User Info
Welcome,
Guest
. Please
login
or
register
.
23 December 2024, 09:09:36
1 Hour
1 Day
1 Week
1 Month
Forever
Login with username, password and session length
Search:
Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ
http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,624
Posts in
12,930
Topics by
70
Members
Latest Member:
KAN
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
|
เรื่องราวน่าอ่าน
|
หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง
|
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
0 Members and 1 Guest are viewing this topic.
« previous
next »
Pages:
[
1
]
Author
Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40] (Read 756 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,460
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
«
on:
17 February 2022, 11:18:30 »
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
https://www.sarakadee.com/2020/03/18/tatarata-virunhok/
Culture
สุเมรุจักรวาล # ๓๑ : ธตรฐ-วิรุฬหก
18 มีนาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
คัมภีร์โลกศาสตร์กล่าวว่าในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทวดาผู้เป็นจตุโลกบาลแต่ละองค์จะเป็นท้าวเป็นพระยาปกครองพระนครที่มีขนาดเท่ากันหมด คือมีผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๑,๐๐๐ โยชน์
เริ่มที่ทิศตะวันออก มีท้าวธตรฐ (อ่านว่า ถะ-ตะ-รด) หรือ ธตรฐราช หรือ ธตรัฏฐะ เป็นหัวหน้าของเหล่า “คนธรรพ์” ประทับ ณ นครเหนือแนวเขายุคันธรทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) อธิบายว่าเหตุที่เทวดากลุ่มนี้ได้รับชื่อว่า “คนธรรพ์” ก็เพราะ “เป็นนักเลงฟ้อน นัยหนึ่ง เทพยดาจำพวกใดบังเกิดแต่ประเทศอันหอม สิงสถิตอยู่ในประเทศที่หอมๆ เทพยดาจำพวกนั้นได้ชื่อว่าเทพยคนธรรพ์”
หนึ่งในคนธรรพ์ที่น่าจะมาจากกลุ่มบริวารของท้าวธตรฐก็คือปัญจสิขร ไอดอลแห่งดาวดึงส์ที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว
“ไตรภูมิพระร่วง” ว่าท้าวธตรฐ “เป็นพระยาแก่เทพยดาทั้งหลายรอดทั่วกำแพงจักรวาลฝ่ายตะวันออกแล” และว่าฝูงคนธรรพ์บริวารของท้าวธตรฐนั้น “ทั้งเครื่องประดับนิเหนือหัวแลเนื้อตัวทั้งมวล เทียรย่อมเงินยวงอเนกอนันต์” คือแต่งกายด้วยเครื่องประดับทำจากเงินทั้งสิ้น ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่ากองทัพของท้าวธตรฐ “ถือเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธทั้งปวงนั้นล้วนพิจิตรด้วยเงินแลทอง” หมายถึงอาวุธทั้งหลายก็เป็นเงินเป็นทอง
เวียนตามเข็มนาฬิกา ถัดมาคือท้าววิรุฬหกผู้เป็นเจ้าของเหล่ากุมภัณฑ์ สถิตในพระนครเหนือยอดเขายุคันธรทางด้านใต้ของเขาพระสุเมรุ
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) อธิบายว่าเหตุที่เทวดากลุ่มนี้ได้รับชื่อว่า “กุมภัณฑ์” ก็เพราะ “เทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นมีท้องอันใหญ่ มีอวัยวะที่ไม่ควรกล่าว มีสัณฐานดังหม้อ”
“อวัยวะที่ไม่ควรกล่าว” หรือที่ “ไม่ควรพูดถึง” นี้คืออะไร ?
เราก็ต้องย้อนกลับไปที่คำ “กุมภัณฑ์”
คำนี้มาจากคำว่า “กุมภะ” ซึ่งแปลว่าหม้อ แบบราศีกุมภ์ สนธิรวมกับ “อัณฑะ”
หมายความว่าเผ่าพันธุ์นี้มี “อัณฑะ” ขนาดใหญ่เท่า “หม้อ” !
แม้จะมีผู้อธิบายเป็นเชิงขบขันว่า ที่เห็นบรรดารูป “ยักษ์แบก” ที่ยืนถ่างขาย่อตัวแบกเจดีย์หรือพระปรางค์ตามวัดนั้น เหตุที่ต้องยืนในท่านั้น ก็เพราะเป็น “กุมภัณฑ์” นี่แหละ ทว่าผู้เขียนคิดว่า ยังไม่เคยเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพกุมภัณฑ์แบบนี้สักที
“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าท้าววิรุฬหก “เป็นพระยาแก่ผีเสื้อกุมภัณฑ์ทั้งหลาย” รวมถึง “เทพยดาทั้งหลายรอดไปเถิงกำแพงจักรวาลฝ่ายทักษิณ”
“ผีเสื้อ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแมลงตัวน้อยที่มีปีกเป็นสีสันต่างๆ แต่เป็นคำเก่าที่หมายถึงปีศาจ อย่างนางผีเสื้อสมุทรในเรื่อง “พระอภัยมณี” ก็ไม่ได้มีหน้าตาเป็นแมลง ทว่าเป็นนางปีศาจที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นต้น ดังนั้น ท้าววิรุฬหกจึงได้ปกครองทั้งเหล่า “กุมภัณฑ์” ปีศาจ และเทวดาทั้งปวงในฝั่งด้านทิศใต้
“ไตรภูมิพระร่วง” บอกด้วยว่า “เครื่องประดับนิกายท้าววิรุฬหกราชแลบริวารทั้งหลายนั้นย่อมล้วนแก้วมณีรัตนะแล งามนักหนา” ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ากองทัพกุมภัณฑ์ของท้าววิรุฬหก “ถือสรรพยุทธ์ศาสตราวุธนั้นล้วนแล้วไปด้วยแก้วประพาฬ” คือแก้วสีแดง
---------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/03/26/virupak-vessuwan/
Culture
สุเมรุจักรวาล # ๓๒ วิรูปักข์-เวสสุวัณ
26 มีนาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ณ นครที่อยู่เหนือทิวเขายุคันธรทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ ที่นี่มีท้าววิรูปักษ์ หรือวิรูปักข์ เป็นผู้ปกครองหมู่นาค คืองูใหญ่ ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายไว้ว่า “แต่บรรดานาคอันอยู่ในน้ำแลบกทั่วทุกสถานประเทศในขอบเขตมงคลจักรวาลนี้ ขึ้นแก่ท้าววิรูปักขมหาราชสิ้นทั้งปวง”
