Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 04:15:00

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [51-60]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [51-60]  (Read 749 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« on: 17 February 2022, 21:28:46 »

สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [51-60]


https://www.sarakadee.com/2020/08/05/พญาช้าง-ปูทอง/
Culture


ประชากรแห่งหิมพานต์: พญาช้างกับปูทอง – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 51
5 สิงหาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




ในพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ตรงเชิงเสาต้นหนึ่งเขียนเป็นรูปช้างสองตัวกำลังต่อสู้กับปูสีทองตัวใหญ่ เสาต้นนี้ ถ้าหันหน้าเข้าหาพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปประธาน เป็นเสาทางฝั่งขวา ดูเหมือนจะต้นที่ ๒

ภาพนี้มีที่มาจากนิทานชาดกเรื่องหนึ่งอันมีสถานที่เกิดเหตุคือป่าหิมพานต์

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่ามีปูทองตัวใหญ่ขนาดเท่าลาน (นวด) ข้าวตัวหนึ่ง ชื่อ “มหากุลีระ” (คัมภีร์บางเล่มว่าชื่อ “มหากุลีรกะ”) อาศัยอยู่ในสระน้ำชื่อกุลีรสระ (ไม่รู้สระตั้งชื่อตามปู หรือจะเป็นตรงกันข้าม ?) เมื่อใดก็ตามที่ฝูงช้างลงไปอาบน้ำ ดื่มน้ำในสระ แล้วเกิดมีช้างตัวใดเดินรั้งท้ายอยู่ ปูทองก็จะเอาก้ามหนีบขาช้างแล้วลากลงไปกินเป็นภักษาหารทุกที สร้างความหวาดกลัวแก่บรรดาช้างเป็นอันมาก

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้าง ร่างกายงดงามกำยำ ใหญ่โตยังกะภูเขา มีกำลังแรงกล้า พญาช้างได้ทราบเรื่องปูทองก็คิดว่าในฐานะที่เป็นผู้ปกครองโขลงช้าง เราพึงป้องกันอันตรายแก่ช้างทั้งปวงด้วยการสังหารปูทองนั้นให้สิ้นชีวิตเสีย จึงวางแผนให้ช้างในโขลงของตนลงเล่นน้ำ เด็ดทึ้งรากบัวเหง้าบัวกินกันให้อิ่มเอมเพลิดเพลิน จากนั้นตอนจะขึ้นจากน้ำ “เราจะอยู่หลังแห่งท่านทั้งปวง”

ปูทองเห็นเข้าดังนั้นก็ปฏิบัติการตามขั้นตอนมาตรฐาน โดยตรงเข้าจัดการช้างตัวสุดท้าย “ง่าก้ามทั้งสองออก หนีบเอาเท้าแห่งพระบรมโพธิสัตว์ เปรียบประดุจคีมอันใหญ่ อันช่างเหล็กเอามาคีบสากเหล็กไว้เป็นอันมั่น พระบรมโพธิสัตว์จะฉุดจะคร่าสักเท่าใดๆ ก็บ่อมิอาจยังปูนั้นให้หวาดให้ไหวได้”

ปรากฏว่าผู้ที่มาช่วยพญาช้างไว้ได้กลับเป็นช้างพัง (ช้างตัวเมีย) ผู้เป็นภริยา นางใช้จริตหญิงๆ ชวนคุยเจ๊าะแจ๊ะ สรรเสริญรูปสมบัติคุณสมบัติของปูทอง สลับกับการออดอ้อนไปเรื่อยๆ จนปูใหญ่ฟังเพลินๆ แล้วเกิดเคลิบเคลิ้ม “ยินดีในสำเนียงเสียงช้างพัง ก้ามนั้นก็คลายขยายออกจากเท้าแห่งพญาคชสาร”

พญาช้างได้โอกาสจึงยกเท้าขึ้นแล้วโดดกระทืบปูทองจนกระดองแตก จากนั้นลูกโขลงที่ซ่อนอยู่ริมตลิ่งก็แห่กันลงมาเต็มสระ ช่วยกันยื้อยุดฉุดลากเอาปูทองขึ้นบนฝั่งแล้วรุมยำ “เหยียบย้ำกระทำให้แหลกเหลวเป็นจุณวิจุณไป”

เหลือเพียงก้ามสองข้างที่ขาดหลุดกระเด็นจากตัวปูตกกลับลงไปในสระ

น้ำในกุลีรสระนั้นมีทางน้ำเชื่อมต่อกับแม่คงคา เมื่อน้ำในแม่น้ำลดระดับลง น้ำจากสระจึงไหลลงสู่แม่น้ำ ก้ามปูทั้งสองก็ลอยตามกระแสน้ำออกไป ก้ามหนึ่งไหลไปถึงแดนมนุษย์ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเก็บได้ โปรดเกล้าฯ ให้นายช่างนำไปทำตะโพนมีชื่อว่า “อาณิกมุทิงคะ” เรียกในภาษาไทยว่า “ตะโพนก้ามปู”

ส่วนอีกก้ามหนึ่งลอยกระเพื่อมไปถึงมหาสมุทร พวกอสูรพบเข้าจึงนำไปทำเป็นกลองศึก ตั้งชื่อให้ว่า “อลัมพรเภรี” ปรากฏเลื่องลือว่าตีแล้วเสียงสนั่นครั่นครื้นเหมือนพายุฝนกำลังมา กระทั่งในสงครามครั้งหนึ่งระหว่างทัพอสูรใต้เขาพระสุเมรุ กับกลุ่มเทวดา คสส. บนสวรรค์ดาวดึงส์ ปรากฏว่าฝ่ายอสูรแตกพ่าย ทิ้งกลองอลัมพรเภรีไว้ในที่รบ พระอินทร์จึงยึดกลองก้ามปูเป็นของเชลย แล้วนำกลับขึ้นไปไว้ที่ดาวดึงส์พิภพบนยอดเขาพระสุเมรุ



ข้างๆ เสาในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ตรงที่เขียนเรื่องชาดกตอนพญาช้างกับนางช้างพังต่อสู้กับปูทองนี้ มีกลองใบหนึ่งตั้งไว้ แกะสลักไม้ส่วนของตัวกลองเป็นรูปก้ามปู ซึ่งก็ย่อมหมายใจให้เป็น “กลองก้ามปู” จากชาดกเรื่องนี้

กลองก้ามปูใบนี้ แม้ไม่ทราบประวัติแน่ชัดว่ามาจากที่ใดสมัยใด แต่กลับยิ่งช่วยสะท้อนความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า พระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์ฯ คือรูปจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ สถานที่เก็บรักษา “อลัมพรเภรี” ซึ่งพระอินทร์จับยึดเป็นค่าปฏิกรรมสงครามเมื่อตอนอสูรแตกทัพนั่นเอง


-----------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/08/12/พระปัจเจกพุทธเจ้า/
Culture


ประชากรแห่งหิมพานต์: พระปัจเจกพุทธเจ้า – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 52
12 สิงหาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


แดนหิมพานต์ยังเป็นถิ่นพำนักของเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือ “ปัจเจกโพธิ” ด้วย
พระปัจเจกพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วมิได้ทรงสั่งสอนผู้ใดอีก



ขัคควิสาณสูตร อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค” ในพระไตรปิฎก อุปมาอาการ “รู้แต่พูดไม่ออก” นี้ไว้อย่างงดงามว่า

“พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เอง แต่ไม่อาจสอนให้คนเหล่าอื่นรู้…การบรรลุธรรมย่อมมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเหมือนกับรสแห่งกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น”

ในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ บนผนังระหว่างหน้าต่าง เขียนภาพพุทธประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้หลายพระองค์ เรื่องราวส่วนมากคล้ายคลึงกัน คือโดยมากเป็นพระราชา แต่แล้วเกิดเหตุสะกิดใจอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดเบื่อหน่ายโลก บางองค์ก็ “สว่างวาบ” ตรัสรู้ขึ้นมา ณ ขณะนั้นเอง เช่นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เดิมเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี เมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มขึ้นมา พระบิดาจะจับแต่งงาน แต่เจ้าชายไม่ต้องการ จึงออกอุบายให้ช่างหล่อรูปนางงามด้วยทองคำขึ้นรูปหนึ่ง แล้วประกาศตั้งเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องได้นางผู้มีรูปโฉมงดงามระดับนี้เท่านั้นจึงจะยอมอภิเษกด้วย พระบิดาจึงให้อำมาตย์จัดขบวนแห่รูปนั้นตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ไปถึงที่ใดก็ให้ปลูกโรงตั้งรูปนั้นไว้ แล้วรอสดับรับฟังเสียงคนพูดจากัน ผ่านไปหลายเมืองก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

จนเมื่อไปถึงเมืองสาคะละนคร ทีมอำมาตย์จากพาราณสีก็ทำตามเคย ปลูกโรงปะรำไว้ที่ท่าน้ำอันเป็นย่านที่จะมีคนผ่านไปมามาก ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ต่างๆ เสร็จแล้วเอารูปทองขึ้นตั้งไว้ ปรากฏว่าเมื่อนางกำนัลของพระธิดาเดินผ่านมาก็ร้องทักขึ้นด้วยความตกใจว่า “พระแม่เจ้า! มาประทับอยู่ที่ท่าน้ำทำไมกัน?” แต่ครั้นพอเดินเข้ามาใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นแค่ประติมากรรม จึงหันไปพยักเพยิดกันเองว่า “โถ่เอ๋ย! พระแม่เจ้าของเรางามกว่านี้เป็นไหนๆ” พออำมาตย์จากพาราณสีได้ยินดังนั้นจึงขอเข้าเฝ้าพระราชาแห่งสาคะละนครทันที พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายรูปทองคำ และทูลขอพระราชบุตรี ก็ได้รับพระราชทานตามประสงค์

ครั้นพออัญเชิญพระนางมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว ก็รับไปพักคอยไว้ก่อน ณ พระราชอุทยาน ยังไม่ทันไร ปรากฏว่าพระราชธิดาจากสาคะละนครก็กลับประชวรสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายได้ทราบเรื่องเข้าเกิดมีพระทัยสลดสังเวช ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที จึงเหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลตามพุทธประเพณี

หน้าผา “นันทมูล” อยู่ในเขตเขาคันธมาทน์ หนึ่งในห้าเทือกเขาที่แวดล้อมสระอโนดาต ตามธรรมเนียม เมื่อมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่เข้ามาสู่พื้นที่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็จะเสด็จมาต้อนรับ พร้อมกับซักถามที่มาที่ไป ว่ามีประวัติความเป็นมาแห่งการตรัสรู้เช่นไร จากนั้นจึงร่วมกันอนุโมทนา

ส่วนในวันอุโบสถ ทุกองค์ก็จะมาร่วม “ลงโบสถ์” ด้วยกัน ณ “โรงรัตนะ” ศาลาใหญ่ที่พำนักของพระปัจเจกโพธิ ทว่าเมื่อมาอยู่ในเขตป่าดงพงพีเช่นนั้น ผู้ที่จะมาดูแลเป็นโยมอุปัฏฐากจึงได้แก่บรรดาช้างในป่าหิมพานต์ ดังที่แสดงไว้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ก็มีภาพช้างหลากสีสันช่วยกันหาผลหมากรากไม้มาถวาย บ้างก็ก่อกองไฟผิงให้ความอบอุ่นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า โดยใช้งวงจับเอาท่อนไม้ไผ่มาเสียดสีกันให้ลุกเป็นไฟ

ศิลาจารึกรุ่นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งผนึกติดอยู่ใต้ภาพ บรรยายว่า

“ในเฃาคันธมาทนั้นมีเงื้อมแห่งหนึ่งชื่อนันทมูละกะ มีถ้ำแก้วถ้ำทองถ้ำเงินอยู่ในเฃานั้น ที่ประตูถ้ำแก้วมีไม้อุโลกย์ต้นหนึ่งสูงได้โยชน์หนึ่ง เปนที่ประชุมพระปัจเจกโพธิในวันอุโบสถและวันอันพระปัจเจกโพธิได้ตรัสใหม่ก็ไปสู่ที่นั้นทุกๆ พระองค์ อนึ่งช้างตระกูลฉัตทันต์ทังปวงอันอยู่ในแว่นแคว้นฉัตทันต์สระนั้นย่อมปนิบัดิพระปัจเจกโพธิจ้าวเปนนิจ์”

รูปลักษณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าตามคัมภีร์คือ มีพระเกษาและพระมัสสุประมาณ ๒ องคุลี ราวกับพระเถระมีพรรษา ๑๐๐ พรรษา  ประกอบพร้อมด้วยบริขาร ๘ ซึ่งในจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ก็วาดให้เป็นเหมือนพระภิกษุ พระเศียรโล้น แต่ปิดทองพระวรกายเหมือนกับภาพเขียนพระพุทธเจ้าที่พบเห็นทั่วไป


------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #1 on: 17 February 2022, 21:30:19 »


https://www.sarakadee.com/2020/08/19/มเหศวร/
Culture


ประชากรแห่งหิมพานต์: ทีมมเหศวร – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 53
19 สิงหาคม 2020




จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนายังเผื่อแผ่ที่ทางให้แก่มหาเทพของฮินดูด้วย คือพระอิศวร ผู้สถิต ณ เขาไกรลาส หนึ่งในห้าเทือกเขาที่โอบล้อมสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ คัมภีร์ออกชื่อว่า “พระมเหศวร” หรือ “มหิสรเทพบุตร” และเล่าถึงพฤติกรรมการท้าทายอำนาจพระพุทธองค์ ไว้หลายเรื่อง

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ มหิสรเทพบุตร พร้อมด้วยนางอุมาผู้เป็นชายา และบริษัทบริวาร วางแผนเข้าไป “ป่วน” ด้วยการ “ตั้งสนามฟ้อน” จับระบำรำเต้น เรียกร้องความสนใจจากผู้มาสดับพระธรรมเทศนา พร้อมประโคมดนตรีเสียงอึกทึก ทว่าแผนการกลับล้มเหลว เพราะไม่มีใครสนใจใยดีอะไร มหิสรเทพบุตรได้รับความอับอาย ต้องหนีกระเซอะกระเซิงกลับไปยังเขาไกรลาสครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมามหิสรเทพบุตรกลับมาท้าประลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้าอีกครั้ง ด้วยการชวนเล่น “ปิดตาหาเร้น” (ซ่อนหา) กัน โดยมหิสรเทพบุตรให้พระสมณโคดมปิดตาก่อน แล้วจึงเนรมิตกายให้ละเอียดเท่าปรมาณู แทรกตัวลงไปอยู่ในก้อนดินลึกแสนชั้น แล้วจึงเปล่งเสียงออกมาให้ฟังดูเหมือนอยู่ใกล้ๆ ว่า “เอาหละ! ซ่อนเสร็จแล้ว เริ่มหาได้”

ทันใดนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลให้แผ่นดินแยกออกจากกัน แล้วยื่นพระหัตถ์ซ้ายลงไปล้วงหยิบเอามหิสรเทพบุตรขึ้นมากับทั้งดินแสนชั้นที่ห่อหุ้มอยู่ ก่อนจะใช้ปลายเล็บพระหัตถ์ขวาสะกิดทีเดียว ดินที่มหิสรเทพบุตรกำบังตัวไว้ ๙๙,๙๙๙ ชั้นก็ปลิวกระจายไป เหลือเพียงชั้นในสุดชั้นเดียว จากนั้นจึงตรัสเรียกซ้ำๆ อีกสามครั้ง ว่าให้ออกมาเถิด เพราะพระองค์ทรงทราบแล้วว่ามหิสรเทพบุตรไปซ่อนอยู่ที่ใด

