Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 03:04:33

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  หนังสือดี ที่น่าอ่านยิ่ง  |  [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: 1 [2] Go Down Print
Author Topic: [12] สามก๊ก บนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ  (Read 1651 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #15 on: 21 December 2021, 15:53:57 »


รัฐประหารเสียของ


วันคือ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลาคือ 22.54 น. ภาพบนจอโทรทัศน์ของคนทั้งประเทศคือรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพลงคือ ความฝันอันสูงสุด

มันคือการรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ

.………………

หลังจากที่ทัพสิบแปดหัวเมืองแตกสลาย โค่นทรราชตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ขุนนางอ้องอุ้นก็ดำเนินแผนนางงาม ใช้เตียวเสี้ยนทำให้ตั๋งโต๊ะแตกกับลิโป้ แล้วลวงตั๋งโต๊ะเข้าวังไปลอบฆ่า ผู้ฆ่าก็คือลิโป้

ศพตั๋งโต๊ะถูกแห่ไปรอบเมืองหลวง แล้วตัดหัวเสียบประจาน

ลมการเมืองเปลี่ยนทิศ อ้องอุ้นตั้งตัวเป็นใหญ่เสียบแทนตั๋งโต๊ะ ลิโป้กลายเป็นศัสตราวุธของระบอบใหม่

เมื่อครองอำนาจ ก็ถึงเวลาขุดรากถอนโคน ตระกูลตั๋งโต๊ะรวมถึงทุกคนที่รับใช้ทรราชตั๋งโต๊ะถูกฆ่าสิ้นซาก ยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมด ลิยู ที่ปรึกษาเอกของตั๋งโต๊ะก็หนีไม่พ้นชะตากรรม ถูกประหารทั้งครอบครัว

นายทัพของตั๋งโต๊ะคือ ลิฉุย กุยกี เตียวเจ หวนเตียว พากำลังทหารที่เหลือหนีไปตั้งหลักที่เมืองเซียงไส แล้วแต่งหนังสือมาขอปรองดองกับอ้องอุ้น อ้องอุ้นปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ต้องการศีรษะของคนทั้งสี่สถานเดียว

ลิฉุย กุยกี เตียวเจ หวนเตียว หันหน้าปรึกษากัน และตกลงว่าสมควรที่ต่างคนต่างหนีเอาตัวรอด

กาเซี่ยงที่ปรึกษาเสนอความคิดแก่แม่ทัพของตั๋งโต๊ะว่า หากหนีก็ต้องหนีซมซานไปตลอดชีวิต มิสู้รวมพลหันกลับไปสู้อย่างสุนัขจนตรอก อาจชนะได้

ในวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่

.………………

ในโอกาสมีวิกฤติซ่อนอยู่

โอกาสคือวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลาคือ 22.54 น. ภาพบนจอโทรทัศน์ของคนทั้งประเทศคือรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพลงคือ ความฝันอันสูงสุด

ความคิดก่อรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อ 6-7 เดือนก่อน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการถือกำเนิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ร่วมยึดอำนาจล้วนเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท. 6) ที่ทักษิณ (ตท. 10) เป็นผู้แต่งตั้ง

พล.อ.สนธิเขียนแถลงการณ์ปฏิวัติด้วยตนเอง ขัดเกลาคำพูดภายในห้องทำงาน บก.ทบ. ใช้เวลาสามชั่วโมง

ครั้งหนึ่งขณะรับประทานอาหารด้วยกัน ทักษิณถามพล.อ. สนธิทีเล่นทีจริงว่า “คุณจะปฏิวัติผมหรือเปล่า?”

พล.อ. สนธิตอบยิ้มๆ เช่นกันว่า “ถ้าย้ายผม ผมก็ปฏิวัติสิครับ”

หนึ่งวันก่อนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ และกลิ่นรัฐประหารลอยไปถึงที่นั่น เช้าวันที่ 19 กันยายน 2549 ทักษิณออกคำสั่งจากนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ทั้งหมดบอกว่าเวลากระชั้นเกินไป

ข่าวลือการก่อรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทันที

แผนการรัฐประหารถูกเปลี่ยนสองครั้ง เดิมกำหนดไว้ที่เวลา 19.00 น. วันที่ 22 กันยายน เปลี่ยนเป็น 24.00 น. วันที่ 20 กันยายน และเลื่อนอีกครั้งให้เร็วขึ้นเป็น 22.00 น. วันที่ 19 กันยายน หลังจากทราบข่าวกรองว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เลื่อนวันเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นหนึ่งวัน

เวลา 21.00 น. กำลังทหารพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้าไปประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก หนึ่งชั่วโมงถัดมา รถถังหลายคันเคลื่อนเข้าคุมพื้นที่หลายจุดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน กองทหารกระจายตัวตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกายถึงถนนราชสีมา สวนรื่นฤดี ราชตฤณมัยสมาคม

ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมให้อำนาจหลุดมือไปง่ายๆ หันหน้าสู้กลับผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในเวลา 22.15 น. ออกประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งปลด พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่สัญญาณจากนิวยอร์กถูกตัดหาย หลังอ่านแถลงการณ์ได้สามฉบับ

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศผ่านสถานีทุกช่อง ขึ้นประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลา 23.30 น. ทหารกลุ่มหนึ่งควบคุมตัว พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปกักตัวที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยกเลิกการขึ้นแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ บินจากนครนิวยอร์กไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่นัดไว้ในวันรุ่งขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

วันรุ่งขึ้นประชาชนจำนวนมากออกมาให้กำลังใจทหารตามจุดต่างๆ มอบดอกไม้ให้ ถ่ายรูปกับรถถัง เป็นภาพที่ชาวโลกมองดูด้วยความรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง

ในทางตรงข้าม มีหลายบุคคลและสถาบันต่อต้านรัฐประหาร วันที่ 20 กันยายน ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ ทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหาร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ติดป้ายใหญ่สองป้ายเขียนว่า “กระผมนายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก”

ทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่พาตัวออกไป

เย็นวันที่ 22 กันยายน กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต คัดค้านรัฐประหาร และกลุ่ม ‘เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร’ หนึ่งร้อยคนประท้วงที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์

วันที่ 25 กันยายน นักศึกษา 50-60 คน ชุมนุมประท้วงที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เที่ยงวันที่ 30 กันยายน นายนวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นคำว่า ‘พลีชีพ’ บนกระโปรงท้าย ประตูรถทั้งสองข้างพ่นตัวหนังสือว่า ‘พวกทำลายประเทศ’ ​พุ่งเข้าชนรถถัง ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า​จนรถพังยับเยิน และได้รับบาดเจ็บสาหัส

ทว่าทั้งหมดนี้มิอาจเปลี่ยนความจริงว่า ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นลงแล้ว

หลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปฯจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่งตั้ง องคมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549

พล.อ. สนธิลงจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ต่อมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

.………………

หลังจากกุมอำนาจในมือ ขุนนางตงฉินอ้องอุ้นก็เปลี่ยนไป ปกครองแผ่นดินด้วยความกลัว ดังนั้นเมื่อลิฉุย กุยกี ใช้กลยุทธ์ปลุกระดมราษฎรว่าอ้องอุ้นจะยกทหารมาฆ่าชาวเมืองเซียงไส ประชาชนก็เชื่อ และเข้าเป็นพวกจำนวนมาก

ลิฉุย กุยกีรวบรวมกำลังคนได้สิบห้าหมื่น งิวฮูบุตรเขยตั๋งโต๊ะยกกำลังทหารห้าพันมาสมทบ ยกทัพไปตีเมืองหลวงเตียงฮัน

ไส้ศึกที่เป็นคนของตั๋งโต๊ะภายในเตียงฮันลอบเปิดประตูเมือง กองทัพของสุนัขจนตรอกก็รุกยึดเมืองหลวง กองกำลังของอ้องอุ้นกับลิโป้แตกพ่าย ลิโป้หนีไปได้ แต่อ้องอุ้นไม่หนี ถูกลิฉุย กุยกีประหาร

กลุ่มอำนาจเดิมหวนกลับ อำนาจหล่นไปอยู่ในมือของลิฉุย กุยกี

.………………

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และผ่านการออกเสียงประชามติ คมช. ก็จัดการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

มันกลายเป็นกลยุทธ์ผิดพลาดครั้งใหญ่ของคณะรัฐประหารในหมากรุกการเมือง เพราะพรรคพลังประชาชนของทักษิณกำชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้ง

อำนาจในมือ คมช. หลุดหายกลับไปอยู่ในมือของ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กลุ่มอำนาจเดิมหวนกลับ อำนาจหล่นไปอยู่ในมือของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’ คนใหม่

สิ่งที่เป็นชัยชนะของ คมช. กลายเป็นความพ่ายแพ้

สัจธรรมการเมืองบอกว่า เมื่อรุกขุนไม่จน ก็ยังไม่ชนะ

ตำราพิชัยสงครามแห่งสามก๊กสอนว่า เมื่อฆ่าศัตรู ต้องตัดรากถอนโคน

มองจากโลกของสามก๊ก การยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงอาจเป็น ‘รัฐประหารเสียของ’


-----------------------------------------------


ช้างสาร


เขากำลังหนีไปต่างประเทศ

สิ่งที่เขาทำกำลังตามล่าเขาอยู่

มันคือปี พ.ศ. 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬกำลังเข้มข้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กำลังครองเมือง และเขาเป็นสื่อเดียวที่หาญกล้าท้าอำนาจรัฐ รายงานเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากสื่อต่างๆ ถูกปิดปาก

เขาตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ ขนาดแท็บลอยด์ เผยแพร่โดยไม่จำหน่ายภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มันเป็นสื่อเดียวที่ทำให้ประชาชนรู้ความจริงในยามนั้น

เขาถูกคุกคามเอาชีวิต จำต้องหนีออกนอกประเทศ ก่อนเดินทางเขาเซ็นเช็คใบหนึ่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชุมนุม

นี่มิใช่ ‘ลูกบ้า’ ครั้งแรกของเขา ในสมัยหนุ่ม เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาเล็ดลอดเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อถ่ายรูปเหตุการณ์ฆ่าหมู่ โดยสวมรอยเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ต่อต้านกลุ่มนักศึกษา

เขาชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล

และบัดนี้เขาคนเดียวกำลังต่อต้านอำนาจใหญ่อีกคนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย

ทักษิณ ชินวัตร

.………………

เขากำลังหนีไปต่างประเทศ

สิ่งที่เขาทำกำลังตามล่าเขาอยู่

มันคือปี พ.ศ. 2551 การจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกกลายเป็นชนักปักหลังเขา เมื่อมันเป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เขาทำหนังสือขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น ช่วง 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 เหตุผลคือไปร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก

เขาชื่อ ทักษิณ ชินวัตร

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาตกอยู่ในสภาะนี้เกิดจากฝีมือชายคนหนึ่ง

สนธิ ลิ้มทองกุล

.………………

การชิงอำนาจทางการเมืองย่อมก่อเกิดศัตรู

ยิ่งขึ้นที่สูง ศัตรูยิ่งกล้าแข็ง

พิฆาตศัตรูกล้าแข็ง ต้องใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบ

ระหว่างขงเบ้งกับสุมาอี้ ยังมีเรื่องต้องพิฆาตให้ด่าวดิ้น

เมื่อพระเจ้าโจยอยขึ้นเสวยราชย์ โปรดให้สุมาอี้ไปรักษาเสเหลียง เมืองชายแดนติดกับเสฉวน ขงเบ้งรู้ว่าสุมาอี้มีสติปัญญาหลักแหลม เป็นอันตรายต่อเสฉวน ขงเบ้งจึงออกอุบายยุแหย่ให้พระเจ้าโจยอยกับสุมาอี้แตกคอกัน ยืมมือฮ่องเต้ฆ่าสุมาอี้ โดยปิดแถลงการณ์บนกำแพงเมืองต่างๆ ว่า สุมาอี้คิดก่อกบฏเพื่อเป็นฮ่องเต้

พระเจ้าโจยอยทรงระแวง ส่งโจหิวคุมกำลังไปสืบหาความจริงจากสุมาอี้

โจหิวยื่นแผ่นแถลงการณ์ให้สุมาอี้ดู ถามว่าเหตุใดจึงคิดกบฏ สุมาอี้ตกใจ บอกว่า นี่เป็นแผนยืมดาบฆ่าคนของขงเบ้ง หลังจากนั้นก็เข้าเฝ้าเพื่อทูลชี้แจง

พระเจ้าโจยอยไม่ทรงประหารสุมาอี้ แต่ก็ยังคงระแวง ทรงมีคำสั่งปลดสุมาอี้พ้นจากทุกตำแหน่ง

กาลต่อมาสุมาอี้ใช้หอกเล่มเดียวกันเล่นงานขงเบ้ง ทำให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงระแวง ส่งไส้ศึกนาม กิอั๋นไปแพร่ข่าวที่เมืองหลวงเสฉวนว่า ขงเบ้งกำลังก่อการเป็นกบฏ จะปลงพระชนม์พระเจ้าเล่าเสี้ยน แล้วตั้งตัวเองขึ้นเป็นฮ่องเต้

อุบายนี้ได้ผล พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงเรียกตัวขงเบ้งกลับคืนเสฉวน

.………………

หลังจากถูกปลด สุมาอี้ใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านที่เมืองอ้วนเสีย ต่อมาเมื่อวุยก๊กพ่ายศึกหลายครั้ง พระเจ้าโจยอยทรงไม่มีทางเลือก เรียกสุมาอี้กลับไปเป็นแม่ทัพอีกครั้ง

ในการศึกที่เกเต๋ง ขงเบ้งส่งม้าเจ๊กไปรบสุมาอี้ ม้าเจ๊กตั้งทัพบนเขา ถูกสุมาอี้ล้อมจนอดน้ำ และใช้ไฟคลอก ทหารม้าเจ๊กตายไปมาก แตกหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองหลิวเซีย

เมื่อสุมาอี้ใช้ไฟ ขงเบ้งก็ใช้ไฟเช่นกัน ในการศึกที่เฮาโลก๊ก ขงเบ้งลวงสุมาอี้และบุตรชายทั้งสองสุมาสูกับสุมาเจียวไปที่ปากทางเฮาโลก๊ก ซึ่งออกอุบายว่าเป็นที่เก็บเสบียงของทัพเสฉวน แล้วจุดไฟคลอก รอบตัวสุมาอี้และบุตรมีแต่เพลิง ไร้หนทางรอด ทว่าทันใดนั้น ฝนห่าใหญ่เทลงมา ดับไฟที่ล้อมตัว รอดตายราวปาฏิหาริย์