ยิ่งใน “ไตรภูมิพระร่วง” ยิ่งขยายขอบเขตพื้นที่แห่งอำนาจของพระองค์ให้ได้บังคับบัญชา “เทวดาแลฝูงครุฑราช แลฝูงนาค เถิงกำแพงจักรวาลเบื้องตะวันตก” คือนอกจากนาคแล้ว ท้าววิรูปักข์ยังกำกับดูแลครุฑ ตลอดจนถึงเทวดาทั้งหลายทางทิศตะวันตกด้วย โดยอธิบายว่าท้าววิรูปักขราช “มีเครื่องประดับนิตัวเทียรย่อมประพาฬรัตนะ” คือเป็นแก้วสีแดง ตรงกันข้ามกับใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ที่บรรยายกำลังพลฝ่ายนาคของท้าววิรูปักข์ว่า “ล้วนถือเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธแล้วล้วนด้วยแก้วอินทนิล” คือเป็นแก้วสีเขียวแทน
จตุโลกบาลองค์สุดท้าย คือท้าวไพศรพณ์มหาราช หรือเวสสุวัณ/เวสสุวรรณ บางคนว่าเป็นองค์เดียวกับเทพกุเวรด้วย
พระองค์มีศูนย์กลางการบริหารราชการอยู่ที่ “วิสาลราชธานี” เหนือยอดเขายุคันธรด้านข้างเหนือแห่งพระสุเมรุมาศ
ท้าวเวสสุวัณถือเป็นหัวหน้าทีมจตุโลกบาล ปกครองบรรดายักษ์ ดังนั้นอาจด้วยเหตุที่ได้รับความสำคัญเป็นพิเศษเช่นนี้ ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) จึงขยายปริมณฑลแห่งอำนาจของท้าวเวสสุวัณไปกว้างขวางยิ่งกว่าเทวดาจตุโลกบาลองค์อื่นๆ ว่า
“ท้าวเวสสุวัณนั้นเป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง แต่บรรดาที่มิได้นับเข้าในเทพยคนธรรพ์แลเทพยกุมภัณฑ์…ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณสิ้น ตลอดลงมาจนถึงยักษิณีหน้าม้า ยักษิณีหน้าลา แลผีเสื้อน้ำ ฝูงภูตฝูงผีทั้งปวง ก็ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณ อยู่ในโอวาทแห่งท้าวเวสสุวัณสิ้นทั้งปวง”
นั่นคือเทวดาและอมนุษย์ตนใดๆ ที่มิได้อยู่ในปกครองของจตุโลกบาลองค์อื่นๆ ก็ให้มาสังกัดกับท้าวเวสสุวัณทั้งหมด
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่า “เครื่องประดับนิตัวพระไพศรพณ์นั้นแลบริวารทั้งหลาย เทียรย่อมทองเนื้อสุก” คือท้าวเวสสุวัณและบริวารล้วนตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยทองคำ ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อีกตอนหนึ่ง เล่าว่ากองทัพของท้าวเวสสุวัณนั้น “ถือเครื่องสรรพยุทธศาสตราล้วนแล้วด้วยแก้ววิเชียร”
ในคัมภีร์โลกศาสตร์มักให้รายละเอียดเรื่องราวของท้าวเวสสุวัณมากเป็นพิเศษ คัมภีร์ชั้นอรรถกถาถึงกับกล่าวว่าท้าวเวสสุวัณได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามาก และได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาบัน ถือเป็นพระอริยสาวกองค์หนึ่ง
เรื่องของท้าวเวสสุวัณยังไปเนื่องกับคาถาที่เรียกกันว่า “ภาณยักษ์” หรือ “อาฏานาฏิยสูตร” ด้วย ดังกล่าวว่า ครั้งหนึ่งท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงเมืองราชคฤห์ ณ โอกาสนั้น ท้าวเวสสุวัณกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เหล่าบริวารของท้าวจตุโลกบาล ทั้งยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค และคนธรรพ์ ย่อมมีทั้งพวกที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และพวกที่ไม่ศรัทธา ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีมากกว่ามาก เกรงว่าหากพระสงฆ์ออกธุดงค์จาริก หรือไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ใดๆ อาจถูกรบกวนโดยบริวารเหล่านั้น จึงขอน้อมถวายพระปริตรนามว่า “อาฏานาฏิยปริตร” แด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์นำไปหัดสวดกัน เพื่อป้องกันภยันตราย โดยในคาถานั้นจะออกพระนามท้าวจตุโลกบาลผู้เป็นใหญ่ในทิศทั้งสี่ ด้วยหวังว่าเมื่อบริวารที่ “ออกนอกลู่นอกทาง” ได้สดับนามของท้าวพระยาผู้เป็นใหญ่เหล่านั้น ย่อมเกรงกลัวและปลาตเร้นไป ไม่มารบกวนการบำเพ็ญสมณธรรมของพระสาวก
จนถึงชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงพิธีตรุษ คือส่งท้ายปีเก่าตามธรรมเนียมหลวง พระสงฆ์จะสวดอาฏานาฏิยสูตรซ้ำๆ วนไปตลอดทั้งคืน พร้อมกับการยิงปืนใหญ่ที่เรียกว่า “ปืนอาฏานา” เป็นระยะ เพื่อใช้เสียงดังขับไล่ภูตผีปีศาจ คนโบราณถือกันว่าช่วงนั้นผีสางจะวิ่งเพ่นพ่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” ตอนหนึ่งว่า
“จนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทา แล้วทําต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนน จะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนื่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ถ่ายปัสสาวะลงทางล่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางทีที่เป็นโคมใบโตๆ จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักใคร่ก็มี…”
คนโบราณนั้นท่านมีเมตตานัก จนชั้นแต่ผีแต่สางท่านก็ยังเอื้อเฟื้อ
-----------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,460
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
«
Reply #1 on:
17 February 2022, 11:20:08 »
https://www.sarakadee.com/2020/04/08/guardian-of-tavatimsa/
Culture
สุเมรุจักรวาล # ๓๓ – กองกำลังพิทักษ์ดาวดึงส์
8 เมษายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
เทวดาจตุโลกบาลผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกายังมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพิทักษ์รักษาดาวดึงส์
