Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 21:31:33

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,625 Posts in 12,930 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เรื่องราวน่าอ่าน  |  เรื่องเล่าจากความทรงจำที่หาฟังยาก  |  คึกฤทธิ์พบกับเหมาเจ๋อตุง
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: คึกฤทธิ์พบกับเหมาเจ๋อตุง  (Read 440 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« on: 24 November 2021, 17:18:30 »

คึกฤทธิ์พบกับเหมาเจ๋อตุง


นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว   www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
    
ฉบับที่ ๑๙๕ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๔
       
คึกฤทธิ์พบกับเหมาเจ๋อตุง

      นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

      ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๓ ของไทย ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็นเชื้อพระวงศ์ในบรมราชสกุลจักรีวงศ์คนแรก ที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์

      ในการนี้ไทยได้ทำสัญญาเปิดสัมพันธไมตรีระหว่างชาติ กับประเทศจีน (คอมมิวนิสต์) เป็นครั้งแรก ทั้งนี้เพราะคนจีนกับคนไทยไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน
      ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับการต้อนรับจากประชาชนคนจีน และคณะผู้บริหารประเทศจีนคอมมิวนิสต์ทุกระดับ
   

           
      เป็นการต้อนรับชนิดยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ กล่าวได้ว่าจีนไม่เคยจัดการต้อนรับเช่นนี้ แก่บุคคลใดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศมหาอำนาจ หรือมุขบุรุษของประเทศใด ๆ

      ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ ให้ได้เข้าพบท่านเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มีอำนาจสูงสุด
      ซึ่งใช้เวลาพบปะสนทนากันนานเป็นประวัติการณ์ ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่เคยให้โอกาสผู้ใดเข้าพบได้นานถึงขนาดนั้น
      คือเป็นเวลาถึง ๕๘ นาที และได้สนทนากันอย่างเป็นกันเอง ชนิดที่เรียกว่า "ถึงใจพระเดชพระคุณ" เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังได้พบปะวิสาสะกัน จูเอินไล นายกรัฐมนตรีของประเทศจีน ได้รับการสรรเสริญยกย่องจาก เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในประเทศจีน ทั้งยังได้พบปะกับนักการเมืองระดับสูง ของรัฐสภาแห่งชาติอีกด้วย

      ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เดินทางไปกับคณะหนังสือพิมพ์จากประเทศไทย ไปสมทบกับนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ วิทยุ ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน ผมเป็นตัวแทนของ สยามรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ ของท่านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเจาะจงตัวและออกคำสั่ง ทั้งในตำแหน่งอดีตผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้ผมร่วมขบวนไปรายงานข่าวด้วย

      ผมโชคดีกว่าสื่อมวลชนคนอื่น ๆ เพราะใกล้ชิดกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา หลังจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้พบปะกับท่านประธานเหมาเจ๋อตุงแล้ว ท่านได้เล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ให้ผมจดบันทึกอย่างละเอียด นักข่าวหรือสื่อมวลชนคนอื่น ไม่มีโอกาสเช่นผม

      ท่านนายกรัฐมนตรีเล่าว่า
      "ก็รู้สึกตื่นเต้น กล้า ๆ กลัว ๆ อย่างไรชอบกล เมื่อคิดว่าตัวเองจะต้องไปพบกับผู้ยิ่งใหญ่ แห่งคอมมิวนิสต์ของโลก ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนไทย ที่เป็นประชาธิปไตย ก็รู้สึกปอด ๆ อยู่เหมือนกัน แต่ครั้นได้พบและสนทนาวิสาสะ กับจอมโจกคอมมิวนิสต์ของโลกแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย"


      จากบันทึกและความทรงจำของผม เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘

      ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบกับนายจูเอินไล นายกรัฐมนตรีของจีน แม้จะอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว เนื่องจากเจ็บป่วย แต่ฝ่ายจีนก็ยังให้เกียรติ อนุญาตให้เข้าพบ และต้อนรับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นอย่างดี ได้ลงนามในหนังสือสัญญาพันธไมตรี ระหว่างไทยกับจีนเป็นที่เรียบร้อย