ฝ่ายมหิสรเทพบุตรได้ยินแล้วก็ยังนึกว่า “โดนอำ” เพราะพระพุทธองค์จะไปรู้ได้อย่างไรว่าตนซ่อนที่ไหน นี่ก็คงแค่ส่งเสียงเรียก หลอกให้ออกจากที่ซ่อนเท่านั้นเอง จึงนอนนิ่งเฉยเสีย ไม่ยอมแสดงตัว พระพุทธองค์จึงทรงเริ่มพรรณนาอวัยวะต่างๆ ของฝ่ายที่ซ่อนอยู่ไปทีละส่วนๆ เพื่อยืนยันว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งเห็นจริง จนมหิสรเทพบุตรยอมจำนน ออกจากก้อนดินที่ซ่อนตัว “หมู่เทพยดาแลยักษ์นาคแลสุบรรณทุกถ้วนหน้าก็ตบมือบันลือเสียงสำรวลเป็นอันดัง”

จากนั้นก็ถึงคราวผลัดให้พระสมณโคดมเป็นฝ่ายซ่อนบ้าง ปรากฏว่าทรงนิรมิตกายละเอียดเล็กกว่าปรมาณู แล้วไปอยู่ใกล้เปลือกตาของมหิสรเทพบุตร (บางคัมภีร์ก็ว่าอยู่เหนือหน้าผาก หรือไม่ก็ลอยอยู่เหนือศีรษะ) ฝ่ายหาเปิดตาออกมา ค้นเท่าใดก็หาไม่พบ ซอกซอนดูทุกหนทุกแห่งในจักรวาล เทียวไปเทียวมาเจ็ดรอบก็ยังไม่เจอจนเหนื่อยล้าอ่อนแรง ยกธงขาวยอมแพ้ กราบอัญเชิญพระพุทธองค์ให้ปรากฏแก่สายตา แล้วปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก ยอมรับนับถือพระไตรสรณาคมแต่นั้นมา

ในทางดนตรีไทยจึงมีคำอธิบายต้นกำเนิดของเพลง “สาธุการ” ว่ามีกำเนิดจากเพลงที่ใช้บรรเลงเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จลงในโอกาสนี้นั่นเอง “สาธุการ” ถือเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่ว่าศิลปินไทยที่ผ่านพิธีครอบครูแล้ว เมื่อได้ยินเพลงนี้ต้องยกมือประณมไหว้เหนือหัวแสดงสักการะทุกครั้งไป

แน่นอนว่าด้วยเหตุที่เป็นเรื่องในคัมภีร์พุทธศาสนาจึงเล่าเสียจนพระศิวะหรือพระอิศวร ซึ่งในทางฮินดูถือเป็นมหาเทพหนึ่งในสามของ “ตรีมูรติ” ร่วมกับพระพรหม และพระนารายณ์ (พระวิษณุ) เป็นฝ่ายต้องพ่ายแพ้แก่พุทธานุภาพ นั่นคือแม้มิได้ปฏิเสธความมีอยู่ของพระศิวะ แต่เมื่อต้องรวมอยู่ใน “จักรวาล” ของพระพุทธเจ้า ก็เลือกเล่าให้อยู่ในฐานะเทพชั้นรองไปเสีย

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าต่อด้วยว่า ภายหลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มหิสรเทพบุตรได้สร้างมหาวิหารขึ้น ณ เขาไกรลาส แล้วเนรมิตพระพุทธปฏิมากรอัน “งามเปรียบประดุจดังพระองค์สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมีพระชนม์อยู่” แล้วยกขึ้นเหนือหัวอัญเชิญไปประดิษฐานยังมหาวิหารนั้น

ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” มีรายละเอียดลงไปอีกว่า พระมเหศวรได้มีเทวบัญชาไว้ว่า “ต่อไปเบื้องหน้าถ้าผู้ใดมีน้ำใจคำรพจะสร้างรูปอาตมา จงประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าไว้เหนือศีร์ษะแห่งอาตมา ถ้าผู้ใดทำตามคำอาตมาแล้ว จะปรารถนาสิ่งใดก็สำเร็จที่ความปรารถนาผู้นั้น”

เนื้อหาตรงนี้คงแต่งเสริมขึ้น เพื่ออธิบายที่มาของพระพุทธรูปปางหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “ปางโปรดมหิศรเทพบุตร” ทำเป็นรูปพระมเหศวร โดยมีลักษณะตามเรื่องเล่าว่าด้วยการเล่น “ปิดตาหาเร้น” ครั้งนั้น คือมีพระพุทธรูปประทับนั่ง หรือยืน อยู่เหนือเศียร

พระพุทธรูปปางนี้มีตัวอย่างอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างๆ สนามหลวง) ใครสนใจก็ไปชมดูได้


-------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/08/26/การเวก-กรวิก/
Culture


ประชากรแห่งหิมพานต์: การเวก กรวิก – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 54
26 สิงหาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่าในบรรดาสัตว์สี่เท้า (จตุบาท) ไกรสรราชสีห์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษประหลาดกว่าอย่างอื่น ส่วนถ้าเป็นสัตว์สองเท้า (ทวิบาท) ย่อมต้องได้แก่ “นกการเวก”



คัมภีร์พรรณนาว่านกการเวก (หรือ “กรวิก” หรือ “การวิก”) มีวิธีกินมะม่วงแห่งหิมพานต์ด้วยการ “จิกผลมะม่วงด้วยจะงอยปากแห่งตน แล้วก็ดื่มกินซึ่งน้ำแห่งผลมะม่วงนั้น” เมื่อได้ลิ้มรสน้ำมะม่วงเอร็ดอร่อยแล้วก็รู้สึกคึกคักจึงส่งเสียงร้อง “เปรียบประดุจบุคคลอันชำนาญปี่ แลเป่าปี่แก้ว สำเนียงนั้นแจ่มแจ้งจับจิต เสนาะสนั่นป่า” เสร็จแล้วก็โผบินขึ้นสู่ยอดไม้ คอยสดับรับฟังเสียงร้องของตัวเองที่สะท้อนก้องอยู่ในหุบเขานั้นต่ออีก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังต่างเคลิบเคลิ้มกับเสียงร้องของนกการเวกจนลืมตัวขาดสติ เสือที่ไล่จับกวางเป็นอาหารก็ยืนยกขาค้างราวกับรูปปั้น ส่วนกวางที่วิ่งหนีเสือก็ลืมความกลัว ยืนนิ่งเหม่อฟัง กระทั่งนกบนฟ้าและปลาในน้ำ ต่างก็เอาใจจดใจจ่อกับเสียงขับขานหวานแว่ว จนลอยตัวนิ่งไม่ไหวติง

อย่างไรก็ดี นกชื่อเดียวกันนี้อาจมีถิ่นที่อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งแห่งด้วย เพราะมีเขาสัตตบริภัณฑ์ทิวหนึ่งที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุชื่อ “กรวิก” หรือ “การวิก” ซึ่งคัมภีร์ให้คำอธิบายไว้ดังนี้

“มีนกการเวกอยู่เป็นอันมาก นกการเวกทั้งหลายสำเนียงไพเราะจับจิต ยังสัตว์ทั้งปวงให้ละเลิงหลงงงงวยด้วยสำเนียงแห่งตนนั้น ย่อมสำนักอาศัยอยู่ที่ภูเขานั้นโดยมาก”

ดังนั้นถ้ามีการทำคู่มือดูนก (Bird Guide) ระดับจักรวาล ก็ต้องระบายสีในแผนที่ว่านักดูนกอาจพบเห็นนกการเวกได้ ทั้งบนภูเขาวงแหวนชื่อกรวิก และในป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป

นอกจากนั้นแล้ว บางครั้งบางคราวนกการเวกยังบินเข้ามาในชมพูทวีปส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้บ้าง (จึงอาจนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “นกอพยพ” ด้วย) ทั้งนี้เนื่องด้วยบุญญาธิการบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม เช่น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือพระเจ้าอโศกมหาราช นกวิเศษนี้ (รวมถึงนกจากหิมพานต์ชนิดอื่นๆ) จึงละทิ้งถิ่น มาขับร้องบำเรอท้าวพระยามหากษัตริย์แทน

