ppsan
|
|
« on: 15 February 2022, 23:36:43 » |
|
พระอาทิตย์ทรงกลด ปรากฎการณ์อัศจรรย์ในพิธีบวงสรวงยกนพปฏลสุวรรณฉัตรพระเมรุมาศจำลอง
'พระอาทิตย์ทรงกลด' ปรากฎการณ์อัศจรรย์ ในพิธีบวงสรวงยกนพปฏลสุวรรณฉัตรพระเมรุมาศจำลอง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
คนไทยมีความเชื่อกันว่า พระอาทิตย์ทรงกลด (อังกฤษเรียกว่า Sun halo) เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ เป็น “มหิธานุภาพ” ของดวงอาทิตย์ มีความหมายในทางที่ดี เป็นศรี หรือ ศิริมงคล
เมื่อพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นเมื่อใด คนไทยเรามักนำปรากฏการณ์นี้ไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง หรือฮือฮาตื่นเต้น เมื่อมีพระอาทิตย์ทรงกลดในขณะประกอบพิธีกรรมอันเกี่ยวกับศาสนาหรือตามความเชื่อของชุมชน ด้วยเชื่อว่า เหล่าเทพเจ้า เทพยดาทั้งปวง ต่างมาร่วมยินดี อวยชัยให้พร
วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดให้มีการประกอบพิธีบวงสรวงยกนพปฏลสุวรรณฉัตรพระเมรุมาศจำลอง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ ณ ปะรำพิธีหน้าพระเมรุมาศจำลอง บริเวณลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ (หลังเก่า)
เมื่อประธานในพิธี (ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์) เดินทางมาถึง จุดเทียนเงิน - เทียนทอง ปักธูปหางเครื่องบวงสรวงเสร็จแล้ว พราหมณ์อ่านโองการบวงสรวง สลับการบรรเลงของวงปี่พาทย์เมื่อพราหมณ์อ่านพระเวทจบในแต่ละบท
เสร็จขั้นตอนในพิธีพราหมณ์เป็นการรำถวายมือ หรือระบำกฤดาภินิหาร
ต่อจากนั้นเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์จุดธูปเที่ยนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที เจ้าหน้าที่นิมนต์ประธานสงฆ์ประกอบพิธีเจิม ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ปิดทอง และคล้่องพวงมาลัยนพปฏลสุวรรณฉัตร
ขณะพระเทพปริยัติเมธี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษฏิ์ สิริธโร) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ประธานสงฆ์ ประกอบพิธีเจิม ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น คือ พระอาทิตย์ทรงกลด
จะด้วยปรากฎการณ์ตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์ ซึ่งในทางวิชาการกล่าวว่า เมื่อมีละอองน้ำในอากาศแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนท้องฟ้า เมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งได้อย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเห และการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดแถบสีเป็นวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์
หรือจะเป็นพระฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์โสภาคย์ที่ได้โปรดเมตตาทรงเสด็จมาเป็นองค์พระประธานของการบวงสรวงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ หรือปวงเทพยดาซึ่่งเชื่อกันว่าสถิตย์ ณ สวรรค์เบื้องบน กำลังสำแดงมหิทฤทธิ์ สาธุการแสดงความยินดี
เป็นเรื่องที่ปุถุชนอย่างเราๆ ไม่สามารถพิสูจน์และหาข้อสรุปได้ แต่ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมในพิธีของวันนี้สัมผัสถึงความมีศิริมงคล มีจิตปีติ ยินดี ในขณะนั้นอย่างสุดประมาณ
พระพุทธศรีสัพพัญญู ประดิษฐานเหนือโต๊ะหมู่ ในปะรำพิธี นาม 'พระพุทธศรีสัพพัญญู' สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้กับพระพุทธรูป พร้อมทั้งพระราชทานอักษร พระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดิษฐานหน้าพุทธบัลลังก์
บายศรี เครื่องพลีในพิธีพราหมณ์
