Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...
User Info
Welcome, Guest. Please login or register.
23 December 2024, 08:39:14

Login with username, password and session length
Search:     Advanced search
News
ท่านสมาชิกสามารถเปลี่ยนรูปแบบ (Theme) ได้อีกหลายแบบ
เชิญทดลองโดยคลิกที่ลิงค์ข้างล่าง ได้เลยครับ

http://www.smilesiam.net/index.php/topic,3170.msg4713.html
Forum Stats
26,619 Posts in 12,930 Topics by 70 Members
Latest Member: KAN
Home Help Search Calendar Login Register
Smile Siam มาร่วมกันคืน "สยามเมืองยิ้ม" กลับสู่บ้านเรากันนะครับ ...  |  ภาพประทับใจ  |  สถานที่สวยงาม (Moderator: ppsan)  |  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
0 Members and 1 Guest are viewing this topic. « previous next »
Pages: [1] Go Down Print
Author Topic: วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร  (Read 558 times)
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,455


View Profile
« on: 19 September 2021, 07:53:09 »

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 4

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณีและเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และด้วยเหตุนี้เองวัดแห่งนี้จึงได้รับยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4


     


















Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,455


View Profile
« Reply #1 on: 19 September 2021, 07:57:27 »

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

ศิลปวัฒนธรรม
วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2563

ประวัติศาสตร์
วัดราชประดิษฐฯ พระอารามหลวงเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญยิ่ง


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในมุมมองบริเวณหน้าวัดเมื่อไม่มีอาคารของกรมแผนที่ทหาร (ภาพถ่ายโดย ธีรภัทร์ จิตประไพกุลศาล)


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หรือถ้าจะอธิบายในรายละเอียดต่อไปคงจะกล่าวได้ว่า วัดราชประดิษฐฯ ตั้งอยู่ริมถนนสราญรมย์ หน้าพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศตะวันออก ใกล้กับพระราชวังสราญรมย์ ทำเนียบองคมนตรี สวนสราญรมย์ และกรมแผนที่ทหาร (ปัจจุบัน กรมแผนที่ทหารได้ย้ายออกจากพื้นที่ มีการปรับปรุงรื้ออาคารเดิมเพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารของหน่วยงานใหม่ ถ้ามองวัดราชประดิษฐฯ มุมมองใหม่ที่ไม่มีอาคารสูงจะเห็นวัดราชประดิษฐฯ ในมุมมองที่เปิดโล่งของพื้นที่บริเวณหน้าวัด ถ้าในอนาคตจะมีโครงการขยายพื้นที่ของถนนสราญรมย์ ให้มีขนาดกว้างพอกับถนนราชบพิธ เฉพาะบริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ คงเกิดมุมมองบริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ วัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่งามสง่าเช่นเดียวกับหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 5)


ถนนราชบพิธ ที่กว้างทำให้บริเวณหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมีมุมมองที่ดูงามสง่า


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ถ้าถนนสราญรมย์มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น บริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ จะดูงามสง่าเช่นเดียวกับวัดราชบพิธฯ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปลายรัชกาลของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2407 โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ

ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “เรื่องสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้น ทรงเจตนาแต่แรกว่าจะให้เป็นวัดพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่เป็นนิตย์ ดูเหมือนจะมีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นึกไม่ออกว่าอยู่ในหนังสืออะไร ที่ทรงสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก ก็เนื่องด้วยพระราชดำริจะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่จำนวนน้อย”

ที่ดิน 2 ไร่เศษนี้ก่อนสร้างวัดราชประดิษฐฯ แต่เดิมเป็นพื้นที่หลวงสำหรับพระราชทานเป็นที่อาศัยแก่ข้าราชการที่จะต้องพระราชประสงค์ ให้อยู่ใกล้ๆ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ที่ดินบริเวณนี้เป็นสวนกาแฟ พอถึงรัชกาลที่ 4 บริเวณนี้ไม่มีการทำสวนกาแฟพระองค์มีพระราชดำริว่าที่ดินบริเวณนี้เหมาะแก่การสร้างวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เพราะใกล้กับพระบรมมหาราชวังเป็นประโยชน์ต่อพระองค์เอง เจ้านายและข้าราชการฝ่ายหน้าในทั้งหลายที่จะทำบุญได้อย่างสะดวก

