Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
19 November 2024, 00:26:39

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,446 Posts in 12,839 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  ผนังเก่าเล่าเรื่อง (Moderator: ผนังเก่าเล่าเรื่อง)  |  จิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่ธรณีฯ” งามที่สุดในโลกที่ “วัดชมภูเวก” จ.นนทบุรี
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: จิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่ธรณีฯ” งามที่สุดในโลกที่ “วัดชมภูเวก” จ.นนทบุรี  (Read 442 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,286


View Profile
« on: 16 February 2022, 17:56:35 »

จิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่ธรณีฯ” งามที่สุดในโลกที่ “วัดชมภูเวก” จ.นนทบุรี


ชมจิตรกรรมฝาผนัง “พระแม่ธรณีฯ” งามที่สุดในโลกที่ “วัดชมภูเวก” จ.นนทบุรี
เผยแพร่: 29 ม.ค. 2564 16:40   ปรับปรุง: 29 ม.ค. 2564 16:40   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัดชมภูเวก เป็นวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เคยได้ยินเกจิภาพจิตรกรรมไทยท่านหนึ่งบอกว่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยงามมากอยู่ที่วัดมอญ เมืองนนท์ ดังนั้นเมื่อมีเวลาและโอกาสได้ไปแถวๆนั้น ฉันจึงไม่พลาดที่จะแวะเวียนไปชื่นชมให้เห็นเป็นบุญตาที่ “วัดชมภูเวก” จังหวัดนนทบุรี

“วัดชมภูเวก” นี้ เป็นวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2225 ในสมัยนั้นเกิดสงครามระหว่างพม่ากับจีนฮ่อ ชาวมอญจึงได้อพยพหนีเข้าเมืองไทยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบก็ทรงรับไว้ โปรดให้แม่ทัพนายกองอยู่ในกรุงศรีฯ ส่วนไพร่พลและครอบครัวโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมือง ได้แก่ บ้านสามโคก เมืองปทุมธานี บ้านปากเกร็ด บ้านบางตลาด บ้านตะนาวศรี เมืองนนทบุรี ที่บ้านท่าทราย(วัดชมภูเวก) มีท่านพ่อปู่ (ฮาโหนก) เป็นหัวหน้ามอญอพยพ

เมื่อปักหลักอาศัยอยู่นานเข้าสัตว์เลี้ยงได้คุ้ยเขี่ยเหยียบย่ำพื้นดิน เมื่อฝนตกน้ำท่วม น้ำได้ไหลหลากพัดพาดินไปจึงทำให้อิฐก้อนใหญ่สีแดงโผล่ขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง ท่านพ่อปู่เห็นดังนั้นจึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี สันนิษฐานว่าที่ตรงนี้คงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และเคยสร้างโบราณสถานมาก่อน



พระมุเตา หรือ เจดีย์ทรงมอญ

ท่านพ่อปู่จึงได้จัดสร้าง พระมุเตา ลงบนเนินอิฐนั้นและให้ชื่อว่า “วัดชมภูวิเวก” ภายหลังคำว่า วิ ได้หายไปเหลือเพียง “วัดชมภูเวก” เท่านั้น ส่วนท่านพ่อปู่นั้นภายหลังชาวบ้านได้ตั้งสมญานามท่านว่า “พ่อปู่ศรีชมภู” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อวัด ปัจจุบันก็มี "ศาลท่านพ่อปู่ศรีชมภู" อยู่ด้านหลังวัดด้วย

ด้านสถาปัตยกรรมของวัดชมภูเวกที่มีความเก่าแก่ถึง 350 ปีนี้ เป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง ไทย มอญ จีน พม่า และของชาวตะวันตก ที่สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2517 และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณสถานของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย



เจดีย์ทรงมอญสัญลักษณ์คู่วัดชมภูเวก

ต่อมาใน พ.ศ.2534 ก็ได้ทำการบูรณะอีกครั้ง โดยตีเข็มคอนกรีตรอบฐานพระธาตุ ผูกเหล็กเทคานคอนกรีตรัดรอบฐานล่างองค์พระธาตุ กะเทาะปูนฉาบออกทั้งหมด ใช้เหล็กเส้นสองหุนผูกเป็นตะแกรงหุ้มองค์พระธาตุแล้วฉาบปูนใหม่หมดทั้งองค์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2539

