ppsan
|
|
« on: 11 January 2022, 10:03:54 » |
|
มาตรา ชั่ง ตวง วัด (ภาคเครื่องชั่ง)
ตอนเครื่องชั่ง
วัตถุประสงค์
เพื่อแสดงให้เห็นความรู้ด้าน วิวัฒนาการ หน่วยการวัด และรูปแบบต่างๆของระบบการ "ชั่ง ตวง วัด" ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปคืนวันเก่าๆ หลายท่านคงมีความทรงจำบางอย่างที่ติดตาติดใจใน อดีตไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง เพื่อให้หวนนึกถึงวันนั้น วันนี้ข้าพเจ้าขอนำเสนอของสะสมเก่าๆที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เล็กๆของข้าพเจ้า (ซึ่งยังไม่มีที่ตั้งเป็นทางการ) เป็นเรื่องราวของอุปกรณ์ที่เรียกว่า "ชั่ง ตวง วัด" ครับ แต่ก่อนจะดูตาชั่งที่สะสมไว้ ลองมาดูถึงหน่วยหรือมาตราวัดของระบบการชั่งของไทยกันก่อน
มาตรา “ชั่ง” โบราณของไทยเมื่อเทียบกับเมตริก 1)
๒ อัฐ = ๑ ไพ = ๐.๔๖๘ กรัม
๔ ไพ = ๑ เฟื้อง = ๑.๘๗๕ กรัม
๒ เฟื้อง = ๑ สลึง = ๓.๗๕ กรัม
๔ สลึง = ๑ บาท = ๑๕ กรัม
๔ บาท = ๑ ตำลึง = ๖๐ กรัม
๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง = ๑.๒ กิโลกรัม
๕๐ ชั่ง = ๑ หาบ = ๖๐ กิโลกรัม
หมายเหตุ : ปัจจุบันหน่วยเมตริกไม่ค่อยนิยมใช้ แต่หันมาใช้หน่วย “SI” ซึ่งเป็นหน่วยมาตรฐานนานาชาติแทน
นอกจากนี้ จากก็ยังมีผลงานอมตะของพระสิริมังคลาจารย์คือ “สังขยาปกาสกฎีกา” ที่มีอายุเกือบห้าร้อยปีมาแล้ว 2) ซึ่งมีเพิ่มเติมไปอีกได้แก่
๒ กล่อม = ๑ กุเลา
๒ กุเลา = ๑ ไพ
ในส่วนของ “ปมาณสังขยา” (มาตราชั่ง) จากผลงานเดียวกันกล่าวไว้ว่า
4 วีหิ เป็น 1 คุญชา 2 คุญชา เป็น 1 มาสกะ 5 มาสกะ เป็น 2 อักขะ 8 อักขะ เป็น 1 ธรณะ 5 ธรณะ เป็น 1 สุวัณณะ 5 สุวัณณะ เป็น 1 นิกขะ 0.4 นิกขะ เป็น 1 ปละ 100 ปละ เป็น 1 ตุลา 20 ตุลา เป็น 1 ภาระ 10 ภาระ เป็น 1 สกฏะ (เกวียน)
หรือในอีกแบบหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
4 วีหิ เป็น 1 คุญชา 2 คุญชา เป็น 1 มาสกะ 2.5 มาสกะ เป็น 1 อักขะ 8 อักขะ เป็น 1 ธรณะ 10 ธรณะ เป็น 1 ปละ 100 ปละ เป็น 1 ตุลา 20 ตุลา เป็น 1 ภาระ 10 ภาระ เป็น 1 สกฏะ (เกวียน)
จะเห็นว่าหน่วยทั้งหมดนี้ เกิดจากจิตที่ผูกติดกับธรรมะและธรรมชาติ ทำให้สามารถแยกแยะ รวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์เรื่องราวต่างๆได้อย่างลึกซึ้งไม่เว้นแต่หน่วยการ “ชั่ง” รวมถึงการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมาได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดในตอนต้นที่กล่าวมานี้ก็น่าจะสืบค้นหาให้ลึกลงไปถึงเส้นทางและที่มาเป็นอย่างยิ่ง
คราวนี้มาดูของที่สะสมกัน เริ่มที่ตาชั่งครับ
๑. ตาชั่ง (a scales, a weight)ที่มีสะสม
๑. ตาชั่งไข่ (ภาพล่างแสดงด้านหลัง) สำหรับคัดขนาดของไข่ ผลิตโดยอเมริกา
๒. ตู้ชั่งทอง (ใช้ร่วมกับลูกตุ้มถ่วงน้ำหนัก) ใช้หลักการสมดุลแรง
๓. ตาชั่งสปริงขนาด ๓๐ กิโลกรัม และ ๕๐ กิโลกรัม ของเยอรมันตามลำดับ
๔. ตาชั่งยาสมุนไพร (ใช้ร่วมกับลูกตุ้มน้ำหนัก)
๕. ตาชั่งยี่ห้อ Kamor ขนาด ๓ กก.
