Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
01 November 2024, 17:26:06

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,369 Posts in 12,806 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  เหนือเกล้าชาวสยาม  |  พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแห่งแผ่นดินสยาม (Moderator: Smile Siam)  |  พระราชานักดนตรี
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: พระราชานักดนตรี  (Read 630 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,211


View Profile
« on: 16 October 2021, 10:08:29 »

พระราชานักดนตรี





ประชาชื่น
ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ นักดนตรีของพระราชา
ผศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ : ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่ทรงใช้พักพระราชอิริยาบถ?

ใช่ครับ ในยุคต่อมาทรงใช้ดนตรีเป็น “ยา” รักษาจิตใจ ช่วงที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชประชวรมาก เราก็ใจเสีย บทบาทของพวกเรา อ.ส.วันศุกร์ เราก็เล่น
ดนตรีถวายท่าน เราทำทุกอย่างจะเป็นอะไรก็ได้ ในช่วงนั้นสมเด็จพระเทพฯท่านก็ทรงมาร่วมด้วย ทรงร้องเพลง ทรงเล่นทุกอย่าง เล่นไวบราโฟน (ระนาดฝรั่ง)
ทรงกีตาร์ ทรงทำหมด ช่วงเวลานั้นเราใช้ดนตรีเป็นยา


– สมเด็จพระบรมฯได้เข้าร่วมวง?

ครับ คือแต่ละพระองค์จะมีเวลาเสด็จเยี่ยมเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนวง อ.ส.วันศุกร์ จะได้เข้าเฝ้าเวลาไหนแล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้นในช่วงแรกๆ ที่เราไปเฝ้าเราจะไป
แต่เช้า 7-8 โมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ท่านเสด็จ เราก็จะได้เฝ้าท่านด้วย แล้วเวลาที่โปรดให้เข้าเฝ้าได้ก็จะเลื่อนมาเรื่อยๆ มาเป็นตอน 10-11
โมง ก็จะเป็นเวลาที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯเข้าเฝ้า เราก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอยู่บ้าง ท่านก็ยังได้ทรงร้องเพลงคริสต์มาสถวายด้วยกัน ทรงน่ารักมาก ทรงประทับอยู่
ที่พื้นข้างๆ ตอนหลังรับสั่งให้เข้าเฝ้าเวลาบ่าย 3-4 ซึ่งเป็นเวลาที่สมเด็จพระเทพฯเข้าเฝ้า


– ทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ได้ทรงดนตรีถวาย?

ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่ทรงพระอาการดีขึ้น แต่ยังไม่ทรงแข็งแรงพอที่จะทรงดนตรีได้ ฉะนั้นเราไปเฝ้าเฉยๆ ที่ห้องบรรทมชั้น 16 แต่ช่วงที่สมเด็จพระบรมฯเฝ้า
ก็มีทรงร้องเพลง ที่ห้องบรรทมมีคีย์บอร์ดอยู่เครื่องหนึ่ง บางทีพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีย์บอร์ดบ้าง แต่ไม่ได้เป็นวง จนในที่สุดเมื่อพระพลานามัยดีขึ้นเยอะ เมื่อทรง
เครื่องดนตรีได้ ถึงได้ลงไปเฝ้าชั้น 14 แทน เพราะห้องนั้นใหญ่พอ ซึ่งเวลาที่มีวงดนตรีจากต่างประเทศมา ผมก็พาไปเฝ้าถวายที่ชั้น 14 นี้


– ครั้งสุดท้ายเล่นถวายเมื่อไหร่?

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2558) ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะหลังจากนั้นพระอาการพระองค์ท่านก็ทรุดลง เราไปเข้าเฝ้าตอนนั้นท่านทรงไม่ได้แล้ว เราก็ร้องเพลง
ถวาย ก่อนเราจะทูลลา เราจะร้องเพลง “ทรงพระเจริญ” ที่พ่อผมแต่ง เพราะเนื้อร้องง่ายดี …ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญๆๆ ยิ่งยืนนาน (เสียงเครือ)
ชั่วนิรันดร์…


– ทรงมีปฏิกิริยาอย่างไร?

