User Info
Welcome,
Guest
. Please
login
or
register
.
23 December 2024, 08:42:56
1 Hour
1 Day
1 Week
1 Month
Forever
Login with username, password and session length
Search:
Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ
http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,621
Posts in
12,930
Topics by
70
Members
Latest Member:
KAN
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
|
เรื่องราวน่าอ่าน
|
หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง
|
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
0 Members and 2 Guests are viewing this topic.
« previous
next »
Pages:
[
1
]
Author
Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80] (Read 834 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Online
Posts: 9,457
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
«
on:
17 February 2022, 22:32:09 »
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
https://www.sarakadee.com/2020/12/23/
ชั่วกัปชั่วกัลป์/
Culture
ชั่วกัปชั่วกัลป์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 71
23 ธันวาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ด้วยบาปอันหนัก คือการประพฤติอนันตริยกรรม ทั้งทำให้พระพุทธองค์ทรงห้อพระโลหิต และกระทำสังฆเภท เถรเทวทัตจึงต้องใช้กรรมอยู่ในอเวจีไปจนตลอดกัป
แล้วกัป (หรือบางทีสะกดว่า “กัลป”) หนึ่งยาวนานแค่ไหน ?
ระยะเวลา ๑ กัป/กัลป ตามคติพุทธศาสนา เป็นเวลาอันยาวนาน กำหนดประมาณนับไม่ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยทรงอุปมาให้พระสงฆ์สาวกฟัง ถึงภูเขาหินแท่งตัน ทรงลูกบาศก์ กว้างxยาวxสูง ด้านละ ๑ โยชน์ (ราว ๑๖ กิโลเมตร) ทุกๆ ๑๐๐ ปี มีคนเอา “ผ้ากาสี” (ผ้าจากแคว้นกาสีหรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน เมื่อครั้งพุทธกาลถือว่าเป็นผ้าอย่างดี ราคาแพง เนื้อผ้าบางเบาละเอียดราวควันไฟ และเป็นที่มาของคำ “กาสาวพัสตร์”) มาลูบภูเขาลูกนี้ครั้งหนึ่ง ตราบจนก้อนหินขนาดหนึ่งลูกบาศก์โยชน์นี้ สึกกร่อนราบเรียบลงเสมอพื้น ก็ยังไม่เท่าเวลา ๑ กัป/กัลป
หรือในอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงอุปมาทำนองเดียวกันว่า สมมติให้มีกล่องเหล็กใหญ่ กว้างยาวสูงด้านละ ๑ โยชน์ บรรจุเมล็ดพันธุ์ผักกาดเล็กละเอียดราวเม็ดทรายไว้จนเต็ม แล้วทุกๆ ๑๐๐ ปีมีผู้มาหยิบเมล็ดผักกาดออกไปหนึ่งเมล็ด เมล็ดผักกาดหมดกล่องแล้วก็ยังไม่สิ้นกัป/กัลปอยู่ดี
ความรู้สึกว่า “กัปหนึ่ง” / “กัลปหนึ่ง” เป็นเวลาอันยาวนานเหลือจะประมาณได้ มีตกค้างอยู่ในภาษาไทย เช่นคำว่า “ชั่วกัลปาวสาน” คือตราบจนสิ้นกัป/กัลป และ “ชั่วกัปชั่วกัลป์” (ชั่ว-กับ-ชั่ว-กัน) คือตลอดระยะทั้งกัป/กัลป อันมีความหมายใกล้เคียงกับ forever ในภาษาอังกฤษ
แต่เคยมีพระบวรราชปุจฉาของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ในรัชกาลที่ ๓ ครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมาก
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ คือการมี “พระราชปุจฉา” โดยทรงมีรับสั่งซักถามข้อธรรมที่สงสัยแก่พระสงฆ์ อาจเป็นพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง หรือพระมหาเถระ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชไปจนถึงบรรดาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ให้ประชุมกันตอบข้อสงสัยนั้นๆ เรียกกันว่า “วิสัชนา”
หากพระมหากษัตริย์รัชกาลใดทรงฝักใฝ่ในทางธรรมมากเป็นพิเศษ อาจมีข้อความพระราชปุจฉาจำนวนมาก หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่บางที เอกสารก็ตกหล่นกระจัดพลัดพรายไป พบแต่คำถาม ไม่เหลือคำตอบ หรือพบเฉพาะคำถวายวิสัชนา แต่ค้นไม่เจอพระราชปุจฉา ก็มี
ธรรมเนียมนี้มีมาอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นที่เคยพบหลักฐานพระราชปุจฉาของสมเด็จพระเพทราชา
ย้อนกลับมาเข้าเรื่องพระบวรราชปุจฉาของวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง
ณ วันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๘๖ (ราวเดือนตุลาคม ๒๓๖๗) หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงปรารภท่ามกลางหมู่ข้าเฝ้าเหล่าเสนาอำมาตย์ ว่า “สังฆเภทกรรม” คือการทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกันนั้น ถือเป็นกรรมหนักที่สุดคือ “อนันตริยกรรม” หนึ่งในห้าประการที่รวมเรียกว่า “ปัญจานันตริยกรรม” อันได้แก่ มาตุฆาต (ฆ่ามารดา) ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา) อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์) โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต) และสังฆเภท (ทำให้สงฆ์แตกกัน) ซึ่งเมื่อ “บุคคลกระทำแล้วจะไปบังเกิดในอเวจีมหานรกสิ้นกัลปหนึ่ง”
ดังที่เคยเล่าเรื่องพระเทวทัตไปแล้ว ว่าด้วยเหตุที่ท่านกระทำอนันตริยกรรมถึงสองประการ ทั้งโลหิตุปบาทและสังฆเภท จึงต้องตกนรกอเวจีไปจนตลอดกัป/กัลป
พระราชปุจฉาของกรมพระราชวังบวรฯ คือ “ถ้าวันพรุ่งนี้จะสิ้นกัลป บุคคลได้กระทำสังฆเภทในวันนั้น ก็จะไปทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกแต่วันเดียวเท่านั้น”
นั่นคือถึงแม้หากเวลากัลปหนึ่งจะยาวนานเพียงใด แต่ก็ย่อมต้องมีที่สิ้นสุดไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นหากกระทำสังฆเภทวันนี้จนต้องตกนรกอเวจี บังเอิญว่าวันรุ่งขึ้นสิ้นกัลปพอดี ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้นได้ตกนรกชดใช้กรรมแค่เพียงวันเดียว ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใด
