User Info
Welcome,
Guest
. Please
login
or
register
.
23 December 2024, 08:29:07
1 Hour
1 Day
1 Week
1 Month
Forever
Login with username, password and session length
Search:
Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ
http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618
Posts in
12,929
Topics by
70
Members
Latest Member:
KAN
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
|
เรื่องราวน่าอ่าน
|
หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง
|
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
0 Members and 4 Guests are viewing this topic.
« previous
next »
Pages:
[
1
]
Author
Topic: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10] (Read 759 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,454
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
«
on:
16 February 2022, 20:57:18 »
สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
https://www.sarakadee.com/2019/08/23/ancient-geography-2/
Culture
สุเมรุจักรวาล ๑ – ภูมิศาสตร์คนโบราณ
23 สิงหาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
จักรวาล คือการผันไปราวกับจักร การเคลื่อนหมุนไปดุจล้อของรถ มีลักษณะเป็นกงล้อวงกลม หมุนไปเป็นวัฏฏะ
ในแนวคิดของพุทธศาสนาเถรวาท จักรวาลเป็นทั้งความรู้ภูมิศาสตร์ว่าด้วยตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมและเป็น “ฉากหลัง” สำหรับสรรพชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดตามกระแสแห่งกรรม เพราะการไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ล้วนเป็นไปตามบาปบุญที่ได้สั่งสมมา
จักรวาลแบบพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งได้รับคติมาจากอินเดีย อธิบายว่าในท่ามกลางจักรวาลมากมายอันนับไม่ถ้วน ล้วนมีรูปร่างลักษณะอย่างเดียวกันกับจักรวาลของเรานี้ คือตรงแกนกลางหรือศูนย์กลางของจักรวาล เป็นภูเขาสูง ชื่อ “เขาพระสุเมรุ”
เขาพระสุเมรุนี้มีภูเขาวงแหวนล้อมรอบอีก ๗ ชั้น เรียกรวมกันว่า สัตตบริภัณฑ์ (สัตตะ แปลว่าเจ็ด)
ในระหว่างภูเขาแต่ละชั้น มีทะเลวงแหวนคั่น เรียกว่า “สีทันดรสมุทร”
พ้นจากแนวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นนอกสุดออกไปเป็นมหาสมุทรใหญ่ที่ไปสิ้นสุด ณ ขอบจักรวาล
บางคัมภีร์เรียกมหาสมุทรใหญ่นี้ว่า “โลณสมุทร”
ในโลณสมุทร โดยรอบทั้งสี่ทิศถัดจากเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์ มีทวีปใหญ่สี่ทวีป กับเกาะน้อยๆ อีก ๒,๐๐๐ เกาะ
ทวีปใหญ่ทางทิศเหนือ ชื่ออุตรกุรุทวีป
ทวีปทิศตะวันออก ชื่อบุพพวิเทหทวีป
ทวีปทิศใต้ มีชื่อว่าชมพูทวีป
ทวีปทิศตะวันตก ชื่ออมรโคยานทวีป
ในจำนวนนี้ ทวีปที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์แบบพวกเราคือ “ชมพูทวีป” ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุเท่านั้น
ส่วนพระอาทิตย์พระจันทร์ โคจรเป็นวงอยู่รอบศูนย์กลางของจักรวาล คือเขาพระสุเมรุ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๒๔๕๖-๒๕๕๖) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยทรงอธิบายวิเคราะห์เรื่องคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า” ว่า
“…ทวีปทั้ง ๔ นั้น ชมพูทวีปก็คือโลกในความเป็นจริงของผู้เป็นต้นคติความคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะก็คืออินเดียเอง ส่วนอีก ๓ ทวีปแม้จะกล่าวว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ แต่ก็น่าจะเป็นโลกในความคิดนึกในใจ หรือกำหนดเอาด้วยภาพทางใจ…เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นในชมพูทวีปนี้ เป็นเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหะ เป็นเวลาอาทิตย์ตกในอุตตรกุรุ เป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยาน…ตามที่เทียบกันนี้ ชมพูทวีปอยู่ที่ อินเดีย บุพพวิเทหะอยู่ที่แถบ นิวซีแลนด์ อุตตรกุรุอยู่ที่แถบ นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก (นับกว้างๆ ว่าอเมริกา) อมรโคยานอยู่ที่แถบ อังกฤษ (นับกว้างๆ ว่ายุโรป) แต่ตามคติความคิดเรื่อง ๔ ทวีป น่าจะมิได้มุ่งหมายถึงประเทศปัจจุบันเหล่านี้ เพราะมีแนวคิดเรื่องโลกกลมคนละอย่าง…”
นั่นคือหากพิจารณาด้วยสายตาของความรู้ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ชมพูทวีปก็คืออนุทวีปอินเดีย อันตั้งเป็นติ่งห้อยอยู่ทางตอนใต้ของเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับเทือกเขาหิมาลัย อันมียอดเขาที่สูงที่สุดในโลก คือยอดเขาเอเวอเรสต์ นั่นเอง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2019/09/04/sumeru-basic/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๒ วิชาพื้นฐาน
4 กันยายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ระบบจักรวาลพุทธเถรวาทอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางนี้ ผู้เขียนขอตั้งชื่อเรียกเอาเองว่า “สุเมรุจักรวาล” โดยล้อจากคำ “สุริยจักรวาล” อันหมายถึงจักรวาลแบบที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง
ความรู้ภูมิศาสตร์ฉบับสุเมรุจักรวาลนี้ มีที่มาจากคัมภีร์ในทางพุทธศาสนา กลุ่มที่เรียกรวมๆ ได้ว่า “คัมภีร์โลกศาสตร์” ซึ่งเล่มที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุด คงเป็น “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์สุโขทัย
แต่อันที่จริงยังมีคัมภีร์กลุ่มนี้อีกหลายฉบับที่กล่าวถึงรายละเอียดของภูมิศาสตร์ชุดสุเมรุจักรวาลไว้อย่างลุ่มลึกมาก เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี จักกวาฬทีปนี ฯลฯ
ในสังคมไทยภาคกลางยุคโบราณ สุเมรุจักรวาลถือเป็นความรู้พื้นฐานระดับ “ขึ้นใจ” ในกลุ่มของ “ผู้มีการศึกษา”
ส่วนหนึ่งอาจเพราะการศึกษาในสยามยุคก่อนสมัยใหม่มีรากฐานมาจากการบวชเรียนในวัด ความรู้ด้าน “สุเมรุจักรวาล” จึงซึมซาบอยู่ทั่วไปจนกลายเป็นกรอบในการมองโลก เช่นที่สุนทรภู่รำพันไว้ใน นิราศภูเขาทอง ว่า
"มาถึงบางธรณีทวีโศก ยามวิโยคยากใจให้สะอื้นโอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตรเมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัยล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา"
ตัวเลข “สี่หมื่นสองแสน” หรือ ๒๔๐,๐๐๐ นี้ ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่จินตนาการขึ้นมาลอยๆ หรือแค่ “กลอนพาไป” แต่เป็นความหนาของแผ่นดิน (สุธา/พสุธา) ซึ่งมีหน่วยเป็น “โยชน์” ตามคัมภีร์โลกศาสตร์เป๊ะ!
