในหน้าทุเรียน  ดูแลและเก็บผลไม้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อถึงสวน  ขนเข่งผลไม้ลงเรือ  ฯลฯ    ในบ้านคุณยายจึงมีบริวารมากมายหลายสิบคน เพื่อเป็นแรงงานประจำบ้าน   พวกนี้อยู่กันทั้งครอบครัว   มีลูกออกมาก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่จนโต แล้วก็กลายเป็นบริวารรุ่นต่อๆมา     เมื่อคุณยายเกิด มีคนในบ้านหลายคนที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยคุณทวดของคุณยาย  บางคนก็โตมาพร้อมกับคุณปู่ของคุณยายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว

คนงานเหล่านี้ไม่ใช่ทาส  เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลิกทาสมานานแล้วตั้งแต่สมัยคุณพ่อของคุณยายยังเล็ก    ทาสบางคนพอเป็นไทแก่ตัวก็โยกย้ายออกไปทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง    แต่บางคนก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านนายต่อไปในฐานะบริวาร  จะลาออกไปเมื่อใดก็ได้ แต่พวกนี้ไม่ค่อยมีใครออกไปไหน ยังสมัครใจอยู่บ้านเดิมจนกระทั่งแก่ตายไปเอง

    คุณยายเรียกคนเหล่านี้ว่า "ตา" กับ "ยาย" ตามด้วยชื่อเขา   ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนแก่วัยปู่ย่าตายาย  แต่เป็นคำเรียกบริวารในสมัยนั้น     คำนี้แตกต่างจาก "คุณตา" และ" คุณยาย" ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่

    บริวารบางคนมีหน้าที่ประจำ เช่นเป็นคนแจวเรือประจำบ้าน    ถ้าบ้านไหนมีเรือหลายลำ ก็มีคนแจวเรือประจำกันเรือละคน  เพราะนายหลายคน นั่งเรือไปและกลับคนละเวลากัน        อีกแห่งหนึ่งคือครัวของบ้าน ในเมื่อมีหลายครอบครัวในเรือนหมู่    โรงครัวจึงต้องมีคนทำงานหลายคน    แม่ครัวเป็นหัวหน้าใหญ่  มีลูกมือหลายคนทั้งหญิงและชาย    ทำหน้าที่ช่วยงานต่างๆในครัว เช่นผ่าฟืน ขูดมะพร้าว  หั่นผัก  หั่นเนื้อ ฯลฯ     เพราะงานทำกับข้าวแต่ละมื้อเป็นงานใหญ่กินเวลามาก   ทำมื้อกลางวันเสร็จแล้วก็เตรียมตัวทำมื้อเย็นต่อไป    เพราะมื้อเย็นถือเป็นมื้อหลักของบ้าน ต้องเตรียมกันนาน  ไม่ใช่สำหรับเจ้าของบ้าน แต่สำหรับบริวารในบ้านด้วย   แม่ครัวไม่สามารถหุงข้าวได้ทีละหม้อเพราะจะไม่พอกิน   ต้องหุงด้วยกระทะใบบัว    ซึ่งหุงยากที่จะให้ข้าวสุกเสมอกันทั้งกระทะ    คนเป็นแม่ครัวจึงต้องมีฝีมือจริงๆ  ถือเป็นบริวารชั้นดีของบ้าน

    ในเมื่อบ้านคุณยายเป็นสวน  จึงต้องมีลูกมือทำสวนหลายคน  คอยดูแลสวน    และเก็บผลไม้ซึ่งเรียกกันว่าลูกไม้จากต้นใส่เข่งเตรียมไว้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมารับถึงสวน       ในหน้าที่ผลไม้ออกมาก    ในสวนปลูกเรือนเล็กๆ มุงจากเอาไว้เหมือนบ้านหลังเล็กๆ มีผนังสามด้าน ด้านหน้าเปิดโล่ง  สำหรับเก็บผลไม้ที่ต้องรีบเก็บจากต้นมารอพ่อค้าแม่ค้าไว้ที่นั่น     คนทำสวนก็ต้องช่วยกันเก็บและขนลูกไม้กันไปไว้ตามเรือนเหล่านี้   ตลอดวันไปจนค่ำ    ถ้าเจ้าของบ้านไม่ลงมาควบคุมเอง ก็ต้องมีหัวหน้าคนสวนทำหน้าที่นี้

บริวารบางคนก็อาศัยอยู่ในเรือนหมู่ ใต้ชายคาเดียวกับนาย   คุณยายมีพี่เลี้ยงชื่อยายเพียน  อยู่กับคุณยายตลอด 24 ชั่วโมง  ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด   ตอนเล็กๆคุณยายไปโรงเรียนใหม่ๆ   ยายเพียนก็ไปนั่งเฝ้าอยู่ตลอดวัน  แต่พวกเรือนครัวปลูกเรือนเล็กๆอยู่แยกออกไปจากเรือนหมู่ของนาย    มีนอกชานเชื่อมให้เดินถึงกันได้
 

     พวกคนสวนปลูกเรือนอยู่ในสวน  อยู่กับลูกเมีย      เป็นหน้าที่ของนายที่จะต้องเลี้ยงลูกเมียของบริวารด้วย   คนเหล่านี้ก็ทำงานให้นายเช่นเดียวกัน   แต่เด็กๆเมื่อโตขึ้นอาจจะขอแยกออกไปทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงตัวเองได้    เด็กผู้หญิงเมื่อโตเป็นสาวก็แต่งงานแยกไปอยู่บ้านสามีได้  ไม่มีใครว่า 

พี่เลี้ยงของคุณยายได้รับเงินเดือน เดือนละ 10 บาท  ถือว่าเป็นค่าจ้างค่อนข้างแพงสำหรับบริวาร       ส่วนคนแจวเรือได้เบี้ยเลี้ยงรายวัน วันละ 1 สลึง   ตอนเย็นๆเขาจะขึ้นมารับเบี้ยเลี้ยง  โดยคลานเข้ามารับกับคุณย่าของคุณยายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง  หน้าที่หารายได้ และควบคุมค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นหน้าที่ของคุณย่า     ส่วนคุณปู่จะมอบเงินจากเงินเดือนให้คุณย่านำไปใช้จ่ายในบ้าน  แต่คุณย่าก็ต้องหารายได้จากสวนเพิ่มเติมด้วย   ถึงจะพอเลี้ยงลูกหลานและบริวารจำนวนมากให้อยู่ได้สบาย     

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบริวารในสมัยนั้น เป็นความผูกพันกันอย่างคนในครอบครัว   ไม่ห่างเหิน เป็นแค่นายจ้างและลูกจ้าง อย่างคนทำงานในบริษัทหรือโรงงานในสมัยนี้     นอกจากจ่ายค่าจ้าง นายยังสามารถอบรมสั่งสอนตักเตือน ห้ามปรามและควบคุมความประพฤติของลูกจ้างได้    ตากรับ คนแจวเรือที่ทำหน้าที่ส่งคุณยายและพี่ๆน้องๆไปโรงเรียนเป็นคนชอบกินเหล้า   ได้เงินเท่าไรก็ไปซื้อเหล้ากินหมด   คุณย่าจึงต้องระวังไม่จ่ายเงินให้มากเกินไป   มิฉะนั้นจะเอาไปกินเหล้าเมามาย พาลวิวาทกับลูกเมีย    เมื่อตากรับคลานขึ้นมารับเงิน  คุณย่าก็จะแถมเทศนาไปให้อีกกัณฑ์ใหญ่ทุกวัน    ตากรับก็นั่งฟัง  กัดกรามแน่น ตาแดงก่ำ หน้าตาถมึงทึง  จนคุณยายซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ  กลัวว่าตากรับจะฆ่าคุณย่า เพราะตากรับเป็นคนรูปร่างล่ำสัน  หน้าตาดุดันเหมือนโจร     ส่วนคุณย่าก็เป็นหญิงชราร่างผอมบางนิดเดียว  ไม่มีทางป้องกันตัวเอง  ถ้าไม่นับหลานเล็กๆอย่างคุณยายที่นั่งอยู่ด้วย ก็ถือว่าคุณย่านั่งอยู่คนเดียว

คุณยายกลัวไปเปล่าๆปลี้ๆ  เพราะไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น  ตากรับก็นั่งกัดฟัน ฟังอย่างสงบเสงี่ยม  จนคุณย่าเทศน์จบ ตากรับก็ก้มลงกราบแล้วคลานถอยกลับไปพร้อมกับเงิน  เป็นอยู่เช่นนี้ทุกวัน   จนกระทั่งตายจากกันไป

                                                                                                 "เทาชมพู"

...............

เทาชมพู

.....


ภรรยา

สังคมในสมัยคุณยายยังเด็กเป็นสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกัน  อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน  เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลก    คุณลุงของคุณยายที่อยู่อีกเรือนหนึ่งก็มีภรรยา 2 คนคือคุณป้า และภรรยารองอีกคนหนึ่ง  เป็นญาติห่างๆกันมาก่อนจะมาเป็นภรรยา   

คุณป้าเองก็ไม่ได้รังเกียจภรรยารอง  เพราะมีเธอไว้ก็แบ่งเบาภาระในบ้านได้มาก     คุณป้าจะต้องช่วยคุณย่าดูแลสวนผลไม้   คิดเงินซื้อขายกับพ่อค้าแม่ค้า    รับแขกเพื่อนๆของคุณปู่และคุณลุงที่มาเยี่ยมบ้าน   ไปงานต่างๆเช่นงานแต่งงาน งานศพ งานบวช ฯลฯ กับคุณลุง  แทบไม่มีเวลาว่างเลยสักชั่วโมงเดียว    จึงต้องการคนที่ไว้ใจได้สักคนหนึ่งช่วยดูแลลูกๆ   ภรรยารองของคุณลุงก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี

ภรรยารองของคุณลุงทำหน้าที่คล้ายแม่บ้าน คือดูแลเด็กๆลูกของคุณลุงคุณป้า   และดูแลเรื่องอาหารการกินภายในบ้าน  คือเป็นหัวหน้าของแม่ครัวอีกทีหนึ่ง     คุณป้ามีงานเต็มมือทั้งวัน บางทีก็มีแขกมาหา  บางทีก็ออกไปธุระนอกบ้าน   แต่ภรรยารองจะอยู่ประจำในบ้านไม่ออกไปไหน     สำหรับคนภายนอก   เช่น เพื่อนบ้านและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของคุณลุงก็รับรู้ว่านี่คือภรรยาอีกคนหนึ่งของคุณลุง   ทุกคนก็ต้อนรับเธอเป็นเรื่องปกติ   เธอไม่ต้องซ่อนเร้นปิดบัง   และไม่รู้สึกว่าตัวเองฐานะต่ำต้อยเพราะไม่ใช่ภรรยาหลวง     

ผู้หญิงจำนวนมากในสมัยนั้น ทั้งที่มีชาติสกุลดี  หลายคนเป็นลูกสาวขุนนาง  ต่างก็เป็นภรรยารองกันได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องแปลก   และที่แปลกกว่านั้นก็คือมีภรรยาหลวงจำนวนไม่น้อยที่สมัครใจไปสู่ขอหญิงสาวที่กำเนิดดี มีการอบรมดีเหล่านี้มาเป็นภรรยารองให้สามีของตน    เพราะเห็นว่าไหนๆ สามีก็คงจะมีภรรยาหลายคนอยู่แล้ว     แทนที่จะเอาผู้หญิงแปลกหน้าไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าเข้ามาในบ้าน   ก็ไปคัดเลือกมาให้เองดีกว่า   จะได้เลือกคนที่ดูแล้วว่าเข้ากันได้ และไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมบ้าน     

ภรรยาหลวงบางคนก็ยกน้องสาวตัวเองให้สามีเสียเลย  เพื่อจะได้ไว้ใจให้ช่วยดูแลลูกๆและดูแลบ้านช่องได้สนิทใจ  ดีกว่าไปเอาคนอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติเข้ามา    เมื่อน้องสาวมีลูก  พี่สาวก็ไม่รังเกียจเพราะเป็นหลานป้าแท้ๆของเธอเอง  เช่นเดียวกับน้องสาวก็ไม่รังเกียจลูกๆของพี่สาว เพราะเป็นหลานน้าแท้ๆของเธอเอง

.....

Jalito

   เรื่องภรรยาหลวง ภรรยารอง ในสมัยก่อนก็คงจะไม่สงบเรียบร้อยไปทุกครอบครัว เป็นไปได้ในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีบารมีสูง เอาอยู่ บางครอบครัวก็คงมีคลื่นใต้น้ำบ้าง อาจจะเบาหรือรุนแรงก็แล้วแต่ ใครก็อยากเป็นเบอร์หนึ่ง  สังคมไทยปัจจุบันยอมรับ'หนึ่งสำหรับหนึ่ง'  ถ้าเกินกว่านี้ก็อยู่ในสภาพซ่อนเร้น ธรรมชาติกำหนดหน้าที่ทางเพศของชาย-หญิง (ผู้-เมีย)ไว้ต่างกัน ฝ่ายชายมีหน้าที่รุกหรือแสวงหา ซึ่งต่างกับหญิง แต่ความสามารถด้านอื่นๆชายหญิงมีเท่าเทียมกัน สตรียุคปัจจุบันจึงไม่ยอมให้บุรุษเอาเปรียบ จึงเกิดเรื่องราวเป็นข่าวหน้าหนึ่งตามที่ทราบๆ  เรื่องความสัมพันธ์ชายหญิงจึงสามารถเอามาเขียนเป็นนิยายได้ไม่มีวันหมด

.....

Jalito

  ขออนุญาตอาจารย์ย้อนหลังเข้ามาในห้องครับ ปกติจะเวียนฟังอยู่ทีระเบียงหน้าห้องโน้นหน้าห้องนี้ นาน..นับปีเหมือนกัน

  อยากขอทรรศนะของท่านอาจารย์เรื่องครอบครัวไทยโบราณหลายภรรยาแบบครอบครัวคุณยายน่ะครับ

.....

เทาชมพู

เห็นด้วยกับคุณ jalito ค่ะว่า ในครอบครัวที่มีคลื่นใต้น้ำ (หรือแม้แต่คลื่นบนน้ำอย่างเปิดเผย) ระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยก็มีอยู่เหมือนกัน   เมียน้อยที่คับแค้นใจก็มี  เรื่อยไปจนถึงลูกๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับลูกเมียหลวงก็มีไม่น้อย     เราถึงมีสำนวนว่า "ลูกเมียน้อย" ที่หมายถึงไม่เทียมหน้าเทียมตาผู้อื่น     แต่เรื่องทำนองนี้รู้กันเยอะแล้ว  ปัจจุบันหาดูได้จากละครทีวีหลายๆเรื่อง   ดิฉันก็เลยไม่นำเสนอในกระทู้ให้ซ้ำซากเปล่าๆ   
 
เรื่องที่เลือกมาเล่าคือนำเสนอบทบาทเมียน้อยที่ปัจจุบันเราไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ได้แก่เมียน้อยที่ได้รับการยอมรับในครอบครัว   มีความเป็นอยู่สบายและมั่นคงพอสมควร    ในที่นี้ใช้คำว่า "ภรรยารอง" เพื่อจะได้รู้สึกว่าเป็นคนละความหมายกับ "เมียน้อย" ที่ถูกประทับตราในทางลบ   จริงๆแล้วภรรยารองก็จัดเข้าประเภทเมียน้อยน่ะแหละค่ะ   

ส่วนคำถามของคุณ Jalito ที่ต้องการทราบทรรศนะ    ดิฉันคิดว่าสภาพครอบครัวในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นไปตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น   สมัยของคุณยายเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน เป็นยุคที่ผู้หญิงในสังคมเมืองหลวงไม่มีทางเลือกมากนัก     เพราะค่านิยมกำหนดให้ว่า ตอนเด็กๆเธออยู่ในความดูแลของพ่อแม่  โตเป็นสาวก็ต้องอยู่ในความดูแลของสามี   พอแก่ตัวลงก็อยู่ในความดูแลของลูก (ที่สังคมเรียกว่ามีหน้าที่กตัญญูต่อพ่อแม่)   

ในเมื่อสังคมสมัยนั้นถือว่า ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกันอย่างถูกต้อง   ผู้หญิงก็เลยมีทางเลือก 2 ทางว่าจะเป็นเมียหลวงหรือเมียน้อย   ทางเลือกที่สามคืออยู่เป็นโสด มีผู้หญิงน้อยคนมากสมัครใจจะเลือกทางนี้ เพราะแปลว่าจะต้องอยู่ในความดูแลของญาติ เช่นพี่ชายน้องชาย หรือหลานๆ  เมื่อเธอชราลง     แน่ละว่าเธอย่อมไม่ได้รับความเอาใจใส่มากเท่ามีครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว

ถ้าคุณ Jalito ถามว่าผู้หญิงเมื่อ 100 ปีก่อนไม่มีทางทำมาหากินเลี้ยงตัวเองหรือ   ดิฉันก็ขอตอบว่ามี  เพราะคุณย่าและคุณป้าของคุณยาย เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้หญิงที่สามารถสร้างกิจการ ช่วยหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนของสามีมาเลี้ยงครอบครัวและบริวารได้   แต่ทั้งคุณย่าและคุณป้าก็ไม่ได้อยู่เป็นโสด  จำต้องอาศัยบารมีของสามีเป็นความมั่นคงทางสังคม  เป็นรั้วกันคนรังแกเอารัดเอาเปรียบ  เพราะผู้หญิงไม่สามารถปกป้องตัวเองได้มากเท่ามีสามีปกป้อง      เมียน้อยจำนวนมากที่สมัครใจเป็นเมียน้อยก็เพราะเหตุผลเดียวกัน คือมีสามีไว้เลี้ยงดู  สบายกว่าต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเอง

ทรรศนะนี้ ในปัจจุบันเบาบางลงไปมากเมื่อผู้หญิงเรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ มีรายได้ไม่น้อยกว่าผู้ชาย   ช่วยตัวเองได้  ดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง    ไม่ต้องพึ่งพาใคร      แต่ผู้หญิงที่อยากเป็นอย่างเมื่อ 100 ปีก่อนก็ยังมี  บางคนอาจต้องการยกฐานะตัวเอง  บางคนไม่ต้องการเงินแต่ต้องการพึ่งพิงทางใจ      เราจึงมีปัญหาเมียหลวงเมียน้อยให้เห็นกันบ่อยๆไม่เฉพาะแต่ในละครทีวี   ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีเป็นประจำค่ะ   

.....

เทาชมพู

(ต่อ)

ตอนคุณยายเล็กๆ  ผู้ชายผู้หญิงไม่มีโอกาสพบปะกันง่ายๆอย่างสมัยนี้     ผู้หญิงที่ผู้ชายเห็นอยู่ทุกวันถ้าไม่ใช่ญาติก็คือบริวารในบ้าน  นำไปสู่ความใกล้ชิด และพอใจ จนกลายเมียน้อยอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเมียบ่าว       เมื่อเป็นแล้ว เมียบ่าวก็ยังทำหน้าที่รับใช้ต่อไป แต่สบายขึ้นกว่าเดิม เช่นมีห้องหรือเรือนของตัวเอง    ความเป็นอยู่อาจจะดีขึ้นถ้าหากว่ามีลูกกับนายผู้ชาย    แต่เมียบ่าวก็จะไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเมียหลวงอยู่ดี     

ถ้าเมียบ่าวมีลูกออกมา ทางบ้านก็เลี้ยงดูกันไป     ถ้าหากว่าไม่มีลูกกับนาย    เมื่อแก่ตัวลง  เมียบ่าวก็อาจจะกลับเป็นบ่าวเฉยๆ เหมือนเมื่อตอนต้นก็ได้   ขึ้นอยู่กับความเมตตาปรานีของฝ่ายชายว่าจะอุปการะต่อไปหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

คุณยายรู้จักท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง   มีภรรยาหลายคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน    รวมทั้งเมียบ่าวด้วย   มีลูกออกมา  ภรรยาหลวงของท่านก็ให้อยู่อาศัยในบ้าน  จ่ายค่ากินค่าอยู่ให้    แต่ลูกจากเมียบ่าวไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีความเป็นอยู่ดีเท่าลูกเมียหลวง     เมื่อสามีผู้เป็นหลักของบ้านถึงแก่กรรม   ภรรยาหลวงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่มีคนหาเลี้ยง  ก็ให้เมียบ่าวและลูกๆออกไปจากบ้าน เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองเงิน   

ลูกเมียบ่าวทั้งๆมีสิทธิ์ใช้นามสกุลของบิดา ซึ่งเป็นนามสกุลใหญ่โต   แต่มีความเป็นอยู่ยากจน   และไม่ได้ติดต่อกับญาติพี่น้องลูกเมียหลวงซึ่งมักจะเป็นใหญ่เป็นโตในราชการตามบิดา   ลูกหลานในชั้นหลังก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นญาติกันได้ทางไหนอย่างไร
                                                                                                "เทาชมพู"

.....

เทาชมพู

นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรอีกแล้วค่ะ     ใครอยากทราบเรื่องอะไรก็ช่วยโพสต์ถามมาก็แล้วกัน

.....

Jalito

   ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ  พอดีเกิดในยุคสังคมผัวเดียวเมียเดียว  เลยมองภาพอย่างที่คุณยายเล่าไม่ออกว่าจะมีความสุขสงบยังไง ผู้ชายที่เป็นชนชั้นล่างที่จะมากเมียได้ เห็นจะมีก็แต่กลุ่มอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ หรือนักเล่นที่ต้องจรไปเรื่อย  ในยุคปัจจุบันที่เห็นมีพิเศษ น่าทึ่งก็คุณเต๊กกอ'ขุนแผนเมืองพระปฐม' ไม่ทราบว่าวันนี้ยังอยู่ดีหรือเป็นไงบ้าง

.....

เทาชมพู

คุณ Jalito คงนึกภาพสังคม polygamy (มีคู่สมรสหลายคนในเวลาเดียวกัน)ไม่ออก     ผู้ชายสมัยคุณยายยังเด็ก ไม่ได้มีแค่รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ เท่านั้นค่ะที่มีเมียหลายคน     ผู้ชายที่อยู่บ้านไม่ไปไหนนอกจากที่ทำงาน ก็มีเมียสองหรือสามคนในบ้าน เป็นเรื่องธรรมดา    แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มีกันสำนวนไทยที่สะท้อนสภาพสังคมแบบนี้ มีหลายสำนวนด้วยกัน
- เมียสองต้องห้าม
- มีดอยู่ในเรือนให้นับว่าพร้า  ข้าอยู่ในเรือนให้นับว่าเมีย
- พระยาเทครัว
ฯลฯ

เอาเพลงกล่อมเด็กมาฝากค่ะ    น่าจะเกิดในช่วงรัชกาลที่ 2  ไม่เก่ากว่านั้น    เพราะมีชื่อ การะฝัด  ซึ่งหมายถึงจอห์น ครอเฟิด   ทูตอังกฤษที่มาเจริญทางพระราชไมตรีในรัชกาลที่ 2

โม่งเม่งเอย  โม่งเม่งการะฝัด
รูปร่างสันทัด มีเมียสองคน
เมียน้อยชื่อแม่ด้วง  เมียหลวงชื่อแม่มล
อยู่ด้วยกันสองคน  มิได้เว้นสักเวลา
ต่อมาแม่ด้วงผอมลง  แม่มลก็ทรงโศกา
รีบหาหยูกหายา   เถิดเจ้าการะฝัดเอย

เมียน้อยเมียหลวงบ้านนี้รักกันดี ขลุกอยู่ด้วยกันไม่เว้นสักเวลา  พอเมียน้อยป่วยเมียหลวงก็ร้องไห้   แสดงว่าบ้านนายการะฝัดนี่เห็นทีจะสงบราบรื่นน่าอิจฉามาก

......................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #4 on: 27 February 2022, 17:29:00 »
Reply with quote


เทาชมพู

.....


บันเทิงใจในบ้าน

เมื่อคุณยายยังเด็ก   กรุงเทพและธนบุรีมีไฟฟ้าใช้แล้ว  แต่ยังไม่ทั่วถึง    แม้แต่บนเรือนหมู่ของคุณยายก็มีเฉพาะเรือนใหญ่ๆ   ส่วนเรือนเล็กๆ และเรือนบริวารในสวนยังคงใช้ตะเกียงกันอยู่    เช่นตะเกียงลานและตะเกียงน้ำมัน      ไฟฟ้าบนบ้านของคุณยายไม่ได้สว่างไสวอย่างไฟฟ้าสมัยนี้   แต่เป็นหลอดไฟห้อยลงมาจากเพดาน ส่องแสงออกแดงๆ ค่อนข้างมัว เพราะแรงเทียนไม่มากนัก     แต่ก็ยังดีเพราะให้ความสว่างได้ทั้งห้อง  ผิดกับตะเกียงที่ส่องสว่างได้เฉพาะบางส่วนของห้องที่ตะเกียงตั้งอยู่เท่านั้น

ในเมื่อไฟฟ้าไม่สว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้อย่างตอนกลางวัน    ในตอนกลางคืนคุณยายจึงถูกห้ามอ่านหรือท่องหนังสือ เพราะเพ่งสายตามากจะทำให้สายตาเสื่อมได้เร็ว     ส่วนเรื่องเครื่องใช้ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าเช่นวิทยุไม่ต้องพูดถึง เพราะยุคนั้นยังไม่มี     ไฟฟ้ามีไว้ให้แสงสว่างอย่างเดียว

ในเมื่อไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ    ออกไปไหนก็ไม่ได้ เพราะค่ำลงมองออกไปนอกบ้านก็มีแต่ความมืด   ชาวบ้านต่างก็เข้าบ้านกันหมดตั้งแต่พลบค่ำ  ไม่มีใครไปเที่ยวนอกบ้านกัน  ถ้าอย่างนั้นแล้วแต่ละบ้านที่มีเด็กๆเขาหาความบันเทิงกันอย่างไร   คำตอบก็คือสมัยนั้นเด็กๆเข้านอนแต่หัวค่ำกว่าสมัยนี้มาก    กินข้าวเย็นตอนหกโมง พอสองทุ่มคุณยายก็เข้านอนแล้ว   เพื่อจะตื่นตั้งแต่เช้าตรู่   พอฟ้าเริ่มสางๆทุกบ้านก็ตื่นกันหมดแล้วมาหุงหาอาหาร เตรียมใส่บาตร   ส่วนชาวสวนนั้นต้องตื่นพร้อมไก่ คือตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เพื่อจะไปทำงาน

.....

SRISOLIAN

ผมได้พบประวัติของคุณทิพย์วาณี  สนิทวงศ์ เพิ่มเติมจากที่คุณเทาชมพูนำมาลงไว้ ทำให้ได้ทราบว่า เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นอันเนื่องจากการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน กอปรกับการเป็นคนช่างซักช่างถามของผู้เขียนเป็นส่วนตัว คุณป้า คุณลุง คุณอา บรรดาญาติที่ใกล้ชิดก็เป็นผู้เล่าเรื่องราวในครั้งอดีตโดยตรง จึงทำให้เรื่องนี้มีชีวิตชีวา ในชั้นแรกเขียนให้น้องๆ อ่าน พอน้องโตขึ้น ก็เขียนให้เด็กข้างบ้านอ่าน และก็มีเสียงเรียกร้องให้เขียนต่อๆ กันอีกหลายตอน  และเพิ่งทราบว่าคุณทิพย์วาณี เคยเป็นโปลิโอแต่ก็ได้ใช้สมุนไพรนวดรักษาจนดีขึ้น  ด้วยความที่ญาติข้างแม่เป็นหมอยามาก่อน

.....

siamese

บรรยากาศเมื่อ ๖๓ ปีก่อน ภาพนี้ถ่ายโดยช่างภาพ Dimitri แห่งนิตยสาร LIFE
(ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1950) เป็นภาพเด็กน้อย ๒ ท่านกับแสงไฟ ดูเหมือนจะเป็นตะเกียงแก๊สนะครับ



.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ใช่ครับ ตะเกียงแกส acetylene ใช้กันทั่วไปโดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอยตอนกลางคืน ใช้ก้อน calcium carbide ใส่ในหม้อทองเหลือง แล้วเติมน้ำลงไป เกิดแกส acetylene ขึ้นมาทางท่อที่มีปลายแบบนมหนู เอาไม้ขีดจุดให้ลุก

อ่านที่คุณเทาชมพูเล่าถึงสมัยก่อน ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงสมัยเรียนชั้นประถมตอนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่ม  ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เมืองไทย ๖ หรือ ๗ แห่งในเวลาใกล้เคียงกับที่โจมตี Pearl Harbor พ่อผมเป็นห่วงเพราะแม่ผมเป็นฝรั่ง ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นจะจับฝรั่งที่อยู่เมืองไทยเข้าค่ายเชลยหรือไม่ พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์แนะนำให้พ่อส่งครอบครัวไปอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ของท่านที่เรือนแพที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อให้ไกลหูไกลตาทหารญี่ปุ่นหน่อย แม่พาผมกันน้องๆพร้อมพี่เลี้ยงขึ้นเรือแดงไปสิงห์บุรี จำได้ว่าแม่นั่งชิดกราบเรือข้างซ้าย ไปได้สักครึ่งทางมีคนในเรือบอกว่าเรือทหารญี่ปุ่นกำลังสวนทางมา มีคนไทยใจดีบอกแม่ผมว่าให้มานั่งกลางเรือจะดีกว่า
สักพักมีเรือยนตร์ปักธงอาทิตย์อุทัยมีทหารเต็มลำสวนมาทางด้านที่เดิมแม่นั่งอยู่  ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม่จะไม่ขยับที่ก็คงไม่มีเรื่อง  แต่ทุกวันนี้เวลาคิดถึงน้ำใจชาวบ้านไทยที่อุตส่่าห์ตั้งใจป้องกันฝรั่งแปลกหน้าให้พ้นภัย ก็อดตื้นตันใจไม่ได้

พักอยู่กับคุณปู่คุณย่าได้วันสองวันก็พอดีหาบ้านเช่าได้ แม่เอาผมไปฝากโรงเรียนข้างบ้าน จัดว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับเด็กชาวกรุงอย่างผมมาก เรียนเซ็นต์คาเบรียล ป.๒ นั่งม้ายาวๆแถวละสี่คน มีโต๊ะให้ใช้เขียน ใช้ปากกาจิ้มหมืก ถ้าภาษาอังกฤษก็ต้องใช้ปากกาคอแร้งจะได้เขียนเส้นหนักเส้นเบาได้ ถ้าภาษาไทยก็ต้องใช้ปากกาเบอร์ ๕ ที่ปลายตัด ต้องมีหมึกสีแดงไว้ขีดเส้นคู่สองเส้นใต้คำตอบวิชาเลขคณิต นั่งผัน verb พร้อมๆกันทั้งชั้น  แต่พอไปสิงห์บุรี นั่งพับเพียบกับพื้น มีโต๊ะยาวใช้เขียน ใช้กระดานชะนวน ดินสอหิน ลบง่ายดี ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาอังกฤษเลย

ครูให้การบ้านคัดไทย วันรุ่งขึ้นเอากระดานชนวนยื่นให้ครู ครูเอ็ดลั่นห้องว่า “บอกให้คัดเป็นการบ้าน ไม่ใช่ให้คนใช้เขียนให้”  ผมไม่เข้าใจว่าทำไมครูถึงเกิดโมโหขึ้นมา  ต่อมาสักพักครูบอกให้นักเรียนคัดไทยในห้อง  ครูมายืนดูผมคัด ได้ยินครูรำพึงว่า “เออ เขียนเองจริง” หลังจากนั้นไม่โดนเอ็ดอีกเลย ตกลงที่มาสเตอร์ รร. เซ็นต์คาเบรียลเคี่ยวเข็นเรื่องการคัดไทยเลยมาได้ผลที่สิงห์บุรี  (เด็กเซ็นต์คาเบรียลสมัยนั้นเรียกครูว่า มะเซ่อ เช่น มะเซ่อเสงี่ยม คิดว่าเป็นคำเพี้ยนมาจาก master)

อยู่สิงห์บุรีได้ไม่นานก็กลับกรุงเทพฯ เพราะพ่อเห็นว่าปลอดภัย ญี่ปุ่นไม่ได้จับฝรั่งขังค่ายเชลย

.....