ทรงรู้พระองค์ อย่างพอเราร้อง When You”re Smiling. ก็ทูลท่านว่า ยิ้มสิ ท่านก็ทรงยิ้ม แล้วเนื้อเพลง อีกท่อน When you”re laughing. แล้วเราก็ทำเสียงหัวเราะ…
โฮะๆๆ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ (สูดน้ำมูก) เราก็พยายามถึงที่สุด ใช้ดนตรีเป็นยา


– หลังจากนั้นยังได้เข้าเฝ้า?

ไม่ได้เข้าเฝ้า คุณหมอบอกว่าท่านติดเชื้อ เดือนมกราคมที่ผ่านมาพระองค์ท่านเสด็จออกมาครั้งหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นทรงติดเชื้อ ซึ่งอันตรายมาก


– อ.ส.วันศุกร์เล่นเพลงถวายเพลงสุดท้ายเพลงอะไร?

When you smiling. ของ แฟรงก์ ซินาตรา เป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซนี่แหละ แต่เนื้อหาดี
..When You”re Smiling When You”re Smiling The Whole World Smiles With You
คือเราอยากให้ท่านทรงยิ้ม อยากให้ท่านทรงมีความสุข แล้วเวลาจะเสด็จขึ้นเราก็ร้องเพลง “เราสู้” เราอยากให้ท่านสู้

ขอบคุณเจ้าของภาพและข้อมูล
ขอบคุณกลุ่มดินรักษ์ฟ้า - Dinrakfah



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,211


View Profile
« Reply #1 on: 16 October 2021, 10:35:44 »


บทความพิเศษ : พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 กับการดนตรี


 on 14 ธันวาคม 2559 in DJ Clubs Corner’s



          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 นั้น ทรงเป็นผู้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกถึงการทรงเป็นพระมหา กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก ทรงปกครองประเทศไทยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรมมายาวนานถึง 70 ปี ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาว นานที่สุดในโลก ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงทำงานหนักเพื่อปวงประชาของพระองค์ได้เป็นอยู่ดีกินดีสุขสบาย มีโครงการหลวงกว่า 4000 โครงการเพื่อช่วยประชาชน ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” เนื่องจากทรงพระปรีชาสามารถในงานศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการถ่ายภาพ, ด้านการช่าง, พระปรีชาสามารถด้านกีฬา, ด้านจิตรกรรม, พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม, พระอัจฉริยภาพด้านดุริยางคศิลป์ และทรงนำพระอัจฉริยภาพเหล่านี้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศตลอดมา วันนี้จึงจะขอนำเสนอบทความพิเศษของพระองค์ เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เพื่อเป็นการยอพระเกียรติให้ลูกหลานได้ชื่นชมสืบไป


สมัยทรงพระเยาว์

          เมื่อทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้งในประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์ แลนด์ ก็ได้ทรงเรียนขับร้อง แต่ไม่ได้เรียนโน้ต เมื่อพระชนมายุได้ 13 ปี ได้ทรงเรียนแอคคอร์เดียนแต่ไม่ทรงจริงจัง เพราะไม่สนพระทัยเท่าไหร่นัก ส่วนสมเด็จพระพี่นางฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเรียนเปียโน แต่เมื่อมีพระชนม์ได้ประมาณ 14-15 ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ภูเขา ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีที่เขาเล่นที่โรงแรมก็โปรด มีพระราชประสงค์จะทรงแตร แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเหตุว่าการเป่าแตรต้องใช้กำลังมาก อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้ จึงทรงผ่อนผันให้เล่นแซกโซโฟนแทน โดยมีครูสอนดนตรีชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) (เป็นชาวอัลซาส (Alsace) ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน เป็นผู้สอน) นายเวย์เบรชท์ ทำงานอยู่ร้านขายเครื่องดนตรี (ขายทุกๆ ยี่ห้อ) และยังเป็นนักเป่าแซกโซโฟนอยู่ในวงของสถานีวิทยุด้วย เขาเล่นดนตรีได้หลายอย่างรวมทั้งคลาริเนตด้วย แซกโซโฟนที่ทรงเล่นตอนนั้น ทรงไปซื้อของมือสองมาทรงฝึกในราคา 300 ฟรังค์สวิส