เป็นครั้งที่สุมาอี้ใกล้ชิดความตายที่สุด

แต่สุมาอี้ก็ทำให้ขงเบ้งใกล้ชิดความตายที่สุดเช่นกัน

ครั้งหนึ่งสุมาอี้รู้ว่าขงเบ้งเก็บเสบียงอาหารที่เมืองเสเสีย จึงวางแผนปล้น แต่ขงเบ้งรู้ทัน วางแผนขนเสบียงหนีและถอยทัพด้วย สั่งให้ทิ้งเมืองเทียนซุย ลำอั๋น ซินเสีย ทั้งสามเมือง

ขงเบ้งเองคุมทหารจำนวนหนึ่งไปที่เมืองซินเสีย เพื่อขนเสบียงหนีศัตรู ขณะจะถอยกลับ พบว่าช้าไปแล้ว กองทัพสุมาอี้บุกเข้าล้อมเมืองดุจสายฟ้าแลบ

ขงเบ้งจนมุม ใช้อุบายเมืองร้าง เปิดประตูเมือง ตนเองขึ้นไปดีดพิณบนเชิงเทิน สุมาอี้ไม่แน่ใจว่าขงเบ้งซ่อนกลใดไว้ จึงตัดสินใจไม่ตีเมืองซินเสีย รอดตายมาหวุดหวิด

อีกครั้งหนึ่งทั้งสองเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว และประลองกันด้วยการตั้งค่ายกลพยุหะ

สุมาอี้สั่งทหารจัดค่ายกลแปรขบวนก่อน เป็นค่ายกลพยุหะอิคุยติ๋น ขงเบ้งก็ตั้งค่ายกลปักกัวติ๋น ท้าทายให้ทหารสุมาอี้โจมตี แต่ค่ายกลขงเบ้งลึกซึ้งเกินไป ทหารสุมาอี้ถูกทหารขงเบ้งจับเป็นเชลยทั้งหมด

ต่อมาขงเบ้งพยายามโจมตีค่ายของสุมาอี้ แต่สุมาอี้สั่งทหารไม่ออกรบ ขงเบ้งส่งทหารไปยั่วยุท้ารบทุกวัน แต่สุมาอี้ก็ไม่ยอมออกรบ ขงเบ้งส่งชุดชั้นในและเสื้อผ้าสตรีไปมอบให้สุมาอี้ สุมาอี้ไม่หลงกล กลับหัวเราะ สั่งทหารกลับไปบอกขงเบ้งให้ดูแลสุขภาพให้ดี

ครั้นขงเบ้งตาย กองทัพเสฉวนยกกลับ ทัพสุมาอี้ไล่ตาม แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ก็พบว่าผู้นำทัพก็คือขงเบ้ง สุมาอี้ตกใจ เชื่อว่าความตายของขงเบ้งเป็นเพียงข่าวลวง ทัพสุมาอี้ถูกตีแตกไป

สุมาอี้รู้ภายหลังว่า ขงเบ้งที่ตนเห็นเป็นหุ่นปลอม ขงเบ้งตัวจริงตายไปแล้ว สุมาอี้ยอมรับว่า แม้ตายไปแล้ว ขงเบ้งยังสามารถพิชิตศึก

หากขงเบ้งเป็นมังกร สุมาอี้ก็เป็นจิ้งจอก เท่าทันเล่ห์กลซึ่งกันและกัน

.………………

หาก ทักษิณ ชินวัตร เป็นเสือ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นสิงห์

คนทั้งสองเกิดในครอบครัวคนทำธุรกิจเล็กๆ สนธิเกิดที่จังหวัดสุโขทัย ครอบครัวทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีนสำหรับชาวจีนในไทย

สนธิจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ไปเรียนต่อที่ไต้หวันด้านวิศวกรรมเครื่องกล แล้วไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา ทำงานบริหารหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด อายุ 36 ปี ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการจนเป็นสื่อธุรกิจชั้นนำของไทย

ส่วน ทักษิณ ชินวัตร เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลาเด็กมักช่วยกิจการของครอบครัวโม่กาแฟ ขายโอเลี้ยง ทำสวนส้ม ตัดส้ม ขายกล้วยไม้ และช่วยกิจการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว

ทักษิณเรียนระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น ต่อมาได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ

เริ่มทำงานราชการตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร และอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เข้าสู่การเมืองครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 เป็นเลขานุการของ ปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หลังจากล้มเหลวจากธุรกิจต่างๆ เช่น ค้าขายผ้าไหม โรงภาพยนตร์ คอนโดมิเนียม จนเป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ทักษิณก็เข้าสู่ธุรกิจด้านการสื่อสาร ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็ม และธุรกิจวิทยุติดตามตัวยี่ห้อ Phonelink

ในปี 2529 ก่อตั้งบริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูลาร์ 900 โดยได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ เป็นผู้ริเริ่มให้บริการโทรทัศน์เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกเป็นครั้งแรก ใต้นาม ไอบีซี เมื่อปี พ.ศ. 2532

ด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมือง เขาก้าวเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร สร้างดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกของไทยนาม ไทยคม

หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจโทรคมนาคม ทักษิณ ชินวัตร ก็เข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2537 จากการชักชวนของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล ชวน หลีกภัย หลังจากนั้นเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทน พล.ต. จำลอง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ

ปี พ.ศ. 2541 ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แผ้วทางสู่การเลือกตั้งโดยรวมมุ้งการเมืองทั้งหลาย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่นำการตลาดมาใช้ในการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กำเนิดนโยบายต่างๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค กวาดล้างยาเสพติดด้วยความรุนแรง ผลงานที่ ‘เข้าตา’ และ ‘โดนใจ’ คนจำนวนมากทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน เห็นชัดจากผลการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ที่พรรคของเขาได้คะแนนเสียงสูงสุด

แล้วเขาก็เผชิญกับแรงต่อต้าน

นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล

.………………

มันเริ่มด้วยรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวีในปลายปี 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับพิธีกรสาว นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์

รายการนี้ตีแสกหน้า ทักษิณ ชินวัตร ด้วยลีลาการพูดที่สุขุมและมีความรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำให้มีคนชมจำนวนมาก

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ขุดคุ้ยเบื้องหลังทักษิณไม่หยุดยั้ง เล่นงานเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตเชิงนโยบาย ความไม่สง่างามในการขึ้นสู่อำนาจ การฆ่าคนบริสุทธิ์ในการปราบยาเสพติด และที่พลาดไม่ได้คือคดีซุกหุ้น

เหตุเกิดเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยโอนหุ้นที่มีอยู่ไปให้คนรับใช้ คนรถ คนสวนถือแทน สังคมเชื่อว่าการที่ทักษิณรอดมาได้ด้วยเสียง 8 ต่อ 7 เพราะเหตุผลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้เกิดกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ วลี ‘บกพร่องโดยสุจริต’ เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยอมหลับตาข้างหนึ่ง

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 โมเดิร์นไนน์ทีวีระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ การถอดรายการกลับทำให้เรื่องบานปลาย สนธิจัดรายการของตนเองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร โดยใช้เวทีนอกสถานที่ เช่น หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และลุมพินีสถาน สวนลุมพินี ทุกคืนวันศุกร์ ยังขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีและพวก ด้วยลีลาการเล่าและทรงความรู้ ทำให้มีผู้ชมรายการเป็นจำนวนมาก

สนธิใช้กลยุทธ์รวบรวมบันทึกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทั้งหมดในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แจกฟรีซีดีบันทึกเสียงจากรายการให้แก่ประชาชนทั่วไป ฯลฯ กระแสต่อต้านที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ขยายตัวเป็นขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขยายออกไปอีก

ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการร่วม และพวก เป็นเงิน 500 ล้านบาท และคดีอาญามากมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทักษิณ ชินวัตร ก็ถอนฟ้องสนธิและพวก

.………………

ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ จำกัด แห่งสิงคโปร์ มีการแก้ไขกฎหมายการขายหุ้นไม่กี่วันก่อนการขาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากการขายหุ้น เหตุการณ์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตัว มันกลายเป็นบ่วงรัดคอและชนวนของแรงต่อต้านที่แผ่ออกไป กระแสขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขยายตัวในวงกว้าง

ด้วยแรงกดดันจากรอบทิศ เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคฝ่ายค้านสามพรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยยังคงได้รับคะแนนเสียงมาก แต่ติดปัญหาได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 และมีการกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ

กลุ่มพันธมิตรฯนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549 การเผชิญหน้าระหว่างเสือกับสิงห์ยุติลงหนึ่งวันก่อนการชุมนุมใหญ่ เพราะ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อรัฐประหาร โค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

แต่สงครามยังไม่จบ

ตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลาราว 05.45 น. นายสนธิเดินทางโดยรถส่วนตัว โตโยตา เวลไฟร์ ไปที่สถานีโทรทัศน์ ASTV เพื่อจัดรายการตอนเช้าเหมือนทุกวัน รถอีซุซุ ดีแม็กซ์ สีบรอนซ์ทอง คันหนึ่งแล่นประกบ คนในรถใช้อาวุธสงครามถล่มยิงรถของนายสนธิจนพรุน แล้วหลบหนีไป ทิ้งปลอกกระสุนปืน 84 นัด และลูกระเบิดเอ็ม 79 ที่ยังไม่ระเบิดหนึ่งลูก

นายสนธิผู้ถูกยิงหลายส่วนบนร่างกายรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559 ในคดีที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ศาลฎีกาสั่งจำคุก สนธิ ลิ้มทองกุล 20 ปี ไม่รอลงอาญา

หลังจากเดินทางไปร่วมพิธีกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2551 ทักษิณ ชินวัตร ไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และลี้ภัยในต่างประเทศ

ในวันที่ 17 กันยายน 2551 ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกทักษิณสองปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก

แต่สงครามยังห่างไกลจากจุดยุติ

.………………

หากขงเบ้งกับสุมาอี้กำหนดทิศทางการเมืองสามก๊กเมื่อ 1,800 ปีก่อน บทบาทของ สนธิ ลิ้มทองกุล กับ ทักษิณ ชินวัตร ก็กำหนดชะตาของบ้านเมืองไทยในปัจจุบัน

ทั้งสองผ่านการลอบสังหาร ผ่านการหนี ผ่านการถูกพิพากษาจำคุก ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น

ประวัติศาสตร์ไทยจารึกว่า ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยช่วงตั้งแต่ปี 2548 จนถึงรัฐประหาร 2557 ส่วนหนึ่งเป็นเหตุและปัจจัยที่สืบจากเสือกับสิงห์คู่นี้

ส่วนประวัติศาสตร์มนุษยชาติจารึกไว้ตลอดมาว่า เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #16 on: 21 December 2021, 15:55:42 »


นภาสีฟ้าสูญสิ้น


พ.ศ. 727 ราชวงศ์ฮั่นเริ่มเสื่อมถอยเพราะถูกกัดกินจากภายใน ขันทีในวังฉ้อราษฎร์บังหลวง คุมอำนาจโดยกลุ่มสิบขันที ขุนนางตงฉินที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจก็ถูกหาเรื่องขับออกจากราชการ เมืองหลวงมีกลุ่มอิทธิพลต่างๆ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

แผ่นดินลุกเป็นไฟ

ภาวะข้าวยากหมากแพงทำให้ชาวนา ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส มิเพียงเผชิญความเหลื่อมล้ำในสังคม การเก็บภาษีหนัก ยังประสบอุทกภัยจากแม่น้ำฮวงโหซ้ำเติม ทำให้ในที่สุดชาวบ้านก็ทนไม่ได้ ต้องการลุกขึ้นทำการสักอย่าง

ยามนั้นชายผู้หนึ่งนามเตียวก๊กป่าวร้องว่า จะมีผู้มีบุญมาครองแผ่นดินใหม่ แล้วบ้านเมืองจะสงบสุข เตียวก๊กเคยช่วยเหลือชาวบ้านที่ป่วยไข้หายมากมาย ชาวบ้านจึงหลงเชื่อมากมาย

เตียวก๊กส่งคนไปติดต่อฮองสีขันที เพื่อเตรียมก่อการใหญ่ โค่นราชวงศ์ฮั่น แต่ความแตก ฮองสีขันทีถูกจับขังคุก เตียวก๊กจึงเปลี่ยนแผน ตั้งตัวเองเป็นเทียนก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยาสวรรค์) แต่งตั้งเตียวโป้น้องคนกลางเป็นแตก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยาแผ่นดิน) และเตียวเหลียงน้องสุดท้ายท้องเป็นยินก๋งจงกุ๋น (เจ้าพระยามนุษย์) รวมกำลังพลได้สี่สิบห้าสิบหมื่น แจกผ้าเหลืองให้กองทัพชาวบ้านโพกหัว เริ่มรุกเข้าชิงอำนาจจากเมืองหลวง

เป็นต้นกำเนิดของกบฏโพกผ้าเหลือง มีคำขวัญว่า “นภาสีฟ้าสูญสิ้น ฟ้าสีหลืองปรากฏ ปฐพีรุ่งเรือง”

กลุ่มโพกผ้าเหลืองก่อกบฏ บุกยึดเมืองต่างๆ เสียงร้อง “นภาสีฟ้าสูญสิ้น ฟ้าสีหลืองปรากฏ ปฐพีรุ่งเรือง” ดังสะเทือนไปถึงเมืองหลวง กำลังทหารหลวงไม่สามารถปราบ

ขุนพลโฮจิ๋นเสนอพระเจ้าเลนเต้ส่งสาส์นไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ยกทัพมาปราบกบฏโพกผ้าเหลือง และประกาศรับสมัครทหารมีฝีมือไปปราบกบฏ

เหตุการณ์นี้ทำให้ชายสามคนพบกัน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้องกันในสวนดอกท้อ

ด้วยเงินของเตียวหุย สามพี่น้องร่วมสาบานตั้งกองทัพขนาดเล็กขึ้นมาราวสามร้อยคน ผลิตหอก ดาบ และเกราะเข้าสู่สงคราม โดยเข้าร่วมกับเล่าเอี๋ยน เจ้าเมืองตุ้นก้วน

แล้วทั้งสองกองทัพก็เผชิญหน้ากัน

.………………..