เทาชมพู

อยากให้อาจารย์หมอศานติเล่าความหลังสมัยเด็กในกระทู้นี้บ้างค่ะ   

.....

(ต่อ)
เวลาตั้งแต่ย่ำค่ำไปจนสองทุ่ม     เป็นเวลาเด็กฟังนิทานจากผู้ใหญ่       คุณยายฟังนิทานจากพี่เลี้ยงบ้าง จากผู้ใหญ่ในบ้านบ้าง    เรื่องที่เล่าก็มักจะมาจากเรื่องที่พระท่านเทศน์ให้ฟัง  คือชาดกเรื่องต่างๆ    หรือไม่เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา  หรือเป็นนิทานพื้นบ้าน อย่างเรื่องตาม่องล่าย  พระนางสร้อยดอกหมาก

เรื่องไหนสนุกเด็กๆก็ขอให้ผู้ใหญ่เล่าซ้ำไปซ้ำมา   จนจำได้ขึ้นใจ      เรื่องไหนน่ากลัวคุณยายก็เก็บเอาไปกลัวเสียมากมาย   เช่นเรื่องอ้ายย่ามแดง หรือเรื่องนางพรายน้ำที่อาศัยอยู่ก้นคลอง    ถ้าเด็กคนไหนแอบลงไปว่ายน้ำตอนค่ำๆมืดๆ พรายจะมาฉุดขาให้จมดิ่งลงไปใต้ท้องน้ำ    ไม่ได้กลับขึ้นมาอีก    จนคุณยายโตขึ้นถึงได้รู้ว่า เป็นวิธีห้ามของผู้ใหญ่มิให้เล่นน้ำตอนค่ำมืด เพราะน้ำเย็นจะทำให้เป็นตะคิวที่ขา ว่ายไม่ไหว แล้วก็จะจมน้ำตายได้ง่ายๆโดยไม่มีใครรู้ว่าเด็กหายไปไหน

บางบ้านมีลูกหลายคน เป็นเด็กโตแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นหนุ่มสาว  อย่างบ้านของคุณตา   คุณพ่อของคุณตาสร้างความบันเทิงในบ้าน   ด้วยการหัดลูกๆให้ตั้งวงมโหรี   เล่นกันเองในบ้านตอนค่ำๆ     แล้วแต่ใครจะอยากเล่นดนตรีอะไรก็ไปเรียนอย่างนั้นมา    น้องสาวของคุณตาไปเรียนซอสามสาย    น้องชายเรียนระนาด   คนอื่นๆก็ไปหัดอย่างอื่น  ส่วนคุณตาไม่ชอบหัดเครื่องดนตรีพวกนี้ ก็ถูกจับไปตีฉิ่ง  ซึ่งดูเหมือนง่ายกว่าเพื่อน  แต่เอาเข้าจริงก็ยาก เพราะต้องควบคุมจังหวะทั้งวงให้ลงตัวกัน    ถ้าตีผิดจังหวะ วงจะล่มลงไปได้ง่ายๆ
                                                                               
ในตอนแรกเมื่อหัดเล่นกันใหม่ๆ  วงมโหรีก็ล้มลุกคลุกคลาน เพราะเล่นกันได้เพลงเดียว    ต่อมาฝึกกันบ่อยเข้า ก็ค่อยชำนาญขึ้นจนกระทั่งเล่นได้รอดตลอดเพลง      เมื่อลูกๆเล่นได้ดี   คุณพ่อของคุณตาก็พอใจ  ชักชวนเพื่อนมาฟังมโหรีประจำบ้านที่เล่นโดยลูกๆ  เด็กๆเล่นได้ดีก็จะได้รับรางวัลจากเพื่อนๆของคุณพ่อเป็นกำลังใจ

                                                                                              "เทาชมพู"

..........

เทาชมพู

*****


คลอง

    คุณยายเกิดในบ้านริมคลอง เหมือนเด็กอื่นๆ เพราะบ้านสมัยนั้นอยู่ริมคลองเหมือนบ้านสมัยนี้อยู่ริมถนน      คลองแต่ละคลองกว้างมาก    น้ำใสน่าว่ายเล่น    มีคำกล่าวว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นก่อนเดินเสียอีก   คำนี้อาจจะเกินความจริงไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงว่าเด็กทุกคนว่ายน้ำกันเก่งทั้งนั้น   คุณยายยังไม่เคยเจอเด็กคนไหนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเลย

    ชีวิตคนยุคนั้นผูกพันกับแม่น้ำลำคลองตั้งแต่เช้าไปจนดึก  หรือเรียกว่า 24 ชั่วโมงก็ว่าได้    เมื่อคุณยายตื่นขึ้นมาตอนเช้า  ก็จะลงไปที่ท่าน้ำ นั่งรอพระสงฆ์ท่านพายเรือมารับบิณฑบาต  ไม่ได้เดินมาจากวัด       เด็กผู้ชายในบ้าน ตื่นนอนมาก็ลงมาอาบน้ำกันที่ท่าน้ำ กระโดดน้ำกันตูมๆ ก่อนกลับขึ้นบ้านเพื่อจะไปโรงเรียน   แต่คุณยายเป็นเด็กผู้หญิง จึงอาบน้ำอยู่บนเรือน มีห้องน้ำที่กั้นเป็นส่วนสัดไว้ตรงมุมหนึ่งของนอกชาน  เช่นเดียวกับพวกพี่สาวๆในบ้าน

    อย่างไรก็ตาม   สาวๆชาวบ้านที่ไม่มีห้องน้ำบนบ้าน ก็นิยมอาบน้ำกันที่ท่าน้ำ  พวกเธอนุ่งกระโจมอกลงมา ลงว่ายน้ำแล้วขึ้นไปใช้สบู่ถูกเนื้อถูตัวอยู่บนขั้นบันไดท่าน้ำ แล้วจึงค่อยลงน้ำล้างคราบสบู่ให้สะอาดอีกที    จากนั้นก็ผลัดผ้าจากผืนที่เปียกเป็นแห้ง กลับขึ้นเรือนไป    ทำกันประจำไม่มีใครเห็นเป็นของแปลก  และไม่มีใครไปเฝ้าดูด้วย

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

พูดถึงเด็กไทยว่ายน้ำเก่งชวนให้นึกถึงที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง สมัยเด็กพ่ออยู่เรือนแพที่แปดริ้วจนอายุได้สิบกว่าขวบแล้วถึงมากรุงเทพฯ (เอาไว้เล่าวันหลัง) ตอนอยู่แปดริ้ว ปู่ผมเป็นแพททย์แผนโบราณแต่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อยังเล็ก เล่ากันว่าเพราะแกะฝีที่หน้า เหลือแต่ย่าทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว ลูก ๕ คน  พ่อบอกว่าบ้านเป็นแพอยู่ข้างแม่น้ำ ผมคิดว่าคงเป็นแม่น้ำบางปะกง ลงเล่นน้ำแทบทุกวัน มีซุงไม้ผูกเป็นแพล่องลงตามแม่น้ำเป็นประจำ เด็กชอบดำน้ำลอดแพไปโผล่อีกข้าง วันหนึ่งพ่อกับเพื่อนดำน้ำจะลอดแพอีก ไม่รู้ว่าแพกว้างกว่าปกติหรือเกิดหลงทางใต้แพ แต่หาทางออกไม่ได้ เกือบจมน้ำตาย หลังจากนั้นทุกครั้งที่เป็นไข้หรือเจ็บหนักจะเพ้อว่าติดอยู่ใต้แพแทบทุกครั้ง

.....

เทาชมพู

ดำลงไปใต้แพ  แล้วลอดไม่พ้น   โผล่ขึ้นมาเกือบไม่ได้นี่น่ากลัวมากทีเดียวค่ะ   

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

เล่าเรื่องพ่อต่อ 

วันหนึ่งมีญาติซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ชื่อ หลวงปฏิบัติอากร (แป๋ะ สุวรรณทรัพย์) มาเยี่ยมย่าผม บอกย่าว่า “เด็กคู่นี้โตขึ้นทุกวัน น่าจะส่งไปเรียนหนังสือที่บางกอก ขืนอยู่อย่างนี้ ต่อไปจะไม่ทันเขา และจะได้เป็นที่พื่งต่อไปภายหน้า” แนะนำให้ไปอยู่กับญาติห่างๆ ชื่อหลวงรักษานิติศาสตร์ (เพิ่ม ชวานนท์) เป็นทนายมีชื่อ บ้านอยู่ถนนพระสุเมรุ มีซอยไปลงคลองบางลำพู พ่อกับลุงก็เลยมาอยู่เป็นเด็กในบ้าน โดยท่านเป็นผู้ปกครอง คุณหลวงรักษาฯส่งให้เรียน รร.วัดบวรฯ แล้วต่อมาเข้า รร.วัดเทพศิรินทร์ ในบ้านยังมีเด็กโตอีกหลายคน รวมทั้ง น.ต. หลวงเปรื่อง ประจนศึก .น. ซึ่งกำลังเรียน รร.นายเรือ อยู่ นับว่าคุณหลวงรักษาฯ เป็นผู้ปกครองกับเลี้ยงดูเด็กหลายคนให้ได้มีการศึกษา ได้ดีไปหลายคน ตอนค่ำพ่อมีหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์กับอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับศาลหรือคดีให้ฟังระหว่างที่คุณหลวงเอนหลังสูบยาฝิ่นอยู่


สมัยนั้นการสูบยาฝิ่นไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องสูบในโรงยา (คงเป็นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมการสูบฝิ่น) แต่คุณหลวงไม่ต้องการสูบในโรงยาเพราะอยู่บ้านสบายกว่า ตกลงเลยเป็นหน้าที่ของพ่อที่จะไปซื้อยาจากโรงยา แล้วหลบตำรวจที่เฝ้าโรงยาเอากลับมาบ้าน (หมดอายุความแล้ว ๕๕๕) พ่อได้ดีก็เพราะหลวงรักษาฯ มีอยู่ตอนหนึ่งพ่อหนีโรงเรียนทั้งอาทิตย์ คุณหลวงจับได้ เฆี่ยน ๗ ที (วันละที) แล้วบอกว่าถ้าจับได้อีกจะเพิ่มเป็นเท่าตัว พ่อบอกว่าเข็ด

ตอนจะจบ ม.๘ (สมัยนั้น เท่ากับ ม.๖ สมัยนี้) คุณหลวงแนะนำให้ลองสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สมัยนั้นในหลวงให้ทุนไปเรียนนอกได้ปีละหนึ่งคน คนที่สอบได้ที่หนึ่งจะไปเรียนอเมริกา อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ก็ได้ จะเรียนทางไหนก็ต้องไปหาคนสนับสนุนเอาเอง เช่นอยากไปเรียนทางทหารก็ต้องไปติดต่อกับกระทรวงกลาโหมขอให้เขารับอยู่ในสังกัดของกระทรวง พ่อบอกว่าไปสอบได้ที่ดีแต่ไม่ดีพอ (ดูเหมือนผู้ที่ได้รับทุนคือ พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์) เลยเรียน ม.๘ ซ้ำ นั่งทำโจทย์อยู่ในห้องพักครูอยู่ตลอดปี (เท่าที่ผมจำได้พ่อบอกว่าเขามีระเบียบว่าถ้าอายุไม่เกินขอบเขตกับคะแนนครั้งแรกดี มีสิทธิ์สอบในปีต่อไปได้) พอปีต่อไปก็สอบชิงทุนอีก ได้ที่ดีขึ้นแต่ก็ดีไม่พอ (ผมคิดว่าปีนั้นศาสตราจารย์ จำรัส ฉายะพงษ์ ได้ทุน) เลยเริ่มเรียน ม.๘ เป็นปีที่สาม พอดีกรมอากาศยาน กองทัพบกประกาศให้ทุนไปเรียนวิศวกรรม ๓ ทุน พ่อมานึกดูก็เห็นว่าไม่ว่าจะเรียนซ้ำกี่ปี ก็คงจะมีคนเก่งกว่าอยู่เรื่อยไป เลยไปสอบชิงทุนกรมอากาศยาน (สมัยนั้นยังไม่ได้แยกมาเป็นกองทัพอากาศ) โชคดีติดหนึ่งในสาม อีกสองคนคือ มรว.สุกสม เกษมสันต์ กับ ศาสตราจารย์หมอ อวย เกตุสิงห์ มีการตรวจร่างกาย แพทย์ที่ทำการตรวจเป็นห่วงว่าอาจารย์หมออวยผอมไปกลัวจะแข็งแรงไม่พอ อาจารย์เลยต้องเปลี่ยนวิถึชีวิตไปรับทุน Humboldt ของเยอรมันในระยะต่อมา  ตกลงไปเรียนอเมริกาทุนกรมอากาศยานกันเพียงสองคน ต่อมา พล อ.โท เพิ่ม ย้ายสังกัดจากกระทรวงกลาโหมมาขึ้นกับกรมอากาศยาน แล้วเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันสามคน  สมัยนั้นเขาส่งให้เรียน high school อีกสองปีก่อนให้เข้ามหาวิทยาลัย แต่ มรว.สุกสม กับ พ่อ มีครูดีช่วยบอกไปทางผู้ดูแลนักเรียนไทยที่วอชิงตันว่าไม่น่าต้องเรียนถึงสองปี ปีเดียวก็พอ ม่ายงั้นพ่อคงเป็นนักเรียน ม.๘ อาชีพแน่

.....

เทาชมพู

มารออ่านว่าคุณพ่อของอาจารย์ไปเรียนที่อเมริกา  เข้าเรียนที่ไหน  ชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างนะคะ
ยุคนั้นคงมีนักเรียนไทยน้อยมาก

.....

siamese

"อ้างจาก: ศานติ
พูดถึงเด็กไทยว่ายน้ำเก่งชวนให้นึกถึงที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง สมัยเด็กพ่ออยู่เรือนแพที่แปดริ้วจนอายุได้สิบกว่าขวบแล้วถึงมากรุงเทพฯ (เอาไว้เล่าวันหลัง) ตอนอยู่แปดริ้ว ปู่ผมเป็นแพททย์แผนโบราณแต่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อยังเล็ก เล่ากันว่าเพราะแกะฝีที่หน้า เหลือแต่ย่าทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว ลูก ๕ คน  พ่อบอกว่าบ้านเป็นแพอยู่ข้างแม่น้ำ ผมคิดว่าคงเป็นแม่น้ำบางปะกง ลงเล่นน้ำแทบทุกวัน มีซุงไม้ผูกเป็นแพล่องลงตามแม่น้ำเป็นประจำ เด็กชอบดำน้ำลอดแพไปโผล่อีกข้าง วันหนึ่งพ่อกับเพื่อนดำน้ำจะลอดแพอีก ไม่รู้ว่าแพกว้างกว่าปกติหรือเกิดหลงทางใต้แพ แต่หาทางออกไม่ได้ เกือบจมน้ำตาย หลังจากนั้นทุกครั้งที่เป็นไข้หรือเจ็บหนักจะเพ้อว่าติดอยู่ใต้แพแทบทุกครั้ง"


เด็กลุ่มน้ำบางปะกงอ่านแล้วนึกถึงคำบอกเล่าของรุ่นแม่ รุ่นยายที่เล่าให้ฟังถึงความสนุกสนานของเด็กริมน้ำที่มีความซน ผู้ใหญ่เมื่อ ๗๐ ปีก่อนเล่าให้ฟังเสมอว่าในวัยเด็กนั้นชอบเล่นน้ำในแม่น้ำบางปะกงมาก เล่นไปก็กลัวจระเข้ไปว่าจะมางับเอาเด็กไปกิน เมื่อดำน้ำไปก็จะมีเสียงใต้น้ำ (เสียงปลาลิ้นหมามันร้อง) จับกุ้งแม้น้ำโคนต้นเสาได้ตัวใหญ่ ๆ

เรื่องดำน้ำนี่ลีลาก็ไม่แพ้ใคร เรือข้าว (เรือเอี๊ยมจุ๊น) ขนาดใหญ่ ท้าประลองกันลอดใต้ท้องเรือไปโผล่อีกฝั่งได้ (นึกแล้วน่าเสียวไส้ หากว่ายน้ำไม่แข็ง ไม่ยอมโผล่ ก็คงไปโผล่ปากอ่าวเป็นแน่) แต่ก็ผ่านมากันได้ ถึงหน้าแล้วก็เอาเรือเอี๊ยมจุ๊นไปล่มน้ำจืดที่คลองเจ้า (คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต) เอาน้ำมาใช้ และขายบ้างถ้าคนจะซื้อ

ตอนนี้วิถีท้องน้ำว่างเปล่า การคมนาคมสะดวก ทุกอย่างจางหายไปพร้อมกับสายน้ำ ซุงไม้ผูกแพที่คุณศานติเล่ามาผมก็ไม่เคยเห็น เรือเอี๊ยมจุ๊นไปล่มน้ำจืดก็ไม่เคยไป ปล่อยให้ทั้งหมดอยู่กับอดีตอันน่าสนุกหาไหนปาน

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ตอนพ่อผมไปเรียนนอกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ มีนักเรียนไทยเรียนอยู่ ๒๓ คน (ดูจาก  Report on the Government Students and His Majesty the King’s Own Students in the U.S.A. -- Oct. 1926 - September 1927)  ลอกชื่อมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อกันเขียนภาษาไทยผิด กับ เผื่อมีใครสนใจว่าสมัยก่อนที่เรายังไม่ได้ถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง (อย่างที่ทำกันสมัยนี้) ว่านักเรียนไทยเขาสะกดชื่อกันอย่างไร เพราะสมัยนั้นนิยมเขียนให้อ่านแล้วรู้ว่ารากศัพท์เดิม (บาลี สันสกฤต) เป็นอย่างไร

Ministry of Agriculture
   Nai Lumchiag Salikorn
   Nai Prayote Purnasri
Department of Aviation
   Nai Mont Sinhseni
   M.C. Visishta Svasti
Ministry of Commerce and Communications
   M.R. Chittin Kasemsri
   Nai Varakich Banhara
Ministry of Finance
   Nai Chirt Yamabhaya
Government Electrical Department
   Nai Kosaiya Sukhavanija
Ministry of the Interior
   Nai Chamras Chayabongse
   Nai Khao na Pomphejara
   Nai Sunh Vasudhara
   Nai Thanad Navanugraha
Ministry of Justice
   Nai Banyong Makara Bhiromya
Ministry of Public Instruction
   Mau Pyn Muangman
   Mau Waht Yemprayura
Department of Royal State Railways   
   Nai Chalem Sukhakit
   M.C. Smargom
Ministry of War
   Nai Bun Mar Prabandhayodhin
   M.L. Chuan Chuen Kambhu
   Nai Perm Limpisvasti
   M.L. Sukshom Kashemsanta
   Nai Vichian Vibulyamonkal
   M.L. Camron Sudasna
   M.C. Swasti-Pradisdh
Privy Purse Department
   M.C. Akas Rabibongs
   M.C. Nondiyavat Svasti
   M.C. Jotisi Devakul
   M.C. Chakrabandhu
   M.C. Prasobsukh

นอกจากนั้นยังมีนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในการดูแลของผู้ดูแลนักเรียนไทย

Private Students Under the Care of Students’ Department
   Boonrod Jayakora
   Boon Chuay Indrambarya
   Miss Chamnong Viravaidya
   Luang Choola
   M.L. Dej Sudasna
   See Sirisinha
   Miss Swai Bunyarat

ผมคิดว่านักเรียนไทยแทบทุกคนเมื่อมาถึงสหรัฐฯ ก็เข้าเรียนชั้นมัธยมปลายอีกก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย โดยมากเขาส่งเข้าโรงเรียนประจำเอกชนที่มีชื่อ (private school) เช่น Wilbraham Academy (Chirt Yamabhaya), Williston Academy (Chamras Chayabongse), Swavely School (Banyong Makara Bhiromya, M.C. Smargom), Peddie School (M.L. Sukshom Kashemsanta, M.C. Chakrabandhu), Mercersburg Academy (Vichian Vibulyamongola), Tabor Academy (M.R. Chittin Kasemsri) โรงเรียนพวกนี้ยังอยู่ เปลี่ยนเป็น co-ed ตามกาลไปบางแห่ง ค่าเล่าเรียนสูงลิ่ว  มีหลายคนที่ตอนพักฤดูร้อนเขาไปเรียนพิเศษที่ค่ายชื่อ Camp Red Cloud มีการติวในวิชาที่อ่อน เช่น อังกฤษ ประวัติศาสตร์ หรือ ฟิสิคส์ (อดเที่ยว หรือ ถึงมีเวลาก็คงไม่มีเงิน)  ดั้งเดิมกรมอากาศยานกำหนดให้ มรว.สุกสม กับพ่อผม เรียน high school สองปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่พอไปติวที่ Camp Red Cloud เขาให้ลองสอบเข้ามหาวิทยาลัย (College Board Examination) ทั้งสองได้คะแนนดีมาก ครูเลยเสนอว่าควรให้เข้ามหาวิทยาลัยเลย ส่วนจำรัส ฉายะพงษ์คะแนนดี แต่ครูเป็นห่วงเรื่องสุขภาพเกรงว่าจะแข็งแรงไม่พอเรียนมหาวิทยาลัย เลยเรียนที่ Williston Academy อีกปี

มรว.สุกสม กับพ่อผม เข้าเรียน MIT ปี ๒๔๗๐ หลักสูตร์วิศวกรรมอากาศยาน แต่สมัยนั้น MIT ยังไม่ออกปริญญาทาง Aeronautical Engineering อาจารย์เลยแนะนำวิชาให้เรียนเพื่อจะได้ปริญญาทาง Mechanical Engineering  ในขณะเดียวกัน เพิ่ม ลิมปิสวัสดื์ ซึ่งได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่อังกฤษย้ายมาเรียนที่ MIT  พ่อเล่าให้ฟังว่าเลือกเรียนกันคนละสาขา มรว. สุกสม เรียนทาง Electronics  ส่วน เพิ่ม เรียนทางออกแบบเครื่องยนตร์อากาศยาน พ่อเรียนทางออกแบบเครื่องบิน  ระหว่างเล่นฟุตบอลล์ เพิ่ม กับ พ่อคุยกันเรื่องเรียน ปรากฎว่าต่างคนต่างไม่ชอบวิชาขอตน เอยากจะสลับเรียนกัน พอดีกับที่คุณพระเวชยันตรังสฤษดิ์ ซึ่งเป็นแม่กองเทฆนิค กรมช่างอากาศไปที่บอสตัน ท่านเลยสั่งให้พ่อเรียนทางออกแบบเครื่องยนตร์ ให้อาว์เพิ่มเรียนทางออกแบบเครื่องบิน ระหว่างหน้าร้อนทั้งสามคนทำงานในโรงสร้างเครื่องบินต่างแห่งกัน ตอนจบได้ปริญญาตรี ทั้งสามคนเริ่มเรียนปริญญาโทได้ ๑ เทอม กรมอากาศยานมีคำสั่งให้คนที่ได้คะแนนสูงสุดทำปริญญาโทต่อ อีกสองคนให้ฝึกงานในโรงงานสร้างเครื่องบิน สร้างเครื่องยนตร์ เป็นเวลา ๑ ปี อาว์เพิ่มได้คะแนนสูงที่สุด เลยทำปริญญาโทต่อ พ่อไปทำงานที่บริษัท Curtis-Wright บริษัทสร้างเครื่องบินสร้างใบพัด

ระหว่างที่รับราชการอยู่ในกรมช่างอากาศจนกระทั้งลาออกมาทำงานบริษัทตอนหลังสงคราม บริษัท Curtis-Wright ส่งวารสารของบริษัทมาให้เป็นประจำ เมื่อพ่อเสียไปแล้ววารสารก็ยังคงมา ผมเลยเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการของวารสารบอกให้เขาเลิกส่งเพราะพ่อเสียแล้ว ต่อมาอีกสักเดือนมีจดหมายจากอเมริกามาหลายฉะบับ จากประธานแผนกใบพัด ประธานแผนกเครื่องยนตร์ ฯลฯ มาถึงแม่เพื่อแสดงความเสียใจ ผมถามแม่ว่ารู้จักคนใหญ่คนโตบริษัท Curtis-Wright ด้วยเหรอ แม่บอกว่าพวกนี้เริ่มทำงานบริษัทพร้อมๆกับที่พ่อไปฝึกงาน ก็ติดต่อกันมาตลอด บางทีมาเมืองไทยพ่อก็ต้อนรับ แม่ก็พาภริยาเที่ยว

แม่ผมเก่ง สมัยก่อนตอนที่โรงยาฝิ่นยังไม่ผิดกฎหมาย ฝรั่งอยากดูประดับความรู้ แม่ก็พาไปดู แต่แวะ สน.ลุมพินีก่อน ขอนายร้อยเวรให้มีจ่าตำรวจนำทางเข้าโรงยาแถวถนนพระราม ๔  ผมเคยขอไปด้วยแต่แม่ไม่ยอม บอกว่าอายุน้อยไป (๑๕ - ๑๖) พออายุมากขึ้นก็อดดูเพราะโดนปิดไปหมดแล้ว  แม่บอกว่าไม่มีอะไรน่าดู เป็นโรงยาว ยกพื้นสองข้าง มีผนังกั้นเป็นช่องๆ คนสูบก็นอนครึ่งหลับครึ่งตื่น หนุนหัวด้วยหมอนเครื่องเคลือบดินเผา มีหญิงแก่ๆคอยเอาธูปจึ้ให้ฝิ่นติดไฟ  บอกว่าดูแล้วน่าเวทนา

พูดถึงสมัยเรียน พ่อเล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงที่สมเด็จพระราชาบิดากรมหลวงสงขลาฯ ทรงศึกษาการสาธารณะสุขอยู่ที่ฮาร์วาร์ดพอดี เวลามีการเลี้ยงนักเรียนไทยที่อพาร์ตเมนต์ของท่าน ทรงสั่งห้ามพูดภาษาไทยกัน ต้องพูดภาษาอังกฤษ พ่อบอกว่าไม่แน่ใจว่าทรงห้ามเพราะต้องการให้ฝึกอังกฤษกันในระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือทรงสงสารนักเรียนหลายๆคนที่ใช้ราชาศัพท์ไม่คล่อง ไม่อยากให้ขายหน้าเชื้อพระวงศ์ที่ร่วมอยู่ด้วย  พ่อเล่าว่าตอนนั้น ร.๙ ยังเพิ่งเริ่มคลาน สมเด็จพระราชบิดาเลยเอาเชือกผูกข้อพระบาทไว้กับขาโต๊ะ จะได้ไปไม่ได้ไกล กลัวนักเรียนจะสะดุด

ไปค้นเจอรูปเก่าๆ หนุ่มสามคนบนเรือเดินสมุทร์ ผมว่าคงตอนสามคนไปเรียนเมืองนอกด้วยกัน จากซ้ายไปขวาของผู้อ่าน คือ  พ่อผม  มรว.สุกสม เกษมสันต์ กับ จำรัส ฉายะพงษ์



.....

เทาชมพู

คุณพ่อหล่อระดับพระเอกหนังสมัยนั้นเชียวค่ะ 

พยายามถอดชื่อและนามสกุลเป็นไทย
Ministry of Agriculture
   Nai Lumchiag Salikorn            ถอดไม่ถูก
   Nai Prayote Purnasri               นายประโยชน์ พรรณศรี
Department of Aviation
   Nai Mont Sinhseni                  นายมนต์ สิงหเสนี
   M.C. Visishta Svasti               หม่อมเจ้าวิศิษฏ?  สวัสดิ(วัตน์?)
Ministry of Commerce and Communications
   M.R. Chittin Kasemsri            ม.ร.ว. จิตติน เกษมศรี
   Nai Varakich Banhara             นายวรกิจบรรหาร
Ministry of Finance
   Nai Chirt Yamabhaya             นายเชิด  ยมาภัย
Government Electrical Department
   Nai Kosaiya Sukhavanija         นายโกไศย   สุขะวณิช
Ministry of the Interior
   Nai Chamras Chayabongse      นายจำรัส  ชัยพงศ์
   Nai Khao na Pomphejara         นายขาว ?  ณ ป้อมเพ็ชร์
   Nai Sunh Vasudhara               นายสัณห์   วสุธาร
   Nai Thanad Navanugraha        นายถนัด นาวานุเคราะห์

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

Nai Lumchiag Salikorn นายลำเจียก สาลีกร  มีชื่อในกระทรวงเกษตร ดูเหมือนจะเป็นอธิบดีกรม
Nai Prayote Purnasri  นายประโยชน์ บูรณศิริ ฮืม
Nai Chamras Chayabongse  นายจำรัส ฉายะพงษ์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

(http://202.28.17.19/historicalhall/index.php/joomla-overview/what-is-new-in-1-5/2010-11-04-02-19-21)
Mau Pyn Muangman   หลวงพิณพากย์พิทยเภท  อดีตหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา ศิริราช คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราช  คุณพ่อของ ศาสตราจารย์ นพ.เทพนม
Miss Chamnong Viravaidya  จำนงค์ วีระไวทยะ คุณหญิงพิณพากย์พิทยเภท อดีตหัวหน้า รร.พยาบาลศิริราช  ดูเหมือนจะเป็นป้าหรือน้าของ ดร.มีชัย
See Sirisinha ศาสตราจารย์ สี สิริสิงห  คุณพ่อของ ศาสตราจารย์ สถิตย์

นักเรียนในหัวข้อ Privy Purse ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าทุกคน เข้าใจว่าภาษาไทยแปลว่า พระคลังข้างที่ คือได้ทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

เรื่องหล่อ ใจผมว่า จำรัส ฉายะพงษ์ หล่อที่สุด แม่บอกว่ามีสาวๆติดนับไม่ถ้วน (จำรัส เป็นคนแนะนำให้แม่ผมรู้จักกับพ่อ) มรว.สุกสม ก็หล่อดี พ่อผมท่าทางตื่นหน่อยๆ

มาลองคิดดู จะเอาอะไรมาก เด็กต่างจังหวัด ไม่เจนเวทีเท่าอีกสองคน เอารูปไปเทียบกับรูปตอนกลับจากนอกต่างกันมาก สงสัยแม่ผมคงมีส่วนช่วยให้สังคมเป็นมากขึ้น

.......................


« Last Edit: 27 February 2022, 17:40:53 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #5 on: 27 February 2022, 18:06:53 »
Reply with quote


เทาชมพู

เห็นรูปคุณพ่อแล้ว อยากเห็นคุณแม่บ้างค่ะคุณพ่อคงพาคุณแม่กลับมาประเทศไทยเมื่อเรียนจบ   
ชีวิตความเป็นอยู่ในยุคคุณแม่เป็นอย่างไร คุณแม่ต้องปรับตัวมากไหม  อาจารย์หมอศานติคงพอจะจำได้นะคะ ถ้าไม่เป็นส่วนตัวเกินไป ก็อยากให้เล่าสู่กันฟังบ้าง

.....
กลับมาที่เรื่องว่ายน้ำในคลอง

คุณยายเล่าว่า  ในเมื่อมีน้ำอยู่แค่หน้าบ้าน  เด็กๆทุกคนจึงว่ายน้ำเก่งกันตั้งแต่เล็กๆ  ไม่ต้องไปเรียนว่ายน้ำอย่างสมัยนี้    หัดกันเองในหมู่พี่ๆน้องๆ
เด็กผู้หญิงอย่างคุณยาย  ผู้ใหญ่ก็จับผูกเข้ากับลูกมะพร้าว 2 ลูกให้ลอยได้ ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนว่ายเป็น   วิธีว่ายก็ชูคอขึ้นพ้นน้ำ  คุณยายเรียกว่า "ท่าลูกหมาตกน้ำ" ไม่มีท่าสวยๆอย่างท่าฟรีสไตล์  ท่ากบ ท่าผีเสื้ออย่างเด็กยุคหลัง       คุณยายบอกว่าว่ายแบบคุณยายเหนื่อยง่ายกว่าว่ายแบบฟรีสไตล์   แต่คุณยายก็ว่ายน้ำได้เก่งมากอยู่ดี  เวลาไปเที่ยวทะเล คุณยายสามารถนอนหงาย กางแขนกางขาลอยนิ่งอยู่บนผิวคลื่น ให้คลื่นซัดไปซัดมาได้โดยไม่จม

คุณยายมีลูกพี่ลูกน้องชายอยู่คนหนึ่ง   อายุไล่เลี่ยกัน   แต่เขาไม่กล้าว่ายน้ำ จดๆจ้องๆอยู่นานจนผู้ใหญ่รำคาญ  ก็เลยจับตัวโยนตูมลงไปในคลอง    ทะลึ่งพรวดขึ้นมาร้องว่า "พ่อแก้วแม่แก้วช่วยลูกด้วย   ลูกตายแน่แล้ว"    แต่ก็ไม่เห็นตาย  พอกระทุ่มน้ำพาตัวเข้าฝั่งได้   จากวันนั้น ก็ลงน้ำตั้งแต่เช้ายันค่ำ เรียกเท่าไรไม่ยอมขึ้น จนต้องเอาไม้เรียวไปเรียกถึงขึ้นจากน้ำได้

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

คุณเทาชมพูครับ ผมไปค้นประวัติเพิ่มเติม ปรากฎว่าที่เล่าเรื่องตอนพ่อมากรุงเทพฯ อ้างชื่อผู้ปกครองผิดไป อยากจะแก้ทั้งย่อหน้า จะทำยังไงดี

.....