      การเข้าพบนายจูเอินไลนั้น ถือว่าเป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้าย ของสองนายกรัฐมนตรี เพราะหลังจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กลับถึงประเทศไทยได้ไม่นาน นายจูเอินไลก็ถึงแก่อนิจกรรม

      แม้นายกรัฐมนตรีของไทย จะเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่า วันเวลาใดจึงจะได้เข้าพบท่านประธานเหมาเจ๋อตุง

      วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๘ รัฐบาลจีนโดยท่านรองนายกรัฐมนตรี เติ้งเสี่ยวผิง ได้กำหนดให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์และคณะไปเยี่ยมเยียนชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งบางพวกก็พูดภาษาไทย (เหนือและอีสาน) ได้ชัดเจน และถูกต้อง

      บรรยากาศการพบปะกัน ผมได้ยินเสียง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พูดภาษาไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง มึง ๆ กู ๆ สลับกับภาษาเหนือ ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พูดได้ดีเหมือนเป็นชาวเหนือแท้ และแม้ภาษาอีสาน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็พูดได้เช่นกัน ฉะนั้นการพบปะกับชนเผ่าต่าง ๆ ในเช้าวันนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีของไทย จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
   
           

      ขณะกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการส่งภาษาพื้นถิ่น ก็ปรากฏว่ามีรถยนต์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นรถยนต์ของทางราชการ ได้แล่นเข้ามาจอด เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเข้าไปรายงานต่อนายเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งกำลังนำ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์พบปะกับชนเผ่าต่าง ๆ อยู่ ว่า

      ท่านประธานเหมาเจ๋อตุงให้นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าพบ ในวันนี้เวลาก่อนเที่ยงวัน

      เมื่อเกิดมีกำหนดการเข้าพบท่านประธาน แห่งพรรคคอมมิวนิสต์อย่างกะทันหันเช่นนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ต้องละราชการ เยี่ยมเยียนชนเผ่าต่าง ๆ ในทันที ปล่อยให้คณะผู้ติดตามและผู้สื่อข่าว ได้เยี่ยมเยียนชนเผ่าต่าง ๆ ต่อไป ตัวท่านปลีกตัวออกมา โดยไม่บอกให้คณะรู้  ปิดเป็นความลับ ด้วยเกรงว่าผู้สื่อข่าวจะติดตามไป

      ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนว่า จะได้เข้าพบท่านประธานเหมา ขณะนั้นท่านแต่งตัวแบบลำลอง เพราะอยู่ในโปรแกรมเยี่ยมเยียนชนเผ่าต่าง ๆ จึงต้องรีบกลับไปยังที่พัก เพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นการด่วน

      ตัวผมเองตกใจว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จะรีบร้อนไปไหน เพราะได้เห็นท่านออกเดินอย่างเร็วจนเหมือนวิ่ง เมื่อท่านผ่านหน้าผม ก็พูดกับผมเบา ๆ อย่างอารมณ์ดีว่า "ฮ่องเต้มีรับสั่งให้เข้าพบแล้ว"

      ผมได้ทราบในภายหลังว่า คณะที่เข้าพบท่านประธานเหมาเจ๋อตุงนั้น ประกอบด้วย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายประกายเพ็ชร์ อินทุโสภณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนคนอื่น ๆ แม้จะอยู่ในตำแหน่งสูงระดับอธิบดี ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าพบ

      ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ เพราะสถานที่ ที่ท่านประธานเหมาเจ๋อตุงพำนักอยู่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง เป็นสถานที่หวงห้ามในลักษณะ "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า" เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากท่านประธานเหมาให้เข้าพบได้ แต่เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์กลับออกมาแล้ว ท่านเล่าให้ผมฟังอย่างละเอียดว่า

      "สถานที่ที่ผมเข้าไปพบประธานเหมานั้น ทางการจีนเรียกกันว่า หอสมุด เป็นห้องไม่ใหญ่โตนัก แต่หลังคานั้นกลม ๆ สูง ๆ เป็นเหมือนโดม มีหนังสือวางอยู่รอบห้องไปหมด และมีเก้าอี้ตัวใหญ่ ๆ ตั้งเรียงรายอยู่รอบตัว