พ.ศ. 2551 บนแผ่นดินไทย บังเกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ นั่นคือการแบ่งสีเสื้อ

สองสีหลักคือสีเหลืองกับสีแดง ทั้งสองสีผลิต ‘หอก ดาบ และเกราะ’ เข้าสู่สงคราม

หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโค่นลงจากอำนาจ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนของทักษิณชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’

สมัคร สุนทรเวช บริหารประเทศได้เพียงหกเดือน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคลื่อนไหวจัดการชุมนุมใหญ่ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดของ ทักษิณ ชินวัตร และพวก ประเด็นการคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ตัวละครแรกปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีเหลือง คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เริ่มที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่เปลี่ยนไปชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านไปห้าวัน ก็ยกระดับการชุมนุมจากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช แทน

การชุมนุมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มพันธมิตรฯใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย รุกไปจุดต่างๆ

26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ การ์ดกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มนักรบศรีวิชัย บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที “เพื่อทวงคืนสื่อของรัฐที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง”

วันเดียวกัน มีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลสำเร็จ จนรัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีได้อีกต่อไป

การเผชิญหน้าดำเนินต่อไป จนเกมพลิกในวันที่ 9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคำวินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เนื่องจากเขาเป็นพิธีกรของรายการทำครัว

17 กันยายน สภาผู้แทนราษฎรเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มพันธมิตรฯเริ่มชุมนุมครั้งใหม่ ขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบกดดันให้รัฐบาลลาออก

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯปฏิบัติการดาวกระจาย ยกขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประชุมรัฐสภา ปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกระทรวงการคลัง ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไม่ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี

วันรุ่งขึ้นกลุ่มพันธมิตรฯใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกหกล้อปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเข้าออกสนามบินได้ ผู้โดยสารและลูกเรือหลายพันคนตกเครื่องและตกค้างในสนามบิน

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เสนอทางออกให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และกลุ่มพันธมิตรฯยุติการชุมนุม ถอนกำลังออกจากสนามบินทั้งสองแห่ง

กลุ่มพันธมิตรฯยืนยันให้รัฐบาลลาออก ไม่ใช่ยุบสภา

นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดสนามบินอู่ตะเภาใช้แทน เพื่อระบายนักท่องเที่ยวตกค้าง และนักเดินทางขาเข้า

2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลาห้าปี คำตัดสินทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค พ้นจากตำแหน่ง

วันรุ่งขึ้นกลุ่มเสื้อสีเหลืองยุติการชุมนุม

สามเดือนต่อมา ตัวละครที่สองปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

.………………..

หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สภาก็คัดสรรนายกฯคนใหม่อีกครั้ง

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ด้วยการล็อบบี้กลุ่ม เนวิน ชิดชอบ โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ สภาฯเลือก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึงสามคน!

วันที่ 26 มีนาคม 2552 กลุ่มคนเสื้อแดง เริ่มชุมนุมที่ท้องสนามหลวง

เป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม ‘ไพร่’ กับ ‘อำมาตย์’ มีนัยของความเป็นสองมาตรฐานในสังคม

การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาจึงมีนัยของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมคติ

วันที่ 7 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมรถยนต์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เมืองพัทยา โดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ขวาง ขว้างหมวกกันน็อคใส่กระจกด้านหลังรถจนแตก และใช้ท่อนไม้ทุบกระจกหน้า

8 เมษายน กลุ่ม นปช. เรียกร้องให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี ให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะยกระดับการชุมนุม

9 เมษายน อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์ส่งกำลังใจให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อไป กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เสื้อแดงเริ่มปิดถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร

แล้วตัวละครที่สามก็ปรากฏบนกระดานหมากรุกการเมือง กลุ่มเสื้อสีน้ำเงิน

.………………..

วันที่ 11 เมษายน 2552 มีการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียน บวก 6 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา

กลุ่มคนเสื้อแดงแยกไปปิดล้อมโรงแรมดุสิตธานี พัทยา ที่พักของประธานาธิบดีจีนและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โรงแรมอมารี ที่พักของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โรงแรมดีทู ที่พักของผู้นำนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้นำทั้งสี่ประเทศนี้ไม่สามารถไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ได้

เวลาราว 08.40 น. กลุ่มเสื้อแดงไปชุมนุมหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟฯ ปรากฏกลุ่มชายฉกรรจ์เสื้อสีน้ำเงินขวางทาง เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่มเสื้อสีน้ำเงิน เริ่มจากขว้างปาก้อนหินใส่กัน ตามมาด้วยการยิงและระเบิด บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ผู้บาดเจ็บถูกส่งไปที่โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย 9 รายรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางละมุง เป็นคนเสื้อแดง 4 ราย คนเสื้อสีน้ำเงิน 5 ราย บาดแผลเกิดจากถูกสะเก็ดระเบิด

เวลา 10.00 น. คนกลุ่มเสื้อสีแดง 500 คน นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ฝ่าด่านเข้าไปในเขตโรงแรมรอยัล คลิฟฯ และตั้งโต๊ะแถลงข่าว แสดงเสื้อสีน้ำเงินหลายตัว ระเบิดเพลิง ระเบิดปิงปอง ปลอกกระสุน และตะปูเรือใบที่โรยบนถนนทำให้รถแท็กซี่หนึ่งร้อยคันจากกรุงเทพฯ ถูกตะปูเรือใบจนยางระเบิด มาถึงล่าช้า

นายอริสมันต์กล่าวว่าเป็นของที่ยึดได้จากกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน เรียกร้องให้นายกฯลาออกและยกเลิกการประชุมอาเซียน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อน้ำเงินทำร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งนี้เพราะ “กลุ่มคนเสื้อน้ำเงินเป็นทหารและตำรวจที่บงการโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายเนวิน ชิดชอบ”

เวลา 12.45 น. กลุ่มคนเสื้อแดงสองพันคนบุกเข้าไปในโรงแรม ส่วนที่เป็นพื้นที่ทำงานของผู้สื่อข่าวทั่วโลกซึ่งมาทำข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ใช้ไม้ทุบกระจกแตกกระจาย กลุ่มคนเสื้อแดงไปตามห้องต่างๆ ภายในโรงแรม เพื่อล่าตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ไม้ทุบทำลายสิ่งของภายในโรงแรมเสียหายและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่มาประชุมและเจ้าหน้าที่โรงแรม โดยที่กำลังทหารและตำรวจที่เฝ้าดูความปลอดภัยคุมสถานการณ์ไม่ได้

ตำรวจในทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯคนหนึ่งยกปืนพกขึ้นขู่ผู้ชุมนุม เป็นผลให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ กรูเข้าไปจะทำร้าย ทำให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เข้าไปไกล่เกลี่ย แกนนำคนเสื้อแดงกล่าวว่า ต้องหาตัวคนที่ยิงคนเสื้อแดงมาลงโทษให้ได้ภายในหนึ่งชั่วโมง

การประชุมอาเซียนซัมมิทล้มลงโดยปริยาย

ภาพเฮลิคอปเตอร์อพยพเหล่าผู้นำอาเซียนออกจากโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เผยแพร่ไปทั่วโลก ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาร์โรโย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์พลเรือน ผู้นำพม่า ตัน ฉ่วย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่สนามบินอู่ตะเภา นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เควิน รัดด์ กำลังเดินทางมาไทยได้ครึ่งทาง ก็หันเครื่องบินกลับ

.………………..

หนึ่งวันหลังการล้มอาเซียนซัมมิท กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงกลับไปรวมตัวที่กรุงเทพฯ ขบวนแท็กซี่ปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย เพื่อตามล่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปิดกั้นรถยนต์ของนายกฯ เจ้าหน้าที่อารักขายิงปืนขู่ ผู้ชุมนุมกรูเข้าไปแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่คนนั้นและทำร้ายบาดเจ็บ

ผู้ชุมนุมรายล้อมรถนายกฯ รุมทุบรถด้วยไม้และของแข็ง นอกจากนั้น ยังรุมทุบรถยนต์ของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ทำให้นิพนธ์บาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ส่วนรถยนต์นายกฯหลุดรอดไปได้

วันที่ 13 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งปิดถนนดินแดงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง นำรถบรรทุกก๊าซแอลพีจีขนาด 8 ตันไปจอดขวางกลางถนน บริเวณแฟลตดินแดง กลิ่นก๊าซรั่วตลอดเวลาสร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนแฟลตดินแดงอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะเกิดระเบิด

ตลอดวันนั้น กลุ่ม นปช. ขู่จะจุดระเบิดรถบรรทุกก๊าซหลายครั้ง ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจกลุ่ม นปช. ตะโกนไล่ และขว้างปาสิ่งของ ขวดน้ำ ขวดเบียร์ ใส่กลุ่มคนเสื้อแดง

ตัวละครที่สี่พลันปรากฏ คนสวมเสื้อสีดำ

ในสถานการณ์ตึงเครียด ร่างหนึ่งในชุดซูเปอร์ฮีโร แบทแมน ปรากฏตัวพร้อมเสียงร้องดังก้อง “แบทแมนมาแล้ว!”

แบทแมนเป็นชาวแฟลตดินแเดง นาม พิจิต เชื้อแก้ว ใช้อารมณ์ขันช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ความตึงเครียดสลายไป ชาวดินแดงถือโอกาสกดดันไล่คนเสื้อแดงออกไปจากรถบรรทุกก๊าซ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บริษัทสยามแก๊สขับรถก๊าซออกมาจากจุดนั้น

รัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุม

กำลังทหารและตำรวจใช้แก๊สน้ำตา กระสุนฝึกหัด และกระสุนจริง สลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 70 คน

การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป ผู้ชุมนุมยึดรถโดยสารประจำทางหลายคัน กีดขวางตามถนนสายต่างๆ ทั่วกรุง หลายคันถูกทำลาย และจุดไฟเผา

เวลาราว 21:30 น.เกิดเหตุปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับชาวบ้านตลาดนางเลิ้งซึ่งพยายามปกป้องชุมชนของตนเอง มีผู้เสียชีวิตสองราย

14 เมษายน แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

กองทัพบกจัดหารถโดยสารส่งผู้ร่วมชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนา เกมหมากรุกการเมืองปิดฉากที่สงกรานต์เลือด แต่สงครามยังห่างไกลจากการยุติ

.………………..

หนึ่งปีต่อมา เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 หมากรุกการเมืองกระดานใหม่ก็เริ่มขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

สงครามสีเสื้อครั้งใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง

บางทีเมื่อคนไทยฆ่ากันเอง ก็ไม่มีสีเหลือง ไม่มีสีแดง ไม่มีสีน้ำเงิน มีแต่สีโลหิตของพี่น้องหลั่งบนผืนแผ่นดินไทย

นภาสีฟ้าสูญสิ้นไปตั้งแต่คนไทยแบ่งสีเสื้อกัน

ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์สยามประเทศที่คนไทยแตกแยกกันได้ขนาดนี้ คนในครอบครัวเดียวกันสวมเสื้อคนละสี ทะเลาะกัน

ทันใดนั้นทุกคนถูกสังคมบังคับให้ต้องเลือกสักสีหนึ่ง สีของไพร่ หรือสีของอำมาตย์

สีหนึ่งชี้นิ้วว่าอีกสีหนึ่งเป็น ‘อำมาตย์’ หรือ ‘สลิ่ม’

สีหนึ่งชี้นิ้วว่าอีกสีหนึ่งเป็น ‘ควายแดง’

เส้นขนานแห่งสังคมมิเพียงไม่บรรจบกัน ยังถ่างกว้างห่างกันกว่าเดิม

แบทแมนกล่าวว่า “ผมอยากให้ประเทศชาติสงบ อยากให้เลิกแบ่งฝ่าย แบ่งสี และหันหน้าเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สิ่งไหนที่ขัดแย้งควรจะถอยกันคนละก้าว คุยกันได้ไหม? เหมือนกับการเมืองสมัยเก่าที่เขาต่อสู้กันในกติกา ต่อสู้ในสภา ก็ว่ากันไป ไม่ใช่ไม่พอใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วยกพวกออกมาเล่นนอกสภา ทำความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่ก่อนการเมืองเราเขาทะเลาะกันในสภาเสร็จแล้วก็จบ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็ยุบสภา แล้วเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งทำให้มันเดินต่อไปได้ และไม่เดือดร้อนชาวบ้าน แต่นี่ไม่ใช่แล้ว จะเอาชนะกันอย่างเดียว”

บางทีเมืองไทยมี ‘แบทแมน’ น้อยเกินไป

.………………..


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #17 on: 21 December 2021, 15:57:03 »


ชิงเมืองคืน


ลิบองเป็นทหารหนุ่มผู้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพแห่งกังตั๋ง

เวลานั้นเกงจิ๋วเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้เล่าปี่ ‘ขอยืม’ จากซุนกวน แล้วครองไว้ไม่ยอมคืน จนในที่สุดซุนกวนก็ตัดสินใจยึดคืนด้วยกำลัง

หลังจากจิวยี่ตาย ซุนกวนแต่งตั้งโลซกเป็นแม่ทัพเรือ ต่อมาโลซกตายด้วยโรคชรา ก่อนตายแนะนำซุนกวนแต่งตั้งลิบองเป็นแม่ทัพคนต่อไป

การแต่งตั้งทหารหนุ่มคนหนึ่งเป็นแม่ทัพย่อมผิดขนบ แต่เช่นเดียวกับโลซก ซุนกวนมองเห็นแววของลิบอง

ซุนกวนเสนอให้ลิบองไปตีเมืองชีจิ๋ว ลิบองกลับแย้ง กล่าวว่าสมควรตีเกงจิ๋วก่อน ได้เกงจิ๋วคือได้ลุ่มน้ำแยงซี มีประโยชน์มากกว่ายึดชีจิ๋ว ซึ่งยึดง่ายกว่า แต่รักษายาก อีกประการ เวลานั้นมีข่าวกวนอูยกทัพไปตีเมืองอ้วนเสีย ทิ้งเกงจิ๋ว เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะชิงเกงจิ๋วคืนมา

ซุนกวนเห็นชอบ

แต่การยึดเกงจิ๋วด้วยกำลังห่างไกลจากคำว่าง่าย เกงจิ๋วมีแนวป้องกันที่เข้มแข็ง มีหอสัญญาณไฟตลอดแนวฝั่ง

ลิบองวางแผนร่วมกับลกซุนที่ปรึกษาหนุ่ม ไม่ยกทัพเข้าตีตรงๆ กลับปล่อยข่าวว่าไม่อยากสู้กับกวนอู กลัวจนล้มป่วย ครั้นอาการป่วยหนักขึ้น ก็ลาออกจากตำแหน่งแม่ทัพ ส่งมอบตำแหน่งแม่ทัพให้ลกซุน

กวนอูได้ข่าวนั้นก็หัวเราะ เพราะลกซุนเป็นเพียงทหารหนุ่มเด็กวานซืน ไม่เคยทำงานใหญ่ให้ปรากฏ กวนอูจึงถอนทหารออกจากเกงจิ๋ว เพื่อไปตีเมืองอ้วนเสีย

ขณะเดียวกัน ซุนกวนก็ส่งหนังสือไปเร่งให้โจโฉส่งทัพตีกวนอูหนักขึ้นในศึกเมืองอ้วนเสีย

ลิบองส่งทหารฝีมือดีกลุ่มหนึ่งปลอมตัวเป็นพ่อค้าและชาวประมงแล่นเรือไปที่ฝั่งเกงจิ๋ว บอกยามรักษาการของเกงจิ๋วว่าถูกพายุพัดเรือมา ยามหลงเชื่อ

ทหารลิบองก็จับยามรักษาการหอไฟหมด สั่งให้นำทางเข้าเมือง ทหารประตูเมืองเห็นยามฝ่ายเดียวกันมา ก็เปิดประตูเมือง ทหารของลิบองก็ตรงเข้ายึดเมืองเกงจิ๋วได้อย่างง่ายดาย

ด้วยแผนลวงและความประมาทของกวนอู กังตั๋งยึดเกงจิ๋วได้สำเร็จ

ชิงเมืองคืนสำเร็จ

.………………..