“จึงมีรับสั่งโปรดดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา นำข้อความพระราชปุจฉานั้นออกไปเผดียงแก่สมเด็จพระสังฆราช ให้ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมกันวิสัชนา จึงจะหายความสงสัย”
ส่วนที่ว่าพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ครั้งนั้นท่านมีวิสัชนาว่าอย่างไรนั้น ก็ขอเชื้อเชิญท่านผู้สนใจ ให้ไปค้นคว้าดูต่อในหนังสือชุด “ประชุมพระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕” เทอญ
--------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/12/30/
ยุคโลหะ/
culture
ร่องรอยจากยุคโลหะ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 72
30 ธันวาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
หากดูกันในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าคำบรรยายนรกขุมต่างๆ ในจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุนี้ เต็มไปด้วย “เครื่องมือเหล็ก” เช่นใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าถึงนรกชั้นสัญชีวะหรือสัญชีพ นรกชั้นแรก ว่า “มีสัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยมดุจหีบ กว้างแลยาวนั้นได้ ๑๐๐ โยชน์ ฝาผนังทั้ง ๔ ด้านแลพื้นเบื้องต่ำ ฝาปิดเบื้องบนนั้น แล้วไปด้วยเหล็ก”
ขณะที่ “นายนิรยบาล” ผู้คุม “ถือมีดแลพร้า และขวานถากขวานผ่า ศาสตราวุธต่างๆ คอยสับฟันทิ่มแทง ทุบตี แล่เนื้อเถือหนังแห่งสัตว์นรกทั้งปวง”
ส่วนกาฬสุตตนรก อันเป็นลำดับถัดมา “สัตว์ทั้งหลายอันไปบังเกิดในกาฬสุตตนรกนั้น ยมบาลทั้งหลายมัดด้วยพวนเหล็ก ผูกขึงลงไว้กับแผ่นดินเหล็กอันรุ่งเรืองเป็นเปลวเพลิง แล้วก็เอาสายบรรทัดเหล็กใหญ่เท่าลำตาลดีดลง…”
หรือตาปนรก ก็ “สะพรั่งไปด้วยหลาวเหล็ก หลาวเหล็กนั้นนับด้วยหมื่นเป็นอันมาก แต่ละเล่มๆ นั้นใหญ่ประมาณเท่าลำตาล นายนิรยบาลทั้งหลายย่อมจับเอาสัตว์นรกทั้งปวงนั้นขึ้นเสียบไว้บนหลาวเหล็ก”
นอกจากผนังเหล็ก หอก ดาบ หลาว ขวานที่เป็นเครื่องมือเหล็กแล้ว ในนรกก็ยังนิยมใช้ภาชนะเหล็ก เช่นหม้อเหล็กซึ่งบรรจุเหล็กหลอมละลาย ส่วนอุปมาความร้อนแรงของนรกก็คือ “เหล็กแดง” หรือเหล็กที่ถูกไฟเผาจนร้อนแดงจัด
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙) เคยทรงแสดงทัศนวิจารณ์ไว้ในพระนิพนธ์ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า ตอนหนึ่งว่า
“ในนรกก็ใช้เครื่องเหล็กตลอดถึงอาวุธ เป็นต้นว่าหอกดาบ เช่นเดียวกับในมนุษยโลก จึงน่าจะมีแสดงขึ้นในสมัยที่มนุษย์รู้จักใช้เหล็กและรู้จักทำหอกดาบ เป็นต้น ใช้แล้ว”
ความสำคัญของ “ยุคโลหะ” ก็คือเครื่องมือโลหะมีทั้งความแข็งแรง ทนทาน ขณะเดียวกันสามารถ “ลับคม” ใหม่ได้เรื่อยๆ นักโบราณคดีจึงค้นพบร่องรอยในหลายอารยธรรมว่าพร้อมๆ กับการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ คือการหล่อหลอมโลหะ ประดิษฐ์เป็นอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความ “มันมือ” ในการใช้เป็น “อาวุธประสิทธิภาพสูง” ฟาดฟันมนุษย์คนอื่น
หลักฐานจากยุคโลหะในสังคมมนุษย์หลายที่ทั่วโลกจึงเป็นร่องรอยของสงคราม การแผ่ขยายอำนาจของเผ่าพันธุ์หรือแว่นแคว้นต่างๆ การใช้อาวุธหอก ดาบ แหลน หลาว ฆ่าฟันกัน ซึ่งล้วนเป็นปฐมบทแห่งการเกิดขึ้นของ “อาณาจักร” ที่มีการปกครองรวมศูนย์อำนาจ ควบคู่ไปกับการขุดคูน้ำ สร้างแนวคันดินหรือกำแพงค่ายรอบชุมชน ไว้ป้องกันศัตรู นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าโครงกระดูกในหลุมฝังศพยุคโลหะ ปรากฏร่องรอยการบาดเจ็บล้มตายจากอาวุธ เพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนหน้าหลายเท่า
บรรดาอาวุธเหล่านั้นเองคงตามติดไปสร้างจินตภาพให้แก่ “นรก” สถานที่แห่งการประหัตประหารต่อเนื่องกันไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นด้วย
อีกนัยหนึ่งก็คือภาพของการลงทัณฑ์ใน “นรก” ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เมื่อสังคมมนุษย์เข้าสู่ “ยุคโลหะ” แล้ว หรือหากกำหนดอายุคร่าวๆ ก็คงเกิดขึ้นในอินเดียเมื่อประมาณไม่เกิน ๓,๐๐๐ ปีก่อน
เวลาสามสหัสวรรษมาแล้วนี้ ยังสอดคล้องกับ “จักร” ที่กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของราชาผู้ยิ่งใหญ่ หรือ “พระจักรพรรดิราช” ผู้ทรง “หมุนจักร”
“จักร” คือ “ล้อ” โดยนัยคงหมายถึง “รถศึก” ชนิดที่ใช้ม้าลากจูง เช่นเวชยันต์ราชรถของพระอินทร์ หรือรถทรงของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีในยุคสมัยใกล้เคียงกัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์สามารถจับม้าป่ามาฝึกหัด และเลี้ยงไว้เป็นสัตว์ใช้งาน รวมถึงการประดิษฐ์ “ล้อ” (spooked wheel) ที่มี “กง” คือขอบวงล้อ และ “กำ” คือซี่ล้อ
เมื่อเอาม้าและล้อมารวมกัน สิ่งที่ได้ก็คือ “รถศึก” อันเป็นอาวุธเคลื่อนที่เร็ว มีพลานุภาพในการบุกตะลุย ทะลุทลวงทำลายแนวรบของทหารเดินเท้าฝ่ายข้าศึกได้ราบคาบ
ไม่น่าเชื่อว่า หลักฐานเทคโนโลยียุคโลหะเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยังถูกแช่แข็งเก็บรักษาไว้ให้เราศึกษาได้ผ่านคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ อันเดินทางไกลจากภูมิภาคอินเดียเหนือ แล้วส่งต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมืองไทย พร้อมกับลัทธิศาสนาแต่โบราณนั่นเอง
---------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Online