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่า

“อันว่านกทั้งหลายอันมีในป่า มีอาทิ คือนกกรวีก แลนกยูง แลนกกระเรียน แลนกกระเหว่าทั้งหลาย เทียรย่อมชวนกันมาฟ้อนรำตีปีกฉีกหาง แลร้องด้วยสรรพสำเนียงเสียงอันไพเราะ มาถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราชทุกวันบ่มิได้ขาดแล นกฝูงนั้นเทียรย่อมฝูงนกอันอุดมแลมาแต่ป่าพระหิมพานต์โพ้นไส้”

ถ้าว่าตามคัมภีร์ เรารู้แล้วว่านกการเวกร้องเสียงไพเราะ แต่ยังมีปัญหาอีกข้อหนึ่งคือแล้วนกการเวกมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เคยมีจดหมายกราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ภายหลังรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ “บันทึกความรู้ต่างๆ”) ว่าท่านได้ให้เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ฯ สอบค้นตำราดูว่านกการเวกรูปร่างเป็นอย่างไร ปรากฏว่าพบหลายแบบ

ใน “สมุดภาพสัตว์หิมพานต์” เขียนไว้ให้มีหัว มือ และตีน เหมือนครุฑ มีปีกอยู่ที่สองข้างตะโพก แต่ขนหางคล้ายใบมะขาม ยาวอย่างขนนกยูง

ส่วน “สมุดภาพรอยพระพุทธบาท ฉบับวังหน้าในรัชกาลที่ ๓” เขียนรูปมีลักษณะคอยาว หัวเหมือนนกกระทุง ขนหางเป็นพวงเหมือนไก่ แต่มีขายาวเหมือนนกกะเรียน

ที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าเพราะนกการเวกเป็น “สัตว์หิมพานต์” ที่ไม่เคยมีใครเห็นตัว อีกทั้งในคัมภีร์ก็ไม่เคยอธิบายว่ารูปร่างมันเป็นอย่างไรแน่ ต่างคนจึงต่างนึกฝันกันไปตามจินตนาการ

แต่แม้เราอาจไม่เคยได้เห็นตัวนกการเวกเป็นๆ ในแดนมนุษย์ แต่มีมรดกอีกอย่างหนึ่งของนกการเวกที่ทิ้งไว้ให้เราเห็น คือ “ขี้”

ดังมีพลอยสีเขียวอมฟ้าชนิดหนึ่ง ในภาษาไทยเรียกกันว่า “พลอยขี้นกการเวก”

หรือที่ในภาษาฝรั่งเรียกว่า turquoise (เทอร์ควอยซ์-หินของพวกเติร์ก คือชาวตุรกี) นั่นเอง


---------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #2 on: 17 February 2022, 21:31:50 »


https://www.sarakadee.com/2020/09/02/หิมพานต์/
Culture


ประชากรแห่งหิมพานต์: Human of Himava – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 55
2 กันยายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


๏ นักสิทธิวิทยา     ถือคทาธนูศร
กินรินแลกินร     รำฟ้อนร่อนรา
๏ ห่านหงษ์หลงเกษม     อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า     หาบผลาเลียบเนิน
๏ คนป่าทั้งม่าเหมี่ยว    ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน     พนมเนินแนวธาร

“บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี” โดยสุนทรภู่



นอกจากบรรดาสัตว์นานาชนิดและเหล่าอมนุษย์แล้ว ในอาณาเขตป่าหิมพานต์ยังมีมนุษย์บางจำพวกอาศัยอยู่ด้วย จึงขอหยิบยกมาพูดถึงรวมกันไว้ตรงนี้ เผื่อใครจะพาคณะทัวร์ไปท่องเที่ยวทางนั้นจะได้อาศัยเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการบรรยาย

“นักสิทธิวิทยา” เป็นการเรียกพ่วงกันโดยหมายเอาเสียงคล้องจอง “นักสิทธิ” และ “วิทยาธร” แปลว่า “ผู้สำเร็จ” และ “ผู้ทรงไว้ซึ่งวิชา” หมายถึงวิชาเวทมนต์

ตามความรับรู้ของคนไทย นักสิทธิวิทยาธรดูเหมือนจะมีแต่ที่เป็นเพศชาย แถมยังดูท่าทางเป็น “เด็กแว๊น” หรือ “จิ๊กโก๋” ต่างตนต่างอยู่เป็นเอกเทศ เหาะร่อนไปมาได้ด้วยฤทธิ์ของเวทมนต์หรือไม่ก็ด้วยพลังของอาวุธประจำตัว (คือ “คทา-ธนู-ศร” ในบทเห่กล่อมข้างต้น) วันๆ ก็คงไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรในชีวิตเลยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเที่ยวเล่น นอกนั้นก็เป็นเรื่องทับเส้น แย่งหญิง ชิงนาง อะไรทำนองนั้น

ส่วนนักพรตที่เป็น “พระฤๅษีชีป่า” หรือ ““ฤๅษีชีไพร” ก็เป็นมนุษย์ธรรมดานี่เอง เพียงแต่ท่านออกบวชแสวงหาความวิเวก ถือศีลกินผักหญ้าผลไม้ป่าอยู่ท่ามกลางความรกชัฏแห่งหิมพานต์



มีนิทานเกร็ดที่เล่ารวมไว้ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ว่าครั้งหนึ่งมีพระดาบสอาศัยอยู่ในศาลาใกล้กับถ้ำซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกินนร ตรงปากถ้ำนั้นมีแมงมุมใหญ่ชักใยอยู่คอยดักจับกินนรแล้วกัดหัวดูดเลือดเป็นอาหาร ขณะที่เผ่ากินนรตัวเล็ก ไม่มีกำลังวังชา และไม่มีน้ำใจอาจหาญจะไปต่อสู้กับสัตว์ร้ายได้ จึงพากันมาอ้อนวอนขอร้องพระดาบสให้ช่วยจัดการแมงมุมให้ที แต่ท่านตอบปฏิเสธเด็ดขาด อ้างตนว่าเป็นบรรพชิต ไม่อาจทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้

พวกกินนรจึงกลับไปวางแผนใหม่ คราวนี้ส่งนางกินรีวัยรุ่นชื่อรัตนาวดี มายั่วยวนจนดาบส “ตบะแตก” ลืมคติธรรมที่ตั้งมั่นไว้แต่เดิม ยอมบุกถ้ำ ลงมือตีแมงมุมจนตาย จากนั้นพระดาบสจึงอยู่กินกับนางรัตนาวดี มีลูกหลานสืบต่อมาตราบสิ้นอายุขัย

เคยพบนิทานเรื่องนี้เขียนเป็นภาพจิตรกรรมแทรกปนอยู่กับเรื่องอื่นๆ บนผนังอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแม้จะเป็นวัดเก่ารุ่นกรุงศรีฯ แต่เฉพาะภาพวาดฝาผนัง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นทีหลัง คงในราวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงว่านิทานเรื่องนี้ต้องเป็นที่รู้จักกันดีไม่น้อย

อีกคำที่อาจดูแปลกหูแปลกตาบ้างคือ “ม่าเหมี่ยว” ซึ่งปรกติเราจะคุ้นหูกันแค่ในฐานะชื่อพันธุ์ชมพู่อย่างหนึ่ง ส่วนที่เป็นมนุษย์นั้น ดูเหมือนไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก นอกจากว่าพบมีปะปนอยู่ในฉากธรรมชาติของภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือลายรดน้ำที่วาดเป็นรูปป่าดงพงไพร มักเป็นภาพมนุษย์ชายหญิงเดินมาเป็นคู่ ตรงตามที่สุนทรภู่ท่านว่า “จูงกันเที่ยวเดินดุ่ม” โดยช่างนำเสนอให้มีรูปพรรณสัณฐานเป็นคนป่า ไม่สวมเสื้อผ้า แต่ก็ไม่ถึงกับเปลือยกาย ด้วยว่ายังนุ่งใบไม้ปิดของลับไว้

ไม่ปรากฏว่าพวกม่าเหมี่ยวนี้มีชุมชนหรือประกอบอาชีพอะไรแน่ เดาว่าอาจเป็นสมาชิกของชนเผ่าดั้งเดิม เก็บของป่าล่าสัตว์เล็กๆ น้อยๆ อย่างในภาพลายกำมะลอที่หอพระไตรปิฎก วัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ ก็เขียนรูปคู่ของม่าเหมี่ยวตัวผู้ตัวเมียกำลังช่วยกันหอบหิ้วผลหมากรากไม้ คงเอากลับไปกินยังแคมป์ที่พำนักอาศัยกระมัง ?