ร.ต. เข้ม เย็นยิ่ง เป็นทหารหนุ่ม ผู้เป็นทหารเพราะความผันผวนของการเมืองโลก

เขาศึกษาอยู่ที่อังกฤษเมื่อเกิดสงครามโลกและไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร รัฐบาลไทยเรียกตัวกลับบ้าน แต่เขาไม่ยอมกลับ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย เช่นเดียวกับคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 นายมณี สาณะเสน นายเสนาะ ตันบุญยืน ฯลฯ หาทางปลดแอกไทยจากญี่ปุ่น

เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยเจรจากับสหรัฐฯให้รับรองเสรีไทยสำเร็จ

อังกฤษลังเลที่จะรับรองเสรีไทย แต่เมื่อเห็นคนไทยกลุ่มนี้สู้แน่ จึงรับรองอย่างไม่เป็นทางการ มีสำนักงานที่ลอนดอน รับสมัครเข้าเป็นทหาร สมัครกันราวห้าสิบคน

เข้ม เย็นยิ่ง และคนไทยจำนวนหนึ่งสมัครเป็นทหาร ประจำการในหน่วย Pioneer Corps (หน่วยการโยธา) สวมเครื่องแบบทหารอังกฤษ

ทหารไทยราวห้าสิบคนถูกส่งไปประจำหน่วยการโยธาเหมือนลองใจ วัดความอดทน เพราะเป็นหน่วยไม่มีเกียรติ ทหารหน่วยนี้ทำงานที่ไม่มีใครอยากทำ เช่น ขุดมันฝรั่ง ล้างส้วม ทำความสะอาดโรงอาหาร เฝ้ายาม

ทำงานจนถึงกลางเดือนมกราคม 2486 พวกเขาก็โดยสารเรือไปอินเดีย บอมเบย์ แล้วแยกย้ายกันไปประจำที่ต่างๆ บางคนไปทำงานด้านวิทยุกระจายเสียง บางคนทำแผนที่

เข้ม เย็นยิ่ง ถูกส่งไปฝึกการรบกองโจรที่เมืองปูนา เรียกกลุ่มของเขาว่าช้างเผือก (White Elephants)

ระหว่างนั้น เข้ม เย็นยิ่ง ได้ข่าวว่า ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนเดินทางไปจุงกิงเพื่อพบ กำจัด พลางกูร ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทยังได้ถือหนังสือจากกองทัพอังกฤษถึงรูธ หัวหน้าเสรีไทยในเมืองไทย ปรีดี พนมยงค์ ให้ต้อนรับพวกช้างเผือกที่จะลอบเดินทางเข้าไปปฏิบัติการในไทย

เดือนกันยายน พ.ศ. 2486 เข้ม เย็นยิ่ง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าเป็นหนึ่งในทีม หน่วยของเขาเรียกว่า Pritchard ประกอบด้วยนายประทาน เปรมกมล เป็นนักวิทยุ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ และ เข้ม เย็นยิ่ง ยังมีทหารอังกฤษสองนายกับสิบเอกอีกหนึ่งคน ไปส่งพวกเขาขึ้นบก

พวกเขาเดินทางด้วยเรือดำน้ำ ขึ้นบกที่ฝั่งตะวันตกของไทย ในเดือนธันวาคม 2486 พร้อมเครื่องรับส่งวิทยุ เพื่อตั้งสถานีติดต่อระหว่างประเทศไทยกับฐานทัพอังกฤษที่อินเดียเป็นประจำ

เดินทางราวหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างเดินทาง บางครั้งอยู่ใต้เรือใหญ่ ไม่รู้ว่าเป็นเรือชาติใด ต้องรักษาความเงียบที่สุด

เมื่อถึงฝั่ง ทหารอังกฤษไปสอดแนม พบว่าไม่มีใครมารับตามนัด ก็กลับไปอินเดีย

เดือนกุมภาพันธ์ 2487 ทหารไทยถูกส่งไปฝึกกระโดดร่มชูชีพที่เมืองราวัลพินดี

.………………..

ครั้นถึงเดือนมีนาคม 2487 เข้ม เย็นยิ่ง และ เสรีไทยอีกสองคน ชื่อแดง และดี ก็เข้าไทย นั่งเครื่องบินลิเบอเรเตอร์ไปที่จุดหมาย ถึงภาคเหนือของไทย เป็นคืนแรม เครื่องบินวนหลายรอบ เห็นแสงไฟบนพื้นดิน

เข้ม เย็นยิ่ง กระโดดร่มลงถึงดิน เท้าข้างหนึ่งลงบนคันนา อีกข้างนอกคันนา ทำให้ข้อเท้าแพลง

ทั้งสามดูแผนที่ พบว่าจุดนั้นคือนอกหมู่บ้านวังน้ำขาว ในเขตจังหวัดชัยนาท ห่างจากจุดหมาย 25-30 กิโลเมตร

เป็นเวลาตีสี่ ทั้งสามก็เดินทางไป ระหว่างพบชาวนาห้าหกคน พวกเขาขุดหลุมฝังซ่อนเครื่องวิทยุและของที่ไม่จำเป็น

พวกเขาพยายามติดต่อกองบัญชาการที่อินเดีย แต่ไม่สำเร็จ

ผ่านไปสามวันก็ถูกชาวบ้านยกกำลังมาล้อม จำนวนสามสิบกว่าคน ส่วนมากเป็นชาวนา รวมทั้งตำรวจในเครื่องแบบ เข้ม เย็นยิ่ง เป็นคนเดียวที่ถูกจับ เพื่อนอีกสองคนซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ใกล้เคียง

เขารู้สึกสับสน คิดถึงจดหมายในกระเป๋าที่จะส่งถึงรูธ และยาพิษในกระเป๋าหน้าอก

เข้มถูกทำร้ายและด่าทอ ชาวบ้านกล่าวหาว่าเขากระทำจารกรรมและทรยศต่อชาติ เขาถูกจับตัวไปส่งที่ศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ ถูกมัดและล่ามโซ่ที่เท้ากับเสา

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกับตำรวจที่จับเขามีสองความเห็น ฝ่ายหนึ่งว่าเขาทรยศชาติ อีกฝ่ายว่าไม่ใช่ เขาถูกพาตัวไปที่ตัวเมืองชัยนาท ตลอดทางมีคนมาห้อมล้อม บางคนช่วยเหลือเขา เอาอาหารให้กิน เขาถูกพาไปที่จวนข้าหลวง ถูกสอบสวน แล้วนำไปขังที่สถานีตำรวจ

วันรุ่งขึ้นถูกย้ายที่เรือนจำชัยนาท อยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์ วันหนึ่งถูกพาไปที่สถานีตำรวจ แล้วส่งขึ้นเรือยนต์ไปกรุงเทพฯ

เมื่อถึงถูกพาไปที่กองตำรวจสันติบาล พบนักโทษสงครามอีกหลายคน รวมทั้งแดงกับดีที่ถูกจับทีหลัง

พวกเขาถูกย้ายไปที่บ้านพักของตำรวจบริเวณนั้น แล้วพบว่ามีตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็นเสรีไทยคอยช่วยเหลือ

ในที่สุด เข้ม เย็นยิ่ง ได้พบกับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อความจริงปรากฏ ฝ่ายเสรีไทยก็ติดต่อทางวิทยุกับกองทัพอังกฤษที่อินเดีย และปฏิบัติการของทหารอังกฤษและสหรัฐฯในประเทศไทยก็ดำเนินไปโดยมีเสรีไทยช่วยเหลือจนจบสงคราม

นั่นคือบทบาทของ เข้ม เย็นยิ่ง ในสถานะ ‘ทหารชั่วคราว’

บทบาทหลังสงครามคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร.ต. เข้ม เย็นยิ่ง ก็คือรหัสนามของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ชิงเมืองไทยคืนได้ในที่สุด

.………………..


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #18 on: 21 December 2021, 15:58:38 »


กล่องขนมเปล่า


ไม่มีผู้นำคนใดประสบความสำเร็จโดยปราศจากกุนซือชั้นยอด

แต่ซุนฮกเป็นกุนซือชั้นยอดกว่าชั้นยอด เขามิเพียงอ่านใจนายออก และอ่านสถานการณ์ออกทะลุปรุโปร่ง ยังกล้าขัดขวางเจ้านายเมื่อหลงทางด้วยชีวิตตนเอง


ในปี พ.ศ. 755 โจโฉคิดตั้งตนเป็นวุยก๋ง ซุนฮกเป็นที่ปรึกษาคนเดียวที่กล้าคัดค้าน กล่าวว่าไม่สมควร เห็นว่าการตั้งตนเป็นวุยก๋งเป็นเรื่องจาบจ้วง ใหญ่เกินตัว และลบหลู่ราชวงศ์ฮั่น

ซุนฮกมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็นว่าในสายตาของชาวราษฎร์ การตั้งตนเองเป็นวุยก๋งทำให้เกิดภาพว่าโจโฉกำลังคิดจะสถาปนาราชวงศ์ใหม่ มิเพียงจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากราษฎร และทำให้ขุนศึกอื่นๆ คิดการใหญ่เช่นเดียวกัน ในระยะยาวอาจเสียมากกว่าได้ มิสู้อิงกับราชวงศ์ฮั่น กำฮ่องเต้ในมือเงียบๆ

ซุนฮกกล่าวว่า ท่านมหาอุปราชสร้างแสนยานุภาพกองทัพโดยอ้างว่ากำลังปกป้องพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ เพื่อให้แผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข ต่อให้มีความดีความชอบเพียงใด ก็ยังต้องคำนึงประเพณีข้ากับเจ้า

ซุนฮกเป็นที่ปรึกษาชาญฉลาดและอุปนิสัยดี สุภาพ มัธยัสถ์ ไม่ได้รับราชการเพื่อหวังผลประโยชน์ ให้คำปรึกษาตรงไปตรงมา แต่ครั้งนี้โจโฉไม่พอใจ

เจ้านายไม่ต้องการได้ยินความเห็นแบบนี้

.………………..

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เกิดรัฐประหารครั้งพิเศษในเมืองไทย ผู้ก่อการยึดอำนาจคือจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อรัฐประหาร โค่นอำนาจตัวเอง

เวลานั้นจอมพลถนอมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคสหประชาไทย

แต่หัวหน้าไม่สามารถคุมลูกพรรคได้ ส.ส. สังกัดพรรคสหประชาไทยส่วนหนึ่งเรียกร้องผลประโยชน์ และขู่ว่าจะลาออก ถ้าไม่ได้รับสิ่งที่เรียกร้อง

จอมพลถนอม กิตติขจร แก้ปัญหาโดยการยึดอำนาจ ล้มสภาฯ

ข้ออ้างในการยึดอำนาจตัวเองคือ เพราะกำลังมีภัยคุกคามประเทศและราชบัลลังก์ เพราะมีความวุ่นวาย เช่น กรรมกรนัดหยุดงาน นักศึกษาเดินขบวน การแก้ปัญหาด้วยสภาไม่ทันการ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครอง แล้วฉีกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่

ผลจากการปฏิวัติ ส.ส. หนุ่มพรรคประชาธิปัตย์สองคนคือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส. จังหวัดชลบุรี และนายบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส. จังหวัดชัยภูมิ รวมกับนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก ไม่สังกัดพรรค หาญกล้าท้าทายฟ้า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีกับคณะปฏิวัติ ข้อหากบฏต่อแผ่นดิน

ผลที่ตามมาคือทั้งสามเข้าคุกคนละสิบปี

ไม่นานต่อมา ปรากฏใครคนหนึ่งชื่อ เข้ม เย็นยิ่ง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ตีพิมพ์ในนิตยสารชาวบ้านกุมภาพันธ์ 2515

ไม่ได้เอ่ยชื่อจอมพลถนอม กิตติขจร หากใช้ชื่อนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ เขียนไว้ดังนี้

.………………..

เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว

สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะ ได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้านเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่าและทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกกันก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ - ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม - และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่

เมื่อกติกาหมู่บ้านถือ กำเนิดมาแล้วก็ดี และเมื่อได้มีสมัชชาหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ดี ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่ากติกาทุกข้อถูกใจผม และไม่แน่ใจว่าสมาชิกของสมัชชาทุกคนเป็นคนดี แต่ผมก็ยังนิยมยินดีในท่านผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้องที่ได้อุตสาหะสร้างสรรค์ให้มีกติกาดีกว่าไม่มี และให้มีสมัชชาดีกว่าไม่มี

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้านและเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุกับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง

เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่า เป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญและทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆ ที่ร้ายอยู่นั้นจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่างที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา เป็นต้น ผมสังเกตเรื่องจากที่ห่างไกลแล้วก็ยังไม่พอ ยังไม่แน่ใจ เมื่อมีโอกาสผมก็มาแวะที่บ้านไทยเจริญสองครั้งเพื่อดูด้วยตาและฟังด้วยหู ผลลัพธ์ยังยืนยันตามความเห็นเดิมนั่นเอง เพราะปัญหาความสงบเรียบร้อยก็ดี ภัยจากภายนอกหมู่บ้านก็ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ปัญหาเยาวชนก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้ทั้งสิ้นถ้าได้ทำกันจริงจัง โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาเสียให้เลือกกันมาใหม่ก็ทำได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชนและในฐานส่วนรวมด้วย

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆ ไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆคือไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่าผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิดหาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลงๆ ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบันทึกมา ก็หาได้ที่ประสงค์จะกล่าวแย้งพี่ทำนุเป็นสำคัญไม่ ผมใคร่จะเรียนเสนอข้อที่พี่ทำนุกับผมเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือเราจะพัฒนาบ้านไทยให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

การพัฒนานั้นต้องพิจารณาให้สมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะเกิดประโยชน์จริงจัง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านศีลธรรม ด้านปัญญาและการศึกษาและด้านการปกครองเป็นอาทิ