โดยเงินนั้นมาจากสโมสรปาตาปุม (เป็นสโมสรที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (ร.8) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตั้งขึ้นก่อนที่จะเสด็จฯ นิวัตประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2484 โดยได้แนวพระราชดำริในการตั้งสโมสรมาจากหนังสือการ์ตูนที่ทรงอ่าน เพราะเป็นเรื่องที่มีเด็กเป็นตัวละครสำคัญ และชอบรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสโมสร มีการหารายได้เข้าสโมสรจากค่าสมาชิก และจากการหารายได้พิเศษต่างๆ ของทั้ง 2 พระองค์ ทั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงได้รับสมมติเป็น "รัฐบาล" ของสโมสรปาตาปุม ได้ทรงทำกล่องไว้สำหรับทั้ง 2 พระองค์ เพื่อทรงบริจาคเงินสำหรับทำบุญไว้ด้วย หากพระองค์ใดมีพระราชประสงค์จะทำบุญ ก็จะทรงนำเงินไปใส่กล่อง)  "รัฐบาล" คือสมเด็จพระศรีฯ พระราชทานเงินสนับสนุน 150 ฟรังค์ ส่วนอีก 150 ฟรังค์เอาเงินสโมสรออก เมื่อครูมาตอนแรกๆ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ทรงเรียน อยู่มาวันหนึ่งไปทรงซื้อคลาริเนตมาขอเรียนด้วย ครูเวย์เบรชท์มาสอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อพระองค์ (เรียนทีละพระองค์ เพราะเรียนคนละอย่าง) เรียนไปได้สักปีหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นเรียนสัปดาห์ละครั้งเดียว เมื่อพอจะเล่นได้ครูก็เขียนโน้ตเพลงให้เล่นได้ 3 คน เป็น Trio มีคลาริเนต 1 แซกโซโฟน 2 เพลงที่เล่นเป็นพวกเพลงคลาสสิก ตอนเล่นเพลงด้วยกันนี้เล่นฟรีครูไม่คิดค่าสอน แม้แต่ค่าสอนก็คิดไม่แพงคือครั้งละ 3 ฟรังค์ ถ้าไปโรงเรียนดนตรีจริงๆ เขาจะเรียก 5 ฟรังค์ ครูคนนี้มาสอนให้ถึงบ้านด้วย นอกจากการเล่นเครื่องดนตรีแล้ว ครูยังสอนวิชาการดนตรีให้ด้วย รวมทั้งการเขียนโน้ตสเกลต่างๆ

ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน สอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ สอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน, คลาริ เนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์


เพลงพระราชนิพนธ์

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 18 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2489 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก และจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น 48 เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย อย่างเช่นในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ได้แก่เพลง เราสู้ และ ความฝันอันสูงสุด แก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือนและประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อ ในการทำความดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม ทรงใช้เครื่องดนตรี เป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยพระราชนิพนธ์ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์, เพลงธรรมศาสตร์ และ เพลงเกษตร ศาสตร์ พระราชทานให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ตามลำดับ และยังทรงเป็นกันเองกับนักศึกษา โดยเสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่นานกว่า 10 ปี ในปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ได้ทรงพระราชทานเพลง "ยิ้มสู้" ให้แก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คนตาบอด ส่วนเนื้อร้องภาษาอังกฤษนั้น ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ได้แปลงจากบทกลอนชื่อ Smiles ในหนังสือ Bed Time Stories