-------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/09/14/นารีผล/
Culture


นารีผล – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 56
14 กันยายน 2020




ย้อนกลับมาลุยสำรวจป่าหิมพานต์อีกครั้งหนึ่ง

ถัดจากต้นหว้าอันเป็นไม้ใหญ่ประจำชมพูทวีปจะถึงแนวป่ามะขามป้อม ป่าสมอพิเภก และป่านารีผล
คัมภีร์ “โลกบัญญัติ” เล่าว่าผลมะขามป้อมในป่านั้น ใบใหญ่เท่าทะนานตวงข้าว ส่วนลูกสมอก็โตเท่าหม้อ และทั้งที่ตามปรกติในโลกมนุษย์ บรรดาลูกหว้า มะขามป้อม และลูกสมอ ล้วนมีรสฝาดๆ เฝื่อนๆ แต่ที่หิมพานต์ ทุกสิ่งกลับหวานฉ่ำ “เหมือนน้ำผึ้งรวง”

ถัดจากนั้นไปจะถึงเขตป่านารีผล

ใน “กากีคำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ระหว่างหนทางสู่ “รังรัก” วิมานฉิมพลี พญาครุฑที่เป็นไกด์พานางกากีเหาะเที่ยวชมหิมพานต์ ชี้ชวนชมว่า

“แล้วชี้บอกรุกขชาตินารีผล           อันติดต้นเปล่งปลั่งดั่งสาวสวรรค์
แต่ไม่มีวิญญาณ์เจรจากัน             วิชาธรคนธรรพ์มาเชยชม
ครั้นเจ็ดวันก็อันตรธานไป            แล้วบันดาลเกิดใหม่ได้สู่สม
พลางบอกพลางหยอกสำราญรมย์   แล้วพาบินลอยลมมาสิมพลี”

ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ “นารีผล” นับเป็น “วัตถุทางเพศ” อย่างแท้จริง ไม่ต่างกับ “ตุ๊กตายาง” เพราะไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณ ใช้ประโยชน์เพื่อ “สู่สม” อย่างเดียว มิหนำซ้ำพอครบ ๗ วันก็เสื่อมสภาพ เน่าเปื่อยสลายตัวไปเอง

“โลกบัญญัติ” ให้รายละเอียดลงไปอีกว่า ลูกนารีผล

“เหมือนเด็กชายเด็กหญิง ที่เป็นลูกที่มีสกุล มีอายุอยู่ในราว ๑๕ หรือ ๑๖ ปี ประดับตกแต่งร่างกายอย่างสวยงาม ห้อยเป็นระนาวอยู่กับต้น ด้วยขั้วอันเป็นเหมือนจุกบนศีรษะ คนใดคนหนึ่งที่ยังไม่ปราศจากราคะ เห็นผลไม้รูปคนเหล่านั้นต้องบังเกิดความกำหนัดรึงรุม ท่านที่ปราศจากราคะแล้วนั้นแหละ พึงละเว้นเสียได้”

ตรงนี้น่าสนใจเพราะดูเหมือนว่าท่านแต่ก่อนจะ “หลากหลายเปิดกว้าง” ทางเพศกว่าที่เรานึกกัน เพราะนารีผลในสไตล์ลูกคุณหนูนี้ มีทั้งแบบเด็กสาวและหนุ่มน้อย สุดแท้แต่รสนิยม



“บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี” ของสุนทรภู่ นำเสนอบรรยากาศโกลาหลอลหม่านรอบๆ ต้นนารีผลไว้ว่า

๏ ที่มีฤทธิปลิดเด็ด         อุ้มรเห็จเหาะลอย
พวกนักสิทธิฤทธิน้อย      เอาไม้สอยเสียงอึง
๏ บ้างตะกายป่ายปีน       เพื่อนยุดตีนตกตึง
ชิงช่วงหวงหึงษ์             เสียงอื้ออึงแน่นนัน
๏ ที่ไม่ได้ก็ไล่แย่ง          บ้างทิ่มแทงฆ่าฟัน
ที่ได้ไปไว้นั้น                ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป”

ฉากต้นนารีผลและการแย่งยื้อปลิดดึงโดยเหล่านักสิทธิ์วิทยาธรทำนองนี้ ถูกนำเสนอไว้ในงานช่างโบราณเสมอ ทั้งภาพวาดลายรดน้ำบนบานประตูตู้พระธรรม งานแกะสลักไม้บานหน้าต่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ฯลฯ

เคยเห็นในจิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี วาดไว้ตรงมุมหนึ่งใต้ต้นนารีผล มีภาพฤๅษีจิตอาสาตั้งมณฑลพิธีไว้คอยท่า กวาดเก็บศพพวกนักสิทธิวิทยาธรที่หล่นลงมาตาย เอามาเสกชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะเหาะขึ้นไปฟาดฟันกันใหม่ วนเวียนไปเช่นนั้นแล


---------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #3 on: 17 February 2022, 21:33:34 »


https://www.sarakadee.com/2020/09/16/นารีพิฆาต/
Culture


“นารีพิฆาต” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 57
16 กันยายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




เป็นธรรมดาของผู้ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ความหวาดหวั่นอันดับต้นๆ คือเกรงว่าจะมีคนอื่นมาทำปฏิวัติซ้อน ท้าวสักกะเทวราช ผู้ดำรงตำแหน่งพระอินทร์แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ไม่ต่างกัน

เมื่ออดีตมาฆะมาณพ นำคณะ คสส. ยึดอำนาจ กวาดล้างเหล่าเทพคนดีชุดเดิมจากยอดเขาพระสุเมรุจนต้องตกสวรรค์กลายเป็นอสูรไปแล้ว เรื่องที่คอยติดตามหลอกหลอนเสมอคือกลัวว่าอสูรจะยกทัพมารบพุ่งเอาวิมานของตนคืน ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือเกรงว่าอาจมีผู้ที่ประกอบด้วยบุญบารมีคนใหม่ขึ้นสวรรค์มาแย่งชิงตำแหน่ง จึงต้องหมั่นคอยเช็ค “เลเวลบุญ” ของใครต่อใครให้วุ่นไปหมด

กาลครั้งหนึ่งมีดาบสรูปหนึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ ชื่อ “อิสิสิงคดาบส” ผู้มีมวยผมบนศีรษะสองมวยเหมือนเขากวาง “เดชานุภาพแต่ศีลตบะพระอีสิสิงคดาบสนั้นล้ำเลิศยิ่งนักหนา” จนสั่นสะเทือนรู้สึกขึ้นไปได้ถึงพิภพดาวดึงส์ พระอินทร์เล็งเห็นว่าถ้าปล่อยให้สั่งสมบุญบารมีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคงมาเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ “จะได้เป็นพระอินทร์ อาตมาก็จะเคลื่อนคลาดออกจากยศ” จึงต้องวางแผนกำจัดคู่แข่งทางการเมือง

พระอินทร์จึงส่ง “อลัมพุสา” นางฟ้าผู้เป็นหนึ่งในบาทบริจาริกาจำนวนสองโกฏิกึ่ง (๒๕ ล้านองค์) ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่าหุ่นดี หน้าตาสวยสะเป็นพิเศษ อีกทั้งมีทักษะด้านจริตมารยาการประเล้าประโลม เหนือกว่านางฟ้าองค์ใด ทีแรกเธอตอบปฏิเสธด้วยเห็นว่าการใช้เสน่ห์เล่ห์กลไปทำลายตบะของผู้ทรงศีลนั้นเป็นบาปหนัก แต่ก็ไม่อาจขัดเทวโองการได้ จำใจลงไปสู่ชมพูทวีป