ในด้านการปกครอง ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมากว่ายี่สิบปี ผมได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม (ฝ่ายแดงจำกัดเสรีประชาธรรม เราเคยอ้างอยู่เสมอซึ่งก็เป็นความจริง) จึงได้อุตส่าห์ใช้เวลา ความพินิจพิจารณา สมอง และเงินทองของหมู่บ้านร่วมสิบปี ทำกติกาของหมู่บ้านขึ้นมา ที่พี่ทำนุ (และคณะ) นิยมหลักประชาธรรมเสรีนั้น ผมก็นิยมด้วยอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านที่เจริญทั้งหลาย เขามักจะสนใจกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งหากเป็นพิษ ก็จะเป็นภัยแก่ภัยแก่มนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง เขาเกรงผลร้ายของวิทยาศาสตร์เมื่อเรานำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กลิ่นไอน้ำมันรถยนต์ ควันดำจากโรงงาน การใช้สารเคมีในทางที่เป็นพิษแก่ลุ่มน้ำและดินป่าฟ้าเขา เป็นต้น

สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญและการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว

ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช้สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ ปรปักษ์ของเราจะถือโอกาสเราหลับตาเมื่อใด เขาได้เปรียบเมื่อนั้น

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมากคือ พี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทะนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลานเป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุขเป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย

บางคนอาจจะตั้งปัญหาว่า เยาวชนทุกวันนี้ควรหรือที่จะส่งเสริมให้มีสิทธิและเสรีภาพตามกติกาหมู่บ้าน น่าสนับสนุนละหรือ ทุกวันนี้ความประพฤติของเยาวชนมักจะเลวทรามน่าหมั่นไส้ ผมเองก็หมั่นไส้อยู่หลายครั้งหลายหน แต่พี่ทำนุเองก็มอบหมายให้ผมเกลือกกลั้วมากับเยาวชนเป็นเวลาหลายปี เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้ เขาสงบเสงี่ยมเจียมตัว และคารวะพวกเรามากกว่า และผิดกับที่เห็นมาในหมู่บ้านอื่นๆ

ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม (ซึ่งก็ถูกต้องปรากฏในกติกาหมู่บ้านตลอดมาทุกกติกา) และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญตามกติกาของหมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ตาม เยาวชนของเราก็ยังตั้งอยู่ในความสงบ พยายามข่มความกลัวบ้างเมื่อพูดจาขอร้องแก่พวกเรา เพราะเขายังเชื่อในเจตนาอันดีของคนปูนเรา อย่างนี้จะไม่เอ็นดูจะไม่เมตตากรุณาและภาคภูมิใจในเยาวชนของเราได้อย่างไร

ด้วยเหตุผลนานาประการที่ผมได้เรียนมาข้างต้น และด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอนให้ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้า หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล

ด้วยความเคารพนับถือ

เข้ม เย็นยิ่ง

ไม่มีคำตอบจากผู้ใหญบ้าน

หนึ่งปีต่อมาผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 นำมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาใช้ เป็นมาตราเอนกประสงค์ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่เพื่อรักษา ‘ความมั่นคงของราชอาณาจักร’

สิบเดือนต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา นักศึกษาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วลามออกไปที่ถนนราชดำเนิน ประชาชนกว่าห้าแสนคนเข้าร่วมสำแดงพลัง เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รัฐบาลหมู่บ้านไทยเจริญสลายการชุมนุม และล้มไปในชั่วข้ามคืน ผู้ใหญ่บ้าน ทำนุ เกียรติก้อง ลี้ภัยในต่างประเทศ รัฐบาลใหม่ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ประชาชนต่างจากหลายภาคส่วน ไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง ใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ร่างรัฐธรรมนูญ จึงเรียกว่า สภาสนามม้า

ประเทศไทยได้รับรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ท้องฟ้าเป็นสีทองผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

.………………..

โจโฉตั้งตนเป็นวุยก๋งจนได้ โดยไม่สนใจคำเตือนของซุนฮกแต่ประการใด

ซุนฮกประท้วงเงียบๆ โดยแสร้งป่วยไม่ไปประชุมขุนนาง โจโฉจึงส่งกล่องขนมไปเยี่ยมไข้ ซุนฮกเปิดออกดูพบว่ากล่องนั้นว่างเปล่า

ซุนฮกเข้าใจทันทีว่าโจโฉไม่ต้องการตนเองอีกต่อไป เพราะเห็นว่าตนไร้ประโยชน์แล้วเช่นกล่องเปล่า จึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย

.………………..

ฟ้าสีทองผ่องอำไพไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อฝ่ายสูญเสียอำนาจขอ ‘เอาคืน’

ฟ้าสีทองกลายเป็นสีจริง สีแห่งความมืดหม่น

บางทีการเมืองไทยก็เป็นเช่นกล่องขนม นักการเมืองและผู้มีอำนาจสร้างภาพลวงตาให้ประชาชนเชื่อว่ามีขนมอร่อยภายในกล่อง ทว่ามันเป็นกล่องว่างเปล่าเสมอมา

.………………..


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #19 on: 21 December 2021, 16:00:35 »


คาร์บอมบ์


เมื่อตั๋งโต๊ะขึ้นครองอำนาจในเมืองหลวง ยึดฮ่องเต้เป็นหุ่นเชิดทางการเมือง อ้องอุ้นขุนนางผู้ใหญ่เชิญขุนนางที่ตนไว้ใจมาร่วมวางแผนโคนจอมทรราช แต่ขุนนางทั้งหลายกลับมารวมตัวกันร้องไห้

ทหารหนุ่มโจโฉที่ร่วมประชุมด้วยหัวเราะอย่างขบขัน บอกว่า "พวกท่านคิดสังหารตั๋งโต๊ะด้วยน้ำตาหรือ"

อ้องอุ้นถามว่า "แล้วท่านจะทำเช่นไร"

โจโฉจึงบอกว่าตนมีแผน ขออาสาตัดหัวตั๋งโต๊ะมาให้ เพราะตนทำงานใกล้ชิดตั๋งโต๊ะ สามารถเข้านอกออกในทำเนียบสมุหนายกได้ จึงมีโอกาสลอบฆ่า

อ้องอุ้นยินดียิ่ง คุกเข่าคำนับโจโฉ มอบกระบี่สั้นโบราณให้ทหารหนุ่มนำไปสังหารตั๋งโต๊ะ

โจโฉไปหาตั๋งโต๊ะที่ทำเนียบ แลเห็นตั๋งโต๊ะหันหลังอ่านหนังสืออยู่ จึงชักกระบี่สั้นหมายแทง แต่ภาพโจโฉปรากฏบนกระจกเงา ตั๋งโต๊ะจึงหันหน้ากลับมา เป็นเวลาเดียวกับที่ลิโป้เข้ามาในห้อง โจโฉตกใจ แต่ด้วยปฏิภาณ คุกเข่าลง ชูกระบี่ขึ้นยื่นให้ตั๋งโต๊ะ กล่าวว่ากระบี่โบราณเล่มนี้ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน ตนนำมาเพื่อทดแทนพระคุณ

ตั๋งโต๊ะไม่ทันคิดอะไร ก็รับกระบี่ไว้

โจโฉขอลา จากไปอย่างรีบเร่ง แล้วหนีิออกจากเมืองหลวงในวันนั้นเอง

ลิโป้เห็นตั๋งโต๊ะชื่นชมอาวุธโบราณ กล่าวว่า ท่านมิรู้หรือว่าโจโฉคิดฆ่าท่าน ลิยูกุนซือทราบเรื่อง เสนอให้ไปเฝ้าดูบ้านโจโฉ ถ้าโจโฉกลับบ้านเช่นปกติ ก็อาจไม่มีแผนร้าย แต่ถ้าไม่กลับบ้าน ก็ยืนยันว่าคิดการร้าย เมื่อนั้นก็ต้องกำจัดโจโฉเสีย

เมื่อพบว่าโจโฉหนีไปแล้ว ลิยูก็กล่าวว่าลำพังโจโฉไม่สามารถก่อการใหญ่เช่นนี้ ต้องมีผู้สมรู้ร่วมคิดหลายคน ต้องจับโจโฉมาให้ได้ เพื่อเค้นความจริง

ตั๋งโต๊ะสั่งให้เขียนรูปโจโฉ ทำประกาศจับโจโฉ มอบรางวัลแก่ผู้ให้เบาะแสและหรือจับตัวได้ ให้เป็นขุนนาง ทองคำสิบชั่ง และสิทธิเก็บส่วยหนึ่งหมื่นครัวเรือน

จนถึงวันสุดท้ายของอำนาจ ตั๋งโต๊ะก็ไม่เคยจับโจโฉได้

.………………..

ช่วงเช้าวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 การจราจรที่แยกบางพลัดเป็นอัมพาต ตำรวจปิดการจราจรถนนราชวิถีฝั่งขาเข้า สะพานกรุงธนฯ บริเวณรอบสี่แยกบางพลัด ไม่ให้รถผ่านโดยเด็ดขาด

เช้านั้นทีมงานหน่วยอรินทราช 26 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประจำการหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด สังเกตเห็นรถยนต์แดวู รุ่นเอสเปอโรสีบรอนซ์คันหนึ่งแล่นผ่านหน้าบ้านสองรอบ จึงแจ้งให้หน่วยจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็วตามไปทันที สกัดไว้ได้ที่เชิงสะพานลอยข้ามสี่แยกบางพลัด

เป็นรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฐฉ-3085 คนขับสวมเสื้อซาฟารีสีน้ำเงิน

ตำรวจเชิญคนขับลงมาตรวจค้น ขณะที่ทีมรักษาความปลอดภัยของนายกฯมาถึง ตำรวจตรวจค้นภายในรถ ที่เบาะนั่งพบถังน้ำมันเครื่องสิบกว่าใบ ในกระโปรงท้ายรถมีถุงทรายจำนวนมาก ตำรวจคนหนึ่งสังเกตเห็นวัตถุลักษณะเป็นแท่งสองแท่ง มีสายไฟโยงติดกัน

ทีมรักษาความปลอดภัยเห็นเข้าก็ร้องลั่น “ระเบิด!” ทุกคนในจุดนั้นวิ่งหนีเข้าหาที่ปลอดภัย

ตำรวจคุมตัวคนขับรถไปสอบปากคำที่กองปราบ ทราบชื่อภายหลังว่าคือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อายุ 43 ปี สังกัดกองบัญชาการกองทัพบก ช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กองบัญชาการทหารสูงสุด

หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กองพลาธิการตำรวจ เดินทางถึงจุดเกิดเหตุ เก็บกู้ระเบิดนานห้าชั่วโมง เป็นระเบิดซีโฟร์หนัก 3.5 ปอนด์ มีปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทที่ผสมกับน้ำมันดีเซลเรียบร้อยแล้ว เป็นระเบิดที่นิยมใช้ในการวางระเบิดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระเบิดปริมาณนี้รุนแรงมีรัศมีทำลายหนึ่งกิโลเมตร หากเกิดระเบิด บ้านเรือนแถบบางพลัดจะพินาศ

เนื่องจากตำแหน่งคาร์บอมบ์อยู่ห่างจากบ้านนายกรัฐมนตรีไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร และอยู่บนเส้นทางที่ผู้นำประเทศผ่าน ตำรวจสันนิษฐานทันทีว่าเป็นการลอบสังหารผู้นำประเทศ

ทักษิณ ชินวัตร

.………………..

เวลานั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วห้าปี ในห้วงเวลานั้น กระแสเคลื่อนไหวล้มทักษิณดำเนินไปอย่างดุเดือด

ก่อนหน้าเหตุการณ์คาร์บอมบ์ ในวันที่ 3 มีนาคม 2544 นายกรัฐมนตรีโดยสารเครื่องบินการบินไทยไปเชียงใหม่จากสนามบินดอนเมือง เกิดเหตุระเบิดไฟท่วมเครื่องบินเสียหายทั้งลำ

อีกครั้งหนึ่งคือการจับชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งพร้อมและอาวุธสงคราม เช่น จรวดอาร์พีจี ผู้ต้องหาสารภาพว่าวางแผนลอบสังหาร พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

เหตุเหล่านี้ชี้ว่าเป็นความพยายามลอบสังหารผู้นำอย่างต่อเนื่อง

ในวันเกิดเหตุคาร์บอมบ์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เซ็นคำสั่งปลดฟ้าผ่า พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี รอง ผอ.กอ.รมน. ทันที เหตุผลหนึ่งเพราะ ร.ท. ธวัชชัย เคยเป็นคนขับรถของ พล.อ. พัลลภมาก่อน

ตำรวจแถลงข่าวสื่อมวลชน เผยภาพวิดีทัศน์บันทึกการสอบปากคำ ร.ท. ธวัชชัย ร.ท. ธวัชชัยยอมรับว่าเป็นคนขับรถคันนั้นจริง
แต่มันไม่ใช่ครั้งแรก มีความพยายามก่อเหตุในวันที่ 22 และ 23 สิงหาคม และก่อนหน้านั้นอีกสองครั้งในวันที่ 9-10 สิงหาคม ที่สนามบิน บน.6 กองทัพอากาศ

พล.อ. พัลลภบอกนักข่าวว่า “ผมเป็นหัวหน้าชุดล่าสังหารมา เป็นหัวหน้ากองโจร ถ้าผมจะทำท่านนายกฯหรือ ผมรับรองว่าหนีไม่พ้นผมหรอก...”