องค์พระธาตุมุเตาสร้างอยู่บนฐานปูนขนาดใหญ่ โดยฐานองค์พระธาตุเป็น8 เหลี่ยม สร้างลดหลั่นซ้อนกัน4ชั้น มีลวดลายจำพวกกลีบบัว ระฆังคว่ำ ดอกพุดตาน ยอดบนเป็นฉัตรหรือชฎาทำด้วยทองเหลืองแผ่นฉลุลายเครือเถาดอกพุดตานมีทั้งหมดสี่ชั้น เหนือฉัตรเป็นยอดพุ่ม เหนือขึ้นไปเป็นแกนเหล็กประดับใบไม้และธงชัย(หมายถึงพระเกตุ) ยอดสูงสุดเป็นดอกไม้เพชร ลักษณะเป็นโคมเปลวไฟ



อุโบสถเก่ามีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปี

ส่วน “อุโบสถเก่า” ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปี เช่นกัน ลักษณะเด่นของอุโบสถเก่านี้คือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า “โบสถ์มหาอุด” หรือฝรั่งเรียกว่า “แบบวิลันดา” ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา เชื่อกันว่าอุโบสถลักษณะมหาอุดนี้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

ประติมากรรมภายในอุโบสถเก่าส่วนใหญ่เป็นงานลายปูนปั้น ประเภทจำหลักนูนต่ำตกแต่งหลากหลายรูปแบบ โดยรับอิทธิพลจากงานจำหลักไม้ของจีน เป็นลายเครือเถาประดับด้วยเครื่องถ้วยชามลายเบญจรงค์สีต่างๆ หน้าบันเป็นลายพันธุ์พฤกษาดอกพุดตาน ประดับกลางดอกด้วยถ้วยลายครามและเบญจรงค์ มีก้านใบเป็นส่วนประกอบ ส่วนกรอบหน้าบันปั้นรูปลายบัวกลีบขนุนประดับแทนใบระกาและปั้นรูปเทพนมอยู่ในตำแหน่งช่อฟ้าและหางหงส์



จิตรกรรมภายในอุโบสถเก่า

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่อเป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอร่า เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง คือ ผนังด้านบนเหนือขอบหน้าต่างด้านบนขึ้นไปเขียนรูปอดีต พุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์เรือนแก้วมีซุ้มโพธิ์ เบื้องหลังมีผ้าทิพย์ห้อยลงระหว่างอดีตพระพุทธเจ้ามีพระสาวกนั่ง ถวายสักการะทั้งเบื้องขาวและเบื้องซ้าย

ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป “แม่พระธรณีบีบมวยผม” ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ว่ากันว่าเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติประดุจภาพทิพย์ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง “ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก” เลยทีเดียว



ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงาม

นอกจากนี้ยังมีจิตกรรมฝาผนังภาพเด่นๆ อีกก็คือ ภาพทศชาติชาดกที่ผนังด้านข้างระหว่างช่องหน้าต่าง และภาพเหล่าเทวดากำลังไหว้พระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ส่วนผนังหลังพระประธานนั้น ตรงกลางเขียนซุ้มเรือนแก้วใหญ่เป็นฉาก พื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้า



พระประธานจำลองปางมารวิชัยถอดแบบของเก่าสมัยสุโขทัย

สำหรับองค์พระประธานภายในอุโบสถเก่า เป็นพระประธานจำลองปางมารวิชัยถอดแบบของเก่าสมัยสุโขทัย ซึ่งภายในอุโบสถหลังใหม่ก็มีพระประธานลักษณะเหมือนกันนี้เช่นกัน โดย "อุโบสถหลังใหม่" นี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นลักษณะทรงไทยใต้ถุนสูง 2 ชั้น หลังคาลดหลั่น 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบัน ซุ้มหน้าต่าง และประตูประดับด้วยกระจก จิตกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ ตามบานประตูหน้าต่างเขียนลายเทพพนม



วิหารตั้งอยู่หลังอุโบสถเก่า


ส่วน “วิหาร” ที่ตั้งอยู่หลังอุโบสถเก่า มีลักษณะคล้ายอุโบสถหลังเก่ามีขนาดไล่เลี่ยกัน แต่ผนังวิหารเป็นแนวตั้งตรง หลังคาไม่มีกันสาด ไม่มีพาไล มีประตูทางด้านหน้าและหลัง หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพันธ์พฤกษาแบบลายฝรั่ง ลายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋น