Posts: 9,457
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
«
Reply #1 on:
18 February 2022, 17:01:18 »
https://www.sarakadee.com/2021/01/06/
โลกันต์/
Culture
อีกฟากหนึ่งของโลกันต์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 73
6 มกราคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ใน “กฎหมายตราสามดวง” เล่าเท้าความเรื่องต้นกำเนิดคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันเป็นแม่บทแห่งกฎหมาย ว่าครั้งหนึ่ง มโนสารอำมาตย์ ตุลาการของพระเจ้ามหาสมมติราช เกิดพลาดพลั้งตัดสินคดีความไปโดยไม่เป็นธรรม เมื่อตระหนักรู้ความผิดของตนในภายหลัง เกิดอัปยศอดสูใจ จึงหนีไปออกบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญเพียรภาวนาจนมีฤทธิ์ ต่อมาหวนระลึกถึงบุญคุณของเจ้านายเก่า คือพระเจ้ามหาสมมติราช จึงเหาะไปยัง “กำแพงจักรวาล” คือเขาจักรวาลที่เป็นขอบเขตนอกสุดของจักรวาล
“…เหนบาฬีคำถีร์พระธรรมสาตรอันคำภีรภาพเปนลายลักษณอักษรปรากฎิอยู่ในกำแพงจักรวาฬมีปะริมณฑลที่เท่ากายคชสาร มะโนสารฤๅษีจึงกำหนดบาฬีนั้นแม่นยำจำได้ แล้วกลับมาแต่งเปนคำภีร์พระธรรมสาตร…”
มโนสารฤๅษีจึงกลับมาเทศนาสั่งสอนพระเจ้ามหาสมมติราชให้ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมสืบมา ทางไทยเรา บางทีก็ออกนามของมโนสารฤๅษีว่า “พระมนู” จึงพลอยเรียกคัมภีร์ที่ท่านจดจำมาจากกำแพงจักรวาลว่า “พระมนูธรรมศาสตร์”
อยู่ไปอยู่มา คำว่า “มนู” ในภาษาไทย เลยใช้ในความหมายว่ากฎหมายไปด้วย ดังในราชทินนามชุด “ประเสริฐมนูกิจ-ประดิษฐ์มนูธรรม” อันกลายเป็นนามของถนนอยู่ในบัดนี้
ตามคัมภีร์โลกศาสตร์กล่าวว่าจักรวาลต่างๆ แต่ละจักรวาลล้วนมีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกันหมด คือมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง มีทวีปสี่ตั้งอยู่ประจำทิศ ขอบรอบนอกสุดคือเขาจักรวาลซึ่งเป็นแนวเขาวงกลมล้อมรอบจักรวาล
เมื่อแต่ละจักรวาลอันมีผังรูปกลมตั้งประชิดต่อเนื่องไป “ไตรภูมิพระร่วง” จึงอุปมาว่าเหมือนเกวียนสามเล่มจอดชนกัน หรือไม่อีกทีก็คือบาตรพระสามใบคว่ำไว้ใกล้กัน ย่อมเกิดมีช่องว่างขึ้นตรงกลาง
หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบคนสมัยนี้ ก็ต้องว่าเหมือนสั่งพิซซ่าสามถาดใหญ่มาวางชนกันบนโต๊ะกินข้าว มุมที่บาตรพระ/พิซซ่า/จักรวาล มาแตะขอบกัน ย่อมเหลือพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานโค้ง
ณ ที่นั้นแหละคือที่ตั้งของโลกันตนรก นรกต่ำตมสุด ซึ่งอยู่ “นอก” จักรวาล
ด้วยว่าแสงพระอาทิตย์พระจันทร์ซึ่งโคจรอยู่ในระนาบยอดเขายุคันธรย่อมส่องแสงมาถึงเพียงด้านหน้าของเขาจักรวาลซึ่งสูงกว่าเขายุคันธร ดังนั้น โลกันตนรกที่อยู่ “หลังเขา”นอกจักรวาล จึงตกอยู่ในความมืดมนอย่างที่ “ไตรภูมิพระร่วง” อุปมาไว้ว่าเหมือนหลับตาในคืนเดือนมืด
นรกขุมนี้มิได้มีไฟลุกท่วม ไอร้อนคละคลุ้ง เสียงร้องไห้คร่ำครวญ เสียงอาวุธหอกดาบ หรือการลงทัณฑ์ต่างๆ เหมือนนรกขุมอื่น หากแต่คือสถานที่มืดมิด ยะเยือก และเงียบงัน
สัตว์นรกที่ไปเกิดในโลกันตนรก ล้วนมีร่างกายอันใหญ่โต เล็บมือเล็บเท้าแหลมคม เพื่อตีลังกาห้อยหัวยึดเกาะกับหน้าผากำแพงจักรวาลด้านนอก เหมือนค้างคาวเกาะอยู่บนผนังถ้ำ และเมื่อต่างตกอยู่ในความมืดจึงไม่มีตนใดมองเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรม ต่างนึกเอาว่า “ฉันมาอยู่ที่นี้คนเดียว” ยิ่งไปกว่านั้น ทุกตนต่างหิวกระหายทุรนทุราย เมื่อใดที่ปีนป่ายตะเกียกตะกายไปพบสัตว์นรกอีกตัวหนึ่งที่กำลังห้อยโหนอยู่ดุจเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างนึกว่า “อาหารมาแล้ว!” จึงปรี่เข้าจับกินกันและกันเป็นอาหาร พอมือไม่เกาะผนังหน้าผาก็เลยพลาดพลั้งพลัดตกลงไป แล้วจ่อมจมและถูกย่อยสลายหายไปทันทีในทะเลน้ำกรดเบื้องล่างอันลึกไม่มีที่สิ้นสุด คัมภีร์อุปมาว่า “ดั่งก้อนอาจมซึ่งตกลงในน้ำ” หรืออึที่หล่นลงในชักโครกนั่นเอง
แล้วทันใดนั้นก็จะกลับมาเกิดใหม่เป็นสัตว์นรกปีนขึ้นไปห้อยหัวในความมืดมนอนธกาลอีกครั้ง วนเวียนกันไปไม่รู้จักจบจักสิ้น
ต่อเมื่อใดมีพระโพธิสัตว์ผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาปฏิสนธิในครรภ์พุทธมารดา แล้วประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เพียงในห้าวาระนี้เท่านั้น จะมีแสงสว่างจ้าเหมือนฟ้าแลบส่องวาบมาถึงขุมนรกอันมืดมิด ทำให้สัตว์นรกแห่งโลกันต์แลเห็นกันได้ครู่หนึ่ง ก่อนที่ทุกสิ่งจะหวนคืนสู่ความมืด เงียบ และหนาวเย็นดังเดิม
มานึกดูก็น่าแปลกใจเหมือนกัน ที่บนกำแพงจักรวาลด้านหนึ่งคือที่สถิตของ “พระมนูธรรมศาสตร์” หรือกฎหมายสูงสุด ส่วนด้านนอกกลับเป็นถิ่นที่อยู่ของภาคีสมาชิกแห่งโลกันตนรก เรียกได้ว่าอยู่ห่างกันนิดเดียวเท่านั้น
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2021/01/13/
นรกจกเปรต/
Culture
นรกจกเปรต – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 74
13 มกราคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
สมัยที่เป็นเด็กเล็ก ยังทันได้ยินคนรุ่นผู้ใหญ่สั่งสอนว่า ถ้าใครตีพ่อตีแม่ ชาติหน้า มือจะใหญ่เท่าใบตาล หรือถ้าด่าว่าพ่อแม่ ชาติหน้า ปากจะเท่ารูเข็ม มานึกเดี๋ยวนี้ จึงเข้าใจว่าท่านคงหมายถึงว่าต้องไปเกิดเป็นเปรตที่มี “มือเท่าใบตาล ปากเท่ารูเข็ม” นั่นเอง