ตำรวจตามรอยมือระเบิดไปจนพบร่องรอย จ.ส.อ. ชาคริต จันทระ หรือจ่ายักษ์ ผู้ร่วมขบวนการ และนายทหารระดับสูงอีกสามคน

วันที่ 6 กันยายน จ่ายักษ์เข้ามอบตัวที่กองปราบปราม ตามด้วย พล.ต. ไพโรจน์ ธีรภาพ และ พ.อ. สุรพล สุประดิษฐ์ หรือเสธ.ตี๋ นายทหารแผนกการเงิน กอ.รมน. ทั้งสามถูกแจ้งข้อหาลอบสังหาร

ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยห้าราย คือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ นายทหารสารบรรณที่รับผิดชอบงานในภาคใต้ พ.ท. มนัส พ.อ. สุรพล นายทหารรักษาความปลอดภัยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พล.ต. ไพโรจน์ ธีรภาพ และจ่ายักษ์ มีเพียงจ่ายักษ์คนเดียวที่ให้การสารภาพ

จ่ายักษ์ให้การว่า มีคนร่วมงานลอบสังหารอย่างน้อยแปดคน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เสธ.ตี๋ ผู้บังคับบัญชาของตนได้เรียกให้ไปพบที่สำนักงาน กอ.รมน. สวนรื่นฤดี บอกว่า ‘นายใหญ่’ ต้องการให้ฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะทำให้ประเทศชาติเสียหาย

จ่ายักษ์ให้การว่า นายใหญ่ก็คือ ‘พล.อ. พ.’ สั่งให้ใช้ระเบิด เพราะได้ระเบิดกว่า 20 กิโลกรัมที่ยึดมาได้จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนพยายามทักท้วง เพราะการใช้ระเบิดมากอาจจะทำให้ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เบื้องบนยืนยัน เพราะต้องกำจัดระบอบทักษิณให้ได้

ผู้ก่อการซื้อรถยนต์แดวูจากเต๊นท์ขายรถยนต์มือสองที่ซอยอินทามระ 38 ในราคาสามหมื่นบาท นำไปเปลี่ยนสี และส่งไปบรรจุระเบิด

จ่ายักษ์ให้การว่า ตนได้รับคำสั่งให้เป็นคนชี้เป้าให้ ร.ท. ธวัชชัย ผู้ขับรถขนระเบิด นอกจากนี้ยังมีทีมสำรองพร้อมอาวุธสงคราม ในรถปิกอัพ นิสสัน ฟรอนเทียร์ สีบรอนซ์ทอง ไว้คอยถล่มซ้ำ ในกรณีที่การวางระเบิดพลาด

ปฏิบัติการเกิดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ผู้ก่อการขับรถยนต์แดวูบรรทุกระเบิดไปจอดที่บริเวณท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน. 6) ตามกำหนด นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่นั่น แต่สารวัตรทหารอากาศคนหนึ่งไม่อนุญาตให้จอด แผนการจึงเลื่อนออกไป

วันรุ่งขึ้นผู้ก่อการขับรถไปที่ บน. 6 อีกครั้ง เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณจะบินไปราชการที่ประเทศกัมพูชา แต่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ปฏิบัติการยกเลิก และตัดสินใจเปลี่ยนเป็นที่บริเวณเส้นทางระหว่างบ้านจันทร์ส่องหล้ากับทำเนียบรัฐบาล ลงมือในวันที่ 24 สิงหาคม ในวันนั้นจ่ายักษ์ไม่ได้ไปด้วย ตามแผน ร.ท. ธวัชชัยเป็นผู้ขับรถยนต์ไปจอดใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด พ.ท. มนัสซึ่งยืนอยู่บริเวณนั้นจะเป็นผู้กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด

พล.อ. พัลลภบอกนักข่าวว่า “จ่ายักษ์ติ๊งต๊อง ชอบทำตัวเป็นผู้ร้ายในหนังฝรั่ง...”

น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง กล่าวว่า การรีบปลด พล.อ. พัลลภ โดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบทำให้เรื่องนี้ดูมีเงื่อนงำ ตนจึงเชื่อว่าเป็นการจัดฉาก สร้างข่าวหวังกลบกระแสตกต่ำของนายกรัฐมนตรี

ตรงกับผลสำรวจคนกรุงเกือบครึ่งที่เชื่อว่าเป็นการสร้างเรื่อง

คนตรงข้ามทักษิณบอกว่า มันเป็นการจัดฉากเพื่อเรียกคะแนนสงสาร ให้ฉายาเหตุการณ์นี้ว่า คาร์บ๊อง

หลังจากเหตุการณ์พบระเบิดในรถไม่ถึงเดือน ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

คดีสะดุดลงทันที เพราะต้องรอดูท่าทีของผู้ใหญ่ และผู้บัญชาการสำนักตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มก่อการรัฐประหาร

.………………..

สองปีต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีข่าวว่าปืนซุ่มยิงระยะไกลอานุภาพสูงจำนวนสามกระบอกหายไปจากคลังอาวุธของหน่วยทหารบกหน่วยหนึ่ง

มันเป็นปืนสไนเปอร์ยี่ห้อ SIG 3000 ขนาด 7.62 มม. ยิงได้ไกลถึงสองกิโลเมตร ระยะยิงหวังผล 600 เมตร ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออกแบบมาให้สามารถถอดแยกส่วนได้เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และทำงานในพื้นที่ต่างๆ ลำกล้องปืนผลิตด้วยกรรมวิธีการหลอมแบบ cold hammer forged ไกปืนทำงานได้ทั้งแบบซิงเกิล แอ็คชัน และดับเบิล แอ็คชัน เป็นปืนยาวซุ่มยิงที่ใช้แพร่หลายในหน่วยงานตำรวจในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทย ใช้ในวงการทหารและตำรวจเท่านั้น

ข่าวลือไปทั่วว่า มันเป็นปืนชนิดเดียวที่สามารถลอบสังหารผู้นำประเทศและบุคคลในระดับสูงได้ดีกว่าคาร์บอมบ์

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เป็นความจริง ส่วนจะเป็นการสร้างข่าวเพื่อเหตุผลใดก็ตามหรือไม่ ไม่ขอแสดงความเห็น

กระนั้นด้วยประสิทธิภาพของปืนที่เหมาะกับการลอบสังหารชนิดนี้แล้ว หลายคนก็หายใจไม่สะดวกนัก เพราะตั้งแต่ 1,800 ปีก่อน เครื่องมือสู่อำนาจทางการเมืองมักรวมการลอบสังหารผู้นำ

การลอบสังหารตั๋งโต๊ะโดยโจโฉล้มเหลวเฉียดฉิว

ส่วนเหตุการณ์คาร์บอมบ์นั้นเป็นการลอบสังหารหรือการสร้างข่าว สำหรับประชาชนยังคงดำรงเป็นความลับต่อไป

.………………..

หมายเหตุ สามผู้ต้องหาที่ขึ้นศาลทหารกรุงเทพฯได้แก่ จำเลยที่ 1 ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ จำเลยที่ 2 พ.อ. มนัส สุขประเสริฐ จำเลยที่ 3 พ.อ. สุรพล สุประดิษฐ์

ศาลทหารกรุงเทพฯตัดสินว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดในข้อหาร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งร่วมกันเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด เข้าไปในเขตเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 คือ ร.ท. ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ให้การเป็นประโยชน์ จึงให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท

ส่วนข้อหาพยายามฆ่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั้น ยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ จึงยกฟ้องในข้อหานี้

.………………..


-----------------------------------------------


น้ำตาจิ้งจอกชรา


สุมาอี้เป็นชาวเมืองโห้ลาย มณฑลเหอหนาน ฉลาดแหลมคม รู้ตำราพิชัยสงครามอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง แต่ที่สำคัญกว่าภูมิปัญญาคือความเลือดเย็น สุขุมลุ่มลึก เด็ดขาด มั่นคง เป็นจิ้งจอกแห่งจิ้งจอก

สุมาอี้เริ่มรับราชการตำแหน่งเล็ก ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นแม่ทัพ แต่โจโฉมองสุมาอี้อย่างระแวดระวังเสมอ และเตือนบุตรชายให้ระวังบุรุษผู้นี้

สุมาอี้รับราชการในยุคของโจโฉและโจผี จนเมื่อโจยอยขึ้นครองราชย์ สุมาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ของวุยก๊ก สุมาอี้ก้าวขึ้นและลงจากอำนาจในกองทัพหลายครั้ง ครั้งหนึ่งถูกขงเบ้งใส่ความจนถูกปลด แต่ก็คืนสู่อำนาจอีก เมื่อวุยก๊กไม่มีคนเก่งพอสู้รบกับขงเบ้ง

สุมาอี้มีอำนาจควบคุมทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน บุตรชายของเขาก็เป็นใหญ่ในกองทัพ

เมื่อสิ้นพระเจ้าโจยอย พระเจ้าโจฮองขึ้นครองราชย์ สุมาอี้ก็ถูกปลดจากอำนาจอีกครั้ง ด้วยฝีมือการยุยงของแม่ทัพโจซอง

ในวัย 61 สุมาอี้ก้าวลงจากอำนาจอย่างเงียบๆ ทั้งที่รับใช้ตระกูลโจมาเนิ่นนาน เก็บความขมขื่นและน้ำตาไว้ภายใน เขารู้ว่าตนตกอยู่ใต้การเฝ้ามองของโจซองตลอดเวลา จึงแกล้งป่วยเลอะเลือนเหมือนคนแก่สิ้นฤทธิ์ จนโจซองตายใจ

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา...

และวันหนึ่งเมื่อขุมกำลังของโจซองเผลอ สุมาอี้ในวัย 70 ก็ยึดอำนาจในเมืองหลวง ฆ่าโจซองและพวกอย่างถอนรากถอนโคน ตระกูลสุมากุมอำนาจทั้งปวง และเมื่อถึงยุคสุมาเอี๋ยน หลานของสุมาอี้ ก็ได้รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง เป็นปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์จิ้น

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา มันเปลี่ยนเป็นเลือดของศัตรู

.………………..

นักการเมืองนาม สมัคร สุนทรเวช ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกของการชิงอำนาจจนเป็นจิ้งจอกการเมือง แต่เขาไม่เคยคิดว่าในช่วงปลายของชีวิตของเขา จะยังมีบทบาททางการเมือง และก้าวถึงขั้นผู้นำประเทศ

ในวัย 73 เขาเกษียณจากการเมืองแล้ว หลังจากยุติบทบาทผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2547 แล้วได้รับการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกกรุงเทพฯสองปีต่อมา

มันเริ่มที่วันหนึ่งเขาได้รับข้อเสนอจาก อดีตนายกฯจากแดนไกล ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ‘นอมินี’

เมื่อได้รับทาบทามให้เป็นนายกฯนอมินีนั้น นายสมัครรับปากจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวคือต้องไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทักษิณรับปาก (นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เล่าผ่านรายการ ฮอตนิวส์ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที)

เขาดำรงตำแหน่งนายกฯไม่ถึงหนึ่งปี ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐนตรี เพราะมีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจัดรายการชิมไปบ่นไป

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 กันยายน 2551 ทักษิณ ชินวัตร โทรศัพท์หานายเนวิน ชิดชอบ ขอให้แจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนว่าให้สนับสนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง

ตอนแรกสมัครปฏิเสธ ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เมื่อได้รับการขอร้องหนึ่งคืนก่อนการโหวตเลือกนายกฯเขาก็ตกลง

เช้าวันที่ 12 กันยายน 2551 ทักษิณโทรศัพท์ไปยืนยันกับนายเนวินให้เลือก สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

นายสมัครเดินทางไปถึงสภาฯแต่เช้า แล้วนั่งรอสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลในห้องรับรอง

ครั้นถึงเวลาประชุม นายสมัครพบเห็นแต่ ส.ส. พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคประชาธิปัตย์มาประชุม แต่ไร้เงาของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ

สมัคร สุนทรเวช ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนั้น

เวลา 10.15 น. นายสมัครเดินกลับไปขึ้นรถคนเดียว

ภาพชายวัย 73 ปี กลับบ้านเงียบๆ อย่างหงอยเหงา เดียวดาย และปวดร้าว เป็นภาพสุดท้ายที่คนไทยเห็นนักการเมืองผู้นี้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ก่อนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ

ความจริงเผยภายหลังว่า มีคนใกล้ชิดของทักษิณประสานกับพรรคที่เหลือว่า ไม่ต้องไปสภาฯในวันที่ 12 กันยายน 2551 เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ และเพื่อให้สามารถเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณเป็นนายกฯ

เขาบินไปรักษาตัวที่สถาบันมะเร็งฮุสตัน สหรัฐอเมริกา

คนรอบตัวจิ้งจอกชราเชื่อว่า หัวใจสลายน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง

สมัคร สุนทรเวช รู้สึกเหมือนถูกแทงข้างหลัง

แต่เรื่องที่ทำให้สมัครเสียใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ตลอดปีที่ป่วยหนัก ไม่มีเสียงถามไถ่ทุกข์สุขจากคนแดนไกลเลยสักครั้งเดียว

คำแสดงความเสียใจเกิดขึ้นเมื่อเขาจากไปในเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

.………………..

สุมาอี้เสียชีวิตเมื่ออายุ 73 ด้วยโรคชรา

สมัคร สุนทรเวช เสียชีวิตเมื่ออายุ 74 ด้วยโรคมะเร็งตับ

จิ้งจอกชราไม่มีน้ำตา มันกลายเป็นเลือดไหลภายใน

และประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็บันทึกว่า วันที่ 12 กันยายน 2551 เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองอีกครั้ง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับ สมัคร สุนทรเวช ทำให้ เนวิน ชิดชอบ ตัดสินใจเปลี่ยนขั้ว หันไปสนับสนุน ‘ศัตรูทางการเมือง’ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

.………………..


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #20 on: 21 December 2021, 16:02:23 »


เมล็ดข้าวสงคราม


กองทัพเดินด้วยท้อง สงครามเคลื่อนด้วยเมล็ดข้าว

ครั้งที่วุยก๊กกำลังซ่องสุมกำลังคนเพื่อสงครามกับจ๊กก๊กและง่อก๊ก การทำสงครามหมายถึงความจำเป็นต้องเก็บตุนเสบียงข้าวมากพอ สุมาอี้ส่งบุคคลผู้หนึ่งไปสำรวจพื้นที่ทางตะวันออกเพื่อหาแหล่งเพาะปลูกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เหมาะสม

บุคคลผู้นี้มีนามว่าเตงงาย

เตงงายเป็นลูกชาวนา พ่อตายแต่เล็ก ตั้งแต่เด็กมีหน้าที่เลี้ยงโค

เตงงายได้เป็นนักวิชาการ อาการติดอ่างทำให้ชีวิตข้าราชการไม่ก้าวหน้านัก เขาจึงไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตร ดูแลข้าวและฟาง

ช่วงปี พ.ศ. 778-782 เขาถูกส่งไปทำงานที่เมืองหลวง ลกเอี๋ยง และพบสุมาอี้โดยบังเอิญ เห็นแววพิเศษของเตงงาย จึงตั้งให้เป็นอาลักษณ์

ต่อมาเมื่อสุมาอี้คิดทำศึก และวางแผนเรื่องการสะสมเสบียง ก็ส่งเตงงายไปสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่ดีที่สุด

เตงงายพบว่าแผ่นดินตะวันออกที่สำรวจมีดินดี แต่ขาดน้ำ จึงเสนอความคิดขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้าไป ขณะเดียวกันคลองต่างๆ จะใช้ในการลำเลียงข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ไปใช้ในการทำสงคราม

เตงงายเขียนรายงานถึงสุมาอี้เป็นข้อเขียนชื่อ จี้เหอหลุน (濟河論 - ถกแม่น้ำ)

“แผ่นดินทางใต้ของแม่น้ำฮวยยังเสียหายจากสงคราม ทุกครั้งที่เกิดสงครามทางใต้ กำลังคนครึ่งหนึ่งถูกใช้ขนส่งสิ่งของและเสบียง แผ่นดินระหว่างเขตเฉินและไคนั้นอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเราสามารถลดจำนวนพื้นที่ทำนาแถบเขตฉี และปล่อยทางน้ำไหลไปทางตะวันออกไปยังเขตเฉินและไค ขณะเดียวกันเรามีกองทัพสองหมื่นคนประจำการทางเหนือของแม่น้ำฮวย และสามหมื่นคนทางตอนใต้ มีทหารสี่หมื่นคนประจำการและทำนาในเวลาเดียวกัน ในเวลาที่สภาพดินฟ้าอากาศดี จะได้ผลผลิตข้าวสามเท่าของที่ได้จากแผ่นดินตะวันตก หลังจากหักข้าวให้ราษฎรและทหารแล้ว เรายังมีข้าวเหลือห้าล้านหู*สำหรับใช้ในกองทัพ (*หูเป็นมาตราวัด 1 หู = 51.7 ลิตร) ภายในหกถึงเจ็ดปี เราจะสะสมข้าวได้ถึงสามสิบล้านหูทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวย ข้าวปริมาณนี้สามารถเลี้ยงคนสิบหมื่นคนนานสิบห้าปี ด้วยปริมาณเสบียงมากเช่นนี้ เราสามารถโจมตีง่อก๊ก และได้รับชัยชนะ”

(แม่น้ำฮวยตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำแยงซี ไหลจากตะวันตกไปตะวันออก)

สุมาอี้เห็นด้วยกับแผนการของเตงงาย

ใน พ.ศ. 784 โครงการเกษตรของเตงงายก็สำเร็จลุล่วง เมื่อเกิดสงครามทางตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวุยก๊กกับง่อก๊ก กองทัพฝ่ายวุยจะแล่นเรือไปตามลำน้ำไปสู้ศัตรูพร้อมเสบียงกรังมากมาย

โครงการข้าวที่เตงงายวางแผนประสบความสำเร็จใหญ่หลวง

โครงการข้าวทำให้เตงงายเริ่มก้าวขึ้นเป็นใหญ่ทางการเมือง

.………………..