เทาชมพู

อาจารย์ส่งข้อความทั้งย่อหน้ามาให้ดิฉันหลังไมค์  ดิฉันจะเข้าไปแก้ให้เองค่ะ  กรุณาบอกด้วยว่าค.ห.ไหน
ระบบอนุญาตให้แก้ไขภายในกำหนดเวลาค่ะ พ้นเวลานั้นแล้วก็แก้ไม่ได้      แต่ดิฉันเข้าไปแก้ไขให้ได้ค่ะ

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

คูณเทาชมพูถามเลยอดเล่าต่อไม่ได้ สนุกดีเหมือนกัน แต่กลัวคนอ่านเบื่อหรือรำคาญ

แม่ผมเกิดแคว้น Alsace ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อทางปลูกกับผลิตเหล้าองุ่นขาว  ตาผมเป็นชาวไร่องุ่นเหมือนกับชาวไร่แถบนั้น ป้าผมบอกว่าคุณตาของผมชิมผลิตภัณฑ์ของไร่ของตัวเองบ่อยไปหน่อย ยายรำคาญทนไม่ได้ เลยพาลูกสามคน หญิงสอง ชายหนึ่ง อายุ ๒ ถึง ๔ ขวบ อพยพไปอยู่อเมริกา แถวชิคาโก ไม่ทราบว่าหาเลี้ยงครอบครัวยังไง ตาผมส่งเงินมาช่วยหรือเปล่าไม่ทราบ อยู่อเมริกา ๑๓ ปี แม่บอกว่าจวนจะได้สัญชาติอเมริกันอยู่แล้ว (สงสัยว่าสมัย ๑๙๐๐ กว่าๆ อาจต้องรอนานกว่าสมัยนี้)  แล้วยายเกิดไปเชื่อฝีปากชายฮังกาเรี่ยน ทั้งแม่ทั้งลูกสามคนเลยย้ายกลับไปยุโรประหว่างกลางสงครามโลกที่ ๑ พอไปถึงฮังการีปรากฎว่าอ้ายเสือนั่นมีเมียแล้ว ยายก็เลยไม่ยุ่งด้วย ตกลงทั้งสี่คนเคว้งคว้างอยู่ในกรุงบูดาเพสต์ กลายเป็นคนไร้ถิ่น แม่บอกว่าต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจทุกอาทิตย์

ไม่ทราบว่าอยู่ที่นั่นนานเท่าไหร่ แต่โรคไตที่ยายเป็นอยู่กำเริบขึ้นมาจนเสียชีวิต (มีไตอยู่ข้างเดียว อีกข้างโดนตัดไปตอนอยู่อเมริกา) ทิ้งลูก ๑๕ ถึง ๑๗ ขวบไว้ ป้าผมซึ่งเป็นคนโตมีจดหมายไปหาพ่อ บอกว่าลูกสาวสองคนเคว้งอยู่บูดาเพสต์ ตาส่งเงินมาให้กลับ Alsace เหลือลุงผม อายุ ๑๖ ค้างอยู่ (ลุงไม่รู้ว่าทำไมพ่อไม่ส่งเงินมาให้ทั้งสามคนกลับ Alsace ลุงแน่ใจว่าถ้าพ่อรู้ว่าอยู่กันทั้งสามคน คงส่งมาให้เพราะลุงเป็นลูกรักของพ่อ คิดว่าป้าคงไม่บอกพ่อ กินแหนงแคลงใจไปจนตาย) ลุงบอกว่าหากินโดยกวาดหิมะถนนในเมืองบูดาเพสต์  จนกระทั่งไปรู้ว่าถ้าอาสาสมัครเข้ากองทัพเยอรมัน เขาจะส่งกลับบ้านอาทิตย์หนึ่งก่อนประจำการ เลยโกหกว่าอายุ ๑๘ เพิ่อสมัครเป็นทหารฝ่ายเยอรมัน (ตอนนั้นแคว้น Alsace ตกอยู่ในมือเยอรมันแล้ว) เรื่องลุงขอพักไว้ก่อน เก็บไว้เล่าวันหลัง สนุกดีเหมือนกัน

แม่กลับไป Alsace ไปอยู่กับพ่อของตัว เข้าโรงเรียนมัธยม โดยเหตุที่ตอนนั้นเยอรมันเข้าครองแคว้น Alsace แล้ว หนังสือเรียนก็เปลี่ยนเป็นภาษาเยอรมันหมด  ทั้งป้าทั้งแม่คงปวดหัว อยู่อเมริกาตั้งแต่สามสี่ขวบ คงพูดอังกฤษแบบอเมริกัน ไม่รู้ว่าในบ้านพูดฝรั่งเศสกันแค่ไหน แต่พอกลับมาบ้านเดิมกลับต้องหันไปใช้เยอรมัน  (อาจไม่ยากเท่าที่คิดเพราะภาษาพื้นเมืองของ Alsace เพี้ยนไปทางเยอรมันมากกว่าฝรั่งเศส)  จบมัธยมแล้วเรียนพยาบาล จบพยาบาลแล้วเป็นพยาบาลสาธารณสุขดูแลเด็กในเมืองเล็กๆย่านนั้น มีจักรยานใส่ตาชั่งเด็กไว้ข้างท้าย มีสมุดจดข้อมูลเด็ก ขขึ้นเขาลงเขาไปตามเมืองต่างๆ ผมเคยสงสัยว่าน่องขาของแม่ทำไมยังกับน่องนักฟุตบอล์ พอมีโอกาสกลับไปเยี่ยมสำนักงานพยาบาลที่แม่เคยประจำอยู่ถึงรู้ว่าย่านนั้นถนนขึ้นเขาลงห้วยมากมาย จักรยานคงไม่มีเกียร์ด้วย เลยได้ออกกำลังขาทุกวัน

ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสคิดจะเริ่มสังคมสงเคราะห์ (Social Welfare) เลยส่งแม่กลับไปอเมริกา ไปเรียนวิชานึ้ที่ Simmons College เมืองบอสตัน พอดีเป็นช่วงที่พ่อเรียนอยู่ที่นั่นด้วย วันหนึ่งแม่เต้นรำอยู่กับ จำรัส ฉายะพงษ์ ไปได้รอบวงทีอาว์จำรัสก็โบกมือให้ใครคนหนึ่งที่หลบมุมมืดอยู่ แม่ถามว่า “ใคร” อาว์จำรัสบอกว่า “เพื่อน”  “อ้าวทำไมเขาหลบอยู่”  “เขาเต้นรำไม่เป็น”  ‘แนะนำให้รู้จักซี จะได้สอนให้เต้น”  ที่หลบอยู่ปรากฎว่าเป็นพ่อผม

สมัยนั้นการมีคู่รักต่างชาติคงมีน้อยมาก พ่อผมนับถือพี่ชายชื่อ ถนอม มาก เขียนจดหมายมาบอกว่า “ ไม่อยากจะปิดบังพี่ น้องชักเกิดชอบผู้หญิงฝรั่งเศสขึ้นบ้างแล้ว เขามาเรียน Social Work วิชาเกี่ยวกับการดูแลทุกข์สุขของคนทำงาน ไม่ใช่นางพยาบาลโดยตรง ทำงานติดต่อกับทั้งคนเจ็บกับคนดี พูดได้สามภาษา เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ บางทีไทยด้วย บอกแล้วก็บอกให้หมด เขาไม่ใ่ช่คนสวย แต่เป็นคนดี มีความรู้ สุภาพเรียบร้อย แถมน่ารัก”  อีกฉะบับ ตอนแม่จบแล้ว  “ …. แต่เราต้องจากกัน เขาเรียนสำเร็จแล้วก็กลับบ้านเขา พี่ชายโปรดอย่าดุว่าน้อง ……”

เมื่อพ่อจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ทำงานในโรงงานสร้างเครื่องบินอีกหนึ่งปี แล้วเดินทางกลับแวะดูโรงงานสร้างเครื่องบินในอังกฤษ กับฝรั่งเศส แล้วและไป Alsace ไปเยี่ยมแฟนเก่า จากนั้นก็กลับเมืองไทย อยู่เมืองไทยได้ประมาณ ๖ เดีอนมีจดหมายไปหาแฟนเก่า่ ชวนให้มาเมืองไทย แม่ก็ใจป้ำ ลาราชการที่ฝรั่งเศส ๑ ปี บอกเพื่อนสนิทคนดียวว่าจะไป Siam ให้เขาสัญญาว่าจะไม่บอกใคร ถ้าไปแล้วอยู่ไม่ได้ก็จะกลับไป Alsace ดำเนินชีวิตต่อไปคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมสงสัยว่าจริงๆแล้วจะทำได้หรือเปล่า ถ้าคนถามว่า หายหน้าไปไหนตั้ง ๖ เดือน จะตอบว่ายังไง แต่แม่ไม่คิดจะกลับ อยู่เมืองไทย ๑๘ ปีถึงกลับไปเยี่ยมบ้านเป็นครั้งแรก

ผมเห็นรูปเก่าๆแล้วอดคิดไม่ได้ว่าเป็นคนอดทนเหลือเกิน ดูเหมือนจะเป็นฝรั่งคนที่สามที่แต่งงานกับคนไทย สมัยนั้นจดหมายจ่าหน้าแค่ชื่อ กับ Bangkok, Siam ไมต้องมีที่อยู่ ก็มาถึง ตอนแรกที่กลับมาจากนอกพ่อเช่าบ้านอยู่ถนนบ้านแขก แถวบางลำพู ดูรูปเก่าๆแล้วสงสารแม่เพราะสิ่งแวดล้อมต่างกับ Alsace เหลือเกิน ซ้ำพูดไทยไม่ได้ มีเพื่อนก็เฉพาะอาว์จำรัส กับอาว์เพิ่ม ที่เรียนมาด้วยกัน มีจดหมายที่แม่เล่าให้ป้าที่ยุโรปฟังว่า ตอนเย็นเตรียมกางเกงจีนเสื้อคอกลมไว้ พอพ่อกลับจากงานก็อาบน้ำ เปลี่ยนจากเครื่องแบบทหารมานุ่งกางเกงจีน ท่าทีจะอยู่ถนนนบ้านแขกประมาณ ๑ ปี แล้วถึงย้ายไปบ้านพักนายทหารที่กรมช่างอากาศ บางซื่อ  คิดว่าสิ่งแวดล้อมการกินอยู่คงดีขึ้นมาก มีคนพูดอังกฤษได้อยู่ใกล้ๆ บ้านก็น่าอยู่มากขึ้นเยอะ พ่อเดินไปทำงานได้  ผมเกิดตอนอยู่ถนนบ้านแขก แต่น้องสองคนเกิดตอนอยู่บางซื่อ

เขียนมามากมาย เบื่อก็ลบได้ครับ มีรูปเก่าๆแนบมาดูเล่น

มี ๑) รูปสามเกลอเรียนวิศวกรรมอากาศยาน วิเชียร วิบูลมงคล  มรว.สุกสม เกษมสันต์  เพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์  ๒) แม่กับพ่อที่บอสตัน  ๓) แม่นั่งอยู่ที่ถนนบ้านแขก ดูท่าทีคงคิดถึง Alsace  ๔) พ่อแต่งชุดทหารบก สมัยนั้นกรมอากาศยานยังขึ้นกับกองทัพบก เท่ดีเหมือนกัน แต่ไม่มีม้าจะขี่  ไม่ทราบว่าจะไปงานศพใคร  เบื้องหลังดูทีว่าเป็นกรมโรงงานทหารอากาศ

เขียนมามากมาย เบื่อก็ลบได้ครับ มีรูปเก่าๆแนบมาดูเล่น









.....

ประกอบ

กระทู้สนุกมากครับท่านอาจารย์หมอศานติ   ยังไม่เบื่อเลยครับ   ยังอยากอ่านอยากดูอีก ทั้งเรื่องราวการปรับตัวของคุณแม่คุณหมอและรูปถ่าย  สมัยนั้นผู้หญิงฝรั่งที่แต่งงานแล้วยอมมาอยู่เมืองไทยกับสามีนี่น่านับถือมากจริงๆ เพราะโอกาสที่จะติดต่อหรือกลับไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องก็น้อยมากๆ สภาพความเป็นอยู่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ไม่แกร่งจริงทำไม่ได้   ขนาดสมัยนี้ผู้ชายไทยที่แต่งงานกับสุภาพสตรีฝรั่งก็ยังหายาก และที่ภรรยาตามมาอยู่เมืองไทยด้วยยิ่งหายากขึ้นไปอีก

นี่ถ้าคุณหมอกลับมาเป็นหนุ่มๆ ยุคนี้ ในฐานะลูกครึ่ง อาจจะต้องกลายเป็นนายแบบหรือดารา ไม่ได้เป็นหมอแน่ๆ   ยิงฟันยิ้ม

.....

เทาชมพู

กระทู้จากประสบการณ์ของแท้ สนุกมากค่ะ       เห็นรูปคุณพ่อของอาจารย์หมอในชุดนายทหาร ดิฉันก็ว่าท่านยังหล่อกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันอยู่ดี
ชอบรูปนั่งหลังพิงกัน   เหมือนในหนังฮอลลีวู้ด

อาจารย์บอกว่า "ดูเหมือนจะเป็นฝรั่งคนที่สามที่แต่งงานกับคนไทย"   คงจะหมายถึงแหม่มที่มาแต่งงานกับสามัญชน  จำได้ไหมคะว่าสองคนก่อนหน้านี้เป็นใคร   
ดิฉันรู้แต่หม่อมแคทยาของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ     หม่อมเอลิซาเบธของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร  และหม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยาของม.จ.ทองทีฆายุ ทองใหญ่

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ดูท่าทีมีคนสนใจรูปเก่าๆ เลยขออนุญาตแถม

รูปแรกผมคิดว่าถ่ายตอนมาอยู่บางกอกใหม่ๆ ยืนอยู่หน้าบ้านเช่า ที่ถนนบ้านแขก

รูปที่สอง ถ่ายที่สถานีรถไฟลพบุรี ตอนนั้นคุณลุงถนอมเป็นนายอำเภออยู่ที่นั่น คิดว่าพ่อคงพาแม่ไปแนะนำ ไม่ทราบว่าทำไมไม่แต่งกายพลเรือน

รูปที่สาม ที่สี่ คิดว่าแม่ถ่ายส่งไปให้ป้าที่อยู่เบลเยี่ยม ว่าบ้านหน้าตายังไง ดูท่าทีรูปที่อยู่ข้างฝาคงเอามาจาก Alsace ไว้เป็นที่ระลึก










.....

เทาชมพู

ดูหน้าตาคุณแม่ก็มีความสุขดี  ทั้งๆไกลบ้านมากมาย ไกลญาติพี่น้อง
บ้านไม้แบบนี้ในกรุงเทพฯคงจะเหลืออยู่ตามตรอกซอกซอยลึกๆ  มองไม่เห็นจากถนนใหญ่    แต่ในสมัยโน้นคงจะมีอยู่มาก  เป็นบ้านที่ไมต้องมีพัดลม  ไม่ต้องติดเหล็กดัด  มีตุ่มน้ำฝนอยู่มุมบ้าน  รับน้ำฝนจากรางสังกะสี
ห้องรับแขกแบบนี้ในสมัยนั้นถือว่าโก้ทีเดียวละค่ะ

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

รูปแรก นอกชานบ้านที่ถนนบ้านแขก ดูท่าทีก็น่าอยู่เหมือนกัน

รูปที่สอง ผมว่าถ่ายที่เขาดิน สมัยนั้นพี่เลี้ยงผมยังนุ่งโจงกะเบน  เป็นประโยชน์เวลาพาผมไปตลาด มีอะไรให้เกาะระหว่างที่เขาก้มลงเลือกผลไม้จากแผงลอย

Skate น้ำแข็งไม่มี ก็เอาแบบมีลูกล้อแทน

รูปที่สี่ผิดลำดับไปหน่อย เป็นอพาร์ตเมนต์แม่ที่บอสตัน สมัยนั้นเขานิยมเอาธง (pennant) ของมหาวิทยาลัยต่างๆไว้ข้างฝา  สมัยเด็กพ่อพาครอบครัวไปกินข้างกลางวันที่ AUA ในวังสราญรมย์ตอนวันอาทิตย์ เห็นมีธงจาก ม.ทั่วอเมริกาติดอยู่ข้างฝา









.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: ศานติ
รูปที่สอง ผมว่าถ่ายที่เขาดิน สมัยนั้นพี่เลี้ยงผมยังนุ่งโจงกะเบน  เป็นประโยชน์เวลาพาผมไปตลาด มีอะไรให้เกาะระหว่างที่เขาก้มลงเลือกผลไม้จากแผงลอย "

น่าจะเป็นที่ลพบุรี



.....

ศานติ

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
น่าจะเป็นที่ลพบุรี "


จริงด้วยครับ ต้องเป็นที่ลพบุรีแน่ เพิ่งสังเกตว่าแม่แต่งชุดดียวกับที่ยืนที่สถานีรถไฟ

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

เหลือสองรูปครับ

พ่อยืนหน้าบ้านที่ถนนบ้านแขก นุ่งผ้าม่วง เสื้อคอดั้ง คงจะไปงานสำคัญ

รูปสุดท้ายเป็นหลักฐานว่าทำไมแม่ถึงเอาพ่ออยู่หมัด ผมเพิ่งไปค้นเจอ ส่งไปให้ลูกสาว เขาเอาไปแปะใน Facebook มีคนฟวิจารณ์เรื่องน่องแม่ สำหรับท่านที่สนใจ ปืนเป็น Colt .38 Super Automatic พ่อซื้อผ่านกองทัพอากาศ ดูเหมือนจะราคา ๘๐ บาท





.....

visitna

ชอบเรื่องเล่าเก่าอย่างที่เราเรียกว่า"สมัยบ้านเมืองยังดี"
เหมือนอย่างที่นักเรียนแพทย์สมัยก่อนได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากบรรดาครูทั้งหลายอย่างดี
ขอบคุณครับสำหรับเรื่องราวดีๆและภาพที่ประทับใจหาดูยาก

.....

เทาชมพู

สนใจชีวิตของคุณแม่ในประเทศไทยค่ะ      อาจารย์พอจะจำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยได้ไหม เกี่ยวกับการปรับตัวของท่าน เช่นการกินอาหารไทย และทำอาหารให้ลูกๆ     เสื้อผ้าท่านตัดเย็บเองหรือเปล่า     

นอกจากนั้น แหม่มในประเทศไทยสมัยนั้นทำงานนอกบ้าน หรือว่าอยู่เป็นแม่บ้านอย่างเดียว
ท่านพูดภาษาไทยได้คล่องหรือยัง  เมื่อลูกๆโตพอจะสื่อสารกับท่านได้

.....

ศานติ

อดที่คุณเทาชมพูชวนให้เล่าต่อไม่ได้ พอดีกับที่ผมขนเอารูปถ่ายเก่าๆกลับมาจากเมืองไทยเพื่อรวบรวมให้หลานๆ ดูรูปพวกนี้แล้วคิดถึงสมัยเด็ก

แม่ผมเก่งตรงที่ปรับตัวได้ แต่ในขณะดียวกันก็เอาวิธีการแบบฝรั่งที่ไม่ขัดกับธรรมเนียมไทยมาใช้ ผมคิดว่าพ่อย้ายมาอยู่ในกรมช่างอากาศหลังจากแม่มาอยู่ด้วยสักปีได้ ดูจากรูปท่าทีเขาเพิ่งสร้างบ้านพักนายทหารเสร็จ มีบ้านสัก ๑๕ หลังได้ นายทหารที่ยศสูงที่สุดคือ หลวงอทึกเทวเดช ผบ. กองทัพอากาศ  รองลงมาเป็นบ้านอาว์เพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์ เจ้ากรมช่างอากาศ แม่ผมโชคดีที่คนไทยชอบฝรั่ง ไม่เหมือนบางชาติ ภริยานายทหารนับถือกับเอื้อเฟื้อ อาจเพราะเป็นฝรั่ง อาจเป็นเพราะเห็นเป็นพยาบาลด้วยก็ได้ ผมจำได้ว่าเพื่อนข้างบ้านภริยานายทหารคนหนึ่งไอเป็นเลือดออกมาบ่อยๆ พอแม่รู้ก็จะไปเยี่ยมเพราะเคยทำงานในโรงพยาบาลวัณโรค รู้วิธีพยาบาล ไม่กลัวติดเชื้อ บางทีอยู่หลายชม. แต่กำชับพวกผมหนักหนาว่าห้ามไปบ้านนั้น

น้องสาวแฝดสองคนเกิดตอนอยู่ในกรมช่างอากาศแล้ว  หมอบุญเจือ ปุญโสนี เป็นคนทำคลอดผมที่ศิริราช แล้วท่านย้ายมา รพ.พระมงกุฎฯ แม่ก็ตามไปคลอดที่นั่น เพราะนับถือท่าน พอดีมีสิทธิ์ใช้ รพ.ด้วย ตอนนั้นมีพี่เลี้ยงเป็นคนราชบุรีมาอยู่กับแม่เกือบ ๑๒ ปี ช่วยแบ่งเบาภาระเลี้ยงลูกสามคน จ่ายตลาด ทำกับข้าว ทำสวน  แม่พูดไทยได้แต่ไม่ถึงขนาดคุยเรื่องการเมืองได้ ถ้ามีฝรั่งถามว่าพูดไทยได้ไหม มักจะตอบว่า ได้ แต่เป็น kitchen Thai  รู้พอสั่งงานในบ้านในครัวได้ พ่อแม่พูดอังกฤษกัน แรกๆผมคนเดียวที่พูดอังกฤษกับแม่ น่้องสองคนไม่ยอมพูด วันหนึ่งแม่จะไปเยี่ยมเพื่อนที่พวกผมเรียก Aunt Mary  คุณแม่ของ เทียน กรรณสูตร์  จะพาผมไปคนเดียว น้องๆจะไปด้วย แม่บอกว่า “You can’t go.  You don’t speak English.” ตั้งแต่นั้นมาเลยยอมพูด ตอนเริ่มวัยรุ่นเวลานั่งกินข้าวด้วยกัน ก็ยังพูดอังกฤษกับแม่ พูดไทยกับพ่อ เพราะเขินเวลาพูดอังกฤษกับพ่อ วันหนึ่งแม่ทนไม่ได้อาจเป็นเพราะเข้าใจเรื่องที่คุยกันอยู่ได้ไม่เต็มที่ ทุบโต๊ะปังระหว่างกินข้าวเย็น “From now on, everyone speaks English in my presence.” เลยปรับนิสัยกันทั้งบ้าน

สมัยนั้นเรียน รร.เซ็นต์คาเบรียล ตอนเข้าเรียน ป.๑ ผมพอรู้ ABC พอสะกดได้บางคำ เรียนได้ไม่กี่วันก็กลับมาบ้านอวดความรู้ใหม่ให้แม่ อ่าน ABC ให้แม่ฟัง แต่ออกเสียง อา เบ เซ แทนที่จเะออกเสียง เอ บี ซี   แม่ร้องลั่นว่า That’s not English. That’s French.  รุ่งเช้าลากผมไปหาบาดหลวงอธิการ รร. ชื่ออะไรจำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ใส่ชุดสีขาวยาวคลุมข้อเท้า กระดุมตั้งแต่คอถึงเท้าหลายสิบเม็ด หนวดยาวถึงหน้าอก มีเม็ดข้าวสุกประปรายในหนวด ผมทึ่งเม็ดข้าวสุกมากแทบจะไม่ได้ยินว่าแม่พูดอะไร จับได้ใจความว่า อา เบ เซ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้สอนเด็กผิดๆแบบนั้น

ตอนอยู่ ป.๒ หรือ ป. ๓  เป็นหัวหน้าชั้น การบ้านภาษาอังกฤษมีการผัน verb แบบ I have, we have, you/thou have, he/she/it has  ไม่เข้าใจว่าผันไปทำไม ไม่รู้ว่ามีความสำคัญเพราะพูดเป็นอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเขาท่องกันทำไม นอกจากนั้นแล้ว ไม่เข้าใจ he/she/it หรือ you/thou ว่ามันเรื่องอะไรต้องมี / ด้วย คำว่า thou ก็ไม่เคยเห็นใครใช้ อะไรก็ไม่รู้ การบ้านเลยไม่ค่อยได้ทำ ทุกเช้ามาสเตอร์ถามว่าใครไม่ได้ทำการบ้านบ้าง ต้องสารภาพตอนนั้น เพราะถ้าจับได้ตอนหลังโทษจะหนักกว่า แล้วให้ผมพาเข้าแถวไปหาบระเดิ้อเทฟัน อธิการสมัยนั้น ถามว่ามาทำไม? ไม่ทำการบ้านครับ อธิการก็ล้วงหลังตู้สูงๆ มีไม้เรียวทำด้วยไม้ไผ่สองสามอันซ่อนไว้ เลือกเอามาอันหนึ่ง จับไม้เรียวดัดไปดัดมาต่อหน้านักเรียนเพื่อดูว่าเหมาะที่จะใช้หรือเปล่า แล้วเฆี่ยนก้นคนละที เสร็จแล้วหันมาถามผมว่าทำการบ้านหรือเปล่า บางวันทำบางวันไม่ทำ ถ้าไม่ทำก็ได้รับคำสอนว่า หัวหน้าชั้นต้องเป็นตัวอย่างให้นักเรียนในชั้น ดังนั้นต้องเฆี่ยนสองที ตอนโตแล้วอดคิดไม่ได้ว่าคนลงอาญานั้นเพลิดเพลินกับการลงอาญามากไปหรือเปล่า

สมัยนั้นห้องเรียน ป.๑ ถึง ป.๓ อยู่ข้างป่าช้าถนนบ้านญวน บางทีมีงานศพก็อดดูไม่ได้ แล้วมักจะมีเด็กทึ่อยู่ถนนนั้นรู้ว่าใครตาย จำได้ว่าเป็นเด็กตายใกล้หรือก่อนคลอดหลายราย เลิกเรียนแล้วไม่อยากเดินไกลเพื่อไปรับน้องที่เซ็นต์ฟรัง ปลายถนนบ้านญวน ก็เดินออกทางป่าช้า แต่ต้องรีบเพราะกลัวผี ผมอยู่ ป.๓ น้องสองคนอยู่ ป.๑ เดินไปขึ้นรถราง คนละ ๒ สตางค์ไปลงหน้า รร.ราชินีบน แล้วต่อรถรางที่ไปบางซื่อ ไปลงหน้ากรมช่างอากาศ คนละ ๓ สตางค์ ชั้นสอง  จะนั่งชั้นหนึ่งก็ต่อเมื่อไปไหนกับแม่ (ชั้นหนึ่งอยู่หน้ารถราง สั้นกว่าชั้นสองครึ่งหนึ่ง มีผนังโหว่ๆกั้นระหว่างชั้นหนึ่งกับสอง เวลาถึงปลายทางพนักงานจะยกผนังไปกั้นอีกที่ แล้วย้ายเบาสีขาวขอบน้ำเงินของชั้นหนึ่งไปไว้หน้ารถรางด้วย)

โดยเหตุที่แม่เป็นพยาบาลเลยกังวลเรื่องการกินอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ต้องการให้ซื้อของกินที่โรงเรียน (น้องกินอาหาร รร. ที่เด็กประจำกิน ส่วนผมพี่เลี้ยงเอาปิ่นโตไปส่งทุกเที่ยง) ที่แม่กลัวมากคือกลัวพวกผมกินไอติมแท่งชนิดที่พ่อค้าทำเอง เป็นห่วงมากกลัวน้ำที่เอามาทำไม่สะอาด ว่าที่จริงก็น่ากลัวเหมือนกัน จำได้ว่าบางทีไม้ไผ่ที่เอามาใช้กับไอติมแท่งบางทีมีกลิ่นเน่าแบบไม้ที่ลอยคลองมานาน  แม่กันไม่ให้ซื้อของกินโดยจำกัดเงิน วันหนึ่งให้แค่ ๑๐ สตางค์ (ไป ๕ สตางค์ กลับ ๕ สตางค)์ พอดีกับค่ารถราง ไม่มีเหลือเลย ผมกับน้องสองคนแก้ปัญหาเรื่องเงินขาดแคลนโดยการเดินตามทางรถรางจากหน้าเซ็นต์คาเบรียลไปถึงหน้า รร.ราชินีบน แล้วเดินต่อไปสี่แยกเกียกกาย ระหว่างทางก็ชื้อของกินเล่นแบบแม่ไม่ยอมให้กินไปเรื่อย เหลือไว้คนละสองสตางค์เผื่อต้องขึ้นรถรางช่วงปลาย (สี่แยกเกียกกายไปถึงหน้ากรมช่างอากาศ) เพราะเดินไม่ไหว ผมว่าทำอยู่หลายเดือน ไม่เป็นไทฟอยด์หรืออหิวาห์อย่างที่แม่กลัวไว้  โดนจับได้เพราะวันหนึ่งฝนตกต้องไปหลบฝนใกล้ รพ.วชิระ ระหว่างนั่งกินข้าวเย็น ปากโพล่งไปเล่าว่าติดฝนแถว รพ.วชิระ พ่อถามว่าทำไมถึงต้องไปติดฝนที่นั่น ความเลยแตก ต้องสารภาพ จำไม่ได้ว่าเลิกเดินกลับบ้านกันหรือเปล่า

แม่ผมทานอาหารไทยได้ ชอบด้วย พี่เลี้ยงชื่อลำเจียก มาทะ ทำทุกอย่าง ตั้งแต่เอาผมขึ้นเอวเดินจากข้างในสุดของบริเวณที่พักนายทหารจนถึงถนนเตชะวนิช ไปตลาดบางซื่อวันจ่ายกับข้าว จนถึงซักผ้า หุงข้าว สมัยนั้นบ้านเราจ่ายกับข้าวทุกวัน แต่แม่ซื้อตู้เย็น GE เงินผ่อนจากการไฟฟ้า ทุกเดือนจะมีพนักงานแต่งเครื่องแบบสีน้ำตาล คอตั้ง ปลายแขนยาวมีขีดสีดำสามสี่ขีด คล้ายนายตรวจรถราง (คิดว่าคงการไฟฟ้าด้วยกัน) มาเก็บเงินผ่อนส่งสำหรับตู้เย็น จำได้ว่าคนเดียวตลอด เขาจะถามถึงเรื่องตู้เย็นว่าเรียบร้อยหรือเปล่า พูดคุยกันเรื่องครอบครัวหน่อยแล้วก็กลับ รู้สึกว่าเป็นการแก้เหงาดี แม่รู้ว่าวันไหนเขาจะมาก็ทำความสะอาดตู้เย็นไว้ก่อนหน้าวันสองวัน ปล่อยให้น้ำแข็งรอบช่องน้ำแข็งละลายหมด สมัยนี้ตู้เย็นมักไม่ต้อง defrost แบบนั้น  โดยเหตุที่มีตู้เย็นเลยไม่ต้องจ่ายกับข้าวทุกวัน คิดว่าแม่คงเป็นคนประหยัดมาก จำได้ว่าลำเจียกกลับจากจ่ายตลาดทุกทีก็มานั่งคิดบัญชีกับแม่ ว่าอะไรราคาเท่าไหร่ เหลือเงินเท่าไหร่ นับว่าลำเจียกเองก็พิเศษมาก อยู่ได้สิบกว่าปี ผมว่าจะหาได้น้อยคนที่ทำได้ถึงขนาดนั้นเป็นเวลานานเท่านั้น 

