Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 07:21:56

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,618 Posts in 12,929 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม (Moderator: Smile Siam)  |  พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ  (Read 661 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« on: 30 October 2021, 21:45:12 »

พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ


พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ
โดย ... วิลาศ  มณีวัต



เข้าจุฬาฯ ชั่วโมงแรกก็เจอดี

นิสิตจุฬาฯ ตื่นเต้นกันทุกคน  เมื่อทราบข่าวที่ค่อนข้างแน่นอนว่า
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้จะทรงสอบเข้าจุฬาฯ  เพื่อจะทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์

ไม่เฉพาะแต่ที่ตึกอักษรศาสตร์เท่านั้น ทางคณะวิทยาศาสตร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะบัญชี  ตลอดจนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ต่างก็คอยเฝ้าดูเหตุการณ์ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า
พระองค์นี้จะทรงวางพระองค์อย่างไรกับอาจารย์และกับเพื่อนนิสิตด้วยกัน
ข้อสำคัญใครจะกล้าเข้าใกล้พระองค์ท่าน  บางคนถึงกับลงทุนซักซ้อมการเพ็ดทูล
แบบราชาศัพท์กันระหว่างเพื่อนฝูง

และแล้ววันแรกในชีวิตนิสิตหญิง  ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกของจุฬาฯ ก็มาถึง


อาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ก็ตื่นเต้น
แต่ในวันแรกของการเปิดเทอมแรกของปีใหม่
ทุกอย่างและทุกคนดูจะวุ่นวายชุลมุนกันไปหมด
โดยเฉพาะนิสิตปีที่ ๑  ห้องเรียนอยู่ที่ไหนก็ยังไม่ทราบ
สอบถามกันให้วุ่นวาย

วิชาแรกในวันนั้นของนิสิตอักษรศาสตร์ปีที่ ๑  คือวิชาวรรณคดีละครพูด
ซึ่งจะต้องเข้าเรียนรวมกันทั้งชั้นในห้องใหญ่ ... ใหญ่จริง ๆ
นักเรียนปีหนึ่งแม้ว่าจะมาจากโรงเรียนต่าง ๆ  ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
แต่ก็จับกลุ่มกันเฉพาะที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน  ก็เลยคุยแข่งกันเป็นกลุ่ม ๆ
เสียขรมแซดไปหมด  อาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา
อาจารย์ผู้สอนเข้ามาในห้องแล้ว  นิสิตใหม่ก็ยังไม่รู้จักเกรงใจ

ท่านอาจารย์ต้องนั่งรออยู่เป็นเวลาถึงห้านาที  เพื่อจะให้เงียบ
แต่ก็เปล่า ... ไม่ได้ผล ... ไม่มีทีท่าว่าจะเงียบ

อาจารย์ศักดิ์ศรีจึงตัดสินใจว่า  จะต้องเทศนาสั่งสอนอบรมเรื่องระเบียบ
วินัยกันเสียแล้ว  เรื่องเรียนอย่าเพิ่งเลยเพราะนิสิตยังขาดสมาธิ
สอนไปก็จับอะไรไม่ได้

อาจารย์เลยเทศน์เสียเกือบครี่งชั่วโมง

แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า  เอ๊ะ  สมเด็จเจ้าฟ้าก็ต้องอยู่ในกลุ่มนี้
ในห้องนี้แน่  พยายามกวาดสายตาดูก็ไม่เห็นเพราะมีนักเรียนมากมาย
นั่งหน้าสลอนไปหมด  จนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร

พวกนิสิตใหม่ตกใจ  ที่อาจารย์ไม่ยอมสอนในชั่วโมงแรก  เอาแต่อบรมเรื่อง
ระเบียบวินัย  ต่างซุบซิบกันว่าอาจารย์คนนี้ดุจังเลย

สำหรับทูลกระหม่อมนั่นทรงตกพระทัย  เพราะตอนอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา
ไม่เจอะเจออาจารย์ดุแบบนี้

ทรงบ่นกับพระสหายที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า
"พอเข้าชั่วโมงแรกก็เจอดีเลยทีเดียว"
แต่ไม่ทรงขุ่นเคืองพระทัย  ทรงเห็นว่าการรักษาระเบียบวินัยในห้องเรียน
เป็นสิ่งจำเป็น  แม้นักเรียนจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ควรละทิ้งระเบียบเช่นนี้

พระอาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดากล่าวถึงทูลกระหม่อมว่า  ทรงเป็นผู้เพียรกล้า
ในการแสวงหาวิชาความรู้  ทรงตักตวงอย่างไม่รู้จักอิ่ม  ลำพังการเรียน
เฉพาะชัวโมงที่ลงทะเบียนไว้ก็กินเวลาสัปดาห์ละไม่น้อยอยู่แล้ว
และยังจะมีงานที่จะต้องทำมาส่งอาจารย์อีก  เพื่อน ๆ บ่นกันว่าปีแรกนี้เรียนหนัก
เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง  เซ็งบ้าง  ตามแต่จะบ่นกันไปกระปอดประแปด
แต่ทูลกระหม่อมไม่ทรงบ่นเลย  มีแต่จะคิดเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมอยู่เสมอ
อย่างไม่ทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย  ทรงสนุกกับการเรียน  เรียนวิชาปีหนึ่งแล้ว
พอว่างก็แอบไปเข้าห้องเรียนชั้นปริญญาโทขอฟังกับเขาด้วย
เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามพวกปริญญาตรีจะเข้าฟังของพวกปริญญาโท
ก็ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด  แต่อาจารย์ศักดิ์ศรีบอกว่า  สามสิบปีทีสอนมา
ไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาแอบฟังการสอนชั้นปริญญาโทเลย
เพิ่งมีคราวนี้แหละ  จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากในหมู่คณาจารย์

แต่ในหมู่นิสิตคณะอื่นนั้น  โจษขานกันแต่ว่ามีบุญตาได้เห็นทูลกระหม่อม
แล้วหรือยัง  จนมีนิสิตช่างสังเกตแนะให้ว่า  "คนไหนไว้เปียยาวก็คนนั้นแหละ"

...



คราวหนึ่ง  ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงแวะประทับ
ค้างคืนที่หน่วยราชการแห่งหนึ่ง  ซึ่งทรงคุ้นเคยกับบรรดาพนักงานเจ้าหน้าที่
เพราะได้เคยเสด็จไปประทับที่นั่นมาสามสี่ครั้งแล้ว

คราวนี้ทางหน่วยราชการมีเวลาเตรียมตัวรับเสด็จค่อนข้างนาน
จึงเตรียมต้นไม้ไว้ให้ทรงปลูก  อันเป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกัน
ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย  เท่ากับเป็นการเน้นให้
ประชาชนได้รู้สึกถึงคุณค่าของต้นไม้

ต้นไม้ที่หน่วยราชการแห่งนั้นเตรียมไว้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงปลูก  ได้แก่  ต้นมะขามหวานเพชรบูรณ์  ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นพันธุ์มะขามหวาน
รสดีที่สุดและราคาแพงที่สุด

ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านผู้อำนวยการหน่วยงานแห่งนั้นว่า
"ให้ปลูกมะขามหรือ ... นี่คงจะเห็นฉันตัวโค้ง ๆ งอ ๆ เหมือนมะขามหรือไง?"