ถ้าลองเทียบเป็นมาตราเมตริกแบบที่ใช้กันทั่วไป คือ ๑ วา เท่ากับ ๒ เมตร ความหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ จะเท่ากับ ๓,๘๔๐,๐๐๐ กิโลเมตร หรือคิดเป็น ๑๐ เท่า ของระยะทางจากโลกไปถึงดวงจันทร์ (๓๘๔,๔๐๐ ก.ม.) เลยทีเดียว!
แม้ว่าท้องฟ้าเมื่อหลายร้อยปีก่อนก็คงเป็นสีฟ้า ปุยเมฆสีขาว ผืนแผ่นดินที่มองเห็นก็กว้างไกลสุดตาไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อความรับรู้ต่างกันไป “โลก” ของเขาในอดีตกับยุคของเราจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ครั้นพอวิทยาการตะวันตกและดาราศาสตร์สมัยใหม่อย่างฝรั่งแพร่หลายเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ ความรู้ภูมิศาสตร์โบราณอันอิงแอบอยู่กับพุทธศาสนาและการศึกษา
ยุคเก่านี้จึงยังคง “ฝังหัว” คนรุ่นเก่าอยู่มาก จนยากที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นในบทความเรื่อง “ลายลักษณ์พระบาท” ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (ต่อมาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ๒๔๐๓-๒๔๕๘) ทรงเขียนลงพิมพ์ในนิตยสาร “วชิรญาณวิเศษ” เมื่อปี ๒๔๓๔ ได้ “ยั่วล้อ” ทัศนคติของ “ท่านแต่ก่อน” ไว้ตอนหนึ่งว่า
“…ไอ้พื้นแผ่นดินที่เราอยู่นี่อิกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาก็ถือตามฝาหรั่งมังค่าเสียมากแล้วนะ เขาว่าโลกกลมโลกหมุน ฮะ ฮะ ฮะ ขันมาก ชั่งเชื่อกันไปได้ โลกหมุนละก้อหมีหกคะเมนหัวหกก้นขวิดไปละหรือ จะนั่งอยู่ยังงี้ได้ที่ไหน เอ๊อ เชื่อถือกันผิด ๆ ไปต่าง ๆ น่ะแหละ…”
«
Last Edit: 16 February 2022, 21:02:04 by ppsan
»
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,454
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
«
Reply #1 on:
16 February 2022, 21:06:58 »
https://www.sarakadee.com/2019/09/04/
เอเวอเรสต์-พระสุเมรุ/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๓ เขาพระสุเมรุ VS ยอดเอเวอเรสต์
4 กันยายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ความรู้ว่าด้วย “สุเมรุจักรวาล” ถือเป็น “ความรู้พื้นฐาน” ในหมู่ “ผู้มีการศึกษา” ของสังคนไทยภาคกลางแต่โบราณ อย่างใน “บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” เมื่อขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง แล้วบุกเข้าไปในห้องนอน พบม่านปักฝีมือนางวันทองที่แขวนกั้นห้องอยู่ถึงสามชั้น ขุนแผนชมม่านแล้วเอาดาบฟันขาดไปทีละชั้นๆ ด้วยความแค้นใจจนล่วงเข้าไปถึงที่นอนของขุนช้างกับนางวันทอง
ในบทเสภาพรรณนาม่านชั้นแรกไว้ว่าปักเป็นรูปเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์
“…………………………….. อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหัศกันเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร”
ด้วยคำกลอนแค่สองวรรค กวีสามารถออกนามสัตตบริภัณฑ์ คือทิวเขาวงแหวนที่โอบล้อมรอบเขาพระสุเมรุได้ถึงห้าชั้นจากจำนวนทั้งหมดเจ็ดชั้น ได้แก่ เขายุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัส เนมินธร วินตกะ และอัสกรรณ
แต่เพียงอาจใช้ตาม “ภาษาปาก” จึงต่างไปจากชื่อในคัมภีร์บ้าง เช่น หัศกัน (อัสกรรณ) หรือการวิก (กรวิก)
คัมภีร์โลกศาสตร์ทุกฉบับบรรยายไว้ตรงกันว่า เขาพระสุเมรุสูงขึ้นไปในอากาศ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ และหยั่งลึกลงในมหาสมุทรอีก ๘๔,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน
ส่วนเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบอยู่แต่ละชั้น มีความสูงลดหลั่นลงไปครึ่งหนึ่งของชั้นก่อนหน้า
เขายุคนธร ภูเขาวงแหวนชั้นแรก จึงสูง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ หรือครึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ
ถัดมาคือเขาอิสินธร สูงครึ่งหนึ่งของยุคลธร คือ ๒๑,๐๐๐ โยชน์
ส่วนเขากรวิก สุทัสสนะ เนมินธร วินันตกะ แต่ละชั้นก็เป็นครึ่งหนึ่งของชั้นก่อนหน้าตามลำดับลงมา จนถึงทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นสุดท้าย คือเขาอัสสกรรณ สูง ๖๕๖ โยชน์กับอีก ๒,๐๐๐ วา
ความสูงหรือขนาดของสิ่งต่างๆ ตามที่ระบุในคัมภีร์โลกศาสตร์ ล้วนมีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างยิ่ง อันเป็นเครื่องแสดงระบบความคิดและจินตนาการสุดขีดของคนโบราณ ซึ่งหากคนสมัยใหม่ไปคิดคำนวณเอาจริงเอาจังนักก็อาจหงุดหงิดใจโดยไม่จำเป็น