      "ผมเห็นคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีเทาๆ ซึ่งผมเห็นว่าตัวโตจริง ๆ โตเหลือเกิน เหมือนอย่างที่ฝรั่งเรียกกันว่า sea elephant หรือช้างน้ำนั่นแหละ ผมเดินตามอธิบดีกรมการทูต โดยมีกรมวังของจีนนำเข้าไป พอดีกับที่คนที่นั่งอยู่ เหลียวมาเห็นผมกับคุณชาติชาย กำลังเดินเข้าไป ท่านก็ร้องออกมาเป็นเสียงโฮก และดังเสียด้วย

      "ผมได้ยินเสียงก็หยุด หันมาถามคุณชาติชายที่เดินตามหลังเข้ามาว่า จะเอายังไง จะสู้หรือจะถอย คุณชาติชายบอกว่า ไม่ได้ ถอยไม่ได้ ต้องใจกล้าไว้ครับท่านนายกฯ เรามาถึงอย่างนี้แล้ว เอาเลย ผมก็เดินเข้าไป

      "ตอนนั้นล่ามยังไม่มาถึงครับ ท่านก็รี่เข้ามาจับมือผม แล้วก็ร้องโฮก ๆ อีก แต่คราวนี้หลายโฮกเหลือเกิน และดังเสียด้วย ต่อจากนั้นก็จับมือผมเขย่าแล้วเขย่าอีก และเขย่าแรง ๆ เสียด้วย เสร็จจากการโฮกและเขย่ามือกับผมแล้ว ก็จับมือคุณชาติชายเขย่าบ้าง แล้วก็ร้องโฮกสองหน
   
           

      "พอดีตอนนั้นล่ามมาถึงแล้ว จึงแปลความหมายที่ท่านประธานเหมาพูดว่า ...ไอ้หนู (หมายถึง พล.ต. ชาติชาย) นี่เคยมาเมืองจีนแล้วไม่ใช่หรือ คุณชาติชายก็ตอบผ่านล่ามว่า เคยมาแล้ว ท่านก็พูดต่อไปว่า ถ้าจะชอบเมืองจีนละซินะจึงมาอีก คุณชาติชายก็ตอบว่า ชอบมากครับ แล้วท่านก็บอกให้ผมกับคุณชาติชายไปนั่งที่เก้าอี้ที่จัดไว้

      "ต่อจากนั้นคุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณประกายเพ็ชร์ อินทุโสภณ ก็เข้าไปจับมือ และได้ต้อนรับคนละโฮก แล้วเจ้าหน้าที่กรมวัง ก็ขอให้คนทั้งสองออกไปจากห้องเดี๋ยวนั้น เหลือเพียงผมกับคุณชาติชายสองคนเท่านั้น แล้วท่านชี้ให้มานั่งที่เก้าอี้ที่จัดไว้ใกล้ ๆ กับท่าน

      "ท่านประธานเหมานั่งเต็มเก้าอี้แบบคนใหญ่คนโต ไอ้ผมมันเด็กนี่ ก็ต้องนั่งขอบเก้าอี้ ผมไม่ได้นั่งเต็มเก้าอี้ และไขว่ขา หรือไขว่ห้างคุยกับท่าน อย่างคนประเทศอื่น ๆ เขาปฏิบัติและชอบทำ ผมนั่งเอาก้นแตะเก้าอี้ แล้วก็ประสานมือแบบเคารพ หรือจะว่าแบบเล่าปี่ไปหาขงเบ้งนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าท่านพอใจมากทีเดียว แล้วท่านก็เริ่มพูดขึ้นก่อน คือท่านชมผมว่า ที่ลื้อไปให้สัมภาษณ์ไว้ที่ฮ่องกง ก่อนมาถึงปักกิ่งนั้นถูกต้องแล้ว ท่านเห็นด้วย

      "ผมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ฮ่องกง คืนก่อนที่จะเข้าประเทศจีน แต่ท่านรู้รายละเอียด ที่ผมให้สัมภาษณ์หมดก่อนที่ผมจะมาพบท่าน ท่านรู้ว่าผมพูดอะไรกับหนังสือพิมพ์ไว้ นักหนังสือพิมพ์ที่ฮ่องกงเขาถามผมว่า รัฐบาลไทยก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และมีผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ ในประเทศไทยมาก ในประเทศอะไรต่ออะไรที่ใกล้ ๆ กับไทยก็มีคอมมิวนิสต์มาก แล้วทำไมผมจึงได้มาผูกสัมพันธไมตรี กับประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ผมก็ตอบหนังสือพิมพ์ว่า ไอ้เรื่องลัทธิคอมนิสต์นั้นน่ะ เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่การไปผูกไมตรีกับประเทศจีน มันเป็นเรื่องรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่ได้คำนึงถึงพรรค มันเป็นเรื่องของประชาชนชาวจีน กับประชาชนชาวไทย ไม่ได้คำนึงถึงลัทธิ ผมจึงไปประเทศจีนด้วยเหตุนี้