เมืองสุทัสสนะนครบนยอดเขาพระสุเมรุนั้น ที่จริงก็มีกำแพงล้อมรอบ มีช่องประตูเข้าได้เป็นแห่งๆ แบบป้อมปราการในโลกยุคโบราณอยู่แล้ว ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายว่ามีประตูเมืองถึง ๑,๐๐๐ ประตู
“ภายนอกกูฎาคารพิมานที่เป็นซุ้มพระทวารแห่งสุทัสสนะมหานครนั้น ประกอบด้วยเสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาบทจรเดินเท้า ล้วนประดับด้วยสรรพาภรณ์อลังการอันพิจิตร สวมสอดเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธต่างๆ พิทักษ์รักษาอยู่เป็นนิจนิรันดร์ นักปราชญ์ถึงรู้ว่าในสวรรค์นั้น หามีสัตว์ดิรัจฉานไม่ เสนาช้างและเสนาม้าทั้งหลายนั้น ล้วนแล้วด้วยเทพบุตรสร้างสรรค์นฤมิตจำแลงแปลงกาย…”
คือแต่ละประตูเมืองมีทหารเทวดาสี่เหล่า ต้องตามตำรับพิไชยสงครามอินเดียโบราณที่เรียกว่า “จตุรงคเสนา” คือมีพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า เฝ้าพิทักษ์รักษาอยู่ (น่าสงสารนิดหน่อยว่า มีเทวดาที่ต้องแปลงตัวเป็นช้างเป็นม้าเพื่อให้ครบตามตำราด้วย) แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะพระอินทร์เองก็ยังทรงหวาดหวั่นอยู่ว่า บรรดา “อสูร” คือเทวดารุ่นเก่าที่ “คณะสามสิบสาม” (คสส.) ช่วยกันจับโยนลงไปจากวิมานยอดเขาพระสุเมรุ จะจัดทัพยกมารบอีกเมื่อไรก็ไม่รู้ จึงให้ตั้งค่ายเตรียมทัพรับอสูรไว้เป็นชั้นๆ ได้แก่
ชั้นที่ ๕ ด้านล่างสุด หรือด่านชั้นนอกสุดเชิงเขาพระสุเมรุ เป็นหน้าที่ของฝูงนาค เผ่าพันธุ์ผู้ “มีกำลังในน้ำ”
ชั้นที่ ๔ สูงขึ้นไปเป็นพื้นที่ดูแลของเหล่าครุฑ “อันบริบูรณ์ด้วยกำลังกายแลกำลังฤทธิ์”
ชั้นที่ ๓ รักษาด่านโดยเหล่ากุมภัณฑ์ “ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เชี่ยวแรงแข็งขยัน”
ชั้นที่ ๒ ฝูงยักษ์ “อันตัวกล้าตัวหาญ ยั่งยืนในการศึกสงคราม” ตั้งกองสกัดกั้นไว้
ส่วนชั้นในสุดบัญชาการโดยท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ
กองทัพเหล่านี้ตั้งล้อมรอบดาวดึงส์เป็นชั้นๆ ไว้ ป้องกันมิให้เผ่าอสูรบุกขึ้นมาถึงเทพนครได้
แต่ในคัมภีร์เล่มเดียวกัน คือ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อีกแห่งหนึ่ง เล่าไว้ต่างออกไปนิดหน่อยว่า เมื่อท้าวจาตุมหาราชผู้เป็นเทพยดารักษาทิศทั้งสี่จะลงจากสวรรค์มาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ (อาจเป็นครั้งเดียวกับที่เป็นต้นเรื่องของ “อาฏานาฏิยปริตร”) เกิด “มีความปริวิตกกลัวอสูรสงครามจะเกิดการกำเริบ รุกโรมกระโจมจู่ เข้าปล้นเข้าตีพิภพดาวดึงส์ ตัวไปข้างโน้นจะกลับมามิทัน ทีจะเสียราชการ…จึงตั้งพวกพลทหารเป็น ๔ กอง พิทักษ์รักษาอยู่ในทิศทั้ง ๔”
โดยท้าวจตุโลกบาลแต่ละองค์ ก็ตั้งกองทหารในบังคับบัญชาของตนอย่างละ ๑ แสนนาย ประจำทิศต่างๆ คอยรักษาดาวดึงส์ไว้ในทิศของตน คือท้าวธตรฐให้กองกำลังคนธรรพ์ ๑ แสน พิทักษ์รักษาด้านตะวันออก ท้าววิรุฬหกตั้งกองกุมภัณฑเสนาอีก ๑ แสน ป้องกันด้านทิศใต้ ส่วนทิศตะวันตก ท้าววิรูปักข์ตั้งนาคเสนาอีก ๑ แสนไว้คอยรับศึก ส่วนทิศเหนือ ท้าวเวสสุวัณให้ยักขเสนาอีก ๑ แสน คอยควบคุมดูแลไม่ให้หมู่อสูรทั้งหลายมาแผ้วพาน เมื่อจัดตั้งกองพลพิทักษ์ดาวดึงส์เรียบร้อยแล้ว ท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่จึงลงมาเฝ้าพระพุทธองค์กันได้อย่างโล่งใจ
ในพระวิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม มีพระจุฬามณีเจดีย์ (จำลอง) ประดิษฐานไว้ และที่มุมทั้งสี่ก็ทำเป็นรูปจตุโลกบาลยืนพิทักษ์รักษาไว้โดยรอบ ซึ่งก็อาจนับเนื่องว่าเป็นคติเดียวกันที่ถือเอาเทพผู้รักษาทิศมาคุ้มครองป้องกันภัยแก่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อคราวงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ช่วงปลายปี ๒๕๖๐ ณ พระเมรุมาศ มีการสร้างประติมากรรมรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ สูง ๒ เมตร ตั้งประจำชาลาชั้นที่ ๑ หันหน้าเข้าหาพระเมรุมาศ อันนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการตั้งแต่งรูปเทวดาจตุโลกบาลประดับในงานพระเมรุ
รูปท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ ณ พระเมรุมาศนั้น คงสร้างขึ้นตามคติที่ว่า จตุโลกบาลมีหน้าที่เฝ้าคอยดูแลรักษาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ผู้เป็นจอมราชาแห่งเทพ บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งก็แทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศนั่นเอง
---------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/04/07/
สี้ไต๋เทียงอ้วง/
Culture
สี้ไต๋เทียงอ้วง จตุโลกบาลตามคติจีน – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 34
7 เมษายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
“สุเมรุจักรวาล” หรือจักรวาลแบบที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางนั้น ต้นกำเนิดก็คือภาพจำลองภูมิศาสตร์อินเดียโบราณ ดังนั้น คติดั้งเดิมของ “สี่มหาราช” แห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือ “จตุโลกบาล” ก็ย่อมเป็นแนวคิดอันมีต้นทางมาจากคติจักรวาลของคนอินเดียเช่นกัน