ท่านผู้อำนวยการถึงกับสั่น  ครั้นกุมสติได้  จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
"พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ  มะขามนั้นเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงคงทน
อายุยืนมาก  ก็ประสงค์ว่า  อยากจะเห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ทรงพระเจริญมีพระชนมายุยืนนาน  เป็นที่พึ่งแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้า
และราษฎรชาวบ้านให้นานแสนนานพะย่ะค่ะ"

ถึงวาระสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   สยามบรมราชกุมารี
จะทรงปลูกบ้าง  ต้นไม้ที่หน่วยราชการแห่งนั้นจัดเตรียมไว้คือ  ต้นส้มโอ

สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งด้วยพระพักต์ยิ้มแย้มสดชื่นว่า
"นี่คงจะเห็นฉันอ้วนตุ๊สมเป็นส้มโอล่ะซี ..."

ท่านผู้อำนวยการหน้าซีด  นึกเคืองอยู่เหมือนกันที่ลูกน้องฝ่ายจัดหา
ช่างกระไรไปเลือกเอาส้มโอมา  นิ่งคิดหาทางออกอยู่ครู่หนึ่ง
แล้วกลั้นใจรีบกราบบังคมทูลว่า
"พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ  ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมให้ทรงปลูกส้มโอ
ก็เพราะชาวบ้านอำเภอนี้ถือว่าส้มโอ คือ บ่อเงินบ่อทองพะย่ะค่ะ ...
ปี ๆ หนึ่งทำเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน  ขึ้นชื่อว่าส้มโอ  จังหวัดไหน ๆ
ก็สู้ของที่นี่ไม่ได้  เป็นสมบัติอันล้ำค่ำทางการเกษตรพะย่ะค่ะ ...
ก็อยากจะให้พระบารมีคุ้มเกล้าฯ  อย่าให้ส้มโอที่อื่นมาแย่งเอาตำแหน่ง
ยอดส้มโอไปจากที่นี่พะย่ะค่ะ"

รับสั่งต่อด้วยพระอารมณ์ขันว่า
"รับรองต้องตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเหมือนคนปลูก"

พระดำรัสประโยคนั้นรู้กันไปทั่วทั้งจังหวัด  คุณลุงคุณป้าคุณย่าคุณยาย
น้ำหูน้ำตาไหล  ปีติปลาบปลื้มว่าทรงเป็นกันเองกับชาวบ้านจริง ๆ
ไม่ถือพระองค์เลย  และทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างนึกไม่ถึง
ยังเล่าขานกันต่อมาอีกหลายปี  เพราะเมื่อใครไปเห็นต้นส้มโอนั้น
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาดูแล  ก็จะเล่าให้ฟังด้วยความชื่นชมโสมนัส
และซาบซึ้งในพระเมตตาคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีอย่างไม่เสื่อมคลาย

...



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี
ทรง "กล้าสู้"  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจารย์ศักดิ์ศรีเข้มงวดและดุ  เมื่อมีการแบ่ง
กลุ่มย่อยฝึกเขียนภาษาไทยออกเป็นสิบกลุ่ม  พระสหายหลายคนบอกว่า
"ไปอยู่กลุ่มอื่นดีกว่า  กลุ่มอาจารย์ศักดิ์ศรีดุจะแย่"  แต่ทูลกระหม่อมกลับ
เลือกเข้ากลุ่มอาจารย์ยอดดุ  ทรงพอพระทัยที่จะอยู่ในกลุ่มอาจารย์ดุและเข้มงวด
เพราะทรงเชื่อว่าอาจารย์คงจะกวดขันการเรียนภาษาไทยของพระองค์ท่าน
ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ

นักเรียนกลุ่มนี้ถ้าเขียนภาษไทยไม่เข้าท่า  ผิดสำนวนผิดความหมาย
ผิดตัวสะกด  ก็ต้องโดน "ขึ้นกระดาน" กันเป็นประจำ  อาจารย์จะแจงสี่เบี้ย
ว่าผิดตรงไหน  ควรแก้ไขอย่างไรให้เป็นภาษาไทยที่ดี  บางคนถูก
"ขึ้นกระดาน" บ่อย ๆ เข้าก็รู้สึกอาย  แอบบ่นว่า "เข้ากรุ๊ปผิดเสียแล้วเรา"

แต่ทูลกระหม่อมไม่เคยทรงบ่นเลย  ทรงอดทนแบบถึงไหนถึงกัน
ไม่ยอมแพ้  จนในที่สุดในตอนสอบก็ทรงผ่านไปได้ด้วยคะแนนยอดเยี่ยม

เวลาสอบ  โปรดใช้ปากกาเส้นใหญ่  ถ้าเขียนผิดจะทรงใช้ยางลบ
ลบแล้วลบอีก  แต่พอเห็นใกล้จะหมดเวลาจะต้องส่งกระดาษคำตอบแล้ว
ก็จะเลิกใช้ยางลบ  แต่ใช้ปากกาขีดฆ่า  แล้วเขียนคำใหม่ลงไปเลย
ทรงตรวจทานกระดาษคำตอบอย่างพระทัยเย็น  และก็ไปส่งตอนกระดิ่ง
หมดเวลาทุกครั้ง  ไม่เคยรีบส่งก่อนจะหมดเวลาเลย

ในการวางพระองค์กับอาจารย์นั้น  จะทรงทำความเคารพครูบาอาจารย์ก่อนเสมอ
อาจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา  เขียนเล่าไว้ว่า  ท่านเคยเดินขึ้นบันได
ห้องโถงตึกอักษรศาสตร์ ๑  ขึ้นไปชั้นบน  ผมนึกภาพนี้ออก
เพราะตอนผมเรียนบัญชีจุฬาฯ  ก็เรียนที่ตึกนี้  เดินขึ้นเดินลงบันไดวันละหลายหน

ท่านอาจารย์ศักดิ์ศรีมัวแต่ตามองดูขั้นบันไดทีละขั้น  กลัวจะสะดุดหกล้ม
ได้ยินเสียงนิสิตหญิงพูดดัง ๆ ว่า
"สวัสดีค่ะ .. อาจารย์"  แล้วก็เดินสวนทางลงไป
ท่านอาจารย์ก็ตอบโต้โดยมิได้เงยหน้าขึ้นดู
"ฮื่อ ... สวัสดีจ้ะ"
แต่พอเหลียวกลับไปดูว่าใครเป็นคนทักเมื่อตะกี้นี้ก็ใจหายวาบ
เพราะผู้ที่เดินอมยิ้มลงบันไดไปนั้น  ก็คือ ... สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธร

อาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา เล่าว่า  โดนเข้าแบบนี้อีก ๒-๓ ครั้ง
ตอนขึ้นบันไดเหมือนครั้งแรกไม่มีผิด

เลยทำให้ทูลกระหม่อมทรงสนิทสนมกับอาจารย์ผู้นี้มาก
คราวหนึ่งเสด็จกลับจากอีสาน  ทรงเข้าห้องช้ากว่าเพื่อน
ก็ต้องเข้าไปประทับนั่งแถวหน้าสุด  ทรงค้นกระเป๋าใบใหม่อยู่ครู่หนึ่ง
แล้วก็หยิบห่อของยู่ยี่ห่อหนึ่งส่งให้อาจารย์  พร้อมกับตรัสว่า
"ของฝากจากอีสานค่ะ"

ของฝากนั้นคือ  ขนมตุ้บตั้บ  อันมีชื่อเสียงของอีสาน  ซึ่งทรงซื้อมาจากอุดร
ทำเอาอาจารย์ศักดิ์ศรีตื้นตันใจเป็นล้นพ้น  น้ำพระทัยนี้จะตรึงตราอยู่ในใจ
อาจารย์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

...