ก่อนก่อสร้างพระองค์มีพระราชดำริว่าที่ดินผืนนี้เป็นส่วนกลางของแผ่นดิน ไม่สมควรยกถวายเฉพาะพระสงฆ์ธรรมยุตเป็นพิเศษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระนครบาลไปตรวจวัดพื้นที่ แล้วใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินแห่งอื่นแลกกับที่ดินผืนนี้เพื่อใช้ราชการ

การก่อสร้างนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองดำเนินการเริ่มก่อสร้างในวันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด จุลศักราช 1226  ตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2407 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 9 เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ


ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” เมื่อ พ.ศ. 2489 พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 พระอารามหลวงที่มีเนื้อที่น้อยที่สุดในประเทศไทยเพียง 2 ไร่เศษเท่านั้น ถนนที่อยู่หน้าวัดราชประดิษฐฯ คือ ถนนสราญรมย์ ที่ตัดตรงไปยังประตูเทวาพิทักษ์ ประตูเสด็จเข้าออกพระบรมมหาราชวัง บริเวณหน้าวัดจะเห็นอาคารของกรมแผนที่ทหาร


วัดราชประดิษฐฯ ถือได้ว่าเป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ด้วยเหตุที่วัดธรรมยุตอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นวัดที่แปลงมาจากฝ่ายมหานิกายทั้งสิ้น

ภายในพื้นที่อันเป็น “มหาสีมาราม” เพียง 2 ไร่ครึ่งเศษของวัดราชประดิษฐฯ เป็นที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญยิ่งหลายอย่างด้วยกัน อาทิ

ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์ประดับหินอ่อนทั้งองค์

ปราสาทพระจอมที่ประดิษฐานพระบรมรูปปิดทองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปราสาทพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกใบลานบรรจุในกล่องไม้ซึ่งทำรูปเล่มอย่างหนังสือ

พระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยอดมงกุฎอันงดงามยิ่ง

ส่วนภายในพระวิหารหลวง นอกจากจะมีจิตรกรรมภาพเทพชุมนุมบนกลีบเมฆ “เทวดามีรัศมีเป็นพวกๆ ครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง” และจิตรกรรมภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำลองจากพระพุทธรูปสำคัญที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษหลายองค์ด้วยกัน อันได้แก่ พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ประดิษฐานภายในบุษบก ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และภายหลังได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป พระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ประดิษฐานด้านหน้าของพระประธาน พระนิรันตรายพร้อมเรือนแก้วในครอบแก้ว เป็น 1 ใน 18 องค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2411 จากพิมพ์เดียวกับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานไว้ในพระอารามของคณะสงฆ์ธรรมยุต


ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งจำลองจากพระพุทธรูปองค์สำคัญ ได้แก่ พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร และพระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ภายในบุษบกใหญ่ รัชกาลที่ 4 ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล พระนิรันตราย ในครอบแก้ว ทรงหล่อจำลองจากพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง พระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินศรีน้อย และพระศรีศาสดาน้อย ในบุษบกน้อยด้านหลังพระประธาน ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ที่เคยประดิษฐานในพระวิหารทิศของพระอารามเดียวกัน คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก


ด้านหลังบุษบกพระประธาน ยังมีบุษบกน้อยสร้างติดกับผนังด้านสกัดเบื้องหลังพระประธานเรียงกัน 3 หลัง แต่ไม่ค่อยเป็นที่สังเกตมากนัก ภายในบุษบกน้อยนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดน้อย 3 องค์ที่จำลองจากพระพุทธรูปสำคัญถึง 3 องค์ด้วยกัน เรียงตามลำดับนับจากทางด้านขวาของพระประธาน คือ “พระพุทธชินราชน้อย” “พระพุทธชินศรีน้อย” และ “พระศรีศาสดาน้อย” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดาองค์ใหญ่ อันเคยประดิษฐานในพระวิหารทิศต่างๆ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่พระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาจะเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครและเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถและพระวิหารของวัดบวรนิเวศวิหาร จนเหลือเพียงพระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ยังคงประดิษฐานยังที่เดิม

ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธรูปจำลองขนาดน้อยทั้ง 3 องค์นี้ยังนับเป็นพระพุทธรูป “หมวดพระพุทธชินราช” ที่ได้รับการจำลองครบถ้วนทั้งสำรับ 3 องค์เป็นรุ่นแรกอีกด้วย


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 มิถุนายน 2562
เรื่องและภาพจาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_33653





Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,455


View Profile
« Reply #2 on: 19 September 2021, 08:01:14 »

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ชมบานประตู หน้าต่าง วัดประจำ ร.4 ฝีมือช่างนางาซากิ จิตรกรรมฝาผนังสำคัญรูปเหตุการณ์สุริยุปราคา และธรรมาสน์ที่มีแค่หนึ่งเดียวในไทยเท่านั้น

เรื่องและภาพ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

.....
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดราชประดิษฐ์ (จากนี้จะขอเรียกชื่อวัดอย่างย่อเพื่อความสะดวกในการอ่านครับ) สร้างอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟใกล้พระบรมมหาราชวัง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ตามโบราณราชประเพณีที่จะต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ นอกจากนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มอีกด้วย

โดยเหตุที่ให้ตั้งอยู่ใกล้วังก็เพื่อสะดวกแก่พระองค์ในการปรึกษาข้อปฏิบัติต่างๆ ของธรรมยุติกนิกาย รวมถึงสะดวกแก่ข้าราชบริพารในการทำบุญด้วย ดังนั้น ชื่อวัดในระยะแรกตามจารึกหลังพระวิหารหลวงจึงเป็น ‘วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2411

การสร้างวัดแห่งนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงซื้อที่ดินสวนกาแฟด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากนั้นทรงให้ พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองคุมงาน ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่กระบวนการระหว่างกลางครับ เพราะในระหว่างการสร้างวัดมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ที่จะสร้างวัดนั้นต่ำ โดยเฉพาะบริเวณที่จะสร้างพระวิหารหลวง ดังนั้น จึงโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นวัด โดยทรงบอกบุญให้ชาวบ้านนำไหกระเทียมไม่ว่าสภาพเป็นเช่นไรมาให้ หรือหากต้องการขายก็ทรงคิดราคาให้ตามสมควร

ที่สำคัญคือ ทรงจัด ‘ละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม’ เป็นเวลา 3 วัน โดยเก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือหากไม่มีก็สามารถนำไหประเภทอื่นที่ไม่แตกร้าวมาใช้ได้เช่นกัน (ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วเมื่อ พ.ศ. 2545 ว่ามีไหกระเทียมรวมถึงตุ่มสามโคกที่อัดทรายเอาไว้เต็มที่อยู่ใต้ฐานจริงๆ)

จนเมื่อมีการผูกพัทธสีมาแล้วได้ทรงนิมนต์ พระสาสนโสภณ ผู้ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) และพระสงฆ์อีก 20 รูปจากวัดบวรนิเวศวิหารให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้

รัชกาลต่อมา คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดครั้งหนึ่ง พร้อมกับทรงแบ่งพระบรมอัฐิของพระราชบิดาบรรจุลงในกล่องศิลาแล้วนำไปประดิษฐาน ณ ฐานของพระประธานภายในวิหารหลวงครับผม



พระวิหารหลวงถือเป็นอาคารประธานของวัดซึ่งใช้เป็นพระอุโบสถของวัดด้วย อาคารหลังนี้ยังถือเป็นอาคารแบบไทยประเพณีที่สุดของวัดแห่งนี้ เครื่องบนเป็นเครื่องลำยอง หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันประธานทำเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและพระแสงขรรค์มีช้างเผือกรองรับ ขนาบ 2 ข้างด้วยฉัตรประกอบ