แต่เมื่อคตินี้เผยแผ่ไปพร้อมกับพุทธศาสนา เข้าสู่ดินแดนจีนและญี่ปุ่น ทำให้มีการปรับเอาคติ “จตุโลกบาล” ไปผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนามหายานแบบจีนนิกายด้วย ดุจเดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากพุทธศาสนามหายานในอินเดีย ที่เมื่อเข้าสู่จีนแล้วถูกนำไปผนวกกับตำนานท้องถิ่น กลายเพศเป็น “เจ้าแม่กวนอิม”
ท้าวจตุโลกบาลจึงมีชื่อเรียกในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “สี้ไต๋เทียงอ้วง” (四大天王) รวมถึงแต่ละองค์ก็ยังถูกปรับเปลี่ยนรูปโฉมไปตามคติจีน มีชื่อเป็นจีน และเกิดมีตำนานเป็นเรื่องราวในทางฝ่ายจีนอีกต่างหาก ดังที่คุณสมชาย ธรรมวิริยารักษ์ เขียนเล่าไว้ในบทความ “ปฏิมากรและประติมากรรมของชาวจีนในกรุงเทพฯ” ของหนังสือ “คนจีน ๒๐๐ ปีใต้พระบรมโพธิสมภาร เล่ม ๒” ว่า
“ท้าวจตุโลกบาลเหล่านี้ บ้างว่าสืบเนื่องมาจากในคราวกษัตริย์บู่อ๋อง แห่งราชวงศ์จิว ยกพวกไปตีกษัตริย์ติ๋ว (ก่อน พ.ศ. ๕๙๑) ในระหว่างทาง ได้มีเทพเจ้า ๔ องค์มาขออาสาช่วยรบ กษัตริย์บู่อ๋องได้กล่าวขอบใจ และขอให้ช่วยปกปักรักษาให้ “ฮวง” (ลม) “เที้ยว” (ถูกต้อง) “โหว” (ฝน) “สุง” (ราบรื่น) คือให้ดินฟ้าอากาศเป็นไปโดยราบรื่นตามฤดูกาล ให้ราษฎรเป็นอยู่โดยปกติสุขก็พอ ไม่ต้องช่วยรบ
“ครั้นการยกทัพไปตีกษัตริย์ติ๋วเป็นผลสำเร็จ กษัตริย์บู่อ๋องจึงรับสั่งให้ตั้งศาลเจ้าบูชาเทพทั้ง ๔ องค์ นั้น และให้มีเครื่องหมายดังนี้ คือ องค์หนึ่งถือดาบ หมายถึง ลม เพราะเวลาฟันดาบจะเกิดเป็นเสียงลม องค์หนึ่งถือพิณ เพราะการดีดพิณตามภาษาจีนออกเสียงว่า “เที้ยว” องค์หนึ่งถือร่ม หมายถึง ฝน และองค์หนึ่งถืองู เพราะคำว่าทะเล ออกเสียงว่า “สุง” แต่ต่อมาเนื่องจากงูไม่เป็นที่นิยมของสาธุชน จึงเปลี่ยนอุ้มเจดีย์แทน”
ปฏิมากรรมรูปจตุโลกบาลในคติจีนอย่างที่เห็นตามวิหารหน้าทางเข้าวัดพุทธมหายานจีนนิกาย จึงประกอบด้วยเทพทั้งสี่องค์ ซึ่งมักประดิษฐานเรียงกันให้ได้ตามลำดับถ้อยคำมงคลดังกล่าวข้างต้น
๑) เจงเจียเทียงอ้วง (增長天王 ท้าววิรุฬหก) ราชาแห่งกุมภัณฑ์ ปกครองทิศใต้ กายสีขาว ถือดาบ คือ “ฮวง” (ลม)
๒) ฉือกว๋อเทียงอ้วง (持國天王 ท้าวธตรฐ) ราชาแห่งคนธรรพ์ ปกครองทิศตะวันออก กายสีแดงหรือขาว มือถือพิณจีน (ปี่แป๋ หรือผีผา) คือ “เที้ยว”
๓) โตเหวินเทียงอ้วง (多聞天王 ท้าวเวสสุวัณหรือกุเวร) ราชาแห่งยักษ์และภูตผี ปกครองทิศเหนือ กายสีเขียวหรือเหลือง มือถือฉัตรหรือร่ม คือ “โหว” (แต่บางแห่งก็อุ้ม “ถะ” คือเจดีย์แบบจีนแทน)
๔) ควงบักเทียงอ้วง (廣目天王 ท้าววิรูปักข์) ราชาแห่งนาค ปกครองทิศตะวันตก กายสีน้ำตาลเข้ม ถืองูหรือมังกรในมือหนึ่ง คือ “สุง” มืออีกข้างถือดาบ
คุณสมชาย ธรรมวิริยารักษ์ เล่าไว้ด้วยว่า “ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้มักสร้างเป็นรูปขนาดโตใหญ่ เรียงไว้ในวิหารต้นของวัดข้างละสององค์ ลัทธิธรรมเนียมปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงมอบพระธรรมไว้แก่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ รักษา ชาวจีนจึงได้สร้างท้าวจาตุมหาราชขึ้น เรียกว่า ฮูฮวบ (ธรรมบาล) แปลว่า ผู้คุ้มครองพระศาสนา และนอกจากนี้ ยังพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และพุทธบริษัทอีกด้วย ถ้าประเทศใดละเลยหรือหมิ่นแคลนพระธรรม ก็จะเพิกถอนการพิทักษ์นั้นเสีย หากมั่นอยู่ในพระธรรมก็จะอำนวยสุขสวัสดิ์ บริวารท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มีหน้าที่คอยตรวจตราดูแลทุกข์สุขของประชาโลก และจัดการปราบปรามสัตว์ที่ทำบาปและที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม”
เราจึงมักพบว่า ตามหน้าวัดพุทธศาสนาจีนนิกายในเมืองไทย เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส ย่านเยาวราชในกรุงเทพฯ) และวัดเล่งเน่ยยี่ ๒ (วัดบรมราชากาญจนาภิเษก อำเภอบางบัวทอง ปทุมธานี) จึงมีวิหารประดิษฐานรูปท้าวจตุโลกบาล ทำหน้าที่เป็นทำนอง “อารักษ์” ของอาราม ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย
------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,460
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
«
Reply #2 on:
17 February 2022, 11:21:57 »
https://www.sarakadee.com/2020/04/23/heaven/
ulture
สุเมรุจักรวาล # ๓๖ – สว่างสวรรค์
23 เมษายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
เราท่านอาจคุ้นหูกับ “สวรรค์ชั้น ๗” แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำนั้นคงแปลมาจาก seventh heaven ในภาษาอังกฤษ อันเป็นจินตภาพของสวรรค์ตามแนวทางศาสนายิว/คริสต์มากกว่า เพราะถ้าว่าตามคติพุทธศาสนาหินยาน สวรรค์ในกามภูมิมีอยู่หกชั้น เรียกรวมๆ ว่าเป็น “ฉกามาพจร” หมายถึงสวรรค์หกชั้น (ฉ คือหก) ที่ยังข้องเกี่ยวในกาม ไล่ขึ้นไปตั้งแต่จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี
สวรรค์ชั้นแรกคือจาตุมหาราชิกา และชั้นที่ ๒ คือดาวดึงส์นั้น เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้ว
ลำดับต่อไปจะเปิดตำราเล่าเรื่องว่าด้วยสวรรค์ชั้นบนๆ บ้าง
เหนือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป คือสวรรค์ชั้น “ยามา” มีท้าวสุยามเทวราชเป็นหัวหน้า
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายที่ตั้งของสวรรค์ชั้นนี้ไว้ว่า