วันไหนที่พ่อไม่ทานข้าวเย็นที่บ้าน แม่ก็มักจะทำอาหารฝรั่งให้ลูกๆกับตัวเอง เพราะพ่อไม่ชอบเท่าไหร่ จำได้ว่าแม่เคยปลูกต้นกระเจี๋ยบ แล้วเก็บลูก(หรือดอก?)เอามาทำ jam กินกับขนมปังตอนเช้า สมัยนั้นถั่วลิสงบดละเอีียด (peanut butter) หาไม่ได้ แม่ก็ทำเองโดยไปซื้อเครื่องบดมือหมุน แล้วยังใช้ทำไส้กรอกได้อีก  กรุงเทพมีร้านเยอรมันขายไส้กรอก แต่เงินเดือนนายร้อยของพ่อเป็นอุปสรรคใหญ่ ต้องกินไส้กรอกทำเองแทน เนยแบบ cottage cheese ก็ทำเองเป็นครั้งเป็นคราว

แม่เย็บผ้าได้ นิตติ้งได้ เลยมี sweater ใส่หน้าหนาว แต่ทำจากเส้นฝ้ายไม่ใช่ขนสัตว์ ชาวบ้านเห็นแม่ถักเสื้อหนาวก็คิดว่าแปลก เพราะไม่รู้ว่าใช้ cotton yarn ไม่ใช่ wool  ข้อเสียของการที่แม่เย็บผ้าได้ ก็คือผมต้องนุ่งชุดแบบเด็กๆจนเข้า ป.๑ เพื่อนๆเขานุ่งกางเกงขาสั้นแล้ว แต่ผมยังใส่ sun suit ที่แม่เย็บเอง (คล้ายชุดว่ายน้ำแบบ  one-piece มีกระดุมแป๋บระหว่างขา ไม่มีขา) แม่คงไม่รู้ว่าพออายุ ๖ ขวบก็ชักอายเพื่อนๆที่เขามีกางเกงขาสั้นใส่ อ้ายเราใส่ชุดแบบเด็กแดง

พอญี่ปุ่นขึ้นบก กรมช่างอากาศก็โดนทิ้งระเบิด ครั้งแรกที่โดนระเบิด พ่อแม่เลี้ยงอาหารเย็นขอบคุณหมอสงวน โรจน์วงศ์ ที่ตัดต่อมทอนซิลให้ทั้งสามคน ทานข้าวยังไม่ทันเสร็จก็มียามวิ่งตะโกนว่า เครื่องบินมาๆ ให้ลงหลุมหลบภัย ความจริงไม่เป็นหลุมแต่เป็นคล้ายอุโมงค์ทำด้วยซุงเสริมดิน (ที่บางซื่อขุดลงไปไม่ถึงเมตรก็เจอน้ำแล้ว)  พวกนายทหารปรึกษากันว่า ไม่น่าจะมีการทิ้งระเบิดจริงเพราะเดือนมืด นักบินจะมองอะไรเห็น  ที่ไหนได้ ปรากฎว่าเขาทิ้งพลุ (flare) ติดร่ม สว่างยังกับกลางวัน กว่าร่มจะถึงพื้นก็กินเวลามากพอดู โชคดีที่คนทิ้งลูกระเบิดไม่แม่น ลูกสุดท้ายตกในคลองข้างทางรถไฟนอกกรมช่างอากาศ ถ้ามีอีกลูกผมว่าคงแย่เพราะหลุมหลบภัยอยู่ในแนวลูกระเบิดพอดี  เมื่อกลับไปในบ้านไปพบว่ามีก้อนโคลนขนาดหัวคนผ่านหลังคาครัวลงไปเต็มหม้อแกงเผ็ดพอดี หลังจากนั้นกรมช่างอากาศก็ย้ายไปโคราชทั้งกรม

สมัยพวกผมเล็กๆแม่ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน ยกเว้นอาสาสมัครโรงเรียนสอนคนตาบอด ดูเหมือนจะไปช่วยทุกอาทิตย์ ไปสนิทสนมกับ Genevieve Caulfield ชาวอเมริกันตาบอดมาแต่อายุสองขวบ ที่มาตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองไทย แม่เล่าว่าแรกๆไม่มีคนสนใจ อ้างว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีคนตาบอด ที่แท้แล้วมีเหมือนประเทศอื่น แต่ครอบครัวมักจะปิดบังเพราะกลัวขายหน้า ต่อมามีเชื้อพระวงศ์คนหนึ่งที่พระบิดามีความคิดทันสมัย ส่งให้เข้าเรียนที่รร.นี้  แหม่ม Caulfield มีความเห็นว่าอันนี้แหละที่เป็น turning point ของ รร. ชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ของโรงเรียน มีความเห็นว่าถ้าคนใหญ่คนโตไม่อาย เรื่องอะไรตัวจะอาย จำนวนนักเรียนจึงเพิ่มขึ้น

แถมรูปเก่าๆสักสามรูป  รูปแรกตลกดี ไม่มี bath tub แบบฝรั่งไว้นอนแช่ ก็นั่ง tub ไทยก็ได้ สองคนยังได้

รูปที่สองเป็นรูปของคุณป้าของพ่อผม ซึ่งเป็นคุณแม่ของหลวงปฏิบัติอากร คนที่บอกย่าผมให้ส่งลูกไปเรียนบางกอก contrast ระหว่างพี่สาวย่ากับแม่มากเหลือเกิน

รูปที่สามเป็นรูปบ้านที่กรมช่างอากาศ ตอนน้ำเริ่มท่วม พ.ศ. ๒๔๘๕ ?? จำได้ว่าขึ้นสูงกว่านั้นมาก พ่อเล่าให้ฟังว่ายอมให้คนใต้บังคับเอาเครื่องมือของกรมช่างอากาศกลับไปใช้ที่บ้านได้ ม่ายงั้นไม่มีทางมีเรือใช้มาทำงาน







.......................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #6 on: 27 February 2022, 18:11:09 »
Reply with quote


เทาชมพู

"อ้างจาก: ศานติ
สมัยนั้นเรียน รร.เซ็นต์คาเบรียล ตอนเข้าเรียน ป.๑ ผมพอรู้ ABC พอสะกดได้บางคำ เรียนได้ไม่กี่วันก็กลับมาบ้านอวดความรู้ใหม่ให้แม่ อ่าน ABC ให้แม่ฟัง แต่ออกเสียง อา เบ เซ แทนที่จเะออกเสียง เอ บี ซี   แม่ร้องลั่นว่า That’s not English. That’s French.  รุ่งเช้าลากผมไปหาบาดหลวงอธิการ รร. ชื่ออะไรจำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ใส่ชุดสีขาวยาวคลุมข้อเท้า กระดุมตั้งแต่คอถึงเท้าหลายสิบเม็ด หนวดยาวถึงหน้าอก มีเม็ดข้าวสุกประปรายในหนวด ผมทึ่งเม็ดข้าวสุกมากแทบจะไม่ได้ยินว่าแม่พูดอะไร จับได้ใจความว่า อา เบ เซ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้สอนเด็กผิดๆแบบนั้น "

ถ้าเป็นร.ร.เซนต์คาเบรียล  ก็น่าจะเป็นคุณพ่อฮีแลร์ละกระมัง       
ท่านเป็นอาจารย์ของคุณพ่อดิฉัน   และเป็นอาจารย์ของคุณ Navarat.C เมื่อเข้าชั้นประถมต้นด้วย



.....


เทาชมพู

ดูจากรูปที่หนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ของอาจารย์คงอยู่ในประเทศไทยกันอย่างมีความสุขมาก     รูปที่สอง ไม่รู้ว่าเด็กที่คุณป้าอุ้มอยู่คืออาจารย์ศานติเองหรือเปล่า
ส่วนรูปที่สาม ชอบบ้านไม้แบบนี้จริงๆ    บ้านของราชการสมัยโน้นกว้างขวางไม่ใช่เล่น   เนื้อที่ก็กว้าง โปร่งน่าสบาย  แค่ดูรูปในอดีตก็แทบจะสัมผัสสายลมที่พัดผ่านบ้านทั้งวันได้ทีเดียว

เชิญเล่าต่อค่ะ
อาจารย์บอกว่าคุณแม่อยู่เมืองไทยถึง 18 ปี  จึงไปอเมริกาอีกครั้ง   ไปเยี่ยมญาติพี่น้องหรือคะ   เอาลูกๆไปด้วยหรือเปล่า

.....

sirinawadee

คุณศานติเล่าได้สนุกมากค่ะ เรียนว่าตามอ่านอยู่นะคะ

...............

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

แนบรูปเครื่องแบบเซ็นต์คาเบรียลมาให้ดู  เสิ้อคอตั้ง ผ้าแบบเสื้อนอก หนา สีขาว ลงแป้ง ปัก ซคบ ที่กระเป๋า พร้อมเลยประจำตัว (เด็ก รร.อื่นล้อว่า ซคบ หมายความว่า ซังคะบ้วย สมัยนั้นแปลว่า ไม่ได้ความ) หมวกกะโล่ต้องเอาแปรงสีฟันเก่าๆชุบน้ำแต้มสีแท่งกลมๆทาให้ขาวสะอาดทุกอาทิตย์  ถุงเท้ายาวถึงใต้เข่า แต่ไม่เท่าไหร่ก็กองอยู่ที่ข้อเท้าแล้ว กางเกงสีน้ำเงินเขัม เด็กเซ็นต์คาเบรียลทุกคนไม่ใช้วิธียัดเสื้อชั้นในเข้าในกางเกงจากเอวลงไป แต่ใช้ล้วงจากขาขึ้นไปดึงชายเสื้อลง ถ้าเด็กเล็กพี่เลี้ยงจะล้วงจากใต้ขากางเกงขึ้นไปดึงชายเสื้อ เวลาพัก ๑๐ โมงเช้าหรือเที่ยงก่อนเข้าห้องจะเห็นเด็กยืนกันหน้าห้องเป็นแถว ก้มลงล้วงดึงชายเสื้อจากข้างล่าง ไม่แน่ใจว่าเพราะเสื้อนอกขัดขวางการยัดเสื้อในลงกางเกง หรือเพราะพี่เลี้ยงทำให้เลยเป็นนิสัย บางคนนิสัยติดตัวไปจนนุ่งกางเกงขายาว เวลาเลิกเรียนอธิการจะยืนที่ประตูรั้วที่ถนนสามเสน นักเรียนต้องเปิดหมวกลาตอนเดินออก รร.

เห็นรูปบาดหลวงที่คุณเทาชมพูแนบมาชวนให้นึกถึงสมัยอยู่ ป.๒ หรือ ป.๓ แม่ไปรู้มาจากไหนไม่ทราบว่า รร.อัสสัมชันกับเซ็นต์คาเบรียล มีค่ายที่ศรีราชาตอนปิดเทอมหน้าร้อน เลยได้ความคิดว่าส่งผมไปค่ายสักสองอาทิตย์จะทำให้อดทนขึ้น ในขณะเดียวกันก็หมดห่วงไปชั่วคราว ว่าที่จริงก็สนุกดี ลืมคิดถึงบ้าน เพราะมีเด็กหลายรุ่นตั้งแต่ไม่ถึง ๑๐ ขวบจนถึง ม.ปลาย  คิดว่ามีเด็กเกือบ ๓๐ คน จำไม่ได้ว่าวันหนึ่งๆทำอะไรบ้างแต่ไม่เบื่อ เดินตามทางรถไฟบันทุกซุงไปเกาะลอยหลายหน

ตอนกลางคืนพวกบาดหลวงมักออกไปล่าสัตว์กัน โดยคนเฝ้าไร่เป็นคนนำทาง ใช้ตะเกียงแกสติดที่หน้าผากไว้ส่องสัตว์ จำได้ว่าเคยยิงเม่นหนหนึ่ง เอามาย่างกินกัน อีกคราวได้เก้ง ตอนโตแล้วมานึกว่าไม่ใช่ฝรั่งทุกคนที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เหมือนแม่ โดยไม่ทำอะไรที่ขัดกับวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมพื้นบ้าน ทำให้เป็นที่ตำหนิได้

ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนไทยเราที่ถือศาสนาพุทธจะมีความเห็นยังไงกับการที่พระทำการล่าสัตว์ ไม่ใช่เพราะจำเป็นต้องหาอาหาร แต่เพื่อความเพลิดเพลิน นอกจากนั้นแล้วรู้ว่ามีการล้างบาปได้ ถ้าคิดต่อไปอย่างชาวบ้านจะคิด ก็อดสรุปไม่ได้ว่า เออ ฆ่าสัตว์นะผิด แต่ล้างบาปแล้วก็หายผิด คืนพรุ่งนี้ออกไปล่าใหม่ก็ได้ 

ตัวอย่างของการไม่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอีกอย่าง ก็การเอาเก้งที่ยิงได้เชือดคอ ผูกเท้าแขวนไว้หลายๆวัน บราเด่ิอฝรั่งเศสทำตามธรรมเนียมยุโรป ยิงสัตว์ได้ก็เชือดคอผูกเท้าแขวนให้เลือดไหลออก โดยมากเขาล่าสัตว์กันตอนฤดูใบไม่ร่วง อากาศหนาวแล้ว เอาสัตว์ห้อยไว้สามสี่วันก็ไม่เป็นไร เริ่มมีการสลายตัวของเนื้อ (auto-digestion) ทำให้เนื้อเปื่อยขึ้นมาก เช้าวันที่ยิงได้พวกเราดีใจกันใหญ่ ‘เมื่อคืนบราเดิ่อยิงเก้งมาได้ คืนนี้ได้กินแกงเก้ง’  แต่ไม่มีวี่แววเลย ‘คืนนี้ได้กินแน่’  แต่เก้งยังแขวนอยู่ใต้ต้นไม้ รออยู่สามหรือสี่วันจนมีเด็กไปเห็นว่าเก้งมีหนอนแมลงวันบนตัวเก้งมากมาย คืนนั้นมีแกงเก้ง หาเด็กกินแกงยาก

หวังว่าสมัยนี้หน่วยงานต่างประเทศคงคำนึงถึงขนบธรรมเนียมคนในประเทศเจ้าของบ้านมากขึ้น จำได้ว่าสมัยเรียน ม.๖ (ม.๔ สมัยนี้) มีมิชชันนารี่อเมริกันมาสอนศาสนาชั่วโมงศีลธรรมตอนที่เรียน รร.กรุงเทพคริสเตียน แต่ไม่มีเด็กสนใจเท่าไหร่ คุยกันไม่ฟังครู เขาเลยบอกว่าไปนั่งห้องสมุดกันดีกว่า ใครไม่สนใจฟังก็หาหนังสืออ่าน ใครสนใจก็จะพูดให้ฟัง ที่จริงผมไม่ได้สนใจเท่าไหร่ แต่ลูกชายเขามาเรียนอนุบาลที่ รร.ของแม่ผม ผมเลยไปร่วมด้วยเพื่อเหตุผลทางการเมือง (๕๕๕) พร้อมกับเพื่อนๆสามสี่คน  นั่งเก้าอี้รอบวง ครูอเมริกันเอาแผนที่ปาเลสไตน์วางที่พื้น แล้วเริ่มอธิบายว่าพระเยซูเกิดที่ไหน ทำอะไรที่ไหน โดยใช้เท้าชี้ไปบนแผนที่ประกอบคำอธิบาย ผมว่าทั้งสี่ห้าคนไม่มีใครได้ยินหรือจำคำพูดได้เพราะมัวแต่ตะลึงนึกอยู่ว่า ‘ครูเอาตีนชี้การเดินทางของพระเยซู’  ก่อนคณะมิชชันนารี่จะส่งคนไปต่างประเทศเขาน่าจะอบรมเรื่องขนบธรรมเนียมของประเทศที่จะไป  หวังว่าสมัยนี้คงทำแล้ว  ทหารจะส่งไปอิรัค แอฟริกานิสถานฯลฯ ก็อบรมกันแล้ว



................

เทาชมพู

เด็กน้อยในชุดนักเรียน น่ารักมากค่ะ
สมัยนั้นอากาศในกรุงเทพคงเย็นสบาย  นักเรียนถึงสวมทั้งเสื้อนอก หมวกกะโล่ ถุงเท้ายาว ไปโรงเรียนได้ทุกวัน

อ่านเรื่องเก้งแล้วขอเว้นคอมเม้นท์เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะพุทธศาสนากับคริสตศาสนามีข้อห้ามไม่เหมือนกัน   แต่พบว่าในช่วงอาจารย์ศานติยังเล็กๆ  ศรีราชายังมีสัตว์ป่าอย่างเก้งชุกชุมอยู่ พอจะตามล่ากันได้

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

คุณเทาชมพูครับ ผมไม่ได้ขัดข้องในเรื่องศาสนายอมหรือไม่ยอมให้ฆ่าสัตว์ อันนี้เรื่องเล็กเพราะแล้วแต่ความเชื่อ แต่ข้องใจในเรื่องที่ทางสำนักงานใหญ่ของสถาบันที่ส่งคนมาเผยแพร่ศาสนาหรือมาทำการกุศลอื่นๆ ทำไมไม่อบรมให้คนที่จะไปต่างประเทศรู้ขนบธรรมเนียมพื้นบ้านของประเทศที่จะไป ทำให้แคลงใจกันเปล่าๆ

.....

เทาชมพู

ดิฉันยังหาข้อมูลไม่ได้ว่าในสมัยนั้น  ทางวาติกันมีการอบรมพระบาทหลวงที่ไปสอนศาสนาในประเทศต่างๆให้เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความเชื่อต่างๆในประเทศนั้นหรือเปล่า    เพื่อจะให้บาทหลวงปรับตัวได้ง่ายขึ้น และเผยแผ่ศาสนาได้สะดวกขึ้น      คิดว่าน่าจะมีการอบรมกันมาบ้าง   เพราะว่าพระบาทหลวงคาธอลิคเข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา     บันทึกเก่าๆที่บาทหลวงรายงานส่งไปวาติกันก็เป็นแนวทางให้บาทหลวงรุ่นหลังได้ศึกษาได้

ส่วนการล่าเก้งกวางที่ว่ามานั้น อาจมาจากความเคยชินเดิมๆของบาทหลวงท่าน  ที่เคยล่าสัตว์มาเป็นอาหารสมัยอยู่ในยุโรป      บวกกับรู้ว่าคนไทยก็ไม่ได้เก็บสัตว์ป่าเอาไว้เฉยๆ แต่ล่ามากินเหมือนกัน      ท่านก็เลยทำของท่านบ้าง     

ฟังจากอาจารย์เล่า ก็เห็นได้ว่าท่านยิงเก้งเอามากิน  ไม่ได้ยิงทิ้งเฉยๆเพื่อสนุก      แต่ท่านไม่รู้ว่าประเทศในเขตร้อนอย่างไทยเนื้อเน่าเร็วกว่าในยุโรป   ต้องแล่เนื้อมากินสดๆ ถึงจะอร่อย    เลยใช้เวลาแขวนทิ้งเอาไว้นานวันเท่ากัน ทำให้แกงเนื้อเก้งกลายเป็นแกงเนื้อเน่าไป

.....
เทาชมพู

จำไม่ได้ว่ากระทู้ไหนอาจารย์พูดถึง การเขียนแบบ cursive   เด็กรุ่นนี้ไม่เคยคัดลายมือ คงนึกไม่ออก   ก็เลยไปหาตัวอย่างมาให้ดูกันค่ะ



.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

เรื่อง cursive style ผมเขียนไว้ใน คุณครูคับ ข้อนี้ตอบอะไรคับ?ฮืม

ของไทยตอนนี้ไม่สอนการคัดลายมือแล้วเหรอครับ ถ้าจริงก็น่าเสียดาย

.....

เทาชมพู

คิดว่าชั้นอนุบาลยังมีฝึกคัดลายมืออยู่ แต่ฝึกเพื่อเขียน ก ไก่ ข ไข่ ได้ถูกต้อง  แต่เขียนแบบ cursive คงไม่มีแล้วค่ะ   

.....

ประกอบ

ที่อังกฤษนี่โรงเรียนยังสอนให้นักเรียนเขียนแบบ cursive  อยู่ครับ   เรียกได้ว่าบังคับกันเลย  อีตาเด็ก 7 ขวบที่อยู่กับผม เรียนโรงเรียนที่นี่ชั้น ป.3 เขียนแต่แบบ cursive อย่างเดียวครับ เพราะไม่ว่าการบ้าน หรืองานอะไร ครูจะให้เขียนแต่แบบนี้  เลยลำบากนิดหน่อยสำหรับผมเพราะอ่านยาก ยิ้มกว้างๆ
 
.....

:D :D

เคยงงกับหลายๆ ตัวค่ะ เช่น C Q S .........

ขอบคุณ อาจารย์ศานติ และอาจารย์เทาชมพู ค่ะ
ตามอ่านอย่างสนุกสนาน........ชอบรูปประกอบมากค่ะ
อยากให้บรรยากาศในอดีต กลับคืนมา..........



.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: :D :D
เคยงงกับหลายๆ ตัวค่ะ เช่น C Q S ......... "




คุณดีดีจำได้ไหม ตัวนี้ตัวอะไร



.....

siamese

ตัว G และ E เขียนติดกัน เป็นยี่ห้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ครับ

.....

siamese

"อ้างจาก: เทาชมพู
อ้างจาก: ศานติ
สมัยนั้นเรียน รร.เซ็นต์คาเบรียล ตอนเข้าเรียน ป.๑ ผมพอรู้ ABC พอสะกดได้บางคำ เรียนได้ไม่กี่วันก็กลับมาบ้านอวดความรู้ใหม่ให้แม่ อ่าน ABC ให้แม่ฟัง แต่ออกเสียง อา เบ เซ แทนที่จเะออกเสียง เอ บี ซี   แม่ร้องลั่นว่า That’s not English. That’s French.  รุ่งเช้าลากผมไปหาบาดหลวงอธิการ รร. ชื่ออะไรจำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ใส่ชุดสีขาวยาวคลุมข้อเท้า กระดุมตั้งแต่คอถึงเท้าหลายสิบเม็ด หนวดยาวถึงหน้าอก มีเม็ดข้าวสุกประปรายในหนวด ผมทึ่งเม็ดข้าวสุกมากแทบจะไม่ได้ยินว่าแม่พูดอะไร จับได้ใจความว่า อา เบ เซ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้สอนเด็กผิดๆแบบนั้น

...
ถ้าเป็นร.ร.เซนต์คาเบรียล  ก็น่าจะเป็นคุณพ่อฮีแลร์ละกระมัง       ท่านเป็นอาจารย์ของคุณพ่อดิฉัน   และเป็นอาจารย์ของคุณ Navarat.C เมื่อเข้าชั้นประถมต้นด้วย "


เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เป็นอธิการอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่ใช่หรือ ?

.....

NAVARAT.C

ผมเข้าป๑ที่เซนต์คาเบรียล ปี๒๔๙๖ ยังเด็กมาก แต่จำได้แม่นถึงฝรั่งใส่กระโปรงขาว สูงใหญ่อย่างกับยักษ์ หน้าตาหนวดเครายาวเฟื้อย กลัวแทบฉี่ราด หรือราดกางเกงเปียกไปแล้วก็จำไม่ได้ โตแล้วมาเห็นรูปท่านอีกที อ้อ ท่านชื่อคุณพ่อฮีแลร์

..............

ประกอบ

อ่านกระทู้นี้แอบคาดเดาวัยวุฒิหลายๆ ท่านได้เลย 

สิ่งน่าทึ่งที่คุณพ่อฮีแลร์ทิ้งไว้อย่างหนึ่งที่ผมเคยเห็นคือตำราแบบเรียนภาษาไทยครับ  ผมเคยได้มาชุดนึงเมื่อหลายปีมาแล้ว น่าทึ่งมากที่ฝรั่งเป็นคนเขียนแบบเรียนภาษาไทย ใช้สอนนักเรียนไทยอ่าน น่าเสียดายว่าไม่ได้พกมาเมืองนอกด้วยเพราะเล่มใหญ่มาก แต่ดันไปหลงเชื่อตำราภาษาไทยปัจจุบันของกระทรวงศึกษาชุดภาษาพาทีใบบัวใบโบก พกเอามาสอนเด็กที่นี่แล้วก็ต้องเอาทิ้งไป  ไม่แปลกใจว่าทำไมเด็กไทยปัจจุบันจำนวนมากจบชั้นประถมแล้วอ่านภาษาไทยไม่ออก  ตำราภาษาไทยของกระทรวงยุคปัจจุบันห่วยแบบไม่น่าเชื่อ เริ่มต้นบทแรกก็ให้เด็กอ่านคำที่มีทั้งตัวสะกด ทั้งพยัญชนะโดยไม่ได้เริ่มต้นการหัดผสมเสียง หัดผันเสียงเลย กลายเป็นว่าสอนให้เด็กจำคำเป็นตัวๆ ไป ถ่าเจอคำใหม่ก็จะอ่านไม่ได้ ไม่รู้ว่าผมโง่สอนไม่เป็นเอง หรือผู้คุณทรงวุฒิที่เขียนตำราฉลาดเกินไป ใช้กลวิธีเทคนิคที่เกินภูมิปัญญาของผม 


จะยกตัวอย่างจากหนังสือภาษาพาที สำหรับชั้น ป 1 บทที่ 1 ให้ดู บทแรกมีคำประเภท ใบโบกมีงา ใบบัวไม่มีงา  ใบโบกมีงวง  ทั้งสระที่เปลี่ยนรูปเมื่อมีตัวสะกด  ตัวสะกด และพยัญชนะผันเสียงมีครบตั้งแต่บทแรก ไม่ได้สอนทีละขั้นๆ ไป    นี่คือคำให้อ่านของบทที่ 1 ของหนังสือเรียนภาษาไทย ป 1 เล่ม 1 ครับ  คาดว่าคนเขียนตำราคงเข้าใจว่าเด็กไทยหัดอ่านกันมาตั้งแต่อนุบาลหมดแล้วกระมัง 

.....

เพ็ญชมพู

ดรุณศึกษาของ ฟ. ฮีแลร์ เริ่มใช้สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล

คุณประกอบใช้เล่มนี้สอนเด็ก น่าจะได้ผลมากกว่า

http://www.baanbaimai.com/forum/index.php?topic=13347.0



.....

เพ็ญชมพู

สอนอะไรบ้าง



.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

"อ้างจาก: siamese
เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เป็นอธิการอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่ใช่หรือ ?"


นั่นซี ผมเคยได้ยินชื่อแต่คิดว่าตอนผมอยู่ ป.๑ ท่านเป็นอธิการที่อัสสัมชัน ตอนผมอยู่ ป.๓ มีคนชาวเอเซียเป็นอธิการ พวกเราเรียกกันว่า บราเดอร์เทฟัน ไม่ทราบสะกดอย่างไร ใส่ชุดสีดำแทนที่จะเป็นสีขาว

ที่จำติดตาก็คือพวกรูปปั้นหรือหล่อจากปูนปลาสเตอร์ที่มีอยู่เป็นแห่งๆในตึกสีแดง มีรูปหนึ่งที่ผมดูแล้วกลัว เป็นหุ่นพระเยซูบนไม้กางเขน มีตาปูตอกที่มือที่เท้า มีเลือดไหล เขาทาสีสด ดูน่ากลัว  ต่อมาอีก ๒๐ ปีผมทำงานอยู๋ใน รพ.แคทอลิคในอเมริกา โดนตามไปดูคนไข้แผนกสูติศาสตร์เพราะเขาสงสัยไส้ติ่งอักเสบ ผมไม่เคยชึ้นไปชั้นนั้นมาก่อน พอประตูลิฟเปิดก็ไปประจันหน้ากับรูปปั้นเหมือนกับที่เซ็นคาเบรียลเลย คงแม่พิมพ์เดียวกัน  สะดุ้ง กลายเป็นเด็ก ป.๑ ขึ้นมาอีกทันที

.....

เทาชมพู

บราเดอร์เทฟัน สะกดอย่างนี้ค่ะ Theophun  เป็นชื่อนักบุญ   ผู้ที่บวชเป็นบาทหลวงหรือแม่ชีในนิกายโรมันคาทอลิค จะได้รับชื่อใหม่เป็นชื่อนักบุญท่านใดท่านหนึ่ง    บางทีแม่ชีก็ได้รับชื่อนักบุญผู้ชายมาเป็นชื่อตน  มาแมร์ของดิฉันก็ชื่อเทโอฟันเหมือนกัน  เรียกเร็วๆเป็นเทฟัน
 
คุณพ่อฮีแลร์ ในสมัยโน้น ไม่ได้เรียกว่า ฟาเธอร์   คุณพ่อดิฉันเรียกว่า บราเดอร์ฮีแลร์   ท่านเป็นนักบวชในคณะเซนต์คาเบรียล    เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่าท่านเคยเข้ามาดูแลการสอนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วย   แต่ไม่พบในประวัติ

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: ศานติ
ตอนผมอยู่ ป.๓ มีคนชาวเอเซียเป็นอธิการ พวกเราเรียกกันว่า บราเดอร์เทฟัน ไม่ทราบสะกดอย่างไร ใส่ชุดสีดำแทนที่จะเป็นสีขาว "


บราเดอร์เทฟัน คือ ภราดาเทโอฟาน เวนาร์ด เป็นเจษฏาธิการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๗

รายนามของเจษฎาธิการโรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5#.E0.B9.80.E0.B8.88.E0.B8.A9.E0.B8.8F.E0.B8.B2.E0.B8.98.E0.B8.B4.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B9.81.E0.B8.A5.E0.B8.B0.E0.B8.9C.E0.B8.B9.E0.B9.89.E0.B8.9A.E0.B8.A3.E0.B8.B4.E0.B8.AB.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B9.82.E0.B8.A3.E0.B8.87.E0.B9.80.E0.B8.A3.E0.B8.B5.E0.B8.A2.E0.B8.99



.....

