ppsan
|
|
« on: 15 February 2022, 11:01:01 » |
|
เพลง "ค่าน้ำนม” ครูไพบูลย์ บุตรขัน https://www.youtube.com/watch?v=2uUy9NOwyMUค่าน้ำนม - ชาญ เย็นแข https://youtu.be/2uUy9NOwyMU กำเนิด “เพลงค่าน้ำนม” ครูไพบูลย์แต่งให้แม่ที่ดูแล ไม่รังเกียจโรคร้ายของลูก โดย The Monkey Mum
ไพบูลย์ บุตรขัน และคนในครอบครัว (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน)
“แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง…” ประโยคขึ้นต้นเพลงค่าน้ำนม อันเป็นอมตะอยู่ในความทรงจำของชาวไทยทุกรุ่น บทเพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำวันแม่โดยปริยาย แต่ความเป็นมาของเพลงนี้ก็มีที่มาที่น่าเห็นใจ อันมาจากประสบการณ์การเจ็บป่วยในระยะที่โรคร้ายคุกคามไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีลูกทุ่งแต่ก็ยังได้แม่ที่เฝ้าดูแลโดยไม่รังเกียจใดๆ บทเพลงนี้นอกจากจะกลายเป็นเพลงที่น่าจดจำแล้วยังแจ้งเกิดให้กับนักร้องที่มีโอกาสบันทึกเสียงด้วย
ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงค่าน้ำนมนี้มีผู้รู้นำเสนอว่า ต้นฉบับบันทึกลงแผ่นเสียงครั่ง เล่นระบบ 78 รอบต่อ 1 นาที วางจำหน่ายพ.ศ. 2492 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักฟังเพลงรู้จักครูไพบูลย์ บุตรขัน ส่วนนักร้องที่บันทึกเสียงคือชาญ เย็นแข ซึ่งเป็นเพลงที่พลิกชะตานักร้องคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ชาญ เย็นแข ผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นนักร้องสลับหน้าม่านละครเวที กลายมาเป็นนักร้องแถวหน้าของเมืองไทย
ลาวัลย์ โชตามระ นักหนังสือพิมพ์หญิงเขียนสารคดีชื่อ “ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง ‘ประวัติการณ์'” ช่วงพ.ศ. 2508 หลังจากที่ไพบูลย์ สูญเสียนางพร้อม ประณีต (นามสกุลเดิมของไพบูลย์คือประณีต) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2508 ลาวัลย์ เป็นผู้ช่วยเหลือหาแพทย์มาช่วยรักษาโรคและหาทนายความมาจัดการมรดกให้ด้วย ทำให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดในเนื้อหาแสดงให้เห็นว่า ไพบูลย์ รักแม่มากที่สุดจนกลายเป็นแรงบันดาลใจมาสู่การแต่งเพลงชุด “แม่”
อาการป่วยของไพบูลย์ เกิดขึ้นเมื่อทำงานที่การไฟฟ้าช่วงพ.ศ. 2483 ขณะอายุเพียง 22-23 ปี มีผู้พบเห็นเขาพันผ้าพันแผลไว้ที่มือรอบนิ้วเหมือนนักมวยพันก่อนสวมนวม และมักเอามือที่ไม่ใช้หลบสายตาผู้คน ช่วงที่เวลาที่เริ่มโรคร้ายเกาะกินก็เริ่มใกล้กับในช่วงที่แต่งเพลงเป็นอาชีพซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงพ.ศ. 2492 แต่ก่อนหน้านั้นก็ป่วยมาแล้ว ระหว่างต้นๆ ปี เลิศชาย คชยุทธ บรรยายว่า เมื่อ พ.ศ. 2485 ครูไพบูลย์ เก็บตัวรักษาอยู่ตลอดระยะเวลาช่วงสงครามปะทุขึ้น หารายได้ด้วยการแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แต่เงินที่ได้จากการแต่งผลงานเพลงและทำงานก็ไม่พอ เนื่องจากเงินที่ได้มาเป็นจำนวนน้อย ส่วนยาที่ซื้อมารักษาตัวก็แพง ราคาเพลงของครูไพบูลย์ช่วงแรกอยู่ที่ 40-50 บาทต่อเพลงเท่านั้น
ข้อเขียนส่วนหนึ่งของลาวัลย์ มีใจความว่า “แม้ในขณะที่โรคร้ายคุกคามเขาอย่างรุนแรง แม่ก็เฝ้าปรนนิบัติพยาบาลโดยไม่มีความรังเกียจเกลียดกลัวเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่โรคที่เขาเป็นนั้น เป็นโรคร้ายที่ติดต่อกันได้ง่าย”
ช่วงปี 2502 ครูไพบูลย์ทรมานจากโรคอย่างมากจนต้องบรรเทาด้วยยาเสพติด แต่ก็ยิ่งทรุดลง กระทั่งบังเละ ดาวตลกชื่อดังสมัยนั้นทราบข่าวจึงมาชักชวนให้ไปรักษาที่ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี เมื่อหายดีก็กลับมาพักฟื้นที่บ้านพักในปทุมธานีจนถึงปี 2508 ครูไพบูลย์สูญเสียแม่ไป หลังจากนั้นก็แต่งเพลงบันทึกเสียงเรื่อยมา ส่วนหนึ่งมีแต่งเพลงชุด “แม่” อันได้แก่เพลงค่าน้ำนม อ้อมอกแม่ ชั่วดี ลูกแม่ ฯลฯ ซึ่งในยุคนั้นทางการยังจัดมีงานวันแม่อยู่ ก็ได้รับยกย่องให้เป็นเพลงประจำวันแม่ไปด้วย