อิสิสิงคดาบสบวชอยู่กับกัสสปดาบสผู้เป็นบิดาในป่าหิมพานต์มาตั้งแต่แรกรู้ความ ไม่เคยพบปะหรือรู้จักมนุษย์ตนใด วันหนึ่งบิดาจึงดั้นด้นพาบุกป่าเข้าไปดูต้นนารีผล พลางชี้ให้สังเกตรูปร่างลักษณะของผลไม้พิเศษนั้น ว่าต่อไปภายภาคหน้า หากพบเห็นสัตว์ชนิดใดมีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ขอให้รีบหลีกหนีไปให้ไกลที่สุด เพราะเป็นมลทินแห่งบรรพชิต

ครั้นแล้วต่อมากัสสปดาบสผู้บิดาก็ล่วงลับไป

เช้าวันนั้น อิสิสิงคดาบสกำลังยืนกวาดศาลาโรงบูชาไฟอยู่เพลินๆ จู่ๆ นางอลัมพุสาก็มาปรากฏตัว “แว๊บ!” อยู่ตรงหน้า

ทันทีที่เห็น ดาบสหนุ่มระลึกได้ทันทีว่านี่เองคือ “ผู้หญิง” ที่บิดาเคยย้ำเตือน แต่แล้วตนเองกลับไม่อาจตั้งสติไว้ได้ เดินตาลอยเข้าไปหา นางอลัมพุสาขยับตัวออกห่างแล้วทำทีจะก้าวหนี ดาบสหนุ่มรีบจ้ำตาม จังหวะนั้นเองเธอหันขวับ มาสวมกอดอิสิสิงคดาบสเต็มมือ ผลคือแต้มบุญที่สะสมเก็บงำมาทั้งชีวิตหายวับไปกับตา ทำให้ดาบสหนุ่มถึงแก่เป็นลมสลบหมดสติไป

ลืมตาขึ้นอีกครั้ง เวลาผ่านไปแล้วสามปี อิสิสิงคดาบสซึ่งร่างกายยังแข็งแรงดีเป็นปรกติ ลุกขึ้นเหลียวซ้ายแลขวา เห็นเถาไม้เลื้อยขึ้นปกคลุมศาลาที่เคยก่อกองไฟบูชารกเรื้อ ทางเดินจงกรมที่เคยกวาดจนเตียนโล่งทุกวันก็กลับเป็นป่าเป็นดงไปหมดสิ้น เกิดสลดสังเวชใจ น้ำตาไหลพรากๆ

นางอลัมพุสากลับมาปรากฏตัวอีกครั้งแล้วอธิบายว่านางจำใจลงมาด้วยไม่อาจขัดคำสั่งพระอินทร์ และว่า “พระผู้เป็นเจ้าประมาทไปแล้ว หารู้องค์ว่าประมาทไม่” อิสิสิงคดาบสจึงหวนระลึกถึงคำสั่งสอนของบิดา แล้วตั้งจิตมั่นว่าจะบำเพ็ญฌานให้สมบูรณ์พร้อมอีกครั้ง ตัดใจไม่คบหาสตรีอีกต่อไป

นิทานเรื่องนี้ที่เล่าแทรกใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บอกเราว่าพระอินทร์เคยใช้แผน “นารีพิฆาต” และต้นนารีผลยังเคยถูกใช้เป็น “สื่อการเรียนรู้” สำหรับยุวดาบสในป่าหิมพานต์ด้วย


--------------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/09/24/ศีรษะปฐพี/
Culture


ศีรษะปฐพี – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 58
24 กันยายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


คัมภีร์โลกศาสตร์ระบุว่าแดนชมพูทวีปแบ่งออกได้เป็นสามโซนใหญ่ๆ คือป่าหิมพานต์ ร้อยละ ๓๐ พื้นที่รกร้างน้ำทะเลท่วมถึงคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ที่เหลืออีกร้อยละ ๓๐ คือเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์



ชมพูทวีปส่วนที่เป็นดินแดนมนุษย์นี้ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงอย่างสั้นๆ ว่าแยกย่อยออกเป็นสองส่วน ได้แก่ “มัชฌิมประเทศ” อันเป็นใจกลางทวีป กับปริมณฑลโดยรอบ เรียกว่า “ปัจจันตประเทศ” พร้อมทั้งระบุแนวเส้นพรมแดนที่ใช้แบ่งเขต เช่นว่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ใช้แนวแม่น้ำสัลลวดี ทิศใต้กำหนดด้วยหมู่บ้านเสตกัณณิกะ ทิศเหนืออาศัยภูเขาอุสีรธชะ เป็นต้น

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” ยกย่องว่ามัชฌิมประเทศเป็นสถานที่ “อันวิเศษ” เพราะเป็นแดนเกิดของบุคคลสำคัญมากมาย ได้แก่ “พระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิ แลอัครสาวก พุทธอุปฐาก พุทธบิดา พุทธมารดา อสีติมหาสาวก และคฤหบดี พราหมณมหาศาล ผู้มีสมภารกุศลแท้ทรัพย์มาก คือท้าวพระยาจักรพรรตราธิราชเหล่านี้ ย่อมบังเกิดแต่ในมัชฌิมประเทศแห่งเดียวนี้”

นั่นคือทั้งพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิจะมาบังเกิดเฉพาะในเขตมัชฌิมประเทศของชมพูทวีปเท่านั้น ไม่เคยไปเกิดยังทวีปอื่นๆ รอบเขาพระสุเมรุ หรือแม้กระทั่งในจักรวาลอื่นๆ เลย

เขตมัชฌิมประเทศมีเมืองใหญ่ ๑๖ เมือง คัมภีร์เรียกว่า “โสฬสมหานคร” (โสฬส อ่านว่า โส-ลด แปลว่า ๑๖) ประกอบด้วยเมืองต่างๆ ซึ่งล้วนคุ้นหูคุ้นตากันดีจากเรื่องราวพุทธประวัติ

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” แจกแจงว่า ได้แก่ พาราณสี สาวัตถี ไพศาลี มิถิลา อาฬวี โกสัมพี อุชเชนี ตักกศิลา จัมปากะ สาคละ สุงสุมารคีรี ราชคฤห์ กบิลพัสดุ์ สาเกต มัททราษฎร์ และอินทปัตถะ

เมืองทั้งหมดนี้ตั้งล้อมรอบศูนย์กลางของมัชฌิมประเทศ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เป็นจุดศูนย์กลางของชมพูทวีปด้วย นั่น คือ “รัตนบัลลังก์”หรือ “มหาโพธิบัลลังก์” สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ตำแหน่งตรงนั้นในบางคัมภีร์เรียกว่าเป็น “ท่ามกลางแผ่นดิน” บ้างก็เรียกว่า “ศีรษะปฐพี”

นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายหนึ่งของคติการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานในอุโบสถไว้เบื้องหน้าภาพจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ วิมานเทวดา และทวีปทั้งสี่

พระพุทธรูปประธานนั้น ตามคติส่วนใหญ่ที่พบมักแสดงปางตรัสรู้ คือปางมารวิชัย ประทับนั่ง พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายอยู่เหนือพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาแสดงอาการชี้ลงยังแผ่นดินที่ด้านหน้าพระชงฆ์ (แข้ง)

นั่นก็คือการแสดงตำแหน่งแห่งที่ของ “ศีรษะปฐพี” หรือ “รัตนบัลลังก์” หรือ “มหาโพธิบัลลังก์” สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นใจกลางแห่งชมพูทวีป
โดยรอบมหาโพธิบัลลังก์ยังมีสถานที่สำคัญอีกหกแห่ง รวมมหาโพธิบัลลังก์ด้วยก็เท่ากับเจ็ดแห่ง มีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “สัตตมหาสถาน” คือสถานที่สำคัญเจ็ดแห่งที่พระพุทธองค์ทรงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้ แห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์