      "ท่านก็บอกกับผมว่า ให้สัมภาษณ์ไว้ดีมาก พูดเก่ง แล้วก็คุยกันเรื่อยไป แล้วต่อจากนั้นผมก็บรรยายความว่า ผมมาประเทศจีนด้วยความสมัครรักใคร่ อยากผูกสัมพันธไมตรี ประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นมิตรไมตรีกันมาช้านาน เป็นเวลาหลายพันปี มีเหตุการณ์บางอย่าง ทำให้ไมตรีสะดุดหยุดลง บัดนี้ผมจะมาขอเริ่มใหม่ อะไร ๆ ก็ว่ากันไปตามอย่างนั้นแหละครับ

      ท่านก็ร้องห่าว ๆ ตลอดเวลา

      "ห่าว ภาษา (จีน) แมนดาริน ก็แปลว่า ฮ้อ นี่แหละ ท่านห่าวมา ผมก็ห่าวไป และท่านก็ยังแสดงว่าสนใจอยู่ ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำอะไร ในที่สุดก็กลับมาคุยกันถึงเรื่องส่วนเนื้อส่วนตัว ผมก็บอกท่านว่า แหม ท่านประธานยังแข็งแรงอยู่นะ ท่านก็บอกว่า โอ๊ย ไม่จริงหรอก แก่เต็มทีแล้ว เวลานี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องมานั่งรับราชการกินเงินเดือนเขา

      "ผมก็บอกว่า คนอย่างท่านประธานน่ะครับ มาเป็นข้าราชการ ท่านก็บอกว่าใช่ เวลานี้เป็นข้าราชการประจำ กินเงินเดือนหาเลี้ยงชีพไป ผมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็กรรมของข้าราชการเมืองจีนละครับ คือคนอย่างท่านประธาน มาเป็นข้าราชการนี่ ผมว่าพังแน่ ท่านก็หัวเราะชอบใจ เอามือตบเก้าอี้ แล้วจับมือไปรอบ ๆ และว่าผมพูดดี แล้วท่านก็บอกว่า อีกหน่อยก็ตายแล้วละ คนแก่ขนาดนี้ มันจะไปอยู่ยั่งยืนสักแค่ไหน
   
           

      "ผมก็บอกกับท่านว่า ท่านประธานตายไม่ได้นะ เพราะโลกไม่สามารถที่จะสูญเสียผู้ร้ายนัมเบอร์วันของโลกได้"

      ท่านก็ดีใจ หัวร่อลงคอ จับมืออีกครั้ง ท่านชอบใจ อยากเป็นผู้ร้ายนัมเบอร์วัน เรื่องผู้ร้ายนัมเบอร์วันนั้น ท่านได้พูดมาก่อน
      คือท่านบอกกับผมว่า ผมมาพบกับท่านทำไม ไม่รู้หรอกหรือว่า คนเขาว่าท่านเป็นผู้ร้ายฆ่าคน เป็นคนจอมทรหด เป็นผู้เผด็จการ เป็นอะไรต่อมิอะไรเสียหายต่าง ๆ

      "ผมก็บอกว่า ใช่ครับ ใช่ครับ แต่ก็ยังอยากมาพบอยู่ดี ก็ผมนับถือนี่ ท่านก็ร้องเอ้อ ในที่สุดท่านก็บอกว่าจะตาย ผมก็บอกว่า โลกไม่สามารถจะสูญเสียผู้ร้ายนัมเบอร์วันได้ ท่านก็ชอบใจมาก ก็ได้คุยกันไปอีกนาน ผมถามท่านว่า ท่านชอบรับประทานอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าโอ๊ย กินได้แต่ของอ่อน ๆ เดี๋ยวนี้ ผมถามต่อไปว่ารังนกมีกินบ้างไหม ท่านประธานบอกว่าไม่มีหรอก นั่นมันเป็นของทางทะเลใต้ ผมก็เลยบอกว่า ถ้ายังงั้นท่านประธานเตรียมตัว ไว้ผมกลับไปแล้ว ผมจะส่งรังนกมาให้กิน