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #1 on: 30 October 2021, 21:49:18 »




อัจฉริยะในเชิงสร้างสรรค์
ศิลปะเริ่มฉายแสง

โดย  วิลาศ  มณีวัต

ความเป็นอัจฉริยะของมนุษย์เรา  เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม
หรือกรรมพันธุ์  ได้เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ปราชญ์มาช้านาน
สำหรับผู้เขียนเองเชื่อว่า  สิ่งแวดล้อมและการอบรมในวัยเด็ก
ย่อมจะมีส่วนมีอิทธิพลอยู่บ้าง  แต่กรรมพันธุ์หรือความสืบเนื่องทางสายเลือด
จากบุพการีนั้นสามารถที่จะส่งผลรุนแรง  สืบทอดมาถึงบุตรได้
ดังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

บิดาของจอห์น  ฮุสตัน  เป็นนักแสดงระดับศิลปินก็สืบทอดมาถึงจอห์น  ฮุสตัน ได้
ทำให้เขามีความรัก  ลุ่มหลงโลกของการแสดงมาแต่เด็ก  จนเขาได้เป็นผู้กำกับ
มือหนึ่ง  ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากฮอลลีวูด  และแล้วจอห์น  ฮุสตัน ก็สืบทอด
ความเก่งฉกาจอันนั้นต่อมายังลูกสาวของเขา  คือ อันเจลิกา  ได้สำเร็จอีกเหมือนกัน
ซึ่งเธอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการแสดง  ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองทันให้บิดาได้
เห็นและชื่นใจ

ในบางกรณี  การสืบทอดอัจฉริยะทางสายเลือดอาจกระโดดข้ามตอนไปบ้าง
ชั้นลูกยังมาไม่ถึง  แต่ไปสืบต่อถึงเอาในชั้นหลาน  ดังในกรณีของปราชญ์เบอร์ทรันด์  รัสเซลส์
ปู่ของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ปราดเปรื่อง  ชั้นลูกยังไม่แสดงความเป็นอัจฉริยะ
ให้ปรากฎ  แต่พอถึงชั้นหลาน คือ เบอร์ทรันด์  รัสเซลส์  ความเป็นอัจฉริยะยอดคน
ก็สำแดงเด่นชัดขึ้นมา  เขาเป็นนักคิดที่เด่นที่สุดแห่งยุค  มีแนวคิดอิสระ
และเป็นไปเพื่อสันติภาพและความอยู่รอดของมนุษยชาติ  มิไยสังคมที่เน่าเฟะ
ทั้งในอังกฤษและอเมริกา จะพยายามต่อต้านและบีบกดรังแก  โดยเอาตัวเบอร์ทรันด์  รัสเซลส์
ไปเข้าคุกถึงสองครั้ง  แต่เขาก็ดันทะลุฟันฝ่าออกมาได้ด้วยความเป็นอัจฉริยะ
จนได้รับรางวัลโนเบลไปทางด้านวรรณคดี

ความเป็นอัจฉริยะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้ฉายแสงออกมาเป็นครั้งแรกในระหว่างที่ยังทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา
ด้วยการเริ่มแต่งเพลงชื่อ  สัมตำ  ซึ่งคนธรรมดา  สติปัญญาธรรมดา
อายุเพียงเท่านั้นย่อมจะแต่งไม่ได้  การที่จะสามารถแต่เพลงขนาดนั้นได้
จะต้องมีองค์ประกอบเข้มข้นสองอย่าง คือ ต้องมีอารมณ์ขันอย่างเอกอุ
แทนที่จะทรงคิดแต่งเพลงดวงจันทร์ หรือ วันฟ้าสวย  กลับทรงคิดเอา "ส้มตำ"
มาแต่ง  แสดงถึงพระราชหฤทัยที่รักสามัญชน  ต่อไปภายหน้าจะเป็นที่รักของ
ชาวบ้านทั่วประเทศ  และองค์ประกอบข้อสอง  ก็คือ  การที่จะ "ปรุง" ส้มตำ
ให้เป็นเพลงขึ้นมาได้นั้น  จะต้องมีแววอัจฉริยะทางดนตรีอย่างพิเศษอยู่ในสายเลือด
คือ สืบทอดความเป็นศิลปินนักแต่งเพลงมาจากทูลกระหม่อมพ่อนั่นเอง

อารมณ์ขันนั้นย่อมเกิดจากการคิด  การมองที่ละเอียดกว่าคนอื่น ๆ
เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชอารมณ์ขันอย่างเยี่ยม  ทรงมองบุคคลและเหตุการณ์อย่างละเอียด
ทะลุปรุโปร่ง  และด้วยพระเมตตา  จึงได้ทรงอบรมให้พระราชโอรสและพระราชธิดา
รู้จักใช้ความสังเกตอย่างละเอียดลออมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  แม้กระทั่งเวลากลางคืน
ก็ยังทรงสอนให้รู้จักสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้า

ทางด้านสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  จะทรงดูแลวางพื้นฐาน
วัฒนธรรมไทยให้  โดยให้ทูลกระหม่อมอ่านวรรณคดี  ยืนโรงอยู่สามเรื่อง
คือ พระอภัยมณี  อิเหนา  และรามเกียรติ์  โดยเฉพาะเรื่องอิเหนานั้น
รับสั่งว่าคำกลอนไพเราะ  ให้ลูกท่องให้ขึ้นใจ เช่น  "ว่าพลางทางชมคณานก
โผผกจับไม้อึงมี่"  เนื่องจากได้ทรงอ่านกลอนเพราะ ๆ มาแต่เด็กนี่เอง
ทูลกระหม่อมจึงชอบเรียนวรรณคดีไทยและชอบแต่งกลอน