ส่วนหน้าบันมุขทำเป็นรูปเดียวกันแต่ไม่มีช้างเผือกรองรับ ซึ่งตรานี้คือตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

อ๊ะๆ ก่อนที่ทุกท่านจะผ่านประตูเข้าไปชมความงามข้างใน อย่าลืมสังเกตประตูก่อนนะครับ เพราะบานประตูของวัดราชประดิษฐ์นั้นแม้จะทำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์เหมือนกัน แต่กลับมีถึง 2 เลเยอร์ด้วยกัน ทำให้ประตูนี้มีมิติมากกว่าปกติ

และเมื่อเข้าไปแล้วก็อย่าลืมมองย้อนกลับไปยังหลังบานประตูด้วย เพราะที่นี่ใช้งานประดับมุกแบบญี่ปุ่นโดยช่างจากเมืองนางาซากิ ซึ่งถือเป็นงานช่างชั้นสูงที่หาชมได้ยากมากๆๆๆๆ แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเอง

ในประเทศไทยมีเพียง 2 วัดเท่านั้น นั่นคือ วัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ และวัดนางชีครับผม ซึ่งถ้าใครรู้สึกว่าดูที่ประตูไม่จุใจ ทุกบานหน้าต่างก็ใช้เทคนิคเดียวกันเลยครับ





เมื่อเข้ามาข้างในแล้วเราก็พบกับบรรยากาศสีน้ำเงินที่เกิดจากสีหลักของจิตรกรรมฝาผนังภายใน ซึ่งสิ่งนี้ช่วยขับให้มณฑปที่ประดิษฐานพระประธานโดดเด่นขึ้นอย่างมาก

มณฑปหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือถึง 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธสิหังคปฏิมากร จำลองจากพระพุทธสิหิงค์ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินสีห์น้อย พระศรีศาสดาน้อย จำลองจากพระพุทธรูปชื่อเดียวกันที่เคยประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก โดยประดิษฐานภายในบุษบกติดผนังขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมีพระนิรันตรายอยู่ด้วย





ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ถือเป็นงานที่อยู่บนรอยต่อระหว่าง ‘สยามเก่า’ และ ‘สยามใหม่’ จึงมีการผสมผสานงานจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิม คือเทพชุมนุม แต่เปลี่ยนเทคนิคจากที่แต่เดิมต้องเขียนเรียงแถวบนพื้นหลังสีแดงหรือดำ กลายเป็นเทพชุมนุมที่เหาะอย่างอิสระไปบนท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มและเมฆสีขาว

ในขณะที่ผนังระหว่างประตูและหน้าต่างเขียนเรื่องของพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน นั้น ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2431 ซึ่งพระราชพิธีสิบสองเดือนคือพระราชพิธีต่างๆ ที่ทำประจำในแต่ละเดือน เช่น พระราชพิธีตรียัมปวายหรือโล้ชิงช้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

โดยแบ็กกราวนด์ใช้ฉากของกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือบ้านเรือน ซึ่งวาดออกมาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสมัยนั้นอย่างมาก นี่จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์บนฝาผนังที่คนรุ่นเราสามารถใช้ศึกษาว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเมืองบางกอกของเราหน้าตาเป็นอย่างไร





แต่ภาพสำคัญภายในวิหารหลวงหลังนี้อยู่ข้างประตูทางเข้าเลยครับ เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 นั่นก็คือ เหตุการณ์สุริยุปราคา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้า 2 ปีอย่างแม่นยำในระดับวินาที ซึ่งเหตุการณ์จริงนั้นเกิดขึ้นที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 แต่จิตรกรรมฝาผนังที่นี่กลับใช้พื้นหลังเป็นพระบรมมหาราชวังแทน โดยรัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องโทรทรรศน์บริเวณหน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็เป็นฉากที่สมพระเกียรติยิ่งนัก