“แต่ภูมิพื้นชมพูทวีปขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงดาวดึงส์นั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่ดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามา สูงได้ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์”
สวรรค์ชั้นนี้นับเป็นสวรรค์ “ชั้นฟ้า” อันดับแรกจริงๆ เพราะมิได้ “ยึดโยง” กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์อย่างสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่ยังอยู่ในแนวยอดเขายุคันธร หรือสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งวางแปะไว้บนยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนสวรรค์ชั้นยามานั้น ยกระดับขึ้น “ลอยตัว” อยู่กลางหาวเฉยๆ
คัมภีร์อธิบายว่าวิมานของเทวดาชั้นนี้
“ประดิษฐานอยู่เหนือพื้นแล้วด้วยแก้ว แผ่นแก้วนั้นประดิษฐานอยู่ในอากาศ ด้วยอำนาจวาโยธาตุ…ทิพยวิมานนั้นสูง ๑๒ โยชน์บ้าง ๓๐ โยชน์บ้าง เรียงรายเป็นระเบียบเนื่องๆ กันออกไป…ตลอดถึงเขาขอบกำแพงจักรวาล”
อ่านดูแล้ว นึกภาพตาม ว่ามีวิมานสูงๆ ต่ำๆ ตั้งเรียงกันไปยาวเหยียดทุกทิศทุกทางจนถึงกำแพงจักรวาล ทำไมดูเป็น “ชุมชนแออัด” หลังกำแพง อย่างไรก็ไม่รู้
ตามคติสุเมรุจักรวาล เส้นทางเดินรถของพระอาทิตย์พระจันทร์สูงเสมอแค่เพียงระดับเขายุคันธร คือสูงเท่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือแค่ครึ่งเดียวของเขาพระสุเมรุเท่านั้น แต่สวรรค์ชั้นยามาลอยเท้งเต้งอยู่สูงเหนือขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไปอีกกว่า ๑๐ เท่า เมื่อเป็นดังนั้น พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงขึ้นไปไม่ถึง
อย่างไรก็ดี ที่นั่นยังคงสว่างไสวตลอดเวลา (คล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดไฟสว่างจ้าขาวโพลนทั้งวันทั้งคืน) ด้วยอานุภาพแห่ง “รัศมีแก้วทั้งหลาย และรัศมีจากกายเทพยดาทั้งหลาย”
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เสริมด้วยว่าเทพเจ้าในชั้นยามามีรัศมีส่องสว่างในตัวเอง (แบบหิ่งห้อยกระมัง ?) เป็นปริมณฑลรอบตัวได้ ๑๒ โยชน์
ขณะเดียวกัน พอสว่างทั้งสวรรค์ ทั้งจากรัศมีแก้วและรัศมีกายจากผิวเนื้อเทวดาโดยไม่หยุดหย่อน จึงทำให้เกิดภาวะ “ไม่รู้คืนรู้วันเวลา”
เทวดาบนสวรรค์ชั้นยามาจึงต้องอาศัย “เครื่องบอกเวลา” อันมีรูปลักษณ์เป็น “ดอกไม้ทิพย์”
ทุกเวลาที่ “สมมติ” ให้เป็นตอนเช้า ดอกไม้ทิพย์ที่ว่านี้จะเบ่งบานเผยอกลีบ
เสร็จแล้ว พอถึงเวลาที่ควรจะต้องเป็นตอนค่ำ ดอกไม้ทิพย์ก็จะหุบกลีบห่อเกสร กลับเข้าสู่สภาวะดอกตูมใหม่อีกครั้ง
เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดกาลจนกว่าจะสิ้นกัปป์
---------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,460
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
«
Reply #3 on:
17 February 2022, 11:23:14 »
https://www.sarakadee.com/2020/04/29/dusit/
Culture
สุเมรุจักรวาล # ๓๗ – วิมานโพธิสัตว์
29 เมษายน 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
เหนือจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไปอีกจะถึงชั้น “ดุสิต”
คัมภีร์พรรณนาว่าที่นั่นก็มีสวนสวย มีปราสาทราชมณเฑียรอันวิจิตร คล้ายที่มีบนสวรรค์ชั้นยามา แต่งดงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ส่วนเทวดาชั้นนี้ก็มีรัศมีกายแผ่ไปได้ร้อยโยชน์พันโยชน์ ส่องสว่างไกลกว่าแสงของเทพชาวยามาเช่นกัน
สวรรค์ชั้นนี้มีท้าวสันดุสิตเทวราชเป็นใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นที่ประทับของเทพสำคัญอีกสององค์
หนึ่งคือ “พระสิริมหามายาเทวบุตร” หรืออดีตพระพุทธมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปภายหลังประสูติพระพุทธเจ้าได้เพียง ๗ วัน แล้วด้วยกุศลกรรมจึงได้มาเสวยเพศเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นนี้
ส่วนอีกหนึ่งก็คือ “พระศรีอาริยเมตไตรย์เทวบุตร” พระโพธิสัตว์ผู้จะมาบังเกิดเป็น“พระอนาคตพุทธเจ้า” หรือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
แม้จะมีถิ่นพำนักในเขตดุสิต ทว่าทั้งสององค์ก็มีเหตุให้ต้องเสด็จลงไปยังสวรรค์ชั้นล่างๆ เป็นครั้งคราว เช่นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นมาเทศนาโปรดพระพุทธมารดา พระสิริมหามายาเทวบุตรก็ต้องเสด็จลงไปสดับพระอภิธรรมยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย์เทวบุตรนั้น ก็ดูเหมือนจะมีตารางกิจกรรมที่ต้องลงไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นประจำ จึงเป็นเหตุให้ได้พบกับพระมาลัยเถระ แล้วเลยมีโอกาสสนทนาธรรมกันว่าด้วยเรื่องโลกยุคพระศรีอาริย์ฯ อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว
คัมภีร์อธิบายว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เมื่อถึงพระชาติสุดท้ายก่อนจะจุติลงไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าจักต้องมาบังเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิตเหมือนๆ กันทุกพระองค์ แม้แต่พระพุทธเจ้าองค์ที่แล้ว หลังจากพระชาติที่เป็นพระมหาเวสสันดร ก็มาเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ก่อน รวมถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ขณะนี้ก็ยังประทับรอเวลาที่จะลงมาเกิดเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย์พุทธเจ้า อยู่ ณ สวรรค์ชั้นนี้