เด็ก ๆ ทุกคนย่อมชอบฟังนิทาน  การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นวิธีการอบรมปลูกฝัง
นิสัยที่ดีอย่างหนึ่ง  ทุกชาติจึงต้องมีหนังสือนิทานสำหรับเด็ก  เพื่อให้เด็กสนุกสนาน
เพลิดเพลินและรับเอาคติธรรม  เรื่องความสุจริต  การทำดีได้ดี  การช่วยเหลือเผื่อแผ่
แก่คนอื่น ๆ  ให้ค่อย ๆ ซึมเข้าไปในความนึกคิดที่รวมกันขึ้นมาเป็นอุปนิสัย
และบุคลิกภาพ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงความสำคัญ
ของนิทาน  จึงทรงเลือกนิทานสนุก ๆ จากหนังสือมาเล่าให้ฟัง  บางครั้งก็เป็น
นิทานชาดกในพุทธศาสนา  บางทีก็ทรงเล่าเรื่องจากประวัติศาสตร์
ประวัติบุคคลสำคัญและความรู้รอบตัวอื่น ๆ  และเพื่อให้สนุกยิ่งขึ้น
เมื่อจบรายการแล้วก็จะทรงทบทวนโดยให้มีการตอบปัญหา
ถ้าตอบถูกก็จะมีรางวัลให้หนึ่งบาท  อันการเล่านิทานของสมเด็จแม่นั้น
ทรงมีศิลปะปรุงแต่งให้มีรสชาติตื่นเต้น  โดยการเน้น  ระบายสี
หยิบยกเอาประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาเล่าถึงขนาดที่ว่า "ทูลกระหม่อมพ่อยังโปรดฟัง"

และมีการแถมท้ายให้ตื่นเต้นด้วยการทรงเล่าเรื่องผีซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงวิจารณ์ว่า
"แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี  พอไปโรงเรียนเพื่อน ๆ ก็มาหลอก
สมเด็จแม่ท่านว่า  ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ  ท่านจึงสำทับโดยการ
เล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด"

อีกข้อหนึ่งที่สมเด็จแม่ทรงดูแลมากก็คือ  ด้านพลานามัยและมารยาทการนั่งโต๊ะ
สำหรับพลานามัยหรือการออกกำลังกายนั้น  จะทรงมอบหมายให้ทูลกระหม่อมดูแลสนาม
ถอนหญ้าแห้วหมูและคอยตัดต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่าง ๆ  พอตกค่ำ ขึ้นมาเสวย
ก็เป็นเวลาที่จะทรงอบรมในเรื่องการนั่งโต๊ะอาหารแบบฝรั่ง

ด้วยการอบรมที่ดีพร้อมทุกด้านดังกล่าวนี้  เมื่อถึงวาระที่ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าศึกษาที่
รร. จิตรลดา  จึงตั้งต้นเรียนได้ดีและก้าวหน้าในการศึกษาไปได้อย่างรวดเร็ว
เพราะมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว

ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมต้นที่ รร. จิตรลดานี่เอง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จะเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร
ขณะกำลังเตรียมรายการเพลง  ทูลกระหม่อมก็ทรงบ่นขึ้นว่า
"จะร้องเพลงอะไรก็มีคนจองไว้แล้วทั้งนั้น... ถ้าจะต้องแต่งเพลงเสียเอง"

ข้อความนี้ถึงพระเนตรพระกรรณ  ก็ได้มีพระราชกระแสลงมาว่า  ให้ทูลกระหม่อมแต่งเพลง
สำหรับร้องเองเพลงหนึ่ง  ระหว่างนั้นเมื่อทรงว่างจากการท่องตำราเรียน
ก็โปรดการเข้าครัว  ทำอาหารเป็นงานอดิเรก  และอาหารจานโปรดก็คือส้มตำ
เพราะทำได้ง่าย ๆ  เครื่องปรุงไม่มีอะไรพิสดารมากนัก  แต่รสแซบดี

จึงได้ทรงเกิดความคิด  นำเอาตำราทำส้มตำมาเรียงร้อยให้คล้องจองกัน
คงจะแบบเดียวกับสุนทรภู่เคยเอารายชื่ออาหารมาเรียงร้อยให้ไพเราะคล้องจองกันว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง
อิมังปลาร้า
กุ้งแห้งแตงกวา
อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอก  ดอกมะปราง
เนื้อย่าง  ยำมะดัน
ข้าวสุกค่อนขัน  น้ำมันขวดหนึ่ง
น้ำผึ้งครึ่งโถ  ส้มโอแช่อิ่ม
ทับทิมสองผล
เป็นยอดกุศล  สังฆัสสะเทมิฯ"

ส่วนเพลงชาวบ้านชื่อ "ส้มตำ" ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี  มีเนื้อร้องว่าดังนี้

"ต่อไปนี้จะเล่า         ถึงอาหารอร่อย
คือสัมตำกินบ่อย       รสชาติแซบจัง
วิธีการก็ง่าย             จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี                วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ           ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ          ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม      ให้ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย     น้ำตาลปี๊บถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ       ใส่มะละกอลงไป
อ้ออย่าลืมใส่                กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า          ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี            ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว           เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว            น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ                   ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา           ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด                แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร           อร่อยแน่จริงเอย"

แม่ครัวบ้านผู้เขียน (วิลาศ  มณีวัต)  ได้ฟังเพลงนี้แล้วก็อด
วิจารณ์ในฐานะผู้ชำนาญการทำส้มตำไม่ได้ว่า
"ตอนที่มันสนุกถึงใจนะเจ้าคะ ... ก็ตอนที่ร้องว่า 'สับสับ  เฉาะเฉาะ' นั่นแหละ ...
มองเห็นภาพกำลังปรุงส้มตำจริง ๆ เลย ..."



เพลงนี้ปรากฎว่าแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วจนบริษัทสร้างภาพยนตร์รายหนึ่ง
ได้ทูลขอพระราชทานอนุญาตนำเอามาตั้งเป็นชื่อเรื่องภาพยนตร์เรื่องใหม่คือเรื่อง "ส้มตำ"

การแต่งเพลงจึงกลายเป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่งของพระองค์  ต่อมาในขณะประทับเครื่องบิน
ออกจากไทยไปอิหร่าน  ก็ได้ทรงแต่งเพลงปลาทองเถา

ยามเสด็จไปพักผ่อนหน้าร้อนริมทะเลที่หัวหิน  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐  ก็ได้มาอีกเพลง  ชื่อ
"อกทะเล"  มีเนื้อร้องว่าดังนี้

"นี่ก็ล่วงเวลาเห็นช้าแล้ว
พระจันทร์แคล้วหลบลี้หนีหน้าหาย
ได้ฟังเพลงร้องเล่นเย็นใจกาย
เย็นพระพายพัดเอื่อยเรื่อยเรื่อยเรียง

ได้อยู่ใกล้ใจคลายทุกข์เป็นสุขศรี
จนดนตรีที่ได้ยินจะสิ้นเสียง
ตัวจากไปใจยังอยู่เป็นคู่เคียง
คอยมองเมียงพบกันวันหน้าเอย"

...

หนึ่งในหลายภาพที่พสกนิกรชาวไทยไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนัก ทั้งในด้านภาพวาดฝีพระหัตถ์ และภาษาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระอักษรในบทดอกสร้อย ได้แก่ “ภาพที่ช้างตัวหนึ่งกำลังยืนสองขา ยื่นงวงเอื้อมออกไปเพื่อกินใบไผ่ที่อยู่ในระดับสูงกว่าตัวช้าง โดยที่ช้างตัวดังกล่าวได้ถูกล่ามด้วยปลอกขาและโซ่” และลายพระหัตถ์ที่พระองค์ได้ทรงพระอักษรเป็นบทดอกสร้อยนั้นปรากฏข้อความดังนี้
     
      “ช้างเอ๋ยช้างพลาย
      ร่างกายกำยำล่ำสัน
      กินไผ่ใบดกตกมัน
      ดุดันโดยหมายว่ากายโต
      มนุษย์น้อยนักหนายังสามารถ
      เอาเชือกบาศคล้องติดด้วยฤทธิ์โง่
      อย่าถือดีดังช้างทำวางโต
      จะยืนโซติดปลอกไม่ออกเอย”



...