และอาจด้วยเหตุนั้นเอง สมัยก่อนจึงเชื่อกันว่าเสียงร้องของเปรตจะเป็นเสียงกรี๊ดแหลมสูง คงเพราะต้องรีดหวีดเสียงผ่านช่องหรือรูที่มีขนาดเล็กเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม น่าสงสัยว่าบางทีคนโบราณเองก็คงก่อกรรมอย่างที่ว่านี้กันไว้ไม่น้อย อย่างในเทศกาลสารทเดือน ๑๐ ของทางภาคใต้ ของกินที่อุทิศให้แก่เปรตบรรพบุรุษผู้หิวโหย คือ “ขนมลา” ที่เส้นเล็กละเอียด เผื่อให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับบริโภคด้วยปากไซส์ sss ได้สะดวกนั่นเอง
“เปรต” เป็นรูปคำในภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลีเรียกว่า “เปต” มีความหมายว่า “ผู้ไปก่อน” ดังนั้นจึงมีนัยหมายถึงผีบรรพบุรุษ และดูเหมือนคนไทยพุทธสมัยก่อนจะถือกันว่าญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากมิได้สั่งสมบุญมาเพียงพอ ตายแล้วย่อมต้องไปเกิดเป็นเปรต
ไม่เว้นแม้แต่เจ้านายชั้นสูง
ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” ปริจเฉทที่ ๑๖ เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวพันกับพุทธประวัติ คือเรื่องพระเจ้าพิมพิสารกับพระญาติที่เป็นเปรต ดังนี้
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสร้างอารามเวฬุวัน (วัดป่าไผ่) อุทิศถวายแด่พระพุทธองค์แล้ว บรรดาเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่ในอดีตชาติ พากันมายืนออหวังรอรับส่วนบุญ แต่สุดท้ายก็ต้องพากันน้อยอกน้อยใจว่าพระเจ้าพิมพิสารมิได้อุทิศส่วนกุศลจากการนั้นให้แก่พวกตนเลย คืนนั้น พวกเปรตจึงมาชุมนุมประท้วง กรีดร้องโหยหวนทั้งพระนคร
พอพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเสียงเปรตร้องขอส่วนบุญดังนั้นแล้วจึงเกิดร้อนรุ่มพระทัย เช้าวันรุ่งขึ้นรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เวฬุวนารามอีกครั้ง กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วขอถวายภัตตาหารเช้าอีกรอบหนึ่ง เพื่อจะได้อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ พระพุทธเจ้าก็ประทานอนุญาต ทั้งในระหว่างพิธีนั้นยังทรงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารมีโอกาสทอดพระเนตรเห็นบรรดาเปรตบรรพบุรุษที่มารอรับส่วนกุศลอยู่ตามมุมห้องบ้าง บนหลังคาบ้าง
พอพระเจ้าพิมพิสารถวายน้ำให้แก่พระพุทธเจ้า ทันใดนั้นก็เกิดมีสระน้ำทิพย์เต็มไปด้วยดอกบัว ให้ฝูงเปรตได้อาบกิน สิ้นความกระหาย บรรเทาความรุ่มร้อน
ครั้นทรงถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์และพระสาวก ก็เกิดอาหารทิพย์ต่างๆ ขึ้นมาให้ฝูงเปรตได้บริโภคกันอย่างอิ่มหนำสำราญ
สุดท้ายเมื่อถวายผ้าจีวรและเสนาสนะ แล้วทรงอุทิศผลทานให้แก่ฝูงเปรต บนร่างกายของเปรต ก็เกิดเสื้อผ้าเครื่องทรงอันงดงามขึ้นทันที กระทั่งทำให้ “พ้นจากเปรตวิสัย มีรัศมีโอภาสดุจเทพยดาในดาวดึงสเทวโลก เห็นปรากฏแก่บรมกษัตริย์”
เปรตเป็นอีกภพภูมิหนึ่ง ในคัมภีร์เล่าไว้แยกออกมาต่างหากจากนรก บางทีก็กล่าวเหมือนกับว่าหากตกนรกแล้ว ชดใช้กรรมไปแล้ว แต่ยังเหลือ “เศษๆ” ของบาปอยู่ก็ต้องมา “ปัดเศษ” ชดใช้ด้วยการกลับมาเกิดเป็นเปรตอีก
ในคัมภีร์โลกศาสตร์แจกแจงเปรตกลุ่มต่างๆ ไว้ละเอียดลออ และดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในการ “ขู่” พวกที่ไม่นับถือ หรือรังคัดรังแกพระสงฆ์องค์เจ้า เช่นมีคนที่ต้องไปเกิดเป็นเปรต เพราะเอาสิ่งไม่สมควรบริโภคไปใส่ในอาหารถวายให้ผู้ทรงศีล ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ของเผ็ดร้อน หรือน้ำมูกน้ำลาย นอกจากนั้นยังมีเปรตที่ทำบาปเผากุฏิ วิหาร รวมถึงเปรตที่สร้างบาปกรรมจากการล้อเลียนพระพุทธเจ้าก็มี
แต่ตามความรับรู้ของคนไทยทั่วไป ดูเหมือนเปรตจะค่อนมาทาง “ผีๆ” มากกว่า เพราะอย่างสัตว์นรกนั้น ปรกติก็มิได้มาปรากฏตัวให้ใครเห็น แต่ภพภูมิของเปรตดูเหมือนจะอยู่ซ้อนๆ กับโลกมนุษย์อยู่ในที จึงมาปรากฏให้คนเห็นก็ได้ รวมถึงมา “ขอส่วนบุญ” อย่างที่เล่าในเรื่องพระเจ้าพิมพิสารด้วยก็ได้
อย่างในเรื่องสั้นชุด “เรื่องผี” ของครูเหม เวชกร ก็ยังมีตอนที่ไปถูกผีเปรตหลอกหลอนรวมอยู่ด้วย
------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Online
Posts: 9,457
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
«
Reply #2 on:
18 February 2022, 17:02:42 »
https://www.sarakadee.com/2021/01/20/
มงคลจักรวาล/
Culture
มงคลจักรวาล – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 75
20 มกราคม 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
“อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา”
ในบทสรรเสริญพระพุทธคุณอันเป็นบทสวดมนต์ประจำวันในโรงเรียนพุทธนั้น มีตอนหนึ่งที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงเป็น “โลกวิทู” (โล-กะ-วิ-ทู) หมายถึงว่าทรงตรัสรู้ซึ่งโลก ๓ ประการ คือสังขารโลก ๑ สัตตโลก ๑ และโอกาสโลก ๑
โอกาสโลกก็คือแผ่นจักรวาลที่อาศัยแห่งสัตว์โลกทั้งปวง ประกอบด้วยจักรวาลจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
ทุกจักรวาลล้วนมีองค์ประกอบพื้นฐานดุจเดียวกัน คือมีเขาพระสุเมรุ มีพระอาทิตย์พระจันทร์ มีทวีปทั้งสี่เหมือนกันหมด
บรรดาจักรวาลเหล่านี้ตั้งอยู่ชิดติดกันเหมือนเอาจานกินข้าวหรือถาดหลุมขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงบนพื้นให้ชนกันไปเรื่อยๆ ส่วนตรงมุมที่กำแพงจักรวาลสามแห่งมาแตะกัน ย่อมเหลือพื้นที่เป็นสามเหลี่ยมฐานโค้ง นั่นคือโลกันตนรก นรกชั้นต่ำที่สุด ดังกล่าวมาแล้ว