หนึ่งพันแปดร้อยปีต่อมา โครงการข้าวก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเสนอนโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้ง

โครงการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุค แต่นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์แตกต่างจากโครงการก่อนๆ เพราะรับจำนำข้าวทั้งหมดโดยไม่มีโควตา รับประกันราคาตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึง 50%

ผลของโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาททำให้ราคาข้าวของประเทศไทยสูงกว่าคู่แข่งในตลาดโลกทันที ในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2555 ไทยส่งข้าวออกได้เพียง 3.45 ล้านตัน ลดลงจากเดิมราวครึ่งหนึ่ง และหลุดจากตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกในชั่วข้ามคืน

โครงการนี้กระตุ้นให้ชาวนาในประเทศปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอุปสงค์เทียมขึ้นในประเทศไทย ข้าวจึงล้นตลาดเกินความต้องการบริโภค ขณะเดียวกันก็ช่วยคู่แข่งข้าวของไทยคือเวียดนาม อินเดีย และอื่นๆ เพราะปริมาณข้าวที่ล้นตลาดแต่มีราคาสูง ทำให้คู่แข่งของไทยสามารถขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าของไทย

ก่อนโครงการจำนำข้าว ผลผลิตข้าวแต่ละปีคือ 27-28 ล้านตัน พอดีกับบริโภคในประเทศและส่งออก หลังเกิดโครงการรับจำนำข้าว ผลผลิตข้าวพุ่งขึ้นมาเป็น 38 ล้านตัน หลังสีเป็นข้าวสารเหลือ 24 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน ที่เหลือ 14 ล้านตันต้องส่งออกนอก แต่สถิติการส่งออกข้าวปีที่มากที่สุดของไทยคือ 10 ล้านตัน

ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน เมื่อข้าวมีมาก คนซื้อก็รอ ทั่วโลกรู้ว่าไทยมีข้าวเก็บไว้มากมาย จึงไม่รีบร้อนซื้อ เพราะรู้ว่าราคาข้าวจะตกลงมาเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาคือหายนะ รัฐไม่สามารถระบายข้าวออกได้ เมื่อสิ้นโครงการในปี 2557 ข้าวในสต็อกของรัฐสะสมสูงถึง 18 ล้านตัน

ดังนั้นแม้ขายได้หมด ก็ยังขาดทุน

ตัวเลขของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่าโครงการนี้มีผลขาดทุนไม่น้อยกว่าหกแสนล้านบาท

นอกจากการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวแล้ว โครงการนี้ยังเอื้อให้เกิดทุจริตทุกขั้นตอน เช่น การขอหนังสือรับรองมีการรับรองที่นาเกินความเป็นจริง ขึ้นทะเบียนเกษตรกรบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกรจริง นำข้าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โกงการชั่งน้ำหนัก โกงค่าความชื้น ทำให้รัฐเสียเงินเก็บรักษาข้าวนานขึ้น ไปจนถึงการนำข้าวเก่ามาขายเวียนเทียน

ในสต็อกข้าว 17.76 ล้านตันที่โกดังทั่วประเทศ มีข้าวดีตามมาตรฐานเพียง 2.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวผิดประเภท ผิดมาตรฐาน ข้าวเสื่อมคุณภาพ รวมทั้งข้าวเสียปะปนเข้าไป

มันเป็นโครงการเพื่อหวังผลทางประชานิยม

แต่เป็นการฆ่าตัวตาย

เมื่อข้าวมีมากเกินไป จึงเกิดโครงการขายรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ผู้รับผิดชอบคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นนักธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และหันเข้าหาการเมือง
เขาเป็นสมาชิกกลุ่มวังบัวบานที่มีความสนิทสนมกับแกนนำพรรคไทยรักไทย บุญทรงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย ขึ้นดำรงแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และหนึ่งปีต่อมา ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หน้าที่สำคัญคือดูแลนโยบายจำนำข้าว

โครงการขายข้าวจีทูจีทำสัญญาขายข้าวกับบริษัทของประเทศจีนจำนวนสี่สัญญา แต่กลับขายข้าวบางส่วนแก่พ่อค้าข้าวในเมืองไทย

ผลงานโครงการระบายข้าวจีทูจีกลายเป็นบ่วงรัดคอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดเขากับบุคคลกลุ่มหนึ่ง รวม 21 ราย กรณีการทุจริตต่อหน้าที่ในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความผิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ

ศาลพิพากษาจำคุก บุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 36 ปี อภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 48 ปี จำเลยที่เหลือต้องโทษจำคุกลดหลั่นลงตามความผิด และสั่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาท

วันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลพิพากษาจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา

.………………..

หนึ่งพันแปดร้อยปีก่อน ข้าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองและสงคราม เตงงายก้าวขึ้นสู่วงจรอำนาจ เพราะผลงานเรื่องข้าว และความรุ่งโรจน์เกินไปทำให้เขาถูกเบื้องบนกำจัดทิ้ง

หนึ่งพันแปดร้อยปีต่อมา ข้าวยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และผู้ที่ถูก ‘สังหาร’ ก็คือประชาชน ต้องแบกรับกรรมแห่งหนี้สินที่นักการเมืองก่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของนโยบายจำนำข้าว หายตัวไปจากประเทศไทยก่อนวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา

.………………..


-----------------------------------------------


ร้องไห้เพื่อชาติ


หลังศึกเซ็กเพ็ก เล่าปี่ครอบครองแผ่นดินเกงจิ๋ว โดย ‘ขอยืม’ จากซุนกวน

ผ่านไประยะหนึ่ง กังตั๋งก็ต้องการเกงจิ๋วคืน เริ่มต้นที่การขอคืนโดยวิถีทางการทูต
ซุนกวนส่งโลซกไปเจรจา

เมื่อโลซกแจ้งแก่เล่าปี่และขงเบ้งว่าจะขอเมืองคืน เล่าปี่ก็ร้องไห้ น้ำตาไหลพราก แล้วขอตัวไป โลซกตกใจ ถามขงเบ้งว่าทำไมเล่าปี่ร้องไห้

ขงเบ้งอธิบายต่อโลซกว่า เล่าปี่สัญญากับท่านซุนกวนจริง ว่า หากตีเสฉวนได้เมื่อใด จะคืนเกงจิ๋วให้ซุนกวนทันที แต่ก็ประสบปัญหาคือ เจ้าเมืองเสฉวนเล่าเจี้ยง เป็นคนแซ่เล่าเช่นเดียวกัน สืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเหมือนเล่าปี่ การชิงเมืองจากคนแซ่เดียวกันย่อมเป็นที่สาปแช่งประณามจากทุกฝ่าย แต่หากไม่ตีเสฉวน และต้องคืนเกงจิ๋วให้กังตั๋ง ราษฎรทั้งหลายก็ไร้ที่อยู่ เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหตุนี้เองเล่าปี่จึงร้องไห้ เพราะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

เล่าปี่กับขงเบ้งขอให้โลซกไปบอกซุนกวนว่า ขอผ่อนผันให้พวกเขาตั้งหลักที่เกงจิ๋วต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

ไม่ได้บอกว่า ‘ระยะหนึ่ง’ ยาวแค่ไหน

เมื่อโลซกทำการไม่สำเร็จ ซุนกวนก็ส่งจูกัดกิ๋นไปเจรจา จูกัดกิ๋นเป็นพี่ชายของขงเบ้ง เชื่อว่าน่าจะคุยกันง่ายขึ้น

จูกัดกิ๋นหลอกน้องชายว่า ซุนกวนโกรธที่ขงเบ้งทำให้เสียเกงจิ๋ว และไม่ยอมคืน จึงสั่งจับครอบครัวเขาไปเข้าคุก ผลการกระทำของขงเบ้งกระทบถึงพี่ชายไปโดยปริยาย จึงต้องมาหาขงเบ้งเพื่อช่วยอ้อนวอนเล่าปี่ให้คืนเกงจิ๋ว

ขงเบ้งก็สวมรอยรับบท ร้องไห้เสียใจ แล้วพาพี่ชายไปหาเล่าปี่ ขงเบ้งเล่าเรื่องให้ฟัง ขอให้เล่าปี่คืนเกงจิ๋วแก่กังตั๋ง

เล่าปี่กล่าวว่า เพื่อขงเบ้ง ย่อมยินดีคืนเกงจิ๋วให้ เล่าปี่จะคืนสามเมืองคือ เตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยงให้ซุนกวนทันที

ว่าแล้วสั่งอาลักษณ์รีบทำหนังสือคืนเมือง มอบให้จูกัดกิ๋น บอกให้จูกัดกิ๋นไปหากวนอูเพื่อรับเมืองคืน

แต่เมื่อจูกัดกิ๋นไปหากวนอู กวนอูไม่คืนเมืองให้

เมื่อจูกัดกิ๋นกลับมาหาอีกครั้ง เล่าปี่ก็บอกว่า ตนเองคุมกวนอูไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย ขอให้ฝ่ายตนตีเมืองฮันต๋งได้แล้ว จะส่งกวนอูไปว่าราชการที่นั่น เมื่อนั้นจึงสามารถคืนเกงจิ๋วให้ได้

จูกัดกิ๋นก็ทำการไม่สำเร็จเช่นกัน

.………………..

ความสัมพันธ์ระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ตั้งบนฐานที่ง่อนแง่น ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าขงเบ้งทำให้จิวยี่ตาย แต่เพื่อรักษาพันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ ขงเบ้งก็ตัดสินใจไปงานศพจิวยี่

การไปงานศพอาจหมายถึงการฆ่าตัวตาย เพราะทหารลูกน้องของจิวยี่พร้อมจะฆ่าขงเบ้งอยู่แล้ว

ขงเบ้งเข้าไปงานศพเช่นทองไม่รู้ร้อน ทหารจิวยี่ยอมให้ขงเบ้งคำนับศพก่อน แล้วค่อยฆ่า

ขงเบ้งตรงไปที่โลงศพจิวยี่ คุกเข่า โขกศีรษะคำนับ แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา

ขงเบ้งสะอื้น ร้องไห้หน้าโลงศพ แล้วกอดโลงศพแน่น เสียงสะอื้นค่อยๆ ดังขึ้นจนเป็นร้องได้โฮ นานแสนนาน ไม่ยอมปล่อยโลงศพ คร่ำครวญน่าเวทนา จนทุกคน ณ ที่นั้นล้วนน้ำตาคลอ

ขงเบ้งเดินทางกลับเกงจิ๋วโดยสวัสดิภาพ สามารถรักษาทั้งชีวิตตนและพันธมิตรระหว่างซุนกวน-เล่าปี่

.………………..

การก่อรัฐประหารในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการ นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ, น.อ. กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ. ถนอม กิตติขจร ฯลฯ ยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร และเป็นการเริ่มเข้าสู่เวทีอำนาจอีกครั้งของแมวเก้าชีวิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงต่อสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่ก่อรัฐประหาร กล่าวว่าตนและพวกก่อรัฐประหารเพราะความจำเป็นจริงๆ พูดไปพูดมา น้ำตาก็ไหลนองหน้า

เป็นน้ำตาแบบ ‘ร้องไห้กลางเมือง’ (public crying) ฉากแรกๆ ของการเมืองไทยยุคประชาธิปไตย

ทันใดนั้น พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า ‘วีรบุรุษเจ้าน้ำตา’ หรือ ‘บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล’

หลังจากนั้นน้ำตาของนักการเมืองไทยหลั่งไหลต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย ที่โดดเด่นมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ เนวิน ชิดชอบ

วันที่ 7 เมษายน 2552 ที่โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เปิดแถลงข่าวทั้งน้ำตาเพื่อชี้แจงสามเรื่องคือ 1.สถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน 2. สถาบันพระมหากษัตริย์ และ 3. เรื่องส่วนตัวระหว่างตนกับนายกฯทักษิณ

ห้าเดือนก่อนหน้านั้น เนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวินได้ตัดสัมพันธ์กับกลุ่มทักษิณ หันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล นายเนวินกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การหักหลัง ทรยศ เนรคุณ เรื่องหักหลังนั้นต้องดูกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช การที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยไม่ยอมโหวตให้นายสมัครเป็นนายกฯรอบสองตามสัญญา ในวันที่ 12 กันยายน 2551 ต่างหากที่เป็นการหักหลังทางการเมือง

นายเนวินกล่าวทั้งน้ำตาว่า ตลอดเวลาที่ทำงานทางการเมืองก็เหมือนการเป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัท หากอยู่ไม่ได้ อึดอัดใจ ลาออกก็จบ นายจ้างไม่พอใจ เลิกจ้างก็จบ “แต่กรณีพวกผมเมื่อเห็นต่างจาก พ.ต.ท. ทักษิณ พวกผมถูกไล่ล่าตามล้าง จึงอยากฝากบอกไปยัง พ.ต.ท. ทักษิณว่า พวกผมเป็นคนเป็นมนุษย์ไม่ใช่ทาส”

.………………..