“ช้างเอ๋ยช้างพลาย
     ร่างกายกำยำล่ำสัน
     กินไผ่ใบดกตกมัน
     ดุดันโดยหมายว่ากายโต
     มนุษย์น้อยนักหนายังสามารถ
     เอาเชือกบาศคล้องติดด้วยฤทธิ์โง่
     อย่าถือดีดังช้างทำวางโต
     จะยืนโซติดปลอกไม่ออกเอย”



...

นอกจากข้อคิดในเรื่อง “อย่าถือดีทำวางโตเหมือนดังช้าง” แล้ว ยังมีภาพฝีพระหัตถ์และอักษรลายพระหัตถ์ในบทดอกสร้อยในโปสการ์ดอีกหลายแผ่นที่ได้เตือนสติให้ผู้อ่านมีความขยันหมั่นเพียร และพึ่งพาตัวเอง มิให้รอการช่วยเหลือโดยที่เกียจคร้าน ดังตัวอย่างเช่น ภาพฝีพระหัตถ์ที่แสดง “เด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยกมือไหว้ขออาหาร น้ำ ปลา ฯลฯ จากพระจันทร์ที่กำลังยกมือมาอุดหูของพระจันทร์เอง” สำหรับบทดอกสร้อยลายพระหัตถ์ประกอบภาพนี้ได้แก่
     
      “จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า
      ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ
      ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ
      จันทร์จะรอให้เราก็เปล่าดาย
      ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง
      จะหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย
      แม้นเป็นคนเกียจคร้านทานกรีดกราย
      ไม่มัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย”



...

ในด้านความสามัคคี ความขยัน และการต่อสู้นั้น ทรงได้วาดภาพฝีพระหัตถ์เป็นรูปมดแดงและรังมดแดงที่อยู่ใกล้กับผลไม้ โดยที่ได้ทรงพระอักษรบทดอกสร้อยดังนี้
     
      “มดเอ๋ยมดแดง
      เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
      ใครกล้ำกรายทำร้ายถึงรังมัน
      ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที
      สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส
      ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี
      ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี
      ต้องต่อตีทรหดเหมือนมดเอย”



...

“มดเอ๋ยมดแดง
     เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
     ใครกล้ำกรายทำร้ายถึงรังมัน
     ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที
     สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส
     ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี
     ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี
     ต้องต่อตีทรหดเหมือนมดเอย”



...

ตุ๊กแก



...

ตุ๊กแก .



...


Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #2 on: 30 October 2021, 21:53:45 »


ทรงเยี่ยมไข้ด้วยภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ที่ทำให้คนไข้ยิ้มออก
โดย  วิลาศ  มณีวัต


ภาพฝีพระหัตถ์ภาพนี้ได้พระราชทานแก่ ดร. กานดา  ณ ถลาง
พระอาจารย์ที่ปรึกษา  ในขณะที่ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมที่บ้าน ดร. กานดา
ที่สุขุมวิท ซอย ๑๘  ซึ่งตอนนั้นอาการป่วยของ ดร. กานดาค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงแล้ว
เพราะตับอักเสบและท่อน้ำดีอุดตัน  และเมื่อผ่าตัดท่อน้ำดี  ก็พบว่าเป็นมะเร็งที่หัวตับอ่อน
ด้านใน  แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ก็ทรงหวังว่าการ์ดเยี่ยมไข้
ใบนี้คงจะช่วยให้พระอาจารย์ยิ้มได้บ้าง  เป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่แสดงถึงพระอารมณ์ขัน
อีกแง่หนึ่งของพระองค์

ทรงรักพระอาจารย์ท่านนี้มาก  ระหว่างที่ ดร. กานดาป่วย  ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเป็นการ
ส่วนพระองค์ถึง ๗ ครั้ง  และทุกครั้งทรงมีแต่เรื่องที่ชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจมาเล่า
พระราชทานคนป่วย

บางครั้ง ดร. กานดาก็ฉวยโอกาสถวายงาน  ถวายความเห็นเกี่ยวกับปริญญานิพนธ์ของพระองค์ท่าน

ทุกครั้งที่เสด็จฯ เยี่ยม  ได้พระราชทานดอกไม้  อาหารที่ชอบและไม่แสลง  เหนือสิ่งอื่นใด
คือน้ำพระทัยเอื้ออาทรอันหาที่เปรียบมิได้  ดร. เอกวิทย์  ณ ถลาง  ผู้สามีกล่าวว่า
"คุณนุ้ย (ชื่อเล่นของ ดร. กานดา)  มีความสุขมากทุก ๆ ครั้งที่เสด็จ  และจะสบายใจต่อมา
อีกหลายวัน  นายแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคเคยคาดคะเนไว้ว่า  คุณนุ้ยจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณหกเดือน
หลังการผ่าตัดและพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว  แม้โรคร้ายจะรุกเร้ารุนแรงขึ้นตามลำดับเพียงไรก็ตาม
ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ  ปรากฏว่าเธออยู่มาได้เกือบเก้าเดือน..."



...

หมาต้มเค็มและซุปตุ๊กแกของยูนนาน
โดย  วิลาศ  มณีวัต

เมื่อเสด็จถึงยูนนาน  ท่านผู้ว่าฯ มณฑลยูนนานได้จัดอาหารคาวหวาน ชั้นเยี่ยมยอดมาถวาย 
รวมทั้งหมาต้มเค็ม ซึ่งในเมนูเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า braised dog meat 
ในโต๊ะเสวยนั้นมีคนปีจอถึงห้าท่าน  คือ คุณพูนเพิ่ม  ไกรฤกษ์  ท่านผู้หญิงมณีรัตน์  บุนนาค 
ท่านประธานกรมมการปฏิวัติและภรรยา  และอาจารย์สารสิน  ต่างคนต่างก็มีเหตุผลแยบคาย
ที่จะไม่ขอรับประทานเนื้อหมา 
โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์อ้างว่า เป็นคนปีจอ  จึงไม่ยอมรับประทานหมา 
ท่านผู้หญิงสุประภาดา  เกษมสันต์  บอกว่า เป็นคนรักหมา  ถึงแม้จะไม่ใช่คนปีหมา  แต่ก็ไม่อยากจะกินหมา 
"ส่วนคนอื่นนั้น  แม้จะปีหมา ข้าพเจ้าก็เห็นเคี้ยวหมาตุ้ย ๆ"  ทรงเล่าไว้ในหนังสือด้วยพระอารมณ์ขัน 
"ตัวข้าพเจ้าเอง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ได้กินหมา  (อย่างเป็นทางการ)  จึงไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควร"