พอเราออกมาด้านนอก เดินอ้อมไปข้างหลังพระวิหารหลวงก็พบกับปาสาณเจดีย์ เจดีย์ประธานของวัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ ชื่อปาสาณเจดีย์แปลว่าเจดีย์ศิลา สอดคล้องกับวัสดุที่ใช้สร้างเจดีย์องค์นี้ คือหินอ่อนสีเทาและขาวแบบเดียวกับพระวิหารหลวง

และที่สำคัญ ชื่อปาสาณเจดีย์ยังเป็นชื่อเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นเหนือห้องที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเมืองราชคฤห์ แสดงว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงทราบและนำเอาคตินี้มาใช้ที่นี่ด้วย

เจดีย์องค์นี้ยังมีซุ้มที่ประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้ โดยผู้ปั้นหล่อนั้นไม่ใช่คนไทยแต่เป็นนายช่างชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ ร. เวนิง และผู้ที่ประดิษฐานพระรูปนี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2470 โดยบรรจุกล่องพระอัฐิ พระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามและดวงพระชะตาเอาไว้ด้วย



แม้ในวัดราชประดิษฐ์แห่งนี้จะมีอาคารที่ผสมผสานศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมด้วยครับ นั่นก็คือ ปราสาทพระบรมรูปหรือปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก ขนาบ 2 ข้างพระวิหารหลวง แต่ว่าก่อนที่จะเป็นปราสาทขอม 2 หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างปราสาทน้อยหรือปราสาทศิลา ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยประเพณีขึ้นมาก่อนในตำแหน่งเดียวกันนี้ แต่ว่าเพียงรัชกาลเดียวอาคารคู่นี้ก็ชำรุดผุพังจนไม่อาจบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างปราสาทขอมทั้งสองขึ้นแทนที่

สำหรับปราสาทพระไตรปิฎกหรือที่บางครั้งเรียกว่า ‘ปราสาทหนังสือ’ ได้แรงบันดาลใจจากปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยดัดแปลงทรวดทรงรวมไปถึงภาพเล่าเรื่องให้เป็นเรื่องพุทธประวัติ ได้แก่ ตอนประสูติและปรินิพพาน

เรียกได้ว่าเอาตอนต้นเรื่องกับจบเรื่องมาให้ดูกันครับ แต่ที่น่าสนใจคือ ภาพพุทธประวัติตอนประสูตินั้น พระนางสิริมหามายาทรงห่มผ้าส่าหรีแขกซึ่งหาชมได้ยากมาก (ที่ใกล้เคียงกันก็คือประติมากรรมตอนเดียวกับที่วัดอรุณราชวรารามบริเวณมณฑปทิศเหนือของพระปรางค์)

ส่วนภายในนั้นก็แน่นอนว่าเป็นพระไตรปิฎกในตู้แบบฝรั่ง ซึ่งเป็นใบลานแบบดั้งเดิมแต่นำไปใส่ในกล่องรูปทรงเหมือนหนังสือตะวันตก ซึ่งน่าจะเป็นช่วงท้ายของการเขียนพระไตรปิฎกลงบนใบลานก่อนเปลี่ยนเป็นการตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5





ในขณะที่ปราสาทพระบรมรูปหน้าตาคล้ายกับปราสาทพระไตรปิฎก แต่เปลี่ยนส่วนยอดเป็นพรหมพักตร์แทน ส่วนหน้าบันของอาคารหลังนี้ แทนที่จะเล่าเรื่องในพุทธศาสนากลับเล่าเรื่องของศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนข้างในก็ตามชื่อเลยครับ ไว้พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่ฐานมีการทำปูนปั้นระบายสีเป็นพระราชประวัติของพระองค์ และผสมผสานหลักทัศนียวิทยา (Perspective) แบบตะวันตกเข้ามา โดยฉากทั้งหมดประกอบด้วย ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. 2394 ภาพพระบรมโกศของพระองค์ท่าน และภาพการถวายพระเพลิงพระบรมศพ