เครื่องบวงสรวงในพิธีพราหมณ์ - เครื่องบรรณาแสดงความเคารพ การกราบไหว้บูชา เป็นการเชิญ หรือการยอมรับนับถือท่านผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ในชีวิต มีพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอริยสงฆ์สาวก เทพไท้เทวา คุณบิดามารดา อาจารย์ทุกๆ พระองค์ รวมทั้งพระภูมิเจ้าที่ ท่านท้าวจาตุรมหาราชทั้ง ๔ ท่านพระยายมราช เคารพท่านผู้เป็นใหญ่ในทั้ง ๓ โลก
พราหมณ์อ่านโองการ ตามคัมภีร์พระเวทที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
วงปี่พาทย์ บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ สลับกับการอ่านโองการจบบทในแต่ละบท (ขออภัยเป็นอย่างยิ่งค่ะ หากผู้โพสท์จำข้อมูลผิดพลาดในส่วนของชื่อ "เพลงหน้าพาทย์")
พระเทพปริยัติเมธี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สฤษฏิ์ สิริธโร) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบพิธีเจิม ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ นพปฏลสุวรรณฉัตร
การรำถวายมือ หรือ ระบำกฤดาภินิหาร มือถือพานเงิน-พานทอง โปรยดอกไม้หอมบวงสรวง
นพปฏลสุวรรณฉัตร ถูกยกขึ้นสู่เหนือยอดพระเมรุมาศจำลอง
นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ (ภริยา)
ชาวเปรู ชนเผ่าอินคา มีความเชื่อและนับถือพระอาทิตย์ ว่าะเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งที่มีชีวิตและให้แสงสว่างแก่โลก
พระอาทิตย์ ถูกจัดเป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งหลาย
คนไทยโดยมากยังคงมีความเชื่อกันว่า พระอาทิตย์ทรงกลด (อังกฤษเรียกว่า Sun halo) เป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ เป็น “มหิธานุภาพ” ของดวงอาทิตย์ มีความหมายในทางที่ดี เป็นศรี หรือศิริมงคล เมื่อพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นเมื่อใด คนไทยเรามักนำปรากฏการณ์นี้ไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง หรือฮือฮาตื่นเต้น เมื่อพระอาทิตย์ทรงกลดในขณะประกอบพิธีกรรมอันเกี่ยวกับศาสนา หรือตามความเชื่อของชุมชนในแต่ละพื้นถิ่น ด้วยเชื่อว่า เหล่าเทพเจ้า เทพยดาทั้งปวง ต่างมาร่วมยินดี อวยชัยให้พร
คนไทยแต่ครั้งสุโขทัยนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา ได้ยึดถือเรื่องไตรภูมิ
ตามคติในพุทธศาสนากล่าวถึงจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม ล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ หรือ ยุคันธร หรือ ยุคุนธร เป็นคันขอบลดหลั่นเป็นชั้นๆ สลับกับแผ่นดินและแผ่นน้ำสีทันดร ประดุจมีกำแพงแก้วล้อมไว้ฉะนั้น
ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ จึงสืบมาแต่ครั้งโบราณ
ในเขตเขาพระสุเมรุ มีป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์นานาพันธุ์ อาทิ นกทัณฑิมา เหมราอัสดร ไกรสรราชสีห์ วารีกุญชร อัปสรสีหะ ศฤงคมัสยา อสุรวายุพักตร์ ฯลฯ เและป็นที่ทรงไว้ของพระอาทิตย์และพระจันทร์
เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดถึงกาลสวรรคตที่จะเสด็จไปสู่เทวพิภพ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อ จึงต้องประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่ออัญเชิญให้ได้ไปถึงภพแห่งความดีงามอันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุอย่างสมพระเกียรติ
สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงทั้งปวงจึงได้รับการสร้างให้มีลักษณะอย่างเขาพระสุเมรุ อาคารที่ถวายพระเพลิง เรียกว่า พระเมรุ และพระเมรุมาศ เลียนชื่อเขาพระสุเมรุ
ในเขตปริมณฑล จะตกแต่งจำลองอย่างวิจิตรอลังการให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ มีอาคารพระเมรุมาศ ล้อมรอบด้วยรั้วราชวัติ ประดับฉัตร ธงทิว ภายในรั้วราชวัติตกแต่งเป็นสวนพฤกษชาติ มีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์และสระน้ำ ตามคติในเขาพระสุเมรุอย่างสวยงาม
'พระอาทิตย์ทรงกลด' ปรากฎการณ์อัศจรรย์ ในพิธีบวงสรวงยกนพปฏลสุวรรณฉัตรพระเมรุมาศจำลอง จังหวัดนครสวรรค์