ทรงเล่าต่อไปถึงประสบการณ์ครั้งแรกว่า

"ครั้งแรกนั้นข้าพเจ้าได้รับประทาน (เนื้อหมา)  ตอนที่ไปโครงการชลประทาน แถว ๆ จังหวัดเชียงราย 
มีพวกฮ่อเขาไปซื้อหมาของอีก้อ  แล้วต้มเค็มกับเครื่องยาจีน ซึ่งเขาบอกว่าแพงมาก 
ตอนนั้นข้าพเจ้ารับประทานไป ๕ ชิ้น  รู้สึกว่าไม่อร่อยเป็นพิเศษ เพราะเนื้อหมามีลักษณะคล้าย ๆ เนื้อหมู 
มีมันมากกว่า  แล้วเหนียวด้วย  เนื้อหมาทีจีนอร่อยดีมากไม่เหนียว  รสกลมกล่อม  ข้าพเจ้าจึงรับประทานหมดจาน 
คนที่ดีใจว่าได้รับประทานหมาอีกคน คือคุณหมอดนัย  คราวที่แล้วรู้สึกว่าเสียเปรียบข้าพเจ้าเพราะไปออก
หน่วยแพทย์เสียอีกทางหนึ่ง
ผู้ที่ไม่ยอมรับประทานหมาอีกคนคือป้าจัน  เพราะไปเห็นหมาดำกระดุกกระดิกอยู่เรื่อย ๆ
ท่านผู้ว่าฯ อธิบายว่า  สุนัขที่ใช้ ต้องมีอายุ ๕-๖ เดือน  เป็นหมาดำถึงจะดี

"สิ่งที่รับประทานกับหมาดำ  เป็นซุปที่เขียนไว้ในเมนูว่า 'ซุปไก่ตุ๋นในหม้อ'  ต้องอธิบายนิดหน่อยว่า
หม้ออันนี้เป็นหม้อพิเศษ  ซึ่งใช้ทำไก่อัด (ทั้งตัว)  ใคร ๆ เช่น ป้าไล  ตุ๋ย  ต่างซื้อกันใหญ่
ท่านผู้ว่าฯ กระซิบว่า  นี่ไม่ใช่ไก่  แต่เป็นตุ๊กแก  ข้าพเจ้าเป็นคนสำคัญก็ได้กินมากหน่อย
คนอื่น ๆ ได้กินแต่น้ำซุปหรือเนื้อไก่เท่านั้นแหละ  ไม่ใช่ตุ๊กแกจริง ๆ  ว่าแล้วก็หันไปสั่งลูกน้อง
ให้เลือกเฉพาะตรงที่เป็นตุ๊กแกมาให้ข้าพเจ้าถึงสองถ้วย  เนื้อตุ๊กแกในซุปนี้ไม่ค่อยน่าเกลียด
เขาลอกหนังออกหมดแล้วหั่นเป็นท่อน ๆ  ที่มีขาติดเขาก็ตัดออก  ท่านผู้ว่าฯ อธิบายวิธีรับประทาน
ว่า  กระดูกตุ๊กแกก็รับประทานได้  แต่ขอให้เคี้ยวละเอียด ๆ  ให้รับประทานมาก ๆ เพราะเป็น
ประโยชน์ต่อร่างกาย  ช่วยระบบประสาทและแก้หืด  กล่าวพลางสั่งลูกน้องว่าอะไรอีกไม่ทราบ
ลูกน้องคนนั้นหายไปและกลับมาพร้อมกับตุ๊กแก (เป็น ๆ) ตัวหนึ่ง  ผูกติดไม้มาส่งให้ข้าพเจ้า
ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้าก็ไม่เคยจับตุ๊กแก  รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่ามันน่าเกลียดน่ากลัว  ในกระบวนสัตว์
ต่าง ๆ ให้น่าเกลียดแสนน่าเกลียด  เช่น  ไส้เดือน  กิ้งกือ  หนอน  แม้แต่บุ้งก็เคยจับ  กลัวอยู่สอง
อย่างคือ  ตุ๊กแกกับคางคก  วันนั้นเลยลองจับตุ๊กแก  เขาเตือนว่าอย่าจับตุ๊กแกที่ปากเพราะมันดุมาก
อาจจะกัดเอาได้  ให้จับที่ตัวตุ๊กแก  ที่เขาเอามาให้ดูนั้นตัวไม่โตมากนัก  ยาวประมาณคืบหนึ่ง
เป็นสีเทา  หนังเรียบกว่าตุ๊กแกบ้านเรา  ตาสีเหลือง  เมื่อข้าพเจ้าดูเสร็จแล้วเขาก็เอาไปโชว์ตาม
โต๊ะต่าง ๆ  ภุชงค์ถึงกับเอาแว่นขยายขึ้นมาส่อง  ได้ความว่ากสิณให้ตุ๊กแกอ้าปากและตรวจดูคอ
แอ๋วจัดการขอตุ๊กแกมาให้กสิณเลี้ยง  ซึ่งกสิณก็ได้แก้มัดแล้วเอาไปปล่อยไว้ที่ก้อนหิน
ตกลงกสิณเป็นคนเดียวที่ได้ทำบุญในวันวิสาขบูชา  โดยการปล่อยตุ๊กแกแทนการปล่อยนก
ปล่อยปลาแบบธรรมดา ๆ  ตุ๊กแกนี้เป็นของแพงราคาตั้ง ๕-๖ หยวน  เล่นเอาข้าพเจ้าอยากขาย
ตุ๊กแกส่งออกนอก  เมื่อข้าพเจ้าเด็ก ๆ ได้มีโอกาสไปเมืองอังกฤษ  เห็นตุ๊กแกขายในร้านขายสัตว์
ราคาแพงถึงตัวละสองปอนด์  เล่นเอาอยากขายตุ๊กแกอยู่พักหนึ่ง  ได้ทราบว่าอีสานมีคนจับตุ๊กแก
ส่งขายนอกประเทศเหมือนกัน"



...

ทรงพรรณนาต่อไปเพื่อเป็นการับรองคุณภาพและรสชาติของตุ๊กแกยูนนานว่า

"รสชาติของตุ๊กแกนี่ดีมาก  คล้าย ๆ ไก่แต่เนื้อละเอียดกว่า  ไม่ทราบว่าตุ๊กแกของ
ข้าพเจ้าที่เมืองไทยจะอร่อยหรือเปล่า  ตัวของข้าพเจ้าโตมาก  ตัวสีออกฟ้า ๆ มีจุดสีแสด"

ที่รับสั่งถึง "ตุ๊กแกของข้าพเจ้า" คงจะหมายถึงตุ๊กแกที่อยู่ประจำในวังสวนจิตรฯ

ทรงอธิบายประกอบการเสวยตุ๊กแกว่า

"การกินอะไรประหลาด ๆ นี้  เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสัมพันธไมตรี  เราได้รับการอบรมว่า 
การไปต่างประเทศทุกครั้งเป็นราชการ  ไม่ได้ไปเที่ยวเล่น  ฉะนั้นก็ไม่มีสิทธิอยากทำอะไร
ไม่อยากทำอะไร  ไปหรือไม่ไปต้องแล้วแต่เจ้าภาพ  หน้าที่ของเราคือเป็นตัวแทนของประเทศ
ที่จะนำเอาความปรารถนาดีของชาวไทยไปสู่ประเทศเจ้าภาพและของประเทศเจ้าภาพสู่ประเทศไทย
พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือบางประการเท่าที่จะทำได้...