สำหรับเพลงค่าน้ำนมนั้น บันทึกเสียงที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกสล (อยู่ชั้นบนโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย) ครูประกิจ วาทยกร (ลูกชายพระเจนดุริยางค์) และครูสง่า อารัมภีร เรียบเรียงเสียงประสาน ใช้วงดนตรีคณะละครศิวารมณ์บรรเลง เดิมทีวางให้บุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นคนร้องบันทึกแผ่นเสียงแต่ด้วยความบังเอิญจึงทำให้ชาญ เย็นแข ได้เป็นนักร้องแทนเพื่อนไป เหตุผลของเรื่องนี้ ชาญ เล่าในรายการ ลำนำเพลงจากไพบูลย์ บุตรขัน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ว่า
“วันหนึ่ง ห้องอัดเสียงสมัยนั้น อยู่ชั้นบนโรงหนังเฉลิมไทย ผู้อัดแผ่นเสียงเป็นซาวด์แมน คือ ชาวอินเดีย มาจากอินเดีย ซึ่งบริษัทเทมาโฟน เขาเป็นผู้จ้างมาอัดบันทึกเสียง สมัยนั้นเป็นแผ่นครั่งที่ตกแตกแผ่นครั่ง 78 ผมตามหลังพี่สง่า อารัมภีร ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ผมคนหนึ่ง ท่านพาผมมา ท่านบอกพรุ่งนี้จะอัดเสียงกัน ตอนนั้นผมเป็นนักร้องหัดใหม่สลับฉากคณะละครศิวารมณ์ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมนคร ตอนนั้น พ.ศ. 2492”
สมัยนั้นการอัดแผ่นเสียงจะต้องอัดพร้อมกัน ร้องพร้อมกับดนตรี นัดแนะกันไว้ว่าอัด 10 โมง แต่บุญช่วยไปเชียงใหม่ รอจนถึงบ่ายก็ยังไม่พบตัว ทุกคนกระวนกระวาย และเป็นครูสง่า เสนอคุณแพ็ท ซิเกรา (อาของแมนรัตน์ ศรีกรานนท์) เป็นผู้อำนวยการอัดแผ่นเสียงของบริษัทนำไทย ให้ชาญ เป็นคนร้อง ตอนแรกคุณแพ็ทปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “ไม่เอาหรอก เดี๋ยวแผ่นเสียงขายไม่ได้ ไม่ได้ๆ”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป บุญช่วย ยังไม่มา ก็ต้องหันกลับมาที่ตัวเลือกนักร้องหัดใหม่ ชาญ เล่าว่า เข้าไปยืนมือสั่น ร้องให้ฟัง ร้องได้เที่ยวเดียวกับดนตรี คุณแพ็ท ปรบมือ บอกว่า “ใช้ได้ๆ ๆ อัดเลย อัดทันที” ชาญ เล่าอีกว่า
“ผมร้องวันนั้น 4 ครั้ง หรือ 5 ครั้ง จำไม่ได้ เหงื่อแตกมากเลยครับ ร้องเสร็จก็เป็นแผ่นมาจนทุกวันนี้ แผ่นรุ่นเก่า ผมได้ผลประโยชน์ตอบแทนในวันนั้น 50 บาท ค่าร้องเพลงละ 50 บาท สมัยนั้นดอลลาร์ละ 7 บาท”
บุญเลิศ ช้างใหญ่ ผู้เขียนหนังสือ “ไพบูลย์ บุตรขัน อัจฉริยะคีตกวีลูกทุ่งผู้อาภัพ” เล่าว่า หลังจากค่าน้ำนมออกจำหน่าย ช่วงเวลาไม่นานเพลงก็โด่งดัง ชื่อเสียงชาญ เย็นแข ที่เพิ่งมีผลงานแผ่นเสียงเพลงแรกและชุดแรกก็ได้รับความนิยมจากนักฟังเพลงอย่างมากควบคู่ไปกับชื่อของไพบูลย์ บุตรขัน
ภายหลังจากโด่งดัง ครูไพบูลย์ ป่วยด้วยโรคลำไส้ เมื่อพ.ศ. 2511 เข้ารักษาตัว 15 วัน เลิศชาย คชยุทธ เล่าว่า หลังหายป่วยครั้งนั้น แต่งเพลงออกมาทุกเพลงก็โด่งดังเป็นที่ชื่นชอบ ได้ย้ายไปอยู่บ้านของตัวเองที่ศักดิ์ชัยนิเวศน์ ภายหลังครูไพบูลย์ เสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ เมื่อ พ.ศ. 2515 รวมอายุ 54 ปี
อ้างอิง: บุญเลิศ คชายุทธเดศ (ช้างใหญ่) (เลิศชาย คชยุทธ). ไพบูลย์ บุตรขัน อัจฉริยะ คีตกวีลูกทุ่งผู้อาภัพภาคสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : งานดี, 2560
ปฐวพล วราณุรังษี. “หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้น พระคุณ…” (ใครหนอ?). ใน ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2546. เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 สิงหาคม 2562
.......... ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=236346.0
|