โดยเหตุนั้น นาม “ดุสิต” จึงไปปรากฏเป็นชื่อพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง คือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพ คงด้วยนัยความหมายที่ถือเสมือนว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญธรรม สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต รอคอยเวลาที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคตข้างหน้า
รวมถึงตราสัญลักษณ์ประจำพระราชวังดุสิต พระราชวังแห่งใหม่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวังในยุครัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกใช้เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ดอกบัว ด้านหลังมีประภามณฑล ตามประติมาณวิทยาอย่างชวาโบราณ ในนัยความหมายทำนองเดียวกัน และจากพระราชวังดุสิต ก็กลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อ “อำเภอดุสิต” และ “เขตดุสิต” กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน
ชื่อ “ดุสิต” ของสวรรค์ชั้นนี้ ยังถูกนำไปใช้อีกหลายครั้ง เช่น “ดุสิตธานี” เมืองจำลองขนาดจิ๋วของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าอาจเพราะแต่แรกสร้างขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ต่อมาเมื่อขยายโครงการใหญ่โต เพิ่มจำนวนบ้านเรือนมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปยังพื้นที่ของพระราชวังพญาไทแทน
อีกแห่งหนึ่งก็คือโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่หัวถนนสีลม ในบริเวณที่เคยเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ แล้วต่อมากลายเป็น “บ้านศาลาแดง” ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กระทั่งกลายเป็น “โรงแรมดุสิตธานี” โรงแรมหรู แลนด์มาร์คใหม่ และตึกสูงที่สุดของกรุงเทพฯ ยุคทศวรรษ ๒๕๑๐
ตัวตึกยอดแหลมเปี๊ยบของโรงแรมดุสิตธานีเพิ่งถูกรื้อลงเมื่อไม่นานมานี้คือต้นทศวรรษ ๒๕๖๐ นี่เอง
----------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/05/08/
จอมมาร/
Culture
จอมมาร ณ คืนวิสาขะ สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 38
8 พฤษภาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
เหนือขึ้นไปอีกจากสวรรค์ชั้นดุสิตจะถึงสวรรค์ชั้น “นิมมานรดี” ซึ่งมีเทวบุตรชื่อนิมมานรดีเทวราชเป็นผู้ปกครอง
ที่นี่ก็มีอะไรต่อมิอะไรคล้ายๆ กับสวรรค์ชั้นล่างๆ แต่วิจิตรพิสดารหนักข้อขึ้นเรี่อยๆ เทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาสิ่งใด ย่อมเนรมิตได้เองดังใจปรารถนา
ชื่อสวรรค์ชั้นนี้ยังเอาไปตั้งเป็นชื่อวัดก็มี เช่นวัดนิมมานรดีย่านบางแคในกรุงเทพฯ
สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี คือสวรรค์ชั้น “ปรนิมมิตวสวัตดี” ที่นี่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาสิ่งใดก็ถึงขั้นไม่ต้องเนรมิตเอง เพราะย่อมมีเทวดาชั้นล่างๆ มารับใช้คอยเนรมิตให้ทุกสิ่งอัน
ยิ่งไปกว่านั้น สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนี้ แบ่งการปกครองออกเป็นสองโซน คือมีฟากฝั่งเทพและฝั่งมาร แยกขาด ไม่ข้องเกี่ยวกัน (คงคล้ายๆ เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้)
ฝั่งเทพ มี “ปรนิมมิตวสวัตดีเทวราช” เป็นหัวหน้า
ส่วนเขตมารควบคุมโดย “พระยามาราธิราช” ทั้งสององค์นี้เป็นใหญ่เสมอกัน
ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะพระยามาราธิราชจากสวรรค์ชั้นนี้เองที่รับหน้าที่ลงไปทดสอบบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือเป็น “พญามาร” ที่มาคอยตรวจเช็คบารมีของพระพุทธเจ้า
พญามารเคยมาขวางหน้าห้ามไว้เมื่อตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ซึ่งก็ห้ามไม่สำเร็จ
จากนั้นพญามารก็ส่งธิดาสามนาง คือนางราคา ตัณหา และอรดี ไปยั่วยวนพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งก็ล้มเหลวอีก ทั้งสามนางกลายร่างเป็นคนแก่คนชรา กลับขึ้นไปฟ้องพระบิดา
เมื่อมาถึงขั้นนั้นแล้ว พญามารจึงตัดสินใจเป็นผู้นำทัพ ขึ้นประทับเหนือช้างพาหนะที่ชื่อ “คีรีเมขล์” ยกไพร่พลมารมาขับไล่พระโพธิสัตว์ให้ลุกไปจากโพธิบัลลังก์เมื่อคืนก่อนตรัสรู้ แล้วก็ต้องแตกพ่ายไปเมื่อขณะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือที่ภายหลังนับกันว่าตรงกับวันวิสาขบูชานั่นเอง
ภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้ ที่เรียกกันว่า “มารผจญ” มีเขียนไว้ตามพระอุโบสถหลายแห่ง โดยมากมักอยู่ด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน โดยนิยมเขียนให้พญามารมีรูปร่าง “เป็นยักษ์เป็นมาร” คือมีรูปกายเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นพระยายักษ์ แบบภาพทศกัณฐ์ มีหลายหน้าหลายมือด้วยเสียเลย
ส่วนพระพุทธรูปปางที่แสดงอาการเมื่อทรงตรัสรู้ จึงเรียกกันในภาษาไทยว่า “ปางมารวิชัย” คือมีชัยชนะเหนือมาร
นับจากคืนวันตรัสรู้ไปอีก ๔๕ พรรษา (พรรษา แปลว่าฤดูฝน ในที่นี้ใช้หมายถึงปี) ในวันเพ็ญ เดือน ๓ พญามารก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระชนมายุ ๘๐ ปี อีกครั้ง พร้อมกับทูลเตือนให้เสด็จปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา แล้วทรง “ปลงอายุสังขาร” คือทรงกำหนดล่วงหน้าว่าสามเดือนนับแต่นี้ พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันเพ็ญ เดือน ๖ ที่เมืองกุสินารา