"สำหรับประเทศจีนนี้  การต้อนรับของเขาก็เหมือนคนไทยรับแขก  คือ  ดูแลทุกข์สุขของเราทุกอย่าง
และไม่ได้บังคับขู่เข็ญแต่ประการใด  ผู้ทีกินหมาและตุ๊กแกก็ด้วยสมัครใจ  ไม่ได้มีใครคะยั้นคะยอให้
ชิมเหมือนบางแห่ง

"ตอนกลางคืนหมาเห่าจนดึก  ข้าพเจ้าใจหายแทนหมา  กลัวจะถูกกินพรุ่งนี้!

"พูดถึงหมา  ป้าไลบอกว่า  ไม่ควรเรียกว่าหมาต้มเค็ม  ควรเรียกว่าหมาพะโล้  เพราะใส่เครื่องพะโล้
กลิ่นหอม ๆ  ถ้าต้มเค็มก็ไม่ใส่กลิ่น  ป้าไลปรารภว่าหมานี่อร่อยจริง ๆ  หมูนี่ยิ่งเคี่ยวยิ่งแข็ง แต่หมานุ่มดี"

เรื่องหมาและตุ๊กแกนี้  เป็นประเด็นหยอกล้อกันอยู่หลายวันในขบวนตามเสด็จ
จึงได้ทรงสรุปด้วยพระอารมณ์ขัน  ปิดรายการครึกครื้นช่วงนี้ว่า

"เรื่องหมาและตุ๊กแกนี้  ข้าพเจ้าถูกพรรคพวกโจมตีหาว่าไปบอกคนจีนให้จัดให้รับประทาน
บางคนบอกว่าตั้งแต่ออกจากปักกิ่ง  ไม่มีความสุขใจเลย  เป็นความสัตย์จริงว่า
ข้าพเจ้ามิได้ไปสั่งใครอย่างนั้นเลย  เพียงแต่พูดเล่น ๆ เรื่องการกินตุ๊กแกเท่านั้น 
สังเกตดู ฝ่ายจีนที่มากับเราจากปักกิ่ง  ไม่มีใครอยากรับประทานสัตว์สองชนิดนี้เลย 
ดูเหมือนว่าจะเป็นอาหารของคนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูนนาน"



...

ลูกภารโรงมาเฝ้า

ม.จ. สุภัทรดิศ  ดิศกุล ทรงเล่าต่อว่า

"มีเด็ก ๆ ลูกภารโรงและคนแถวนั้นมาเฝ้า  มาแวดล้อม  ท่านก็แจกขนม
เด็กพวกนั้นก็ติดใจ  ดังนั้นเวลาเสด็จมา  พวกนั้นจะมารับเสด็จ  ก็เก็บ
ดอกไม้แถวนั้นนั่นเองมาถวาย  ท่านก็รับ  มีบางคนที่ยากจนท่านก็ทรงอุปถัมภ์ 
ท่านรับสั่งถามว่า  'นี่เข้าโรงเรียน  เรียนหนังสือหรือยัง' บางคนก็ทูลว่า 'ยัง' 
ท่านรับสั่งถามว่า 'ทำไม'  เด็กก็ทูลตอบว่า'พ่อยากจน' 
บางทีท่านก็ทรงสั่งให้ไปเรียน  ออกค่าเล่าเรียนพระราชทาน

"ปีแรกเวลาเรียน  ท่านเสด็จไปเรียนที่ตึกสถาปัตย์  เพราะตึกโบราณคดียังสร้างไม่เสร็จ 
เขาก็ถวายให้ท่านประทับห้องปรับอากาศ  ทรงเรียนในห้องปรับอากาศ 
ท่านรับสั่งว่า  'อยากจะเรียนเหมือนนักศึกษาธรรมดา'
ดังนั้น  พอตึกโบราณคดีเสร็จ  เขาก็ย้ายท่านมาเรียนตึกโบราณคดี 
มาทรงเรียนห้องธรรมดาที่มีแต่เพียงพัดลม

"พอท่านสอบรูปผมตก  ผมก็ปากไม่ดี  ผมก็เที่ยวคุยให้ใครต่อใครฟังว่า
สมเด็จพระเทพฯ สอบรูปผมตก  คงมีคนไปกราบทูลท่าน  ท่านก็ต่อว่าผมว่า
'สอบรูปท่านอาจารย์ตก  แม่ค้าขายของรู้ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ไปจนถึงบางลำภู'

ผู้ฟังทูลถาม:  "ถ้าจะเขียนลงในหนังสือจะน่าเกลียดไหม"

ม.จ. สุภัทรดิศ  ดิศกุล:  "ไม่น่าเกลียด  ให้เขียนลงได้ว่าสอบรูปตก  แต่ว่า
ต้องทรงทำรายงานด้วย  และเมื่อรวมกันเข้าก็ได้  เพราะคะแนนวิชาของผมคิด ๕๐ : ๕๐"

ผู้ฟังทูลเสริม:  "ควรจะแสดงถึงปุถุชนว่า พลาดได้บางอย่าง"

ม.จ. สุภัทรดิศ  ดิศกุล:  "เมื่อผมฉลองอายุ ๖๐  ท่านไม่ทรงสบาย แล้วท่านทรงมีลายพระราชหัตถ์ 
พระราชทานว่า  'ไม่สบาย  มาไม่ได้'  และทรงวาดรูปมาพระราชทาน  วาดเป็นรูปช้างกำลังนอน
ห่มผ้าอยู่ในเตียง  และงวงชูของขวัญขึ้นมา  ข้างล่างทรงเขียนว่า 'ถวายท่านอาจารย์' 
ผมใส่กรอบไว้ในห้องทำงาน  เป็นรูปสี  ท่านทรงเขียนเอง  และระบายสีเสร็จ  ท่านโปรดช้าง"



...

