ppsan
|
|
« on: 09 October 2021, 15:22:36 » |
|
ใช้ชีวิตการงานให้สมดุล 5 สิ่งสำคัญพิชิต ”เครียด” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ลองถามตัวเองว่า “เคยเครียดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร?” ถ้าคุณตอบด้วยความภูมิใจว่า “ไม่เคยเครียดเลย” โอ้...ขอยินดีด้วยครับ
แสดงว่าคุณมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการภาวะจิตใจได้ดี ไม่ค่อยวิตกกังวล กับเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เข้ามากระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน จึงไม่เกิดความเครียด
แต่หลายๆ คนที่มีความคิดเชิงลบสะสม จนเกิด “ผลพลอยเสีย” ลุกลามกลายเป็นโรคซึมเศร้าก็มีจำนวนมากขึ้นให้ได้รับรู้กันในหลายวงการ
ยิ่งสภาพสังคมปัจจุบัน ผู้คนเจอปัญหารุมเร้า อาจเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ เป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น และเกิดถี่ขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เผชิญกับปัญหาผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการ ใช้ชีวิต เพื่อให้ปลอดโรค และปลอดภัย อันเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิค-19 ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ถ้าเครียด มาจัดการกัน
ช่วงนี้ผมได้อ่านหนังสือ “เครียดไหม? ได้เวลายืดอก ยกใจให้แกร่ง” ซึ่งเป็นผลงานแปลของ วิธารณี จงสถิตย์วัฒนา จากต้นฉบับของ ไอบะ ซะโตะรุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียดชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานให้คำปรึกษาแก่พนักงานองค์กรภาครัฐและเอกชนมากกว่า 50,000 คนมาแล้ว
จากประสบการณ์ดังกล่าว เขาได้ค้นพบว่า “ความแข็งแกร่งของจิตใจ” คือปัจจัยสำคัญที่คนเราใช้ควบคุมระดับความเครียด อันมีผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานอย่างมาก
คนที่มีความแข็งแกร่งทางจิตใจในระดับสูง จะสามารถ "ควบคุมอารมณ์” ได้ดี แม้จะอยู่ในสภาวะความกดดันสูงก็ทนได้ อีกทั้งยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมอย่างเข้าใจ จึงรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างยืดหยุ่น
ลงมือทำ-ทำต่อเนื่อง
ใครที่อ่านหนังสือเล่มนี้ น่าจะได้ประโยชน์ 3 ส่วนคือ
1.ได้เรียนรู้เทคนิคการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้”ควบคุมความเครียด”
2. ได้ค้นพบวิธีพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง ในแบบเฉพาะของตนเอง
3.เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้ ในส่วนแรกคือ “วิธีคิด” ในหลายมิติซึ่งมีผลดีต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไม่เครียด เพราะมีวิธีมองสิ่งต่างๆ และสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ
ที่ผู้เขียนย้ำมากก็คือการสร้าง "จิตใจที่ไม่ย่อท้อ" และนำวิธีการที่ได้เรียนรู้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้ว “ลงมือทำ” ในชีวิตประจำวันอย่างตั้งใจจริง และ
“ทำอย่างต่อเนื่อง”
หนังสือเล่มนี้ เนื้อหาเกือบครึ่งเล่มว่าด้วย "วิธีคิด" ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนที่ก้าวข้ามความเครียดได้ กับคนที่ ก้าวข้ามไปไม่ได้
เนื้อหาส่วนครึ่งหลังจะส่งเสริมให้ "ลงมือทำ” เริ่มด้วยแบบทดสอบตัวเอง และวิเคราะห์ผลว่าคุณมีนิสัยเป็นอย่างไร เข้าใจตัวเองอย่างไร และรู้สึกต่อคนอื่นอย่างไร
จากนั้นก็บอกวิธีการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม เพื่อขจัดความเครียด โดยผ่านกรณีตัวอย่าง 27 บทเรียน ซึ่งล้วนน่าสนใจและมีรายละเอียดให้อ่านเข้าใจง่าย ได้แง่คิด เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและปรับนพฤติกรรมตัวเราให้หายเครียด เช่นการทำจิตใจให้สดใสด้วยพลังเสียงหัวเราะ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจน และการฝึกหายใจที่ช่วยให้ผ่อนคลายและเกิดสมาธิด้วย
สร้างสมดุลชีวิต-การงาน
ผมขอกระโดดไปถึงบทเรียนที่ 27 ซึ่งคิดว่าเป็นผลลัพธ์ของความพยายามต่างๆ ไม่ว่าการขจัดความเครียด การเพิ่มความกระตือรือร้น ในการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ที่มุ่ง”สร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน” ซึ่งเป็นวิธีคิดเพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ให้อยู่ดี-มีสุข หรือ "Well-Being”
เพื่อให้เกิดสุขภาพสมใจ โอบะ ซะโตะรุ บอกว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างคือ “การปฏิรูปวิธีทำงาน” เพื่อให้เกิดเวลาส่วนตัวตามแนวคิดแบบนี้ เราจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานก่อน
ขณะที่ควรเพิ่มในส่วนการทำงานก็คือ การตระหนักรู้ "คุณค่าในการทำงาน" เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ดีในงานที่ทำ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สวัสดิการที่ได้รับจากองค์กรที่สังกัด รวมถึงสภาพแวดล้อมบุคคลที่ร่วมทำงานด้วย
แต่ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ ตัวเราคนเดียวก็แก้ไม่ได้ สิ่งสำคัญจึงควรปรับที่ตัวเราก่อน แล้วคิดจะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง และทุ่มเทพัฒนางานที่ทำอยู่ในปัจจุบันอย่างไร?