พระเมรุมาศจำลอง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปตามแบบที่ทางกรมศิลปากรกำหนด ให้ทุกจังหวัดก่อสร้างในแบบเดียวกัน
พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ (ภาพจาก ข่าวสดออนไลน์)
พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงบุษบก ๙ ยอด ๗ ชั้นเชิงกลอน มีลักษณะโดดเด่น คือ เป็นพระเมรุมาศชั้นเดียว สอดรับกับความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาที่ยึดคติไตรภูมิ โดยเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม มีฐานกว้าง ๕๕.๑๘ เมตร และสูง ๕๙.๖๐ เมตร
คติการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ เป็นวัฒนธรรมที่กรุงศรีอยุธยารับอิทธิพลมาจากการปกครองแบบเทวนิยมของขอม ด้วยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทวราช เมื่อพระราชสมภพถือเป็นทิพยเทพาวตาร ครั้นถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพก็ต้องเสด็จกลับยังเทวพิภพ การเสด็จไปคือ สุรคต ไทยเรียกว่า สวรรคต ซึ่งการประกอบพระราชพิธีทั้งปวงของบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ พราหมณ์ปุโรหิตาจารย์จะเป็นผู้กำหนดแบบแผนพิธีไว้ให้เป็นระเบียบ ซึ่งยึดถือเป็นวัฒนธรรมอันมั่นคงสืบมา
พระเมรุมาศในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีความยิ่งใหญ่โอฬารมากสอดคล้องกับหลักที่ว่า การสร้างพระเมรุมาศถือเป็นความมั่นคงของประเทศ พระเมรุมาศรัชกาลใดยิ่งใหญ่กิตติศัพท์จะขจรเลื่องลือ ประกาศให้รับรู้ว่าบ้านเมืองรัชกาลนั้นเข้มแข็งให้เป็นที่เกรงขามแก่หมู่ปัจจามิตร เป็นวิเทโศบายทางการเมืองประการหนึ่ง เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ใหญ่โตงดงามมาก สร้างอยู่บนพื้นที่ที่มีปริมณฑลไพศาล ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระเมรุมาศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘) กว่า ๕ วาเศษ ดังนี้
“...พระเมรุมาศ...โดยขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้น ประกอบไปด้วย เครื่องสรรพโสภณพิจิตรต่างๆ สรรพด้วย พระเมรุทิศ พระเมรุแทรก และ สามสร้างเสร็จ และการพระเมรุมาศนั้น ประมาณ ๘ เดือน จึงสำเร็จ...”
มีความหมายดังนี้ พระเมรุมาศ คือ อาคารปราสาทเรือนยอด มียอด ๕ ยอด มีขื่อ กว้าง ๑๕ เมตร (๗ วา ๒ ศอก) คำว่า สูง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ หมายถึงสูง ๙๐ เมตร ภายในอาคารปราสาทพระเมรุมาศสร้าง พระเมรุทอง ประกอบด้วยเครื่องตกแต่งที่งดงาม ส่วนภายนอกปราสาท หมายความถึงปริมณฑล สร้าง พระเมรุทิศ พระเมรุแทรก และ สามสร้าง
คำว่า เมรุทิศ เมรุแทรก ตามความหมายในยุคนั้นน่าจะสันนิษฐานว่า คือ บรรดาเขาสัตบริภัณฑ์ที่ช่างประดิษฐ์สร้างสรรค์ไว้ตามทิศทั้ง ๔ และแทรกไว้ระหว่างทิศ แวดล้อมด้วย อาจรวมทั้งพระวิมาน ๔ ทิศ ของท้าวจตุโลกบาล โดยสร้างสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับอาคารปราสาทพระเมรุมาศขึ้นไว้
เมรุท้าวจักรวรรดิ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ขาตั้งทรายสำหรับยกเสาองค์พระเมรุมาศ
โครงถักไม้ไผ่ผูกอย่างแน่นหนาตามรูปทรงขนาดภายในองค์พระเมรุมาศ เพื่อใช้ผูกรอกชักเชือกยกซุงพระเมรุขึ้นทาบตามทรงมุมละ ๓ ต้น เพื่อทำ เสาย่อไม้่สิบสองของเสาพระเมรุทรงบุษบก
การยกซุงเสาพระเมรุมาศขึ้นประกอบทุกมุมๆ ละ ๓ ต้น
(บน) การประกอบยอดพระเมรุมาศและพื้นฐาน (ล่าง) การตกแต่งพระเมรุมาศตามแบบที่กำหนด
จบ เรื่อง : kimleng ภาพ : By Mckaforce แอ็ดมิน สุขใจ ดอทคอม (พิธีบวงสรวงยกนพปฏลสุวรรณฉัตรพระเมรุมาศจำลอง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของ
จังหวัดนครสวรรค์)
.......... ขอขอบคุณ เรื่องและภาพจาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=198016.0
..........
พระอาทิตย์ทรงกลดเหนือทำเนียบฯ
|