NAVARAT.C

"อ้างถึง
คุณพ่อฮีแลร์ ในสมัยโน้น ไม่ได้เรียกว่า ฟาเธอร์   คุณพ่อดิฉันเรียกว่า บราเดอร์ฮีแลร์   ท่านเป็นนักบวชในคณะเซนต์คาเบรียล    เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่าท่านเคยเข้ามาดูแลการสอนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วย   แต่ไม่พบในประวัติ "


เข้ามาเล่าต่ออีกหน่อยนึงว่า ผมจำได้ว่าท่านพูดภาษาไทย สำเนียงฝรั่งหน่อยๆ แต่ชัดมาก และเป็นครั้งเดียวในชีวิตนักเรียนเซนต์กาเบรียล๔ปี ที่เห็นฝรั่งท่านนี้
ที่จำได้แม่นเพราะวันนั้นเป็นวันแรกที่ถูกพาไปมอบตัวเข้าโรงเรียน โดยเข้าไปในห้องทำงาน ท่านสนทนาด้วยแป๊บนึงก็บอกว่าไปส่งเข้าห้องเรียนได้ ผมก็อาละวาดจะกลับบ้านทันที ท่านก็ลุกขึ้นมาพร้อมไม้เรียวแล้วขู่ว่าถ้าดื้อจะถูกตีนะ ผมเห็นฝรั่งยักษ์หนวดยาวถือไม้เรียวมาก็ยิ่งแผดเสียงใหญ่ ท่านก็เลยลากมือไปแล้วหวดก้น เงื้อเสียแรงแต่แปะลงมาเฉยๆ ผมคงฉี่ราดออกมาตอนนั้นเอง

แหม หลวมตัวเข้าให้แล้ว ว่าจะไม่เล่าแล้วเชียว แต่นี่คือเหตุกาณ์ที่ผมได้รู้จักท่านฮีแลร์ที่เซนต์คาเบรียล

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: NAVARAT.C
ผมเข้าป๑ที่เซนต์คาเบรียล ปี๒๔๙๖ ยังเด็กมาก แต่จำได้แม่นถึงฝรั่งใส่กระโปรงขาว สูงใหญ่อย่างกับยักษ์ หน้าตาหนวดเครายาวเฟื้อย กลัวแทบฉี่ราด หรือราดกางเกงเปียกไปแล้วก็จำไม่ได้ โตแล้วมาเห็นรูปท่านอีกที อ้อ ท่านชื่อคุณพ่อฮีแลร์

พ.ศ. ๒๔๙๖ เจษฏาธิการของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลคือ ภารดามงฟอร์ต เดอ โรซาริโอ ไว้เคราคล้าย ๆ กับภารดาฮีแลร์

ซ้าย ภารดาฮีแลร์   ขวา ภราดามงฟอร์ต



.....

NAVARAT.C

ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่จำได้ว่ายักษ์ฝรั่งที่ตีผมมีเคราสีเทาๆ แผ่ๆแบนๆ ปลายมี ๒ แฉก

.....

siamese

"อ้างจาก: NAVARAT.C
ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่จำได้ว่ายักษ์ฝรั่งที่ตีผมมีเคราสีเทาๆ แผ่ๆแบนๆ ปลายมี ๒ แฉก "


จะฉี่ราด หรือ เห็นเคราสองแฉก ก็ตามที ในฐานะที่เป็นเด็กอัสสัมชนิก ที่โรงเรียนอัสสัมชัญก็มีรูปหล่อ ภ. ฮีแลร์ และ ตึก ฟ.ฮีแลร์ อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าท่านเป็นบาดหลวงในคณะเซนต์คาเบียล แต่จะไปสอนที่โรงเรียนเซนต์คาเบียลหรือเปล่าต้องหาประวัติอีกครั้งแต่ ในประวัติอัสสัมชัญไม่มีการอ้างถึงว่า ภ.ฮีแลร์ ไปสอนแต่อย่างใด ท่านมรณะที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และร่างก็ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่อาคารหอประชุมสุวรรณสมโภช (เป็นหอประชุมอันทันสมัยที่สุด ในยุค ๒๔๙๐) และทำพิธีศพที่ศาสนวิหารอัสสัมชัญ

.....

NAVARAT.C

กระแสความนิยมในการเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับจนสถานที่ที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่มากล้นนั้นได้ ทำให้มีผู้ที่ผิดหวังจากการที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ เป็นจำนวน มาก การเคลื่อนตัวจากบางรัก ซึ่งเป็นชุมชน ชาวต่างชาติจากตะวันตก และคาทอลิกขนาดใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ มาสู่การเปิดสถานศึกษาแห่งที่ 2 ของคณะเซนต์ คาเบรียลจึงเกิดขึ้น

มิติทางประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล อยู่ที่การใช้ชื่อโรงเรียนว่า เซนต์คาเบรียล แทนที่จะระบุว่าเป็น อัสสัมชัญ สามเสน เพื่อแสดงถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของทั้งสองโรงเรียน เพราะหากพิจารณาจากความนิยมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในอัสสัมชัญขณะนั้น ซึ่งเพิ่มจาก 400 คน ในปี ค.ศ.1912 เป็นกว่า 1,000 คน ในปี ค.ศ.1915 ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าชื่ออัสสัมชัญ น่าจะขายได้ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ขณะที่นักเรียนเซนต์คาเบรียล ในช่วงปีแรกๆ มีนักเรียนเพียง 141 คน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 220 คน, 332 คน และ 487 คน ในช่วงปีต่อๆมา

สาเหตุที่ทำให้ต้องใช้ชื่อ เซนต์คาเบรียล ในขณะนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาไทยสมัยนั้น ที่ไม่อนุญาตให้มีโรงเรียนใช้ชื่อเดียวซ้ำซ้อนกัน โรงเรียนของคณะเซนต์ คาเบรียล จึงเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น ที่เซนต์คาเบรียล สามเสน หรือมงฟอร์ต เชียงใหม่ ก่อนที่ข้อกำหนดนี้จะถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา จึง เกิดมีโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์, อัสสัมชัญศรีราชา และโรงเรียนอัสสัมชัญอื่นๆ ที่คณะภราดาสร้าง ขึ้นในระยะหลังจากนั้นซึ่งต่างใช้ชื่ออัสสัมชัญทั้งสิ้น

โรงเรียนพี่โรงเรียนน้องเช่นนี้ ครูบาอาจารย์เขาจะไปมาหาสู่ ทำหน้าที่แทนกันบ้างเป็นครั้งคราวไม่ได้เชียวหรือ

.....

เทาชมพู

เอ แปลกจริง
ดิฉันจำชื่อบราเดอร์ฮีแลร์ได้ เพราะเคยได้ยินจากปากคุณพ่อผู้เป็นศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล ไม่ใช่อัสสัมชัญ      ที่จำแม่นเพราะว่าเพื่อนๆคุณพ่อที่มีลูกชาย อยากให้ลูกเข้าเซนต์คาเบรียล แต่ว่าทำเองไม่ได้ ก็มาขอฝากคุณพ่อให้พาเข้า      คุณพ่อใช้สิทธิ์ของศิษย์เก่าที่บราเดอร์ฮีแลร์รู้จักดี เอาลูกชายเพื่อนไปฝากฝังโดยตรง    เข้าร.ร.ได้หลายคน     บ้านไหนมีลูกชายหลายคน   พี่ชายเข้าได้น้องชายก็เข้าตามไปด้วย
ลูกชายเพื่อนคุณพ่อก็อยู่ในยุคเดียวกับท่านนวรัตนดอทซีนี่แหละค่ะ

คุณพ่อเอ่ยชื่อบราเดอร์ฮีแลร์อยู่หลายครั้ง ด้วยความเคารพนับถือ  ไม่เคยเอ่ยถึงบาทหลวงมงฟอร์ดหรือท่านอื่นใดในอัสสัมชัญเลยละค่ะ

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

จำชื่อหลวงพ่อไม่ได้ จำได้แต่เลขประจำตัวตอนอยู่ ซ.ค.

อีกอย่างที่จำได้คือที่เซ็นต์คาเบรียลมีบุคคลสามประเภท Father, Brother กับ Master   Master ได้แก่ครู อาจถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ได้บวชเรียนมา  Father เป็นพระในนิกายแคธอลิค  จำได้คล้ายกับว่าทั้ง รร.มีคนเดียว แตไม่แน่ใจ  ส่วน Brother ผมลองค้นดู คล้ายจะตรงกับคำว่า Lay brother ดูท่าทีคล้ายจะปฏิบัติตามวินัยของพระ แต่ไม่ได้เล่าเรียนมาทางด้านศาสนา ไม่ได้ผ่านการบวชเป็นพระ อาจเป็นครู เป็นช่างไม้ เป็นหมอ ฯลฯ หรืออาชีพอื่นก็ได้  จำได้ดีก็ Brother Gregg คุมห้องขายสมุด หนังสือ เครื่องเขียน

.....

เพ็ญชมพู

อักษร ฟ. ในชื่อของภารดาฮีแลร์ มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า frère ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother คือ ภารดา ในภาษาไทย เป็นชื่อในทางศาสนา (ศาสนนาม) ชื่อจริงของท่านคือ ฟรังซัว ดูเวอเนท์ Fronçois Touvenet

คุณ วิกกี้ อธิบายว่า ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก ภราดาฆราวาส เรียกโดยย่อว่า ภราดา หมายถึงบุรุษที่เป็นสมาชิกคณะนักบวชคาทอลิก แต่ไม่ได้รับศีลอนุกรมขั้นใด ๆ ดังนั้นจึงไม่อาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ได้ การเรียกว่า "ภราดาฆราวาส" เพื่อให้ต่างจากผู้ได้รับศีลบวชแล้วหรือจะรับศีลบวชต่อไป แม้จะมีชื่อว่า “ฆราวาส” แต่ภราดาฆราวาสก็มีสถานะเป็นนักบวชคาทอลิก เพราะได้ถือคำปฏิญาณของนักบวชเพื่อรับใช้พระเป็นเจ้าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่คณะนักบวชที่ตนสังกัดได้กำหนดไว้ คณะนักบวชชายแต่ละคณะอาจกำหนดบทบาทหน้าที่ของภราดาฆราวาสแตกต่างกันไป

ฟ.ฮีแลร์ จึงไม่ใช่บาทหลวง ไม่ใช่คุณพ่อ (Father)

แต่คือ ภารดาฮีแลร์

........................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #7 on: 27 February 2022, 18:26:09 »
Reply with quote


เทาชมพู

เห็นหนุ่มน้อยแล้ว  อยากเห็นสาวน้อยฝาแฝด  ยังเก็บรูปไว้หรือเปล่าคะ



.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ขอค้นก่อนครับ ตอนนี้มีเล่าต่อถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

พอกรุงเทพเริ่มโดนทิ้งระเบิด ก็ย้ายออกไปนอกเมืองไปอยู่กับเพื่อนแม่ ที่เราเรียกกันว่า Aunt Mary ที่ซอยแยกจากซอยพร้อมพงษ์ จำชื่อไม่ได้ พร้อมอะไรสักอย่าง สมัยนั้นนับว่าไกลออกไปมาก มีบ้านไม่กี่หลัง บางคืนก็มีการทิ้งระเบิดในเมือง แต่แถวนั้นปลอดภัย ต่อมากรมช่างอากาศย้ายไปโคราชทั้งกรม ไปตั้งอยู่ตำบลปรุใหญ่ มีบ้านทหารอากาศเรียงไปตลอดตั้งแต่วัดไหม่ วัดกองพระทราย วัดหลักร้อย จนถึงวัดสวนพริกไทย เป็นเรือนไม้ ฝาไม้ไผ่ที่เอามาผ่าแล้วแบะออกมา (ไมทราบเขาเรียกอะไร) ผนังระหว่างห้องเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ ยกพื้นพอเดินลอดได้สบาย น่าอยู่ดีเหมือนกัน

วันแรกที่ไปถึงระหว่างที่ผู้ใหญ่เขาไปทำโน่นทำนี่ ผมก็ถือโอกาสเดินข้ามถนนไปที่ลานวัดกองพระทราย เด็กๆแถวนั้นคงไม่เคยเห็นเด็กหน้าตาเป็นฝรั่งเลยมากันหลายคน ได้เป็นเพื่อนกันแต่แรกเลย มีคนหนึ่งถามผมว่า ไปดูค้วยไหม ทีแรกสะดุ้งไม่แน่ใจว่าจะไปดูอะไร แต่ก็ตามเขาไปดูควายในไร่ ตอนนั้นต้องอาศัยไปเรียน รร.ศิริวิทยากร ในเมือง น้องอยู่ ป.๒ ผมอยู่ ป.๔  เรียนไปได้สองวันครุบอกแม่ว่าจะเลื่อนขั้นให้น้องสองคนเรียน ป.๓  แต่เลื่อนให้ผมไม่ได้เพราะเป็นชั้นประโยค อีกไม่กี่เดือนกรมช่างอากาศก็ย้าย รร.ช่างฝีมือ ชอ.มาโคราช  เด็กๆก็เลยไม่ต้องนั่งรถกุดังเข้าเมืองทุกเช้า

แรกไปถึงไม่มีใครช่วยทำกับข้าว แม่ต้องทำเอง แม่อยากจะทำอาหารไทยพวกแกงต่างๆ สมัยนั้นตำราทำกับข้าวไม่มี อาศัยบอกกันต่อๆ  แม่ทราบว่าภริยาของนายนาวาโท เขียน โสมนะพันธ์ ขื่อคุณลมัย ทำกับข้าวเก่ง เลยส่งผมไปขอจดตำรับแกงต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ คุณลมัยก็ใจดี อุตส่าห์นั่งบอกคำบอกให้ผมแปลแล้วจดเป็นอังกฤษ เครื่องเทศไหนที่ไม่รู้ก็เอามาเป็นตัวอย่างเพราะไม่รู้ชื่ออังกฤษ  จำไม่ได้ว่าแม่ทำแกงได้อร่อยแค่ไหน เพราะพอดีมีพวกนายทหารหนุ่มๆโสด เพิ่งจบจุฬาฯ ที่เป็นนายทหารสังกัด ชอ. ๒ ที่พ่อเป็นหัวหน้าอยู่ (คนที่เคยทำงานกับพ่อเรียกพ่อว่า หัวหน้า ทุกคน แม้จนกระทั่งตอนออกจากราชการมาหลายปีแล้ว) เริ่มมากินข้าวเย็นที่บ้านแทบทุกคืน มือเย็นแม่ไม่ต้องเข้าครัวเลย สี่ห้าคนแบ่งหน้าที่กันหมด ทีจำได้มี ศุลี มหาสันทนะ  บูชิต บุนนาค  ไพโรจน์ สนิทวงศ์  ชำนาญ … กับ อีกคนที่ผมนึกชื่อไม่ออก เป็นคนทำกับข้าวเก่ง คนอื่นเป็นคนชิม แม่ไปเห็นคนชิมคนหนึ่งชิมขาไก่ทั้งขา เลยไล่ออกจากครัว  สนุกกันดี คุณบูชิต ออกยิงนกเป็ดน้ำบ่อยๆ มีมาแกงเป็นประจำ ตอนหลังที่บ้านเลี้ยงเป็ดเอง คุณบูชิตก็จัดการเรื่องเป็ดอีก ผมมีหน้าที่ทำความสะอาดตะเกียงโคมรั้ว เติมน้ำมัน กับจุดตะเกียง เดือนหนึ่งเขาจ่ายน้ำมันก๊าตให้บ้านละปีบ หน้าที่อีกอย่างก็คือเช้าวันอาทิตย์ต้องไปตลาดแต่เช้าเพื่อซื้อของพิเศษเช่น สมองหมู เอามาชุบแป้งทอด ตับหมู เอามาทอด ถ้าไปสายจะหมด  เนื้อหมูส่วนมากมีเม็ดกลมๆขาวๆขนาด ๒ - ๓ มม. ชาวบ้านว่าเนื้อเป็นเม็ดสาคู มาเรียนแพทย์แล้วถึงรู้ว่าเป็น larva (cysticerci) ของตัวตืด แต่เนื้อที่เอามากินนั้นสุกเลยปลอดภัย หลังอาหารแล้วพวกนายทหารก็นั่งคุยกัน บางคนก็ถือโอกาสฝึกภาษากับแม่  ผมเองก็สนุก อายุ ๑๐ ขวบแต่ได้นั่งฟังหนุ่มๆเขาคุยกันเรื่องเครื่องบิน เรื่องอาวุธ  ไม่เคยได้ยินเขาคุยกันเรื่องสาว  คงเพราะหายาก

ผมรู้สึกว่าคุณศุลีเป็นคนโปรดของแม่ ตัวสูงที่สุด แม่เลยตั้งชื่อว่า Daddy Long-Legs ตามคนใจดีในนวนิยายที่ขึ้นชื่อสมัยแม่เป็นสาว หลังสงครามเมื่อพ่อลาออกจากราชการ คุณศุลีก็ลาออกตามไปทำงานด้วยกัน มีอยู่พักหนึ่งที่ท่านอยู่ รพ.ศิริราชหลายเดือน แม่พาผมไปเยี่ยมที่ศัลย์ชาย ๑ หลายหน  สมัยเด็กคิดอยากเป็นวิศวกรตามพ่อ แต่มาสำนึกตัวดอนอยู่ ตอ. อาจารย์สุภาพ รังควร ให้การบ้านตรีโกณมิติ ผมนั่งทำอยู่ที่บ้าน พ่อเข้ามายืนดูแล้วอาสาช่วย ผมก็โล่งอกขึ้นเพราะพ่อสอบ College Board กับ มรว.สุกสม สองคนได้คะแนนสูงที่สุดในอเมริกาในวิชาคำนวน  คำถามแรกที่พ่อถามผมคือ  ‘Sine คือ opposite side หารด้วย hypothenuse ใช่ไหม?’  ผมใจฝ่อทันทีเพราะคนที่จะช่วยพิศูจน์สมการทำท่าจะลืมเบื้องต้นไปแล้ว  ในที่สุดสองคนช่วยกันจนพิศูจน์สมการได้ ใช้หน้ากระดาษกว่าๆ วันรุ่งขึ้นผมเอาการบ้านไปส่งอาจารย์ พูมใจมาก โจทย์ยากต้องใช้กว่าหน้ากระดาษถึงพิศูจน์ได้ ปรากฎว่า ธวัช เมฆสวรรค์ ที่นั่งอยู่หน้าผมเขาพิศุจน์ได้ภายในสี่บันทัด  ที่แม่พาผมไปเยี่ยมคุณศุลีบ่อยครั้งเลยเปลี่ยนใจอยากเป็นหมอ ไม่ต้องมานั่งพิศูจน์สมการ

สมัยแม่อยู่ฝรั่งเศสชอบไป camping ไป ski กับเพื่อนฝูงเป็นประจำ มี rucksack (back-pack ใหญ่ๆ) ที่ใช้หอบสัมภาระ แมเอา่ติดตัวมาเมืองไทยด้วย พอมีท่าทีว่าโคราชจะโดนทิ้งระเบิดก็จัดเครื่องหลังไว้ให้แบกคนละใบ เผื่อต้องหนีเข้าดง ใบหนึ่งมียาต่างๆ อีกใบมีผ้าห่ม อีกใบมีเสื้อผ้า อีกใบมีอาหารกระป๋อง วันหนึ่งแม่นอนจับไข้จากมาลาเรียอยู่ ตอนเย็นพ่อกลับบ้านแล้วกำลังหุงเข้า ผมได้ยินเสียงเครื่องบิน ตื่นเต้นมากเพราะดังกระหึ่มไปทั้งฟ้า ผมตะโกนว่าเครื่องบิน แล้วโดดลงไปที่ลานข้างบ้าน พ่อร้องลั่นว่า อย่าออกไป คงฟังรู้ว่าไม่ใช่เครื่องบินไทยแน่ แต่ผมออกไปที่ลานบ้านแล้ว เห็นเครื่องบินสี่เครื่องยนตร์มามากมาย ต่างคนต่างคว้ากระเป๋าที่แม่กำหนดไว้ วิ่งเข้าไปในสวนน้อยหน่าหลังบ้านแล้วหลบลงคู พ่อกับผมนอนหงายดูเครื่องบิน เห็นเปิดประตูใต้ท้องปล่อยระเบิดลงมาชุดละ ๗ ลูก พ่อบอกว่า เราไม่เป็นไรหรอกเพราะปล่อยเหนือหัว จะไปแย่ที่คนอื่น วันนั้นสถานีรถไฟหัวรถโดนหนัก มีระเบิดเวลาดังอยู่ตลอดคืน

ว่าที่จริงการทีกรมช่างอากาศย้ายไปโคราช พร้อมทั้งย้าย รร.ช่างฝีมือ ชอ. (ปีถัดไปดูเหมือนจะเปลี่ยนเป็น รร.วิศวกรรม ชอ.) ทำให้เด็กอย่างผมหูตากว้างขึ้น ถ้าไม่ได้ไปโคราชก็คงอยู่แต่ใน รร.เครือศาสนาคริสเตียน (เซ็นต์คาเบรียล แล้ว กรุงเทพคริสเตียน) เท่านั้นไม่ได้เห็นอะไรในแง่พุทธศาสนาจนเข้า ตอ. แต่ตอนที่โคราชทุกวันเสาร์ตอนชักธงแล้ว จะมีการท่องพระพุทธชัยมงคลคาถา (พระคาถาพาหุง) ที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงแปลไว้  แม่ผมไม่ได้เคร่งศาสนา ถ้าไปโบสถ์ก็เฉพาะวันก่อนวันคริสมาส อาจไม่เคร่งเพราะยายผมตอนอยู่อเมริกาเป็นคนชอบลอง ปฎิบัติตามศาสนายิวสองสามปี เป็นโปรเตสตันสองสามปี ถือศึลห้าสองสามปี ในที่สุดดูเหมือนจะไปลงเอยที่ศาสนาบาฮาย พ่อก็ไม่เคร่งแต่เป็นคนตรง ระหว่างสงครามเขาแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการซ่อมกรมช่างอากาศ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัดใหม่ เลี้ยงพระแล้วก็นั่งรับศีล ผมหันไปเห็นว่าพ่อไม่ได้พนมมืออยู่ตอนหนึ่ง ก็กระซิบว่า ‘ป้า ทำไม่ไม่พนมมือ?’  พ่อบอกว่า ‘เดี๋ยวจะอธิบายให้’  ตอนเดินกลับบ้านพ่อก็อธิบายว่าตอนนั้นพราะกำลังให้ศีลห้า ข้อที่เกี่ยวกับการห้ามดื่มเหล้า ตนเองก็อยู่แล้วว่าคืนนั้นจะมีการเลี้ยง จะมีการดื่มเหล่้า จะรับศีลข้อนี้ก็ยังไงๆอยู่ เลยไม่พนมมือ ทุกครั้งที่กลับไปเมืองไทยเวลารุ่นเขาเลี้ยงพระ มีการรับศึลก็อดนึกถึงพ่อไม่ได้

ตอนอยู่โคราชมีเรื่องตื่นเต้นสองครั้ง ครั้งแรกตอนปิเเทอมระหว่าง ป.๔ ม.๑  ผมคงจะซนมาก แม่คงบ่นให้พ่อฟัง พ่อเลยเอาผมไปทำงานด้วย ตัวโรงงานส่วนหนึ่งอยู่ที่สนามบิน โรงซ่อมมีเครื่องบินกำลังซ่อมอยู่ ๕ - ๖ ลำ ก็มีโอกาสไปยืนดูช่างเขาทำงานกัน ปีนขึ้นไปนั่งในเครื่องก็ได้ ไม่มีใครว่าเพราะเป็นลูกหัวหน้า ซ้ำยังช่วยอธิบาย ช่วยให้ปีนขึ้นนั่ง ตอนใกล้เที่ยงชักจะหิวก็เข้าไปในห้องทำงานของพ่อซึ่งกำลังนั่งเซ็นเอกสารอยู่ พ่อบอกว่าให้รอก่อน พอดีได้ยินเสียงเครื่องบินแทกซี่มาหน้าโรงซ่อม พ่อบอกให้ผมออกไปดูว่าเครื่องอะไรมา ผมออกไปดุเห็นเครื่องบินขับไล่ที่เราเรียกว่า Hawk พับฐาน ที่นั่งเดียว ปีกสองชั้น แทกซี่อ้อมไปหลังโรงซ่อม ผมตามไปดู มีนักบินไทยปีนออกมาจากเครื่อง แต่แล้วมีฝรั่งปืนออกมาจากข้างหลังที่นั่งนักบิน แต่งชุดกากีขาสั้น ถุงเท้าถึงน่อง ตัวแดงเป็นกุ้งต้ม (มารู้ทีหลังว่าเครื่องแบบทหารอังกฤษสำหรับเขตร้อน) ไม่เห็นฝรั่งมาเกือบสองปี (แม่ไม่นับ) เลยตื่นเต้นมาก วิ่งกลับไปบอกพ่อว่ามีฝรั่งปีนออกมาจากเครื่องบินไทย พ่อบอกว่า ‘เออ เห็นแล้วก็แล้วไป ไม่ต้องเอาไปพูดให้ใครฟัง’  หลังสงครามแล้วพ่อบอกว่ามีการขนส่งพวกใต้ดินโดยเครื่องบิน แต่ตอนหลังญี่ปุ่นชักรู้ทัน มักจะบินเหนือเครื่องบินไทยเพื่อดูว่ามีใครแอบโดยสารด้วยหรือเปล่า

อีกทีได้ยินพ่อเล่าให้แม่ฟังว่า นั่งกินข้าวกลางวันที่สโมสรนายทหารที่สนามบิน มี พล.อ.โท มานพ สุริยะ นั่งอยู่ด้วย เป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นท่านเป็นนักบินลองเครื่อง เครื่องที่ซ่อมเสร็จ พล.อ.โท มานพ ก็มักจะเอาไปบิน คนบินก็ต้องไว้ใจคนซ่อม คนซ่อมก็ต้องไว้้ใจคนบิน ประกอบกับทั้งสองคนจบจากอเมริกาด้วยกัน (พล.อ.โท มานพ จบจาก West Point) ระหว่างทานอาหารมีนักบินญี่ปุ่นยศนาวาเอกเข้ามาหา (ใช้สโมสรร่วมกัน) บอก พล.อ.โท มานพ ว่าอยากชวนให้ไปดูอะไรหน่อย ไม่ทราบว่าท่านไม่ไว้ใจญี่ปุ่นหรือเห็นท่าทีไม่ค่อยดี เลยชวนพ่อไปด้วย ญี่ปุ่นพาขึ้นเครื่องบิน ดูเหมือนจะไปแถวโคกกระเทียม แล้วบินลงต่ำชี้ให้ดูลานหญ้ายาวๆท่าทางเป็น runway ถามสองคนว่านั่นอะไร ต่างก็ตีหน้าตาย พูดว่าท่าทางยังกับเป็นสนามบิน  สนามบินอะไร  ไม่ทราบแถวนี้ไม่น่าจะมีสนามบิน  ตกลงเป็นสนามบินที่เสรีไทยไปสร้างไว้ พ่อมาเล่าให้แม่ฟังบอกว่าใจไม่ดี คิดว่าจะโดนยิงทิ้งซะแล้ว

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสัมพันธมิตรกันก็จริง แต่ไม่ไว้ใจกัน สนามบินที่โคราชแบ่งเป็นสองฟาก มี runway ผ่ากลาง ฝ่ายไทยมีปืนกลหนัก อยู่ข้าง runway กลางวันปืนชี้ขึ้นฟ้าเป็นทำนองว่าไว้ต่อสู้อากาศยาน แต่พอค่ำลง ลดลำกล้องลงหันปืนข้าม runway  ไปทางฝ่ายญี่ปุ่น

เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ผมไปโคราช ไปเห็นป้ายชี้ทางไปวัดกองพระทราย สมัยเด็กอยู่นอกเมืองไปมาก สมัยนี้อยู่ในเมืองแล้ว ผมเลยขอให้คนขับเขาแวะหน้าวัด บ้านผมตอนสงครามอยู่หน้าวัดพอดี จำได้ว่ามีผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านนับถือ ชื่ออาจารย์เม้า ดูเหมือนจะเคยเป็นเจ้าอาวาส พ่อพาผมไปบ้านอาจารย์เม้าบ่อยๆ โดยมากเพื่อปฤกษาหรือพูดคุยกัน เช่นเวลาทหารกับชาวบ้านทะเลาะกัน พ่อก็ไปคุยกับอาจารย์เม้ากันไม่ให้เป็นเรื่องใหญ่โต อาจารย์มีลูกสาวคนหนึ่งอายุแก่กว่าผมปีสองปี ผมเลือกถามพระอายุมากหน่อยคนหนึ่ง (คิดว่าอายุน้อยคงไม่รู้จัก) ว่าเคยได้ยินชื่ออาจารย์เม้าไหม  โชคดีพระองค์นี้รู้จักอาจารย์เม้า บอกว่าเสียไปหลายปีแล้ว แต่ลูกสาวยังอยู่ บ้านอยู่หน้าวัดอีกฟากถนน แล้วชี้ตัวให้ดูว่านั่งอยู่หน้าร้าน ผมเลยเดินไปหา บอกว่าตอนสงครามบ้านผมอยู่ตรงนี้ เขามองหน้าผมแล้วเอ่ยชื่อเลย บอกว่ามีน้องสาวสองคนแฝด จำชื่อได้คนหนึ่งอีกคนทจำไม่ได้ เลยคุยกันอยู่พักหนึ่ง

.....

visitna

กำลังสนุก ครับอาจารย์

เรื่องสงครามรุ่นหลังคงจะไม่ทันได้รู้เห็น
เคยอ่านหนังสือเรื่อง"เล่าความหลังครั้งสงคราม"ของลุงโกวิท ตั้งตรงจิตต์
ท่านเล่าว่าระเบิดลูกแรกที่ทิ้งลง กทม.คือที่หัวลำโพงและสำเพ็ง เมื่อ 8 มกราคม 2485
ครั้งนั้นตายและเจ็บกันหลายคน

.....

เพ็ญชมพู

๑.

"อ้างจาก: ศานติ
เป็นเรือนไม้ ฝาไม้ไผ่ที่เอามาผ่าแล้วแบะออกมา (ไมทราบเขาเรียกอะไร) ผนังระหว่างห้องเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ ยกพื้นพอเดินลอดได้สบาย น่าอยู่ดีเหมือนกัน "


เขาเรียกว่า "ฟาก" คำเดียวกับที่อยู่ในคำว่า "ตกฟาก"

ฟาก ลำไม้ไผ่เป็นต้นที่ผ่าแล้วสับให้แตกออกเป็นอันเล็ก ๆ แต่ไม่ขาดจากกัน แล้วแบคว่ำออกเป็นแผ่น โดยมากใช้ปูเป็นพื้นเรือน เรียกว่า ฟากสับ, ส่วนที่ทำเป็นซี่แล้วใช้หวายหรือเถาวัลย์ถักให้ติดกันเป็นผืน เรียกว่าฟากซี่ หรือ ซี่ฟาก.

คำเดียวกับที่อยู่ในคำว่า "ตกฟาก"

ตกฟาก เกิด, เรียกเวลาที่เด็กออกพ้นครรภ์มารดาว่า เวลาตกฟาก (พื้นเรือนโบราณโดยมากเป็นฟาก); โดยปริยายใช้ในลักษณะที่พูดคํา เถียงคําไม่หยุดปากว่า เถียงคําไม่ตกฟาก.


๒.

"อ้างจาก: ศานติ
อีกทีได้ยินพ่อเล่าให้แม่ฟังว่า นั่งกินข้าวกลางวันที่สโมสรนายทหารที่สนามบิน มี พล.อ.โท มานพ สุริยะ นั่งอยู่ด้วย เป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นท่านเป็นนักบินลองเครื่อง เครื่องที่ซ่อมเสร็จ พล.อ.โท มานพ ก็มักจะเอาไปบิน คนบินก็ต้องไว้ใจคนซ่อม คนซ่อมก็ต้องไว้้ใจคนบิน ประกอบกับทั้งสองคนจบจากอเมริกาด้วยกัน (พล.อ.โท มานพ จบจาก West Point) ระหว่างทานอาหารมีนักบินญี่ปุ่นยศนาวาเอกเข้ามาหา (ใช้สโมสรร่วมกัน) บอก พล.อ.โท มานพ ว่าอยากชวนให้ไปดูอะไรหน่อย ไม่ทราบว่าท่านไม่ไว้ใจญี่ปุ่นหรือเห็นท่าทีไม่ค่อยดี เลยชวนพ่อไปด้วย ญี่ปุ่นพาขึ้นเครื่องบิน ดูเหมือนจะไปแถวโคกกระเทียม แล้วบินลงต่ำชี้ให้ดูลานหญ้ายาวๆท่าทางเป็น runway ถามสองคนว่านั่นอะไร ต่างก็ตีหน้าตาย พูดว่าท่าทางยังกับเป็นสนามบิน  สนามบินอะไร  ไม่ทราบแถวนี้ไม่น่าจะมีสนามบิน  ตกลงเป็นสนามบินที่เสรีไทยไปสร้างไว้ พ่อมาเล่าให้แม่ฟังบอกว่าใจไม่ดี คิดว่าจะโดนยิงทิ้งซะแล้ว "

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
พันตรี ควง เล่าว่า อย่างสนามบินลับของเราก็เหมือนกัน พวกญี่ปุ่นมาประท้วงตั้งแต่เช้า เอาแผนที่ออกมากางให้ดู แล้วชี้ว่านี่สนามบินลับอยู่ทางเหนือ ความจริงท่านก็ทราบว่าเป็นสนามบินลับที่พวกเสรีไทยเขาทำขึ้น แต่ท่านบอกว่าไม่จริงกระมัง เขาก็ยืนยันว่าจริงซี เขาถ่ายรูปมาด้วย ท่านก็ว่าถ้ายังงั้นพรุ่งนี้ตั้งกรรมการผสมไปตรวจ แล้วก็ตกลงตั้งกรรมการผสมไทยญี่ปุ่นขึ้น

แล้วท่านก็วิ่งไปบอกหลวงประดิษฐ์ ฯ ว่า นี่.....อาจารย์ ต้องรีบจัดการปลูกพืชอะไรไว้นะ พรุ่งนี้กรรมการผสมจะไปตรวจ ถ้าเขาจับได้ผมไม่รู้ด้วยนะ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ส่งวิทยุสั่งการให้ปลูกต้นกัญชา ต้นอะไร รดน้ำกันใหญ่ พวกกรรมการผสมไปดูก็เห็นมีพืชปลูกอยู่จริง ๆ เรื่องก็เลิกกันไป "


๓.