พระที่นั่งทรงธรรมถือเป็นศาลาการเปรียญของวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ด้านข้าง นอกแนวกำแพงแก้วครับ ตัวอาคารเดิมเคยเป็นโรงช้างเผือกที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อรับช้างเผือกเอกที่คล้องมาได้ แต่ช้างเผือกล้มเสียก่อน จึงได้รื้ออาคารดังกล่าวมาไว้ที่วัดราชประดิษฐ์แห่งนี้

เนื่องจากเคยเป็นโรงช้างเผือกมาก่อน หน้าบันของอาคารหลังนี้จึงมีภาพของช้างเผือกอยู่ด้วย ส่วนตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารแบบตะวันตก มีการใช้เสาแบบคอรินเทียนตกแต่งใบอะแคนธัส พระที่นั่งทรงธรรมนี้จึงเป็นอาคารที่ความเป็นตะวันตกและตะวันออกมาพบกันครึ่งทาง



แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ อยู่ภายในครับ เพราะเป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยอดมงกุฎ ธรรมาสน์รูปทรงหายากที่ในเมืองไทยมีเพียงแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น เพราะได้นำเอารูปทรงของพระมหาพิชัยมงกุฎ หนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์มาขยายขนาดและเก็บรายละเอียดเหมือนต้นฉบับทุกประการโดยไม่มีการลดทอดองค์ประกอบใดๆ ทั้งสิ้น

ยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนเพดาน เราจะพบกับดาวเพดานที่จำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 มหาวราภรณ์ ถือเป็นสำรับพิเศษที่มีเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะใช้ได้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นใหม่จากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสยามที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงสถาปนา ซึ่งการประดับเพดานด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น หากไม่นับที่นี่ ก็คงมีแค่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสเท่านั้นที่ใช้

ผนังด้านในยังตกแต่งด้วยวงโค้งแบบฝรั่ง ที่ภายในเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมแบบเดียวกับในพระวิหารหลวง แต่ใช้แบ็กกราวนด์คนละสีครับ





เห็นไหมครับว่าภายในวัดหลวงที่มีพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้กลับมีสิ่งน่าสนใจมากมายซุกซ่อนอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าวัดจะใหญ่ จะเล็ก จะเป็นพระอารามหลวง หรือเป็นแค่วัดราษฎร์ เราไม่อาจตัดสินความน่าสนใจของสถานที่เหล่านั้นได้เพียงแค่มองผ่านชั่วแวบหนึ่ง ลองเปิดใจ จอดรถ แล้วไปชมกันครับผม


เกร็ดแถมท้าย
1. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเพียงแค่แนวคลองกั้นเท่านั้นครับ เพราะฉะนั้น ถ้าใครแวะไปชมวัดราชบพิธฯ แล้วมีเวลาเหลือ ลองแวะมาชมความงามของวัดราชประดิษฐ์ด้วยนะครับ

2. ปกติแล้วอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารหลวง ปราสาทพระจอม หรือพระที่นั่งทรงธรรม ไม่ได้เปิดให้คนเข้าไปชม ดังนั้น ถ้าใครอยากจะชมจริงๆ แนะนำช่วงที่มีงานไหว้พระ 9 วัดประจำรัชกาล ช่วงนั้นอาคารเหล่านี้จะมีโอกาสเปิดให้เข้าชมมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ลองติดตามข่าวสารงานฉลองของวัดเองดูก็ได้ครับ

3. ส่วนวัดที่มี ‘สถิตมหาสีมาราม’ ห้อยท้ายอีกวัดหนึ่งอย่างวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมารามนั้นตั้งอยู่ในย่านตลาดพลูครับ ที่นี่ก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าใครสนใจก็ลองแวะไปชมความงามได้ครับผม

4. หรือถ้าใครอยากชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ อีก ผมขอแนะนำวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถของวัดก็เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้เช่นกัน แถมยังเขียนในยุคสมัยเดียวกันอีกด้วย ที่สำคัญ มีการแทรกภาพบุคคลสำคัญในสมัยนั้นเอาไว้ด้วยครับ ถ้ามีโอกาสผมจะเขียนถึงวัดนี้ให้ได้อ่านกันนะครับ