จักรวาลที่แผ่ไปทุกทิศทุกทางโดยไม่มีที่สิ้นสุดนั้น อุปมาของโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า ท้าวมหาพรหมผู้มีฤทธิ์ยอดเยี่ยม หากปรารถนาจะได้เห็นสุดขอบจักรวาล จึงออกเดินย่างเท้าไปได้ก้าวละจักรวาล ด้วยความเร็วดุจลูกศรที่นายขมังธนูยิงออกจากแล่งผ่านเงาต้นตาลไป (คงหมายความว่าต้นตาลมีขนาดลำต้นไม่ใหญ่นัก เงาจึงไม่กว้างเท่าไหร่) ก้าวตลอดเวลาอย่างนี้ไปจนโกฏปี (๑,๐๐๐ ล้านปี) ก็ยังไม่สามารถแลเห็นได้ว่าจักรวาลจะไปจบสิ้นลงตรงไหน
จักรวาลอันไม่สิ้นสุดที่แผ่ไปทุกทิศนี้ เรียกว่า “อนันตจักรวาล”
ในอนันตจักรวาล แต่ละหย่อมย่านต่างมีเกิดมีดับไม่พร้อมกัน แต่จะเกิดขึ้นหรือพินาศทีละแสนโกฏิจักรวาล (๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คือร้อยล้านล้าน) วนเวียนกันไป โดยจะมีอายุได้ ๖๔ อันตรกัลป แล้วจบสิ้นไปด้วยไฟที่เรียกว่า “ไฟประลัยกัลป” ที่จะไหม้ลามจนหมดแสนโกฏิจักรวาล
แต่ความพิเศษสำคัญของจักรวาลที่มนุษย์อาศัยอยู่ก็คือ ในบรรดาแสนโกฏิจักรวาลชุดเดียวกันนี้ มีจำเพาะเพียงที่นี่ ตรงนี้เท่านั้น ที่จะเป็นแดนเกิดของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น จักรวาลนี้จึงมีอีกนามหนึ่งว่า “มงคลจักรวาล” ด้วยเหตุที่ “สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ตรัสรู้แล้วแลเสด็จเข้าพระปรินิพพานล่วงไปๆ มากกว่าเม็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรนั้น ก็บังเกิดในมงคลจักรวาลอันตั้งในที่อันนี้สิ้น”
มงคลจักรวาลยังมีจักรวาลที่เป็น “พุทธเขต” ล้อมรอบอีกสามชั้น คือ ชาติเขต อาณาเขต และวิสัยเขต
“ชาติเขต” มีจำนวนจักรวาล ๑ หมื่น
เหตุที่เรียกว่า “ชาติเขต” เพราะขณะเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงสู่ครรภ์พุทธมารดา และเวลาประสูติ (ชาติ คือการเกิด) จักรวาลทั้งหมื่นที่ล้อมรอบมงคลจักรวาลพลันหวั่นไหวกระเทือนไปทั่ว
ถัดไปคือ “อาณาเขต” มีจำนวนจักรวาลแสนโกฏิจักรวาล (๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ร้อยล้านล้าน)
ขอบเขตนี้กำหนดจากเวลาเจริญพระปริตร (สวดมนต์บทพระปริตร) อานุภาพแห่งพระปริตรแผ่ไปทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาลที่ล้อมรอบมงคลจักรวาลอยู่
สุดท้ายคือวิสัยเขต กว้างขวางครอบคลุมตลอดทั้งอนันตจักรวาล ด้วยถือเอาพระญาณของพระพุทธเจ้า
“สุดแท้แต่ต้องพระพุทธประสงค์ในจักรวาลอันใด พระญาณก็แผ่ไปเห็นแจ้งรู้แจ้งในจักรวาลอันนั้น จักรวาลแผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้ พระพุทธญาณที่เห็นแจ้งรู้แจ้งในจักรวาลนั้น ก็หาที่สุดบ่มิได้เหมือนกัน”
น่าแปลกที่ความเข้าใจว่าจักรวาลนั้นมีจำนวนเป็น “อนันต์” คือไม่มีที่สิ้นสุดนี้ กลับตรงกับความรับรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง
-----------------------------------
https://www.sarakadee.com/2021/01/27/
เทวดาประกาศก/
Culture
เทวดาประกาศก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 76
27 มกราคม 2021
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าเมื่อใกล้ถึงกาลอวสานของจักรวาล คนทั้งหลายย่อมก่อกรรมทำบาปนานา ไม่เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่รู้จักว่าพี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย “แลเห็นกันดั่งกวางแลทราย ดั่งเป็ดแลไก่ ดั่งหมูแลหมา ดั่งช้างแลม้า ย่อมไล่ข้าไล่ฟันกันนั้น”
นี่คือภาวะที่รู้จักกันในนาม “มิคสัญญี” คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นมนุษย์อื่นเหมือน “มิค” / “มฤค” คือกวาง ไล่ล่าฆ่าฟันกันเอง
จากนั้น “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่าเกิดมีมหาเมฆเกิดขึ้น แล้วฝนตกใหญ่ทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล มนุษย์ทั้งปวงเห็นฝนมาก็พากันดีอกดีใจ หว่านข้าวทุกนาทุกไร่
แต่ครั้นพอข้าวกล้าขึ้นงามดีได้หน่อยหนึ่ง ฝนกลับทิ้งช่วง เหลือแต่เสียงฟ้าร้อง เห็นเมฆตั้งเค้ามืดมาแล้วก็หายไป
วนเวียนอย่างนี้อยู่นับร้อยปีพันปี จนพืชพันธุ์ล้มตายหมด
กระทั่งต้นไม้ใหญ่ประจำทวีป เช่นต้นหว้าในป่าหิมพานต์ ก็ยังยืนต้นแห้งตาย
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าต่อไปว่า พอเห็นเช่นนี้ คนที่มีปัญญาก็ยิ่งยึดมั่นในคุณธรรมความดี เมื่อตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหมลำดับสูงๆ ส่วนคนชั่วคนเลวที่ยังไม่รู้สำนึก ตายไปแล้วก็ถูก “ส่งต่อ” ไปยังนรกของจักรวาลอื่นๆ ที่จะยังไม่ถูกทำลาย
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายความว่า พอเกิดความร้อนแล้งเช่นนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ ทยอยล้มตายลง รวมถึงเทวดาระดับล่างๆ ซึ่ง “มีบุญญานุภาพน้อย หาอาหารทิพย์บริโภคบ่มิได้ เลี้ยงชีวิตด้วยดอกไม้ผลไม้เป็นอาหาร” ก็จุติ (คำนี้แปลว่าตายจากภาวะเทวดา) แล้วพากันไปเกิดบนพรหมโลก
ปุจฉาจึงมีขึ้นว่า เหตุใดสัตว์นานาจึงไปเกิดในพรหมโลกกันได้ง่ายดายมากมายนัก
วิสัชนาว่าเมื่อเวลานั้น มีเทวดาพวกหนึ่ง เรียกว่า “โลกพยุหเทวดา” ซึ่งมาจากสวรรค์ชั้นกามาพจรนี่แหละ เทวดาพวกนี้รู้ล่วงหน้าแล้วว่าถึงกาลที่จักรวาลใกล้ล่มสลายลง เพลิงประลัยโลกกำลังจะมาเยือน เกิดความสังเวชถึงตนเองและสัตว์โลก จึงมีความกรุณาลงมาป่าวประกาศแก่สัตว์โลกให้ได้รับรู้ทั่วกัน เรียกว่า “กัปปโกลาหล” คือมีเสียงประกาศกึกก้องว่าโลกกำลังจะถึงซึ่งความพินาศ
แต่โลกพยุหเทวดาเหล่านั้นมิได้ลงมาในรูปลักษณ์แห่งเทพ แต่กลับมาปรากฏกายด้วยลักษณาการของคนนุ่งผ้าแดง เดินสยายผม พลางร้องไห้โฮๆ