เช่นถ้าคิดตามมาตราชั่งตวงวัดแบบไทย ๒ คืบเป็น ๑ ศอก ๔ ศอกเป็น ๑ วา ๒๐ วาเป็น ๑ เส้น ๔๐๐ เส้น เป็น ๑ โยชน์ แล้วเทียบตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ว่า ๑ ศอก เท่ากับ ๕๐ เซนติเมตร ๑ วา คิดเป็น ๒ เมตร ๑ เส้นเป็น ๔๐ เมตร และ ๑ โยชน์เป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตรแล้ว ถึงหากว่าเขาพระสุเมรุเป็น “อุปมา” ของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของชมพูทวีป หรืออนุทวีปอินเดียจริง แต่เมื่อคำนวณออกมา ความสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ของเขาพระสุเมรุ เทียบเท่ากับ ๑,๓๔๔,๐๐๐ กิโลเมตร หรือคิดเป็นกว่า ๑ แสน ๕ หมื่นเท่าของเอเวอเรสต์ ซึ่งสูง ๘,๘๘๔ เมตร เลยทีเดียว
ในงานช่างโบราณของไทย เช่นจิตรกรรมฝาผนัง หรือลายรดน้ำบนตู้พระธรรม นิยมแสดงภาพเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ ในลักษณะภาพตัดขวาง คือแสดงเขาพระสุเมรุตรงกลางเป็นแท่งที่สูงที่สุด โดยมีภูเขาบริวารคือสัตตบริภัณฑ์ สูงลดหลั่นกันลงมาขนาบสองข้างตามจังหวะที่เห็นงาม โดยช่างหมายเอาว่า แท่งเขาด้านซ้ายขวาที่สูงเท่ากันนั้น หมายถึงภูเขาลูกเดียวกันที่อ้อมวนโอบอยู่โดยรอบ แต่ถูกตัดผ่าให้เห็นพอเป็นไอเดีย ซึ่งอาจไม่เคร่งครัดนัก บางที่ใส่ครบทั้งเจ็ดชั้น แต่อีกหลายแห่งก็ขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง
วิธีแสดงภาพทำนองนี้อาจเริ่มขึ้นในงานพุทธศิลป์ของรัฐโบราณในประเทศพม่า ก่อนจะแพร่หลายมาสู่เมืองไทย
เนื่องจากเสภา “ขุนช้างขุนแผน” แต่เดิม ไม่ได้มาพร้อมภาพวาดประกอบ จึงไม่รู้ว่ากวีนึกถึงภาพลวดลายบนม่านแบบไหนกันแน่ แต่ถ้าให้เดาก็คิดว่าม่านปักฝีมือนางวันทอง ควรแสดงภาพสุเมรุจักรวาลในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมนั่นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2019/09/11/sumeru-mounthai-4-2/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๔ เหลี่ยมเขาพระสุเมรุ
11 กันยายน 2019
“ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่า เขาพระสุเมรุเป็นแท่งเขาที่มีหน้าตัดรูปกลม ขณะที่ “โลกบัญญัติ” กล่าวว่า “”ภูเขาหลวงสิเนรุ” นั้น “มีสัณฐานดี เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหมือนเสา” แม้รูปพรรณจะต่างกัน แต่สิ่งที่ระบุไว้ในทำนองเดียวกันคือแต่ละด้านมีสีไม่เหมือนกัน
ใน “ไตรภูมิพระร่วง” แบ่งเส้นรอบวงความยาว ๒๕๒,๐๐๐ โยชน์ ของเขาพระสุเมรุออกเป็นสี่ส่วน ส่วนละ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ โดยขยายความว่า ด้านตะวันออกเป็นสีเงิน ด้วยเหตุนั้น ท้องฟ้าและน้ำในมหาสมุทรด้านเหนือจึงสะท้อนเงาเหลี่ยมเขาเป็นสีขาว
ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นสีแก้วผลึกและสีทอง อากาศและน้ำทะเลจึงเป็นสีแดงและสีเหลืองตามลำดับ
ส่วนทิศใต้เป็นสีแก้วอินทนิล คัมภีร์จึงให้เหตุผลที่ดูสมจริงตามประสบการณ์ของคนเราว่า ด้วยเหตุดังนั้น ท้องฟ้าของชมพูทวีปจึงเป็นสีฟ้า และมหาสมุทรด้านใต้ (คือด้านที่ล้อมรอบชมพูทวีปของมนุษย์) สีของน้ำทะเลจึงสะท้อนสีฟ้าอมเขียวของเหลี่ยมเขา มาให้เห็นเป็นสีน้ำทะเล!
ส่วน “โลกบัญญัติ” ที่อธิบายว่าเขาพระสุเมรุมีรูปหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยม กลับระบุสีแต่ละด้านไว้ต่างออกไป คือทิศตะวันออกเป็นทอง ตะวันตกเป็นเงิน ด้านเหนือทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ใต้ล้วนแล้วด้วยแก้วผลึก
ในภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ มักเขียนรูปเขาพระสุเมรุเป็นเหมือนแท่งหินตะปุ่มตะป่ำ มีหลืบเขาสลับซับซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ไม่ค่อยเขียนเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสีต่างๆ เว้นแต่ในสมุดภาพไตรภูมิที่วาดลงบนสมุดข่อย เช่นฉบับกรุงธนบุรี ซึ่งอาจพยายามเคร่งครัดตามข้อมูลในคัมภีร์ในสกุล “โลกบัญญัติ” ถึงกับแสดงให้เห็นเหลี่ยมเขาด้วยเทคนิคเชิงช่าง เหมือนเขาพระสุเมรุเป็นกล่องกระดาษที่โดนฉีกคลี่แบะทั้งสี่ด้านออกมาวางเรียงหน้ากระดานให้เห็นพร้อมกันชัดๆ
เรียกว่าเป็น “คิวบิสม์” (Cubism) ก่อนหน้าอัครมหาศิลปินปิกัสโซ (Pablo Picasso) หลายร้อยปีก็ว่าได้!
ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ในโลกยุคโบราณ เรื่องราวของสุเมรุจักรวาลเป็นความรู้พื้นฐานที่ “ซึมซาบ” ในใจของกลุ่มชนชั้นที่มีการศึกษาของสยาม แม้แต่เรื่องเหลี่ยมเขาสี่ด้านมีสี่สีก็สามารถอ้างอิงถึงได้ โดยไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมกันอีก
ใน กากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอกยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พูดถึงเหลี่ยมเขาสี่ด้านสี่สีไว้ด้วย ในฉากที่พระยาครุฑเหาะพานางกากีออก “แว๊น” ร่อนเที่ยว แล้วบินโฉบเขาพระสุเมรุ
“ชี้บอกยอดเขาพระเมรุมาศ แก้วประหลาดงามดีเป็นสี่อย่าง
แดงเขียวขาวเหลืองเรืองนภางค์ ……………………………………”
คือบอกด้วยว่า แต่ละด้านเป็นสีต่างๆ กัน คือ แดง เขียว ขาว เหลือง ตรงตามคัมภีร์เป๊ะ!
อาจสังเกตด้วยว่า ในที่นี้ โวหารกวีเรียกเขาพระสุเมรุว่า “พระเมรุมาศ” (ภูเขาทอง) ฟังดูเหมือนชื่อเรียกอาคารชั่วคราวที่สร้างขึ้นเพื่อปลงศพพระมหากษัตริย์ อย่างที่เรียกกันย่อๆ ว่า “พระเมรุ”
ตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงคำพ้องรูปพ้องเสียง แต่ที่จริงคือ “คำเดียวกัน”
“พระเมรุมาศ” ที่ใช้ถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือการ “จำลอง” เขาพระสุเมรุมาสร้างขึ้น เพื่อประกอบพระราชพิธี อันถือเป็นการส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเทพเจ้ากลับคืนสู่สวรรค์
แม้แต่คำว่า “ตาย” สำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ราชาศัพท์กำหนดให้ใช้คำ “สวรรคต” โดยรูปคำเอง สวรรคตก็มิได้แปลว่าตาย หากแต่แปลว่า “ไปสู่สวรรค์”
--------------------------------------------------------------------------------------------------
«
Last Edit: 17 February 2022, 11:04:31 by ppsan
»
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,454
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
«
Reply #2 on:
16 February 2022, 21:09:52 »
https://www.sarakadee.com/2019/09/18/
พระอาทิตย์-พระจันทร์/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๕ เส้นทางโคจรพระอาทิตย์พระจันทร์
18 กันยายน 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ในจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง แม้แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์ก็ย่อมต้องโคจรรอบเขาพระสุเมรุ
“ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่า “พระอาทิตย์โดยกว้างได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา โดยปริมณฑลรอบได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วาแล พระจันทร์โดยกว้างได้ ๓๙๒,๐๐๐ วาโดยปริมณฑลรอบได้ ๑,๑๗๖,๐๐๐ วาแล”
พร้อมกันนั้น “ไตรภูมิพระร่วง” กำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้พระอาทิตย์พระจันทร์ไว้ด้วย
“แต่แดนกำแพงจักรวาลเถิงเขายุคุนธรหว่างกลางเป็นหนทางพระอาทิตย์แลพระจันทร์ แลพระนวเคราะห์ แลดารากรทั้งหลายแต่งเทียวไปมาในหนทางวิถีให้เรารู้จักว่าปีแลเดือนวันคืน”
หมายถึงว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ ตลอดจนดาวเคราะห์ทั้งเก้า (นวเคราะห์/นพเคราะห์) และดาวอื่นๆ มีแนวการโคจรอยู่ระหว่างกำแพงจักรวาลรอบนอก เข้ามาจนถึงแนวเขายุคลธร
และเพื่ออธิบายว่าแล้วเหตุใดพระอาทิตย์แต่ละฤดูจึงมีทิศทางโคจรต่างกัน คัมภีร์จึงขยายความให้ฟัง
“แลมีหนทางอันพระอาทิตย์เดินนั้น ๓ ทาง ให้รู้จักฤดูทั้งหลาย ๓ แล ทางหนึ่งชื่อว่าโคณวิถีแล เมื่อฤดูหนาวพระอาทิตย์เดินฝ่ายกำแพงจักรวาล คือในเดือน ๑๒-๑-๒-๓ อันนี้ชื่ออชวิถีแล เมื่อฤดูร้อนเดินทางกลางคือว่าเดือน ๔-๕-๖-๗ ทางอันหนึ่งชื่อนาควิถีเมื่อฤดูฝนฝ่ายอุดรทิศคือเดือน ๘-๙-๑๐-๑๑”
จิตรกรรมฝาผนังในบางวัดจึงแสดงเส้นทางเดินของพระอาทิตย์ระหว่างสามฤดูไว้ด้วย เป็นแนวเส้นโค้งสามเส้น ทั้งทางซ้ายและทางขวาของเขาพระสุเมรุ
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยซึ่งน้อมนำเอาอุดมคติของเขาพระสุเมรุในฐานะแกนหลักของจักรวาลมารื้อฟื้นขึ้นใช้ใหม่อีกครั้ง จึงมียอดสูงสุดคือเจดีย์ทรงปราสาทสีทองอร่าม ประดิษฐานรูปพระสยามเทวาธิราช ตั้งเป็นประธาน ณ แกนกลาง มีสถานะเป็นรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ แล้วมีห้องประชุมทางโดมกลมใหญ่ขนาบซ้ายขวา
ห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตกแต่งภายในด้วยโทนสีเหลืองทอง ได้รับการขนานนามว่า “สุริยัน”
เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ห้องประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อันเป็นโดมที่ย่อมลง และใช้โทนสีเทาเงิน ย่อมมีชื่อว่า “จันทรา”
การออกแบบสถาปัตยกรรมของรัฐสภาลักษณะนี้จึงเป็นการประกาศแก่ประชาคมโลก ว่าจนกระทั่งในยุคศตวรรษที่ ๒๑ สยามรัฐยังคงถือว่ามีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางจักรวาล มีพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ
สมาชิกผู้แทนราษฎรจึงมีสถานะใกล้เคียงกับสมาชิกวุฒิสภา และล้วนเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ของฉากอันอลังการยิ่งใหญ่กว่านั้นมากมายนัก
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2019/09/26/song-rot/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๖ – พระอาทิตย์ทรงรถ
26 กันยายน 2019
“พระอาทิตย์อยู่ในวิมานแก้วผลิกรัตนะ รัศมีพระอาทิตย์ประดุจด้วยวิมานนั้นแล ร้อนยิ่งร้อน…”
ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง
ว่าตามความในคัมภีร์ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ดูเหมือนว่าแม้พระอาทิตย์จะมีวิถีโคจรไปรอบเขาพระสุเมรุ ผ่านมหาทวีปทั้งสี่ ซึ่งคัมภีร์ใช้เนื้อที่อธิบายเรื่องนี้ยืดยาว แต่ก็มิได้บอกตรงไหนว่าแล้วพระอาทิตย์เดินทางไปอย่างไร ข้อความที่ยกมาข้างต้นก็เหมือนบอกเพียงว่าพระอาทิตย์อาศัยอยู่ในวิมานแก้วผลึก ซึ่งคงลอยไปลอยมา อย่างที่ในภาษาอังกฤษแปลคำว่า “วิมาน” ในภาษาแขกว่าเป็น flying palace (ปราสาทเหาะได้)
แต่เนื่องจากดวงอาทิตย์ในประสบการณ์ของมนุษย์เดินทางเคลื่อนที่ผ่านไปในท้องฟ้า จินตภาพของมนุษย์ตั้งแต่ในอารยธรรมโบราณจึงมักคิดทำนองว่า ท่านคงต้องอาศัยยานพาหนะ คือ “รถ”
พระอาทิตย์ หรือ “สูรยะ” ถือเป็นเทพองค์สำคัญที่พบในศาสนาโบราณทั่วโลก คนมักนับถือว่าพระอาทิตย์คือ “เทพ” คือ “ความสว่าง” และ “ความรู้แจ้ง” ซึ่งมาขับไล่ “ปีศาจ” “ราตรี” และ “ความชั่วร้าย” ออกไป
ในอินเดียโบราณยุคศาสนาพระเวท พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งในสาม ร่วมกับพระอัคนี (ไฟ) และพระอินทร์หรือพระพาย (ลม) ต้นทางของคติเรื่องสุริยเทพนี้คงเข้ามาจากดินแดนทางตะวันตกของอินเดีย เช่นพวกซิเถียนในเปอร์เซีย เทวปฏิมารูปพระอาทิตย์ของอินเดียจึงยังคงรักษารูปร่างลักษณะไว้ตาม “ต้นฉบับ” ดั้งเดิม คือเป็นบุรุษมีหนวดเครา สวมหมวกทรงกรวย ทรงฉลองพระองค์เสื้อคลุมตัวยาวคลุมเข่า พร้อมฉลองพระบาท (รองเท้า) บู้ต
ที่สำคัญคือพระองค์ประทับมาบนรถม้า อันเป็นเทคโนโลยี “สุดล้ำ” แห่งยุค เพราะทั้งการประดิษฐ์ล้อ สร้างเป็นยานพาหนะ แล้วใช้แรงงานสัตว์มาเทียมลากให้มนุษย์เคลื่อนที่ไปโดยไม่ต้องออกแรงเอง ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก
ที่เมืองโกนาร์ก หรือโกนารัก ในรัฐโอริสสาทางตะวันออกของอินเดีย ยังมีเทวสถานมหึมาของพระอาทิตย์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีมาแล้ว (ก่อนสมัยสุโขทัยเล็กน้อย) เรียกในภาษาอังกฤษว่า Sun Temple
เทวสถานองค์นี้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก ประดิษฐานรูปพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าประธาน และสร้างให้ตัวเทวาลัยเป็นประดุจราชรถของพระองค์ โดยสลักวงล้อขนาดใหญ่เรียงแถวไว้ด้านละ ๑๒ ล้อ หมายถึงเดือนทั้ง ๑๒ แต่ละล้อมีกำแปดซี่ หมายถึงชั่วยามทั้งแปดในรอบวัน พร้อมกับมีภาพสลักฝูงม้าเจ็ดตัว ซึ่งหมายถึงเจ็ดสีของรุ้ง หรือวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ กำลังชักลากฉุดรถพระอาทิตย์ไว้ทางด้านหน้าด้วย
พระอาทิตย์ตามคติบุรุษมีหนวดเคราขับรถม้ายังถูกส่งผ่านศิลปะอินเดียมาถึงดินแดนประเทศไทยยุคดึกดำบรรพ์ด้วย เราเคยพบรูปพระอาทิตย์แบบนี้ ที่ทำเป็นเทพบุรุษ มีหนวดมีเครา สวมหมวกทรงกระบอก พร้อมเสื้อคลุมตัวยาว หลายองค์ เช่นที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
น่าเสียดายว่ามีองค์หนึ่งเสด็จไปประทับ ณ พิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกาหลายสิบปีแล้ว แต่คงมิได้ไปด้วยราชรถเทียมม้าตามธรรมเนียม สงสัยว่าอาจทรงโดยสารเครื่องบินแทน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
«
Last Edit: 17 February 2022, 11:06:49 by ppsan
»
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,454
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
«
Reply #3 on:
16 February 2022, 21:16:01 »
สุเมรุจักรวาล #๗ – สุริยมณฑล
2 ตุลาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