องค์พระพุทธรูปภายในวิหาร

ซึ่งลวดลายลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันมากในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนตรงกลางซุ้มนิยมทำเป็นลายรูปแจกันจีนและตะวันตก ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองภายใต้บุษบกไม้ สร้างราวพุทธศตวรรษที่18-19 สันนิษฐานว่ามอญคงนำมาจากเมืองมอญ คราวอพยพเข้าประเทศไทย



อุโบสถหลังใหม่

ใครที่ผ่านมาผ่านไปแถวเส้นถนนสนามบินน้ำใกล้กับกระทรวงพาณิชย์ ก็อย่าลืมแวะมาชมสถาปัตยกรรมโบราณ และงานจิตกรรมฝาผนังพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยที่สุดในโลกได้ที่ “วัดชมภูเวก”

“วัดชมภูเวก” ตั้งอยู่ที่ ถ.สนามบินน้ำ ซ.นนทบุรี 33 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,286


View Profile
« Reply #1 on: 16 February 2022, 17:58:27 »


https://travel.trueid.net/detail/3Xxxxz0LRyYX

ภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่งดงามที่สุดในโลก ณ วัดชมภูเวก นนทบุรี
Boo Planet




     ที่ วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพ แม่พระธรณีบีบมวยผม ที่ถือว่า สวยงดงามที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการวิจารย์และลงความเห็นของอาจารย์ในแวดวงศิลปะหลายต่อหลายท่าน ซึ่งจะสวยงามยังไง เดี๋ยวผมจะพาไปเยี่ยมชมกันครับ

     ปัจจุบันสามารถเดินทางไปได้สะดวก ยิ่งมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ยิ่งไปง่ายดายมาก ลงที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า แล้วนั่งสองแถวที่มีป้ายเขียน  วัดชมภูเวก ปากซอยและหน้าวัด ก็มีป้ายข้อความประมาณเดียวกันกับบทความนี้เลย แม่พระธรณีบีบมวยผมสวยที่สุดในโลก แสดงว่าเป็นวัดที่ ป๊อบปูล่าร์ เอาการอยู่

     ต้องขอเรียนให้ทราบก่อนว่า บทความของ Boo Planet ผมอาจจะมีบทความที่เกี่ยวกับวัดอีกมาก แต่จะไม่เน้นไปในทาง หวย เลขเด็ด หรือ ผี ๆ สาง ๆ (ต้องขออภัยด้วย) ถ้าเรื่องไหว้พระทำบุญก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เราเข้าวัดก็ทำบุญกันอยู่แล้ว แต่ผมจะพาไปดูสิ่งที่น่าสนใจในด้าน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประวัติบ้าง เท่าที่ผมรู้หรือค้นหามาได้ แต่ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ หรือ จิตรกร หรือ จบศิลปะอะไรมา ก็จะอธิบายด้วยคำพูดง่าย ๆ แล้วกันครับ




     วัดนี้มีประวัติที่น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา โดยชาวมอญที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้

ชม หมายถึง ดี ประเสริฐ

ภู   หมายถึง ภูเขา แผ่นดิน

เวก หมายถึง วิเวก สงบร่มเย็นนั่นเอง

     เข้าไปที่วัด ก็จะเห็น มีโบสถ์ใหม่สร้างอยู่คู่กันกับโบสถ์หลังเก่า หลังโบสถ์เก่าก็จะมีวิหาร ซึ่งเก่าพอๆกัน มีเจดีย์แบบมอญหรือ พระมุเตา รูปแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ในโบสถ์หลังเก่าครับ




    โบสถ์เก่า สร้างทรงวิลันดา (มาจากการสร้างเลียนแบบอาคารที่พวกฮอลันดาสร้างเป็นร้านค้าคลังสินค้าในสมัยอยุธยา) ผนังจะไม่ตรงตั้งฉากกับพื้น แต่จะเอียงสอบเข้า หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ใช้ปูนปั้น หน้าบันก็มีกระเบื้องถ้วยชามประดับลวดลายศิลปะแบบผสม ไม่ได้แบบไทยแท้ การสร้างแบบนี้ก็ถือว่าประหยัดงบประมาณสำหรับวัดสไตล์"บ้านบ้าน" ไม่ใช่วัดหลวง ด้านหน้ามีหลังคาลดชั้นลาดลงมาหรือ "จั่นหับ" จะพบเห็นได้ในวัดเล็กๆ หลายวัด เอาไว้กันแดดกันฝนหรือเตรียมตัวก่อนจะเข้าโบสถ์ เพราะโบสถ์มีขนาดเล็ก