“มีเศียรเกล้าบ่มิได้กระหมวดมุ่นตกแต่งสยองสยายกระจายเกศ ใครได้เห็นก็น่าสังเวชเพทนา…มีแต่ผ้าแดงนุ่งมา จะได้ประดับทิพยอลังการสรรพาภรณ์หาบ่มิได้…ทรงกันแสงไห้มีดวงพักตร์นั้นเศร้าหมอง พระเนตรนองด้วยอัสสุชลธารา พระกรทั้งสองนั้นเช็ดน้ำตาดำเนินพลาง”
บรรดาโลกพยุหเทวดาตระเวนร้องประกาศข่าววันสิ้นโลกในอีกแสนปีข้างหน้าว่า สัตว์ทั้งหลาย วันตายของท่านใกล้เข้ามาแล้ว จงอย่าประมาท เร่งรัดจัดแจงสร้างกุศลกันเถิด จงมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เคารพบิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วท่านจะรอด
ถ้าเป็นสมัยนี้ โลกพยุหเทวดาก็อาจอยู่ตามสี่แยกและริมถนนใหญ่ ยืนถือโทรโข่ง ยกป้าย “วันสิ้นโลกใกล้เข้ามาแล้ว” หรือ “เร่งสร้างกุศลแล้วท่านจะรอด”
บรรดาที่ได้พบเห็นโลกพยุหเทพยดาต่างมุ่งมั่นรักษาศีลกระทำกุศล จึงได้ไปเกิดในเทวโลกกันเป็นอันมาก ตั้งแต่ “ฝูงเปรตแลฝูงอสุรกายแลสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีพรรณต่างๆ แต่บรรดาที่อยู่ในน้ำแลบกโดยต่ำจนมดดำมดแดง”
ก่อนหน้าวันงานพระเมรุพระมหากษัตริย์และเจ้านายสยาม มีธรรมเนียมเก่าว่าจะมี “นาฬิวัน” ซึ่งเป็นพราหมณ์พวกหนึ่ง เดินสยายผมตามมาในริ้วกระบวนอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพด้วย ดังเมื่อคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ก็มีทั้งพระมหาราชครูพราหมณ์ และพระครูพราหมณ์ในราชสำนัก เดินสยายผมติดตามในริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระบรมโกศ
ไม่ปรากฏคำอธิบายแน่ชัดว่าที่มาของเรื่องนี้เป็นเช่นไร แต่บางท่านก็ว่า ภาพพระครูพราหมณ์ที่เดินก้มหน้าสยายผม ชวนให้ระลึกถึงเหล่าโลกพยุหเทวดาที่มาป่าวประกาศจุดจบของจักรวาลอยู่ไม่น้อย
หากตีความตามนั้น รัชสมัยอันล่วงเลยไปแล้วย่อมมีนัยหมายถึงจุดจบแห่งจักรวาลเดิม
----------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Online
Posts: 9,457
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
«
Reply #3 on:
18 February 2022, 17:04:04 »
https://www.sarakadee.com/2021/02/03/
พระอาทิตย์ประลัยโลก/
Culture
พระอาทิตย์ประลัยโลก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 77
3 กุมภาพันธ์ 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
เมื่อจักรวาลจะถึงกาลอวสานนั้น จู่ๆ พระอาทิตย์ที่จากเดิมเคยมีอยู่ดวงเดียวก็เพิ่มมาเป็นสอง ผลัดกันโคจรทั้งวันทั้งคืน ดวงหนึ่งตกลง อีกดวงขึ้นแทนที่ ไม่มีกลางคืนค่ำมืดอีกต่อไป
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อธิบายเสริมว่าทุกวันนี้ยังอาจเห็นมีเมฆหมอกมาบดบังแสงบ้าง แต่
“รัศมีพระอาทิตย์ประลัยโลกครั้งนั้น ไม่มีเมฆแลหมอกอันใดอันหนึ่งปิดป้องกำบังเลย ผ่องใสยิ่งนัก”
พอมีพระอาทิตย์สองดวงส่องสว่างจ้าตลอดเวลา น้ำตามแม่น้ำต่างๆ เว้นแต่ปัญจมหานที ก็ระเหยไปหมด
อยู่ไปอยู่มา เกิดมีพระอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกเป็นสามดวง ดวงหนึ่งเพิ่งขึ้น ดวงหนึ่งลอยอยู่กลางหาวเวลาเที่ยงวัน อีกดวงหนึ่งกำลังจะลับฟ้า วนเวียนกันไปเรื่อยๆ น้ำปัญจมหานที ทั้งคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ ก็แห้งขอด หาน้ำสักหยดก็ไม่มีเหลือหลอ
ต่อมา พระอาทิตย์ประลัยโลกเกิดขึ้นอีกดวงเป็นสี่ดวง คราวนี้ น้ำในสระทั้งเจ็ดแห่งป่าหิมพานต์ แม้กระทั่งสระอโนดาตซึ่งไม่เคยกระทบแสงอาทิตย์โดยตรงมาก่อนเลย ก็เหือดหายไปสิ้น
คัมภีร์ “โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี” อุปมาว่าพระอาทิตย์สี่ดวงนี้ “ปรากฏเหมือนพระ ๔ รูปออกบิณฑบาตและยืนอยู่ตามลำดับประตูบ้านฯ”
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นถึงห้าดวง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่าน้ำในมหาสมุทรรอบเขาพระสุเมรุที่ลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ก็ค่อยๆ งวดลงทีละน้อย
“ตราบเท่ามีน้ำลึกอยู่ได้ ๗ ชั่วลำตาล แล้วงวดลงไปคงอยู่ ๖, ๕, ๔, ๓, ๒ ชั่วลำตาล แล้วงวดลงไปยังแต่ชั่วลำตาลเดียว แล้วงวดลงไปยังแต่ ๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒ ชั่วบุรุษ แล้วงวดลงไปยังแต่ชั่วบุรุษหนึ่ง แล้วงวดลงไปยังเพียงคอ เพียงนม เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแข้ง เพียงข้อเท้า”
ความสูงที่ใช้ลำต้นของต้นตาลเป็นมาตรวัด หรือที่เรียกกันว่า “ชั่วลำตาล” เป็นสิ่งที่ปรากฏเสมอในคัมภีร์พุทธศาสนา การวัดความสูงด้วยต้นตาล (ซึ่งคงสูงเหลือเกินแล้วในทัศนะของคนโบราณ) จึงกลายมาเป็นคำพูดติดปาก เช่นเมื่อพูดถึง “เปรต” ก็ต้องว่าตัวสูงยังกับต้นตาล
โดยเฉพาะ “๗ ชั่วลำตาล” คือต้นตาลเจ็ดต้นมาเรียงต่อกันขึ้นไป (ค้นดูในภาษาอังกฤษ ท่านใช้ว่า a height of seven toddy-palms) เป็นที่นิยมกันมาก เช่นที่เล่าว่าพระอริยบุคคลในพุทธประวัติสามารถเหาะขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง ๗ ชั่วลำตาล
สมัยก่อนยังเคยผ่านตาสำนวนว่าเมืองโคราช (นครราชสีมา) สูงกว่าทางบางกอกถึง ๗ ชั่วลำตาล
แล้ว “ลำตาล” หนึ่งๆ สูงแค่ไหน ?
เรื่องนี้ลองค้นดูแล้วยังหาไม่พบ แต่เมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าคัมภีร์ไล่ระดับจาก “ชั่วลำตาล” ลงมาถึง ๗ ชั่วบุรุษ หรือมนุษย์เจ็ดคนยืนซ้อนกันบนหัวคนข้างล่าง ดังนั้น ๑ ชั่วลำตาลย่อมต้องสูงกว่า ๗ ชั่วบุรุษ จึงขอสมมติให้ ๑ ชั่วลำตาลเท่ากับ ๘ ชั่วบุรุษไปพลางๆ ก่อน
ทีนี้ความสูงเฉลี่ยของ “บุรุษ” คนหนึ่ง สมมติให้เป็นชายร่างเล็กสักหน่อย ก็อยู่ราว ๑๖๕ เซนติเมตร ดังนั้น ๘ ชั่วบุรุษจึงเท่ากับ ๑๓.๒๐ เมตร
ชั่วลำตาลหนึ่งก็อาจสูงประมาณราวๆ ๑๓ เมตรกว่าๆ กระมัง ?