"อ้างจาก: ศานติ
พ่อกับผมนอนหงายดูเครื่องบิน เห็นเปิดประตูใต้ท้องปล่อยระเบิดลงมาชุดละ ๗ ลูก พ่อบอกว่า เราไม่เป็นไรหรอกเพราะปล่อยเหนือหัว จะไปแย่ที่คนอื่น วันนั้นสถานีรถไฟหัวรถโดนหนัก มีระเบิดเวลาดังอยู่ตลอดคืน "


อังศุมาลินกับแม่อรแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นเครื่องบินสามลำบินผ่านหัวไป  แม่อรพูดด้วยความกังวลว่า "ตรงนี้จะปลอดภัยแน่หรือลูก เครื่องบินอยู่บนหัวแบบนี้"  อังศุมาลินจึงอธิบายว่า "ถ้าเครื่องบินอยู่ตรงกลางหัวเราแบบนี้รับรองว่าเราไม่เป็นไรแน่ค่ะ หนูรู้มาว่าลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาจะวิ่งไปข้างหน้าเครื่องบินเสมอ"

จากบทละครเรื่องคู่กรรม เวอร์ชั่นที่กำลังฉายอยู่ที่ช่องห้า

......................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #8 on: 27 February 2022, 18:27:49 »
Reply with quote


ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ย้อนไปความคิดเห็นที่ ๙๔ หน้า ๗ บอกว่าจะเล่าเรื่องลุงต่อ

เมื่อยายผมตายที่ Budapest, Austria ระหว่างสงครามโลกที่หนึ่ง ทิ้งลูกสามคนอายุ ๑๕ ๑๖ กับ ๑๗ เป็นคนจรจัด ต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจเป็นระยะ  ป้ามีจดหมายไปหาตาผมที่ Alsace ประเทศฝรั่งเศส ตาส่งเงินค่ารถไฟมาให้ลูกสาวสองคนกลับไปแคว้น Alsace  ซึ่งตอนนั้นตกอยู่ในมือเยอรมันแล้ว สองคนเข้าเรียนมัธยมที่นั่น แต่เยอรมันเผาตำราภาษาฝรั่งเศสหมดแล้ว เลยต้องเรียนเป็นภาษาเยอรมัน  แต่ส่งเงินมาไม่พอให้ลุง (อายุ ๑๖) กลับไปด้วย ลุงบอกผมว่าไม่เข้าใจว่าทำไมส่งเงินมาไม่พอ ลงสัยพี่สาวไม่บอกพ่อว่าน้องชายอยู่ด้วย เพราะถ้าพ่อรู้ต้องส่งเงินมาแน่เพราะเป็นลูกคนโปรดของพ่อ ข้องใจเคืองพี่สาวอยู่จนตาย

ลุงต้องรับจ้างกวาดหิมะหาเลี้ยงชีวิตระหว่างหน้าหนาว จนกระทั่งไปได้ข่าวว่าถ้าอาสาสมัครกองทัพเยอรมัน เขาจะส่งกลับบ้านเกิดอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ก่อนต่องเข้าประจำการ ลุงเลยไปโกหกกับเขาว่าอายุ ๑๘ เขาก็ส่งกลับ Alsace แล้วแล้วเข้าประจำการเป็นพลทหารปืนใหญ่ที่ใช้ม้าลาก ไม่ทราบว่ารับราชการอยู่นานเท่าไหร่จนเยอรมันแพ้สงคราม ได้กลับมาฝรั่งเศส ลุงบ่นว่าโดนทั้งฝ่ายเยอรมันทั้งฝ่ายฝรั่งเศสเล่นงานจนหมดตัว มีแต่เสื้อกับกางเกงนุ่งกลับบ้าน ทางฝ่ายเยอรมันยึดกระเป๋าสตางค์ นาฬิกา ของมีค่าต่างๆไปหมด พอข้ามแม่น้ำไรน์เข้าฝรั่งเศส ทางฝ่ายฝรั่งเศสก็ดึงกระดุมโลหะออกจากเสื้อนอกทหารจนหมดแล้วไล่กลับบ้าน ไปถึงบ้านป้า ป้าเห็นหน้าก็ไล่ไปนอกบ้านให้ถอดเสื้อผ้าเผาหมด อาบน้ำกลางแจ้งก่อนแล้วถึงเข้าบ้านได้ เพราะกลัวหมัดติดมากับเสื้อผ้า ซึ่งสมัยนั้นเป็นกันแพร่หลายเวลาคนอยู่กันหนาแน่น

เมื่อกลับมาก็เริ่มทำงานกับญาติห่างๆซึ่งมีร้านทำขนมปัง แต่ทนเวลาไม่ได้เพราะต้องตื่นแต่ตีสองเพื่อทำขนมปัง เลยไปสมัครเป็นทหารเรือในกองทัพเรือฝรั่งเศส ดูท่าทีเข้ากับทหารเรือฝรั่งเศสไม่ได้เพราะอยู่อเมริกามา ๑๓ ปี ตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ คนพูดอังกฤษแบบอเมริกัน พูดฝรั่งเศสก็สำเนียงชาวสวน*** ซ้ำเคยเป็นทหารเยอรมันมาอีก ทหารเรือฝรั่งเศสเรียกลุงว่า อ้าย Yankee ลุงบอกผมว่าในที่สุดทั้งทางราชการทหารเรือกับตัวลุงเองมีความเห็นพ้องกันว่า แยกทางกันเดินดีกว่า เลยปลดหรือลาออกจากราชการ โล่งอกกันไปทั้งสองฝ่าย

ลุงไปเป็นกลาสีเรือพานิชย์ขนสินค้าอยู่ระหว่างเมืองมาร์เซย์กับแอฟริกาเหนือ กลับไปกลับมาหลายเที่ยว จนมีเที่ยวหนึ่งไปออสเตรเลีย พวกลูกเรือที่เคยไปออสเตรเลียคุยให้ลุงฟังว่าออสเตรเลียเป็น Land of Opportunity พอไปถึงเมือง Sydney เลยเผ่นเข้ากลีบเมฆ บริษัทเรือต้องเสียค่าปรับ ๘๐ ปอนด์เพราะลูกเรือหนี เลยมีสินบนนำจับ ๘๐ ปอนด์ บังเอิญลุงเห็นตัวเองว่าถนัดอังกฤษมากกว่าฝรั่งเศส เลยไม่ไปอยู่ย่านที่ชาวฝรั่งเศสเขาชุมนุมกัน กลับไปอยู่ย่านที่คนพูดภาษาอังกฤษเขาอยู่กัน คนตามหารู้ว่าสัณชาติฝรั่งเศสก็เลยตามหากันย่านนั้น ทำงานอยู่ในบาร์ข้างสถานีตำรวจอยู่หลายปี พอสงครามโลกที่สองเกิดขึ้นก็มานึกขึ้นได้ว่าถ้าโดนจับก็มีหวังโดนยิงเป้าหาว่าเป็นสายลับ เพราะเคยเป็นทหารเยอรมัน เข้าประเทศโดยลักลอบ  ลุงเลยไปสารภาพกับตำรวจว่าลักลอบเข้ามา  คนออสเตรเลียก็เป็นคน practical ดี เจ้าหน้าที่บอกลุงว่า ลักลอบอยู่ออสเตรเลียมา ๒๐ กว่าปีแต่ไม่มีประวัติเคยต้องโทษ ก็แสดงว่าเป็นคนมีความประพฤติพอใช้ได้ เกณฑ์เป็นทหารบกยศพลทหารจะเหมาะกว่า ฝึกเสร็จก็จะส่งไปรบญี่ปุ่นที่ New Guiney

ระหว่างขึ้นรถไฟข้ามคืนจาก Sydney ไป Brisbane เพื่อไปขึ้นเรือบันทุกทหารมีสาวจากรัฐ Queensland นั่งไปด้วยจนถึงเมืองที่สาวอยู่ ลุงนั่งต่อไปจนไปขึ้นเรือที่ Brisbane แล้วไปรบญี่ปุ่น พอสงครามสงบก็กลับมา Sydney  แต่อดคิดถึงสาวจาก Queensland ที่นั่งรถไฟไปด้วยกันหนึ่งวันหนึ่งคืนไม่ได้ เลยต้องติดต่อ โชคดียังเป็นโสด เลยแต่งงานด้วย มีลูกสาวหนึ่งคน น่าเสียใจที่ตอนลูกสาวอายุ ๗ - ๘ ขวบ แม่สิ้นชีวิต ทางรัฐบาลฝ่ายประชาสงเคราะห์มีความเห็นว่าชายโสดไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกสาวอายุขนาดนั้นได้ เลยพยายามจะพรากไป แต่ลุงสู้สุดฝีมือจนชะนะ เลี้ยงมาได้จนโต

ตอนภริยาผมมีลูกก้เขียนจดหมายไปบอกลุงกับป้า (ญาติผู้ใหญ่ที่สนิทที่สุด) เลยมีการติดต่อกับลุงทุกเดือน ลุงกับภริยาผมเลยชอบพอกัน คิดจะไปเยี่ยมที่ออสเตรเลียเพราะไม่เคยพบ แต่มานึกถึงค่าเครื่องบิน เลยตกลงว่าส่งตั๋วไปให้ลุงมาอเมริกาถูกกว่าผมสองคนไปออสเตรเลีย  ลุงซื้อตั๋ว AirFrance รอบโลก มาอยู่กับผมเดือนกว่า แล้วไป Alsace ผมก็ตามไปด้วย ไปเยี่ยมญาติที่ลุงไม่ได้เจอมา ๓๐ กว่าปี ไปเยี่ยมพี่สาวลุงที่เบลเยี่ยม (คนที่ลุงสงสัยว่าไม่บอกพ่อว่าเคว้งอยู่ Budapest) ขากลับจะผ่านสิงคโปร์ ผมถามลุงว่าถ้าเครื่องแวะที่กรุงเทพฯได้ก็สวย ไม่ทราบว่าไปรู้มายังไงว่าถ้าบิน PanAm ไปออสเตรเลีย จะต้องเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯกินเวลา ๘ ชม. ผมเลยพาลุงไปสำนักงาน AirFrance ถามเขาว่ามีทางเปลี่ยนสายการบินได้ไหม เขาใจดี บอกว่าได้ (สมัยนี้ไม่มีทาง) เขาสลักหลังตั๋วให้เอาไปเปลี่ยนเป็นตั๋ว PanAm ลุงบินไป Frankfurt แล้วจะขึ้นเครื่องไปกรุงเทพฯ บังเอิญเครื่องออกสาย ๔ ชม. เลยจะมีเวลาที่กทม.แค่ ๔ ชม. น้องสาวที่กรุงเทพฯไปหาที่ดอนเมือง ปรากฎว่าเขาเอาผู้โดยสารไปไว้ห้อง VIP ทั้งลำ น้องสาวก็เก่ง ไปหาหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของ ทอ. อธิบายให้เขาฟังว่าลุงอายุมากแล้ว ไม่ได้เจอกันมาสิบกว่าปีแล้ว อยู่ในห้อง VIP  ขออนุญาตเข้าไปพบเป็นพิเศษ เขาก็ใจดียอมให้เยี่ยมได้ น้องถามลุงว่าถ้าแวะ กทม.ได้ อยากแวะไหม ลุงบอกว่าดี น้องเลยไปเคาวนเตอร์ PanAm ไปขอเขาว่าอยากให้ลุงแวะ กทม. (ทั้งๆที่ตั๋วแวะที่ไหนไม่ได้แล้ว) เขาบอกว่าได้ (ไม่รู้ว่าทำไมเส้นใหญ่นัก อาจเป็นเพราะเคยบิน PanAm อยู่หลายปี) นอกจากนั้นแล้วเขายังไปดึงกระเป๋าเดินทางของลุกออกจากเครื่องด้วย ลุงเลยได้เที่ยวกรุงเทพฯ อีกอาทิตย์หนึ่ง

*** ขยายความเรื่องภาษาหน่อย  ไม่ทราบว่าผมเข้าใจผิดหรือเปล่า แต่ที่ดูจากแม่กับจากคนอื่น ถ้าพูดภาษาฝรั่งเศสแล้วไม่ใช่สำเนียงคนปารีส คนพูดจะถ่อมตัวหรือมีปมด้อย ทุกครั้งที่มีฝรั่งถามแม่ เช่น "So you must speak French?" แม่จะตอบ "Yes, but it's peasant French."  ถ้าพูดไทยคงว่า ใช่ แต่ภาษาฝรั่งเศสแบบชาวชนบท

ตอนแม่มาอยู่ใหม่ๆทางสถานทูตฝรั่งเศสก็คงรู้จักเพราะคนในสังกัดน้อย แต่แล้วแม่ก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับทางสถานทูตอีกเลย เพื่อนๆที่เป็นคนต่างชาติก็มักจะเป็นคนไทยกับอเมริกันบ้าง ยิ่งระยะหลังสงครามยิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอีกเลย ตอนผมจะมีโอกาสไปยุโรปเมื่ออายุ ๑๗ แม่พาไปสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อขอวีซ่า ระหว่างนั่งรอ เห็นมีเจ้าพนักงานหลังเคาว์นเตอร์ที่เป็นคนเอเซีย อาจเขมร แต่ไม่ใช่คนไทย พูดฝรั่งเศสคล่อง ผมเลยถามแม่ว่า ภาษาฝรั่งเศสเขาดีแค่ไหน แม่ทำนิ้วหัวแม่มือจดนิ้วชี้เป็นวงกลม แล้วบอกว่า หาที่ติไม่ได้ เขาสำเนียงชาวปารีส  (It's perfect.  It's Parisienne French) ถามแม่ว่า แล้วจะพูดภาษาฝรั่งเศสกับเขาไหม เพราะอยากจะเอาแม่ไปอวดว่าพูดได้เหมือนกัน แม่บอกว่า ยังไม่แน่ พอถึงเวลาพูดจริงๆ กลับพูดภาษาอังกฤษ  เลยอดเอาแม่ไปอวด แม่คงกระดากที่เขาพูดแบบชาวปารีส  คิดดูผมว่าคนไทยไม่เป็นแบบนั้น ไม่ว่าสำเนียง คนเหนือ คนใต้ หรือ อิสาน ก็ไม่เห็นมีใครออกตัวว่าพูดไม่เหมือนชาวกรุง

.....

เทาชมพู

อ่านแล้วรู้สึกว่าคุณลุงน่าจะรบเก่ง หรือไม่ก็ดวงดีมาก  แคล้วคลาดจากสมรภูมิสงครามมาได้ทั้งๆอายุยังน้อยมาก  ดูจะไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลยนะคะ

เรื่องสำเนียงฝรั่งเศส  อาจจะเป็นเรื่องถือกันในบรรดาชาวฝรั่งเศสละมังคะ  จำได้ว่าตอนเรียนที่อักษรฯ ดร.จิตเกษม สีบุญเรืองกลับมาจากฝรั่งเศสหลังจากไปประจำอยู่หลายปี     ท่านกวดขันนิสิตไม่ให้เผลอออกเสียง an ว่า อัง  ต้องเป็น ออง  อย่าง dans ออกเสียงว่า ดอง ไม่ใช่ ดัง    ถ้าออกเสียงว่า ดัง ละก็เป็นสำเนียงหัวเมือง   ก่อนจะรู้จากอาจารย์ นิสิตก็เผลอ "ดัง" กันไปพักใหญ่แล้ว

.....

ศานติ
อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้

ลองแนบเอกสารเก่าๆมา คิดว่าคงมีคนเคยเห็นกันน้อย

ตอนพ่อผมเสีย ผมไปกองทัพอากาศที่ดอนเมืองเพื่อติดต่อเรื่องเบี้ยบำนาญ ฯลฯ เจ้าหน้าที่เขาถามว่ามีใบสมรสเป็นหลักฐานว่าแม่เป็นภริยาจริงหรือไม่ ผมไม่เคยเห็น เลยกลับไปถามแม่ บอกว่ามีแล้วไปค้นมาให้ ผมเห็นแล้วอดทึ่งไม่ได้ นั่งอ่านดูแล้ววันที่มานั่งคิด ประการแรก ผมเกิด มกราคม ๒๔๗๗ แต่ใบสำคัญลงวันที่ เดือนสิงหาคม ๒๔๗๗  แต่แล้วมานึกได้ว่าสมัยนั้นปีใหม่เริ่ม ๑ เมษายน ดังนั้นมกราคมก็หลังสิงหาคม แล้วมานั่งนับนิ้วต่อ เอ๋ะเรานี่คลอดก่อนกำหนด (premature) หลายเดือน ไปถามแม่ พูดจาอ้อมแอ้มถามแม่ว่าวันที่มันยังไงอยู่ ผิดหรือเปล่า แม่หัวเราะที่ผมเกรงใจไม่กล้าถาม บอกว่าสมัยนั้นการจดทะเบียนสมรสยังไม่แพร่หลาย อยู่ด้วยกันก็เป็นสามีภริยากัน

แม่เล่าให้ฟังว่า พ่อกับแม่นั่งดูหนังอยู่กับอาว์เพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์ กับ อาว์จำรัส ฉายะพงษ์ ที่โรงหนังเฉลิมกรุง แม่ก็บอกข่าวดีให้ทั้งสองคนรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็คงจะมีการแสดงความยินดีกัน แล้วหันกลับมาคิดเรื่องปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าไทยกับฝรั่งเศสมีเรื่องกันขึ้นมา แล้วแม่แต่งกับคนไทย ถูกต้องทางกฎหมายไทย แต่ทางฝรั่งเศสไม่ยอมรู้เห็นด้วย กลัวจะยุ่งยากทีหลัง ยิ่งคิดถึงฐานะของเด็กด้วยยิ่งยุ่ง เลยตกลงกันว่าเพื่อความแน่นอนต้องทำให้ถูกต้องกับกฎหมายของทั้งสองประเทศ  ตกลงเลยไปที่กรมพระนครบาล กระทรวงมหาดไทย เพื่อจดทะเบียนต่อหน้าผู้แทนทั้งสองรัฐบาล

ดูจากเอกสารแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ทำไว้เฉพาะจดทะเบียนสมรส แต่ใช้ทำสัญญาต่างๆได้ ผมลองถ่ายรูปส่งมาให้ดูเล่น ไม่ทราบว่าจะดีพออ่านได้หรือเปล่า  ที่อยู่ของคู่สัญญากับพยานก็สั้นดี ไม่ต้องมีซอย ไม่ต้องมีเลขบ้านที่มี / ที่ตัวเลข ไม่มีระหัสไปรษณีย์  แม่บอกว่าสมัยนั้นเคยมีเพื่อนส่งจดหมายมาโดยจ่าหน้าซองใช้ชื่อแรกแม่ นามสกุลก่อนแต่งงาน กับคำว่า Wichian พ่วงหลัง แล้ว Bangkok, Siam ก็มาถึง






มีอีกสองหน้า





.....

ประกอบ

ก่อนหน้านี้จินตนาการว่าท่านอาจารย์หมอศานติน่าจะอายุซัก  60 ปลายๆ  พออ่านเรื่องเล่าคุณพ่อคุณแม่ท่านผมเลยปรับมาว่าน่าจะ 70 ต้นๆ ที่แท้จะ 80 แล้วแต่ยังใช้อินเตอร์เน็ตคล่อง ทึ่งจริงๆ  กับซายานวรัตนนี่คิดไม่ออกเลยท่านไหนอาวุโสกว่ากัน 

.....

NAVARAT.C

ซายานวรัตนเด็กกว่าครับ แต่อาว์เพิ่ม ลิมปิสวัสดิ์ของท่านเป็นบิดาของเพื่อนผม ดูเหมือนจะเป็นบุตรคนสุดท้องชื่อว่าสีหนาท ลิมปิสวัสดิ์
พล.อ.ท. มานพ สุริยะ นักบินเจ๊ทรุ่นแรกของไทยที่ท่านเล่าในกระทู้โน้น ก็เป็นบิดาของเพื่อนชื่อ ร.ศ.นพนิตย์ สุริยะ

อ่านที่ท่านเล่าแล้ว รู้สึกว่าสังคมไทยสมัยก่อนเล็กๆดี รู้จักกันเกือบหมด

.....

ประกอบ

ผมแกล้งแซวนิดเดียว ท่านซายานวรัตนรีบเข้ามาแก้ข่าวเลย ผมจำได้ครับ แห่ะๆ ท่านนวรัตนเข้าไปเป็นลูกศิษย์คุณพ่อฮีแลร์ช่วงก่อนกึ่งพุทธกาลเล็กน้อย ดังนั้นต้องเด็กกว่าแน่ๆ 

.....

SRISOLIAN

ผมดีใจมากที่กระทู้นี้ได้ต่อยอดขยายมาเป็นกว่า 150 ตอน พอดีได้มีโอกาสไปอ่านประวัติของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา สมัยเขียนเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กลงสตรีสาร ผู้สัมภาษณ์คือคุณธิดา มหาเปารยะ (ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่า) เลยทำให้รู้ว่าคุณทิพย์วาณีเคยเป็นโปลิโอ แต่ได้น้ำมันสมุนไพรของมารดานวดทำให้อาการทุเลา และเธอยังมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ และช่วงเวลาที่นอนไม่หลับนี้เองได้กลายมาเป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าอย่างเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก และยังมีเรื่องสั้นชุดฝันดี และ กระเช้า อีกด้วย และอย่างที่เธอว่าไว้คุณตาคุณยายยังเด็กเหล่านี้มาจากบุคคลรอบข้างซึ่งเป็นญาติของเธอ (ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในหนังสือสตรีสารเมื่อประมาณปี 2525) ส่วนท่านใดยังคงคิดถึงเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กที่แทรกอยู่ในสตรีสารแล้ว สามารถไปอ่านได้ที่ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บก.สตรีสารได้บริจาคไว้แก่ห้องสมุดคณะอักษรฯ หนังสือชุดนี้ทรงคุณค่ามากและที่นี่มีตั้งแต่ฉบับแรก ซึ่งอยู่ในประมาณปีพ.ศ.2490 โดยประมาณ ส่วนสตรีสารภาคพิเศษน่าจะมีมาในตอนหลังราวปีพ.ศ. 2524 

.......................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #9 on: 27 February 2022, 18:30:14 »
Reply with quote


เทาชมพู

ยังคิดถึงเรื่องนี้ค่ะ   ไปงานมหกรรมหนังสือ  เห็นพิมพ์ปกใหม่วางขายอยู่    ก็ดีใจว่ายังมีคนสนใจอ่านอยู่เรื่อยๆ
ไปเจอตอนนี้ในอินทรเนตร

                                                                   เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก
                                                                        ไปช่วยงานศพ     
       เมื่อเด็ก ๆ  คุณยายและพี่สาวลูกคุณป้าคนหนึ่ง  เป็นเด็กที่กลัวผีอย่างยอดเยี่ยม   ขึ้นชื่อว่าคนตายแล้วต้องเป็นผีก็ต้องกลัวไว้ก่อน  กลัวทั้งกลางวันและกลางคืน  แต่กลางคืนนั้นกลัวมากกว่า  เพราะความขี้กลัวนี้จึงถูกพวกเด็กผู้ชายโต ๆ แกล้งหลอกต่าง ๆ ให้ตกใจกลัวมากขึ้น  จนเป็นไข้เพราะความกลัวไปหลายครั้ง

      ใกล้บ้านมีการตายก็ต้องมีงานศพ  เอาศพตั้งไว้ที่บ้าน  กลางคืนก็มีสวดศพบ้านอยู่ห่างกันตั้งไกล  สองคนนี้ก็กลัวแล้ว  พอได้ยินเสียงพระสวดรีบมุดเข้ามุ้ง คลุมโปง  พยายามหลับเท่าไร ๆ ก็นอนไม่หลับ  นอนเปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางไปเท่าไรก็นอนไม่หลับ  บางครั้งอากาศร้อนมาก  โผล่ออกมาจากโปงก็ไม่ได้  เพราะกลัวจะเห็นผีหรือผีจะมาเห็นเข้า  ต้องทนร้อนอยู่ในโปง  กลางคืนเดินผ่านวัดก็ไม่ได้ต้องข้ามฟากไปอีกผั่งหนึ่งเพื่อไม่ให้ผ่านวัด  ทั้งที่วัดนั้นไม่มีการทำศพแต่ขึ้นชื่อว่าวัดแล้วต้องมีผี  ต้องรีบหลับตาเดินและจับมือผู้ใหญ่ให้แน่นจนกว่าจะพ้นวัดไป   แต่เมื่อคุณยายมีความจำเป็นต้องไปงานศพก็ไปได้  เพราะที่บ้านงานไฟสว่างและมีแขกขวักไขว่ทำให้ไม่กลัว  และพยายามหาที่นั่งสว่าง ๆ คนมาก ๆ

     งานศพนี้เจ้าภาพนิยมจัดแจกันด้วยดอกซ่อนกลิ่นที่ส่งกลิ่นหอม  พวงหรีดที่วางหน้าศพก็เป็นพวงหรีดที่จัดทำกันเอง      ตามแต่จะมีดอกอะไรในบ้าน  ผู้เป็นช่างมีฝีมือก็ทำกันได้สวย ๆ ตามความคิด  โดยมากใช้ใบปรง ๒ ใบขดเป็นรูปพวงหรีดเป็นโครง  และใช้หยวกกล้วยเป็นหลักในการจัดปักดอกไม้ตกแต่งหน้าศพ  เพราะไม่มีร้านขายหรือรับทำพวงหรีดหรืดอกไม้  พวงมาลัยต่าง ๆก็ร้อยกันมาเอง

      การแต่งตัวในงานศพนั้น  ถ้าตายใหม่ ๆ ยังอยู่ในทุกข์หนัก  ก็จะแต่งขาวกันผ้านุ่งที่ทำจากผ้าขาวออกจากพับใหม่ ๆ มักจะมีแป้งแข็ง  เดินดังสวบสาบ สวบสาบ  บางคนตัดเสื้อใหม่เอี่ยมด้วยความรีบร้อนจนลืมพับริมเสื้อหรือเลาะด้ายเนาก็มี  ต่อเมื่อตายหลาย ๆ วันแล้ว เช่น  ทำบุญ ๕๐ วัน  จึงเปลี่ยนมาแต่งสีดำแทน
    งานศพนี้เจ้าภาพออกจะเหนื่อยมาก  เพราะต้องทำอาหารเลี้ยงทั้งแขกและพระที่มาสวดและมางานศพ  โดยไม่ให้ขาดทั้งคาวและหวาน   น้ำร้อนน้ำเย็น  โดยมากใช้น้ำชาและยาอุทัย  ต้องทำทั้งมื้อกลางวันและเย็นด้วยบางทีแขกอยู่ดึกก็ต้องมีอาหารว่างอีกมื้อ  คุณปู่ของคุณยายมักจะบ่นว่า
     "คนไทยนั้นชอบละลายเงินในงานศพกันมาก    ต้องทำอาหารเลี้ยงแขกเพียง ๓๐แต่แม่ครัวถึง ๕๐"

     ในครัวจึงแน่นไม่มีทางเดินเลย  ระบายออกมาทำกันที่ทางเดินบ้าง  ระเบียงครัวบ้าง

    คุณยายคิดว่าเป็นความจริงที่คุณปู่พูดอย่างนั้น  เพราะคุณแม่ของคุณยายเวลาจะมางานศพนี้ก็เตรียมเอามีดพับ  มีดคว้านใส่กระเป๋ามาด้วย  เพื่อจะมาช่วยคว้านเงาะ  ปอกผักผลไม้ด้วย  เด็กผู้หญิงก็ต้องมาช่วยกันเด็ดถั่วงอก  ซอยหัวหอมหรืออย่างน้อยคุณยายพอจะช่วยปอกกระเทียมได้  ส่วนเด็กผู้ชายนั้นมีหน้าที่วิ่งเล่นและกินอย่างเดียว  ซึ่งคุณยายคิดเสมอว่าไม่ยุติธรรมเลย

      เมื่อตั้งศพไว้นานถึง ๑๐๐ วัน  ก็จะมีการนำไปเผาที่วัด  ก่อนนำไปเผาก็มีการตั้งสวดกันที่บ้านก็ต้องมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูง  เพื่อนบ้านไปตระเตรียมทำดอกไม้จัดแต่งสถานที่กันที่วัดอีกด้วย    พวกผู้หญิงที่มีฝีมือทางดอกไม้ก็ทำดอกไม้สด  ถ้าจะทำกันล่วงหน้ามักใช้ดอกบานไม่รู้โรยเพราะทนดี  ทำกันล่วงหน้าไม่ต้องกลัวเหี่ยว
 
      สมัยนั้นนิยมทำตาข่ายดอกพุดคลุมหีบศพกันที่เชิงตะกอนบนเมรุก็ทำตาข่ายเป็นม่าน  มีอุบะดอกจำปาสีเหลืองสวยงามหอมด้วยบางทีก็ "เย็บแบบ" ด้วยดอกบานบุรีสีเหลืองสด  บางคนที่มีฝีมือก็เย็บแบบหรือจัดดอกไม้เป็นปีเกิดของผู้ตายอีกด้วย  ถ้ามีช่างมากงานศพก็สวยหรู  แต่มันสิ้นเปลืองดอกไม้มากมายและมีเศษดอกไม้  ใบไม้  ใบตอง  หยวกกล้วยอีกกองโต  ดอกไม้บางดอกยังดี ๆ อยู่  คุณยายหยิบเอามาเล่น  พวกผู้ใหญ่เห็นเข้าก็จะดุว่า
      "อย่าเอาดอกไม้งานศพไปเล่น  หรือเอาไปบ้านเลยเป็นอันขาด  ไม่เป็นมงคล  ต้องทิ้งไว้ที่วัดนี่"

      คุณยายจำต้องทิ้งดอกไม้ด้วยความเสียดาย   พี่สาวของคุณยายชอบดอกลั่นทมและดอกซ่อนกลิ่น  เพราะเห็นว่าขาวสวยและหอมดีจึงเอามาปักแจกัน  ก็ถูกผู้ใหญ่ห้ามอีกว่า
     "ดอกลั่นทมและดอกซ่อนกลิ่นเป็นดอกไม้สำหรับงานศพ  จะเอามาใช้ปักแจกันตกแต่งในบ้านไม่ได้"

     คุณยายสงสัยจึงไปถามคุณป้าว่าทำไมจึงห้ามใช้ดอกไม้หอมและสวยอย่างนี้  คุณป้าอธิบายว่า
     "ดอกซ่อนกลิ่นและดอกลั่นทมกลิ่นหอมแรง  กลบกลิ่นศพได้ดี  จึงนิยมใช้ดอกไม้นี้ดับกลิ่น"     


      เมื่อถึงเวลาเผาศพ  ก็จะมีพิณพาทย์มอญบรรเลง  ปี่มอญนั้นเสียงเศร้าทำให้คุณยายใจหาย
      ครั้งหนึ่งคุณยายได้มีโอกาสไปงานพระศพเจ้านาย  มีกองเกียรติยศที่สำนักพระราชวังจัดพระราชทานมา  มีพวก "เปิงพรวด"  แต่งกายสีแดง  สวมหมวกทรงประพาสสีแดง  เป่าแตรงอนแตรฝรั่งและตีกลอง  จะมีหัวหน้าตีให้จังหวะ "ตุ๊ม ตุ๊ม ตุ๊ม"  แล้วก็ตีพร้อมกันดัง "พรวด"นี่เองคุณยายคิดว่าจึงชื่อว่า "เปิงพรวด"  แต่ที่สำคัญคือคนเป่าปี่  เขาจะเป่าปี่เพลง "พระยาโศก"จนแก้มโป่ง  เสียงปี่ทำให้คุณยายใจหายจนน้ำตาไหล  เพราะมันเศร้าใจมาก  มีผุ้หญิงแก่ ๆหลายคนได้ยินเสียงปี่แล้วตาแดงจนน้ำตาไหล  คนเป่าก็เป่าไป  มีเปิงพรวดรับเป็นจังหวะเพลงพระยาโศกและเพลงธรณีกรรแสงเป็นเพลงใช้ในงานศพ  มันเรียกน้ำตาคนใจอ่อน ๆ อย่างคุณยายได้มาก

       ในวันเผาศพนี้  เราก็แต่งสีขาวกันอีกทั่วทุกคน  เพราะถือว่าเป็นวันทุกข์หนัก  แขกทุกคนนำดอกไม้จันทน์  ธูป  เทียน มาเอง  บางคนที่มาไม่ได้ก็ฝากคนอื่นมา  ถือว่าเป็นการอโหสิกรรมครั้งสุดท้าย  ส่วนเด็ก ๆ นั้นไม่รู้เรื่องการอโหสิกรรม  เขาบอกให้ใส่ดอกไม้จันทน์  ธูป  เทียนก็ใส่ลงไปโดยไม่รู้เรื่อง  รู้แต่เพียงว่ามาเผาศพเท่านั้น  คุณยายเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันเผาหลอกมีแขกเหรื่อมากมายตอนเย็น  เผาจริง ๆ เอาตอนสองยาม  มีแต่ญาติที่สนิทจริง ๆ

       เด็ก ๆ กลับบ้านนอนหมด  แต่คุณยายและพี่สาวนั้นกลัวผีมาก  ได้รับคำสั่งให้ล้างหน้าหลาย ๆ ครั้งจะได้ไม่มีภาพศพหรือคนตายติดตา  จะได้นอนหลับ  แต่มันก็ยังติดตาและไม่หายกลัว  ที่หลับได้เพราะง่วงมากต่างหาก

.....

mutita

ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากๆค่ะ อ่านแล้วเข้าใจความรู้สึกเลยเพราะตัวเองเป็นคนที่กลัวผีมากๆ ข้างบ้านเคยจัดงานศพ ถึงแม้จะเป็นการจัดแบบจีน ที่ไม่น่ากลัวมาก

เท่ากับงานศพของไทย(ในความคิดของตัวเอง) ก็ยังกลัวจนไม่กล้าลุกไปห้องน้ำ จินตนาการไปใหญ่โต ยิ่งป่าช้าแล้วด้วยให้ผ่านตอนเย็นๆยังสยองเลยค่ะ

.....