      "ท่านก็ชักจะปลื้ม ๆ อยากกินรังนก แล้วท่านก็เขียนหนังสือให้ดู แต่ล่าม (ซึ่งเป็นผู้หญิง) ซึ่งเป็นเด็กสาว ๆ ชื่อแนนซีถัง อ่านที่ท่านเขียนไม่ออก (เพราะเป็นเด็กสาววัยรุ่น) ทั้ง ๆ ที่ท่านเขียนหนังสือตัวเดียว และตัวใหญ่เบ้อเร่อ อีหนูที่เป็นล่ามนั้น ดูหนังสือที่ท่านเขียนแล้ว อ่านไม่ออกจึงแปลไม่ถูก ท่านก็เลยโวยใหญ่ ดุอีหนูล่ามนั้นเป็นทำนองว่า อะไรกัน โง่บัดซบ อ่านไม่ออกได้หรือ อีหนูล่ามมันก็เถียงว่า อ้าว ท่านประธานอายุ ๘๓ นี่คะ หนูเพิ่ง ๒๐ ปีนี้เอง เรียน (ภาษาจีน) ยังไม่ถึงนี่ เพราะหนังสือจีนไม่เหมือนหนังสือฝรั่ง มันต้องเรียนกันนาน ๆ นี่ ท่านก็ยอมรับว่า เออ จริงของมัน แล้วทีนี้ท่านก็เขียนใหม่อีก คราวนี้เขียนสามตัว ให้ล่ามสาวคนนั้นดู ล่ามสาวก็พูดว่า เอ้อ อย่างนี้ค่อยยังชั่วหน่อย คราวนี้แปลมาเป็นภาษาอังกฤษได้

      "ผมก็เลยเรียนท่านว่า แหม ท่านประธานยังหูตาดีนะครับ ยังเขียนหนังสือหนังหาอะไรก็ได้ ผมถามท่านว่าอ่านหนังสือต้องใช้แว่นตาไหม ท่านบอกว่า โอ๊ย ไม่ต้องใช้หรอก ไปใช้มันทำไมกับอีแว่นตา ว่าแล้วท่านก็เลยหยิบหนังสือที่วางไว้ข้างหลังท่าน มาให้ผมดูเล่มหนึ่ง แล้วท่านก็บอกต่อไปว่า นี่ อ่านอย่างนี้ซิ ก็เล่มใหญ่พอสมควร พอเปิดหนังสือนั้นออกมาหน้าแรก มีหนังสือจีนอยู่ไม่กี่ตัว ดูเหมือนจะสี่ตัว ตัวหนังสือโตเบ้อเร่อ เห็นได้ชัดเจน ผมก็เลยบอกกับท่านว่า ถ้าอย่างนี้ก็สบายมาก ไม่ต้องเข้าแว่น ท่านก็เลยหัวร่อ แล้วบอกว่า จะไปกลัวอะไร เสมียนของเรามีเป็นก่ายเป็นกองตั้ง ๘๐๐ ล้านคน อยากอ่านหนังสืออะไรก็ให้ (เสมียน) มันเขียนมา ตัวโตอย่างนี้ เราก็อ่านดู แบบนี้แหละครับ

      "คุยกันอย่างผู้ใหญ่ เหมือนกับเป็นลูกเป็นหลาน จนในที่สุดดูนาฬิกาเกือบจะครบชั่วโมง ผมรู้สึกว่าท่านจะเพลีย ๆ และท่านเริ่มจะทำอะไร ที่ผมเห็นว่าชักจะวุ่นวายสักหน่อย พอดีผมเหลียวไปมองทางเติ้งเสี่ยวผิง ที่นั่งอยู่ห่าง ๆ เขาก็เข้าใจและรู้ใจผม เขาก็เลยรีบไปเอาของขวัญ ที่ผมนำไป เพื่อจะมอบให้แก่ท่าน มายื่นให้ผม เพื่อที่จะมอบให้แก่ท่าน