ทรงเป็นเลขาฯ ประจำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ท่านทรงสนพระทัยของโบราณ... ทรงนำความรู้เรื่องจารีตโบราณ มาใช้ในกิจการต่าง ๆ 
งานท่านมาก  มีคนอยากตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ของท่าน  ท่านยังรับสั่งว่า  'ต้องขอแก้ไขเสียก่อน' 
จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้แก้

แม้ว่าจะทรงเปรื่องปราด  แต่ว่าพระราชภารกิจอย่างอื่นมีอยู่มาก
ทำให้ท่านไม่สามารถจะทรงใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาอย่างเต็มที่
ทรงเป็นเลขานุการประจำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงเรียน
การสำรวจ  ชลประทานน้ำท่วม  ทำหมดทุกอย่าง  ศึกษาทุกด้าน
ทรงเรียนที่ AIT ด้วย

"มีคนพูดว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงชอบบรรทมหลับเวลาเสด็จงาน
ความจริงไม่ทรงหลับหรอก  ทรงเคลิ้ม ๆ ไปเท่านั้น  เพราะทรงตื่นได้ทันเวลาทุกที 
มีคนแก้แทนว่า  'เมื่อกี้ว่าจะทูลอะไร  เห็นท่านกำลังพักพระเนตร' 
ท่านตอบว่า  'ไม่ใช่หรอก  หลับเลย'

"ท่านไม่ได้เสด็จมาในวันเกิดผมอายุครบหกสิบดังที่กล่าวมาแล้ว
ผมพิมพ์หนังสือถวายท่าน  แต่งเป็นกลอนข้างหน้า  ถวายพระพรว่า

"ถวายพระพรทูลกระหม่อมจอมประชา
ไร้โรคาประสบสุขทุกสมัย
อย่าประทับเอนพระองค์ทรงหลับใน
ดุจดังใจข้าพระพุทธเจ้าน้อมเกล้าฯ เทอญ"

"ต่อมาได้เข้าเฝ้า  ท่านตรัสว่า  'ไอ้พรนั้นน่ะ  ใช้ไม่ได้เลย'  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ 
เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ
สมเด็จพระเทพฯ ก็เสด็จมา  ทรงหลับพระเนตรอีก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามว่า

'อาจารย์ห้ามไม่ให้หลับหรือเปล่า'

สมเด็จพระเทพฯ ทูลตอบว่า  'ห้าม... ห้ามเป็นกลอน'

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า  'แล้วหลับเป็นกลอนหรือเปล่า'

"สมเด็จพระเทพฯ กับผมยั่วเย้ากันได้  ไม่ทรงถือสา  วันก่อนคือวันฉัตรมงคล 
ทรงอุ้มหลานมา  (พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ)  ทรงอุ้มมาและโปรดให้
เอาพระเก้าอี้มาตั้งข้าง ๆ  แล้วก็ทรงดูแลหลาน  เวลาพระสวด ก็ไม่ทรงหลับ 
ไม่งั้นท่านรับสั่งเองว่า 'พระสวด  พระฝรั่ง  พระไทย หลับทั้งนั้น'  แต่วันนี้ไม่ทรงหลับ 

พอผมเดินผ่านไปก็ทูลว่า  'อัอ - วันนี้ไม่ทรงหลับ  เพราะว่าทรงเลี้ยงหลาน' 
พอผมไปเลี้ยงพระกลับมาเห็นท่านประทับอยู่ 
ท่านรีบรับสั่งบอกว่า  'หลานหลับไปแล้ว  หลานหลับไปแล้ว'

"...เวลาท่านทอดพระเนตรเห็นผม  ก็มักเสด็จมารับสั่งด้วย 
เมื่อทอดพระเนตรเห็นที่ไหนต้องคม (ไหว้) ทุกครั้ง  ไม่เคยเลยที่ไม่ทรงคม 
ต้องคมทุกครั้ง  คงเป็นเพราะทรงนับถือว่าเคยเป็นอาจารย์..."



...

สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นราชินีกุลพระองค์หนึ่งที่พสกนิกรรักและศรัทธามากด้วยเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การที่พระองค์ท่านทรงดำรงพระองค์ง่ายๆเรียบง่าย แย้มพระสรวลง่ายจนทำให้ผู้พบเห็นพลอยสบายใจและมีกำลังใจ แต่เบื้องหลังพระอริยาบถสบสบายๆนั้น สมเด็จพระเทพฯเป็นเจ้านายที่ทรงงานหนักและทรงมีพระราชกรณียกิจหลากหลายเกินพรรณา ถึงกระนั้นพระองค์ทรงมีพระอารมณ์ขันที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังอย่างเบิกบานไม่รู้สึกอึดอัด
   
ดร.บุษกร กาญจนจารี  อดีตพระอาจรย์ที่ปรึกษาของสมเด็จพระเทพฯเเล่เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับสมเด็จพระเทพฯเล่าว่า เวลาอยู่คณะท่านสนุกมากค่ะ เช่นทรงฟังเล็คเชอร์ไปแล้วก็ทรงวาดการ์ตูนสมุดของท่านจะเต็มไปด้วยการ์ตูนทรงวาดเป็นหน้าอาจารย์ก็มี เช่น อาจารย์ฉลวย ซึ่งขึ้นชื่อว่าดุมาก ทรงวาดหน้าอาจารย์ แล้วก็ทรงวาดการ์ตูนต่างๆ นกฮูก สนู้ปปี้ เป็นต้น

ขณะทรงรับการศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ สมเด็จพระเทพฯทรงเป็นที่รักของเหล่านิสิตอาจารย์เพราะพระองค์ท่านทรงมีน้ำพระทัยกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเหล่ามิตรสหาย รุ่นพี่รุ่นน้องหรือแม้กระทั่งนักการภารโรงหรือแม้แต่เด็กชายที่ขายขนม เพียงทราบว่าพวกเขาไม่สบายท่านก็ส่งคนตามไปถึงบ้าน ไปสืบหาบ้านพาไปรักษา เด็กคนหนึ่งเป็นสารพัดโรคท่านก็ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมปภ์   ท่านทรงใช้ชีวิตเหมือนนิสิตธรรมดา เช่นวิ่งจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง ห้องทรงประทับส่วนพระองค์ทรงประทับเป็นเพียงห้องเล็กๆ


ในหลวงทรงมีรับสั่งผ่านทางอธิบดี มาถึงท่านคณบดีว่าไม่โปรดให้ถวายการต้อนรับเป็นพิเศษ หากไม่มีการจัดห้องเล็กๆและธรรมดาถวายเลยก็จะมีผู้ไป คอยมุงชมพระบารมีกันจนไม่มีบรรยากาศส่วนพระองค์และเพื่อให้ทานมีที่ทรงพระพระอักษรเงียบๆ
           
รุ่นน้องคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระเทพฯทรงซื้อฝรั่งดองเทียมมี่ประจำ เทียมมี่จะเก็บเงินที่ทรงซื้อไว้บูชา ส่วนแขกขายถั่วท่านโปรด รับสั่งให้ร้องเพลงให้ฟังก่อนไม่งั้นไม่ทรงซื้อ อาบังก็ร้องไม่ยอมหยุด             

เจออารย์ท่านใดสมเด็จพระเทพฯทรงไหว้ทุกคน ทรงมีพระอารมณ์ขันมากมาย
อาจารย์บางคนเกรงพระบารมีจึงคอยหลบท่าน ท่านก็ทรงวิ่งดักหน้าดักหลังทรงไหว้จนได้ 
     

คัดลอกมาจากคอลัม วังวนชีวิต ของดารณี สุนทรนนท์
จากหนังสือ ย้อนรอยกรรม ของคุณอาทรงพล มากชูชิต  (ศิษย์วัดบางพระ)




----------------------------------------



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,454


View Profile
« Reply #3 on: 30 October 2021, 22:56:06 »


ขบวนเสด็จ ที่น่ารักที่สุดในโลก




อิจฉาลุงคนขับรถ



ทรงงานดึกมาก ท้องฟ้าก็ค่ำมืดแล้ว







Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.081 seconds with 19 queries.