เรื่องและภาพจาก
https://readthecloud.co/wat-ratchapradit/



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,455


View Profile
« Reply #3 on: 19 September 2021, 08:04:24 »

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 4

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 4
เผยแพร่: 3 ก.ย. 2556 14:04   โดย: MGR Online



แม้จะมีเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษ บริเวณด้านทิศเหนือของสวนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่

“วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ก็มีองค์ประกอบแห่งพระอารามครบถ้วน และสำคัญเหนืออื่นใดคือ พุทธสถานแห่งนี้เป็นพระอารามประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อสวนกาแฟหลวงที่รกร้าง แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณี และเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆนั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิม

ในการสร้างพระอารามแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแผนการก่อสร้างและกำหนดแบบศิลปกรรมในวัดด้วยพระองค์เอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ “ทรงกะไว้” เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในวัดราชประดิษฐ ว่า

“การที่ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงกะเองหมดทั้งนั้น เสด็จทอดพระเนตรการเสมอทุกวันไม่ได้ขาด จนการก่อสร้างล่วงไปได้เปนอันมาก ยังอยู่แต่การช่าง ถึงดังนั้น ก็ได้ทรงกะแล้วทุกอย่าง”

สิ่งที่ทรงกะไว้มีดังต่อไปนี้ “บานหน้าต่างข้างนอกโปรดลายสลักบานประตูวัดสุทัศน์ หลังบานโปรดลายญี่ปุ่นวัดนางชี ท่านก็ทรงสั่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(จ๋อง)ให้ทำมา ลายเพดานโปรดอย่างวัดราชประดิษฐโบราณและวัดสุวรรณดาราราม แต่ดาวอย่างวัดสุวรรณฯรับสั่งว่าเปนเกือกพวงไป ทรงแก้ไขใหม่ให้เปนอย่างเช่นติดอยู่วัดราชประดิษฐเดี๋ยวนี้ ลายเขียนผนังทรงพระราชดำริเอง เปนเทพชุมนุม ซึ่งเทวดามีรัศมีเปนพวกๆครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง...”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้ถมลานรอบพระวิหารหลวงและพระเจดีย์ให้สูงขึ้น เรียกว่า “พื้นไพที” หมายถึงพื้นอันเป็นที่รองรับพระวิหารและพระเจดีย์ของวัด เพื่อให้วัดมีความสง่างามยามน้ำท่วมขัง เนื่องเพราะบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม และโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นแทนการตอกเสาเข็ม ทรงให้เหตุผลว่า ดินไหกระเทียมแข็ง ไม่ผุเปื่อยเหมือนดินตุ่ม

ดังนั้น จึงได้มี “ประกาศแผ่พระราชกุศลบอกข้าวบิณฑ์ไหกระเทียมถมพื้นวัดราชประดิษฐ์” ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ประกาศบอกบุญไปยังราษฎรว่า ต้องพระราชประสงค์ไหกระเทียมทำจากดินเมืองจีนมาถมพื้นวัด โดยเปิดรับทั้งไหกระเทียมดีและแตกร้าว หรือนำมาขายให้ก็จะทรงคิดราคาใบละ 1-2 อัฐ

นอกจากนี้ ยังทรงจัด “ละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม” เป็นเวลา 3 วัน เก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือขวด ถ้ำชา โอ่ง อ่าง กระถางจากเมืองจีน นับเป็นพระราชกุศโลบายอันชาญฉลาด ที่เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ชมละครหลวง และภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์

เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุตติการาม" ครั้นเมื่อสร้างแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลารอบวัด รวม 10 หลัก ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ เพื่อให้สามารถทำสังฆกรรมได้ทุกที่ภายในวัด

จากนั้นได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว ต่อมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อ พ.ศ. 2408 ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานที่สำคัญ ภายในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่ พระวิหารหลวง ปาสาณเจดีย์ ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก เป็นต้น