ดูๆ ไปแล้ว “มาร” ในพุทธศาสนา มิได้เป็นปีศาจร้ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความดี ทว่ากลับเป็นเทวดาชั้นสูง เพียงแต่ท่านรับเป็นธุระไปตามหน้าที่ ครั้นเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละอย่างแล้ว พญามาร หรือ “พระยามาราธิราช” ก็กลับคืนไปประทับยังวิมานของท่านบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีตามเดิมต่อไป
ยิ่งกว่านั้น ในคัมภีร์ยังเล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยประทานพยากรณ์ด้วยว่า ในภายภาคหน้าจะมีพระสาวกรูปหนึ่งคือพระอุปคุต มา “ทรมาน” พญามารผู้นี้ให้ละเสียจากพยศ แล้วจะได้ตั้งความปรารถนาอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคตบ้าง
นั่นคือแม้แต่พญามารก็ยังมีศักยภาพเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะก้าวผ่านเข้าสู่พระโพธิญาณ
-----------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,460
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [31-40]
«
Reply #4 on:
17 February 2022, 11:24:40 »
https://www.sarakadee.com/2020/05/13/
สุเมรุจักรวาล-ตอน-39-อุ๊ย-ห/
Culture
สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 39 – อุ๊ย! หินหล่น
13 พฤษภาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ให้ตัวเลขระยะทางไว้ว่า สวรรค์กามาพจรทั้งหกชั้นที่กล่าวถึงมาแล้ว อยู่สูงต่ำกว่ากันเพียงไร
“แต่ภูมิพื้นชมภูทวีปขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงดาวดึงส์นั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่ดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามา สูงได้ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์ แต่ยามาขึ้นไปถึงชั้นดุสิต สูงได้ ๗๘๔,๘๐๐ โยชน์ แต่ชั้นดุสิตขึ้นไปถึงชั้นนิมมานรดี สูงได้ ๑,๐๓๔,๒๐๐ โยชน์ แต่ชั้นนิมมานรดีขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น สูงได้ ๑,๔๘๙,๖๐๐ โยชน์ แท้จริง แต่มนุษย์โลกขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด ชั้นฉกามาพรจรสวรรค์ ๖ ชั้นนั้น สูงได้ ๓,๘๒๔,๐๐๐ โยชน์”
แต่นอกจากการบอกระยะด้วยมาตราวัดระยะทางเช่นนี้แล้ว ยังมีการระบุระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นด้วย “ตัวชี้วัด” อีกแบบหนึ่งด้วย
ในสมุดภาพไตรภูมิพรรณนาระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นไว้ด้วยการตกของ “แผ่นหิน” หรือ “ก้อนหิน” โดย “สมมติว่า” ถ้ามีก้อนหินตกลงจากสวรรค์ชั้นหนึ่ง จะร่วงหล่นไปถึงสวรรค์ชั้นถัดลงไปภายในเวลาเท่าใด
แต่เพราะเหตุใดถึงจะมีเทวดาผู้อุตสาหะเหาะแบกเอาก้อนหินขึ้นไปทิ้งลงมา แบบเดียวกับที่กาลิเลโอเอาลูกปืนใหญ่ขึ้นไปโยนจากยอดหอเอนเมืองปิซา คัมภีร์ไม่ยักอธิบายไว้
ผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ขั้นเทพองค์นั้นพบว่าจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี หินต้องใช้เวลาตกลงมาถึง ๑ เดือน ๕๗ นาที จึงหล่นตุ๊บลง ณ สวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ในวิชาฟิสิกส์ มีการคำนวณ “การตกอย่างอิสระ” (free falling) โดยมีทิศทางพุ่งลงสู่จุดศูนย์กลางของโลก ได้ค่าประมาณ ๙.๘ เมตร ต่อวินาที เราไม่แน่ใจว่าในกรณี “หินหล่น” แบบนี้จะสามารถใช้สูตรเดียวกันได้หรือไม่ หรือฟิสิกส์ของมนุษย์จะเป็นหลักการสากลที่ประยุกต์ใช้กับเทวดาได้ด้วยหรือเปล่า แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักการคำนวณอย่างอื่นจึงขอ “สมมติ” ให้หินตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง ณ ตีนเขาพระสุเมรุแกนกลางจักรวาล โดยความเร็วเดียวกันนี้
ระยะเวลาการตกของหินจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ไปถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ๑ เดือน ๕๗ นาที คำนวณได้ว่า
ค่าเฉลี่ยที่หินตกเป็นเวลา ๑ เดือน เท่ากับ ๖๐ (วินาที) x ๖๐ (นาที) x ๒๔ (ชั่วโมง) x ๓๐ (วัน) เท่ากับ ๒,๕๙๒,๐๐๐ วินาที
เศษ ๕๗ นาที เท่ากับ ๖๐ x ๕๗ คือ ๓,๔๒๐ วินาที
เอาตัวเลขสองตัวนี้มารวมกัน แล้วคูณด้วย ๙.๘ ได้ออกมาเป็นระยะทาง ๒๕,๔๐๕,๐๒๐ เมตร หรือกว่า ๒.๕ หมื่นกิโลเมตร
ในสมุดภาพไตรภูมิยังให้ตัวเลขหินตกนี้ไว้อีกหลายระยะ เช่นจากสวรรค์ชั้นนิมานรดี เอาก้อนหินหย่อนตุ๋มลงไป กว่าจะถึงชั้นดุสิต ต้องใช้เวลา ๑ เดือน ๒๓ วัน ๓๙ นาที จากสวรรค์ชั้นดุสิต ปล่อยหินตกลงไปจะถึงสวรรค์ชั้นยามาในเวลา ๑๖ วัน ๒๑ นาที ส่วนจากยามาถึงสวรรค์ดาวดึงส์ของพระอินทร์ ใช้เวลา ๑๕ วัน ๓ นาที
ใครอยากรู้ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร ก็ลองไปคำนวณกันเอาเองแล้วกัน
ที่ดูแล้วรู้สึกว่าน่าเอ็นดูเป็นที่สุดคือในสมุดภาพไตรภูมิตรงหน้าซึ่งบรรยายถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ และระยะห่างตามเวลาหินตกนี้ ท่านคงกลัวจะไม่สมจริง เลยต้องวาดก้อนหินเล็กๆ ไว้ตรงมุมแต่ละหน้าให้เห็นว่า “อุ๊ย! หินหล่น”
---------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2020/05/20/