สัปดาห์แรก ประทับใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ หรือมหาโพธิบัลลังก์
สัปดาห์ที่ ๒ อนิมิสเจดีย์ ทรงยืนทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์ โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๔ รัตนฆรเจดีย์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๕ อชปาลนิโครธ เสด็จประทับใต้ร่มไทร อันเป็นที่พักของคนเลี้ยงแกะ
สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปประทับใต้ร่มต้นจิก หรือมุจลินท์
สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จไปประทับใต้ร่มต้นเกด หรือราชายตนะ

คตินิยมการจำลอง “สัตตมหาสถาน” มาสร้างไว้มีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในล้านนาโบราณ เช่นวัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามมหาวิหาร เมืองเชียงใหม่ ลงมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสัตตมหาสถานไว้ ณ เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ รวมถึงยังพบว่ามีการเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังด้วย เช่นภาพรุ่นกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี


------------------------------------


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #4 on: 17 February 2022, 21:35:13 »


https://www.sarakadee.com/2020/10/01/จักรแก้ว-เรือดำน้ำ/
Culture


จักรแก้ว เรือดำน้ำเหาะได้ของพระเจ้าจักรพรรดิ – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 59
1 ตุลาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง


มัชฌิมประเทศของชมพูทวีปยังเป็นแดนประสูติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระยาจักรพรรดิราชอีกด้วย

ทุกวันนี้เราใช้คำ “จักรพรรดิ” ในความหมายเทียบเคียงกับ Emperor ของฝรั่ง แล้วพลอยทำให้คำว่า Empire กลายเป็น “จักรวรรดิ” ไปด้วย ดังในยุคหนึ่ง คำว่า Imperialism จึงถูกแปลงในพากย์ไทยเป็น “จักรพรรดินิยม” หรือ “จักรวรรดินิยม”

แต่ดั้งเดิม คำนี้มาจากแนวคิดว่าด้วยการเป็น “ผู้หมุนจักร” ของ “ราชาเหนือราชา” ประเภท “พระเจ้าชนะสิบทิศ” หรือ “ผู้ชนะสิบทิศ”

“จักร” ในภาษาไทย (ความจริงคือภาษาแขก) มีความหมายถึงอาวุธแผ่นกลม มีคมโดยรอบ ตรงกลางมีรู เป็นอาวุธประจำกายอย่างหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์

อีกความหมายหนึ่งยังหมายถึง “ล้อ” เช่นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดมียานพาหนะอย่างใหม่เข้ามาจากเมืองนอก เรียกว่า “ไบซิเกิล” (bicycle) ท่านผู้ใหญ่ยุคนั้นเคยบัญญัติศัพท์เป็นคำไทยรากบาลีสันสกฤตว่า “ทวิจักรยาน” คือพาหนะอันขับเคลื่อนด้วยสองล้อ ตรงตามคำต้นราก (bi=สอง=ทวิ) ภายหลังอย่างไรไม่ทราบ คำกร่อนไปเหลือมาถึงปัจจุบันเพียง “จักรยาน” คือยานที่มี “จักร” หรือล้อนั่นเอง



ในคัมภีร์โลกศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อมีกษัตริย์พระองค์ใดประกอบด้วยบุญญาธิการบารมี ดำรงอยู่ในจักรวรรติวัตร ๑๒ ประการ เมื่อนั้นกงจักรแก้ว หรือที่เรียกว่า “จักรรัตนะ” จะปรากฏขึ้น

ตามปรกติจักรนี้จมอยู่ก้นมหาสมุทรลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ แต่เมื่อใดพระจักรพรรดิราชบังเกิดขึ้นในชมพูทวีป เมื่อนั้นจักรแก้วอันเป็นของคู่บุญก็จะรับรู้และผุดขึ้นมาเอง แล้วลอยขึ้นกลางอากาศ มีแสงเลื่อมพรายราวกับดวงจันทร์วันเพ็ญ พอถึงเวลาค่ำ ผู้คนทั้งหลายก็จะแลเห็นเป็นเหมือนพระจันทร์ขึ้นสองดวงพร้อมกัน
จากนั้นเมื่อจักรแก้วร่อนลงมาใกล้ จะเริ่มได้ยินเสียงจักรหมุนดังไพเราะ ยิ่งกว่าเสียงพาทย์เสียงพิณฆ้องกลองแตรสังข์กังสดาลดุริยดนตรีทั้งหลาย ไม่ว่าใครที่ได้ยินต่างรู้สึกชอบใจ

ถึงตรงนี้ ชาวบ้านที่ออกมายืนเมียงมองดูเริ่มจะเถียงกันเอง เหมือนในไตเติ้ลภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง “ซูเปอร์แมน” ของฝรั่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ชาวเมืองแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้าแล้วชี้ชวนชมกันว่า “นั่นนกใช่ไหม? นั่นเครื่องบินหรือเปล่า? ไม่ใช่! นั่นคือซูเปอร์แมน”

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าชาวบ้านบางคนออกปากว่า โอ้โฮ! วันนี้พระจันทร์ขึ้นมาสองดวง คนอื่นก็แย้งว่ามีที่ไหน เป็นบ้าหรือไง นี่มันพระอาทิตย์ต่างหาก อีกคนค้านขึ้นทันทีว่า พวกแกไม่รู้เรื่อง ก็พระอาทิตย์เพิ่งตกไป จะกลับขึ้นมาอีกทีได้อย่างไร นี่มันวิมานของเทวดาชัดๆ จนสุดท้ายจึงมีผู้มาเฉลยความจริงว่า ไม่ใช่ทุกอย่างที่กล่าวมาหรอก เพราะมีเสียงไพเราะด้วย แท้จริงแล้วนี่คือ “จักรแก้ว” ต่างหาก

พอลอยใกล้เข้ามาอีก ในที่สุดทุกคนก็จะรู้ว่าเป็นจักรรัตนะ ซึ่งมาถึงด้วยบุญบารมีของท้าวพระยาผู้เป็นเจ้าเป็นนาย

จากนั้นจักรแก้วก็จะเวียนประทักษิณรอบพระนครแล้วลอยเลื่อนเข้าสู่พระราชมณเฑียร เวียนประทักษิณรอบพระยาจักรพรรดิราช ก่อนจะร่อนลงจอดสนิทนิ่ง พระราชาจะทรงทราบว่าพระองค์เองจะได้เป็นพระยาจักรพรรดิราช ปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล เพราะมีจักรแก้วมาสู่พระองค์แล้ว

จักรแก้วถือเป็นพาหนะสารพัดประโยชน์ นำพาพระเจ้าจักรพรรดิ เสด็จพร้อมทั้งบริวาร ไปในที่ต่างๆ ทั้งบนฟ้าและในน้ำ โดยใครก็ตามที่ปรารถนาจะตามเสด็จก็เพียงตั้งจิตมั่นก็สามารถลอยละล่องไปด้วยกันตามใจปรารถนา “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้อย่างน่าสนุกว่า

“ผิแลว่าผู้ใดจะใคร่ไปด้วยเสด็จพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น แม้นว่ายืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี หากปลิวขึ้นไปโดยอากาศเอง แลมิพักย่างพักเดินเลย ทั้งเสื่อสาดอาสนะที่นั่งที่นอนที่อยู่ที่กิน แลจะใคร่เอาไปด้วยไส้ สิ่งนั้นก็ไปด้วยแล ถ้าว่าผู้ใดจะใคร่ยืนไป ผู้นั้นก็ยืนไปแล ผู้ใดจะใคร่นั่งไป ผู้นั้นก็นั่งไปแล ผู้ใดจะใคร่นอนไป ก็นอนไปแล ผู้ใดจะใคร่ทำการงานไป ทำการงานไป ถ้าแลผู้ใดทำการงานค้างอยู่ไส้ ครั้นนึกว่ามิเอาไป การงานทั้งปวงนั้นก็มิได้ไปด้วยแล ผู้ใดจะใคร่ไปโดยอากาศด้วยท่าน แลใคร่ทำการงานไปด้วยเล่า เขาฝูงนั้นกระทำการงานไปพลาง แลบมิได้ป่วยการของเขาเลยฯ”