หนึ่งในผู้นำไทยที่ร้องไห้แบบ public crying มากกว่าหนึ่งครั้งได้แก่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น

27 ตุลาคม 2554 ร้องไห้เมื่อเยี่ยมประชาชนที่ถูกน้ำท่วมหนัก

10 ธันวาคม 2556 ร้องไห้หลังยุบสภา

3 พฤศจิกายน 2559 ร้องไห้เมื่อชาวนาศรีสะเกษเป็นห่วงตนที่ถูกศาลปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท

ผ่านไปร่วมสองปี ในวันที่ 3 มิถุนายน 2561 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่อย่างเป็นทางการ และแถลงเหตุผลที่กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง หลั่งน้ำตา ระบุว่าตระบัดสัตย์เพื่อชาติ “เพื่อมาเป็นขี้ข้าประชาชน”

เป็นฉากคล้ายกับครั้งที่อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ เมื่อปี 2535 ที่ตามด้วยสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยยอมรับว่าตนเอง ‘ร้องไห้อยู่นานมาก’ ในเดือนเมษายน 2553 เมื่อเกิดวิกฤติการเมือง เพียงแต่ไม่ใช่ร้องไห้กลางเมือง

ในเวทีการเมืองระดับโลกก็มีนักการเมืองหลายคนที่ร้องไห้กลางเมือง เช่น บารัค โอบามา พูดไปร้องไห้ไปหลายหน

ฮิลลารี คลินตัน ร้องไห้กลางเมืองในปี ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีที่รัฐ นิว แฮมพ์เชียร์ คะแนนของเธอพุ่งขึ้นทันทีที่น้ำตาลงเม็ด

นายกรัฐมนตรีอังกฤษหลายคนก็ร้องไห้กลางเมือง เช่น กอร์ดอน บราวน์ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

แม้กระทั่งผู้นำอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ก็มีฉากหลั่งน้ำตาในที่สาธารณะ

ใช่ไหมว่าน้ำตาเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง?

ใช่ไหมว่าน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอำนาจ?

ใช่ไหมว่าการเมืองก็คือการแสดงละครอย่างหนึ่ง?

อาจจะใช่ อาจจะไม่ใช่ แต่ที่ใช่แน่ๆ คือทุกครั้งที่นักการเมืองแย่งชิงอำนาจ คนร้องไห้เงียบๆ คือประชาชน

.………………..


-----------------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #21 on: 21 December 2021, 16:03:51 »


นกหวีด


โจโฉครองอำนาจในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและวุยอ๋องจนวันสุดท้ายของชีวิต มิใช่ไม่คิดจะชิงบัลลังก์จากพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ แต่อาจคล้อยตามความคิดของที่ปรึกษาซุนฮกผู้จากไปแล้วว่า การปราบดาภิเษกจะทำให้ผู้นำก๊กอื่นตั้งตนเป็นฮ่องเต้บ้าง และทำให้การรักษาอำนาจยากเย็นขึ้น

การกุมฮ่องเต้หุ่นในมือเป็นทางที่ดีที่สุด

ครั้นโจโฉตาย โจผีก้าวขึ้นเป็นวุยอ๋องแทนบิดา แต่ไม่เดินตามรอยเดิม ผ่านไปได้ไม่นาน ก็คิดหาทางยึดบัลลังก์พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ขุนนางสอพลอทั้งหลายอ่านทิศทางลมออก ก็ตอบสนองทันที ทูลพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ทั้งโดยตรงและทางอ้อมว่า ราชวงศ์ฮั่นมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ดวงชะตาแผ่นดินมาถึงการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ บ้างว่าควรสละบัลลังก์เพื่อความปลอดภัยของพระองค์เอง สมควรส่งต่อบัลลังก์ให้โจผี

ครั้งหนึ่งทหารของโจผีบังคับให้เจาปิดผู้รักษาตราหยกแผ่นดิน นำตราหยกพระราชลัญจกรออกมาให้ เจาปิดไม่ยอม จึงถูกฆ่า

หลังจากทรงถูกบีบทุกรูปแบบ พระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ไม่ทรงมีทางเลือก ก็สละราชบัลลังก์ ส่งหนังสือและตราหยกให้โจผี

สุมาอี้บอกโจผีว่า ไม่สมควรรับทันที เพราะจะดูเหมือนอยากได้ตำแหน่งเกินไป ให้ถวายตรากลับไปก่อนสองครั้ง จึงค่อยรับในครั้งที่สาม

โจผีทำตามคำแนะนำ และครั้งสุดท้ายก็รับเป็นฮ่องเต้ “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร”

เมื่อขงเบ้งทราบข่าวโจผีบังอาจแย่งราชสมบัติจากพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ สถาปนาราชวงศ์วุย ก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสของเล่าปี่ที่จะขึ้นมาเป็นฮ่องเต้บ้าง

ขงเบ้งหว่านล้อมขุนนางทั้งหลายว่า เราควรยกเล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้ เพื่อสืบราชวงศ์ฮั่นต่อไปมิให้ขาดตอน

เหล่าขุนนางเสนอเรื่องยกเล่าปี่เป็นฮ่องเต้ เล่าปี่ปฏิเสธ บอกว่าถ้าตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ก็เท่ากับชิงราชสมบัติไม่ต่างจากโจผี

ขงเบ้งจึงแกล้งป่วยหนัก เล่าปี่ไปเยี่ยมถึงที่พัก ขงเบ้งบอกว่าป่วยเพราะโจผีทำขบถต่อราชวงศ์ฮั่น ถึงเวลาที่ท่านจะเป็นฮ่องเต้เพื่อไปปราบโจผี แต่ท่านก็ไม่ยอม ตนจึงทุกข์จนล้มป่วย

พ.ศ. 764 เล่าปี่จึงยอมเป็นฮ่องเต้ “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร” เช่นกัน

ตามมาด้วย พ.ศ. 772 ซุนกวนปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

.………………..

พ.ศ. 2556 หมากรุกการเมืองไทยมาถึงตาที่เบี้ยแปลงร่างเป็นขุนศึกที่ตายไปแล้วอีกครั้ง “เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของราษฎร” ต้องการหมากที่เรียกว่ากฎหมายนิรโทษกรรม

ในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี วาระสำคัญที่เร่งดำเนินการก็คือการเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

ภายใต้ฉลากสวยงามของ ‘การปรองดองแห่งชาติ’

สาระสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงเรื่องที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556

ขนมล่อใจคือนิรโทษกรรมครอบคลุมทุกคนทุกฝ่าย นิรโทษกรรมผู้ประท้วงในเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งพันธมิตรฯ นปช. และรวมทั้งคำพิพากษาคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงของ ทักษิณ ชินวัตร และข้อกล่าวหาฆ่าคนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ

เรียกว่า ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ หรือ ‘นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย’

พลันนิรโทษกรรมเหมาเข่งก็เผชิญกับกระแสการต่อต้านจากนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนส่วนหนึ่งทันที พวกเขาบอกว่า การยกร่างในมาตรานี้เป็นการทำตามใบสั่งและจงใจล้างความผิดให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำคือเร่งเกมเพื่อให้ร่างฯผ่านโดยเร็วที่สุด ประธานสภารับเข้าเป็นวาระประชุมเป็นการพิเศษ ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ ส.ส. พรรคส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ประชาชนแต่งชุดดำไปรวมกันที่สถานีรถไฟสามเสน ในเวลา 18.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

เวลาตีสี่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองหลับไหล สภาผู้แทนราษฎรที่ครอบครองโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก็ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 มีการประท้วงหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยและองค์กรหลายแห่งออกแถลงการณ์ประณามร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แม้ว่าในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากวาระการประชุมสภา และในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเอกฉันท์ไม่รับร่างดังกล่าว แต่การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไป

ไฟแห่งการต่อต้านถูกจุดติดแล้ว

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการถอนรากระบอบทักษิณ

เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อต้านรัฐบาลขบวนการใหม่ คือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ฝ่ายเสื้อแดงรวมพลชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อตอบโต้

สงครามกลางเมืองครั้งใหม่อุบัติขึ้นอีกครั้ง

.………………..

แนวคิดของ กปปส. คือทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลมาคืนประชาชน กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 และมาตรา 7 เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่าน ‘สภาประชาชน’

ขบวนการ กปปส.ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรและประชาชน ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯและชาวภาคใต้

มันเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม ยกมาตรฐานของการชุมนุมเป็นอีกระดับหนึ่ง พื้นที่ชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกจัดให้คล้ายเวทีคอนเสิร์ต แสงสีเสียงสวยงาม มีการแสดงดนตรี ถ่ายทอดสดทุกวัน อาหารพร้อมบริบูรณ์

ด้วยค่าใช้จ่ายวันละ 10 ล้านบาท มันกลายเป็นกิจกรรมใหม่ในสังคม ด้วยแนวทาง ‘อาหารดี ดนตรีไพเราะ’ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่เครียดเหมือนการชุมนุมทางการเมืองเดิมๆ

ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง เพราะนกหวีดมีนัยของ whistleblower แปลว่าผู้เปิดโปงความชั่วร้ายในสังคม

การชุมนุมครั้งนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากนักการเมืองผู้เคยพัวพันคดีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ในสมัยก่อน มาเป็น ‘ลุงกำนัน’

แน่นอน คนกรุงเทพฯย่อมรู้จัก สุเทพ เทือกสุบรรณ ดีว่าเป็นใคร เคยทำอะไร แต่ ‘ลุงกำนัน’ ให้สัญญาประชาคมว่า นี่เป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ หลังจากนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวและหรือรับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

อาจเพราะในเวลานั้นประชาชนต้องการใครก็ได้มาเป็นผู้นำชนระบอบทักษิณที่พวกเขามองว่าจำเป็นต้องถูกหยุด ‘ลุงกำนัน’ จึงมาได้ถูกที่ถูกเวลา

การชุมนุมปรากฏการปะทะกันและความรุนแรงหลายครั้ง ส่วนมากเกิดจาก ‘มือมืด’ บางครั้งก็เป็นการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ครั้งรุนแรงเช่น วันที่ 26 ธันวาคม 2556 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นปะทะกับตำรวจ มีผู้เสียชีวิตสามคน ได้รับบาดเจ็บสองร้อยคน

การปะทะกันบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 1 ธันวาคม มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 57 คน นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ

วันที่ 8 ธันวาคม 2556 ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 153 คนลาออก วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กปปส. ปฏิเสธการเลือกตั้ง เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนก่อน

การชุมนุมดำเนินข้ามไปปีใหม่ วันที่ 13 มกราคม 2557 ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครเพื่อกดดันรัฐบาล เดือนมกราคม 2557 มีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมตลอดทั้งเดือน หกราย ถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิต บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ มีการขว้างระเบิดใส่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ สวนลุมพินี แยกลาดพร้าว วังสวนผักกาด มีผู้เสียชีวิตหลายคน และการขว้างระเบิดลูกเกลี้ยงใส่ผู้ชุมนุมที่เดินขบวนแถวถนนบรรทัดทอง มีผู้บาดเจ็บ 41 ราย

มีการโจมตีด้วยระเบิดมือใกล้ศูนย์การค้าโลตัส เจริญผล มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 38 คน เสียชีวิต 1 คนระหว่างการเดินขบวนที่มีสุเทพเป็นผู้นำ มีโจมตีด้วยระเบิด ณ จุดชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน และการยิงผู้ชุมนุมที่บริเวณสโมสรกองทัพบก

ในเดือนเดียวกันนี้สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยิงถล่ม และพยายามระเบิดบ้านพักของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ แต่ไม่อาจหยุดสงครามกลางเมืองได้

เดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง นอกจากนี้ยังมีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ ยิงอาร์จีดี 5 บริเวณแยกประตูน้ำ ยิงปืนและขว้างระเบิดที่จังหวัดตราดยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ใกล้ที่ชุมนุม กปปส. แยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิตหลายคน รวมทั้งเด็กชายเด็กหญิง

เดือนมีนาคมมีการยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.สวนลุมพินีและที่อื่นๆ หลายครั้ง มีคนบาดเจ็บราวสิบราย และเสียชีวิตหนึ่งราย

เดือนเมษายน คนร้ายยิงกราดผู้ชุมนุมหลายที่หลายครั้ง บาดเจ็บหลายราย

.………………..

ขึ้นเดือนพฤษภาคม การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมไม่สิ้นสุด เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่เวทีชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บหลายราย

การเผชิญหน้าและความรุนแรงถึงทางตัน มองไม่เห็นทางออกและทางลงสำหรับทุกฝ่าย

จนกระทั่งเกิดจุดหักเหของเกมหมากรุกการเมือง

ถวิล เปลี่ยนศรี

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นเลขาธิการฯแทนถวิล

ถวิลร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนการย้ายนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแก่ ถวิล เปลี่ยนศรี ภายในสี่สิบห้าวัน

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ใช้เหตุนี้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง กล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ลงมติเห็นชอบการย้ายนี้ รวมสิบคนพ้นจากตำแหน่ง

หลังฟังคำวินิจฉัย ประธาน นปช. กล่าวว่าคำวินิจฉัยนี้เป็น ‘รัฐประหารโดยตุลาการ’

แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป

พฤษภาคม 2557 นปช.จัดชุมนุมใหญ่ที่ถนนอักษะ

สงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ การปะทะกันยังดำเนินต่อไป ไม่มีใครยอมถอย ท่ามกลางข่าวลือว่ามีกองกำลังต่างชาติเข้ามา

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) กำลังทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังเผชิญหน้ากัน พล.อ. ประยุทธ์เรียกตัวแทนจากเจ็ดฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

การประชุมดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดระหว่างตัวแทนของทุกฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ปรากฏว่าไม่มีข้อยุติ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ประชุมรอบใหม่ในวันรุ่งขึ้น เวลา 14.00 น.

.………………..

พ.ศ. 792 หลังจากโจผี เล่าปี่ และซุนกวนต่างตั้งตนเป็นฮ่องเต้ สุมาอี้ก็ยึดอำนาจราชวงศ์วุย และต่อมาเชื้อสายของเขาก็โค่นก๊กทั้งสามสิ้น

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในการประชุมรอบสอง พล.อ. ประยุทธ์ขอให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางแก้ปัญหา และหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ผ่านไปสองชั่วโมง ก็ยังไร้ข้อยุติ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน

ท้ายที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ถาม ชัยเกษม นิติสิริ หัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่า “รัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่?”

ชัยเกษมตอบว่า “รัฐบาลยืนยันว่าไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบด้วยเสียงราบเรียบว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ ขอโทษด้วยนะ ผมต้องยึดอำนาจประเทศนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

.………………..


เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

winbookclub.com
http://www.winbookclub.com/article.php

วินทร์ เลียววาริณ - Facebook
https://www.facebook.com/winlyovarin/



« Last Edit: 21 December 2021, 16:11:09 by ppsan » Logged
Pages: 1 [2] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.156 seconds with 21 queries.