ppsan
|
|
« on: 14 October 2021, 22:08:05 » |
|
เรื่องเล่าจากศิริราช "ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน กุลทนันทน์"
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ อดีตหัวหน้าคณะแพทย์ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ธรีวัตน์ อดีตคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ถวยการรักษาในหลวง ระหว่างปี 2550-2554 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงเป็นผู้ป่วยที่ดีมาก ปฏิบัติตามการรักษาพยาบาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งทรงมีความอดทนและเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ป่วยในการฟื้นฟูร่างกาย และยังคงทรงงานตลอดเวลาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพสกนิกร
รู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าต้องถวายการรักษา สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และก็เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ผมได้ดูแลพระองค์อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกตอนที่เป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ตอนนั้นท่านปวดหลัง จึงมีการเชิญแพทย์จากต่างประเทศมาผ่าตัด ครั้งต่อมาคือเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคปอดอักเสบ แพทย์ได้ตั้งคณะกรรมการถวายการรักษา ประกอบด้วยแพทย์จากทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกว่า 20 คน เราจะประชุมกันทุกเช้าและถวายการรักษา ผมต้องเข้าเฝ้าฯ ทุกวัน เพราะว่าต้องดูแลพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด
พระองค์ทรงเป็นผู้ป่วยที่ดีมาก ปฏิบัติตามการรักษาพยาบาลอย่างเคร่งครัด แล้วที่สำคัญที่สุด ซึ่งอยากจะยกให้เป็นตัวอย่างของประชาชนหรือพสกนิกรทั่วไปก็คือ การฟื้นฟูสภาพหรือเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งทรงมีความอดทนเป็นอย่างสูง พระชนมพรรษาก็มากแล้ว การที่จะลุกจากเตียงขึ้นนั่ง การที่จะลงจากเตียงขึ้นยืน หรือแม้กระทั่งการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงทำด้วยความยากลำบาก แต่ก็ทรงอดทนในการฟื้นฟูสภาพ พอเริ่มดีขึ้นก็ทรงจักรยานสำหรับออกกำลังกาย ซึ่งก็ฟื้นฟูโดยเร็ว
พอพระอาการดีขึ้นก็ทรงงานเลย ห้องทรงงานของพระองค์อยู่ติดกับห้องผู้ป่วย พอเสวยพระกระยาหารเสร็จ ก็จะทรงพระราชดำเนินจากห้องผู้ป่วยมาที่ห้องทรงงาน หรือบางครั้งก็เสวยในห้องทรงงาน พระองค์ทรงงานหนัก พระองค์ทรงอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ อินเทอร์เน็ตและทีวีเป็นประจำ เพราะฉะนั้นพระองค์จะทราบความเป็นไปหลากหลายเรื่อง รวมทั้งคนที่มาเข้าเฝ้าฯ ผมรู้สึกว่าพระองค์ทรงงานหนักตลอดเวลา
โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเป็นโครงการในพระราชดำริที่เกิดขึ้นขณะประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช ใช่หรือไม่ พระองค์ทอดพระเนตรสภาพการจราจรบนสะพานปิ่นเกล้าจากห้องทรงงาน ผมกราบทูลเชิญเสด็จฯ ขึ้นดาดฟ้า พระองค์ก็ทรงเห็นการจราจรบนสะพานอรุณอัมรินทร์และถนนโดยรอบซึ่งรถติดมาก จึงมีพระราชดำริว่าจะช่วยเรื่องการจราจรของฝั่งธนบุรี ผมก็ทูลเกล้าฯ ถวายแผนที่ทั้งใน รพ.ศิริราชและพื้นที่โดยรอบ รพ.ศิริราช พระองค์ทอดพระเนตรตั้งแต่แผนที่แผ่นเล็กๆ ทีละแผ่นๆ ท่านก็ทรงชี้อะไรต่ออะไร จนกระทั่งแผนที่แผ่นใหญ่ ท่านทรงทราบหมด ทรงพระปรีชามากในเรื่องของการจราจร และท่านมีพระราชดำรัสว่า จะสร้างถนนหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน ผมก็รับด้วยเกล้าและน้อมนำมาเป็นแนวทางให้แก่คณะทำงาน
หลังจากนั้นท่านก็มีพระราชกระแสให้ผมประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดการจราจร พอได้ข้อมูลพร้อมก็จะถวายรายงานพระองค์ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งพระองค์เสด็จฯ ไปเป็นประจำ ผมก็ถวายรายงานข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวนคนที่เดินทางมาศิริราช ทั้งผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งคนที่สัญจรผ่านไปมาซึ่งมีวันละประมาณ 1 แสนคน พระองค์ก็มีพระราชวินิจฉัยออกมาในการที่จะแก้ไขปัญหาจราจรในฝั่งธนบุรี ถ้าใครได้ติดตามข่าวในช่วงนั้นก็คงจะทราบ เพราะมีสถานีโทรทัศน์นำเสนอการแก้ปัญหาจราจรตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3 วันติดกัน
เหตุใดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถึงเสด็จฯ มาเปลี่ยนพระราชอิริยาบถบริเวณดาดฟ้าและท่าน้ำเป็นประจำ พอพระองค์ทรงแข็งแรงขึ้นบ้าง คณะแพทย์ก็พยายามที่จะให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ก็จะพยายามทำทุกรูปแบบไม่ว่าจะพาเสด็จฯ ลงข้างล่างหรือไปที่ท่าน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่อากาศดีมีลมพัดเย็นสบาย เป็นจุดที่พระองค์ทอดพระเนตรพระบรมมหาราชวังอย่างใกล้ชิดและทรงโปรดด้วย ไปเสวยของว่าง บางทีก็กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ โดยรอบ รพ.ศิริราช บางทีวันตรุษจีน ผมก็ไปเชิญผู้ชนะเลิศการเชิดสิงโตจาก จ.นครสวรรค์ มาเชิดให้พระองค์ทอดพระเนตร หรือแม้แต่จัดเทศน์มหาชาติก็มี
อีกอย่างหนึ่งซึ่งทรงพระเกษมสำราญมาก คือ ดนตรี ผมจัดคอนเสิร์ต "เทิดไท้ องค์อัครศิลปิน" เต็มรูปแบบที่บริเวณหอประชุมให้ทอดพระเนตร ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จบคอนเสิร์ตผมก็กราบพระบาท พระองค์มีพระราชดำรัสกับผมว่า "เพลงเพราะดี ขอบใจนะ ที่จัดให้" สิ่งนี้ทำให้ผมภาคภูมิใจและก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ทุกครั้งที่ประชาชนเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" ภายใน รพ.ศิริราช พระองค์ทรงทราบหรือไม่ ทราบครับ ทรงได้ยิน ผมสังเกตพระพักตร์ก็แจ่มใสขึ้น ผมคิดว่ากำลังใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือผลไม้ที่ประชาชนนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ข้าราชบริพารจะนำขึ้นไปข้างบนที่ประทับ ซึ่งก็ได้ใช้และพระราชทานดอกไม้ไปตามตึกผู้ป่วยต่างๆ ด้วย เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ช่วยเล่าเรื่องประทับใจระหว่างที่ถวายการรักษา สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับใจตลอดเวลาเลย ตั้งแต่รับตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผมก็ถวายตัวว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นคณบดีคนใหม่ ก็พระราชทานพระราชดำรัส 2 ประโยคว่า "ให้เป็นนักเรียนใหม่" และ "ตั้งใจทำงานนะ" ผมก็รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม แล้วก็ต้องเป็นนักเรียนใหม่อยู่ตลอดเวลา ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ตั้งใจทำงาน ซึ่งผมก็นำพระราชดำรัสนี้มาให้กับชาวศิริราชทุกคน หรือในที่ไหนก็แล้วแต่ที่ผมมีโอกาสที่จะได้อัญเชิญพระราชดำรัสนี้ ผมก็จะมอบให้ และทุกคนที่ได้ยินได้ฟังก็จะปฏิบัติตามพระราชดำรัส ว่าจะต้องเป็นนักเรียนใหม่อยู่เสมอและจะต้องตั้งใจทำงาน
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมประทับใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ ตอนนั้นแพทย์และทีมงานเข้าเฝ้าฯ กันอยู่ 3-4 คน ที่ห้องทรงงาน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีข่าวเรื่องการฟ้องร้องแพทย์ ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ความหมายก็คือว่า นอกจากสุภาพแล้ว แพทย์ยังต้องให้เกียรติทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วย ซึ่งต้องการมารักษาร่างกายและจิตใจ ไมตรีจิตก็จะเกิดขึ้นระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ ทีมีอยู่ก็จะลดน้อยลง
พระราชดำรัสนี้ ผมก็อัญเชิญมาให้ชาวศิริราชทุกคน และก็แพทยสภา และแพทย์อื่นๆ ที่ผมมีโอกาสอัญเชิญพระราชดำรัสได้ก็จะอัญเชิญให้ ใครที่ได้ยินก็จะปฏัติตามพระราชดำรัส ก็จะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี ในการรักษาพยาบาล เพราะว่าจริงๆ แล้ว หน้าที่ของแพทย์คือเป็นผู้ให้การรักษาทั้งกายและใจ เป็นผู้ที่ต้องให้กำลังกับผู้ป่วย เพราะฉะนั้นการให้เกียรติแก่ผู้ป่วยและญาติ ไม่ดูถูก ให้กำลังใจกัน เป็นสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดเลย พระราชดำรัสนี้มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
เวลาเสด็จฯ ลงจากที่ประทับ สายพระเนตรที่มองประชาชนที่มาเข้าเฝ้า เป็นสายพระเนตรที่ทรงพระเมตตามากๆ แม้กระทั่งเสด็จฯ ออกจากลิฟท์ พระองค์จะเอื้อมพระหัตถ์แตะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แล้วมีพระราชดำรัสว่า "ขอบใจนะ" พระอิริยาบทเหล่านี้ทำให้ผมประทับใจอย่างยิ่ง ทรงมีพระเมตตาเหลือเกิน
อีกเรื่องหนึ่งคือช่วงที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 พระองค์ทรงทราบมาก่อน ด้วยพระปรีชาสามารถ จึงให้ผมรายงานเรื่องน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.2554 หรือก่อนที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม ผมต้องทำรายงานถวายทุกวันว่าน้ำขึ้นที่ไหน ขึ้นที่ปากน้ำโพเท่าไหร่ กี่เมตร สถานการณ์เป็นอย่างไร และให้ถ่ายรูปให้ทอดพระเนตรทุกวัน และผมจะประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ทหารเรือ และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำที่ห้องประชุมคณะแทพย์ทุกวัน และทำรายงานถวาย พระองค์ทรงทราบถึงสถานการณ์น้ำท่วมและทรงช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง
https://news.thaipbs.or.th/content/256925
|