จาก “สูรยะ” หรือพระอาทิตย์ เทวดาฮินดูของแขก ต่อมาก็ถูก “จับบวช” ให้กลายเป็น “เทวดาพุทธ” ไปด้วย คือเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ ตรงข้ามกับพระจันทร์
ตามคติสุเมรุจักรวาลอย่างไทยๆ บ่อยครั้งมักแสดงภาพพระอาทิตย์เป็นวงกลมสีแดง ข้างในมีรูปราชรถ เทียมด้วยสิงห์ คืออาศัยแรงของ “สิงห์” มาลากรถ ซึ่งก็เป็นรูปแบบสิงห์อย่างภาพวาดไทยๆ เหมือนที่ข้างขวดโซดา
บนรถนั้น มีรูปเทวดา หมายถึงตัวของพระอาทิตย์เอง บางครั้งที่ด้านหน้าจะมีสารถี คืออรุณเทพบุตรด้วย แต่บางแห่งก็อาจไม่มี
ตัวอย่างของภาพรถพระอาทิตย์ทำนองนี้ที่ใหญ่โตแลเห็นได้เด่นชัดที่สุด คือหน้าบันพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ด้านทิศตะวันออก แต่ช่างสร้างองค์ประกอบให้สมมาตร จึงมีเทวดาบริวารสององค์กับฉัตรสองคัน ขนาบซ้ายขวาพระอาทิตย์ไว้
รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฉากสุเมรุจักรวาลที่ด้านหลังพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เราก็มักพบเห็นรูปพระอาทิตย์ที่วาดแบบนี้บ่อยๆ
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตราสุริยมณฑล คือรูปรถพระอาทิตย์ในวงกลม ให้แก่ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้เป็นพี่ และพระราชทานตราจันทรมณฑล (พระจันทร์) แก่ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ผู้เป็นน้อง คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค)
ในระบบสัญลักษณ์ของสุเมรุจักรวาล จึงดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระราชลัญจกร (ตราประทับประจำพระองค์) อันสื่อความหมายถึงพระอินทร์ ผู้เป็นเจ้าแห่งเขาพระสุเมรุ เช่นพระราชลัญจกรไอยราพต ทรงมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสององค์ เป็นประดุจพระอาทิตย์พระจันทร์ที่โคจรอยู่โดยรอบ
ล่วงมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาบุตรชายคนใหญ่ของ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” ขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” (ช่วง บุนนาค) ราชทินนามนี้ก็มีความหมายถึงพระอาทิตย์ เท่ากับเป็นการสืบสาย “สุริยวงศ์” ผู้ทรงไว้ซึ่งตราสุริยมณฑล
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตราสุริยมณฑล หรือตรารูปรถพระอาทิตย์เทียมสิงห์ในวงกลมสีแดง ให้ตกทอดมาเป็นตราประจำพระองค์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้มีพระนามเดิมแต่เมื่อแรกประสูติว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ผู้เป็น “หลานปู่” ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
และ “อาภากร” นั้น ก็แปลว่าพระอาทิตย์ เช่นกัน
----------------------------------------------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2019/10/09/peacock-and-sun/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๘ นกยูงในอาทิตย์
9 ตุลาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ตามเทวตำนานของแขก พระอรุณ สารถีไร้เพศของพระอาทิตย์ จะคอยถือธนูแผลงศรขับไล่ “ความมืด” อยู่ด้านหน้ารถ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราได้เห็นท้องฟ้าแดงฉานฉ่ำเลือดทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนในคติไทยๆ สารถีของพระอาทิตย์ก็เรียกว่า “พระอรุณ” แต่เป็นเพศชาย คือเป็นเทพบุตร ในงานช่างบางทีก็จะแสดงรูปอรุณเทพบุตรด้วยเทวดาถือช่อหางนกยูงสองมือ งานช่างฝีพระหัตถ์ “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทำภาพอรุณเทพบุตรในลักษณะนี้ก็มีให้เห็นหลายชิ้น ทั้งในตาลปัตร เหรียญที่ระลึก และจิตรกรรมฝาผนัง ช่อหางนกยูงในที่นี้ อาจมีความสืบเนื่องกับภาพนกยูงที่มีความหมายถึงพระอาทิตย์ อย่างในตราสุริยมณฑลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท้ายรถพระอาทิตย์ก็มีนกยูงเกาะอยู่ตัวหนึ่ง รวมถึงเรามักพบในภาพจิตรกรรมไทยหลายแห่งที่แสดงภาพพระอาทิตย์ด้วยนกยูงรำแพน (คือแผ่ขนหาง) อยู่กลางวงกลมสีแดง คตินี้อาจเริ่มต้นมาจากทางฝั่งพม่าก่อน เช่นมักพบภาพนกยูงในวงกลมที่หมายถึงพระอาทิตย์ ประดับอยู่คู่กับรูปกระต่ายในวงกลมที่หมายถึงพระจันทร์ ขนาบข้างพระแท่นเสด็จออกขุนนางของกษัตริย์พม่ายุคโบราณ ซึ่งคงมีความหมายว่ากษัตริย์เปรียบประดุจพระอินทร์ผู้ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ มีพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ หรือตามวัดอย่างพม่าที่เป็นไม้แกะสลักทั้งหลัง ก็มีสลักไว้สองข้างประตู ก็มี แต่ “นกยูง” มาจากไหน ? สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจาก “มหาโมรชาดก” นิบาตชาดกที่กล่าวถึงเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทอง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์และสวดพระปริตรเป็นคำสรรเสริญพระอาทิตย์ทุกเช้าเย็น จึงรอดพ้นภยันตรายต่างๆ ได้ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์และคาถานั้น มีหน้าบันอุโบสถรุ่นอยุธยาหลายแห่งที่ปั้นภาพประธานไว้เป็นรูปนกยูง เช่นอุโบสถ วัดไผ่ล้อม จังหวัดเพชรบุรี และอุโบสถ วัดภุมรินทรราชปักษี กรุงเทพฯ ที่เดี๋ยวนี้ถูกผนวกรวมไปกับวัดดุสิดารามแล้ว อยู่ตรงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี-ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าให้เดา ก็คิดว่าน่าจะมีความหมายถึงพระอาทิตย์เช่นกัน ส่วนคติเรื่องอรุณเทพบุตร สารถีของรถพระอาทิตย์ ผู้ถือช่อหางนกยูง ยังปรากฏต่อมาแม้แต่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทำเป็นรูปเทวดาถือช่อหางนกยูง อยู่เหนือประตูทั้งหกของป้อมตรงกลางซึ่งรองรับพานแว่นฟ้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญ ความหมายคงตั้งใจให้เหมือนกับว่า นี่คืออรุณรุ่งแห่ง “สยามใหม่” สยามที่เป็นประชาธิปไตย แต่อาจเพราะมีมากถึงหกองค์ ท่านเลยมัวแต่เกี่ยงกันว่าใครคือ “ตัวจริง” กันแน่ จนอีกแค่สิบกว่าปี ระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้จะอายุครบศตวรรษแล้ว แต่ยังคงมีคนดีอีกมากที่กู่ร้องว่า “คนไทยยังไม่พร้อมๆๆๆ” อรุณรุ่งแห่งประชาธิปไตยจึงดูเหมือนว่าเกือบมาถึงอยู่เสมอ ก่อนหันเหียนกลับไปสู่ความมืดมนอนธการใหม่อีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
------------------------------------------------------------------
Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
Offline
Posts: 9,454
Re: สุเมรุจักรวาล โดย ศรัณย์ ทองปาน [1-10]
«
Reply #4 on:
16 February 2022, 21:19:06 »
https://www.sarakadee.com/2019/10/16/suriya-wong/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๙ ปริศนาแห่งสุริยวงศ์
16 ตุลาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
ตามตำนานอินเดีย จากพระอาทิตย์ ผู้เป็นเทวะ มีลูกหลานสืบเนื่องมาถึงท้าวอิกษวากุ กษัตริย์ผู้เป็นต้นวงศ์ของพระรามพระลักษมณ์ ใน “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ด้วย อย่างใน “รามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เช่นตอนศึกกุมภกรรณ หลังจากพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณแล้ว พระรามทรงโศกเศร้าเสียใจยิ่ง
“บัดนั้นพระยาพิเภกยักษ์ศรี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์...”
นั่นคือทั้งพระรามพระลักษณ์ล้วนนับเนื่องอยู่ใน “สุริยวงศ์” อันสืบสายมาแต่พระอาทิตย์
เจ้าราชปุตในรัฐราชาสถานของอินเดียก็ยังคงอ้างอิงว่าตนสืบสันตติวงศ์แห่ง “สุริยวงศ์” ลงมาเป็นลำดับจนถึงเดี๋ยวนี้
สองปีก่อนเคยเดินทางไปราชาสถาน และซื้อตั๋วเข้าไปเที่ยวชมพระราชวังของมหารานา (เจ้าผู้ปกครอง) แห่งเมวาร์ ที่เมืองอุทัยปูร ซึ่งยังคงตกทอดมาเป็นสมบัติในราชสกุล ได้พบตราพระอาทิตย์อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือตราประจำราชวงศ์ ซึ่งคงออกแบบขึ้นภายใต้อิทธิพลของตราประจำตระกูลแบบฝรั่ง (Coat of Arms)
จากข้อมูลที่หาได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ อธิบายว่า ตรานี้ออกแบบขึ้นในรัชสมัยของมหารานา ศัมภูสิงห์จี (Shambhu Singhji) เจ้าผู้ปกครองช่วงปี ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๑๗) ประกอบด้วยรูปพระอาทิตย์เปล่งรัศมีอยู่ด้านบน อาร์มหรือโล่ที่มีภาพภูเขาและกำแพงป้อม พร้อมด้วยพระศิวลึงค์ ขนาบข้างด้วยทหารราชปุต สวมเสื้อเกราะพร้อมดาบและโล่ กับนักรบชนเผ่าภีล (Bhil) ถือธนู ซึ่งทั้งสองทัพมีบทบาทร่วมกันในการรบต้านทานทหารมุสลิมของราชวงศ์โมกุล
ที่ว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็เพราะ ทันทีที่เห็นตรานี้ก็ชวนให้นึกถึงอีกตราหนึ่งที่เมืองไทย คือตราประจำพระองค์ “สมเด็จฯ วังบูรพา” สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๗๑) ดังที่นำตัวอย่างมาเทียบเคียงให้ดูจากปกหนังสือพระนิพนธ์
แม้จะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็คงต้องยอมรับว่านักรบที่ยืนขนาบข้างอาร์มตรงกลางนั้นดูไม่เป็นทหารไทยเลย และข้างหนึ่งนั้น ดูคล้ายทหารราชปุตในชุดเกราะครบเครื่อง สวมหมวกมีพู่ พร้อมดาบวงโค้งและโล่ ส่วนอีกข้างหนึ่งก็ดูคล้ายนักรบชนเผ่าโพกศีรษะ ไม่สวมเสื้อ สะพายดาบ