        ในวงราชการทหาร "มาร์ชราชวัลลภ" และ "มาร์ชธงชัยเฉลิมพล" ได้กลายเป็นแบบฉบับของดนตรีมาร์ชที่ใช้บรรเลงประจำปีในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งของชาติคือ พระราชพิธีปฏิญาณตนและตรวจพลสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในส่วนของกองทัพเรือนั้น เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ที่ได้ พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ช "ราชนาวิกโยธิน" เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2502 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จึงได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็น "วันทหารนาวิกโยธิน" จนถึงปัจจุบัน สำหรับความเป็นมาที่กองทัพเรือได้รับพระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชนาวิกโยธิน สรุปได้ดังนี้ " วันหนึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน 2502 นาวาเอก สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน ได้ปฏิบัติหน้าที่เวรราชองครักษ์ ณ ศาลาเริง พระ ราชวังไกลกังวล หัวหิน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงพระเกษมสำราญกับการทรงดนตรีอยู่นั้น ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ นาวาเอก สนอง นิสาลักษณ์ ขึ้นไปร้องเพลงนาวิกโยธิน นาวาเอก สนองฯ ได้กราบบังคมทูลว่า "เพลงนาวิกโยธิน" ยังไม่มีและได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำหน่วยทหารนาวิกโยธินต่อพระองค์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เหล่าทหารนาวิกโยธิน นับแต่นั้นมา เพลง มาร์ช "ราชนาวิกโยธิน" จึงเป็นเพลงประจำหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินที่มีคุณค่ายิ่งแก่ทหารนาวิกโยธิน ส่วนอีกเพลงที่ชาวไทยรู้จักกันดีอย่างเพลงพรปีใหม่ นั้น ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2494-2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงมีพระราชประสงค์ จะพระราชทานพรให้แก่พสกนิกร โดยใช้บทเพลงแทนการพระราชทานพร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใกล้ชิดร่วมกันแต่งเพลง "พรปีใหม่" ขึ้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป่า Saxophone ในช่วงแรกและช่วงที่สาม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) จะทรงเป่าต่อในช่วงที่สอง และช่วงที่สี่สลับไปจนครบทำนองเป็นเพลง แล้วทรงประพันธ์คำอวยพรลงในบทเพลงตอนนั้นเลย ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน


ลำดับปีพุทธศักราชที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลง

     · 2489  เพลง สายฝน [Falling Rain] แสงเทียน [Candle Light Blues] ยามเย็น [Love at Sundown] ใกล้รุ่ง [Near Dawn]

     · 2490 เพลง ชะตาชีวิต [The H.M.Blues] ดวงใจกับความรัก [Never Mind the H.M.Blues]

     · 2492 เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ [Chulalongkorn Alma Mater] อาทิตย์อับแสง [Blue Day] เทวาพาคู่ฝัน [Dream of Love Dream of You] คำหวาน [Sweet Words]

     · 2493 เพลง แก้วตาขวัญใจ [Lovelight in My Heart]

     · 2495 เพลง พรปีใหม่ [New Year Greetings] ยิ้มสู้ [Smiles] มาร์ชธงชัยเฉลิมพล [The Colours March]

     · 2496 เพลง ยามค่ำ [Twilight] มาร์ชราชวัลลภ [The Royal Guards March]

     · 2497 เพลง ศุกร์สัญลักษณ์ [Friday Night Rag] เมื่อโสมส่อง [I Never Dreamed] ลมหนาว [Love in Spring]

     · 2498 เพลง Oh I Say, Can't You Ever See, Lay Kram goes Dixie

     · 2499 เพลง ค่ำแล้ว [Lullaby]

     · 2500 เพลง สายลม [I Think of You] ไกลกังวล

     · 2501 เพลง แสงเดือน [Magic Beams]

     · 2502 เพลง ฝัน [Somewhere Somehow] Alexandra, มาร์ชนาวิกโยธิน [The Royal Marines March]

