ppsan
|
|
« on: 28 October 2021, 08:40:07 » |
|
"แกล้งดิน .." "แกล้งดิน .." โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ "พลิกฟื้นปฐพี"
หลายจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย เฉพาะอย่างยิ่ง ทางภาคใต้ตอนล่าง เช่นนราธิวาส มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกลาดลงสู่ที่ราบทางทิศตะวันออกจนติดทะเล พื้นที่ตรงกลางเป็นที่ลุ่มต่ำคล้ายแอ่งกระทะมีน้ำท่วมขังตลอดปี เรียกว่า “ป่าพรุ”
น้ำในป่าพรุมีซากอินทรียวัตถุที่ไม่สลายตัวทับถมกันหนาประมาณ 50-200 ซม. มีลักษณะเป็นดินหยุ่น ๆ ส่วนดินที่อยู่ถัดจากชั้นอินทรีย์ลงไปจะเป็นดินเลนตะกอนทะเลสะสมอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้น้ำในป่าพรุกลายเป็นกรดจัดไปด้วย
หนำซ้ำ ในฤดูฝน น้ำฝนจากภูเขาไหลเข้าท่วมทั้งป่าพรุ และพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรรอบ ๆ พรุ เสียหายเป็นจำนวนมากทุกปี ทั้งยังถูกซ้ำเติมจากการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ยิ่งทำให้ผลผลิตตกต่ำ.. พื้นที่หลายหมื่นไร่จึงถูกทิ้งร้าง…. ราษฎร และเกษตรกร ต่างประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วทุกท้องถิ่นเป็นประจำทุก ปี จึงทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงปัญหาความทุกข์ยากเหล่านั้น และโดยที่ทรงยึดมั่นในพระราชหฤทัยอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกข์ สุข ของราษฎร คือ ทุกข์ สุข ของพระองค์ท่าน จึงทรงหาทางช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ
มีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมรอบป่าพรุเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด โดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ แต่เมื่อทำการระบายน้ำออกจากพรุ พบว่าดินมีสภาพเป็นกรดจัด หรือที่เรียกว่า ดินเปรี้ยว ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ จึงทรงตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส “เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าขบวนการเปลี่ยนแปลงดินเปรี้ยวจัดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ดีพอเสียก่อน ..ก่อนที่จะศึกษาหาวิธีการปรับปรุงใช้ประโยชน์ได้ต่อไป”
ดินเปรี้ยวจัด เป็นดินที่มีเลนตะกอนทะเลอยู่ชั้นล่าง มีสารไพไรท์ อยู่ปริมาณสูง เมื่อดินอยู่ในสภาพที่มีน้ำแช่ขัง จะคงรูป ดินมีสภาพเป็นกลาง แต่เมื่อน้ำแห้ง อากาศแทรกซึมลงไปในดิน ออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับสารไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน (H2SO4) และสารประกอบจาโรไซท์ [ KFe3 (SO4)2 (OH6)] มีสีเหลืองซีดคล้ายสีของฟางข้าว ดินแปรสภาพเป็นกรดจัด เมื่อฝนตกก็จะละลายปนกับน้ำฝนขึ้นมาอยู่ที่หน้าดิน ครั้นเมื่อดินเปียกอีก กรดกำมะถันจะแพร่กระจายไปทั่วหน้าตัดดิน การที่ดินแห้งและเปียกสลับกัน สารไพไรท์จะเกิดปฏิกิริยาปลดปล่อยกรดกำมะถันขึ้นมาอีกและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีเหล็ก อลูมินั่ม แมงกานีส ละลายออกมามาก จนเป็นพิษ ต่อพืชและจุลินทรีย์ในดิน ในขณะที่แร่ธาตุบางอย่าง เช่น ฟอสฟอรัส ถูกตรึงไว้ พืชดูดเอาไปใช้ไม่ได้ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร น้ำมีรสฝาด ไม่เหมาะสมต่อการเกษตร หรือใช้อุปโภคบริโภค
ในปี พ.ศ. 2527 ด้วยพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน โครงการแกล้งดิน ตามพระราชดำริ เพื่อทำการปรับปรุงดินเปรี้ยว หลักการของโครงการแกล้งดิน คือการทำให้ดินเปรี้ยว เปียกและแห้ง ..สลับกันไปปีละหลาย ๆ ครั้ง มากกว่ากระบวนการทางธรรมชาติ เพื่อให้ดินปลดปล่อยสารไพไรท์ออกมาให้มากที่สุด
“ ...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปีและที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 16 กันยายน 2527
ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ในนำผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ไปดำเนินการยังพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดอื่น ๆ เช่นที่จังหวัดนครนายก ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน และเพราะการนำโครงการแกล้งดินมาขยายผล จำต้องมี
น้ำจืดใช้อย่างพอเพียง ทั้งเพื่อการปรับปรุงดินเปรี้ยว การเพาะปลูก และการรักษาระดับน้ำใต้ดิน เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่เพิ่งสร้างเสร็จและเก็บกักน้ำได้แล้ว จึงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกโครงการหนึ่งในการปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศ
แนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานในการปรับปรุงที่ดินไร้ประโยชน์ ให้สามารถนำมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่งนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ แล้วทรงประมวลเป็นทฤษฎีในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และฟื้นฟูทรัพยากรดินได้อย่างมหัศจรรย์
..... ขอขอบคุณภาพจากเฟส Napan Sevikul
https://www.facebook.com/napan.sevikul?hc_ref=ARShPURD09ZHULZVPsjGvfeflLjQhhEEJ5JcdXYiTzvf2NSj_3UMlVFmT3neWp-yfnE Napan Sevikul
https://www.facebook.com/napan.sevikul/posts/10212044260440812 Napan Sevikul 22 สิงหาคม 2017 · เทศบาลนครปากเกร็ด · "แกล้งดิน .." โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ "พลิกฟื้นปฐพี"
|