แต่ไม่ว่าจะสูงเท่าใด ตามคัมภีร์ก็คือเมื่อใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดกัลป พระอาทิตย์ที่เพิ่มมากจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แผดแสงแรงกล้าจนทำให้น้ำทั้งหมดในจักรวาลก็ค่อยๆ ระเหยหายไป จนหมด
---------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2021/02/10/
เจ็ดปลามันพุ่งหล้า/
Culture
เจ็ดปลามันพุ่งหล้า – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 78
10 กุมภาพันธ์ 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
จากหนึ่ง เป็นสอง เป็นสาม เป็นสี่ แล้วเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาห้าดวง น้ำในมหาสมุทรทั้งจักรวาลก็ไม่มีเหลือ
ครั้นมีพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ โผล่ขึ้นมาอีก จักรวาลก็สะสมความร้อนจนเต็มที่ก็เริ่มระอุ ควันขึ้นคละคลุ้ง
“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่า “ร้อนเร่าเท้าทั่วจักรวาล แลเห็นเป็นตะวันลุกอยู่เต็มทั่วจักรวาลดั่งท่านเผาหม้อ แลร้อนเร่าระงมอยู่ในเตาหม้อนั้น”
แล้วสุดท้าย เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นครบเจ็ดดวง ความร้อนก็ทำให้ไฟลุกพรึบขึ้น
สถานการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นลำพังจักรวาลเดียว แต่ลามต่อเนื่องกันไปทั้ง “แสนโกฏิจักรวาล” อย่างที่คัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” นับจำนวนพระอาทิตย์ไว้ให้เสร็จสรรพ ว่าในเมื่อแต่ละจักรวาลมีพระอาทิตย์เจ็ดดวง ดังนั้น “พระอาทิตย์ประลัยโลกจักรวาลที่เจ็ดๆ เป็นพระอาทิตย์ถึง ๗ แสนโกฏิด้วยกัน”
ขณะนั้น ผืนแผ่นดินทั้งหมดอาบชุ่มอยู่ด้วยน้ำมันปลาที่ “เจียว” ออกมาจากปลายักษ์ในมหาสมุทรทั้งเจ็ดจำพวกซึ่งติดแห้งตายแหงแก๋กันมาพักใหญ่แล้ว ในเมื่อปลาเหล่านี้แต่ละตัวมีขนาดมโหฬาร คืออยู่ระหว่าง ๘๐๐-๙๐๐-๑,๐๐๐ โยชน์ น้ำมันปลาปริมาณมหาศาลจึงเอ่อท่วมขังอยู่ในแอ่งซึ่งเคยเป็นมหาสมุทร
ดังนั้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นถึงเจ็ดดวง น้ำมันปลาถึงจุดวาบไฟ ก็เกิดมหาเพลิงลุกไหม้
ปรากฏการณ์นี้ในคัมภีร์เรียกว่า “ไฟบรรลัยกัลป์” หรือ “ไฟประลัยกัลป์” เรียกย่อๆ ว่า “ไฟกัลป์”
“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่า ไฟบรรลัยกัลป์เริ่มไหม้เขาอัสกรรณ เขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุดที่อยู่ติดกับมหาสมุทร รวมถึงพื้นดินชมพูทวีป ลุกลามไปยังเขาหิมพานต์ หมู่ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ที่เป็นบริวาร แล้วถึงมหาทวีปทั้งสามที่เหลือ ไหม้ลงไปจนหมดนรกทุกชั้น ตลอดถึงอเวจี
ขณะเดียวกัน ไฟลุกไหม้ลามเขาสัตตบริภัณฑ์ไล่ไปทีละชั้นๆ เผาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เขาพระสุเมรุตลอดทั้งแท่ง นับตั้งแต่ดาวดึงส์ของพระอินทร์บนยอดเขาลงไปถึงพิภพอสูรข้างใต้ ตลอดจนวิมานเงินวิมานทองวิมานแก้วของเหล่าเทวดาที่ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ เปลวไฟลุกท่วมขึ้นไปยังสวรรค์ ก่อนจะค่อยๆ ลุกลามไปติดสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนทั้งหกชั้นของสวรรค์กามาพจรพินาศสิ้น
ฉากตอนนี้กล่าวถึงใน “โองการแช่งน้ำ” คำสวดประกอบพิธีกรรมดื่มน้ำพระพิพัฒสัตยา (น้ำสาบาน) สมัยอยุธยาตอนต้นว่า
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ วาบจตุราบายแผ่นขว้ำ
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า แลบลํ้าสีลอง ฯ
(ถอดความว่า น้ำมันจากปลาทั้งเจ็ดพุ่งขึ้นเป็นไฟ เผาตั้งแต่อบายภูมิทั้งสี่ (จตุราบาย) คือเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และนรก จนถึงสวรรค์ดาวดึงส์ มอดไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี)
เท่านั้นยังไม่พอ เปลวไฟประลัยกัลป์ยังลามต่อไปจนถึงสวรรค์ชั้นพรหมที่อยู่สูงขึ้นไปอีก
ปวงเทพที่ยังเหลือพาตะเกียกตะกายหนีขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมที่ไฟไหม้ไม่ถึง เบียดเสียดเยียดยัดกัน
“ไตรภูมิพระร่วง” ใช้คำว่า “ดุจดั่งแป้งยัดขนานนั้นแล”
นั่นคือหมู่ที่อพยพหนีไฟขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นพรหมนั้นต้องเบียดเสียดกันราวกับแป้งที่อยู่ในทะนาน (ภาชนะจักสานชนิดหนึ่ง)
คำนี้คงตรงกับที่เรียกว่า “ยัดทะนาน” ในสำนวนไทยรุ่นหลัง อันมีความหมายว่าเบียดกันแน่น อัดกันแน่น ไม่มีที่ว่าง
----------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Online
Posts: 9,457
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [71-80]
«
Reply #4 on:
18 February 2022, 17:05:40 »
https://www.sarakadee.com/2021/02/17/
รสแผ่นดิน/
Culture
รสแผ่นดิน – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 79
17 กุมภาพันธ์ 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ในที่สุด เมื่อไฟประลัยกัลป์แผดเผาจักรวาลจนมอดมลายสิ้นแล้วจึงเหลือเพียงความว่างเปล่า
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่า
“อากาศเบื้องต่ำแลอากาศเบื้องบนนั้นตลอดโล่งเป็นลานอันเดียวกัน มืดมหันธการนั้นนักหนา…มืดอยู่นานถึงอสงไขยกัปหนึ่ง”
แล้วจากนั้นฝนก็ตก
ทีแรกก็โปรยปรายเป็นละอองฝน ก่อนที่เม็ดฝนจะหนาเม็ดขึ้นเรื่อยๆ
“ไตรภูมิพระร่วง” ลำดับขนาดไว้ว่าเริ่มจากฝนเม็ดเท่าดินธุลี (ฝุ่น) แล้วใหญ่ขึ้นเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่ว ลูกมะขามป้อม ลูกมะขวิด แล้วโดดไปเป็นเม็ดฝนไซส์เท่าควาย เท่าช้าง เท่าบ้าน ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๑ อุสุภ (๓๕ วา) ไปจนถึง ๒,๐๐๐ วา จากนั้นกลายเป็น ๑ โยชน์ (๘,๐๐๐ วา) ๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๐๐-๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ โยชน์
ฝนตกไม่หยุดไม่หย่อนกระทั่งน้ำท่วมซากจักรวาลเดิมให้กลายเป็นทะเลผืนเดียว ตรงที่ไฟไหม้ทั้งหมดถูกน้ำท่วมจนเต็มตลอดจนถึงชั้นพรหมโลก ลมพัดอุ้มน้ำนั้นไว้จนเป็นก้อนกลมเหมือนหยาดน้ำบนใบบัว
เวิ้งว้างมืดมิดไปทุกหนแห่ง
“อัคคัญสูตร” ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค กล่าวถึงความเป็นไปในวิวัฒนาการขั้นต่อมาของโลกไว้ว่า เมื่อพื้นที่ทั้งหมดในจักรวาลกลายเป็นทะเลใหญ่ท่วมถึงกันหมดแล้ว ในที่สุด ลมที่พัดไปมาก็ทำให้น้ำค่อยๆ แห้งงวดลงไป สิ่งที่ก่อนหน้านี้ถูกทำลายล้างไปโดยไฟประลัยกัลป์ก็ค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่สวรรค์ชั้นพรหมลงมา
แล้วจึงเกิดมี “รสแผ่นดิน” ลอยขึ้นมาเป็นแผ่นเหนือผิวน้ำ ท่านว่าเหมือน “ฝ้าน้ำนม” ที่ลอยอยู่บนน้ำนมที่เคี่ยวในกระทะให้งวดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น รสแผ่นดินนี้มีสีงาม กลิ่นหอม รสดี เหมือนกับเนยใส เนยข้น หรือน้ำผึ้งอย่างดี
เวลานั้นมี “สัตว์” เผ่าพันธุ์หนึ่งจุติลงมาจากอาภัสสรพรหมซึ่งยังเหลืออยู่ เพราะไฟประลัยกัลป์ไหม้ขึ้นไปไม่ถึง
สัตว์เหล่านี้มาจากสวรรค์ชั้นพรหมจึงปราศจากเพศ และไม่ต้องการอาหารเพราะอยู่ได้ด้วยปีติ มีรัศมีแผ่ซ่านรอบกาย สัญจรไปมาด้วยการเหาะเหินเดินอากาศ จึงสามารถอาศัยอยู่ในจักรวาลที่มืดมิดและมีแต่เวิ้งน้ำปกคลุมได้ (ฟังดูคล้ายๆ หิ่งห้อย!)