   โบสถ์เก่าวัดชมภูเวก นี้มีประตูเข้าออก ด้านหน้าเพียงประตูเดียว หรือที่เรียกกันว่า มหาอุด ซึ่งว่ากันว่าเป็นลักษณะที่เหมาะสำหรับปลุกเสกเครื่องรางของขลัง  แต่ก็มีเหตุผลทางวิศวกรรมด้วย คือ วิทยาการสมัยโน้น  การสร้างอาคารใช้ผนังรับน้ำหนัก ไม่สามารถเจาะหน้าต่างประตูใหญ่ ๆ หลาย ๆ ช่อง แบบยุคต่อมาที่ใช้เสาใหญ่ ๆ รับน้ำหนัก หรือ มีคอนกรีตเสริมเหล็กเข้ามาประมาณสมัยรัชการที่ 5




     ภายในโบสถ์ ก็ถือว่า อะเมสซิ่ง มีเพดานไม้และมีดาวเพดาน ภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง เลือนลางไปตามกาลเวลา จริง ๆ จิตรกรรมฝาผนังที่วาดจากสมัยอยุธยา เหลือมาให้เราดู ก็จะแทบนับวัดได้เลย ก็จะซีด ๆ โทรม ๆ  อย่าว่าแต่สมัยอยุธยาเลยครับ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นยุคเรเนซองส์ มีการสร้างวัดมากมายและมีศิลปินจิตรกรระดับสูงส่ง ไม่ได้มีสงครามมาทำลาย แต่ด้วยสภาพอากาศ วิทยาการหรือความเข้าใจในการอนุรักษ์จิตรกรรม รวมถึงเทคนิคการสร้างอาคารการวาด รวม ๆ กัน ทำให้ บางวัดจิตรกรรมใยยุครัตนโกสินทร์ไปก่อน จิตรกรรรมของวัดสมัยอยุธยาที่เก่ากว่าเสียอีก ในขณะที่บางคนไปต่างประเทศรู้สึกประหลาดใจที่บางงานศิลปะมีอายุเก่าแก่กว่าของบ้านเราแต่ยังคงสภาพดี

     ของเราความชื้นมาก่อนเลย แต่บางวัดที่ไม่ใช่วัดที่เป็นวัดดังหรือมีนักท่องเทียวเข้าไปชม อุโบสถ หรือ โบสถ์ มักจะปิด ต้องรอพระทำวัดหรือวันพระ การปิดนาน ๆ ความชื้น ก็เกิดได้ หรือ บางวัดมีการบูรณะด้วยการฉาบปูนด้านนอก หรือแม้แต่การเทปูนที่พื้นรอบโบสถ์ ก็ก่อให้เกิดความชื้นได้

นอกจากนี้เรื่องเทคนิคการวาด การลงสี หรือ การเตรียมผนังก่อนการวาด ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยแต่ละช่าง ส่งผลหมด บางวัดสีลอก กระเทาะออก เป็นแผ่น ๆ บางวัดก็ติดแน่น รายละเอียดค่อนข้างเยอะเอาแค่นี้ก่อนนะครับเรื่องนี้




  ใกล้มาถึงไฮไลท์ของเราแล้ว ต้องบอกว่า โบสถ์ในประเทศไทย ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ พระประธานจะเป็นปางมารวิชัย และฝาผนังในโบสถ์ก็จะมีประเพณีนิยม ด้าน ผนังสกัด ผนังหุ้มกลอง (หมายถึงด้านหน้าและด้านหลังของพระประธาน) ด้านหน้าพระประธาน คือด้านที่เราลอดประตูเข้าไปแล้วหันหลังมามองกลับไปที่เหนือประตูส่วนใหญ่อีกเหมือนกัน จะเป็นภาพ พิชิตมาร บรรยายถึงตอนที่ พระพุทธเจ้าตั้งจิตอธิฐานบำเบ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารและบริวารมากมายได้พยายามทำการรบกวนสมาธิเพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้สำเร็จ แม่พระธรณี (บางตำราก็เรียก นางธรณี เพราะไม่ใช่เทวดา) จึงได้แสดงปาฏิหาริย์ปราบมารด้วยการ บีบน้ำจากมวยผมเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เหล่ามารต่างๆพ่ายแพ้ไปในที่สุด ถ้าเราไปวัดที่มีขนาดใหญ่ จำนวนมารที่หนีทุลักทุเลไปกับน้ำ ก็จะมีมากนับร้อยก็มี โบสถ์ที่นี่มีขนาดเล็กก็เลยเห็นภาพมารไม่เยอะ น้ำที่ออกมาจากมวยผมของแม่พระธรณีก็คือน้ำที่เราทำบุญกรวดน้ำ ก็จะไปเก็บอยู่ที่นีเอง