      "แต่ท่านเป็นคนแปลก ผมรู้สึกว่าท่านปิดสวิตช์ได้ คือเมื่อผมเข้าไปพบทีแรกนั้น รู้สึกว่าท่านยังไม่ได้เรื่องเท่าไรนัก แต่พอพูดกันไปแล้ว ท่านพูดกับผมเป็นเรื่องเป็นราวมากมาย ท่านจำอะไร ๆ ได้หมด ท่านเล่าเหตุการณ์อะไร ๆ ทุก ๆ อย่างที่ท่านรู้ การบ้านการเมืองท่านรู้หมด แม้แต่ในเมืองไทยเป็นอย่างไร ท่านก็รู้ พรรคของผม (พรรคกิจสังคม) มีผู้แทนกี่คนท่านก็รู้ ซ้ำท่านยังบอกอีก บอกให้ไปเพิ่มจำนวนพรรคขึ้น (ขณะนั้นพรรคกิจสังคม มี ส.ส. ๑๘ คนเท่านั้น) ให้มันมาก
   
           

      "ในเรื่องของคอมมิวนิสต์นั้น ท่านประธานเหมาสอนผมว่า อย่าไปกลัวมัน และเอ้อ ท่านบอกว่า อย่าไปรบกับมันพวกคอมมิวนิสต์น่ะ เพราะถ้ามันตายกันมาก ๆ มันก็ยิ่งมาตายกันอีกไม่รู้จักหมด เพราะมันอยากดังอะไรอย่างนี้ ท่านก็สอนผม ให้กำจัดคอมมิวนิสต์ คือทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเขามีกินมีใช้ อย่าไปกลัวเลยคอมมิวนิสต์ มันมีไม่กี่คนหรอก ก็ดูซิ ท่านเป็นประธานคอมมิวนิสต์มาตั้งกี่สิบปี ยังไม่เคยเห็นคอมมิวนิสต์ไทย ไปแสดงความเคารพท่านสักคน ผมก็เลยบอกว่า นี่ท่านประธานพูดจริง ๆ เหรอ ถ้าพูดจริง ผมจะส่งมาให้สี่คนพรุ่งนี้เลย ท่านบอกว่า เอ ! จะไม่มีเวลาต้อนรับเขาละกระมัง ผมบอกว่า ไม่แน่นี่

      "ก็คุยกันแบบนี้แหละครับ ทีนี้พอดีเขายกของขวัญเข้ามา ท่านก็รู้ทันทีว่า จะต้องจบการสนทนา และการพบปะกันแล้ว ตอนนี้ท่านกลับเป็นคนแก่ใหม่ทันทีครับ คนแก่หลง ๆ ลืม ๆ ผมก็ยื่นหีบถมเป็นของขวัญให้ท่าน เมื่อท่านได้ไปแล้ว ท่านเขย่าหีบถมนั้นเหมือนเด็ก ๆ เล่น ท่านไม่ได้พูดอะไร เพราะตอนนั้นท่านกำลังจะเริ่มเลอะแล้ว ก็ต้องจับมือกันไว้ เพราะกลัวท่านจะทำตก

      "ต่อจากนั้นผมก็กราบลาท่านออกมา เรื่องก็จบแค่นี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องบุญวาสนาอะไร เพราะท่านแก่เต็มทีแล้ว เนื่องจากได้ตรากตรำทำงานมามากตลอดชีวิตของท่าน ท่านจวนแล้วเมื่อผมไป"

      หลังจากที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ไปพบกับท่านประธานเหมาเจ๋อตุงนั้น ท่านอายุ ๘๔ ปีแล้ว หลังจากที่พบปะสนทนากันไม่นาน ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง ก็ถึงแก่อสัญกรรม คล้อยหลังนายจูเอินไลที่ถึงแก่อนิจกรรมไปไม่นาน นอกจากนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้พบกับท่านประธานรัฐสภานายจูเต๋อ อายุ ๙๑ ปี ซึ่งก็ถึงแก่อนิจกรรม ในเวลาต่อมาเช่นกัน

      ตัว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นถึงแก่อสัญกรรมหลังจากไปกรุงปักกิ่งมาแล้ว ๒๐ ปี