บังเอิญเหลือเกินว่ามีสัตว์ตนหนึ่งเหาะผ่านมาพบ “รสแผ่นดิน” เข้า เกิดอยากรู้อยากเห็น เพราะกลิ่นช่างหอมหวนยวนใจเหลือเกิน จึงลองร่อนลงมาเอานิ้วจิ้มแล้วเข้าปากชิมดู เกิดความรู้สึกซาบซ่าน ว่าสิ่งนี้อร่อยดี อยากกินอีกๆๆ
พอเห็นตัวอย่าง สัตว์ตนอื่นๆ จึงลองทำตาม พอติดใจในรสชาติแล้วบ้างถึงขนาดพยายามเอามือกอบ “รสแผ่นดิน” มากินให้ได้ทีละมากๆ โดยขยำปั้นกินเป็นคำๆ
ยิ่งกินเข้าไปมากเท่าใด รัศมีในกายก็ค่อยๆ หรุบหรู่ลงไปเท่านั้น
สุดท้ายรัศมีก็ดับสนิทหมดสิ้น โลกตกอยู่ในความมืดมิด สัตว์นั้นร้องขอแสงสว่าง จึงบังเกิดพระอาทิตย์พระจันทร์และดวงดาวขึ้น
เมื่อบริโภคกันมากเข้าๆ รสแผ่นดินก็หมดไป มี “ง้วนดิน” มาแทน ท่านว่าง้วนดินนั้นมีรูปร่างเหมือนเห็ด มีสีกลิ่นรสเหมือนเนยหรือน้ำผึ้งอีก
“ง้วน” คำนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นภาษาอะไรแน่ พจนานุกรมปัจจุบันเก็บไว้ในหลายความหมาย เป็นชื่อต้นไม้ก็มี แปลว่ายาพิษก็ได้ แต่เฉพาะความหมายที่ตรงกับที่ใช้ในคำว่า “ง้วนดิน” ก็คือ “เรียกโอชะของบางสิ่ง เช่น ง้วนดิน คือโอชะของดิน ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยว่ามีรสหวาน”
สรุปก็คือพจนานุกรมไม่ช่วยให้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลย (ฮา)
-------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2021/02/24/
กำเนิด-กษัตริย์/
Culture
กำเนิดกษัตริย์ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 80
24 กุมภาพันธ์ 2021 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
พอกินง้วนดินกันมากเข้าๆ กายของบรรดาสัตว์เหล่านั้นก็หยาบกระด้างไปทุกที
เมื่อ “ง้วนดิน” หมด ก็เกิดมี “เครือดิน” หรือ “เถาปทาลดาวัลย์” มาแทนที่
คัมภีร์ว่ามีรูปร่างเหมือนดอกผักบุ้ง แต่มีสีกลิ่นรสอย่างเดียวกับง้วนดิน ร่างกายของสัตว์ที่กินเครือดิน เริ่มมีเรี่ยวแรงมากยิ่งขึ้น ทว่าก็หยาบกระด้างลงไปอีก
เมื่ออ่านดูถึงตรงนี้แล้วก็คงรู้สึกได้ว่าท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้มีรสนิยม “ดึกดำบรรพ์” อย่างยิ่ง
นั่นคือสิ่งที่ถือว่ารสเลิศอร่อยล้ำจนนำมาเทียบเคียงรสชาติของรสแผ่นดิน ง้วนดิน และเครือดิน ให้ผู้อ่านรับรู้ ได้แก่นม เนย และน้ำผึ้ง ซึ่งน่าจะเป็นอาหารจากธรรมชาติอย่างวิเศษสุดของยุคโบราณ
ฝรั่งเองจึงมีสำนวน land of milk and honey (ดินแดนแห่งนมและน้ำผึ้ง) อันมีรากเหง้าดึกดำบรรพ์จากยุคพระคัมภีร์เก่าตามคติฮีบรู ว่าหมายถึง“ดินแดนแห่งพันธสัญญา” (promised land) ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะประทานให้แก่คนบางหมู่บางเหล่า ต่อมาเลยขยายความครอบคลุมว่าใช้หมายถึงถิ่นฐานที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนก็ได้
กลับมาที่ “อัญคัญสูตร” อีกครั้ง
สุดท้าย “เครือดิน” หายไปอีก เกิดมีข้าวสาลีที่ขึ้นเองโดยไม่ต้องไถหว่าน และ “สำเร็จรูป” สุดๆ คือสามารถนำมาบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีขัดสี เพราะไม่มีแกลบ ไม่มีรำ และไม่ต้องหุง
ที่สำคัญคือดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น
พอวันนี้ไปเก็บมากินแล้ว วันรุ่งขึ้นก็กลับงอกใหม่ขึ้นมาบริบูรณ์เหมือนเก่าอีก
อยู่ไปอยู่มา เกิดมีพวกขี้เกียจ คิดว่าเรื่องอะไรเราจะต้องไปเก็บข้าวทุกวัน วันละสองรอบ เช้าเย็น ทำไมไม่เอามามากๆ ให้พอกินไปได้นานๆ เล่า พอต่างคนต่างคิดแบบนี้ จึงเริ่มสะสมข้าวสาลีเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมากขึ้นๆ
ลงท้ายเหมือนเดิมคือความเสื่อมถอยของสรรพสิ่ง
ข้าวสาลีไม่ขึ้นงอกงามเองอีกต่อไป แถมยังกลายเป็นข้าวเปลือกมีแกลบมีรำให้ต้องขัดสี
นำไปสู่การหวงแหนที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิต ซึ่งลงเอยด้วยการริเริ่มปักปันเขตแดนกัน
แต่แล้วเกิดการลักขโมยขึ้นตามมา เริ่มมีคำโกหก การด่าทอ จนถึงขั้นลงไม้ลงมือทุบตีทำร้ายกัน
ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่าทั้งหมดต้องมาประชุมกันเพื่อคัดเลือก (หรือ “สมมติ”) ตัวแทน หรือ “หัวหน้า” คนหนึ่งขึ้นมาให้เป็นผู้ปกครอง คอยรับผิดชอบเรื่องต่างๆ เช่น ตำหนิผู้ควรตำหนิ เนรเทศผู้ควรถูกเนรเทศ
โดยทุกคนตกลงยินยอมปันส่วนข้าวในความครอบครอง ให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้
“ลิลิตโองการแช่งน้ำ” บรรยายฉากนี้ไว้ว่า
๏ เลือกผู้ยิ่งยศเปนราชาอะคร้าว
เรียกนามสมมติราชเจ้า จึ่งตั้งท้าวเจ้าแผ่นดิน ฯ
(เลือกผู้มีอำนาจมากให้เป็นราชา เรียกนามว่า “สมมติราช”)
นับแต่นั้นจึงเกิดผู้ที่เป็น “มหาสมมติ” ขึ้น ก็เพราะมหาชนได้แต่งตั้งขึ้นมา (“มหาชนสมมติ”)
และโดยเหตุที่เป็นเจ้าแห่งนาทั้งหลาย จึงเรียกคนผู้นั้นอีกอย่างหนึ่งว่า “กษัตริย์” เพราะเป็นผู้เป็นใหญ่ในหมู่เกษตรกร บ้างก็เรียกว่า “ราชา” เพราะเป็นผู้ทำให้คนเหล่าอื่นรักใคร่ดีใจโดยความชอบธรรม
แต่นั้นมาจึงเกิดชนวรรณะต่างๆ ขึ้น ถัดจากกษัตริย์ ก็คือพราหมณ์ แพศย์ ศูทร
อีกนัยหนึ่ง นี่ก็คือการอธิบายต้นกำเนิดของสังคมอินเดียโบราณนั่นเอง
-----------------------------------
Logged
Pages:
[
1
]
« previous
next »
SMF 2.0.4
|
SMF © 2013
,
Simple Machines
| Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.079 seconds with 20 queries.
Loading...