     เอาล่ะครับ ดูกันให้ดี ๆ ว่า ภาพวาดแม่พระธรณีวัดชมภูเวก สวยขนาดไหน จากที่เทียบกับจิตรกรรมฝาผนังด้านอื่น ๆ ที่ดูลอกเลือนไป แต่ ด้านรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม นั้นค่อนข้างชัดสมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า มีการซ่อมแซมเขียนใหม่แน่นอน หลาย ๆ ท่าน ลงความเห็นว่าเป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรี สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็ค่อนข้างชวนสงสัย เพราะ เป็นการบอกแค่โลเกชั่น วัดนี้ก็อยู่เขตนนทบุรีอยู่แล้วนี่น่า ไม่เหมือนอย่าง ถ้าเราบอกว่าว่า สกุลช่างอยุธยา หรือ สกุลช่างเพชรบุรี มันจะบอกได้ถึงพีเรียดหรือช่วงเวลาเฉพาะเจาะจงได้พอประมาณ และจุดเด่นของศิลปะด้วย  มีอาจารย์ท่านนึงบอกว่า เป็นฝีมือช่างในยุค ธนบุรี น่าสนใจทีเดียวแต่ผมก็ยังหาหลักฐานอื่นมายืนยันไม่ได้ การวาดจิตรกรรมก็ถือว่าเป็นการทำบุญสร้างกุศล ไม่นิยมเขียนชื่อคนวาดอะไรลงไปขนาดวัดหลวงใหญ่ ๆ นานเข้า ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเป็นผลงานของใครเยอะไป นับประสาอะไรกับวัดเล็กวัดบ้าน

    ภาพนี้มันสวยยังไง เริ่มตั้งแต่ เป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ที่เป็นท่านั่ง คือส่วนใหญ่ก็มีทั้งนั่งทั้งยืน ขึ้นอยู่ขนาดความสูงของผนังโบสถ์ อยู่ในซุ้มโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว การใช้สีซึ่งสมัยนั้นก็ยังมีไม่กี่สีแต่มีการเลือกการลำดับอย่างลงตัว ลายเส้นชัดเจน สัดส่วนรูปร่างสวยงามแขนขวามีลักษณะเหมือนงาช้าง นิ้วมือแต่ละนิ้วที่บีบมวยผมใส่ลายละเอียดชัดเจน ลายผ้าเครื่องประดับ ท่วงท่าดูอ่อนช้อยเหมือนเคลื่อนไหวได้จริง จิตรกรสมัยก่อนไม่มีความรู้เรื่อง ANATOMY(กายวิภาคศาสตร์) หรือเรื่อง PERSPECTIVE (การวาดภาพแบบมีแนวลึก) ถึงแม้ภาพจะออกมาไม่สมจริงตามหลักที่ว่า แต่เราก็รับรู้ถึงความสวยงามได้ไม่มีปัญหา สมเป็นงานศิลปะระดับสูงที่คนยกย่องจริง ๆ

     ถ้าที่ผมบรรยายมาแล้วยังไม่เข้าใจ ผมก็ยืนยันว่า เท่าที่เคยดูภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมมาหลาย ๆ วัด หลาย ๆ จังหวัดแล้ว วัดชมภูเวก คือ สุดยอดที่สุดจริง ๆ ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องมาดูเองที่วัดแล้วครับ

เรื่องและภาพทั้งหมด โดย Boo Planet


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,286


View Profile
« Reply #2 on: 16 February 2022, 17:59:40 »


แม่พระธรณีฯจากที่ต่างๆ

ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดชมภูเวก นนทบุรี





ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดดุสิตดาราม เชิงสะพานพระปิ่นฯฝังธนฯ



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดคงคาราม ราชบุรี



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดสระเกศ



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดประตูสาร สุพรรณบุรี





ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดไผ่ล้อม จันทบุรี



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดนาทราย หล่มเก่า เพรชบูรณ์



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดเนินสูง จันทบุรี



ภาพเขียนแม่พระธรณีฯจากวัดชมภูเวก นนทบุรี












Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.171 seconds with 21 queries.