SRISOLIAN

มาขอบคุณ คุณเทาชมพู ที่กรุณาพิมพ์ตอนต่างๆ เพิ่มเติม ผมอ่านก็ทีก็สนุกได้เกร็ดความรู้ในสมัยอดีต เพราะจะหาเรื่องสั้นที่เป็นเกร็ดความรู้ อ่านง่าย นึกภาพตามง่าย ถ้าเป็นไปได้ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาอยู่หรือเปล่านะครับ

.....

เทาชมพู

ไปเจอตอนที่หายาก คือ "หัวอีตู้" แล้วค่ะ   แต่ว่าเจ้าของหนังสือคือคุณดาบสุริยา สแกนมาลงทั้งหน้า ไม่ได้พิมพ์ เลยต้องขยายภาพมาให้อ่านกัน พิมพ์ไม่ไหว
ไม่ทราบว่าชัดพอจะอ่านได้หรือเปล่า  ใครอ่านไม่ออก  ช่วยเข้ามาบอกด้วยค่ะ



.....

mutita

มัวมากเลยค่ะคุณเทาชมพู เดี๋ยววิ่งไปหาแว่นสายตาก่อนนะคะ

.....

sirinawadee

แกะออกมาได้ดังนี้ค่ะ

คุณพ่อของคุณยายเคยพาไปหาหมอญี่ปุ่น ระหว่างที่นั่งรอหมออยู่ คุณยายกวาดตามองไปทั่ว ๆ ร้านของหมอ มีขวดยาตั้งเป็นแถว ๆ มีเครื่องมือหมอ มีขวดแก้วใหญ่ ๆ ใส่น้ำสีต่าง ๆ ไว้ล่อเด็ก แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในร้านก็คือ หัวกะโหลกผีที่อยู่ในตู้ ซึ่งคุณยายกลัวมาก แต่ก็อดชำเลืองดูไม่ได้ ทุกครั้งที่คุณยายมาหาหมอร้านนี้ จะพยายามไม่มองหัวกะโหลกนี้ แต่ก็ต้องแอบชำเลืองดูด้วยความกลัวทุกที เวลากลางวันคุณยายไม่กลัวผี แต่เวลากลางคืนอดกลัวไม่ได้ถ้านึกถึงหัวกะโหลกหัวนี้ขึ้นมา

คุณยายได้รู้เรื่องหัวกะโหลกนี้จากน้าห่าง ๆ ของคุณยายว่า เป็นหัวของอีตู้ นักโทษประหารเมืองแพร่ ในสมัยนั้นนักโทษชาย มีคำนำเรียกหน้าว่า “อ้าย” ถ้าหญิงเรียก “อี” อีตู้เป็นนักโทษที่เหี้ยมโหดฆ่าผัวตาย ธรรมดาต้องถูกตัดสินตัดหัวให้ตายตกไปตามกัน แต่เป็นผู้หญิง จึงแค่ให้ขังคุกไว้ตลอดชีวิต

ไม่ได้เข้ามาเสียนาน มัวไปสู้น้ำท่วมอยู่ค่ะ กราบสวัสดีอาจารย์และส่งใบลาค่ะ

.....

เทาชมพู

ตอนนี้รอดน้ำท่วมแล้วใช่ไหมคะ   ดีใจที่มีเวลาแวะมาอีกค่ะ
ดื่มน้ำตะไคร้ให้ชุ่มคอก่อนนะคะ
ถ้าท่านอื่นอ่านออก ก็ช่วยกันอ่านหน่อยนะคะ  สงสารคุณสิริณาวดี




หน้าจบ



.....

sirinawadee

หน้า 41

สมัยนั้นเมืองแพร่เป็นเมืองขึ้นของไทย รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งข้าราชการไทยออกไปปกครองเมือง มีพระยาไชยบูรณ์เป็นเจ้าเมือง ภรรยาเจ้าเมืองชื่อคุณหญิงเยื้อน พวกเงี้ยวได้ก่อการกบฏขึ้น เข้ายึดที่ทำการรัฐบาลไว้ทั้งหมด ตัดสายโทรเลขเพื่อไม่ให้ติดต่อส่งข่าวขอความช่วยเหลือ และจับพระยาไชยบูรณ์เอาไว้เป็นตัวประกัน และยังบังคับให้ทำตามคำสั่งของพวกมันอีกด้วย พระยาไชยบูรณ์ยอมตาย ไม่ยอมทรยศต่อรัฐบาลไทย จึงถูกฆ่าตายอย่างทารุณ ส่วนคุณหญิงเยื้อนนั้นหนีไปได้ คุณหญิงออกเดินทางเฉพาะกลางคืน หนีไปถึงเมืองอื่น ไปขอความช่วยเหลือและส่ง

ปกติไม่ได้มีโอกาสทำอะไรให้เรือนไทยเลย หนนี้ยินดีมากค่ะ

.....

sirinawadee

หน้า 42
โทรเลขไปขอกำลังทหารจากกรุงเทพฯ
ครั้นพวกเงี้ยวยึดสถานที่สำคัญๆ ได้หมด ก็เปิดคุกปล่อยนักโทษออกมาหมด อีตู้ก็ออกจากคุกด้วย ถือมีดเล่มใหญ่วิ่งไปที่บ้านนายอำเภอ แต่นายอำเภอหนีไปได้ จึงพบแต่เมียอุ้มลูกอยู่ อีตู้ไว้ชีวิตเมียนายอำเภอ เพราะเป็นคนเมืองแพร่ด้วยกัน แต่แย่งเอาลูกมาฟันขาดสองท่อน เพราะมีพ่อเป็นคนไทย อีตู้พบลูกเมียข้าราชการไทยจับฆ่าตายหมด ไว้ชีวิตเฉพาะคนเมืองแพร่ด้วนกันเท่านั้น อีตู้บ้าเลือดมาก ฆ่าทั้งลูกเล็กเด็กแดง อีตู้เกลียดคนไทยมาก

ขณะนั้นการเดินทางไปมายังลำบากมาก รถไฟก็ยังไม่มี กองทัพที่ส่งไปมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพคุมมาเอง ท่านเป็นคนเข้มแข็งมากและเด็ดขาดด้วย เคยปราบกบฏฮ่อสำเร็จมาแล้ว ต้องเดินทางด้วยเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงนครสวรรค์ แล้วเดินด้วยเท้าต่อไปจนถึงเมืองแพร่ ซึ่งกินเวลานานมากกว่าจะถึง

เมื่อมาถึงก็จัดการปราบปรามพวกกบฏเงี้ยบจนราบคาบ มีการไต่สวนและตัดสินตัวการกบฏและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือการกบฏครั้งนี้ พวกที่ร่วมมือกับกบฏถูกตัดสินประหารชีวิตมากมาย รวมทั้งอีตู้ด้วยเพราะอีตู้ทารุณโหดร้ายมาก เมื่ออีตู้ถูกประหาร หมอญี่ปุ่นที่เป็นหมอประจำกองทัพ ก็ได้ขอหัวอีตู้ต่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพื่อเอาไปผ่าดูว่าในสมองมีอะไร จึงได้มีความเหี้ยมโหดผิดมนุษย์อย่างนี้

คุณยายรู้ว่าอีตู้ตายที่เมืองแพร่ ก็คลายความกลัวลงไปมาก เพราะหมอญี่ปุ่นยังไม่กลัวเลยและอยู่กับหัวอีตู้ได้ตลอดวันตลอดคืน

โหดจริงแม่คุุณ..

.....

mutita

ขอบคุณคุณเทาชมพู และคุณ sirinawadee มากๆค่ะ

.....

เทาชมพู

ขอบคุณคุณ sirinawadee มากๆๆค่ะ

.....

เทาชมพู

ส่องอินทรเนตรไปหาเจออีกเรื่องหนึ่ง  ชื่อว่า "แม่ศรีเรือน" แต่ว่า copy เฉพาะตัวหนังสือมาไม่ได้   ต้องตัดแปะเอาค่ะ
เป็นตอนที่ดิฉันชอบมาก คุณทิพย์วาณีบรรยายถึงลักษณะของผู้หญิงยุคเก่าได้เห็นภาพชัดเจนดี













.....

hobo

คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา วัดชนะสงคราม ที่ถ้ำพระป่าเลไลยก์ หลังพระอุโบสถครับ
ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=438074132907633&set=t.100003581922396&type=3&theater



.....

เทาชมพู

ขอบคุณมากค่ะ  รูปคุณทิพย์วาณีหายากจริงๆ

......................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #10 on: 27 February 2022, 18:32:11 »
Reply with quote


daylife

สวัสดีครับ
ผมเป็นแอดมินเพจชื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ครับ

เนื่องจากพวกผมได้ทำบทความเกี่ยวกับคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ พร้อมกับนำเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอนแรกกับตอนสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารมานำเสนอ ก็เลยอยากขออนุญาตนำมาประชาสัมพันธ์ในเว็บบอร์ดเรือนไทยครับ

https://www.facebook.com/THENORMALHERO/posts/1967085646711350









ต้องขออภัยด้วยนะครับ หากเราขุดกระทู้ที่เก่ามากขึ้นมา แต่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ
ขอบคุณครับมากครับ

.....

เทาชมพู

ยินดีค่ะ ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีก
หาอ่านตอนแรกกับตอนสุดท้ายได้ที่ไหนคะ  ดิฉันหาไม่เจอ
อยากนำมาลงในกระทู้นี้ ไว้สำหรับผู้สนใจได้หาอ่านได้ต่อไป

.....

daylife

เรียนอาจารย์ครับ

เนื้อหาทั้งสองตอนอยู่ในภาพประกอบ 2 รูปหลังครับ

สำหรับบทความ ผมขออนุญาตแปะลิงก์ประกอบแทนการคัดลอกเรื่องมาลง เนื่องจากได้ขออนุญาตครอบครัวของคุณทิพย์วาณี เพื่อนำมาใช้เผยแพร่ผ่านทาง Facebook อย่างเดียว ต้องขออภัยด้วยนะครับ

ตอนแรก : เผาศพ
https://www.facebook.com/THENORMALHERO/photos/pcb.1967085646711350/1967083046711610

ตอนสุดท้าย : ผมเปีย
https://www.facebook.com/THENORMALHERO/photos/pcb.1967085646711350/1967083026711612

.....

เทาชมพู

ขอบคุณค่ะ  ได้อ่านตามลิ้งค์แล้ว
คิดถึงเจ้าของเรื่องมากค่ะ     ได้อ่านของเธอเป็นประโยชน์แก่การค้นคว้ามายาวนานหลายปี

.....

ประกอบ

"อ้างจาก: daylife
สวัสดีครับ
ผมเป็นแอดมินเพจชื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ครับ

เนื่องจากพวกผมได้ทำบทความเกี่ยวกับคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ พร้อมกับนำเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ตอนแรกกับตอนสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารมานำเสนอ ก็เลยอยากขออนุญาตนำมาประชาสัมพันธ์ในเว็บบอร์ดเรือนไทยครับ

https://www.facebook.com/THENORMALHERO/posts/1967085646711350

ต้องขออภัยด้วยนะครับ หากเราขุดกระทู้ที่เก่ามากขึ้นมา แต่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ
ขอบคุณครับมากครับ "


เข้าไปอ่านในเพจแล้ว ทีแรกจะกด Like แต่เปลี่ยนใจ เพราะผมหงุดหงิดกับวิธีการเรียกชื่อคนในเพจครับ  คือไม่ทราบเอาธรรมเนียมไหนมาที่ใช้การเรียกชื่อบุคคลต่าง ๆ ด้วยชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าเช่นคุณเลย อ่านแล้วทำให้มันสะดุด รู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้ให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงมากพอ

อย่างคุณทิพย์วาณี ก็น่าจะเรียกคุณทิพย์วาณีแบบในกระทู้นี่ แต่ในเพจเรียกทิพย์วาณีห้วน ๆ  หรือท่านอื่น ๆ ก็เรียกชื่อห้วน ๆ ทั้งนั้น ซึ่งถ้าคุณคิดว่านี่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวในการเขียน ที่จริงมีการให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงอยู่แล้ว ผมคิดว่าควรเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว จึงขอแนะนำมาเพื่อให้มีการปรับปรุงครับ

.....

เทาชมพู

ปลายแส้ของคุณประกอบน่าจะตวัดมาถึงแถวนี้ด้วย   ทำเอาสะดุ้งว่าตัวเองเผลอเอ่ยถึงหลายๆท่านโดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้าบ้างรึเปล่า  เชื่อว่าคงมีบ้าง
เช่นบรรยายรายชื่อบุคคลกลุ่มบุกเบิกสถานีโทรทัศน์ช่อง 4  ก็เอ่ยชื่อโดยไม่มีคำว่าคุณนำหน้า ไม่เรียก คุณจำนง คุณกำธร คุณอารีย์ คุณสอาดฯลฯ
แต่ถ้าเจาะจงเป็นบุคคลก็จะมีคำว่า "คุณ"
เดาว่าคุณ daylife อาจคิดทำนองเดียวกันค่ะ
แต่ถ้าคุณ daylife อยากจะชี้แจงให้คุณประกอบเข้าใจ จะได้กดไลค์ให้ได้อย่างสะดวกใจ ก็เชิญเลยนะคะ

.....

ประกอบ

"อ้างจาก: เทาชมพู
ปลายแส้ของคุณประกอบน่าจะตวัดมาถึงแถวนี้ด้วย   ทำเอาสะดุ้งว่าตัวเองเผลอเอ่ยถึงหลายๆท่านโดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้าบ้างรึเปล่า  เชื่อว่าคงมีบ้าง "


แห่ะ ๆ ผมไม่ได้ตวัดถึงท่านอาจารย์นะครับ

คือผมเข้าไปอ่านในเพจ เรื่องราวของบุคคลท่านอื่น ก็เห็นแนวทางการเขียนแบบนี้หมด คือเรียกชื่อเฉย ๆ ตลอด คล้าย ๆ กับอ่านข่าวกีฬา เรียกชื่อนักกีฬาเฉย ๆ เพื่อรายงานว่าใคร ทำอะไร

แต่ทีนี้เพจนี้ เป็นการเขียนในเชิงยกย่อง และบุคคลที่ถูกเขียรถึงหลายท่านล่วงลับไปแล้ว การเขียนในรูปแบบนี้แต่เรียกชื่อเฉยๆ มันดูจงใจและน่ารำคาญสำหรับผมไป อาจจะดูจุกจิกไปนิด แต่เขียนแบบนี้เหมือนเอาวิธีพูดถึงพื่อน มาใข้พูดถึงผู้ใหญ่ไป

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: ประกอบ
ผมหงุดหงิดกับวิธีการเรียกชื่อคนในเพจครับ  คือไม่ทราบเอาธรรมเนียมไหนมาที่ใช้การเรียกชื่อบุคคลต่าง ๆ ด้วยชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าเช่นคุณเลย อ่านแล้วทำให้มันสะดุด รู้สึกว่าผู้เขียนไม่ได้ให้เกียรติผู้ถูกกล่างถึงมากพอ

อย่างคุณทิพย์วาณี ก็น่าจะเรียกคุณทิพย์วาณีแบบในกระทู้นี่ แต่ในเพจเรียกทิพย์วาณีห้วน ๆ  หรือท่านอื่น ๆ ก็เรียกชื่อห้วน ๆ ทั้งนั้น ซึ่งถ้าคุณคิดว่านี่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวในการเขียน ที่จริงมีการให้เกียรติผู้ถูกกล่าวถึงอยู่แล้ว ผมคิดว่าควรเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว จึงขอแนะนำมาเพื่อให้มีการปรับปรุงครับ "


คุณ daylife เรียกคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โดยไม่มีคำว่า "คุณ" นำหน้า อาจมีเหตุผลเช่นเดียวกับคุณเทาชมพู


"อ้างจาก: เทาชมพู
ดิฉันเรียกจิตร ภูมิศักดิ์ โดยไม่ใช้คำว่า "คุณ" นำหน้า เพราะรู้สึกว่านี่คือนามปากกาของเขา  ไม่ได้เป็นแค่ชื่อจริงนามสกุลจริงเท่านั้น    ก็เหมือนเรียก "ยาขอบ" ว่า "ยาขอบ" ไม่ได้เรียก "คุณยาขอบ" เรียก "ศรีบูรพา" โดยไม่มีคำว่า "คุณ" ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ส่วนม.ร.ว. คึกฤทธิ์  จะเรียกท่านว่า "คึกฤทธิ์" เฉย ๆ ก็ได้ถ้าถือว่านี่คือนามปากกา "คึกฤทธิ์ ปราโมช"  ศ.ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณก็เคยเรียกแบบนี้ในบทวิจารณ์  ส่วนดิฉันถือว่าเรียกชื่อจริงจึงมีคำนำหน้าว่า ม.ร.ว. "

.....

daylife

ขอบคุณทุกท่านมากครับ

สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ 'คุณ' นั้น ขอชี้แจงดังนี้ครับ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมผู้เขียนเติบโตมาจากการทำงานสายหนังสือพิมพ์และนิตยสารเชิงสารคดีครับ
ที่ผ่านมาจึงมองว่า คุณเป็นภาษาพูด รวมทั้งเคยได้รับคำแนะนำว่า การเขียนแบบทางการไม่เหมาะที่จะใช้คำนี้เนื่องจากเป็นชื่อตำแหน่งพระราชทาน จึงยึดรูปแบบนี้มาตลอด
ส่วนใหญ่พวกเราจึงใช้คุณ เฉพาะที่เป็นภาษาเพื่อการสนทนามากกว่า เช่นบทความที่เป็นสัมภาษณ์ลักษณะคำถามคำตอบ
อย่างไรก็ดี คำทักท้วงของคุณประกอบนั้นมีค่ามากครับ ทีมงานจึงอยากขอนำไปปรึกษาหารือกันก่อน  เพื่อปรับแนวทางการเขียนให้เหมาะสมมากขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

.....

เทาชมพู

ความหมายของคำว่า "คุณ" ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ

ผลการค้นหา "คุณ"
คุณ ๑, คุณ-
(๑)  [คุน, คุนนะ-] น. ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน

(๒) น. ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.)

(๓) น. คำที่ใช้เรียกนำหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร

(๔) น. คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป

(๕)  (ไว) น. คำแต่งชื่อ.

(๖)  [คุน, คุนนะ-] ส. คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคำสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ปาก) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.

  ลูกคำของ "คุณ ๑, คุณ-" คือ   คุณค่า  คุณชาย  คุณธรรม  คุณนาม  คุณนาย  คุณบท  คุณประโยชน์  คุณพิเศษ  คุณภาพ  คุณลักษณะ  คุณวิเศษ  คุณวุฒิ  คุณศัพท์  คุณสมบัติ  คุณหญิง  คุณากร  คุณูปการ  คุโณปการ 

.....

ประกอบ

ผมเข้าใจนะครับว่ารูปแบบการเขียนสารคดีนิยมเขียนโดยเรียกชื่อเฉย ๆ โดยเฉพาะชื่อฝรั่ง ชื่อนักกีฬา ฯลฯ

แต่รูปแบบภาษาไทย และในบางบริบท ในบางสถานการณ์ เช่นการกล่างถึงใครในเชิงยกย่อง โดยเฉพาะคนคนนั้นเป็นคนไทย การเรียกชื่อเฉย ๆ ไม่มีคำนำหน้าใด ๆ เลย มันดูห้วนและทำให้ขาดความสวยงามไปเยอะ การเพิ่มคำว่าคุณลงไปอีกคำ เวลากล่าวถึงใคร โดยเฉพาะในเชิงยกย่อง จะไม่ทำให้ความเป็นทางการของบทความหายไป  การเติมคำว่าคุณ  หรือตำแหน่ง หรือคำอื่น ๆ เช่นคำว่าเจ้าสัว หรือคำว่าอาจารย์ แม้คนนั้นจะไม่ได้เป็นอาจารย์ จะไม่ลดความเป็นทางการของบทความลงไป แต่เป็นการยกย่องมากกว่า

อันนี้ยกมาจากที่ท่านอาจารย์ใหญ่เขียนเอาไว้ และทางคุณ daylife ยกไปไว้ในบทความเลย

"คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม.. เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมาก.. เสียดายมากว่า เมื่อไม่มีคุณทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก"

พอเปลี่ยนเป็น

"ทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆ ที่เธอบรรยายไว้ เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม.. เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมาก.. เสียดายมากว่า เมื่อไม่มีทิพย์วาณีแล้ว ก็ไม่มีใครเขียนเรื่องทำนองนี้อีก"

คนอื่นอาจจะไม่รู้สึก แต่สำหรับผมตัดคุณไปคำเดียว ความสละสลวยหายไปทันที
แต่ถ้าเป็นการพูดถึงคนต่างชาติ บางครั้งใส่คุณเข้าไปก็อาจจะทำให้ความสละสลวยหายไปเช่นกัน
จริงๆ แล้วเพจยอดมนุษย์ คนธรรมดาเป็นเพจที่น่าสนใจและน่าจะเติบโตได้อีกมาก คนหัวโบราณเกินวัยแบบผมก็ขอติไว้เพื่อก่อซักเรื่องนึง อย่างอื่นดีหมดแล้วครับ

ปล ผมกด like ไปเรียบร้อยแล้วครับ

.....

daylife

ขอบคุณทุกท่านมากเลยครับ
สำหรับคำแนะนำต่างๆ พวกผมจะเก็บไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงวิธีการนำเสนอเนื้อหานะครับ 

.....

azante

"อ้างจาก: เทาชมพู
คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี)  คุณหลวงจรูญเป็นคนไทยที่สำเร็จวิชาวิศวกรรมการรถไฟจากประเทศอังกฤษ  กลับมารับราชการกรมรถไฟหลวง  เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน โรงงานมักกะสัน ในปี พ.ศ. 2473  ในรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศัราชทินนามเป็น หลวงจรูญสนิทวงศ์

หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมหลวงรวง มีธิดาชื่อ อรุณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา) ซึ่งสมรสกับหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ส่วนคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาเกิดจากหม่อมหลวงฟ่อน(ไม่ทราบนามสกุล)

คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แล้วศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นการเพิ่มเติม  ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านผดุงชีพ ขายงานจำพวกศิลปหัตถกรรม ที่ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร  ท่านชอบการเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปหัตกรรมของไทยมาตั้งแต่เป็นนักเรียน   ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กตาชาววัง หัวโขน ปลาตะเพียน ฯลฯ พิมพ์อัดสำเนาแจกแก่กลุ่มบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยมากเป็นลูกค้าที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจากร้าน

หนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก  ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือระหว่างชาติ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๕ (International Book Year ค.ศ. ๑๙๗๒) ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ในโครงการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาหนังสือ ตามมติขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ

คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547 ค่ะ  อัฐิบรรจุไว้ที่วัดชนะสงคราม บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ "


https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_(%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%8D_%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C)

หลวงจรูญฯ ท่านสิ้นเมื่อ ปี 2473 คุณทิพย์วาณีเกิด 2475 เป็นไปได้อย่างไรครับ

.....

เพ็ญชมพู

จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/128.PDF



.....

เทาชมพู

พยายามเช็คประวัติคุณทิพย์วาณีว่าลงปีเกิดของท่านผิดหรือเปล่า แต่ก็ยังหาไม่พบ
ใครพบช่วยบอกด้วยนะคะ

.....

daylife

ถ้าตามที่สัมภาษณ์ของคุณทิพย์วาณีที่ลงสตรีสาร ระบุว่าคุณพ่อเสียชีวิตก่อนเกิดราว 1 เดือน
ก็น่าจะเป็นเมษายน 2474 นะครับ (นับปีแบบเก่า)
ข้อมูลในวิกิพีเดียน่าจะคลาดเคลื่อนอยู่นะครับ

.....

daylife

ข้อมูลจากหนังสือเรียนชุดทักษะสัมพันธ์ครับ



.....

เทาชมพู

ขอบคุณมากค่ะ

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: daylife
ถ้าตามที่สัมภาษณ์ของคุณทิพย์วาณีที่ลงสตรีสาร ระบุว่าคุณพ่อเสียชีวิตก่อนเกิดราว 1 เดือน
ก็น่าจะเป็นเมษายน 2474 นะครับ (นับปีแบบเก่า) "

ไม่ว่าจะนับปีแบบเก่าหรือแบบใหม่ คุณทิพย์วาณีก็เกิดวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๗๔ เพราะก่อนที่เราจะใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันปีใหม่ เราใช้ ๑ เมษายนเป็นวันปีใหม่มาก่อน

สำหรับคุณพ่อ (หลวงจรูญสนิทวงศ์) ที่ในราชกิจจานุเบกษาบอกว่าเสียชีวิตวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๓ เป็นการนับแบบเก่า ถ้านับแบบปัจจุบันคือ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๔ ก่อนคุณทิพย์วาณีเกิด ๒๘ วัน





.....

superboy

ข้อมูลจากรถไฟไทยดอทคอม นำมาจากหนังสือนุสรณ์ครบรอบ 72 ปีการรถไฟแห่งประเทศไทย

คนไทยคนแรกซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน คือ หลวงจรูญสนิทวงศ์ (ม.ล.จรูญ สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2473 แต่ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงในปลายปีเดียวกัน



http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5552

แต่ผมไม่รู้ว่านับแบบเก่าแบบใหม่นะครับ คือไม่รู้จริงๆ ว่าเขานับกันอย่างไร เคยอ่านบทความเคยเขียนบทความผมก็ว่าไปตามหลักฐาน แล้วเขานับกันแบบไหนหนอ

...........................

Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #11 on: 27 February 2022, 18:34:29 »
Reply with quote


เทาชมพู

เรื่องนับปีเป็นแบบนี้ค่ะ ย่อยให้อ่านง่ายๆ
ปีใหม่เดิมของไทยนับตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปี  จนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่   ไปสิ้นสุดเอา 31 มีนาคม  เริ่มนับแบบนี้ตั้งแต่พ.ศ. 2432

ดังนั้นถ้าคุณซูเปอร์บอยเกิดวันที่ 30 มีนาคม 2433   เพื่อนคุณเกิด 2 เมษายน  ถัดมาอีกไม่กี่วัน   เขากับคุณเกิดกันคนละปี  เขาไปเกิดในปี 2434
จนถึงพ.ศ. 2484  รัฐบาลจอมพลป.จึงเปลี่ยนใหม่อีก  โยกวันปีใหม่มาเป็น 1 มกราคม  ทั้งๆแต่เดิม 1 มกราคมยังเป็นปีเก่าอยู่   แล้วก็นับแบบนั้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: เทาชมพู
ปีใหม่เดิมของไทยนับตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปี  จนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่   ไปสิ้นสุดเอา 31 มีนาคม  เริ่มนับแบบนี้ตั้งแต่พ.ศ. 2432 จนถึงพ.ศ. 2484  รัฐบาลจอมพลป.จึงเปลี่ยนใหม่อีก  โยกวันปีใหม่มาเป็น 1 มกราคม "


เรื่องนี้คุณหมอศานติย่อยแล้วน่าจะอ่านเข้าใจได้ง่ายเช่นกัน


"อ้างจาก: ศานติ
เราเพิ่งเริ่มใช้ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ก่อนหน้านั้นปีใหม่เริ่ม ๑ เมษายน โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯสั่งให้เริ่มนับปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๒ บังเอิญตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งเป็นวันปีใหม่แบบเดิม ก่อนหน้านั้นวันปีใหม่ไม่ตรงกับวันทางสุริยคติเลย "







http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2431/052/451_1.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/31.PDF

ประเทศไทยไม่เคยใช้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่อย่างเป็นทางการเลย

.....

เพ็ญชมพู

คุณทิพย์วาณีเขียนถึงกิจกรรมที่คุณตาคุณยายทำในวันปีใหม่ ๑ เมษายน อ่านดูแล้วน่าสนุก แม้ว่าในตอนต้นเกี่ยวกับวันสงกรานต์จะเขียนสับสนไปบ้าง



.....