      เรื่องการเดินทางไปกรุงปักกิ่งของอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังไม่จบครับ ท่านเล่าให้ผมฟังต่อไปว่า
      "ท่านจูเต๋อ (ประธานรัฐสภา) นั้นท่านอายุ ๙๑ ขวบแล้ว ในวันที่มีการพบปะ เพื่อต้อนรับผมที่หอประชุมแห่งชาติซึ่งสร้างใหม ่และตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่งนั้น เจ้าหน้าที่เขาไปหามท่าน (นายพลจูเต๋อ) มาไว้ที่หัวบันไดข้างบนเลย แล้วให้ผมขึ้นบันไดไปพบท่าน บันไดนั้นสูงเสียจนผมหอบแฮ่ก ๆ กว่าจะถึงตรงที่ท่านจูเต๋อยืนรออยู่ ผมเหนื่อยเสียจนแทบจะขาดใจ เพราะเขาให้ขึ้นบันไดไปเอง

      "แล้วพอไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ตะโกนขึ้นมาด้วยเสียงดังลั่นที่ประชุมไปหมด ทั้งนี้เพราะท่านประธานรัฐสภาจูเต๋อ หูไม่ปรกติเหมือนคนทั้งหลาย ก็ท่านมีอายุใกล้ ๑๐๐ ปีเข้าไปแล้วนี่ ขณะที่ผมกำลังหอบแฮ่ก ๆ ยังไม่ทันหายเหนื่อย ก็ได้ยินเสียงตะโกนว่า ไทยก๊กจิ๋งหนี่ ซึ่งคงจะมีความหมายว่า นายกรัฐมนตรีของเมืองไทยนั่นเอง
   
           

      "ต่อจากนั้นผมก็เข้าไปยืนตรงหน้าท่าน ล้อมรอบไปด้วยข้าราชการจีน และบุคคลสำคัญที่มีเกียรติน้อยใหญ่ ท่านประธาน จูเต๋อก็ร้องฮ่าว ๆ อีกนั่นแหละ แล้วก็เอื้อมมือมาทางผม แต่ไม่ยักได้จับมือผม แต่กลับไปคว้าเอามือของท่านอธิบดีกรมการทูต ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ผมนั่นแหละ พอท่านคว้าหมับเข้าให้แล้วก็จะเขย่าอย่างแรง ท่านอธิบดีกรมการทูตก็สลัดมือ ผมก็เลยคว้าเอามือของท่านประธานจูเต๋อ แล้วก็เขย่าไปพลางร้องฮ่าว ๆ ตามท่านไปด้วย

      "การไปเมืองจีนครั้ง (แรก) นี้ ผมเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งที่บอกไม่ถูกแต่แรกว่า รู้สึกตัวเองชอบกลยังไงอยู่ เพราะเมื่ออยู่ในเมืองไทยนั้น โดยที่ยังไม่รู้จักตัวตนของผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็รู้สึกเกรงกลัว เพราะเข้าใจว่าคนใหญ่คนโต ที่เป็นคอมมิวนิสต์แต่ละคนนั้น ยังกะเสือยังกะช้าง น่ากลัวเสียเหลือเกิน ครั้นพอผมไปถึงได้พบปะกับคนใหญ่คนโต ของคอมมิวนิสต์จริง ๆ เข้า ก็เท่านี้เอง ก็ฮ่าว ๆ กันไปอย่างนั้นแหละ

      "อย่างเช่นท่านนายกฯ โจวเอินไหล (สะกดตามสำเนียงที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เรียก) ท่านก็หวิดตายแล้ว ท่านอยู่ในโรงพยาบาล จะว่าโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ เพราะเป็นพระที่นั่งในพระราชวังอีกพระที่นั่งหนึ่ง แล้วก็เอาหมอ เอาเครื่องเอกซเรย์ ของโรงพยาบาลไปใส่ ก็กลายเป็นโรงพยาบาล แต่มีคนไข้เพียงคนเดียวชื่อโจวเอินไหล และผมก็ไปเซ็นสัญญากับท่านที่นั่น ท่านก็เซ็นแทบจะไม่ไหวแล้วละครับ เซ็นชื่อสามทีสามตัว สัญญาสามแผ่น ข้อตกลงน่ะ ผมเซ็นชื่อแกร็กเดียวมันก็เสร็จหมด แต่ท่านเซ็นตั้งเกือบครึ่งชั่วโมง ท่านตั้งปากกาสั่นอยู่อย่างนี้ (ตอนนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ทำตัวอย่างมือสั่นให้ดู) กว่าจะเซ็นได้ ก็แปลว่า อาการของท่านไม่ค่อยจะดีแล้ว