เท่าที่เคยผ่านตามา ยังไม่พบคำอธิบายใดๆ เรื่องนักรบสองนายบนตราประจำพระองค์ของ “สมเด็จฯ วังบูรพา” มาก่อน แต่เมื่อดูเปรียบเทียบกันแล้ว ผมค่อนข้างเชื่อว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกันกับตราราชสกุลแห่งเมวาร์เป็นแน่
เมื่อครั้งยุวกษัตริย์รัชกาลที่ ๕ เสด็จอินเดียในปี ๒๔๑๔ “สมเด็จฯ วังบูรพา” พระอนุชา พระชันษา ๑๓ ปี ได้ตามเสด็จด้วย แม้ว่าเส้นทางของขบวนเสด็จมุ่งตัดขวางอนุทวีปอินเดีย จากบอมเบย์ (มุมไบ) ทางตะวันตก มายังกัลกัตตา (โกลกาตา) ทางตะวันออก โดยมิได้ผ่านไปถึงราชาสถาน แต่ก็เป็นไปได้ที่พระองค์จะได้เคยทอดพระเนตรตราประจำราชวงศ์เมวาร์ในระหว่างนั้น
เราจึงอาจ “คิดเล่นๆ” ได้ว่า “สมเด็จฯ วังบูรพา” เองก็ทรงมีพระนามว่า “ภาณุรังษี” อันมีความหมายเนื่องด้วยพระอาทิตย์ ดังปรากฏรูปอาทิตย์อุทัยในช่องล่างสุดของอาร์ม แม้แต่ที่ประทับของพระองค์เองก็ยังมีนามว่า “วังบูรพาภิรมย์” ดังนั้นจึงอาจทรงเลือกดัดแปลงตราของผู้สืบสาย “สุริยวงศ์” ในอินเดียมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในตราประจำพระองค์
เพราะสมเด็จฯ อาจทรงนับเนื่องว่าพระองค์ทรงร่วมอยู่ใน “สุริยวงศ์” ด้วยก็เป็นได้
---------------------------------------------------------------------
https://www.sarakadee.com/2019/10/23/moon-sumeru/
Culture
สุเมรุจักรวาล #๑๐ พระจันทร์
23 ตุลาคม 2019 ศรัณย์ ทองปาน : เรื่อง
งานช่างไทย มักแสดงรูปพระจันทร์คู่กับพระอาทิตย์ โดยอยู่ตรงข้ามกัน เช่นที่หน้าบัน (หรือที่บางท่านก็สะกดว่า หน้าบรรพ) ของพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ด้านตะวันออกทำเป็นรูปพระอาทิตย์ ด้านตรงกันข้ามคือด้านตะวันตกก็ทำเป็นรูปพระจันทร์
ช่างไทยมักนิยมแสดงภาพพระจันทร์ด้วยวงกลมสีเหลืองหรือสีขาว ข้างในมีราชรถเทียมม้า มีพระจันทร์ประทับอยู่ในมณฑปบนราชรถ บางทีก็อาจมีกระต่ายนั่งมาท้ายรถด้วย เพื่อยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นรูปพระจันทร์ เพราะอินเดียโบราณ แลเห็นว่าบนดวงจันทร์มีรูปกระต่ายอยู่
ในอารยธรรมตะวันออกทั้งอินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ต่างตีความเงาดำที่เห็นบนดวงจันทร์ ซึ่งที่จริงก็คือหลุมอุกาบาตตะปุ่มตะป่ำ ว่ามองเป็นเป็นดวงจันทร์ ทางจีนนั้น บางตำนานว่าเป็นรูปกระต่ายตำข้าวหรือโขลกบดยาอายุวัฒนะ เข้ามาคล้ายกับทางไทยเราเองแต่โบราณ ที่บางคนก็ว่ามองเห็นยายกะตาช่วยกันตำข้าวบนดวงจันทร์
แล้วทำไมดวงจันทร์ถึงมีกระต่าย ?
ในฝั่งจีนเขาว่ากระต่ายบนนั้นเป็น “กระต่ายทรงเลี้ยง” ของเทพีฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ส่วนทางฝั่งอินเดียมีนิทานชาดก คือเรื่องเล่าอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ที่เล่าเรื่องว่าเหตุใดจึงมีกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์ไว้ด้วย
นั่นคือเรื่องสสชาดก (สะ-สะ-ชา-ดก) เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระต่าย
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีกระต่ายโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในป่า มีมิตรสามตัว ได้แก่ ลิง สุนัขจิ้งจอก และนาก ทั้งสี่เป็นสัตว์มีศีลมีธรรม วันหนึ่งกระต่ายมองดูดวงจันทร์ก็รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันอุโบสถ จึงชักชวนสหายสัตว์มารักษาศีล และเตรียมอาหารไว้แจกจ่ายเป็นทาน สัตว์อื่นๆ ต่างหาอาหารมาได้ เว้นแต่กระต่ายซึ่งตั้งจิตว่าจะอุทิศเลือดเนื้อเป็นทาน พระอินทร์หยั่งรู้ในกุศลจิตจึงลงมาทดสอบดูด้วยการปลอมเป็นพราหมณ์ เดินภิกขาจารขออาหารจากนาก สุนัขจิ้งจอก และลิง ก็ได้สมดังคำขอ จนเมื่อไปขอจากกระต่ายบ้าง กระต่ายได้ยินดังนั้นก็ดีใจ ประกาศว่าจะอุทิศร่างกายเป็นอาหาร ขอให้ท่านพราหมณ์ก่อกองไฟขึ้นเถิด แล้วจึงกระโดดลงในไฟ แต่แล้วพบว่าไฟนั้นกลับมีแต่ความเยือกเย็น พร้อมกับที่พระอินทร์คืนสู่ร่างเดิมพร้อมกล่าวอนุโมทนาว่าตนเองมาลองใจดูเท่านั้น และว่าโลกจะได้รับรู้คุณงามความดีของกระต่ายสืบไป โดยไปทำรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์ให้ทุกคนได้เห็น
บนดวงจันทร์จึงมีรูปกระต่ายนับแต่นั้นมา
คำว่ากระต่าย ในภาษาบาลี คือ สส หรือ ศศ ในรูปของสันสกฤต จึงเป็นที่มาของคำเรียกพระจันทร์ เช่น ศศิธร คือ ผู้ทรงไว้ซึ่ง “กระต่าย” นั่นเอง
-----------------------------------------------------------
Logged
Pages:
[
1
]
« previous
next »
SMF 2.0.4
|
SMF © 2013
,
Simple Machines
| Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.071 seconds with 20 queries.
Loading...