รูปลักษณ์-พรหมสี่หน้า/
Culture
รูปลักษณ์ของ “พรหมสี่หน้า” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 40
20 พฤษภาคม 2020 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
รูปลักษณ์ของ “พรหมสี่หน้า” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 40
เรื่องที่เล่ามายืดยาวแต่ต้นนั้นยังอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ฉกามาพจร” คือสวรรค์ชั้นต้นหกชั้น หรือถ้านับแบบ “ไตรภูมิ” ก็คือแค่เพียงบางส่วนของ “กามภูมิ” เท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปอีกยังมีสวรรค์ชั้นสูงๆ ขึ้นไป เรียกรวมได้อีกสองภูมิ คือ “รูปภูมิ” กับ “อรูปภูมิ” ซึ่งถือกันว่าเป็น “สวรรค์ชั้นพรหม”
สวรรค์ชั้นพรหมนี้อยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นต้นหกชั้นมากมายนัก “ไตรภูมิพระร่วง” ถึงกับบอกว่าระยะทางจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นพรหมนั้น “จะนับจะคลนาด้วยโยชน์ก็ดี ด้วยวาก็ดี บ่มิได้เลยเพราะว่าไกลนัก” และบอกด้วยว่าถ้าเอาก้อนหินไปทิ้งจากสวรรค์ชั้นพรหมขั้นล่างสุดหรือที่อยู่ต่ำที่สุด ต้องใช้เวลาถึงสี่เดือนกว่าจะตกลงมาถึงยังโลกมนุษย์
พรหมสี่หน้า
รูปภูมิมีอีก ๑๖ ชั้น ถือเป็นพรหมที่ยังมี “รูป” บางครั้งเรียกว่า “โสฬสพรหม” (อ่านว่า โส-ลด-พรม) โสฬส แปลว่า ๑๖
เหนือขึ้นไปอีกคือ “อรูปภูมิ” อีก ๔ ชั้น เป็นพรหมที่ “ไม่มีรูป” แล้ว คือเหลือเพียงจิต
บนสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งเป็นเทวดาพุทธเหล่านี้มีเฉพาะพรหมเพศชายเท่านั้น “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า
“…มีเกศเกล้าดูงามนักหนา แลหัวเป็นชฎาทุกองค์ๆ ดูเรืองงามต่างๆ แลตนพรหมนั้นงามนักหนา หัวเข่าก็ดีแขนก็ดีที่ต่อกันก็ดีกลมงามนักบ่มิได้เห็นที่ต่อกัน…”
นั่นคือถ้าว่าตามคัมภีร์ เทพบนสวรรค์ชั้นพรหมหรือบรรดา “ท้าวมหาพรหม” นั้นก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ผู้ชาย เพียงแต่งดงามละมุนละม่อมกลมเกลี้ยงเต่งตึงเป็นพิเศษกว่า
เราอาจเคยได้ยินชื่อ “พระพรหม” ที่เป็นเทพเจ้าของศาสนาฮินดู หมายถึงมหาเทพองค์หนึ่งในชุด “ตรีมูรติ” อันประกอบด้วยพระศิวะ (พระอิศวร) พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระพรหม “พระพรหม” แบบนั้นถือเป็นชื่อเฉพาะ คือมีแค่องค์เดียว แต่ “พรหม” ในทางพุทธมีสถานะเป็นสภาวะธรรมระดับสูง จึงมีได้ไม่จำกัดจำนวน
ในทางงานช่างของไทย เวลาจะแสดงรูปพระพรหมซึ่งเป็นเทพจาก “สวรรค์ชั้นพรหม” มักนิยมไป “ขอยืม” รูปแบบพระพรหมของศาสนาฮินดูมาใช้ คือทำเป็นเทพเจ้าสี่หน้า ทั้งที่ในคัมภีร์เองก็ไม่ได้บอกตรงไหนเลยว่าเทวดาชั้นพรหมนั้นมีสี่หน้า แต่โดยขนบงานช่างไทย เช่นภาพวาดจิตรกรรม มักนิยมแสดงพระพรหมให้เห็นเพียงสามหน้า คือมีหน้าเต็มด้านหน้า ๑ แลเห็นเสี้ยวหน้าด้านข้าง ขนาบซ้ายขวาเป็น ๒ และ ๓ ส่วนหน้าที่ ๔ อยู่ด้านหลัง คือ “รู้ว่ามีแต่มองไม่เห็น” จึงไม่ต้องวาด แล้วแต่ละหน้ายังต้องทรงมงกุฎเฉพาะสำหรับใบหน้านั้นๆ อีก เราจึงเห็นเป็นพระพรหมสามหน้าทรงมงกุฎสามยอด
ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เล่าว่าพรหมบางองค์เคยเป็นเพื่อนเก่าของพระพุทธเจ้าด้วย เช่นฆฏิการพรหม ผู้ “เป็นสหายกับพระโพธิสัตว์ ครั้งเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพกาลเมื่อศาสนาพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น” พอท้าวมหาพรหมองค์นี้ทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกบวช ท่านจึงนำเอาอัฐบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวาย ได้แก่ “กาสาวพัสตร์ ๓ ผืน สังฆาฏิ ๑ จีวร ๑ สบง ๑ บาตร ๑ มีด ๑ กล่องเข็ม ๑ กายพันธน์ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑”
กายพันธน์ คือเครื่องรัดตัว หมายถึง “รัดประคด” ที่ใช้เป็นเหมือนเข็มขัดรัดผ้าสบง คือผ้านุ่งของสงฆ์
เมื่อฆฏิการพรหมนำเอาไตรจีวรและเครื่องบริขารถวายให้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็รับเอาไปครอง จากนั้นจึงถอดเครื่องทรงที่สวมใส่ออกจากพระราชวังมาส่งให้พระพรหม ซึ่งได้นำขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหม แล้วเนรมิตเจดีย์แก้วขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน มีชื่อว่า “ทุสสะเจดีย์”
ดังนั้น ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชนั้น จึงเป็นต้นกำเนิดของพระเจดีย์สององค์บนสวรรค์ เพราะฝ่ายพระอินทร์ก็อัญเชิญเอามวยผมที่ทรงตัดออกไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คู่กันกับทุสสะเจดีย์บนสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งบรรจุเครื่องทรงฉลองพระองค์ของพระโพธิสัตว์
ในทางพุทธแบบไทยๆ พระพรหมจึงนับเป็นเทวดาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เข้าชุดคู่กับพระอินทร์เสมอ อย่างที่สำนวนไทยมีคำประเภท “(ไม่เลือก) หน้าอินทร์หน้าพรหม” รวมถึงมีอำเภอในจังหวัดสิงห์บุรีที่อยู่ในชื่อชุดเดียวกัน คืออินทร์บุรี และพรหมบุรี
--------------------------------------
Logged
Pages:
[
1
]
« previous
next »
SMF 2.0.4
|
SMF © 2013
,
Simple Machines
| Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.087 seconds with 20 queries.
Loading...