พระวิหารหลวง ก่ออิฐถือปูนแบบทรงไทย มีมุขหน้า และหลัง ตั้งอยู่บนพื้นไพที ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด ซุ้มประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงเป็น “ซุ้มมงกุฎจอมแห” ประกอบลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี

ภายในพระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพการทอดพระเนตรสุริยุปราคาในพระบรมมหาราชวัง

ปาสาณเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา ประดับด้วยหินอ่อนทั้งองค์ ยกเว้นช่วงปลียอดที่เป็นกะไหล่ทอง องค์พระเจดีย์สร้างเป็นซุ้ม ซุ้มด้านทิศเหนือประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ปิดทองของสมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2410

ปราสาทพระจอมหรือปราสาทพระบรมรูป อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันตก เป็นปราสาทยอดปรางค์ตามแบบศิลปะเขมร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริง

ปราสาทพระไตรปิฎก อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทยอดปรางค์ศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน เป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั้งวัด และเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีสิบสองเดือนภายในพระวิหาร จากนั้นได้แบ่งพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์ของพระประธานภายในพระวิหารหลวง


ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยโปรดเกล้าฯให้สร้างปราสาทใหม่ 2 หลัง คือ ปราสาทพระจอมและปราสาทพระไตรปิฎก แทนปราสาทน้อยที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้ และชำรุดทรุดโทรม จนไม่สามารถซ่อมแซมได้

ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ เมื่อปี 2553 โดยเริ่มจากพระวิหารหลวง ปราสาทพระบรมรูป และปราสาทพระไตรปิฎก ปาสาณเจดีย์ พื้นไพที และอาคารประกอบ ศาลาอเนกประสงค์ 2 หลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)














ไหกระเทียมและตุ่มสามโคก ใต้ฐานพระวิหารหลวง


เรื่องและภาพจาก
https://mgronline.com/dhamma/detail/9560000110336



Logged
ppsan
Administrator
สยามราษฎร์
*****
Online Online

Posts: 9,455


View Profile
« Reply #4 on: 19 September 2021, 08:09:40 »

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร




เสาผนังกรุหินอ่อนในพระวิหาร (พระอุโบสถ) และปาสาณเจดีย์ (เบื้องหลัง) อันเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม


"พระพุทธสิหิงคปฏิมากร" พระประธานพระวิหารหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์


พระพุทธสิหิงคปฏิมากร


พระนิรันตราย วัดราชประดิษฐฯ


พระบรมรูปในปราสาทพระจอม


ช่องใต้ฐานพระบรมรูปในปราสาทพระจอม


วัดราชประดิษฐฯ


ภายในพระวิหาร


10









พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง


พระมหาเจดีย์








20







ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง


พระวิหารหลวง


ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่


“หอพระจอม” ที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔


ตกแต่งด้วยรูปปั้นหินจากประเทศจีน


หอระฆัง


ปราสาทพระบรมรูป (ปราสาทพระจอม)
30

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ต้นไม้ใหญ่ภายในวัด


ปาสาณเจดีย์ (เจดีย์หินอ่อน) หนึ่งในสัญญลักษณ์ของวัด


พระวิหารหลวง มีพระพุทธสิหิงคปฎิมากร (แต่ตอนไปไม่เปิดให้เข้า)


วัดประจำรัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร


หอพระไตรปิฏก








40





เสาผนังกรุหินอ่อนในพระวิหาร (พระอุโบสถ) และปาสาณเจดีย์ (เบื้องหลัง)










บริเวณภายนอก ฝั่งถนนราชินี มีจอดรถทั่วไปริมถนน




50



















60



















70



















80













87


« Last Edit: 19 September 2021, 08:56:25 by ppsan » Logged
Pages: [1] Go Up Print 
« previous next »
 

SMF 2.0.4 | SMF © 2013, Simple Machines | Theme by nesianstyles | Buttons by Andrea
Page created in 0.091 seconds with 20 queries.