                 มโนราห์ [The Kinari Suite] : The Nature Waltz The Hunter Kinari Waltz

                 มโนราห์ : ภิรมย์รัก [The Kinari Suite : A Love Story]

     · 2506 เพลง When [ทำนองเพลงไกลกังวล] ธรรมศาสตร์ [Thammasart Alma Mater]

     · 2508 เพลง ในดวงใจนิรันดร์ [Still on My Mind] เกาะในฝัน [DreamIsland], Old-Fashioned Melody, No Moon

     · 2509 เพลง เพลินภูพิงค์ แว่ว [Echo] เกษตรศาสตร์ [Kasetsart Alma Mater]

     · 2510 เพลง เตือนใจ [ทำนองเพลง Old-Fashioned Melody]

     · 2512 เพลง ไร้เดือน [ทำนองเพลง No Moon]

     · 2514 เพลง ความฝันอันสูงสุด

     · 2516 เพลง แผ่นดินของเรา [ทำนองเพลง Alexandra] เราสู้

     · 2538 เพลง รัก เมนูไข่ [ไข่เจียว] เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๘ ทรงพระราชทานเพลง "รัก" ทำนองในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคำร้อง ในพระ

                  ราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งเทป แผ่นเสียง และซีดีเพลงพระราชนิพนธ์

         ผลงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ได้ถูกนำไปบรรเลงในรูปแบบต่างๆ มากมายและหลากหลาย ทั้งที่เป็นเทป แผ่นเสียง [Long Play] และเป็นแผ่นซีดี [Compact Disc] จากทำนองเพลงดั้งเดิม ก็ถูกนำไปถ่ายทอดในหลากหลายลีลา เพลงร้อง เพลงบรรเลง ทั้งในลีลาเพลงแจ๊ส เพลงสมัยนิยม และเพลงคลาสสิค มีตั้งแต่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว อย่างกีตาร์คลาสสิคหรือเปียโนไปกระทั่งวงขนาดใหญ่ [Big Band] และวงออร์เคสตร้า[Orchestra]

 

สถานีวิทยุและวงบรรเลง

         เมื่อปี พ.ศ.2495 ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สารประโยชน์ และข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มๆ มาเล่นปนกับรุ่นลายคราม ซึ่งเล่นดนตรีไม่ค่อยไหวตามอายุ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" ขึ้น ต่อมาสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา ลักษณะพิเศษของ "วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์" นี้คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ได้ง่ายขึ้น ทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงเอกในระยะ แรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงเวลาสมัยก่อน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ยังไม่มีบทบาททางการบันเทิงมากเช่นในปัจจุบันนี้ "วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์" จึงมีส่วนสร้างความรื่นเริงในหมู่ประชาชนผู้สนใจในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวาตภัย แหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์สิ่งของ ฯลฯ ช่วยผู้ประสบภัย ท้ายสุดจึงกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9)

         ในปีพุทธศักราช 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ได้ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ขึ้นอีกวงหนึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าวง โดยโปรดเกล้าฯให้รวบรวม ผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์อาสาสมัคร ข้าราชการในพระองค์ ราชองค์รักษ์ ตลอดจนเจ้า หน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน พระราชทานเวลาฝึกสอนในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆวัน ทรงตั้งแตรวงขึ้นสำเร็จ และยังคงซ้อมดนตรีเป็นประจำ ทุกค่ำของวันศุกร์และวันอาทิตย์ ร่วมกับ นักดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ณ สถานี อ.ส.เกือบทุกเย็น กับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา


อนุรักษ์ดนตรีไทย

        ในด้านดนตรีไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทย และนาฏยศิลป์ไทยไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักดนตรีไทย ช่วยกันรักษาระดับเสียงของดนตรีไทยไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานของวงดนตรีรุ่นหลัง ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือ เพื่อรวบรวมและรักษาศิลปะทางดนตรีไทยไว้ให้เป็นหลักฐาน และมาตรฐานต่อไป และทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัย บันไดเสียงของดนตรีไทย โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีครอบประธานครูโขนละคร และต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงในวิชาดนตรีและนาฏยศิลป์ไทยอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมทั้ง 2 อย่างนั้น ดำเนินมาจนถึงจุดที่ใกล้จะสูญสิ้นแล้ว จึงนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อนุรักษ์ศิลปะของไทย เพื่อให้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป

 

พระมหากษัตริย์นักดนตรีในสายตาชาวโลก

        ในคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศ ได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ เช่นเมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญ และคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) โดยเฉพาะคือ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 วงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตร้า แห่งกรุงเวียนนา ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด "มโนราห์, สายฝน, ยามเย็น, มาร์ชราชนาวิกโยธิน" และ "มาร์ชราชวัลลภ" ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2507 พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลง และเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก 2 วัน คือ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2507 สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ 23 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) พระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหิน ของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เป็นที่ชื่นชมไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น นักดนตรีต่างประเทศทั่วโลกก็ชื่นชม และยอมรับในพระอัจฉริยภาพนี้

         มีเรื่องเล่ากันมาว่า นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) มิได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) เป็นทั้งพระมหากษัตริย์ และทรงเป็นนักดนตรีได้พร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แข่งกันอีก รัชกาลที่ ๘ ทรงเลือก Louis Armstrong, Sidney Berchet รัชกาลที่ ๙ ทรงเลือก Duke Ellington Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊ส ต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิคเบิกได้”


ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, kingramamusic.org, รูปและข้อมูลบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต...

. . .  ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายกึกก้อง บุนนาค ผู้เรียบเรียง



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,211


View Profile
« Reply #2 on: 16 October 2021, 11:13:44 »

‘อัครศิลปิน’





























































Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Offline Offline

Posts: 9,211


View Profile
« Reply #3 on: 16 October 2021, 18:55:31 »


https://urbancreature.co/king-9-musical-instrument/

มองพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ผ่านเครื่องดนตรีทรงเล่นของในหลวงรัชกาลที่ 9

“…….ดนตรีทุกชนิดเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง มนุษย์เกือบทั้งหมดชอบและรู้จักดนตรี ตั้งแต่เยาว์วัยคนเริ่มรู้จักดนตรีบ้างแล้ว ความรอบรู้ทางดนตรีอย่างกว้างขวางย่อมขึ้นกับเชาวน์ และสามารถในการแสดงของแต่ละคน อาศัยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในระหว่างศิลปะนานาชนิด ดนตรีเป็นศิลปะที่แพร่หลายกว่าศิลปะอื่นๆ และมีความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชนทุกประเทศด้วย……….”

นอกจากพระอัจฉริยภาพด้านกีฬา และการถ่ายภาพแล้ว ในหลวงรัลกาลที่ 9 ของเรายังทรงมีพระอัจริยภาพด้านดนตรี ทั้งการพระราชนิพนธ์เพลง และยังทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด หลายประเภท นอกจากนี้ยังทรงเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวงทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าวงดนตรีนั้นจะมีแนวการเล่นแบบไหน และสำหรับวงดนตรีแจ๊สนั้น พระองค์ยังทรงดนตรีได้โดยไม่ต้องมีโน้ต มาดูกันว่าเครื่องดนตรีที่พระองค์ทรงโปรดนั้นมีอะไรบ้าง


แอคคอร์เดียน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ 13 พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยเครื่องดนตรีแรกที่ทรงเรียนก็คือ แอคคอร์เดียน หรือหีบเพลง แต่พระองค์ไม่ทรงติดต่อมาจึงได้เลิกเล่นไป