เพ็ญชมพู

วันที่ ๑ เมษายน

แต่ก่อนวันปีใหม่ทางราชการของไทยเรานั้น นับวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะวันปีใหม่ของไทยเราถือวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ แต่เป็นการนับทางจันทรคติจึงมีวันที่ไม่แน่นอนนัก จนกระทั่งปี ๒๔๘๕ ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับสากลเป็นวันที่ ๑ มกราคม

เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น ยังใช้วันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ มีเพลงร้องด้วยว่า "วันที่ ๑ เมษายน วันขึ้นปีใหม่แสงสว่างกระจ่างจ้า..." แล้ว ก็มีสร้อยว่า "ยิ้มเถิดยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสำราญบานใจ ขอให้สวัสดี" ซึ่งสร้อยนี้ คุณตาและคุณยายจำขึ้นใจอยู่ตลอดมา เพราะเด็ก ๆ ต่างก็ตั้งหน้านับวันรอวันนี้ คือวันที่ ๓๑ มีนาคมและวันที่ ๑ เมษายน

วันนี้ที่ในกรุงเทพฯ จัดให้มีงานใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี มีงานตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ มีนาคม อากาศดีไม่หนาว ไม่มีน้ำค้าง ไม่มีฝน ผู้คนหลั่งไหลมากันแน่นหลายทาง ด้วยรถราง รถเจ็ก รถยนต์ จากท่าพระจันทร์ ท่าเตียน และเดินมา นั่งรถไฟจากต่างจังหวัดก็มีไม่น้อย มีการออกร้านขายของเล่นของใช้อาหารต่าง ๆ มีการแสดงมหรสพต่าง ๆ มีโขน ลิเก หุ่นกระบอก ลำตัด หนังกลางแปลง ของทางราชการและของเอกชนที่จัดมาแสดงเก็บเงิน

ที่นี่เองเด็ก ๆ อย่างคุณตาและคุณยายพากันตั้งตารอ เพราะจะได้รับเงินแจกให้ไปเที่ยวซื้อของตามใจชอบ คุณยายได้ ๕๐ สตางค์ ส่วนคุณตานั้นได้ ๑ บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในปีหนึ่ง ๆ ที่เด็ก ๆ จะมีปัญญามีได้ จึงต้องวาดโครงการไว้ก่อนว่าจะซื้ออะไรกันบ้าง

กลางคืนที่ ๓๑  มีนาคม มีงานจนดึก พอสองยามก็จะมีเสียงเพลงวันที่ ๑ เมษายน ดังลั่นไปทั่วท้องสนามหลวงด้วยลำโพง ๔ ทิศ ดอกไม้ไฟ พลุต่าง ๆ ก็พากันจุดพร้อม ๆ กัน มีไฟพะเนียง กังหัน ช้างร้อง แล้วก็พลุสีต่าง ๆ สว่างไสวทั่วท้องสนามหลวง แสดงว่าเปลี่ยนศักราชใหม่แล้ว คุณตาและคุณยายพยายามข่มใจถ่างตาไว้ไม่ให้หลับ ถึงจะง่วงยังไงก็ไม่ยอมให้หลับ เพราะต้องการจะดูดอกไม้ไฟและพลุสวย ๆ ให้ได้ ดูเสร็จแล้วจึงจะกลับไปนอน ตื่นมาใหม่ตอนเช้า

เมื่อตอนกลางคืนคุณยายยังไม่ได้รับสตางค์แจก จึงเพียงแต่ดูของต่าง ๆ หมายตาเอาไว้เท่านั้น วันที่ ๑ ตอนเช้าไปรับแจกเงิน ก็รีบมาซื้อของที่อยากได้ไว้เมื่อตอนกลางคืน ส่วนคุณตานั้นได้รับเงินแจกตั้งแต่วันสิ้นปีแล้ว จึงรู้สึกเสียใจ มักจะเอาของที่ซื้อไว้บอกขายต่อกับพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อจะเอาเงินไปซื้อของที่อยากได้

คุณยายเป็นเด็กผู้หญิงก็ซื้อของเล่นตามประสาเด็กผู้หญิง มีปิ่นโตเถาเล็ก ๆ น่ารัก พัดขนนกจากอยุธยา นางในหอย เป็นตุ๊กตาชาววังนอนในหอยตลับ กระเป๋าถือใบเล็ก ๆ ชุดหม้อข้าวหม้อแกงจัดเป็นตะกร้า อยู่ในตะกร้าลวดถัก ๆ มีเขียง มีมีด และกระต่ายขูดมะพร้าว กระชอนเล็ก ๆ เข้าชุดกัน ตุ๊กตา เตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้ง แต่ที่ขาดไม่ได้ทุกปีก็คือดูละครลิงของคณะ "ปรีดาวานร" ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงแม้ว่าจะซ้ำกันแทบทุกปี คุณยายก็ยังดูได้ ค่าดู ผู้ใหญ่ ๓ สตางค์ เด็ก ๒ สตางค์เท่านั้น



.....

เพ็ญชมพู

ส่วนคุณตานั้น นอกจากเป็นนักจ่ายเงินซื้อของเล่นแล้ว ยังเป็นนักกินตัวยงอีกด้วย ซื้อของกินเกือบตลอดเวลา ข้าวบ้านไม่ยอมกิน จะกินหอยแมลงภู่ทอด มะม่วงหิมพานต์ หมูสะเต๊ะ และอื่น ๆ อีก กินมากจนปวดท้อง ท้องเดินเพราะอากาศก็ร้อน กินอาหารเข้าไปมากเกินไปก็เป็นอย่างนี้ หน้าร้อนตอนบ่ายที่สนามหลวงแดดร้อนจัด มีคนบ้างแต่โหรงเหรง ส่วนมากมาจากต่างจังหวัด เดินชมร้านขายของไปนานก็กระหายน้ำ น้ำก็ไม่มีขายอย่างสมัยนี้ ต้องอาศัยน้ำดื่มจากแม่ธรณีบีบมวยผมกัน ที่นั่นจึงคนแน่นไปหมด ทั้งผู้ใหญ่และเด็กพากันดื่มน้ำแล้วก็เลยลูบหน้าลูบตัวเสียด้วยก็มีเพื่อบรรเทาความร้อน น้ำขวดมีขายอย่างเดียวคือ "น้ำมะเน็ด" ขวดใหญ่มากทั้งหนาและหนัก มีลูกแก้วปิดปากขวดไว้ มีราคาแพงมากถึงขวดละ ๕ สตางค์ มีน้ำขิงและครีมโซดา ฉะนั้นประชาชนจึงต้องอาศัยน้ำจากแม่ธรณีบีบมวยผมที่สมเด็จพระพันปีหลวงสร้างไว้เป็นทานแก่ประชาชนที่หิวน้ำกันเป็นส่วนใหญ่

ที่สนามหลวงนี้มักได้พบกับญาติพี่น้อง ซึ่งพาครอบครัวมาใส่บาตรแล้วเลยมาเที่ยวคราวละหลาย ๆ คนเสมอ บางครั้งญาติผู้ใหญ่ก็ออกสตางค์ให้ดูละครลิงหรือคนประหลาด บางทีก็ซื้อของเล่นให้ ทำให้ทุ่นสตางค์ไปได้หลายสตางค์ แต่ก่อนผู้คนไม่มากนัก ผู้ที่มาเที่ยวงานปีใหม่สนามหลวงสามารถจอดรถไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์หรือที่หน้ากระทรวงยุติธรรมได้ ในรถมักเอาเสื่อติดมาด้วย ถ้าเดินซื้อของเมื่อยนักก็ปูเสื่อที่สนามหน้ากระทรวงนั่งพักให้สบายได้ บางทีก็ใช้เสื่อนั้นปูนั่งดูโขนของโปรดของคุณตา หุ่นกระบอกของโปรดคุณยายได้อีกด้วย ถ้าบางคนมีเด็กเล็ก ๆ ก็ให้นั่งกินนมแม่และนอนหลับอยู่บนเสื่อเสียเลย

ถ้าคุณยายและน้อง ๆ ต้องการจะดูดอกไม้ไฟและพลุตอนสองยาม จะต้องนอนกลางวันให้หลับนาน ๆ ถ้าคนไหนไม่หลับก็อดมาเที่ยวงานส่งท้ายปีเก่านี้ เพราะจะทำให้ง่วงนอนแล้วโยเยให้อุ้มแบกกลับบ้านเป็นภาระของผู้ใหญ่ งานออกร้านปีใหม่นี้มีของขายและสนุก ๆ เท่ากับงานภูเขาทอง ดีกว่าตรงมีดอกไม้ไฟและพลุสวย ๆ คนขายของตามร้านก็คนเดิม เพราะมีอาชีพออกร้านตามงาน คุณแม่ของคุณยายมีลูกมาก จะไปเที่ยวงานต้องสอนลูกให้จูงมือกันไว้จะได้ไปพลัดหลงกัน แล้วคอยนับจำนวนลูกให้ครบอยู่เสมอ คุณตาเคยพลัดหลงมาแล้วแต่มีปัญญาเดินหารถที่จอดไว้พบ จึงนั่งรอนอนรออยู่ในรถได้ ไม่ให้ผู้ใหญ่เดือนร้อน

.....

ประกอบ

คืออ่านเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กมานานแล้ว  จากเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งคุณตาคุณยายท่านผู้เขียน น่าจะมาจากสกุลขุนนางหรือเจ้านายที่ใหญ่พอสมควร  เลยแปลกใจว่าท่านทั้งสองคือใคร มาจากสายสกุลไหน ท่านใดทราบบ้างครับ เพราะบันทึกชื่อแม่ของท่านผู้เขียน มีแค่ มล.ฟ่อน ไม่ระบุนามสกุล

.....

azante

ร้านผดุงชีพ ปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่ครับ

ท่านใดเคย เห็น หรือมีรูปอยู่บ้างครับ

.....

เพ็ญชมพู

ร้านผดุงชีพเป็นร้านค้าไม้สองคูหาสองชั้นอยู่เยื้องกับวัดชนะสงคราม คุณทิพย์วาณีตั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเดียว แต่เดิมเป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ต่อมาเริ่มทำยาสมุนไพร และสั่งซื้องานฝีมือมาขายด้วย ร้านผดุงชีพเป็นร้านขายสินค้าหัตถกรรมและของเล่นแห่งแรก ๆ ของกรุงเทพฯ  สินค้าภายในร้านได้ดี มีของไทย ๆ หลากอย่าง ทั้งยาแผนโบราณ ยาตราแม่โพสพ ยาปลูกผมปลูกหนวด (เป็นน้ำมันงาเคี่ยวเองที่ร้าน ขายดีมากจนต้องเคี่ยวแทบไม่ได้หยุด จนคนเคี่ยวมีขนขึ้นหนาดกดำที่มือ ต้องโกนทิ้งอยู่เรื่อย) เครื่องดนตรี หัวโขน หัวรูปสัตว์ต่าง ๆ อย่างที่เด็กอนุบาลสวมหัวแสดงระบำสัตว์ ผลไม้จำลอง ตุ๊กตาดินเผา หม้อข้าวหม้อแกง ปลาตะเพียนใบลาน หมูกระดาษออมสิน ซึ่งของส่วนใหญ่ทำจากกระดาษ (เปเปอร์มาเช่) ของเด็กเล่น เช่น งู ตะขาบ และสัตว์เลื้อยคลานทำจากไม้ระกำ รอยควั่นบนไม้ที่ทำเป็นข้อปล้องเมื่อนำมาถือเล่นมันจะเคลื่อนไหวส่ายไปมาคล้ายการเลื้อยคลานของสัตว์

ร้านนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกสาวคนโต ต่อมาเลิกกิจการและถูกรื้อทิ้งไป ภายหลังลูกหลานสร้างอาคารคอนกรีตขึ้นใหม่ในที่เดิม และนำป้ายร้านผดุงชีพมาติดไว้เป็นอนุสรณ์ตรงมุมหนึ่งของอาคาร

ข้อมูลจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/r-dote/2009/10/14/entry-1

ภาพจาก หนังสือวรรณกรรม ๕๐ เล่มที่ต้องอ่านก่อนโต หน้า ๓๘



.....

เพ็ญชมพู

ขออนุญาตแก้ไข

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
ร้านผดุงชีพเป็นร้านค้าไม้สองคูหาสองชั้นอยู่เยื้องกับวัดชนะสงคราม คุณทิพย์วาณีตั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเดียว "


แก้เป็น คุณแม่ของคุณทิพย์วาณี (หม่อมหลวงฟ่อน สนิทวงศ์) ตั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเดียว

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: ประกอบ
คืออ่านเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กมานานแล้ว  จากเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งคุณตาคุณยายท่านผู้เขียน น่าจะมาจากสกุลขุนนางหรือเจ้านายที่ใหญ่พอสมควร  เลยแปลกใจว่าท่านทั้งสองคือใคร มาจากสายสกุลไหน ท่านใดทราบบ้างครับ เพราะบันทึกชื่อแม่ของท่านผู้เขียน มีแค่ มล.ฟ่อน ไม่ระบุนามสกุล "


ตุณตาคุณยายในที่นี้ มิได้หมายความถึงคุณตาคุณยายของคุณทิพย์วาณี แต่หมายถึงคุณตาคุณยายของลูกชายลูกสาวของคุณทิพย์วาณี ซึ่งนอกจากจะหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ของคุณทิพย์วาณีแล้ว ยังรวมถึง คุณป้า คุณลุง คุณอา อีกด้วย

จากเฟซบุ๊ก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ของคุณ daylife เล่าว่า

นอกจากคลังหนังสือที่เธอมีเต็มตู้แล้ว แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากความทรงจำในวัยเยาว์นั่นเอง เพราะสมัยก่อนตอนเด็ก ๆ เธออาศัยอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณปู่ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ บริเวณถนนบรรทัดทอง แล้วด้วยความครอบครัวใหญ่มาก เวลานอน เด็ก ๆ จึงรวมกันหน้าเตียงของคุณป้า

“คุณป้าท่านชอบเล่าเรื่องเก่า ๆ ให้ฟังก่อนนอนแทบทุกคืน แล้วตอนเด็ก ๆ ดิฉันเป็นคนช่างซักถาม และคุณป้าผู้นี้เป็นคนใจดี เราซักมากท่านก็ไม่รำคาญ ท่านมีอาชีพรับจ้างทำอาหารตามงานเลี้ยง ได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงรู้เรื่องนำมาถ่ายทอดให้ฟัง

“บางเรื่องก็สอบถามจากบุคคลใกล้ชิดต่าง ๆ คุณแม่บ้าง คุณลุงบ้าง คุณลุงนี่ชอบเล่าเรื่องสมัยยังหนุ่ม คุยแล้วรู้สึกปลื้มใจ แล้วก็มีคุณอาคนเล็กอีกคน เจอหน้ากันต้องมานั่งเท้าความเรื่องเก่า ๆ สมัยเด็ก ๆ เพราะท่านวัยไล่เรี่ยกัน คอยท้วงติงว่าเขียนอะไรตกหล่นหรือคอยเสริมให้..

“เพราะฉะนั้นตัว ‘คุณตา คุณยาย’ ก็คือบุคคลเหล่านี้เองปะปนกันออกมา” ทิพย์วาณี เฉลยความหมายที่แท้จริงของชื่อคอลัมน์ ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’

สำหรับคุณตาคุณยายของคุณทิพย์วาณีคือ หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ และ เจริญ บุนนาค (ซึ่งเป็นบิดามารดาของหม่อมหลวงรวง สนิทวงศ์ และหม่อมหลวงฟ่อน สนิทวงศ์ ภรรยาทั้งสองของหม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) คุณตาสุวพันธุ์เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ก่อนการประกาศใช้วันที่ ๑ เมษายน ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นเวลาหลายปี คงไม่มีประสบการณ์ในวันปีใหม่ ๑ เมษายนเป็นแน่ 

.....

เทาชมพู

ดิฉันคิดว่าคุณdaylife  เข้าใจผิด   "คุณตาคุณยายในวัยเด็ก" ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ของคุณทิพย์วาณี  แต่หมายถึงตัวเธอเองค่ะ,

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
วันที่ ๑ เมษายน

แต่ก่อนวันปีใหม่ทางราชการของไทยเรานั้น นับวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะวันปีใหม่ของไทยเราถือวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ แต่เป็นการนับทางจันทรคติจึงมีวันที่ไม่แน่นอนนัก จนกระทั่งปี ๒๔๘๕ ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับสากลเป็นวันที่ ๑ มกราคม

เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น ยังใช้วันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ มีเพลงร้องด้วยว่า "วันที่ ๑ เมษายน วันขึ้นปีใหม่แสงสว่างกระจ่างจ้า..." แล้ว ก็มีสร้อยว่า "ยิ้มเถิดยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสำราญบานใจ ขอให้สวัสดี" ซึ่งสร้อยนี้ คุณตาและคุณยายจำขึ้นใจอยู่ตลอดมา เพราะเด็ก ๆ ต่างก็ตั้งหน้านับวันรอวันนี้ คือวันที่ ๓๑ มีนาคมและวันที่ ๑ เมษายน

วันนี้ที่ในกรุงเทพฯ จัดให้มีงานใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี มีงานตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ มีนาคม อากาศดีไม่หนาว ไม่มีน้ำค้าง ไม่มีฝน ผู้คนหลั่งไหลมากันแน่นหลายทาง ด้วยรถราง รถเจ็ก รถยนต์ จากท่าพระจันทร์ ท่าเตียน และเดินมา นั่งรถไฟจากต่างจังหวัดก็มีไม่น้อย มีการออกร้านขายของเล่นของใช้อาหารต่าง ๆ มีการแสดงมหรสพต่าง ๆ มีโขน ลิเก หุ่นกระบอก ลำตัด หนังกลางแปลง ของทางราชการและของเอกชนที่จัดมาแสดงเก็บเงิน

ที่นี่เองเด็ก ๆ อย่างคุณตาและคุณยายพากันตั้งตารอ เพราะจะได้รับเงินแจกให้ไปเที่ยวซื้อของตามใจชอบ คุณยายได้ ๕๐ สตางค์ ส่วนคุณตานั้นได้ ๑ บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในปีหนึ่ง ๆ ที่เด็ก ๆ จะมีปัญญามีได้ จึงต้องวาดโครงการไว้ก่อนว่าจะซื้ออะไรกันบ้าง

กลางคืนที่ ๓๑  มีนาคม มีงานจนดึก พอสองยามก็จะมีเสียงเพลงวันที่ ๑ เมษายน ดังลั่นไปทั่วท้องสนามหลวงด้วยลำโพง ๔ ทิศ ดอกไม้ไฟ พลุต่าง ๆ ก็พากันจุดพร้อม ๆ กัน มีไฟพะเนียง กังหัน ช้างร้อง แล้วก็พลุสีต่าง ๆ สว่างไสวทั่วท้องสนามหลวง แสดงว่าเปลี่ยนศักราชใหม่แล้ว คุณตาและคุณยายพยายามข่มใจถ่างตาไว้ไม่ให้หลับ ถึงจะง่วงยังไงก็ไม่ยอมให้หลับ เพราะต้องการจะดูดอกไม้ไฟและพลุสวย ๆ ให้ได้ ดูเสร็จแล้วจึงจะกลับไปนอน ตื่นมาใหม่ตอนเช้า

เมื่อตอนกลางคืนคุณยายยังไม่ได้รับสตางค์แจก จึงเพียงแต่ดูของต่าง ๆ หมายตาเอาไว้เท่านั้น วันที่ ๑ ตอนเช้าไปรับแจกเงิน ก็รีบมาซื้อของที่อยากได้ไว้เมื่อตอนกลางคืน ส่วนคุณตานั้นได้รับเงินแจกตั้งแต่วันสิ้นปีแล้ว จึงรู้สึกเสียใจ มักจะเอาของที่ซื้อไว้บอกขายต่อกับพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อจะเอาเงินไปซื้อของที่อยากได้

คุณยายเป็นเด็กผู้หญิงก็ซื้อของเล่นตามประสาเด็กผู้หญิง มีปิ่นโตเถาเล็ก ๆ น่ารัก พัดขนนกจากอยุธยา นางในหอย เป็นตุ๊กตาชาววังนอนในหอยตลับ กระเป๋าถือใบเล็ก ๆ ชุดหม้อข้าวหม้อแกงจัดเป็นตะกร้า อยู่ในตะกร้าลวดถัก ๆ มีเขียง มีมีด และกระต่ายขูดมะพร้าว กระชอนเล็ก ๆ เข้าชุดกัน ตุ๊กตา เตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้ง แต่ที่ขาดไม่ได้ทุกปีก็คือดูละครลิงของคณะ "ปรีดาวานร" ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงแม้ว่าจะซ้ำกันแทบทุกปี คุณยายก็ยังดูได้ ค่าดู ผู้ใหญ่ ๓ สตางค์ เด็ก ๒ สตางค์เท่านั้น"


คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อพ.ศ. 2475   ข้อความข้างบนนี้เล่าว่าตอนเธอเด็กๆ ปีใหม่ยังเป็น 1 เมษายนอยู่  มาเปลี่ยนในปี 2485  คือเมื่ออายุ 10 ขวบ
บรรยากาศปีใหม่ 1 เมษายน ที่บรรยายไว้ข้างบนนี้ คือบรรยากาศในช่วง 2475-2484   คุณหนูทิพย์วาณีเที่ยวงานปีใหม่ด้วยความสนุกสนานประสาเด็ก  ซื้อของเล่นเล็กๆน้อยๆ   ดูหนังกลางแปลง  เดินกลับมาที่รถยนต์ซึ่งจอดอยู่ฯลฯ

บรรยากาศทั้งหมดที่ว่านี้  ยังมีมาจนถึงยุคของดิฉัน   เพราะสมัยโน้นโลกหมุนช้ากว่าสมัยนี้มาก  โดยเฉพาะของเล่นในยุค 2480s  ยังมีให้เห็นหลังจากนั้นอีกเป็นสิบๆปี

แต่บรรยากาศเหล่านั้นไม่ใช่ยุคสมัยของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์)บิดาของคุณทิพย์วาณียังเด็กอยู่แน่นอน   
คุณหลวงท่านเกิดปี 2438  สมัยคุณหลวงยังเด็ก  ประมาณว่า 2438-2448   กรุงเทพยังไม่มีหนังกลางแปลง   ไม่มีครีมโซดาขาย  รถยนต์ส่วนตัวของประชาชนยังไม่มีค่ะ

มีรถยนต์พระที่นั่งคันแรก ชื่อรถแก้วจักรพรรดิ    ส่งมาถึงสยามประมาณปี 2448 ค่ะ

.....

azante

จากที่อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ นึกเสมอเลยว่า คุณตาคุณยายในหนังสือ จะเทียบเคียงกับรุ่น ปู่ย่าตายาย
ในปลาย รัชกาลที่ 5 ไม่คิดเลยว่า จะเป็นเรื่องของ รุ่น พ่อ แม่ ในสมัย รัชกาลที่ 7 และ 8 ซึ่งกรุงเทพ
มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

.....

เทาชมพู

จะยกตัวอย่างให้คุณ Azante เห็น ว่าไม่ใช่เรื่องสมัยรัชกาลที่ 5   เอาจากในกระทู้นี่ก็พอนะคะ

"อ้างจาก: เทาชมพู
เศษผ้าทุกชิ้นคุณแม่เก็บไว้หมด เอาไว้ซ่อมแซมเสื้อผ้า  บางทีเราอาจทำขาดหรือมีอุบัติเหตุ  เราจะได้มีผ้าที่มีสีดอกเหมือนกันซ่อมได้  แล้วมองไม่เห็นรอยผ้า  ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ขาดไปเป็นผ้าเช็ดชาม  ผ้าถูเรือน   คุณแม่ก็ต้องให้ลูกตัดเอากิ๊บ  กระดุมที่ยังดีๆอยู่เก็บไว้หมดเอาไว้ซ่อมตัวอื่นได้  ทั้งเวลาใช้ถูเรือนก็ไม่ขูดกระดาน"  ว่าแล้วก็ไปหยิบกระปุกไม้กลึงที่มีกระดุมสารพัดสีสารพัดขนาดออกมาให้ดู "


ในสมัยรัชกาลที่ 5   แม่บ้านยังห่มผ้าแถบอยู่กับบ้าน   ลูกสาวเล็กๆก็ยังสวมเสื้อคอกระเช้า ตัวหลวมๆ สีขาว    ผ้าดอกที่เอามาตัดเสื้อ ผ่าหน้าผ่าหลังติดกิ๊บ หรือกระดุมสีต่างๆแบบต่างๆนั้น เป็นการแต่งกายในรัชกาลที่ 6  แพร่หลายในช่วงปลายรัชกาล    เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 ค่ะ

.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
ฉะนั้นประชาชนจึงต้องอาศัยน้ำจากแม่ธรณีบีบมวยผมที่สมเด็จพระพันปีหลวงสร้างไว้เป็นทานแก่ประชาชนที่หิวน้ำกันเป็นส่วนใหญ่ "


แม่พระธรณีบีบมวยผมนี้ ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๖๐ ในรัชกาลที่ ๖ อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดังที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๖๐ ความว่า

"พรุ่งนี้ฉันจะทำบุญวันเกิดที่นี่ตามคตินิยม ให้คุณจัดเปิดรูปนางพระธรณีท่ออุทกทาน ซึ่งฉันได้ออกทรัพย์ให้หล่อขึ้นสำเร็จตั้งไว้ ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และขออุทิศท่ออุทกทานนี้ให้เป็นสาธารณทานแก่ประชาชนผู้เพื่อนแผ่นดินใช้กินบำบัดร้อนและกระหาย เป็นความสบายตามปรารถนาทั่วกันเทอญ"

ฉะนั้นเหตุการณ์ในเรื่อง "๑ เมษายน" จึงควรเกิดหลัง พ.ศ. ๒๔๖๐ คุณตาในเรื่องตอนนี้อาจเป็นคุณอาคนเล็กที่คุณทิพย์วาณีกล่าวถึงก็เป็นได้

ปัจจุบันรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผมแปรเปลี่ยนจุดประสงค์การใช้ กลายเป็นรูปเคารพไปเสียแล้ว





.....

เพ็ญชมพู

ในหนังสือ ตรุษสงกรานต์ ประมวลความเป็นมาของปีใหม่ไทยในสมัยต่าง ๆ ของ ส.พลายน้อย บทที่ ๗ ปีใหม่ตามแบบสากล กล่าวว่า งานฉลองวันปีใหม่ที่สนามหลวงจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๗

ดังนั้นเหตุการณ์ในตอน "๑ เมษายน" จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นหลัง พ.ศ. ๒๔๗๗



.....

เพ็ญชมพู

"อ้างจาก: เพ็ญชมพู
เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น ยังใช้วันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ มีเพลงร้องด้วยว่า "วันที่ ๑ เมษายน วันขึ้นปีใหม่แสงสว่างกระจ่างจ้า..." แล้ว ก็มีสร้อยว่า "ยิ้มเถิดยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสำราญบานใจ ขอให้สวัสดี" ซึ่งสร้อยนี้ คุณตาและคุณยายจำขึ้นใจอยู่ตลอดมา "

.....
https://www.youtube.com/watch?v=nN9KyG6xBTg

เถลิงศก 2477

https://youtu.be/nN9KyG6xBTg

เพลงนี้ใช้ร้องเพียง ๕-๖ ปีเท่านั้น เหตุการณ์ในตอน "๑ เมษายน" จึงควรเกิดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๓



.....

เทาชมพู

แสดงว่าคุณเพ็ญชมพูเห็นด้วย ว่าเรื่องราวอยู่ในยุคคุณทิพย์วาณียังเด็ก    ไม่ใช่ยุคคุณพ่อของเธอ

.....

เพ็ญชมพู

เฉพาะตอนนี้ก็ควรเป็นดังที่คุณเทาชมพูว่า 

.....

เทาชมพู

แล้วตอนไหนที่แสดงว่า คุณตาคุณยาย(วัยเด็ก)อยู่ในยุคอื่นล่ะคะ

.....

daylife

เท่าที่ลองย้อนกลับไปอ่านหนังสือ ผมคิดว่าหากระบุว่าใครคือคุณตาคุณยาย ก็คงหมายถึงตัวของคุณทิพย์วาณีเองครับ

แต่ที่ผู้เขียนให้สัมภาษณ์ในสตรีสารว่า "เพราะฉะนั้นคุณตา คุณยายก็คือบุคคลเหล่านี้เองปะปนกันออกมา"
ผมคาดว่า คุณทิพย์วาณีน่าจะหมายถึงแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้เล่าเรื่องนั้นมาจากการผสมผสานเรื่องเล่าของญาติใกล้ชิด ทั้งคุณป้า คุณแม่ คุณลุง คุณอาคนเล็ก หรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ซึ่งถูกนำมาเล่าใหม่ภายใต้กรอบของคำว่าคุณตาคุณยายอีกทีครับ

.....

เพ็ญชมพู

คุณยายในเรื่อง "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก" ก็คือตัวคุณทิพย์วาณีเองอย่างที่คุณเทาชมพูและคุณ daylife ว่า เรื่องเล่าในตอนต่าง ๆ ส่วนมากก็เป็นเรื่องราวของคุณทิพย์วาณีตอนเด็ก แต่มีหลายตอนที่เป็นเรื่องในอดีตก่อนหน้านั้นซึ่งถ่ายทอดมาจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่เช่นคุณน้าในเรื่อง "หัวอีตู้"




คำบอกเล่าของคุณลุงในเรื่อง "เพชฌฆาตมือสอง" และ คำบอกเล่าของคุณยาย (ซึ่งไม่ใช่คุณทิพย์วาณี) ในเรื่อง "เข้าวัง"



.....

azante

คุณทิพย์วาณี เล่าเรื่องของตัวเอง แต่อาจจะมี ตัวละครอื่นเสริม จากความเป็นจริง เลยอ่านแล้วสับสนว่า
ใครคือคุณตา คุณยาย  คุณทิพย์วาณี เป็นลูกคนสุดท้อง คุณอา คงไม่ได้หมายถึง น้องชายเธอแน่ๆ
อย่างไรคุณอา ต้องเป็นน้องพ่อแน่ๆ

การเข้าวังหลวงเฝ้าเจ้านาย ในสมัยปลายๆรัชกาลที่ 7 เจ้านายฝ่ายในเจ้าของตำหนักต่างๆ น่าจะเหลือน้อยมาก
ถ้าพระองค์เจ้า ชั้น 4 ก็ทรงพระชรามากแล้ว พระองค์เจ้า ชั้น 5 ก็ออกไปมีตำหนักสวนนอกเกือบหมด วังสวนสุนันทาเอง
เจ้านายก็ไม่ประทับแล้ว  หรือถ้ามีทายาทเฝ้าตำหนักในวังหลวงก็คงเป็น หม่อมเจ้า ซึ่งพิธีรีตองคงไม่มากนัก

จากที่คุณเพ็ญชมพู กล่าวว่า คำบอกเล่าของคุณยาย (ซึ่งไม่ใช่คุณทิพย์วาณี)
ก็เลยคิดไปว่า คุณยายไม่ใช่คุณทิพย์วาณี ในบางเรื่องบางตอน

.....

เพ็ญชมพู

ลองอ่านตอน "เข้าวัง" แล้ว บรรยากาศคล้ายกับสี่แผ่นดินตอนพลอยถวายตัว  ยิงฟันยิ้ม

.....

เพ็ญชมพู

...





.....

azante

จากที่ คุณเพ็ญชมพู ยกมาให้อ่าน
ยิ่งคิดได้เลยว่า คุณยาย ไม่ใช่คุณทิพย์วาณี ต้องเป็น รุ่น คุณแม่ ขึ้นไป
เพราะบรรยากาศ คือ สมัยรัชกาลที่ 5 เลยทีเดียว

.....

เทาชมพู

น่าจะเป็นอย่างนี้มากกว่าค่ะ
คุณทิพย์วาณีเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตหลายสมัยด้วยกัน    ถ้าเป็นช่วงชีวิตที่เธอประสบเอง อยู่ในรัชกาลที่ 7
แต่ก็มีบางตอนที่ย้อนไปถึงรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดจากผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่ หรือลุงป้าน้าอา  แต่เธอนำมาเป็นประสบการณ์ของ "คุณตาคุณยาย" เช่นกัน   
บางครั้งเธอก็เจาะจงลงไปว่า เป็นเรื่องของ คุณลุงของคุณยาย   คุณอาของคุณยาย    ฯลฯ   แต่บางครั้งเธอก็เล่าเหมือนเป็นประสบการณ์ของคุณตาคุณยายเจ้าของเรื่องเอง


--------------------


Logged
Pages: [1] Go Up Reply Print 
« previous next »
 

+ Quick Reply
SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.228 seconds with 21 queries.