      "เสร็จจากการเซ็นชื่อแล้วก็มาดื่มให้กัน ก็ต้องดื่มแชมเปญตามธรรมเนียมทูต ผมก็ชนแก้วกับท่าน ท่านก็มากระซิบบอกว่า ท่านดื่มเหล้าไม่ได้ หมอห้าม น้ำชาน่ะ แต่ของคุณนั้นแชมเปญ ผมบอกว่า งั้นผมดื่มให้ดูนะ ท่านนายกฯ คอยดูเอาก็แล้วกัน ก็นี่แหละครับที่ผมไป ก็แค่นั้น

      "แล้วท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเวลาต่อมา คือ หัวโก๊ะฝงนี่ ก็พูดกันเบ่ง ๆ นะ เมื่อตอนที่ผมไปน่ะ ท่านเป็นเด็กปูที่นอนให้ผม แน่ะ เบาเสียเมื่อไหร่ละ คือนายกฯ โจวท่านส่งมาประจำตัวผมเลย ไปทั่วตลอดเมืองจีน กินอยู่หลับนอนด้วยกันเจ็ดวัน เจ็ดคืน ดูแลทุกข์สุข กลางคืนผมจะนอนอย่างไร ท่านก็มาดู จะกินอะไรกับข้าวมีไหม อร่อยยังไง ไถ่ถามรักใคร่กันมากเชียว ความจริงในเอเชียหรือในโลกก็เถอะ ประธานคนใหม่แทนท่านเหมา ประธานหัวนี่ ไม่มีใครสนิทสนมเท่าผมหรอก ผมจะคุยให้ฟัง ผมรู้อกรู้ใจกันมา ไปกินอยู่หลับนอนกันมาเจ็ดวันเจ็ดคืน รู้จักกันดีจริง ๆ คุยพูดกันตลอดวัน เพราะผมไม่รู้จะคุยกับใคร เขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนมา เขามานั่งอยู่กับเรา เราก็ต้องคุยกับเขาเรื่อยไป คุยตั้งแต่ราชการ ไปจนถึงเรื่องส่วนเนื้อส่วนตัวอะไร ๆ สารพัด ก็เท่านั้นแหละครับ ไม่มีอะไรหรอก"

      ท่านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าเหตุการณ์ ในระหว่างที่ท่านปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย ณ กรุงปักกิ่ง ให้ผมฟังเพียงแค่นี้

      ผมในฐานะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จากประเทศไทย ที่ได้ติดตามนายกรัฐมนตรี ไปประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ยังมีเรื่องราวอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ได้พบเห็น และบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์แห่งชีวิต เป็นประวัติแห่งความทรงจำของผมเอง รวมทั้งอาจจะเป็นประวัติศาสตร์ของชาติด้วย
      หากมีโอกาส ผมอาจจะเขียนสู่กันอ่านอีกสักครั้งหนึ่งก็ได้


      

.....
เกี่ยวกับผู้เขียน
      สละ ลิขิตกุล นักหนังสือพิมพ์อาวุโส อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำการ ที่มีอายุมากที่สุดในบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพนี้ ในประเทศไทย เป็นผู้เริ่มก่อตั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ร่วมกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นบรรณาธิการคนแรกของ สยามรัฐ เมื่อ ๕๑ ปีก่อน ปัจจุบันแม้จะอายุ ๘๖ ปีแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ที่เดิม ในตำแหน่งที่ปรึกษา และนักเขียนอาวุโส โดยเขียนบทความการเมืองสัปดาห์ละสามครั้ง

https://www.sarakadee.com/feature/2001/05/kukrit_moun.htm



« Last Edit: 24 November 2021, 17:27:04 by ppsan » Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,461


View Profile
« Reply #1 on: 24 November 2021, 17:28:21 »



.....


















Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.129 seconds with 21 queries.