ppsan
|
|
« on: 14 October 2021, 21:46:58 » |
|
‘เชื่อม ศิริสนธิ’ อดีตผู้ว่าฯ สุโขทัย ใช้แขนซ้ายวันทยาหัตถ์ในหลวง ร.๙
ตีแผ่เรื่องจริง!! อดีตผู้ว่าฯสุโขทัย ผู้ใช้แขนซ้าย วันทยาหัตถ์ในหลวง ร.๙ กับพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ยังดังกังวานในหัวใจ ตราบชั่วลูกชั่วหลาน!
นายไพศาล ศิริสนธิ อดีตพัฒนาการจังหวัดสุโขทัย และนางสาวอัญชลี ศิริสนธิ อดีตข้าราชการครูโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม และผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุโขทัย บุตรของนายเชื่อม ศิริสนธิ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า เมื่อครั้งที่นายเชื่อมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และใช้แขนซ้ายทำวันทยาหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการรับเสด็จฯเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2501 จนมีสื่อหลายสำนักเสนอข่าวเชิงตำหนิผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยตกประหม่า ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนบทความแถลงข้อเท็จจริงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น
...........................................
https://www.youtube.com/watch?v=lF-Q90vvtzI
เรื่องจริง ‘เชื่อม ศิริสนธิ’ อดีตผู้ว่าฯ สุโขทัย ใช้แขนซ้ายวันทยาหัตถ์ในหลวง ร.๙
https://youtu.be/lF-Q90vvtzI
...........................................
นายไพศาลและนางสาวอัญชลี เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สาเหตุที่นายเชื่อมใช้แขนซ้ายทำวันทยาหัตถ์ ก็เพราะว่าแขนข้างขวาขาดจนต้องใส่แขนเทียม เหตุเกิดเมื่อครั้งนายเชื่อมยังเป็นนายอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นเรือที่ลักลอบขนอาวุธ และได้เกิดระเบิดขึ้นขณะตรวจค้น ทำให้แขนขวาขาดต้องใส่แขนเทียม
ต่อมานายเชื่อมได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 งานสำคัญของรัฐบาลสมัยนั้นคือการบูรณะโบราณสถานต่างๆ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ กระทรวงมหาดไทยได้เบิกตัวนายเชื่อมเข้าเฝ้าจุดแรก บริเวณจุดต่อแดนพิษณุโลกกับสุโขทัย ในช่วงสายของวันที่ 1 มีนาคม 2501 โดยนายเชื่อมได้ใช้แขนจริงข้างซ้ายทำวันทยาหัตถ์ ภาพในวันนั้นทำให้ประชาชนต่างเข้าใจกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยตกใจประหม่า และในค่ำคืนนั้นนายเชื่อมได้ร่วมโต๊ะเสวยบนศาลากลางจังหวัด จึงได้เข้าเฝ้าและทูลถามว่าจะโปรดให้ใช้แขนปลอมหรือแขนจริงในการทำวันทยาหัตถ์แสดงความเคารพ ซึ่งนายเชื่อมเล่าให้ฟังว่าพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบ “ให้ใช้แขนจริงข้างซ้ายในฐานะลูกเสือ” สร้างความปลาบปลื้มใจแก่นายเชื่อมและครอบครัวมิลืมเลือน
สำหรับการจัดงานรับเสด็จในครั้งนั้นสร้างความพอพระทัยอย่างมาก และพระองค์ยังสนพระทัยเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะนิทานพระร่วงที่นายเชื่อมได้เล่าเรื่องถวายที่แก่งหลวง รวมทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี การบูรณะโบราณสถานเพื่อให้เป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ และเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2507 พระองค์ท่านได้เสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และเสด็จฯทอดพระเนตรโซกพระร่วงลองพระขรรค์ ได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความสามารถของคนสุโขทัยโบราณที่มีสมเด็จพระร่วงเจ้าเป็นประมุข และความสำคัญของเขื่อนสรีดภงส์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยสมัยนั้นด้วย
นายไพศาลและนางสาวอัญชลี กล่าวอีกว่า ถึงแม้นายเชื่อมจะเกษียณอายุราชการในปี 2508 ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อพระองค์เสด็จฯมาสุโขทัยอีกในปี 2509 และปี 2515 เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ก็ให้เบิกตัวนายเชื่อมเข้าเฝ้าถวายรายงานความคืบหน้าโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ แสดงถึงพระองค์ใส่พระทัยกับโบราณสถานอันเป็นเกียรติภูมิของชาติเป็นอย่างยิ่ง
และเมื่อนายเชื่อมเสียชีวิตเมื่อ 30 มิถุนายน 2528 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกศโถ ฉัตรเบญจาประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานพวงมาลา เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ครอบครัวนายเชื่อม ศิริสนธิ อย่างหาที่สุดมิได้
" และในค่ำคืนนั้นนายเชื่อมได้ร่วมโต๊ะเสวยบนศาลากลางจังหวัด จึงได้เข้าเฝ้าและทูลถามว่าจะโปรดให้ใช้แขนปลอมหรือแขนจริงในการทำวันทยาหัตถ์แสดงความเคารพ ซึ่งนายเชื่อมเล่าให้ฟังว่าพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบ “ให้ใช้แขนจริงข้างซ้ายในฐานะลูกเสือ” สร้างความปลาบปลื้มใจแก่นายเชื่อมและครอบครัวมิลืมเลือน "
พระปฎิภาณไหวพริบ ช่างเป็นเลิศ
|