ppsan
|
|
« on: 21 November 2021, 12:25:18 » |
|
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยโบราณ
กระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนปัจจุบัน
• สมัยสุโขทัยนั้นปรากฏหลักฐานว่าพระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียงลอยประทีป ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง
• สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย เส้นทางน้ำจึงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของชาวกรุงศรีอยุธยา ทั้งในยามศึกสงครามและยามสงบ มีกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่สำคัญและมีหลักฐานบันทึกไว้ชัดเจน คือ กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง
ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ จัดเป็นกระบวนต่าง ๆ มีทั้งสถลวิธี (ทางบก) และชลวิธี (ทางน้ำ)
หรือในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองก็ได้ทรงสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นต้นกำเนิดกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ซึ่งเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนทุกวันนี้
• สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างเรือรบและเรือราชพิธีขึ้นใหม่เนื่องจากเรือที่มีอยู่เดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาไปเป็นจำนวนมาก แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรือรบ เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เรือที่ทรงสร้างในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และเรือโขมดยาปิดทองทึบ
หมายเหตุ : ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ใช้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพีธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.finearts.go.th หนังสือเรือพระราชพิธี หนังสือกระบวนพยุหยาตราประวัติและพระราชพิธี หนังสือปกิณกะคดีหมายเลข ๑๓ เรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค
|