ส่วนด้านคุณภาพชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเพิ่ม”ผลิตภาพ”การทำงานให้ดีขึ้น ก็ส่งผลให้สามารถมีเวลาผ่อนคลาย หรือทำกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกดีๆ รวมทั้งกิจกรรมที่ช่วยขจัดความเครียด หรือทำงานอดิเรกที่ใจรักก็ได้
5 สิ่งสำคัญพิชิตความเครียด
ไหนๆ มนุษย์เราก็สลัดหนีความเครียดไปได้ไม่หมด เพื่อเป็นเครื่องมือเอาชนะความเครียดหรืออย่างน้อยก็เป็นภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ระดับความเครียดสูงปรี๊ด มี 5 ประการที่แนะนำจากหนังสือเล่มนี้
1.ความเข้มแข็งในการมองโลก แอรอน แอนโทนอฟสกี้ นักสังคมวิทยา-การแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เสนอแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเอาชนะความเครียดและพัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง ประกอบด้วย 3 ปัจจัย
(1) การให้ความหมาย หรือหาความหมายของสิ่งที่ทำในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
(2) การเข้าใจ สภาพปัจจุบันของตนเองและคาดการณ์สภาพที่อาจจะเจอในอนาคต
(3) จัดการได้ หากเกิดอะไรขึ้น
2. ตั้งเป้าหมายและมีวิธีทำให้บรรลุเป้าหมาย ยิ่งเป็นเป้าหมายเชิงบวกที่ชัดเจน จะช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น และรู้สึกยินดีเมื่อทำสำเร็จ
3. การพัฒนาความมั่นใจในสมรรถนะของตัวเอง ให้สร้างประสบการณ์แห่งความสำเร็จ ด้วยการตั้งเป้าหมายและแบ่งงานเป็นขั้นตอน กำหนดเวลาแต่ละขั้นตอน จะเกิดความสำเร็จแบบ “ก้าวเล็กๆ” ขึ้นก่อน
4.สำนึกในการมีส่วนร่วม เป็นความรู้สึกที่ดี เช่นนึกถึง ”คุณค่าของงานที่ทำ” และ”ประโยชน์ของงานที่ทำอยู่” “เราสร้างงานที่มีคุณค่า จึงได้รับสิ่งตอบแทน”
5.วิธีพัฒนาระดับความแข็งแกร่งทางจิตใจ *รู้วิธีมองสิ่งต่างๆ แบบของตัวเอง *เลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองและนำไปปฏิบัติ *ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
“คนในวงการธุรกิจที่ทำงานเก่ง และสร้างผลงานไว้มากมาย พร้อมกับได้รับการเติมเต็มด้านจิตใจที่ผมเคยพบมา ทุกคนล้วนตระหนักกับคุณค่าในการทำงานของตนเอง” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยืนยัน ว่านี่คือจุดเริ่มของความสำเร็จ อย่างมีความสุุข
ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ : เครียดไหม? ได้เวลายืดอก ยกใจให้แกร่ง ผู้เขียน : ไอบะ ซะโตะรุ ผู้แปล : วิธารณี จงสถิตย์วัฒนา สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://mgronline.com/goodhealth/detail/9640000092398
|