๖. ตาชั่งตัวนี้ไม่ทราบยี่ห้อและพิกัดครับ
๗. ตาชั่งซองจดหมาย ชี้สเกลสูงสุดที่ ๒๕๐ กรัม ผลิตในประเทศเยอรมัน
๘. ตาชั่งไปรษณีย์ (postal scale) มีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ไทย บางเขน การออกแบบทำได้คลาสสิกมาก
๙. ตาชั่งจีน (ตัวนี้ชั่งได้ ๑๐๐ กก.) ตาชั่งแบบนี้ส่วนมากจะใช้ชั่งเนื้อ ข้าวสาร และอื่นๆ
๑๐. ตาชั่งตัวนี้น่าจะใช้ตั้งโชว์มากกว่าจะใช้งานจริง (รอผู้รู้ช่วยอธิบายครับ)
๑๑. ตาชั่งฝิ่น ใช้คู่กับลูกเป้ง (ลูกเป้งจะเป็นตัวแสดงฐานะของเจ้าของ)
๑๒. ตาชั่ง (กิโล) วัดสามจีน ๓๐ กก. (ไม่แน่ใจว่าทำไมเรียกเช่นนี้)
๑๓. ตาชั่งขนาดเล็กใช้สปริง ผลิตจากประเทศอังกฤษ
๑๔. ตาชั่งสลึง (ภาพล่างกล่องสำหรับเก็บ) ใช้ชั่งสิ่งของที่ไม่ต้องการความละเอียดมากนัก เช่น ส่วนผสมสำหรับปรุงอาหาร ชั่งยา เป็นต้น
๑๕. ตาชั่งสมุนไพร ผัก ผลไม้ และอื่นๆ ขนาด ๓ กก. ยี่ห้อ RHEWA (ตัวนี้ขาดจานและตุ้มน้ำหนัก)
๑๖. ตาชั่งสนุมไพร ผัก และผลไม้ ขนาด ๕ กก. ยี่ห้อ MUR - WAG
๑๗. ตาชั่งน้ำหนักแบบแขวนมี ๒ หน้า ยี่ห้อ DETECTO ผลิตในอเมริกา ชั่งได้สูงสุด ๑๐ กก. ความละเอียด ๕๐ กรัม
๑๘. คันชั่งจีน (เพิ่มเติม) ตัวแรกบนสุดด้านซ้าย ชั่งได้ ๓๐ กก. ตัวกลางชั่งได้ ๑๐๐ กก. (วัสดุมีทั้งเหล็กและทองเหลือง) ตัวล่างสุดชั่งได้ ๒๓๐ กก. (ความยาวรวม ๑๖๕ ซม.) ส่วนตัวบนสุดด้านขวามือ ชั่งได้ ๑๐ กก.
๑๙. ตาชั่งเด็ก (Baby scale) ผลิตในญี่ปุ่น ชั่งได้สูงสุด ๒๐ กก.
๒๐. ตาชั่งผลิตจากเดนมาร์ก เมื่อต้องการชั่งของต้องเปิดฝาด้านหน้าลง ฝาด้านหน้าจะเป็นตัวรองรับสิ่งของที่จะชั่ง (ดังรูปด้านล่าง)
๒๑. ตาชั่งแบบสองแขนผลิตจากอเมริกา ที่ฐานจะมีระดับน้ำเพื่อตั้งระดับ
ท้ายสุดนี้ ขอฝากสุภาษิตดีๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องตาชั่งไว้ครับ ซึ่งได้จากการไปพูดคุยกับแม่ค้ารับซื้อของเก่า ท่านบอกว่า "ถ้าเรามีตาชั่งต่อไปนี้จะไม่ยากจน ชั่งเงิน ชั่งทอง ชั่งไม้บอง (ท่อนไม้) ๑๒ ตาชั่ง" สวัสดีครับ
ขอขอบคุณ
1) http://watnang.com/webboard/index.php?topic=110.0
2) บุญหนา สอนใจ. สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา : การตรวจชำระและการศึกษาเชิงวิเคราะห์. วิทยานิพนธ์
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2523.หน้า 288-230. อ้างจาก http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=chemengfight&topic=533
(ปล.ท่านใดมีความรู้เกี่ยวกับตาชั่ง ยินดีรับฟังนะครับ และขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าครับ)
เรื่องและภาพจาก ครุตามพรลิงค์ สวัสดีผู้รักการเรียนรู้ และรู้ที่จะเรียน Permalink : http://oknation.nationtv.tv/blog/kru-podjanard
วันอาทิตย์ ที่ 14 พฤศจิกายน 2553 อะกาฬิโกคลาสสิก : พิพิธภัณฑ์เล็กๆของข้าพเจ้า (ภาคเครื่องชั่ง) Posted by บ้านชฎาเรือนปฏัก
อะกาฬิโกคลาสสิก (Aghaligo Classic) : พิพิธภัณฑ์เล็กๆของข้าพเจ้า
http://oknation.nationtv.tv/blog/kru-podjanard/2010/11/14/entry-1
|