เมื่อสยามประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ รถยนต์พระที่นั่งคันแรกของรัชกาลที่ ๕ ยี่ห้อเดมเลอร์-เบนซ์ ก็ได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ”

เข้าใจว่าโดยนัยของนาม หมายถึงว่ารถยนต์เปรียบได้กับ “จักรแก้ว” ที่นำพาพระจักรพรรดิราชเสด็จไปในทิศานุทิศนั่นเอง


-------------------------------


https://www.sarakadee.com/2020/10/07/ช้างแก้ว-ม้าแก้ว-แก้วมณี/
Culture


ช้างแก้ว ม้าแก้ว และแก้วมณี – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 60
7 ตุลาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง




หลังจากจักรแก้วขึ้นมาจากมหาสมุทรแล้ว “สมบัติพระจักรพรรดิ” อันเป็นของคู่บารมีอย่างอื่นๆ ก็จะทยอยปรากฏตามมา
อย่างแรกที่คัมภีร์กล่าวถึงคือ หัตถีรัตนะ หรือ “ช้างแก้ว”

วิธีการให้ได้มาซึ่งช้างแก้วนี้ก็ไม่ต้องไปคล้องหรือไปจับต้อนมาเข้าเพนียด ขอเพียงปลูกโรงช้างอันงามวิจิตรไว้คอยท่า จากนั้นเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงรักษาศีลทำบุญทำทานครบเจ็ดวัน แล้วตั้งจิตระลึกถึงการพระราชกุศลและทรงคำนึงถึงช้างแก้ว ในทันใดนั้นช้างแก้วก็จะเหาะมายืนโรงด้วยตัวเอง

ช้างแก้วเป็นช้างเผือกที่แสนเชื่องราวกับผ่านการฝึกหัดมาเป็นอย่างดีแล้ว มีงวงและเท้าทั้งสี่เป็นสีแดง มาจากเผ่าพันธุ์ช้างมีชาติตระกูล เช่นตระกูลอุโบสถ หรือตระกูลฉัททันต์

ในพงศาวดารจึงเฉลิมพระนามกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมากมายหลายเชือกว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” คือคงถือว่ามีโดยเหตุที่ทรงบุญญาธิการบารมีราวกะพระจักรพรรดิราชตามตำรา

พระจักรพรรดิราชสามารถทรงช้างแก้วเป็นราชพาหนะ เสด็จเหาะไปประพาสเวียนรอบเขาพระสุเมรุ เลาะเลียบกำแพงจักรวาลตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วเสด็จกลับมาทันเสวยพระกระยาหารเบรกฟาสต์ได้ตอนสายๆ ด้วยซ้ำ

ถัดจากช้างแก้วคือม้าแก้ว หรือ อัศวรัตนะ ซึ่งจะมาสู่ร่มพระบรมโพธิสมภารด้วยตัวเองแบบเดียวกับช้างแก้ว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเหาะได้ด้วยสปีดทัดเทียมกับช้างแก้วเช่นกัน

ลักษณะของม้าแก้วที่กล่าวใน “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นม้าสีขาว หน้าผากและกีบเท้าสีแดง “ดังน้ำครั่ง” หัวสีดำ “งามดั่งคอกา” แผงคอเป็นขนสีขาวอ่อนนุ่มเหมือน “ไส้หญ้าปล้อง”

ม้าที่ประกอบด้วยอัศวลักษณ์เช่นนี้ คงนิยมกันในอินเดียโบราณว่าเป็นม้าพิเศษอันมีฝีเท้าดี คู่ควรกับพระจักรพรรดิราชและพระโพธิสัตว์ เพราะในพุทธประวัติเช่น “พระปฐมสมโพธิกถา” พรรณนาม้ากัณฐกะอันนำพาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) ว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับหัตถีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ คือมี “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด”

ได้พบว่าช่างผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถบางแห่งยึดถือความตามคัมภีร์ตรงนี้อย่างเคร่งครัด คือเขียนม้ากัณฐกะเป็นม้าขาวหัวดำ แต่ก็มีอีกมากแห่งที่เขียนไว้เป็นม้าขาวเฉยๆ ด้วยว่าช่างอาจไม่รู้ความข้อนี้ในคัมภีร์

มณีรัตนะ (แก้วมณี) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคู่บารมีพระเจ้าจักรพรรดิ

ไตรภูมิพระร่วงอธิบายที่มาของมณีรัตนะว่าได้มาโดยการคิดคำนึง หรือตั้งพระราชปณิธานของพระยามหาจักรพรรดิราช ครั้นแล้วมณีรัตนะพร้อมด้วยแก้วมณีอันเป็นบริวาร ต่างขนาดต่างสีต่างรูปทรง อีก ๘๔,๐๐๐ ก็จะลอยเลื่อนจากเขาวิบุลบรรพต มาสู่พระราชวังของพระองค์

ไตรภูมิพระร่วงจากยุคสุโขทัยบรรยายลักษณะของมณีรัตนะว่าเป็นแท่งแก้วทรงกระบอก คือ “โดยยาวได้ ๔ ศอก โดยใหญ่เท่าดุมเกียน (เกวียน) ใหญ่ สองหัวแก้วนั้นมีดอกบัวทองสองดอก”

แต่คัมภีร์รุ่นหลัง เช่น “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ต้นสมัยกรุงเทพฯ เล่าว่า “เป็นแก้วไพฑูรย์ มีชาติอันงามได้ ๘ เหลี่ยมผ่องใสบริบูรณ์” คือเป็นแท่งทรงแปดเหลี่ยม

ภาพลายรดน้ำรูปสมบัติพระจักรพรรดิบนบานประตูพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ แสดงภาพมณีรัตนะเป็นทรงกระบอกแปดเหลี่ยมตรงตามนั้น แถมยังมีร้อยสายเป็นคล้ายหูหิ้วไว้ด้วย

เหตุที่ต้องมีสายคงเพราะประโยชน์สำคัญของมณีรัตนะนี้ คือใช้งานได้เหมือนไฟฉาย โดยให้แขวนไว้ “ยอดธงชัยแห่งสมเด็จพระบรมจักรพรรตราชาธิราชในราตรีกาลกลางคืนนั้น ก็แจ่มแจ้งจรัสไปด้วยรัศมีโอภาษนาการส่องสว่างไปโยชน์หนึ่ง” และ “อาจส่องสว่างไปได้ดุจกลางวันในที่โยชน์หนึ่ง จนถึงมดดำมดแดงก็แลเห็น ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็ตื่นกันว่ากลางวันแล้ว กระทำการงานต่างๆ…”

“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายสรรพคุณของมณีรัตนะไว้โดยละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกว่าแสงสว่างจากแก้ววิเศษนี้ทำให้

“แลเห็นหนทางรุ่งเรืองใสสว่างดั่งกลางวัน ฝูงคนที่ทำไร่ไถนาเขาก็ไปทำดังกลางวันนั้นแล คนทั้งหลายที่ซื้อขายก็ไปซื้อขายดังกลางวันนั้นแล คนทั้งหลายที่ถางถากไม้แลฟันไม้ เขาก็ไปถากไม้ฟันไม้เมื่อกลางคืนได้สรรพการทั้งปวงเหมือนกลางวันนั้นแล”

สรุปโดยย่อคือการมีแสงสว่างไสวในบ้านในที่ทำงานตลอดวันตลอดคืน-เหมือนที่เรามีไฟฟ้าใช้กันทุกวันนี้-เป็นหนึ่งในสุดยอดชีวิตของพระจักรพรรดิตามอุดมคติของคนโบราณแล้ว


------------------------------------



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.088 seconds with 22 queries.