แซกโซโฟน

ภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป่าแซกโซโฟนคงเป็นภาพคุ้นตาของหลายคน ซึ่งก็พอจะทำให้เดาได้ไม่ยากว่า ‘แซกโซโฟน’ เป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์ทรงโปรดที่สุด หลังจากที่ทรงเล่นแอคคอร์เดียน แล้วทรงไม่โปรดนั้น ในหลวงรัชการที่ 9 ทรงอยากเรียนแตร แต่พระราชชนนีเห็นว่าต้องใช้แรงมาก จึงยังไม่อนุญาตให้เรียน แต่ให้เรียนแซกโซโฟนแทน เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๑๔ พรรษา

แซกโซโฟนตัวแรกของพระองค์เป็นของมือสองราคา 300 ฟรังค์ ที่ร่วมหุ้นกับพระเชษฐาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งมาจากสมเด็จย่า พระองค์ทรงฝึกแซกโซโฟนไปพร้อมๆ กับเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียง อย่าง Johnny Hodges และ Sidney Berchet ได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก




คลาริเนต

สำหรับคลาริเนตนั้น ครั้งแรกทรงเอาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมาทรงเป่า และครูเวย์เบรชท์ก็ได้ให้คำแนะนำอยู่สองครั้งสามครั้ง หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่นเอง ไม่ได้ไปเรียนที่ไหนอีก คาริเนตที่ทรงใช้ตัวแรกยี่ห้อ ’เลอบลองค์’




ทรัมเปต

จริงๆ แล้ว พระองค์สนพระทัยแตรตั้งแต่ก่อนเริ่มเรียนแซกโซโฟน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ภูเขา ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีที่เขาเล่นที่โรงแรมก็โปรด และมีพระราชประสงค์จะทรงแตร แต่สมเด็จย่าไม่ทรงเห็นด้วย เพราะการเป่าแตรต้องใช้กำลังมาก อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้ จึงทรงผ่อนผันให้เล่นแซกโซโฟนแทน

ต่อมาพระองค์จึงไปเช่าแตรมาเล่น ครั้งแรกที่เช่ามาเป็นแตรคอร์เนต อีกหลายปีจึงทรงซื้อแตรทรัมเปตเครื่องแรกเอง เป็นแตรยี่ห้อ ‘เซลเมอร์’ ของฝรั่งเศส แต่ภายหลังเครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป ต่อมาจึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์เบรชท์ที่เป็นครูสอนดนตรีบอกว่าแตรดีที่สุดคือ ยี่ห้อกูร์ตัวแต่ไม่ได้ทรงซื้อ เพิ่งซื้อเมื่อปี พ.ศ.2529 นี่เอง




เปียโน

พระองค์ได้เริ่มทรงเปียโนเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว เพื่อใช้ในการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อร่วมกับวงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ สำหรับเปียโนนั้นพระองค์ไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร แต่ทรงเล่นเอาเองดูโน้ต และทรงเรียนวิธีประสานเสียงเอง

‘Carl Hardt ,Stutgart’ เป็นเปียโนตัวแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล่นตั้งแต่สมัยที่ประทับอยู่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเปียโนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเช่าให้พระราชธิดาและพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่เรามักจะเห็นในพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงเปียโน โดยที่มีแมวทรงเลี้ยงชื่อ ‘ติโต้’ นั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่าง




กีตาร์

เราอาจจะไม่ค่อยเได้เห็นพระองค์ทรงกีตาร์บ่อยนัก แต่เป็นอีกเครื่องดนตรีที่พระองค์ทรงเล่นได้ไพเราะเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงกีตาร์ครั้งแรกเมื่อพระชนมายุราว 16 พรรษา ได้ยืมมาจากเพื่อนรุ่นพี่ที่โรงเรียน ภายหลังเอาไปคืน แต่เขาเห็นว่าพระองค์สนพระทัยในกีตาร์จึงมอบกีตาร์ให้เลย และที่สำคัญกีตาร์ถือเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญที่พระองค์ทรงเพื่อใช้ในการพระราชนิพนธ์เพลงเพราะๆ ที่พวกเราได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกวันนี้



Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.093 seconds with 20 queries.